My Community

หมวดหมู่ทั่วไป => ข่าวเกี่ยวกับวงการแพทย์ => ข้อความที่เริ่มโดย: story ที่ 07 สิงหาคม 2021, 11:03:34

หัวข้อ: สงครามโควิด-19 “ซีซั่นใหม่” จากสงคราม “วัคซีน” สู่ “ยา” จับตากลเกม “ฟาวิพิราเวีย
เริ่มหัวข้อโดย: story ที่ 07 สิงหาคม 2021, 11:03:34
หากทอดสายตาดู “สมรภูมิ” การต่อสู้กับ “โควิด-19” ณ เวลานี้ คงกล่าวได้ว่า สถานการณ์ของประเทศไทยที่เคยดุเดือดเลือดพล่านกับปัญหาสารพัดสารพันของ “วัคซีน” กำลังเคลื่อนเข้าสู่การต่อสู้ “ซีซั่นใหม่” นั่นคือ “ยา” ที่ใช้รักษา โดยมี “พระเอก” ที่โดดเด่นอยู่ 2 ตัวคือ “ฟาวิพิราเวียร์” ซึ่งเป็นตัวแทนจากแพทย์แผนตะวันตกและ “ฟ้าทะลายโจร” ซึ่งเป็นตัวแทนของแพทย์แผนตะวันออก-แพทย์แผนไทย

ทว่า แทนที่ 2 พระเอกจะเสริมซึ่งกันและกันในการต่อสู้กับไวรัสมรณะ หากแต่มีความพยายามหรือกลเกมแห่งผลประโยชน์เข้ามาสอดแทรก ทำให้คนไทยอาจจะต้องสูญเสียโอกาสอย่างที่ควรจะเป็น ที่สำคัญคือ ดูเหมือนว่า “ฟ้าทะลายโจร” จะตกเป็นเป้ารุมสกรัมจาก “แพทย์แผนตะวันตกจำนวนไม่น้อย” ที่ไม่ยอมรับในสรรพคุณของพืชสมุนไพรชิ้นนี้ โดยพยายามจะเตะสกัดไม่ให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการรักษาผู้ติดเชื้อ ทั้งการเตะสกัด “ผงหยาบ” แต่สนับสนุน “สารสกัดแอนโดกราโฟไลด์” รวมไปถึงการแจกจ่ายให้กับ “ผู้ป่วยสีเขียว” หรือผู้ป่วยที่ยังไม่มีอาการ

สงครามโควิด-19 ซีซั่นใหม่นี้ช่างเร้าใจยิ่งนัก

 “วัคซีน” ไม่ใช่แค่เวชภัณฑ์ แต่คืออาวุธของมหาอำนาจ

ยกแรกของสงครามโควิด-19 ถนนทุกสายของโลกอยู่ที่ “วัคซีน” ทำให้เกิดปัญหาการเข้าถึง โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศที่ไม่ใช่มหาอำนาจ ดังที่ประเทศไทยต้องเผชิญในช่วงก่อนหน้านี้และในขณะนี้ ซึ่งแม้ “วัคซีน” จะเป็นความหวังของมวลมนุษยชาติ แต่ก็ต้องยอมรับว่า “วัคซีนเจนเนอชันแรก” ไม่สามารถรับมือกับโควิด-19 ได้อย่างที่ควรจะเป็น หลายประเทศที่ประกาศคลายล็อกด้วยประชาชนส่วนใหญ่ฉีดวัคซีนไปแล้ว 2 เข็มก็ต้องหวนกลับมาล็อกดาวน์อีกหลังเจอเชื้อกลายพันธุ์อย่าง “เดลตา”

กลุ่มที่ปรึกษาทางวิทยาศาสตร์สำหรับเหตุฉุกเฉินของสหราชอาณาจักร (Scientific Advisory Group for Emergencies - SAGE) ถึงขนาดออกมาวิเคราะห์ลงไปเลยว่า “จะมีตัวกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสโควิด-19 ตัวใหม่ ซึ่งจะทำให้วัคซีนทุกชนิดที่มีอยู่ในปัจจุบันไม่สามารถรับมือได้”

หรือดังที่ “นายชิเงรุ โอมิ” หัวหน้าคณะที่ปรึกษาเรื่องไวรัสโควิดของรัฐบาลญี่ปุ่น ให้สัมภาษณ์ว่า “ถึงแม้ฉีดวัคซีนให้ประชาชนถึงร้อยละ 70 ก็ยากที่จะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ ที่จะปกป้องผู้ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนอีกร้อยละ 30 ไม่ให้ติดเชื้อได้”

ขณะที่ประเทศไทยเอง “รัฐบาล 3 ลุง” นำโดย “ลุงตู่-พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” ก็แก้ปัญหาในลักษณะของ “พายเรืออยู่ในอ่าง” วนไปวนมาอย่างนี้ตลอดช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ตัวเลขติดเชื้อจากหลักร้อย เป็นหลักพัน จากหลักพัน เป็นหลักหลายพัน จากหลักหลายพันก็เป็นหลักหมื่น และพุ่งทะลุ 20,000 คนต่อวันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยไม่มีหลักรับประกันใดๆ ว่าจะหยุดอยู่เพียงแค่นี้

ส่วน “พื้นที่สีแดงเข้ม” ก็ขยายตัวไปเรื่อยจาก 4 จังหวัด เป็น 10 จังหวัด, จาก 10 จังหวัด เป็น 13 จังหวัด, จาก 13 จังหวัด เป็น 29 จังหวัด ... และน่าจะครอบคลุมพื้นที่ทุกจังหวัดทั่วประเทศไทยในเร็ว ๆ นี้

ความผิดพลาดในระดับนโยบายช่วงแรกทำให้การจัดหา “วัคซีน” เป็นไปด้วยความล่าช้าและไม่เพียงพอ เนื่องจากอำนาจการต่อรองตกอยู่ในมือของ “บริษัทผู้ผลิต” และ “ประเทศมหาอำนาจ” ที่ “กั๊ก” เอาไว้ใช้ในประเทศของตัวเอง เกิดปัญหาความไม่ยอมรับวัคซีน เกิดปัญหาการนำเข้า “วัคซีนทางเลือก” จนเกิดกรณี “โมเดอร์นา-ไฟเซอร์” ที่ถูกปลุกกระแสดรามาขึ้นมาโดย “หมอบุญ-นพ.บุญ วนาสิน” ประธานกรรมการ บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) โดยเฉพาะ “ไฟเซอร์” ที่ปั่นกันจน“สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)” ต้องทำให้หนังสือให้ชี้แจง และสุดท้ายตัว “หมอบุญ” เองก็ออกมายอมรับว่า “ดีลล่ม” เป็นที่เรียบร้อย

หรือแม้กระทั่ง “วัคซีนหลัก” อย่าง “แอสตร้าเซนเนก้า” ที่มีโรงงานผลิตในประเทศไทยก็ไม่สามารถผลิตและส่งมอบให้ตรงตามจำนวนที่ประเทศไทยร้องขอได้

แน่นอน “ลุงตู่” มีความผิดพลาดอย่างใหญ่หลวงจนคะแนนนิยมรูดมหาราช ซึ่งตรงนี้ไม่อาจปฏิเสธความเป็นจริงได้ ดังนั้น จึงพยายามที่จะแก้สถานการณ์ โดยหนึ่งความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจก็คือ การที่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวผ่านการบันทึกเทปสัมภาษณ์พิเศษของสำนักโฆษก ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2564 ถึงความพยายามในการเจรจากับต่างประเทศเพื่อจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมว่า ได้ให้ “กระทรวงการต่างประเทศและภาคธุรกิจ” ไปเจรจากับบริษัทผู้ผลิตว่าสามารถเพิ่มเติมได้อีกหรือไม่ ให้ถือเป็นตัวแทนของรัฐบาลอีกทาง นอกจากทางรัฐและกระทรวงสาธารณสุขจัดหา

“ถ้ามันดี มันได้ก็มาเข้ามาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข พร้อมยินดีปลดล็อกให้นำเข้าได้ แต่ต้องเป็นวัคซีนที่มีคุณภาพและนำเข้าได้จริง”

ทั้งนี้ ได้มีข้อสั่งการของ พล.อ.ประยุทธ์ โดยมอบหมายให้ “นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์” รองนายกรัฐมนตรี หารือร่วมกับเครือข่ายภาคเอกชนที่มีศักยภาพเพื่อดำเนินการจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมร่วมกับรัฐบาล โดยไม่ผ่านกระบวนการจัดซื้อของกระทรวงสาธารณสุข เนื่องจากเป็นขั้นตอนการดำเนินงานที่ล่าช้า และส่วนใหญ่มีไทม์ไลน์การส่งมอบในปี 2565 แทบทั้งสิ้น

เป้าหมายก็คือการจัดหาวัคซีนโควิดเฉพาะกิจเข้ามาเพิ่มเติมแบบเร่งด่วนจำนวน 20 ล้านโดส โดยคาดหวังจะให้เข้ามาภายในเดือนสิงหาคมและกันยายนนี้ ซึ่งพบว่ายังพอมีช่องว่างในการจัดซื้อวัคซีนแบบเร่งด่วนได้ เช่น ขอเจรจากับประเทศที่มีวัคซีนเหลือเกินความต้องการของคนในประเทศแล้ว และเจรจากับตัวแทนรายใหญ่ที่มีโควตาวัคซีนอยู่ในมืออยู่แล้ว ยกตัวอย่างเช่นตัวแทนในสหรัฐอเมริกามีโควตาวัคซีนของจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน (J&J) และแอสตร้าเซนเนก้าอยู่จำนวนหนึ่ง เป็นต้น

ประเด็นใหญ่อยู่ตรงที่ว่า แม้เวลานี้ปริมาณวัคซีนระดับโลกจะพอจะ “มีเหลือ” ดังจะเห็นได้จากการที่ประเทศมหาอำนาจทะยอย “บริจาค” ให้ประเทศต่างๆ เช่น ญี่ปุ่น-อังกฤษบริจาคแอสตร้าเซนเนก้าให้ไทย สหรัฐฯ บริจาคไฟเซอร์ให้ไทย เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฯลฯ และ “ลุงตู่” พอจะเห็นช่องดังที่ได้สั่งให้ “นายสุพัฒนพงษ์และกระทรวงต่างประเทศ” ไปดำเนินการ แต่การที่จะติดต่อทั้งในรูปของ “บริจาค” หรือแม้แต่ “ซื้อ” ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเนื่องจากมีความเชื่อมโยงกับเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรืออาจกล่าวได้ว่า “วัคซีนไม่ใช่เวชภัณฑ์ธรรมดา แต่เปรียบได้กับ ยุทธภัณฑ์ทางการทหาร และ อาวุธทางการทูต”

ดังนั้น ถึงแม้จะ “ดีลกับภาคเอกชน” สำเร็จ แต่ถ้ามิได้รับ “ไฟเขียว” จากประเทศมหาอำนาจเหล่านั้น ก็คงไม่ใช่เรื่องที่จะสั่งซื้อกันเข้ามาง่ายๆ

โดยเฉพาะ “ไฟเซอร์” ที่สหรัฐฯ บริจาคให้ไทย ก็มีการตั้งข้อสังเกตว่า อาจจะมีความเชื่อมกับการที่รัฐบาลไบเดนอนุมัติให้ขายอาวุธเครื่องยิงจรวด Javelin ด้วยเกิดขึ้นในห้วงเวลาใกล้ ๆ เคียงกัน

ด้วยเหตุดังกล่าว วัคซีนจะยังคงเป็นปัญหาสำหรับไทยต่อไป

ที่สำคัญคือ ต้องยอมรับว่า ในภาวะมหาวิกฤตโรคระบาดที่เกิดขึ้นในรอบร้อยปีอย่างเช่นที่กำลังเผชิญกันอยู่ทุกวันนี้ คงไม่สามารถที่จะใช้วิธีการแบบเดิม ๆ กระบวนทัศน์แบบเดิม ๆ ในการจัดการได้ และการตั้งเป้าเรื่องการติดเชื้อเป็นศูนย์ น่าจะเป็นเรื่องที่สามารถใช้คำว่า “เพ้อฝัน” ได้ เพราะตราบใดที่ไวรัสกลายพันธุ์อยู่เรื่อยๆ ก็คงต้อง “บูสเตอร์” กันไปเรื่อยๆ เช่นกัน

 สงครามยกสอง “ฟ้าทะลายโจร” ปะทะ “ฟาวิพิราเวียร์”

จากเรื่อง “วัคซีน” ที่ยังไม่คลี่คลาย สถานการณ์ก็ขับเคลื่อนไปสู่ “ปัญหาใหม่” ที่เกิดกับ “ยา” ที่ใช้ในการรักษา ซึ่งพระเอกมีอยู่ 2 ตัวคือ “ฟาวิพิราเวียร์” และ “ฟ้าทะลายโจร” เพราะเป็น “ยาพื้นฐาน” ในยามที่คนไทยกำลังเดินหน้าไปสู่ “การกักตัวเองที่บ้าน” (Home Isolation) หรือ “การกักตัวในชุมชน” (Community Isolation) เพราะปัญหา “เตียงเต็ม”

เริ่มจาก “ฟ้าทะลายโจร” ที่ดูเหมือนว่า “รัฐบาลลุง” ที่นำโดย “ลุงตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะทำอะไรแบบเชื่องช้า กระทั่งเวลานี้ขาดตลาดและมีราคาแพงไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

เพราะฉะนั้นการแก้ปัญหาจึงจำเป็นต้องวางแผนทั้ง “ระยะต้น ระยะกลางและระยะยาว” เริ่มตั้งแต่ “การปลูก” ให้กระจายไปในวงกว้างเพื่อให้เพียงพอกับความต้องการ จากนั้นก็ต้องเดินหน้าทำ “การวิจัย” อย่างเป็นระบบทั้งในระดับห้องทดลองและในมนุษย์ ทั้งในรูปของ “ผงหยาบ” และ “สารสกัดแอนโดรกราโฟไลท์” เพื่อให้ประชาชนมีทางเลือกในการใช้ ตามต่อด้วยการพัฒนาไปในระดับอุตสาหกรรมเพื่อสร้างรายได้ให้กับประเทศ

ขณะที่ในช่วงเฉพาะหน้าหรือระยะต้นต่อเนื่องไปจนถึงระยะกลางก็จะต้องวางแผนว่า จะทำให้อย่างไรถึงจะมี “ฟ้าทะลายโจร” ให้เพียงพอกับความต้องการของประชาชน รวมทั้งควบคุม “ราคา” มิได้พุ่งกระฉูดจนกลายเป็นภาระของประชาชน โดยปัญหาใหญ่ที่กำลังรอให้แก้ก็คือ สภาวะการขาดแคลนอันเนื่องมาจากความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ และต้องยอมรับว่า การปลูกฟ้าทะลายโจรไม่ใช่ทำได้ภายใน 3 วัน 7 วัน หากแต่ต้องกินเวลาในราว 4 เดือนเพื่อให้ได้มาซึ่ง “ดอก” และ “เมล็ด” รวมทั้งได้ต้นมาใช้ต้มรับประทานหรือบดเป็นผงหยาบ

ทั้งนี้ ประเด็นสำคัญ ณ ตรงนี้ก็คือ ราคาขายส่งยังไม่ได้ปรับสูงจากต้นทุนจริง แต่ราคาตลาดไปบวกเท่าตัวเอง เช่น ราคาหน้าโรงงาน 70-80 บาท แต่ในท้องตลาดขายกัน 150-160 บาท และความต้องการที่สูง ผู้บริโภคก็อาจต้องทำใจที่ต้องซื้อในราคาแพงอยู่ดี ซึ่งเป็นปัญหาที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือ “กระทรวงพาณิชย์” ที่มี “นายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฏ์” เป็นรัฐมนตรีจะดูแลราคาระหว่างทางพ่อค้าคนกลางถึงผู้บริโภคได้อย่างไร

ขณะที่ ราคาเมล็ดพันธุ์ต้นฟ้าทะลายโจรก็แพงขึ้นถึงเมล็ดละ 60-80 สตางค์ สูงสุด 1.00-1.50 บาท/เมล็ด จากเดิม 20 สตางค์ หรือแพงขึ้น 4 เท่าตัว และเริ่มขาดตลาดอีกต่างหาก

สำหรับในส่วนของการปลูกนั้น มีความคืบหน้าไปพอสมควรจากการผลักดันของหลายหน่วยงานและหลายองค์กรที่เล็งเห็นความสำคัญในช่วงนี้ ไม่ว่าจะเป็นมูลนิธิสุขภาพไทยภายใต้การผลักดันของ “รสนา โตสิตระกูล” หรือสารพัดรัฐมนตรีที่เข้าใจคุณค่าของฟ้าทะลายโจร เช่น สมศักดิ์ เทพสุทิน ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า มนัญญา ไทยเศรษฐ์ ฯลฯ รวมถึงภาคเอกชน เช่น “เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์” แห่งเครือเจริญโภคภัณฑ์หรือซีพีที่ประกาศเดินหน้าโครงการ “ปลูกฟ้าทะลายโจร” 100 ไร่ที่จังหวัดสระบุรี เพื่อผลิต 30 ล้านแคปซูล พร้อมแจกฟรีในอีก 100 วัน โดยจะดำเนินการแบบปลอดสารพิษทั้งกระบวนการ และมีการใช้เทคโนโลยีเพื่อให้เกิดความปลอดภัยและมีคุณภาพ ซึ่งเครือ ซี.พี.จะนำความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการเกษตรมาช่วยในสถานการณ์นี้ พร้อมกันนั้นจะมีการส่งเสริมเกษตรกรให้ปลูกฟ้าทะลายโจร และมีการจ้างงานเกษตรกรในการเพาะกล้าไม้ และส่งเสริมให้ขยายผลไปในชุมชน เพื่อให้เกิดความยั่งยืนต่อไปเป็นต้น

อย่างไรก็ดี คำถามที่เกิดขึ้นมีอยู่ว่าในระหว่างที่รอการเก็บเกี่ยวผลผลิต ปัญหาเฉพาะก็คือจะทำอย่างไร เพราะจะเร่งปลูกอย่างไรคงไม่ทันกับสถานการณ์ เพราะเมื่อตรวจสอบข้อมูลย้อนหลังดูจะเห็นว่า ยอดผลิตและยอดสั่งซื้อ “ฟ้าทะลายโจร” เพิ่มสูงขึ้นหลายเท่านับตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา ทำให้มีการการกว้านซื้อในจำนวนที่สูงกว่าปกติ 2-3 เท่า
ทางออกเฉพาะหน้าที่เหมาะสมก็คือ “นำเข้าจากประเทศ” และต้องดำเนินการในฉับพลันทันที

นอกจากนั้น ไม่เพียงแต่ “ฟ้าทะลายโจร”

เท่านั้น หากแต่ “แคปซูล” ที่เป็นอุปกรณ์สำคัญที่ใช้บรรจุก็มีปัญหา เนื่องจากที่ผ่านมาประเทศไทยต้องนำเข้าจากประเทศจีน อินเดีย และอินโดนีเซีย ปีละประมาณ 1 หมื่นล้านแคปซูลเลยทีเดียว เพราะราคานำเข้าถูกกว่าราคาจากโรงงานภายในประเทศ โดยทั้ง 3 ประเทศที่กล่าวมาข้างต้น ต้องเจอกับปัญหามากมาย เช่น จีนที่ต้องปรับไปผลิตสินค้าอื่นด้านการแพทย์มากขึ้น จำนวนโรงงานผลิตแคปซูลจึงลดลง ส่วนอินเดียและอินโดนีเซียเจอวิกฤตโควิด-19 กระทบต่อโรงงานผลิตต้องปิดตัวหรือลดกำลังการผลิตจากการขาดแคลนแรงาน อีกทั้งที่ผ่านมาระบบขนส่งทั่วโลกเจอปัญหาขาดแคลนเรือขนส่งข้ามประเทศและค่าระวางสูงจนกระทบต่อต้นทุนการส่งออกและนำเข้า

และนั่นเป็นปัญหาที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข

ทว่า ปัญหา “ฟ้าทะลายโจร” ขาดตลาดก็ไม่สำคัญเท่ากับเรื่อง “ฟาวิพิราเวียร์” ที่สังคมกำลังเฝ้าจับตาในหลายประเด็นด้วยกัน

ประเด็นแรกคือ “ฟาวิพิราเวียร์” จะเพียงพอกับความต้องการใช้หรือไม่ เนื่องจากตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ขยับสูงขึ้นทุกวัน เพราะถ้าหากสถานการณ์ยังดำเนินไปในลักษณะนี้คือมีผู้รายใหม่เพิ่มขึ้นต่อวันวันละ 20,000 คน ความจำเป็นของการใช้ “ฟาวิพิราเวียร์” จะอยู่ที่ราว 30 ล้านเม็ดต่อเดือน หรือวันละประมาณ 1 ล้านเม็ด ซึ่งองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ได้ชี้แจงในวันที่ 2 สิงหาคมว่าเดือนสิงหาคมนี้จะเข้ามาเพิ่มอีก 43.1 ล้านเม็ด ส่วนยาฟาวิพิราเวียร์ที่ อภ. วิจัย พัฒนา ผลิตเองและผ่านการขึ้นทะเบียนตำรับยาจาก อย. แล้ว ในเดือนสิงหาคมจะดำเนินการผลิตแบบบรรจุแผง จำนวน 2.5 ล้านเม็ด ในเดือนกันยายนจะผลิตยาได้ จำนวน 23 ล้านเม็ด และตั้งแต่เดือนตุลาคมนี้เป็นต้นไปจะสามารถผลิตได้ไม่น้อยกว่า 40 ล้านเม็ดต่อเดือน

อย่างไรก็ดี คงต้องจับตาว่าจะไม่ขาดจริงหรือไม่ เพราะทำไปทำมาอาจจะเกิดปัญหาซ้ำรอยเหมือน “แอสตร้าเซนเนก้า” ก็เป็นได้

สำหรับประเด็นที่สองก็คือ การที่ “ฟ้าทะลายโจร” มีปัญหาการยอมรับจาก “แพทย์แผนปัจจุบัน” เมื่อเทียบกับ “ฟาวิพิราเวียร์” ด้วยเป็นที่สังเกตว่า แพทย์แผนปัจจุบัน และคณะแพทย์ที่มีส่วนตัดสินใจในการเลือกยาแผนโบราณ หรือยาประเภทใดก็ตามเข้ามารักษาโรคภัยไข้เจ็บ ซึ่งถ้ามาจากแพทย์แผนไทยโบราณหรือสมุนไพร ก็จะใช้ข้ออ้างที่ว่า ยังไม่มีงานวิจัยออกมาสนับสนุนว่า ยานี้จะรักษาได้จริงหรือไม่ และปฏิเสธความมีประสิทธิภาพในการรักษาตามแนวทางของแพทย์แผนไทย ซึ่งจะเน้นหลักในการใช้สมุนไพรไทยหลายๆตัว มาเป็นองค์ประกอบร่วมในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ขณะที่แทบจะไม่สงสัยต่อสรรพคุณของยากที่มาจากแพทย์แผนตะวันตกเลย

หรือถ้ายอมรับก็จะมุ่งหน้าไป “สารสกัด” เชิงเดี่ยวมากกว่า กรณีของ “ฟ้าทะลายโจร” เห็นได้ชัดจากความพยายามที่จะ “ล็อกเสปก” เฉพาะ “สารแอนโดรกราโฟไลด์” มากกว่าการใช้ “ผงหยาบ” ซึ่งจะเข้าทางบริษัทอุตสาหกรรมขนาดใหญ่มากกว่าส่งเสริมให้ชาวบ้านเข้าถึงได้ง่าย

ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่า ปัจจุบันโควิด-19 ยังไม่มียารักษาที่มีประสิทธิภาพตรงๆ และ “ฟาวิพิราเวียร์” ก็เป็นหนึ่งในยาที่มีการประยุกต์ใช้ เพราะพบว่า หากได้รับเร็วภายใน 4 วันตั้งแต่เริ่มมีอาการ สามารถช่วยลดปริมาณไวรัสได้ดี ซึ่งจะว่าไปก็ไม่ต่างอะไรกับ “ฟ้าทะลายโจร” ขณะที่ผู้ติดเชื้อซึ่งมีอาการมากขึ้นก็จะมีสูตรยาที่ต่างกันออกไป อาทิฟาวิพิราเวียร์ควบคู่กับการให้ยาสเตียรอยด์ในผู้ป่วยที่เริ่มมีอาการรุนแรง หรือผู้ที่ปอดอักเสบรุนแรง จะมีการให้ยาฟาวิพิราเวียร์ สเตียรอยด์ และโลพินาเวียร์/ริโทนาเวียร์ ควบคู่กันไป เป็นต้น

ก่อนหน้านี้ “นายแพทย์ มนูญ ลีเชวงวงศ์” แพทย์เฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ โพสต์เฟซบุ๊ก “หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC” เกี่ยวกับ “ฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir)” เอาไว้ว่า “ยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) คิดค้นในประเทศญี่ปุ่นปี ค.ศ. 2002 เริ่มใช้ในประเทศญี่ปุ่นสำหรับรักษาโรคไข้หวัดใหญ่ปี ค.ศ. 2014 นำมารักษาโรคโควิด-19 ในหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทย ...ถ้าจะใช้ฟาวิพิราเวียร์ต้องรีบให้ตั้งแต่เริ่มมีอาการในคนป่วยที่มีความรุนแรงน้อยหรือปานกลาง ให้ช้าไปไม่ได้ผล องค์การอาหารและยา (FDA) ของสหรัฐอเมริกาไม่อนุมัติให้ใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ในการรักษาโรคโควิด-19 เพราะมีความเห็นว่ายานี้ยังมีประสิทธิภาพดีไม่เพียงพอ”

เพราะฉะนั้นแทนที่จะมุ่งหน้า “สั่งซื้อหรือผลิตฟาวิราเวียร์” เพียงอย่างเดียว รัฐบาลจำต้องแก้ปัญหาเรื่อง “แพทย์แผนไทย และการพัฒนาแพทย์แผนไทย และสมุนไพรไทย” โดยพิจารณาถึงการทำโครงสร้างที่ถูกต้อง และโครงสร้างนี้จะต้องเอื้อประโยชน์ทำให้แพทย์แผนไทยนี้สามารถได้พัฒนา และประยุกต์เอาวิชาการ ตลอดจนการปฏิบัติ การรักษาพยาบาลที่สามารถจะบูรณาการระหว่างแพทย์แผนไทยโบราณ กับวิธีการรักษาประชาชนในยุคสมัยปัจจุบัน มิใช่ทุ่มงบประมาณไปกับยาแผนปัจจุบันแต่เพียงอย่างเดียว

ดังตัวอย่างที่เกิดขึ้นในประเทศจีน ซึ่งให้ความสำคัญกับแพทย์แผนจีนโบราณ และสมุนไพรต่างๆ มีการฝึกอบรมบุคลากร ที่ให้ทั้งแพทย์แผนจีน และแพทย์แผนปัจจุบัน ให้เข้าหากัน เพื่อให้ต่างฝ่ายต่างเข้าใจซึ่งกันและกัน และจะได้ให้ผลที่ออกมาเป็นส่วนผสมของของเก่า และของใหม่ โดยปัจจุบันยาแผนจีนโบราณหลายประเภทได้ถูกลงทะเบียน และขึ้นเป็นบัญชียาหลักในประเทศจีนไปแล้ว

ขณะเดียวกันเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าอุตสาหกรรมยากับหมอนั้น มีส่วนสัมพันธ์ในเชิงผลประโยชน์ที่ผูกพันธุ์กันมานานแสนนาน ไม่มีบริษัทยาไหน จะไม่จ่ายค่าคอมมิชชั่นให้กับหมอ หรือโรงพยาบาลที่สั่งยาเป็นอันขาด เป็นเรื่องประเพณีที่ปฏิบัติกันมานานแสนนาน อาจจะเป็นเพราะว่า ยาสมุนไพรไทยนั้น ไม่สามารถจะจ่ายค่าคอมมิชชั่นให้กับระบบการแพทย์แผนปัจจุบันได้ ก็เป็นไปได้ว่า เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้สมุนไพรไทย และยาที่ทำจากสมุนไพรไทยนั้น ไม่ได้ถูกให้ความสนใจอย่างจริงจัง

ที่สำคัญที่สุด ถ้าประชาชนสามารถเข้าถึงสมุนไพรไทย อย่างเช่น “ฟ้าทะลายโจร” ได้ทุกครัวเรือน ก็จะสามารถทำให้ประชาชนสามารถดูแลตัวเองได้ดี โดยไม่ต้องพึ่งพาหมอเลย เช่น เป็นไข้ เจ็บคอ ไอ ไซนัส ฆ่าเชื้อ แก้อักเสบ นอกจากจะทำให้ประชาชนสามารถจะรักษาดูแลตัวเองได้ แม้กระทั่ง การเป็นไข้หวัดเล็ก ไข้หวัดใหญ่ ก็สามารถจะรักษาเองได้ โดยที่ไม่ต้องไปหาหมอ เสียเงินค่ารักษา ค่ายา เป็นหลักพัน เพราะฟ้าทะลายโจรนั้น ส่วนหนึ่งก็เป็นยาปฏิชีวนะ (Antibiotic) แก้อักเสบ แต่เป็นยาสมุนไพร ที่เหนือกว่ายาปฏิชีวนะ แก้อักเสบที่มาจากสูตรฝรั่ง

ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยจำเป็นต้อง “ปฏิรูประบบการสาธารณสุข” มิให้เดินตามก้นฝรั่งแต่เพียงอย่างเดียวเสียที.

7 ส.ค. 2564  ผู้จัดการออนไลน์