My Community

หมวดหมู่ทั่วไป => ข่าวเกี่ยวกับวงการแพทย์ => ข้อความที่เริ่มโดย: story ที่ 16 กุมภาพันธ์ 2021, 21:03:33

หัวข้อ: ทำแท้งได้ไม่ผิดกฎหมาย-ปลายเหตุของการแก้ปัญหา
เริ่มหัวข้อโดย: story ที่ 16 กุมภาพันธ์ 2021, 21:03:33
16 กุมภาพันธ์ 2564
ผู้เขียน   ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์

จากการที่ร่างกฎหมายอนุญาตให้ยุติการตั้งครรภ์ในกรณีอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ โดยสตรีมีครรภ์สามารถซื้อยา
รับประทานเองได้ ไม่ผิดกฎหมาย และกรณีมีอายุครรภ์ตั้งแต่ 12 ถึง 20 สัปดาห์ หากต้องการยุติการตั้งครรภ์ต้องเข้าสู่กระบวนการปรึกษาหารือทางเลือกจากผู้ประกอบวิชาชีพ และให้เจ้าตัวเป็นผู้ตัดสินใจเลือกทางเลือกในการยุติการตั้งครรภ์ด้วยตนเอง เพื่อเป็นทางออกให้กับสตรีมีครรภ์ที่มีปัญหาชีวิตยากลำบากนั้น

ประเด็นนัยถกเถียงเบื้องหลังคือ การชั่งน้ำหนักให้คุณค่าความสำคัญระหว่างประเด็นทางด้านเศรษฐกิจ สังคม กับสภาพความเป็นมนุษย์ ประเด็นทางด้านเศรษฐกิจ สังคม อาทิ การตั้งครรภ์ในขณะที่ไม่มีความพร้อม สตรีมีครรภ์เพราะถูกข่มขืน เด็กในครรภ์เกิดมามีโอกาสอยู่ในสภาพพิการหรือทุพพลภาพร้ายแรง สตรีมีครรภ์มีปัญหาทางด้านสุขภาพจิต เป็นต้น ประเด็นทางด้านสภาพความเป็นมนุษย์ อาทิ สิทธิในการมีชีวิตอยู่ของทารกในครรภ์ สิทธิในร่างกายของสตรี สภาพความเป็นมนุษย์ของเด็กทารกในครรภ์ เป็นต้น

นอกจากประเด็นเกี่ยวกับสภาพความเป็นมนุษย์ของเด็กทารกในครรภ์แล้ว แนวโน้มสตรีที่มีอายุครรภ์น้อยจะตัดสินใจยุติการตั้งครรภ์ได้ง่าย ด้วยความรู้สึกผูกพันระหว่างกันยังมีน้อย ยิ่งหากการตั้งครรภ์ดังกล่าวมิได้เกิดจากความตั้งใจหรือความเต็มใจ เป็นการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ด้วยแล้ว มีโอกาสสูงที่สตรีจะตัดสินใจทำแท้งหรือยุติการตั้งครรภ์ และหากการยุติการตั้งครรภ์หรือการทำแท้งได้รับการยอมรับว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง แนวโน้มต่อไปการทำแท้งจะเกิดง่ายขึ้น ส่งผลกระทบทางอ้อมทำให้การตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์เพิ่มขึ้นด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มวัยรุ่น

คำพูดที่ว่า “แม่ทุกคนย่อมรักลูก” นั้นอาจจะไม่เป็นความจริงเสมอไป หากคำว่า “แม่” ในที่นี้หมายความถึงเพียง “หญิงผู้ตั้งครรภ์” ยิ่งในยุคสมัยปัจจุบันที่การตั้งครรภ์เกิดขึ้นง่าย ขณะที่การทำแท้งหรือการยุติการตั้งครรภ์สามารถทำได้ง่ายด้วยเช่นเดียวกัน การคุ้มครองเด็กทารกในครรภ์ที่ยังไม่สามารถเรียกร้องหรือป้องกันสิทธิให้กับตนเองได้จึงเป็นประเด็นที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในยุคสมัยปัจจุบัน

การพยายามออกกฎหมายเกี่ยวกับการทำแท้งหรือการยุติการตั้งครรภ์ในขณะที่ยังไม่สามารถหาข้อสรุปที่เป็นเอกฉันท์ร่วมกันได้จึงต้องกระทำด้วยความระมัดระวังรอบคอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นที่เป็นข้อโต้แย้งหรือข้อถกเถียงทั้งทางด้านปรัชญาและทางด้านการแพทย์ อันเป็นเหตุที่นำไปสู่การมีมุมมองความคิดเห็นที่แตกต่างกัน อาทิ การเริ่มต้นชีวิตมนุษย์ เหตุผลความเป็นจริงเกี่ยวกับการกำจัดชีวิตมนุษย์ เป็นต้น

ในมิติทางศาสนา พุทธ คริสต์ และอิสลาม ต่างเห็นตรงกันว่าชีวิตมนุษย์เริ่มต้นตั้งแต่การปฏิสนธิ ขณะที่มิติทางการแพทย์ยังคงเป็นประเด็นถกเถียงที่ต้องการข้อสรุปร่วมกัน ข้อโต้แย้งและข้อถกเถียงดังกล่าวเหล่านี้ อาทิ ชีวิตมนุษย์เริ่มต้นตั้งแต่มีสำนึก ชีวิตมนุษย์เริ่มต้นตั้งแต่มีอวัยวะครบ ชีวิตมนุษย์เริ่มต้นตั้งแต่มีสมอง ชีวิตมนุษย์เริ่มต้นตั้งแต่มีหัวใจ เป็นต้น เช่นเดียวกันกับเหตุผลความเป็นจริงเกี่ยวกับการกำจัดชีวิตมนุษย์ มนุษย์ทุกคนมีสิทธิที่จะมีชีวิตอยู่ แต่ละคนมิใช่เจ้าของชีวิตของกันและกัน ข้อโต้แย้งหรือข้อถกเถียงสำคัญคือ การกำจัดชีวิตมนุษย์สามารถกระทำได้หรือไม่ ทำได้กรณีใด และโดยผู้ใด อาทิ ฆาตกรถูกตัดสินโทษประหารชีวิต เพราะฆ่าคนตายโดยเจตนา ทหารฆ่าอริศัตรูเพื่อป้องกันตนเองและอีกหลายชีวิต สตรียิงผู้ร้ายที่พยายามฆ่าเธอ กรณีเหล่านี้สามารถกระทำได้หรือไม่ หากทำได้ด้วยเหตุผลใด อันเป็นข้อโต้แย้งหรือข้อถกเถียงเทียบเคียงว่าการกำจัดชีวิตเด็กทารกในครรภ์สามารถกระทำได้หรือไม่ หากทำได้ด้วยเหตุผลใด เป็นต้น

ในสภาพความเป็นจริงที่มิติทางด้านปรัชญาและมิติทางด้านการแพทย์มีมุมมองความคิดเห็นขัดแย้งกัน การออกกฎหมายควรมีมุมมองความคิดเห็นอย่างไร มีประเด็นที่ควรพิจารณา ดังนี้

การพึ่งพิงอิงกันของชีวิต เด็กทารกในครรภ์ไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยตนเอง จำเป็นต้องอาศัยอยู่ในครรภ์ ใช้เวลาในการก่อรูปก่อร่างสร้างชีวิตในครรภ์ประมาณ 9 เดือน กรณีแม่เสียชีวิต เด็กทารกในครรภ์ย่อมต้องเสียชีวิตด้วย หากอายุครรภ์ยังน้อย อาทิ ไม่ถึง 20 สัปดาห์ เป็นต้น ทั้งนี้จนกว่าเด็กทารกในครรภ์จะมีสภาพความเป็นสรีระมนุษย์สมบูรณ์ มีอวัยวะครบ จึงจะสามารถผ่าตัดนำเด็กทารกออกจากครรภ์และดูแลนอกครรภ์ได้ ปัญหาสำคัญคือ ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการอื่นใดทดแทนการอยู่ในครรภ์ ไม่สามารถแยกเด็กทารกและนำออกมาจากครรภ์ เพื่อดูแลนอกครรภ์ได้ ดังนั้นกรณีที่สตรีมีครรภ์ไม่ประสงค์จะตั้งครรภ์ต่อย่อมหมายความถึงการสิ้นสุดชีวิตของเด็กทารกในครรภ์ด้วย


สิทธิร่วมและสิทธิขัดแย้ง คือ สิทธิในการมีชีวิตอยู่ของเด็กทารกในครรภ์และสตรีมีครรภ์สืบเนื่องจากประเด็นที่กล่าวมาข้างต้น มิติทางปรัชญาให้น้ำหนักว่า ชีวิตคือสิ่งสำคัญที่สุดและเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่มีการปฏิสนธิ ขณะที่มิติทางกฎหมายให้การคุ้มครองมนุษย์ทุกคนว่ามีสิทธิในชีวิตของตนเอง ประเด็นสำคัญคือ เด็กทารกในครรภ์มีชีวิตและมีสภาพเป็นมนุษย์ที่กฎหมายควรให้ความคุ้มครองแล้วหรือไม่ ที่ผ่านมากฎหมายของประเทศไทยระบุชัดเจนว่า การทำแท้งโดยทั่วไปเป็นความผิด กรณีฝ่าฝืนมีโทษทั้งจำคุกและเสียค่าปรับตามที่กฎหมายระบุ อันเป็นการยอมรับถึงสภาพเป็นมนุษย์ของเด็กทารกในครรภ์ แม้ในขณะที่เด็กทารกในครรภ์ยังไม่สามารถแสดงเจตจำนงในการเลือกที่จะมีชีวิตอยู่หรือสิ้นสุดชีวิตของตนเองได้

กรณีความขัดแย้งระหว่างสิทธิในการมีชีวิตอยู่ของเด็กทารกในครรภ์กับสิทธิในร่างกายของสตรีมีครรภ์ในการแสดงเจตจำนงเลือกที่จะกระทำหรือไม่กระทำสิ่งใดกับร่างกายของตนเอง กฎหมายอนุญาตให้สามารถกระทำได้ตราบเท่าที่ไม่เป็นการละเมิดสิทธิของผู้อื่น อาทิ สิทธิมนุษยชน เป็นต้น ขณะเดียวกันต้องไม่สร้างความเดือดร้อนหรือความเสียหายให้กับสังคมส่วนรวมด้วย

ดังนั้นการแก้กฎหมายอนุญาตให้สตรีมีครรภ์สามารถยุติการตั้งครรภ์ในกรณีอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ได้ โดยไม่ผิดกฎหมาย และกรณีมีอายุครรภ์ตั้งแต่ 12 ถึง 20 สัปดาห์ ให้เข้าสู่กระบวนการปรึกษาหารือทางเลือกจากผู้ประกอบวิชาชีพ และให้เจ้าตัวเป็นผู้ตัดสินใจเลือกทางเลือกในการยุติการตั้งครรภ์ด้วยตนเองนั้น เป็นการปฏิเสธสภาพเป็นมนุษย์ของเด็กทารกในครรภ์และเป็นการตัดสินใจกระทำแต่ฝ่ายเดียว

ในประเด็นดังกล่าวนี้ ผมเคยนำเสนอความคิด 5 หลักหมุด เอาไว้ว่าประกอบด้วย หลักปรัชญา หลักคิด หลักวิชา หลักการ และหลักปฏิบัติ หรือที่เรียกว่า “ทฤษฎีหลักหมุด (Pivot Theory)” ระบุการดำเนินการสิ่งใดควรให้มีความสอดสมและสอดคล้องตลอดทาง เริ่มตั้งแต่หลักปรัชญาจนถึงหลักปฏิบัติ ขึงแน่นทางความคิด เป็นแก่นยึดโยงให้การปฏิบัติไม่สะเปะสะปะ


หากนำทฤษฎีหลักหมุดมาวิเคราะห์กับกรณีการทำแท้งหรือการยุติการตั้งครรภ์ เริ่มต้นจากหลักปรัชญา อันเป็นแก่นสำคัญของความรู้และความจริงสูงสุด อาทิ ชีวิตมนุษย์มีคุณค่าสูงสุด เป็นต้น นำสู่หลักคิด อันเป็นกรอบความคิดรวบยอดที่ใช้เป็นหลักชี้นำการพิจารณา ประเมิน วินิจฉัย และตัดสินใจ เชื่อมโยงกับหลักปรัชญา อาทิ คำนึงว่าชีวิตมีคุณค่าและสำคัญที่สุดเสมอ เป็นต้น จากหลักคิดไหลสู่หลักวิชา เป็นความรู้ที่ผ่านการจัดระบบแล้ว สามารถถ่ายทอดและนำไปใช้ประโยชน์ได้ อาทิ หลักวิชาทางสูตินรีเวชศาสตร์ เป็นต้น จากหลักวิชานำสู่หลักการ อันเป็นสาระสำคัญที่ยึดเป็นหลักอ้างอิงในแนวทางปฏิบัติในเรื่องดังกล่าวนี้ อาทิ ใช้เสรีภาพอย่างมีขอบเขต ไม่ทำลายคุณค่าของปัจเจก คำนึงความเป็นพี่เป็นน้อง มีมนุษยธรรม เป็นต้น จนถึงหลักปฏิบัติ อันเป็นหลักสุดท้าย เป็นการประยุกต์หลักการสู่การปฏิบัติจริง อาทิ ปฏิบัติต่อทุกคนด้วยความเคารพ ในที่นี้รวมถึงเด็กทารกในครรภ์ด้วย เป็นต้น



จากความคิด 5 หลักหมุดดังกล่าวจึงนำสู่แนวทางการแก้ปัญหาการทำแท้งหรือการยุติการตั้งครรภ์ เริ่มต้นตั้งแต่การตกผลึกทางหลักปรัชญา เข้าใจถึงคุณค่าและความหมายแท้จริงของชีวิต สอดคล้องสอดสมจนถึงหลักปฏิบัติ นำสู่ข้อเสนอที่สอดรับตลอดทาง อาทิ ส่งเสริมให้มีโรงเรียนพ่อแม่ สอนการใช้ชีวิตครอบครัว ป้องกันการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ กรณีตั้งครรภ์ในวัยเรียนดำเนินการหาคนรับเด็กทารกเป็นบุตรบุญธรรมภายหลังจากคลอดแล้ว สั่งสอนอบรมให้ความรู้ทำให้เกิดความเข้าใจ เรียนรู้รู้จักรับผิดชอบ วางระบบรับสตรีที่ผิดพลาดมาแล้ว ให้คำปรึกษา มีองค์กรช่วยเหลือ จัดเตรียมสถานสงเคราะห์หรือองค์กรหรือหน่วยงานรับดูแลเด็กทารกกรณีถูกข่มขืนกระทำชำเรา กวาดล้างคลินิกทำแท้งเถื่อนอย่างจริงจัง เป็นต้น

การทำแท้งหรือการยุติการตั้งครรภ์เป็นสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ที่ไม่ควรส่งเสริมและไม่ควรสนับสนุนให้มีมากขึ้นในสังคม การแก้ปัญหาระยะสั้นเฉพาะหน้าอาจมิใช่ทางออกที่ดีเสมอไป ควรเน้นการป้องกันและยับยั้งมิให้เกิดการทำแท้งหรือการยุติการตั้งครรภ์ตั้งแต่แรกเริ่ม ด้วยการให้ความรู้ความเข้าใจและสร้างความตระหนักถึงผลกระทบอันจะเกิดทั้งแก่ปัจเจกบุคคลและสังคมส่วนรวม

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันการสร้างชาติ (NBI)
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา(IFD)

https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_2577988