My Community

หมวดหมู่ทั่วไป => ข่าวเกี่ยวกับวงการแพทย์ => ข้อความที่เริ่มโดย: story ที่ 25 มกราคม 2021, 20:15:01

หัวข้อ: วางพวงหรีด!! ไว้อาลัย ‘กม.ทำแท้งใหม่’ ตีตราผู้หญิงเป็นอาชญากร เรียกร้อง 6 ข้อ
เริ่มหัวข้อโดย: story ที่ 25 มกราคม 2021, 20:15:01
วางพวงหรีด!! ไว้อาลัย ‘กม.ทำแท้งใหม่’ ตีตราผู้หญิงเป็นอาชญากร เรียกร้อง 6 ข้อ ทำแท้งเป็นเรื่องสุขภาพ
เมื่อเวลา 16.00 น. วันที่ 25 มกราคม ที่บริเวณหน้ารัฐสภา ถนนสามเสน กรุงเทพฯ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มทำทาง พร้อมด้วย เครือข่ายสนับสนุนทางเลือกของผู้หญิงท้องไม่พร้อม กลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอก พร้อมด้วยภาคีเครือข่ายด้านสิทธิมนุษยชนและสิทธิทางเพศ ทำกิจกรรมไว้อาลัยให้กับกฎหมายทำแท้งฉบับใหม่ คือ ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ….. ที่ยังกำหนดให้ผู้หญิงเป็นอาชญากรหลังการทำแท้งอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ เนื่องในโอกาสร่างกฎหมายดังกล่าว เข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมวุฒิสภาช่วงเย็นดังกล่าว

กิจกรรมเริ่มจากการวางพวงหรีด ข้อความว่า “ไว้อาลัยคนออกกฎหมายทำแท้งใหม่ทั้งยังฆ่าผู้หญิง” พร้อมชูป้าย อาทิ การทำแท้งเป็นเรื่องสุขภาพ ไม่ใช่อาชญากรรม, ทำแท้งปลอดภัยคือ สิทธิมนุษยชน เป็นต้น เพื่อไว้อาลัยต่อการแก้ไขกฎหมายทำแท้ง

กุลกานต์ ดีเสียง ผู้ประสานงานกลุ่มทำทาง กล่าวว่า จากกรณีที่สภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติผ่านร่างแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 301 และ 305 หมวดว่าด้วยการทำแท้งเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2564 โดยรับรองแก้ไข

มาตรา 301 ระบุว่า “หญิงได้กระทำตนเองแท้งลูก หรือยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนแท้งลูก ขณะมีอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือนปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

และมาตรา 305 ระบุว่า ถ้าเป็นการกระทำของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมและตามหลักเกณฑ์ของแพทยสภา ถือว่าไม่ผิด ดังนี้ 1.หญิงตั้งครรภ์ต่อไปจะเสี่ยงต่อการได้รับอันตราย ต่อสุขภาพทางกายหรือจิตใจของหญิงนั้น 2.เนื่องจากมีความเสี่ยงอย่างมากหรือมีเหตุผลทางการแพทย์อันควรเชื่อได้ว่าหากทารกคลอดออกมาจะมีความผิดปกติถึงขนาดทุพพลภาพอย่างร้ายแรง 3.หญิงยืนยันต่อผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมว่าตนมีครรภ์ เนื่องจากมีการกระทำความผิดเกี่ยวกับเพศ 4.หญิงซึ่งมีอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ยืนยันที่จะยุติการตั้งครรภ์ และ 5.หญิงซึ่งมีอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 20 สัปดาห์ ยืนยันที่จะยุติการตั้งครรภ์ ภายหลังการตรวจและรับคำปรึกษาทางเลือกจากผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมและผู้ประกอบวิชาชีพอื่น ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนดโดยคำแนะนำของแพทยสภา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นนั้น

กุลกานต์ กล่าวอีกว่า เราขอ ย้ำในจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการลงโทษผู้หญิง และไม่ควรกำหนดอายุครรภ์ดังกล่าว เพราะยังมีผู้หญิงอายุครรภ์มากกว่า 12 สัปดาห์อีกมาก ก็จะเท่ากับว่าพวกเธอทำผิดกฎหมายอยู่ เราหวังให้ที่ประชุมวุฒิสภารับฟังข้อมูลจากแพทย์ผู้ให้บริการยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัยและงานวิจัยต่างๆ และมาแสดงความสิ้นหวังและไว้อาลัยแด่กฎหมายทำแท้งฉบับใหม่ ที่ละเมิดหลักการสิทธิมนุษยชน อย่างไรก็ตาม หากกฎหมายใหม่บังคับใช้ตามร่างนี้ เราก็ยังยืนยันในจุดยืนและเดินหน้าสร้างความเข้าใจผู้หญิงให้เข้าถึงบริการยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัย แนะนำผู้หญิงอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ สามารถทำอะไรได้บ้าง

ขณะที่ สุไลพร ชลวิไล นักวิชาการกลุ่มทำทาง กล่าวว่า การแก้ไขกฎหมายดังกล่าวมีการอ้างสิทธิทารก เป็นที่มาการกำหนดอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ ทำแท้งไม่ผิดกฎหมายซึ่งไม่มีในหลักสิทธิมนุษยชน เพราะสิทธิเด็กจะมีได้ก็ต่อเมื่อเกิดคลอดรอดออกมา

ทั้งนี้ ส่วนคำกล่าวที่บอกว่าเป็นข้อเรียกร้องว่าให้เกิดการทำแท้งเสรีนั้น ยืนยันว่าไม่เป็นความจริง การทำแท้งเสรีไม่มีในโลก แต่ละประเทศต่างก็กำหนดเงื่อนไขไว้ทั้งนั้น ฉะนั้นเป็นเพียงคำพูดสร้างภาพลบเท่านั้น

จากนั้นมีการแสดงผู้หญิงไล่ตามยาทำแท้ง และร่วมเขียนป้ายผ้าให้ยกเลิก ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 301 กำหนดโทษสตรีที่ทำแท้งหรือยอมให้ผู้อื่นทำแท้ง ขณะมีอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งระหว่างการแสดงยังมีการร้องเพลงและเต้น ‘ทำแท้งลุยไฟ’ ก่อนตัวแทนผู้เรียกร้อง ได้กล่าวปราศรัยและอ่านแถลงการณ์ไว้อาลัยต่อกฎหมายทำแท้ง

ก่อนที่ตัวแทนผู้เรียกร้อง อ่านข้อเรียกร้อง 6 ข้อ ว่า

1.สถาบัน หน่วยงาน ตัวแทนผู้มีอำนาจ และมีส่วนเกี่ยวข้องในการออกกฎหมายได้ทบทวนตัวเองและยอมรับว่าแนวคิดแนวทางการแก้ไขกฎหมายตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ตลอดจนกระบวนการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาหมวดว่าด้วยการทำแท้งของประเทศไทย ไม่ได้เป็นไปตามหลักการสิทธิมนุษยชนสากลและพิจารณาหาแนวทางการยกเลิกประมวลกฎหมาขอาญามาตรา 301 ที่ลงโทษผู้ที่ทำแท้งอย่างเร่งด่วน

2.กระทรวงสาธารณสุข กำหนดและจัดสรรงบประมาณในการเพิ่มจำนวนโรงพยาบาล และบุคลากรผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมที่ให้บริการยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัยและเป็นมิตร ให้ครอบคลุมทุกจังหวัดในประเทศไทย อย่างน้อย 1 จังหวัด 1 สถานบริการ และทุกหน่วยบริการสุขภาพต้องสามารถให้คำปรึกษาทางเลือก และส่งต่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และประชาสัมพันธ์ข้อมูลเกี่ยวกับบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยอย่างกว้งขวาง เพื่อให้ประชาชทั่วไปได้รับทราบข้อมูล และเข้าถึงบริการยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัยตามกรอบระขะเวลาที่กฎหมายใหม่กำหนดไว้ที่ 12 สัปดาห์

เนื่องจากการทำแท้งด้วยยาตัวเองที่บ้านสามารถทำได้อย่างปลอดภัย แต่รัฐยังขาดการประชาสัมพันธ์เรื่องนี้อย่างจริงจัง ทั้งในแง่ชนิด ปริมาณ และวิธีการใช้ยา รวมถึงกระบวนการแท้งและอาการแทรกซ้อนดังกล่าว จึงจำเป็นที่จะต้องถูกเผยแพร่อย่างเป็นทางการ อย่างเปิดเผย และกว้างขวาง จากหน่วยงานที่ถูกระบุในกฎหมายนี้ เช่น กระทรวงสาธารณสุข แพทยสภา เป็นต้น

กระทรวงสาธารณสุข และแพทยสภาฯ จำเป็นต้องร่วมมือกันเพื่อพัฒนามาตรฐานการประกอบอาชีพเวชกรรม เพื่อปรับปรุงให้แพทย์ให้มีทัศนคติที่ถูกต้องต่อการยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัย อยู่บนพื้นฐานความเป็นจริงของงนวิจัย ยึดหลักเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และเสรีภาพส่วนบุคคล โดยไม่นำความคิดความเชื่อส่วนตนของแพทย์มาตัดสินใจในการให้บริการ หรืองดเว้นการบริการ ต้องมีการทำวิจัยเกี่ยวกับทัศนคติของแพทย์เพื่อเป็นแนวทางในการวางแผนลดอคติของแพทย์ ทั้งในส่วนที่ให้บริการยุติการตั้งครรภ์อยู่ ณ ปัจจุบัน และแพทย์ที่ปฏิเสธการให้บริการ

3.กระทรวงสาธารณสุข แพทยสภา และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องตามพระราชบัญญัติป้องกันและแก้ใขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น จะต้องรับประกันว่ากระบวนการ ขั้นตอน วิธีการที่จะกำหนดขึ้น จะไม่ทำให้การเข้าสู่บริการยุติการตั้งครรภ์ปลอดภัยของผู้ที่มารับบริการในอายุครรภ์ 12-20 สัปดาห์ ที่ผ่านการปรึกษาทางเลือกและยืนยันจะยุติการตั้งครรภ์ต้องล่าช้าออกไปหรือถูกปฏิเสธการให้บริการในภายหลัง เนื่องจากอายุครรภ์เกินกำหนดซึ่งเป็นผลมาจากขั้นตอนที่ยุ่งยาก สำหรับผู้ที่เข้าข่ายรับบริการในมาดรา 305 (1) – (4) ซึ่งไม่ได้กำหนดอายุครรภ์ กระบวนการคัดกรองว่าเข้าข่ายหรือไม่ ก็ไม่ควรทำให้เกิดความล่าช้าในการให้บริการเช่นเดียวกัน

4.ในบริการยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัย และเป็นมิตร ควรคำนึงเสมอว่า ผู้ที่รับบริการอาจจะเป็นผู้ที่ระบุอัตลักษณ์ทางเพศของตัวเองว่าป็นเพศหญิง หรือ เพศอื่นๆ ก็ได้ ผู้ให้บริการที่เกี่ยวของจำเป็นต้องมีความละเอียดอ่อนในการให้บริการโดยเคารพต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนทุกเพศ ทุกวัย ตลอดทั้งกระบวนการ

5. กรมอนามัย และ กระทรวงศึกษาธิการ จะต้องทบทวนยุทธศาสตร์การให้การศึกษาเรื่องเพศอย่างรอบเ้าน และบริการคุมกำนิดที่เข้าถึงได้ เพื่อให้ประชาชนสามารถป้องกันการท้องไม่พร้อมอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยมีความเข้าใจที่ถูกต้องว่าภาวะท้องไม่พร้อม มิได้เป็นปัญหาของวัยรุ่นเท่านั้น แต่เกิดขึ้นกับคนทุกวัย กรมอนามัยจะต้องทำงานร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อให้ผู้ที่สามารถตั้งครรภ์ได้ทุกคนสามารถเข้าถึงบริการคุมกำเนิดทุกประเภทที่รัฐให้บริการอยู่ได้ฟรี โดยเฉพาะยาคุมกำเนิดแบบฝัง
ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงสุด

6. รัฐบาลต้องตระหนักว่า เป็นหน้าที่ของตนที่พึงพัฒนาให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพอย่างถ้วนหน้าและที่มีประสิทธิภาพในประเด็นการยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัย ดังที่กำหนคไว้ใน รัฐธรรมนูญปี 2560 หมวดหน้าที่ขอบรัฐว่า “รัฐต้องพัฒนาระบบบริการสาธารณสุขให้มีคุณภาพและมีมาตรฐานสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง” ซึ่งภายหลังการอ่านข้อเรียกร้อง มีตัวแทนวุฒิสภามารับข้อเรียกร้อง

25 มกราคม 2564
https://www.matichon.co.th/lifestyle/social-women/news_2546657