My Community

หมวดหมู่ทั่วไป => ข่าวเกี่ยวกับวงการแพทย์ => ข้อความที่เริ่มโดย: story ที่ 02 กรกฎาคม 2022, 12:14:39

หัวข้อ: “กัญชา” กับ “เนเธอร์แลนด์โมเดล” ลดปัญหาอาชญากรรม “เรือนจำร้าง”จนต้องนำเข้านักโทษ
เริ่มหัวข้อโดย: story ที่ 02 กรกฎาคม 2022, 12:14:39
ปัญหาประการหนึ่งที่สำคัญของ “กัญชา” ในความเชื่อแต่เดิมว่าเป็นยาเสพติดร้ายแรงนั้น ยังคงเป็นทัศนคติในทางการแพทย์และสังคมทั่วไป แต่ความจริงกลับปรากฏต่อมาจากงานวิจัยพบว่ากัญชาเสพติดยากกว่าเหล้าและบุหรี่[1] โดยการติดกัญชาอยู่ในระดับเดียวกับการติดกาแฟเท่านั้น
จากงานวิจัยในวารสารทางด้านการเสพติดชื่อ Drug and Alcohol dependence ได้ตีพิมพ์งานวิจัยเมื่อเดือนพฤษภาคม 2554 พบว่าการสูบกัญชาเสพติดยากกว่าการติดเหล้าและติดบุหรี่นับตั้งแต่ครั้งแรกที่มีการใช้ โดยบุหรี่มีโอกาสเสพติดได้มากที่สุดร้อยละ 67.5, เครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีโอกาสเสพติดร้อยละ 22.7, ในขณะที่กัญชามีโอกาสเสพติดได้เพียงร้อยละ 8.9 เท่านั้น[1]


บางประเทศเห็นโอกาสที่ใช้กัญชาที่เสพติดยากกว่าและมีฤทธิ์ไปในทางกดประสาท เพื่อไปลดปัญหายาเสพติดที่ออกฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทอย่างรุนแรงและก่ออาชญากรรม โดยมีเป้าหมายสุดท้ายคือลดปัญหาอาชญากรรมในประเทศ และให้ไปพร้อมกับการทำให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ เพื่อให้ประชาชนมีงานทำ

ความคิดใช้กัญชาเพื่อลดปัญหายาเสพติดรุนแรงนี้ ไม่ได้มีอยู่ในต่างประเทศเท่านั้น แต่ในอดีตของการแพทย์แผนไทยเองได้มีตำรับยาที่ใช้เพื่อลดการเสพติดยาที่รุนแรงและเลิกยาก ดังเช่น ตำรับยาอดฝิ่น นั้นได้มีการใช้ “กัญชา” และ “กระท่อม”เข้าในตำรับเพื่อช่วยบำบัดและลดการเสพติดฝิ่นได้

ปรากฏตามคัมภีร์แพทย์แผนไทยโบราณเล่ม 3 ของ ขุนโสภิตบรรณรักษ์ (อำพัน กิตติขจร) กำหนดตำรับยา “อดฝิ่น” ความว่า

“ยาทำให้อดฝิ่น เอาขี้ยา 2 สลึง เถาวัลย์เปรียงพอประมาณ กันชาครึ่งกรัม ใบกระท่อม เอาให้มากกว่ายาอย่างอื่น ต้มกิน ให้กินตามเวลาที่เคยสูบฝิ่น เมื่อกินไป 1 ถ้วย ให้เติมน้ำ 1 ถ้วย ให้ทำดังนี้จนกว่าจะจืด เมื่อกินจนน้ำจืดแล้วยังไม่หาย ให้ต้มกินหม้อใหม่ต่อไป”[2]

ส่วนกรณีศึกษาหนึ่งที่น่าสนใจที่จะนำเสนอในบทความนี้คือประเทศ “เนเธอร์แลนด์” ซึ่งให้ความสำคัญในเรื่องการแบ่งแยกกัญชาซึ่งเสพติดที่ไม่รุนแรง ให้กลายเป็นสิ่งที่แยกออกมาจากยาเสพติดที่รุนแรง แล้วใช้กัญชาเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องมือสำคัญในการลดปัญหายาเสพติดที่รุนแรง ส่งผลทำให้ลดปัญหาอาชญากรรมในประเทศเนเธอร์แลนด์อย่างมีนัยสำคัญ นักโทษน้อยลง จนเรือนจำร้างและต้องนำเข้านักโทษจากต่างประเทศ

ดร.นพ.มูฮัมมัดฟาห์มี ตาเละ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ผู้ได้เดินทางไปดูงานในด้านสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายยาเสพติดที่เนเธอร์แลนด์ ได้บันทึกเอาไว้และเผยแพร่ในเว็บไซต์ศูนย์ศึกษาปัญหายาเสพติด ตั้งแต่ปี 2564 ความตอนหนึ่งว่า :

“อัมสเตอร์ดัมในช่วงปี 70s – 80s (พ.ศ. 2513- พ.ศ.2522) ถือเป็นเมืองที่มีอัตราอาชญากรรมสูงที่สุดเมืองหนึ่งในยุโรป ส่วนมากเป็นคดีชิงทรัพย์ ลักขโมย ทะเลาะวิวาท เมื่อสืบเสาะไปยังอาชญากรที่โดนจับกุมบ่อยๆ ก็พบว่าปัจจัยหนึ่งที่อาชญากรมีร่วมกันคือ “พฤติกรรมการใช้สารเสพติดที่รุนแรง”

โดยแนวคิดเรื่องการทำให้ยาเสพติดถูกกฎหมายและลดทอนโทษทางอาญาได้เกิดขึ้น คือ

หนึ่ง การแก้ปัญหาโดยยึดหลักมนุษยธรรมโดยพิจารณาคุณค่าในตัวปัจเจกผู้ที่ใช้สารเสพติด

สอง คือการแยกพิจารณาสารเสพติดรุนแรงและไม่รุนแรงออกจากกัน และหาทางป้องกันไม่ให้ใช้สารเสพติดรุนแรง

ภายหลังจากการจับกุมและระดมทุกภาคส่วนกับปัญหายาเสพติดรุนแรงได้ทำให้เกิด 3 ทางเลือกหลัก คือ

1.พยายามเลิกใช้สาร (สำหรับกลุ่มที่ติดน้อย)

2.สำหรับผู้ใช้สารที่ไม่มีงานทำ ก็หางานให้ทำที่เหมาะสม โดยเทศบาลเป็นผู้จัดหางานให้ แต่ระหว่างรับงานก็อนุญาตให้ใช้สารเสพติดได้ และหวังว่าการทำงานจะลดปริมาณและความถี่ในการใช้ยาลงไปเรื่อย ๆ

3.จำคุกเนื่องจากประวัติอาชญากรรมมากเกินไป หรือ ไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมการใช้สารได้

ผลจากการทดลองแก้ปัญหาวิธีนี้ทำให้เทศบาลเมืองอัมสเตอร์ดัมลดปัญหาอาชญากรรมไปได้มาก ผู้ใช้สารเสพติดก็ลดปัญหาการใช้สารของตัวเองได้ดีขึ้น

แนวทางแก้ไขปัญหาสารเสพติดของเนเธอร์แลนด์จึงเป็นต้นแบบของประเทศที่ยึดหลักสิทธิมนุษยชนในการแก้ปัญหาสารเสพติด มองผู้ใช้สารเป็นมนุษย์ แม้จะใช้สารเสพติดบ้าง แต่หากสามารถทำงานได้ปกติ ไม่ก่อกวนสังคมก็ควรอนุญาตให้ใช้ต่อไปได้ หลักคิดนี้ประกอบด้วย 2 แนวทางหลัก คือ

แนวทางที่หนึ่ง การลดทอนโทษทางอาญา (Decriminalization) ซึ่งเชื่อว่า การศึกษาทางวิทยาศาสตร์ได้แสดงผลการใช้สารเสพติดที่ไม่รุนแรงว่าไม่ได้ส่งผลร้ายทั้งต่อตัวผู้ใช้และสังคมอย่างควบคุมไม่ได้ ดังนั้นผู้ที่ใช้สารเสพติดกลุ่มนี้จึงไม่ใช่อาชญากร เราไม่ควรพิจารณาโทษของผู้ใช้สารเสพติดที่ไม่รุนแรง ประหนึ่งเขาได้ทำอาชญากรรมร้ายแรง 


แนวทางที่สอง การทำให้ถูกกฎหมาย (Legalization) ซึ่งเบื้องหลังของแนวคิดนี้มาจากความคิดที่ว่า เมื่อสารเสพติดชนิดไม่รุนแรงอันตรายทั้งต่อตัวผู้ใช้และสังคมไม่มากแล้ว ทำไมเราถึงต้องทำให้มันผิดกฎหมาย และ ผลักให้มันไปอยู่ในตลาดมืดทำให้รัฐบาลสูญเสียรายได้และควบคุมปัญหาได้ยาก

การที่ทำให้ถูกกฎหมาย ก็เพื่อควบคุมตลาด ควบคุมผลกระทบที่จะตามมาจากการใช้ได้ เอาขึ้นจากที่ลับมาที่แจ้ง คงเป็นผลดีกว่า”[3]

โดยในปี พ.ศ. 2515 ประเทศเนเธอร์แลนด์ ได้มีการจัดแบ่งประเภทยาเสพติดที่รุนแรงกับไม่รุนแรงออกจากกัน ซึ่งกัญชาได้ถูกจัดให้เป็นยาเสพติดที่ออกฤทธิ์ไม่รุนแรงหรือน้อยกว่า[4] โดยปรากฏในเว็บไซต์ของรัฐบาลเนเธอร์แลนด์อธิบายความว่า

ยาที่ไม่รุนแรง (Soft drugs) หมายถึง กลุ่มยาที่มีความรุนแรงน้อยกว่าในการใช้ยาที่รุนแรง ได้แก่ กัญชา ยานอนหลับ และยาสงบประสาท[5] จัดอยู่ในกลุ่มเดียวกัน

ในขณะที่ยาที่มีความรุนแรง (Hard drugs) ไม่ว่าจะเป็นมิติในอันตราย หรือความง่ายต่อการเสพติด รวมถึงผลกระทบที่ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรงในสังคม ได้แก่ เฮโรอีน โคเคน ยาบ้า แอลเอสดี (ยาหลอนประสาทรุนแรง) และยาอี[5]

อีก 4 ปีต่อมาในปี พ.ศ. 2519 เนเธอร์แลนด์ได้ให้กัญชาถูกนำมาใช้ในการ “นันทนาการ” (recreational use) “แบบมีการควบคุม” ได้เป็นครั้งแรก โดยให้มีการบริโภคหรือสูบกัญชาและซื้อขายได้เฉพาะใน “ร้านคอฟฟี่ ชอป” (Coffee Shop) ที่มีใบอนุญาตเท่านั้น[6]
ดังนั้นการที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งมีการใช้กัญชาสำหรับนันทนาการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2519 ย่อมเป็นตัวอย่างสำหรับการใช้เป็นบทเรียนที่มีประสบการณ์ยาวนานถึง 46 ปีแล้ว

สำหรับการที่ประเทศเนเธอร์แลนด์เปิดให้ใช้กัญชาเพื่อ “นันทนาการ” (Recreation)ใน “ร้านคอฟฟี่ ชอป” นั้นได้กำหนดการควบคุมหลายประการ ดังตัวอย่างที่สำคัญ ได้แก่

ประการแรก อนุญาตให้มีการครอบครองกัญชาอย่างจำกัด ได้แก่ ประชาชน 1 คนจะครอบครองกัญชาได้ไม่เกิน 5 กรัม และครอบครองต้นกัญชาได้ไม่เกิน 5 ต้น (แต่ห้ามปลูก) [7]

ประการที่สอง สำหรับ “ร้านคอฟฟี่ ชอป” มีการจัดระเบียบหลายเงื่อนไข เช่น จะต้องไม่ก่อเหตุความรำคาญ, ห้ามขายยาเสพติดอื่นที่รุนแรง, ห้ามโฆษณา, ห้ามขายกัญชาเกิน 5 กรัมต่อครั้งสำหรับผู้บริโภคทุกราย[7] และในปี พ.ศ. 2556 ยังมีการกำหนดสาร THC ไม่เกินร้อยละ 15 อีกด้วย[8] จึงเท่ากับเป็นการควบคุมปริมาณและความเข้มข้นในการใช้นันทนาการ

โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้องเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะอนุญาตให้มีการจำหน่ายกัญชาในท้องถิ่นตัวเองหรือไม่และจะจำกัดจำนวน “ร้านคอฟฟี่ ชอป” ให้มีเท่าไหร่และอย่างไรในท้องถิ่นตัวเอง และยังสามารถมีการประกาศบังคับใช้กฎระเบียบอื่นๆ เพิ่มเติมของแต่ละท้องถิ่นได้อีกด้วย[7]

ประการที่สาม การต่อสู้กับการก่อความรำคาญ กับ อาชญากรรมใน ”ร้านคอฟฟี่ ชอป” ที่จำหน่ายกัญชานั้น รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ได้ทำการกวาดล้างการใช้กัญชาในที่เปิดโล่งแจ้งตามนโยบายของ “ร้านคอฟฟี่ ชอป” ที่ต้องใช้ในที่ปิดเท่านั้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกำจัดการก่อความรำคาญหรืออาชญากรรมที่อาจมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับ “ร้านคอฟฟี่ ชอป”[7] และประการสำคัญคือมีมาตรการห้ามการจำหน่ายและดื่มแอลกอฮอล์ใน “ร้านคอฟฟี่ ชอป”โดยเด็ดขาด[9]

“ร้านคอฟฟี่ ชอป” จะต้องมีขนาดเล็กลงและมุ่งเน้นตลาดภายในประเทศมากขึ้น เพื่อให้ง่ายต่อการตรวจสอบ นโยบายนี้เป็นไปเพื่อลดการดึงดูดผู้ติดยาเสพติดจากต่างประเทศให้น้อยลง[7]

ประการที่สี่ มาตรการทำสงครามกับยาเสพติด การก่อความรำคาญ และอาชญากรรมนั้น วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2556 รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ได้กำหนดมาตรการเพิ่มเติมว่า ชาวเนเธอร์แลนด์ใครพักอาศัยอยู่ที่ใดให้ลงทะเบียนในการใช้และซื้อกัญชาในเขตนั้น เพื่อทำให้เกิดการตรวจสอบดูแลได้ง่ายขึ้นตามมาตรการของแต่ละองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น[7]

ประการที่ห้า เป็นหน้าที่ของ “เจ้าของร้านคอฟฟี่ ชอป”ผู้จัดจำหน่ายกัญชาจะต้องทำการตรวจสอบความถูกต้องในร้าน รวมถึงการซื้อขายกัญชาในร้าน โดยจะต้องมีการตรวจสอบเอกสารอายุผู้ที่ซื้อกัญชาที่เป็นชาวเนเธอร์แลนด์ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีอย่างเคร่งครัด[7]

ประการที่หก “การปลูกกัญชา” เป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายในประเทศเนเธอร์แลนด์เพราะถือว่ามีเจตนาในการค้าขายหรือทำธุรกิจโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยถ้าเพาะปลูกไม่เกิน 5 ต้น เจ้าหน้าที่ตำรวจจะเข้าไปยึดของกลาง แต่ถ้ามีการปลูกเกินกว่า 5 ต้น ก็จะมีการถูกลงโทษตามกฎหมาย[7]

นอกจากนั้นรัฐบาลยังมีอีกหลายมาตรการ เช่น การบูรณาการมาตรการป้องกันการติดยาเสพติดเริ่มตั้งแต่ในโรงเรียนทั้งแอลกอฮอล์และกัญชา มีกระบวนการให้ข้อมูลให้ความรู้ พร้อมไปกับมาตรการเครือข่ายทางสังคม มาตรการบำบัดผู้ติดยา และมาตรการบรรเทาความเสียหายของสุขภาพจากการติดยา[10] อีกทั้งยังมีการเปิดให้ทดลองการปลูกสำหรับเพื่อส่งให้ “ร้านคอฟฟี่ ชอป”ให้มีการนันทนาการเพื่อควบคุมมาตรฐานและความปลอดภัย[11]

ผลจากการปรับนโยบายเรื่องนี้ ทำให้เนเธอร์แลนด์ลดปัญหาอาชญากรรมไปได้มาก โดยเฉพาะคดีลักทรัพย์ และ ทะเลาะวิวาท เรือนจำที่เคยขังผู้ต้องหาจนล้นคุก ตอนนี้กลายเป็นคุกร้าง และต้องปิดตัวลงไปหลายแห่ง และได้ถูกเปลี่ยนกลายเป็นโรงแรม ภัตตาคาร ห้องสมุด โรงภาพยนตร์ ฯลฯ[12]-[13]

การขาดแคลนนักโทษในเรือนจำของเนเธอร์แลนด์นั้น เป็นผลทำให้มีการนำเข้านักโทษจากต่างประเทศ เช่น เบลเยี่ยม นอร์เวย์ ซึ่งนักโทษล้นคุก[14]-[15] โดยประเทศเนเธอร์แลนด์ได้รับผลตอบแทนเป็นค่าเช่าคุกจากประเทศเหล่านั้น

ดร.นพ.มูฮัมมัดฟาห์มี ตาเละ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้เผยแพร่บทความกรณีศึกษาของเนเธอร์แลนด์ในเว็บไซต์ศูนย์ศึกษาปัญหายาเสพติด กรณีศึกษของการใช้กัญชาในเนเธอร์แลนด์ ความตอนหนึ่งว่า:

“ตัวเลขของผู้ใช้สารเสพติดประเภทรุนแรงลดลง ปัญหาจากการใช้สารเสพติดประเภทรุนแรงเช่น การติดเชื้อ HIV จากการใช้เข็มร่วมกันลดลง 15 เท่าในรอบ 10 ปีหลังสุด ประเทศสามารถจัดเก็บภาษีจากร้าน coffee shop ได้ปีละ 400 ล้านยูโร[3] (ประมาณ 14,800 ล้านบาท-ผู้เขียน)

และแม้ตัวเลขของผู้ใช้กัญชาจะสูงถึง 15% ของประชากร แต่เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในยุโรปแล้วไม่ได้แตกต่างมากนัก รัฐบาลเองก็ไม่ได้หวังว่าจะมีคนใช้กัญชาน้อยลง แต่อนุญาตให้ใช้กัญชาเพื่อลดการใช้สารเสพติดรุนแรงอื่นๆ และประสบความสำเร็จ ซึ่งจากสถิติดังกล่าวทำให้เนเธอร์แลนด์กลายเป็นตัวอย่างความสำเร็จของประเทศที่ดำเนินแนวทาง “เสรียาเสพติด””[3]

หลายคนอาจมีคำถามตามมาว่าเมื่อกัญชาใช้กันอยู่ทั่วไปในเนเธอร์แลนด์มาตั้ง 49 ปีแล้ว เด็กเยาวชนคนหนุ่มสาวจะมีระดับสติปัญญาโง่ลงหรือไม่?

ข้อเท็จจริงปรากฏการวัดระดับสติปัญญา หรือ ไอคิว (I.Q.) ในรายงานเมื่อปี 2565 โดยการรวบรวมของเว็บไซต์ Worldpopulationreview พบว่า ค่าเฉลี่ยไอคิวของชาวเนเธอร์แลนด์อยู่ที่ 100.74 ถือว่าเป็นประเทศที่มีระดับสติปัญญาที่สูงมาก เพราะอยู่ติดอันดับที่ 10 ของโลกเทียบเท่ากับชาวเยอรมันจากการวัดทั้งหมด 199 ประเทศ[16]

ในขณะที่ประเทศไทยระดับสติปัญญา หรือ ไอคิว (I.Q.) อยู่ที่ระดับ 88.87 อยู่ในอันดับที่ 64 ของโลก[16]

ไม่เพียงแต่ประเทศเนเธอร์แลนด์เท่านั้น แม้แต่ผลการศึกษาการวิจัยที่ได้มีการสำรวจในแคนนาดาระหว่าง พ.ศ. 2559-2561 พบว่ากัญชามีบทบาทประมาณร้อยละ 25 ในการช่วยการลดยาเสพติดที่เป็นอันตรายร้ายแรง (Harm Reduction) เช่น เฮโรอีน ฝิ่น โคเคน ยาบ้า และติดแอลกอฮอล์ด้วย[17]

สอดคล้องไปกับการนำเสนอของ ผศ.ดร.นพ.ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์ คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2565 ในงานมหกรรม “เดินหน้า..กัญชาเสรี แก้เจ็บแก้จน” จัดโดย กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกสรุปกรณีศึกษาที่น่าสนใจว่า

“มีผู้ป่วยที่ติดยาบ้าจังหวัดขอนแก่น มีอาการทางจิตประสาทถึงขั้นจะทำร้ายร่างกายมารดาตัวเอง แต่สามารถหายจากการติดยาบ้าด้วยการสูบกัญชา และหยุดใช้กัญชาด้วยในเวลาต่อมา และยังชวนเพื่อนให้หยุดยาบ้าได้อีก 5 คน และกลายเป็นคนที่ปลูกผักไร้สารพิษ และเป็นวิทยากรสอนตามโรงเรียนต่างๆ อีกด้วย”[18]

แต่คนส่วนใหญ่ในประเทศไทยจะมีความห่วงใยต่อเยาวชนมากที่สุด ซึ่งเห็นว่าข้อมูลกลุ่มเยาวชนจากพื้นที่ซึ่งมีการใช้กัญชาในประเทศอื่นนั้นจะเป็นตัวอย่างสำหรับประเทศไทยได้ดังนี้

รายงานผลการศึกษาของมลรัฐโคโรลาโด ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อเดือนกรกฎาคม 2564 ซึ่งมลรัฐโคโรลาโดได้มีการใช้กัญชาอย่างต่อเนื่องและมีการทำให้กัญชาเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมายอย่างเป็นทางการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 (ค.ศ. 2013) ซึ่งผลสำรวจตัวอย่างในกลุ่มเยาวชนและคนหนุ่มสาว ซึ่งเป็นประชากรที่ใช้กัญชามากที่สุด แต่กลับทำให้กลุ่มคนเหล่านี้ดื่มเหล้าและสูบบุหรี่ลดลง

โดยประชากรเยาวชนวัยรุ่นอายุ 12-17 ปี ในรอบ 30 วัน มีการใช้กัญชาจากปี พ.ศ. 2548 ที่ร้อยละ 7.6% เพิ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2562 มาเป็น 9.8% [19]

การดื่มสุราของกลุ่มคนอายุ 12-17 ปี จากปี พ.ศ. 2548 ที่ร้อยละ 18.2% “ลดลง”ในปี พ.ศ. 2562 เหลือ 10.7%[19]

การสูบบุหรี่ของกลุ่มคนอายุ 12-17 ปี จากปี พ.ศ. 2548 ที่ร้อยละ 14.2% “ลดลง” ในปี พ.ศ. 2562 เหลือ 4.1%[19]

ส่วนคนหนุ่มสาวที่มีอายุตั้งแต่ 18-25 ปี ในรอบ 30 วัน ซึ่งเป็นกลุ่มประชากรที่ใช้กัญชาสูงที่สุดในมลรัฐโคโรลาโด พบว่ามีการใช้กัญชาจากปี พ.ศ. 2548 ที่ร้อยละ 21.2 เพิ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2562 มาเป็น 34.4%[19]

การสูบบุหรี่ของกลุ่มคนอายุ 18-25 ปี จากปี พ.ศ. 2548 ที่ร้อยละ 45.9% “ลดลง”ในปี พ.ศ. 2562 เหลือ 26.2%[19]

ดังนั้นความเชื่อที่ว่ากัญชาจะเป็นทางไปสู่ยาเสพติดอื่นๆ นั้นอาจจะไม่ใช่เรื่องจริงเสมอไป เพราะทั้งเนเธอร์แลนด์ แคนนาดา และมลรัฐโคโรลาโด “กัญชา” กลับมีบทบาทสำคัญไม่เพียงลดปัญหายาเสพติดรุนแรงเท่านั้น แต่ยังช่วยลดการสูบบุหรี่และดื่มเหล้าของเยาวชนอีกด้วย

บุหรี่และเหล้าได้ถูกประกาศโดยสำนักงานวิจัยมะเร็งระหว่างประเทศ (The International Agency for Research on Cancer (IARC)) ภายใต้องค์การอนามัยโลกได้ประมวลงานวิจัยสารก่อมะเร็งจากทั่วโลกนับตั้งแต่การก่อตั้งจนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 57 ปี พบว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ เป็นสาเหตุของมะเร็งประเภทที่ 1 ได้หลายอวัยวะ[20]

ในขณะที่ “กัญชา”แม้จะมีสารที่เกิดการเผาไหม้บางชนิดจากการสูบที่เป็นสารก่อมะเร็ง แต่เมื่อพิจารณาวิจัยอย่างรอบด้านและตัดปัจจัยอื่นที่เป็นตัวแปรกวนผลแล้ว สำนักงานวิจัยมะเร็งระหว่างประเทศก็ยังไม่เคยให้ “กัญชา” อยู่ในบัญชีสารก่อมะเร็งของสำนักงานวิจัยมะเร็งระหว่างประเทศตลอด 57 ปีจนถึงปัจจุบันเช่นกัน[20]

อ่านมาถึงตรงนี้ท่านผู้อ่านลองพิจารณาดูว่าจะมีกลุ่มทุนใดที่เสียผลประโยชน์บ้าง ไม่ว่าจะเป็นยานำเข้าจากต่างประเทศ เช่น ยากแก้ปวด ยาลดการอักเสบ ยานอนหลับ ยาลดความเครียด ยาแก้โรคลมชัก ยาพาร์กินสัน ฯลฯ กลุ่มยาเสพติดรุนแรงทั้งยาบ้า เฮโรอีน โคเคน ไม่เว้นแม้แต่กลุ่มธุรกิจเหล้าและบุหรี่ รวมถึงกลุ่มคนที่ได้รับประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมจากงบประมาณที่ได้จากภาษีสุราและบุหรี่ ตลอดจนกลุ่มทุนที่ต้องการผูกขาดธุรกิจกัญชา ดังนั้นยิ่งประชาชนสามารถพี่งพาตัวเองได้มากขึ้น ก็ย่ิงมีแรงต้านขย่มจากกลุ่มคนที่เสียผลประโยชน์มากขึ้นเป็นธรรมดา

คำถามสำคัญที่ตามมา คือเด็กเยาวชนซึ่งอยู่ในช่วงการศึกษาในมลรัฐโคโรลาโดที่มีการใช้กัญชามากขึ้นและนานขนาดนี้จะโง่หรือไม่?

คำตอบแรกก็ต้องกลับไปดูที่ผลการวัดระดับสติปัญญา หรือ ไอคิว (I.Q.) ประจำปี 2565 นั้นปรากฏว่ามลรัฐโคโรลาโดวัดได้ที่ระดับ 101.1 มีระดับสติปัญญามากกว่าแต่ใกล้เคียงกับเนเธอร์แลนด์ ก็คือมีระดับสติปัญญาติดอันดับต้นๆของโลกเช่นกัน และมีค่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยในสหรัฐอเมริกาซึ่งอยู่ที่ระดับ 99.6 อยู่ในอันดับที่ 13 ของสหรัฐอเมริกา จากทั้งหมด 50 รัฐ[20]

คำตอบที่สองก็ต้องดูอัตราการจบการศึกษาและการลาออกจากการศึกษาในมลรัฐโคโรลาโดนั้นเปลี่ยนไปหรือไม่?

ปรากฏในรายงานว่าในปี พ.ศ. 2550 พบว่า อัตราการ “ลาออก” จากการเรียนอยู่ที่ 3.8% แต่ในปี 2563 อัตราการลาออกจากการเรียน “ลดลง” เหลือเพียง 1.8% เท่านั้น[19]

ในทางตรงกันข้าม ปี 2550 พบว่า อัตราการ “สำเร็จการศึกษา” อยู่ที่ 73.9% แต่ในปี 2563 อัตราการสำเร็จการศึกษา “เพิ่มขึ้น”เป็น 81.9%[19]

ในสถานการณ์ “ศึกรอบด้านของกัญชา” เช่นนี้ คงต้องอาศัย “สติ” และใช้ “ปัญญา”ในการพิจารณาให้ถ่องแท้ว่าอะไรจริง อะไรเท็จ และจะใช้ประโยชน์จากกัญชา กัญชงนี้ให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติสูงสุดได้อย่างไร และจะลดผลเสียที่อาจจะเกิดขึ้นได้อย่างไรเท่านั้น



ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต
ในฐานะโฆษกคณะกรรมการสื่อสารและประชาสัมพันธ์การใช้กัญชาอย่างเข้าใจ กระทรวงสาธารณสุข

อ้างอิง
[1] CatalinaLopez-Quintero, et al., Probability and predictors of transition from first use to dependence on nicotine, alcohol, cannabis, and cocaine: Results of the National Epidemiologic Survey on Alcohol and Related Conditions (NESARC),Drug and Alcohol dependence, Volume 115, Issues 1-2, May 2011, Pages 120-130
https://www.sciencedirect.com/science/article/abs/pii/S0376871610003753?via%3Dihub

[2] ขุนโสภิตบรรณรักษ์ (อำพัน กิตติขจร), คัมภีร์แพทย์แผนไทยโบราณเล่ม 3, 2504

[3] ดร.นพ.มูฮัมมัดฟาห์มี ตาเละ, เปรียบเทียบสถานะสารเสพติด (กัญชา) ที่ต่างกันสุดขั้วในเนเธอร์แลนด์และสิงคโปร์…….แล้วไทยควรเลือกทางไหน?, เว็บไซต์ศูนย์ศึกษาปัญหายาเสพติด, 30 กรกฎาคม 2564 : 9:32:15 น.
https://cads.in.th/cads/content?id=295

[4] Martin Booth (1 June 2005). Cannabis: A History. Picador. pp. 338–. ISBN 978-0-312-42494-7.

[5] Government of the Netherlands, How does the law distinguish between soft and hard drugs?
https://www.government.nl/topics/drugs/how-does-the-law-distinguish-between-soft-and-hard-drugs

[6] Michael Tonry (22 September 2015). Crime and Justice, Volume 44: A Review of Research. University of Chicago Press. pp. 261–. ISBN 978-0-226-34102-6.

[7] Government of the Netherlands, Toleration policy regarding soft drugs and coffee shops.
https://www.government.nl/topics/drugs/toleration-policy-regarding-soft-drugs-and-coffee-shops

[8] MargrietVan Laar, et al, Limitations to the Dutch cannabis toleration policy: Assumptions underlying the reclassification of cannabis above 15% THC, International Journal of Drug Policy, Volume 34, August 2016, Pages 58-64.
https://www.sciencedirect.com/science/article/abs/pii/S0955395916300202?via%3Dihub

[9] Government of the Netherlands, Nuisance associated with coffee shops and cannabis growing.
https://www.government.nl/topics/drugs/nuisance-associated-with-coffee-shops-and-cannabis-growing

[10] Government of the Netherlands, Drug use and addiction care.
https://www.government.nl/topics/drugs/drug-use-and-addiction-care

[11] Government of the Netherlands, Controlled cannabis supply chain experiment.
https://www.government.nl/topics/drugs/controlled-cannabis-supply-chain-experiment

[12] Lucy Ash, The Dutch prison crisis: A shortage of prisoners, BBC News, Veenhuizen, Published 10 November 2016
https://www.bbc.com/news/magazine-37904263

[13] Deborah Nicholls-Lee, Why the Dutch are closing prisons – and what they’re doing with empty ones, Positive.News., December 7,2021
https://www.positive.news/society/the-empty-prisons-being-put-to-good-use-in-the-netherlands/

[14] Matthew Kang, Belgian prisoners do time abroad, relieving overcrowding at home, Deutsche Welle Breaking World News/Europe, 05,02,2010
https://www.dw.com/en/belgian-prisoners-do-time-abroad-relieving-overcrowding-at-home/a-5221011
[15] Agence France-Presse, Norway sends prisoners to Dutch jail because its own are too full, The Guardian, Norway. Tue 1 Sep 2015 16.23 BST
https://www.theguardian.com/world/2015/sep/01/norwegian-inmates-sent-to-dutch-prison-cells-too-full

[16] Worldpopulationreview.com, Countries by IQ - Average IQ by Country 2022,
https://worldpopulationreview.com/country-rankings/average-iq-by-country

[17] Janice Mok, Use of Cannabis for Harm Reduction Among People at High Risk for Overdose in Vancouver, Canada (2016–2018), American Journal of Public Health (AJPH), Accepted: January 11, 2021 Published Online: April 07, 2021, Document Published May 2021
https://ajph.aphapublications.org/doi/abs/10.2105/AJPH.2021.306168?journalCode=ajph

[18] ผศ.ดร.นพ.ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์, บรรยายเสวนาเรื่อง การใช้กัญชาตามภูมิปัญญาไทย, ในงานมหกรรม “เดินหน้า…กัญชาเสรี แก้เจ็บแก้จน” และการอบรมเรื่อง การเพาะปลูกและการเก็บเกี่ยวที่ดีของพืชกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และการส่งออก, ณ โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพ, วันที่ 15 มิถุนายน 2565, Facebook กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข, คลิปวีดีโอชั่วโมงที่ 1:11:42 -1:12:60
https://www.facebook.com/dtam.moph/videos/760289735130337

[19] Jack K. Reed, Impacts of Marijuana Legalization in Colorado, A Report Pursuant to C.R.S. 24-33.4-516, July 2021
https://cdpsdocs.state.co.us/ors/docs/reports/2021-SB13-283_Rpt.pdf

[20] The International Agency for Research on Cancer (IARC), monographs 2019.
https://monographs.iarc.who.int/wp-content/uploads/2019/12/OrganSitePoster.PlusHandbooks.pdf
https://monographs.iarc.who.int/monographs-available/

[20] Worldpopulationreview.com, Average IQ by State 2022
https://worldpopulationreview.com/state-rankings/average-iq-by-state

1 ก.ค. 2565  ผู้จัดการออนไลน์