My Community

หมวดหมู่ทั่วไป => ข่าวเกี่ยวกับวงการแพทย์ => ข้อความที่เริ่มโดย: story ที่ 19 สิงหาคม 2021, 21:48:46

หัวข้อ: แพทย์ชนบท ยกมติ ครม.17 ส.ค. เป็นทางออกการจัดซื้อ ATK เจ้าปัญหา
เริ่มหัวข้อโดย: story ที่ 19 สิงหาคม 2021, 21:48:46
ชมรมฯ ระบุว่า มติคณะรัฐมนตรีได้ระบุชัดเจนถึงข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับการจัดหาชุดตรวจเชื้อโควิด-19 แบบ ATK ทั้งการผ่านการรับรองจาก อย. และ WHO

วันที่ 18 สิงหาคม 2564 นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ประธานชมรมแพทย์ชนบท ออกแถลงการณ์ชมรมแพทย์ชนบท ฉบับที่ 4 ระบุว่า ความเห็นต่างในการการประมูล ATK 8.5 ล้านชิ้น โดยองค์การเภสัชกรรมที่มีความไม่สบายใจอย่างสูงจากผู้ใช้ทั้งโรงพยาบาลต่าง ๆ และภาคประชาชนที่จะรับการตรวจต่อการที่องค์การเภสัชกรรมยืนยันจะจัดซื้อตามผลการประมูลที่ได้บริษัทออสท์แลนด์ แคปปิตอล จำกัด เสนอ ATK ยี่ห้อ LEPU บัดนี้มีทางออกทางลงแล้ว

ด้วยการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ 17 สิงหาคม 2564 ซึ่งได้มีวาระการรับทราบมติ ศบค.ในหลาย ๆ เรื่อง หนึ่งในนั้นมีเรื่องข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องการจัดซื้อ ATK กล่าวคือ มติคณะรัฐมนตรีได้ระบุชัดเจนถึงข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ในหน้า 53 วงเล็บ 6 ระบุว่า “การเร่งดำเนินการจัดหาชุดตรวจเชื้อโควิด-19 แบบแอนติเจน (Antigen Test Kit : ATK) ที่ผ่านการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีจำหน่ายในไทย มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก (WHO) รวมทั้งต้องมีความแม่นยำในการตรวจเพื่อนำสู่การรักษาที่ทันท่วงที และพร้อมจัดส่งให้ได้ภายในเวลาที่กำหนด”

ทั้งนี้ข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีใน มติ ครม.นี้มีความชัดเจนมาก และสอดคล้องกับการแก้ปัญหาการระบาดหนักของโรคโควิด ทางชมรมแพทย์ชนบทจึงต้องขอแสดงความขอบคุณต่อท่านนายกรัฐมนตรีที่ได้มีข้อสั่งการที่ชัดเจนและทันท่วงทีมา ณ โอกาสนี้

สำหรับขั้นตอนในการจัดซื้อ ATK 8.5 ล้านชุดนั้น ยังอยู่ระหว่างการจัดทำสัญญา ซึ่งยังมีขั้นตอนการลงนามในสัญญาอีกหลายขั้นตอน จึงยังทันที่จะระงับการลงนามในสัญญาเพื่อให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว

ทางชมรมแพทย์ชนบทหวังเป็นอย่างยิ่งว่า จากมติคณะรัฐมนตรีและข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีที่มีความชัดเจนและตรงไปตรงมาในเรื่องจัดหาชุดตรวจ ATK นี้ จะทำให้ปัญหาการจัดซื้อชุดตรวจ ATK ที่เกิดความสับสนและมีข้อกังขานี้คลี่คลายจบลงไปในทางที่ดีอย่างรวดเร็ว ให้เกิดประโยชน์กับประชาชนที่จะได้รับชุดตรวจ ATK ที่มีมาตรฐานระดับองค์การอนามัยโลกรับรอง เพื่อประสิทธิผลในการควบคุมโรคโควิดที่ระบาดหนักในปัจจุบัน ให้เกิดการรักษาพยาบาลที่ทันเวลา ลดความสูญเสียลงให้เร็วที่สุด

18 สิงหาคม 2564
https://www.prachachat.net/marketing/news-741696
หัวข้อ: หมอเกรียงศักดิ์ จับโกหก องค์การเภสัช ปมจัดซื้อ ATK พันล้าน
เริ่มหัวข้อโดย: story ที่ 20 สิงหาคม 2021, 19:42:31
หมอเกรียงศักดิ์ ให้สัมภาษณ์แฉปมจัดซื้อ ATK ซัด องค์การเภสัชกรรมโกหก มีลับลมคมใน ล็อบบี้ขอลดสเป็ค

วันที่ 13 สิงหาคม 2564 กรณีสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จัดสรรงบประมาณ 1,014 ล้านบาท ให้องค์กรเภสัชกรรม (อภ.) ดำเนินการจัดหาชุดตรวจโควิด-19 แบบตรวจหาแอนติเจนด้วยตนเอง (COVID-19 Antigen self-test Test Kits : ATK) แทน จำนวน 8.5 ล้านชุด

ต่อมาวันที่ 10 ส.ค.ที่ผ่านมา อภ.ได้คัดเลือกผู้เสนอราคา และได้ผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการขึ้นทะเบียนและรับรองมาตรฐานจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในราคาประมาณชุดละ 70 บาท รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว อย่างไรก็ตาม มีบางหน่วยงานแสดงความห่วงใยและไม่มั่นใจในคุณภาพของชุดตรวจดังกล่าว รวมทั้งมีการเผยแพร่ข่าวทางสื่อมวลชนและสื่อสังคมออนไลน์ ดังนั้นเพื่อให้เกิดความมั่นใจในสินค้า อภ.จึงขอชะลอการดำเนินการในขั้นตอนการทำสัญญาออกไปก่อน ตามที่ได้รายงานข่าวไปแล้วนั้น

ล่าสุด มติชน รายงานว่า นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ในฐานะประธานคณะทำงานกำหนดอัตราค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สปสช. ให้สัมภาษณ์ในรายการ เจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand ช่อง MCOT HD 30 ว่า สปสช. ไม่สามารถกำหนดสเปคโดยตรงได้ ต้องแจ้งผ่านโรงพยาบาลราชวิถี และองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ซึ่งตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ไม่มีปัญหาอะไร

กรณีการจัดซื้อเอทีเค 8.5 ล้านชุด เป็นเรื่องเร่งด่วน สปสช.ทำหนังสือไปเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม แจ้งไปที่โรงพยาบาลราชวิถี ขอดำเนินการเร่งด่วนในการจัดซื้อจัดหา ตนเข้าใจว่าองค์การเภสัชกรรม บอกมาว่า คำว่าเร่งด่วนของราชการคือการกำหนดให้ซื้อเฉพาะเจาะจงได้ ตามระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ โดยการซื้อเฉพาะเจาะจงคือ วิธีพิเศษ เลือกซื้อได้เลย ซึ่งจะโทษระเบียบของภาครัฐไม่ได้ เพราะมีการเปิดช่องเอาไว้ เรียกว่าล็อกสเป็คก็ได้ ใช้นิ้วชี้ได้เลย เพราะเป็นสถานการณ์เร่งด่วน ราชการสุดยอดมากเพราะทำระเบียบนี้รองรับเอาไว้แล้ว กรณีเกิดโรคระบาดร้ายแรงสามารถทำได้

คณะกรรมการวินิจฉัยภาครัฐว่าด้วยการพัสดุของกรมบัญชีกลาง หลังจากเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 กรมบัญชีกลางมีการออกหนังสือเวียนเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2563 ให้สามารถใช้วิธีการเจาะจง ยกเว้นวงเงิน ขบวนการขั้นตอนตรวจรับก็ไม่ต้องตั้งคณะกรรมการตรวจรับ ซื้อของมาแจกจ่ายได้เลย แต่กรณีที่เกิดขึ้นนี้คงต้องถามองค์การเภสัชกรรม

เมื่อพิธีกรถามว่า นางศิรินุช ชีวันพิศาลนุกูล รองผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ให้สัมภาษณ์ก่อนหน้านี้ว่า ได้ถามกลับมาที่ สปสช.แล้ว ถ้าจะเอายี่ห้อที่องค์การอนามัยโลก (WHO) รับรอง จะมีอยู่ 2 ยี่ห้อ แต่ที่มาขึ้นทะเบียนกับอย.ไทย จะเหลือยี่ห้อเดียว และบอกด้วยว่า สปสช. เกิดอาการลังเลอ้ำอึ้งไม่ตอบให้ชัดว่าจะเอาหรือไม่ ดังนั้น อภ.จึงกลับไปดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบปกติ

นพ.เกรียงศักดิ์ ตอบว่า “โกหกครับ สปสช. นี่ใจกล้าครับ เพราะมีผมเป็นประธานคณะทำงาน เพราะเรารู้ระเบียบที่เกี่ยวข้องอยู่แล้ว ว่ากรมบัญชีกลาง สตง.และกฤษฎีกา เห็นชอบและรับรู้ในระเบียบข้อนี้อยู่แล้วว่า 115 เค้ามีมติในที่ประชุม 21 ก.ค.แล้ว แล้วก็พูดเองว่าสามารถดำเนินการได้เลย เพราะออกโดยกรมบัญชีกลางอยู่แล้ว”

“จริง ๆ เค้ามีลับลมคมใน เพราะในมติในวันที่ 15 กรกฎาคม ก็มีมติให้ประสานกับคณะกรรมการต่อรองราคา แต่ปรากฎว่าไม่ประสานอะไรเลย เค้าไปดำเนินการก่อนเลย เค้าจะแบ่งซื้อ 1 ล้านเทสต์ในช่วงแรก โดยจะซื้อกับอีกบริษัทในราคาที่แพงกว่าที่เราเสนอไป เพราะเราผ่านมติบอร์ดว่า 120 บาทต้องรวมค่าขนส่งถึงสถานที่และต้องไม่มีค่าแอดมินใด ๆ อีกแล้ว เพราะว่างบเงินกู้ที่ต้องซื้อเร่งด่วน ”

“ปรากฏว่าเค้าไปดำเนินการจัดซื้อจัดหาโดยท่านเลขาฯก็ได้ประสานกับผมว่า เอ๊ะ ผู้ประสานงานแจ้งมาว่าจะเริ่มมีการจัดซื้อแล้วนะ เพราะว่าเบื้องต้นเค้าจะซื้อแยกไปก่อน 1 ล้านเทสต์ โดยอ้างว่าต้องการเร่งด่วน และอีก 7.5 ล้านเทสต์จะใช้วิธีการประมูล ซึ่งเราก็บอกว่าไม่เห็นด้วยเพราะจะแบ่งซื้อแบ่งจ้างทำไม และสืบวงในมาได้ว่าจะจัดซื้อในราคา 200 บาทเป็นค่าเทสต์ 160 บวกค่าขนส่งอีก 40 บาท ทั้งที่เราต่อรองเบื้องต้นแล้วว่าจะต้องไม่เกิน 120 บาทรวมค่าขนส่ง ดังนั้นเราเลยไม่ยอม เลขาฯจึงสั่งกับผู้ประสานงานสปสช.ไปว่าไม่ให้ทำแบบนั้น

“ก็เลยจะเกิดการประมูล 8.5 ล้านเทสต์ วันที่ 27 กรกฎาคม ปรากฏว่าเค้าแจ้งมาให้ผมคนเดียวให้เป็นผู้สังเกตการณ์ ซึ่งเราไม่ทราบกระบวนการใด ๆ ในการต่อรองราคา หรือเร่งด่วนและจะเจาะจงอย่างไร จะเห็นควรหรือไม่ เค้าส่งลิงค์มาให้ผมเวลา 23.56 น. ว่า วันถัดมา 09.00 น. จะมีการประมูล ผมก็เลยแจ้งให้คณะกรรมการต่อรองฯทั้งหมดเข้าไปร่วมรับรู้ด้วย เราก็เลยแย้งในที่ประชุมว่าทำอย่างนั้นไม่ได้ ปรากฏว่าในวันนั้นเค้าจะยื่นซองประมูล ปรากฏว่าบริษัทที่เราต่อรองมาคืบหน้า 2 เจ้านี้กลับไม่มีสิทธิที่จะยื่นทั้งคู่เลย เค้าอ้างว่าประสานงานไม่ได้ เราก็ยืนยันไปว่าทำแบบนั้นไม่ได้”

“เพราะในมติมีกำหนดไว้แล้วคณะกรรมการต่อรองราคาจะต้องเข้ามาร่วมในกระบวนการนี้ด้วย ปรากฏว่าเค้ามอบให้เราเป็นเพียงแค่ผู้สังเกตการณ์ เลยแย้งไปว่าให้ไปคิดดูให้ดีเพราะจะเกิดเรื่องใหญ่ขึ้น เค้าก็เลยต้องล้มการเปิดซองในวันนั้น และแจ้งกับเราว่าเค้ามีพรบ.ของเค้าอยู่ ไม่ใช้ระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ มีแต่วิธีคัดเลือก แต่ถ้าจะทำแบบเฉพาะเจาะจงก็ได้ ถ้าลูกค้าต้องการต้องทำหนังสือเป็นทางการมา”

“ผมก็เรียกประชุมมติคณะกรรมการต่อรองราคาฯในวัดถัดมา และยืนยันกลับไปว่าสามารถยื่นให้ทำเฉพาะเจาะจงได้ เราก็เลยขอตกลงเลยให้ยื่นเจาะจง เพราะเรามีรายงานเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม เราเรียก 2 บริษัทเข้ามา เราบอกว่าการต่อรองครั้งนี้ไม่ได้ต้องการเอาถูกที่สุด แต่เราต้องการได้ของดีมี 3 มิติ 1 ต้องมีคุณภาพว่าผ่านอย.อย่างเดียวไม่พอ 2. ต้องมีการตีพิมพ์ในคณะแพทยศาสตร์ศิริราช และ 3 ต้องจัดซื้อของให้ทันเวลาในการนำมาใช้โดยเร็วที่สุดซึ่งคุยตั้งแต่ 9 กรกฎาคม แล้วคือ 1 เดือนคือวันที่ 10 สิงหาคม เราทำทีโออาร์ไปให้เลย กำหนดกรอบการส่งของ มีรายงานการประชุมแนบไป”

แม้ไม่ได้ระบุบริษัท แต่ในรายงานการประชุมระบุชัด  เราเช็คราคามาแล้วเพราะคุยตั้งแต่ 4 กรกฎาคม พอ 9 กรกฎาคม เราเลือกแล้วว่าจะเลือกเจ้าที่เป็นหลังอิงได้คือเจ้าที่มี WHO รับรองเลือกมา 2 บริษัท และไปสืบค้นราคาว่า 2 บริษัทนี้ขายให้ WHO ให้ประเทศทั่วโลกที่ยากจน Panbio ของบริษัท แอบบอต ราคา 5 ดอลลาร์สหรัฐ STANDARD Q โดยเอ็มพี กรุ๊ป ขายราคา 4.96 ดอลลาร์สหรัฐ คือตกประมาณ 160 บาท

ซึ่งหลังจากนั้นก็มีการมายื่นเสนอราคาที่ต่ำกว่าที่ WHO เสนออยู่ 1 ดอลลาร์สหรัฐกว่า ๆ ทำให้เราเสนอไปในรายงานการประชุม ด้วยเงื่อนไขราคานี้จึงนำไปสู่การเสนอขอบอร์ดสปสช.ตามลำดับว่าได้เป็นราคา 120 บาท รวมค่าขนส่งถึงหน่วยบริการ”

“แต่ปรากฏว่าองค์การเภสัชกรรม กลับไม่ทำอย่างนั้น แล้วก็มาบอกว่าถ้าจะให้ทำอย่างนั้นจะต้องให้เราทำหนังสือไป เราก็ทำหนังสือไปวันที่ 29 กรกฎาคม ให้โรงพยาบาลราชวิถี เพราะเราไม่มีหน้าที่โดยตรงแล้วก็ ซีซี ส่งไปที่เค้า แล้วเค้าก็มาล็อบบี้ขอกับเจ้าหน้าที่เราเป็นการภายในว่าเรื่องเร่งด่วน เค้าขอใช้วิธีจัดซื้อแบบของเค้าได้ไหม และขอให้เราตัดคำว่า WHO ออก ตัดคำว่าการตีพิมพ์ออกได้ไหม แล้วก็บอกว่าจะสามารถจัดซื้อได้ภายใน 7 วันส่งของ ซึ่งก็ตรงกับวันที่ 10 สิงหาคม เราก็เลยยอมตรงข้อนี้ไปให้ ไม่ใช่ว่าเราปรับเปลี่ยนไปปรับเปลี่ยนมา”

“วันสุดท้ายวันที่ 5 ที่ 6 ขอปรับสเปคเราอีก แต่เราไม่ยอม ผมไม่ยอมเพราะคุณจะต้องเอามาเป็นข้ออ้างแน่นอนว่าเราปรับเปลี่ยนสเปค ทั้งที่เรายืนยันตั้งแต่ 9 กรกฎาคมแล้วว่าให้เจาะจง เราไม่กลัว เพราะเรามีหลังอิงอยู่แล้ว มีหลักการและเหตุผลอยู่แล้ว สตง.เองก็บอกว่าไม่จำเป็น คณะกรรมการที่ประชุมด้านกฎหมายก็ยืนยันว่าจริง ๆ ไม่ต้องมีทีโออาร์ก็ได้ ส่งของก่อนก็ยังได้”

“่คณะกรรมการพร้อมที่จะออกมาปกป้องประชาชน เพราะของถูกก็โดนด่า ของแพงก็โดนด่า เราทำงานอย่างระเอียดรอบคอบ มีขั้นตอนตั้งแต่ 4 กรกฎาคม มีการตรวจสอบบริษัทต่าง ๆ วิธีการใช้ต่าง ๆ อย่างละเอียด”

“ในนั้นมีอยู่ 19 บริษัทที่เอฟดีเอเรียกคืน ที่ระบุเป็นคลาส 1 ถือว่าเป็นอันตรายสูงสุด เป็นอันตรายต่อชีวิตและสุขภาพ หมายถึงต้องบังคับใช้ข้อกฎหมาย สั่งการว่าดิสทริบิวเตอร์ต้องทำอย่างไร หน่วยงานสาธารณสุขต้องทำอย่างไร หากเทสต์ไปแล้วต้องเทสต์ใหม่”

13 สิงหาคม 2564
https://www.prachachat.net/marketing/news-737829
หัวข้อ: หมอสุภัทร เผยความในใจ หลังพ่ายศึก ATK ฟาดประมูลซื้อ 8.5 ล้านชิ้น แต่แพงกว่า
เริ่มหัวข้อโดย: story ที่ 25 สิงหาคม 2021, 12:52:45
หมอสุภัทร เผยความในใจ หลังพ่ายศึก ATK ถามมีที่ไหนในโลก ประมูลซื้อของ 8.5 ล้านชิ้น แพงกว่าขายที่เมืองนอกเป็นเท่าตัว ฟาดระบบราชการ

วันที่ 25 ส.ค.64 นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จ.สงขลา ในฐานะประธานชมรมแพทย์ชนบท โพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊ก นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ความว่า ความในใจของผม…หลังพ่ายศึก ATK

ค่ำคืนนี้ (24 สิงหาคม 2564) เป็นวันที่ผมได้พักมากกว่าทุกวันตั้งแต่ 2 สิงหาคม 2564 ที่ผมขึ้นกรุงเทพเข้าร่วมปฏิบัติการแพทย์ชนบทบุกกรุงแล้วก็ตามมาด้วยศึก ATK จนวันนี้ นายกฯประยุทธ์กลับลำ พลิกมติ ครม.ให้จัดซื้อจัดจ้างได้โดยไม่ต้องใช้มาตรฐานองค์การอนามัยโลก ยกแรกศึกนี้ก็เหมือนแพทย์ชนบทกำลังพ่ายศึก ATK

ศึกครั้งนี้สั้นๆแต่เข้มข้น เริ่ม 10 ถึง 24 สิงหาคม 2564 เป็น 2 สัปดาห์แห่งการเดินเกมส์เพื่อสู้กับอำนาจรัฐ อำนาจรัฐที่ระดมมาทุกองคพยพเพื่อจะปกป้องระเบียบวิธีการจัดซื้อจัดจ้างที่ไร้ประสิทธิภาพของรัฐ

คือจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบทีไรได้แต่ของถูกราคาแพง เงินภาษีประชาชนไม่ถูกใช้อย่างคุ้มค่า แน่นอนว่าเราสู้ไม่ไหว กับองคาพยพของระบบราชการที่ไม่สนใจสาระ

ความล้มเหลวสำคัญของกรณี ATK 8.5 ล้านชุดครั้งนี้ ง่ายๆสั้นๆคือ ความเดิม สธ.และ สปสช.สนใจการจัดซื้อ ATK คุณภาพสูงให้โรงพยาบาลใช้ตรวจเชิงรุกและเผื่อแจกให้กลุ่มเสี่ยงกลับไปตรวจตนเองและญาติที่บ้านได้ จึงมีการกำหนดราคากลางที่ 120 บาทเพราะหวังจะได้เกรดดีที่มีมาตรฐานองค์การอนามัยโลก


แต่พอถึงขั้นตอนการจัดซื้อจริง ซึ่งเป็นหน้าที่ของ รพ.ราชวิถีและองค์การเภสัชกรรม มีการตัดคำว่ามาตรฐานองค์การอนามัยโลกออกไป คือลดสเป็คโดยอ้างว่าเพื่อไม่ให้ล็อคสเป็ค แต่กลับไม่ลดราคากลางลงมาด้วย ตอนนั้น สปสช.ก็คงคิดไม่ทัน ผลก็คือเราก็ได้ผู้ชนะการประมูลที่เสนอราคาต่ำสุดที่ 70 บาท เป็นเกรด home use ไม่ใช่ professional use ตามที่เคยตั้งใจไว้

ที่สำคัญ มันเป็นเรื่องตลกที่น่าเศร้าสำหรับประเทศไทย ยี่ห้อที่ประมูลได้ขายปลีกในห้างที่อเมริกาชิ้นละ 1 USD ที่ยุโรปขาย 0.85 ยูโร หรือราว 33 บาท ในเวปอาลีบาบาก็ขาย 1 ล้านชิ้นในราคา 1 USD และยังสามารถต่อรองได้

แต่เมืองไทยซื้อทีเดียว 8.5 ล้านชิ้นแต่ได้ราคาชิ้นละ 70 บาท ระบบราชการไทยและผู้บริหารของทั้ง ศบค. สธ. สปสช. อย. อภ.สารพัดองค์กรตัวย่อรวมทั้งรัฐบาล ช่างไม่รู้สึกรู้สาเลยหรือกับระบบระเบียบราชการที่กลไกที่ไร้ประสิทธิภาพที่จัดซื้อจัดจ้างทีไรได้แต่ของถูกราคาแพง

ผลประโยชน์และการคอรับชั่นใต้โต๊ะมีไหมนั้น ผมไม่รู้ (คิดว่าไม่มี) แต่ความไร้ประสิทธิภาพของกลไกการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐนั้นเด่นชัดมาก ผมจะไม่ออกมาคัดค้านเลย หากการประมูลครั้งนี้องค์การเภสัชกรรมลดสเป็คแล้วให้เป็นเกรด home use มาตรฐาน อย.ไทยแล้ว มีการลดราคากลางลงมาให้สมเหตุสมผลด้วย แต่นี้ลดแต่สเป็คโดยไม่ลดราคากลาง อันนี้ไม่เอื้อเอกชนก็แสดงถึงความไร้สำนึกพื้นฐานในการปกป้องภาษีประชาชน

พวกเราแพทย์ชนบททำงานในโรงพยาบาลชุมชน งบน้อยใช้สอยประหยัดจะได้ดูแลผู้ป่วยได้มากคนที่สุด แต่ดูภาพใหญ่ ยิ่งตอกย้ำว่า ประเทศชาติเราคงไปไม่รอด ไปได้ไม่ไกล

ส่วนอีกประเด็นที่ผมเรียนรู้นั้น ผมพบว่า ผมยังไม่นิ่งพอกับบรรดาไอโอและนักวิชาการอีกฝ่ายที่ออกมาเป็นชุดเพื่อโจมตีผมและแพทย์ชนบท ผมอยากจะชี้แจงและตอบโต้ แต่โชคดีที่พี่ๆห้ามไว้ บอกว่าให้มั่นคงในการต่อสู้ให้ตรงประเด็นหลัก อย่าไปเสียสมาธิกับคนที่หาเรื่องใส่ความเรา ภูเขาทองสูงตระหง่านสวยงาม จะมีหมามาเยี่ยวรดบ้างก็เป็นธรรมดา

ศึก ATK แม้ยกแรกแพทย์ชนบทเราจะพ่ายแพ้ แต่ผมและเพื่อนสมาชิกแพทย์ชนบทยังมีกำลังใจดีมาก เพราะภารกิจของเรานั้นไม่ใช่เรื่องแพ้ชนะศึก ATK แล้วเลิก แต่เพื่อใช้กรณี ATK สะท้อนให้สังคมเห็นถึงระบบราชการอันเส็งเคร็งที่ต้องการการรื้อใหญ่ นี่ต่างหากที่เป็นภารกิจหลักของเรา

มีที่ไหนในโลกที่ประมูลซื้อของ 8.5 ล้านชิ้น แล้วซื้อได้ในราคาต่อชิ้นที่แพงกว่าซื้อชิ้นเดียวจากห้างในเยอรมันถึง 2 เท่า มีแต่ประเทศไทยอันเป็นที่รักของเรานี่แหละ

25 ส.ค. 2564
https://www.khaosod.co.th/covid-19/news_6582414
หัวข้อ: ชมรมแพทย์ชนบท ซัดบิ๊กตู่ หลังเดินหน้าจัดซื้อ ATK เจ้าปัญหา
เริ่มหัวข้อโดย: story ที่ 25 สิงหาคม 2021, 12:55:37
เมื่อวันที่ 24 ส.ค. ชมรมแพทย์ชนบท ออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 5 “ตู่ไม่แข็ง ชมรมแพทย์ชนบทและเครือข่ายจะยังคงตรวจสอบคุณภาพ ATK ที่ประมูลได้ต่อไป” แถลงโดย นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ วันที่ 24 สิงหาคม 2564 การประชุมคณะรัฐมนตรีในวันนี้ 24 สิงหาคม 2564 ได้มีการเสนอในที่ประชุมให้แก้ไขมติ ครม.และข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี

อันสืบเนื่องจาก มติ ครม.ในวันที่ 17 สิงหาคม 2564 ในเรื่องการจัดซื้อ ATK ในหน้า 53 วงเล็บ 6 ระบุว่า “การเร่งดำเนินการจัดหาชุดตรวจ ATK ที่ผ่านการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีจำหน่ายในไทย มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก (WHO)” โดยให้ปรับปรุงเป็นข้อความว่า “ในเรื่องการจัดหาซื้อชุดตรวจ ATK นี้ ขอให้ สธ.เร่งดำเนินการให้ได้โดยเร็ว หากมีปัญหาความขัดแย้งอยู่ในปัจจุบัน ขอให้เร่งแก้ไขปัญหาให้ดีที่สุด”

ทางชมรมแพทย์ชนบทได้เห็นแนวโน้มของความพยายามแก้ไขข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีและมติคณะรัฐมนตรีมาตลอดสัปดาห์ และวันนี้ก็มีความชัดเจนว่า “รัฐบาลของนายกประยุทธ์ จันทร์โอชานั้น ไม่แข็งจริง การไม่มีหลักยึดทีมั่นชัด ไม่แข็งที่จะยืนบนหลักที่ถูกต้อง ทำให้การนำรัฐนาวาประเทศไทยสู่การฝ่าฟันวิกฤตโควิดไปได้นั้นสาหัสและเจ็บหนักมากทั้งชีวิตผู้คนและระบบเศรษฐกิจไทย”

ชมรมแพทย์ชนบทยังคงยืนบนหลักการของแถลงการณ์ฉบับที่ 3 ที่เคยเสนอไปแล้วว่า อำนาจการจัดซื้ออยู่ที่องค์กรรัฐ แต่อำนาจการตรวจสอบอยู่ที่เราภาคประชาชน ชมรมแพทย์ชนบทร่วมกับเครือข่ายภาคประชาชนยังยืนยันที่จะระดมทีมปฏิบัติการจากทุกภาค ทำการตรวจสอบชุดตรวจ ATK ที่ได้รับการประมูลว่ามีคุณภาพทั้ง sensitivity และ specificity ดังที่กล่าวอ้างหรือไม่ มีผลบวกปลอมและผลลบปลอมในสัดส่วนที่เกินกว่าจะรับได้หรือไม่

ทั้งนี้ เราจะเริ่มปฏิบัติการทันทีที่ชุดตรวจได้กระจายลงสู่พื้นที่ และหากผลการตรวจสอบพบว่าชุดตรวจมีคุณภาพต่ำเกินกว่าที่จะรับได้ เรื่องนี้ต้องมีผู้รับผิดชอบ ATK ที่ใช้เป็น home use เกือบทุกยี่ห้อรวมทั้งยี่ห้อที่ชนะการประมูล ราคาขายปลีกในห้างในสหรัฐอเมริกาและยุโรปราคาเพียง 1 USD การที่องค์การเภสัชกรรมลดสเป็คลงโดยไม่ลดราคากลางที่ 120 บาทลงไป ทำให้เราจัดซื้อได้ ATK เกรด home use ในราคากลางของ professional use เป็นการใช้เงินกู้และภาษีประชาชนอย่างไม่คุ้มค่าเลย และจะกระทบต่อการควบคุมโรคโควิดและการเปิดประเทศ

ชมรมแพทย์ชนบทขอให้กำลังใจกับบุคลากรด้านสุขภาพทั้งประเทศ ให้สู้ทำงานหนักต่อไปแม้จะเหนื่อยยาก นี่คือชะตากรรมของพวกเราภายใต้รัฐบาลปัจจุบัน

24 ส.ค. 2564
https://www.khaosod.co.th/special-stories/news_6581279
หัวข้อ: หมอชนบทขอบคุณอภ.จากใจ ทำให้ ATK ไม่จบ กับจุดเริ่มต้นมหากาพย์ทุจริตยาภาค 2
เริ่มหัวข้อโดย: story ที่ 31 สิงหาคม 2021, 14:59:10
เมื่อวันที่ 31 ส.ค.64 นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผอ.โรงพยาบาลจะนะ จ.สงขลา โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กระบุ "ขอบคุณหมอวิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผอ.อภ.นะ ที่ทำให้เรื่อง ATK นี้ไม่จบ ทั้งๆที่ผมและแพทย์ชนบทกำลังจะจบเรื่องนี้แล้วเชียว

เมื่อวาน 30 สิงหาคม 2564 องค์การเภสัชกรรม (อภ.) และบริษัท world medical alliance ลงนามในสัญญาจัดซื้อ ATK 8.5 ล้านชุด ท่ามกลางเสียงคัดค้านและความไม่มั่นใจของสถานบริการและบุคลากรทางการแพทย์ นั่นก็ว่ากันไป ชมรมแพทย์ชนบทก็ตั้งใจไว้แล้วว่า เราจะตรวจสอบกันแบบแฟร์ๆ เอางานวิชาการมาพิสูจน์ จึงได้เชิญอาจารย์ นักวิจัย นักระบาด มาทำการศึกษา ยอมเลิกแนวคิดการตรวจสอบด้วย 60 องค์กรในเครือข่ายแพทย์ชนบท โดยจะให้อิสระทีมวิจัยได้วางวิธีวิทยา รวมทั้งการขออนุญาตผ่านคณะกรรมการจริยธรรมอย่างตรงไปตรงมา ทำให้งานวิจัยนี้คงใช้เวลาสองสามเดือนเป็นอย่างน้อย

ชมรมแพทย์ชนบทตั้งใจแล้วว่าจะจบเรื่องนี้แบบใช้วิชาการมาพิสูจน์ เราไม่คิดจะฟ้อง ปปช. ฟ้อง สตง. ฟ้องศาลปกครอง หรือแม้แต่ปฏิบัติการกับรัฐบาล ศบค.และ รมต.อนุทิน ที่ละเลยการแก้ปัญหาเรื่องนี้ปล่อยให้องค์การเภสัชกรรมลดสเป็คโดยไม่ลดราคากลาง จนคนไทยได้ของถูกราคาแพง

แต่แล้ว นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม ก็ดันดำเนินการยื่นเรื่องต่อ ปชช.ให้ตรวจสอบความผิดของคณะทํางานกําหนดอัตราค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่มี นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ และ นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ เป็นคณะอนุกรรมการ กล่าวหาว่าทำผิดกฏหมายด้วยการล็อคสเป็ค เพื่อแก้เกี้ยวที่องค์การเภสัชไปลดสเป็คโดยไม่ลดราคากลางจนทำให้ประมูลได้ของถูกราคาแพง

การฟ้องร้องต่อ ปชช.ครั้งนี้เป็นการกระทำในนาม ผอ.องค์การเภสัชกรรมที่บอร์ดองค์การเภสัชกรรม โดยประธานบอร์ดคือ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต เห็นชอบแล้วหรือ น่าจะเป็นการดำเนินการในฐานะส่วนตัวมากกว่าไหม ฝากทางบอร์ดองค์การเภสัชให้ความกระจ่างด้วย

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะดำเนินการในนามส่วนตัวหรือองค์การเภสัชกรรม ผมเองและชมรมแพทย์ชนทต้องขอขอบคุณนายแพทย์วิบูลย์ ด่านวิบูลย์อย่างสูง ที่ช่วยทำให้เรื่องที่กำลังจะจบนี้ไม่จบ และช่วยทำให้ชมรมแพทย์ชนบทและเครือข่ายคึกคักมีแรงฮึดอีกครั้งที่จะขุดคุ้ยเรื่องนี้ต่อไปอย่างเต็มกำลัง ช่วยทำให้ผมเองมีพลังที่จะตะลุยเรื่องนี้ให้ความจริงปรากฏ

จุดเริ่มต้นของมหากาพย์ทุจริตยาภาค 2 กำลังจะเริ่มแล้วเพราะ นพ.วิฑูรย์เอง ขอบคุณจากใจอีกครั้ง ที่คุณหมอวิฑูรย์ทำให้เรื่องนี้ไม่จบ"

สยามรัฐออนไลน์  31 สิงหาคม 2564