My Community

หมวดหมู่ทั่วไป => สหสาขาวิชาชีพ => ข้อความที่เริ่มโดย: story ที่ 09 สิงหาคม 2021, 13:29:59

หัวข้อ: 'ฟ้าทะลายโจร'เทียบ'ยาหลอก' รักษาโควิดได้ผลต้องใช้ปริมาณเหมาะเฉพาะคน
เริ่มหัวข้อโดย: story ที่ 09 สิงหาคม 2021, 13:29:59
'ฟ้าทะลายโจร' กลายเป็นสุดยอดสมุนไพรในการใช้ 'รักษาโควิด-19' ทว่าจากการศึกษา พบว่า ปริมาณ 180มก.ต่อวัน อาจไม่เหมาะสมกับทุกคน ทีมสภาเภสัชกรรม จึงแนะนำให้ใช้ในปริมาณที่เหมาะสมเฉพาะส่วนบุคคล หวั่นใช้ผิดเกิดโทษมหันต์
จากการที่นักวิจัยถอดถอนงานวิจัย ‘ฟ้าทะลายโจร’ ใช้รักษาโควิด-19 แล้วมีผลดีลดการเกิดปอดอักเสบ ด้วยเหตุผลว่ามีความผิดพลาดในการคำนวณค่านัยสำคัญของความแตกต่าง (p-value) จึงของดการเผยแพร่ไว้ก่อนเพื่อป้องกันการนำผลวิจัยไปใช้ด้วยสำคัญผิด

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์ ศัลยแพทย์หัวใจและผู้เชี่ยวชาญเวชศาสตร์ครอบครัว โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก โดยระบุว่า ทีมผู้วิจัย (ชาวไทย)ได้ทำวิจัยแบบสุ่มตัวอย่างแบ่งกลุ่มเปรียบเทียบ (RCT) ที่สรุปผลได้ว่า ฟ้าทะลายโจร ใช้รักษาโควิด-19 แล้วมีผลดีลดการเกิดปอดอักเสบได้ 

โดยในงานวิจัยดังกล่าวรายงานว่า กลุ่มผู้ใช้ฟ้าทะลายโจร 29 คน เป็นปอดอักเสบ 0 คน กลุ่มที่ใช้ยาหลอก 28 เป็นปอดอักเสบ 3 คน คำนวณนัยสำคัญของความแตกต่างได้ p=<0.039 ซึ่งเป็นความแตกต่างที่มีนัยสำคัญ (ตัดกันที่ p=<0.05) แต่หากคำนวณอย่างถูกต้องแท้จริงแล้วค่านัยสำคัญจริงๆ คือ p=0.1 แปลไทยให้เป็นไทย คือจะต้องเปลี่ยนคำสรุปผลวิจัยเป็น การใช้ฟ้าทะลายโจรลดปอดบวมได้ ไม่แตกต่างจากใช้ ยาหลอก

ระหว่างที่งานวิจัยใหม่นี้ได้ถอดถอนออกไประหว่างรอตีพิมพ์ และยังไม่ออกมา ชาวไทยก็ต้องอาศัยข้อสรุปใหม่ล่าสุดที่ว่า ‘ฟ้าทะลายโจร’ ลดปอดบวมในคนไข้โควิด-19 ได้ไม่แตกต่างจากยาหลอก ไปพลางๆ ก่อน และที่หมอสันต์เคยบอกว่าหลักฐานวิทยาศาสตร์สนับสนุนการใช้ฟ้าทะลายโจรรักษาโควิดตอนนี้พอแล้วนั้น ก็ต้องถอนคำพูด และขอใช้คำพูดใหม่ว่า หลักฐานวิทยาศาสตร์สนับสนุนการใช้ฟ้าทะลายโจรรักษาโควิดตอนนี้ยังมีไม่พอ ต้องรอการวิจัยซ้ำด้วยกลุ่มตัวอย่างที่ใหญ่ขึ้น

ทำความเข้าใจเกี่ยวกับ ‘ยาหลอก’
เว็บไซต์องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับ ยาหลอก (Placebo) โดยระบุว่า ยาหลอกจะถูกทำให้มีลักษณะ สี และขนาดต่าง ๆ ให้ดูคล้ายกับยาทั่วไป แต่กลับไม่มีส่วนประกอบของสารออกฤทธิ์ที่มีผลต่อการรักษา มีส่วนประกอบหลักทำมาจากแป้งหรือน้ำตาล ซึ่งเป็นวิธีการศึกษาและทดลองของสถานพยาบาล

ทั้งนี้ จากผลการศึกษาพบว่า ยาหลอกมีผลได้ทั้งเชิงบวกและเชิงลบ โดยในเชิงบวกนั้นยาหลอกอาจทำให้ผู้เข้ารับการรักษาที่มีภาวะต่าง ๆ มีอาการตอบสนองในทางสุขภาพที่ดีขึ้นได้ เนื่องจากผลของยาหลอกอาจมีการเชื่อมโยงมาจากผลความคาดหวังจากการรักษาซึ่งเป็นปรากฏการณ์ทางจิตวิทยาและปฏิกิริยาทางระบบประสาทที่มีความซับซ้อน

บทบาท‘เภสัชกรรม’ วิจัย ศึกษาแนะวิธีใช้ที่ถูกต้อง
ล่าสุด วิทยาลัยเภสัชกรรมสมุนไพรแห่งประเทศไทย สภาเภสัชกรรม ได้จัดเสวนาวิชาการออนไลน์ “บทบาทของเภสัชกรต่อการใช้ยาสมุนไพรในผู้ป่วยโควิด-19”

รศ.ดร.ภญ.จิราพร ลิ้มปานานนท์ นายกสภาเภสัชกรรม กล่าวถึงบทบาทของเภสัชกรต่อการใช้ยาสมุนไพรในผู้ป่วยโควิด-19 ว่าสถานการณ์ปัจจุบันมีความน่ากังวลอย่างมาก เพราะขณะนี้มี ผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่มขึ้นทุกวัน และต่อให้พยายามจะจัดระบบดูแลรักษาตัวเองที่บ้าน Home Isolation หรือ การแยกรักษาตัวที่ชุมชน Community Isolation แต่ระบบบริการเริ่มตึงตัวมากขึ้น และมีปัญหาผู้ป่วยเข้าไม่ถึงยา

‘สมุนไพร’ มีบทบาทสำคัญอย่างมาก ซึ่งสภาเภสัชกรรมให้ความสำคัญในเรื่องของสมุนไพรเนื่องจากสมุนไพรเป็นสิ่งที่มีอยู่ในประเทศ และเราสามารถที่จะใช้ภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ ในการใช้ให้เป็นประโยชน์ได้

ทาง สภาเภสัชกรรม พยายามผลักดันให้มีการใช้ยาสมุนไพรในระบบประกันสุขภาพ นั่นคือ เพื่อให้ได้แพร่หลายทั่วไป ต้องเข้าไปอยู่ในบัญชี ยาหลักแห่งชาติ ประชาชนอยู่ในกองทุนใดกองทุนหนึ่ง เช่น บัตรทอง บัตรข้าราชการ หรือบัตรประกันสังคม ซึ่งทั้ง 3 ระบบนี้ อนุญาตให้เบิกจ่ายยาได้ตามบัญชี ยาหลักแห่งชาติ ดังนั้น จึงเป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้เกิดการใช้ยา แต่เมื่อมีการใช้ ต้องเป็นการใช้ยาอย่างมีเหตุผล ถูกต้อง บทบาทของเภสัชกรจึงอยู่ในส่วนนี้

'ฟ้าทะลายโจร'ปลอมเกลื่อน ฝากปชช.ระวังการใช้ยา
ในช่วงโควิด-19 เมื่อนำยาฟ้าทะลายโจรเข้าสู่บัญชี ยาหลักแห่งชาติ และถูกบรรจุช่วยทางการรักษาโควิด-19 ของกรมการแพทย์ หมายความว่าเราสามารถใช้ฟ้าทะลายโจรในกลุ่มผู้ป่วยมีอาการน้อย หรืออาการเริ่มต้น

“ขณะนี้มีปัญหาเรื่องยาสมุนไพรปลอม ฟ้าทะลายโจรปลอมมากมาย และการโฆษณาชวนเชื่อทั้งหลาย อยากฝากประชาชนให้ระวัง เพราะการกินยาที่ไม่มีตัวยา และการใช้สมุนไพรที่ไม่ถูกต้องอาจเป็นอันตรายได้ การใช้ยามีความจำเป็นอย่างมากที่ทุกคนต้องรู้ เข้าใจ และให้ความสำคัญในเรื่องนี้” รศ.ดร.ภญ. จิราพร กล่าว

ขณะเดียวกัน กลุ่มของเภสัชกรซึ่งเป็นผู้เรียนและศึกษาในเรื่องของยา ไม่ว่า ยาจะมาจากแหล่งที่มา สมุนไพร เคมี ต้องมีการติดตาม ศึกษาข้อมูล เพื่อให้คำแนะนำที่ถูกต้องแก่ประชาชน เพราะยามีประโยชน์แต่หากใช้ไม่ถูกต้องก็มีโทษมหันต์เช่นกัน

แนะศึกษาวิจัย'ฟ้าทะลายโจร'ถึงปริมาณการใช้ที่เหมาะสม
ดร.ภญ.อัญชลี จูฑะพุทธิ  กรรมการบริหารวิทยาลัยเภสัชกรรมสมุนไพรแห่งประเทศไทย สภาเภสัชกรรม กล่าวว่า ฟ้าทะลายโจร เป็นสมุนไพรที่คนไทยรู้จักดี ซึ่ง จริงๆ แล้วยาแคปซูลฟ้าทะลายโจรได้เข้าบัญชียาหลักแห่งชาติ มาตั้งปี 2542 ซึ่งในปี 2564 เป็นการประกาศเพิ่มเติมรายการฟ้าทะลายโจร ในบัญชี ยาหลักแห่งชาติ ให้ใช้ยาฟ้าทะลายโจรสำหรับผู้ป่วยโรคโควิด-19ที่มีความรุนแรงน้อย

คือ ยาสารสกัดจากฟ้าทะลายโจร และยาจากผงฟ้าทะลายโจรที่ควบคุมปริมาณแอนโดรกราโฟไลด์  เงื่อนไขการใช้อื่นๆ รับประทานในขนาดยาที่มีปริมาณแอนโดรกราโฟไลด์ 180 มก.ต่อวัน โดยแบ่งให้วันละ 3 ครั้ง ให้ใช้ได้โดยผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม และมีการติดตามประเมินประสิทธิผลและความปลอดภัยหลังการใช้อย่างเป็นระบบ

“ตอนนี้มีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการใช้ยาฟ้าทะลายโจรในกลุ่มผู้ป่วยโควิด-19 จำนวนมาก พบว่ายาฟ้าทะลายโจรช่วยรักษาโควิด-19 ในกลุ่มผู้ป่วยอาการน้อยได้เป็นอย่างดี แต่ในส่วนอื่นๆ จะต้องมีการศึกษาวิจัยทางคลินิกแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุม(RCT) เพื่อยืนยันประสิทธิผลของฟ้าทะลายโจรในผู้ป่วยโควิด-19 รวมถึงการศึกษาแบบ real world study อีกทั้งต้องเพิ่มความร่วมมือทางวิชาการกับมหาวิทยาลัย สถาบันวิจัยต่างๆ และโรงพยาบาลในการร่วมมือกันทำการวิจัยทางคลินิกให้กว้างขวางมากขึ้น เพื่อสร้างความเข้าใจในการใช้ต่อไป”ดร.ภญ.อัญชลี กล่าว

'ฟ้าทะลายโจร'รักษาผู้ป่วยโควิดได้ดีในกลุ่มอาการน้อย
ดร.ภญ.ผกากรอง ขวัญข้าว หัวหน้าศูนย์หลักฐานเชิงประจักษ์ กลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวว่าการศึกษาฤทธิ์ของฟ้าทะลายโจรในโรคโควิด-19 อ้างอิงจากพฤกษเคมี จำพวกแอนโดรกราโฟไลด์ และอนุพันธ์ ซึ่งผู้ป่วยมีการใช้ยาแผนปัจจุบันร่วมด้วย โดยโรคโควิด-19 เป็นโรคอุบัติใหม่ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แต่ในส่วนของงานวิจัยมีจำกัด ดังนั้น ต้องมีการติดตาม รวบรวมข้อมูลประสิทธิผลและความปลอดภัยของยา เพื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้อย่างมีประสิทธิผลและปลอดภัย

สารสกัดฟ้าทะลายโจร ซึ่งมีสารแอนโดรกราโฟไลด์ มีฤทธิ์ยับยั้งการแบ่งตัวของโควิด-19 โดยกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการน้อยที่ไม่มีโรคร่วมเมื่อใช้ยาฟ้าทะลายโจรที่มีแอนโดรกราโฟไลด์ 180 มก.ต่อวัน มีแนวโน้มลดความรุนแรงของโรคแต่ยังต้องติดตามการใช้อย่างเป็นระบบ ดังนั้น ตอนนี้ยังมีอีกหลายเรื่องที่ต้องมีการศึกษาอย่างต่อเนื่อง

ใช้ 'ฟ้าทะลายโจร'180 มก.ต่อวัน รักษาโควิด ไม่ได้ผลทุกคน
“ยาจากสมุนไพร ออกฤทธิ์แบบ Multi-effects  คือมีความเฉพาะส่วนบุคคล และความสมดุลของร้อนเย็น อย่าง ฟ้าทะลายโจร มีกลุ่มผู้สูงอายุติดโควิด-19 และพยายามทานยาฟ้าทะลายโจรให้ได้ปริมาณ 180 มก.ต่อวัน พบว่าหลายคนเกิดอาการท้องอืด ท้องผูก ลมตีขึ้น ต้องพยายามช่วยผู้ป่วยปรับยา ดังนั้น การใช้ยาฟ้าทะลายโจรต้องเหมาะสมเฉพาะส่วนบุคคล ขณะเดียวกันต้องคำนึงถึงผลข้างเคียงและความเสี่ยงของผู้ป่วยที่ได้รับร่วมด้วย โดยส่วนตัว งานวิจัยต่อไปอนาคต อาจจะต้องทำเป็นช่วง และต้องบอกประชาชนว่าสมุนไพรปลอดภัยถ้าใช้อย่างเหมาะสม”ดร.ภญ.ผกากรอง กล่าว

ดร.ภญ.ผกากรอง กล่าวต่อว่าจากการใช้ยาฟ้าทะลายโจรในกลุ่มผู้ป่วยโควิด-19 พบว่าเมื่อใช้ทันทีที่รู้อาการจะเห็นผลอย่างชัดเจน  ซึ่งบางคนดีขึ้นภายใน1 วันแต่ไม่ได้หายแต่ต้องกินติดต่อกันไป 3 วัน

แต่เมื่อเป็นสายพันธุ์เดลตา(อินเดีย) ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ป่วยโควิด-19 ติดแล้วไม่แสดงอาการ ผู้ป่วยจะ swab ตัวเองแล้วเมื่อมีอาการ ฉะนั้น การใช้ยาฟ้าทะลายโจรจะยากขึ้นไปอีก

ส่วนการใช้ร่วมกับผู้ป่วยในกลุ่มที่ต้องทานยาสารกันเลือดลิ่ม (anticoagulant)และยาต้านการจับตัวของเกล็ดเลือด (antiplatelets) ต้องระวัง ส่วนอาการไม่พึงประสงค์ อาจทำให้เกิดอาการผิดปกติของทางเดินอาหาร เช่น ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ เบื่ออาหาร วิงเวียนศีรษะ ใจสั่น และอาจเกิดลมพิษได้

9 สิงหาคม 2564 | โดย ทีมคุณภาพชีวิต
https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/953635