My Community

หมวดหมู่ทั่วไป => ข่าวเกี่ยวกับวงการแพทย์ => ข้อความที่เริ่มโดย: story ที่ 26 กุมภาพันธ์ 2021, 20:21:29

หัวข้อ: สสส. เดินหน้าสานพลังเครือข่าย ผลักดันยาช่วยเลิกบุหรี่สู่บัญชียาหลักแห่งชาติ
เริ่มหัวข้อโดย: story ที่ 26 กุมภาพันธ์ 2021, 20:21:29
สสส. เดินหน้าสานพลังเครือข่าย ผลักดันยาช่วยเลิกบุหรี่สู่บัญชียาหลักแห่งชาติ
สสส. จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้และผลักดันนโยบายของภาคีเครือข่ายควบคุมยาสูบ ในหัวข้อ “ชวน ช่วย เลิกบุหรี่ : สานพลังเครือข่ายเพื่อผลักดันยาช่วยเลิกบุหรี่สู่บัญชียาหลักแห่งชาติ” เพื่อสร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการช่วยให้คนเลิกสูบบุหรี่

ศุกร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ 2564

โครงการสนับสนุนและสื่อสารการขับเคลื่อนงานของภาคีเครือข่ายควบคุมยาสูบ ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้และผลักดันนโยบายของภาคีเครือข่ายควบคุมยาสูบ ในหัวข้อ “ชวน ช่วย เลิกบุหรี่ : สานพลังเครือข่ายเพื่อผลักดันยาช่วยเลิกบุหรี่สู่บัญชียาหลักแห่งชาติ” เพื่อสร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการช่วยให้คนเลิกสูบบุหรี่ ประสบการณ์เลิกสูบบุหรี่ของผู้ใช้บริการระบบบริการเลิกบุหรี่ และแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันของภาคีเครือข่าย โดยจัดงานในรูปแบบเสวนาออนไลน์ ร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิและตัวแทนภาคีเครือข่ายเข้าร่วมรับฟัง แลกเปลี่ยนความคิดเห็นผ่านระบบ Zoom และถ่ายทอดสด Facebook live (เพจ ชวน ช่วย เลิกบุหรี่) ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้งหมด ได้แสดงเจตนารมณ์ร่วมกันในการดำเนินงานควบคุมยาสูบ รวมทั้งผลักดันยาช่วยเลิกบุหรี่ให้บรรจุอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ

รศ.นพ.สุทัศน์ รุ่งเรืองหิรัญญา หัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ในฐานะรองประธานเครือข่ายวิชาชีพแพทย์ในการควบคุมยาสูบ กล่าวว่า บริการเลิกบุหรี่ในประเทศไทยขณะนี้มีหลายรูปแบบ ซึ่งแต่ละรูปแบบให้ผลสำเร็จที่แตกต่างกัน พร้อมระบุว่า การบรรจุยาเลิกบุหรี่ เข้าไว้ในยาบัญชีหลักแห่งชาติ เป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะจะช่วยให้ระบบการเลิกบุหรี่ของประเทศไทยมีความเข้มแข็ง

“ทุกคนมีส่วนที่จะสามารถทำร่วมกันได้ ซึ่งขณะนี้องค์กรภาคส่วนต่าง ๆ ก็พร้อมสนับสนุน มองว่าก้าวสำคัญอยู่ตรงที่ทุกคนร่วมกันผลักดันในจุดที่คนไข้อยู่ตรงไหนก็สามารถรับบริการเลิกบุหรี่ได้ และมีบริการหลากหลายรูปแบบ และคนไข้สามารถเข้าถึงยาที่มีคุณภาพได้ และเชื่อมั่นว่าทุกคนจะช่วยกันเป็นหนึ่งเดียวในการผลักดันฝันนี้ให้เป็นจริงได้” รศ.นพ.สุทัศน์ กล่าวย้ำ

ขณะที่ ศ.เกียรติคุณ พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์ นายกแพทยสภา ในฐานะประธานสมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ กล่าวถึงพลังเครือข่ายกับการผลักดันนโยบายยาช่วยเลิกเข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติ โดยระบุว่า หากมีการบรรจุยาช่วยเลิกบุหรี่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ จะมีผลในการช่วยลดอัตราการสูบบุหรี่ได้อย่างแน่นอน เพราะเมื่อ 2 - 3 ปีที่ผ่านมา กรมควบคุมโรคได้ทำการศึกษาวิจัย ร่วมกับ รศ.นพ.สุทัศน์ รุ่งเรืองหิรัญญา หัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ในฐานะรองประธานเครือข่ายวิชาชีพแพทย์ในการควบคุมยาสูบ ศึกษากลุ่มตัวอย่างที่จังหวัดนครราชสีมา 2,000 คน โดยแบ่งเป็นการศึกษาว่า ให้คน 1,000 คนใช้ยา และอีก 1,000 คนไม่ใช้ยา ผลปรากฎว่า ภายใน 12 สัปดาห์ 24 สัปดาห์ คนที่ไม่ใช้ยาเลิกได้ 15.3% แต่กลุ่มที่ใช้ยาช่วย เลิกได้ประมาณ 39%  ผลการศึกษาครั้งนี้ ทำให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่าถ้าใช้ยามาช่วยเลิกบุหรี่จะช่วยได้ค่อนข้างมาก ส่วนคนที่ไม่ใช้ยาช่วยเลิก ก็จะพึ่งทางอื่น เช่น ยาอม หญ้าดอกขาว หรือแพทย์แผนไทย พร้อมย้ำว่า ผู้สูบบุหรี่ที่ต้องพึ่งยาช่วยเลิก จะเป็นคนที่ผ่านกระบวนการช่วยเลิกมาแล้วทุกขั้นตอนแต่ไม่สามารถเลิกได้ อาจเป็นผู้ที่ติดนิโคตินอย่างหนัก จึงมีความจำเป็นต้องใช้ยา 

ขณะที่ นพ.ชยนันท์ สิทธิบุศย์ ผู้อำนวยการกองงานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การเลิกบุหรี่ของแต่ละคนอาจไม่เหมือนกัน เพราะบางคนสามารถใช้วิธีหักดิบได้ แต่บางคนที่สูบบุหรี่มานาน จนมีภาวะเสพติดนิโคติน จะไม่สามารถเลิกเองได้  

ทั้งนี้ กรมควบคุมโรค พยายามที่จะผลักดันให้ยาที่มีประสิทธิภาพสูง เข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติ ซึ่งระบบการเลิกบุหรี่มีในสถานพยาบาลทุกแห่ง ทั้งโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ก็จะพัฒนาศักยภาพบุคลากรที่ให้คำปรึกษาต่าง ๆ มีภาคีเครือข่ายสำคัญที่มีความเข้มแข็งมากในการที่จะช่วยผลักดันให้ระบบบริการเลิกบุหรี่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีสถิติพบว่า มีผู้ประกันตนที่สูบบุหรี่ประมาณ 2.9 ล้านคน และหากทำให้เข้าสู่ระบบการบำบัดที่มีประสิทธิภาพได้ จะทำให้วัยแรงงานมีสุขภาพที่ดี ลดจำนวนผู้รับควันบุหรี่มือสองลงไปได้ ลดรายจ่ายด้านการรักษาพยาบาลไปกว่า 10,372 ล้านบาท  กรมควบคุมโรคจึงได้ทำโครงการเพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกันตนเข้าถึงระบบบริการเลิกบุหรี่และยาเลิกบุหรี่แบบครบวงจร โดยในปี 2560-2561 กรมได้ศึกษาจำลองสถานการณ์ เพื่อวิจัยเบื้องต้นในการใช้ยาวาเรนิคลิน เพื่อนำมาใช้ในการเลิกบุหรี่ที่จังหวัดนครราชสีมา ผลออกมาพบว่า จากเดิมที่ลดอัตราผู้สูบบุหรี่ได้ประมาณร้อยละ 10 เมื่อใช้ยาชนิดนี้เข้ามาร่วมด้วยแล้วอัตราการเลิกสูบบุหรี่อยู่ที่ประมาณร้อยละ 39 ใกล้เคียงตัวเลขในต่างประเทศที่ร้อยละ 40 

“หากสถานพยาบาลภาครัฐ ต้องการเข้าร่วมโครงการนี้สามารถติดต่อได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 1422 หรือ 02-590-3850 หากเข้าร่วมโครงการแล้วนอกจากจะได้รับระบบบริการและยาเลิกบุหรี่โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายแล้ว ยังมีการเรียนออนไลน์ในการพัฒนาบุคลากรเพื่อการบำบัดผู้สูบบุหรี่และส่งต่อการรักษาตามระบบที่เกี่ยวข้องอีกด้วย พร้อมมองว่า ถึงเวลาที่คนไทยที่สูบบุหรี่น่าจะเข้าถึงยาเลิกบุหรี่ได้ทุกคน อยากให้ประเทศไทย มียาที่มีประสิทธิภาพและมีสุขภาพที่ดี”

ด้าน ภก.ดร.กิติยศ ยศสมบัติ ผู้แทนเครือข่ายวิชาชีพเภสัชกรรมเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพและควบคุมยาสูบ กล่าวถึงความจำเป็นของการใช้ยาช่วยเลิกบุหรี่ และประสิทธิภาพของยาวาเรนิคลิน ว่า การใช้ยาให้ผู้ป่วยเลิกบุหรี่ได้สำเร็จ ไม่ว่าจะมองทั้งในมุมผู้ป่วยเองหรือระบบสุขภาพโดยรวม ถือว่ามีความคุ้มค่าทั้งสิ้น ต่อให้เป็นยาราคาแพงที่สุด  โดยกลไกการออกฤทธิ์ของยาวาเรนิคลินแตกต่างจากยาอื่น ๆ คือ นอกจากจะกระตุ้นสมองให้เสมือนได้รับสารนิโคติน ช่วยลดอาการทรมานแล้ว ยังสามารถที่จะป้องกันการเกิดความสุขเมื่อรับสารนิโคตินอีกด้วย จึงทำให้ยาชนิดนี้มีประสิทธิภาพสูงสุด ขณะที่การเปรียบเทียบข้อดีและข้อควรระวังของยาช่วยเลิกบุหรี่แล้วจะพบว่า ยานอทริปทิลีน มีข้อจำกัดต้องเริ่มยาที่มีขนาดน้อย ใช้เวลารักษายาวนานมากขึ้น มีผลข้างเคียงสูง มีอาการหมดแรง ง่วงตลอดเวลา และอาจส่งผลให้คนมีโรคประจำตัวบางโรค เช่น โรคหัวใจ อาจเกิดความยุ่งยากมากกว่าเดิม 
ทั้งนี้ พบกว่า ยาวาเรนิคลิน จะมีข้อควรระวังน้อยที่สุด เพราะขับทางไตเป็นหลัก ซึ่งมีผลข้างเคียงคือคลื่นไส้ อาเจียนในระยะแรก จากนั้นเมื่อเวลาผ่านไปก็จะดีขึ้น ขณะเดียวกันในกลุ่มสตรีมีครรภ์ หากปล่อยให้สูบบุหรี่ไว้จะมีผลเสีย ดังนั้นการให้เลิกบุหรี่จึงเป็นสิ่งดีที่สุด ยาวาเรนิคลิน มีโอกาสที่เกิดความเสี่ยงอันตรายต่อผู้ที่ตั้งครรภ์น้อยกว่ายาชนิดอื่น ๆ

https://www.dailynews.co.th/article/827706