My Community

หมวดหมู่ทั่วไป => ห้องพักผ่อนรวม (Common Room) => ข้อความที่เริ่มโดย: story ที่ 09 มกราคม 2021, 12:28:52

หัวข้อ: ภารกิจคณะราษฎรยังไม่เสร็จ! คณะราษฎรคนไหน เคยเอาที่ดินทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
เริ่มหัวข้อโดย: story ที่ 09 มกราคม 2021, 12:28:52
ภารกิจคณะราษฎรยังไม่เสร็จ!? คณะราษฎรคนไหน เคยเอาที่ดินทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ไปเป็นของส่วนตัวบ้าง?/ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เมื่อครั้งยังมีการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ได้มีการแบ่งแยกที่ดินที่รวมกันอยู่ภายใต้การดูแลของพระมหากษัตริย์ออกเป็น 2 ส่วน

ส่วนแรกคือทรัพย์สินของแผ่นดิน (Nation property)เช่นที่ดินราชพัสดุและที่ดินของรัฐทั้งหมดอยู่ภายใต้การดูแลของกรมธนารักษ์

ส่วนที่สอง คือ ทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ (Royal property) ที่มีไว้เพื่อใช้ในการส่วนพระองค์โดยทรัพย์สินส่วนของพระองค์ซึ่งจัดตั้งขึ้นมาเป็น“กรมพระคลังข้างที่” และในเวลาต่อมาหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ก็ได้มีการแยกออกมาเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และทรัพย์สินส่วนพระองค์ของพระมหากษัตริย์

นั่นแสดงให้เห็นว่าทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ กับทรัพย์สินของแผ่นดินได้ถูกแบ่งแยกออกจากกันอย่างชัดเจนมาตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ 5 แล้ว

ในเวลาต่อมาภายหลังจากการที่“คณะราษฎร”ได้ทำการปฏิวัติสยามประเทศจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเมื่อวันที่ 24มิถุนายน 2475แล้วประเทศไทยก็ได้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกเมื่อวันที่ 15พฤศจิกายน 2476

การเลือกตั้งครั้งแรกนี้เป็นการเลือกตั้งแบบรวมเขต โดยมีวิธีการเลือกตั้งแบบทางอ้อม กล่าวคือ ประชาชนในพื้นที่ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งผู้แทนตำบลก่อน จากนั้นผู้แทนราษฎรที่ได้รับเลือกในระดับตำบล จึงจะเป็นผู้ลงคะแนนเลือกตั้งผู้แทนราษฎรอีกครั้งหนึ่ง ได้ผู้แทนราษฎรประเภทที่ 1 จำนวน 78 คน ส่วนผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 ซึ่งมีจำนวนเท่ากัน กลับกลายเป็นว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 มาจากการคัดเลือกของคณะราษฎรกันเอง

6 มีนาคม 2477 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงสละราชสมบัติ ก็เพราะอำนาจการปกครองกับผูกขาดอยู่กับคนก่อการปฏิวัติ 2475 ของคณะราษฎรโดยทรงให้เหตุผลความตอนหนึ่งว่า :

“ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจ อันเป็นของข้าพเจ้าอยู่เดิมให้แก่ราษฎรทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใด โดยเฉพาะเพื่อใช้อำนาจโดยสิทธิขาดและโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร์”

หลังจากนั้นคณะราษฎรจึงกราบบังคมทูลอัญเชิญ“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8” ขึ้นครองราชย์ แต่เนื่องจากในเวลานั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันนทมหิดล รัชกาลที่ 8 ทรงพระเยาว์และยังทรงศึกษาอยู่ต่างประเทศ จึงใช้มติสภาซึ่งคณะราษฎรกุมอำนาจเสียงข้างมาก ให้ความเห็นชอบคณะผู้สำเร็จราชการดำเนินการแทนพระองค์ในทุกเรื่อง

ต่อมาเกิดการอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติเมื่อวันที่ 27 และ 28 กรกฎาคม 2480 จึงทำให้เกิดบันทึกในสภาว่ามีการอภิปรายทั่วไปเกี่ยวกับนโยบายของรัฐบาลแบบไม่ลงมติเรื่อง“การจัดการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์”

โดยนายเลียง ไชยกาล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานีผู้ตั้งกระทู้ถาม และนายไต๋ ปาณิกบุตร ผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนครเป็นผู้ขอเปิดอภิปรายทั่วไป พร้อมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอีกหลายคนได้อภิปรายเรื่องนี้กล่าวสรุปความได้ว่า :

ในขณะระหว่างการจัดการโอนย้ายทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์อยู่ในความรับผิดชอบของผู้สำเร็จราชการจากคณะราษฎรเกิดข้อสงสัยในเรื่องการแสวงหาผลประโยชน์จากที่ดินพระคลังข้างที่และทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์อย่างที่ไม่มีมาก่อน
โดยส่วนของพระคลังข้างที่ ได้มีการให้กรมพระคลังข้างที่ซื้อที่ดินของผู้ที่มีอำนาจในรัฐบาลคณะราษฎรในราคาแพงๆ และมีการขายและเช่าที่ดินพระคลังข้างที่ในทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ให้กับหลายคนแก่ผู้ก่อการคณะราษฎรในราคาถูกๆ เพื่อไปขายต่อหรือเช่าต่อในราคาแพงต่างกันหลายเท่า

โดยในการอภิรายในครั้งนั้นได้มีการกล่าวถึงการตราพระราชบัญญัติให้ทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ไปขึ้นอยู่ภายใต้การควบคุมของกระทรวงการคลัง ซึ่งเข้าใจว่าเป็นความพยายามเร่งเพื่อแก้ไขปัญหาบางประการ แต่กลับปรากฏว่ามีการยื้อหน่วงประกาศใช้ไปถึง 3 เดือน 20 วัน และในช่วงเวลานั้นก็เกิดการ“เร่งโอนขายที่ดินพระคลังช้างที่” อีกจำนวนมาก

โดยหนึ่งในการอภิปรายของนายเลียง ไชยกาล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี ได้การระบุชื่อนั้นยังรวมถึงคณะกรรมการกำหนดราคาที่ดิน อันได้แก่ขุนลิขิตสุรการ และนายประจวบ บุรานนท์ ก็ได้มีที่ดินในมือหมดแล้วเช่นกัน ปรากฏเป็นคำอภิปรายความตอนหนึ่งว่า:

“จะกล่าวถึงความคิดเห็นในเรื่องการตั้งคณะกรรมการราคา กรรมการที่ตั้งขึ้นในเวลานี้สำหรับราคาคือ“ขุนลิขิตสุรการ” และ“นายประจวบ บุรานนท์” คนทั้ง ๒ คนนี้ได้ซื้อที่ดินไว้ในมือแล้วทั้งหมด” [1]

ซึ่งจะเป็นความจริงหรือเท็จเพียงใดหรือไม่ สังคมไทยก็ควรจะแสวงหาความจริงทางประวัติศาสตร์นี้ให้ปรากฏต่อไปเช่นกัน

ในการอภิปรายเกี่ยวกับทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ในครั้งนั้นพันเอกพระยาพหลพลพยุหาเสนา นายกรัฐมนตรีได้กล่าวในที่ประชุมว่าเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ เพราะสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้เลือกคณะผู้สำเร็จราชการเองจึงย่อมสามารถทำได้และทำอะไรก็ได้ แม้จะให้ที่ดินเปล่าๆกับใครก็ได้ไม่เป็นความผิด ดังคำอภิปรายของของพระยาพหลพลพยุหาเสนา นายกรัฐมนตรีความว่า :

“ข้าพเจ้าถือว่าท่านผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ซึ่งสภาฯ นี้ได้เลือกไปแล้ว ได้ตั้งเป็นผู้สำเร็จราชการมีอำนาจพอที่จะวินิจฉัยว่า ควรจะทรงพระมหากรุณาหรือไม่อันนี้เมื่อผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์มีหน้าที่ที่จะวินิจฉัยและจะให้เปล่าๆก็ได้ แต่ว่าจะให้เปล่าๆ หรือเอาแต่น้อยหรืออย่างไรนั้นอาจทำได้ ไม่ผิด”[1]

แม้ในการอภิปรายในครั้งนั้นอาจจะมี“บัญชีหลายชื่อ”ของคณะราษฎร ที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ แต่ก็ไม่ได้มีการเปิดเผยว่ามีใครในคณะราษฎรได้ซื้อที่ดินพระคลังข้างที่ในราคาใดบ้าง และที่ดินแปลงใดบ้าง แต่จากการอภิปรายในครั้งนั้นพระยาพหลพลพยุหาเสนานายกรัฐมนตรีแจ้งในที่ประชุมว่าตัวเองไม่ได้ซื้อที่ดินเอาไว้

ส่วนที่ถูกระบุในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรในครั้งนั้นว่าได้“ถูกเสนอขาย”ให้ซื้อที่ดินจากทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ประมาณครึ่งปีก่อนหน้าวันอภิปรายนั้น ก็คือนาวาตรี หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ (ถวัลย์ ธารีสวัสดิ์) แต่หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ แม้จะยอมรับว่ามีคนเสนอมาขายที่ดิน แต่ก็แจ้งว่าไม่ได้ซื้อที่ดินนั้น และไม่สมัครใจจะแจ้งว่าใครเป็นคนนำมาเสนอขาย และถูกเสนอขายในราคาเท่าไหร่ ดังคำชี้แจงในการอภิปรายนาวาตรี หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ (ถวัลย์ ธารีสวัสดิ์) ความตอนหนึ่งว่า

“ข้าพเจ้ามีอยู่บ้าง เป็นเวลาประมาณตั้งปีครึ่งมาแล้ว ไม่ได้เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ และในการที่เขาจะขายนั้นก็เป็นเรื่องทั่วๆไป ซึ่งราคาเท่าไหร่ ข้าพเจ้าไม่สมัครใจจะกล่าว แต่ข้าพเจ้าก็ไม่ซื้อ ไม่ใช่ว่าจะมีเรื่องอะไรเกี่ยวพาดพิงถึงในเรื่องนี้ไม่ ข้าพเจ้าขอชี้แจงเพียงเท่านี้” [1]

อีกคนหนึ่งที่นายไต๋ ปาณิกบุตร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดพระนคร ได้มีการการอภิปรายในครั้งนั้นก็คือพันเอก หลวงพิบูลสงคราม (แปลก พิบูลสงคราม) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

โดยนายไต๋ ปาณิกบุตร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนคร ได้อภิปรายโดยได้ทราบข่าวว่า พันเอก หลวงพิบูลสงคราม (แปลก พิบูลสงคราม)รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมได้ซื้อที่ดินดังกล่าวเช่นกันประมาณ 5 แปลง

แต่หลวงพิบูลสงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้โอนคืนกลับก่อนการอภิปรายในวันนั้นจะเกิดขึ้นประมาณ 2-3 เดือน

โดยการอภิปรายของนายไต๋ ปาณิกบุตร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนคร ความบางตอนที่น่าสนใจระบุว่า

“..ข้าพเจ้าเห็นว่าได้มีระเบียบแน่นอนแล้วว่า ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ รัฐบาลนี้มีนโยบายการเมือง โดยมีสำนักพระราชวังเป็นผู้จัดการควบคุม โดยขึ้นอยู่กับนายกรัฐมนตรีและมีรัฐมนตรีนายหนึ่งควบคุมสั่งการในสำนักนี้

ข้าพเจ้าอยากจะแยกกิจการนี้ออกเด็ดขาดจากรัฐบาลนี้ในส่วนอื่น และแยกกิจการนี้ออกจากอิทธิพลของคณะรัฐมนตรี ข้าพเจ้าเป็นห่วงเหตุว่าเราอยู่ในบทเฉพาะกาล และจะต้องอาศัยคณะนี้ดำเนินการปกครองต่อไปอีก 6-5 ปี

ข้าพเจ้าได้ทราบจากผู้ก่อการบางคนว่า บางคนเขาได้ซื้อไปโดยสุจริต ไม่รู้เรื่องราวอะไรเลย พอซื้อแล้วได้ยินเสียงโจษจันก็รีบเอามาคืนก็มี บางคนที่ซื้อไปแล้วเห็นว่าอาจจะมีมลทินด้วย บางท่านก็เลยเอามาคืน...

...ในการที่จะจัดการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์นั้น จะจัดให้คงอยู่และเจริญขึ้น ไม่ใช่ทำให้เสื่อมลงหรือหมดไป...

..พระคลังข้างที่จะต้องโอนทรัพย์ส่วนพระมหากษัตริย์นี้มาให้แก่พระคลังมหาสมบัติดำเนินการต่อไป เพราะถือว่าเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ หรือคราน์ ปรอบเปอร์ตี้ เรียกว่าเป็นของแผ่นดิน ก่อนที่จะโอนกิจการนี้มายังพระคลังมหาสมบัติ...

...เพราะฉะนั้นก่อนที่จะโอนมาท่านจะเห็นข้อเท็จจริงเป็นที่สังเกตุได้ว่ามีการรีบขายที่ดินอยู่เป็นอันมาก และข้าพเจ้าได้ทราบว่ามีผู้ดูเหมือนไปเที่ยวได้เร่ขายให้แก่ผู้ที่ได้กล่าวนามมาแล้วให้ไปขอที่ดินนี้ และดูเหมือนได้มีผู้ก่อการบางคนเข้าไปซื้อที่ดินนี้..

...อันหนึ่งที่ท่านได้กระทำภายหลังเมื่อขายกันแล้วก็ซู่ซ่าอยู่ในท้อง ตลาดที่ลือกันแซ่สำหรับรัฐมนตรีว่าการกลาโหม ดูเหมือนห้าแปลง แล้วท่านได้โอนกลับไปเสียเมื่อ 2-3 เดือนที่ผ่านมา และมีท่านรัฐมนตรีบางคนได้ถูกเชิญให้ซื้อ ข้าพเจ้าขอเอ่ยนาม คือหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ แต่ท่านไม่ยอมเกี่ยวข้องด้วย”[1]

ในขณะที่นายเลียง ไชยกาล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดอุบลราชธานี ได้อภิปรายความบางตอนที่น่าสนใจว่า:
“เป็นการสมควรหรือไม่ ทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์มีราคาหลายล้านบาท แล้วมาใช้วิธีปกครองแบบนี้ควรหรือยัง นี่เป็นเรื่องที่เราจะต้องพูดกัน...

...ตั้งเจ้าหน้าที่ชนิดไหน จริงอยู่เมื่อครั้ง“พระยามานวราชเสวี” เมื่อเป็นประธานกรรมการ พระยามานฯตั้งหลักวางไว้เป็นระเบียบเก่าว่าถ้าเกี่ยวกับราคาเกินกว่า 1,000 บาท ต้องผ่านคณะกรรมการ... แต่ในกรณีนี้พิจารณา 3 วันแล้วไปเลหลัง คล้ายเป็นว่าขายที่โดยไม่ผ่านกรรมการ เอาไปขายเดี๋ยวนี้ถ้าไม่ได้ 2 เท่า ข้าพเจ้าให้ตัดหัว แล้วน่าดูไหม ในฐานะที่เราควบคุมงานของแผ่นดิน ควบคุมทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์

นโยบายของพระคลังข้างที่ได้ทำนั้น คือ มีคนคนหนึ่งคือขุนลิขิตฯ เป็นผู้ถือบัญชีอยู่ในมืออยู่แล้วไปเร่ขายให้คนสำคัญๆซื้อไว้แล้วตัวจึงซื้อบ้างคือที่ดิน “บางลำภู” ราคาหลายหมื่นหลายพันบาท เก็บค่าเช่าผ่อนส่ง แล้วในเดือนหนึ่งยังเข้ากระเป๋าร้อยกว่าบาท

นี่หมายความว่ากระไรนี่ นี่หรือเรารักษาทรัพย์พระมหากษัตริย์ แล้วเกียรติยศอันนี้อยู่ที่ไหน ใครรับผิดชอบ งามไหม ใครจะไว้วางใจ สมมติว่าเราเป็นพระกษัตริย์ เราโตขึ้นมาจะรู้สึกอย่างไรบ้าง เมื่อเขาเล่นกันอย่างนี้ใช่ไหม นี่คือนโยบาย นโยบายอย่างนี้ไม่ควรเป็นอันขาด...

...ถ้าพูดตามท่านจะเห็นว่าผู้ที่มีอำนาจนั้นให้พระคลังข้างที่ ซื้อที่ของตนเก้าหมื่นบาทคิดเฉลี่ยตารางวา ๓๕ บาท ขณะเดียวกัน ที่ข้างเคียงตารางวาละ ๑๕ บาท หมายความว่าอย่างไร นี่หรือเป็นวิธีรักษาพระมหากษัตริย์ของพวกเรา ขายที่ดินราคาเก้าหมื่นบาท ราคาตารางวาละ ๓๕ บาท คือโรงเรียนการเรือน เราไว้วางใจได้หรืออย่างนี้...” [1]

นอกจากนั้นนายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี ได้อภิปรายในประเด็นที่น่าสนใจ ความบางตอนว่า:

“...และเมื่อผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นตัวแทนในการมอบอำนาจทั่วไป ไว้ในการจัดการขายอสังหาริมทรัพย์ หรือแม้แต่ให้อสังหาริมทรัพย์ไป ข้าพเจ้าเข้าใจว่าไม่สมบูรณ์ เพราะฉะนั้นการกระทำที่กระทำมาแล้วจึงเป็นโมฆะทั้งนั้น...

...แทนที่รัฐบาลจะประกาศใช้พระราชบัญญัติทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ไปขึ้นอยู่ในความควบคุมของกระทรวงการคลังโดยรีบด่วนก็หาไม่ กลับได้หน่วงเหนี่ยวเอาไว้จนประกาศเมื่อวันที่ ๒๐ เดือนนี้ ซึ่งเป็นเวลาที่สภาลงมติไปแล้ว ๓ เดือนกับ ๒๐ วัน...

...ก่อนที่กฎหมายนั้นจะประกาศ ก็ได้มีการโอนที่ดิน ซึ่งเป็นทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ให้แก่บุคคลหลายคน การโอนนั้นเป็นการโอนโดยกะทันหัน และเป็นการโอนที่เรียกว่าไม่งาม

เป็นต้นว่าการโอนทรัพย์สิน เราน่าจะได้พิจารณาถึงการังวัดและการอะไรต่างๆ เช่นเราควรจะมีการโฆษณาและอื่นๆ เป็นเวลานานแต่ความจิงการโอนนี้ได้กระทำกันเพียงเวลาวันสองวัน...

ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์นั้นมีอยู่ ๓ ท่าน ใน ๓ ท่านนั้น ก็ได้รับประโยชน์บ้าง และท่านไม่ได้รับประโยชน์ดังที่สมาชิกได้กล่าวมา...ซึ่งในขณะเดียวกันนั้นเองพระคลังข้างที่กลับโอนที่ของตนเองอย่างกะเรี่ยกะราดไปให้แก่บุคคลหลายคนดังที่ปรากฏตามที่ได้โอนมาแล้วดังรายนามที่สมาชิกได้อ่าน” [1]

ผลการอภิปรายในวันที่ 27 กรกฎาคม 2480 ได้ส่งผลทำให้พระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2480 แต่ต่อมาเนื่องจากอำนาจยังอยู่ในคณะราษฎรเป็นหลักพระยาพหลพลพยุหเสนา จึงกลับเป็นนายกรัฐมนตรีอีกเหมือนเดิมในวันที่ 9 สิงหาคม 2480

โดยสิ่งที่ควรบันทึกอีกประการหนึ่งคือ ภายหลังจากการที่พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา ได้กลับเข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง เพียง 3 วันก็ได้ปรากฏว่า ช่วงบ่ายของการประชุมสภาผู้แทนราษฎรของวันที่ 12 สิงหาคม 2480 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 ซึ่งเป็นพวกพ้องของคณะราษฎร 3 คน รวมทั้งคนที่มีชื่อว่าเป็นผู้ซื้อที่ดินของพระคลังข้างที่ด้วยได้กรูกันเข้าไปที่สโมสรรัฐสภา ยกเก้าอี้และตัวของนายเลียง ไชยกาล นำออกจากสโมสรรัฐสภา และนำนายเลียง ไชยกาล และเก้าอื้โยนลงน้ำ หน้าพระที่นั่งอัมพรสถาน จนตัวเปียกและเปื้อนโคลน [2]

อย่างไรก็ตาม ก็มีคำถามหนึ่งที่หลายคนสงสัยในเรื่องที่ว่าเหตุใดเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2480พันเอก หลวงพิบูลสงคราม (แปลก พิบูลสงคราม) ซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในเวลานั้น ไม่ได้มีการตอบการพาดพิงในสภาผู้แทนราษฎรเลยพันเอก หลวงพิบูลสงครามซึ่งเป็นหนึ่งในคนสำคัญของคณะราษฎร ได้ซื้อที่ดินพระคลังข้างที่เพื่อเป็นทรัพย์สมบัติส่วนตัวจริงหรือไม่ และเหตุใดถึงยอมคืนที่ดินพระคลังข้างที่

ซึ่งไม่ว่าความเป็นจริงจะเป็นอย่างไร แต่พันเอกหลวง พิบูลสงคราม ได้ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อพร้อมกับการลาออกในวันที่ 28 กรกฎาคม2480 ความว่า:

“เมื่อปลายปี พ.ศ. ๒๔๗๙ ข้าพเจ้ามีความคิดว่า เมื่อออกจากราชการแล้วก็ใคร่จะไปปลูกบ้านพักอาศัยตามควรแก่ฐานะจึงได้ให้ผู้ชอบพอไปหาซื้อที่ ขณะนั้นมีผู้แนะนำให้ซื้อที่ของพระคลังข้างที่บริเวณหน้าวังจิตรลดารโหฐานเพราะกำลังตัดขายอยู่

ข้าพเจ้าเห็นว่าพอสมควรแก่กำลังจะซื้อได้ จึงได้ตกลงซื้อไว้ ๒ ไร่ ราคาไร่ละ ๔,๐๐๐ บาท เป็นเงิน ๘,๐๐๐ บาท ทางพระคลังข้างที่ก็จัดการโอนที่ดินนั้นให้ข้าพเจ้า ประมาณเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๔๘๐

ครั้นต่อมาเมื่อข้าพเจ้าได้ไปดูที่นั่นก็ปรากฏว่ามีบ้านเรือนราษฎรปลูกอยู่กันแน่นหนา จึงมาคิดว่าแม้ข้าพเจ้าเป็นเจ้าของที่ดินรายนี้ ก็ต้องขับไล่ราษฎรให้รื้อถอนไปเป็นการลำบาก จึงได้ขอคืนที่ทั้งหมดกลับไปพระคลังตามเดิมในเดือนนั้นเอง โดยเหตุนี้จึงได้ให้สัมภาษณ์แก่หนังสือพิมพ์นี้ว่าข้าพเจ้าไม่เกี่ยวข้องด้วย

แต่อย่างไรก็ตามเมื่อมีผู้คิดเอาว่าการที่ข้าพเจ้ากระทำไปอาจเป็นการผิดศีลธรรมอยู่ จึงได้มีผู้ยกเรื่องนี้ขึ้นมากล่าววิจารณ์กันขึ้นนั้น เพื่อเป็นการล้างมลทินของข้าพเจ้าๆ จึงได้ไปเสนอคณะรัฐมนตรี ขอลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมตั้งแต่เช้าวันนี้

ทั้งนี้หวังว่าทหารทั้งหลาย คงให้อภัยแก่ข้าพเจ้าที่บังเอิญมาตกอยู่ในฐานะเช่นนี้ และข้าพเจ้าขอร้องเพื่อนทหารทั้งหลายเป็นครั้งสุดท้าย ให้ช่วยกันรักษาความสงบไว้ให้จงดีสืบไป” [3]

นั่นก็แสดงว่าในขณะที่พันเอก หลวงพิบูลสงครามได้คืนที่ดินพระคลังข้างที่นั้น อยู่บนเหตุผลของเรื่อง“ความยุ่งยากในการขับไล่ราษฎรและการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดิน”และไม่ได้เป็นไปด้วยความรู้สึกว่าเป็นความผิดหรือเป็นการกระทำไม่สมควร

และการ“ลาออก” จากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ของพันเอก หลวงพิบูลสงคราม เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2480 นั้นก็เป็นการ“ลาออกเพียงชั่วคราว” เพราะในความเป็นจริง แล้วพันเอก หลวงพิบูลสงครามก็กลับเข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอีกเหมือนเดิมเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2480 ภายหลังจากการที่พระยาพหลพลพยุหเสนากลับมาตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพียงวันเดียว ด้วยอำนาจทั้งหลายยังอยู่ภายใต้การกำหนดโดยคณะราษฎร

คำถามมีอยู่ว่า บุคคลที่พันเอก หลวงพิบูลสงครามกล่าวถึงที่ว่าได้ให้“ผู้ชอบพอ”ไปหาซื้อที่ ขณะนั้นมี“ผู้แนะนำ”

ให้ซื้อที่ของพระคลังข้างที่บริเวณหน้าวังจิตรลดารโหฐานนั้นเป็นใคร และใครเป็นผู้กำหนดนโยบายในคณะผู้สำเร็จราชการตัดขายที่ดินพระคลังข้างที่เช่นนั้น

และข้อสำคัญขนาดที่ดินหน้าวังยังเอามาตัดแบ่งขายกันได้ จึงย่อมเกิดคำถามว่ามีใครในคณะราษฎรได้ประโยชน์ในการนำสมบัติของสถาบันพระมหากษัตริย์มาเป็นประโยชน์และทรัพย์สินส่วนตัวบ้างหรือไม่

ส่วนจะมีคณะราษฎรคนใดจะถึงขั้นเปลี่ยนชื่อรับโอนเป็นคนอื่นเป็นหุ่นเชิดเพื่อปกปิดตัวเองหรือไม่ เป็นเรื่องที่น่าติดตามและต้องค้นหาต่อไป

อย่างไรก็ตาม ตัวละครอีกคนหนึ่ง ที่น่าจับตาในบรรดาผู้ก่อการของคณะราษฎรซึ่งมีความใกล้ชิดกับพันเอกหลวงพิบูลสงคราม คือ พันตรีขุนนิรันดรชัย (สเหวก นีลัญชัย หรือ เสหวก นิรันดร)เป็นคณะราษฎรสายทหารบก กลุ่มเด็กรุ่นใหม่ ที่คอยช่วยเหลือสายทหารในการก่อการปฏิวัติ 24 มิถุนายน 2475 จนกระทั่งประสบความสำเร็จ

ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า“ตระกูลนิรันดร”ซึ่งเป็นทายาทของ“ขุนนิรันดรชัย”กลายเป็นมหาเศรษฐีที่ดิน 90แปลงใจกลางกรุงเทพมหานคร เช่น สาทร วิทยุ ฯลฯ มูลค่าหลายหมื่นล้านบาทโดยมีส่วนหนึ่งเป็นมรดกตกทอดมาจาก“ขุนนิรันดรชัย”

ซึ่งประชาชนทั่วไปคงไม่วันจะทราบว่าจะมีหนึ่งในสมาชิกคณะราษฎรจะเป็นอภิมหาเศรษฐีที่ดินในกรุงเทพมหานคร ถ้าไม่เกิดกรณีพิพาทเพราะลูกหลานทายาท กำลังมีการฟ้องร้องมรดกของขุนนิรันดรชัยกันอยู่จนปรากฏเป็นข่าวอยู่ในขณะนี้

“ที่ดินดังกล่าวยังรวมถึงที่ดินตรงข้ามด้านหน้าวังสวนจิตรลดาโดยระบุว่าเดิมรัชกาลที่ 8พระราชทานพื้นที่ให้ประมาณ 1ไร่ต่อมามีการซื้อเพิ่มเติมรวม 6-7แปลงประมาณ 10ไร่เศษโดยซื้อมาตารางวาละ 4บาท (ขณะนั้น)ส่วนบริเวณหน้าวังซื้อมาในตารางวาละ 250บาท (ขณะนั้น)อดีตเป็นสวนผักแต่ปัจจุบันราคาซื้อขายที่ดิน (ช่วงปี 2551)ตกอยู่ที่ 2.5แสนบาท/ตารางวาเพราะสามารถก่อสร้างตึกสูงได้เพียง 4ชั้นเท่านั้น”[4] [5]

ทั้งนี้ข้อมูลเกี่ยวกับที่ดินของ“ขุนนิรันดรชัย”ที่กล่าวมาข้างต้นถูกระบุเอาไว้ในเว็บไซต์ของสำนักข่าวอิศราเมื่อวันที่ 12พฤศจิกายน 2561ซึ่งได้จัดทำรายงานความสัมพันธ์ของขุนนิรันดรชัยในคณะราษฎรและเป็นผู้ประสานระหว่างรัฐบาลและคณะผู้สำเร็จราชการความตอนหนึ่งว่า

“ขุนนิรันดรชัยอยู่ทำงานในสายรับใช้‘ผู้ใหญ่’มาโดยตลอดจนจอมพล ป.ไว้ใจเป็นอย่างมากกระทั่งถูกแต่งตั้งเป็นคนประสานระหว่างรัฐบาล (ช่วงจอมพลป.เป็นนายกรัฐมนตรี)กับคณะผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน (สมัยรัชกาลที่ 8ทรงครองราชย์)โดยมีนายปรีดี พนมยงค์เป็นแกนนำในกลุ่มคณะทำงานชุดนี้และมีขุนนิรันดรชัยเป็นเลขานุการคณะทำงานผู้สำเร็จราชการแผ่นดินของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันททมหิดล รัชกาลที่ 8

โดยภายหลังมีการตั้งคณะทำงานผู้สำเร็จราชการแผ่นดินไม่นานนัก คณะราษฎรบางสาย ได้ชวนกันจับจองกว้านซื้อที่ดินใจกลางเมือง ทำเลเลิศหรู ไม่ว่าจะเป็นที่ดินแถวถนนสาทร ถนนวิทยุ เป็นต้น...

ขุนนิรันดรชัย ฝากตัวรับใช้จอมพล ป. พิบูลสงครามอยู่หลายปี รวมถึงในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 กระทั่งสงครามสิ้นสุดลง ฝ่ายจอมพล ป. พิบูลสงคราม ระเห็จระเหินหนีขอลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศ บทบาทของขุนนิรันดรชัยจึงหมดลงไปด้วยเช่นกัน”[3],[5]

บทเรียนข้างต้น มีสิ่งที่ต้องตั้งถามหาความจริงกันต่อไปว่า ยังมีใครในคณะราษฎรได้ที่ดินพระคลังข้างที่หรือทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ไปบ้างหรือไม่ และจำนวนเท่าไหร่ และสามารถที่จะนำกลับคืนมาได้หรือไม่อย่างไร

นอกจากนั้น บทเรียนข้างต้น อาจจะทำให้ช่วยเตือนสติเป็นกรณีตัวอย่างคำอธิบายอีกมุมหนึ่งว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2560 มาตรา 17 ที่ได้ลงประชามติไปแล้วว่าในกรณีที่ต้องมีผู้สำเร็จราชการต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภานั้น แต่ต่อมาภายหลังต้องมีการแก้ไขว่าการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการหรือคณะผู้สำเร็จราชการไม่ต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภานั้น มีประโยชน์และโทษอย่างไร จากกรณีศึกษาที่เคยเกิดขึ้นในอดีต

แต่สิ่งที่ผู้อ่านจะเห็นด้วยหรือไม่ว่า ภารกิจอันสำคัญของคณะราษฎร น่าจะยังไม่เสร็จสิ้น และมีสิ่งที่ประชาชนจะต้องดำเนินการต่อไป ก็คือ...

“การปฏิรูปนักการเมือง” ที่ทุจริต ฉ้อราษฎร์บังหลวงตลอดมา ไม่ว่าจะมาจากการเลือกตั้งหรือการรัฐประหารก็ตาม
ข้อมูลข้างต้นเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า ประวัติศาสตร์มีหลายมุม การศึกษารอบด้านในทัศนะที่แตกกันควรจะได้รับการแลกเปลี่ยนกันตั้งแต่สถาบันการศึกษาในห้องเรียนหรือไม่อย่างปลอดภัย แทนที่จะปล่อยให้มีการถูกนำเสนอและคุยกันเองผ่านโซเชียลมีเดียที่มีแต่ข้อมูลด้านเดียวจากคนกลุ่มเดิมๆ

ด้วยความปรารถนาดี

ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต

อ้างอิง :
[1] บันทึกการอภิปรายทั่วไปเพื่อรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 9 ของสภาผู้แทนราษฎร ญัตติด่วน เรื่อง ญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปในนโยบายของรัฐบาลว่าด้วยการจัดการทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์, 27 กรกฎาคม 2480
https://library2.parliament.go.th/giventake/content_debate/db2-09.pdf

[2] นรนิติ เศรษฐบุตร, เลียง ไชยกาล, เว็บไซต์สถาบันพระปกเกล้า
http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=เลียง_ไชยกาล

[3] เว็บบอร์ดวิชาการ, หลวงอดุล-หลวงพิบูล คู่รัก, พล.ต.อ.อดุล-จอมพล ป. คู่แค้น
http://www.reurnthai.com/index.php?topic=3419.75

[4] หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ, เปิดกรุที่ดิน หมื่น ล.ตระกูล นิรันดร + ประกาศหาผู้ร่วมทุน ยันไม่ขาย/เตรียมเจรจากลุ่มอีวาแอร์ พัฒนาที, 2 กุมภาพันธ์ 2551
https://www.thaiproperty.in.th/board/คลังกระทู้/เปิดกรุที่ดิน-หมื่นล-ตระกูล-นิรันดร-ประกาศหาผู้ร่วมทุน-ยันไม่ขายเตรียมเจรจากลุ่มอีวาแอร์-พัฒนาที-23492

[5] Isranews, พลิกปูม‘ขุนนิรันดรชัย’คนสนิทจอมพล ป. เจ้าของที่ดินหมื่นล.ก่อนลูกหลานฟ้องแย่งมรดก, 12 พฤศจิกายน 2561
https://www.isranews.org/isranews-scoop/71075-isranews11-71075.html

30 ต.ค. 2563  ผู้จัดการออนไลน์
หัวข้อ: ภารกิจคณะราษฎรยังไม่เสร็จ!? (ตอนที่ 2)
เริ่มหัวข้อโดย: story ที่ 09 มกราคม 2021, 12:30:28
ภารกิจคณะราษฎรยังไม่เสร็จ!? (ตอนที่ 2) กระทู้ประวัติศาสตร์ “ที่ดินของพระมหากษัตริย์” เพื่อประโยชน์ของใคร? / ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

จากความตอนที่แล้วเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2563 ในบทความที่ชื่อว่า “ภารกิจคณะราษฎรยังไม่เสร็จ !? คณะราษฎรคนไหน เคยเอาที่ดินทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ไปเป็นของส่วนตัวบ้าง” [1]

ซึ่งต้องทบทวนกันอีกครั้งหนึ่งว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงแบ่งแยกทรัพย์สินระหว่างทรัพย์สินของแผ่นดิน กับ ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ออกจากกันเป็นที่เรียบร้อย ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองนานแล้ว

ต่อมาภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 รัฐบาลภายใต้การนำของคณะราษฎรย่อมตระหนักรู้อยู่แล้ว จึงได้ตรากฎหมายเกี่ยวกับทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์แยกออกมาต่างหากจากทรัพย์สินของรัฐทั่วไปโดยไม่ได้มีการควบรวมทรัพย์สินให้กลายเป็นของรัฐทั้งหมด เพียงแต่ในช่วงแรกในปี พ.ศ. 2479 มีความพยามในการตรากฎหมายเพื่อ แบ่งทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ส่วนสาธารณะสมบัติของแผ่นดิน (เช่นพระราชวัง ให้สำนักพระราชวังดูแล) ทรัพย์สินส่วนพระองค์ และสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ให้บริหารแยกออกจากกัน

จึงย่อมเป็นที่ยุติผ่านการยอมรับในการแบ่งแยกไปโดยปริยายว่าทรัพย์สินและที่ดินแปลงใดเป็นของแผ่นดินหรือรัฐ (เช่น ที่ดินราชพัสดุ ดูแลโดยกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง) ซึ่งได้มีการตรวจสอบอยู่แล้วทั้งงบประมาณและการบริหารทรัพย์สินโดยรัฐบาล กรรมาธิการงบประมาณ และรัฐสภา และทรัพย์สินใดเป็นของพระมหากษัตริย์ที่มีมาอยู่แต่เดิม

อย่างไรก็ตามในช่วงปี พ.ศ. 2480 ได้เกิดเงื่อนไขสำคัญดังนี้

ประการแรก สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 1 มาจากการเลือกตั้งทางอ้อม ในขณะที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 มาจากการคัดเลือกของคณะราษฎรกันเองทั้งหมด จนเป็นสาเหตุที่ทำให้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ทรงสละราชย์สมบัติ เพราะทรงเห็นว่าเป็นการนำพระราชอำนาจไปตกอยู่กับคณะบุคคลเพียงกลุ่มเดียว

ประการที่สอง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ขึ้นครองราชย์แทน แต่ทรงเป็นยุวกษัตริย์ มีพระชนมายุเพียง 11 พรรษา และทรงศึกษาและประทับอยู่ต่างประเทศ จึงต้องมีการแต่งตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ กระทำการแทนพระมหากษัตริย์ทั้งหมด

ประการที่สาม คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์มาจากความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งคณะราษฎรครองอิทธิพลเสียงข้างมาก และรัฐบาลอยู่ภายใต้พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นนายกรัฐมนตรี ดังนั้นทั้งรัฐบาล สภาผู้แทนราษฎรเสียงข้างมาก และคณะผู้สำเร็จราชการ จึงย่อมมีที่มาจากเครือข่ายซึ่งเป็นที่ไว้วางใจของคณะราษฎรด้วยกันเองแล้ว

ประการที่สี่ มีการตราพระราชบัญญัติ จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2479 และตราไว้โดยคณะผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน เมื่อ วันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2480 โดยมีคณะกรรมการที่แต่งตั้งขึ้นโดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธาน และกรรมการอีกไม่น้อยกว่า 4 คน แต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์ (ซึ่งในเวลานั้นก็จะถูกแต่งตั้งโดยคณะผู้สำเร็จราชการซึ่งมาจากความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร)

จากเงื่อนไขทั้ง 4 ประการข้างต้น ได้เป็นผลทำให้ “เกิดเรื่อง” การกระทำที่ขัดกันแห่งผลประโยชน์ หรือ ผลประโยชน์ทับซ้อน ในปี พ.ศ. 2480 สรุปได้ดังนี้

ประเด็นแรก มีการอภิปรายทั่วไปเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2480 เรื่อง สำนักพระราชวัง หรือ กรมพระคลังข้างที่โดยคณะผู้สำเร็จราชการ ได้ซื้อที่ดินจากพระวร วงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ประธานผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัชกาลที่ 8 โรงเรียนการเรือน (มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต) ในราคา 35 บาทต่อตารางวาง ในขณะที่ราคาที่ดินข้างเคียงราคาเพียง 15 บาทต่อตารางวา

ประเด็นที่สอง มีการตั้งกระทู้ถามและอภิปรายเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2480 ข้าราชการในกรมราชเลขานุการ สำนักพระราชวัง, คณะกรรมการกำหนดราคาที่ดิน สำนักพระราชวัง, ผู้ใกล้ชิดผู้สำเร็จราชการ และข้าราชการอื่นๆในสำนักพระราชวัง กลับซื้อที่ดินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นของตัวเองในราคาถูกๆ หรือเก็บค่าเช่ามาแล้วจ่ายผ่อนซื้อที่ดินในราคาถูกๆ บางรายยังเร่ขายที่ดินให้กับบุคคลสำคัญในรัฐบาลอีกด้วย

สำหรับในกลุ่มนี้ ไม่ใช่เฉพาะชื้อโฉนดที่ดินที่กรมพระคลังข้างที่เป็นเจ้าของเท่านั้น แต่ยังได้ซื้อโฉนดที่ดินซึ่งเป็นพระนามของพระมหากษัตริย์ด้วย เช่น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 และ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ด้วย

ประเด็นที่สาม มีการตั้งกระทู้ถามและอภิปรายถึงเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2480 ถึงรัฐมนตรีหลายคนในรัฐบาล ผู้ก่อการคณะราษฎรเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 หลายคน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 (ซึ่งมาจากคณะราษฎร) รวมถึงข้าราชการในเครือข่าย เร่งซื้อที่ดินจากพระคลังข้างที่ในราคาถูกๆ ไม่เว้นแม้แต่ที่ดินหน้าพระราวังจิตรลดารโหฐานด้วย

ประเด็นที่สี่ พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรีระบุว่า เป็นสิทธิของคณะผู้สำเร็จราชการที่จะให้ใครเปล่าๆ หรือขายให้ใคร ราคาใดก็ได้ เพราะคณะผู้สำเร็จราชการได้รับการแต่งตั้งจากสภาผู้แทนราษฎรถูกต้องตามกฎหมายแล้ว และระบุว่ามีผู้ที่ซื้อที่ดินส่วนพระมหากษัตริย์มากกว่านี้ และเป็นช่วงเวลาก่อนหน้าวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2480 ก่อนช่วงเวลาที่มีการกล่าวถึงในการตั้งกระทู้ถามด้วย

ประการที่ห้า แม้มีผู้ซื้อที่ดินไปขายคืนกลับสำนักพระคลังข้างที่ รวมถึงผู้ขายที่ดินซื้อคืนกลับจากสำนักพระคลังข้างที่ ด้วยเหตุผลต่างๆกันไป แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าผู้ซื้อที่ดินขายคืนกลับกี่ราย ไม่ขายคืนกลับกี่ราย หรือกลับไปซื้อที่ดินภายหลังอีกกี่ราย ซึ่งจะต้องทำการศึกษาและตรวจสอบความถูกต้องต่อไป

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีบางตระกูลดังเช่น “นิรันดร” ได้ปรากฏเป็นข่าวว่ามีทรัพย์สินเป็นที่ดินใจกลางกรุงเทพมหานครมากถึง 90 แปลง มูลค่ากว่า 40,000 ล้านบาท โดยระบุว่ามีที่ดินส่วนหนึ่งเป็นมรดกจาก “ขุนนิรันดรชัย” คณะราษฎรสายทหารบก ผู้ใกล้ชิด จอมพลแปลก พิบูลสงคราม ซึ่งเคยเป็นราชเลขานุการในสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ซึ่งระบุว่าได้ซื้อที่ดินตรงข้ามหน้าวังสวนจิตรลดารโหฐานในสมัยรัชกาลที่ 8 ด้วย [2],[3]

เพื่อประโยชน์ในการถอดบทเรียนประวัติศาสตร์ จึงขอนำการตั้งกระทู้ถามนายกรัฐมนตรี ของนายเลียง ไชยกาล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2480 ดังนี้



“ข้อ ๑ กรมพระคลังข้างที่เดิมขึ้นกับสำนักนายกรัฐมนตรี แต่โอนไปขึ้นกระทรวงการคลัง เริ่มโอนจริงๆเมื่อวันที่ ๒๐ กรกฎาคม พ.ศ. นี้ ก่อนใกล้ๆ จะโอนไปขึ้นกระทรวงการคลังนี้ได้มีการโอนขายอสังหาริมทรัพย์ของกรมพระคลังข้างที่มากที่สุด
ในระยะเวลานี้คือตั้งแต่วันที่ ๑ กรกฎาคม ถึงวันที่ ๒๐ กรกฎาคม รวมกว่า ๒๕ ราย วันทำสัญญา ผู้ซื้อ ราคา รายนาม คือตามบัญชีในสำเนานั้นอย่างนี้

วันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๔๘๐ สำนักพระราชวัง (สำนักพระคลังข้างที่) เป็นเจ้าของ พระยาฤทธิ์อัคเนย์ เป็นผู้ซื้อ โฉนดเลขที่ ๓๒๔๓ อำเภอบางรัก ราคา ๘,๐๐๐ บาท

(พันเอกพระยาฤทธิ์อัคเนย์ หรือ สละ เอมะศิริ เป็นหนึ่งในสี่ หัวหน้าคณะราษฎร ในการเปลี่ยนแปลงการการปกครอง 2475 ขณะถูกตั้งกระทู้ถามและถูกอภิปรายพาดพิง ดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการ : ผู้เขียน)

วันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๔๘๐ สำนักพระราชวัง (สำนักพระคลังข้างที่) เป็นเจ้าของ พระยาฤทธิ์อัคเนย์เป็นผู้ซื้อ โฉนดเลขที่ ๓๑๓๐ อำเภอบางรัก ราคา ๗๐๐ บาท

วันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๔๘๐ สำนักพระราชวัง (สำนักพระคลังข้างที่) เป็นเจ้าของ พระยาฤทธิ์อัคเนย์เป็นผู้ซื้อ โฉนดเลขที่ ๒๖๑๐ อำเภอบางรัก ราคา ๑,๓๐๐ บาท

วันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๔๘๐ พระปกเกล้าฯเป็นเจ้าของ นายนเรศธิรักษ์เป็นผู้ซื้อ โฉนดเลขที่ ๔๑๐๔ อำเภอบางซื่อ ราคา ๔,๐๐๐ บาท

(นายนเรศร์ธิรักษ์ หรือ นายแสวง ชาตรูปะวณิช ขณะถูกพาดพิงตั้งกระทู้ถาม เป็นปลัดกรม แผนกสารบรรณ สำนักพระราชวัง : ผู้เขียน)

วันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๔๘๐ สำนักพระราชวัง (สำนักพระคลังเป็นเจ้าของ นายวิลาศ โอสถานนท์เป็นผู้ซื้อ โฉนดเลขที่ ๓๘๔๕ อำเภอบางรัก ราคา ๖,๐๐๐ บาท

(นายวิลาศ โอสถานนท์เป็นผู้ก่อการของคณะราษฎร 2475 สายพลเรือน ขณะถูกพาดพิงตั้งกระทู้ถาม ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 : ผู้เขียน)

วันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๔๘๐ พระมงกุฎเกล้าฯเป็นเจ้าของพระพิจิตรราชสาสน์ เป็นผู้ซื้อ โฉนดเลขที่ ๔๒๔๓ อำเภอบางซื่อ ราคา ๕,๙๔๕ บาท

(พระพิจิตรราชสาสน์ หรือ สอน วินิจฉัยกุล ขณะถูกพาดพิงตั้งกระทู้ถาม เป็นข้าราชการในกรมเลขานุการในพระองค์ :ผู้เขียน

ต่อมาลูกหลานได้มีหนังสือชี้แจงว่า ไม่ได้เป็นการซื้อที่ดิน แต่เป็นการเช่าเดือนละ ๔ บาท และอยู่ระหว่างหาหลักฐานเพื่อยืนยันข้อเท็จจริงนี้ต่อไป))

วันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๔๘๐ สำนักพระราชวัง (สำนักพระคลังเป็นเจ้าของ หลวงนิเทศกลกิจ เป็นผู้ซื้อ โฉนดเลขที่ ๕๘๖ อำเภอพระนคร ราคา ๗,๐๐๐ บาท

(หลวงนิเทศกลกิจ หรือ กลาง โรจนเสนา เป็นผู้ก่อการคณะราษฎร 2475 สายทหารเรือ ขณะถูกตั้งกระทู้ถามพาดพิง ดำรงตำแหน่ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ประเภทที่ 2 : ผู้เขียน)

วันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๔๘๐ สำนักพระราชวัง (สำนักพระคลังเป็นเจ้าของ นายเอก ศุภโปดก เป็นผู้ซื้อ โฉนดเลขที่ ๑๓๓๖ อำเภอบางกอกใหญ่ ราคา ๒,๔๘๘ บาท

(นายเอก ศุภโปดก เป็นผู้ก่อการคณะราษฎร 2475 สายพลเรือน :ผู้เขียน)

วันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๔๘๐ สำนักพระราชวัง (สำนักพระคลังเป็นเจ้าของ หลวงชำนาญนิติเกษตร์ เป็นผู้ซื้อ โฉนดเลขที่ ๓๘๔๙ อำเภอบางรัก ราคา ๙,๒๓๑ บาท

(หลวงชำนาญนิติเกษตร์หรือ นายอุทัย แสงมณี เป็นผู้ก่อการคณะราษฎร 2475 สายพลเรือน ขณะถูกตั้งกระทู้ถามพาดพิง เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ประเภทที่ 2 และเป็น หัวหน้าสำนักโฆษณาการ : ผู้เขียน)

วันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๔๘๐ สำนักพระราชวัง (สำนักพระคลังเป็นเจ้าของ นายแสวง มหากายี เป็นผู้ซื้อ โฉนดเลขที่ ๕๒๒ อำเภอบางรัก ราคา ๔,๐๗๐ บาท

(นายแสวง มหากายี เป็นบุตรชายคนโตของ มหาอำมาตย์ตรีพระยานครพระราม (สวัสดิ์) เลขานุการประจำพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัชกาลที่ 8 : ผู้เขียน)

วันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๔๘๐ สำนักพระราชวัง (สำนักพระคลังเป็นเจ้าของ นายสอน บุญจูง สำนักนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ซื้อ โฉนดเลขที่ ๒๓๘๓, ๒๓๙๕, ๒๔๐๐ อยู่ที่สำเพ็ง ราคา ๕,๕๘๔ บาท

(นายสอน บุญจูง เป็นผู้ก่อการคณะราษฎร 2475 สายพลเรือน ขณะถูกอภิปราย ทำงานอยู่ที่สำนักนายกรัฐมนตรี :ผู้เขียน)

วันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๔๘๐ สำนักพระราชวัง (สำนักพระคลังเป็นเจ้าของ นายนรราชจำนง(สิงห์ไรวา) เป็นผู้ซื้อ โฉนดเลขที่ ๒๑๑๐ อำเภอบางรัก ราคา ๖,๖๑๔ บาท

วันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๔๘๐ สำนักพระราชวัง (สำนักพระคลังเป็นเจ้าของ หลวงอรรถสารประสิทธิ์ เป็นผู้ซื้อ โฉนดเลขที่ ๓๔๗๓ อำเภอบางรัก ราคา ๑๐,๗๒๔ บาท

(หลวงอรรถสารประสิทธิ์หรือ ทองเย็น หลีละเมียร เป็นผู้ก่อการของคณะราษฎร 2475 สายพลเรือน ขณะถูกพาดพิงตั้งกระทู้ถาม ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 และผู้ช่วยเลขาธิการคณะรัฐมนตรี : ผู้เขียน)

วันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๔๘๐ พระมงกุฎเกล้าฯ เป็นเจ้าของนายประจวบ บุรานนท์สำนักพระราชวัง เป็นผู้ซื้อ โฉนดเลขที่ ๖๙๔๓ อำเภอบางซื่อ ราคา ๑๑,๗๙๐ บาท

(นายประจวบ บุรานนท์ เป็นหนึ่งในคณะกรรมการกำหนดราคาที่ดิน พระคลังข้างที่ สำนักพระราชวัง : ผู้เขียน )

วันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๔๘๐ สำนักพระราชวัง (สำนักพระคลังเป็นเจ้าของ นายจำนงค์ราชกิจ(อยู่กับพระองค์เจ้าอาทิตย์) เป็นผู้ซื้อ โฉนดเลขที่ ๔๓๓ อำเภอพระนคร ราคา ๖,๑๓๔ บาท

(นายจำนงราชกิจหรือ นายจรัญ บุณยรัตพันธุ์ เป็นข้าราชการในกรมราชเลขานุการในพระองค์ อยู่กับพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในรัชกาลที่ 8 : ผู้เขียน )

วันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๔๘๐ สำนักพระราชวัง (สำนักพระคลังเป็นเจ้าของ ร.อ.กระวี สวัสดิบุตร เป็นผู้ซื้อ โฉนดเลขที่ ๓๘๐, ๔๘๙, ๕๓๐ อำเภอดุสิต ราคา ๕,๔๘๐ บาท

วันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๔๘๐ สำนักพระราชวัง (สำนักพระคลังเป็นเจ้าของ ร.อ.กุหลาบ กาญจนสกุล ร.น. เป็นผู้ซื้อ โฉนดเลขที่ ๕๖๐, ๒๕๖๙ อยู่ที่สำเพ็ง ราคา ๖,๗๓๔ บาท

(ร.อ.กุหลาบ กาญจนสกุล ร.น. หรือ กำลาภ กาญจนสกุลเป็นผู้ก่อการคณะราษฎร 2475 สายทหารเรือ: ผู้เขียน)

วันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๔๘๐ สำนักพระราชวัง (สำนักพระคลังเป็นเจ้าของ หลวงยุทธศาสตร์โกศล เป็นผู้ซื้อ โฉนดเลขที่ ๖๑๒๘ อำเภอบางซื่อ ราคา ๑๐,๓๐๓ บาท

(หลวงยุทธศาสตร์โกศลหรือ ประยูร ศาสตระรุจิ ทหารเรือ ต่อมาในปี 2490 ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารเรือ : ผู้เขียน)

วันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๔๘๐ สำนักพระราชวัง (สำนักพระคลังเป็นเจ้าของ พระดุลย์ธารณปรีชาไวท์ ทำหน้าที่ผู้สั่งราชการสำนักพระราชวัง เป็นผู้ซื้อ โฉนดเลขที่ ๒๔๘๘๖ สำเพ็ง ราคา ๑๔,๐๐๐ บาท

(พระดุลย์ธารณปรีชาไวท์ หรือยม สุทนุศาสน์ ขณะถูกพาดพิงจากการตั้งกระทู้ถาม ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ทำหน้าที่ผู้สั่งราชการสำนักพระราชวัง : ผู้เขียน)

นอกจากนี้ยังมีอีกหลายราย แต่หาหลักฐานยังไม่ได้ ถามข้อ ๑ นี้ มีความจริงเพียงไร” [4]

การตั้งกระทู้ถามข้างต้น ยิ่งทำให้เกิดคำถามตามมาว่า ก่อนที่จะมีใครคิดปฏิรูปนำทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ไปฝากเอาไว้กับนักการเมือง หนึ่งภารกิจที่คณะราษฎรทำแล้วเสร็จหรือยัง คือ ประเทศไทยได้มีการปฏิรูปนักการเมืองให้มีความซื่อสัตย์ สุจริตเพียงพอหรือยัง และกลไกการตรวจสอบทั้งรัฐสภาและองค์กรอิสระตรวจสอบ ขัดขวาง และปราบปรามการทุจริตได้จริงหรือไม่ และมีประสิทธิภาพเพียงใด

ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

อ้างอิง
[1] ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์,ภารกิจคณะราษฎรยังไม่เสร็จ !? คณะราษฎรคนไหน เคยเอาที่ดินทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ไปเป็นของส่วนตัวบ้าง? แฟนเพจ ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์, MGRonline, 6 พฤศจิกายน 2563
https://www.facebook.com/123613731031938/posts/3566001633459780/
https://mgronline.com/daily/detail/9630000112634

[2] หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ, เปิดกรุที่ดิน หมื่นล. ตระกูล นิรันดร + ประกาศหาผู้ร่วมทุน ยันไม่ขาย/เตรียมเจรจากลุ่มอีวาแอร์ พัฒนาที, 2 กุมภาพันธ์ 2551
https://www.thaiproperty.in.th/board/คลังกระทู้/เปิดกรุที่ดิน-หมื่นล-ตระกูล-นิรันดร-ประกาศหาผู้ร่วมทุน-ยันไม่ขายเตรียมเจรจากลุ่มอีวาแอร์-พัฒนาที-23492
[3] Isranews, พลิกปูม‘ขุนนิรันดรชัย’คนสนิทจอมพล ป. เจ้าของที่ดินหมื่นล.ก่อนลูกหลานฟ้องแย่งมรดก, 12 พฤศจิกายน 2561
https://www.isranews.org/isranews-scoop/71075-isranews11-71075.html

[4] รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 12 กระทู้ถามเรื่อง ที่ดินของพระมหากษัตริย์ ของนายเลียง ไชยกาล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรถามนายกรัฐมนตรี วันที่ 27 กรกฎาคม 2480

13 พ.ย. 2563 ผู้จัดการออนไลน์
หัวข้อ: ภารกิจคณะราษฎรยังไม่เสร็จ !? (ตอนที่ 3)
เริ่มหัวข้อโดย: story ที่ 09 มกราคม 2021, 12:31:59
ภารกิจคณะราษฎรยังไม่เสร็จ !? (ตอนที่ 3) ลีลาเจ้าคุณพหลฯ ตอบกระทู้กรณีทีมคณะราษฎร แห่ซื้อที่ดินของพระมหากษัตริย์ราคาถูกๆ / ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

จากกรณีที่นายเลียง ไชยกาล ผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี ได้ตั้งกระทู้ถาม พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2480 ต่อกรณีที่มีบุคคลในรัฐบาล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร รัฐมนตรี ข้าราชในสำนักราชเลขาธิการ ข้าราชการในรัฐบาล ข้าราชการภายใต้คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร) คณะกรรมการกำหนดราคาพระคลังข้างที่ ได้แห่เข้าซื้อที่ดินจากการตัดแบ่งข่ายที่ดินพระคลังข้างที่ สำนักพระราชวัง แล้วผ่อนในราคาถูกจริงหรือไม่

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลานั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ยังทรงเป็นยุวกษัตริย์ ทรงศึกษาและประทับอยู่ต่างประเทศ ในขณะที่คณะผู้สำเร็จราชการพระองค์ก็มาจากความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรที่มีเสียงของสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 มาจากการคัดเลือกจากคณะราษฎรกันเอง ปรากฏตามบทความตอนที่แล้วที่ชื่อว่า ภารกิจคณะราษฎรยังไม่เสร็จ (ตอนที่ 2) กระทู้ประวัติศาสตร์ “ที่ดินของพระมหากษัตริย์” เพื่อประโยชน์ของใคร? [1]

เหตุการณ์ดังกล่าว มีความจำเป็นที่จะต้องนำเสนอความจริงในประวัติศาสตร์ให้ปรากฏ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความโลภ โกรธ หลง ของมนุษย์ที่อยู่ในกลุ่มการเมืองของคณะราษฎร ซึ่งเป็นกลุ่มนักการเมืองที่เข้าสู่อำนาจแล้วเข้ามาบริหารหรือเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ให้กลายมาเป็นผลประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้อง ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นถึงเหตุการณ์ที่เป็นลักษณะ “การขัดกันแห่งผลประโยชน์” ของนักการเมือง นับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองมาจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะเมื่อเวลาที่ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้อิทธิพลทางการเมืองโดยปราศจากพระมหากษัตริย์ซึ่งประทับอยู่ต่างประเทศ

โดยการถามและการตอบกระทู้ในเหตุการณ์เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2479 นั้น ได้รับอนุญาตจากประธานสภาผู้แทนราษฎรให้ มี 3 กระทู้ โดยกระทู้แรก นายเลียง ไชยกาล ผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี ได้ตั้งกระทู้คำถามเอาไว้ 8 ข้อก่อน เมื่อตั้งคำถามครบทั้ง 8 ข้อแล้ว หลังจากนั้น พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี ได้ลุกขึ้นตอบคำถามทั้ง 8 ข้อรวดเดียวเช่นกัน และเพื่อความสะดวกในการพิจารณาในการเปรียบคำถามและคำตอบกระทู้ดังกล่าวนี้ จึงขอนำกระทู้และคำถามและคำตอบมาอยู่รวมกันทีละข้อดังนี้



ข้อ 1 สำหรับประเด็นที่นายเลียง ไชยกาล ผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี ได้ตั้งกระทู้ถามบุคคล แปลงที่ดิน ราคาที่ซื้อจากทรัพย์สินในพระมหากษัตริย์ ระหว่างวันที่ 1 ถึง 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2479 ว่าเป็นความจริงหรือไม่

พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรีได้ตอบคำถามนี้ว่า :

“ข้าพเจ้าขอตอบในข้อ 1 ว่า โอนในระยะนี้ก็มี โอนมาก่อนๆ ก็มี” [2]

(คำตอบนี้แสดงให้เห็นว่ามีรายชื่อและการโอนที่ดินมาก่อนวันที่ 1 กรกฎาคม 2479 เสียอีก ซึ่งไม่รู้ว่ามีจำนวนเท่าไหร่ และเป็นใครบ้าง : ผู้เขียน)

ข้อ 2 นายเลียง ไชยกาล ผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานีถามต่อว่า “ราคาที่ขายให้นั้น โดยมากขายผ่อนชำระเป็นรายเดือนใช่หรือไม่” [2]

พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี ได้ตอบคำถามข้อ 2 นี้ว่า :

“ข้อ 2 ขอตอบว่า ขายผ่อนชำระตามสมควรเป็นรายๆไป” [2]

(คำตอบนี้แสดงให้เห็นว่ามีผู้ที่ซื้อที่ดินซึ่งมีแต่พวกพ้องของรัฐบาลนั้น เป็นการผ่อนซื้อ ไม่ใช่การจ่ายเงินสดเพื่อซื้ออันเป็นการเอื้อผลประโยชน์ในเรื่องกระแสเงินสด ซึ่งเป็นความจริงตามมีการตั้งกระทู้ถาม : ผู้เขียน)

ข้อ 3 นายเลียง ไชยกาล ตั้งกระทู้ถามกึ่งอภิปรายว่า:

“ราคาที่ขายนั้น ถูกมากใช่หรือไม่ ถ้าท่านตอบไม่ใช่ ท่านคงตอบว่าคิดราคาพอดี ข้าพเจ้าขอถามว่า เหตุไรจึงไม่ประกาศขายให้มหาชนรู้ เพื่อที่จะซื้อ เพราะเรื่องนี้ปรากฏว่าขายให้พวกกันเองแทบทั้งนั้น ทำไมจึงไม่ขายให้คนอื่นๆ ที่เขาจะซื้อได้ดียิ่งกว่านี้

ถ้าท่านตอบว่า เพราะไม่ทราบว่าจะมีผู้ซื้อ ข้าพเจ้าก็ขอถามต่อไปว่าท่านคิดหรือไม่ว่า เจ้าพนักงานก็อยู่ในกรุงเทพฯ หลายๆปี และทำการรักษาประโยชน์โดยเฉพาะ น่าจะมีความรู้ดีกว่าเด็กๆเช่นข้าพเจ้า ข้าพเจ้ายังประมาณราคาได้ว่าที่ขายกันนั้น ถูกอย่างน่าสงสัยนัก

และเรื่องนี้ท่านจะทำดังต่อไปนี้ได้หรือไม่ คือประกาศมหาชน ซื้อที่รายนี้โดยเงินสด ถ้าได้มากกว่านี้แล้วให้ไล่เจ้าหน้าที่ออกจากราชการและฟ้องลงโทษ ถ้าไม่ได้ราคาที่ดีกว่าที่ขายอยู่นั้น ข้าพเจ้าขอลาออกจากผู้แทนราษฎรโดยไม่สมัครอีกตลอดชีวิต เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนกัน” [2]

พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี ได้ตอบคำถามข้อ 3 นี้ว่า :

“ข้อ 3 ขอตอบว่าจะนับว่าถูกก็ได้ และบางรายจะว่าไม่ถูกก็ได้ ที่ไม่ได้ประกาศขาย เพราะไม่ตั้งใจจะขาย ที่ขายไป ก็โดยทรงพระกรุณาเป็น รายๆไป เจ้าหน้าที่พระคลังข้างที่จะบอกขายอย่างนั้นไม่ได้” [2]

คำตอบดังกล่าวนี้เป็นการยอมรับว่ามีการซื้อที่ดินพระคลังข้างที่ อันเป็นทรัพย์สินส่วนของพระมหากษัตริย์ในราคาถูกมีอยู่จริง แต่อ้างเรื่อง “ทรงพระกรุณา” โดยแท้ที่จริงมาจาก ความกรุณาของคณะผู้สำเร็จราชการที่ถูกแต่งตั้งโดยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งภายใต้อิทธิพลของผู้ก่อการของคณะราษฎรที่เลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 เองทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม นายเลียง ไชยกาล ยังไม่รู้สึกเพียงพอต่อคำตอบดังกล่าวของพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรีและเป็นผลทำให้ตั้งคำถามต่ออีกเป็นกระทู้ที่ 2 ต่อมา หลังจากได้รับคำตอบอื่นจนครบ 8 คำถามแล้ว ซึ่งจะกล่าวถึงกระทู้ที่ 2 ในลำดับต่อไป

ข้อ 4 นายเลียง ไชยกาล ตั้งกระทู้ถามว่า: “ค่าธรรมเนียมในการซื้อขายธรรมดาผู้ซื้อออก แต่การซื้อขายคราวนี้ พระคลังข้างที่ออกเองใช่หรือไม่” [2]

พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี ได้ตอบคำถามข้อ 4 นี้สั้นๆ ว่า :

“ข้อ 4 ขอตอบว่าไม่ทราบ” [2]

ข้อ 5 นายเลียง ไชยกาล ตั้งกระทู้ถามว่า “การสำรวจเพื่อแบ่งแยกที่ดิน ตามธรรมดาใช้เวลาเพียง 2 เดือน แต่การซื้อขายแบ่งแยกที่ดินรายนี้ ในคราว 2 วันเสร็จ เหตุไรจึงเป็นเช่นนี้”

พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี ได้ตอบคำถามข้อ 5 นี้สั้นๆ ว่า :

“ข้อ 5 ขอตอบว่า ไม่ทราบข้อเท็จจริง แล้วแต่เจ้าพนักงานที่ดินจะแบ่งแยกที่ดิน”

ข้อ 6 นายเลียง ไชยกาล ตั้งกระทู้ถามว่า “เหตุผลของการขายที่ดินคราวนี้มีอย่างไรขอให้อธิบาย และข้าพเจ้าขอทราบว่า เหตุไรจึงเผอิญมีแต่คนในวันปารุสฯบ้าง พระคลังข้างที่บ้าง เกษตร์ฯบ้าง รัฐมนตรีบ้าง และเหตุไรรัฐมนตรีอื่นๆ จึงไม่ได้ซื้อเผอิญไปถูกรัฐมนตรีผุ้ไปรักษาการในพระคลังข้างที่ นอกนี้ก็เป็นเลขานุการนายกรัฐมนตรี และราชเลขาธิการในพระองค์ เป็นผู้ซื้อขอให้อธิบายให้ข้าพเจ้าหายข้องใจ”

พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี ได้ตอบคำถามข้อ 6 นี้ว่า :

“ข้อ 6 ขอตอบว่า ข้าพเจ้าได้ตอบแล้วว่าการขายนั้น ขายแก่ผู้ที่ขอพระมหากรุณาเป็นรายๆไป และคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้พิจารณาเห็นสมควรได้รับพระมหากรุณาแล้ว” [2]

(ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าคำตอบดังกล่าวข้างต้นนั้น ไม่ได้ตอบให้ตรงคำถามถึงเหตุผลที่แท้จริงของการขายที่ดิน และเหตุใดจึงมีเฉพาะกลุ่มในเครือข่ายพวกเดียวกันเองในการซื้อที่ดินในราคาถูกๆ อ้างเหตุผลปัดไปแต่เพียงว่าเป็นเรื่องพระมหากรุณาฯ: ผู้เขียน)

ข้อ 7 นายเลียง ไชยกาล ตั้งกระทู้ถามว่า “ตามเรื่องที่ปรากฏนี้ ท่านไม่สงสัยอะไรบ้างหรือ และเวลานี้เสียงโจษจรรย์ว่าในกรมพระคลังข้างที่เกิดทุจริตกันมาก ท่านจะตั้งกรรมการคนภายนอกจริงๆ ไม่เกี่ยวแก่ส่วนได้เสียชำระสะสางถึงเรื่องทุจริตเกี่ยวแก่ที่ดินได้หรือไม่” [2]

พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี ได้ตอบคำถามข้อ 7 นี้ว่า :

“ข้อ 7 ขอตอบว่า ข้าพเจ้าไม่สงสัยว่าเรื่องนี้จะได้มีการทุจริตในสำนักงานพระคลังข้างที่ เพราะปรากฏว่าได้กระทำไปโดยเปิดเผยแล้ว” [2]

ข้อ 8 นายเลียง ไชยกาล ตั้งกระทู้ถามว่า

“ท่านทราบหรือไม่ว่า ที่ดินแทบทุกแห่งที่ขายคราวนี้ มีลักษณะที่น่าสนใจอยู่ข้อหนึ่งคือ รายได้จากที่ดินไล่เรี่ยกันกับเงินค่าซื้อผ่อนส่ง หมายความว่าผู้ซื้อไม่ต้องลงทุนก็ได้ เช่น ที่ดินรายที่ขายให้พระดุลย์ธารณ์ปรีชาไวท์ ได้ค่าเช่าเดือนละ 150 บาท ผ่อนส่งเดือนละ 100 บาทเป็นต้น ถ้าท่านไม่ทราบ ขอเรียนข้อเท็จจริงให้ทราบดั่งกล่าวมานี้ และขอถามว่าท่านจะลงโทษผู้ทุจริตยิ่งกว่าไล่ออกเฉยๆ ได้ไหม เพราะไล่ออกเฉยๆ เขาไม่ทุกข์ร้อน เพราะเขาได้ทรัพย์คุ้มพอ” [2]

(พระดุลย์ธารณปรีชาไวท์ หรือ ยม สุทนุศาสน์ ขณะถูกพาดพิงจากการตั้งกระทู้ถาม ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ทำหน้าที่ผู้สั่งราชการสำนักพระราชวัง : ผู้เขียน)

พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี ได้ตอบคำถามข้อ 8 นี้ว่า :

“ข้อ 8 ขอตอบว่า ข้อเท็จจริงนั้นข้าพเจ้าไม่ทราบ ที่ดินรายที่อ้างมานั้น ไม่เป็นความจริง” [2]

หลังจากได้รับคำตอบจากกระทู้ถามแรก ทั้ง 8 ข้อแล้ว นายเลียง ไชยกาล ได้ตั้งกระทู้ถามชุดที่ 2 ต่อเนื่องทันที ความว่า

“...รัฐบาลตอบอย่างนี้คลุมไป และตอบเลอะ เมื่อตอบเลอะไปแล้วก็ไม่เกิดผลในการถาม ข้าพเจ้าขอซักว่าอย่างนี้ การทีท่านตอบว่าการขายนี้เป็นการขายในราคาธรรมดาจะว่าถูกก็ได้แพงก็ได้ แต่เป็นการขายให้ผู้ขอพระมหากรุณาเป็นรายๆไป

การที่ท่านตอบเช่นนี้ ข้าพเจ้าขอทราบว่า ท่านทราบหรือไม่ว่าขณะนี้พระมหากษัตริย์ยังทรงพระเยาว์ การขอพระมหากรุณานั้นไม่เป็นการพระมหากรุณาจากพระมหากษัตริย์ ซึ่งเวลานี้มีความรู้สึกในทางพระกรุณาหรือไม่ และเหตุใดจึงมีพระมหากรุณาแก่บุคคลซื้อที่ดินเหล่านี้เท่านั้น…”[2]

หลังจากตอบกันหาความชัดเจนสักพักทั้งผู้ตั้งกระทู้ถามและผู้ตอบ นายเลียง ไชยกาล ได้ยกตัวอย่างให้มีความชัดเจน ความว่า :

“ ตัวอย่างขายให้ขุนลิขิตสุรการเป็นต้น ทำคุณอะไร ที่นี้เก็บค่าเช่าได้เดือนละ 150 บาท ผ่อนส่งเพียงเดือนละ 60บาท คงได้กำไรเปล่าๆ 90 บาท อย่างนี้ถามพระดุลย์ธารณ์ฯดูเดี๋ยวนี้ได้ โอนเงินเข้ากระเป๋าโอนในนามของพระดุลย์ธารณ์ หรือบิดาพระดุลย์ธารณ์ฯ นั้น พระดุลย์ธารณ์ทำคุณความดีให้แก่ประเทศดีไปกว่า หลวงประดิษฐ์ฯ หลวงธำรงฯ หลวงสินธุฯหรือ” [2]

พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี ได้ตอบคำถามนี้ต่อว่า

“ข้าพเจ้าจะไปรู้เรื่องในกระเป๋าของเขาอย่างไร ไม่รู้จริงๆ ในเรื่องกระเป๋าของเขาว่าจะมีอย่างไร ข้าพเจ้าตอบไม่ได้ในเรื่องนี้” [2]

นายเลียง ไชยกาล ได้ตั้งกระทู้ถามต่อเพราะ พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี ได้โยนทุกสิ่งทุกอย่างไปที่การตัดสินใจของคณะผู้สำเร็จราชการทั้งสิ้น จึงได้ตั้งกระทู้ถามต่อว่า

“ท่านไม่รู้ ท่านไม่ทราบหรือเปล่าว่า เวลานี้ท่านเป็นผู้คุ้มครองทรัพย์ของพระมหากษัตริย์ ข้าพเจ้าได้มีหนังสือไปทูลผู้สำเร็จราชการ พระองค์ก็ซัดมาว่าให้ไปถามเจ้าคุณพหลฯดูเถิด” [2]

พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี ได้ตอบคำถามนี้ต่อว่า

“ในระบอบรัฐธรรมนูญ นายกรัฐมนตรีเป็นผู้สนอง ท่านจึงว่าอย่างนั้น ที่จริงท่านไม่ซัดข้าพเจ้า ข้าพเจ้าเห็นว่าท่านพูดถูกแล้ว” [2]

นายเลียง ไชยกาล ได้ตั้งกระทู้ถามจี้ต่อ เพราะไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจนในข้อ 8 ความว่า

“ข้าพเจ้าขอให้ท่านประธานให้รัฐบาลชี้แจงให้ละเอียด คำถามที่ข้าพเจ้ายกมาถามนี้ บางรายท่านก็ว่าไม่ทราบ คือ รายหนึ่งในข้อ 8 ของกระทู้ของข้าพเจ้า ผู้ซื้อคือ พระดุลย์ธารณ์ฯ หรือ บิดาของพระดุลย์ธารณ์ฯ ซื้อหมื่นสี่พันได้ค่าเช่าเดือนละ 150 บาท แต่ผ่อนส่งเดือนละ 100 บาท จริงไหม

ถ้าหากท่านว่าไม่ทราบ ถามพระดุลย์ธารณ์ฯ ที่นั่งอยู่นั่นเดี๋ยวนี้ เป็นความจริงอย่างข้าพเจ้าถาม ท่านจะจัดการในเรื่องมลทินเหล่านี้อย่างไร เพื่อเกียรติยศของรัฐบาลและเกียรติยศของคณะท่าน” [2]

พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี ได้ตอบคำถามข้อ 8นี้ ปิดท้ายกระทู้ที่ 3 ว่า

“ข้าพเจ้าไม่เห็นมีมลทินอย่างไร เราอยากจะได้พระมหากรุณา เราก็ขอพระมหากรุณา ท่านจะพระราชทานให้หรือไม่ พระราชทานให้แล้วแต่ท่านผู้เป็นประมุขที่ผู้สำเร็จราชการจะทรงเห็นชอบด้วย เขาไม่ได้ตั้งผู้สำเร็จราชการมาสำหรับเป็นเจว็ตนี่ เขาตั้งมาให้สำหรับคิดตรองและสำหรับแทนพระมหากษัตริย์ เพราะฉะนั้นข้าพเจ้าจึงบอกว่า ท่านต้องตรึกตรองแล้วเห็นว่าสมควรให้หรือไม่สมควรให้” [2]

เนื่องจากการตั้งกระทู้ถามได้สิ้นสุดเพียงแค่ 3 กระทู้เท่านั้น จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการยื่นอภิปรายทั่วไปในเรื่องเดียวกันนี้โดย นายไต๋ ปาณิกบุตร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดพระนคร และการอภิปรายจึงดำเนินต่อไปตามที่ได้กล่าวมาแล้ว ในบทความ ภารกิจคณะราษฎรยังไม่เสร็จ !? คณะราษฎรคนไหน เคยเอาที่ดินทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ไปเป็นของส่วนตัวบ้าง? [3],[4]

ในการอภิปรายเกี่ยวกับทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ในครั้งนั้นพันเอกพระยาพหลพลพยุหาเสนา นายกรัฐมนตรีได้กล่าวยืนยันในที่ประชุมว่าเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ เพราะสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้เลือกคณะผู้สำเร็จราชการเองจึงย่อมสามารถทำได้และทำอะไรก็ได้ แม้จะให้ที่ดินเปล่าๆกับใครก็ได้ไม่เป็นความผิด ดังคำอภิปรายของของพระยาพหลพลพยุหาเสนา นายกรัฐมนตรีความว่า :

“ข้าพเจ้าถือว่าท่านผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ซึ่งสภาฯ นี้ได้เลือกไปแล้ว ได้ตั้งเป็นผู้สำเร็จราชการมีอำนาจพอที่จะวินิจฉัยว่า ควรจะทรงพระมหากรุณาหรือไม่อันนี้เมื่อผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์มีหน้าที่ที่จะวินิจฉัยและจะให้เปล่าๆก็ได้ แต่ว่าจะให้เปล่าๆ หรือเอาแต่น้อยหรืออย่างไรนั้นอาจทำได้ ไม่ผิด” [3],[4]

หลังจากปิดประชุมในวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2480 เพื่ออภิปรายต่อวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2480 แล้ว ปรากฏว่า พันเอกพระยาพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี ได้ชิงลาออกไป หลังจากนั้นพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา ได้กลับเข้าสู่ตำแหน่งอีกครั้งในวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2480 [3]

แม้ว่าจะเกิดกรณีการตั้งกระทู้ถามและการอภิปรายในเรื่องการขัดกันแห่งผลประโยชน์ของนักการเมืองภายใต้อิทธิพลของคณะราษฎรซึ่งอื้อฉาวที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย แต่การอภิปรายในครั้งนั้นย่อมเป็นการยืนยันว่าแม้แต่รัฐบาลซึ่งมาจากคณะราษฎรซึ่งเป็นผู้เปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ก็ยังยอมรับการแบ่งแยกทรัพย์สินของรัฐและทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ออกจากกันตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ว่าทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์นั้นเป็นเรื่องของพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ ไม่ใช่ทรัพย์สินของรัฐบาล หรือทรัพย์สินของคณะราษฎรแต่อย่างใด

ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

อ้างอิง:
[1] ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์,ภารกิจคณะราษฎรยังไม่เสร็จ (ตอนที่ 2) กระทู้ประวัติศาสตร์ “ที่ดินของพระมหากษัตริย์” เพื่อประโยชน์ของใคร?,แฟนเพจ ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ และMGRonline, เผยแพร่: 13 พ.ย. 2563 17:10 น.
https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=3604434002949876&id=123613731031938&__tn__=%2As%2As-R
https://mgronline.com/daily/detail/9630000117339

[2] รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 12 กระทู้ถามเรื่อง ที่ดินของพระมหากษัตริย์ ของนายเลียง ไชยกาล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรถามนายกรัฐมนตรี วันที่ 27 กรกฎาคม 2480

[3] ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์,ภารกิจคณะราษฎรยังไม่เสร็จ !? คณะราษฎรคนไหน เคยเอาที่ดินทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ไปเป็นของส่วนตัวบ้าง? แฟนเพจ ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์, MGRonline, 6 พฤศจิกายน 2563
https://www.facebook.com/123613731031938/posts/3566001633459780/
https://mgronline.com/daily/detail/9630000112634

[4] บันทึกการอภิปรายทั่วไปเพื่อรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 9 ของสภาผู้แทนราษฎร ญัตติด่วน เรื่อง ญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปในนโยบายของรัฐบาลว่าด้วยการจัดการทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์, 27 กรกฎาคม 2480
https://library2.parliament.go.th/giventake/content_debate/db2-09.pdf

20 พ.ย. 2563  ผู้จัดการออนไลน์
หัวข้อ: ภารกิจคณะราษฎรยังไม่เสร็จ !? (ตอนที่ 4)
เริ่มหัวข้อโดย: story ที่ 09 มกราคม 2021, 12:34:06
ภารกิจคณะราษฎรยังไม่เสร็จ !? (ตอนที่ 4) มรดก “ขุนนิรันดรชัย” กับ ความลับของ “จอมพล ป.” ในทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์/ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

ในบรรดาประเด็นในเรื่องการแห่กันเข้าซื้อที่ดินพระคลังข้างที่ ซึ่งเป็นของพระมหากษัตริย์ระหว่างปี พ.ศ. 2479-2480 นั้น ประเด็นหนึ่งที่ยังคงน่าติดตามเพื่อหาความจริงกันต่อไปนั้น ก็คือ ความร่ำรวยของขุนนิรันดรชัยซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกผู้ก่อการในคณะราษฎรสายทหารบกเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 นั้น มีความเกี่ยวพันกับทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์จริงมากน้อยเพียงใด

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อปรากฏเป็นข่าวตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 เป็นต้นมาว่า มีการฟ้องร้องเป็นคดีความเพื่อแบ่งแยกมรดกของตระกูล “นิรันดร” โดยมีมรดกตกทอดส่วนหนึ่งมาจาก “ขุนนิรันดรชัย” อดีตสมาชิกผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 สายทหารบก ของคณะราษฎร และมีการลงทุนต่อๆกันมาจนเป็นที่ดินใจกลางกรุงเทพมหานคร อย่าง ถนนสาทร ถนนเจริญกรุง ถนนชิดลม ถนนเพลินจิต ถนนวิทยุ รวมถึงที่ดินย่านบางลำภู ย่านหัวลำโพง ย่านมหานาค ฯลฯ รวมกันมากถึง 90 แปลง โดยมีการประเมินมูลค่าว่าไม่ต่ำกว่า 40,000 ล้านบาท [1]-[3]

แม้ว่าในความเป็นจริงทั้งการตั้งกระทู้ถามของ นายเลียง ไชยกาล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี และการอภิปรายทั่วไปที่นำโดย นายไต๋ ปาณิกบุตร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนคร เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2480 จะไม่ได้กล่าวพาดพิงถึง “ขุนนิรันดรชัย” เลย [4]-[8] แต่ก็ไม่มีใครสามารถยืนยันได้ว่ารายชื่อผู้ที่ซื้อที่ดินพระคลังข้างที่มีใครอีกบ้างหรือไม่?

เพราะเหตุการณ์ในการตั้งกระทู้ถามและอภิปรายเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2480 นั้น “จำกัดเวลา” อยู่เพียงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 1 ถึง 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2480 เท่านั้น และเป็นการอภิปรายพาดพิง “จำกัดตัวบุคคลบางราย”เท่านั้นอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตอบกระทู้และการตอบอภิปรายทั่วไปในวันดังกล่าวของ พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวยอมรับว่า “มีการโอนที่ดินก่อนวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2480” [7],[8]ด้วย

สำหรับ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภาเป็นหนึ่งในผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลรัชกาลที่ 8 ซึ่งยังทรงพระเยาว์และประทับอยู่ต่างประเทศโดยการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในเวลานั้นต้องผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งจำนวนครึ่งหนึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 (ซึ่งมาจากคณะราษฎรเพียงกลุ่มเดียว)ด้วย

โดยก่อนที่พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภาจะได้รับความไว้วางใจจากสภาผู้แทนราษฎรให้มาเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์นั้นพบว่าในขณะที่ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐมนั้นได้รับคำชมจากพระยาพหลพลพยุหเสนาเมื่อครั้งเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24มิถุนายนพ.ศ. 2475ด้วย

โดย ประวัติของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ในหนังสือที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงพระศพ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2489 ได้อธิบายความตอนหนึ่งว่า :

“ด้วยพระองค์ท่านทรงทราบว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7ได้เคยทรงพระราชดำริที่จะพระราชทานรัฐธรรมนูญอยู่แล้วหากแต่คณะราษฎรได้ดำเนินการขอพระราชทานเสียก่อนเท่านั้นเมื่อเป็นเช่นนี้พระองค์ท่านก็พร้อมที่จะสนับสนุนกิจการของคณะราษฎรให้ดำเนินไปตามรัฐธรรมนูญสืบไปเมื่อได้ทำความเข้าใจกัน (กับคณะราษฎร:ผู้เขียน)แล้วพระองค์ท่านก็เสด็จกลับไปรับราชการในตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐมตามเดิม

เมื่อเสด็จกลับมาถึงจังหวัดนครปฐมแล้วอาศัยก็ได้เคยทรงศึกษาเล่าเรียนในวิชาการปกครองมาแล้วฉะนั้นจึงได้ทรงเรียบเรียงหัวข้อสำหรับจะได้ทรงอบรมชี้แจงแก่ราชการในจังหวัดนครปฐมให้เข้าใจซึมทราบถึงการปกครองในระบอบรัฐธรรมนูญและได้ทรงอบรมประทานพระโอวาทแก่ข้าราชการให้หายความตระหนกตกใจและมีความเข้าใจในการปกครองในระบอบนี้เป็นอย่างดี

ความทราบถึงพระยาพหลพลพยุหเสนาซึ่งได้ขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารได้มีหนังสือมาชมเชยถึงการที่ได้ประทานพระโอวาทไปนี้และกระทรวงมหาดไทยได้สั่งให้จังหวัดต่างๆชี้แจงอบรมข้าราชการให้เข้าใจถึงการปกครองในระบอบรัฐธรรมนูญตามแนวที่ได้ประทานพระโอวาทแก่ข้าราชการในจังหวัดนครปฐมนั้น”[9]

สำหรับความสัมพันธ์ในเชิงผลประโยชน์ของพันเอก พิบูลสงครามกับขุนนิรันดรชัยนั้นก็น่าจะลองพิจารณาการซื้อขาย“ราคาที่ดินพระคลังข้างที่”ซึ่งเป็น“พื้นที่หน้าพระราชวังจิตรลดารโหฐาน”ว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร
โดยพันเอก หลวงพิบูลสงคราม ในขณะที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ภายหลังจากที่รัฐบาลถูกอภิปรายเรื่องการแห่กันซื้อที่ดินพระคลังข้างที่เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2480 แล้ว พันเอก หลวงพิบูลสงคราม ได้ยื่นหนังสือลาออกจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมตามการลาออกของพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนานายกรัฐมนตรี

โดยพันเอก หลวงพิบูลสงคราม ได้ยอมรับในการเขียนจดหมายชี้แจงหนังสือพิมพ์เพื่อประกอบเหตุผลการลาออกจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเมื่อวันที่ 28กรกฎาคมพ.ศ. 2480ว่าเมื่อปีพ.ศ. 2479ได้มีผู้แนะนำให้ซื้อที่ดินพระคลังข้างที่หน้าพระราชวังจิตรลดารโหฐานเพื่อ“ปลูกบ้านส่วนตัว”แม้จะซื้อที่ดินจากพระคลังข้างที่จริงแต่ก็ได้ขายคืนที่ดินกลับไปเพราะไม่ต้องการให้เกิดความยุ่งยากในการขับไล่ราษฎรและการรื้อถอนของสิ่งปลูกสร้าง [7]โดยสำหรับประเด็นที่น่าวิเคราะห์จากการแถลงครั้งนั้นในเรื่อง“ราคาที่ดิน”ปรากฏความตอนหนึ่งว่า:

“ได้ตกลงซื้อไว้ 2ไร่ราคาไร่ละ 4,000บาทเป็นเงิน 8,000บาททางพระคลังข้างที่ก็จัดการโอนที่ดินนั้นให้ข้าพเจ้าประมาณเดือนมกราคมพ.ศ. 2480”[7]

ในขณะที่นายธรรมนูญ นิรันดร หนึ่งในทายาท“ขุนนิรันดรชัย”ได้เคยให้สัมภาษณ์เอาไว้ในหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ,ผ่านเว็บไซต์Thaipropertyเมื่อวันที่ 2กุมภาพันธ์พ.ศ. 2551ความตอนหนึ่งว่า:

“ยอมรับว่ามีที่ดินสะสมค่อนข้างเยอะโดยปัจจุบันนี้มีที่ดินอยู่ในกลางเมืองร่วม 90แปลงซึ่งส่วนหนึ่งเป็นมรดกตกทอดจากขุนนิรันดรชัยซึ่งในอดีตเป็นราชเลขานุการในสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอนันทมหิดลหรือรัชกาลที่ 8

โดยที่ดินแปลงสำคัญๆคือที่ดินที่อยู่ตรงข้ามด้านหน้าวังสวนจิตรลดาซึ่งเดิมรัชกาลที่ 8พระราชทานพื้นที่ให้ประมาณ 1ไร่ต่อมาได้มีการซื้อเพิ่มเติมร่วม 6-7แปลงประมาณ 10กว่าไร่โดยซื้อมาในราคาตารางวาละ 4บาทส่วนบริเวณหน้าวังนั้นซื้อมาในราคาตารางวา 2.50บาทซึ่งในอดีตนั้นเป็นสวนผักปัจจุบันนี้ราคาซื้อขายที่ดินอยู่ที่ 250,000บาทต่อตารางวาเพราะสามารถก่อสร้างตึกสูงได้เพียง 4ชั้นเท่านั้น” [10] ซึ่งหากเป็นความจริงก็มีข้อน่าสังเกตุดังนี้

ประการแรก“ขุนนิรันดรชัย” ได้ซื้อที่ดินหน้าพระราชวังจิตรลดาในราคาตารางวาละ 2.50 บาทต่อตารางวา จึงเท่ากับ 1,000 บาทต่อไร่ ซึ่ง “ต่ำกว่า 75 เปอร์เซนต์” เมื่อเทียบกับราคาหน้าพระราชวังเดียวกันที่“พันเอก หลวงพิบูลสงคราม”รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เคยซื้อเอาไว้เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2480 ในราคา 4,000 บาทต่อไร่

ประการที่สอง ขุนนิรันดรชัยซื้อที่ดินบริเวณ“หน้าวัง” ในราคาถูกกว่าที่ซื้อพื้นที่เพิ่มเติม 62.5 เปอร์เซนต์ โดยจากราคาหน้าวังตารางวาละ 2.50 บาท (1,000 บาทต่อไร่) มาเป็นซื้อพื้นที่เพิ่มเติมตารางวาละ 4 บาท (1,600 บาทต่อไร่)

ประการที่สาม ตามที่นายธรรมนูญ นิรันดร อ้างว่าพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 8 พระราชทานพื้นที่ 1 ไร่ให้“ขุนนิรันดรชัย”นั้น เมื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่าขุนนิรันดรชัยได้ลาออกจากราชเลขาธิการในพระบาทก่อนที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 จะทรงบรรลุนิติภาวะ และก่อนที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 จะทรงเสด็จนิวัติกลับประเทศไทยด้วย

ดังนั้นขุนนิรันดรชัยจึงได้เป็นข้าราชการในสำนักราชเลขานุการของ“คณะผู้สำเร็จราชการเท่านั้น” ดังนั้นจึงน่าสงสัยว่าการได้ที่ดินมาในครั้งนั้นได้มาจากใครระหว่าง ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 หรือได้จากคณะผู้สำเร็จราชการกันแน่

โดยสำหรับความสัมพันธ์ระหว่าง “ขุนนิรันดรชัย” กับ“พันเอก พิบูลสงคราม”นั้นสามารถสังเกตุได้จากการเขียนข้อความของจอมพล ป. พิบูลสงคราม และ คุณหญิงละเอียด พิบูลสงคราม,เพื่อเคารพและไว้อาลัยแด่พันตรี สเหวก นิรันดร ในหนังสือปาฐกถาเรื่องจิตต์เพื่อบรรณาการในงานพระราชทานเพลิงศพพันตรีสเหวกนิรันดรณเมรุวัดพระศรีมหาธาตุ เมือวันที่ 22พฤษภาคม 2499 ได้ระบุการที่มีการให้ความช่วยเหลือทางราชการและ“ทางส่วนตัว”ด้วยความตอนหนึ่งว่า :

“ครอบครัวของข้าพเจ้าและครอบครัวของท่านผู้ล่วงลับ มีความสนินสนมกันอย่างใกล้ชิดเหมือนเครือญาติสนิทได้ให้ความช่วยเหลือกันทั้งในราชการและทางส่วนตัวมาด้วยสม่ำเสมอ” [11]

ทั้งนี้พันตรีสเหวก นิรันดรหรือ“ขุนนิรันดรชัย”เป็นบุตรของนายปลั่งและนางวอนเกิดเมื่อวันที่ 26พฤศจิกายนพ.ศ. 2443สกุลเดิมคือ“นีลัญชัย”ต่อมาได้ขอรับพระราชทานนามสกุลใหม่ว่า“นิรันดร” เป็นสมาชิกคณะราษฎรสายทหารบกรุ่นน้องจอมพล ป.[12]

ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ร้อยโทขุนนิรันดรชัย อายุ 31 ปี 7 เดือน เข้าประจำแผนกโรงเรียนทหารปืนใหญ่ แล้วต่อมาได้เลื่อนยศทหารเป็นนายร้อยเอกเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 [12]

ต่อมาวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2477นายร้อยเอกขุนนิรันดรชัยเข้าอยู่ในประเภทนายทหารนอกกองกองทัพบกประเภททหารกองหนุนไม่มีเบี้ยหวัดเพื่อไปเป็น“เลขานุการของนายกรัฐมนตรี”ตามมติคณะรัฐมนตรี [12]

วันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2478พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติเพราะอำนาจการปกครองผูกขาดการตั้งสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 อยู่กับคนก่อการคณะราษฎรเพียงกลุ่มเดียวไม่กี่คนและมิได้ทรงสมมติเจ้านายพระองค์ใดพระองค์หนึ่งเป็นรัชทายาท

วันเดียวกันนั้นคณะรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรจึงได้อัญเชิญเสด็จพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล ซึ่งเป็นเจ้านายเชื้อพระบรมวงศ์พระองค์ที่ 1 ในลำดับพระราชสันตติวงศ์ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช 2467 [13] ขึ้นทรงราชย์เป็นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล สืบพระราชสันตติวงศ์ต่อไปตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2478 [14]

แต่เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ทรงมีพระชันษาเพียง 9 ปี รัฐบาลโดยความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร (ซึ่งมีสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 ซึ่งมีครึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร) ว่ายังไม่ทรงบรรลุนิติภาวะตามกฎมณเฑียรบาล [14] จึงแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เมื่อวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2478 [14],[15]

และนี่คือจุดเปลี่ยนสำคัญของวิถีชีวิตของร้อยเอกขุนนิรันดรชัยนายทหารบกรุ่นน้องในคณะราษฎรสายทหารบกผู้ใกล้ชิดกับพันเอกหลวง พิบูลสงครามซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในยุคนั้นจากฝ่ายรัฐบาลก็ได้ถูกวางตัวให้ก้าวข้ามฟากเข้าสู่อำนาจในการประสานงานกับคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

วันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2478นายร้อยเอกขุนนิรันดรชัยเป็นผู้ช่วยเลขานุการในพระองค์[12]

1 มีนาคม พ.ศ. 2480 พระราชบัญญัติ จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2479ซึ่งเตรียมมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2479ผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรแล้วในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2480

14 มิถุนายน พ.ศ. 2480พระราชบัญญัติ จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2479ซึ่งเตรียมมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2479“ตราไว้เสร็จแล้ว”แต่ยังไม่มีผลบังคับใช้เพราะรอประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา

โดยกฎหมายดังกล่าวเตรียมโอนย้ายทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ สำนักพระคลังข้างที่ โอนมาที่สำนักงานทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ โดยให้กระทรวงการคลังดูแล (พระยาไชยยศสมบัติ หรือ เสริม กฤษณามระ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง)
โดยมาตรา 5พระราชบัญญัติ จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2479กำหนดให้มีกรรมการที่ปรึกษาโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธานและกรรมการอีก 4คนโดยพระบรมราชานุมัติ (ในเวลาตอนนั้นเป็นอำนาจของคณะผู้สำเร็จราชการ)

แต่ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์กำหนดเอาไว้ในมาตรา 7 พระราชบัญญัติ จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2479 ว่าการโอนย้ายและจำหน่ายได้โดยพระบรมราชานุมัติ (ในเวลาตอนนั้นเป็นอำนาจของคณะผู้สำเร็จราชการ)เพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือเพื่อประโยชน์แก่ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

พระราชบัญญัติ จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2479 เป็นร่างที่จัดเตรียมมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2479 จึงมีหลายคนรู้ว่าะมีการประกาศใช้กฎหมายดังกล่าวในปี 2480 จึงเริ่มเข้าซื้อที่ดินพระคลังข้างที่ของพระมหากษัตริย์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2479 จนถึงต้นปี พ.ศ. 2480

จนเป็นที่แน่ชัดแล้วว่ามีการตราเสร็จสิ้นตั้งแต่วันที่ 14 มิถุนายน 2480 ด้วยแล้ว จึงมีการ “เร่งซื้อ”ที่ดินพระคลังข้างที่ในราคาถูกๆ “ชิงตัดหน้า” ก่อนประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2480

14 มิถุนายน ถึง 19 กรกฎาคมพ.ศ. 2480ก่อนประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาได้มีการตัดแบ่งขายที่ดินพระคลังข้างที่จำนวนมากให้กับรัฐมนตรี,สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2,ข้าราชการในพระองค์,ข้าราชการในคณะผู้สำเร็จราชการ,ข้าราชการในสำนักพระราชวัง,คณะกรรมการกำหนดราคารที่ดินพระคลังข้างที่,และเครือข่ายของผู้ก่อการในคณะราษฎรซึ่งแห่งเข้าไปซื้อที่ดินแบบผ่อนในราคาถูกๆจำนวนมาก

19 กรกฎาคม พ.ศ. 2480พระราชบัญญัติ จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2479 ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา หลังจากขายที่ดินพระคลังข้างที่ไปแล้วเป็นจำนวนมาก

27 กรกฎาคม พ.ศ. 2480เกิดการตั้งกระทู้ถามประวัติศาสตร์ของนายเลียง ไชยกาลสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานีและการเปิดอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมตินำโดยนายไต๋ ปาณิกบุตรสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเขตพระนครเรื่องการโอนทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ให้กลายเป็นสมบัติส่วนตัวจำนวนมากให้กับพรรคพวกรัฐบาลและข้าราชบริพารระหว่างวันที่ 1ถึง 20กรกฎาคม พ.ศ. 2480[4]-[8]

หลังเหตุการณ์อื้อฉาวผ่านไป 7 เดือน

วันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2481 นายร้อยเอกขุนนิรันดรชัย ได้เลื่อนตำแหน่งเป็น “ราชเลขานุการในพระองค์” และในวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2481 นายร้อยเอกสเหวก นิรันดร ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรยศทหาร เป็น นายพันตรี [12]

เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2481พันตรีขุนนิรันดรชัยเป็นกรรมการที่ปรึกษาจัดระเบียบทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ [12] จึงมีส่วนในการตัดสินใจในเรื่องพระมหากษัตริย์ตามกฎหมายมากขึ้นกว่าเดิม

วันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2481จอมพล ป.พิบูลสงครามขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทนพระยาพหลพลพยุหเสนาที่ได้ลาออกไปเมื่อวันที่ 11กันยายนพ.ศ. 2481และยุติบทบาททางการเมือง

วันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2484สภาผู้แทนราษฎรมีมติให้นายปรีดี พนมยงค์เป็นหนึ่งในผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แทนนาวาอากาศเอกเจ้าพระยายมราชซึ่งได้ถึงแก่อาสัญกรรม [16]และเป็นผลทำให้นายปรีดี พนมยงค์พ้นจากตำแหน่งทางการเมืองที่กำลังขัดแย้งกับการยืนข้างญี่ปุ่นของรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม

วันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2486พันตรีขุนนิรันดรชัยคณะราษฎรให้ความไว้วางใจ แต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2

ปลายเดือน กรกฎาคม พ.ศ. 2487จอมพล ป. พิบูลสงคราม ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีภายหลังแพ้โหวตคะแนนในสภาผู้แทนราษฎร 48ต่อ 36เสียงในการขอความเห็นชอบพระราชกำหนดจัดระเบียบราชการบริหารนครบาลเพชรบูรณ์พ.ศ. 2487เมื่อวันที่ 20กรกฎาคมพ.ศ. 2487และแพ้โหวตคะแนนในสภาผู้แทนราษฎร 43ต่อ 41เสียงในการขอความเห็นชอบพระราชกำหนดจัดสร้างพุทธบุรีมณฑลพ.ศ. 2487เมื่อวันที่ 22กรกฎาคมพ.ศ. 2487

วันที่ 31 กรกฎาคม 2487 พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ทรงลาออกจากตำแหน่งประธานและคณะกรรมการผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ [17], [18]เพราะไม่ต้องการรับรองนายควง อภัยวงศ์ให้เป็นนายกรัฐมนตรีแทนจอมพล ป.ที่อาจเกิดการสู้รบนองเลือดกันระหว่างจอมพลป.กับนายควงและอาจทำให้ญี่ปุ่นเข้าแทรกแซงจนเสียหายต่อชาติได้

วันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2487นายปรีดี พนมยงค์โดยความเห็นชอบจากรัฐสภาให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เพียงคนเดียว [17]นายควง อภัยวงศ์ จึงเป็นนายกรัฐมนตรีแทนจอมพลป.พิบูลสงคราม โดยนายปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้ลงนามในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เพียงคนเดียว

วันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2487พันตรีขุนนิรันดรชัยขอลาออกจากตำแหน่งเลขานุการในพระองค์ [12]ภายหลังจากจอมพลป.และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ทรงลาออกจากตำแหน่งประธานและคณะกรรมการผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

รวมระยะเวลาที่ จอมพล ป. อยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ระหว่างวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2481 ถึงวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2487 เป็นวลาถึง 5 ปี 228 วัน โดยในเวลานั้นขุนนิรันดรชัยอยู่ในฐานะเป็น“ราชเลขานุการในพระองค์”และกรรมการที่ปรึกษาจัดระเบียบทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

คำถามมีอยู่ว่าในสถานการณ์ดังกล่าวสายสัมพันธ์เป็นอย่างไร ระหว่างจอมพล ป. พิบูลสงครามนายกรัฐมนตรี,ขุนนิรันดรชัยราชเลขานุการในพระองค์และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภาประธานและคณะกรรมการผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ว่ามีความไว้วางใจ เอื้อผลประโยชน์หรืออำนาจกันมากน้อยเพียงใดหรือไม่?

คำตอบนี้สามารถหาได้จากเหตุการณ์คำให้การของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ต่อศาลอาชญากรสงคราม ในคดีที่จอมพล ป. พิบูลสงครามและคณะเป็นจำเลย หลังจากประเทศญี่ปุ่นแพ้สงครามโลก เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2488 ความตอนหนึ่งว่า

“ตอนที่จอมพล ป.ฯนำให้มีการลาออกหรือให้พ้นจากบรรดาศักดิ์กันนั้นขุนนิรันดรชัยได้มาทาบทามข้าพเจ้าว่า จะได้มีการตั้งบรรดาศักดิ์กันใหม่ เป็นสมเด็จเจ้าพระยาชายบ้าง สมเด็จเจ้าพระยาหญิงบ้าง และขุนนิรันดรชัยถูกแต่งตั้งให้เป็นกรรมการ

โดยผู้ที่มีสายสพายนพรัตน์จะได้เป็นสมเด็จเจ้าพระยาชาย ซึ่งมี จอมพล ป.ฯ คนเดียวที่ได้สายสพายนั้น เมื่อตั้งสมเด็จเจ้าพระยาชายแล้ว เมียของผู้นั้นก็ได้เป็นสมเด็จเจ้าพระยาหญิงตามไปด้วย

และในปีนั้นก็ได้มีการขอพระราชทานสายสพายกันมากมาย ส่วนพวกเมียของข้าราชการก็ได้ตรากันด้วย ซึ่งข้าพเจ้าเห็นว่าในประวัติศาสตร์ชาติไทย ไม่เคยมีการให้สายสพายผู้ชาย และให้ตราผู้หญิงกันมากมายถึงเช่นนี้ จนถึงกับข้าพเจ้าผู้คล้องสายสพายให้นั้นเป็นลมหน้ามืดไป

ข้าพเจ้ารู้สึกว่าจอมพล ป. นั้นกระทำการเพื่อจะเป็นพระเจ้าแผ่นดินเสียเอง และภรรยาจอมพล ป. ก็มีความมักใหญ่ใฝ่สูงทำนองเดียวกัน เช่น เอารูปไปฉายในโรงหนัง ให้คนทำความเคารพโดยมีการบังคับ

ในการทำบุญวันเกิดก็ทำเทียมพระชนม์พรรษาของพระเจ้าแผ่นดิน เช่น มีตราไก่กางปีกประดับธงทิว ทำนองเดียวกันตราครุฑ หรือตราพระบรมนามภิธัยย่อ และได้สร้างโทรนขึ้นทำนองเดียวกับเก้าอี้โทรนของพระเจ้าแผ่นดิน เว้นแต่ใช้ตราไก่กางปีกแทนครุฑเท่านั้น

นอกจากนี้ยังได้นำเครื่องพระสำอางค์ของพระเจ้าแผ่นดินและของสมเด็จพระราชินีไปใช้โดยไม่ได้รับอนุมัติจากข้าพเจ้า ซึ่งข้าพเจ้ายืนยันว่าขุนนิรันดรชัยนำเอาให้ใช้ ข้าพเจ้าเคยขอเปลี่ยนตัวขุนนิรันดรชัย แต่จอมพลไม่ยอม ที่ขอเปลี่ยนเพราะขุนนิรันดรชัยฯไม่เป็นผู้ที่ไว้วางใจ...

เมื่อตอนที่จอมพล ป.ฯ เป็นนายกรัฐมนตรีนั้น ได้มีการขอพระราชทานเงินกันหลายคราว ที่ขอเพื่อเป็นทุนเล่าเรียนของลูกก็ดี ขอให้เป็นทุนของคณะผู้ก่อการไปใช้จ่ายก็มี และขอเป็นส่วนตัวก็มี ในการที่ข้าพเจ้าสั่งพระราชทานนี้ ไม่ได้สั่งไปโดยเต็มใจ หากเป็นด้วยขุนนิรันดรฯ มาพูดเป็นทำนองข่มขู่บังคับกลายๆ”

[19]

หลังจาก“ขุนนิรันดรชัย”ได้ลาออกจากตำแหน่งราชเลขานุการในพระองค์แล้ว ก็ได้กลายเป็นนักธุรกิจเต็มตัว มีเงินลงทุนในกิจการที่ร่วมกับรัฐและเอกชนอีกมากมาย จนกลายเป็นมรดกอันมากมายมหาศาลของตระกูล“นิรันดร”ที่กำลังมีคดีความฟ้องร้องกันในวันนี้

ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์


27 พ.ย. 2563  ผู้จัดการออนไลน์
หัวข้อ: เอกสารอ้างอิง ภารกิจคณะราษฎรยังไม่เสร็จ !? (ตอนที่ 4)
เริ่มหัวข้อโดย: story ที่ 09 มกราคม 2021, 12:35:14
อ้างอิง
[1] Isranews, พลิกปูม‘ขุนนิรันดรชัย’คนสนิทจอมพล ป. เจ้าของที่ดินหมื่นล.ก่อนลูกหลานฟ้องแย่งมรดก, 12 พฤศจิกายน 2561
https://www.isranews.org/isranews-scoop/71075-isranews11-71075.html

[2] Isranews,ตั้งปี 60 ทุน 100ล.! เปิดตัว บ.31สาธร คดีลูกชาย ‘คณะราษฎร์’ ฟ้องแบ่งมรดกที่ดิน 4 หมื่นล., 10 พฤศจิกายน 2561 เวลา 09:00 น.
https://www.isranews.org/isranews-news/71014-news03_71014.html

[3]แนวหน้า, 4หมื่นล้าน! ลูกชาย‘คณะราษฎร์’ฟ้องพี่ชายต่างแม่ ขอแบ่งมรดกที่ดินกลางกรุง, สำนักข่าวอิศรา,วันศุกร์ ที่ 09 พฤศจิกายน 2561 เวลา 17:17 น.
https://www.isranews.org/isranews-other-news/71009-naew-71009.html

[4] ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์,ภารกิจคณะราษฎรยังไม่เสร็จ (ตอนที่ 3)ลีลาเจ้าคุณพหลฯ ตอบกระทู้กรณีทีมคณะราษฎรแห่ซื้อที่ดินของพระมหากษัตริย์ราคาถูกๆแฟนเพจ ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ และMGRonline, เผยแพร่: 20 พ.ย. 2563 17:46 น.
https://www.facebook.com/123613731031938/posts/3624175410975735/
https://mgronline.com/daily/detail/9630000119805

[5] ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์,ภารกิจคณะราษฎรยังไม่เสร็จ (ตอนที่ 2) กระทู้ประวัติศาสตร์ “ที่ดินของพระมหากษัตริย์” เพื่อประโยชน์ของใคร?,แฟนเพจ ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ และMGRonline, เผยแพร่: 13 พ.ย. 2563 17:10 น.
https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=3604434002949876&id=123613731031938&__tn__=%2As%2As-R
https://mgronline.com/daily/detail/9630000117339

[6] รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 12 กระทู้ถามเรื่อง ที่ดินของพระมหากษัตริย์ ของนายเลียง ไชยกาล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรถามนายกรัฐมนตรี วันที่ 27 กรกฎาคม 2480

[7] ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์,ภารกิจคณะราษฎรยังไม่เสร็จ !? คณะราษฎรคนไหน เคยเอาที่ดินทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ไปเป็นของส่วนตัวบ้าง? แฟนเพจ ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์, MGRonline, 6 พฤศจิกายน 2563
https://www.facebook.com/123613731031938/posts/3566001633459780/
https://mgronline.com/daily/detail/9630000112634

[8] บันทึกการอภิปรายทั่วไปเพื่อรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 9 ของสภาผู้แทนราษฎร ญัตติด่วน เรื่อง ญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปในนโยบายของรัฐบาลว่าด้วยการจัดการทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์, 27 กรกฎาคม 2480https://library2.parliament.go.th/giventake/content_debate/db2-09.pdf

[9] สำนักพระราชวัง,นะซีน, ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงพระศพ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ณ วัดเมรุวัดเทพศิรินทราวาส หน้า 14-15

[10] หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ, ผ่านเว็บไซต์Thaiproperty, เปิดกรุที่ดิน หมื่น ล.ตระกูล นิรันดร + ประกาศหาผู้ร่วมทุน ยันไม่ขาย/เตรียมเจรจากลุ่มอีวาแอร์ พัฒนาที่ดิน, 2 กุมภาพันธ์ 2551
https://www.thaiproperty.in.th/board/คลังกระทู้/เปิดกรุที่ดิน-หมื่นล-ตระกูล-นิรันดร-ประกาศหาผู้ร่วมทุน-ยันไม่ขายเตรียมเจรจากลุ่มอีวาแอร์-พัฒนาที-23492

[11] จอมพล ป. พิบูลสงคราม และ คุณหญิงละเอียด พิบูลสงคราม, เขียนเคารพไว้อาลัยแด่ พันตรี สเหวก นิรันดร, หนังสือปาฐกถาเรื่องจิตต์ เพื่อบรรณาการในงานพระราชทานเพลิงศพ พันตรี สเหวก นิรันดร ณ เมรุวัดพระศรีมหาธาตุ, วันที่ 22 พฤษภาคม 2499 แผ่นที่ 4

[12] ประวัติ พันตรี สเหวก นิรันดร, หนังสือปาฐกถาเรื่องจิตต์ เพื่อบรรณาการในงานพระราชทานเพลิงศพ พันตรี สเหวก นิรันดร ณ เมรุวัดพระศรีมหาธาตุ, วันที่ 22 พฤษภาคม 2499 หน้า (12)

[13] ราชกิจจานุเบกษากฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช 2467
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2467/A/195.PDF

[14] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศ สภาผู้แทนราษฎรรับทราบในการที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสละราชสมบัติและลงมติเห็นชอบในการอัญเชิญ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล ขึ้นทรงราชย์, เล่ม 51, ตอน 0ก, 7 มีนาคม พ.ศ. 2477, หน้า 1330
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2477/A/1330.PDF

[15] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศพิเศษ เรื่อง ตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์, เล่ม 51, ตอน 0ก, 7 มีนาคม พ.ศ. 2477, หน้า 1332
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2477/A/1332.PDF

[16] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศพิเศษ เรื่อง ตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์, เล่ม 51, ตอน 0ก, 7 มีนาคม พ.ศ. 2477, หน้า 1332
https://th.wikipedia.org/wiki/พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล_พระอัฐมรามาธิบดินทร

[17] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศตั้งซ่อมคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ นายปรีดี พนมยงค์ (หลวงประดิษฐ์มนูธรรม), เล่ม 58, ตอน 0ก, 16 ธันวาคม พ.ศ. 2484, หน้า 1821
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2484/A/1821.PDF

[18] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศประธานสภาผู้แทนราษฎร เรื่องตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ , เล่ม 61, ตอน 45ก, 1 สิงหาคม พ.ศ. 2487, หน้า 730
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2487/A/045/730.PDF

[19] คณะกรรมการดำเนินงานฉลอง 100 ปี ชาตกาล นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส, คำให้การต่อศาลอาชญากรสงคราม เอกสารประวัติศาสตร์,พิมพ์ครั้งแรก พฤศจิกายน 2545, พิมพ์ที่เจริญวิทย์การพิมพ์, เลขมาตฐานสากลประจำหนังสือ 974-7834-35-9 หน้า 122-124
หัวข้อ: ภารกิจคณะราษฎรยังไม่เสร็จ !? (ตอนที่ 5) กรณียิงตัวตายของประธานผู้สำเร็จราชการ
เริ่มหัวข้อโดย: story ที่ 10 มกราคม 2021, 12:33:26
ภารกิจคณะราษฎรยังไม่เสร็จ !? (ตอนที่ 5) กรณียิงตัวตายของประธานผู้สำเร็จราชการ กับเบื้องหลังคดีฟ้องยึดทรัพย์ในหลวงรัชกาลที่ 7 / ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

ภายหลังจากการที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7ทรงสละราชสมบัติเมื่อวันที่ 2มีนาคมพ.ศ. 2478แล้วก็ได้มีพระราชหัตถเลขาในวันที่ 7มีนาคมพ.ศ. 2478ความว่า

“ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจ อันเป็นของข้าพเจ้าอยู่เดิมให้แก่ราษฎรทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใดคณะใด โดยเฉพาะเพื่อใช้อำนาจโดยสิทธิขาดและโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร์

บัดนี้ข้าพเจ้ามีความเห็นว่า ความประสงค์ของข้าพเจ้าที่จะให้ราษฎรมีสิทธิออกเสียงในนโยบายของประเทศโดยแท้จริง ไม่เป็นผลสำเร็จ และเมื่อข้าพเจ้ารู้สึกว่าบัดนี้เป็นอันหมดหนทางที่ข้าพเจ้าจะช่วยเหลือหรือให้ความคุ้มครองแก่ประชาชนได้ต่อไปแล้ว ข้าพเจ้าจึงขอสละราชสมบัติ และออกจากตำแหน่งพระมหากษัตริย์แต่บัดนี้เป็นต้นไป ข้าพเจ้าขอสละสิทธิของข้าพเจ้าทั้งปวง ซึ่งเป็นของข้าพเจ้าอยู่ในฐานะที่เป็นพระมหากษัตริย์แต่ข้าพเจ้าสงวนไว้ซึ่งสิทธิทั้งปวงอันเป็นของข้าพเจ้าแต่เดิมก่อนที่ข้าพเจ้าได้รับราชสมบัติสืบไป” [1]

ภายหลังจากการที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 สละราชสมบัติแล้ว รัฐบาลภายใต้การนำของคณะราษฎร ก็ได้แต่งตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอานันทมหิดล ที่ได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรภายใต้การนำของคณะราษฎร ได้ตราพระราชบัญญัติว่าด้วยการยกเว้นภาษีอากร อันเกี่ยวแก่ทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2477 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อ วันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2478 [2]

โดย พระราชบัญญัติว่าด้วยการยกเว้นภาษีอากร อันเกี่ยวแก่ทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2477 ซึ่งบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2478 นี้มีความพยายามที่จะต้องการแบ่งแยกทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ให้แยกออกจากทรัพย์สินส่วนพระองค์เป็นครั้งแรก

การให้ทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ได้รับการยกเว้นการจัดเก็บภาษีในเวลานั้นยังไม่มีความชัดเจนถึงวิธีการบริหารจัดการทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ว่าจะดำเนินการอย่างไรและด้วยอำนาจของใครซึ่งก็คือกฎหมายอีกหนึ่งฉบับที่กำลังจะตามมา และได้ใช้เป็นกฎหมายที่จะฟ้องร้องยึดทรัพย์ของ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ให้กลับคืนมา

ต่อมาวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2478ขุนนิรันดรชัยได้ข้ามฟากจากเลขาธิการนายกรัฐมนตรีมาเป็นผู้ช่วยเลขานุการในพระองค์

หลังจากไม่นานเพียงแค่ 11 วัน นับแต่วันที่ขุนนิรันดรชัยมาเป็นผู้ช่วยเลขานุการในพระองค์ ปรากฏว่า ในวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2478กรมหมื่นอนุวัฒน์จาตุรนต์ ซึ่งเป็นประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ปลงพระชนม์พระองค์เองด้วยการยิงพระแสงปืนเข้าไปในพระโอษฐ์ สิ้นพระชนม์บนที่บรรทม [3]

กรมหมื่นอนุวัฒน์จาตุรนต์
กรมหมื่นอนุวัฒน์จาตุรนต์

โดยกรมตำรวจในยุคนั้น ได้บันทึกรายงานการไต่สวนว่าสาเหตุมาจากทรงประสบกับเหตุลำบากพระทัยในการปฏิบัติงานในฐานที่ทรงเป็นผู้จัดการพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ของพระปกเกล้าฯ [4]

หลังจากนั้นสภาผู้แทนราษฎรก็ได้เห็นชอบให้พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา เป็นประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทน [5] ซึ่งเป็นผู้ที่เคยได้รับคำชมจากพระยาพหลพลพยุหเสนา เมื่อครั้งพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม ได้ให้ความร่วมมือกับคณะราษฎรเป็นอย่างดีหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475

หลังจากนั้น พระราชบัญญัติ จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2479 ซึ่งมีผลบังคับใช้ในวันที่ลงในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2480 โดยกฎหมายดังกล่าวเตรียมโอนย้ายทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ สำนักพระคลังข้างที่ โอนมาที่สำนักงานทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ โดยให้กระทรวงการคลังดูแล

โดยมาตรา 5แห่งพระราชบัญญัติ จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2479กำหนดให้มีกรรมการที่ปรึกษาโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธานและกรรมการอีก 4คนโดยพระบรมราชานุมัติ (ในเวลาตอนนั้นเป็นอำนาจของคณะผู้สำเร็จราชการ)

แต่ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์กำหนดเอาไว้ในมาตรา 7 พระราชบัญญัติ จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2479 ว่าการโอนย้ายและจำหน่ายได้โดยพระบรมราชานุมัติ (ในเวลาตอนนั้นเป็นอำนาจของคณะผู้สำเร็จราชการ)เพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือเพื่อประโยชน์แก่ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์[6]

โดยก่อนประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ร่วมกับรัฐบาล“ชิงตัดหน้า” แบ่งขายที่ดินพระคลังข้างที่จำนวนมากให้กับรัฐมนตรี,สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2,ข้าราชการในพระองค์,ข้าราชการในคณะผู้สำเร็จราชการ,ข้าราชการในสำนักพระราชวัง,คณะกรรมการกำหนดราคาที่ดินพระคลังข้างที่,และเครือข่ายของผู้ก่อการในคณะราษฎรซึ่งแห่งเข้าไปซื้อที่ดินแบบผ่อนจ่ายในราคาถูกๆ จำนวนมาก

หลังจากที่นักการเมืองและข้าราชการได้ซื้อที่ดินพระคลังข้างที่กันในราคาถูกๆแล้ว วันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2481 นายร้อยเอกขุนนิรันดรชัย ได้เลื่อนตำแหน่งเป็น“ราชเลขานุการในพระองค์” และในวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2481นายร้อยเอกสเหวก นิรันดร ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรยศทหาร เป็นนายพันตรี [7]

เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2481พันตรีขุนนิรันดรชัยเป็นกรรมการที่ปรึกษาจัดระเบียบทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ [7] จึงมีส่วนในการตัดสินใจในเรื่องพระมหากษัตริย์ตามกฎหมายมากขึ้นกว่าเดิม

ขุนนิรันดรชัย
ขุนนิรันดรชัย

วันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2481จอมพล ป.พิบูลสงครามขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทนพระยาพหลพลพยุหเสนาที่ได้ลาออกไป ขุนนิรันดรชัยจึงได้ทำงานกับ จอมพล ป.พิบูลสงครามอย่างเต็มที่ยิ่งกว่าเดิม

โดยภายหลังจากการที่ ได้มีการตราพระราชบัญญัติ จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2479เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2480 แล้ว รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม จึงใช้กฎหมายฉบับดังกล่าวนี้ฟ้องร้อง“เอาผิดย้อนหลัง” การโอนเงินจากพระคลังข้างที่ไปใช้ในช่วงปี “พ.ศ. 2475 - 2477” ซึ่งเป็นช่วงเวลา “ก่อน” ที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 จะสละราชสมบัติวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2478 และก่อนที่พระราชบัญญัติ จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2479 จะบังคับใช้ในปี พ.ศ. 2480 ด้วย

ทั้งนี้รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม โดยกระทรวงการคลังเป็นโจทก์ ได้ยื่นฟ้องสมเด็จพระปกเกล้าฯ เป็นจำเลยที่ 1 และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ เป็นจำเลยที่ 2 ต่อศาลแพ่งลงวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2482 และยื่นคำร้องขอแก้คำฟ้องในวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2482 สรุปว่า

โดยในระหว่างที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ จำเลยที่ 1 ได้เสวยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์ และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นพระชายาทรงเป็นพระบรมราชินี พระองค์ได้โอนทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ไปเป็นพระนามของพระองค์เองโดยไม่มีพระราชอำนาจที่จะทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย และโดยไม่มีผู้ลงนามรับสนองพระราชโองการ ตามพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินไทยชั่วคราว พุทธศักราช 2475 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

ซึ่งทรัพย์สินต่างๆที่รัฐบาลฟ้องเรียกคืนพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ทรัพย์สินที่มีการโอนเงินจากกรมพระคลังข้างที่มาถือไว้ในนามพระองค์จำนวน 10 รายการ ระหว่างวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ.​2475 ถึงวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2477

จอมพล ป.พิบูลสงคราม
จอมพล ป.พิบูลสงคราม

ในการที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ได้มีคำสั่งให้บริษัทจ่ายเงินที่พระองค์ควรได้รับตามสัญญาเข้าไปในบัญชีเงินฝากของจำเลย ณ ธนาคารในกรุงลอนดอนและกรุงนิวยอร์ค เป็นการกระทำให้เกิดผลโอนทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์มาเป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์โดยไม่มีอำนาจอันชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ โอนและจ่ายไปเป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์ดังกล่าวทั้งหมดรวมแล้วเป็นเงิน 4,195,895 บาท 89 สตางค์

ซึ่งรัฐบาลเรียกให้พระองค์ต้องคืน หรือใช้ให้แก่รัฐบาล ซึ่งมีหน้าที่ดูแลรักษาทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ ตามพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2479 และจะต้องเสียดอกเบี้ยให้แก่รัฐบาลอีกร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่โอนและจ่ายจนถึงวันฟ้อง เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 2,025,351 บาท 70 สตางค์ และให้เสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินกับดอกเบี้ยที่ค้างถึงวันฟ้อง ตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จรวมเป็นเงินทั้งสิ้นถึงวันพิพากษาเป็นเงิน 6,272,712 บาท 92 สตางค์[8]

คดีดังกล่าวนี้นอกจากจะเป็นการนำ “กฎหมายที่ออกมาภายหลัง” มาลงโทษย้อนหลังกับจำเลยแล้ว ยังต้องถูกตั้งคำถามเทียบเคียงถึงกรณีที่ผู้คนในรัฐบาลและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 ภายใต้อิทธิพลของคณะราษฎรตลอดจนคนแวดล้อมประธานคณะผู้สำเร็จราชการ และข้าราชการในสำนักพระราชวัง ชิงตัดหน้าเพื่อซื้อที่ดินพระคลังข้างที่ ด้วยการขัดกันแห่งผลประโยชน์ในราคาถูกๆเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวว่าควรจะดำเนินการอย่างไร

เพราะการซื้อที่ดินพระคลังข้างที่ในราคาถูกๆของพวกพ้องในคณะราษฎร ก่อนพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2479 ซึ่งประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเพื่อบังคับใช้เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2480 เป็นการโอนย้ายหรือจำหน่ายเพื่อประโยชน์ผลส่วนตัวโดยปราศจากประโยชน์สาธารณะ หรือเพื่อประโยชน์แก่ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์นั้น สมควรที่จะถูกยึดทรัพย์ ด้วยเพราะเป็นการกระทำผิดกฎหมายด้วยหรือไม่

ส่วนอีกประเด็นหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง และเป็นจุดเปลี่ยนของคดีนี้เช่นกัน คือการยื่นคำร้องของฝ่ายรัฐบาลให้อายัดและยึดทรัพย์ฝ่ายจำเลยทั้งหมดก่อนมีคำพิพากษา โดยเฉพาะการยึดทรัพย์วังศุโขทัยซึ่งเป็นพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ก่อนขึ้นครองราชย์ด้วย

โดยคดีนี้“ฝ่ายการเมือง” ได้การแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม โดยหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในเวลานั้น ได้เปลี่ยนตัวโยกย้ายพระสุทธิอรรถนฤมนตร์ (สุทธิ เลขยานนท์)“อธิบดีศาลแพ่ง”ไปเป็นผู้พิพากษาศาลฎีกาเพื่อให้พ้นคดี หลังจากนั้นจึงตามมาด้วยการปลดออกจากราชการด้วย

โดยในเวลานั้นพระสุทธิอรรถนฤมนตร์ (สุทธิ เลขยานนท์)อธิบดีศาลแพ่งไม่เห็นชอบให้อายัดและยึดทรัพย์ฝ่ายจำเลยทั้งหมดก่อนคำพิพากษาโดยที่ฝ่ายรัฐบาลยื่นคำร้องถึง 2ครั้ง

ปรากฏหลักฐานในงานพระราชทานเพลิงศพของ“พระสุทธิอรรถนฤมนต์ (สุทธิ เลขยานนท์)”เมื่อวันที่ 18มีนาคมพ.ศ. 2521ได้มีการเผยแพร่หนังสือเบื้องหลังเหตุการณ์ดังกล่าวเอาไว้ใน“บันทึกเรื่องการถูกให้ออกจากราชการและกลับเข้ารับราชการใหม่”ความบางตอนว่า

“...แต่ก่อนจะพิจารณาเนื้อหาของคดีท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมได้มีหนังสือที่ 3068/2482 ลงวันที่ 26 สิงหาคม 2482 ถึงอธิบดีศาลฎีกาว่า ได้ให้ข้าพเจ้านำหนังสือนี้มาเพื่อให้ข้าพเจ้ามาช่วยราชการในตำแหน่งผู้พิพากษาศาลฎีกาชั่วคราว ข้าพเจ้าได้นำหนังสือนี้ไปรายงานตัวต่ออธิบดีศาลฎีกา ท่านก็จัดให้ข้าพเจ้าเข้ารับราชการในศาลฎีกา เป็นอันว่าข้าพเจ้าเป็นอธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่งตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2481ถึงวันที่ 25 สิงหาคม 2482 รวมเป็นเวลาเพียง 5 เดือนกับ 25 วัน ซึ่งนับว่าสั้นมาก

..ที่ว่ามีความเสียใจก็ด้วยเหตุว่าการย้ายข้าพเจ้าครั้งนี้ไม่เป็นไปโดยลักษณะหรือเหตุผลอันควร เป็นการเสียหลักอย่างมากในทางศาล เป็นความเสียใจอย่างมาก...

...จนถึงวันที่ 3 มกราคม 2484 ปลัดกระทรวงยุติธรรมจึงมีหนังสือที่ 2/2484 ถึงประธานศาลฎีกาว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมได้พิจารณาเห็นสมควรให้ข้าพเจ้าออกจากราชการ เพื่อรับบำเหน็จบำนาญฐานรับราชการนาน และให้ข้าพเจ้าออกจากราชการตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2484 เป็นต้นไป...

...ด้วยมารยาทเมื่อข้าพเจ้าจะต้องออกจากงานในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ฉะนั้นในวันสิ้นเดือนมกราคม ข้าพเจ้าได้ไปหาท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเพื่อลา...ลงท้ายท่านรัฐมนตรีก็กล่าวออกมาตรงๆว่า ข้าพเจ้าไม่ได้ทำผิดแต่ต้องออกจากราชการเพราะการเมือง”[9]

ภายหลังจากการที่ศาลอุทธรณ์ให้อายัดและยึดทรัพย์แล้วได้มีผลกระทบต่อความสามารถในการต่อสู้คดีของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯอย่างมาก เพราะไม่มีเงินที่จะไปสู้คดีต่อไปได้และต้องพ่ายแพ้ไปในที่สุด ดังความปรากฏในบันทึกของ“คุณหญิงมณี สิริวรสาร”จดบันทึกเอาไว้เมื่อครั้งเป็นพระสุณิสา (ลูกสะใภ้)พระราชโอรสบุญธรรมของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7ในขณะพำนักอยู่ที่ประเทศอังกฤษความตอนหนึ่งว่า

“คดีที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีทรงถูกฟ้องจากรัฐบาลไทยว่าขณะที่ทรงดำรงพระฐานะเป็นพระมหากษัตริย์ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของประเทศได้ทรงนำเงินจากพระคลังข้างที่ไปใช้จ่ายในการเสด็จฯ ต่างประเทศเพื่อเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศต่างๆและเพื่อรักษาพระเนตร

กรมพระคลังข้างที่นั้นเดิมเป็นสำนักงานจัดการผลประโยชน์ทั้งที่เป็นทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์และทรัพย์สินส่วนพระองค์ของพระมหากษัตริย์รวมทั้งทรัพย์สินขอพระมหากษัตริย์ของเจ้านายในพระบรมราชวงศ์ด้วยพระคลังข้างที่เพิ่งจะมาแยกออกเป็นสำนักงานทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์และสำนักงานพระคลังข้างที่เมื่อปีพ.ศ. 2477ซึ่งเป็นเวลาภายหลังจากการเสด็จฯต่างประเทศของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯเมื่อเดือนมกราคมพ.ศ. 2476

การฟ้องร้องพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯนั้นทุกคนทราบดีว่ามีการเมืองเป็นต้นเหตุคือรัฐบาลต้องการกลั่นแกล้งและให้ผู้ที่ไม่ทราบเรื่องราวเกลียดชังเจ้านายและระบอบกษัตริย์เพราะทุกคนที่มีความเกี่ยวข้องและกฎหมายย่อมทราบดีว่าพระมหากษัตริย์ย่อมจะทรงให้เงินจากกรมพระคลังข้างที่ได้เพราะทรงมีสิทธิและอำนาจที่จะใช้จ่ายในกรณีใดๆก็ได้หรือจะพระราชทานเงินแก่ผู้ใดก็ได้...

...เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยึดทรัพย์ของจำเลยจนหมดสิ้นแล้วฝ่ายจำเลยก็หมดกำลังทรัพย์ทางกรุงเทพฯที่จะต่อสู้คดีอีกต่อไป...” [10]

นอกจากนั้น“คุณหญิงมณี สิริวรสาร”ยังได้บันทึกคำตรัสสำคัญของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ในช่วงฤดูใบไม้ผลิของปี พ.ศ. 2484 ความว่า

“อย่าหาว่าฉันเห็นแก่ตัวเลยนะแต่ถ้าหากฉันตายไปแล้วเล็กกับมณีกลับไปอยู่เมืองไทยเมื่อไหร่ฉันขอร้องขออย่าให้เล็กไปรับราชการหรือไปเกี่ยวข้องกับรัฐบาลไทยแต่อย่างใดตราบเท่าที่หลวงพิบูลสงครามยังเป็นใหญ่อยู่เพราะฉันถือว่าเขาเป็นผู้อยุติธรรมที่สุดทั้งเป็นศัตรูของฉันด้วย...” [11]

นอกจากนี้ยังเคยมีรับสั่งเรื่องที่น่าสะเทือนใจเพราะทรงยังมีความหวังในยามที่สถานการณ์ที่อยุติธรรมเช่นนี้ ในบันทึกข้อความว่า

“ในขณะนี้มีคนไทยประณามด่าว่ากล่าวให้ร้ายป้ายสีฉันทุกสิ่งทุกอย่างแต่สักวันหนึ่งในอนาคตประวัติศาสตร์ของประเทศไทยจะจารึกไว่ว่าฉันเป็นนักประชาธิปไตยฉันรักและหวังดีต่อประเทศไทยสักเพียงใด” [12]

ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

อ้างอิง
[1] สำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสละราชสมบัติ, จัดพิมพ์เนื่องในวโรกาสครบรอบ 100 ปี วันพระราชสมภพพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว, 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2536 ISBN-974-8053-70-9 หน้า 141
https://dl.parliament.go.th/bitstream/handle/lirt/463199/2536_ร7_สละราชสมบัติ_สผ.pdf?sequence=1

[2] ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติว่าด้วยการยกเว้นภาษีอากร อันเกี่ยวแก่ทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2477, เล่ม 52, 21 เมษายน พ.ศ. 2478, หน้า 79
https://dl.parliament.go.th/bitstream/handle/lirt/14869/SOP-DIP_P_401112_0001.pdf?sequence=1

[3] หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิสกุล, สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น (รวมเล่ม). พิมพ์ครั้งที่ 4, กรุงเทพฯ : มติชน, 2559. ISBN 978-974-02-1263-8 หน้า 188-189

[4] นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475. พิมพ์ครั้งที่ 5, กรุงเทพฯ : ฟ้าเดียวกัน, 2553. 544 หน้า. ISBN 978-616-90238-5-2 หน้า 70-71

[5] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศตั้งซ่อมคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และประกาศตั้งประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ใหม่, เล่ม 52 หน้า 1260
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2478/A/1260.PDF

[6] ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติ จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2479, เล่ม 54, ตอน 45ก, 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2480, หน้า 778
https://dl.parliament.go.th/bitstream/handle/lirt/17086/SOP-DIP_P_401313_0001.pdf?sequence=1

[7] ประวัติ พันตรี สเหวก นิรันดร, หนังสือปาฐกถาเรื่องจิตต์ เพื่อบรรณาการในงานพระราชทานเพลิงศพ พันตรี สเหวก นิรันดร ณ เมรุวัดพระศรีมหาธาตุ, วันที่ 22 พฤษภาคม 2499 หน้า (12)

[8] คำพิพากษาศาลแพ่ง คดีหมายเลขดำที่ 242/2482 คดีหมายเลขแดงที่ 404/2482

[9] พระสุทธิอรรถนฤมนตร์ (สุทธิ เลขยานนท์) “บันทึกเรื่องการถูกให้ออกจากราชการและกลับเข้ามาใหม่”, ในหนังสือ “เที่ยวเมืองพระร่วง” พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พระสุทธิอรรถนฤมนตร์ พิมพ์ครั้งที่ 10, 1,000 เล่ม, พ.ศ. 2521 (โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ), เลขหมู่หนังสือ 915.9365 หน้า 61-65

[10] คุณหญิงมณี สิริวรสาร, ชีวิตนี้เหมือนฝัน ฉบับสมบูรณ์ เล่ม 1 และ เล่ม 2/ นรุตม์ เรียบเรียง, พิมพ์ครั้งที่ 2-กรุงเทพฯ, อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง,/2558 ISBN 978-616-18-0915-7 หน้า 306-307

[11] เรื่องเดียวกัน, หน้า 328

[12] เรื่องเดียวกัน, หน้า 335

4 ธ.ค. 2563  ผู้จัดการออนไลน์
หัวข้อ: ภารกิจคณะราษฎรยังไม่เสร็จ !? (ตอนที่ 6) เปิดบันทึกความทรงจำ
เริ่มหัวข้อโดย: story ที่ 10 มกราคม 2021, 12:35:57
ภารกิจคณะราษฎรยังไม่เสร็จ !? (ตอนที่ 6) เปิดบันทึกความทรงจำ “ก่อน”ประธานผู้สำเร็จราชการจะยิงตัวตาย / ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

ณ บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

สองเหตุการณ์ในเรื่องพระคลังข้างที่ซึ่งคล้ายคลึงกัน แต่กลับมีการปฏิบัติตรงกันข้ามกันอย่างสิ้นเชิง และเป็นเหตุการณ์ก่อนที่จะมีการประกาศใช้บังคับ พระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2479 เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2480 กล่าวคือ...

กรณีเงินพระคลังข้างที่ซึ่งเป็นสมบัติตกทอดมาจากบูรพกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี สมเด็จพระปกเกล้าฯ และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี กลับถูกรัฐบาลจอมพล ป.ฟ้องร้องเป็นคดีความเพื่อยึดทรัพย์ ทั้งๆที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7ได้ทรงใช้เงินพระคลังข้างที่ในขณะที่ทรงยังดำรงตำแหน่งพระมหากษัตริย์โดยรัฐบาลฟ้องร้องว่าพระมหากษัตริย์ไม่มีอำนาจจะทำเช่นนั้นได้อีกทั้งรัฐบาลยังได้มีการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมโยกย้ายอธิบดีศาลแพ่งเพื่ออายัดทรัพย์ก่อนมีคำพิพากษาอีกด้วย

ตรงกันข้ามกับกรณีการรุมแย่งซื้อหรือเช่าที่ดินของพระคลังข้างที่ในราคาถูกๆให้เป็นสมบัติหรือสิทธิส่วนตัวของพวกพ้องของคนในรัฐบาล เมื่อถูกตั้งกระทู้ถามและอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2480 แล้วพระยาพหลพลพยุหเสนานายกรัฐมนตรีกลับชี้แจงได้เพียงอย่างเดียวว่าเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมายเพราะเป็นเรื่องของ“พระกรุณาฯ”ของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลรัชกาลที่ 8ที่รัฐบาลจะก้าวล่วงมิได้ทั้งๆที่เดิมที่ดินในทรัพย์สินพระคลังข้างที่เหล่านี้ไม่ใช่ของพวกตัวเองเลย

องค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญของสองเหตุการณ์ข้างต้นคือบทบาทของ“คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์”ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันท์มหิดล รัชกาลที่ 8 ที่ทรงเป็นยุวกษัตริย์ ยังไม่ได้บรรลุนิติภาวะ และประทับอยู่ต่างประเทศนั้น จะต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรเสียก่อน และสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 ก็มาจากการคัดเลือกของคณะราษฎรกันเองทั้งสิ้น

โดยในช่วงระหว่างการแสวงหาประโยชน์ต่อเงินและที่ดินพระคลังข้างที่ในยุคของคณะผู้สำเร็จราชการที่ว่านั้น ปรากฏว่ารายชื่อคณะผู้สำเร็จราชการในรัชกาลที่ 8 ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรนั้น ไม่ตรงกับคำแนะนำของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ที่มีมาก่อนหน้านี้เลย

โดยหลักฐานปรากฏเป็นคำแนะนำครั้งแรกในบันทึกลับของเจ้าพระยามหิธร (ลออ ไกรฤกษ์)ราชเลขาธิการในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อวันที่ 30มิถุนายนพ.ศ. 2475ความว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้าฯให้พระยามโนปกรณ์ฯ,พระยาศรีวิสารฯ,พระยาปรีชาชลยุทธ,พระยาพหลฯ,กับหลวงประดิษฐ์มนูธรรมมาเฝ้าที่วังศุโขทัย

ในบันทึกดังกล่าวได้ระบุถึง พระราชดำรัสความตอนหนึ่ง เกี่ยวกับการประกาศของคณะราษฎรฉบับแรกที่เป็นการเขียนประวัติศาสตร์โจมตีเหยียบย่ำพระองค์ท่าน พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงรู้สึกว่าจะไม่รับเป็นกษัตริย์ต่อไปในภายภาคหน้า

อย่างไรก็ตามคณะราษฎรได้มีความพยายามคัดค้านมิให้พระองค์สละราชสมบัติ อีกทั้งคณะราษฎรยังสัญญาว่าจะไม่มีการริบทรัพย์ของพระองค์ หรือ ถอดฐานนันดรศักดิ์ของพระบรมวงศานุวงศ์ เพราะมิเช่นนั้นจะทรงสละราชสมบัติก่อน [1]

ในการนี้พระยาพหลพลพยุหเสนาและหลวงประดิษฐ์มนูธรรมได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานอภัยโทษที่ได้กระทำล่วงเกินเมื่อวันที่ 24มิถุนายน 2475โดยมีการกระทำเป็นพิธีโดยนำดอกไม้ธูปเทียนทูลเกล้าฯถวายตามประเพณีด้วยซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดพระราชทานอภัยโทษให้ [2]

ข้อความในบันทึกลับของเจ้าพระยามหิธรได้ระบุถึงพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7โดยความตอนหนึ่งทรงแนะนำสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทรพระราชโอรสองค์ที่ 58ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนาพระบรมราชเทวีทรงเลี้ยงดูให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในกรณีที่พระราชโอรสสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงสงขลานครินทร์จะเสด็จขึ้นครองราชย์แทนความตอนหนึ่งในบันทึกว่า

“อยากจะแนะนำเรื่องสืบสันตติวงศ์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าและพระพุทธเจ้าหลวงได้เคยทรงพระราชดำริจะออกจากราชสมบัติเมื่อทรงพระชราเช่นเดียวกันในส่วนพระองค์พระเนตรก็ไม่ปกติคงทนงานไปไม่ได้นานเมื่อการณ์ปกติแล้วจึงอยากจะลาออกเสียทรงมีพระราชดำริเห็นว่าพระราชโอรสสมเด็จเจ้าฟ้าขุนเพชรบูรณ์ก็ถูกข้ามมาแล้วผู้ที่จะสืบสันตติวงศ์ต่อไปก็ควรจะเป็นโอรสสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงสงขลานครินทร์ตั้งขุนชัยนาทฯ เป็น Regent ก็สมควรจะให้เป็นการล้างเก่าตั้งต้นใหม่เพราะองค์ทรงเป็นกษัตริย์นานไปก็จะไม่มีผู้นับถือหรือคณะราษฎรจะเห็นควรกล่าวแก้ไขประกาศนั้นเสียเพียงใดหรือไม่ก็สุดแล้วแต่จะเห็นควร”[1]

ส่วนคำแนะนำอีกครั้งหนึ่ง เกิดขึ้นในขณะที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7มีความขัดแย้งกับรัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรอย่างหนักโดยพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรีได้รับหนังสือจากพระยาราชวังสันอัครราชทูตสยามณกรุงปารีสเมื่อวันที่ 26กันยายนพ.ศ. 2477ซึ่งได้แนบพระราชบันทึกฉบับที่ 2ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวความตอนหนึ่งได้ทรงระบุถึงแนวทางในการสละราชสมบัติว่าจะมีทางเลือกใดได้บ้าง

โดยในทางเลือกพระองค์เจ้าอานันทมหิดลนั้นได้ทรงพระราชทานความเห็นในเรื่องผู้สำเร็จราชการเอาไว้ด้วยคือพลเอกสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 อยู่แล้ว หรือไม่ก็สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ นรินทรเทพยกุมารี กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร ซึ่งทรงเป็นพระปิตุจฉา(ป้า)ของพระองค์เจ้าอานันทมหิดลในเวลานั้น ความว่า

“พระองค์เจ้าอานันทมหิดลซึ่งอ้างได้ว่าให้เป็นไปตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบสันตติวงศ์ทางนี้มีผลดีอยู่มากคือเป็นทางที่ตรงตาม legalityแต่เสียที่ยังเป็นเด็กแม้การเป็นเด็กนั้นเองก็อาจจะเป็นของดีเพราะถ้ามีการอะไรผิดพลาดไปก็ไม่กระทบกระเทือนถึงองค์พระมหากษัตริย์ไม่มีใครซัดทอดไปถึงซึ่งจะเป็นของดีมาก

ข้อสำคัญอยู่ที่การเลือกผู้สำเร็จราชการซึ่งฉันเห็นว่าถ้าเจ้าฟ้าพระนริศหรือทูลกระหม่อมหญิงวลัยองค์ใดองค์หนึ่งทรงดำรงตำแหน่งนี้แล้วจะเป็นที่เคารพนับถือแก่คนทั่วไปและไม่น่าจะเป็นศูนย์กลางแห่งการแตกร้าวกันระหว่างคณะการเมืองต่างๆด้วย” [3]

วันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2478สภาผู้แทนราษฎรได้อาศัยอำนาจตามความมาตรา 10แห่งรัฐธรรมนูญลงมติตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไม่ตรงกับคำแนะนำของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ก่อนหน้านั้นเลย ประกอบด้วย

“นายพันเอกพระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหมื่นอนุวัตน์จาตุรนต์เป็นประธาน,นายนาวาตรีพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภาร.น.,เจ้าพระยายมราช (ปั้นสุขุม)โดยมีข้อตกลงว่าในการลงมติวินิจฉัยข้อปรึกษานั้นให้ถือเอาเสียงข้างมากเป็นประมาณและในการลงนามในเอกสารราชการนั้นให้ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์อย่างน้อย 2ท่านเป็นผู้ลงนาม”[4]

ทั้งนี้นายปรีดี พนมยงค์ได้เคยเขียนบันทึกเอาไว้ในหนังสือ“บางเรื่องเกี่ยวกับพระบรมวงศานุวงศ์ ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2” สรุปความสัมพันธ์ของคณะผู้สำเร็จราชการกับผู้นำในฝ่ายรัฐบาลว่า

พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนานายกรัฐมนตรีมีความคุ้นเคยกันกับ กรมหมื่นอนุวัตน์จาตุรนต์เพราะเคยรับราชการเป็นราชองครักษ์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯมาด้วยกัน [5]

ในขณะที่พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภานั้นพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี เห็นว่าพระองค์ร่วมมือกับรัฐบาลเป็นอย่างดี[6]

ส่วน เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม)นั้นเคยเป็นข้าราชการอาวุโสสูงสุดมาจนถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้วกราบบังคมทูลลาออกจากตำแหน่ง เดิมพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนาต้องการให้นายปรีดี พนมยงค์เป็นผู้ทาบทามแต่นายปรีดี พนมยงค์ได้ขอให้พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นผู้ทาบทามแทนเพราะเกรงว่าจะมีคนครหาเพราะเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม)นี้ เป็นญาติผู้ใหญ่ของนายปรีดี พนมยงค์เอง [7]

นอกจากนี้ตามบันทึกของหม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิสกุล เป็นพระธิดาในสมเด็จพระบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ระบุข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม)ด้วยว่า

เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ได้เล่าให้หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิสกุลฟังถึงการรับตำแหน่งเป็นหนึ่งในคณะผู้สำเร็จราชการว่า“จำเป็นต้องรับเพราะท่านมีหนี้สินพ้นกำลังเพราะลงทุนหากินกับลูกๆจนไม่มีทางจะใช้ได้นอกจากจะถูกริบทรัพย์ของหลวงจนหมดตัว”[8]

จากข้อมูลข้างต้นจึงเป็นที่น่าตั้งคำถามว่าพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา สนับสนุนฝ่ายรัฐบาลตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 จนได้รับหนังสือคำชมเชยจากพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา[9]-[10]ในขณะที่เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ด้วยฐานะทางเศรษฐกิจ ก็ไม่มีอำนาจต่อรองกับรัฐบาลมากนัก ดังนั้นสถานภาพเสียงสองในสามของคณะผู้สำเร็จราชการจึงย่อมมีความโน้มเอียงไปในแนวทางความต้องการของรัฐบาลอยู่แล้ว จริงหรือไม่?

ต่อมาวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2478 พระราชบัญญัติว่าด้วยการยกเว้นภาษีอากร อันเกี่ยวแก่ทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2477 มีผลบังคับใช้ และเป็นสัญญาณเร่ิมต้นของความพยายามจะแบ่งแยกทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์กับทรัพย์สินส่วนพระองค์เป็นครั้งแรกและกลายเป็นจุดเริ่มต้นก่อนที่คนในรัฐบาลและคณะราษฎรจะวางแผนรุมแย่งซื้อที่ดินพระคลังข้างที่ในราคาถูกๆ และก่อนที่จะมีการวางแผนฟ้องร้องเพื่อยึดทรัพย์สมเด็จพระปกเกล้าฯ และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ตามมา

วันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2478ขุนนิรันดรชัย ได้ข้ามฟากจากเลขาธิการนายกรัฐมนตรี มาเป็น ผู้ช่วยเลขานุการในพระองค์ [11] โดยที่ขุนนิรันดรชัยนั้นเป็นผู้รับใช้ใกล้ชิดจอมพลป.[12]ซึ่งกลายเป็นบุคคลสำคัญในการเชื่อมโยงและประสานกิจการในราชสำนัก โดยเฉพาะทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์กับคนในฝ่ายรัฐบาล

หลังจากไม่นานเพียงแค่ 11 วัน นับแต่วันที่ขุนนิรันดรชัยมาเป็นผู้ช่วยเลขานุการในพระองค์ ปรากฏว่า ในวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2478กรมหมื่นอนุวัตน์จาตุรนต์ ซึ่งเป็นประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ปลงพระชนม์พระองค์เองด้วยการยิงพระแสงปืนเข้าไปในพระโอษฐ์ สิ้นพระชนม์บนที่บรรทม[13]

ซึ่งเป็นที่น่าสนใจอย่างยิ่งว่าเหตุใดและแรงกดดันเพียงใดที่จะทำให้ผู้ที่ดำรงตำแหน่งเป็นถึง“ประธานคณะผู้สำเร็จราชการ”แทนพระมหากษัตริย์ถึงขั้นจะต้องปลงพระชนม์เอง?

อย่างไรก็ตาม แม้จะไม่มีบันทึกเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่าง“ขุนนิรันดรชัย”ซึ่งเป็นคนฝ่ายรัฐบาลแล้วย้ายมาข้ามฟากมาเป็นผู้ช่วยเลขานุการในพระองค์นั้นมีบทบาทอย่างไรกับกรมหมื่นอนุวัตน์จาตุรนต์ประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

แต่อุปนิสัยและพฤติกรรมได้ถูกอธิบายเอาไว้ในคำให้การของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ประธานคณะผู้สำเร็จราชการองค์ต่อมาต่อศาลอาชญากรสงคราม ในคดีที่จอมพล ป. พิบูลสงครามและคณะเป็นจำเลยหลังจากประเทศญี่ปุ่นแพ้สงครามโลก เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2488 ได้ให้การสรุปความได้ว่า

“ขุนนิรันดรชัย” นั้นเป็นนอกจากจะเคยเป็นผู้นำเครื่องพระสำอางค์ของพระเจ้าแผ่นดินและพระราชินีไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาตจากประธานคณะผู้สำเร็จราชการแล้ว ยังเคยมีท่าทีพูดข่มขู่กลายๆต่อพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภาเมื่อต้องการขอเงินไปให้จอมพล ป.ด้วย[10],[14]

ในขณะที่ “หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์” มิตรสหายของ“ขุนนิรันดรชัย”อีกท่านหนึ่งได้เขียนอธิบาย“อุปนิสัย” ในขณะที่เคยเป็นทหารมาด้วยกันปรากฏในคำไว้อาลัยในงานพระราชทานเพลิงศพให้กับ“ขุนนิรันดรชัย”ความตอนหนึ่งว่า

“อุปนิสสัยใจคอของพันตรีสเหวกนิรันดรในขณะนั้นเป็นผู้ที่ร่าเริงแจ่มใสแต่ออกจะมีความคิดเห็นรุนแรงอยู่บ้าง...”[15]

โดยย้อนกลับก่อนหน้านั้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7เสวยราชย์แล้วกรมหมื่นอนุวัตน์จาตุรนต์ได้เข้าสังกัดอยู่ในกรมราชเลขาฯทรงไว้วางพระราชหฤทัยในฐานเป็นผู้ใหญ่และเป็นคนซื่อตรง จึงโปรดให้ดูแลพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ในเวลาเสด็จไม่อยู่[13]

การที่กรมหมื่นอนุวัตน์จาตุรนต์เป็นผู้ที่รู้รายละเอียดเกี่ยวกับพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์และการใช้จ่ายทั้งปวงก่อนหน้านั้นย่อมเป็นกุญแจสำคัญสำหรับผู้ที่มีเป้าหมายที่จะริบทรัพย์สมเด็จพระปกเกล้าฯและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้องตามมาด้วย

ตามบันทึกของหม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิสกุล สรุปว่าการที่รัฐบาลเลือกกรมหมื่นอนุวัตน์จาตุรนต์เป็นประธานคณะผู้สำเร็จราชการเพราะฝ่ายรัฐบาลในเวลานั้นเห็นว่าท่านจะเป็นคนที่บอกแล้วจะทำตามอะไรโดยง่ายประการหนึ่งและอีกทั้งยังมีข้อสังเกตุว่าหม่อมเจ้าคัสตาวัส ลูกชายของกรมอนุวัตรจาตุรนต์นั้น เป็นทหารปืนใหญ่ชอบกับหลวงพิบูลสงครามมากเป็นอีกประการหนึ่ง [16]

โดยหม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิสกุลได้บันทึกว่าในช่วงแรกกรมอนุวัตน์จาตุรนต์ได้รับโทรเลขด่วนจากเจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์เสนาบดีกระทรวงวังได้เรียกให้เข้ามาที่กรุงเทพฯจึงทราบว่าจะต้องไปเป็นผู้สำเร็จราชการฯท่านตอบปฏิเสธไปว่าไม่มีความรู้ความสามารถมากพอ [17]

แต่ปรากฏว่าพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา และพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา ได้มาวิงวอน ประกอบกับลูกเมียของท่านเห็นดีเห็นงาม จึงจำต้องรับตำแหน่งนี้ด้วยจำใจ [17]

ในประเด็นนี้ย่อมแสดงให้เห็นว่าพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนามีความไว้วางใจต่อพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภาซึ่งได้รับการทาบทามในการเป็นผู้สำเร็จราชการก่อน อีกทั้งพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ก็ยังให้ความร่วมมือกับพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนาในภารกิจในการเจรจาที่สำคัญย่ิงนี้ด้วย

หลังจากนั้นกรมอนุวัตน์จาตุรนต์ได้กราบทูลเรื่องราวไปยังสมเด็จพระปกเกล้าฯทรงตอบกลับมาว่าทรงยินดีที่เขาเลือกกรมอนุวัตน์จาตุรนต์เพราะจะได้พอรู้เรื่องกับพระองค์ในหลวงได้ดีกว่าคนอื่นๆเหตุนี้ทำให้กรมอนุวัตน์จาตุรนต์แช่มชื่นขึ้นด้วยโล่งว่าไม่เป็นการอกตัญญู [17]

แต่เนื่องจากการที่กรมอนุวัตน์จาตุรนต์พอรู้เรื่องกับพระองค์ในหลวงได้ดีกว่าคนอื่นๆนี้เองย่อมมีแรงกดดันอันมหาศาลจากผู้ประสงค์ร้ายที่หวังจะเข้าควบคุมและแย่งผลประโยชน์ในทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์รวมถึงการแสวงหาข้อมูลและหลักฐานเพื่อฟ้องร้องยึดทรัพย์สมเด็จพระปกเกล้าฯและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีด้วย โดยภายหลังต่อมาได้มีตั้งกระทู้และอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎรกรณีการนำทรัพย์สินเหล่านั้นบางส่วนมาเป็นเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้องของรัฐบาลตามมาด้วย

หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิสกุล ได้บันทึกว่าภายหลังจากการที่กรมอนุวัตน์จาตุรนต์ได้รับตำแหน่งประธานคณะผู้สำเร็จราชการแล้ว ปรากฏว่ารัฐบาลก็ตั้งต้นเจรจาเรื่อง “ริบทรัพย์”ของสมเด็จพระปกเกล้าฯ และพระราชินี สะสางบัญชีและแยกทรัพย์ส่วนพระองค์กับของบ้านเมือง และซ้ำกลับหาว่าในหลวงโกงทรัพย์อย่างนั้นอย่างน้ีมากมาย ต้องสู้ความกันอย่างวกวนด้วยหลักกฎหมายอยู่หลายเดือน[17]

ส่วนสมเด็จพระปกเกล้าฯก็มีพยาน-ลายพระราชหัตถเลขาของสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงและพยานว่าพระราชทานเป็นสิทธิส่วนพระองค์โดยกรมอนุวัตน์จาตุรนต์ในฐานะผู้รักษาทรัพย์สมบัติของสมเด็จพระปกเกล้าฯได้เคยเล่าให้หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิสกุลฟังแล้วจึงได้จดบันทึกเอาไว้ว่า

“ถูกซักไซ้ไล่เลียงไต่สวนวกวนต่างๆ จนบางครั้งมาเป็นไข้ไปหลายวัน”[13]

นอกจากนั้นในบันทึกหม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิสกุลยังกล่าวถึงแรงกดดันสำคัญเพิ่มเติมอีกว่าในตอนหลังกรมอนุวัตน์จาตุรนต์ถูกบังคับให้เรียกตราจักรีคืนจากสมเด็จพระปกเกล้าฯแต่กรมอนุวัตน์จาตุรนต์ไม่ยอมทำตามหลังจากนั้นก็ไม่ทรงสบายบ่อยๆมีอาการนอนไม่หลับซูบผอมดำลงทุกทีๆลาพักไปตากอากาศทางเรือนถึงสิงคโปร์แต่พอกลับมาได้สักพักก็ยิงตัวตายในที่นอน

โดยหม่อมเจ้าอุลิสาณ์ ดิสกุล บุตรีคนเล็กของกรมอนุวัตน์จาตุรนต์ได้เล่าให้หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิสกุลว่าได้เห็นปืนเล็กๆตกข้างเตียงกรมอนุวัฒน์จาตุรนต์บรรทมอยู่เหมือนหลับเป็นแต่มีเลือดไหลออกมาจากโอษฐ์มากองอยู่ใต้หมอนเป็นกองโตโดยการไต่สวนของเจ้าพนักงานว่ากรมอนุวัตน์จาตุรนต์ อมปากกระบอกปืนยิงเข้าไปในโอษฐ์ลูกปืนยังติดอยู่ในท้ายทอย[13]

นอกจากนี้ยังมีข้อสังเกตด้วยว่าก่อนที่ความจริงจะปรากฏเช่นนี้หม่อมเจ้าอุลิสาณ์ ดิสกุล ได้ส่งโทรเลขไปยังปีนังเพื่อแจ้งหม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิสกุล โดยแจ้งอย่างไปอย่างน่าเคลือบแคลงสงสัยว่า

“กรมอนุวัฒน์จาตุรนต์สิ้นพระชนม์ด้วยโรคหัวใจพิการ”ซึ่งความจริงปรากฏต่อภายหลังว่าที่ได้โทรเลขแจ้งไปอย่างไม่ตรงกับข้อเท็จจริงเช่นนั้นเพราะ...“รัฐบาลต้องการให้เป็นเช่นนั้น”[13]

แต่ข่าวนี้ก็ไม่ใช่ความลับอีกต่อไป เพราะหนังสือพิมพ์ในประเทศ ลงข่าวตรงกันว่ากรมอนุวัตน์จาตุรนต์ปลงพระชนม์เอง[18] (มีข้อสังเกตว่าในขณะเขียนบทความนี้หนังสือพิมพ์ข่าวเก่าและไมโครฟิลม์ของหนังสือพิมพ์เก่าที่หอสมุดแห่งชาติไม่ปรากฏหลักฐานในสิงหาคม 2478หลงเหลืออีกต่อไปแล้ว โดยระบุว่าต้นฉบับเสียหายมากจนไม่สามารถบันทึกไมโครฟิลม์ได้ทัน)

โดยในขณะนั้นนายปรีดี พนมยงค์อยู่บนเรือเดินทางไปยุโรปเพื่อไปเจรจาลดดอกเบี้ยเงินกู้ของรัฐบาลและทาบทามที่จะแก้ไขสนธิสัญญาที่ไม่เสมอภาค เมื่อได้ทราบข่าวจากหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษเมื่อวันที่ 13สิงหาคมพ.ศ. 2478 แล้วนายปรีดี พนมยงค์ได้เขียนในบันทึกความรู้สึกขณะนั้นคือไม่เชื่อข่าวนี้เพราะเมื่อก่อนที่นายปรีดีจะได้เดินทางครั้งนี้ได้ไปทูลลาท่าน เพราะ

“ไม่เห็นท่านทรงมีพระอาการอย่างใดที่จะทำให้ท่านปลงพระชนม์” [18]

ต่อมานายปรีดี พนมยงค์ เมื่อได้มาถึงที่กรุงปารีสแล้ว ได้รับรายงานจากพันเอกหลวงอดุลเดชจรัสว่าหลวงอดุลฯเองได้เป็นผู้ทำการชันสูตรพระศพเสด็จกรมหมื่นอนุวัตน์จาตุรนต์ สรุปความว่า

“พระองค์ทรงใช้อาวุธปืนสั้นปลงพระชนม์เองโดยทรงอมปากกระบอกปืนไว้ที่พระโอษฐ์แล้วใช้นิ้วของพระองค์เองลั่นไกกระสุนเจาะเพดานพระโอษฐ์ทำให้สิ้นพระชนม์”[18]

ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าเหตุใดบันทึกการสิ้นพระชนม์ของ 2 คนจึงไม่เหมือนกัน?

กล่าวคือบันทึกของหม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิสกุล ระบุการได้ข้อมูลจากบุตรสาวว่า เจ้าพนักงานไต่สวนระบุว่าการปลงพระชนม์ครั้งนี้ปืนยิงเข้าไปในโอษฐ์โดย“ลูกปืนยังติดอยู่ในท้ายทอย” [13]ในขณะที่บันทึกของนายปรีดี พนมยงค์ ระบุรายงานของพันเอกหลวงอดุลเดชจรัส กลับระบุว่า “กระสุนเจาะเพดาน”!?[18]

ซึ่งหมายถึงวิถีกระสุนยิงจากปากเข้าไปในทิศทางที่อาจไม่เหมือนกัน และอาจจะมีผลต่อการนำไปสู่ข้อสันนิษฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ของการส้ินพระชนม์แตกต่างกันออกไปได้ด้วย

ทั้งนี้ พันเอกหลวงอดุลเดชจรัส ได้รายงานต่อนายปรีดี พนมยงค์เพิ่มเติมว่าได้ทำการสอบสวนพระชายาและคนในวังได้ความว่า ก่อนสิ้นพระชนม์ เคยรับสั่งว่า

“เวลานี้เราจะทำอะไรแม้แต่กระดิกนิ้วก็มีคนเขาว่า”[18] และได้ความต่อไปว่า“มีเจ้าบางองค์ขอดท่านในการเป็นประธานคณะผู้สำเร็จราชการโดยคณะราษฎรสนับสนุนมีคนเขียนบัตรสนเท่ห์ประณามท่านต่างๆ”[18]

ผ่านไป 7 วันนับจากวันเกิดเหตุวันสิ้นพระชนม์ของกรมหมื่นนิวัตจาตุรนต์ วันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2478 กรมตำรวจในยุคนั้นได้ทำบันทึกรายงานการไต่สวน กรณีกรมหมื่นสิ้นพระชนม์ โดยเห็นว่าเกิดจากแรงบีบคั้นอย่างสำคัญในเรื่องที่พระองค์ทรง“ประสบกับเหตุลำบากพระทัยในการปฏิบัติงานในฐานที่ทรงเป็นผู้จัดการพระราชาทรัพย์ส่วนพระองค์พระปกเกล้า”[19]

ซึ่งจะเห็นได้ว่าเมื่อเปรียบเทียบ บันทึกของนายปรีดี พนมยงค์ว่าด้วยเรื่องการรายงานสอบสวนของพันเอกหลวงอดุลเดชจรัสกับบันทึกของหม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิสกุลที่ได้เล่าถึงเหตุการณ์ในเรื่องปัจจัยในเรื่องแรงกดดันที่มีต่อกรมอนุวัฒน์จาตุรนต์ เป็นมุมมองที่อยู่ตรงกันข้ามกันอย่างสิ้นเชิง

โดยบันทึกฝ่ายพันเอกหลวงอดุลเดชจรัสสรุปในทำนองว่าน่าจะเป็นแรงกดดันมาจากฝ่ายเจ้า ในขณะที่บันทึกของฝ่ายหม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิสกุล สรุปไปอีกทำนองหนึ่งว่าน่าจะเป็นแรงกดดันมาจากฝ่ายคณะราษฎรที่ต้องการจะริบทรัพย์สมเด็จพระปกเกล้าฯ และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ

อย่างไรก็ตามภายหลังจากการสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุวัตน์จาตุรนต์แล้วสภาผู้แทนราษฎรได้อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 10แห่งรัฐธรรมนูญได้ลงมติเมื่อวันที่ 20สิงหาคมพ.ศ.2478ตั้งพลเอกเจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน (อุ่ม อินทรโยธิน) เป็นสมาชิกใหม่ของคณะผู้สำเร็จราชการและลงมติตั้งนายนาวาตรี พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ ทิพอาภา ร.น. เป็นประธานคณะผู้สำเร็จราชการต่อไป [20]

สำหรับพลเอกเจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน (อุ่ม อินทรโยธิน)นั้น นายปรีดี พนมยงค์ ได้บันทึกความสัมพันธ์กับพระยาพหลพลพยุหาเสนา นายกรัฐมนตรี และคณะราษฎรสรุปความเอาไว้ว่า

“พลเอกเจ้าพระยาพิชเยนทรโยธินนี้ได้บังเอิญในตอนเช้าวันที่ 24มิถุนายนพ.ศ. 2475ท่านซึ่งออกจากราชการแล้วได้ไปเดินเล่นเวลาเช้าตามปกติเมื่อท่านเดินมาถึงหน้ากำแพงรั้วเหล็กพระที่นั่งอนันตสมาคม

X

ท่านเห็นพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนาที่ได้ประกาศยึดอำนาจในนามคณะราษฎรแล้วนั้นกำลังงัดโซ่ที่ล้อมประตูกำแพงรั้วเหล็กใส่กุญแจเหล็กไว้นั้นทั้งนี้เพราะพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนามีข้อกำยำแข็งแรงนักเจ้าพระยาพิชเยนทรจึงเดินเข้าไปดูพลางท่านปรารภว่า“พวกนี้มันสามารถ”แล้วท่านก็จากไปต่อมาเวลาคณะราษฎรมีงานบุญท่านก็อุตส่าห์มาร่วมบ่อยๆท่านจึงได้รับความนับถือจากคณะราษฎร” [17]

ภายหลังจากการสิ้นพระชนม์ของ พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุวัตน์จาตุรนต์แล้วหลังจากนั้นคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ทั้งคณะที่แต่งตั้งเพิ่มเติมภายใต้การนำของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภาประธานคณะผู้สำเร็จราชการ คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์กับฝ่ายรัฐบาลในสมัยนั้น ไม่ปรากฏว่ามีข้อขัดแย้งกันเหมือนดังที่เกิดขึ้นระหว่างฝ่ายรัฐบาลกับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว [21]

จนเกิดเหตุการณ์ที่ตามมาเรื่องการตั้งกระทู้ถามและอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2480 กรณีคนในฝ่ายรัฐบาล ข้าราชการในวัง และข้าราชการสำนักเลขานุการในพระองค์ ได้รวมหัวแห่เข้าไปซื้อหรือเช่าที่ดินพระคลังข้างที่ในราคาถูกๆ ส่วนพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา แม้เป็นประธานคณะผู้สำเร็จราชการ ก็ได้ถูกอภิปรายพาดพิงในสภาผู้แทนราษฎรว่าได้ขายที่ดินส่วนตัวของตัวเองให้กับกรมพระคลังข้างที่ในราคาแพงกว่าตลาด

หลังจากนั้นก็ตามมาด้วยคณะผู้สำเร็จราชการลงพระนามประกาศพระราชบัญญัติ จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2479เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2480แล้วรัฐบาลโดยกระทรวงการคลังก็อ้างกฎหมายฉบับนี้เอาผิดย้อนหลังฟ้องร้องอายัดและยึดทรัพย์สมเด็จพระปกเกล้าฯ และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีกลายเป็นคดีประวัติศาสตร์ตามมา

นอกจากนั้น ในบันทึกของหม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิสกุลได้กล่าวถึง“ความดีใจ”ของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภาที่ได้รับตำแหน่งประธานคณะผู้สำเร็จราชการภายหลังการสิ้นพระชนม์ของกรมหมื่นอนุวัตน์จาตุรนต์เอาไว้ด้วยเหมือนกัน เพียงแต่เป็นที่น่าเสียดายว่าทางสำนักพิมพ์มติชนได้มีการ“เซ็นเซอร์ เว้นว่างข้อความสำคัญ”ไปบางส่วนตั้งแต่การพิมพ์ครั้งที่ 1 ซึ่งท่านผู้อ่านคงต้องใช้จินตนาการเติมข้อความในวงเล็บเหล่านี้เองว่าเป็นอย่างไร ความว่า

“ในเวลาได้เลือกเป็นคณะผู้สำเร็จราชการ,พระองค์อาทิตย์ฯยินดีมากจริงๆยิ่งได้เป็นประธานผู้สำเร็จฯเมื่อกรมอนุวัตรฯสิ้นพระชนม์,ยิ่งแสดงกิริยา (........),ถึงเที่ยวอวดกับญาติวงศ์ว่าเขาจะให้เป็น (........)เลย,และตัวเองก็ออกท่าทางล้อเลียนต่างๆตามที่เห็นมา”[22]

ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

11 ธ.ค. 2563  ผู้จัดการออนไลน์
หัวข้อ: เอกสารอ้างอิง ภารกิจคณะราษฎรยังไม่เสร็จ !? (ตอนที่ 6)
เริ่มหัวข้อโดย: story ที่ 10 มกราคม 2021, 12:36:55
อ้างอิง
[1]เจ้าพระยามหิธร,บันทึกลับ 30มิถุนายน 2475,เว็บไซต์สถาบันปรีดีพนมยงค์,บทความเกร็ดประวัติศาสตร์,เผยแพร่วันที่ 16มิถุนายน 2562
https://pridi.or.th/th/content/2020/06/305

[2]ภิญญาสันติพลวุฒิเรียบเรียง,จเรพันธุ์เปรื่องผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ,บันทึกการเข้าเฝ้าฯพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวของคณะราษฎร,เว็บไซต์สถาบันพระปกเกล้า
http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=บันทึกการเข้าเฝ้าฯ_พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวของคณะราษฎร

[3]บันทึกรายงานการอภิปรายทั่วไปเพื่อรับฟังความเห็นครั้งที่ 2,ญัตติเรื่องพระราชบันทึกของพระมหากษัตริย์,นายไต๋ปาณิกบุตรสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนครเสนอญัตติต่อพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนานายกรัฐมนตรี, ในการประชุมครั้งที่ 16/2477 สมัยสามัญที่สอง, 31 มกราคม พ.ศ. 2478, หน้า 878
https://library2.parliament.go.th/giventake/content_debate/db2-02.pdf

[4] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศพิเศษ เรื่อง ตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์, เล่ม 51, ตอน 0ก, 7 มีนาคม พ.ศ. 2477, หน้า 1332
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2477/A/1332.PDF

[5] ปรีดี พนมยงค์, บางเรื่องเกี่ยวกับพระบรมวงศานุวงศ์ ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2, เผยแพร่ในเว็บไซต์สถาบันปรีดี พนมยงค์, หน้า 28-30
https://pridi.or.th/sites/default/files/pdf/2515-64.pdf

[6] เรื่องเดียวกัน, หน้า 29

[7] เรื่องเดียวกัน, หน้า 30

[8] หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิสกุล, สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น (รวมเล่ม). พิมพ์ครั้งที่ 5, กรุงเทพฯ : มติชน, 2562. ISBN 978-974-02-1263-8 ,หน้า 194

[9] สำนักพระราชวัง,นะซีน, ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงพระศพ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ณ วัดเมรุวัดเทพศิรินทราวาส หน้า 14-15

[10] ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์,ภารกิจคณะราษฎรยังไม่เสร็จ !? (ตอนที่ 4)มรดก“ขุนนิรันดรชัย”กับความลับของ ”จอมพลป. “ในทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์, เว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ และแฟนเพจ ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์, 27 พฤศจิกายน 2563
https://www.facebook.com/123613731031938/posts/3642316549161621/
https://mgronline.com/daily/detail/9630000121997

[11] ประวัติ พันตรี สเหวก นิรันดร, หนังสือปาฐกถาเรื่องจิตต์ เพื่อบรรณาการในงานพระราชทานเพลิงศพ พันตรี สเหวก นิรันดร ณ เมรุวัดพระศรีมหาธาตุ, วันที่ 22 พฤษภาคม 2499 หน้า (12)

[12] คณะกรรมการดำเนินงานฉลอง 100 ปี ชาตกาล นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส, คำให้การต่อศาลอาชญากรสงคราม เอกสารประวัติศาสตร์,พิมพ์ครั้งแรก พฤศจิกายน 2545, พิมพ์ที่เจริญวิทย์การพิมพ์, เลขมาตฐานสากลประจำหนังสือ 974-7834-35-9 หน้า 226
http://www.openbase.in.th/files/pridibook011.pdf

[13] หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิสกุล, สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น (รวมเล่ม). พิมพ์ครั้งที่ 5, กรุงเทพฯ : มติชน, 2562. ISBN 978-974-02-1263-8 ,หน้า 188-189

[14]คณะกรรมการดำเนินงานฉลอง 100 ปี ชาตกาล นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส, คำให้การต่อศาลอาชญากรสงคราม เอกสารประวัติศาสตร์,พิมพ์ครั้งแรก พฤศจิกายน 2545, พิมพ์ที่เจริญวิทย์การพิมพ์, เลขมาตฐานสากลประจำหนังสือ 974-7834-35-9 หน้า 122-124
http://www.openbase.in.th/files/pridibook011.pdf

[15] พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ , เขียนคำไว้อาลัยเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2499, ในหนังสือปาฐกถาเรื่องจิตต์ เพื่อบรรณาการในงานพระราชทานเพลิงศพ พันตรี สเหวก นิรันดร ณ เมรุวัดพระศรีมหาธาตุ, วันที่ 22 พฤษภาคม 2499 หน้า (2)

[16] หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิสกุล, สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น (รวมเล่ม). พิมพ์ครั้งที่ 5, กรุงเทพฯ : มติชน, 2562. ISBN 978-974-02-1263-8, หน้า189-190

[17] เรื่องเดียวกัน, หน้า 186

[18] ปรีดี พนมยงค์, บางเรื่องเกี่ยวกับพระบรมวงศานุวงศ์ ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2, เผยแพร่ในเว็บไซต์สถาบันปรีดี พนมยงค์, หน้า 31-32
https://pridi.or.th/sites/default/files/pdf/2515-64.pdf

[19] นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475. พิมพ์ครั้งที่ 5, กรุงเทพฯ : ฟ้าเดียวกัน, 2553. 544 หน้า. ISBN 978-616-90238-5-2 หน้า 70-71

[20] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศตั้งซ่อมคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์และตั้งประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ใหม่, เล่ม ๕๒, ตอน ๐ก, ๒๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๘, หน้า ๑๒๖๐
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2478/A/1260.PDF

[21] นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475. พิมพ์ครั้งที่ 5, กรุงเทพฯ : ฟ้าเดียวกัน, 2553. 544 หน้า. ISBN 978-616-90238-5-2 หน้า 398

[22] หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิสกุล, สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น (รวมเล่ม). พิมพ์ครั้งที่ 5, กรุงเทพฯ : มติชน, 2562. ISBN 978-974-02-1263-8 ,หน้า 192
หัวข้อ: ภารกิจคณะราษฎรยังไม่เสร็จ !? (ตอนที่ 7) ยึดวังศุโขไทย ซ่อนพระแก้วมรกต ทรัพย์สิน
เริ่มหัวข้อโดย: story ที่ 10 มกราคม 2021, 12:41:07
ภารกิจคณะราษฎรยังไม่เสร็จ !? (ตอนที่ 7) ยึดวังศุโขไทย ซ่อนพระแก้วมรกต ทรัพย์สินส่วนพระองค์สูญหาย/ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

"ณ บ้านพระอาทิตย์"
"ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์"

“ด้วยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานนามวัง ของสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมศุโขไทยธรรมราชา ว่า “วังศุโขไทย”” [1]

ข้อความข้างต้นคือประกาศของ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานนามวัง เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2461 อันเนื่องมาจากที่สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าให้สร้างวังแห่งนี้เพื่อเป็นของขวัญในการอภิเษกสมรส ของสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมศุโขทัยธรรมราชา กับหม่อมเจ้ารำไพพรรณี สวัสดิวัตน์

หลักฐานข้างต้น จึงเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า วังศุโขไทย เป็นวังที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ กรมขุนศุโขทัยธรรมราชา ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 พระราชทานสร้างวังนี้ให้เป็น “ทรัพย์สินส่วนพระองค์” ก่อนจะขึ้นครองราชย์เป็น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 อย่างชัดเจน

ภายหลังจากการที่ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ได้สละราชสมบัติเมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2478 (นับ พ.ศ.แบบปฏิทินปัจจุบัน) รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม โดยกระทรวงการคลังได้ทำการฟ้องร้องคดีความแพ่งต่อสมเด็จพระปกเกล้าฯ และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ที่มีการโอนเงินจากกรมพระคลังข้างที่มาถือไว้หรือใช้จ่ายในนามพระองค์จำนวน 10 รายการ ระหว่างวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ.2475 ถึงวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2477 รวมมูลค่าและดอกเบี้ยถึงวันพิพากษาเป็นเงินทั้งสิ้น 6,272,712 บาท 92 สตางค์ [2] 
ธุรกรรมทางการเงิน 10 รายการที่เป็นเหตุในคดีฟ้องร้องนั้น เป็นการใช้พระราชอำนาจในการใช้จ่ายเงินจากกรมพระคลังข้างที่ซึ่งเป็นทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ขณะพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ได้ทรงดำรงตำแหน่งเป็นพระมหากษัตริย์ทั้งสิ้น โดยในขณะนั้นยังไม่มีกฎหมายจำกัดการใช้พระราชอำนาจในทรัพย์สินของกรมพระคลังข้างที่ใดๆด้วย

แม้ประเทศไทยจะมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ไปแล้ว แต่ความจริงทรัพย์สินของแผ่นดินเพื่อประโยชน์ในการบริหารราชการ และทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ในนามกรมพระคลังข้างที่ ได้มีการแบ่งแยกกันตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5

เมื่อการใช้เงินพระคลังข้างที่เป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ ดังนั้นจากหลักฐานตามเวลา ชัดเจนว่าธุรกรรมทางการเงิน 10 รายการ เกิดขึ้น ระหว่างวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ.2475 ถึงวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2477 ซึ่งเป็นเหตุในคดีฟ้องร้องนั้น เป็นการใช้พระราชอำนาจ “ก่อน” ที่จะสละราชสมบัติเมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2478 อย่างชัดเจน

หลักฐานตามเวลา ยังชัดเจนด้วยว่า ธุรกรรมทางการเงิน 10 รายการ ระหว่างวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ.2475 ถึงวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2477 นั้น ก็เป็นช่วงเวลา “ก่อน” ที่จะมี พระราชบัญญัติ จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2479 ซึ่งประกาศบังคับใช้ลงในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2480 ด้วย [3]

ดังนั้นการใช้ พระราชบัญญัติ จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2479 ซึ่งประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2480 ที่ให้ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้กระทรวงการคลัง จึงเป็นกฎหมายที่เกิดขึ้นในภายหลังธุรกรรมทางการเงินที่เกิดเหตุไปก่อนหน้านั้นแล้วทั้งสิ้น

การฟ้องร้องเป็นคดีความนี้ มีประเด็นที่น่าจะพิจารณา ดังต่อไปนี้

ประการแรก การฟ้องร้องคดีได้อาศัย พระราชบัญญัติ จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2479 มีผลบังคับใช้เมื่อประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2480 อันเป็นกฎหมายใช้บังคับให้โทษย้อนหลังธุรกรรมทางการเงินของสมเด็จพระปกเกล้าฯ และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีที่ได้เกิดไปแล้ว

ประการที่สอง เป็นการเลือกปฏิบัติ โดยในกรณีที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ได้ทรงโอนเงินพระคลังข้างที่โดยอาศัยพระราชอำนาจที่จะกระทำได้ตามกฎหมายในฐานะพระมหากษัตริย์ แต่กลับถูกรัฐบาลฟ้องร้องดำเนินคดีความเพื่อยึดทรัพย์คืน [2]

ตรงกันข้ามกับนักการเมืองฝ่ายรัฐบาลและเครือข่ายที่ถูกอภิปรายว่าได้รุมซื้อ เช่า หรือผ่อนซื้อที่ดินพระคลังข้างที่ในราคาถูกๆโดยคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ที่ทรงยังเป็นยุวกษัตริย์และประทับอยู่ต่างประเทศ นักการเมืองที่แสวงหาประโยชน์จากทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์เหล่านี้ นอกจากจะไม่ถูกดำเนินคดีฟ้องร้องหรือยึดทรัพย์ใดๆแล้ว ยังได้รับคำยืนยันจาก พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี ว่าเป็นเรื่อง “พระกรุณาฯ” ของคณะผู้สำเร็จราชการฯ ที่รัฐบาลมิอาจก้าวล่วงได้

สองเหตุการณ์ข้างต้น แสดงให้เห็นว่าตรรกะเรื่องพระราชอำนาจขัดแย้งกันเอง ทั้งๆที่สองกรณีเกิดขึ้นก่อนที่พระราชบัญญัติ จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2479 จะมีผลบังคับใช้ [4]

ประการที่สาม รัฐบาลจอมพลป. พิบูลสงครามโดยกระทรวงการคลังได้ดำเนินการอายัดทรัพย์สินของสมเด็จพระปกเกล้าฯ และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีก่อนจะมีคำพิพากษาเป็นผลสำเร็จ โดยคำสั่งของศาลอุทธรณ์อันเป็นผลทำให้ไม่มีทรัพย์สินภายในประเทศไทยที่จะต่อสู้คดีในกรุงเทพต่อไปได้ [5]

ประการที่สี่ มีการใช้อำนาจทางการเมืองแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมได้โยกย้ายอธิบดีศาลแพ่ง ภายหลังศาลแพ่งยกคำร้องของรัฐบาลที่จะอายัดทรัพย์สมเด็จพระปกเกล้าฯและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ก่อนมีคำพิพากษาถึง 2 ครั้ง รวมถึงการปลดผู้พิพากษาคนเดียวกันนี้ให้ออกจากราชการ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมยอมรับกับผู้พิพากษาที่ถูกปลดออกจากราชการว่า ไม่ได้มีความผิดใดๆ แต่เป็นเรื่องการเมือง [6]

ประการที่ห้า เนื่องจากคดีดังกล่าวนี้ศาลให้พิจารณาลับ โดยอ้างว่าจำเลยเป็นถึงพระมหากษัตริย์ไทยอันเป็นที่เคารพสักการะของไทยจึงให้พิจารณาลับเพื่อรักษาพระเกียรติของพระองค์ รายละเอียดเนื้อหาและเหตุผลของคำพิพากษาจึงไม่สามารถเปิดเผยได้อย่างสมบูรณ์ [2]

อย่างไรก็ตามปรากฏในเวลาต่อมาว่า สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ได้พระราชทานสัมภาษณ์นักข่าวเมื่อปี พ.ศ. 2516 ซึ่งได้ปรากฏในหนังสือ “เบื้องแรกประชาธิปตัย” ซึ่งได้รวบรวมและจัดพิมพ์โดยสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย ซึ่งทำให้ได้ทราบข้อมูลอันเป็นประเด็นสำคัญเพิ่มเติมดังต่อไปนี้

ประการที่หก ในขณะที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีเสด็จพระราชดำเนินไปยังอังกฤษ เพื่อผ่าตัดรักษาพระเนตรของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ปรากฏว่าเอกสารสำคัญในประเทศไทย “หายไป”

เอกสารดังกล่าวคือ หลักฐานหนังสือมอบให้เอา “เงินส่วนพระองค์” ที่สะสมมาทดแทนกับจำนวนที่จะทรงเบิกเงินแผ่นดินที่ทรงเบิกเงินแผ่นดินอยู่เมืองนอกเป็นการชดเชยกัน ความปรากฏในการพระราชบันทึก การสัมภาษณ์สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ความตอนหนึ่งว่า

“ในการเสด็จพระราชดำเนินยังประเทศอังกฤษครั้งนั้น สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีทรงเล่าว่า มีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เหมือนกัน โดยเท้าความเข้าใจแต่ต้นว่า

เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังทรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงศุโขทัยธรรมราชานั้น มีเงินที่เป็นส่วนพระองค์ที่ได้รับพระราชทานเป็นประจำอยู่ ซึ่งเป็นเงินทุนส่วนของวังศุโขทัย แต่เมื่อขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระเจ้าแผ่นดิน เงินส่วนที่ว่านี้ยังคงมีอยู่ แต่ไม่ค่อยได้เอามาใช้ คงสะสมเอาไว้ คงใช้เงินส่วนที่เป็นของพระมหากษัตริย์เท่านั้น

ก่อนที่จะเสด็จไปอังกฤษ ในหลวงจึงทำหนังสือมอบให้ว่า ให้เอาเงินที่สะสมไว้นั้นมาทดแทนกับจำนวนที่จะทรงเบิกเงินแผ่นดินที่มีอยู่ในเมืองนอกเป็นการชดเชยกัน เงินอยู่เมืองนอกนั้นเป็นเงินกองกลางสำหรับพระเจ้าแผ่นดินทุกองค์จะเบิกมาใช้ได้

ที่ในหลวงต้องทรงทำเช่นนั้น ก็เพราะไม่ทราบว่าจะต้องประทับอยู่นานเท่าใด เงินที่จะเอาติดตัวไปก็น้อย และเมื่อไปแล้วจะให้ส่งไปก็ส่งไม่ได้”

“เงินเมืองนอกที่ว่านี้มีมาแต่สมัยสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพราะฉะนั้นเงินส่วนของวังศุโขทัยที่ว่านี้ก็เป็นเงินที่ใช้ทดแทนกันนั่นเอง แต่แล้วก็กลายเป็นถึงฟ้องร้องกันในเวลาต่อมา ซึ่งเมื่อถึงตอนนั้นแล้วเอกสารของในหลวงที่ทรงไว้เกี่ยวกับการทดแทนกันก็หากันไม่พบ ไม่มีใครรู้ว่ามันหายไปไหน” [7]

ซึ่งแน่นอนว่าในขณะที่มีการฟ้องร้องและทำการยึดทรัพย์นั้น คือช่วงเวลาที่สมเด็จพระปกเกล้าฯ สละราชสมบัติไปแล้ว การดูแลเรื่องเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์และพระราชวังทั้งหมด จึงอยู่ภายใต้การบริหารจัดการของรัฐบาล และคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับความไว้วางใจโดยสภาผู้แทนราษฎรภายใต้การนำของผู้ก่อการคณะราษฎร โดยมี “ขุนนิรันดรชัย” เป็น “ราชเลขานุการในพระองค์”

ประการที่เจ็ด ไม่มีคนไทยยอมรับเป็นทนายให้ในฝ่ายสมเด็จพระปกเกล้าฯและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี โดยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีได้ทรงพระราชทานสัมภาษณ์ต่อในประเด็นนี้ว่า

“...พระราชวังไกลกังวลในหลวงพระราชทานให้ฉัน ข้าวของทุกชิ้นที่นั่นทรงให้จารึกอักษรย่อว่า ร.พ.ทั้งนั้น...

...ทีนี้เขาก็ฟ้องอีกหาว่าพระเจ้าอยู่หัวทรงเอาเงินของแผ่นดินที่เมืองนอกไปใช้ ซึ่งความจริงก็เป็นอย่างที่เล่าให้ฟังแล้วว่า เป็นเงินส่วนของพระเจ้าแผ่นดิน และในหลวงก็ทรงทำหนังสือทดแทนกันอย่างที่ว่าแล้วเกิดหนังสือนี้มันหายไป

ระหว่างนี้ก็ได้ทราบว่าได้มีการส่งคนไปยึดวังไกลกังวลกันเฉยๆ ในหลวงท่านรับสั่งว่าจะขอเข้ามาสู้คดี ทางนี้เขาก็ไม่ยอม ขอมาอยู่แค่อินเดียเพื่อจะได้ติดต่อได้ง่ายก็ไม่ยอมอีก ก็เลยติดต่อกันทางหนังสือ ทนายความฝ่ายเราน่ะเป็นบริษัทฝรั่ง ไม่มีคนไทยเขายอมรับเป็นทนายให้เพราะเขาไม่กล้ากัน” [7]

สมเด็จพระปกเกล้าฯ และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี มิได้ทรงมีโอกาสต่อสู้คดีในศาลเนื่องจากประทับอยู่ที่ประเทศอังกฤษ โดยในชั้นแรก ทรงมีพระราชดำริที่จะเสด็จมาประทับที่เมืองกัลกัตตา ประเทศอินเดียชั่วคราว เพื่อที่ได้ทรงติดต่อกับนาย วี.เอช.เจ็กส์ ทนายความชาวอังกฤษได้สะดวก ได้ทรงจองเรือเมล์ไว้แล้ว

แต่พอดีเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ขึ้น จึงต้องกลับพระทัยงดมาประทับที่อินเดีย และเมื่อศาลอุทธรณ์มีคำสั่งอายัดหรือยึดทรัพย์ของจำเลยหมดสิ้นแล้ว ฝ่ายจำเลยก็หมดกำลังทรัพย์ที่จะต่อสู้คดีต่อไป

จากข้อมูลข้างต้นแสดงให้เห็นว่าฝ่ายสมเด็จพระปกเกล้าฯ และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ย่อมเป็นฝ่ายเสียเปรียบในการต่อสู้คดี เพราะทนายความต่างชาติไม่สามารถจะมีข้อมูลหรือเข้าถึงหลักฐานข้อมูลเกี่ยวกับในสำนักพระราชวังได้โดยง่าย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลาที่สมเด็จพระปกเกล้าฯ ไม่สามารถที่จะเข้ามาในประเทศไทยได้ด้วยพระองค์เอง ในช่วงการเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 อีกทั้งยังมีการอายัดทรัพย์สินในพระราชวังทั้งพระราชวังไกลกังวล และวังศุโขไทยเอาไว้แล้ว ล้วนแล้วแต่เป็นวังที่มีความสำคัญในค้นหาเอกสารและหลักฐานทั้งปวง และการติดต่อกันทางหนังสือในคดีสำคัญในยุคที่การสื่อสารยังไม่พัฒนานั้น ย่อมอยู่ในภาวะที่ยากลำบากในการต่อสู้คดี

ประการที่แปด สมเด็จพระปกเกล้าฯสิ้นพระชนม์ก่อนจะมีคำพิพากษาศาลแพ่ง โดยปรากฏว่าสมเด็จพระปกเกล้าฯสวรรคตเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2484 แต่ในขณะที่ศาลแพ่งได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2484 สมเด็จพระปกเกล้าฯจึงไม่สามารถจะไปต่อสู้คดีให้จบลงด้วยพระองค์เองได้

ประการที่เก้า เป็นการพิพากษาศาลเดียว จึงย่อมไม่มีการอุทธรณ์และฎีกา โดยหลังการอายัดทรัพย์ทำให้เงินทองไม่ค่อยมีเหลือ ทำให้จำเลยถูกยึดทรัพย์ไปในที่สุด ปรากฏตามการพระราชทานสัมภาษณ์ของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ความตอนนี้ว่า

“แต่ผลที่สุดเราก็แพ้เขาไป คดีแค่ศาลเดียวเท่านั้น เขาตีราคาวัง 3 ล้าน รวมกับที่ดินแล้วก็เป็น 6 ล้านด้วยกัน”

ในช่วงเวลาที่ประทับอยู่ในอังกฤษนั้น ในหลวงทรงใช้เวลาส่วนใหญ่ด้วยการเสด็จฯเที่ยวตามแต่โอกาสจะอำนวยให้ “ไปไหนไม่ค่อยสะดวกนักหรอก เพราะเงินทองก็ไม่ค่อยมี”” [8]

ประการที่สิบ นอกจากยึดวังไปแล้ว รัฐบาลยังได้ยึด “ทรัพย์สินส่วนพระองค์” ที่ได้มา “ก่อน” ที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จะขึ้นครองราชย์ไปด้วย และเตรียมขายทอดตลาด ปรากฏตามการพระราชทานสัมภาษณ์ของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ความตอนนี้ว่า
“ระหว่างที่ในหลวงครองราชย์นั้น โดยตำแหน่งไม่มีเงินปีเป็นของพระองค์เอง เพราะถือว่าใช้ด้วยกันกับพระมหากษัตริย์ ตอนนั้นในหลวงได้อยู่ปีละ 6 ล้านบาท แต่ต่อมาเหลือ 3 ล้านบาท

ในหลวงท่านทรงตัดยอดเงินเอง เพราะทรงเห็นว่าเศรษฐกิจไม่ดี ตอนที่เป็นคดีกันนั้น เมื่อสิ้นสุดแล้ว และเมื่อทรงสละราชสมบัติทรัพย์สินส่วนพระองค์เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็นกรมหลวงศุโขทัยธรรมราชา ก็พลอยถูกยึดไปด้วยหมด ทั้งๆที่พระองค์ท่านก็ได้ระบุไว้ชัดว่า สงวนไว้ซึ่งสิทธิทั้งปวงก่อนที่จะได้รับราชสมบัติสืบสันตติวงศ์” [8]

ต่อมากองบังคับคดีทางแพ่ง ได้ออกประกาศขายทอดตลาดกองบังคับคดีทางแพ่งเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2484 โดยนำทรัพย์สินในวังจำนวนกว่า 288 รายการ 14 หีบเพื่อมาขาย รวมถึง เครื่องประดับ อัญมณี เครื่องใช้ในวัง เป็นต้น

แต่ต่อมากรมบังคับคดีก็ได้มีหนังสือลงวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2484 เพื่อระงับการขายเอาไว้ เพราะเป็นช่วงเวลาที่ญี่ปุ่นบุกเข้าประเทศไทย และรัฐบาลไทยได้ทำพิธีลงนามร่วมเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2484 โดยประเทศไทยอยู่ในช่วงการถูกกดดันให้ลงนามทางการทหารฝ่ายอักษะและยกเลิกความสัมพันธ์กับประเทศกลุ่มฝ่ายสัมพันธมิตรทั้งหมด
เหตุการณ์ การหยุดขายทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น ยังควรต้องถูกบันทึกเอาไว้อีกด้วยว่า จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้มีแผนโยกย้ายเมืองหลวงไปตั้งที่เพชรบูรณ์ เนื่องด้วยเพราะประเทศไทยอยู่ในภาวะสงคราม กรุงเทพมหานครจึงมีความเสี่ยงถูกโจมตีทิ้งระเบิดอย่างหนักจากฝ่ายสัมพันธมิตร [9]

จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้นจึงปรากฏคำสัมภาษณ์ภายหลังต่อมาของ พระอุดมญาณโมลี (หลวงปู่จันทร์ศรี จนฺททีโป) จังหวัดอุดรธานี เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2552 โดยคณะผู้สัมภาษณ์นำโดยผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ได้ขอกราบเรียนสัมภาษณ์ในขณะที่หลวงปู่ มีอายุ 98 ปี

ซึ่งทำให้ทราบข้อมูลสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่ไม่ได้มีการบันทึกมาก่อนหน้านั้นว่า เมื่อปี พ.ศ. 2489 พระอุดมญาณโมลีเป็นผู้ที่ได้รับพระบัญชาจากสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ วัดบวรนิเวศวิหาร ให้มาอัญเชิญพระแก้วมรกตจากถ้ำฤาษีสมบัติ ที่เมืองเพชรบูรณ์กลับไปยังกรุงเทพมหานคร ได้ความว่า

“…เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ มีพระบัญชาให้หลวงพ่อซึ่งในขณะนั้นสอบได้เปรียญธรรม 4 ประโยค จำพรรษาอยู่ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ให้เป็นผู้เดินทางไปอัญเชิญพระแก้วมรกตที่ได้อัญเชิญไปประดิษฐานอยู่ในถ้ำแห่งหนึ่งของจังหวัดเพชรบูรณ์ ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2

โดยเดินทางออกจากกรุงเทพฯ ไปกับลูกศิษย์คนหนึ่งและหม่อมเจ้าหรือหม่อมราชวงศ์? จากสำนักพระราชวังคนหนึ่ง ซึ่งจำไม่ได้เพราะทุกคนเสียชีวิตหมดแล้ว เดินทางโดยรถไฟสายกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ไปลงที่สถานีรถไฟตะพานหิน จังหวัดพิจิตร แล้วนั่งรถยนต์ ซึ่งขณะนั้นใช้ฟืนถ่านต้มหม้อน้ำให้เดือด แล้วไอน้ำดันเครื่องยนต์ทำงานขับเคลื่อนล้อรถ เดินทางไปถึงเพชรบูรณ์หนทางลำบากมาก…

…การอัญเชิญพระแก้วมรกตในครั้งนี้มีทรัพย์สินอย่างอื่นด้วย คือ ทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ และสมบัติอื่นๆ อันมีค่าของชาติ” [10]-[12]

จากข้อมูลดังกล่าวนี้ จึงทำได้รู้ว่าพระแก้วมรกตองค์จริงได้เคยถูกอัญเชิญย้ายจากกรุงเทพมหานครมาที่จังหวัดเพชรบูรณ์มาก่อนหน้านี้ พร้อมกับทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ที่มีค่าจำนวนมาก ซึ่งไม่มีใครรู้ว่ามีอะไรบ้าง มาจากสถานที่ใด พระราชวังใด และขนย้ายมาตั้งแต่เมื่อไหร่ ไปถูกซ่อนเอาไว้ที่ถ้ำแห่งนี้เป็นเวลาหลายปี ในสมัยที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี [10]-[12]

ถ้าปราศจากบทสัมภาษณ์ของ พระอุดมญาณโมลี (หลวงปู่จันทร์ศรี จนฺททีโป) เมื่อปี พ.ศ. 2552 นี้ ก็คงจะไม่เหลือพยานสำคัญที่จะมาต่อจิ๊กซอว์ทางประวัติศาสตร์ในเรื่องประเด็นผลประโยชน์ในทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ที่สำคัญครั้งนี้ได้เลย

ในขณะที่อีกด้านหนึ่ง รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ให้กระทรวงสาธารณสุข ย้ายมาอยู่ที่ “วังศุโขทัย “ ตั้งแต่วันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2485 โดยเช่าอาคาร ต่าง ๆ จาก สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ค่าเช่าเดือนละ 5,000 บาท กระทรวงสาธารณสุข ตั้งอยู่ที่วังศุโขทัย เป็นเวลานานถึง 8 ปี [13]

จนกระทั่งวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2487 แผนการย้ายเมืองหลวงไปจังหวัดเพชรบูรณ์ต้องเป็นอันต้องยุติลงไป เพราะสภาผู้แทนราษฎรไม่เห็นชอบด้วยเสียงข้างมาก 48 ต่อ 36 ในการลงมติเพื่อรับรอง พระราชกำหนดจัดระเบียบราชการบริหารนครบาล เพชรบูรณ์ พ.ศ. 2487 ด้วยเหตุผลว่า

“เพชรบูรณ์เป็นแดนกันดาร ภูมิประเทศเป็นป่าเขาและมีไข้ชุกชุม เมื่อเริ่มสร้างเมืองนั้นผู้ที่ถูกเกณฑ์ไปทำงานล้มตายลงนับเป็นพัน ๆ คน....” [9]

หลังจากนั้น จอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปลายเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2487 และประเทศญี่ปุ่นได้ยอมแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2488 ภายหลังจากการที่สหรัฐอเมริกาได้ทิ้งระเบิดปรมาณูที่เมืองฮิโรชิมา และเมืองนางาซากิ แต่พระแก้วมรกตและทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ก็ยังคงอยู่ที่ถ้ำฤาษีสมบัติ จังหวัดเพชรบูรณ์ เหมือนเดิม
ความสามัคคีร่วมมือกันในการกอบกู้ชาติไม่ให้ประเทศไทยเป็นประเทศผู้แพ้สงครามกลายเป็นหลักการใหญ่ ภายใต้ขบวนการเสรีไทย ซึ่งนำโดยนายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งได้ทำงานร่วมกับกลุ่มเจ้าซึ่งเป็นผู้นำเสรีไทยในหลายประเทศ จนสามารถฝ่าวิกฤติชาติได้

เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้มีการปรับความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นเป็นลำดับ และมีข้อตกลงที่หาทางคลี่คลายความขัดแย้งที่เคยเกิดขึ้นในอดีตอีกด้วย โดยเฉพาะข้อตกลงการออกกฎหมายนิรโทษกรรมปลดปล่อยนักโทษการเมืองให้กับ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาขุนชัยนาทนเรนทรและคนอื่นๆด้วย [14]

วันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2488 นายปรีดี พนมยงค์ ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ออกประกาศสันติภาพ ใจความว่าการประกาศสงครามต่อสหรัฐและบริเตนใหญ่เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2485 เป็นโมฆะ และประเทศไทยพร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับสหประชาชาติ ในการสถาปนาสันติภาพในโลกนี้

ในขณะที่อีกด้านหนึ่ง เพื่อที่จะไม่ต้องทำให้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม, หลวงวิจิตรวาทการ, พลตรีประยูร ภมรมนตรี, และนายสังข์ พัธโนทัย ต้องถูกฝ่ายสัมพันธมิตรบังคับนำส่งอาชญากรสงครามในประเทศไทยไปขึ้นศาลต่างประเทศ

รัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี ร่วมกับนายปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ จึงได้เร่งผลักดันให้มี พระราชบัญญัติ อาชญากรสงคราม พ.ศ. 2488 ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2488 [15] เพื่อที่ประเทศไทยจะได้มีศาลอาชญากรสงครามในการพิจารณาพิพากษาคดีอาชญากรสงครามในประเทศไทยได้เอง

วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2488 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 เสด็จนิวัตประเทศไทย และเนื่องจากพระองค์ทรงบรรลุนิติภาวะแล้ว จึงสามารถบริหาราชการแผ่นดินโดยไม่ต้องมีผู้สำเร็จราชการแผ่นดินอีก [16] โดยการเสด็จนิวัติประเทศไทยครั้งนี้ ทางราชการได้จัดพระที่นั่งบรมพิมาน ภายในพระบรมหาราชวังเป็นที่ประทับ

ต่อมาวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2489 ศาลฎีกาคดีอาชญากรสงคราม ได้มีคำพิพากษา เลขที่ 1/2489 สรุปความว่า พระราชบัญญัติ อาชญากรสงคราม พ.ศ. 2488 ไม่สามารถเอาผิดจำเลยทั้งสี่คนได้ เพราะเป็นการกระทำทีเกิดขึ้นก่อนกฎหมายประกาศบังคับใช้วันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2488 จอมพลป. พิบูลสงคราม และคณะจึงรอดพ้นการลงโทษคดีอาชญากรสงครามไปได้ [17]

อย่างไรก็ตามจากคำให้การในศาลอาชญากรสงครามของ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ในฐานะประธานคณะผู้สำเร็จราชการในช่วงเกิดเหตุก็เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ต่อการได้ข้อมูลเกี่ยวกับทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ โดยสาระสำคัญสรุปได้ 2 ประเด็นสำคัญว่า

ประเด็นแรก จอมพล ป. พิบูลสงคราม ในขณะที่เป็นนายกรัฐมนตรีได้เคยมาขอเงินพระราชทานจากประธานคณะผู้สำเร็จราชการไปใช้ เพื่อประโยชน์ส่วนตัวและครอบครัวหลายครั้ง ซึ่งไม่ได้ระบุว่าเป็นจำนวนเงินเท่าใด และประธานคณะผู้สำเร็จราชการก็ได้ยินยอมให้เงินพระราชทานไปด้วยความไม่เต็มพระทัย โดยขุนนิรันดรชัย ราชเลขานุการ ที่มาติดต่อนั้นใช้การพูดที่เป็นการข่มขู่กลายๆ [18]

ประเด็นที่สอง “ขุนนิรันดรชัย” ได้เคยนำเครื่องพระสำอางค์ของพระเจ้าแผ่นดินและสมเด็จพระราชินี ซึ่งไม่ได้อยู่ที่พระราชวังศุโขไทย ไปให้ครอบครัวจอมพล ป.ใช้โดยไม่ได้รับการอนุมัติจากประธานคณะผู้สำเร็จราชการอีกด้วย [18]

ซึ่งถ้าทำให้การนี้เป็นจริง ก็แปลว่ามีบัญชีทรัพย์สินอย่างน้อยก็ “เครื่องพระสำอางค์” และ “เงิน” ซึ่งเป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์ และหรือทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ย่อมสูญหายไปด้วยเพื่อประโยชน์ส่วนตัวและครอบครัวของจอมพล ป.พิบูลสงครามหรือไม่ และจะมีทรัพย์สินอื่นสูญหายไปเพื่อประโยชน์ส่วนตัวของคนในรัฐบาลจะมีมากกว่านี้อีกหรือไม่

(มีต่อ)

ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์



18 ธ.ค. 2563 ผู้จัดการออนไลน์
หัวข้อ: (ต่อ)ภารกิจคณะราษฎรยังไม่เสร็จ !? (ตอนที่ 7) ยึดวังศุโขไทย ซ่อนพระแก้วมรกต
เริ่มหัวข้อโดย: story ที่ 10 มกราคม 2021, 12:42:59
วันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2489 หลังคำพิพากษาศาลอาชญากรสงครามผ่านไป 1 วัน นายปรีดี พนมยงค์ เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 7


โดยมติเสียงข้างมากของสภาผู้แทนราษฎร แทนนายควง อภัยวงศ์ ที่ลาออกไปเพราะแพ้มติสภาที่เสนอกฎหมายที่รัฐบาลรับไม่ได้

โดยหลังจาก นายปรีดี พนมยงค์ เป็นนายกรัฐมนตรี แล้ว จึงเกิดการขนย้ายพระคลังสมบัติและอัญเชิญพระแก้วมรกตจากถ้ำฤาษีสมบัติ จังหวัดเพชรบูรณ์ที่ถูกนำไปซ่อนไว้ในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม กลับคืนมาที่ กรุงเทพมหานคร เสร็จสิ้นตั้งแต่วันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2489 ตามหนังสือแจ้งของ พันเอกหาญ อุดมสรยุทธ์ ลงวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 [10]-[12]

โดยปรากฏคำสัมภาษณ์ของ พระอุดมญาณโมลี (หลวงปู่จันทร์ศรี จนฺททีโป) เมื่อปี พ.ศ. 2552 ในขั้นตอนการขนย้ายกลับพระแก้วมรกต และทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ความตอนหนึ่งว่า

“โดยมีพิธีการอัญเชิญ มีทหารยืนเข้าแถวเป็นระเบียบ ตั้งแถวเป็นแนวยาวรอรับ มีนายทหาร มีทหารฝรั่งต่างชาติด้วย และมีทหารผิวดำคล้ายๆ ทหารจากแอฟริการ่วมในพิธีด้วย

โดยการอัญเชิญกลับในครั้งนั้น บรรทุกเดินทางโดยขบวนรถยนต์ของทางการทหารกลับกรุงเทพฯ ซึ่งหลวงพ่อก็ไม่ได้กลับพร้อมขบวนรถนั้น โดยในระหว่างนั้นหลวงพ่อได้ไปพักที่วัดมหาธาตุ ในตัวเมืองเพชรบูรณ์ พักอยู่เป็นเวลาประมาณ 7 วัน…” [10]-[12]

อย่างไรก็ตาม ก็มีเสียงเล่าลือในหมู่ชาวบ้านละแวกนั้นว่า ยังมีสมบัติอีกส่วนหนึ่งถูกซ่อนไว้ไม่ได้ขนกลับไป หรือว่าทหารลืมขนสมบัติกลับไป [10]

หนึ่งเดือนเศษผ่านไป นับแต่วันเสร็จสิ้นภารกิจอัญเชิญพระแก้วมรกต และทรัพย์สินอื่นๆกลับกรุงเทพ ก็เกิดเหตุโศกนาฏกรรมขึ้น เพราะ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 สวรรคตด้วยพระแสงปืน ณ พระที่นั่งบรมพิมาน ในตอนเช้าวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489

ในขณะเดียวกันก็มีการปล่อยข่าวโจมตีให้ร้ายเพื่อกำจัด นายปรีดี พนมยงค์ว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการลอบปลงพระชนม์ จนเป็นเหตุทำให้นายปรีดี พนมยงค์ ต้องตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีถึง 2 ครั้ง และการลาออกในครั้งหลังนี้ จึงได้ส่งไม้ต่อไปให้ พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้ซึ่งนายปรีดี พนมยงค์ให้ความไว้วางใจขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีในลำดับต่อมาเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2498

นับเวลาได้ 7 เดือน ภายหลังจากการเสร็จภารกิจในการย้ายพระแก้วมรกต และทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์จากถ้ำฤาษีสมบัติ จังหวัดเพชรบูรณ์กลับมาที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งไม่มีใครทราบว่ามีความครบถ้วนเพียงใด แต่ก็ได้เกิดสัญญาที่สำคัญในการ “เลิกแล้วต่อกัน” ในการคืนวังศุโขทัย ทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ และทรัพย์สินส่วนพระองค์ “ที่ยังเหลือ” คืนให้กับสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีตามมา

โดยวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2489 พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี ได้ทำสัญญาประนีประนอมระหว่างรัฐบาลกับสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี โดยมีสาระสำคัญสรุปว่า

บรรดาทรัพย์สินและหนี้สินทั้งหลายที่ผูกพันกันอยู่นั้น เป็นอันให้เลิกแล้วต่อกัน รัฐบาลได้มาแล้วเท่าไรก็เอาเท่านั้น ส่วนวังศุโขไทยจะให้แก่สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีประทับอยู่ไปจนกว่าจะสวรรคต (ซึ่งหมายความว่าไม่ยอมคืนให้) และรวมถึงการเจรจาที่มีมาก่อนหน้านี้ที่จะอัญเชิญพระบรมอัฐิของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวกลับคืนประเทศไทย

ต่อมาเดือนพฤศจิกายน 2490 พลโทผิน ชุณหะวัณ ซึ่งสนับสนุนจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ทำการรัฐประหารรัฐบาลพลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ และเป็นผลทำให้นายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ได้อีก 150 วัน

หลังจากนั้น นายควง อภัยวงศ์จึงถูกคณะรัฐประหารบังคับให้ลาออกภายใน 24 ชั่วโมง และทำให้จอมพล ป.พิบูลสงครมกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกรอบตั้งแต่วันที่ 8 เมษายน 2491 และรอบนี้เป็นนายกรัฐมนตรียาวนานถึง 9 ปี 161 วัน

หลังจากนั้นกว่าที่ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี จะเสด็จกลับมาประทับยังวังศุโขไทยอีกครั้ง ก็ยังไม่ใช่เรื่องง่าย โดยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีได้ทรงพระราชทานสัมภาษณ์เมื่อปี พ.ศ. 2516 ความตอนนี้ว่า

“ตอนที่ญี่ปุ่นบุกเมืองไทยนั้น ในหลวงสวรรคตแล้ว ทางรัฐบาลก็มีหนังสือไปอัญเชิญเสด็จฯกลับ แต่ฉันก็ไม่เคยนึกว่าจะได้กลับเมืองไทยหรอก จนกระทั่งเสร็จสงครามแล้ว ตอนกลับมาไม่มีบ้านอยู่หรอก เพราะวังศุโขทัยเขาใช้เป็นที่ตั้งกระทรวงสาธารณสุข ก็เลยต้องไปอาศัยอยู่วังสระปทุมถึง 2 ปี ถึงจะได้กลับมาอยู่ที่นี่ (วังศุโขทัย)ก่อนจะเข้าอยู่ต้องซ่อมเสียยกใหญ่”[8]

อย่างไรก็ตาม สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีก็ยังได้ทรงเล่าตัวอย่างเพิ่มเติมว่ามี “ทรัพย์สินส่วนพระองค์” บางอย่างที่มีคุณค่าแก่ความทรงจำและจิตใจในงานแต่งงาน แต่ก็ไม่ได้กลับคืนมาหรือหายไป ความว่า

“แม้แต่เครื่องยศ หีบทองอันหนึ่งที่พระมงกุฎฯพระราชทานให้ฉันในวันแต่งงาน ก็เก็บเอาไป จนเดี๋ยวนี้ก็ยังไม่ได้คืน”[8]

อ้างอิง
[1] “ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศพระราชทานนามวัง, เล่ม ๓๕, ตอน ๐ก, ๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๑, หน้า ๒๔๗
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2461/A/247.PDF

[2] คำพิพากษาศาลแพ่ง คดีหมายเลขดำที่ 242/2482 คดีหมายเลขแดงที่ 404/2482

[3] ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติ จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2479, เล่ม 54, ตอน 45ก, 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2480, หน้า 778
https://dl.parliament.go.th/bitstream/handle/lirt/17086/SOP-DIP_P_401313_0001.pdf?sequence=1

[4] รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 12 กระทู้ถามเรื่อง ที่ดินของพระมหากษัตริย์ ของนายเลียง ไชยกาล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรถามนายกรัฐมนตรี วันที่ 27 กรกฎาคม 2480

[5] คุณหญิงมณี สิริวรสาร, ชีวิตนี้เหมือนฝัน ฉบับสมบูรณ์ เล่ม 1 และ เล่ม 2/ นรุตม์ เรียบเรียง, พิมพ์ครั้งที่ 2-กรุงเทพฯ, อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง,/2558 ISBN 978-616-18-0915-7, หน้า 306-307

[6] พระสุทธิอรรถนฤมนตร์ (สุทธิ เลขยานนท์) “บันทึกเรื่องการถูกให้ออกจากราชการและกลับเข้ามาใหม่”, ในหนังสือ “เที่ยวเมืองพระร่วง” พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พระสุทธิอรรถนฤมนตร์ พิมพ์ครั้งที่ 10, 1,000 เล่ม, พ.ศ. 2521 (โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ), เลขหมู่หนังสือ 915.9365 หน้า 61-65

[7] พระราชบันทึก ทรงเล่าของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี, เบื้องแรกประชาธิปตัย เล่ม 1, สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย, โรงพิมพ์มติชนปากเกร็ด, พิมพ์ครั้งที่ 3 มิถุนายน 2560, ISBN: 978-616-91915-8-2, หน้า 30-31

[8] เรื่องเดียวกัน, หน้า 32

[9] จุฑามาศ ประมูลมาก เรียบเรียง, นรนิติ เศรษฐบุตร และนิยม รัฐอมฤตผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ, การเตรียมการย้ายเมืองหลวงไปจังหวัดเพชรบูรณ์, เว็บไซต์สถาบันพระปกเกล้า
http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=การเตรียมการย้ายเมืองหลวงไปจังหวัดเพชรบูรณ์

[10] ธีระวัฒน์ แสนคำ, อัญเชิญ “พระแก้วมรกต” หนีสงครามไปประดิษฐานในถ้ำพร้อมสมบัติอีกอื้อ ?!?,ศิลปวัฒนธรรม, ฉบับมิถุนายน 2558, เผยแพร่ในเว็บไซต์วันที่ 17 สิงหาคม 2563
https://www.silpa-mag.com/history/article_17347

[11] วีรยุทธ วงศ์อุ้ย. “ย้อนอดีต…‘พระอุดมญาณโมลี’ อัญเชิญ ‘พระแก้วมรกต’ จากเพชรบูรณ์กลับกรุงเทพฯ สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 (ตอนที่ 1),” ใน หนังสือพิมพ์เสียงเพชร. ปีที่ 4 ฉบับที่ 38, สิงหาคม 2552

[12] วีรยุทธ วงศ์อุ้ย. “ย้อนอดีต…‘พระอุดมญาณโมลี’ อัญเชิญ ‘พระแก้วมรกต’ จากเพชรบูรณ์กลับกรุงเทพฯ สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 (ตอนที่ 2),” ใน หนังสือพิมพ์เสียงเพชร, ปีที่ 4 ฉบับที่ 38 พฤศจิกายน 2552

[13] ประวัติกระทรวงสาธารณสุข, เว็บไซต์กระทรวงสาธารณสุข
https://www.moph.go.th/index.php/about/moph

[14] ไสว สุทธิพิทักษ์, ดร.ปรีดี พนมยงค์, บริษัท บพิธการพิมพ์ จำกัด, จำหน่ายโดย บริษัท เคล็ดไทย จำกัด, พิมพ์ครั้งที่สอง, เมษายน พ.ศ. 2526 หน้า 550-551

[15] ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติ อาชญากรสงคราม พุทธศักราช 2488, ตอนที่ 58, เล่มที่ 62, หน้า 591, วันที่ 11 ตุลาคม 2488
https://dl.parliament.go.th/bitstream/handle/lirt/13367/SOP-DIP_P_401936_0001.pdf?sequence=1

[16] ราชกิจจานุเบกษา,ประกาศประธานสภาผู้แทนราษฎร เรื่อง ตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์, เล่ม 62, ตอน 52ก, 20 กันยายน พ.ศ. 2488, หน้า 559
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2488/A/052/559.PDF

[17] ธโนชัย ปรพัฒนชาญ ผู้เรียบเรียง, จเร พันธุ์เปรื่อง ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ, อาชญากรสงคราม, เว็บไซต์สถาบันพระปกเกล้า
http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=อาชญากรสงคราม

[18] คณะกรรมการดำเนินงานฉลอง 100 ปี ชาตกาล นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส, คำให้การต่อศาลอาชญากรสงคราม เอกสารประวัติศาสตร์,พิมพ์ครั้งแรก พฤศจิกายน 2545, พิมพ์ที่เจริญวิทย์การพิมพ์, เลขมาตฐานสากลประจำหนังสือ 974-7834-35-9 หน้า 122-124

18 ธ.ค. 2563 ผู้จัดการออนไลน์
หัวข้อ: ภารกิจคณะราษฎรยังไม่เสร็จ !? (ตอนที่ 8) จากข่าวปล่อย “ขายพระแก้วมรกต”
เริ่มหัวข้อโดย: story ที่ 10 มกราคม 2021, 12:47:24
ภารกิจคณะราษฎรยังไม่เสร็จ !? (ตอนที่ 8) จากข่าวปล่อย “ขายพระแก้วมรกต” ถึงพระราชบันทึกลับในศึกนิติสงครามชิงพระราชทรัพย์ / ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

ณ บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

ในปลายปี พ.ศ. 2563 ได้มีความพยายามอีกครั้งหนึ่ง จากคนบางกลุ่มที่ปล่อยข่าวให้ร้ายว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงมีความคิดจะขายพระแก้วมรกต

โดยข่าวดังกล่าวนี้เป็นการตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์นิวยอร์ก ไทมส์ เมื่อวันอังคารที่ 22 มกราคม ค.ศ. 1935 (พ.ศ. 2478) ซึ่งเป็นอ้างแหล่งข่าวจากสำนักข่าวเอพีอีกทอดหนึ่ง โดยข่าวดังกล่าวนั้นแปลเป็นภาษาไทยมีดังนี้

พาดหัวว่า “กษัตริย์สยามทรงขู่ว่าจะขายทั้งหมด”

และโปรยข่าวว่า “พระองค์ตรัสว่าพระองค์จะละทิ้งทรัพย์สมบัติอันมหาศาลในการเคลื่อนไหวครั้งใหม่เพื่อพระราชอำนาจอันสมบูรณ์” หลังจากนั้นก็ได้ลงรายละเอียดของเนื้อข่าวว่า เป็นรายงานที่ไม่ได้สัมภาษณ์จากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวโดยตรง หากแต่เป็นการได้รับรายงานจากข่าวปล่อยที่อ้างเอาว่าเป็นข่าวที่น่าเชื่อถือได้ ทั้งๆ ที่ข่าวนี้มีวัตถุประสงค์อย่างชัดเจนว่าต้องการทำลายชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยมีคำแปลเนื้อความดังนี้

“กรุงเทพ, สยาม, วันอังคารที่ 22 มกราคม (AP) - พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (King Prajadhipok) ได้ทรงขู่ว่าจะขายทรัพย์สินที่ทรงครอบครองอยู่ในสยามอย่างมากมายในนาทีสุดท้าย เพื่อเคลื่อนไหวนำรัฐบาลให้อยู่ในร่องในรอย รายงานในวันนี้จากสำนักข่าวที่น่าเชื่อถือได้
มีรายงานว่าพระองค์ทรงเคยตรัสว่าจะลาออกไปนอกประเทศตลอดกาล เว้นเสียแต่ว่าถ้ารัฐบาลจะยอมทำตามข้อเรียกร้องของพระองค์เมื่อเดือนตุลาคม (ผู้แปล-พ.ศ. 2477) ในการคืนพระราชอำนาจในการควบคุมเกี่ยวกับการลงโทษประหารชีวิต

มีรายงานว่า อังกฤษแสดงความสนใจในการซื้อทรัพย์สินของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ไม่เพียงพระราชวัง วัด (shrine) ที่เต็มไปด้วยความงดงามของอารยธรรมตะวันออก และที่ดินอันอุดมสมบูรณ์เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึง "พระแก้วมรกต" อัญมณีอันมีชื่อเสียง และเปรียบเสมือนเป็นสัญลักษณ์แห่งความภาคภูมิ และความยิ่งใหญ่ของชาติสยาม พระแก้วมรกตเป็นหินสุกใสขนาดใหญ่ที่มีด้านหน้าเป็นรูปพระพุทธเจ้า และถือเป็นทรัพย์สินของกษัตริย์

ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงได้รับผลตอบแทนจากทรัพย์สินของพระองค์ปีละ 500,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ

พระองค์ประทับอยู่ที่ประเทศอังกฤษ ตั้งแต่การผ่าตัดพระจักษุเมื่อฤดูร้อนที่แล้ว โดยคณะผู้แทนทางการทูตของสยามเดินทางมายังกรุงลอนดอนเพื่อโน้มน้าวให้พระองค์กลับประเทศ ขณะที่ยังมีอีกหลายกลุ่มที่กระจายตัวไปยังแหล่งพักผ่อนอื่น ๆ ในยุโรป ขณะที่รัฐบาลในสยามก็กำลังร่างคำตอบสำหรับข้อเรียกร้องของพระองค์

ปัญหาเกิดขึ้นเมื่อมีการใช้กำลังระหว่างที่พระมหากษัตริย์ประทับอยู่นอกประเทศบังคับให้พระญาติบางส่วนออกจากตำแหน่งราชการและแก้ไขรัฐธรรมนูญ พระญาติเหล่านั้นได้ร่วมกับกองกำลังอีกส่วนหนึ่งพยายามที่จะต่อต้านโดยไม่ประสบผลสำเร็จ

เกิดข่าวลือกันมากมายเกี่ยวกับการคาดเดาผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งต่อไปหากพระมหากษัตริย์ทรงสละราชสมบัติตามคำขู่จริง มีตัวเลือกอยู่สองสามทาง ทายาทโดยชอบธรรม คือหนึ่งในพระราชนัดดา (ไม่มีมงกุฎราชกุมาร) จะไม่ยอมรับตำแหน่ง ส่วนพระราชนัดดาอีกพระองค์ คือพระองค์เจ้าจุลจักรพงศ์นั้น เป็นที่ยอมรับ แต่มีพระมารดาเป็นชาวรัสเซีย จึงทำให้ไม่สามารถดำรงตำแหน่งได้” [1]

นอกจากเนื้อข่าวจะได้อ้างพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวโดยไม่ได้เป็นการสัมภาษณ์พระองค์โดยตรง แม้จะมีความจริงที่ว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวอาจจะทรงความคิดที่ว่าจะสละราชสมบัติ แต่ข่าวที่มีการอ้างเรื่องชาวอังกฤษจะซื้อทรัพย์สินรวมถึงพระแก้วมรกตจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวในเนื้อข่าวเดียวกันเป็นคนละเรื่องกัน

เพราะไม่เคยมีข้อความว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจะเคยมีพระราชประสงค์ขายทรัพย์สินของชาติเช่นนั้นเลย อย่างไรก็ตาม มีคำถามว่าเนื้อหาในหนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าวนี้ มีเนื้อหาเกี่ยวกับเหตุการณ์สำคัญหลายเรื่อง เช่น การสละราชสมบัติ ข่าวการสืบสันตติวงศ์ ข่าวเรื่องพระราชอำนาจในการพระราชทานอภัยโทษนักโทษการเมือง รวมถึงการอ้างถึงเหตุการณ์ข้อเรียกร้องในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2477 นั้นมาจากแหล่งข่าวอย่างไร

เมื่อตรวจสอบแล้วพบว่า ข่าวทั้งหมดเป็นการบิดเบือนโดยดัดแปลงต่อเติมเสริมแต่งจาก “พระราชบันทึกลับ” ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ที่มีต่อรัฐบาลภายใต้การนำของพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรีที่มีมาก่อนหน้านี้

คำถามต่อมามีอยู่ว่า เหตุการณ์ระหว่างพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวกับรัฐบาล ซึ่งมีมาตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2477 นั้นมีอะไรเกิดขึ้น สำนักข่าวดังกล่าวจึงได้นำมาเสนอข่าวในวันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2478

โดยข่าวดังกล่าวนี้ได้มีการเผยแพร่ประมาณ 9 วัน “ก่อน” ที่สภาผู้แทนราษฎรจะได้มีการจัดประชุมครั้งที่ 16/2477 (สามัญ) สมัยที่ 2 เมื่อวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2478 โดยเป็นการประชุม “ด่วนและลับ” เพื่อเปิดเผยเอกสารเรื่องพระราชบันทึกของพระมหากษัตริย์นี้ [2]

เป็นไปได้หรือไม่ว่าในระหว่างที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประทับอยู่ที่ประเทศอังกฤษ ข่าวดังกล่าวนี้เป็นการเผยแพร่นำ “ข่าวด่วนและลับ” ซึ่งเป็นเอกสารเตรียมการประชุมสภาผู้แทนราษฎรไปดัดแปลงต่อเติมแล้วปล่อยข่าวดักหน้า เพื่อทำลายชื่อเสียงของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวก่อน และปูพื้นให้สังคมมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับการขายสมบัติของชาติ หรือไม่

การปล่อยข่าวเช่นนี้ เพื่อนำไปสู่การแสวงหาความชอบธรรมที่จะทำ “นิติสงคราม” ย้ายอำนาจของทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ให้มาอยู่ภายใต้การบริหารจัดการของนักการเมืองในเวลาต่อมา ก่อนที่จะมีเหตุการณ์ที่นักการเมืองแห่รุมซื้อที่ดินพระคลังข้างที่ในราคาถูกๆ ตามมา จนกลายเป็นการกระทู้ตั้งคำถามและการอภิปรายที่อื้อฉาวที่สุดครั้งหนึ่งของประวัติศาสตร์คณะราษฎร เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2480 ของนายเลียง ไชยกาล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดอุบลราชธานี ใช่หรือไม่

ทั้งนี้ เพราะไม่ปรากฏข้อความใดเลย ในพระราชบันทึกลับของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวว่าทรงขายทรัพย์สมบัติ ไม่ว่าพระราชวัง วัด หรือพระแก้วมรกต ฯลฯ [2]

ในทางตรงกันข้าม “พระราชบันทึกลับ” กลับระบุถึงความคิดที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจะสละราชสมบัติ หากนักการเมืองคิดผูกขาดอำนาจสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ประเภทที่ 2 ไปเป็นของคณะราษฎรกันเอง

โดยก่อนหน้านั้น ทรงเคยมีพระราชบันทึกว่าจะสละราชสมบัติ หากรัฐบาลมีความคิดจะชิงทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ไปบริหารกันเองและจัดสรรเงินประจำปีให้กับองค์พระมหากษัตริย์แบบอังกฤษ หรือมีความคิดของรัฐบาลยกเลิกทหารพระราชวังจนเกิดความไม่ปลอดภัยต่อองค์พระมหากษัตริย์ รวมทั้งการลงโทษ

นักการเมืองโดยการตั้งศาลพิเศษขึ้นมากันเอง ตลอดจนความคิดที่จะจับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นองค์ประกันเพื่อบังคับให้พระองค์ทำตามที่รัฐบาลต้องการ

เนื้อหาในพระราชบันทึกลับตามที่ระบุข้างต้นนี้อยู่ในการประชุมลับในสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2478 แต่กลับไม่มีเนื้อหาเหล่านี้เผยแพร่ในสำนักข่าวต่างประเทศเมื่อวันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2478 เลย

เนื้อหาที่ทรงไม่เห็นด้วยกับเรื่องการเลือกสภาผู้แทนราษฎรโดยคณะราษฎรกันเอง โดยไม่มีการเพิ่มพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในการคัดค้านกฎหมาย มีข้อความบางตอนในพระราชบันทึกลับเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2477 [2] ที่ทรงมีต่อคณะรัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรดังต่อไปนี้

“...ประเทศเรายังไม่คุ้นเคยกับการปรึกษาราชการในสภา จึงควรให้มีสมาชิกประเภทที่ 2 ซึ่งเลือกตั้งโดยคุณวุฒิเป็นผู้มีวิชาสูง หรือเคยชินกับงานแผ่นดิน เพื่อเป็นผู้นำทางให้แก่สมาชิกประเภทที่ 1 ที่ราษฎรเลือกตั้งขั้นมา หลักการอันนี้พอฟังได้ ถ้าได้ทำกันตามนั้นจริง [3]

แต่เมื่อได้ตั้งกันขึ้นแล้วหาเป็นเช่นนั้นไม่ กลับกลายเป็นเลือกตั้งแต่พวกที่อยู่ในคณะผู้ก่อการเป็นส่วนมาก และความจริงหาได้มีคุณวุฒิ หรือความเคยชินกับการงานดีไปกว่าสมาชิกประเภทที่ 1 เลย [3]

เมื่อการเป็นดังนี้ ก็จำเป็นอยู่เองที่จะมีผู้กล่าวว่า คณะรัฐบาลเลือกตั้งคนเหล่านั้น เพื่อความประสงค์ที่จะกุมอำนาจไว้ให้ได้เท่านั้น แม้ราษฎรจะเห็นด้วยกับนโยบายของตนหรือไม่ก็ตามที ข้อความในมาตรา 2 แห่งรัฐธรรมนูญก็เป็นหมันไปทันที เป็นการเขียนเพื่อตบตา เพื่อหลอกกันเล่นเท่านั้นเอง [3],[4]

...สมบูรณาญาสิทธิของคณะ ย่อมไม่มีใครนับถือ มีแต่ต้องทนไป เพราะกลัวอาชญา และกลัวรถเกราะและปืนกล น่ากลัวว่าความไม่พอใจจะมีอยู่เรื่อยไป ข้าพเจ้าต้องขอให้แก้ไข [5]

ข้าพเจ้าได้พูดไว้นานแล้วว่า ข้าพเจ้ายอมสละอำนาจของข้าพเจ้าให้ราษฎรทั้งปวง แต่ไม่สมัครที่จะสละอำนาจให้แก่บุคคลใด บุคคลหนึ่ง หรือคณะใดคณะหนึ่ง เว้นแต่จะรู้แน่ว่าเป็นความประสงค์ของประชาชนอันแท้จริงเช่นนั้น” [5]

ส่วนในประเด็นการเพิ่มพระราชอำนาจในการคัดค้านกฎหมาย ก็เพราะเนื่องด้วยมีสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 มาจากคณะราษฎรเลือกกันเองทั้งหมดถึงครึ่งหนึ่ง จึงควรต้องเพิ่มพระราชอำนาจในการถ่วงดุลกันให้ได้ครึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกของประชาชน ถ้าทำไม่ได้ก็ควรให้เลือกตั้งทางตรงไปให้หมด ปรากฏในพระราชบันทึกลับฉบับเดียวกันความบางตอนว่า

“...ถ้าจะให้โอกาสให้ประมุขของประเทศคัดค้าน (Veto) ได้แล้ว ก็มักจะต้องให้สภาลงมติเสียงข้างมาก 2 ใน 3 หรือ 3 ใน 4 แล้ว จึงจะลบล้างเสียงคัดค้านของประมุขได้ (ดูตัวอย่างสหปาลี-รัฐอเมริกา) ในประเทศสยามก็เช่นเดียวกัน มีผู้ที่เห็นควรให้มีเสียงข้างมากอย่างน้อย 2 ใน 3 เพื่อลบล้างคำคัดค้านของพระมหากษัตริย์จึงจะควร การนับเอาเสียงข้างมากเฉยๆ (Simple majority) เช่นที่เป็นอยู่นี้ เท่ากับไม่ได้ถวายพระราชอำนาจในทางคัดค้านเลย

และเมื่อสภาฯ มีสมาชิกซึ่งรัฐบาลเลือกตั้งขึ้นเองถึงครึ่งหนึ่งเช่นนี้ แปลว่าสภาฯอาจลบล้างคำคัดค้านของพระมหากษัตริย์ได้ โดยเสียงของสมาชิกซึ่งราษฎรเลือกตั้งจริงๆเพียง 1 เสียง

ซึ่งแปลว่า สภาฯอาจสนับสนุนนโยบายซึ่งราษฎรไม่ได้เห็นด้วยจริงๆ หรือไม่ต้องการเลยจนนิดเดียวถ้าจะให้เป็นว่าเอาเสียงราษฎรเป็นใหญ่จริงๆ จะต้องให้มีเสียงข้างมาก 3 ใน 4 เพื่อลบล้างคำคัดค้านจึงจะควร แปลว่าอย่างน้อยต้องมีเสียงสมาชิกที่ราษฎรเลือกจริงๆ ครึ่งหนึ่งเห็นด้วยกับการลบล้างนั้น โดยเหตุเหล่านี้ ข้าพเจ้าเห็นควรแก้รัฐธรรมนูญในข้อนี้ให้เป็นว่า “ถ้าและสภาฯลงมติตามเดิมโดยมีเสียงข้างมาก 3 ใน 4 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด” ฯลฯ หรือจะเติมข้อความให้ได้ผลเช่นนั้นลงไปใน “บทฉะเพาะกาล”ก็ได้ คือถ้าเลิกใช้บทฉะเพาะกาลเมื่อไหร่ ก็ให้เลิกข้อความนั้นได้
เพราะถ้าสภาฯเป็นสภาที่ราษฎรเลือกเองทั้งหมดแล้ว ข้อรังเกียจตามที่กล่าวแล้วย่อมหมดไป ถึงกระนั้นก็ดี การเหนี่ยวรั้งการออกกฎหมายหรือดำเนินนโยบายนั้นก็ยังควรมีอยู่อย่างใดอย่างหนึ่ง แม้ในประเทศอื่นๆเขาก็เห็นความจำเป็นจึงมีสภาสูง (Senate) เพื่อเหนี่ยวรั้งเป็นต้น โดยฉะเพาะในประเทศสยาม เรายังไม่คุ้นเคยแก่วิธีการปกครองอย่างใหม่นี้ ทำให้รู้สึกความจำเป็นในข้อนี้มากขึ้น

การที่ข้าพเจ้าร้องขอให้มีการเปลี่ยนแปลงข้อนี้ ไม่ใช่เพราะข้าพเจ้าต้องการอำนาจ เพราะข้าพเจ้าเบื่อหน่ายต่อการเมืองเต็มที ที่ร้องขอให้แก้ ก็เพราะข้อนี้เป็นข้อที่ทำให้คนไม่พอใจในรัฐธรรมนูญตามที่เป็นอยู่นี้

นอกจากนี้ข้าพเจ้ารู้สึกว่าข้าพเจ้าเป็นผู้ที่ต้องรับบาป รับความซัดทอดและรับผิดชอบโดยไม่มีอำนาจเลย จะเหนี่ยวรั้งการกระทำของรัฐบาลหรือของสภาฯมิได้เลย แต่ถ้ารัฐบาลทำอะไรที่ไม่ถูกใจคน ข้าพเจ้าก็ถูกติเตียนว่า “ทำไมปล่อยให้ทำไปได้ ทำไมไม่ห้าม” ซึ่งเป็นของที่น่ารำคาญเต็มทน

และบางครั้งหนังสือพิมพ์ที่สนับสนุนรัฐบาลก็ชอบพูดซัดทอดด้วย เช่นว่า “ทรงเห็นด้วยและทรงยอมแล้ว” และเมื่อคัดค้านให้เป็นผลจริงๆ ไม่ได้แล้ว ยังซัดทอดกันอยู่อย่างนี้ ก็เป็นการหนักมือมาก

ถ้าไม่อยากจะถวายอำนาจในการคัดค้านแก่พระมหากษัตริย์ให้มากขึ้น จะเปลี่ยนว่าถ้าพระมหากษัตริย์ทรงคัดค้านกฎหมายใดๆแล้ว ต้องให้มีการเลือกตั้งกันใหม่ แล้วเปลี่ยนวิธีเลือกสมาชิกประเภทที่ 2 หรือกำหนดวิธีการให้ราษฎรออกเสียโดยตรงก็ดีเหมือนกัน แต่ถ้าปล่อยให้เป็นอยู่อย่างเดี๋ยวนี้ ย่อมมีเสียงอยู่ได้เสมอว่า การปกครองตามที่เป็นอยู่เดี๋ยวนี้ เป็นลัทธิเผด็จการทางอ้อมๆ ไม่ใช่ “democracy” จริงๆเลย”[6]

นอกจากนั้นในพระราชบันทึกลับในเรื่องที่มีความสำคัญอีกหลายเรื่อง ได้แก่ ทรงขอให้รัฐบาลให้เสรีภาพในการพูดการเขียนโฆษณาจริงๆ ,ทรงขอให้เสรีภาพในการประชุมโดยเปิดเผยและการตั้งสมาคม

ทรงขอให้ยกเลิกพระราชบัญญัติป้องกันรัฐธรรมนูญ เพราะขัดกับหลักเสรีภาพในร่างกายของบุคคล เพราะผู้ที่ถูกข้อกล่าวหาจะถูกนำตัวขึ้นพิจารณาโดยคณะกรรมการที่ไม่ใช่ศาล และควรจะให้พิจารณาคดีอย่างเปิดเผยและให้โอกาสจำเลยมีทนายต่อสู้ในคดีอย่างเต็มที่ ไม่ใช่ตัดสินกันอย่างงุบงิบที่อาจขาดความยุติธรรม อันเป็นการกดขี่อย่างร้ายแรง

ทรงขอให้ลดและอภัยโทษนักการเมือง โดยนักโทษประหารชีวิตให้เปลี่ยนเป็นโทษเนรเทศ 10 ปี, นักโทษทางการเมืองจำคุกตลอดชีวิตให้เปลี่ยนเป็นโทษเนรเทศ 5 ปี, ส่วนนักโทษทางการเมืองอื่นๆ ให้พ้นโทษทั้งหมด

ในขณะที่ข้าราชการที่ถูกลงโทษทางการเมืองเพราะกล่าวร้ายรัฐบาล หลายร้อยหลายพันคน ขอให้ได้กลับได้รับบำเหน็จบำนาญตามเกณฑ์ในวันที่ถูกปลด ในขณะที่ข้าราชการที่ “ถูกสงสัย” ว่าเกี่ยวข้องกับ “กบฏ”ครั้งใดๆ ก็ตาม ขอให้งดการฟ้องร้องจับกุมและอภัยโทษให้หมดและตั้งต้นกันใหม่

ส่วนอีกประการหนึ่งขอให้รัฐบาลให้คำมั่นเป็นลายลักษณ์อักษรว่าจะไม่ตัดกำลังและงบประมาณของทหารรักษาวังให้น้อยกว่าเท่าที่มีอยู่ความในพระราชบันทึกความตอนหนึ่งว่า

“ในการที่ข้าพเจ้าร้องขอให้มีทหารรักษาวังไว้ตามเดิมนี้ ก็เพราะว่าบ้านเมืองยังอยู่ในเขตต์เปลี่ยนแปลง ยังไม่มีอะไรแน่นอน ความคิดความเห็นของคนและคณะต่างๆยังพลุกพล่านเต็มที จึงอยากให้มีกรมทหารที่พอจะควบคุมมิให้ยุ่งเหยิงในการเมืองได้ เอาไว้รักษาพระราชวัง และรักษาพระองค์โดยใกล้ชิดเท่านั้น เพื่อเป็นการอุ่นใจ สำหรับข้าพเจ้าเองและเจ้านายพอสมควร

ถ้าหากเหตุการณ์ในบ้านเมืองสงบเรียบร้อย และการปกครองแบบรัฐธรรมนูญเข้าสู่ฐานะปกติ และประชาชนเคยชินและเข้าใจในวิธีกาปกครองแบบใหม่นี้ดีแล้ว ก็อาจเปลี่ยนแปลงฐานะของกรมทหารนี้ไปได้ ตามแต่จะเห็นสมควรในเวลานั้น

ข้อไขต่างๆ นี้ ถ้ารัฐบาลตกลงจะรับรองแล้ว ขอให้เสนอสภาฯให้ลงมติรับรองด้วยทุกข้อ

ข้อไขต่างๆ นี้ ต้องให้ข้าพเจ้าพอใจว่าได้จัดการให้เป็นไปตามที่ร้องขอมาจริงๆแล้ว ข้าพเจ้าจึงจะกลับเข้าไปในประเทศสยาม” [7]

ในรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในครั้งนี้ ยังทำให้ทราบว่า ก่อนที่จะได้พระราชทานบันทึกฉบับลงวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2477 นั้น พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี ได้รับหนังสือจากอัครราชทูตสยาม ณ กรุงปารีส ตั้งแต่เมื่อวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2477 กับพระราชบันทึกอีก 2 ฉบับ ที่ได้พระราชทานให้แก่อัครราชทูตสยาม ณ กรุงปารีส เพื่อทรงใช้เป็นคนกลาง เพราะทรงปรารภว่า การที่จะพระราชทานตรงมายังรัฐบาลนั้น จะหาทางไกล่เกลี่ยกันยาก [8]

กล่าวโดยสรุปในพระราชบันทึก 2 ฉบับ ที่ได้ส่งมายังรัฐบาลเมื่อวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2477 มีดังรายละเอียดเพิ่มเติม ซึ่งมีเนื้อหากล่าวโดยสรุปดังนี้

ในพระราชบันทึกฉบับที่ 1 นั้นได้ทรงขอร้อง 3 เรื่อง ได้แก่ ให้งดไม่ว่ากล่าวคดีกบฏสำหรับหม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์ และนายทหารรักษาวัง, งดการเลิกทหารรักษาวัง, และให้งดเปลี่ยนแปลงรูปโครงสร้างของกระทรวงวังใหม่ [9]

ส่วนพระราชบันทึกฉบับที่ 2 ทรงขอร้อง 4 เรื่องได้แก่ ให้ยอมตามข้อขอร้อง 3 ข้อในพระราชบันทึกฉบับที่ 1, ให้บุคคลต่างๆในรัฐบาลเลิกกล่าวร้ายทับถมการงานของพระราชวงศ์จักรี และของรัฐบาลเก่า และขอให้ปราบปรามผู้ที่ดูถูกพระราชวงศ์อย่างเข้มงวด, ขอให้แสดงความเคารพนับถือในองค์พระมหากษัตริย์โดยชัดเจน, และพยายามระงับความไม่สงบต่างๆ โดยตัดต้นไฟ คือ การไม่ดำเนินโครงการเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมอย่างสุดโต่ง และให้ลดหย่อนผ่อนโทษทางการเมือง [9]

อย่างไรก็ตาม พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี ได้กราบทูตตอบผู้สำเร็จราชการ เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2477 ว่ารัฐบาลพร้อมจะทำตามพระราชประสงค์ และมีข้อความบางประการที่ทรงเข้าพระทัยผิด

โดยเฉพาะในพระราชบันทึกฉบับที่ 1 นั้น ได้แสดงให้เห็นว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระราชบันทึกถึงความไม่น่าไว้วางใจในสถานการณ์ที่มีความอันตรายส่วนพระองค์ ภายใต้บรรยากาศรัฐบาลที่เป็นเผด็จการทางอ้อม รวมถึงความไม่น่าไว้วางใจต่อรัฐบาลมาก่อนหน้านี้ ความตอนหนึ่งว่า

“1. รัฐบาลขอปลด ม.จ.ศุภสวัสดิ์ และนายทหารรักษาวังอีกหลายนายออกจากตำแหน่ง โดยหาว่ามัวหมองเกี่ยวกับการกบฏ เรื่องนี้เป็นการผิดไปจากความตกลงที่ฉันได้ทำไว้กับพระยาพหลฯ และพระยาพหลฯ กับ หลวงพิบูลฯ ได้รับคำไว้ว่าจะไม่ทำอะไรกับนายทหารเหล่านั้น

การที่เปลี่ยนไปเช่นนี้เป็นการกลับคำ และไม่เชื่อคำพูดของฉันที่ได้ยืนยันว่านายทหารเหล่านี้ ไม่ได้ติดต่อกับบวรเดช แต่ที่ได้ติดต่อกับพระยาสุรพันธ์ฯ และนายทหารที่เมืองเพ็ชรบุรีจริง เพื่อเป็นการรักษาพระองค์ เรื่องนี้จำต้องขอให้รัฐบาลถอนคำขอปลดนายทหารเหล่านี้ และขอให้สัญญาว่าจะไม่รื้อฟื้นขึ้นมาเอาโทษภายหลัง
ถ้าไม่ยอมข้อนี้ ฉันเห็นว่าเป็นการกระทบกระเทือนต่อตัวฉันมาก เท่ากับว่าฉันอุดหนุนบวรเดชทั้งอัน และถ้าเป็นเช่นนั้นฉันควรลาออก
2. มีข่าวว่าจะให้เลิกทหารรักษาวัง เรื่องนี้ฉันได้ชี้แจงหลายครั้งแล้วว่ายังยอมไม่ได้ เพราะเหตุการณ์ในบ้านเมืองยังไม่ปกติ ถ้าเรียบร้อยอย่างแน่นอนแล้ว จะเลิกหรือเปลี่ยนรูปไปบ้างก็ควร

ในเวลานี้ภายในทหารบก ทหารเรือ ก็ยังมีความแตกพวกแตกเหล่าอยู่บ้าง อาจตีกันเมื่อไรก็ได้ ถ้าไม่มีทหารรักษาวัง ฉันรู้สึกว่าไม่มีความปลอดภัยเสียเลย เพราะฉะนั้นในขณะนี้ต้องขอให้มีทหารรักษาวังตามรูปเดิม และขอให้ยอมให้มีอาวุธพอสมควรทำการระวังรักษาได้พอใช้

ทหารรักษาวังมีนิดเดียวจะรบกับกองทัพบก กองทัพเรือทั้งหมดอย่างไรได้ ถ้าไม่ยอมในข้อนี้ฉันต้องถือว่าฉันไม่ได้รับความไว้วางใจจากรัฐบาล และถูกสงสัยว่าจะต้องการเอาอำนาจคืนโดยกำลังเสมอ ถ้าเป็นเช่นนี้แล้วรัฐบาลควรจัดการถอดฉันเสียดีกว่า หรือมิฉะนั้นฉันก็ควรลาออก

3.มีข่าวว่าจะเปลี่ยนรูปโครงการณ์ของกระทรวงวังใหม่ให้เหมือนราชสำนักอังกฤษ เรื่องนี้ได้ยินว่ารัฐบาลจะเก็บเป็นความลับ จนกว่าฉันจะกลับถึงกรุงเทพฯแล้วจึงดำเนินการ ซึ่งเดาได้ว่าการเปลี่ยนเหล่านี้คงจะเป็นไปในทางที่ฉันไม่พอใจ จึงต้องรอให้ได้ตัวไปขังไว้ในเมืองไทยเสียก่อนจึงจะดำเนินการ

เรื่องนี้ต้องขอให้รัฐบาลเลิกล้มความดำริ หรือมิฉะนั้นต้องส่งโครงการณ์ที่คิดจะเปลี่ยนแปลงนี้มาให้ทราบเสียก่อนฉันกลับ มิฉะนั้นจะไม่กลับ ฉันจะไม่ยอมให้ถูกจับขังเป็นเชลย หรือเป็นตัวประกัน (hotage)

และขอบอกอย่างแน่ชัดว่า ถ้ารัฐบาลคิดจะดำเนินวิธีอย่างนี้แล้ว ฉันจะไม่ยอมเป็นอันขาด จะยอมตายดีกว่า ถ้ารู้สึกว่าถูกขังเมื่อใด จะลาออกทันที หรือพยายามหนี แต่จะไม่ยอมให้ขังไว้ทำเล่นตามชอบใจเป็นอันขาด

คนใช้ใกล้ชิดจำเป็นต้องคนที่ฉันไว้ใจได้ และถ้าจะถูกห้อมล้อมไปด้วย spies (สายลับ)หรือผู้คุมแล้ว ทนไม่ได้ เพราะฉะนั้นการตั้งแต่ข้าราชการในราชสำนัก ต้องได้รับการยินยอมของฉันก่อนเสมอ และขออย่าให้รัฐบาลมายุ่งเหยิงนัก

ใน 3 ข้อนี้ ฉันขอให้รัฐบาลให้คำมั่นเป็นลายลักษณ์อักษร และลงนามรัฐมนตรีทุกคน ถ้าไม่ได้รับคำมั่นนี้ ภายในเดือนพฤศจิกายนเป็นอย่างช้า จะได้ถือว่ารัฐบาลประสงค์ให้ฉันลาออก และจะได้ส่งหนังสือลาออกจากตำแหน่งเข้าไปให้”[9]

เมื่อถึงความตอนนี้แล้วจะเห็นได้ชัดเจนว่า พระราชบันทึกทั้งหลายนั้น ไม่ปรากฏข้อความใดๆเกี่ยวกับการขายทรัพย์สมบัติเลย มีแต่เรื่องหลักประกันความเป็นประชาธิปไตยต้องไม่อยู่ภายใต้การปกครองแบบเผด็จการที่อำพรางโดยอ้างประชาธิปไตยครึ่งใบในเวลานั้น

จะเห็นได้ว่าประเด็นเรื่องทหารรักษาวังที่จะปกป้องพระมหากษัตริย์ และปัญหาการบริหารทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ที่ฝ่ายรัฐบาลภายใต้การนำในการปกครองที่เป็นเผด็จการทางอ้อมของคณะราษฎรที่จะนำไปบริหารจัดการเองนั้น เป็นประเด็นความขัดแย้งในเรื่อง”หลักการ”ของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
ทรงมีพระราชบันทึกที่จะสละราชสมบัติ เพราะทรงไม่เห็นด้วยกับการยึดพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ไปเป็นอำนาจเผด็จการทางอ้อมของสมบูรณาญาสิทธิของคณะ

วันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2478 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ได้สละราชสมบัติ และทำให้สภาผู้แทนราษฎรแต่งตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 เมื่อวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2478[10] ที่ทรงเป็นยุวกษัตริย์ ยังไม่ทรงบรรลุนิติภาวะ โดยทรงศึกษาและประทับอยู่ต่างประเทศ

โดยภายหลังจากการสละราชสมบัติไปแล้ว ปรากฏว่ารัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรได้เริ่มออกแบบกฎหมายใหม่ในเรื่องสำคัญๆได้แก่ การยกเลิกกรมทหารพระราชวังทั้งหมด การให้งานเอกสารทั้งหมดของพระมหากษัตริย์ขึ้นอยู่กับนายกรัฐมนตรี ส่งคนไปดูแลด้านงานสารบรรณและเอกสารในสำนักราชเลขานุการในพระองค์ และการดูแลทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ให้นายกรัฐมนตรีดูแล เป็นต้น

การแก้ไขกฎหมายต่างๆข้างต้น เป็นไปตามที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระราชบันทึกคาดการณ์มาก่อนหน้านั้นแล้วทั้งสิ้น อันสะท้อนให้เห็นว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ได้ทรงเข้าพระทัยผิด

แต่ความจริงภายหลังต่อมากลายเป็นว่า สถานการณ์เลวร้ายกว่าที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เข้าพระทัยและคาดการณ์

เพราะฝ่ายการเมืองมีเป้าหมายไปถึงไม่เพียงการแย่งชิงที่ดินพระคลังข้างที่ให้มาเป็นของพรรคพวกนักการเมืองเท่านั้น แต่ยังไปไกลถึงขั้นออกกฎหมายเอาผิดย้อนหลังยึดพระราชทรัพย์ของสมเด็จพระปกเกล้าฯและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีด้วย ตามลำดับของเวลาเป็น บันได 10 ขั้น ดังนี้


ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์


(มีต่อ)
25 ธ.ค. 2563  ผู้จัดการออนไลน์
หัวข้อ: (ต่อ)ภารกิจคณะราษฎรยังไม่เสร็จ !? (ตอนที่ 8) จากข่าวปล่อย “ขายพระแก้วมรกต”
เริ่มหัวข้อโดย: story ที่ 10 มกราคม 2021, 12:49:50
บันไดขั้นที่หนึ่ง วันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2478 รัฐบาลพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา ได้ดำเนินการโดยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร แก้ไขตัดอำนาจของกระทรวงวัง โดย อาศัย พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พุทธศักราช 2476 (ฉบับที่ 2)

นั่นคือ การแก้ไขมาตรา 18 ตัด “กรมทหารรักษาวัง กรมมหาดเล็กหลวง และกรมวังออกไปจากหน้าที่ในราชการในกระทรวงวัง”

คงเหลือแต่เพียง “1. สำนักงานเลขานุการรัฐมนตรี, 2. สำนักงานปลัดกระทรวง, 3.กรมพระคลังข้างที่ และ 4.กรมราชเลขานุการในพระองค์”[11]
บันไดขั้นที่สอง วันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2478 ขุนนิรันดรชัย ได้ข้ามฟากจากเลขาธิการนายกรัฐมนตรีของพระยาพหลพลพยุหเสนา มาเป็น ผู้ช่วยเลขานุการในพระองค์ [12] โดยปราศจากอุปสรรค ทหารรักษาวัง ปราศจากกรมมหาดเล็กหลวง และปราศจากกรมวังที่เป็นเครือข่ายเดิมซึ่งได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

บันไดขั้นที่สาม วันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2478 รัฐบาลได้ผ่านความเห็นชอบ พระราชกฤษฎีกา จัดวางระเบียบราชการสำนักงานและกรมในกระทรวงวัง แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2478 แก้ไขมาตรา 22 และมาตรา 23 ให้เรื่องผลประโยชน์ของพระมหากษัตริย์ และบรรดาเอกสารในงานสารบรรณทั้งปวงอยู่ภายใต้การดูแลของนายกรัฐมนตรี ความว่า

“หมวดที่ 11 สำนักพระราชวัง

มาตรา 22 ให้สำนักพระราชวังเป็นทะบวงการเมือง มีอำนาจหน้าที่จัดการพระราชวัง ตลอดจนการดูแลรักษาทรัพย์สินและผลประโยชน์ของพระมหากษัตริย์ และให้อยู่ในบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี”

หมวดที่ 12 สำนักราชเลขานุการในพระองค์

มาตรา 23 ให้สำนักราชเลขานุการในพระองค์เป็นทะบวงการเมือง มีอำนาจหน้าที่จัดการสารบรรณ และการในพระองค์พระมหากษัตริย์ และให้อยู่ในบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี” [13]

ในบันไดขั้นที่สามนี้ ส่งผลทำให้ “การดูแลทรัพย์สินและผลประโยชน์ของพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี” และ สำนักราชเลขานุการที่เพิ่งให้ขุนนิรันดรชัยมาอยู่ในสำนักราชเลขานุการในพระองค์นั้น ดูแลเรื่องการจัดการงานสารบรรณ (หรืองานเอกสารทั้งหมด) และอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่ขึ้นตรงกับพระมหากษัตริย์ หรือคณะผู้สำเร็จราชการอีกต่อไป
บันไดขั้นที่สี่ วันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2478 พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุวัตน์จาตุรนต์ ประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ปลงพระชนม์ด้วยพระแสงปืน[14]
ซึ่งเป็นเวลาเพียง 1 คืนเท่านั้น หลังจาก พระราชกฤษฎีกา จัดวางระเบียบราชการสำนักงานและกรมในกระทรวงวัง แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2478 ประกาศบังคับใช้ จึงเป็น “กฎหมายฉบับสุดท้าย” ที่มีการลงพระนามโดยพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุวัตน์จาตุรนต์

โดยหม่อมเจ้าอุลิสาณ์ ดิสกุล บุตรีคนเล็กของกรมหมื่นอนุวัตน์จาตุรนต์ ได้เล่าให้หม่อมเจ้าพูนพิศมัน ดิสกุล ถึงเหตุการณ์เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2478 ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่มีการลงพระนามในการประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเพื่อบังคับใช้ พระราชกฤษฎีกา จัดวางระเบียบราชการสำนักงานและกรมในกระทรวงวัง แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2478 ความว่า

“ลูกกรมอนุวัตรฯทั้ง 4 คน ไปหาพ่อพร้อมกันโดยมิได้นัดแนะ ไปถึงเห็นพ่อบรรทมอยู่บนเก้าอี้ยาว ท่าทางไม่ค่อยทรงสบาย ก็นึกกันว่าเป็นเช่นนั้นตามเคย

เห็นแปลกอยู่แต่ก่อนเวลาจะกลับกรมอนุวัตรฯ เรียกลูกเข้าไปจูบทุกคน และเรียกหม่อมเจ้าดิศานุวัติ ดิศกุล ลูกเขยเข้าไปว่าจะวานให้เขียนจดหมายถวายสมเด็จพระพันวสาฉบับหนึ่ง แต่แล้วบอกว่า “ไม่เขียนละ เพราะไม่ต้องก็ได้” แล้วหม่อมเจ้าอุลิสาณ์ ดิสกุลก็กลับ พอรุ่งเช้าก็มาตามว่า กรมอนุวัตรฯสิ้นพระชนม์เสียแล้ว”[14]

บันไดขั้นที่ห้า วันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ.2478 สภาผู้แทนราษฎรแต่งตั้งซ่อม พลเอกเจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน (อุ่ม อินทรโยธิน) เป็นสมาชิกใหม่ของคณะผู้สำเร็จราชการ และลงมติตั้ง นายนาวาตรี พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ ทิพอาภา ร.น. เป็นประธานคณะผู้สำเร็จราชการต่อไป [15] และกลายเป็นกลุ่มคณะผู้สำเร็จราชการที่ให้ความร่วมมือกับรัฐบาลอย่างเต็มที่

บันไดขั้นที่หก ระหว่าง 20 สิงหาคม พ.ศ. 2478 ถึงวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2480 นักการเมืองฝ่ายรัฐบาลแห่รุมซื้อหรือผ่อนซื้อที่ดินพระคลังข้างที่ในราคาถูกๆ ในขณะที่พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ ทิพอาภา ประธานคณะผู้สำเร็จราชการก็ขายที่ดินของพระองค์เองให้กับกรมพระคลังข้างที่ในราคาแพงกว่าที่ดินบริเวณใกล้เคียง ทำให้นายเลียง ไชยกาล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดอุบลราชธานีได้ตั้งกระทู้ถามและมีการอภิปรายการทุจริตเชิงนโยบายที่อื้อฉาว เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2480

โดยพันเอกพระยาพหลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี ได้แต่ตอบกระทู้และอภิปรายว่า เป็นสิ่งที่ถูกต้องตามกฎหมายเพราะเป็น “พระกรุณาฯ”ของคณะผู้สำเร็จราชการ [16]

บันไดขั้นที่เจ็ด วันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2480 ราชกิจจานุเบกษาประกาศบังคับใช้ พระราชบัญญัติ จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2479 โดยแบ่งแยกทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ ทรัพย์สินสาธารณสมบัติของแผ่นดิน และทรัพย์สินส่วนพระองค์ออกจากกัน โดยให้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง
โดยกฎหมายฉบับนี้ได้ถูกออกแบบมา เพื่อใช้สำหรับการฟ้องร้องเอาผิดย้อนหลังการโอนและใช้จ่ายในธุรกรรมการเงินของ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ในช่วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงดำรงตำแหน่งพระมหากษัตริย์ด้วย [17]

บันไดขั้นที่แปด วันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2481 นายร้อยเอกขุนนิรันดรชัย ได้เลื่อนตำแหน่งเป็น “ราชเลขานุการในพระองค์” และในวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2481 นายร้อยเอกสเหวก นิรันดร ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรยศทหาร เป็น นายพันตรี [12]

จึงเท่ากับ “ราชเลขานุการในพระองค์” เข้าควบคุมเอกสารในงานสารบรรณทั้งปวงอย่างสมบูรณ์

ซึ่งเป็นประเด็นที่น่าตั้งคำถามว่า หลักฐานสำคัญชิ้นหนึ่ง ของสมเด็จพระปกเกล้าฯและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี คือ หนังสือมอบให้เอา “เงินส่วนพระองค์” ที่สะสมมาทดแทนกับจำนวนที่จะทรงเบิกเงินแผ่นดินที่ทรงเบิกเงินแผ่นดินอยู่เมืองนอกตามพระราชอำนาจที่จะทรงกระทำได้เป็นการชดเชยกัน ซึ่งเป็นหลักฐานสำคัญในการต่อสู้คดียึดทรัพย์ “สูญหายไป”นั้น[18] จะเกี่ยวข้องกับสำนักราชเลขานุการในพระองค์ที่ถูกส่งตัวมาจากรัฐบาล หรือไม่อย่างไร

บันไดขั้นที่เก้ารัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม โดยกระทรวงการคลังเป็นโจทก์ ได้ยื่นฟ้องสมเด็จพระปกเกล้าฯ เป็นจำเลยที่ 1 และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ เป็นจำเลยที่ 2 ต่อศาลแพ่งลงวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2482 และยื่นคำร้องขอแก้คำฟ้องในวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2482 [19]
ต่อมา กระทรวงการคลังฟ้องร้องและอายัดทรัพย์สมเด็จพระปกเกล้าฯ และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณียึดวังก่อนมีคำพิพากษา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเข้าแทรกแซงโยกย้ายอธิบดีศาลแพ่งแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมให้ออกจากคดีความ [20]
ส่งผลทำให้สมเด็จพระปกเกล้าฯและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีหมดพระราชทรัพย์ที่จะต่อสู้คดี[21] การเข้าถึงเอกสารหลักฐานได้ยาก อีกทั้งหลักฐานหนังสือมอบให้เอา “เงินส่วนพระองค์” ที่สะสมมาทดแทนกับจำนวนที่ทรงเบิกเงินแผ่นดินในขณะที่อยู่เมืองนอกเป็นการชดเชยกันสูญหาย[17] ทำให้แพ้คดีความในศาลเดียว ไม่ได้อุทธรณ์หรือฎีกาอีกต่อไป [22]

บันไดขั้นที่สิบ เมื่อยึดวังได้แล้ว มีการนำทรัพย์สินส่วนพระองค์และเงินในทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ไปใช้เพื่อประโยชน์ของครอบครัวจอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ตามคำให้การของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา อดีตประธานคณะผู้สำเร็จราชการ ในศาลอาชญากรสงคราม เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2488 ความว่า

“นอกจากนี้ (จอมพล ป.)ยังได้นำเครื่องพระสำอางค์ของพระเจ้าแผ่นดินและของสมเด็จพระราชินีไปใช้โดยไม่ได้รับอนุมัติจากข้าพเจ้า ซึ่งข้าพเจ้ายืนยันว่าขุนนิรันดรชัยนำเอาให้ใช้ ข้าพเจ้าเคยขอเปลี่ยนตัวขุนนิรันดรชัย แต่จอมพลไม่ยอม ที่ขอเปลี่ยนเพราะขุนนิรันดรชัยฯไม่เป็นผู้ที่ไว้วางใจ...
...เมื่อตอนที่จอมพล ป.ฯ เป็นนายกรัฐมนตรีนั้น ได้มีการขอพระราชทานเงินกันหลายคราว ที่ขอเพื่อเป็นทุนเล่าเรียนของลูกก็ดี ขอให้เป็นทุนของคณะผู้ก่อการไปใช้จ่ายก็มี และขอเป็นส่วนตัวก็มี ในการที่ข้าพเจ้าสั่งพระราชทานนี้ ไม่ได้สั่งไปโดยเต็มใจ หากเป็นด้วยขุนนิรันดรฯ มาพูดเป็นทำนองข่มขู่บังคับกลายๆ”[23]
จึงเป็นเรื่องที่น่าสังเกตว่าจากการปล่อยข่าวเรื่องการขายพระแก้วมรกตที่ไม่มีหลักฐาน และไม่มีมูลความเป็นจริงเลยนั้น เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับพระราชบันทึกลับ กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในภายหลังแล้ว เป็นไปได้หรือไม่ว่าแท้ที่จริงแล้วเป็นการตั้งใจวางแผนชิงอำนาจในสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 เพื่อทำนิติสงครามชิงพระราชทรัพย์เพื่อประโยชน์ของพรรคพวกผู้ก่อการในคณะราษฎรกันเองตั้งแต่ต้น

ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

อ้างอิง
[1] The New York Times Archives, KING OF SIAM MAKES THREAT TO SELL OUT; He Says He Will Dispose of Vast Property in New Move for Absolute Power., The New York Times, January 22, 1935, Section BOOKS ART-BOOKS, Page 21
https://www.nytimes.com/1935/01/22/archives/king-of-siam-makes-threat-to-sell-out-he-says-he-will-dispose-of.html?searchResultPosition=1

[2] รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 16 (สมัยสามัญ สมัยที่สอง) วันพฤหัสบดีที่ 31 มกราคม พุทธศักราช 2478, หน้า 831-1078
https://dl.parliament.go.th/bitstream/handle/lirt/383561/16_24770131_wb.pdf?sequence=1

[3] เรื่องเดียวกัน, หน้า 840-841

[4] “มาตรา 2 อำนาจอธิปไตยย่อมมาจากปวงชนชาวสยาม พระมหากษัตริย์ผู้เป็นประมุข ทรงใช้อำนาจนั้นแต่โดยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้”, ราชกิจจานุเบกษา, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม, เล่ม 49, 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475, หน้า 534
https://library2.parliament.go.th/giventake/content_thcons/2cons2475.pdf

[5] รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 16 (สมัยสามัญ สมัยที่สอง) วันพฤหัสบดีที่ 31 มกราคม พุทธศักราช 2478, หน้า 842
https://dl.parliament.go.th/bitstream/handle/lirt/383561/16_24770131_wb.pdf?sequence=1

[6] เรื่องเดียวกัน, หน้า 843-845

[7] เรื่องเดียวกัน, หน้า 846- 850

[8] เรื่องเดียวกัน, หน้า 852

[9] เรื่องเดียวกัน, หน้า 868-870

[10] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศพิเศษ เรื่อง ตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์, เล่ม 51, ตอน 0ก, 7 มีนาคม พ.ศ. 2478, หน้า 1332
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2477/A/1332.PDF

[11] ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พุทธศักราช 2476, เล่ม 51, 31 มีนาคม พ.ศ. 2478 (ฉบับที่ 2), หน้า 1441-1442
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2477/A/1440.PDF

[12] ประวัติ พันตรี สเหวก นิรันดร, หนังสือปาฐกถาเรื่องจิตต์ เพื่อบรรณาการในงานพระราชทานเพลิงศพ พันตรี สเหวก นิรันดร ณ เมรุวัดพระศรีมหาธาตุ, วันที่ 22 พฤษภาคม 2499 หน้า (12)

[13] ราชกิจจานุเบกษา, พระราชกฤษฎีกา จัดวางระเบียบราชการสำนักงานและกรมในกระทรวงวัง แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2478, เล่ม 52, วันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2478, หน้า 1232-1233
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2478/A/1229.PDF

[14] หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิสกุล, สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น (รวมเล่ม). พิมพ์ครั้งที่ 4, กรุงเทพฯ : มติชน, 2559. ISBN 978-974-02-1263-8
หน้า 188-189

[15] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศตั้งซ่อมคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์และตั้งประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ใหม่, เล่ม ๕๒, ตอน ๐ก, ๒๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๘, หน้า ๑๒๖๐
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2478/A/1260.PDF

[16] รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 12 กระทู้ถามเรื่อง ที่ดินของพระมหากษัตริย์ ของนายเลียง ไชยกาล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรถามนายกรัฐมนตรี วันที่ 27 กรกฎาคม 2480
https://dl.parliament.go.th/bitstream/handle/lirt/383977/12_24800727_wb.pdf?sequence=1

[17] ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติ จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2479, เล่ม 54, ตอน 45ก, 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2480, หน้า 778
https://dl.parliament.go.th/bitstream/handle/lirt/17086/SOP-DIP_P_401313_0001.pdf?sequence=1

[18] พระราชบันทึก ทรงเล่าของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี, เบื้องแรกประชาธิปตัย เล่ม 1, สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย, โรงพิมพ์มติชนปากเกร็ด, พิมพ์ครั้งที่ 3 มิถุนายน 2560, ISBN: 978-616-91915-8-2, หน้า 30-31

[19] คำพิพากษาศาลแพ่ง คดีหมายเลขดำที่ 242/2482 คดีหมายเลขแดงที่ 404/2482

[20] พระสุทธิอรรถนฤมนตร์ (สุทธิ เลขยานนท์) “บันทึกเรื่องการถูกให้ออกจากราชการและกลับเข้ามาใหม่”, ในหนังสือ “เที่ยวเมืองพระร่วง” พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พระสุทธิอรรถนฤมนตร์ พิมพ์ครั้งที่ 10, 1,000 เล่ม, พ.ศ. 2521 (โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ), เลขหมู่หนังสือ 915.9365 หน้า 61-65

[21] คุณหญิงมณี สิริวรสาร, ชีวิตนี้เหมือนฝัน ฉบับสมบูรณ์ เล่ม 1 และ เล่ม 2/ นรุตม์ เรียบเรียง, พิมพ์ครั้งที่ 2-กรุงเทพฯ, อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง,/2558 ISBN 978-616-18-0915-7 หน้า 306-307

[22] พระราชบันทึก ทรงเล่าของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี, เบื้องแรกประชาธิปตัย เล่ม 1, สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย, โรงพิมพ์มติชนปากเกร็ด, พิมพ์ครั้งที่ 3 มิถุนายน 2560, ISBN: 978-616-91915-8-2, หน้า 32

[23] คณะกรรมการดำเนินงานฉลอง 100 ปี ชาตกาล นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส, คำให้การต่อศาลอาชญากรสงคราม เอกสารประวัติศาสตร์,พิมพ์ครั้งแรก พฤศจิกายน 2545, พิมพ์ที่เจริญวิทย์การพิมพ์, เลขมาตฐานสากลประจำหนังสือ 974-7834-35-9 หน้า 122-124
http://www.openbase.in.th/files/pridibook011.pdf

25 ธ.ค. 2563 17:08   โดย: ผู้จัดการออนไลน์
หัวข้อ: ภารกิจคณะราษฎรยังไม่เสร็จ !? (ตอนที่ 9) เบื้องลึกกว่าที่เป็นข่าว กรณีบุตรชาย
เริ่มหัวข้อโดย: story ที่ 10 มกราคม 2021, 12:55:13
ณ บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

นับเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญที่ต้องถูกจารึกเอาไว้ โดยเมื่อเวลา 13.30 น. ของวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2563 โรงแรม INTERCONTINENTAL BANGKOK พลโทสรภฎ นิรันดร บุตรชายของ พันตรีสเหวก นิรันดร หรือ ขุนนิรันดรชัย สมาชิกคณะราษฎรสายทหารบก ซึ่งได้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ. 2475 ได้แถลงข่าวสำนึกผิดแทนบิดาที่ได้กระทำการมิบังควร นำทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์มาเป็นของตนเองโดยมิชอบ

โดย พลโทสรภฎ นิรันดร กล่าวว่า

“บิดาของผมได้รับพระราชทานราชทินนามว่า “ขุนนิรันดรชัย” จบจากโรงเรียนนายร้อย รับราชการเป็นทหารปืนใหญ่ สังกัดปืน 1 รักษาพระองค์ ขณะที่มียศเป็นร้อยโทได้ร่วมกับผู้บังคับบัญชา คือ พันตรีแปลก พิบูลสงคราม ซึ่งก็คือ จอมพล ป.พิบูลสงคราม และพระยาฤทธิอัคเนย์ ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองในนามของคณะราษฎร 2475 สายทหารบก

ต่อมาเมื่อรับราชการมียศเป็นพันตรี ได้ลาออก เนื่องจากคณะราษฎรได้แต่งตั้งให้เป็นแม่กองสร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และอาคารสองฟากถนนราชดำเนิน ผลจากการทำงานนี้ก็ได้สร้างตึกที่อยู่อาศัยของท่านเองเป็นตึก 4 ชั้น อยู่ตรงข้ามวังสวนจิตรลดา ปัจจุบันตระกูลนิรันดรได้ให้โรงเรียนเซนต์แอนดรูว์เช่า

บิดาของผมได้เป็นคณะกรรมการตรวจสอบสมบัติของพระคลังข้างที่และทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2475-2491 ในขณะที่เป็นคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์นั้น ผู้แทนราษฎรในสมัยนั้นของจังหวัดอุบลราชธานีได้อภิปรายในสภาถึงความไม่โปร่งใสของคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ บิดาของตนและพรรคพวกก็จับ ส.ส.คนนั้นโยนน้ำหน้าตึกรัฐสภาเลย

ต่อมาคุณพ่อก็ได้ร่วมกับ หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี และเป็นคณะราษฎรสายทหารเรือ ได้ก่อตั้งธนาคารนครหลวงไทยขึ้นมา และต่อมาคุณพ่อก็ได้เป็นประธานธนาคารนครหลวงฯ

ประเด็นสำคัญที่อยากเรียนให้ทราบก็คือว่า ก่อนเสียชีวิต คุณพ่อได้สำนึกในความผิดว่า เรื่องแรกที่สำคัญที่สุดสำหรับชีวิตของท่าน คือ ท่านเป็นข้าราชการทหาร ท่านได้เสียน้ำพิพัฒน์สัตยาต่อพระมหากษัตริย์

ประการต่อไป ท่านเป็นกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ท่านก็ได้ทำเรื่องบางเรื่องที่มิบังควร ท่านก็สั่งเสียว่าท่านต้องการที่จะขอพระราชทานอภัยโทษ แต่คุณพ่อไม่มีโอกาส ปรากฏว่าท่านได้เสียชีวิตไปก่อนด้วยโรคความดันโลหิตสูง แล้วก็เป็นอัมพาต

เวลาก็ผ่านไป ผมก็นำเรื่องนี้ปรึกษากับพี่ชายต่างมารดา คือ คุณธรรมนูญ นิรันดร พี่ธรรมนูญก็บอกว่า ดีนะ เป็นโอกาสอันดีที่เราควรจะทำการ แม้แต่นามสกุลนิรันดรก็เป็นนามสกุลที่ได้รับพระราชทาน แต่ท่านไม่มีโอกาส ท่านได้เสียชีวิตเมื่อกลางปี 63 นี่เอง ด้วยโรคคล้ายๆ คุณพ่อ

ลูกคุณพ่อขณะนี้เหลืออยู่ 4 คน 3 ท่านนี่ก็นั่งรถเข็นแล้ว เหลือผมที่ยังพอไปได้อยู่ ก็เลยรั้งรอไม่ได้แล้ว ประกอบกับผมเป็นทายาทบุตรชายซึ่งเป็นนายพลของกองทัพบก เป็นคนเดียวในตระกูลนิรันดร เพราะฉะนั้นผมก็ต้องทำตามความประสงค์ของบิดาซึ่งได้สั่งเสียไว้ก่อนชีวิต” [1]

หลังจากนั้น พล.ท.สรภฎ นิรันดร ได้ประกอบพิธีขอพระราชทานอภัยโทษแทนบิดา โดยได้กล่าวขอพระราชพระบรมราชานุญาตกล่าวขอพระราชทานอภัยโทษแทนบิดา คือ พันตรีสเหวก นิรันดร สมาชิกคณะราษฎร 2475 ต่อเบื้องพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล และพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อให้วิญญาณขุนนิรันดรชัยจะได้ไปสู่สุคติ และความเป็นสิริมงคลจะได้มาสู่ตระกูลนิรันดร

เมื่อถามว่าที่ดินพระคลังข้างที่ที่ขุนนิรันดรชัย ได้ซื้อมามีที่ใดบ้าง พล.ท.สรภฏ กล่าวว่า

“บิดาได้บอกแต่เพียงสำนึกผิด แต่เมื่อผมโตขึ้นจนจึงเห็นโฉนดจากการเปิดเผยของนายธรรมนูญ โดยที่ดินใน กทม.มีเกือบ 80 แปลง ที่สำคัญๆ คือ ถ.สาทร 3 ไร่กว่า, ที่ดินตรงข้ามพระราชวังสวนจิตรลดาอีก 3 ไร่กว่า และที่ดินติดพระราชวังไกลกังวล อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ 3 ไร่ครึ่ง

ผมในฐานะเป็นลูก ถ้าจะชี้แจงอันนี้ต้องคุยกันส่วนตัว ถ้าอยู่ๆ เอาคุณพ่อมาพูดในทางลบ มันเป็นเรื่องที่บุตรไม่ควรทำแต่เราก็ทราบตอนคุณพ่อยังมีชีวิตอยู่ คุณพ่อบอกว่าได้สำนึกผิดในการที่ได้กระทำในขณะที่เป็นกรรมการของทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

แต่คุณพ่อไม่ได้บอกรายละเอียด เราไม่รู้ แต่เมื่อเราโตขึ้นและมีพี่ชายคือพี่ธรรมนูญเป็นผู้จัดการมรดก เราก็เห็นโฉนดซึ่งจากการสัมภาษณ์ของพี่ธรรมนูญซึ่งท่านได้เสียชีวิตไปแล้วก็หาอ่านได้จากหนังสือ ผมไม่ก้าวล่วงที่จะพูดเอง

ที่ดินของตระกูลนิรันดรในกรุงเทพมีอยู่เกือบ 80 แปลง แล้วก็แปลงที่สำคัญๆ คือแปลงที่ถนนสาทรจำนวน 3 ไร่กว่าซึ่งขณะนี้ที่ดินบริเวณสาทรไม่มีที่ดินที่ไหนจะใหญ่เท่านี้แล้วและที่ดินบางแปลงอยู่ตรงข้ามพระราชวังสวนจิตรลดา ก็ 3 ไร่กว่าๆ อีกแปลงหนึ่งเป็นที่ดินติดพระราชวังไกลกังวลด้านฝั่งทะเล 3 ไร่ครึ่ง ก็เรียนให้ทราบตามนั้น” [1]

เมื่อถามว่า ครอบครัวขุนนิรันดรชัย มีความเห็นอย่างไรบ้าง พล.ท.สรภฏ กล่าวว่า
“ผมไม่ทราบความเห็นโดยเฉพาะหลานเนื่องจากยังมีความเกี่ยงงอนกันอยู่ แต่ถ้าเขามีความเข้าใจในสิ่งต่างๆ ผมว่าไม่มีอะไรที่จะมาขัดข้องหรอก” [1]

เมื่อถามถึงการคืนทรัพย์สินดังกล่าว พล.ท.สรภฏ กล่าวว่า:

“โดยส่วนตัวก็ควรจะกลับไป แต่ต้องบริสุทธิ์ผ่องใส จะกลับไปผมไม่ได้ขัดข้องแต่ตนต้องถามความเห็นของหลานๆ



คือขณะนี้ลูกของคุณพ่อเหลือกันเพียง 4 คน เป็นผู้หญิง 2 ผู้ชาย 2 ทั้ง 3 ท่านนั่งรถเข็นหมดแล้ว และก็เหลือผม ซึ่งยังพอไปได้อยู่ นอกนั้นก็มีรุ่นหลาน 12 คน หลานนี่ก็เราไม่ทราบจิตใจเขา ก็ยังมีการเกี่ยงงอนอะไรกันอยู่ แต่ถ้าเขามีความเข้าใจในสิ่งต่างๆ เหล่านี้ก็ไม่มีอะไรขัดข้อง นี่ผมอาจจะคิดไปเอง เอาตัวผมเป็นไม้บรรทัด ซึ่งอาจจะไม่ถูกต้อง

ในส่วนตัวผมกับญาติพี่น้องบางคนนี่ ก็เห็นว่าควรจะกลับไป แต่ของที่กลับไปควรบริสุทธิ์ผ่องใส หมายความว่าอนาคตเรื่องที่ดินสำหรับผมจะกลับไปผมไม่ได้ขัดข้องอะไรเลย แต่ผมจะต้องถามความเห็นของหลานๆ เพราะในส่วนตัวของผมอย่าว่าแต่ที่ดินที่จะกลับไปเลย แม้แต่ชีวิตผมก็สละได้

เพราะในอดีตผมผ่านมา 2 ศึก 4 ปีรบอยู่ในลาว อีก 1 ปีเป็นผู้การทหารพราน รบอยู่ชายแดนด้านเขมร ตาพระยาจดจังหวัดตราด และมีโอกาสรู้จักคนดีๆ หลายคน อ้างในที่นี้ก็ได้ ในสมัยที่ท่านพลากร (พลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี) เป็นนายอำเภออยู่ตาพระยา ท่านเป็นลูกผู้ใหญ่แต่ท่านก็เป็นนายอำเภอนักบู๊ อยู่ชายแดนด้วยกันมา”[1]

หลังจากการแถลงข่าวแล้ว พลโทสรภฏ นิรันดร ได้ให้สัมภาษณ์กับผู้เขียนเพิ่มเติมอีก 2 ครั้ง โดยครั้งแรก เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2563 และครั้งที่สอง เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2563 โดยการสัมภาษณ์ครั้งนี้ได้มีบันทึกเทปโทรทัศน์โดยส่วนใหญ่ ยกเว้นความบางตอนที่เห็นว่ามีความละเอียดอ่อนจึงไม่ให้บันทึก หรือมีการบันทึกแต่ยังไม่ให้เปิดเผย โดยปรากฏประเด็นที่สำคัญซึ่งสามารถเปิดเผยได้ มีดังต่อไปนี้

ประการแรก บทบาทของ “ขุนนิรันดรชัย” ในฐานะท่อน้ำเลี้ยงนำผลประโยชน์จากสถาบันพระมหากษัตริย์มาให้กับ จอมพล ป.พิบูลสงคราม

พลโทสรภฏ นิรันดร ได้ให้สัมภาษณ์ว่า “ขุนนิรันดรชัย” หรือ พันตรีสเหวก นิรันดร มีความสัมพันธ์ได้รับความไว้วางใจจากจอมพล ป.มากที่สุด การที่เป็นเลขาธิการนายกรัฐมนตรี พระยาพหลพลพยุหเสนานั้น แท้ที่จริงเป็นเด็กฝากของจอมพล ป.เอง

จอมพลป.ทำธุรกิจไม่เป็น จึงได้อาศัย ขุนนิรันดรชัย เป็น “ท่อน้ำเลี้ยง” หรือหาผลประโยชน์ให้กับจอมพลป. และติดต่อนักธุรกิจในการนำเงินไปให้ จอมพล ป. ด้วย โดยในช่วงแรกนั้นมาจากทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ที่ขุนนิรันดรชัยได้จัดหามาให้ [2]

ข้อมูลดังกล่าวข้างต้นมีความสอดคล้องกับ คำให้การของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา อดีตประธานคณะผู้สำเร็จราชการ ต่อคณะกรรมการตามพระราชบัญญัติอาชญากรสงคราม พ.ศ. 2488 เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2488 ความตอนหนึ่งว่า

“นอกจากนี้ (จอมพล ป.)ยังได้นำเครื่องพระสำอางค์ของพระเจ้าแผ่นดินและของสมเด็จพระราชินีไปใช้โดยไม่ได้รับอนุมัติจากข้าพเจ้า ซึ่งข้าพเจ้ายืนยันว่าขุนนิรันดรชัยนำเอาให้ใช้ ข้าพเจ้าเคยขอเปลี่ยนตัวขุนนิรันดรชัย แต่จอมพลไม่ยอม ที่ขอเปลี่ยนเพราะขุนนิรันดรชัยฯไม่เป็นผู้ที่ไว้วางใจ...

...เมื่อตอนที่จอมพล ป.ฯ เป็นนายกรัฐมนตรีนั้น ได้มีการขอพระราชทานเงินกันหลายคราว ที่ขอเพื่อเป็นทุนเล่าเรียนของลูกก็ดี ขอให้เป็นทุนของคณะผู้ก่อการไปใช้จ่ายก็มี และขอเป็นส่วนตัวก็มี ในการที่ข้าพเจ้าสั่งพระราชทานนี้ ไม่ได้สั่งไปโดยเต็มใจ หากเป็นด้วยขุนนิรันดรฯ มาพูดเป็นทำนองข่มขู่บังคับกลายๆ”[3]

และข้อความข้างต้นยังได้สอดคล้องกับคำให้การของ “นายทวี บุณยเกตุ” ในฐานะอดีตเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่ให้การต่อคณะกรรมการตามพระราชบัญญัติอาชญากรสงคราม พ.ศ. 2488 ระหว่างวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2488 ถึงวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2488 ในเรื่องการทำหน้าที่ของ ขุนนิรันดรชัย ในขณะดำรงตำแหน่งราชเลขานุการเป็นผู้ “นำเงินไปให้” จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี

โดยในบันทึกดังกล่าว ได้ระบุว่า นายทวี บุณยเกตุ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้มีบทสนทนากับ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ความตอนหนึ่งว่า

“..นายกยังคงจะจำได้ดีว่า ผู้สำเร็จฯ ได้ใช้ให้ผมกับขุนนิรันดรฯ ไปพบท่านนายกที่ทำเนียบสามัคคีชัย เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ตอนบ่าย แต่นายกก็ไม่ให้ผมพบ คงให้แต่ท่านขุนนิรันดรฯคนเดียว”

จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีได้กล่าวตอบว่า

“ก็ไม่รู้นี่ว่าจะมาเรื่องนี้ ที่ผมให้ขุนนิรันดรฯพบนั้น ก็เพราะเข้าใจว่าเขาจะเอาเงินมาให้ผม เพราะได้สั่งเอาไว้”[4]

ข้อความข้างต้น ทำให้เข้าใจได้มากขึ้นว่า เหตุใด จอมพล ป. พิบูลสงคราม และ คุณหญิงละเอียด พิบูลสงคราม, เพื่อเคารพและไว้อาลัยแด่ พันตรี สเหวก นิรันดร ในหนังสือปาฐกถาเรื่องจิตต์ เพื่อบรรณาการในงานพระราชทานเพลิงศพ พันตรี สเหวก นิรันดร ณ เมรุวัดพระศรีมหาธาตุ เมือวันที่ 22 พฤษภาคม 2499 ได้ระบุการที่มีการให้ความช่วยเหลือทางราชการและ “ทางส่วนตัว” ด้วยความตอนหนึ่งว่า :

“ครอบครัวของข้าพเจ้าและครอบครัวของท่านผู้ล่วงลับ มีความสนิทสนมกันอย่างใกล้ชิดเหมือนเครือญาติสนิท ได้ให้ความช่วยเหลือกันทั้งในราชการและทางส่วนตัวมาด้วยสม่ำเสมอ” [5]

ประการที่สอง บทบาทของ “ขุนนิรันดรชัย” ในฐานะราชเลขานุการในพระองค์

โดยหลังพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 สละราชสมบัติและ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 จะทรงขึ้นครองราชย์ต่อจากนั้น “ขุนนิรันดรชัย” ได้มีโอกาสร่วมขบวนไปอัญเชิญในหลวงรัชกาลที่ 8

โดย “ขุนนิรันดรชัย” และคณะราษฎรได้รับปากกับสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีว่าจะถวายอารักขาให้ความปลอดภัยให้กับ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 อย่างเต็มที่ และจะไม่เป็นอันตราย หลังจากนั้น “ขุนนิรันดรชัย” จึงได้ย้ายมาที่สำนักราชเลขานุการในพระองค์ [2]

ทั้งนี้ “ขุนนิรันดรชัย” ได้เป็นผู้ช่วยเลขานุการในพระองค์เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2478 และเป็นราชเลขานุการในพระองค์เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2481 [6]

โดย พลโทสรภฏ นิรันดร ได้อธิบายเพิ่มเติมในเรื่องนี้ว่า แม้ “ขุนนิรันดรชัย”จะอยู่ในฐานะลูกน้องและนายทุนให้กับจอมพล ป.พิบูลสงคราม และทำตามทุกอย่างที่จอมพล ป. พิบูลสงครามต้องการ แม้ขุนนิรันดรชัยอาจจะเคยเบียดบังทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ให้มาเป็นของตนเองหรือให้กับจอมพล ป.พิบูลสงคราม แต่ไม่เคยคิดรังแกหรือทำร้ายต่อองค์พระมหากษัตริย์ เพราะได้เคยรับปากกับสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเอาไว้ ในทางตรงกันข้ามพยายามผ่อนผันความต้องการของจอมพล ป.พิบูลสงครามในหลายเรื่องที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์เท่าที่จะทำได้ [2]

นอกจากนั้น “ขุนนิรันดรชัย” ยังได้เคยกล่าวกับภรรยา (แม่ของพลโทสรภฏ นิรันดร)ว่า ถ้าขุนนิรันดรชัยยังคงเป็นราชเลขานุการในพระองค์อยู่ จะไม่มีทางเกิดเรื่องการสวรรคตด้วยพระแสงปืนของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 อย่างแน่นอน [2]

ประการที่สาม บทบาทของ “ขุนนิรันดรชัย” ในกรณีการตัดแบ่งขายที่ดินพระคลังข้างที่ในราคาถูกๆ ให้กับนักการเมืองหลายคนในฝ่ายรัฐบาลของพระยาพหลพลพยุหเสนา

พลโทสรภฏ นิรันดร แจ้งว่า การซื้อที่ดินพระคลังข้างที่ในราคาถูกๆ ให้กับเครือข่ายทางการเมืองนั้น เป็นเรื่องจริง และรายชื่อผู้ที่ได้ซื้อที่ดินนั้นเป็นไปตามบัญชาการของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ซึ่งอิทธิพลมากที่สุดหลังการปราบกบฏบวรเดช

อย่างไรก็ตาม พลโทสรภฏ นิรันดร แจ้งว่าการตัดขายแบ่งที่ดินพระคลังข้างที่ช่วงปี พ.ศ.2479-2480 นั้น ไม่เกี่ยวกับพระยาพหลพลพยุหเสนา และไม่เกี่ยวกับนายปรีดี พนมยงค์แต่ประการใด

โดยการขายที่ดินพระคลังข้างที่ของจอมพล ป. พิบูลสงคราม คืนกลับให้กับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์นั้นเป็นการสร้างภาพลักษณ์ให้กับจอมพล ป.เท่านั้น และภายหลังการอภิปรายเมื่อ

วันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2480 แล้ว พลโทสรภฏ นิรันดร เปิดเผยว่า ขุนนิรันดรชัยและพวกได้นำนายเลียง ไชยกาล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดอุบลราชธานี ผู้ตั้งกระทู้ถามในเรื่องดังกล่าวโยนลงในสระน้ำหน้าอาคารสโมสรสภาผู้แทนราษฎร [2]

ประการที่สี่ บทบาทของ “ขุนนิรันดรชัย” ในกรณีการได้มาซึ่งที่ดินพระคลังข้างที่ให้มาเป็นของตัวเอง

พลโทสรภฏ นิรันดร ชี้แจงว่า ขุนนิรันดรชัย เป็นนายกองสร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และมีเงินไปสร้างอาคาร 4 ชั้น เป็นที่พักอาศัยที่ดินหน้าวังสวนจิตรฯ ที่ได้มาจากพระคลังข้างที่ให้มาเป็นของขุนนิรันดรชัย (ปัจจุบันให้เซนต์ แอนดรูว์ เช่าอยู่) [1],[2]

และยังมีที่ดินสำคัญอีก 2 แปลง ได้แก่ ที่ดินหัวหินที่ดินติดกับพระราชวังไกลกังวล และที่ดินบนถนนสาทรอีก 3 ไร่กว่า ซึ่งความประสงค์ส่วนตัวต้องการที่ดินส่วนที่เป็นของพระคลังข้างที่คืนกลับให้สถาบันพระมหากษัตริย์ แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับสมาชิกของทายาทผู้ได้ที่ได้รับมอบมรดกตามกฎหมายที่เหลือว่าจะมีความเห็นยินยอมหรือไม่ อย่างไร [1],[2]

ประการที่ห้า บทบาทของ “ขุนนิรันดรชัย” ในกรณีการใช้ชื่อผู้อื่น เป็นผู้ถือครองโฉนดที่ดินพระคลังข้างที่ให้มาเป็นของตัวเอง

พลโทสรภฏ นิรันดร ได้ชี้แจงว่าสาเหตุที่ “ขุนนิรันดรชัย” ไม่ได้ถูกนายเลียง ไชยกาล พาดพิงในการตั้งกระทู้ถามและการอภิปรายเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2480 นั้น ก็เพราะเหตุว่า พันตรีสเหวก นิรันดร หรือ ขุนนิรันดรชัย ได้ใช้วิธีการซื้อที่ดินพระคลังข้างที่อำพรางในนามบุคคลอื่น

เช่น ที่ดินหัวหินซึ่งติดพระราชวังไกลกังวล และที่ดินหน้าวังสวนจิตรฯ ขุนนิรันดรชัย ได้ใส่ชื่อบุตรสาว (เด็กหญิงสุจิตรา นิรันดร)เป็นเจ้าของโฉนดที่ซื้อมา ซึ่งในขณะนั้นเด็กหญิงสุจิตรา นิรันดร มีอายุเพียง 6 ขวบโดยมีเงื่อนไขท้ายโฉนดว่าเมื่อเด็กหญิงสุจิตรา นิรันดร บรรลุนิติภาวะแล้วก็ให้โอนที่ดินกลับคืนมา [2] ซึ่งพลโทสรภฏ นิรันดร คาดว่าเฉพาะที่ดิน 2 แปลงนี้มูลค่าไม่ต่ำกว่า 4,000 ล้านบาท [2]

ประการที่หก บทบาทของ “ขุนนิรันดรชัย”กับ พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภาประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

พลโทสรภฏ นิรันดร แจ้งว่า พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ประธานผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ อยู่ในสถานภาพที่ต้องทำตามความต้องการของขุนนิรันดรชัย ด้วยเพราะในเวลานั้น อิทธิพลของคณะราษฎรอยู่เหนือฝ่ายเจ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังจากจอมพล ป. พิบูลสงคราม และขุนนิรันดรชัย ได้ร่วมมือในการนำทหารปราบ “กบฏบวรเดช”เป็นผลสำเร็จ จอมพล ป. พิบูลสงคราม จึงมีอิทธิพลและอำนาจที่เรียกร้องได้ในสิ่งที่ต้องการทั้งเครื่องราชย์ ฐานันดรศักดิ์ และเงิน [2]

ประการที่เจ็ด บทบาทและความสัมพันธ์ ของ “ขุนนิรันดรชัย”กับ พลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ (หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์) ในการตั้งธนาคารพาณิชย์

พลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ได้เขียนคำไว้อาลัยในงานพระราชทานเพลิงศพ แด่พันตรีสเหวก นิรันดร ที่บ้านธำรงสวัสดิ์ เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2499โดยได้เล่าความสัมพันธ์ระหว่าง ขุนนิรันดรชัย กับ พลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ตั้งแต่ยังเป็นทหารชั้นผู้น้อย ความตอนหนึ่งว่า

“พันตรีสเหวก นิรันดร กับข้าพเจ้า (พลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์) ได้เป็นเพื่อนเกลอกันมาตั้งแต่เมื่อครั้งที่เราทั้งสองต่างก็ยังเป็นนายทหารชั้นผู้น้อยด้วยกัน

กล่าวคือ เมื่อราว พ.ศ. 2469 ขณะที่พันตรีสเหวก นิรันดร ดำรงยศร้อยตรีแห่งกองทัพบก และข้าพเจ้าเป็นเรือโท สังกัดกองทัพเรือ เราทั้งสองได้มารับราชการร่วมกันในกรมอากาศยานที่ดอนเมือง โดยได้เป็นนักศึกษาในวิชาผู้ตรวจการณ์จากเครื่องบิน

เราได้เรียนและฝึกร่วมกันทั้งภาคพื้นดินและการทำงานในอากาศ และเป็นครั้งคราวก็ได้ทำการฝึกในเครื่องบินลำเดียวกัน ฉะนั้น เราจึงมีความรักใคร่สนิทสนมกันอย่างสหายร่วมตาย...

เมื่อเราทั้งสองต่างก็สำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรแล้ว เราก็แยกย้ายกันไปรับราชการตามสังกัดของตน และในปีหนึ่งๆ เราจึงมีโอกาสกลับมาเรียนและฝึกร่วมกันอีกประมาณสามเดือนในระยะ 2-3 ปีต่อมา”[7]

ต่อมาวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2484 พันตรีสเหวก นิรันดร ได้ร่วมกับพลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ จัดตั้งธนาคารที่ชื่อว่า “ธนาคารนครแห่งประเทศไทยจำกัด” (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นธนาคารนครหลวงไทย[8] และได้ขอให้ พลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เป็นประธานกรรมการ [9]

ในปี พ.ศ. 2489 พลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ได้รับพระบรมราชโองการแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรี จึงต้องลาออกจากการเป็นกรรมการในธนาคาร และพันตรีสเหวก นิรันดร ก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานกรรมการสืบแต่นั้นมาจนถึงแก่กรรม [9]

นอกจากนั้น “พลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์” ยังได้เขียนคำไว้อาลัยในงานพระราชทานเพลิงศพ แด่พันตรีสเหวก นิรันดร ที่บ้านธำรงสวัสดิ์ เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2499 ความตอนหนึ่งอีกว่า

“ภายหลังที่ได้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมาชั่วระยะหนึ่ง พันตรีสเหวก นิรันดร ก็ได้ย้ายไปดำรงตำแหน่งราชเลขานุการในพระองค์...และได้ประสานการงานระหว่างรัฐบาลกับสำนักราชเลขานุการให้ดำเนินไปด้วยความเรียบร้อยดีทุกประการ...”[10]

“...โดยพันตรีสเหวก นิรันดร ได้รับหน้าที่เป็นเลขานุการนายกรัฐมนตรี และข้าพเจ้า (พลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์) เป็นเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ในระยะนี้เราได้รับราชการร่วมกันอย่างใกล้ชิด...”[7]

นอกจากนั้นพลโทสรภฏ นิรันดร ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “ขุนนิรันดรชัย”ยังเป็นผู้ก่อตั้ง “ธนาคารไทยทนุ” อีกด้วย [2]

สำหรับประเด็นนี้ เมื่อสอบถามพลโทสรภฏ นิรันดร เพิ่มเติมว่า การตั้งธนาคารพาณิชย์นั้นจะต้องใช้เงินทุนมากมายมหาศาล ถ้าเช่นนั้นพันตรีสเหวก นิรันดร ในขณะที่ดำรงตำแหน่งเป็นราชเลขานุการนั้น ได้นำเงินมาจากที่ไหน ก็ได้รับคำตอบว่า

“เป็นเงินทุนที่ได้มาจากทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์” [2]

ส่วนคำถามที่ว่าพลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ในฐานะเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้เงินลงทุนในธนาคารมาจากแหล่งใด พลโทสรภฏ นิรันดร แจ้งว่าไม่ทราบว่าได้เงินมาจากแหล่งใด ทราบแต่ว่าเป็นเพื่อนสนิทของ “ขุนนิรันดรชัย”[2]

นอกจากนั้น พลโทสรภฏ นิรันดร ได้อธิบายว่า “ขุนนิรันดรชัย” ไม่ใช่ท่อน้ำเลี้ยงของพลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ แต่มีฐานะเป็นเพื่อนและหุ้นส่วนมากกว่า[2]

นอกจากนั้นพลโทสรภฏ นิรันดร ได้แจ้งให้ทราบเพิ่มเติมว่า การเป็นเจ้าของธนาคารพาณิชย์ทำให้มีสถานภาพการเป็น “ท่อน้ำเลี้ยง” ให้กับจอมพล ป.พิบูลสงคราม ที่มีประสิทธิภาพ เพราะสามารถจัดการธุรกรรมการเงินให้กับกลุ่มทุนของรัฐบาลได้[2]

ประการที่แปด ธุรกิจเครือข่ายอื่นๆ ของขุนนิรันดรชัยเพื่อเป็นท่อน้ำเลี้ยงให้กับ จอมพล ป. พิบูลสงคราม

เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2487 พันตรีสเหวก นิรันดร ได้ขอลาออกจากตำแหน่งเลขานุการในพระองค์[6] ตามจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ทรงลาออกจากตำแหน่งประธานและคณะกรรมการผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

หลังจากนั้นพันตรีสเหวก นิรันดร ก็ได้มาเป็นนักธุรกิจเต็มตัว ซึ่งนอกจากธนาคารนครหลวงไทย และธนาคารไทยทนุแล้ว ยังปรากฏมีการประกอบธุรกิจอีกจำนวนมาก

โดยพันตรีสเหวก นิรันดร หรือ ขุนนิรันดรชัย ได้เคยดำรงตำแหน่งประธานกรรมการและกรรมการในวงการค้าต่างๆ โดยเมื่ออ่านรายชื่อธุรกิจต่อไปนี้ให้พลโทสรภฏ นิรันดรฟัง พลโทสรภฏ นิรันดรแจ้งว่าธุรกิจส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดในรายชื่อต่อไปนี้เป็นกิจการของ “ขุนนิรันดรชัย”เอง ทั้งเป็นเจ้าของเองโดยตรง หุ้นส่วนใหญ่ ผู้ร่วมลงทุน หรือมีนอมินีมาเป็นผู้ถือหุ้น อาทิเช่น

“บริษัท ห้องเย็นไทย จำกัด
บริษัท ไทยนิยมพาณิชย์ จำกัด
บริษัท ไทยเศรษฐกิจประกันภัย จำกัด
บริษัท ไทยประกันภัย จำกัด
บริษัท นครหลวงประกันภัย จำกัด
บริษัท สหประกันภัย จำกัด
บริษัท ไทยนิยมประกันภัย จำกัด
บริษัท ไทยพาณิชประกันภัย จำกัด
บริษัท ประกันสรรพภัยแห่งประเทศไทย จำกัด
บริษัท สหศินิมา จำกัด
บริษัท แองโกลไทย มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด
บริษัท ยูไนเต็ด มอเตอร์ จำกัด
บริษัท ศรีกรุง จำกัด
บริษัท สหอุปกรณ์ จำกัด
ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (เป็นกรรมการ)
ฯลฯ เป็นต้น” [7]

ความร่ำรวยของ พันตรีสเหวก นิรันดร (ขุนนิรันดรชัย) นั้นได้ถูกกล่าวถึงและบันทึกเอาไว้ในคำไว้อาลัยในงานพระราชทานเพลิงศพของ พันตรีสเหวก นิรันดร ซึ่งเขียนโดย พลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2499 ความตอนหนึ่งว่า

“พันตรีสเหวก นิรันดร ยังได้ร่วมมือกับบุคคลอื่นจัดตั้งบริษัทจำกัด กิจการและค้าขึ้นอีกมากมายหลายแห่ง ซึ่งกิจการของบริษัทต่างๆ เหล่านี้ก็ได้เจริญรุ่งเรืองมาจนกระทั่งทุกวันนี้ในระยะนี้เอง

ได้มีเสียงโจทก์จรรย์ว่า พันตรีสเหวก นิรันดร ได้มีฐานะมั่งคั่งสมบูรณ์ขึ้นเหยียบเข้าขั้นมหาเศรษฐีคนหนึ่งของเมืองไทย ซึ่งในเรื่องนี้ก็พอจะมีความจริงอยู่บ้าง แต่ก็ไม่มากมายใหญ่โตดังที่ล่ำลือกัน และถ้าหากจะนำมาเปรียบเทียบกับพวกมหาเศรษฐีคนไทยในสมัยนี้แล้ว พันตรีสเหวก นิรันดร ก็เป็นเพียงเศรษฐีขนาดย่อมๆ คนหนึ่งซึ่งไม่มีความสำคัญอะไรนักเท่านั้น” [9]

อย่างไรก็ตามพลโทสรภฏ นิรันดร ได้ให้ข้อมูลในส่วนนี้ว่าการเป็นกรรมการในหลายบริษัทเช่นนี้ ขุนนิรันดรชัยเปรียบเสมือนเป็นผู้แทนจากฝ่ายรัฐบาลที่จะสามารถใช้นโยบายหรืออำนาจฝ่ายการเมืองเพื่ออำนวยธุรกิจให้กับนักธุรกิจในบริษัทต่างๆ แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นตัวแทนนำเงินจากกลุ่มทุนต่างๆมาเป็นท่อน้ำเลี้ยงให้กับ จอมพล ป.พิบูลสงครามด้วย [2]

ประการที่เก้า บทบาทของ “ขุนนิรันดรชัย”ในฐานะกลุ่มทุนเบื้องหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490

พลโทสรภฏ นิรันดร ได้กล่าวถึงการรัฐประหารของพลโทผิน ชุณหะวันและคณะ เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 นั้นเพื่อโค่นล้มรัฐบาลของ พลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์นั้น แท้ที่จริงผู้ที่อยู่เบื้องหลัง คือ จอมพลป. พิบูลสงคราม โดยอาศัยท่อน้ำเลี้ยงจาก “ขุนนิรันดรชัย” มาให้กับคณะรัฐประหารชุดดังกล่าว [2]

หลังจากนั้นกลุ่มซอยราชครูได้พยายามเป็นผู้ต่อท่อน้ำเลี้ยงของผลประโยชน์จากภาคเอกชนอื่นๆโดยตรงมาให้กับกลุ่มอำนาจของซอยราชครูในรัฐบาลชุดใหม่แทนขุนนิรันดรชัย แต่ถึงกระนั้นขุนนิรันดรชัยก็ยังคงมีบทบาทเป็นท่อน้ำเลี้ยงให้กับรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงครามต่อไป [2]

พลโทสรภฏ นิรันดร ได้แสดงความเห็นว่า การที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัตถ์ ทำการรัฐประหารสำเร็จ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะในเวลานั้น “ขุนนิรันดรชัย” ได้เสียชีวิตไปแล้ว จึงทำให้กลุ่มทุนของจอมพล ป.พิบูลสงคราม กระจัดกระจายเป็นหลายสาย ประสานผลประโยชน์ได้ยาก และไม่มีกำลังต้านรัฐประหารได้ [2]

หากข้อมูลดังกล่าวมีความถูกต้อง ย่อมแสดงให้เห็นว่าบทบาทของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ไม่ได้เป็นเพียงผู้รับตำแหน่งผู้บัญชาการทหารแห่งชาติ หรือภายหลังต่อมาเป็นนายรัฐมนตรีตามความต้องการของคณะรัฐประหารเท่านั้น หากแต่จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นผู้อยู่เบื้องหลังเพื่อการกลับเข้าสู่อำนาจของตัวเองอีกครั้ง ภายหลังได้หมดบทบาทไปในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2

(มีต่อ)
1 ม.ค. 2564  ผู้จัดการออนไลน์
หัวข้อ: (ต่อ)ภารกิจคณะราษฎรยังไม่เสร็จ !? (ตอนที่ 9) เบื้องลึกกว่าที่เป็นข่าว กรณีบุตร
เริ่มหัวข้อโดย: story ที่ 10 มกราคม 2021, 12:58:09
ประการที่สิบ ความเจ็บป่วยของขุนนิรันดรชัยอันเป็นสาเหตุของการสำนึกในความผิดเสียใจ และต้องการขอพระราชทานอภัยโทษ

โดยในหนังสือพระราชทานเพลิงศพของ “พันตรีสเหวก นิรันดร” หรือ “ขุนนิรันดรชัย” ได้อธิบายในเรื่องของความเจ็บป่วยที่ต้องวิ่งแสวงหาการรักษาถึงต่างประเทศ และได้รับผ่าตัดสมองโดยที่ไม่ได้เป็นโรคตามที่วินิจฉัย แม้เป็นมหาเศรษฐีแต่ก็ไม่สามารถเพื่อรักษาตัวเองให้หายจากความเจ็บป่วยนี้ได้ แม้ว่าจะใช้เงินเพื่อหาสถานพยาบาลชั้นนำ หรือหาหมอที่เก่งที่สุดในโลกเพียงใดก็ตาม ความตอนหนึ่งว่า :

“พันตรีสเหวก นิรันดร ได้เริ่มป่วยเป็นโรคเกี่ยวแก่ความดันโลหิตสูง และต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2495 ก็ได้ไปรักษาตัวที่ เมโยคลีนิค Mayo Clinic และที่โรงพยาบาลเซนต์ แมรี่ St. Mary ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้รับการผ่าตัดศีรษะ เพราะนายแพทย์สงสัยว่าอาจจะเป็นโรคเนื้องอกในสมอง แต่ก็ปรากฏว่ามิได้เป็นโรคนั้น จึงได้แต่เพียงทำการรักษาโดยทางยา

ต่อมาจึงได้ไปรักษาตัวที่ประเทศอังกฤษ โดยนายแพทย์ เซอร์ เอช อีแวน Sir H.Evans ซึ่งเป็นนายแพทย์ประจำพระองค์ของสมเด็จพระนางเจ้าเอลิซาเบทที่ 2 ตรวจแล้วลงความเห็นว่า ควรให้กลับไปพักรักษาตัวที่ประเทศไทยจะเหมาะกว่า เพราะขณะนั้นพันตรีสเหวก นิรันดร มีร่างกายอ่อนแอมาก

หลังจากกลับมาประเทศอังกฤษแล้ว ก็ได้รับการรักษาพยาบาลเป็นอย่างดียิ่ง รู้สึกว่าอาการเกี่ยวกับความดันโลหิตดีขึ้นบ้าง ทรุดลงบ้าง จนกระทั่งเมื่อวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2498 เส้นโลหิตในสมองข้างขวาแตกเลยทำให้เป็นอัมพาต ทำให้อาการป่วยทวีขึ้น แต่ภรรยาและบุตรก็ได้ช่วยกันรักษาพยาบาล อย่างเต็มความสามารถตลอดมา

จนกระทั่งถึงวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2499 เวลา 17.35 น. ก็ได้ถึงแก่กรรมลงท่ามกลางภรรยาและบุตรธิดา ทั้งนี้ทำให้เกิดความวิปโยคเป็นอย่างยิ่ง คำนวณอายุได้ 56 ปี” [6]

สำหรับเหตุการณ์ในช่วงนี้ พลโทสรภฏ นิรันดร ได้อธิบายเหตุการณ์ประวัติความเสียใจ และสำนึกความผิด ที่ไม่ได้บันทึกเอาไว้ในหนังสือพระราชทานเพลิงศพว่า

“เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2496- 2499 ขุนนิรันดรชัย ได้ล้มป่วยเป็นโรคเส้นโลหิตสมองและเป็นอัมพาต โดยในระหว่างนั้นได้กล่าวด้วยน้ำตากับ เด็กชายสรภฏ นิรันดร ในขณะที่อายุ 14 ปี ว่าที่พ่อป่วยเป็นเช่นนี้เพราะผิดต่อคำสาบานในการดื่มน้ำพิพัฒน์สัตยา และเบียดบังพระราชทรัพย์ในพระคลังข้างที่ และทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์มาเป็นของตัวเอง

อยากจะขอพระราชทานอภัยโทษ แต่ก็ไม่สามารถทำได้แล้วเพราะพ่อล้มป่วยเป็นอัมพาต ได้แต่น้ำตาไหลร้องไห้ เป็นเช่นนี้หลายครั้ง ทำให้พลโทสรภฏ นิรันดร จำภาพได้ติดตา และเป็นบาดแผลฝังอยู่ภายในใจมาหลายสิบปี” [2]

สำหรับพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยานั้น เป็นพิธีศักดิ์สิทธิ์ที่มีความสำคัญมาแต่ครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยา ที่มีพระราชพิธีใหญ่และศักดิ์สิทธ์ของแผ่นดิน

โดยพิธีถือน้ำ หมายถึง “พระราชพิธีอันเป็นมงคลแห่งความซื่อสัตย์ที่ใช้น้ำเป็นเครื่องกำหนด”

เป็นพิธียิ่งใหญ่ที่สืบทอดมาแต่โบราณที่แสดงถึงความจงรักภักดีอย่างหนักแน่น ต่อองค์พระเจ้าแผ่นดินผู้เปรียบเป็นสมมติเทพ จัดขึ้นเพื่อให้บรรดาทหารและข้าราชการใต้ปกครองเข้าร่วม เพื่อแสดงความจงรักภักดีต่อพระเจ้าแผ่นดิน โดยการดื่มน้ำที่ผ่านพิธีปลุกเสกแล้ว พร้อมกล่าวคำสาบานตนว่าจะซื่อสัตย์ไม่คดโกง จงรักภักดีต่อองค์พระมหากษัตริย์และบ้านเมือง อันเป็นแผ่นดินแม่แดนกำเนิดของตน

โดยพิธีกรรมที่ทำคือทำพิธีให้น้ำศักดิ์สิทธิ์ (น้ำพิพัฒน์สัตยา) แล้วนำน้ำศักดิ์สิทธิ์นี้มาตั้งในพิธี แทงอาวุธคมหอกคมดาบลงในน้ำ ให้บรรดาผู้ที่ทำพิธีดื่มน้ำเพื่อสาบานตนว่า จะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ หากผู้ใดมิได้รักษาคำสัตย์ปฏิญาณที่ได้กล่าวไว้ ก็ให้มีอันเป็นไปด้วยอาวุธหอกดาบอันใช้จุ่มในน้ำที่ตนดื่ม

พระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยายังคงปฏิบัติมาจนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

จนกระทั่งเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 คณะราษฎรให้ยกเลิกการพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาหรือพระราชพิธีศรีสัจจปานกาล เช่นเดียวกับพระราชพิธีอื่นๆ เนื่องจากคณะราษฎรเห็นว่าเป็นพิธีกรรมที่แสดงถึงความไม่เท่าเทียมไม่เสมอภาคกันของคนในสังคม [11] แต่ต่อมาก็มีการนำพิธีดังกล่าวกลับมาอีกครั้ง เมื่อปี พ.ศ. 2512 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 [12]

อย่างไรก็ตาม “ขุนนิรันดรชัย” ก็ได้เคยถือน้ำพิพัฒน์สัตยาก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองเช่นกัน

ประการที่สิบเอ็ด สาเหตุที่เพิ่งจะมาขอพระราชทานอภัยโทษในปี พ.ศ. 2563

พลโทสรภฏ นิรันดร ได้ปรึกษาพี่ชายต่างมารดาคือ นายธรรมนูญ นิรันดร ว่าสมควรที่จะต้องดำเนินขอพระราชทานอภัยโทษ ปรากฏว่านายธรรมนูญ นิรันดร ก็เห็นดีด้วย

แต่ต่อมาในปี พ.ศ. 2552 นายธรรมนูญ นิรันดร ได้ล้มป่วยด้วยอาการเส้นเลือดในสมองแตก ต้องเข้ารับการรักษาอาการที่โรงพยาบาล ก่อนออกมาอยู่ภายใต้การดูแลของพยาบาลโดยตลอด และเสียชีวิตลงเมื่อปี พ.ศ. 2563 จึงไม่ทันที่จะขอพระราชทานอภัยโทษอีก

พลโทสรภฏ นิรันดร อธิบายว่า ปัจจุบันบุตรของ “ขุนนิรันดรชัย” ได้เหลือเพียง 4 คน แต่ 3 คนที่เหลือต่างต้องนั่งรถเข็นและพิการด้วยโรคเดียวกันเช่นกัน ในฐานะที่ พลโทสรภฏ นิรันดร เป็นบุตรชายคนสุดท้ายที่ยังมีสุขภาพดีอยู่ จึงตัดสินใจทำพิธีของพระราชทานอภัยโทษในครั้งนี้ [2]

ประการที่สิบสอง พลโทสรภฏ นิรันดร ได้เล่าให้ฟังเพิ่มเติมว่า บุตรชายของหลวงเชวงศักดิ์สงคราม ซึ่งเป็นนักเรียนโรงเรียนเซนต์คาเบรียลด้วยกัน บอกว่าหลวงเชวงศักดิ์สงครามมีความคิดจะขอทำพิธีพระราชทานอภัยโทษเช่นกัน แต่ก็ไม่ได้ทำ [2] และเชื่อว่ายังมีอีกหลายคนที่มีความคิดแบบนี้

ประการที่สิบสาม อยากฝากให้คนรุ่นใหม่ที่ศึกษาประวัติศาสตร์ จะต้องศึกษาให้ละเอียดถี่ถ้วน เพราะไม่มีใครต้องการเผยแพร่ด้านลบในประวัติศาสตร์ของตัวเอง จึงควรพิจารณาข้อมูลข่าวสารอย่างมีสติไม่ให้ใครนำไปชักจูงได้โดยง่าย [2]

ประการที่สิบสี่ พลโทสรภฏ นิรันดร กล่าวด้วยน้ำตาหลายครั้งในการแถลงข่าวว่ารู้สึกโล่งอก เหมือนยกภูเขาออกจากอก ที่เก็บบาดแผลเป็นปมในใจติดค้างมาหลายสิบปี และได้มาทำหน้าที่ตามที่ “ขุนนิรันดรชัย” มีความประสงค์แล้ว [2]

ในทัศนะของผู้เขียนจากการสัมภาษณ์ครั้งนี้ พลโทสรภฏ นิรันดร มีความต้องการดำเนินการขอพระราชทานอภัยโทษตามวัตถุประสงค์ของขุนนิรันดรชัยที่ไม่ได้ทำในขณะที่มีชีวิตอยู่ ประกอบกับพลโทสรภฏ นิรันดร เป็นทหารที่มีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ จึงต้องการให้สังคมเข้าใจในสิ่งที่ถูกต้อง และเชื่อว่าพลโทสรภฏ นิรันดร อาจจะคาดหวังที่จะไม่ได้รับผลกรรมเหมือนกับคนอื่นๆในตระกูลที่ผ่านมา

แต่ในขณะเดียวกันผู้เขียนเชื่อว่าการได้ใช้โอกาสการขอพระราชทานอภัยโทษครั้งนี้ย่อมมีผลทำให้สังคมได้รับรู้การกระทำที่ไม่ถูกต้องในอดีต ซึ่งอาจจะมีผลต่อทายาทและหลานๆ คนอื่นๆ ที่มีส่วนในมรดกตามกฎหมาย จะได้ตัดสินใจการถวายคืนทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ในโอกาสต่อไป

ผู้เขียนได้ทราบจากพลโทสรภฏ นิรันดร ว่า “ขุนนิรันดรชัย” ได้เขียนมอบมรดกบางส่วนให้กับพลโทสรภฏ นิรันดร ด้วยการประกอบเหตุผลเป็นจดหมายและถ่ายเก็บไว้ในไมโครฟิลม์ว่า “เพราะเป็นผู้ที่มีคุณธรรม”

พลโทสรภฏ นิรันดร จึงเป็นทายาทของ ขุนนิรันดรชัย “เพียงคนเดียว” ที่ได้ทำภารกิจ “ปลดปล่อยมลทินในจิตวิญญาณ”ของตัวเองและบิดาในครั้งนี้

จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้นแม้จะไม่ใช่ความผิดของพลโทสรภฏ นิรันดร แต่ผู้เขียนขอชื่นชมความกล้าหาญของพลโทสรภฏ นิรันดร ในการแถลงข่าวครั้งนี้ และสัญญาจะนำเรื่องการขอพระราชทานอภัยโทษ และเรื่องราวเหล่านี้ให้สังคมไทยได้เข้าใจอย่างถูกต้องต่อไป

ด้วยจิตคารวะ
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

อ้างอิง
[1] ผู้จัดการออนไลน์, ทายาท “ขุนนิรันดรชัย” ขอพระราชทานอภัยโทษแทนบิดากระทำมิบังควรสมัยร่วมคณะราษฎร 2475 เตือนเยาวชนศึกษาประวัติศาสตร์ อย่าเชื่อใครง่าย, เผยแพร่: 26 ธ.ค. 2563 เวลา 13:43 น.
https://mgronline.com/onlinesection/detail/9630000131996

[2] ผู้จัดการออนไลน์, คำสัมภาษณ์พิเศษเพิ่มเติมของพลโทสรภฏ นิรันดร, โดยปานเทพ พัวพงษ์พันธ์, สัมภาษณ์ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2563 ณ โรงแรม INTERCONTINENTAL BANGKOK, สัมภาษณ์เพิ่มเติมครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2563 โดยเปิดเผยเฉพาะครั้งที่ 1, ส่วนครั้งที่ 2 ยังไม่เปิดเผยในเวลานี้รอเวลาอันเหมาะสม)
https://www.facebook.com/123613731031938/posts/3727071230686152/
https://mgronline.com/onlinesection/detail/9630000133139

[3] คณะกรรมการดำเนินงานฉลอง 100 ปี ชาตกาล นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส, คำให้การต่อศาลอาชญากรสงคราม เอกสารประวัติศาสตร์,พิมพ์ครั้งแรก พฤศจิกายน 2545, พิมพ์ที่เจริญวิทย์การพิมพ์, เลขมาตฐานสากลประจำหนังสือ 974-7834-35-9 หน้า 122-124
http://www.openbase.in.th/files/pridibook011.pdf

[4] เรื่องเดียวกัน, หน้า 156

[5] จอมพล ป. พิบูลสงคราม และ คุณหญิงละเอียด พิบูลสงคราม, เขียนเคารพไว้อาลัยแด่ พันตรี สเหวก นิรันดร, หนังสือปาฐกถาเรื่องจิตต์ เพื่อบรรณาการในงานพระราชทานเพลิงศพ พันตรี สเหวก นิรันดร ณ เมรุวัดพระศรีมหาธาตุ, วันที่ 22 พฤษภาคม 2499 แผ่นที่ 4

[6] ประวัติ พันตรี สเหวก นิรันดร, หนังสือปาฐกถาเรื่องจิตต์ เพื่อบรรณาการในงานพระราชทานเพลิงศพ พันตรี สเหวก นิรันดร ณ เมรุวัดพระศรีมหาธาตุ, วันที่ 22 พฤษภาคม 2499 หน้า (10)-(12)

[7] พลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์, เขียนคำไว้อาลัยแด่พันตรีสเหวก นิรันดร ที่บ้านธำรงสวัสดิ์ วันที่ 10 พฤษภาคม 2499 หนังสือปาฐกถาเรื่องจิตต์ เพื่อบรรณาการในงานพระราชทานเพลิงศพ พันตรีสเหวก นิรันดร ณ เมรุวัดพระศรีมหาธาตุ, วันที่ 22 พฤษภาคม 2499, หน้า (2)-(3)

[8] ประวัติ พันตรี สเหวก นิรันดร, หนังสือปาฐกถาเรื่องจิตต์ เพื่อบรรณาการในงานพระราชทานเพลิงศพ พันตรี สเหวก นิรันดร ณ เมรุวัดพระศรีมหาธาตุ, วันที่ 22 พฤษภาคม 2499, หน้า (20)-(23)

[9] คำไว้อาลัยของคณะกรรมการ ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด, กฎหมายเกี่ยวแก่การธนาคาร ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พันตรีสเหวก นิรันดร ณ เมรุวัดพระศรีมหาธาตุ, 22 พฤษภาคม 2499, หน้า ข

[10] พลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์, เขียนคำไว้อาลัยแด่พันตรีสเหวก นิรันดร ที่บ้านธำรงสวัสดิ์ วันที่ 10 พฤษภาคม 2499 หนังสือปาฐกถาเรื่องจิตต์ เพื่อบรรณาการในงานพระราชทานเพลิงศพ พันตรีสเหวก นิรันดร ณ เมรุวัดพระศรีมหาธาตุ, วันที่ 22 พฤษภาคม 2499, หน้า (4)-(5)

[11] ธัญญ์พิชา โรจนะ, “พระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยากับสังคมไทยจนถึงการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง พ.ศ. 2475,” หน้า 148

[12] ธัญญ์พิชา โรจนะ, “พระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยากับสังคมไทยจนถึงการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง พ.ศ. 2475,” หน้า 150.
 
1 ม.ค. 2564 ผู้จัดการออนไลน์
หัวข้อ: ภารกิจคณะราษฎรยังไม่เสร็จ! (ตอนที่ 10) ปรีดี ค้านหนักจอมพล ป.ทำตัวเทียมกษัตริย์
เริ่มหัวข้อโดย: story ที่ 10 มกราคม 2021, 13:01:32
ณ บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

 ย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ. 2469 ก่อนที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 นั้นได้มีการประชุมกันครั้งแรกของคณะราษฎรติดต่อกัน 5 วัน 4 คืน ที่ประเทศฝรั่งเศส

ร้อยโทแปลก พิบูลสงคราม ได้เสนอว่าหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้วให้สำเร็จโทษพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ (ยิงให้หมดเลย)ไม่เช่นนั้นจะเหมือนตีงูให้หลังหักจะแว้งกัดได้ในภายหลัง [1],[2]

ในขณะที่นายปรีดี พนมยงค์ ผู้นำคณะราษฎรฝ่ายพลเรือนได้คัดค้าน โดยยกเหตุผลว่าทำเช่นนั้นไม่ได้เพราะเมืองไทยเป็นเมืองพุทธ[1] หากกระทำเช่นนั้นแล้ว จะทำให้เกิดความวุ่นวายและความรุนแรงขึ้นทั่วประเทศเหมือนการปฏิวัติรัสเซีย[2] และการปฏิวัติที่อังกฤษ

โดยช่วงเวลาหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ยังไม่ได้สละราชสมบัตินั้น ปรากฏว่า พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ได้จัดทำหนังสือเรื่องประวัติศาสตร์ สมัยการปฏิวัติฝรั่งเศส และสมัยนโปเลียน โบนาปาร์ต และตีพิมพ์เมื่อวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2477 เพื่อใช้ไว้สอนแก่นิสิตและนิสิตาในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

โดยหนังสือดังกล่าวนี้ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (นายปรีดี พนมยงค์) ก็ได้เขียนคำนำเอาไว้ตอกย้ำแนวคิดและจุดยืนของตนเองเอาไว้เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2477 ว่าไม่เห็นด้วยกับการปฏิวัติฝรั่งเศสที่ฆ่ากษัตริย์และเปลี่ยนแบบการปกครอง ซึ่งไม่ควรนำมาใช้กับประเทศสยาม ความตอนท้ายว่า

“เมื่อจุดหมายแห่งการปฏิวัตร์ในประเทศฝรั่งเศสมีในเรื่องแบบ เมื่อเปลี่ยนแบบแล้ว ปัญหาบุคคลที่จะเป็นประมุขหรือหัวหน้าการปกครองก็ย่อมเกิดขึ้นไม่รู้จักจบ และนำความหายนะมาสู่ประเทศชาติได้ ตัวอย่างอันไม่ดีแห่งการปฏิวัตร์อย่างไม่สมบูรณ์ (Revolution imparfaite) เช่นนี้ ไม่ควรนำมาใช้สำหรับประเทศสยาม”[3]  แนวคิด ลัทธิชาตินิยมนำโดยทหารของ “หลวงพิบูลสงคราม” กับ แนวคิดประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่ใช้ระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมของ “หลวงประดิษฐ์มนูธรรม” แม้จะมีเป้าหมายเบื้องต้นเพื่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองเหมือนกัน และเป็นเพื่อนเสี่ยงตายมาด้วยกัน แต่ก็มีความแตกต่างกันในแนวคิด โดย “หลวงพิบูลสงคราม” มีความเชื่อในลัทธิชาตินิยมที่อาจมีอิทธิพลอยู่เหนือกว่าพระมหากษัตริย์ ในขณะที่ “หลวงประดิษฐ์มนูธรรม” ก็ถูก “ระแวง” ความคิดในระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมว่าจะเป็นคอมมิวนิสต์ในท้ายที่สุดหรือไม่

อย่างไรก็ตามในช่วงการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่ยังไม่สงบนิ่ง บทบาทโดยอาศัยกำลังทหารของ “หลวงพิบูลสงคราม”มีความสำคัญต่อการรักษาเสถียรภาพของคณะราษฎรมากกว่าสายพลเรือนในช่วงแรก โดย “หลวงพิบูลสงคราม”นั้นได้ผ่านสมรภูมิทหารสำคัญหลายเหตุการณ์ ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี พ.ศ. 2475 และอาจเป็นส่วนหนึ่งของการที่ทำให้ “อัตตา” ของ “หลวงพิบูลสงคราม” เพิ่มมากขึ้น หรือมองอีกด้านหนึ่งต้องการเอกภาพในภาวะการนำสูงสุดให้มากขึ้น กล่าวคือ 

วันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 คณะทหารบก, ทหารเรือ กองทัพอากาศ และพลเรือน นำโดยพระยาพหลพลพยุหเสนา, หลวงพิบูลสงคราม, และหลวงศุภชลาศัย ได้ทำรัฐประหารยึดอำนาจจากพระยามโนปกรณ์นิติธาดาประธานคณะกรรมการราษฎร (นายกรัฐมนตรี) โดยระบุเหตุผลว่าเพราะรัฐบาลกระทำการเป็นเผด็จการ ทำลายระบอบใหม่

แต่เบื้องหลังที่มีการรัฐประหารในครั้งนั้น เพราะมีรายงานลับมาถึงพันโทหลวงพิบูลสงครามในขณะนั้น ว่าพันเอกพระยาศรีสิทธิสงคราม เจ้ากรมยุทธการทหารบก เตรียมโยกย้ายนายทหารสายคณะราษฎรออกจากตำแหน่งคุมกำลังทั้งหมด จึงทำการชิงตัดหน้ารัฐประหารเสียก่อน ดังความปรากฏของในการเขียนคำไว้อาลัยและเบื้องหลังชีวิตการเมืองของ ร.ท.จงกล ไกรฤกษ์ โดย พลโทประยูร ภมรมนตรี ความตอนหนึ่งว่า

“รุ่งขึ้นข้าฯ ไปพบท่านจอมพล ป. พิบูลสงครามที่วังปารุสก์ ท่านกอดคอข้าฯ น้ำตานองบอกว่ายูรจำเป็นต้องทำ ไม่มีทางหลีกเลี่ยงเพราะเจ้าคุณศรีสิทธิสงครามเล่นไม่ซื่อ หักหลังเตรียมสั่งย้ายนายทหารผู้คุมกำลังทั้งกองทัพ พวกก่อการจะถูกตัดตีนตัดมือและถูกฆ่า” [4]

วันที่ 12-25 ตุลาคม พ.ศ. 2476 นายพันโทหลวงพิบูลสงคราม เป็นผู้บัญชาการกองกำลังผสม ได้ยกทัพไปปราบ พลเอกพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช และพระยาศรีสิทธิสงคราม หรือที่รู้จักในนาม “กบฏบวรเดช” เป็นผลสำเร็จ ทำให้ฐานะทางการเมืองเพิ่มสูงขึ้นจากเหตุการณ์ครั้งนี้

โดยภายหลังปราบ “กบฏบวรเดช” สำเร็จ ในวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2476 รัฐบาลตั้งศาลพิเศษขึ้นพิจารณาและพิพากษาคดีเกี่ยวกับกบฏและจลาจล โดยไม่มีอุทธรณ์และฎีกา และได้จับกุมคนกว่าหกร้อยคน พบว่ามีความผิดต้องโทษ 296 คน และมีโทษประหารชีวิต 6 คน และจำคุกตลอดชีวิต 244 คน[5]

อย่างไรก็ตามพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงปฏิเสธการลงพระนามให้ประหารชีวิตตามคำพิพากษาที่รัฐบาลตั้งคณะกรรมการตัดสินกันเอง จึงไม่สามารถนำตัวไปประหารได้ และเป็นชนวนสาเหตุหนึ่งในความขัดแย้งและระแวงกันอย่างรุนแรงตามมาอีกหลายประเด็น ระหว่างรัฐบาลกับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

โดยนับตั้งแต่เหตุการณ์ปราบกบฏบวรเดช หลวงพิบูลสงครามได้มีชื่อเสียงและมีอิทธิพลทางการทหารในยุคนั้นอย่างไม่สามารถปฏิเสธได้ จนเวลาผ่านไป 5 เดือนหลังจากนั้น วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2477 นายพันโทหลวงพิบูลสงคราม ได้เลื่อนยศจากนายพันโท[6] เป็นนายพันเอก[7]

และในปีนั้นเอง วันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2477 นายพันเอก หลวงพิบูลสงคราม ก็ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม อีกตำแหน่งหนึ่ง ในรัฐบาลพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา จากนั้นเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2479 ก็ได้ยศทหารเรือเพิ่ม เป็นนายนาวาเอก[8] และได้ยศทหารอากาศเป็น นายนาวาอากาศเอก เมื่อวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2480 [9]

สำหรับท่านผู้อ่านที่อาจเกิดคำถามว่า เหตุใดจึงไม่เลื่อนชั้นยศของ “หลวงพิบูลสงคราม” และคณะให้สูงขึ้นไปมากกว่าพันเอก คงได้แต่เพียงยศพันเอกจากเหล่าทัพอื่นๆ ก็ได้คำตอบจากนายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งได้เขียนบทความเรื่อง “จงพิทักษ์เจตนารมณ์ประชาธิปไตยสมบูรณ์ของวีรชน 14 ตุลาคม” เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2516 ความตอนหนึ่งว่า

“...เจตนารมณ์ของนายทหารผู้ใหญ่ในคณะราษฎรนั้นต้องการให้กองทัพไทยดําเนินเยี่ยงกองทัพสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งพลเมืองชายเป็นทหารรักษาท้องถิ่น คือ เป็นกองทัพของราษฎร ในการนั้นได้เริ่มทําไปเป็นเบื้องแรกแล้ว โดยกองทัพไทยในยามปกตินั้น นายทหารมียศสูงสุดเพียงนายพันเอก คงมีนายพลเพียงคนเดียวซึ่งเป็นสมุหราชองครักษ์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ และได้จัดระเบียบกองทัพตามเขตมณฑลและจังหวัด มิใช่ในรูปกองพล กองทัพน้อย กองทัพเหมือนสมัยระบอบสมบูรณาฯ...” [10]

ต่อมาวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2481 พันเอกหลวงพิบูลสงคราม ได้เป็นนายกรัฐมนตรี ต่อจากพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา โดยความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร

หลังจากนั้นไม่ถึง 1 เดือน ด้วยความระแวงต่อพันเอกพระยาทรงสุรเดช วันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2482 จึงได้ทำการปลดพันเอกพระยาทรงสุรเดช (อดีตผู้ก่อการคนสำคัญในเหตุการณ์วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475) ให้พ้นจากตำแหน่งผู้บัญชาการโรงเรียนรบ และให้ออกจากราชการโดยไม่มีเบี้ยหวัดบำนาญ และบังคับให้เดินทางออกนอกประเทศที่ประเทศกัมพูชา

ในขณะที่ หลวงอดุลเดชจรัส อธิบดีกรมตำรวจ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จับตายนายทหารคนสนิทของพระยาทรงสุรเดช 3 คน และจับกุมผู้ต้องสงสัยอีกจำนวน 51 คน และ พันเอกหลวงพิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ได้จัดตั้งศาลพิเศษขึ้นพิจารณาคดีโดยไม่มีการอุทธรณ์หรือฎีกา เช่นเดียวกัน

การพิจารณาคดีโดยศาลพิเศษครั้งนั้น เป็นผลทำให้มีนักโทษจำคุกตลอดชีวิต 25 คน มีโทษประหาร 21 คน แต่ให้คงเหลือโทษจำคุกตลอดชีวิต 3 คนเนื่องจากเคยประกอบคุณความดีให้แก่ประเทศชาติ (นายพันโท พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร, นายพลโทพระยาเทพหัสดิน, และนายพันเอก หลวงชำนาญศิลป์) และได้ทำการประหารนักโทษ 18 คนทั้งหมด ระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน- 3 ธันวาคม พ.ศ. 2482 จนได้เรียกว่า “กบฏพระยาทรงสุรเดช” หรือ “กบฏ 18 ศพ”

ต่อมาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2482 กระทรวงกลาโหม ได้ออกประกาศ เรื่องพระราชทานยศทหาร, ให้นายพล แด่ พันเอก นายนาวาเอก นายนาวาอากาศเอก หลวงพิบูลสงคราม (แปลก ขิตตะสังคะ) เป็นพลตรี นายพลเรือตรี นายพลอากาศตรี [11]
แต่ก็เพื่อไม่ให้น่าเกลียดจึงได้มีเพื่อนร่วมเป็นนายพล 3 เหล่าทัพ อีก 2 คนได้แก่ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา และพระยาพหลพลพยุหเสนาด้วย ในขณะที่ นายนาวาเอก หลวงสินธุสงครามชัย เป็นนายพลเรือตรี [11]

ในช่วงเวลานี้ “หลวงพิบูลสงคราม” เริ่มแสดงตนเป็นผู้เลื่อมใสความเป็นผู้นำในลัทธิชาติอำนาจนิยม หรือรูปแบบฟาสซิสต์ ดังเช่น เบนิโต มุสโสลินี และฮิตเลอร์ โดย “หลวงวิจิตรวาทการ” รับหน้าที่เป็น โฆษกด้านอุดมการณ์ของรัฐบาล ได้มีส่วนสำคัญในการดำเนินการโฆษณาประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ความเป็นผู้นำของหลวงพิบูลสงครามอย่างต่อเนื่อง
โดยสำหรับประเด็นนี้ นายปรีดี พนมยงค์ ได้เคยให้ข้อสังเกตนี้เอาไว้ผ่านบทความเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2516 ความตอนหนึ่งว่า

“...ในระยะแรกที่พันเอก หลวงพิบูลฯ เป็นนายกรัฐมนตรีนั้น ได้ดําเนินกิจการบ้านเมืองตามระบอบประชาธิปไตย มีอยู่อย่างหนึ่งที่ปฏิบัติผิดไปจากอุดมคติเดิมของคณะราษฎร ที่นายทหารในยามปกติมียศอย่างสูงเพียงชั้นนายพันเอกเท่านั้น แต่หลวงพิบูลฯ ได้รับแต่งตั้งจากคณะผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้เป็น นายพลตรี” [10]
จากนั้นในบทความเดียวกัน นายปรีดี พนมยงค์ ก็ได้กล่าวถึงบรรดาผู้คนที่แวดล้อมของหลวงพิบูลสงคราม ที่ประจบประแจงเอาอกเอาใจจนทำให้หลวงพิบูลสงครามเคลิบเคลิ้มจนเสียคนและหลงในอำนาจ ความว่า

“ครั้นอยู่ต่อมาไม่นานก็มีบุคคลที่มีทรรศนะสืบเนื่องจากระบบทาสสนับสนุนให้หลวงพิบูลฯ ปกครองประเทศตามระบอบเผด็จการนาซีและฟาสซิสต์ ซึ่งเป็นการปกครองราษฎรอย่างทาส...

ในค่ำวันหนึ่งมีการแสดงละครที่วังสวนกุหลาบในโอกาสวันเกิดของหลวงพิบูลฯ ข้าพเจ้ากับเพื่อนก่อการหลายคนได้รับเชิญไปในงานนั้นด้วย ซึ่งผู้ที่มีชีวิตอยู่ในขณะนี้ยังคงจํากันได้ว่า

หลวงวิจิตรวาทการเป็นผู้นําละครมาแสดงและในบางฉาก ท่านผู้นี้ก็แสดงเองด้วย มีฉากหนึ่งแสดงถึงระบํา - ฝูงไก่ (หลวงพิบูลฯ เกิดปีระกา) ระบําฝูงนั้นแสดงว่า คนมีบุญได้มาจุติมาเกิดในปีระกา ซึ่งเป็นมิ่งขวัญของชาติไทย

อีกฉากหนึ่งหลวงวิจิตรวาทการ แสดงเป็นชายชราง่อยเปลี้ย เมื่อได้ออกมาเห็นหลวงพิบูลฯ ผู้มีบุญได้กราบอภิวาทวันทา ความง่อยเปลี้ยของชายชรานั้นก็หมดสิ้นไป หลวงพิบูลฯ ได้หันหน้ามาทางข้าพเจ้าแสดงอาการขวยเขิน แล้วได้หันไปประณมมือรับไหว้หลวงวิจิตรวาทการ...”[10]

ไม่เพียงแต่หลวงวิจิตรวาทการเท่านั้น แต่นายปรีดี พนมยงค์ ยังได้กล่าวถึงคนอีก 4 คน ในบทความเดียวกันที่เรียกว่า “จตุสดมภ์” ที่ช่วยกันประจบสอพลอ ความว่า

“...ข้าพเจ้าเห็นว่า ขณะนั้นหลวงพิบูลฯ ก็ยังไม่คิดที่จะเป็นผู้เผด็จการ แต่ต่อมาเมื่อซากทรรศนะเก่าของบุคคลอีกหลายคนได้สนับสนุนบ่อย ๆ ครั้งเข้า รวมทั้งมีพวกที่ได้ฉายาว่า จตุสดมภ์ ที่คอยยกยอปอปั้น ก็ทําให้หลวงพิบูลฯ ซึ่งเดิมเป็นนักประชาธิปไตยได้เคลิบเคลิ้มเปลี่ยนจากแนวทางเดิมไปได้...”[10]

อย่างไรก็ตามแม้นายปรีดี พนมยงค์ จะไม่ได้กล่าวถึงว่าใครคือจตุสดมภ์ที่คอยยกยอปอปั้น “หลวงพิบูลสงคราม” แต่ พลตำรวจเอก อดุล อดุลเดชจรัส อธิบดีกรมตำรวจ ได้เคยให้การต่อคณะกรรมการตามพระราชบัญญัติอาชญากรสงคราม เมื่อ วันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2488 เรื่องรายชื่อผู้ที่ประจบสอพลอและเป็นผู้ที่จอมพล ป.ไว้เนื้อเชื่อใจ ความตอนหนึ่งว่า

“ผู้ที่ประจบสอพลอและเป็นผู้ที่จอมพล ป.ฯไว้เนื้อเชื่อใจนั้น เท่าที่ข้าฯได้สังเกตพบเห็นมี พล.ท.พระวิชัยยุทธเดชคนี พล.ท.พระประจนปัจนึก หลวงวิจิตรวาทการ หลวงสารนุประพันธ์ หลวงยุทธศาสตร์โกศล เป็นต้น” [12]

แต่การยกยอ จอมพล ป.นั้นไม่ได้จบเพียงแค่ ”พลตรี” เท่านั้น แต่ได้ก้าวกระโดดจาก “พลตรี” กลายเป็น “จอมพล” โดยไม่ต้องผ่านจาก “พลโท” หรือ “พลเอก”เสียก่อนด้วย

โดยเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2484 ไทยกับฝรั่งเศสภายหลังมีการต่อสู้รบกัน ก็ได้มีลงนามในอนุสัญญาโตเกียว โดยประเทศญี่ปุ่นได้เป็นตัวกลางในการเจรจาในข้อพิพาทเรื่องดินแดนในอินโดจีนที่สยามถูกยึดไปตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5ในวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112

อนุสัญญาโตเกียวนั้น ได้เป็นผลทำให้ดินแดนฝั่งขวาของแม่น้ำโขง ได้แก่ หลวงพระบาง จำปาศักดิ์ ศรีโสภณ พระตะบอง และดินแดนในกัมพูชาคืนจากฝรั่งเศส และได้นำมาแบ่งเป็น 4 จังหวัด คือ จังหวัดพระตะบอง จังหวัดพิบูลสงคราม จังหวัดจัมปาศักดิ์ และจังหวัดลานช้าง ยิ่งเป็นผลทำให้ชื่อเสียงและภาวะความเป็นผู้นำทางการทหารของหลวงพิบูลสงครามเพิ่มสูงขึ้นไปอีก

วันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2484 ได้มีประกาศพระบรมราชโองการ (คณะผู้สำเร็จราชการ)โปรดเกล้าฯพระราชทานยศ จอมพล จอมพลเรือ และจอมพลอากาศ แก่นายพลตรี หลวงพิบูลสงครามพร้อมด้วยคธาจอมพล และสายประคำทองคำอันคู่ควรแก่ตำแหน่งแม่ทัพสูงสุดเป็นเกียรติสืบไป [13]

โดยความตอนหนึ่งในเรื่องนี้ได้ให้เหตุผลในพระบรมราชโองการคราวนั้นว่า คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ก็ออกหน้าแทนด้วยข้อความในราชกิจจานุเบกษาฉบับนั้นว่า

“คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ก็ทราบอยู่แล้วว่า นายพลตรีหลวงพิบูลสงคราม ได้แสดงความคิดเห็นไว้ว่า ในกรณีที่ได้ปฏิบัติการไปในครั้งนี้จะไม่ยอมขอรับความชอบตอบแทน แต่ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เห็นว่า การพระราชทานความชอบครั้งนี้ หาใช่เป็นฉะเพาะตัวนายพลตรี หลวงพิบูลสงครามไม่ แต่เพื่อเป็นเกียรติศักดิ์ของกองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ ซึ่งได้ทำการมีชัย” [14]

สำหรับการพระราชทานยศ “จอมพล” ครั้งนี้ นายปรีดี พนมยงค์ ได้ตั้งข้อสังเกตในบทความเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2516 ความว่า

“เมื่อได้มีการสงบศึกกับอินโดจีนฝรั่งเศสแล้ว มีผู้สนับสนุนให้หลวงพิบูลฯ ขอพระราชทานเลื่อนยศสูงขึ้น หลวงพิบูลฯ ได้พูดกับข้าพเจ้าและอีกหลายคนว่า จะคงมียศเพียงนายพลตรีเท่านั้น แต่คณะผู้สําเร็จราชการซึ่งเวลานั้นประกอบด้วยพระองค์เจ้าอาทิตย์ฯ และเจ้าพระยาพิชเยนทร์ฯ ในพระปรมาภิไธยพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลได้เลื่อนยศหลวงพิบูลฯ จากนายพลตรีเป็นจอมพล โดยขอให้หลวงอดุลเดชจรัสช่วยเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ

เรื่องนี้หลวงพิบูลฯ มิได้รู้ตัวมาก่อน แต่เมื่อได้ทราบจากประกาศในราชกิจจานุเบกษาก็ยังไม่สมัครใจที่จะรับยศจอมพลนั้น และไม่ยอมไปรับคทาจอมพลจากคณะผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์เป็นเวลาหลายเดือน

ต่อมาพระองค์เจ้าอาทิตย์ฯ จึงได้นําคทาจอมพลไปมอบให้จอมพล ป. ที่ทําเนียบวังสวนกุหลาบ ต่อมาคณะผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตั้งให้จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด อันเป็นโอกาสให้จอมพล ป. พิบูลสงคราม ดําเนินการปกครองประเทศตามระบอบเผด็จการยิ่งขึ้น แล้วได้นําประเทศเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2

เราสังเกตได้ว่า ถ้าคณะผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ไม่ยอมลงนามตั้งหลวงพิบูลฯ เป็นจอมพลและผู้บัญชาการทหารสูงสุดแล้ว หลวงพิบูลฯ จะมียศและมีตําแหน่งนั้นได้อย่างไร แม้จะมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ คณะผู้สําเร็จฯ ก็ปฏิเสธได้ เพราะร่างพระราชบัญญัติก็สามารถยับยั้งไม่ยอมลงนามได้ ปัญหาอยู่ที่คณะผู้สําเร็จฯ จะถือเอาประโยชน์ของชาติเหนือกว่าความเกรงใจหลวงพิบูลฯ หรือไม่” [10]

ข้อความข้างต้นคือเบื้องหน้าที่เห็นดูสวยงามและเต็มไปด้วยความเกรงใจที่ไม่กล้าจะรับยศอันสูงส่งของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม แต่เบื้องหลังนั้น พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ในฐานะอดีตประธานคณะผู้สำเร็จราชการในช่วงเวลาดังกล่าว ได้ให้การต่อคณะกรรมการตามพระราชบัญญัติอาชญากรสงคราม พ.ศ. 2488 เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2488 ความตอนนี้ว่า

“ตอนที่ตั้งจอมพล ป.ฯ เป็นจอมพลนั้น นายประยูร ภมรมนตรี มาหาถามว่าเมื่อนายกมีความชอบมากมายเช่นนี้จะตั้งเป็นอะไร ข้าพเจ้าบอกว่าเมื่อเป็นพลตรีอยู่ก็ตั้งเป็นพลโท นายประยูรฯบอกว่าไม่ได้ ทางกองทัพไม่ยอม ต้องตั้งเป็นจอมพล และต้องให้สายสพายนพรัตน์ด้วย ข้าพเจ้าจึงว่าเมื่อกองทัพต้องการอย่างนั้นก็ตามใจ ผลสุดท้ายก็จึงแต่งตั้งให้เป็นจอมพล ป.ฯเป็นจอมพล ให้สายสพายนพรัตน์ตามที่กองทัพต้องการ การใช้อำนาจกองทัพมาขู่ข้าพเจ้านี้ใช้บ่อยเหลือเกิน” [15]

ข้อความข้างต้นสอดคล้องกับ พลตำรวจเอก อดุล อดุลเดชจรัส อธิบดีกรมตำรวจ ได้เคยให้การต่อคณะกรรมการตามพระราชบัญญัติอาชญากรสงคราม เมื่อ วันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2488 ในทำนองเดียวเช่นกันว่าได้เคย พูดคุยกับ พลเอกเจ้าพระยาพิชาเยนทร์โยธิน คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (ในเวลานั้นมีคณะผู้สำเร็จราชการเหลือเพียง 2 คน) ความว่า
“ท่านเจ้าพระยาพิชาเยนทร์โยธิน ได้ปรารภกับข้าฯ สองต่อสองว่า รู้สึกเป็นห่วงแผ่นดินและราชบัลลังก์ ขอให้ข้าฯช่วยระมัดระวัง แล้วท่านกล่าวเสริมต่อไปว่า หลวงพิบูลสงครามยังไม่ควรจะได้รับยศถึงขั้นจอมพล ควรจะเป็นแต่เพียงพลเอกเป็นอย่างสูง เมื่อสงครามคราวนี้เสร็จแล้ว จะให้เป็นจอมพลก็เป็นการสมควร” [16]

ต่อมาอีกประเด็นหนึ่งที่ทำให้หลายคนชื่นชมรัฐบาลของจอมพล ป. ก็คือการที่จอมพล ป. เป็นผู้นำคณะรัฐมนตรีถวายบังคมในการลาออกจากบรรดาศักดิ์ทั้งหมด เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2484 [17]

ทำให้นามสกุลของคนในคณะราษฎรหลายคนได้เปลี่ยนไป เช่น จอมพล หลวงพิบูลสงคราม (แปลก ขิตตะสังคะ) เลือกเปลี่ยนมาเป็น จอมพลแปลก พิบูลสงคราม และขอพระบรมราชานุญาตใช้ราชทินนามเป็นนามสกุล “พิบูลสงคราม”, นายพลตำรวจตรี หลวงอดุลเดชจรัส (อดุล พึ่งพระคุณ) เลือกเปลี่ยนเป็นนายพลตำรวจตรีอดุล อดุลเดชจรัส และขอพระบรมราชานุญาตใช้ราชทินนามเป็นนามสกุล “อดุลเดชจรัส”, นายนาวาเอก หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ (ถวัลย์ ธารีสวัสดิ์) เลือกเปลี่ยนเป็น นายนาวาเอกถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ และขอพระบรมราชานุญาตใช้ราชทินนามเป็นนามสกุล “ธำรงนาวาสวัสดิ์” ฯลฯ [17]

ส่วนผู้ที่เลือกจะไม่มีแม้แต่ราชทินนามแล้วกลับไปใช้ชื่อและนามสกุลเดิม ได้แก่ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม เป็น นายปรีดี พนมยงค์, หลวงนฤเบศร์มานิต เป็น นายสงวน จูฑะเตรมีย์, หลวงชำนาญนิติเกษตร์ เป็น นายอุทัย แสงมณี ฯลฯ [17]

ทำให้หน้าฉากดูเหมือนว่า จอมพล ป.นั้นต้องการให้ยกเลิกความเหลื่อมล้ำในความเป็นศักดินาทั้งหลาย แต่ความจริงได้ปรากฏต่อมาว่า จอมพล ป.ยังต้องการบรรดาศักดิ์ให้เหลือ “สมเด็จเจ้าพระยา”ให้แก่จอมพล ป. เพียงคนเดียว และมีท่าทีจะเป็นพระเจ้าแผ่นดินเสียเอง ดังปรากฏคำให้การ ของ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา อดีตประธานคณะผู้สำเร็จราชการ ได้ให้การต่อคณะกรรมการตามพระราชบัญญัติอาชญากรสงคราม พ.ศ. 2488 เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2488 ความตอนนี้ว่า
“ตอนที่จอมพล ป.ฯนำให้มีการลาออกหรือให้พ้นจากบรรดาศักดิ์กันนั้น ขุนนิรันดรชัยได้มาทาบทามข้าพเจ้าว่า จะได้ทีการตั้งบรรดาศักดิ์กันใหม่ เป็นสมเด็จเจ้าพระยาชายบ้าง สมเด็จเจ้าพระยาหญิงบ้าง และขุนนิรันดรชัยถูกแต่งตั้งให้เป็นกรรมการ โดยผู้ที่มีสายสพายนพรัตน์จะได้เป็นสมเด็จเจ้าพระยาชาย ซึ่งมีจอมพล ป.ฯคนเดียวที่ได้สายสพายนั้น

เมื่อตั้งสมเด็จเจ้าพระยาชายแล้ว เมียของผู้นั้นก็ได้เป็นสมเด็จเจ้าพระยาหญิงตามไปด้วย และในปีนั้นก็ได้มีการขอพระราชทานสายสพายกันมากมาย ส่วนพวกเมียของข้าราชการก็ได้ตรากันด้วย ซึ่งข้าพเจ้าเห็นว่าในประวัติศาสตร์ชาติไทย ไม่เคยมีการให้สายสพายผู้ชาย และให้ตราผู้หญิงกันมากมายถึงเช่นนี้ จนถึงกับข้าพเจ้าผู้คล้องสายสพายให้นั้น เป็นลมหน้ามืดไป


(มีต่อ)

 8 ม.ค. 2564  ผู้จัดการออนไลน์
หัวข้อ: (ต่อ)ภารกิจคณะราษฎรยังไม่เสร็จ! (ตอนที่ 10) ปรีดี ค้านหนักจอมพล ป.ทำตัว
เริ่มหัวข้อโดย: story ที่ 10 มกราคม 2021, 13:03:22
ข้าพเจ้ารู้สึกว่าจอมพล ป.ฯนั้น กระทำการเพื่อจะเป็นพระเจ้าแผ่นดินเสียเอง แล้วภรรยาจอมพล ป.ฯก็มีความมักใหญ่ใฝ่สูงทำนองเดียวกัน เช่น เอารูปไปฉายในโรงหนังให้คนทำความเคารพโดยมีการบังคับ ในการทำบุญวันเกิดก็ทำเทียมวันเฉลิมพระชนม์พรรษาของพระเจ้าแผ่นดิน เช่น มีตราไก่ปีกประดับธงทิว ทำนองเดียวกับตราครุฑ หรือตราพระบรมนามาภิธัยย่อ

และได้สร้างเก้าอี้โทรน(บัลลังก์)ขึ้นทำนองเดียวกับเก้าอี้โทรนของพระเจ้าแผ่นดิน เว้นแต่ใช้ตราไก่กางปีกแทนตราครุฑเท่านั้น”[18]

โดยเฉพาะตราสัญลักษณ์ประจำตัวของจอมพล ป.นั้น เป็นรูป ไก่กางปีกคล้ายครุฑพ่าห์ แต่ตราไก่ดังกล่าวนี้ได้มีคธาหัวครุฑไว้อยู่เบื้องล่างของเท้าไก่ด้วย

ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ให้การว่า จอมพลป. กระทำการเพื่อจะเป็นพระเจ้าแผ่นดินเสียเอง ในขณะที่พลเอกเจ้าพระยาพิชาเยนทร์โยธิน คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์อีกท่านหนึ่ง ก็ห่วงราชบัลลังก์ต่อท่าทีและการกระทำของจอมพล ป.พิบูลสงคราม

โดยวันที่ 14 กรกฎาคม อันเป็นวันคล้ายวันเกิดของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ถูกกำหนดให้เป็นวันหยุดงาน และมีการชักชวนให้ประชาชน ชักธงชาติขึ้นเสาตามข้อเสนอของหลวงวิจิตรวาทการ [19] นอกจากนั้น ก่อนหรือหลังการฉายภาพยนตร์ทางโรงภาพยนตร์จะต้องเปิดเพลงมหาฤกษ์มหาชัย และให้ผู้ชมทุกคนยืนตรงเพื่อทำความเคารพรูปของท่านผู้นำ [20]

ซึ่งต่อมาภายหลังถึงกับมีการแต่งเพลงประจำตัวของท่านผู้นำขึ้นชื่อเพลง “สดุดีพิบูลสงคราม” โดยมีนายสง่า อารัมภีร์ เป็นผู้ประพันธ์ เนื้อร้อง และพระเจนดุริยางค์ เป็นผู้ใส่ทำนอง ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่า “เพลงสดุดีพิบูลสงคราม” นั้นได้แต่งเนื้อร้องยาวกว่า “เพลงสรรเสริญพระบารมี”ที่ให้ลดทอนตัดย่อลงเพื่อความกะทัดรัด ตามประกาศรัฐนิยมฉบับที่ 8 หรือไม่ ท่านผู้อ่านก็ลองเปรียบเทียบดูดังนี้

เพลงสรรเสริญพระบารมี ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยรัฐนิยมฉบับที่ 8 เรื่อง “เพลงสรรเสริญพระบารมี” วันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2483 มีเนื้อร้องลดทอนย่อลงเหลือเพียงว่า

“ข้าวรพุทธเจ้า เอามโนและศิระกราน
นบพระภูมิบาล บรมกษัตริย์ไทย
ขอบรรดาล ธ ประสงค์ใด
จงสิทธิดั่ง หวังวรหฤทัย
ดุจถวายไชย ชโย” [21]

ในขณะที่เพลง “สดุดีพิบูลสงคราม” เมื่อปี พ.ศ. 2486 มีเนื้อร้องที่ยาวกว่าว่า

“ไชโย วีรชนชาติไทย ตลอดสมัยที่ไทยมี
ประเทศไทย คงชาตรี ด้วยคนดีพยองไชย
ท่านผู้นำพิบูลสงคราม ขอเทอดนามให้เกริกไกร
ขอดำรงคงคู่ชาติไทย นำชาติให้ไพบูลย์เทอญ"[22]

โดยเพลง “สดุดีพิบูลสงคราม” นี้จะถูกเปิดทุกครั้งที่ท่านผู้นำปรากฏตัวต่อสาธารณชน หรือปราศรัยทางวิทยุกระจายเสียงและตามโรงมหรสพ โรงภาพยนตร์ต่าง ๆ [23]

นอกจากนี้ยังปรากฏรายงานการประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งที่ 20/2485 เมื่อวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2485 จอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้กล่าวอธิบายในที่ประชุมความตอนหนึ่งการให้ประชาชนยึดมั่นในนายกรัฐมนตรีเสียยิ่งกว่า ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และรัฐธรรมนูญ ความตอนหนึ่งว่า

“...ญี่ปุ่นมีเครื่องยึดมั่นอยู่กับพระเจ้าแผ่นดินของเขา เราไม่มีอะไรเป็นเครื่องยึดแน่นอน ที่มีอยู่ก็คือ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และรัฐธรรมนูญ ชาติก็ยังไม่มีตัวตน ศาสนา ก็ไม่ได้ทำให้คนเลื่อมใสถึงยึดมั่น พระมหากษัตริย์ก็ยังเป็นเด็กเห็นแต่รูป รัฐธรรมนูญก็เป็นหนังสือ เวลาบ้านเมืองคับขัน จะเอาอะไรเป็นเครื่องยึดไม่ได้ ผมจึงให้ตามนายกรัฐมนตรี...”[24]

สำหรับเรื่องการทำตัวเทียมกษัตริย์ในทัศนะของนายปรีดี พนมยงค์ ได้ถูกบันทึกเอาไว้ผ่านคำฟ้องต่อศาลแพ่ง ในคดีหมายเลขดำที่ 4226/2521 วันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2521 ของนายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งเป็นโจทก์ โดยนายปาล พนมยงค์ ผู้รับอำนาจ ซึ่งได้ฟ้องนายรอง ศยมานนท์ และพวกในข้อหา ละเมิด หมิ่นประมาท ไขข่าว แพร่พลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริงเป็นที่เสียหายแก่ชื่อเสียง และเกียรติคุณของโจทก์ ที่ได้พิมพ์หนังสือชื่อ “ประวัติศาสตร์ไทยในระบอบรัฐธรรมนูญ” ที่มีการจัดทำเนื้อหาอย่างไม่ถูกต้อง โดยคดีดังกล่าวนี้จำเลยได้ยอมรับความไม่ถูกต้องในหนังสือ
โดยคดีดังกล่าวข้างต้นนี้ มีเนื้อหาเกี่ยวกับการต่อสู้ของนายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งต่อต้านการทำตัวเทียมกษัตริย์ของ จอมพล ป.ความบางตอนที่น่าสนใจดังนี้

“สมเด็จเจ้าพระยา มีฐานะเท่ากับ “เจ้า” คือบุคคลใช้ราชาศัพท์ให้เกียรติแก่สมเด็จเจ้าพระยา เช่น กินว่า “เสวย” นอนว่า “บรรทม” ฯลฯ ลูกชายสมเด็จเจ้าพระยาเรียกว่า “เจ้าคุณชาย” ลูกหญิงสมเด็จเจ้าพระยา เรียกว่า “เจ้าคุณหญิง”
รัฐมนตรีที่เป็นผู้ก่อการฯ จำนวนหนึ่งรวมทั้งนายปรีดี พนมยงค์ ด้วยนั้นได้คัดค้าน จอมพล พิบูลฯ ว่าขัดต่ออุดมคติของคณะราษฎร อันเป็นสาเหตุให้จอมพลพิบูลฯไม่พอใจ ท่านจึงเสนอให้ที่ประชุมเลือกเอาสองทาง คือ ทางหนึ่งตกลงตามแผนสถาปนาฐานันดรเจ้าศักดินาอย่างใหม่ ทางที่สองเวนคืนบรรดาศักดิ์เดิมทุกคน รัฐมนตรีส่วนมากจึงลงมติในทางเวนคืนบรรดาศักดิ์เดิม

เมื่อจอมพล พิบูลฯแพ้เสียงข้างมากในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีแล้ว ท่านจึงเสนอว่าเมื่อเวนคืนบรรดาศักดิ์เก่าแล้ว ผู้ใดจะใช้ชื่อและนามสกุลเดิม หรือจะเปลี่ยนนามสกุลตามชื่อบรรดาศักดิ์เดิมก็ได้” [25]

และนี่คือ “เบื้องหลัง” การยกเลิกบรรดาศักดิ์ของทุกคนที่เหลืออยู่ทั้งหมดในประเทศไทย เพื่อแลกกับการไม่ให้จอมพล ป.เพียงคนเดียว ได้มาเป็น “สมเด็จเจ้าพระยา”ในการสถาปนาฐานันดรเจ้าศักดินาอย่างใหม่ โดยความตอนหนึ่งในประกาศเรื่องการยกเลิกบรรดาศักดิ์ เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2485 ความตอนหนึ่งระบุว่า

“ในเวลานี้ได้มีข้าราชการที่มีบรรดาศักดิ์ทั้งที่อยู่ในราชการและนอกราชการ ตั้งแต่ผู้มีบรรดาศักดิ์ชั้นสูงลงมาจนถึงผู้มีบรรดาศักดิ์ชั้นผู้น้อยได้ลาออกจากระบบบรรดาศักดิ์เป็นจำนวนมาก แต่ก็ยังคงมีผู้มีบรรดาศักดิ์บางคนยังคงดำรงอยู่ในบรรดาศักดิ์ยังมิได้ขอคืน จึงเป็นการลักลั่นไม่เป็นระเบียบ ทั้งยังจะทำให้เข้าใจผิดไปว่า ผู้มีบรรดาศักดิ์นั้นจะได้มีสิทธิพิเศษดีกว่าผู้อื่นด้วย เหตุนี้จึงเป็นการสมควรที่จะยกเลิกบรรดาศักดิ์ที่พระราชทานไปแล้วนั้นเสีย”[26]

ส่วนที่เกี่ยวกับการฉายภาพจอมพล พิบูลฯ พร้อมบรรเลงเพลงสดุดี จอมพล พิบูลฯที่โรงภาพยนตร์ และบังคับให้คนต้องยืนขึ้นทำความเคารพนั้น นายปรีดี พนมยงค์ ไม่เห็นด้วย ด้วยเหตุผลว่า

“ เพราะจะทำให้ประชาชนเห็นว่าท่านจอมพล พิบูลฯ ทำตนเทียบเท่าพระมหากษัตริย์ วิธีการเช่นนี้ก็มีแต่ในอิตาลีเท่านั้น ซึ่งในโรงภาพยนตร์ถูกบังคับให้ฉายภาพมุสโสลินีและให้คนยืนขึ้นทำความเคารพ” [27]

ส่วนกรณีที่นักศึกษาเตรียมปริญญากลุ่มหนึ่งได้ไปดูภาพยนตร์แล้วไม่ยืนทำความเคารพจอมพล ป. และทหารกลุ่มนั้นมาคุกคามว่าจะพิจาณาโทษนักศึกษานั้น นายปรีดี พนมยงค์ได้ทราบอยู่แล้วถึงบทเรียนที่อยากมีอำนาจของโปเลียน โบนาปาร์ตในการปฏิวัติฝรั่งเศสจนขึ้นเป็นพระมหาจักรพรรดิเสียเอง

ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า นายปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้เขียนเอาไว้ใน “คำนำ” ในหนังสือประวัติศาสตร์ สมัยการปฏิวัติฝรั่งเศส และสมัยนโปเลียน โบนาปาร์ต ซึ่งเรียบเรียงโดย พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ซึ่งตีพิมพ์ เมื่อวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2477 ด้วยเหตุผลดังกล่าว นายปรีดี พนมยงค์ จึงได้เข้าไปคัดค้านและขอให้นายทหารผู้นั้นเรียนแก่จอมพล พิบูลฯว่า

“ขอให้ถอนคำสั่งที่ให้โรงภาพยนตร์ฉายภาพท่าน และเรียนจอมพลฯ ด้วยว่า นักเรียนที่ศึกษาประวัติ นายพลโบนาปาร์ต ก็รู้กันอยูว่า นายพลโบนาปาร์ตได้ขยับทีละก้าวๆ จากการเป็นผู้บัญชาการกองทัพ แล้วเป็นกงสุลคนหนึ่งในคณะกงสุลที่ปกครองประเทศฝรั่งเศส ต่อมาก็ขยับขึ้นเป็นกงสุลผู้เดียว แล้วก็ขยับขึ้นเป็นกงสุลตลอดกาล หรือกงสุลตลอดชีวิต มีสิทธิตั้งทายาทได้ แล้วก็ขยับเป็นพระมหาจักรพรรดิ
หลายคนก็ปรารภกับนายปรีดี พนมยงค์ว่า ท่านจอมพลฯ เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดแล้ว ต่อมามีพระราชกฤษฎีกาให้ท่านมีอำนาจสิทธิขาด และต่อมาเมื่อท่านจอมพลฯได้เสนอคณะรัฐมนตรีที่จะสถาปนาฐานันดรเจ้าศักดินาให้มีสมเด็จเจ้าพญานั้น เมื่อท่านได้แพ้มติข้างมากในคณะรัฐมนตรีแล้ว ท่านก็ควรระงับเพียงนั้น ท่านไม่ควรที่จะให้โรงภาพยนตร์ฉายภาพของท่าน”[27]
นอกจากนั้นนายปรีดี พนมยงค์ ยังได้ขอให้นายทหารผู้นั้นเรียนเตือนท่านจอมพลฯว่า

“อย่าหลงเชื่อนักประวัติศาสตร์สอพลอที่อ้างว่าเห็นแสงรัศมีออกจากตัวท่านจอมพลฯ... และที่คัดค้านนี้ก็เพราะเห็นว่าทำไม่ถูกต้องตามอุดมคติของคณะราษฎร”[27]

ในเวลาต่อมาระหว่างวันที่ 20-22 กรกฎาคม พ.ศ. 2487 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสียงข้างมากทั้งประเภทที่ 1 และ 2 ได้พร้อมใจกันลงมติ “คัดค้าน” ร่างพระราชบัญญัติเพื่อพระราชกำหนดของรัฐบาลจอมพล ป.พร้อมกันถึง 2 ฉบับติดกันภายใน 2 วัน อันเป็นผลทำให้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ต้องตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2487 และหลังจากนั้นเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรลงมติเลือกนายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรีแทน

รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้แพ้คะแนนเสียงการรับรองพระราชกำหนด 2 ฉบับติดกันใน 2 วัน คือ
ฉบับแรก คือ วันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2487 สภาผู้แทนราษฎรไม่เห็นชอบด้วยเสียงข้างมาก 48 ต่อ 36[28] ในการลงมติเพื่ออนุมัติร่างพระราชบัญญัติอนุมัติพระราชกำหนดจัดระเบียบราชการบริหารนครบาล เพชรบูรณ์ พ.ศ. 2487[29]

และฉบับที่สองคือ วันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2487 สภาผู้แทนราษฎรไม่เห็นชอบด้วยเสียงข้างมากแบบฉิวเฉียดด้วยคะแนนเสียง 43 ต่อ 41[30] ในการลงมติเพื่ออนุมัติร่างพระราชบัญญัติอนุมัติพระราชกำหนดจัดสร้างพุทธมณฑล พ.ศ. 2487[31]
ภายหลังต่อมา นายปรีดี พนมยงค์ ได้เขียนบทความเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2516 ได้ “เฉลย” เหตุการณ์เบื้องหลังการจัดการให้ จอมพล ป. ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในครั้งนั้นว่า

“เมื่อการปฏิบัติของจอมพล ป. นําความเสียหายทั้งภายในและภายนอกมาสู่ประเทศชาติ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ทั้งประเภทที่ 1 และประเภทที่ 2 ซึ่งมีสมาชิกคณะราษฎรที่รักษาอุดมคติประชาธิปไตยอยู่ด้วยนั้น ได้พร้อมใจกันจัดการโดยวิธีการที่ถูกต้องตามกฎหมาย ให้จอมพล ป. ออกจากตําแหน่งนายกรัฐมนตรี ข้าพเจ้าในฐานะผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ ก็ได้ปฏิบัติตามความต้องการของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั้น” [10]

แล้วต่อมาข้าพเจ้าในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ได้ประกาศพระบรมราชโองการปลดจอมพล ป. จากตําแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด แล้วได้ยุบตําแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดโดยตั้งตําแหน่งแม่ทัพใหญ่อันเป็นตําแหน่งที่ถูกต้องตามกฎหมายว่าด้วยกฎอัยการศึก และตั้งให้พระยาพหลฯ ดํารงตําแหน่งแม่ทัพใหญ่นี้ เพื่อบังคับบัญชาทหารตามหลักประชาธิปไตย” [10]

ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

อ้างอิง
[1] สุลักษณ์ ศิวรักษ์, เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ตอนที่ 1 เหตุปัจจัยสู่อภิวัติสยาม 2475, ให้สัมภาษณ์, โดยผู้นำกระบวนทัศน์ใหม่ พิเคราะห์สังคมไทย เผยแพร่ในยูทูปเมื่อวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2563
https://youtu.be/mspj0efRvmE

[2] สองฝั่งประชาธิปไตย, "2475" สารคดีทางไทยพีบีเอส: 26 กรกฎาคม 2555

[3] คำนำของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม, ในหนังสือ ประวัติศาสตร์ สมัยการปฏิวัตร์ฝรั่งเศส และ สมัยนโปเลียน โบนาปาร์ตี้ ภาคที่ 1, เรียบเรียงโดย พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา, วันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2477 หน้า (6)

[4] หนังสือที่ระลึกในงานพิธีพระราชทานเพลิงศพ ร้อยโทจงกล ไกรฤกษ์ ณ เมรุ วัดมกุฏกษัตริยารามวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2513 หน้า 39

[5] ภูธร ภูมะธน, ศาลพิเศษ พ.ศ. 2476-พ.ศ.2478 และ พ.ศ. 2481 วิทยานิพนธ์อักษรศาสตร์มหาบัณฑิต (ประวัติศาสตร์) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2521, หน้า 150

[6] ราชกิจจานุเบกษา,ประกาศพระราชทานยศทหาร, เล่มที่ 50, วันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2476 หน้า 260, นายพันตรี หลวงพิบูลสงคราม (แปลก ขิตตะสังคะ) เป็น นายพันโท ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2476/D/260.PDF

[7] ราชกิจจานุเบกษา,ประกาศพระราชทานยศทหารบก, เล่มที่ 51, วันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ.2477 หน้า 377, นายพันโท หลวงพิบูลสงคราม (แปลก ขิตตะสังคะ) เป็น นายพันเอก ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2477
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2477/D/376.PDF

[8] ราชกิจจานุเบกษา,ประกาศพระราชทานยศทหาร, เล่มที่ 52, วันที่ 8 มีนาคม 2479 (ปฏิทินปัจจุบัน) หน้า 3733, นายพันเอก หลวงพิบูลสงคราม (แปลก ขิตตะสังคะ) เป็น นายนาวาเอก ตั้งแต่วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2479 (ปฏิทินปัจจุบัน)
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2478/D/3733.PDF

[9] ราชกิจจานุเบกษา,ประกาศพระราชทานยศทหาร, เล่มที่ 53, วันที่ 14 มีนาคม 2480 (ปฏิทินปัจจุบัน) หน้า 4193, นายพันเอก หลวงพิบูลสงคราม (แปลก ขิตตะสังคะ) เป็น นายนาวาอากาศเอก ตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม 2480 (ปฏิทินปัจจุบัน)
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2479/D/4093_1.PDF

[10] คัดจากตอนที่ 3 ในบทความเรื่อง “จงพิทักษ์เจตนารมณ์ประชาธิปไตยสมบูรณ์ของวีรชน 14 ตุลาคม” ของนายปรีดี พนมยงค์ ตีพิมพ์ครั้งแรกในวารสาร อ.ม.ธ. ฉบับ 10 ธันวาคม 2516
https://pridi.or.th/th/content/2020/10/456

[11] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงกลาโหม เรื่องพระราชทานยศทหาร, เล่มที่ 55 วันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2482 (ปฏิทินปัจจุบัน)หน้า 4398-4399 ให้นายพันเอก นายนาวาเอก นายนาวาอากาศเอก หลวงพิบูลสงคราม (แปลก ขิตตะสังคะ) เป็นพลตรี นายพลเรือตรี นายพลอากาศตรี ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2482
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2481/D/4398.PDF

[12] คณะกรรมการดำเนินงานฉลอง 100 ปี ชาตกาล นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส, คำให้การต่อศาลอาชญากรสงคราม เอกสารประวัติศาสตร์,พิมพ์ครั้งแรก พฤศจิกายน 2545, พิมพ์ที่เจริญวิทย์การพิมพ์, เลขมาตฐานสากลประจำหนังสือ 974-7834-35-9 หน้า 181
http://www.openbase.in.th/files/pridibook011.pdf

[13] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าพระราชทานยศ จอมพล จอมพลเรือและจอมพลอากาศ แก่นายพลตรี หลวงพิบูลสงคราม ด้วยคธาจอมพล, เล่มที่ 58 วันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2484 หน้า 981-984
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2484/A/981.PDF

[14] เรื่องเดียวกัน, หน้า 983

[15] คณะกรรมการดำเนินงานฉลอง 100 ปี ชาตกาล นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส, คำให้การต่อศาลอาชญากรสงคราม เอกสารประวัติศาสตร์,พิมพ์ครั้งแรก พฤศจิกายน 2545, พิมพ์ที่เจริญวิทย์การพิมพ์, เลขมาตฐานสากลประจำหนังสือ 974-7834-35-9 หน้า 122
http://www.openbase.in.th/files/pridibook011.pdf

[16] เรื่องเดียวกัน, หน้า 183

[17] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องพระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้ข้าราชการกราบถวายบังคมลาออกจากบรรดาศักดิ์, เล่ม 58, 6 ธันวาคม 2484, หน้า 4525 ก.
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2484/D/4525_1.PDF

[18] คณะกรรมการดำเนินงานฉลอง 100 ปี ชาตกาล นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส, คำให้การต่อศาลอาชญากรสงคราม เอกสารประวัติศาสตร์,พิมพ์ครั้งแรก พฤศจิกายน 2545, พิมพ์ที่เจริญวิทย์การพิมพ์, เลขมาตฐานสากลประจำหนังสือ 974-7834-35-9 หน้า 123-124
http://www.openbase.in.th/files/pridibook011.pdf

[19] รายงานการประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ 33/2485 วันที่ 1 กรกฎาคม 2485

[20] ศรีกรุง วันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ.2485

[21] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยรัฐนิยมฉะบับที่ 8 เรื่องเพลงสรรเสริญพระบารมี, เล่ม 57, วันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2483, หน้า 788
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2483/A/78.PDF

[22] เนื้อเพลงสดุดีพิบูลสงคราม, ตอนที่ 43 เพลงคำนับของไทย ตอนที่ 2 เพลงชาติและเพลงคำนับอื่น ๆ, เว็บไซต์ห้องสมุดดนตรีสมเด็จเทพรัตน์ มหาวิทยาลัยมหิดล
https://sirindhornmusiclibrary.li.mahidol.ac.th/thai_contemporary_mu/plengthaisakol-43/

[23] สง่า อารัมภีร์ "ท่านเป็น-ครูพักลักจำ-ของผม ท่านขุนวิจิตมาตรา หรือท่าน ส. กาญจนาคพันธุ์", หนังสือที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพ (สง่า กาญจนาคพันธุ์" 80 ปี ในชีวิตของข้าพเจ้า" ณ เมรุวัดมกุฎกษัตริยาราม พฤหัสบดีที่ 9 ตุลาคม 2523 (มปท. มปป.) หน้า 459

[24] รายงานการประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งที่ 20/2485 เมื่อวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2485

[25] ปรีดี พนมยงค์, บางเรื่องของประวัติศาสตร์ไทยในระบอบรัฐธรรมนูญ, พิมพ์ครั้งที่ 4 กรุงเทพฯ, สยามปริทัศน์ พ.ศ. 2563, ISBN: 978-616-486-022-3 หน้า 76-77

[26] ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศเรื่องการยกเลิกบรรดาศักดิ์,
เล่ม 59, ตอนที่ 33, 19 ธันวาคม พ.ศ. 2485, หน้า 1089
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2485/A/033/1089.PDF

[27] ปรีดี พนมยงค์, บางเรื่องของประวัติศาสตร์ไทยในระบอบรัฐธรรมนูญ, พิมพ์ครั้งที่ 4 กรุงเทพฯ, สยามปริทัศน์ พ.ศ. 2563, ISBN: 978-616-486-022-3, หน้า 79-80

[28] บันทึกรายงานการประชุมสภาผู้แทนราสดร, ครั้งที่ 4/2487 (สามัญ) สมัยที่ 2 ชุดที่ 3, วันพรึหัสบดีที่ 20 กรกดาคม พุทธสักราช 2487, นะ พระที่นั่งอนันตสมาคม
https://dl.parliament.go.th/bitstream/handle/lirt/73316/4_24870720_wb.pdf?sequence=1

[29] ราชกิจจานุเบกษา, พระราชกำหนดจัดระเบียบราชการบริหารนครบาลเพชรบูรน์ พุทธสักราช 2487, ตอนที่ 33, เล่มที่ 61 หน้าที่ 512, วันที่ 30 พรึสภาคม 2487
https://dl.parliament.go.th/bitstream/handle/lirt/290830/SOP-DIP_P_400671_0001.pdf?sequence=1

[30] บันทึกรายงานการประชุมสภาผู้แทนราสดร, ครั้งที่ 5/2487 (สามัญ) สมัยที่ 2 ชุดที่ 3, วันพรึหัสบดีที่ 22 กรกดาคม พุทธสักราช 2487, นะ พระที่นั่งอนันตสมาคม
https://dl.parliament.go.th/bitstream/handle/lirt/73317/5_24870722_wb.pdf?sequence=1

[31] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศพระราชกําหนดจัดสร้างพุทธบุรีมณฑล, เล่ม 61 ตอนท่ี 34, 5 มิถุนายน 2487, หน้า 538-541

8 ม.ค. 2564  ผู้จัดการออนไลน์
หัวข้อ: ภารกิจคณะราษฎรยังไม่เสร็จ !? (ตอนที่ 11) “บันทึกลับ” ผลการตั้งกรรมการตรวจสอบ
เริ่มหัวข้อโดย: story ที่ 16 มกราคม 2021, 10:43:49
ภารกิจคณะราษฎรยังไม่เสร็จ !? (ตอนที่ 11) “บันทึกลับ” ผลการตั้งกรรมการตรวจสอบการซื้อขายที่ดินพระคลังข้างที่ / ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

ณ บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

หลังเกิดเหตุการณ์ตั้งกระทู้ถามโดยนายเลียง ไชยกาล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดอุบลราชธานีเรื่องการที่นักการเมืองฝ่ายรัฐบาลและข้าราชการ แห่รุมซื้อที่ดินพระคลังข้างที่ในราคาถูกๆ และรวมถึงเข้าชื่อเพื่อการอภิปรายทั่วไปกรณีเดียวกันของ นายไต๋ ปาณิกบุตร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดพระนคร เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2480 นั้น ได้เป็นมลทินอีกครั้งหนึ่งของคณะราษฎรที่ไม่อาจมองข้ามในบันทึกประวัติศาสตร์ไปได้ โดยเฉพาะเหตุการณ์ดังกล่าว เกิดขึ้นภายหลังการสละราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 [1]

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ได้เคยทรงนิพนธ์บันทึกเหตุการณ์ดังกล่าวนี้เอาไว้ความตอนหนึ่งในหนังสือเจ้าชีวิต พงศาวดาร 9 รัชกาลแห่งราชวงศ์จักรีว่า

“...ในตอนต้น พ.ศ. 2480 (ค.ศ. 1937) เกิดเรื่องไม่งามขึ้นในวงการเมือง เกี่ยวกับที่ดินอันเป็นทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ซึ่งคณะผู้สำเร็จราชการฯ มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย คือ ที่ดินอันเคยเป็นของพระคลังข้างที่ บัดนั้น นับว่าเป็นทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ซึ่งแม้จะมีสำนักงานดูแลก็จริง แต่ความรับผิดชอบในการควบคุมยังอยู่ในคณะผู้สำเร็จราชการฯ

ขณะนั้นมีข่าวปรากฏออกมาว่า สมาชิกคณะผู้ก่อการเดิมที่เรียกกันว่า “ดีหนึ่ง” 34 คน สามารถซื้อที่ดินของทรัพย์สินฯ นี้ได้โดยราคาอันต่ำที่สุด ทั้งยังได้โอกาสผ่อนชำระค่าซื้อที่ดินอย่างสะดวกง่ายดายยิ่ง จนการซื้อครั้งนั้นเกือบจะเท่ากับได้เปล่าๆ

เมื่อเป็นที่ทราบกันทั่วไปก็เกิดความไม่พอใจเป็นอย่างยิ่ง จนเป็นเรื่องครึกโครม นายปรีดีนั้นปรากฏว่าไม่มีส่วนเสียหาย เพราะไม่มีชื่อว่าเป็นผู้ซื้อ มีข่าวลือว่าหลวงพิบูลฯ ได้ซื้อไว้บ้าง แต่พอมีท่าทางว่าผู้คนไม่พอใจ หลวงพิบูลฯ ก็บอกคืนเสียโดยเร็ว

เมื่อเห็นว่าประชาชนไม่พอใจในการซื้อขายที่ดินทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ สมาชิกประเภท 1 ซึ่งราษฎรได้เลือกตั้งขึ้นมา ก็ถือโอกาสโจมตีคณะผู้สำเร็จราชการและรัฐบาลในสภา ใช้ถ้อยคำอันรุนแรง จนทำให้คณะผู้สำเร็จราชการฯ กับนายกรัฐมนตรี (พระยาพหลฯ) ต้องขอลาออกจากตำแหน่ง..”[2]

โดยการอภิปรายในครั้งนั้นได้พาดพิงไปถึงพฤติการณ์ในการขายที่ดินส่วนตัวของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ประธานคณะผู้สำเร็จราชการ (โรงเรียนการเรือน)ให้กับสำนักพระคลังข้างที่ในราคาที่แพงกว่าที่ดินใกล้เคียงด้วย ดังปรากฏในการตั้งกระทู้ถามของนายเลียง ไชยกาล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี ความตอนหนึ่งว่า

“ผู้มีอำนาจนั้นให้พระคลังข้างที่ซื้อที่ดินของตน 9 หมื่นบาท คิดเฉลี่ยตารางวา 35 บาท ขณะเดียวกันที่ดินข้างเคียงราคาตารางวาละ 15 บาท นี่หมายความว่าอย่างไรกัน แล้วจะไม่ให้ผู้เยาว์ยื่นมือเข้าเกี่ยวข้องหรือ นี่หรือเป็นวิธีรักษาพระมหากษัตริย์ของพวกเรา ขายที่ดินราคา 9 หมื่นบาท ราคาตารางวาละ 35 คือโรงเรียนการเรือน”[3]

สอดคล้องกับคำอภิปรายของนายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ ผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งได้อภิปรายความตอนหนึ่งถึงการขายที่ดินโรงเรียนการเรือนให้กับพระคลังข้างที่ในราคาถูกๆว่าเป็นที่ดินของผู้สำเร็จราชการ ความตอนหนึ่งว่า

“ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์นั้นมีอยู่ 3 ท่าน ใน 3 ท่านนั้นได้รับประโยชน์บ้าง และท่านไม่ได้รับประโยชน์ดังที่สมาชิกได้กล่าวมาแล้วว่าที่โรงเรียนการเรือนนั้นได้โอนขายให้แก่พระคลังข้างที่เป็นเงิน 9 หมื่นบาท ถ้าคิดเฉลี่ยเป็นตารางวาละ 35 บาท ซึ่งขณะเดียวกันนั้นเองพระคลังข้างที่กลับโอนที่ของตนอย่างกะเรี่ยกราด ไปให้แก่บุคคลหลายคนดังที่ปรากฏตามที่ได้โอนมาแล้วดังรายสามที่สมาชิกได้อ่าน”[4]

การอภิปรายดังกล่าวได้ยุติลงในวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2480 ต่อมากำหนดการอภิปรายต่อมาในวันรุ่งขึ้น วันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2480 พระยามานวราชเสวี ประธานสภาผู้แทนราษฎร (ปลอด วิเชียร ณ สงขลา)ได้แจ้งต่อที่ประชุมให้ทราบ 2 เรื่อง เรื่องที่ 1 คือ ประธานผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ขอลาออกจากตำแหน่ง และเรื่องที่สอง คือ นายกรัฐมนตรีพร้อมด้วยคณะขอลาออกจากตำแหน่ง



โดยเนื้อความหนังสือขอลาออกของ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ประธานคณะผู้สำเร็จราชการ มีเนื้อความว่า

“วันที่ 28 กรกฎาคม พุทธศักราช 2480

เรียน พระยามานวราชเสวี ประธานสภาผู้แทนราษฎร

เนื่องจากได้มีการอภิปรายกันในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร อันเกี่ยวถึงเรื่องการซื้อชายที่ดินของพระคลังข้างที่เมื่อวานนี้ มีท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบางท่านได้อภิปรายพาดพิงมาถึงประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ คือตัวข้าพเจ้าอันมีถ้อยคำรุนแรง เป็นเหตุให้ข้าพเจ้ารู้สึกว่าเป็นการเสื่อมเสียเกียรติยศและตำแหน่งในหน้าที่ราชการ

ทั้งนี้ ข้าพเจ้ามั่นอยู่ในระบอบประชาธิปไตยโดยแท้ ยึดถือเสียงของประชาชนคือ สภาผู้แทนราษฎรเป็นใหญ่ เมื่อสภาผู้แทนราษฎรเห็นว่าข้าพเจ้าเป็นผู้ที่ได้กระทำการซึ่งเป็นที่ข้องใจของประชาชนเช่นนี้แล้ว ข้าพเจ้าใคร่ขอลาออกเสียจากคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

ขอแสดงความนับถืออย่างยิ่ง
(ลงพระนาม) อาทิตย์ทิพอาภา”[5]

หลังจากนั้น พระยามานวราชเสวี ประธานสภาผู้แทนราษฎร ก็ได้อ่านหนังสืออีกฉบับหนึ่ง เรื่อง การลาออกของนายกรัฐมนตรีพร้อมด้วยคณะรัฐมนตรี ความว่า

“วันที่ 28 กรกฎาคม พุทธศักราช 2480

ถึง พระยามานวราชเสวี ประธานสภาผู้แทนราษฎร

ด้วยวันนี้ข้าพเจ้าได้รับหนังสือนายกรัฐมนตรีว่า โดยที่ควรจัดการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ในเรื่องที่เกี่ยวกับที่ดินบางราย ซึ่งสำนักพระราชวังได้กระทำไปปรากฏเป็นที่ข้องใจสภาผู้แทนราษฎร นายกรัฐมนตรีในฐานะที่เป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบในราชการสำนักพระราชวัง เห็นสมควรจะได้มีโอกาสสอบสวนเพื่อความชอบธรรมด้วยกันทุกฝ่าย จึ่งขอพระราชทานลาออกจากตำแหน่ง และคณะรัฐมนตรีได้ขอพระราชทานลาออกด้วยความรับผิดชอบร่วมกันด้วย

ฉะนั้น จึงขอแจ้งมาทางสภาผู้แทนราษฎรได้ทราบ เพื่อจักได้ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญต่อไป

(ลงพระนาม) อาทิตย์ทิพอาภา
(ลงนาม) ยมราช
(ลงนาม) พล.อ.พิชเยนทรโยธิน
ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์” [6]

และภายในวันเดียวกันนั้นเองผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ซึ่งเหลืออีก 2 ท่านก็ได้ลาออกด้วยเหตุผลซึ่งมีเนื้อหาเดียวกันกับประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ โดย พระยามานวราชเสวี ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้อ่านหนังสือดังกล่าวในช่วงบ่ายของวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2490 ความว่า

“วันที่ 28 กรกฎาคม พุทธศักราช 2480

ถึง พระยามานวราชเสวี ประธานสภาผู้แทนราษฎร

ด้วยวันนี้ข้าพเจ้าได้รับลายพระหัตถ์ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ แสดงพระประสงค์มาว่า โดยที่ได้อภิปรายกันในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรอันเกี่ยวถึงเรื่องการซื้อขายที่ดินของพระคลังข้างที่เมื่อวานนี้ มีท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบางท่านได้อภิปรายด้วยถ้อยคำแรงเป็นเหตุให้พระองค์ท่านเสื่อมเสียพระเกียรติยศและตำแหน่งในหน้าที่ราชการเป็นไปถึงเช่นนี้ พระองค์ท่านจึงเห็นว่า เมื่อสภาผู้แทนราษฎรเห็นว่าพระองค์ท่านเป็นผู้ที่ได้กระทำการซึ่งเป็นที่ข้องใจของประชาชนเช่นนี้แล้ว ก็ใคร่ขอลาออกจากคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

“คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์จึ่งปรึกษาพร้อมกันเห็นว่า เมื่อประธานผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ทรงขอลาออกจากตำแหน่ง คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ก็ขอลาออกด้วยความรับผิดชอบร่วมกันด้วย

(ลงนาม) ยมราช
(ลงนาม) พล.อ.พิชาเยนทรโยธิน
ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์”[7]

โดยในการประชุมครั้งนี้ มีข้อถกเถียงกันในสภาว่าหนังสือเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2480 ของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ประธานคณะผู้สำเร็จราชการตีความว่า “ใคร่ขอลาออก” นั้นหมายถึงได้ลาออกหรือยังกันแน่

โดยในระหว่างการหาข้อยุติดังกล่าว พันตรีหลวงเชวงศักดิ์สงคราม ได้ขอให้ พระยามานวราชเสวี ประธานสภาผู้แทนราษฎร อ่านพระหัตถเลขาคำชี้แจงอีกฉบับหนึ่งของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภาด้วย โดยพันตรีหลวงเชวงศักดิ์สงคราม ได้กล่าวในสภาผู้แทนราษฎรความตอนหนึ่งว่า

“คือข้าพเจ้าได้ทราบว่าลายพระหัตถเลขาที่ส่งมาได้มีคำชี้แจงของท่านด้วย บอกว่าถ้าสภาฯมีความข้องใจและถ้าสภาฯจะทำให้หายไม่ได้จริงๆ แล้วก็ใคร่จะลาออกเสียจากคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ แต่อยากจะฟอกความบริสุทธิ์ของท่าน ท่านจึงได้มีพระหัตถเลขามาฉบับหนึ่ง ข้าพเจ้าคิดว่าเจ้าคุณประธานฯควรอ่านให้ที่ประชุมฟัง เมื่อเป็นข้อแก้ของพระองค์ท่าน และจะทำให้พระองค์ท่านและคณะผู้สำเร็จราชการหายมลทินได้”[8]

หลังจากนั้น พระยามานวราชเสวี ประธานสภาผู้แทนราษฎร จึงได้อธิบายเนื้อความในคำชี้แจงความว่า

“...หนังสือนั้นเป็นหนังสือที่มีมาถึงข้าพเจ้า บอกว่าลับ ไม่ใช่เปิดเผย ในวันนั้นเราประชุมโดยเปิดเผย แต่วันนี้เราประชุมกันเป็นการภายใน ข้าพเจ้าพูดได้ ท่านชี้แจงว่าเหตุที่ท่านขายวังของท่านคือวังกรมหลวงชุมพรนั้น เพราะเหตุว่าต้องมีการใช้จ่ายรับรองอะไรต่างๆมาก เพราะฉะนั้นก็ใคร่จะขายเสีย”[8]

อย่างไรก็ตามผลการประชุมผ่านไปอีก 1 วันก็ยังไม่มีข้อยุติอยู่ดี สถานการณ์ดังที่กล่าวมาข้างต้น ได้ทำให้รัฐบาลได้ลาออกทั้งหมด ในขณะเดียวกันคณะผู้สำเร็จราชการก็ลาออกอีก จึงไม่มีผู้กระทำการแทนพระมหากษัตริย์ในการโปรดเกล้าแต่งตั้งรัฐบาล และก็ไม่มีรัฐบาลซึ่งทำหน้าที่ผู้รับสนองพระบรมราชโองการตามรัฐธรรมนูญด้วยเช่นกัน

แต่ท่านผู้อ่านลองพิจารณาว่าการกระทำของคณะผู้สำเร็จราชการที่นำเอาที่ดินพระคลังข้างที่ซึ่งเป็นของพระมหากษัตริย์มาตัดแบ่งขายให้กับนักการเมืองในราคาถูกๆ นั้น เป็นเรื่องที่มีความอื้อฉาวและเป็นมลทินครั้งสำคัญหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง คำถามมีอยู่ว่าคนที่พร้อมที่จะเข้ามาคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์อีกครั้ง จะต้องเป็นคนลักษณะแบบใด

ต่อมาวันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2480 คณะผู้สำเร็จราชการจึง “เปลี่ยนใจ” ทำหนังสือ“ถอน”หนังสือลาออก โดยอ้างว่าหนังสือเดิมที่เขียนว่า “ใคร่ขอลาออก” นั้นดัดแปลงเนื้อความอธิบายเป็นว่า ใคร่“จะ”ขอลาออก โดยพ่วงเงื่อนไขว่าถ้าสภาเห็นว่าคณะผู้สำเร็จราชการปฏิบัติการเป็นที่ข้องใจของประชาชน

ทั้งนี้ พระยามานวราชเสวี ประธานผู้แทนราษฎร ได้แจ้งต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ.2480 ถึงหนังสือของคณะผู้สำเร็จราชการซึ่งลาออกไปแล้ว แต่เปลี่ยนใจมีเนื้อความว่า

“พระที่นั่งบรมพิมาน

วันที่ 30 กรกฎาคม พุทธศักราช 2480

ถึง พระยามานวราชเสวี ประธานสภาผู้แทนราษฎร

ด้วยตามที่ข้าพเจ้าทั้งสาม ได้แสดงความประสงค์ว่าถ้าสภาผู้แทนราษฎรเห็นว่า ข้าพเจ้าได้ปฏิบัติการเป็นที่ข้องใจของประชาชน ในเรื่องการซื้อขายที่ดินของพระคลังข้างที่แล้ว ข้าพเจ้าใคร่จะขอลาออกจากคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์นั้น ข้าพเจ้าคอยมติของสภาผู้แทนราษฎรเพื่อรับตอบในเรื่องนี้อยู่จนบัดนี้ก็ยังหาได้รับตอบเป็นการเด็ดขาดประการใดไม่

บัดนี้ ทหารบก, ทหารเรือ, ทหารอากาศ, ตำรวจ และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ทั้งประเภทที่ 1 และประเภทที่ 2 และบรรดาข้าราชการทั้งในพระนครและต่างจังหวัดเป็นส่วนมาก ต่างได้มาร้องขอให้คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์คณะนี้ได้คงดำรงตำแหน่งนี้สืบต่อไปอีก เพราะปรากฏว่าในขณะที่มีเหตุนี้ขึ้น การเงินและการค้าของประเทศระส่ำระสายและตกต่ำลงทันที โดยเหตุที่ประเทศนี้ไม่มีผู้แทนพระองค์พระมหากษัตริย์ และไม่มีรัฐบาลอันแน่นอนที่จะบริหารราชการต่อไป กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศต่างมีความวิตกในเหตุการณ์นี้เป็นอย่างยิ่ง เมื่อสภาพการณ์เป็นดั่งนี้ หากมีการฉุกเฉินประการใดเกิดขึ้นแล้ว ข้าพเจ้าทั้งสามก็ย่อมไม่พ้นความรับผิดชอบในเรื่องนี้เป็นแน่แท้

ฉะนั้น เพื่อเห็นแก่ความสงบสุขและความเรียบร้อยของประเทศชาติและประชาชนชาวสยาม ข้าพเจ้าทั้งสามจำต้องขอถอนหนังสือแสดงความประสงค์ที่จะลาออกนั้นเสียจนกว่าจะได้ตั้งรัฐบาลขึ้นใหม่ตามวิถีทางแห่งรัฐธรรมนูญ และเมื่อเหตุการณ์ได้สงบเรียบร้อยเป็นปกติดีแล้ว ถ้าสภาผู้แทนราษฎรยังมีความข้องใจในตัวข้าพเจ้าทั้งสาม และสมควรจะดำเนินการต่อไปประการใดอีกก็แล้วแต่จะเห็นควร

ขอแสดงความนับถืออย่างยิ่ง
(ลงพระนาม) อาทิตย์ทิพอาภา
(ลงนาม) ยมราช
(ลงนาม) พล.อ.พิชเยนทรโยธิน” [9]

ปรากฏว่าหลังจากการอ่านหนังสือดังกล่าว ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้ถกเถียงกันในการตีความและวินิจฉัยในหนังสือการลาออกที่ผ่านมากันอย่างหนัก ระหว่างคำว่า “ใคร่”ขอลาออก ในหนังสือฉบับแรก และ “ใคร่จะขอลาออก” ในหนังสือครั้งหลัง จะมีผลทำให้การลาออกที่ผ่านมามีผลหรือไม่ โดยมีการเทียบเคียงกับการสละราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ที่ไม่ได้มีผู้สนองพระบรมราชโองการในการสละราชสมบัติเช่นกัน

ผลปรากฏว่าภายหลังมีการถกเถียงกันอยู่นาน ที่ประชุมสภาจึงได้มี “การประชุมภายในระหว่างสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2” ซึ่งมาจากการคัดเลือกของคณะราษฎรกันเอง (ไม่เปิดเผย) จนเลิกการประชุมเวลา 21.10 น.[10]

ต่อมาวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2480 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ได้ลงมติเห็นชอบให้คณะผู้สำเร็จราชการออกได้ 47 คะแนน และฝ่ายที่เห็นว่าให้คณะผู้สำเร็จราชการลาออกไม่ได้ 29 คะแนน [11]

ต่อมาที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้มีการเสนอชื่อ “เจ้า” ผู้ที่จะมาเป็นประธานคณะผู้สำเร็จราชการ ได้แก่ พระองค์เจ้าอาทิตย์, พระองค์เจ้าอลงกฏฯ, หม่อมเจ้าวิวัฒนไชย และพระองค์เจ้าทศศิริวงศ์ฯ

หลังจากนั้นที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้ลงคะแนนผู้ที่จะมาเป็นประธานคณะผู้สำเร็จราชการ (ตามการพูดคุยเป็นการภายใน) ตามลำดับ ดังนี้ พระองค์อาทิตย์ฯ ที่ 1 ได้ 40 คะแนน, พระองค์เจ้าอลงกฏฯ ได้ 24 คะแนน, หม่อมเจ้าวิว้ฒน์ไชย 1 คะแนน, และพระองค์เจ้าทศศิริวงศ์ 3 คะแนน ดังนั้นที่ประชุมได้เลือกพระองค์เจ้าอาทิตย์ฯ เป็นประธานผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์อีกวาระหนึ่ง [12]

ส่วนคนที่สอง ที่จะต้องพิจารณาจากทหารนั้น ที่ประชุมเสนอชื่อ โดยตกลงกันว่าถ้าคะแนนคนที่หนึ่งไม่รับก็ให้ได้แก่คนที่ได้คะแนนเป็นที่สองตามลำดับ

ผลการลงคะแนนของสภาผู้แทนราษฎรสำหรับผู้สำเร็จราชการคนที่ 2 ซึ่งต้องเป็นทหาร ตามลำดับคือ เจ้าพระยาวงศานุประพัทธ์ (หม่อมราชวงศ์สท้าน สนิทวงศ์) ได้คะแนนมากที่สุด 37 คะแนน, เจ้าพระยาพิชเยนทร 26 คะแนน และพระยาพหลพลพยุหเสนา 2 คะแนน[13]

ส่วนคะแนนเลือกผู้สำเร็จราชการคนที่ 3 ซึ่งต้องมาจากผู้ที่เคยเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ได้ลงคะแนนเรียงลำดับจากมากที่สุด คือ เจ้าพระยามหิธร 26 คะแนน, เจ้าพระยายมราช 23 คะแนน และเจ้าพระยาธรรมศักดิ์ 20 คะแนน [14]

ภายหลังการลงมติแล้ว พลโทพระยาเทพหัสดิน ผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนครได้รับมอบหมายจากสภาผู้แทนราษฎรให้ไปทาบทามผู้ที่ถูกเลือกเป็นผู้สำเร็จราชการให้มาดำรงตำแหน่ง ปรากฏว่า พระองค์เจ้าอาทิตย์ฯได้ปรึกษากับพวกแล้วว่าจะรับตำแหน่ง แต่อยากจะขอให้ได้คณะผู้สำเร็จราชการชุดเดิมเท่าที่จะเป็นได้ โดยที่จะขอมีเจ้าพระยาพิชเยนทรร่วมด้วยเป็นอย่างน้อย ในขณะที่เจ้าพระยามหิธรฯได้ปฏิเสธที่จะรับตำแหน่งเพราะท่านแจ้งว่าอายุ 72 ปี ชราแล้ว [15]

ในค่ำวันนั้นเดียวกันภายหลังจากได้ทราบความประสงค์ของพระองค์เจ้าอาทิตย์ฯแล้ว สภาผู้แทนราษฎรจึงได้มาประชุมกันอีกครั้ง ผลปรากฏว่าที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรยังคงเปิดโอกาสให้มีการเสนอชื่อผู้สำเร็จราชการที่เหลือและลงมติกันอีกครั้ง

โดยคราวนี้สภาผู้แทนราษฎรได้ลงคะแนนให้เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี ได้คะแนน 42 คะแนน มากกว่าเจ้าพระยายมราช ซึ่งได้ 37 คะแนน [16] ในขณะที่ผู้สำเร็จราชการที่เป็นทหารนั้น เจ้าพระยาพิชเยนทรฯ ได้ 50 คะแนน มากกว่าหลวงพิบูลสงครามซึ่งได้ 16 คะแนน ในขณะที่พระยาพหลฯ ได้เพียง 2 คะแนน[17]

ต่อมาในวันรุ่งขึ้นวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2480 ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้แจ้งว่า

“ตามที่ประชุมได้ตกลงให้เลือกเจ้าพระยาพิชเยนทรโยธินเป็นผู้สำเร็จราชการคนหนึ่งนั้น บัดนี้ข้าพเจ้าได้ทราบจากเจ้าคุณเทพหัสดิน ซึ่งไปทาบทามแล้ว ท่านก็รับ เพราะฉะนั้นข้อนี้ไม่เป็นการขัดข้อง”[18]

แต่ด้วยการสื่อสารในยุคนั้นยังล่าช้า เมื่อพระยาธรรมศักดิ์มนตรีไม่ได้อยู่ที่พระนคร การทาบทามจึงใช้วิธีการสื่อสารด้วยโทรเลข โดย พระยามานวราชเสวี ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้แจ้งต่อที่ประชุมโทรเลขของพระยาธรรมศักดิ์มนตรี ฉบับหนึ่งที่ตอบโทรเลขกลับมาความว่า

“ข้าพเจ้าได้รับโทรเลขของท่านกับได้ทราบจากหนังสือพิมพ์ว่า คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้ถอนใบลาแล้ว เรื่องคงสวนกัน อนึ่งหน้าที่สำคัญนี้ ข้าพเจ้าวิตกว่าข้าพเจ้าจะทำไม่ได้ โปรดนำเสนอสภาฯว่าข้าพเจ้าจะทำไม่ได้ โปรดนำเสนอสภาฯว่าข้าพเจ้าขอขอบใจ”[18]

ปรากฏว่าที่ประชุมได้ตีความโทรเลขดังกล่าวไปในทิศทางต่างๆกัน บางคนก็ตีความว่าเป็นเพราะพระยาธรรมศักดิ์มนตรีคงจะไม่ทราบความเป็นไปในสภาในสถานการณ์ล่าสุด บางคนก็ตีความว่าคงเป็นการปฏิเสธไม่รับตำแหน่ง คราวนี้ที่ประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจึงได้ลงมติ 41 คะแนนว่าไม่ต้องโทรเลขไปสอบถามอีกหน ในขณะที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรลงมติ 32 คะแนนว่าต้องโทรเลขสอบถามไปอีกครั้งเพื่อความชัดเจน [19]

แต่ในที่สุดภายหลังการถกเถียงกันอีกก็ได้ปรากฏว่าที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติในการเสนอชื่อเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีให้เข้ามาเป็นตัวเลือกอีกจำนวน 36 คะแนน ในขณะที่ผู้ที่ไม่เห็นด้วยจำนวน 28 คะแนน ทำให้ชื่อของเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีกลับมาถูกเสนอเป็นคู่แข่งกับเจ้าพระยายมราชอีกครั้งหนึ่ง [20]

และผลการลงคะแนนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้ง ปรากฏว่าเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีได้มีคะแนนมากกว่าเป็น 42 คะแนน มากกว่าแบบฉิวเฉียดเมื่อเทียบกับเจ้าพระยายมราชซึ่งได้ 39 คะแนน คราวนี้ พระยามานวราชเสวี ประธานสภาผู้แทนราษฎร แจ้งว่าจะเป็นผู้เขียนโทรเลขไปสอบถามเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีด้วยตัวเอง [20]

2 ทุ่มของคืนเดียวกันนั้น พระยามานวราชเสวี ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้แจ้งต่อที่ประชุมว่าได้รับโทรเลขจากเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีแล้วความว่า

“เมื่อบ้านเมืองเรียกใช้จริงๆ ข้าพเจ้าไม่มีหนทางปฏิเสธเลย และรับสนองคุณตามสติปัญญาและความสามารถ ข้าพเจ้าจะกลับพรุ่งนี้”[21]

หลังจากนั้น พระยามานวราชเสวี ประธานสภาผู้แทนราษฎร แจ้งว่าจำเป็นต้องขอพบเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีอีกครั้งหนึ่งก่อนเพื่อความชัดเจน (ทั้งๆที่ข้อความในโทรเลขดังกล่าวมีความชัดเจนในตัวเองอยู่แล้ว) จนเป็นที่สงสัยของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบางคนและเห็นว่าควรจะยุติและประกาศได้แล้ว

ต่อมาเช้าวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2480 พระยามานวราชเสวี ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้แจ้งต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรว่าได้พบกับ เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี แล้วเมื่อประมาณบ่ายสามของ วันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2480 ว่า

“ท่านแจ้งให้ข้าพเจ้าทราบว่า ท่านเป็นผู้ที่ไม่ปรารถนาสิ่งใดๆ นี่ข้อที่หนึ่ง ข้อที่สอง เมื่อสภาฯกรุณาเชิญท่านเป็นครั้งที่สอง ท่านก็ยังไม่รับจะทำ ถ้าแม้ว่าบ้านเมืองต้องการท่านจริงๆ ท่านจึงจะทำ”[22]

พระยามานวราชเสวี ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้ถามเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี ต่อหน้าคุณหลวงคหกรรมฯ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งไปด้วยว่า คำว่าบ้านเมืองนั้นคือใคร เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี ตอบว่า

“บ้านเมืองคือ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และอำนาจทุกฝ่าย คือคณะรัฐมนตรี อำนาจทางศาล และอำนาจทางสภาฯ”[22]

ซึ่งความหมายข้างต้นก็น่าจะแปลความได้ว่าเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีต้องการจะส่งสัญญาณว่าการจะรับตำแหน่งผู้สำเร็จราชการจะต้องเป็นความต้องการของทุกฝ่ายโดยไม่มีการขัดแย้งกัน

จากนั้นพระยามานวราชเสวี ประธานสภาผู้แทนราษฎร จึงได้สรุปแปลความหมายของเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีให้ที่ประชุมวินิจฉัยว่า

“ข้าพเจ้าเห็นว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ยังทรงพระเยาว์ คณะรัฐมนตรีก็ลาออกไปแล้ว เพราะฉะนั้นที่จะหวังให้มีอำนาจอย่างนี้ไม่ได้ เพราะฉะนั้นข้าพเจ้าเห็นว่าท่านปฏิเสธไม่ยอมรับโดยโทรเลขฉบับนี้ ประกอบกับที่ข้าพเจ้าและหลวงคหกรรมไปพบกับท่าน เพราะฉะนั้นถ้าไม่มีอะไรแล้ว ขอให้เลือกกันใหม่ดีกว่า ใครจะเสนอใครก็เสนอมา”[22]

จากนั้นที่ประชุมเห็นชอบให้ไม่ต้องมีการโหวตอะไรแล้ว 25 คะแนน มากกว่าผู้ที่ไม่เห็นด้วย 20 คะแนน โดยอาศัยข้อบังคับการประชุมข้อที่ 2 ที่ว่าถ้ามีข้อเสนอเพียงคนเดียวก็ให้ได้รับเลือกโดยใช้อำนาจของประธานสภาผู้แทนราษฎร [23]

จึงเป็นอันยุติของการประชุมสภาผู้แทนราษฎร 8 วัน จบลงที่การเลือกคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ “กลับมาเหมือนเดิมทุกประการ” คือ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา เป็นประธานคณะผู้สำเร็จราชการ, โดยมีเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) และพลเอก พระยาพิชเยนทร์โยธิน (อุ่ม อินทรโยธิน)ร่วมเป็นผู้สำเร็จราชการ

แต่ “เบื้องหลัง” การกลับเข้าสู่อำนาจดังเดิมได้นั้น ปรากฏเป็นบันทึกของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ได้เคยทรงนิพนธ์บันทึกเหตุการณ์ดังกล่าวนี้เอาไว้ความตอนหนึ่งในหนังสือเจ้าชีวิต พงศาวดาร 9 รัชกาลแห่งราชวงศ์จักรี ว่า

“ดังเป็นที่ทราบกันอยู่ทั่วไปในขณะนั้น คณะผู้สำเร็จราชการฯและเจ้าคุณพหลฯ ได้รับการสนับสนุนอย่างแข็งแรงจากทหาร ฉะนั้น เมื่อลาออกพร้อมกันเช่นนี้ ฝ่ายพลเรือนในรัฐบาลคงจะคิดว่าจะได้อิทธิพลมากขึ้น จึงขอให้รีบรับใบลาออกโดยเร็ว โดยหวังว่าจะเสนอผู้อื่นเป็นคณะผู้สำเร็จราชการฯ และนายกรัฐมนตรีแทน

แต่หลวงพิบูลฯ ดำเนินการให้ฝ่ายทหารรีบให้กำลังสนับสนุนคณะผู้สำเร็จราชการฯ และพระยาพหลฯมากขึ้น ฉะนั้นทุกๆอย่างก็กลับไปเป็นอย่างเรียบร้อย” [24]

ถ้าเป็นจริงตามนี้ ประกอบกับข้อมูลการลงคะแนนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในช่วงที่ผ่านมาก็แสดงให้เห็นว่ามีความพยายามต่อต้านของ “คณะราษฎรสายพลเรือน”ที่เป็นเหมือนคลื่นใต้น้ำ ที่จะพยายามจะเปลี่ยนตัวผู้สำเร็จราชการ แต่อาจไม่สามารถทัดทานอิทธิพลคณะราษฎรสายทหารในเวลานั้นได้

หลังจากนั้นวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2480 คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ได้มีหนังสือถึงพระยามานวราชเสวี ประธานสภาผู้แทนราษฎร แจ้งการแต่งตั้งนายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา ให้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกต่อไปตามเสียงส่วนมากในสภาผู้แทนราษฎร โดยสรุปเอาไว้ตอนท้ายว่า

“สภาผู้แทนราษฎรเป็นที่พอใจในความบริสุทธิ์ของนายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา และเมื่อหลักฐานเช่นนี้แล้ว คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ก็จะได้ดำเนินการจัดตั้งนายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป

จึ่งขอแจ้งมาให้ท่านทราบ เพื่อจักได้ดำเนินการต่อไป

(ลงพระนาม) อาทิตย์ทิพอาภา
(ลงนาม) ยมราช
(ลงนาม) พล.อ.พิชเยนทรโยธิน
ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์” [25]

วันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2480 สภาผู้แทนราษฎรเปิดวาระการลงมติความไว้วางใจในคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ซึ่งแม้ที่ประชุมจะยังคงติดใจในเรื่องการซื้อที่ดินพระคลังข้างที่ในราคาถูกๆ แต่พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา ยืนยันว่าจะมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนขึ้นมา โดยไม่ใช่คนของรัฐบาลแต่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่ประชุมจึงลงมติเสียงข้างมากไว้วางใจรัฐบาลชุดใหม่นี้ [26]

ต่อมาวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2480 คณะรัฐมนตรีได้มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาซื้อขายที่ดินบางรายของพระคลังข้างที่ ประกอบด้วย เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ (จิตร ณ สงขลา) เป็นประธานกรรมการ และพระยานลราชสุวัจน์ (ทองดี นลราชสุวัจน์) พระยาอรรถการีย์นิพนธ์ (สิทธิ จุณณานนท์) พระยาอัครราชทรงสิริ (แม้น อรุณลักษณ์) และพระยาสารคามคณาภิบาล (ทิพย์ โรจน์ประดิษฐ์) [27]

(มีต่อ)
15 ม.ค. 2564  ผู้จัดการออนไลน์
หัวข้อ: (ต่อ)ภารกิจคณะราษฎรยังไม่เสร็จ !? (ตอนที่ 11) “บันทึกลับ”ผลการตั้งกรรมการตรวจสอบ
เริ่มหัวข้อโดย: story ที่ 16 มกราคม 2021, 10:46:07
แต่ต่อมาเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศร์ (จิตร ณ สงขลา) ได้ขอถอนตัวออกจากการเป็นประธานกรรมการ คณะรัฐมนตรีจึงมีมติแต่งตั้งพระยานลราชสุวัจน์ (ทองดี นลราชสุวัจน์) เป็นประธานกรรมการแทน และแต่งตั้งพระยาพลางกูรธรรมพิจัย (เผดิม พลางกูร) เป็นกรรมการเพิ่มอีกตำแหน่งหนึ่ง

ผ่านไปเกือบ 6 เดือนปรากฏว่าเมื่อ วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2481 (ปฏิทินปัจจุบัน) นายเลียง ไชยกาล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดอุบลราชธานี ได้ตั้งกระทู้ถาม พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา เพื่อติดตามผลการสอบสวนเกี่ยวกับการซื้อขายที่ดินบางรายของพระคลังข้างที่ ซึ่งรัฐบาลเคยแจ้งว่าจะแถลงให้สภาฯทราบ จึงขอให้รัฐบาลตอบเป็นการด่วน โดยถามทั้งสิ้น 4 ข้อ กล่าวคือ

“1.ผลการสอบสวนของคณะกรรมการเกี่ยวกับการซื้อขายที่ดินบางรายของพระคลังข้างที่ รัฐบาลจะแถลงให้สภาฯทราบโดยวิธีใด

2.คำวินิจฉัยของคณะกรรมการนั้น รัฐบาลนี้ได้ปฏิบัติตามหรือไม่ประการใด ขอให้แจ้งเป็นรายละเอียด

3.ทราบว่าบางส่วนคณะกรรมการไม่กล้าวินิจฉัย เช่นในเรื่องการกระทำของส่วนของท่านผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ บางอย่างคณะกรรมการอ้างว่า เกรงจะเป็นการหมิ่นประมาท สำนวนเช่นนี้ทำให้เห็นโน้มเอียงไปว่าพระองค์ท่านมัวหมองอยู่ในตัวซึ่งหน้าที่รัฐบาลจะหาทางให้วินิจฉัย ให้กระจ่างได้โดยวิธีหนึ่ง จึงจะควรเพื่อรักษาพระเกียรติของพระองค์ท่าน ขอทราบว่ารัฐบาลดำริหรือไม่ประการใด

4.รัฐบาลคิดว่าเป็นการชอบธรรมถูกต้องดีแล้วหรือยัง มีอะไรที่ควรวินิจฉัยอีกในเรื่องพระคลังข้างที่ตามที่รัฐบาลตอบกระทู้ และกล่าวในการเปิดอภิปรายเมื่อปีกลายเรื่องนี้ ข้าพเจ้าขอทราบโดยละเอียด เพราะข้าพเจ้าข้องใจอยู่เป็นอันมาก” [28]

พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี ได้ตอบว่า

“ข้อ 1 และข้อ 2 ขอตอบรวมกันว่า รัฐบาลชุดเก่าได้มีหนังสือนำส่งสำเนารายงานของคณะกรรมการไปยังประสานสภาผู้แทนราษฎร และได้เรียนไปด้วยว่า ได้ปฏิบัติการให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการแล้ว

ส่วนข้อ 3 พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี ได้อธิบายว่า คณะกรรมการก็ได้พิจารณาเสร็จแล้วเรื่องก็เป็นอันเสร็จสิ้นไป การที่คณะกรรมการไม่ได้วินิจฉัยถึงการกระทำของประธานผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตามเหตุผลที่คณะกรรมการให้ไว้ในรายงาน ซึ่งรัฐบาลได้โฆษณาแล้วนั้น ไม่ได้แปลว่าพระองค์ท่านมีความมัวหมองแต่อย่างใด

ข้อ 4 เมื่อคณะกรรมการได้วินิจฉัยตามความชอบธรรมแล้ว รัฐบาลชุดปัจจุบันนี้จึงไม่เห็นมีอะไรต้องวินิจฉัยอีก”

แต่นายเลียง ไชยกาล เห็นว่าคำตอบดังกล่าวนั้นยังไม่ชัดเจน จึงได้ขอให้ชี้แจงรายละเอียดว่าคณะกรรมการได้ระบุให้คืนที่ดินที่ใดและจำนวนเงินเท่าใด และได้ดำเนินการทำไปแล้วทุกกรณีหรือไม่อย่างไร และคณะกรรมการยังไม่ได้วินิจฉัยเรื่องการกระทำของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์จริงหรือไม่อย่างไร

ปรากฏว่า พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี ตอบว่า ตามที่คณะกรรมการวินิจฉัยไปนั้น รัฐบาลได้กระทำไป “เกือบหมดแล้ว”

แต่นายเลียง ไชยกาล เห็นว่ายังไม่ชัดเจนอีกและเรียกร้องให้ชี้แจงรายละเอียด ว่ารายไหนที่ยังไม่ได้ทำ และรายไหนทำไปแล้ว ปรากฏว่า พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี บอกว่าจำไม่ได้ในเวลานี้

สำหรับประเด็นนี้มีข้อน่าสังเกตว่า พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี แจ้งต่อที่ประชุมสภาว่าได้กระทำตามคณะกรรมการวินิจฉัยไป “เกือบหมดแล้ว” แต่กลับ “จำไม่ได้”นั้น มีความหมายว่าอย่างไรระหว่าง จำไม่ได้เพราะมีจำนวนที่ยังไม่ได้คืนหลายรายเกินกว่าที่จะจำได้ หรือ เป็นเพราะว่ามีจำนวนที่ดินที่ยังไม่คืนนั้นไม่มากแต่ไม่ต้องการจะแจ้งที่ประชุม?

นายเลียง ไชยกาล ได้ตั้งกระทู้ถามต่อเป็นครั้งที่สองว่า ให้ทำการโฆษณาเผยแพร่รายงานผลการสอบสวนจะทำได้หรือไม่ สำหรับประเด็นนี้ พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา ระบุว่า แล้วแต่สภาฯ

สุดท้ายคือ นายเลียง ไชยกาล เสนอให้เสนอกฎหมายสู่สภาฯ ให้อำนาจกรรมการวินิจฉัยในเรื่องนี้ เพราะคณะกรรมการชุดเดิมอ้างว่าไม่กล้าวินิจฉัย พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี ตอบว่า รัฐบาลไม่เห็นเหตุผลที่จะทำไปเช่นนั้น

เมื่อถามกระทู้ครบสามหนแล้ว พระยามานวราชเสวี ประธานสภาผู้แทนราษฎร จึงได้ตัดบทและแจ้งว่าจะไม่แจกรายงานฉบับเต็มนี้ในที่ประชุม โดยอ้างว่าเป็นสภาคนละชุดกัน ให้อ่านตามที่รัฐบาลได้ส่งไปลงหนังสือพิมพ์แบบสรุปตามข้างต้น ความว่า

“ในฐานะที่ข้าพเจ้าเป็นประธานสภาฯ ข้าพเจ้าได้รับรายงานก่อนใครๆหมด เมื่อกรรมการพิจารณาเสร็จแล้ว รัฐบาลชุดเก่าได้ส่งมาให้ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าได้อ่านเสร็จแล้วก็เก็บใส่ตู้ลั่นกุญแจไว้ และคอยฟังว่าเขาจะเปิดเผยแค่ไหน

แต่เมื่อได้ทราบว่ารัฐบาลได้ส่งไปลงหนังสือพิมพ์ รายงานของกรรมการนี้และได้เปิดเผยโดยทางหนังสือพิมพ์แล้ว มาถึงสภาฯชุดนี้ข้าพเจ้าถือว่าเป็นคนละชุดแล้ว ก็ท่านที่ตั้งกระทู้นี้ก็ทราบแล้วจากหนังสือพิมพ์ เพราะฉะนั้นข้าพเจ้าจึงไม่ได้แจก หรือไม่ได้พิมพ์รายงานของกรรมการแจก เพราะเป็นคนละชุดที่จะต้องรายงาน ถ้าสภาฯชุดเดิมยังอยู่ก็จำเป็นจะต้องชี้แจงให้สภาฯทราบ แต่เดี๋ยวนี้เปลี่ยนบุคคลจึงไม่ได้แจ้ง แต่ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ชี้แจงก็ถือว่าได้ทราบแล้ว” [28]

แต่เหตุการณ์ผ่านไป 83 ปี จึงได้คำชี้แจงของ พลโทสรภฏ นิรันดร ทายาทของขุนนิรันดรชัย อดีตราชเลขานุการในพระองค์ ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการจัดสรรที่ดินพระคลังข้างที่ตามความต้องการของหลวงพิบูลสงครามเฉลยว่า

ในความเป็นจริงไม่ได้มีการคืนที่ดิน เพราะแม้แต่ที่ดินหน้าวังสวนจิตรฯ และที่ดินติดพระราชวังไกลกังวล ที่ขุนนิรันดรชัยได้มาจากที่ดินของพระมหากษัตริย์ก็ได้ใส่ไว้ในชื่อบุตรสาวคนหนึ่งตอนอายุ 6 ขวบ และเขียนบันทึกให้ส่งคืนขุนนิรันดรชัยเมื่อบรรลุนิติภาวะแล้ว โดยที่ดิน 2 แปลงนี้ยังคงเป็นมรดกของตระกูลนิรันดรจนถึงปัจจุบัน [29]
และจนถึงปัจจุบัน ก็ยังไม่มีใครทราบด้วยซ้ำไปว่าที่ดิน 90 แปลง ในกรุงเทพมหานคร ของตระกูลนิรันดรนี้[29] เป็นที่ดินพระคลังข้างที่และทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์กี่แปลง

ยังไม่รวมถึงคนอื่นๆอีกกี่คน ที่ได้ซื้อที่ดินพระคลังข้างที่ไป แต่ไม่ได้คืนทรัพย์สินจนถึงปัจจุบัน หรือมีการเปลี่ยนแปลงสัญญาจากผ่อนซื้อเป็นเช่า หรือได้ที่ดินไปโดยไม่ต้องซื้อ เพราะรายงานของคณะกรรมการดังกล่าว ไม่ได้ถูกเผยแพร่ให้มีการตรวจสอบอย่างโปร่งใส จึงทำให้ยังคงเป็นรายงานซึ่งเป็นความลับอันมืดดำที่ไม่มีใครให้คำตอบได้ มาจนถึงปัจจุบัน

ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

อ้างอิง
[1] รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 12 (สมัยวิสามัญ สมัยที่สอง) กระทู้ถามเรื่อง ที่ดินของพระมหากษัตริย์ ของนายเลียง ไชยกาล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี ถามนายกรัฐมนตรี และญัตติด่วน เรื่องขออภิปรายทั่วไปในนโนบายของรัฐบาลว่าด้วยการจัดการทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ โดยนายไต๋ ปาณิกบุตร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดพระนคร,วันที่ 27 กรกฎาคม 2480 หน้า 301-347
https://dl.parliament.go.th/bitstream/handle/lirt/383977/12_24800727_wb.pdf?sequence=1

[2] พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์, เจ้าชีวิต พงศาวดาร 9 รัชกาลแห่งราชวงศ์จักรี,พิมพ์และจัดจำหน่ายโดย บริษัท สำนักพิมพ์ริเวอร์ บุ๊คส์ จำกัด, พิมพ์ครั้งที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562, พิมพ์ที่บริษัท โรงพิมพ์กรุงเทพ (1984) จำกัด, ISBN 978-616-451-038-8 หน้า 397

[3] รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 12 (สมัยวิสามัญ สมัยที่สอง) กระทู้ถามเรื่อง ที่ดินของพระมหากษัตริย์ ของนายเลียง ไชยกาล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี ถามนายกรัฐมนตรี และญัตติด่วน เรื่องขออภิปรายทั่วไปในนโนบายของรัฐบาลว่าด้วยการจัดการทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ โดยนายไต๋ ปาณิกบุตร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดพระนคร,วันที่ 27 กรกฎาคม 2480, หน้า 316

[4] เรื่องเดียวกัน, หน้า 319

[5] รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 13 (สมัยวิสามัญ สมัยที่สอง), ประธานผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์และ นายกรัฐมนตรีพร้อมด้วยคณะขอลาออกจากตำแหน่ง วันที่ 28 กรกฎาคม 2480 หน้า 349
https://dl.parliament.go.th/bitstream/handle/lirt/383978/13_24800728_wb.pdf?sequence=1

[6] เรื่องเดียวกัน, หน้า 350

[7] รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 14 (สมัยวิสามัญ สมัยที่สอง), ประธานผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์และ นายกรัฐมนตรีพร้อมด้วยคณะขอลาออกจากตำแหน่ง วันที่ 29 กรกฎาคม 2480 หน้า 356
https://dl.parliament.go.th/bitstream/handle/lirt/383979/14_24800729_wb.pdf?sequence=1

[8] เรื่องเดียวกัน, หน้า 361

[9] รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 15 (สมัยวิสามัญ สมัยที่สอง),เรื่องหนังสือที่ได้รับจากผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ลาออก, วันที่ 31 กรกฎาคม 2480 หน้า 366-367
https://dl.parliament.go.th/bitstream/handle/lirt/383980/15_24800731_wb.pdf?sequence=1

[10] เรื่องเดียวกัน, หน้า 412

[11] รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 16 (สมัยวิสามัญ สมัยที่สอง),เรื่องหนังสือที่ได้รับจากผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ลาออก, วันที่ 1 สิงหาคม 2480 หน้า 435
https://dl.parliament.go.th/bitstream/handle/lirt/383981/16_24800801_wb.pdf?sequence=1

[12] เรื่องเดียวกัน, หน้า 447

[13] เรื่องเดียวกัน, หน้า 448

[14] เรื่องเดียวกัน, หน้า 450

[15] รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 17 (สมัยวิสามัญ สมัยที่สอง),เรื่องเลือกคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (ต่อ), วันที่ 1 สิงหาคม 2480 หน้า 455
https://dl.parliament.go.th/bitstream/handle/lirt/383982/17_24800801_wb.pdf?sequence=1

[16] เรื่องเดียวกัน, หน้า 460

[17] เรื่องเดียวกัน, หน้า 464

[18] รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 18 (สมัยวิสามัญ สมัยที่สอง),เรื่องเลือกคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (ต่อ), วันที่ 2 สิงหาคม 2480 หน้า 466
https://dl.parliament.go.th/bitstream/handle/lirt/383983/18_24800802_wb.pdf?sequence=1

[19] เรื่องเดียวกัน, หน้า 469

[20] เรื่องเดียวกัน, หน้า 472-473

[21] รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 19 (สมัยวิสามัญ สมัยที่สอง),เรื่องเลือกคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (ต่อ), วันที่ 2 สิงหาคม 2480 หน้า 474
https://dl.parliament.go.th/bitstream/handle/lirt/383984/19_24800802_wb.pdf?sequence=1

[22] รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 20 (สมัยวิสามัญ สมัยที่สอง),เรื่องเลือกคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (ต่อ), วันที่ 4 สิงหาคม 2480 หน้า 479
https://dl.parliament.go.th/bitstream/handle/lirt/383986/20_24800804_wb.pdf?sequence=1

[23] เรื่องเดียวกัน, หน้า 480

[24] พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์, เจ้าชีวิต พงศาวดาร 9 รัชกาลแห่งราชวงศ์จักรี,พิมพ์และจัดจำหน่ายโดย บริษัท สำนักพิมพ์ริเวอร์ บุ๊คส์ จำกัด, พิมพ์ครั้งที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562, พิมพ์ที่บริษัท โรงพิมพ์กรุงเทพ (1984) จำกัด, ISBN 978-616-451-038-8 หน้า 397-398

[25] รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 21 (สมัยวิสามัญ สมัยที่สอง),เรื่องหนังสือของคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตั้งนายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นนายกรัฐมนตรี, วันที่ 8 สิงหาคม 2480 หน้า 484-485
https://dl.parliament.go.th/bitstream/handle/lirt/383987/21_24800808_wb.pdf?sequence=1

[26] รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 22 (สมัยวิสามัญ สมัยที่สอง),เรื่องขอให้สภาผู้แทนราษฎรลงมติความไว้วางใจในคณะรัฐมนตรีชุดใหม่, วันที่ 11 สิงหาคม 2480 หน้า 500-501
https://dl.parliament.go.th/bitstream/handle/lirt/383988/22_24800811_wb.pdf?sequence=1

[27] มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2480

[28] รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 24 (สมัยสามัญ สมัยที่สอง),เรื่องการสอบสวนเกี่ยวกับการซื้อขายที่ดินบางรายของพระคลังข้างที่ โดยนายเลียง ไชยกาล, วันที่ 8 มีนาคม 2481 (ปฏิทินปัจจุบัน) หน้า 1551-1556
https://dl.parliament.go.th/bitstream/handle/lirt/384455/24_24800308_wb.pdf?sequence=1

[29] ผู้จัดการออนไลน์, คำสัมภาษณ์พิเศษเพิ่มเติมของพลโทสรภฏ นิรันดร, โดยปานเทพ พัวพงษ์พันธ์, สัมภาษณ์ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2563 ณ โรงแรม INTERCONTINENTAL BANGKOK, สัมภาษณ์เพิ่มเติมครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2563 โดยเปิดเผยเฉพาะครั้งที่ 1, ส่วนครั้งที่ 2 ยังไม่เปิดเผยในเวลานี้รอเวลาอันเหมาะสม)
https://www.facebook.com/123613731031938/posts/3727071230686152/
https://mgronline.com/onlinesection/detail/9630000133139

15 ม.ค. 2564 ผู้จัดการออนไลน์
หัวข้อ: ภารกิจคณะราษฎรยังไม่เสร็จ !? (ตอนที่ 12) เปิดตำนานกลุ่มธนาคารสาย “พนมยงค์”หายไป
เริ่มหัวข้อโดย: story ที่ 22 มกราคม 2021, 19:53:58
ณ บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

ก่อนที่คณะราษฎรได้เข้าเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ในเวลานั้นภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยได้ตกต่ำอย่างหนัก อีกทั้งระบบเศรษฐกิจก็ได้ถูกครอบงำโดยชาวต่างชาติ ซึ่งมีทั้งนายทุนตะวันตกและนายทุนเชื้อสายจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบาทของนายทุนจีนนั้นได้มีอิทธิพลต่อธุรกิจที่มีความสำคัญเหนือกว่าชนชาติอื่น ได้แก่ ธุรกิจโรงสีข้าว ธุรกิจพ่อค้าคนกลางในนามสมาคมพ่อค้าข้าว เรือลำเลียงลากจูง การส่งออกข้าว ซึ่งธุรกิจที่ต่อเนื่องจากกลุ่มนี้ก็คือการประกันภัย ธนาคาร ธุรกิจการเดินเรือ และธุรกิจแลกเงินใต้ดินหรือโพยก๊วน [1]

สำหรับนายทุนจีนแล้วได้พึ่งพานายทุนตะวันตกด้วยการช่วยขยายทุนนิยมภายในประเทศสยาม กลุ่มทุนจีนนี้ได้พึ่งพาเจ้านายหรือขุนนางชั้นผู้ใหญ่คนใดคนหนึ่งหรือมากกว่าในระบบราชการภายใต้ระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่มีระบบราชการที่เข้มแข็ง
ด้วยเหตุผลดังกล่าวชนชั้นนายทุนสัญชาติจีนจึงได้ยอมรับเอาอุดมการณ์ของเครือข่ายศักดินาในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ด้วยเพราะพึ่งพาอาศัยกัน การเจริญเติบโตขึ้นของชนชั้นนายทุนกลุ่มนี้จึงไม่เป็นปรปักษ์กับระบบเดิม แต่ก็ไม่อาจเป็นชนชั้นนำในการสถาปนาระบอบประชาธิปไตยได้ [2] 

อย่างไรก็ตามในเค้าโครงเศรษฐกิจในสมุดปกเหลืองของ นายปรีดี พนมยงค์ นั้น ได้กล่าวเอาไว้เกี่ยวกับ “เอกราชในทางเศรษฐกิจ” ความตอนหนึ่งว่า

“เมื่อเราจัดทำสิ่งที่จะอุปโภคบริโภคและสิ่งจำเป็นแห่งการที่จะดำรงชีวิตได้เอง และรัฐบาลควบคุมการกดราคาหรือขึ้นราคา โดยที่เอกชนได้ทำเล่นตามชอบใจในเวลานี้ได้แล้ว เราก็ย่อมเป็นเอกราช ไม่ต้องถูกบีบคั้นหรือกดขี่จากผู้อื่นในทางเศรษฐกิจ ตราบใดที่เอกชนยังต่างคนต่างทำอยู่แล้ว ตราบนั้นเราจะสลัดจากแอกแห่งความกดขี่ทางเศรษฐกิจไม่ได้”[3]

ส่วน “หลวงพิบูลสงคราม” ซึ่งมีแนวคิดลัทธิชาตินิยม เมื่อได้เป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว ก็ได้มีแนวคิดการส่งเสริมกิจการของคนไทย ผ่านคำขวัญที่ว่า “ไทยทำ ไทยใช้ ไทยเจริญ" ซึ่งนอกจากจะพยายามส่งเสริมให้มีอาชีพสงวนสำหรับคนไทยแล้ว ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2482 หลวงพิบูลสงครามยังได้ออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี และคำชักชวนให้ปฏิบัติตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยรัฐนิยม ฉบับที่ 5 เรื่องให้ชาวไทยพยายามใช้เครื่องอุปโภคบริโภคที่มีกำเนิดหรือทำขึ้นในประเทศไทยอีกด้วย [4],[5]

โดยหลวงพิบูลสงคราม ได้ประกาศชักชวนเอาไว้ในความคาดหวังชาตินิยมตามรัฐนิยมฉบับที่ 5 นี้ว่า

“ขอได้โปรดเข้าใจว่ารัฐนิยมฉะบับนี้แหละ เป็นกุญแจที่จะไขเข้าไปสู่ความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ และถ้าพี่น้องชาวไทยทั้งหลาย พร้อมกันปฏิบัติตามรัฐนิยมฉะบับที่ 5 นี้อย่างเคร่งครัดแล้ว เราจะได้เห็นความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจของชาติและชาวไทยในไม่ช้า...”[5]

จึงเห็นได้ว่าแกนนำคนสำคัญในสายทหารอย่าง หลวงพิบูลสงคราม ซึ่งมีแนวคิดใช้ลัทธิชาตินิยมนำชาติ กับ แนวคิดของสายพลเรือนอย่าง หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (นายปรีดี พนมยงค์) กับการปลดแอกทางเศรษฐกิจจากกลุ่มทุนเอกชน (ซึ่งในเวลานั้นอยู่ภายใต้อิทธิพลของต่างชาติ) เป็นแนวคิดที่ไปด้วยกันได้ โดยใช้ภาครัฐเป็นผู้สถาปนา“กลุ่มทุนธุรกิจไทย” ฝ่าการครอบงำของกลุ่มทุนต่างชาติในเวลานั้น 

ทั้งนี้ ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว รัฐบาลไทยได้มีนโยบายที่ควบคุมกลุ่มทุนชาวต่างชาติโดยเฉพาะชาวจีนออกมาอย่างต่อเนื่องเพื่อไม่ให้เอาเปรียบคนยากจนหรือเป็นผู้กำหนดชี้นำกลไกตลาด 

โดยในขั้นตอนแรกรัฐบาลที่มาจากการเปลี่ยนแปลงของคณะราษฎร ได้ดำเนินการในการตราพระราชบัญญัติหลายฉบับเพื่อลดบทบาทและอิทธิพลของกลุ่มทุนชาวจีน เช่น

วันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2475 ได้มีการตรา พระราชบัญญัติภาษีการธนาคารและประกันภัย พ.ศ. 2475 รับสนองพระบรมราชโองการโดย พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ซึ่งเป็นนโยบายภาษีในกิจการธนาคารและเครดิตฟองซีเอร์ ประธานคณะกรรมการราษฎร โดยด้านหนึ่งเป็นการหารายได้เข้ารัฐ ในขณะอีกด้านหนึ่งเป็นการลดบทบาทบรรดาธนาคารเล็กๆ ที่ไม่สามารถจะจ่ายภาษีตามที่รัฐบาลกำหนดได้ [6]

วันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2475 ได้มีการตรา พระราชบัญญัติว่าด้วยการยึดทรัพย์สินของกสิกร พ.ศ. 2475 รับสนองพระบรมราชโองการโดย พระยามโนปกรณ์นิติธาดา เพื่อแก้ไขปัญหามิให้เจ้าหนี้ยึดสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิตและประกอบอาชีพกสิกรรม ได้แก่ พืชผลที่ยังไม่เก็บเกี่ยว, เมล็ดพันธุ์ที่จะใช้ในปีการผลิตต่อไป, พืชผลในการเลี้ยงตัวเองและครอบครัว และสัตว์และเครื่องมือสำหรับการประกอบอาชีพ [7] 

วันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2475 ได้มีการตรา พระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475 รับสนองพระบรมราชโองการโดย พระยามโนปกรณ์นิติธาดา เพื่อแก้ไขปัญหาการกู้หนี้ยืมสินในชนบทที่มีการคิดอัตราดอกเบี้ยเกินสมควร หรือใช้นิติกรรมอำพรางปกปิดจำนวนเงินกู้ที่แท้จริงเพื่อคิดอัตราดอกเบี้ยและเงินต้นเกินสมควร หรือการได้มาของเจ้าหนี้ที่ได้เงินทองหรือทรัพย์สินเพื่อไถ่หนี้มากเกินสมควร ฯลฯ [8] 

วันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2477 ได้มีการตรา พระราชบัญญัติว่าด้วยสิทธิจับสัตว์น้ำในเขตต์จับสัตว์น้ำสยาม พ.ศ. 2477 รับสนองพระบรมราชโองการโดย พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี เพื่อสงวนการจับสัตว์น้ำให้กับคนไทยและนิติบุคคลไทย และควบคุมคนจีนที่ประมูลเขตน่านน้ำในการจับสัตว์น้ำ [9]

วันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2480 ได้มีการตรา พระราชบัญญัติป้องกันการค้ากำไรเกินควร พ.ศ. 2480 รับสนองพระบรมราชโองการโดย หลวงพิบูลสงคราม รัฐมนตรี โดยมติคณะรัฐมนตรีเพื่อป้องกันการฉวยกำไรเกินควรจากผู้บริโภค [10]

และส่วนที่สำคัญของกลุ่มทุนธนาคารพาณิชย์ ก็คือ วันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2480 ได้มีการตรา พระราชบัญญัติควบคุมกิจการธนาคาร พุทธศักราช 2480 รับสนองพระบรมราชโองการโดย หลวงพิบูลสงคราม รัฐมนตรี โดยมีสาระสำคัญหลายประการ เช่น การกำหนดทุนชำระแล้วไม่ต่ำกว่า 2 แสนบาท, หลักประกันของธนาคารที่ต้องมีไว้ให้กับรัฐบาลตามสัดส่วนของทุน, การกันกำไรของธนาคารมาเป็นทุนสำรองเพิ่มเติม ฯลฯ [11]

นอกจากนั้น พระราชบัญญัติควบคุมกิจการธนาคาร พุทธศักราช 2480 มีข้อกำหนดให้อำนาจแก่กระทรวงการคลังในการควบคุมธนาคารพาณิชย์ รวมถึงข้อห้ามตามมาตรา 8 อีกหลายประการ เช่น การห้ามปันผลแล้วมีผลทำให้เงินชำระทุนลดลง การห้ามมิให้มีอสังหาริมทรัพย์อันมิจำเป็นเพื่อใช้ในกิจการธนาคาร การห้ามจ่ายเงินให้กรรมการธนาคารกู้ยืมโดยทางตรงหรือทางอ้อม ฯลฯ [11]

โดยหลังจากการตรา พระราชบัญญัติควบคุมกิจการธนาคาร พุทธศักราช 2480 แล้ว ปรากฏว่าธนาคารที่ไม่เข้าข่ายและไม่สามารถปฏิบัติตามกฎข้อบังคับต่างๆของพระราชบัญญัตินี้ ต้องเลิกกิจการไป หรือบางแห่งก็โดนรัฐบาลยึดไป เนื่องจากขัดขืนคำสั่งห้ามส่งเงินไปต่างประเทศ

ส่งผลทำให้คงเหลือกลุ่มทุนธนาคารจีนที่สามารถดำเนินงานต่อไปได้เพียง 2 ธนาคารเท่านั้น คือ ธนาคารหวั่งหลี และธนาคารตันเปงชุน เท่านั้น[12]

สำหรับธนาคารพาณิชย์ที่ได้กำเนิดขึ้นภายหลังได้ตรากฎหมายควบคุมธนาคารพาณิชย์แล้วนั้น ยังพบการก่อตั้งธนาคารพาณิชย์ใหม่ก็ยังต้องอาศัยกลุ่มทุนชาวจีนบางกลุ่มที่ใกล้ชิดกันมาเป็นแนวร่วมอยู่ดี

โดยเมื่อผนวกกับการสัมภาษณ์ของพลโทสรภฏ นิรันดร บุตรชายของขุนนิรันดรชัย จึงสามารถแบ่งเป็นกลุ่มทุนธนาคารพาณิชย์ในช่วงเวลาที่หลวงพิบูลสงครามมาเป็นนายกรัฐมนตรี แบ่งออกได้ เป็น 3 กลุ่ม คือ

กลุ่มแรก คือ กลุ่มที่ได้อาศัยทุนจากพระคลังข้างที่หรือทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ ได้แก่ “ธนาคารไทยพาณิชย์” กับ อีกธนาคารหนึ่งที่พลโทสรภฏ นิรันดร ระบุว่าเป็นเงินมาจากการเบียดบังพระราชทรัพย์มาลงทุนเป็นทรัพย์สินส่วนตัว ซึ่งก็คือ “ธนาคารนครหลวงไทย” โดยมีขุนนิรันดรชัยเป็นกรรมการและหุ้นส่วนธนาคารทั้งสองแห่ง โดยขุนนิรันดรชัยมีสถานภาพเป็นท่อน้ำเลี้ยงให้กับ หลวงพิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี [13],[14] ซึ่งเป็นผู้นำที่มีความเชื่อเรื่องลัทธิชาตินิยมหรือฟาสซิสต์

กลุ่มที่สอง คือธนาคารที่กำเนิดขึ้นโดยทุนของรัฐบาล ได้แก่ “ธนาคารเอเซียเพื่อการอุตสาหกรรมและพาณิชย์ (ธนาคารเอเซีย)”ซึ่งก่อตั้งโดย “นายปรีดี พนมยงค์” โดยอาศัยเงินทุนของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง และอีกธนาคารหนึ่งคือ “ธนาคารมณฑล” ซึ่งถือหุ้นส่วนใหญ่โดยกระทรวงการคลัง

และกลุ่มที่สาม คือธนาคารที่จัดตั้งโดยเงินทุนของเอกชน ได้แก่ “ธนาคารกรุงศรีอยุธยา” โดยครอบครัว “พนมยงค์”

สำหรับการก่อตั้งธนาคารที่มาจากเงินของทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ทั้งที่เคยลงทุนมาก่อน หรือการเบียดบังโดยขุนนิรันดรชัยนั้น พลโทสรภฏ นิรันดร ได้ให้สัมภาษณ์ว่า

ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว ขุนนิรันดรชัย ได้ดำเนินการเป็นราชเลขานุการในพระองค์ และนำเงินจากทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์เป็นท่อน้ำเลี้ยงให้กับหลวงพิบูลสงคราม[13],[14] อีกทั้ง ขุนนิรันดรชัยได้นำเงินของพระมหากษัตริย์ไปร่วมตั้งธนาคารนครหลวงไทย[13],[14] และในอีกด้านหนึ่งก็สามารถเข้าควบคุมเป็นกรรมการในธนาคารไทยพาณิชย์ซึ่งมีเงินจากพระคลังข้างที่และกระทรวงการคลังอีกด้วย

สำหรับ ธนาคารไทยพาณิชย์ แต่เดิมนั้นผู้ถือหุ้นใหญ่คือพระคลังข้างที่และราชวงศ์ แต่เมื่อรัฐบาลหลวงพิบูลสงครามได้มาเป็นรัฐบาลแล้วจึงสามารถส่งตัวแทนเป็นกรรมการธนาคารไทยพาณิชย์ในฐานะตัวแทนกระทรวงการคลัง

ดังจะเห็นได้จากการประชุมวิสามัญของผู้ถือหุ้น เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2482 มีมติเปลี่ยนชื่อ “ธนาคารสยามกัมมาจล” เป็น “ธนาคารไทยพาณิชย์” ปรากฏรายชื่อผู้ถือหุ้นเข้าประชุมดังนี้

1.พระยาไชยยศสมบัติ ผู้แทนกระทรวงการคลัง (ประธานกรรมการอำนวยการ) ถือหุ้น 6,286 หุ้น
2.พระยาไชยศสมบัติ ถือหุ้น (ส่วนตัว) 20 หุ้น
3.พระยานวราชเสวี ถือหุ้น 27 หุ้น
4.พระยาปรีดานฤเบศร์ ถือหุ้น 100 หุ้น
5.พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าวรรณไวทยากร ถือหุ้น 22 หุ้น
6.พันตรีขุนนิรันดรชัย ผู้แทนกระทรวงการคลัง ถือหุ้น 18,022 หุ้น
7.พันตรีขุนนิรันดรชัย ถือหุ้น (ส่วนตัว) 20 หุ้น
8.นายเรือเอกวัน รุยาภรณ์ ร.น. ผู้แทนสำนักพระราชวัง ถือหุ้น 1,760 หุ้น
9.นายเรือเอกวัน รุยาภรณ์ ร.น. ถือหุ้น (ส่วนตัว) 10 หุ้น
10.พระยาประดิพัทธภูบาล ถือหุ้น 601 หุ้น
11.นายดับเบิ้ลยู. เค. เลอคานต์ ถือหุ้น 120 หุ้น

รวม 26,997 หุ้น [15]

บุคคลสำคัญของคณะราษฎร ได้แก่ พันตรีขุนนิรันดรชัย ซึ่งอยู่ในฐานะราชเลขานุการในพระองค์ กลับกลายเป็นผู้แทนกระทรวงการคลังซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นในสัดส่วนมากที่สุด ในขณะที่เรือเอกวัน รุยาภรณ์ ร.น. ผู้อำนวยการพระคลังข้างที่ เป็นตัวแทนสำนักพระราชวัง โดยทั้งสองคนนี้ยังได้มี “หุ้นส่วนตัว” ในธนาคารไทยพาณิชย์อีกด้วย

โดยในเวลาต่อมากลุ่มคนที่เคยเป็นสมาชิกของคณะราษฎร ก็ได้เข้าไปเป็นกรรมการในธนาคารแห่งนี้แทนกรรมการชุดเดิม ได้แก่ นายวิลาศ โอสถานนท์ (พ.ศ. 2482) พันเอกประยูร ภมรมนตรี (พ.ศ. 2484) นายเล้ง ศรีสมวงศ์ (พ.ศ. 2484) หลวงอรรถสารประสิทธิ์ (ทองเย็น ลีห์ละเมียร) เป็นต้น [16]

โดยเป็นที่น่าสังเกตว่ามี “บางคน” ที่ได้เป็นกรรมการธนาคารไทยพาณิชย์ต่อมาเหล่านี้ได้เคยถูกพาดพิงจากการตั้งกระทู้ถามในสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2480 ว่าได้ซื้อที่ดินพระคลังข้างที่ซึ่งเป็นทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ไปในราคาถูกๆด้วย ดังเช่น

วันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2480 นายวิลาศ โอสถานนท์ เป็นผู้ซื้อ โฉนดเลขที่ 3845 อำเภอบางรัก ราคา 6,000 บาท สำนักพระราชวัง (สำนักพระคลังข้างที่เป็นเจ้าของ)

วันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2480 หลวงอรรถสารประสิทธิ์ (ทองเย็น หลีละเมียร) เป็นผู้ซื้อโฉนดเลขที่ 3473 อำเภอบางรัก ราคา 10,724 บาท จากสำนักพระราชวัง (สำนักพระคลังเป็นเจ้าของ)[17]

สำหรับอีกธนาคารหนึ่งซึ่ง พลโทสรภฏ นิรันดร ได้ให้สัมภาษณ์ว่า ขุนนิรันดรชัยได้นำเงินจากสถาบันพระมหากษัตริย์ไปลงทุนก่อตั้ง “ธนาคารนครหลวงไทย” นั้น[13],[14] ธนาคารดังกล่าวได้จัดตั้งเมื่อวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2484 ด้วยเงินทุนจดทะเบียน 1,000,000 บาท 

โดยกรรมการชุดแรกของ “ธนาคารนครหลวงไทย” ได้แก่ หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ (ถวัลย์ ธารีสวัสดิ์) ประธานกรรมการ, ขุนนิรันดรชัย (สะเหวก นิรันดร), นายเรือเอกวัน รุยาพร ร.น. , ขุนวิมลธรกิจ (วิมล เก่งเรียน), นายชุณห์ บิณฑนนท์, นายโล่ง เตี๊ยกชวน บูลสุข, นายจุลินทร์ ล่ำซำ, พระทำนุนิธิผล (เพ็ญ เศาภายน) และพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภานุพันธ์ยุคล โดยธนาคารนี้ เป็นธนาคารที่มีสมาชิกของคณะราษฎรร่วมมือกับพ่อค้าชาวจีน และเชื้อพระวงศ์ [18],[19]

ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าทั้ง “ขุนนิรันดรชัย” และ “นายเรือเอกวัน รุยาพร” เป็นทั้งกรรมการและหุ้นส่วนใหญ่ในธนาคารนครหลวงไทย และเป็นกรรมการและหุ้นส่วนในธนาคารไทยพาณิชย์ด้วย อันจะเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์หรือไม่ เพราะเท่ากับคนๆ เดียวกันเป็นเจ้าของธนาคารแห่งหนึ่ง แต่สามารถเป็นกรรมการล่วงรู้ข้อมูลภายในคู่แข่งอีกองค์กรหนึ่ง

สำหรับ “ธนาคารเอเชียเพื่อการอุตสาหกรรมและพาณิชย์” นั้น ก่อตั้งเมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2482 ด้วยเงินทุน 1,000,000 บาท เนื่องจากรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้สั่งปิดธนาคาร โอเวอร์ซีไชนีส (Chinese Oversea Banking) สาเหตุจากธนาคารได้ฝ่าฝืนคำสั่งของรัฐบาลโดยการส่งเงินกลับไปประเทศจีน [18]

นายปรีดี พนมยงค์ จึงได้มอบหมายให้นายหลุย พนมยงค์ เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการดำเนินการจัดตั้งธนาคารแห่งนี้ โดยมี ดร.เดือน บุนนาค เลขาธิการมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดสรรเงินสวัสดิการของมหาวิทยาลัยมาซื้อหุ้นใหญ่ของธนาคารเอาไว้ในชื่อ “ธนาคารเอเชียเพื่อการอุตสาหกรรมและพาณิชย์” ส่วนหุ้นที่เหลือของผู้ใกล้ชิดกับคณะราษฎร รวมทั้งพ่อค้าชาวจีนด้วย [18]

คณะกรรมการชุดแรกประกอบด้วย พระยาพิพัฒน์ธนากร (ฉิม โปษยานนท์) เป็นประธาน, พระสุธรรมวินิจฉัย (ชม วณิกเกียรติ), นายยูมิน จูตระกูล (แห่งบริษัทยิบอินซอย), นายเดือน บุนนาค, นายโล่วเตี๊ยกชวน บูลสุข, หลวงบรรณกรโกวิท (เปา จักกะพาก), หลวงประเจิดอักษรลักษณ์ (สมโภช อัศวนนท์)[18],[20]

นอกจากนั้นยังมีบรรดาพ่อค้าจีนที่ให้การสนับสนุนจัดตั้งธนาคารนี้ แต่ไม่ได้เข้าเป็นกรรมการด้วย ได้แก่ นายจุลินทร์ ล่ำซำ, นายตันซิวเม้ง หวั่งหลี, นายตันเคี๊ยกบุ้น, นายเต็ก โกเมศ เป็นต้น [18],[21]

ในปี พ.ศ. 2491 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่อยู่ในธนาคารเอเชียฯ เป็นจำนวน 6,210 หุ้น จากจำนวน 10,000 หุ้น หรือคิดเป็นร้อยละ 62 ของหุ้นทั้งหมด ผู้ถือหุ้นที่เหลือเป็นบุคคลของคณะราษฎร และพ่อค้าชาวจีน เช่น นายเดือน บุนนาค, นายวิจิตร ลุลิตานนท์, หลวงประเจิดอักษรลักษณ์, นายจุลินทร์ ล่ำซำ และนายตันสิวติ่น หวั่งหลี เป็นต้น[22][23]

อย่างไรก็ตามการที่ “ธนาคารเอเชียเพื่อการอุตสาหกรรมและพาณิชย์” เป็นกิจการของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองนั้น ย่อมส่งผลทำให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะได้มีกิจการธนาคารพาณิชย์อันเป็นรายได้ของมหาวิทยาลัยเอง เพื่อจะได้ช่วยลดภาระค่าเทอมให้กับนักศึกษาในการศึกษาของมหาวิทยาลัย หรือไม่ก็สามารถพัฒนามหาวิทยาลัยโดยพึ่งพาตัวเองได้มากขึ้นและพึ่งพาเงินทุนจากรัฐบาลน้อยลง

นอกจากนั้น “ธนาคารเอเชียเพื่อการอุตสาหกรรมและพาณิชย์” ยังเป็นแหล่งการเรียนรู้อันสำคัญทางด้านพาณิชย์ศาสตร์และการบัญชี ตลอดจนการศึกษาเรียนรู้ทางการเงินและการธนาคารของมหาวิทยาลัย อีกทั้งยังมีข้อสำคัญคือเป็นกิจการธนาคารของรัฐไทยที่จะได้ช่วยส่งเสริมกิจการของคนไทยให้สามารถปลดแอกจากการเอาเปรียบของกลุ่มทุนต่างชาติได้

ส่วนธนาคารของรัฐอีกแห่งหนึ่งคือ “ธนาคารมณฑล” นั้น ได้จัดตั้งต่อมาเมื่อวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2485 อันเป็นช่วงเวลาที่ประเทศไทยได้ร่วมมือกับประเทศญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้ว ธนาคารมณฑลนี้ ก่อตั้งด้วยเงินทุนจดทะเบียนมากถึง 10,000,000 บาท เดิมชื่อธนาคารไทย ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น ธนาคารมณฑล

โดยกรรมการชุดแรกของ ธนาคารมณฑล ได้แก่ พระยาเฉลิมอากาศ (สุณี สุวรรณประทีป) ประธานกรรมการ, นายวณิช ปานะนนท์, นายมา บูลกุล, พระยาทรงสุรัชฏ์ (อ่อน บุนนาค), นายแนบ พหลโยธิน, นายยล สมานนท์, นายพลตรีจรูญ รัตนกลุ่ม, เสรีเริงฤทธิ์, นายสง่า วรรณดิษฐ์, นายประมวล บูรณะโชติ

โดย “ธนาคารมณฑล” แห่งนี้ ได้ใช้เป็นฐานการเงินสนับสนุนบริษัทข้าวไทยจำกัด ในการส่งข้าวขายให้แก่ญี่ปุ่น ผู้ถือหุ้นใหญ่ได้แก่ กระทรวงการคลัง ถือหุ้น 50,650 หุ้น คิดเป็นร้อยละ 50.65 โดยมีบริษัทข้าวไทยจำกัด ถือหุ้น 45,172 หุ้น คิดเป็นร้อยละ 45.17 [18],[24]

ส่วนอีกธนาคารหนึ่งที่ก่อตั้งในเวลาต่อมาด้วยทุนของเอกชนก็คือ “ธนาคารกรุงศรีอยุธยา” เป็นธนาคารที่นายปรีดี พนมยงค์ หัวหน้าสำคัญของคณะราษฎรเป็นคนจัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2488 ด้วยเงินทุน 1,000,000 ล้านบาท

พรรณี บัวเล็ก ผู้เขียนวิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ระบุเอาไว้ในหนังสือ “วิเคราะห์นายทุนธนาคารพาณิชย์ของไทย พ.ศ. 2475-2516” ซึ่งจัดพิมพ์ในโครงการหนังสือเล่มสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ ปี พ.ศ. 2529 เอาไว้ความตอนหนึ่งว่า

“ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ได้ถูกใช้เป็นแหล่งหนุนช่วยทางการเงินของกลุ่มนายปรีดี คณะกรรมการบริหารธนาคารนี้ประกอบด้วยบุคคลใกล้ชิดกับนายปรีดี โดยคณะกรรมการชุดแรกได้แก่ หลวงประเจิดอักษรลักษณ์, นายลออเดช ปิ่นสุวรรณ, นางสาวพงศ์จันท์ เก่งระดมยิง, นายอุดม จันทรสมบัติ, นายจรูญ กิจจาทร, นายสุภาพ เขมาภิรักษ์, และนายชำนาญ ลือประเสริฐ

ธนาคารกรุงศรีอยุธยานี้เติบโตและขยายตัวอย่างรวดเร็ว จนวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2489 ในปีต่อมาได้ทำการเพิ่มทุนขึ้นเป็น 4,000,000 บาท ในการดำเนินงานบริหารธนาคารนี้ นายปรีดี พนมยงค์ ไม่ได้เข้ามามีบทบาทโดยตรง แต่อาศัยนายหลุย พนมยงค์ น้องชายเข้าควบคุมแทน

แต่อย่างไรก็ตามนายหลุย พนมยงค์ก็ไม่ได้เข้าเป็นกรรมการเอง ถึงแม้จะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของธนาคาร แต่จะมีบทบาทในการประชุมธนาคารแต่ละครั้ง ผู้ที่ทำหน้าที่เป็นผู้จัดการคือ นายชำนาญ ลือประเสริฐ ผู้ถือหุ้นใหญ่คือตระกูลพนมยงค์ ถือหุ้น 6,640 หุ้น คิดเป็นร้อยละ 66.4 (โดยมีนายหลุย พนมยงค์ ถือหุ้น 4,200 หุ้น) ที่เหลือเป็นผู้ถือหุ้นรายย่อยๆ” [25],[26]

ในอีกด้านหนึ่ง นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ได้เขียนหนังสือชุดประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทย ทุนนิยมขุนนางไทย ( พ.ศ. 2475-2503) ซึ่งจัดพิมพ์โดยสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี พ.ศ. 2526 อธิบายบทบาทของธนาคารเอเชียฯ และธนาคารกรุงศรีอยุธยา ที่มาจากการก่อตั้งของนายปรีดี พนมยงค์ ความตอนหนึ่งว่า

“กล่าวได้ว่า ธนาคารเอเซียฯ เป็นฐานอำนาจทางเศรษฐกิจที่สำคัญแห่งหนึ่งของคณะราษฎร เพราะเหตุว่า ผู้บริหารงานของธนาคารส่วนใหญ่แล้ว จะเป็นบุคคลที่ใกล้ชิดกับนายปรีดีทั้งสิ้น เช่น หลวงประเจิดอักษรลักษณ์, นายหลุย พนมยงค์, นายสวัสดิ์โสตถิทัต, นายวิจิตร ลุลิตานนท์, นายทวี ตะเวทิกุล และนายเดือน บุนนาค เป็นต้น

ในฐานะที่เป็นผู้ควบคุมสถาบันการเงินที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทยในขณะนั้น คณะราษฎรใช้ธนาคารเอเซียฯ เป็นสถาบันที่ทำหน้าที่สนับสนุนทางด้านการเงินให้แก่บริษัทผู้ก่อการฯ คือบริษัทไทยนิยมพาณิชย์ (จะได้กล่าวถึงต่อไป) จนกระทั่งกลายเป็นบริษัทที่มีความมั่นคงและเป็นฐานอำนาจทางเศรษฐกิจที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของคณะราษฎรในขณะนั้น

(มีต่อ)

22 ม.ค. 2564  ผู้จัดการออนไลน์
หัวข้อ: (ต่อ)ภารกิจคณะราษฎรยังไม่เสร็จ !? (ตอนที่ 12) เปิดตำนานกลุ่มธนาคารสาย “พนมยงค์”
เริ่มหัวข้อโดย: story ที่ 22 มกราคม 2021, 19:55:53
คณะราษฎรได้ใช้ธนาคารเอเซียฯ เป็นเครื่องมือในการขยายอำนาจทางเศรษฐกิจของตนให้กว้างขวางยิ่งขึ้น เช่น ไปก่อตั้งบริษัทประกันคุ้มภัย จำกัด ปี พ.ศ. 2484 บริษัทนี้มีธนาคารเอเชียฯ เป็นผู้ทดรองจ่ายเงินล่วงหน้าในการดำเนินการจัดตั้งทั้งหมด และมีบุคคลใกล้ชิดกับสมาชิกของคณะราษฎรเป็นผู้บริหารงานคือ นายหลุย พนมยงค์, นายเดือน บุนนาค, หลวงประเจิดอักษรลักษณ์ (สมโภชน์ อัศวนนท์) นายโล่วเต๊ะชวน บูลสุข, และนายตันจินเก่ง หวั่งหลี” [27],[28]

นอกจากนั้นในปี พ.ศ. 2526 นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ยังได้เขียนวิเคราะห์ในเรื่องความสัมพันธ์ของธนาคารพาณิชย์กับนายทุนชาวจีนและกลุ่มการเมือง โดยการสัมภาษณ์ นายเสวต เปี่ยมพงศานต์ เมื่อวันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2522 และอ้างอิงการอภิปรายของ สุพัฒน์ สุคนธาภิรมย์ “การอภิปรายเรื่องกลุ่มอิทธิพลทางเศรษฐกิจหลังปี พ.ศ. 2475” ที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2522 ความว่า

“คณะราษฎรยังได้ใช้ธนาคารเอเชียฯ เป็นกลไกทางเศรษฐกิจที่จะดึงพ่อค้าชาวจีนชั้นสูงที่จำเป็นต้องพึ่งพาสถาบันการเงินทุนของตนให้มาอยู่ภายใต้ร่มธงของคณะราษฎร เช่น นายโล่วเตี๊กชวน บูลสุข, นายจุลินทร์ ล่ำซำ, นายมา บูลกุล เป็นต้น และคณะราษฎรยังได้ใช้ธนาคารเอเชียฯ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เป็นเครื่องมือหาความสนับสนุนทางการเมืองจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ด้วยการให้กู้ยืมเงินโดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์มาค้ำประกัน”[27],[29]

ในปี พ.ศ. 2489 ซึ่งเป็นระยะที่เปิดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และเป็นระยะที่ความขัดแย้งภายในคณะราษฎรใกล้จะถึงจุดแตกหักแล้ว นายปรีดี พนมยงค์ ผู้นำปีกซ้ายของคณะราษฎร ที่มีพรรคสหชีพ พรรคแนวรัฐธรรมนูญ และพรรคอิสระสนับสนุน กับนายควง อภัยวงศ์ อดีตผู้ก่อการฯของฝ่ายอนุรักษ์นิยม (Conservative) พรรคประชาธิปัตย์ ได้ดำเนินการต่อสู้ทางการเมืองกันอย่างจริงจัง เพราะว่ามีแนวคิดที่แตกต่างกันอย่างชัดแจ้ง

23)



ในการเลือกตั้งคราวนั้นฝ่ายอนุรักษ์มีนายควง อภัยวงศ์ และพระยาศรีวิศาลวาจา เป็นแกนกลางโดยมีจุดมุ่งหมายที่จะล้มอิทธิพลทางการเมืองของกลุ่มปีกซ้ายของคณะราษฎรและฟื้นฟูอิทธิพลของระบบเดิมบางส่วนให้กลับคืนมา[27],[30]

นายปรีดี พนมยงค์ ได้ตระหนักถึงความเข้มแข็งของพลังปฏิกิริยาเป็นอย่างดี และเกรงว่าสังคมจะถูกชุดรั้งให้เสื่อมทรามลงไปอีกวาระหนึ่ง ฉะนั้นจึงมีคำสั่งให้ธนาคารเอเชียฯสนับสนุนผู้สมัคร ส.ส.ของฝ่ายตน โดยให้กู้ยืมคนละ 2,000 บาท โดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์มาค้ำประกันแต่ประการใด[27],[30]

เมื่อจอมพล ป. พิบูลสงคราม, พลโทผิน ชุณหะวัณ, พันเอกสฤษดิ์ ธนะรัชต์, และคณะนายทหารร่วมกันทำตัวรัฐประหารสำเร็จ เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 แล้ว จึงได้มอบให้นายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรี จัดตั้งรัฐบาลบริหารประเทศอยู่จนกระทั่งวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2491

ในวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2491 คณะรัฐประหาร ได้บังคับให้นายควง อภัยวงศ์ นายกรัฐมนตรีลาออกแล้วให้ จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีชุดต่อมา [27],[31]

โดยในระหว่างที่นายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรี และมีหม่อมเจ้าวิวัฒน์ไชย ไชยยันต์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐบาลได้มีคำสั่งปิดธนาคารเอเชียฯ และธนาคารศรีอยุธยา อยู่ชั่วระยะหนึ่ง ทั้งนี้เนื่องจากเห็นว่าธนาคารทั้งสองแห่งเป็นฐานอำนาจของกลุ่มนายปรีดี มาก่อน [27],[32]

และเพื่อที่จะบั่นทอนฐานอำนาจทางเศรษฐกิจของกลุ่มนายปรีดี พนมยงค์ ลงไปให้ถึงที่สุด เผ่า ศรียานนท์ จึงได้จับ นายหลุย พนมยงค์ และนายเดือน บุนนาค ในข้อหาทางการเมือง

หลังจากที่นำตัวไปทรมานอยู่ระยะหนึ่งแล้ว เผ่า ศรียานนท์ จึงบังคับให้นายหลุย พนมยงค์ โอนหุ้นใน ธนาคารศรีอยุธยาให้แก่ตนและตระกูลชุณหะวัณ[27],[33] และบังคับให้นายเดือน บุนนาคให้โอนหุ้นทั้งหมดของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในธนาคารเอเชียฯ ให้แก่องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก[27],[34]

หลังจากที่นายปรีดี พนมยงค์ ประสบความล้มเหลวจากการก่อกบฏวังหลวง ในปี พ.ศ. 2492 แล้ว บุคคลที่ก้าวขึ้นสู่อำนาจอย่างรวดเร็วในฐานะผู้นำในการปราบกบฏก็คือ สฤษดิ์ ธนะรัชต์ โดยมีจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี

ในระยะเวลาต่อมา สฤษดิ์ได้โอนหุ้นขององค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกในธนาคารเอเชียเป็นของตน [27],[35] โดยถือในนามส่วนตัว และในนามของบริษัทบูรพาสากลเศรษฐกิจ [27],[36] ซึ่งเป็นบริษัทที่สฤษดิ์ เป็นผู้ก่อตั้ง และเป็นประธานกรรมการบริษัทอยู่ในขณะนั้น[27],[37]

ฉะนั้นภายหลังจากการรัฐประหาร พ.ศ. 2494 แล้ว ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของธนาคารศรีอยุธยาจึงกลายเป็นกลุ่มซอยราชครู(จอมพลผิน ชุณหะวัณ-พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์) และธนาคารเอเชียฯ เป็นของกลุ่มสี่เสาเทเวศร์ (จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์) [27]

หลังสิ้นสุดอำนาจการปกครองของคณะราษฎรแล้ว ธุรกิจต่างๆ เกือบทั้งหมดที่คณะราษฎรก่อตั้งขึ้นก็ถูกแปรเป็นฐานอำนาจทางเศรษฐกิจของคณะรัฐประหารปี พ.ศ. 2490 และปี พ.ศ. 2494 [27] ภายใต้จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งอยู่ภายใต้อิทธิพลของ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ และ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

หลังจากนั้นคณะรัฐประหารได้แตกเป็น 2 กลุ่ม อย่างเด่นชัด ในเวลาต่อมา คือกลุ่มของจอมพลผิน ชุณหะวัณ-พลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ (กลุ่มซอยราชครู) และกลุ่มของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ (กลุ่มสี่เสาเทเวศร์) นายทหารทั้งสองกลุ่มต่างเข้าไปควบคุมสถาบันการเงินที่สำคัญของประเทศในขณะนั้นเอาไว้ กล่าวคือ

“ขณะที่กลุ่มซอยราชครูเข้าควบคุมธนาคารศรีอยุธยา ธนาคารกรุงเทพฯ และธนาคารไทยพาณิชย์นั้น กลุ่มสี่เสาเทเวศร์ก็มีธนาคารเอเซียฯ สหธนาคารกรุงเทพฯ ธนาคารแหลมทองฯ เป็นฐานของกำลังตนเช่นกัน ทหารทั้งสองกลุ่มต่างแข่งขันกันสร้างธุรกิจส่วนตัวของตนขึ้น” [38]


X


ส่วนกลุ่มทุนของ “ขุนนิรันดรชัย” ซึ่งเป็นนายทุนที่ได้แสวงหาประโยชน์จากทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ ก็ยังคงดำเนินธุรกิจ “ธนาคารนครหลวงไทย” ต่อไปได้ เพราะยังคงมีสถานภาพเป็นท่อน้ำเลี้ยงส่งผลประโยชน์ให้กับจอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี แต่ก็ต้องจ่ายผลประโยชน์ให้กับ พลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ด้วย [14]

โดย “ขุนนิรันดรชัย” เป็นนักธุรกิจที่สามารถนำทุนตั้งต้นจากสถาบันพระมหากษัตริย์ไปต่อยอดธุรกิจอีกจำนวนมาก โดยเป็นทั้งผู้ถือหุ้น ประธานกรรมการ และกรรมการในหลายบริษัท เช่น บริษัท ไทยนิยมพาณิชย์ จำกัด, บริษัท ไทยเศรษฐกิจประกันภัย จำกัด, บริษัท ไทยประกันภัย จำกัด, บริษัท นครหลวงประกันภัย จำกัด, บริษัท สหประกันภัย จำกัด, บริษัท ไทยนิยมประกันภัย จำกัด, บริษัท ไทยพาณิชประกันภัย จำกัด, บริษัท ประกันสรรพภัยแห่งประเทศไทย จำกัด, บริษัท สหศินิมา จำกัด, บริษัท แองโกลไทย มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด,บริษัท ยูไนเต็ด มอเตอร์ จำกัด, บริษัท ศรีกรุง จำกัด, บริษัท สหอุปกรณ์ จำกัด,ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (เป็นกรรมการ) ฯลฯ [39]

ตำนานธนาคารพาณิชย์สาย “พนมยงค์ ”จึงได้ปิดฉากลง ไปตามการหมดอำนาจทางการเมืองของนายปรีดี พนมยงค์

ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

อ้างอิง
[1] พรรณี บัวเล็ก, วิเคราะห์นายทุนธนาคารพาณิชย์ของไทย พ.ศ. 2475-2516, สำนักพิมพ์สร้างสรรค์วิชาการจำกัด ร่วมกับ โครงการหนังสือเล่ม สถาบันวิจัยจุฬาลงกรณ์พิมพ์ครั้งที่ 1 ธันวาคม 2529, จำนวน 1,000 เล่ม, ISBN 974-567-234-2, หน้า 32-40

[2] สังศิต พิริยะรังสรรค์, ทุนนิยมขุนนางไทย พ.ศ. 2475-2504, จัดพิมพ์โดยสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, พิมพ์ที่โรงพิมพ์เทพประทานพร, พ.ศ. 2526, หน้า 74-75

[3] หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (นายปรีดี พนมยงค์), เค้าโครงเศรษฐกิจ, จัดพิมพ์โดย โครงการจัดทำสื่อเผยแพร่เกียรติคุณ นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส สำหรับเด็กและเยาวชน, และร่วมจัดพิมพ์โดย สถาบันปรีดี พนมยงค์, ดำเนินการผลิตโดย สำนักพิมพ์มูลนิธิเด็ก, พิมพ์ครั้งแรก มิถุนายน พ.ศ. 2542 จำนวน 2,000 เล่ม, ISBN 974-7833-11-5, หน้า 39
http://www.openbase.in.th/files/puey014.pdf

[4] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยรัฐนิยมฉะบับที่ 5, เรื่อง ให้ชาวไทยพยายามใช้เครื่องอุปโภคบริโภคที่มีกำเนิดหรือทำขึ้นในประเทศไทย, เล่มที่ 56, วันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2482, หน้า 2359-2482
https://dl.parliament.go.th/bitstream/handle/lirt/213651/SOP-DIP_P_810241_0001.pdf?sequence=1

[5] ราชกิจจานุเบกษา, คำชักชวนของรัฐบาล ขอให้พี่น้องชาวไทยร่วมใจ พยายามปฏิบัติตามรัฐนิยม ฉะบับที่ 5 ด้วยดี, เล่มที่ 56, วันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2482, หน้า 5434-5436
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2482/D/3434.PDF

[6] ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติภาษีการธนาคารและการประกันภัย พุทธศักราช 2475, เล่มที่ 49, วันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2475, หน้า 239-252
https://dl.parliament.go.th/bitstream/handle/lirt/13702/SOP-DIP_P_400881_0001.pdf?sequence=1

[7] ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติว่าด้วยการยึดทรัพย์สินของกสิกร พุทธศักราช 2475, เล่ม 49, วันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2475, หน้า 396-398
https://dl.parliament.go.th/bitstream/handle/lirt/15035/SOP-DIP_P_400893_0001.pdf?sequence=1

[8] ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติ ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พุทธศักราช 2475, เล่ม 49, วันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2475, หน้า 461-465
https://dl.parliament.go.th/bitstream/handle/lirt/15924/SOP-DIP_P_400901_0001.pdf?sequence=1

[9] ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติว่าด้วยสิทธิจับสัตว์น้ำในเขตต์จับสัตว์น้ำสยาม พุทธศักราช 2477, เล่ม 51, วันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2477, หน้า 795-802
https://dl.parliament.go.th/bitstream/handle/lirt/14525/SOP-DIP_P_401081_0001.pdf?sequence=1

[10] ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติป้องกันการค้ากำไรเกินควร พุทธศักราช 2480, เล่ม 54, วันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2480, หน้า 1230-1240
https://dl.parliament.go.th/bitstream/handle/lirt/17124/SOP-DIP_P_401347_0001.pdf?sequence=1

[11] ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติควบคุมกิจการธนาคาร พุทธศักราช 2480, เล่มที่ 54, วันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2480, หน้า 1203-1210
https://dl.parliament.go.th/bitstream/handle/lirt/17122/SOP-DIP_P_401346_0001.pdf?sequence=1

[12] พรรณี บัวเล็ก, วิเคราะห์นายทุนธนาคารพาณิชย์ของไทย พ.ศ. 2475-2516, สำนักพิมพ์สร้างสรรค์วิชาการจำกัด ร่วมกับ โครงการหนังสือเล่ม สถาบันวิจัยจุฬาลงกรณ์พิมพ์ครั้งที่ 1 ธันวาคม 2529, จำนวน 1,000 เล่ม, ISBN 974-567-234-2, หน้า 42

[13] ผู้จัดการออนไลน์, ทายาท “ขุนนิรันดรชัย” ขอพระราชทานอภัยโทษแทนบิดากระทำมิบังควรสมัยร่วมคณะราษฎร 2475 เตือนเยาวชนศึกษาประวัติศาสตร์ อย่าเชื่อใครง่าย, เผยแพร่: 26 ธ.ค. 2563 เวลา 13:43 น.
https://mgronline.com/onlinesection/detail/9630000131996

[14] ผู้จัดการออนไลน์, คำสัมภาษณ์พิเศษเพิ่มเติมของพลโทสรภฏ นิรันดร, โดยปานเทพ พัวพงษ์พันธ์, สัมภาษณ์ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2563 ณ โรงแรม INTERCONTINENTAL BANGKOK, สัมภาษณ์เพิ่มเติมครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2563 โดยเปิดเผยเฉพาะครั้งที่ 1, ส่วนครั้งที่ 2 ยังไม่เปิดเผยในเวลานี้รอเวลาอันเหมาะสม)
https://www.facebook.com/123613731031938/posts/3727071230686152/
https://mgronline.com/onlinesection/detail/9630000133139

[15] กรมทะเบียนการค้า, กระทรวงพาณิชย์, รายงานการประชุมวิสามัญของธนาคารไทยพาณิชย์ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2482

[16] พรรณี บัวเล็ก, วิเคราะห์นายทุนธนาคารพาณิชย์ของไทย พ.ศ. 2475-2516, สำนักพิมพ์สร้างสรรค์วิชาการจำกัด ร่วมกับ โครงการหนังสือเล่ม สถาบันวิจัยจุฬาลงกรณ์พิมพ์ครั้งที่ 1 ธันวาคม 2529, จำนวน 1,000 เล่ม, ISBN 974-567-234-2, หน้า 51-52

[17] รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 12 กระทู้ถามเรื่อง ที่ดินของพระมหากษัตริย์ ของนายเลียง ไชยกาล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรถามนายกรัฐมนตรี วันที่ 27 กรกฎาคม 2480, หน้า 302
https://dl.parliament.go.th/bitstream/handle/lirt/383977/12_24800727_wb.pdf?sequence=1

[18] พรรณี บัวเล็ก, วิเคราะห์นายทุนธนาคารพาณิชย์ของไทย พ.ศ. 2475-2516, สำนักพิมพ์สร้างสรรค์วิชาการจำกัด ร่วมกับ โครงการหนังสือเล่ม สถาบันวิจัยจุฬาลงกรณ์พิมพ์ครั้งที่ 1 ธันวาคม 2529, จำนวน 1,000 เล่ม, ISBN 974-567-234-2, หน้า 49-50

[19] กรมทะเบียนการค้า, กระทรวงพาณิชย์, รายชื่อคณะกรรมการธนาคารนครหลวงแห่งประเทศไทยจำกัด เมื่อวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2484

[20] กรมทะเบียนการค้า, กระทรวงพาณิชย์, รายชื่อคณะกรรมการธนาคารเอเชียฯ จำกัด เมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ.2482

[21] เรื่องเดียวกัน, รายงานการประชุมจัดตั้งธนาคารเอเชียฯ เมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2482

[22] สังศิต พิริยะรังสรรค์, ทุนนิยมขุนนางไทย พ.ศ. 2475-2504, จัดพิมพ์โดยสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, พิมพ์ที่โรงพิมพ์เทพประทานพร, พ.ศ. 2526, หน้า 128-131

[23] กรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์, รายงานการประชุมของธนาคารเอเชียฯ จำกัด เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2491

[24] กรมทะเบียนการค้า, กระทรวงพาณิชย์, รายงานประชุมจัดตั้งธนาคารไทยจำกัด เมื่อวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2485

[25] พรรณี บัวเล็ก, วิเคราะห์นายทุนธนาคารพาณิชย์ของไทย พ.ศ. 2475-2516, สำนักพิมพ์สร้างสรรค์วิชาการจำกัด ร่วมกับ โครงการหนังสือเล่ม สถาบันวิจัยจุฬาลงกรณ์พิมพ์ครั้งที่ 1 ธันวาคม 2529, จำนวน 1,000 เล่ม, ISBN 974-567-234-2, หน้า 50-51

[26] กรมทะเบียนการค้า, กระทรวงพาณิชย์, รายงานประชุมจัดตั้งธนาคารแห่งกรุงศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2488

[27] สังศิต พิริยะรังสรรค์, ทุนนิยมขุนนางไทย พ.ศ. 2475-2504, จัดพิมพ์โดยสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, พิมพ์ที่โรงพิมพ์เทพประทานพร, พ.ศ. 2526, หน้า 129-133

[28] กรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์, รายงานการประชุมก่อตั้งบริษัทประกันคุ้มภัย จำกัด, 8 กันยายน พ.ศ. 2488 ณ ธนาคารเอเชีย

[29] เสวต เปี่ยมพงศานต์, สัมภาษณ์, 22 กันยายน พ.ศ. 2522 และสุพัฒน์ สุคนธาภิรมย์ “การอภิปรายเรื่องกลุ่มอิทธิพลทางเศรษฐกิจหลังปี พ.ศ. 2475” ที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2522

[30] สุพัฒน์ สุคนธาภิรมย์, เรื่องเดียวกัน

[31] สุชิน ตันติกุล, รัฐประหาร พ.ศ. 2490 (กรุงเทพ:สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, 2515), หน้า 2, ; ประชัน รักพงษ์, “การศึกษาบทบาททางการเมืองในระบบรัฐสภาของรัฐบาลทหารและรัฐบาลพลเรือนในประเทศไทย (พ.ศ. 2481-2500)” (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต แผนกวิชาประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2520 หน้า 240-255

[32] สุพัฒน์ สุคนธาภิรมย์, การอภิปรายเรื่องกลุ่มอิทธิพลทางเศรษฐกิจหลังปี พ.ศ. 2475

[33] เรื่องเดียวกัน, เผ่า ศรียานนท์ เข้าเป็นกรรมการของธนาคารศรีอยุธยาฯ เมื่อปี พ.ศ. 2491 กรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์, หนังสือรับรองรายนามกรรมการธนาคารศรีอยุธยา 13 ตุลาคม พ.ศ. 2491 กรรมการส่วนหนึ่งของธนาคารศรีอยุธยา ในปี พ.ศ. 2499 ได้แก่ พล.ต.หลวงชำนาญศิลป์, พล.ต.ชาติชาย ชุณหะวัณ, พ.ท.ประกอบ ประยูรโภคลาภ, พ.ต.ต.ชลิต ปราณีประชาชน ฯลฯ กรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์, หนังสือขอเลื่อนการจดทะเบียนกรรมการธนาคารศรีอยุธยา 18 กันยายน พ.ศ. 2499

[34] สุพัฒน์ สุคนธาภิรมย์, เรื่องเดิม; ดูเอกสารอ้างอิงลำดับที่ [36] ประกอบด้วย

[35] สุพัฒน์ สุคนธาภิรมย์, สัมภาษณ์ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2522 ; เสวต เปี่ยมพงศานต์, สัมภาษณ์ 19 กันยายน พ.ศ.2522

[36] สุพัฒน์ สุคนธาภิรมย์, สัมภาษณ์, 29 ธันวาคม พ.ศ. 2522
“จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้เข้าถือหุ้นธนาคารเอเชียฯ เมื่อ 29 มีนาคม พ.ศ. 2494 จนกระทั่งถึงปี 2508 ในขั้นแรก (29 มีนาคม 2494) ถือหุ้นจำนวน 50 หุ้น หมายเลข 5961-6010 และตั้งแต่ 3 มิถุนายน 2507 จนถึงปี 2508 ถือหุ้นจำนวน 3,435 หมายเลข 1-3435

หุ้นหมายเลข 5961-6010 จำนวน 50 หุ้นนั้น เดิมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองเป็นผู้ถือหุ้น (ก่อนมาเป็นของจอมพลสฤษดิ์) ต่อมาปรากฏชื่อขององค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกเป็นผู้ถือ เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2493 ต่อมาในปี พ.ศ. 2508 บริษัทบูรพาสากลเศรษฐกิจ จำกัด เป็นผู้ถือ

หุ้นหมายเลข 1-3435 จำนวน 3435 หุ้นนั้น เดิมองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกเป็นผู้ถือ (ตอนที่จอมพลสฤษดิ์เร่ิมเข้าเป็นผู้ถือหุ้น) ต่อมาเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2495 ได้เปลี่ยนเป็นชื่อบริษัทบูรพาสากลเศรษฐกิจ จำกัด เป็นผู้ถือหุ้นจนถึงวันที่ 23 มีนาคม 2503 (หลักฐานระหว่าง 23 มีนาคม 2503 จนถึงก่อน 3 มิถุนายน 2507 ไม่ปรากฏ) แล้วจึงปรากฏว่าเป็นชื่อของจอมพลสฤษดิ์ เป็นผู้ถือหุ้นตั้งแต่ 3 มิถุนายน 2507 จนถึงปี 2509”. กรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์, จดหมายรยงานเรื่องการอายัดหุ้นของธนาคารเอเชียฯ ของนายสมจิตต์ จรณี หัวหน้ากองหุ้นส่วนและบริษัท ทูลท่านอธิบดี 22 มกราคม 2508

จากหลักฐาน “จดหมายรายงานเรื่องอายัดหุ้น...” ระบุว่าในปี 2494 สฤษดิ์ ถือหุ้นอยู่ในธนาคารเอเชียฯ ในนามส่วนตัวจำนวน 50 หุ้น ปี 2495 สฤษดิ์โอนหุ้นขององค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกจำนวน 3,435 หุ้น มาเป็นของตนโดยถือเอาไว้ในนามบริษัทบูรพาสากลเศรษฐกิจ ปี 2496 บริษัทบูรพาสากลเศรษฐกิจ เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของธนาคารเอเชียฯ โดยถือหุ้นจำนวน 6,110 หุ้น จากจำนวนหุ้นทั้งหมด 10,000 หุ้น กรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์ รายงานการประชุมของธนาคารเอเชียฯ 22 ธันวาคม 2496

[37] กรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์, เอกสารการจดทะเบียนก่อตั้งบริษัทบูรพาสากลเศรษฐกิจ จำกัด 3 มกราคม 2492

[38] สังศิต พิริยะรังสรรค์, ทุนนิยมขุนนางไทย พ.ศ. 2475-2504, จัดพิมพ์โดยสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, พิมพ์ที่โรงพิมพ์เทพประทานพร, พ.ศ. 2526, หน้า 282-283

[39] ประวัติ พันตรี สเหวก นิรันดร, หนังสือปาฐกถาเรื่องจิตต์ เพื่อบรรณาการในงานพระราชทานเพลิงศพ พันตรี สเหวก นิรันดร ณ เมรุวัดพระศรีมหาธาตุ, วันที่ 22 พฤษภาคม 2499, หน้า (20)

22 ม.ค. 2564 17:12   โดย: ผู้จัดการออนไลน์
หัวข้อ: ภารกิจคณะราษฎรยังไม่เสร็จ !? (ตอนที่ 13) ธุรกิจ“ผูกขาดค้าข้าว” เพื่อประโยชน์ใคร
เริ่มหัวข้อโดย: story ที่ 29 มกราคม 2021, 19:51:15
ณ บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในช่วงแรก ธุรกิจข้าวซึ่งเป็นสินค้าสำคัญของประเทศไทย ได้ถูกควบคุมอยู่ในมือชาวจีน รัฐบาลหลวงพิบูลสงครามได้จัดตั้งบริษัทข้าวไทย ขึ้นมาเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2481 โดยมีพระยาเฉลิมอากาศ (สุณี สุวรรณประทีป) เป็นผู้จดทะเบียนก่อตั้งด้วยทุน 500,000 บาท

โดยในระยะแรกใช้ชื่อบริษัทข้าวสยาม แต่ต่อมาในปี พ.ศ. 2482 ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น “บริษัท ข้าวไทย จำกัด” ถือหุ้นโดยรัฐบาลในนามกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงการคลัง คณะกรรมการบริหารชุดแรกเป็นคนในคณะราษฎรเอง ได้แก่

1.พระยาดุลยธรรมธาดา (เลียง ดุลย์จินดา)
2.พระกิสการบัญชา (เล็ก บุรวาศ)
3.พระยาวิสุทธากร (แม้น ทรานนท์)
4.หลวงอัมพิลพิทักษเขตร์ (เยี่ยม บุรานนท์)
5.พ.อ.หลวงเสรีเริงฤทธิ์ (จรูญ รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์)
6.นายวณิช ปานะนนท์
7.นายอนุกูลกสิการ (เปลื้อง บุณยทรรศนีย์)
8.นายขวัญ จารุรัตน์
9.พระยาเฉลิมอากาศ (สุณี สุวรรณประทีป)
10.พระประมนต์ปัญญา (ประมนต์ เนตรศิริ)[1],[2]

ทั้งนี้ วัตถุประสงค์ในการจัดตั้งที่สำคัญมี 4 ประการคือ

“1.ผดุงฐานะของชาวนาให้ดีขึ้น
2.ระวังรักษาประโยชน์ของผู้บริโภคข้าว
3.เพื่อทำการค้าข้าวโดยตรงกับตลาดต่างประเทศ และเพื่อรักษาชื่อเสียงและควบคุมคุณภาพข้าวไทยไว้
4.ฝึกคนไทยให้มีความรู้ความสามารถในงานอุตสาหกรรมสีข้าวและการค้าข้าว” [1],[3]

นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ได้เขียนหนังสือชุดประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทย ทุนนิยมขุนนางไทย ( พ.ศ. 2475-2503) ซึ่งจัดพิมพ์โดยสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี พ.ศ. 2526 โดยการสัมภาษณ์ นายสมบุญ ไผทฉันท์, ผู้จัดการสมาคมผู้ส่งข้าวออกต่างประเทศ (อดีตเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทข้าวไทย ปี พ.ศ. 2482-2515 ซึ่งตำแหน่งสุดท้ายเป็นผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายปกครองและเลขนุการของบริษัทข้าวไทย) เอาไว้อย่างน่าสนใจหลายประการความบางตอนดังนี้

รัฐบาล “หลวงพิบูลสงคราม” ได้แถลงถึงสาเหตุและวัตถุประสงค์ของการก่อตั้งบริษัทข้าวไทยไว้ว่า
“1.เนื่องจากบริษัทค้าข้าวในยุคนั้น ล้วนเป็นของชาวต่างด้าว อาทิเช่น ของชาวอังกฤษ จีน และอินเดีย ในการส่งข้าวออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ บริษัทเหล่านี้ได้ทำการปลอมแปลงข้าว ซึ่งทำให้ประเทศไทยต้องเสื่อมเสียชื่อเสียงในต่างประเทศเป็นอันมาก[4],[5] ฉะนั้นบริษัทข้าวไทยจึงมุ่งที่จะสร้างความสัมพันธ์กับต่างประเทศ โดยเฉพาะกับตลาดฮ่องกง สิงคโปร์และมาเลเซีย ให้เป็นตลาดข้าวที่สำคัญของไทย[4]
2.พ่อค้าข้าวกดราคารับซื้อข้าวของชาวนาไว้ในระดับที่ต่ำมาก จนเป็นเหตุให้ชาวนาเกิดความเดือดร้อนอยู่ทั่วไป ราคาข้าวเปลือกที่ซื้อขายกันที่กรุงเทพฯ ในขณะนั้น ตกเพียงเกวียนละ 18-20 บาทเท่านั้น (1 เกวียน = 1 ตัน) ในขณะที่ราคาตลาดโลกสูงถึงตันละ 36-40 บาท[4],[6]
เพราะฉะนั้นวัตถุประสงค์เบื้องแรกอันหนึ่งของบริษัทข้าวไทยก็คือ จะช่วยยกระดับราคาข้าวเปลือกของชาวนา ให้เหมาะสมกับราคาที่จำหน่ายให้กับตลาดต่างประเทศ [4],[7] และ

3.ช่วยฝึกฝนให้คนไทยมีความรู้ในเรื่องการซื้อขายข้าวเปลือก การโรงสี และค้าข้าว”[4]

เพื่อให้สามารถกิจการของบริษัทข้าวไทยเข้าควบคุมการค้าข้าวไว้ในมือได้ รัฐบาลเริ่มแรกด้วยการใช้มาตรการทางการเมืองและภาษีบีบให้โรงสีของพ่อค้าชาวจีนพากันหยุดกิจการ[8],[9] เพื่อเป็นการช่วยเหลือบริษัทข้าวไทยโดยตรง

ดังนั้นเจ้าของโรงสีจึงอยู่ในสภาพจึงต้องเอาโรงสีมาให้บริษัทข้าวไทยเช่าไปดำเนินการแทน[8],[10]

ในช่วงระยะเวลาเพียงไม่กี่ปีของการดำเนินงาน บริษัทข้าวไทยก็กลายเป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่มีโรงสีเกือบ 50 โรง ทว่าการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วของบริษัทข้าวไทยนั้น เป็นการเติบโตที่ผิดลักษณะธรรมชาติทางการค้า

กล่าวคือ การที่บริษัทข้าวไทยสามารถเอาชนะคู่แข่งทางการค้าของตนได้นั้น มิได้เกิดจากสถานะที่เข้มแข็งทางเศรษฐกิจของบริษัทฯอย่างแท้จริง หากเกิดจากการใช้อิทธิพลทางการเมืองของบริษัทมากกว่า [11]

โดยกรรมการของบริษัทข้าวไทยจำนวนมากเป็นข้าราชการที่กำลังทรงอิทธิพลทางการเมืองอยู่ในขณะนั้น เพราะนอกจากจะมีสถานะเป็นผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว ก็ยังมีฐานะเป็นรัฐบาลที่กำลังบริหารประเทศอยู่ในขณะนั้นด้วย โดยกรรมการของบริษัทข้าวไทยที่เป็น “รัฐมนตรี” ในระหว่าง พ.ศ. 2485-2490 ได้แก่ นายควง อภัยวงศ์, นายทวี บุณยเกตุ, พลโทจรูญ รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์, นายวณิช ปานะนนท์, นายทวี ตะเวทิกุล และนายดิเรก ชัยนาม เป็นต้น [11]

สำหรับช่วงเวลา “รัฐมนตรี” แล “นายกรัฐมนตรี” เข้ามาเป็นกรรมการบริษัทข้าวไทยระหว่างปี พ.ศ.2485-2490 มีสถานภาพทางการเมืองที่ช่วยเอื้ออำนวยทำให้เกิดความได้เปรียบของบริษัทข้าวไทยเหนือเอกชน และนำไปสู่การผูกขาดในที่สุด รวมถึงบางคนที่เริ่มต้นจากการเป็นกรรมการบริษัท ข้าวไทย จำกัดก่อน แล้วจึงได้มากเป็นรัฐมนตรีในเวลาต่อมา ได้แก่

นายควง อภัยวงศ์ เป็นกรรมการ บริษัท ข้าวไทย จำกัด ในขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีด้วย โดยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ระหว่างวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2485-8 กันยายน พ.ศ.2485, เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ระหว่างวันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2485-19 กุมภาพันธ์ 2486, เป็นนายกรัฐมนตรี ระหว่างวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2487-31 สิงหาคม พ.ศ. 2487

นายทวี บุณยเกตุ เป็นกรรมการ บริษัท ข้าวไทย จำกัด ในขณะดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีด้วย โดยเป็นรัฐมนตรีระหว่างวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2485-19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2486, เป็นนายกรัฐมนตรีระหว่างวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ.2488 - 17 กันยายน พ.ศ. 2488, และเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ระหว่างวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2488-24 มกราคม พ.ศ. 2489
พลโทจรูญ รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ เป็นกรรมการ บริษัท ข้าวไทย จำกัด ในขณะดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีด้วย โดย เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ ระหว่างวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2485-1 สิงหาคม พ.ศ. 2487, เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ระหว่างวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2485- 8 กันยายน พ.ศ. 2485 และเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ระหว่างวันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2485-1 สิงหาคม พ.ศ. 2487
นายวณิช ปานะนนท์ เป็นกรรมการ บริษัท ข้าวไทย จำกัด ในขณะดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีด้วย โดยเป็นรัฐมนตรีคลัง ระหว่างวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2485 - 1 สิงหาคม พ.ศ. 2487

นายทวี ตะเวทิกุล เป็นกรรมการ บริษัท ข้าวไทย จำกัด ในขณะดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีด้วย โดยเป็นรัฐมนตรี ระหว่างวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2488 - 17 กันยายน พ.ศ. 2488 และเป็นรัฐมนตรีระหว่างวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2488-24 มกราคม พ.ศ. 2489

นายดิเรก ชัยนาม เป็นกรรมการ บริษัท ข้าวไทย จำกัด ในขณะดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีด้วย โดยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระหว่างวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2488 - 17 กันยายน พ.ศ. 2488 และเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ระหว่างวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2488-24 มกราคม พ.ศ. 2489 [11]-[13]

นอกจากนั้นรัฐบาลก็ได้จ้าง นายมา บูลกุล พ่อค้าชาวจีน ซึ่งเป็นบุคคลที่มีประสบการณ์ในการค้าข้าวเป็นอย่างดีและยังเป็นผู้ที่กว้างขวางในวงการค้าข้าวทั้งในและนอกประเทศมาเป็น “ผู้จัดการ” ของบริษัทฯ

ฉะนั้นภายใต้การบริหารงานของพ่อค้าที่มีความสามารถสูงและมีรัฐเป็นเกราะคุ้มครองให้และเอื้ออำนวยความสะดวกต่างๆโดยนโยบายของภาครัฐ ผลจึงปรากฏว่าในชั่วระยะเวลาเพียงปีเดียวเท่านั้น กิจการบริษัทข้าวไทยก็เจริญรุ่งเรืองขึ้นไปอย่างเห็นได้ชัด [11]

บริษัท ข้าวไทย จำกัด เป็นบริษัทที่ประสบความสำเร็จทางการค้า มีผลกำไรจากการดำเนินการงานอยู่ในขั้นที่น่าพอใจเป็นอย่างยิ่ง โดยปลายปี พ.ศ. 2482 บริษัทได้เพิ่มทุนจดทะเบียนจาก 500,000 บาท เป็น 1,500,000 บาท [11],[14] และเปิดโอกาสให้เอกชนเข้าถือหุ้นของบริษัทได้เป็นจำนวนร้อยละ 25 ของจำนวนหุ้นทั้งหมด หุ้นที่เหลือร้อยละ 75 เป็นของรัฐบาล โดยถือในนามของกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงการคลัง [11],[15]

อย่างไรก็ตามการจำหน่ายหุ้นของบริษัทข้าวไทยให้แก่เอกชนทั่วไปในคราวนั้น มีการวิพากษ์วิจารณ์กันมากกว่า ได้ถูกทหาร[11],[16] และบุคคลใกล้ชิดของคณะราษฎร [11],[17] ซื้อเอาไปจนหมดสิ้น สำหรับเอกชนโดยทั่วไปแล้ว ไม่มีโอกาสที่จะซื้อหุ้นของบริษัทข้าวไทยได้เลย [11],[18]



โดยในระหว่างปี พ.ศ. 2482-2483 ได้เกิดภาวะสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ขยายขอบเขตออกไปทั่วโลก
“การขยายตัวของภาวะสงครามที่กำลังเพิ่มขึ้นตามภูมิภาคต่างๆของโลก โดยเฉพาะแถบเอเซีย ทำให้แหล่งผลิตอื่นๆไม่สามารถส่งข้าวออกสู่ตลาดโลกได้ ไทยจึงเป็นพ่อค้าข้าวรายใหญ่แต่ผู้เดียว ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2483 เป็นต้นมา” [11],[19]

ในระยะดังกล่าวนี้ บริษัทส่งข้าวออกต่างก็มีกำไรจากการส่งข้าวออกกันเป็นจำนวนมาก บริษัทข้าวไทยก็มีกำไรในอัตราที่สูงมากจากส่งข้าวไปขายที่ประเทศสิงคโปร์ เช่นเดียวกัน [11],[20] กล่าวคือ ในขณะที่ราคาภายในประเทศตันละ 30 บาท ราคาตลาดโลกสูงถึงตันละ 200 กว่าบาท [11],[21]

และเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดขึ้น รัฐบาลก็มีคำสั่งให้ปิดกิจการโรงสีของเอกชนทั้งหมด คงเหลือไว้แต่เพียงบริษัทข้าวไทยเท่านั้น บริษัทข้าวไทยจึงได้เสนอต่อรัฐบาลขอเช่าโรงสีของเอกชนจำนวนมากมาดำเนินการเสียเอง อาทิเช่น โรงสีของบริษัทหวั่งหลี บริษัทอิ๊สเอเซียติ๊ก เป็นต้น [11],[22]

ผลของการประกอบการปรากฏตามหลักฐานของกรมทะเบียนการค้า (แม้จะไม่สมบูรณ์เพราะมีหลักฐานเพียงบางปี) ประกอบกับข้อมูลของนายสังศิต พิริยะรังสรรค์ สัมภาษณ์ นายสมบุญ ไผทฉันท์ อดีตเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทข้าวไทย ปี พ.ศ. 2482-2515 จึงเพียงพอที่จะยืนยันได้ว่าตั้งแต่ปี พ.ศ. 2482 -2492 บริษัท ข้าวไทย จำกัด “มีกำไรเป็นประจำทุกปี”...

“โดยผลกำไรที่เกิดจากการดำเนินงานของบริษัทฯ ได้ถูกนำไปแจกจ่ายให้ผู้ถือหุ้นในรูปของเงินปันผล และบำเหน็จกรรมการ ซึ่งเป็นการตอบแทนให้แก่กรรมการอีกต่างหาก นอกเหนือจากเงินเดือนค่ารับรอง และอื่นๆที่ได้รับเป็นประจำอยู่แล้ว” [23] ดังตัวอย่างเช่น

พ.ศ. 2482 บริษัท ข้าวไทย จำกัด กำไรสุทธิ 1,481,400 บาท, มีเงินปันผล 180,000 บาท และเงินบำเหน็จกรรมการ 32,570 บาท

พ.ศ. 2483 บริษัท ข้าวไทย จำกัด กำไรสุทธิ 2,514,400 บาท, มีเงินปันผล 225,000 บาท และมีเงินบำเหน็จกรรมการ 105,975 บาท

พ.ศ. 2486 บริษัท ข้าวไทย จำกัด กำไรสุทธิ 5,567,055 บาท, มีเงินปันผล 375,000 บาท และมีเงินบำเหน็จกรรมการ 278,353 บาท

พ.ศ. 2489 บริษัท ข้าวไทย จำกัด กำไรสุทธิ 5,699,120 บาท, มีเงินปันผล 375,000 บาท และมีเงินบำเหน็จกรรมการ 217,270 บาท

พ.ศ. 2490 บริษัท ข้าวไทย จำกัด กำไรสุทธิ 5,699,120 บาท แต่ไม่สามารถหาข้อมูลได้ว่ามีเงินปันผลและเงินบำเหน็จกรรมการเท่าไหร่

ทั้งนี้ในปี พ.ศ. 2526 นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ผู้เขียนหนังสือ ทุนนิยมขุนนางไทย ( พ.ศ. 2475-2503) ได้ตั้งข้อเกตุในประเด็นนี้ว่า
“ในปี พ.ศ. 2482 บริษัทมีทุนจดทะเบียน 500,000 บาท แต่ก็มีกำไรสุทธิประมาณ 1.5 ล้านบาท นั่นหมายความว่าเงินทุนทุกๆ 1 บาท บริษัท ข้าวไทย จำกัด สามารถจะสร้างกำไรเพิ่มขึ้นได้ถึง 3 บาท

และตั้งแต่ปี พ.ศ. 2483 เมื่อบริษัทเพิ่มทุนจดทะเบียนขึ้นเป็น 1.5 ล้านบาท เงินทุน 1 บาท ก็ยังให้ผลตอบแทนสูงถึง 1.7 บาท, 3.7 บาท และ 5.1 บาท ในปี พ.ศ. 2483, 2489 และ 2490 ตามลำดับอีกด้วย”[23]

ที่น่าสนใจในธุรกิจที่เป็นการดำเนินการผูกขาดและกำไรมากเช่นนี้ รัฐบาลไม่ได้ให้กิจการของสำนักทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์มีส่วนมาลงทุนร่วมด้วยแต่ประการใด คงเหลือแต่เอาไว้การลงทุนและได้หุ้นไป สำหรับพรรคพวกและข้าราชการที่ใกล้ชิดรัฐบาลเท่านั้น

อย่างไรก็ตามนายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ยังได้วิเคราะห์ว่ารัฐบาล “หลวงพิบูลสงคราม” ยังได้ก่อตั้งกิจการเกี่ยวเนื่องเพื่อสนับสนุนกิจการของ บริษัท ข้าวไทย จำกัด ให้มีความมั่นคงระยะยาวอีกด้วย ซึ่งได้แก่ กิจการขนส่งทางเรือ, กิจการธนาคาร และกิจการประกันภัย [23],[18] ภายใต้การเสนอแนะของนายมา บูลกุล[24]

พ.ศ. 2483 รัฐบาลก่อตั้งบริษัท ไทยเดินเรือทะเล จำกัด ด้วยทุนจดทะเบียน 10,000,000 ล้านบาท โดยรัฐบาลเป็นผู้ถือหุ้นบริษัทเพียงรายเดียว [23],[25] คณะกรรมการชุดแรกของบริษัทมาจากคณะราษฎรทั้งสิ้น อาทิ เช่น นาวาเอกหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์, พลเรือตรีหลวงสินธุสงครามชัย, หลวงเสรีเริงฤทธิ์, พันเอกหลวงพรหมโยธี, และนายดิเรก ชัยนาม [23],[26]

พ.ศ. 2484 รัฐบาลก่อตั้ง ธนาคารมณฑล ด้วยเงินทุนจดทะเบียนมากถึง 10,000,000 บาท เดิมชื่อธนาคารไทย ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น ธนาคารมณฑล โดยกรรมการชุดแรกของ ธนาคารมณฑล ได้แก่ พระยาเฉลิมอากาศ (สุณี สุวรรณประทีป) ประธานกรรมการ, นายวณิช ปานะนนท์, นายมา บูลกุล, พระยาทรงสุรัชฏ์ (อ่อน บุนนาค), นายแนบ พหลโยธิน, นายยล สมานนท์, นายพลตรีจรูญ รัตนกลุ่ม, เสรีเริงฤทธิ์, นายสง่า วรรณดิษฐ์, นายประมวล บูรณะโชติ

กิจการของ ธนาคารมณฑล นี้เป็นฐานการเงินสนับสนุน บริษัท ข้าวไทย จำกัด ในการส่งข้าวขายให้แก่ญี่ปุ่น ผู้ถือหุ้นใหญ่ได้แก่ กระทรวงการคลัง ถือหุ้น 50,650 หุ้น คิดเป็นร้อยละ 50.65 โดยมีบริษัทข้าวไทยจำกัด ถือหุ้น 45,172 หุ้น คิดเป็นร้อยละ 45.17 [27],[28]

พ.ศ. 2485 รัฐบาลก่อตั้งบริษัท ไทยเศรษฐกิจประกันภัย จำกัด [23] ก่อตั้งด้วยเงินทุน 4,000,000 บาท แบ่งออกเป็น 40,000 หุ้น มีบริษัทข้าวไทยเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัท จำนวน 15,310 หุ้น หรือตกราวร้อยละ 38 ของหุ้นทั้งหมด[29],[30] กรรมการของบริษัททั้งหมดมาจากคณะผู้ก่อการฯ มีนายชุนห์ ปิณฑานนท์ เป็นกรรมการคนแรกของบริษัท [29],[31]

โดยหลังจากการก่อตั้งกิจการบริษัท ไทยเดินเดรือทะเล จำกัด กับธนาคารมณฑล ในช่วงแรกนั้น ได้เป็นปัจจัยเอื้ออำนวยที่ทำให้กิจการของบริษัท ข้าวไทย จำกัด ประสบความสำเร็จก่อนปี พ.ศ. 2490 [22],[23] รวมถึงบริษัท ไทยเศรษฐกิจประกันภัย จำกัด ได้สนับสนุนในการให้บริษัท ข้าวไทย จำกัด ก็ให้การสนับสนุนบริษัทข้าวไทย มาโดยตลอดด้วย

แต่ภายหลังจากการที่ “คณะทหารแห่งชาติ” นำโดย พลโทผิน ชุณหะวัณ ได้ทำการรัฐประหารรัฐบาล พลตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ (หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์)เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 แล้ว รัฐบาลชุดใหม่ได้แต่งตั้งให้ทหารกลุ่มซอยราชครู เข้าไปเป็นกรรมการของบริษัท ไทยเดินเรือทะเลแทนกรรมการชุดเก่าที่หมดอำนาจไป เช่น พลตรี ศิริ สิริโยธิน, พันเอกประมาณ อดิเรกสาร และ พันเอก วรการบัญชา เป็นต้น [23]

สำหรับในเรื่องนี้ นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ได้ตั้งอธิบายในหนังสือ ทุนนิยมขุนนางไทย พ.ศ. 2475-2504 ว่า

“เป็นที่น่าสังเกตว่าคณะกรรมการของบริษัทชุดใหม่มิได้ยึดถือวัตถุประสงค์ดั้งเดิมของบริษัทที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อให้การสนับสนุนการค้าของบริษัทข้าวไทยโดยเฉพาะอีกต่อไป การเข้ามาเป็นกรรมการของบริษัทไทยเดินเรือทะเลของกรรมการชุดใหม่จึงมีความเอนเอียงไปในทำนองที่ว่าจะเข้าไปแสวงหาผลประโยชน์จากบริษัท เพื่อหมู่คณะของตนมากกว่าที่จะยึดถือเจตน์จำนงค์ดั้งเดิมของคณะราษฎรเอาไว้”[23]

สำหรับประเด็นนี้ ได้ปรากฏคำสัมภาษณ์ของ นายสมบุญ ไผทฉันท์ อดีตเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัท ข้าวไทย จำกัด เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2522 ความตอนหนึ่งในช่วงหลังการรัฐประหาร 2490 ว่า

“กิจการเดินเรือทะเลของรัฐบาล ไม่มีส่วนเกื้อหนุนกิจการของบริษัทข้าวไทยแต่อย่างใดเลย ดังนั้นบริษัทข้าวไทยจึงต้องเช่าเรือจากบริษัทโหงวฮกซึ่งเป็นเจ้าของ นายมา บูลกุลบ้าง บริษัทหวั่งหลีบ้าง ถ้าไปแถบยุโรปก็เช่าจากบริษัทเอเซียตี๊ก และบริษัทบอร์เนียว

การที่รัฐบาลจัดตั้งบริษัทไทยเดินเรือทะเลขึ้นมา แทนที่จะเกื้อหนุนให้กิจการของบริษัทข้าวไทย ซึ่งก็เป็นของรัฐบาลเหมือนกัน กลับไม่สามารถกระทำได้ เพราะไม่มีประสิทธิภาพในการดำเนินการเลย” [22],[23]

ส่วนธนาคารมณฑล หลังการรัฐประหาร ก็ถูกแปรให้กลายเป็นฐานเศรษฐกิจของคณะรัฐประหารอย่างถูกต้องตามกฎหมาย รัฐบาลที่มาจากคณะรัฐประหารได้แต่งตั้งสมาชิก และสมัครพรรพวกของตนที่มาจากกลุ่ม ผิน ชุณหะวัณ-เผ่า ศรียานนท์ (“กลุ่มซอยราชครู”) และกลุ่มสฤษดิ์ ธนะรัชต์ (“กลุ่มสี่เสาเทเวศร์”) เข้าไปเป็นกรรมการบริหารงานในธนาคารมณฑล [23]

โดยกรรมการชุดใหม่ ได้แก่ พันตำรวจเอกลม้าย อุทยานานนท์, นายอดีศร โฆวินทะ, นายบุญวงศ์ อมาตยกุล [23],[32], พลตรีประภาส จารุสเถียร [31],[34], และพลตำรวจ ไสวไสวแสนยากร [33],[35]

เช่นเดียวกับกรณีของบริษัทไทยเดินเรือทะเล ผู้บริหารงานชุดใหม่ของธนาคารมณฑลก็มิได้ยึดถือวัตถุประสงค์ดั้งเดิมของธนาคารที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อที่จะสนับสนุนธุรกิจของคนไทย และบริษัทข้าวไทยโดยเฉพาะ ดังปรากฏวัตถุประสงค์ที่แปรเปลี่ยนไปนี้อยู่ในบันทึกรายงานการประชุมของธนาคารมณฑล เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2494 ความว่า

นายมนู ยูประพันธ์ ถามว่า :

“ธนาคารนี้เป็นธนาคารไทยซึ่งรัฐบาลถือหุ้นใหญ่ นโยบายดั้งเดิมของการตั้งธนาคารนี้ ก็เพื่อช่วยเหลือคนไทยโดยเฉพาะ เพื่อประคับประคองส่งเสริมพ่อค้าไทยให้มีรากฐานมั่นคง และให้ดึงการค้าเข้ามาอยู่ในมือคนไทย

แต่ในขณะนี้กลับมีเสียงเล่าลือในท้องตลาอดว่าธนาคารนี้ช่วยเหลือพ่อค้าต่างชาติมากกว่าพ่อค้าไทย ทั้งนี้มีความจริงเพียงใดหรือไม่?”

ประธานกรรมการ (พระยาโกมารกุลมนตรี) ตอบว่า :

“เสียงลือในเรื่องนี้ก็เห็นจะเหมือนเสียงลือในเรื่องอื่นๆ ที่มีอยู่ในกรุงเทพฯเวลานี้ นโยบายของคณะกรรมการนี้มุ่งไปในทางที่จะจัดให้ธนาคารนี้เก็บเป็นธนาคารพาณิชย์ จะช่วยเหลือการพาณิชย์ของประเทศไทย ไม่เลือกว่าผู้ค้าจะเป็นชาติใด ภาษาใด

อนึ่ง จะลืมเสียมิได้ว่าเราจะต้องเลี้ยงตัวเอง และต้องรักษาผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นเจ้าของธนาคาร เรายินดีช่วยพ่อค้าไทยที่ดี และตั้งใจค้าจริงๆทุกคน เราได้ช่วยและกำลังช่วยพ่อค้าไทยอยู่เป็นจำนวนมากทีเดียว

แต่การกู้ยืมโดยเสียดอกเบี้ยถูกเอาไปให้กู้เพื่อขูดดอกเบี้ยแพง การกู้ยืมเวลายาวอันมิใช่กิจที่ธนาคารพาณิชย์ควรกระทำ การกู้ยืมที่มีท่าทีว่าจะไม่มีการเคลื่อนไหวในบัญชีเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราไม่เต็มใจช่วย แม้ผู้ขอกู้ยืมจะเป็นคนไทย”[33], [36]

หลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 แล้ว คงเหลือแต่ บริษัท ไทยเศรษฐกิจประกันภัย จำกัดยังคงสนับสนุนธุรกิจการค้าของบริษัทข้าวไทยต่อมา

ตัวอย่างเช่น ในปี พ.ศ. 2491 บริษัท ไทยเศรษฐกิจประกันภัย จำกัด ได้ให้บริษัทข้าวไทยกู้ยืมเงินโดยคิดดอกเบี้ยในอัตราที่ต่ำกว่าท้องตลาด กล่าวคือ ในขณะที่ดอกเบี้ยท้องตลาดตกราวร้อยละ 7.5 ต่อปี แต่บริษัท ไทยเศรษฐกิจประกันภัย จำกัด จะคิดดอกเบี้ยจากบริษัทข้าวไทยเพียงร้อยละ 4.5 ต่อปีเท่านั้น[33],[37]

กล่าวโดยสรุปแล้ว การตกต่ำของ บริษัท ข้าวไทย จำกัด เกิดขึ้นในช่วงหลังที่เกิดการรัฐประหาร ปี พ.ศ. 2490 เป็นต้นมา ทั้งนี้ มีสาเหตุสำคัญมาจากองค์ประกอบทางการค้าของบริษัทข้าวไทย ซึ่งได้แก่ บริษัทไทยเดินเรือทะเล ธนาคารมณฑล และบริษัท ไทยเศรษฐกิจประกันภัยมิได้ทำงานประสานเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับบริษัทข้าวไทย ดังเช่นที่เคยปฏิบัติมาในระยะแรก

ประกอบกับในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลอังกฤษได้บีบรัฐบาลไทยให้รื้อฟื้นบริษัทค้าข้าวของอังกฤษที่ถูกรัฐบาลไทยห้ามมิให้ดำเนินการกิจการในระหว่างสงครามโลกขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง[18],[33]

บริษัทค้าข้าวของอังกฤษเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นบริษัทบอร์เนียว บริษัทแองโกลหรือ บริษัทอิสเอเซียตี๊ค ก็ตาม ล้วนแล้วแต่เป็นบริษัทที่มีความชำนาญในการค้าข้าวมาเป็นเวลานาน มีกิจการประกันภัย และบริษัทเดินเรือของตนเองทั้งยังมีธนาคารต่างประเทศที่คอยให้การสนับสนุนในการดำเนินงานอีกด้วย[33]

ฉะนั้นเมื่อกิจการค้าข้าวของบริษัทต่างประเทศกลับมาดำเนินงานอีกวาระหนึ่ง บริษัทข้าวไทยจึงต้องเผชิญกับคู่แข่งที่มีความสามารถและทุนในการดำเนินงานสูงกว่ามาก ซึ่งก็เป็นช่วงเวลาที่บริษัทข้าวไทยมิได้อยู่ในสถานะที่มีความเข้มแข็งเหมือนดังในอดีตอีกต่อไปแล้ว[33]

นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 2500 รัฐบาลได้ใช้มาตรการควบคุมการส่งข้าวออกไปจำหน่ายต่างประเทศอย่างเข้มงวด ที่เรียกกันว่า “นโยบายโควตาข้าว” นโยบายดังกล่าวนี้ได้กลายเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดอันหนึ่งที่ทำให้ บริษัทข้าวไทยประสบภาวะตกต่ำทางการค้าอย่างรุนแรงยิ่งขึ้นเป็นลำดับ[33]

ปรากฏว่านายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างก็ใช้อภิสิทธิ์ให้ใบอนุญาตส่งข้าวออกแก่บุคคลต่างๆ ซึ่งมิใช่พ่อค้า หากแต่เป็นคนที่ “วิ่งเต้น” หาประโยชน์จากการได้ใบอนุญาตเพื่อเอาไปขายช่วงให้แก่พ่อค้า จนกลายเป็นเรื่องปกติวิสัย[33],[38]

บริษัทที่มิได้ทำการค้าข้าวหรือบริษัทที่มีอิทธิพลก็ยังได้รับโควตาส่งข้าวออก อาทิเช่น ร้านตัดผมจารุ ของตระกูลกรรณสูตร [33],[39] บริษัทบางกอกสากลการค้าของสฤษดิ์ [33],[40] บริษัทสหพาณิชย์สามัคคีของประภาส จารุเสถียร[33],[41] บริษัท พิทักษ์สามัคคีของกรมตำรวจ[33],[42] บริษัทเหล่านี้หากำไรจากการนำโควตาของคนไปขายให้แก่พ่อค้าส่งออกอีกทอดหนึ่ง

สำหรับพ่อค้าข้าวที่มิได้มีอิทธิพลทางการเมืองหนุนหลังอยู่เลย ก็จะหาโควตาข้าวได้จากการไปเสียการพนันให้แก่นายอดิศร โฆวินทะ ซึ่งจะเปิดให้มีการเล่นการพนันกันเป็นประจำปีที่สำนักงานจัดสรรโควตาข้าว[33],[43] โดยนายอดิศรจะเป็นผู้จัดใบอนุญาตส่งออกทั้งหมดให้แก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (พันเอก นายวรการบัญชา) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์มีหน้าที่เพียงประการเดียวคือเซ็นอนุมัติ[18],[33]

ในทางตรงกันข้าม หลังการรัฐประหารปี พ.ศ. 2490 บริษัท ข้าวไทย จำกัด ตกต่ำลงเรื่อยๆ กรรมการที่เข้ามาในบริษัทข้าวไทยนั้นมักจะเกิดจาการอุปถัมภ์ของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เสียมากกว่า เพราะฉะนั้นบุคคลเหล่านี้จึงเข้ามาในบริษัทข้าวไทยเพียงเพื่อจะรับเบี้ยประชุมกรรมการซึ่งได้จากการประชุมในสมัยนั้นคราวละ 250-300 บาท และยังได้รับเงินโบนัสเป็นประจำทุกปีอีกด้วย[18],[33]

นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ได้ตั้งให้ความเห็นในหนังสือ ทุนนิยมขุนนางไทย พ.ศ. 2475-2504 โดยสรุปบทเรียนจากการศึกษากรณีบริษัท ข้าวไทย จำกัดนี้ว่า

“ในท้ายที่สุดแล้ว นโยบายของคณะราษฎรที่จะให้คนไทยเป็นผู้ประกอบการค้าข้าวนั้น มิได้บรรลุวัตถุประสงค์แต่ประการใดเลย เพราะเหตุว่า การค้าข้าวยังตกอยู่ในมือพ่อค้าชาวจีน และนายทุนขุนนางต่างๆ ที่ทรงอิทธิพลทางการเมือง ในแต่ละยุคแต่ละสมัยนั่นเอง

สำหรับบริษัทข้าวไทยซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจที่คณะราษฎรก่อตั้งขึ้น เพื่อให้มีบทบาทในด้านธุรกิจค้าข้าวนั้น นับตั้งแต่คณะราษฎร จนกระทั่งถึงยุคจอมพลสฤษดิ์ก็ตกอยู่ภายใต้การบริหารของข้าราชการที่ทรงอิทธิพลทางการเมืองมาโดยตลอด

และยังเป็นแหล่งสนองผลประโยชน์ให้แก่ข้าราชการเหล่านั้นเสมอมา ที่สำคัญก็คือ บริษัทข้าวไทยไม่เคยแสดงบทบาทอย่างเด่นชัดที่จะตอบสนองหรือพิทักษ์ผลประโยชน์ให้แก่ประชาชนเลย

ทั้งนี้ ก็เพราะเหตุว่าจุดประสงค์ที่แท้จริงนับตั้งแต่เริ่มแรกของการก่อตั้งบริษัทข้าวไทยขึ้น รัฐบาลมิได้ประสงค์ให้รัฐวิสาหกิจแห่งนี้ เป็นเครื่องมือที่จะใช้ลดช่องว่างทางด้านรายได้ของบุคคลกลุ่มต่างๆในสังคม รัฐวิสาหกิจแห่งนี้จึงมิใช่รัฐวิสาหกิจที่เป็นไปเพื่อประชาชนผู้ทำการผลิตและผู้บริโภคทั่วไป หากแต่เป็นไปเพื่อนายทุนขุนนางโดยตรง”[33]

ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

29 ม.ค. 2564  ผู้จัดการออนไลน์
หัวข้อ: เอกสารอ้างอิง ภารกิจคณะราษฎรยังไม่เสร็จ !? (ตอนที่ 13) ธุรกิจ“ผูกขาดค้าข้าว”
เริ่มหัวข้อโดย: story ที่ 29 มกราคม 2021, 19:54:04
อ้างอิง
[1] พรรณี บัวเล็ก, วิเคราะห์นายทุนธนาคารพาณิชย์ของไทย พ.ศ. 2475-2516, สำนักพิมพ์สร้างสรรค์วิชาการจำกัด ร่วมกับ โครงการหนังสือเล่ม สถาบันวิจัยจุฬาลงกรณ์พิมพ์ครั้งที่ 1 ธันวาคม 2529, จำนวน 1,000 เล่ม, ISBN 974-567-234-2, หน้า 42-43

[2] กรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์, รายงานการประชุมจัดตั้งบริษัท ข้าวไทย จำกัด 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2481

[3] อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพนายมา บูลกุล ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2507

[4]. สังศิต พิริยะรังสรรค์, ทุนนิยมขุนนางไทย พ.ศ. 2475-2504, จัดพิมพ์โดยสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, พิมพ์ที่โรงพิมพ์เทพประทานพร, พ.ศ. 2526, หน้า 94-96

[5] สมบุญ ไผทฉันท์, ผู้จัดการสมาคมผู้ส่งข้าวออกต่างประเทศ (อดีตเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทข้าวไทย ปี พ.ศ. 2482-2515 ตำแหน่งสุดท้ายเป็นผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายปกครองและเลขนุการของบริษัทข้าวไทย), สัมภาษณ์วันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2522

[6] สมบุญ ไผทฉันท์, สัมภาษณ์วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2523

[7] สมบุญ ไผทฉันท์, สัมภาษณ์วันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2523

[8] สังศิต พิริยะรังสรรค์, ทุนนิยมขุนนางไทย พ.ศ. 2475-2504, จัดพิมพ์โดยสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, พิมพ์ที่โรงพิมพ์เทพประทานพร, พ.ศ. 2526, หน้า 97

[9] ผาณิต รวมศิลป์, “นโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจสมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามตั้งแต่ พ.ศ. 2481 ถึง พ.ศ. 2487” วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต แผนกวิชาประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, พ.ศ. 2521 หน้า 113

[10] สมบุญ ไผทฉันท์, ผู้จัดการสมาคมผู้ส่งข้าวออกต่างประเทศ (อดีตเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทข้าวไทย ปี พ.ศ. 2482-2515 ตำแหน่งสุดท้ายเป็นผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายปกครองและเลขนุการของบริษัทข้าวไทย), สัมภาษณ์วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2523

[11] สังศิต พิริยะรังสรรค์, ทุนนิยมขุนนางไทย พ.ศ. 2475-2504, จัดพิมพ์โดยสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, พิมพ์ที่โรงพิมพ์เทพประทานพร, พ.ศ. 2526, หน้า 100-106

[12] กรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์, รายงานการประชุมของบริษัทข้าวไทย พ.ศ. 2485-2490

[13] มนูญ บริสุทธิ์ “คณะรัฐมนตรี” ในอนุสรณ์พระราชทานเพลิงศพของนายมนูญ บริสุทธิ์ (พระนคร: โรงพิมพ์สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2521), หน้า 117-133

[14] กรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์, งบดุลของบริษัท ข้าวไทย จำกัด, 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2482 บริษัทข้าวไทยได้เพิ่มทุนขึ้นเป็น 6,000,000 บาท ในปี พ.ศ. 2489 กรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์, รายงานการประชุมของบริษัท ข้าวไทย จำกัด พ.ศ. 2489

[15] สมบุญ ไผทฉันท์, สัมภาษณ์วันที่ 26 ตุลาคม 2522

[16] ผาณิต รวมศิลป์, เรื่องเดิม, หน้า 115

[17] กรมทะเบียนการค้า, กระทรวงพาณิชย์, รายนามผู้ถือหุ้นของบริษัท ข้าวไทย จำกัด 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2593-30 มิถุนายน พ.ศ. 2494

[18] สมบุญ ไผทฉันท์, สัมภาษณ์วันที่ 26 ตุลาคม 2522

[19] ผาณิต รวมศิลป์, เรื่องเดิม, หน้า 114

[20] ผาณิต รวมศิลป์, เรื่องเดิม, หน้า 116

[21] สมบุญ ไผทฉันท์, สัมภาษณ์วันที่ 26 ตุลาคม 2523

[22] สมบุญ ไผทฉันท์, สัมภาษณ์วันที่ 2 พฤศจิกายน 2522

[23] สังศิต พิริยะรังสรรค์, ทุนนิยมขุนนางไทย พ.ศ. 2475-2504, จัดพิมพ์โดยสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, พิมพ์ที่โรงพิมพ์เทพประทานพร, พ.ศ. 2526, หน้า 107-113

[24] ผาณิต รวมศิลป์, เรื่องเดิม, หน้า 118

[25] ในการดำริก่อตั้งบริษัทไทยเดินเรือทะเลนั้น เดิมบริษัทข้าวไทยต้องการให้บริษัทเดินเรือทะเลเป็นกิจการของบริษัทข้าวไทยโดยตรง แต่เนื่องจากมีนักการเมืองบางคนที่ต้องการหาผลประโยชน์จากกิจการเดินเรือ ฉะนั้นบริษัทไทยเดินเรือทะเลจึงมีรัฐบาลถือหุ้นเพียงรายเดียว, สมบุญ ไผทฉันท์, สัมภาษณ์ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2522, ดังนั้นธุรกิจที่ประสานกับบริษัทข้าวเป็นอย่างดีคือ ธนาคารมณฑล และบริษัทไทยเศรษฐกิจประกันภัย ประธานกรรมการและผู้จัดการของบริษัทข้าวไทยคือ พระยาเฉลิมอากาศ และนายมา บูลกุล ได้เป็นกรรมการอยู่ในกิจการทั้งสองแห่งนี้ด้วย กรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์, นายนามกรรมการชุดแรกของธนาคารมณฑล จำกัด พ.ศ. 2484 รายนามกรรมการชุดแรกของบริษัทไทยเศรษฐกิจประกันภัย จำกัด พ.ศ. 2485

[26] กรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์, รายงานการประชุมก่อตั้งบริษัทไทยเดินเรือทะเล จำกัด วันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2493

[27] พรรณี บัวเล็ก, วิเคราะห์นายทุนธนาคารพาณิชย์ของไทย พ.ศ. 2475-2516, สำนักพิมพ์สร้างสรรค์วิชาการจำกัด ร่วมกับ โครงการหนังสือเล่ม สถาบันวิจัยจุฬาลงกรณ์พิมพ์ครั้งที่ 1 ธันวาคม 2529, จำนวน 1,000 เล่ม, ISBN 974-567-234-2, หน้า 49-50

[28] กรมทะเบียนการค้า, กระทรวงพาณิชย์, รายงานประชุมจัดตั้งธนาคารไทยจำกัด เมื่อวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2485

[29] สังศิต พิริยะรังสรรค์, ทุนนิยมขุนนางไทย พ.ศ. 2475-2504, จัดพิมพ์โดยสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, พิมพ์ที่โรงพิมพ์เทพประทานพร, พ.ศ. 2526, หน้า 116

[30] กรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์, ราบงานการประชุมของบริษัทข้าวไทย จำกัด 9 มีนาคม พ.ศ. 2492

[31] สังศิต พิริยะรังสรรค์, ทุนนิยมขุนนางไทย พ.ศ. 2475-2504, จัดพิมพ์โดยสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, พิมพ์ที่โรงพิมพ์เทพประทานพร, พ.ศ. 2526, หน้า 376

[32] กรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์, รายงานการประชุมของธนาคารมณฑล จำกัด วันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2500

[33] สังศิต พิริยะรังสรรค์, ทุนนิยมขุนนางไทย พ.ศ. 2475-2504, จัดพิมพ์โดยสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, พิมพ์ที่โรงพิมพ์เทพประทานพร, พ.ศ. 2526, หน้า 114-127

[34] กรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์, รายงานการประชุมของธนาคารมณฑล จำกัด วันที่ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2499

[35] กรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์, รายงานการประชุมของธนาคารมณฑล จำกัด วันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2501

[36] กรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์, รายงานการประชุมของธนาคารมณฑล จำกัด วันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2494

[37] กรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์, รายงานการประชุมก่อตั้งบริษัทไทยเศรษฐกิจประกันภัย จำกัด พ.ศ.2485

[38] ป๋วย อึ้งภากรณ์, เหลียวหลังแลหน้า (กรุงเทพฯ: สำนักศูนย์บัณฑิตอาสาสมัคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. 2519) หน้า 9

“เรื่องสำนักงานข้าวเมื่อเป็นของรัฐบาลก็มีการทุจริตและใช้อำนาจแอบอ้างกันได้ง่าย นอกจากทุจริตธรรมดาแล้ว ทางธรรมเนียมนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอื่นๆยังได้ใช้อภิสิทธิ์ให้ใบอนุญาตแก่คนนั้นคนนี้ ซึ่งไม่ใช่พ่อค้า แต่เป็นคนที่วิ่งเต้นหาผลประโยชน์จากการได้ใบอนุญาตเอาไปขายช่วงให้แก่พ่อค้า”

[39] ยงยุทธ กุลนรรัตน์, ผู้จัดการบริษัทสหการข้าวไทย, สัมภาษณ์, 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2522

[40] กรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์ รายงานการประชุมประจำปีของบริษัทบางกอกสากลการค้า จำกัด พ.ศ. 2497-2499

[41] กรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์ รายงานการประชุมประจำปีของบริษัท สหพาณิชย์สามัคคี จำกัด วันที่ 29 เมษายน พ.ศ.2500

[42] กรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์ รายงานการประชุมประจำปีของบริษัทพิทักษ์สามัคคี จำกัด วันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2494

[43] สมบุญ ไผทฉันท์, สัมภาษณ์วันที่ 19 ตุลาคม 2522
หัวข้อ: ภารกิจคณะราษฎรยังไม่เสร็จ !? (ตอนที่ 14) เมื่อเงินของพระมหากษัตริย์ถูกดึงมาใช้
เริ่มหัวข้อโดย: story ที่ 16 กุมภาพันธ์ 2021, 20:45:04
ณ บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง กลุ่มการเมืองบางส่วนที่มีรากฐานมาจากคณะราษฎร นอกจากจะมีการก่อตั้งรัฐวิสาหกิจ บริษัทกึ่งราชการ เพื่ออุปถัมภ์พวกพ้องแล้ว ยังได้มีการก่อตั้งธุรกิจของพวกพ้องเองโดยตรงขึ้นมาอีกด้วย เช่น ในปี พ.ศ.2482 มีการก่อตั้งบริษัท ไทยนิยมพาณิชย์ จำกัด, ในปี พ.ศ. 2483 ได้มีการก่อตั้ง บริษัท ไทยนิยมประกันภัย, ในปี พ.ศ. 2484 ก่อตั้งธนาคารนครหลวงแห่งประเทศไทย เป็นต้น [1]

อย่างไรก็ตามมีข้อน่าสังเกตประการหนึ่ง คือ ในขณะที่รัฐบาลดำเนินนโยบายชาตินิยม และต้องการที่จะลดบทบาทของพ่อค้าชาวจีนในหลายกิจการอย่างต่อเนื่องในหลายกิจการ แต่ก็ได้ปรากฏว่านักการเมืองซึ่งเป็นอดีตผู้ก่อการในคณะราษฎรหลายคน ก็ได้ไปลงทุนประกอบการค้ากับพ่อค้าชาวจีนเสียเอง

ตัวอย่างเช่น บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัดโดยนายวิจิตร ลุลิตานนท์ได้ร่วมกับนายโล่วเตี๊ยกชวนบูลสุข,นายตันจิวเก่ง,นายหวั่งหลีและนายเชวงเคียงศิริ[2],[3] บริษัท สากลการค้า จำกัด มีพลโทจรูญ รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ร่วมกับนายเอื้อนกำปั่นทอง,นายประสิทธิ์พุ่มชูศรี,นายจุลินทร์ล่ำซำ,และนายมาบูลกุลเป็นต้น[2],[4]

นอกจากนี้พ่อค้าชาวจีนยังคงนิยมประเพณีทำการค้าที่มีมาแต่เดิม คือ การพึ่งพิง หรืออาศัยผู้ปกครองที่มีอำนาจเป็นผู้อุปถัมภ์ในธุรกิจการค้าของตนซึ่งก็คือคนในรัฐบาลขณะนั้น เช่น เมื่อปี พ.ศ.2489 นายจุลินทร์ ล่ำซำ ได้เชิญ พันเอกช่วง เชวงศักดิ์สงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นประธานกรรมการบริษัท คลังสินค้าแม่น้ำ จำกัด[2],[5] และก่อนหน้านั้นในปี พ.ศ. 2488 นายจุลินทร์ ล่ำซำ ก็ได้เชิญอดีตผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองฯ คือ นายทองเปลว ชลภูมิ, นายสงวน จูฑะเตมีย์, นายสวัสดิ์ โสตถิทัต ไปป็นกรรมการของธนาคารกสิกรไทย เป็นต้น[2],[6]

ในขณะที่กลุ่มนักการเมืองได้รับผลประโยชน์จากพ่อค้าชาวจีนทั้งหลายแล้ว ก็ยังได้ปรากฏธุรกิจของกลุ่มนักการเมืองได้ร่วมทุนกันเพื่อก่อตั้งบริษัทของกลุ่มตัวเองขึ้น และขยายผลกลายเป็นหน่วยธุรกิจเครือข่ายทั่วประเทศไทย โดยมีการนำเงินจากสำนักงานทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์มาร่วมหุ้นแต่เพียงส่วนน้อย และได้เงินกู้จากสำนักงานทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์เป็นส่วนใหญ่เพื่อเป็นเงินทุนให้กับกิจการของนักการเมืองขยายหน่วยธุรกิจเครือข่ายทั่วประเทศด้วย

นั่นก็คือ“บริษัท ไทยนิยมพาณิชย์ จำกัด”!!!!

ในปี พ.ศ. 2482 ในขณะที่รัฐบาล “หลวงพิบูลสงคราม”กำลังรณรงค์นโยบายรัฐนิยมภายใต้ลัทธิชาตินิยมนั้นกลุ่มนักการเมืองซึ่งเป็นอดีตผู้ก่อการในคณะราษฎร ได้ก่อตั้งบริษัท ไทยนิยมพาณิชย์ จำกัดขึ้นด้วยทุนจดทะเบียน 1,000,000บาทในจำนวนนี้กลุ่มนักการเมืองซึ่งมาจากคณะราษฎรถือหุ้นร้อยละ 70 ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 30 เป็นเงินลงทุนจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ [1],[7]

โดยในขณะที่มีการลงทุนในกิจการบริษัท ไทยนิยมพาณิชย์ จำกัด นั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ยังทรงเป็นยุวกษัตริย์และประทับอยู่ต่างประเทศ ประกอบกับในเวลานั้นได้มีการตราพระราชบัญญัติ จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2479 ซึ่งประกาศบังคับใช้ลงในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2480แล้วสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์จึงอยู่ในความควบคุมของกระทรวงการคลัง ซึ่งในขณะนั้นหลวงประดิษฐ์มนูธรรม หรือ นายปรีดี พนมยงค์เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังโดยมีนายชุณห์ ปิณฑานนท์อดีตผู้ก่อการคณะราษฎรเป็นผู้อำนวยการ[1]

คณะกรรมการชุดแรกของบริษัท ไทยนิยมพาณิชย์ จำกัด มาจากผู้ที่เคยเป็นผู้ก่อการในคณะราษฎรทั้งสิ้น มีหลวงเชวงศักดิ์สงครามเป็นประธานและมีกรรมการประกอบไปด้วยพลโทประยูร ภมรมนตรี,นายตั้ว ลพานุกรม, พันตรีขุนนิรันดรชัย, นายเล้ง ศรีสมวงศ์, นายวิลาศ โอสถานนท์, นายชุนห์ ปิณฑานนท์, เรือเอกวัน รุยาพร, พันเอกหลวงเสรีเริงฤทธิ์
โดยในจำนวนนี้มีกรรมการ 5 คนจาก 9 คน เป็นรัฐมนตรีที่กำลังบริหารประเทศอยู่ในขณะนั้นด้วยได้แก่หลวงเชวงศักดิ์สงคราม,พลโทประยูรภมรมนตรี,นายวิลาศโอสถานนท์,และพันเอกหลวงเสรีเริงฤทธิ์ทั้งนี้บริษัทไทยนิยมพาณิชย์จำกัดมีวัตถุประสงค์ตามที่ปรากฏในหนังสือบริคนสนธิของบริษัทดังต่อไปนี้คือ

ก. ทำการค้าสรรพสินค้าทุกชนิด เช่น เครื่องอุปโภคบริโภค ฯลฯ ตลอดจนการขายปลีกและขายส่ง

ข. รับทำการส่งสินค้าจากต่างประเทศทุกชนิด และรับส่งสินค้าในประเทศออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ
ฯลฯ[1],[7]

ทั้งนี้รัฐบาลชาตินิยมได้เสนอมาตรการที่จะส่งเสริมให้การค้าภายในประเทศแปรจากมือของชาวต่างประเทศให้มาตกอยู่ในมือคนไทย[1],[8] ทั้งยังต้องการที่จะฝึกฝนให้คนไทยเกิดความชำนิชำนาญทางการค้า และจะเผยแพร่สินค้าพื้นเมืองโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลางอีกด้วย[1],[9] ฉะนั้นคณะราษฎรจึงได้ก่อตั้งบริษัทพาณิชย์จังหวัด (หรือที่เรียกว่าบริษัทจังหวัด) ขึ้นตามจังหวัดต่างๆทั่วประเทศ

โดยในการดำเนินการขั้นแรกรัฐบาลได้มอบหมายให้บริษัท ไทยนิยมพาณิชย์ จำกัด เป็นผู้ถือหุ้นบริษัทพาณิชย์จังหวัดต่างๆ ร้อยละ 51 โดยไม่ต้องลงทุนเอง เพราะ“ใช้เงินที่กู้จากสำนักงานทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์”ส่วนหุ้นที่เหลือจะเปิดโอกาสให้ราษฎรสัญชาติไทยในท้องที่จังหวัดนั้นเข้าจองหุ้นได้แต่ต่อมาดูเหมือนว่ารัฐบาลจะเข้าเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทพาณิชย์จังหวัดแทน[1],[10] ซึ่งโดยทั่วไปแล้วประธานกรรมการบริษัทแต่ละจังหวัดจึงมักจะเป็นข้าหลวง และข้าราชการของจังหวัดนั้นๆเป็นกรรมการ[1], [11]

เพื่อการนี้ รัฐบาลได้ให้คณะกรรมการของจังหวัดต่างๆ ดำเนินการชักชวนราษฎรให้เข้าจองหุ้นและก่อตั้งบริษัทจังหวัดขึ้นทั่วทุกจังหวัด[1],[12] ผลของการรณรงค์เพียงชั่วระยะเวลาประมาณ 2 ปี บริษัทจังหวัดก็สามารถก่อตั้งได้ทั่วประเทศถึง 67 จังหวัดในปี พ.ศ. 2484 ยกเว้นเพียงจังหวัดพระนคร ธนบุรี และแม่ฮ่องสอนเท่านั้น [1],[11]

การที่“บริษัท ไทยนิยมพาณิชย์ จำกัด”ได้ถูกก่อตั้งมาในสมัยรัฐบาลหลวงพิบูลสงครามแต่ก็เป็นกิจการที่ผู้ก่อการของคณะราษฎรได้รวมตัวกันเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ฝ่ายการเมืองจึงย่อมเป็นผู้กุมสภาพในอำนาจการบริหารทั้งหมดโดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8ทรงเป็นยุวกษัตริย์ที่ประทับอยู่ต่างประเทศอำนาจการบริหารเงินทุนของสำนักงานทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ย่อมตกอยู่ภายใต้อำนวยของฝ่ายการเมืองเช่นกัน

และเมื่อ“บริษัทจังหวัด”ถูกจัดตั้งขึ้นโดยให้“บริษัท ไทยนิยมพาณิชย์ จำกัด”ถือหุ้นใหญ่เกินครึ่งหนึ่งอำนาจของบริษัทจังหวัดจึงย่อมถูกกำหนดตัวผู้บริหารและทิศทางจากผู้มีอำนาจใน“บริษัท ไทยนิยมพาณิชย์ จำกัด”เท่านั้น ผู้ถือหุ้นรายย่อยย่อมไม่สามารถเปลี่ยนแปลงนโยบายและเปลี่ยนแปลงค่าใช้จ่ายในบริษัทจังหวัดได้

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่“บริษัท ไทยนิยมพาณิชย์ จำกัด”ได้ลงทุนใน “บริษัทจังหวัด”ในจังหวัดต่างในสัดส่วนหุ้นร้อยละ 51ไม่ต้องใช้เงินของตัวเองแต่เป็นการใช้“เงินกู้”จากสำนักงานทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ฝ่ายเดียวนั้นกลายเป็นฐานทุนให้ฝ่ายการเมืองมีอำนาจในเครือข่าย“บริษัทจังหวัด” ทั่วประเทศไทยเหนืออำนาจของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์โดยไม่ต้องใช้เงินของฝ่ายนักการเมืองเพิ่มเติมอีกแต่ประการใด

คำถามมีอยู่ว่าสำนักงานทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นส่วนน้อยกว่าคณะฝ่ายการเมืองใน “บริษัท ไทยนิยมพาณิชย์ จำกัด” แต่กลับต้องเป็นฝ่าย “ปล่อยเงินกู้ฝ่ายเดียว” เพื่อไปลงทุนในบริษัทจังหวัดซึ่งเป็นบริษัทลูกของ “บริษัท ไทยนิยมพาณิชย์ จำกัด” อันกิจการส่วนตัวของโดยเสียงข้างมากของคณะนักการเมืองในยุคนั้น มีความเป็นธรรมในทางธุรกิจจริงหรือไม่

เพราะถ้าหาก “บริษัทจังหวัด” จะมีการขาดทุนหรือทุจริตจนไม่สามารถชำระหนี้ได้ หรือแม้ไม่มีการทุจริตแต่มีการใช้จ่ายเงินเพื่อประโยชน์ของนักการเมืองมากเกินสมควร จะมีหลักประกันใดที่จะทำให้มั่นใจได้ว่าสำนักงานทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์จะเป็นฝ่ายทวงหนี้หรือได้รับการปันผลตามความเหมาะสมอย่างแท้จริง เมื่อคณะผู้สำเร็จราชการซึ่งมาจากเสียงข้างมากของสภาผู้แทนราษฎรในระบอบกึ่งสมบูรณาญาสิทธิของคณะ คือมี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 จำนวนครึ่งหนึ่ง ซึ่งมาจากการคัดเลือกของคณะราษฎรกันเอง และเป็นฝ่ายเดียวกันกับผู้ถือหุ้นที่เป็นฝ่ายรัฐบาลเอง อีกทั้งสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ก็อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังซึ่งก็เป็นฝ่ายการเมืองอีกเช่นกัน

ในขณะที่“ขุนนิรันดรชัย”ซึ่งเป็นราชเลขานุการก็เป็นผู้หาผลประโยชน์และส่งเงินเป็นท่อน้ำเลี้ยงให้กับนายกรัฐมนตรีและอยู่ภายใต้อิทธิพลของรัฐบาลหลวงพิบูลสงครามด้วย [13],[14]

และเนื่องด้วยการที่เงินทุนของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ต้องถูกฝ่ายการเมืองดึงมาลงทุนในกิจการของกลุ่มนักการเมืองใน“บริษัท ไทยนิยมพาณิชย์ จำกัด”อีกทั้งยังต้องปล่อยเงินกู้ให้กับ“บริษัทจังหวัด”ซึ่งเป็นบริษัทลูกโดยไม่มีอำนาจบริหารมากถึง 67จังหวัดดังนั้นจึงต้องใช้“เงินกู้อย่างมหาศาล”จากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า ช่วงเวลาที่ต้องใช้เงินจากสำนักงานทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์มาลงทุนทั้งในบริษัท“บริษัท ไทยนิยมพาณิชย์ จำกัด” รวมถึงการนำเงินจากสำนักงานทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ไปปล่อยกู้เพื่อการลงทุนก่อตั้ง “บริษัทจังหวัด” จำนวน 67 จังหวัดซึ่งเป็นบริษัทลูกของ“บริษัท ไทยนิยมพาณิชย์ จำกัด”คือช่วงเวลา ปี พ.ศ. 2482-2484

และช่วงเวลา พ.ศ.2482-2484 ก็เป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่รัฐบาล“หลวงพิบูลสงคราม”โดย หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (นายปรีดี พนมยงค์) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นโจทก์ ได้ยื่นฟ้องสมเด็จพระปกเกล้าฯ เป็นจำเลยที่ 1และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ เป็นจำเลยที่ 2ต่อศาลแพ่งลงวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2482 และยื่นคำร้องขอแก้คำฟ้องในวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2482

โดย คดีดังกล่าวนี้มีศาลแพ่งคำพิพากษาให้สมเด็จพระปกเกล้าฯ เป็นจำเลยที่ 1 และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ชำระหนี้พร้อมดอกเบี้ยเป็นจำนวนเงินถึงวันพิพากษารวมมูลค่าและดอกเบี้ยถึงวันพิพากษาเป็นเงินทั้งสิ้น6,272,712 บาท 92 สตางค์เมื่อวันที่ 30กันยายนพ.ศ. 2484 [15]

อย่างไรก็ตามในคดีนี้ได้ปรากฏว่า“หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์”รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้ทำการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม โดยการโยกย้ายอธิบดีศาลแพ่ง[16] ในขณะเดียวกันได้มีการนำพระราชบัญญัติ จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2479 บังคับใช้ย้อนหลังเพื่อเอาผิดอายัด ยึดทรัพย์ และยึดวังของสมเด็จพระปกเกล้าฯและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีทั้งๆ ที่ทรงใช้ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ในขณะที่ทรงยังดำรงตำแหน่งฐานะพระมหากษัตริย์และสมเด็จพระราชินีของประเทศไทยจึงย่อมมีสิทธิ์ใช้ทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ได้เพราะมิใช่เป็นทรัพย์สินของรัฐบาล

อย่างไรก็ตามเมื่อ“บริษัทจังหวัด”จะเป็นศูนย์กลางของการค้าขนาดใหญ่ที่สุดของแต่ละจังหวัดกล่าวคือบริษัทจังหวัดจะเป็นแหล่งรับซื้อพืชผลและสินค้าอุตสาหกรรมในครัวเรือนทุกประเภทเป็นแหล่งขายสินค้าจำเป็นทุกชนิดเป็นเอเย่นต์ส่งสินค้าให้แก่ร้านค้าย่อยๆที่รัฐบาลจะสนับสนุนให้จัดตั้งขึ้นและเป็นสถาบันที่ทำหน้าที่ส่งเสริมการผลิตอุตสาหกรรมในครัวเรือนของแต่ละจังหวัดอีกด้วย[1],[10]

ในส่วนของสัมพันธ์ทางการค้า ระหว่างบริษัท ไทยนิยมพาณิชย์ จำกัดกับบริษัทจังหวัดนั้นนักการเมืองผู้ถือหุ้นกำหนดให้บริษัท ไทยนิยมพาณิชย์ จำกัดเป็นตัวแทนติดต่อสั่งสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาให้บริษัทต่างๆจำหน่ายส่วนบริษัทจังหวัดต่างๆก็ส่งพืชผลทางการเกษตรและสินค้าพื้นเมืองทั้งหมดให้แก่บริษัท ไทยนิยมพาณิชย์ จำกัดเป็นตัวแทนส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ [1],[9]

หากสามารถปฏิบัติให้สัมฤทธิ์ผลก็จะเป็นการขจัดอิทธิพลของพ่อค้าคนกลางและพ่อค้าชาวต่างประเทศได้ แต่โดยสาระของการดำเนินงานแล้ว ก็เป็นแต่เพียงการเปลี่ยนแปลงกลุ่มผู้ได้รับประโยชน์จากพ่อค้าชาวจีนมาเป็นนักการเมืองซึ่งเคยเป็นผู้ก่อการของคณะราษฎรเท่านั้นเอง[1]

นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ผู้เขียนทุนนิยมขุนนางไทยพ.ศ. 2475-2504ได้ให้ความเห็นวิเคราะห์เอาไว้เมื่อปีพ.ศ. 2526ความตอนหนึ่งว่า

“เมื่อพิจารณาบทบาทของ“บริษัทไทยนิยมพาณิชย์จำกัด”แล้วก็มีส่วนละม้ายคล้ายคลึงกับพระคลังสินค้าในสมัยเดิมเป็นอย่างมากแต่เดิมนั้นพระมหากษัตริย์ใช้เจ้าเมืองต่างๆและบรรดาเจ้าขุนมูลนายเป็นกลไกในการรวบรวมผลผลิตส่วนเกินของสังคมจากไพร่และทาสมาไว้ที่พระคลังสินค้าเพื่อนำไปใช้ในการแลกเปลี่ยนกับสินค้าต่างประเทศ

ใน ”ยุคประชาธิปไตย”คณะราษฎรก็ใช้ข้าหลวงนายอำเภอและข้าราชการของแต่ละจังหวัดเป็นกลไกการวบรวมผลผลิตของสังคมจากชาวนา-ชาวไร่มาไว้ที่บริษัทไทยนิยมพาณิชย์จำกัดเพื่อส่งไปจำหน่ายยังต่างประเทศเช่นเดียวกัน

ข้อแตกต่างอยู่ที่ว่าในขณะที่พระมหากษัตริย์ทรงเก็บส่วยอย่างเปิดเผยแต่คณะราษฎรต้องใช้การตั้งบริษัทซึ่งเป็นวิธีการที่แยบยลและอำพรางสูงกว่าแต่ผลลัพธ์ที่ได้นั้นมีค่าอันเดียวกันคือส่วนเกิน(Surplus)”[17]

นโยบายการค้าเสรีนิยมที่มีผลกำไรเป็นแรงจูงใจในการประกอบการ ช่วยกระตุ้นให้ชนชั้นนายทุนมีจิตใจแห่งความมานะพยายามที่จะปรับปรุงเทคนิคการผลิต การบริหารงานและการบริการลูกค้าอย่างดีที่สุดเท่าที่จะทำได้

แต่สำหรับบริษัทจังหวัดที่บริหารงานโดยบุคคลที่อยู่ภายใต้ระบบราชการ ซึ่งเป็นองค์กรทางการปกครองที่มีอำนาจทางการเมือง กลับไม่สามารถยึดกุมปรัชญาแห่งการประกอบธุรกิจของชนชั้นนายทุนได้

ข้าราชการเหล่านี้ยังมีสำนึกของการเป็น “ผู้ปกครอง”ที่นิยมการข่มขู่ราษฎรอย่างไม่เปลี่ยนแปลง ฉะนั้นในการดำเนินงานของบริษัทจังหวัด จึงปรากฏว่า ข้าราชการมักจะข่มขู่และบังคับราษฎรที่เป็นลูกค้าของตน จนเป็นเหตุให้เกิดความเดือดร้อนแก่ราษฎรทั่วไป ดังที่หนังสือพิมพ์ สุภาพบุรุษได้เคยรายงานวิธีการดำเนินงานของบริษัทจังหวัดเอาไว้ว่า:

“การดำเนินงานของบริษัทจังหวัดหลายจังหวัดได้ผันแปรไปจากประสงค์เดิมของทางราชการโดยแทนที่ราษฎรที่หาเลี้ยงชีพด้วยการค้าขายจะได้รับความสะดวกสบายกลับมาได้รับความลำเค็ญในการค้าขึ้นเช่นถูกคุกคามมิให้นำสินค้าไปจำหน่ายให้แก่ใครนอกจากบริษัทพาณิชย์จังหวัด

และหากจะติดต่อค้าขายกับบริษัทโดยตรงก็ถูกกดราคาโดยเฉพาะสำนักงานนี้ก็เคยได้รับการร้องทุกข์ทำนองนี้ครั้งหนึ่งมาจากพ่อค้าเกลือจังหวัดสมุทรสาครอีกครั้งหนึ่งจากพ่อค้ามะพร้าวจังหวัดสมุทรสงคราม

และหนังสือพิมพ์บางฉบับเมื่อเร็วๆนี้ก็เคยได้นำจดหมายร้องทุกข์ของเจ้าของไร่ยาสูบในจังหวัดอุตรดิตถ์ลงพิมพ์ข้อความที่ร้องมาคงเป็นไปในทำนองเดียวกันทั้งสิ้นคือไม่ได้รับความพึงพอใจในการติดต่อกับบริษัทพาณิชย์จังหวัดซึ่งมีท่านพวกข้าราชการเป็นผู้ถือบังเหียนอยู่

จดหมายร้องทุกข์ที่มาถึงเราครั้งหลังคือคำร้องทุกข์ของราษฎรที่ค้ามะพร้าวที่จังหวัดสมุทรสงครามเราได้นำเสนอไปยังหลวงเชวงศักดิ์สงครามรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยผู้ควบคุมกิจการของบริษัทเหล่านี้ซึ่งการสอบสวนในเวลาต่อมาปรากฏว่าทางการของบริษัทได้กะเกณฑ์ให้ราษฎรนำเอามะพร้าวมาขายให้แก่บริษัทของตนเท่านั้นถึงแม้ผู้ขายจะไม่พอใจราคาที่บริษัทตั้งให้ก็จะขายให้แก่คนอื่นไม่ได้[8],[17]

รัฐบาลจึงได้ดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริงดังกล่าว ในที่สุดแล้วหลวงเชวงศักดิ์สงครามต้องยอมรับกับหนังสือพิมพ์ว่า
“การใช้อิทธิพลและการหาเศษหาเลยได้มีอยู่เป็นความจริง”[8],[17]

อย่างไรก็ตามปรากฏว่ารัฐบาลก็มิได้พยายามที่จะแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของราษฎรในเรื่องนี้มากนัก บริษัทจังหวัดมา “เลิกกิจการ”เอาในปี พ.ศ. 2484 เพราะมีสาเหตุมาจากความขาดแคลนสินค้าอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากภาวะสงครามโลกโดยตรง มิใช่เพราะเหตุแห่งความเดือดร้อนของราษฎรแต่อย่างใด[17],[18]

ซึ่งการเลิกกิจการของบริษัทจังหวัดซึ่งได้เงินทุนมาจากบริษัท ไทยนิยมพาณิชย์ จำกัด ซึ่งใช้เงินกู้จากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์นั้น ไม่ปรากฏข้อมูลที่ชัดเจนว่าได้มีการคืนเงินกู้จาก 67 จังหวัดให้กับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์หรือไม่และด้วยอัตราดอกเบี้ยเท่าใด หรือไม่ได้มีการคืนเงินกู้แต่ประการใด

อย่างไรก็ตามในปี พ.ศ. 2484 ที่บริษัท ไทยนิยมพาณิชย์ จำกัด ตัดสินใจเลิกกิจการ “บริษัทพาณิชย์จังหวัด”ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น ก็เป็นเวลาเดียวกัน ที่รัฐบาลหลวงพิบูลสงครามซึ่งชนะคดีการฟ้องร้องสมเด็จพระปกเกล้าฯและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี มาตั้งแต่เดือนกันยายน พ.ศ. 2484 แต่กรมบังคับคดีได้ “เปลี่ยนใจ”ยุติการขายทอดตลาดทรัพย์สินที่ได้ยึดมาจากคดีการฟ้องร้องสมเด็จพระปกเกล้าฯและสมเด็จนางเจ้ารำไพพรรณีในวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2484 ซึ่งเป็นเวลา 9 วันภายหลังจากการที่รัฐบาลไทยได้ทำพิธีลงนามร่วมเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2484

แม้ว่าบริษัทพาณิชย์จังหวัดจะได้เลิกกิจการไปในปี พ.ศ. 2484 แต่ถึงกระนั้นบริษัท ไทยนิยมพาณิชย์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทแม่ก็ยังมีผลกำไรจากการดำเนินการอย่างสม่ำเสมอ [17]

ทั้งนี้ปรากฏข้อมูลว่าบริษัท ไทยนิยมพาณิชย์​ จำกัดนั้นนอกจากจะมีกรรมการที่เป็นรัฐมนตรีถึง 5 คนจาก 9 คนแล้ว ก็ยังมีกรรมการที่อยู่ 2 บริษัท คือทั้งบริษัท ไทยนิยมพาณิชย์ จำกัด และบริษัท ไทยนิยมประกันภัยจำกัดในคราวเดียวกันถึง 8คนได้แก่พันเอกหลวงเสรีเริงฤทธิ์ (รัฐมนตรี),นายวิลาศ โอสถานนท์ (รัฐมนตรี),พันโทประยูร ภมรมนตรี (รัฐมนตรี),นายตั้ว พลานุกรม (รัฐมนตรี),พันตรีขุนนิรันดรชัย (รับราชการ),นายเล้ง ศรีสมวงศ์ (รับราชการ) ,นายชุณห์ ปิณฑานนท์(รับราชการ),และเรือเอกวัน รุยาพรร.น. (รับราชการ) [17],[19],[20]ซึ่งทำให้บริษัท ไทยนิยมประกันภัย จำกัด เอื้อประโยชน์สนับสนุนกิจการของบริษัท ไทยนิยมพาณิชย์ จำกัดได้

ในขณะเดียวกันกรรมการ 2 คนในบริษัท ไทยนิยมพาณิชย์​ จำกัดก็เป็นกรรมการธนาคารของรัฐด้วย คือธนาคารเอเซียเพื่ออุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม ซึ่งจัดตั้งด้วยเงินทุนของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองได้แก่นายวิลาศ โอสถานนท์(รัฐมนตรี)และนายเล้ง ศรีสมวงศ์(รับราชการ) [17],[19]​,[21] กิจการธนาคารของรัฐจึงได้สนับสนุนกิจการของบริษัท ไทยนิยมพาณิชย์​ จำกัด เช่นเดียวกัน

การที่บริษัท ไทยนิยมพาณิชย์​ จำกัด มีเครือข่ายกิจการธนาคารของรัฐและประกันภัยของพวกตนเอง คอยให้ความช่วยเหลือและอำนวยความสะดวก จึงช่วยให้บริษัทไทยนิยมพาณิชย์​ จำกัดอยู่ในสถานะที่มั่นคงมาก ประกอบกับแบบแผนการดำเนินงานของบริษัทไทยนิยมพาณิชย์​ จำกัดที่อาศัยการอิงระบบราชการเป็นสำคัญ โดยมีเครือข่ายบริษัทจังหวัดเป็นกลไกบริวารทำงานให้อีกด้วย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัท ไทยนิยมพาณิชย์​ จำกัดซึ่งถือหุ้นส่วนใหญ่โดยนักการเมืองยังได้รับสิทธิพิเศษจากรัฐบาลให้เป็นผู้ผูกขาดจำหน่ายสุราของกรมสรรพสามิตอีกด้วย[17],[22]

จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้นได้ส่งผลทำให้ระหว่างปี พ.ศ. 2483-2492 บริษัท ไทยนิยมพาณิชย์​ จำกัด ได้มีผลประกอบการมีกำไรสุทธิต่อเนื่องกันถึง 10 ปี จึงมีการนำเงินตอบแทนคณะกรรมการบริษัท ไทยนิยมพาณิชย์ จำกัด ในรูปแบบต่างๆ ได้แก่ เงินปันผล, โบนัส, เบี้ยประชุมประจำเดือน โดยปรากฏเป็นบันทึกรายงานการประชุมประจำปีของบริษัท ไทยนิยมพาณิชย์ จำกัด ดังนี้ [23],[24]

พ.ศ. 2483 กำไรสุทธิ 112,017 บาท (ไม่ปรากฏเงินผลตอบแทนคณะกรรมการ)
พ.ศ. 2484 กำไรสุทธิ 502,649 บาท, ผลตอบแทนคณะกรรมการ 160,000 บาท
พ.ศ. 2485 กำไรสุทธิ 658,342 บาท, ผลตอบแทนคณะกรรมการ 450,342 บาท
พ.ศ. 2486 กำไรสุทธิ 748,640 บาท, ผลตอบแทนคณะกรรมการ 233,000 บาท
พ.ศ. 2487 กำไรสุทธิ 1,189,448 บาท, ผลตอบแทนคณะกรรมการ 350,000 บาท
พ.ศ. 2488 กำไรสุทธิ 851,346 บาท, ผลตอบแทนคณะกรรมการ 230,000 บาท
พ.ศ. 2489 กำไรสุทธิ 692,274 บาท, ผลตอบแทนคณะกรรมการ 100,000 บาท
พ.ศ. 2490 กำไรสุทธิ 101,945 บาท, ผลตอบแทนคณะกรรมการ 50,000 บาท
พ.ศ. 2491 กำไรสุทธิ 461,809 บาท, ผลตอบแทนคณะกรรมการ 200,000 บาท
พ.ศ. 2492 กำไรสุทธิ 352,867 บาท, ผลตอบแทนคณะกรรมการ 200,000 บาท

(มีต่อ)
 12 ก.พ. 2564 ผู้จัดการออนไลน์
หัวข้อ: (ต่อ)ภารกิจคณะราษฎรยังไม่เสร็จ !? (ตอนที่ 14) เมื่อเงินของพระมหากษัตริย์ถูกดึงมา
เริ่มหัวข้อโดย: story ที่ 16 กุมภาพันธ์ 2021, 20:47:51
อย่างไรก็ตามภาวะการตกต่ำของบริษัท ไทยนิยมพาณิชย์ จำกัดเริ่มปรากฏให้เห็นตั้งแต่ปีพ.ศ. 2492ภายหลังจากนายปรีดี พนมยงค์ประสบความพ่ายแพ้จากการก่อกบฏวังหลวงพวกกบฏถูกปราบลงอย่างรวดเร็วและมีผู้เสียชีวิตและถูกคุมขังบางส่วนหนีไปอยู่ต่างประเทศและบางส่วนยังดำเนินบริษัท ไทยนิยมพาณิชย์ จำกัดต่อไป

ในช่วงนี้เองที่เผ่า ศรียานนท์ผู้นำคนหนึ่งของคณะรัฐประหารปีพ.ศ. 2490ได้เข้าไปเป็นกรรมการบริษัท ไทยนิยมพาณิชย์ จำกัดในปีพ.ศ. 2493[23],[24]เพื่อคอยควบคุมบริษัท ไทยนิยมพาณิชย์ จำกัดไม่ให้เป็นอันตรายต่อรัฐบาลใหม่ ทั้งๆที่กิจการบริษัท ไทยนิยมพาณิชย์ จำกัด เป็นกิจการที่ถือหุ้นโดยเอกชน

ส่วน ธนาคารเอเซียเพื่ออุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม ซึ่งเป็นกิจการของรัฐอันเกิดจากการลงทุนของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองซึ่งเคยเป็นแหล่งอุดหนุนทางการเงินของบริษัทฯ ก็ถูกเผ่า ศรียานนท์ โอนไปเป็นขององค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก และกลายโอนหุ้นให้เป็นกิจการในบริษัทของสฤษดิ์ ธนะรัชต์ในเวลาต่อมา

นอกจากนี้สถาบันการเงินอื่นๆที่เคยเป็นของอดีตผู้ก่อการคณะราษฎรซึ่งอาจช่วยเหลือบริษัทได้ เช่น ธนาคารกรุงศรีอยุธยา, ธนาคารมณฑล, บริษัท ประกันคุ้มภัย จำกัด, ฯลฯ ก็ตกไปอยู่ในมือของคณะรัฐประหารจนหมดสิ้น

ด้วยเหตุผลนี้บริษัท ไทยนิยมพาณิชย์ จำกัดได้เริ่มประสบปัญหาเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงานซึ่งพลอยทำให้ธุรกิจการค้าของบริษัทเร่ิมฝืดเคืองมากยิ่งขึ้นผลที่ตามมาก็คือบริษัทกู้ยืมเงินได้เรียกชำระเงินคืน อีกทั้งงานชิ้นใหญ่ประมูลไม่ได้จึงต้องแยกบริษัทออกไปเป็นส่วนๆเพื่อให้แต่ละส่วนเลี้ยงตัวเองได้อันได้แก่แยกบริษัทไทยนิยมบางรักจำกัดทำการค้าสรรพสินค้าและแยกบริษัทไทยนิยมผ่านฟ้าจำกัดทำการจัดสถานที่ให้เช่าเหล่านี้เป็นต้น[23],[26]

โดยในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2496 - 2505 บริษัท ไทยนิยมพาณิชย์ จำกัด ต้องกู้เงินเบิกเกินบัญชีมาแก้ไขปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน จนมีภาวะทั้งขาดทุนสะสมและกู้เงินมากขึ้นไปเรื่อยๆ โดยไม่สามารถลดค่าใช้จ่ายได้ [23]

โดยในปี พ.ศ. 2497 ค่าดอกเบี้ย 599,652 บาท คิดเป็นร้อยละ 34 ของค่าใช้จ่ายประจำปีจำนวน 1,765,703 บาท โดยมีภาระเงินกู้และเงินเบิกเกินบัญชีธนาคารเป็นจำนวนเงิน 10,132,411 บาท

แต่ในปี พ.ศ. 2505 ค่าดอกเบี้ยได้เพิ่มเป็น 1,330,975 บาท คิดเป็นร้อยละ 79 ของค่าใช้จ่ายประจำปีจำนวน 1,695,210 บาท โดยมีภาระเงินกู้และเงินเบิกเกินบัญชีธนาคารเพิ่มเป็นจำนวนเงิน 12,576,497 บาท [23]

ซึ่งจะเห็นได้ว่ารายงานค่าดอกเบี้ยได้กลายเป็นรายจ่ายที่สำคัญที่สุดของบริษัทไทยนิยมพาณิชย์ จำกัดและเป็นปัจจัยที่สำคัญอันหนึ่งที่กำหนดให้บริษัทตกอยู่ภายใต้ภาวะการขาดทุนอย่างเรื้อรังโดยตลอดนอกจากนี้บริษัท ไทยนิยมบางรัก จำกัด และบริษัท ไทยนิยมผ่านฟ้า จำกัดก็ประสบกับภาวะขาดทุนอย่างหนักเพราะค่าดอกเบี้ยเป็นค่าใช้จ่ายที่มากเช่นเดียวกับบริษัท ไทยนิยมพาณิชย์ จำกัดเช่นกัน[23],[27],[28] เพราะความจริงแล้วที่ผ่านมาบริษัทเหล่านี้อยู่ได้ด้วยอำนาจรัฐ ไม่ได้มีความสามารถในการแข่งขันที่แท้จริงในทางธุรกิจแบบเอกชนทั่วไป

ฉะนั้นบริษัท ไทยนิยมพาณิชย์ จำกัด,บริษัท ไทยนิยมบางรัก จำกัดและบริษัท ไทยนิยมผ่านฟ้า จำกัดจึงต้องปิดกิจการไปในท้ายที่สุด[23]

ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต

อ้างอิง
[1] สังศิต พิริยะรังสรรค์, ทุนนิยมขุนนางไทย พ.ศ. 2475-2504, จัดพิมพ์โดยสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, พิมพ์ที่โรงพิมพ์เทพประทานพร, พ.ศ. 2526, หน้า 134-139

[2] สังศิต พิริยะรังสรรค์, เรื่องเดียวกัน, หน้า 157-158

[3] กรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์, รายงานการประชุมก่อตั้งบริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด, วันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2485

[4] กรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์, รายงานการประชุมก่อตั้งบริษัท สากลการค้า จำกัด, พ.ศ. 2486

[5] กรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์, รายงานการประชุมก่อตั้งบริษัท คลังสินค้าแม่น้ำ จำกัด, พ.ศ. 2482

[6] สุภัทร สุคนธาภิรมย์, สัมภาษณ์ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2522, และ กรมทะเบียนการค้า, กระทรวงพาณิชย์, รายนามคณะกรรมการชุดแรกของธนาคารกสิกรไทย พ.ศ. 2488

[7] กรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์, รายงานการประชุมก่อตั้งบริษัท ไทยนิยมพาณิชย์ จำกัด, พ.ศ. 2482

[8] หนังสือพิมพ์ สุภาพบุรุษ, วันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2484

[9] หนังสือพิมพ์ สุภาพบุรุษ, วันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2482

[10] ผาณิต รวมศิลป์, “นโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจสมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามตั้งแต่ พ.ศ. 2481 ถึง พ.ศ. 2487” วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต แผนกวิชาประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, พ.ศ. 2521 หน้า 107-108

[11] หนังสือพิมพ์สุภาพบุรุษ, วันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2484

[12] หนังสือพิมพ์​สุภาพบุรุษ, ฉบับเดือน สิงหาคม พ.ศ. 2492

[13]ผู้จัดการออนไลน์, ทายาท “ขุนนิรันดรชัย” ขอพระราชทานอภัยโทษแทนบิดากระทำมิบังควรสมัยร่วมคณะราษฎร 2475 เตือนเยาวชนศึกษาประวัติศาสตร์ อย่าเชื่อใครง่าย, เผยแพร่: 26 ธ.ค. 2563 เวลา 13:43 น.
https://mgronline.com/onlinesection/detail/9630000131996

[14] ผู้จัดการออนไลน์, คำสัมภาษณ์พิเศษเพิ่มเติมของพลโทสรภฏ นิรันดร, โดยปานเทพ พัวพงษ์พันธ์, สัมภาษณ์ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2563 ณ โรงแรม INTERCONTINENTAL BANGKOK, สัมภาษณ์เพิ่มเติมครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2563 โดยเปิดเผยเฉพาะครั้งที่ 1, ส่วนครั้งที่ 2 ยังไม่เปิดเผยในเวลานี้รอเวลาอันเหมาะสม)
https://www.facebook.com/123613731031938/posts/3727071230686152/
https://mgronline.com/onlinesection/detail/9630000133139

[15] คำพิพากษาศาลแพ่ง คดีหมายเลขดำที่ 242/2482 คดีหมายเลขแดงที่ 404/2482

[16] พระสุทธิอรรถนฤมนตร์ (สุทธิ เลขยานนท์) “บันทึกเรื่องการถูกให้ออกจากราชการและกลับเข้ามาใหม่”, ในหนังสือ “เที่ยวเมืองพระร่วง” พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พระสุทธิอรรถนฤมนตร์ พิมพ์ครั้งที่ 10, 1,000 เล่ม, พ.ศ. 2521 (โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ), เลขหมู่หนังสือ 915.9365 หน้า 61-65

[17] สังศิต พิริยะรังสรรค์, ทุนนิยมขุนนางไทย พ.ศ. 2475-2504, จัดพิมพ์โดยสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, พิมพ์ที่โรงพิมพ์เทพประทานพร, พ.ศ. 2526, หน้า 140-145

[18] ผาณิต รวมศิลป์,เรื่องเดิม, หน้า 111-112

[19] กรมทะเบียนการค้า, กระทรวงพาณิชย์, รายงานการประชุมของบริษัท ไทยนิยมพาณิชย์ จำกัด พ.ศ. 2483

[20] กรมทะเบียนการค้า, กระทรวงพาณิชย์, รายงานการประชุมของบริษัท ไทยนิยมประกันภัย จำกัด พ.ศ. 2483

[21] กรมทะเบียนการค้า, กระทรวงพาณิชย์, รายงานการประชุมของธนาคารเอเซียเพื่ออุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม พ.ศ. 2483

[22] ผาณิต รวมศิลป์,เรื่องเดิม, หน้า 130

[23] สังศิต พิริยะรังสรรค์, ทุนนิยมขุนนางไทย พ.ศ. 2475-2504, จัดพิมพ์โดยสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, พิมพ์ที่โรงพิมพ์เทพประทานพร, พ.ศ. 2526, หน้า 147-156

[24] กรมทะเบียนการค้า, กระทรวงพาณิชย์, รายงานการประชุมประจำปีของบริษัท ไทยนิยมพาณิชย์ จำกัด พ.ศ. 2483-2492

[25] กรมทะเบียนการค้า, กระทรวงพาณิชย์, รายงานการประชุมประจำปีของบริษัท ไทยนิยมพาณิชย์ จำกัด, วันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2493

[26] กรมทะเบียนการค้า, กระทรวงพาณิชย์, รายงานการประชุมประจำปีของบริษัท ไทยนิยมพาณิชย์ จำกัด, วันที่ 27 กุมภาพันธ์​พ.ศ. 2494

[27] กรมทะเบียนการค้า, กระทรวงพาณิชย์, รายงานการประชุมประจำปีของบริษัทไทยนิยมบางรัก จำกัด พ.ศ.2493-2500
โดย บริษัทไทยนิยมบางรักจำกัดเร่ิมขาดทุนตั้งแต่ปีพ.ศ. 2497ในระหว่างปีพ.ศ. 2497-2500บริษัทมียอดขาดทุนสุทธิประจำปีพ.ศ. 2497เท่ากับ 83,065บาท,พ.ศ. 2498ขาดทุนสุทธิ 1,382,236บาท,พ.ศ. 2499ขาดทุนสุทธิ 1,518,682บาทและพ.ศ. 2500ขาดทุนสุทธิ 557,632บาท
บริษัท ไทยนิยมบางรัก จำกัด ปี พ.ศ. 2496 จ่ายดอกเบี้ย 513,089 บาท, พ.ศ.2497 จ่ายดอกเบี้ย 550,202 บาท, พ.ศ. 2499 จ่ายดอกเบี้ยง 238,127 บาท, และ พ.ศ. 2500 จ่ายดอกเบี้ย 250,514 บาท

[28] กรมทะเบียนการค้า, กระทรวงพาณิชย์, รายงานการประชุมประจำปีของบริษัทไทยนิยมผ่านฟ้า จำกัด พ.ศ.2494-2502
บริษัท ไทยนิยมผ่านฟ้า จำกัด เริ่มขาดทุนตั้งปี พ.ศ. 2501 โดยพ.ศ. 2497 บริษัทฯต้องชำระดอกเบี้ย 98,397 บาท, พ.ศ. 2498 ต้องชำระดอกเบี้ย 140,478 บาท, พ.ศ. 2499 ต้องชำระดอกเบี้ย 136,837 บาท, พ.ศ. 2500 ต้องชำระดอกเบี้ย 131,371 บาท, พ.ศ. 2501 ต้องชำระดอกเบี้ย 109,931 บาท
ค่าดอกเบี้ยเฉลี่ยของบริษัท ปี พ.ศ. 2497-2502 เท่ากับร้อยละ 15 ของค่าใช้จ่ายอำนวยการในแต่ละปี

 12 ก.พ. 2564 17:18   โดย: ผู้จัดการออนไลน์
หัวข้อ: ภารกิจคณะราษฎรยังไม่เสร็จ !? (ตอนที่ 15) เบื้องหลังปรีดีเป็นผู้สำเร็จราชการ
เริ่มหัวข้อโดย: story ที่ 19 กุมภาพันธ์ 2021, 20:37:24
ณ บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปีพ.ศ. 2475 ประเทศไทยได้มีความสัมพันธ์ที่กระชับแน่นแฟ้นขึ้นกับประเทศญี่ปุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังเหตุการณ์เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2476 ในการประชุมใหญ่สันนิบาตชาติเพื่อประณามญี่ปุ่นที่ได้รุกรานแมนจูเรีย ปรากฏว่าตัวแทนประเทศไทยได้สละสิทธิ์ในการลงมติประณามญี่ปุ่น สวนมติของสมาชิกสันนิบาตชาติ 42 ประเทศ หลังจากนั้นทั้งรัฐบาล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร อีกทั้งข้าราชการได้เดินทางไปเยือนที่ประเทศญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าลัทธิชาตินิยมของประเทศนั้น ได้อิทธิพลส่วนสำคัญจากประเทศญี่ปุ่น

สำหรับในเรื่องดังกล่าวนี้ บุคคลหนึ่งที่กลายเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญการเจรจาระหว่างประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่นจนได้ดิบได้ดีมากลายเป็นรัฐมนตรีของประเทศไทยได้ก็คือ“นายวนิช ปานะนนท์”ซึ่งสวมบทบาทเป็นรัฐมนตรีที่รัฐบาลญี่ปุ่นให้การสนับสนุนในขณะที่นายปรีดี พนมยงค์ได้ถูกยกฐานะให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เพื่อให้ออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและคณะรัฐมนตรี แต่นายวนิช ปานะนนท์ กลับมีจุดจบด้วยความตายอย่างมีปริศนายิ่ง

ทั้งนี้นายวนิช ปานะนนท์เกิดที่จังหวัดชลบุรีได้สอบเข้าเป็นนักเรียนนายเรือได้เมื่อปีพ.ศ. 2463ต่อมาในปีพ.ศ. 2467ได้ลาออกจากโรงเรียนนายเรือเพราะสนใจที่จะทำการค้าด้วยเพราะเวลานั้นพี่ชายคือนายขจร ปานะนนท์ได้เริ่มเปิดร้านในกรุงเทพ

นายวนิช ปานะนนท์ร่วมเป็นหุ้นส่วนกับพี่ชายทั้งสองชื่อเอส.วี.บราเดอร์สตั้งอยู่ที่ถนนมหาราชใกล้ตลาดท่าเตียนเร่ิมดำเนินการค้าเมื่อพ.ศ. 2468ผลการค้าดำเนินไปด้วยดีเมื่อดำเนินการค้าได้ประมาณ 2ปีก็เริ่มติดต่อสั่งสินค้าเองจากต่างประเทศโดยนายวนิช ปานะนนท์สนใจการค้าน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นพิเศษถึงกับสั่งซื้อและรับเป็นสมาชิกหนังสือข่าวเกี่ยวกับการอุตสาหกรรมและการค้าน้ำมันเชื้อเพลิงในต่างประเทศหลายแห่ง

โดยน้ำมันที่นายวนิช ปานะนนท์สนใจมากเป็นพิเศษก็คือน้ำมันแก๊สโซลินเข้ามาจำหน่ายในตลาดประเทศไทยทำให้การค้าขายก้าวหน้ายิ่งขึ้นเป็นลำดับ

พ.ศ. 2475 ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองนายวนิช ปานะนนท์ได้มีส่วนร่วมช่วยเหลือในการเปลี่ยนแปลงผู้หนึ่ง รัฐบาลคณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงดำริจัดตั้งองค์การน้ำมันขึ้น นายวนิชจึงเป็นผู้ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ดำเนินการนั้น และได้ถอนหุ้นและถอนตัวออกไปจากห้างหุ้นส่วน“เอส.วี.บราเดอร์ส์”ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา[1]

ในปลายปี พ.ศ. 2475 นี้เอง รัฐบาล ได้จัดส่งน.ท.หลวงจำรัสจักราวุธ, ดร.ตั้ว พลานุกรม และนายวนิช ปานะนนท์ไปดูงานตามประเทศใกล้เคียงเพื่อจัดการกับเรื่องน้ำมันเชื้อเพลิงจึงได้ไปราชการพิเศษที่สิงคโปร์,สุมาตราและยะวา

วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476นายวนิช ปานะนนท์ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น “หัวหน้าแผนกน้ำมันเชื้อเพลิง”ขึ้นอยู่ในกองบังคับการกระทรวงกลาโหมในบังคับบัญชาของปลัดกระทรวงมีหน้าที่สั่งซื้อและขายน้ำมันต่างๆให้แก่กรมกองในกระทรวงทะบวงกรมต่างๆและยังเป็นผลทำให้ราคาน้ำมันตามท้องตลาดในประเทศก็ลดถูกลงในระดับสมควรและเมื่อได้ซื้อขายแล้วจึงได้มีการสร้างถังน้ำมันขนาดใหญ่ที่ทันสมัยที่ช่องนนทรี[1]

อีก 4 ปีต่อมา วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2480นายวนิช ปานะนนท์ก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้ากรมเชื้อเพลิงกระทรวงกลาโหม [1]

แต่แล้วก็ได้เกิดเรื่องอื้อฉาวขึ้นเกี่ยวกับปัญหาการฉ้อโกงในกรมเชื้อเพลิงขึ้น โดยพล.ต.อ.อดุล อดุลเดชจรัสรองนายกรัฐมนตรีอธิบดีกรมตำรวจได้ให้การต่อคณะกรรมการตามพระราชบัญญัติอาชญากรสงครามเมื่อวันที่ 14ธันวาคมพ.ศ. 2488ความตอนหนึ่งว่า

“ในฐานะที่จอมพลป.พิบูลสงครามดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมจึงได้เขียนคำสั่งให้นายวนิชฯออกจากราชการพลโทมังกรพรหมโยธีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมในขณะนั้นได้ทำคำสั่งเสนอให้รัฐมนตรีลงชื่อคำสั่งปลดแต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมคือจอมพลป.พิบูลสงครามหาได้ลงชื่อไม่นายวนิชฯจึงอยู่ในกรมเชื้อเพลิงต่อมา”[2]

สำหรับสาเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้นพล.ต.อ.อดุล อดุลเดชจรัสให้การว่า“ทั้งนี้จะเป็นด้วยเหตุผลประการใดจอมพลป.ฯจึงกลับความเห็นที่ได้สั่งไปแล้วข้าฯไม่ทราบ”[2]

อีกเกือบ 1 ปีต่อมา วันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2481นายวนิช ปานะนนท์ได้มีบทบาทเรื่องการค้าน้ำมันกับต่างประเทศมากขึ้นโดยเป็นผู้แทนรัฐบาลไทยประชุมเรื่อง World Oil Conferenceที่เมืองโอกลาโฮมาสหรัฐอเมริกาและไปดูงานในสหรัฐอเมริกาและที่ประเทศอังกฤษ,ฝรั่งเศส,เยอรมัน,เชคโกสโลวัคเกีย,สวิสเซอร์แลนด์,เดนมาร์ค

หลังจากนั้นวันที่17 เมษายน พ.ศ. 2481รัฐบาลก็ได้ตราพระราชบัญญัติน้ำมันเชื้อเพลิงพ.ศ. 2481ขึ้นโดยให้อำนาจรัฐในการเข้าควบคุมกิจการน้ำมันเชื้อเพลิงอีกทั้งยังกำหนดให้ผู้ค้าน้ำมันเชื้อเพลิงต้องมีน้ำมันสำรองไว้กึ่งหนึ่งของจำนวนที่ขายได้ในปีหนึ่งและรัฐบาลจะเป็นผู้กำหนดราคาขายน้ำมันเอง [3]

นอกจากนั้นนายวนิช ปานะนนท์ก็ให้ความสนใจในเรื่องธุรกิจข้าวด้วยโดยวันที่ 25พฤศจิกายนพ.ศ. 2481นายวนิช ปานะนนท์เป็นหัวแรงสำคัญผู้หนึ่งร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิและความสามารถรับมอบหมายจากรัฐบาลเป็นกรรมการจัดตั้งบริษัท ข้าวไทย จำกัดขึ้น(เดิมชื่อบริษัทข้าวสยาม)และต่อมาวันที่ 13กุมภาพันธ์พ.ศ. 2482ก็ได้นายวนิช ปานะนนท์ได้เดินทางไปดูงานตลาดข้าวและการพาณิชย์ณเมืองแรงกูนรวมถึงการทำกระสอบป่านในกัลกัตตา [1]

ต่อมาวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2482นายวนิช ปานะนนท์ก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรักษาการในตำแหน่งอธิบดีกรมพาณิชย์กระทรวงเศรษฐกิจการ [1]

โดยในช่วงนี้เองด้วยมาตรการภาษีของรัฐบาล ได้บีบให้ธุรกิจโรงสีข้าวของชาวจีนต้องปิดตัวลง พ่อค้าข้าวชาวจีนจึงปล่อยเช่าโรงสีข้าวประมาณ 50 โรงให้บริษัท ข้าวไทย จำกัดดำเนินการแทน บริษัท ข้าวไทย จำกัด จึงเป็นบริษัทที่ประสบความสำเร็จทางการค้า มีผลกำไรมาก

โดยปลายปี พ.ศ. 2482 บริษัทได้เพิ่มทุนจดทะเบียนจาก 500,000 บาท เป็น 1,500,000 บาท [4],[5] และเปิดโอกาสให้เอกชนในเครือข่ายของนักการเมืองอดีตผู้ก่อการคณะราษฎรในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เข้าถือหุ้นของบริษัทได้เป็นจำนวนร้อยละ 25 ของจำนวนหุ้นทั้งหมด หุ้นที่เหลือร้อยละ 75 เป็นของรัฐบาล โดยถือในนามของกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงการคลัง [4],[6] และทำให้ผลประโยชน์การผูกขาดค้าข้าวของบริษัท ข้าวไทย จำกัดกลายเป็นผลประโยชน์สำคัญของกรรมการและผู้ถือหุ้นของนักการเมืองยุคนั้น

อีกด้านหนึ่งในปีเดียวกันนั้นเอง รัฐบาลพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนาได้จัดตั้งโรงกลั่นน้ำมันสังกัดกระทรวงกลาโหมโดยรัฐบาลได้ว่าจ้างบริษัทมิตซุย บุซซัน ไคชาเข้าดำเนินการอีกทั้งรัฐบาลไทยยังทำการตกลงกับรัฐบาลประเทศญี่ปุ่นให้ข้าราชการไทยได้ไปเรียนรู้กระบวนกลั่นน้ำมันในประเทศญี่ปุ่นจำนวน 16คนอีกด้วย[7] จึงทำให้เห็นบทบาทของนายวนิช ปานะนนท์กับประเทศญี่ปุ่นมากขึ้น

หลังจากนั้นวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2483นายวนิช ปานะนนท์ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นอธิบดีกรมพาณิชย์กระทรวงเศรษฐการปรากฏว่านายวนิช ปานะนนท์ได้เดินทางไปหาตลาดสำหรับจำหน่ายข้าวในต่างประเทศได้อีกหลายแห่งตลาดข้าวกรุงเทพฯแต่เดิมมีฐานะเพียงตลาดรองราคาข้าวจะขึ้นหรือลงต้องแล้วแต่ตลาดสิงคโปร์ราคาข้าวในกรุงเทพฯก็ขึ้นตามถ้าลงก็ลงตาม

แต่ในปี พ.ศ. 2483 และ 2484 ตลาดกรุงเทพฯ กลับเป็นตลาดนำ โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งสิงคโปร์และฮ่องกง ตรงกันข้ามตลาดนั้นกลับต้องฟังราคาข้าวจากตลาดกรุงเทพ [1]

ในบทบาททางการค้าระหว่างประเทศที่ก้าวหน้าขึ้นทั้งน้ำมันและข้าวซึ่งเป็นยุทธปัจจัยที่สำคัญอย่างยิ่งในยามสงครามโลกครั้งที่ 2 ในระหว่างปี พ.ศ. 2483-2484 บทบาทของนายวนิช ปานะนนท์จึงมีความสำคัญมากขึ้นในการเจรจาระงับข้อพิพาทระหว่างประเทศและเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศญี่ปุ่นอย่างแน่นแฟ้นกล่าวคือ

วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2483นายวนิช ปานะนนท์ได้เดินทางไปราชการดูการจัดการเศรษฐกิจในญี่ปุ่นแมนจูก๊กและจีน

วันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2484นายวนิช ปานะนนท์เป็นผู้แทนในคณะผู้แทนฝ่ายไทยลงนามสงบศึกกับฝรั่งเศสบนเรือรบ “นาโตริ”ที่เมืองไซ่ง่อน

วันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2484นายวนิช ปานะนนท์เป็นผู้มีอำนาจเต็มแทนรัฐบาลไทยในการประชุมสันติภาพ (ระงับข้อพิพาทระหว่างไทยกับอินโดจีน)ณกรุงโตเกียวโดยฝ่ายฝรั่งเศสได้มอบดินแดนฝั่งขวาของแม่น้ำโขงบางส่วนคืนให้แก่ไทยฝ่ายไทยจึงจัดการปกครองเป็น 4จังหวัดคือจังหวัดพิบูลสงครามจังหวัดพระตะบองจังหวัดนครจัมปาศักดิ์และจังหวัดลานช้างหลังสงครามมีการสร้างอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิขึ้นเป็นที่ระลึกถึงเหตุการณ์ครั้งนี้และเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้หลวงพิบูลสงครามได้เลื่อนยศเป็น “จอมพล”ในวันที่ 28กรกฎาคมพ.ศ. 2484 [8]

ความพึงพอใจต่อผลงานความสำเร็จของนายวนิช ปานะนนท์ในครั้งนั้นปรากฏว่าจอมพล ป.พิบูลสงครามได้มอบซองบุหรี่นาคให้นายวนิช ปานะนนท์เป็นที่ระลึกพร้อมลายเซ็นซี่งมีจารึกข้อความว่า “เจรจาดีที่โตเกียว”[9]

หลังจากนั้นวันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2484นายวนิช ปานะนนท์ได้รับการแต่งตั้งเป็นอัครราชทูตประจำกระทรวงกระทรวงการต่างประเทศ

ต่อมาประมาณเดือนต้นเดือน ตุลาคม พ.ศ. 2484 ก็ได้ปรากฏว่ารัฐบาลไทยได้ดำเนินการซื้อ “ทองคำ” จากรัฐบาลญี่ปุ่นจำนวน 145 หีบ เป็นทองคำจำนวน 288 แท่ง คิดเป็นมูลค่าประมาณ 10,000,000 บาท โดยกระทรวงการคลังได้ตั้งคณะกรรมการในการรับมอบขึ้น [10] ทั้งนี้เพราะในเวลานั้นประเทศไทยอิงค่าเงินบาทกับเงินปอนด์เสตอริงของอังกฤษ จึงต้องมีการซื้อทองคำจากญี่ปุ่นเพื่อหนุนหลังคำ้เงินบาทที่ตกต่ำลงในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง



เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้มีคำแถลงของคณะอิสระไทยเขียนจดหมายสนเท่ห์กล่าวหานายวนิช ปานะนนท์ในกรณีขายชาติต่อประเทศญี่ปุ่นและยังได้พาดพิงไปถึงจอมพล ป.พิบูลสงครามในทำนองว่านายกรัฐมนตรีไม่รู้เท่าทันการขายชาติของผู้ใต้บังคับบัญชา[11],[12]จนรัฐบาลต้องตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงดังกล่าว แต่แทนที่จะปล่อยไปตามขั้นตอนของคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีได้เอาตัวเองออกหน้านายวนิช ปานะนนท์โดยกล่าวว่าอยากจะลาออกจากนายกรัฐมนตรีในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22ตุลาคมพ.ศ. 2484ว่า

“เรื่องนี้มีประเด็นพาดพิงมาถึงผมด้วยผมเป็นคนใช้ให้นายวนิชปานะนนท์ติดต่อกับญี่ปุ่นในเรื่องต่างๆ…เมื่อเป็นเช่นนี้เครดิตของผมก็ไม่มีฉะนั้นผมจึงอยากจะขอถอนตัวจากนายกรัฐมนตรีและมอบตำแหน่งนี้ให้เพื่อนฝูงคนอื่นทำต่อไป…

ผมก็รู้ว่าพวกเราทุกคนคงไม่อยากให้ผมออกแต่เมื่อมันมีเรื่องเช่นนี้ผมก็ไม่อยากอยู่ตั้งแต่เกิดมาผมไม่เคยโกงใครเมื่อครั้งอยู่โรงเรียนเพียงแต่ก๊อปปี้ผมยังไม่เอาเลยฉะนั้นผมจึงไม่อยากจะให้ชื่อเสียงของผมต้องมาเสียเพราะเรื่องนี้”[13]

โดยในช่วงนี้เองพล.ต.อ.อดุล อดุลเดชจรัสรองนายกรัฐมนตรีอธิบดีกรมตำรวจได้ให้การต่อคณะกรรมการตามพระราชบัญญัติอาชญากรสงครามเมื่อวันที่ 13ธันวาคมพ.ศ. 2488ความตอนหนึ่งว่า

“เรื่องนายวนิชฯขายชาติซึ่งทางการตั้งกรรมการสอบสวนนั้นใจความในบัตรสนเท่ห์เป็นทำนองว่านายวนิชฯฉ้อโกงและเป็นสปายให้ญี่ปุ่นเรื่องนี้ทางการตำรวจได้สืบสวนอย่างเต็มที่แต่ไม่ได้พยานหลักฐานเพียงพอที่จะฟ้องร้องนายวนิชฯในขณะนั้นมาภายหลังเมื่อญี่ปุ่นบุกรุกเข้าเมืองไทยแล้วจึงทราบได้แน่ชัดว่านายวนิชฯเป็นสปายให้ญี่ปุ่น

ทั้งนี้ได้สังเกตว่าการประชุมปรึกษาหารือรายงานลับของรัฐบาลนั้นญี่ปุ่นมักรู้เสมอได้ทราบระแคะระคายว่านายวนิชฯนำข่าวไปแจ้งให้ญี่ปุ่นทราบแต่จะจับกุมในขณะนั้นยังไม่ได้เพราะญี่ปุ่นจะแทรกแซงเป็นเมืองขึ้น

ก่อนที่ญี่ปุ่นจะรุกรานประเทศไทยเมื่อเดือนธันวาคมพ.ศ. 2484สัก 3เดือน..ข้าพเจ้าได้สังเกตมีนายทหารญี่ปุ่นและคณะทูตญี่ปุ่นเข้ามาติดต่อจอมพลป.ฯอยู่บ่อยๆบางคราวนายวนิชฯก็มาด้วยบางคราวก็ไม่ได้มาการติดต่อนี้จะพูดว่ากระไรข้าฯไม่ทราบ”[14]

นายสุพจน์ ด่านตระกูลได้เขียนในบทนำในหนังสือคำให้การต่อศาลอาชญากรสงครามเอกสารประวัติศาสตร์เมื่อวันที่ 5ธันวาคมพ.ศ. 2544ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการเคลื่อนกำลังกองทัพของญี่ปุ่นเข้ามายังประเทศไทยเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 นั้นเป็นการรุกรานประเทศไทย หรือว่าเข้ามาตามความตกลง (เป็นการส่วนตัว) กับจอมพล ป.พิบูลสงครามนายกรัฐมนตรีและมีใครบ้างรู้เห็นเป็นใจกันแน่นั้นมีดังนี้

วันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 เวลา 6.50 น.จอมพล ป.พิบูลสงครามนายกรัฐมนตรีได้เดินทางกลับจากพระตะบองเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพล.ต.อ.อดุล อดุลเดชจรัสรองนายกรัฐมนตรีอธิบดีกรมตำรวจได้รายงานเหตุการณ์และปฏิบัติการของคณะรัฐมนตรีที่ผ่านมาให้ทราบรวมทั้งคณะรัฐมนตรีคนอื่นๆก็ได้รายงานความรับผิดชอบของตนจอมพล ป.พิบูลสงครามได้ชิงตัดบทก่อนที่นายปรีดี พนมยงค์จะได้แสดงเหตุผลในที่ประชุมความว่า

“ประเดี๋ยวผมอยากจะพูดเสียก่อนคือเวลานี้กำลังรบกันอยู่เราจะให้รบต่อไปหรือจะให้หยุดเพราะที่เราพูดกันอยู่ทุกวินาทีนี้คนต้องตายเราจะให้หยุดหรือจะให้รบต่อไปส่วนเรื่องอื่นนั้นเอาไว้ทีหลังไม่อย่างั้นทหารรบกันตายนี่ก็ละลายไปกองพันหนึ่งแล้วที่ปัตตานี”

ทั้งนี้พลตรีชาย อุบลเดชประชารักษ์อดีตนายทหารกองข่าวทหารบกได้ระบุตัวเลขความเสียหายในการปกป้องปิตุภูมิของทหารหาญแห่งปัตตานีว่าดังนี้

“ญี่ปุ่นได้ยกพลขึ้นบกเข้ายึดศาลาลกลางและสถานที่ต่างๆ ตั้งแต่เวลา 04.00 น. ของวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 ทั้งนี้เพราะหน่วยทหารตั้งห่างจากตัวเมืองออกไปตั้ง 16 กิโลเมตร ดังนั้นน.อ.หลวงสุนาวินวัฒน์ข้าหลวงประจำจังหวัดจึงส่งตำรวจและลูกเสือเข้าต่อต้านญี่ปุ่นก่อนในระยะแรก

อีกหนึ่งชั่วโมงต่อมาจึงได้ปะทะกับกองกำลังทหารไทยหน่วยทหารราบ ร.พัน 42 ภายใต้บังคับบัญชาของพ.อ.ขุนอิงคยุทธบริการ (ซึ่งตายในที่รบ)ร่วมด้วยเยาวชนทหารหน่วยที่ 55ปัตตานีซึ่งรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับกองพันทหารราบผลปรากฏว่านายทหารนายสิบและพลทหารตาย 24คนเยาวชนตาย 6คนบาดเจ็บ 30คน”

ซึ่งสำหรับประเด็นนี้แสดงเป็นที่น่าสังเกตว่าคำกล่าวของจอมพลป.พิบูลสงครามอ้างในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีว่า“ละลายไปกองพันหนึ่ง”นั้นเป็นตัวเลขที่มากเกินเลยไปกว่าสถานการณ์ที่เป็นจริงราวกับเป็นอุบายกดดันต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้ตกใจและยอมจำนนแก่ญี่ปุ่นหรือไม่

ในขณะที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่อ้างถึงข้างต้นนั้นพล.ต.อ.อดุล อดุลเดชจรัส ได้อ่านโทรเลขของพระรามอินทราให้ที่ประชุมฟังว่า

“ได้รับโทรศัพท์จากตำรวจสวายดอนแก้วแจ้งว่า 7.00น.เศษมีทหารญี่ปุ่นมีรถรบประมาณ 100คันพร้อมด้วยปืนใหญ่บุกเข้ามาในสวายดอนแก้วแล้วมาหยุดที่เครื่องกีดขวางยังไม่มีการยิงกันแปลว่ายังไม่ได้ล้ำเข้ามา”

แต่ในการประชุมคณะรัฐมนตรีจอมพลป.พิบูลสงครามนายกรัฐมนตรีกลับกล่าวตัวเลขรถรบของญี่ปุ่นมากกว่าที่ได้รับรายงาน ปรากฏหลักฐานเป็นบันทึกในการประชุมความว่า

“นี่เราจะต้องบอกให้ประชาชนทราบไหม? ประเดี๋ยวเขาจะตกใจกันรถรบเข้ามาตั้ง 500-600คันนี่เราเห็นจะต้องออกแถลงการณ์”

และในรายงานการประชุมคณะรัฐมนตรีบันทึกต่อไปถึงคำกล่าวของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี พูดกับนายวนิชปานะนนท์ความว่า

“โทรศัพท์พูดกับสถานทูต (สถานทูตญี่ปุ่น-ผู้เขียน)ซิรถรบเข้ามาที่พระตะบองจะให้หยุดที่ไหนกำลังเคลื่อนที่เข้ามาเรื่อยๆราว 600คัน”

หลังจากนั้นนายวนิชปานะนนท์ได้ออกไปโทรศัพท์แต่ก็ไม่ปรากฏในบันทึกการประชุมคณะรัฐมนตรีว่าญี่ปุ่นตอบว่าอย่างไร

สำหรับประเด็นนี้นายปรีดี พนมยงค์ได้บันทึกในหนังสือหลักฐานสำคัญบางประการในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2ว่าดังนี้

“นายวนิชปานะนนท์ออกไปโทรศัพท์แต่ไม่ปรากฏในบันทึกการประชุมครม.ว่าฝ่ายทูตญี่ปุ่นตอบว่าอย่างไรเพราะฝ่ายญี่ปุ่นย่อมรู้จำนวนทหารที่เขาใช้ในการรุกรานประเทศไทยด้านพระตะบองวันนั้นยิ่งกว่าที่นายวนิชฯจะไปบอกเขาเพราะถ้าบอกจำนวนถูกต้องก็เป็นการแสดงว่านายวนิชฯรู้จำนวนรถได้เท่ากับญี่ปุ่นแต่ถ้านายวนิชฯบอกจำนวนผิดไปมากญี่ปุ่นก็จะวินิจฉัยความสามารถของนายวนิชฯในกิจการสงคราม”

ทั้งนี้นายวนิช ปานะนนท์เป็นน้องเขยของพล.ร.อ.สินธุ์ กมลนาวิน (ขณะเกิดเหตุดำรงยศเป็นพล.ร.ท.)หรือหลวงสินธุสงครามซึ่งเป็นรัฐมนตรีร่วมรัฐบาลจอมพลป.ฯเช่นกันและยังดำรงตำแหน่งเป็นแม่ทัพเรืออีกด้วย

ในวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484พล.ร.อ.สินธุ์ กมลนาวินได้เข้าร่วมประชุมคณะรัฐมนตรีฉุกเฉินเมื่อเวลา 10.00น.นายกรัฐมนตรีถามว่า “ถูกจับหรือ” (มาเข้าร่วมประชุมช้าเพราะถูกญี่ปุ่นจับ)

พล.ร.อ.สินธุ์ฯตอบว่า“ครับถูกจับที่บางปูตี 5มีเรือใหญ่เข้ามาจอดที่หน้าสะพานทีเดียวเข้าใจว่าจะเข้ามาในสันดอนแล้วหรือจะยังไม่เข้าก็ไม่ทราบ”

สำหรับกรณีการอ้างว่าถูกจับของพล.ร.อ.สินธุ์ฯนั้นพล.ต.อ.อดุล อดุลเดชจรัส ได้ตั้งข้อสังเกตว่าน่าจะเป็นการสมยอมให้จับ เพื่อให้ความสะดวกในทางการทหารแก่ญี่ปุ่นพล.ต.อ.อดุล อดุลเดชจรัสให้การต่อคณะกรรมการตามตามพระราชบัญญัติอาชญากรสงครามด้วยว่าพล.ร.ท.สินธุ์ฯมีความสนิทสนมกับชายญี่ปุ่นเป็นที่ทราบกันทั่วไปทั้งภายในและภายนอกประเทศโดยสหประชาชาติลงความเห็นว่าพล.ร.ท.สินธุ์ฯเป็นหัวหน้าในการสนับสนุนญี่ปุ่นเพราะพล.ร.ท.สินธุ์ซึ่งอยู่ที่สัตหีบแทนที่จะกลับด้วยเครื่องบินที่กองทัพอากาศไปรับแต่กลับเดินทางโดยรถยนต์แล้วถูกทหารญี่ปุ่นจับที่บางปู

เช่นเดียวกับกรณีที่จอมพล ป.ไม่อยู่ในพระนครในวันที่ญี่ปุ่นบกพลขึ้นประเทศไทยซึ่งจอมพลป.ก็ไม่กลับโดยเครื่องบินที่คณะรัฐมนตรีส่งไปรับการกลับล่าช้าก็ทำให้เกิดการสู้รบไปก่อนสักช่วงเวลาหนึ่ง

นายสุพจน์ ด่านตระกูลได้วิเคราะห์ในบทนำของหนังสือคำให้การต่อศาลอาชญากรสงครามว่ากรณีที่จอมพล ป.ฯไม่อยู่ในพระนครในวันที่ญี่ปุ่นยกลพลขึ้นประเทศไทยมีผลดีแก่ตัวจอมพล ป.ฯดังนี้

1.ประวัติศาสตร์ไม่ตำหนิจอมพล ป.ฯว่าไม่ต่อสู้ญี่ปุ่น
2.ญี่ปุ่นไม่ตำหนิจอมพล ป.ว่าไม่ซื่อสัตย์

ในกรณีกระแสข่าวที่ว่าจอมพล ป.ฯร่วมมือกับโตโจนายกรัฐมนตรีญีปุ่นอย่างลับๆนั้นได้เปิดเผยในเวลาต่อมาในคำฟ้องของอัยการโจทก์ต่อจอมพล ป.ฯในข้อหาอาชญากรสงครามมีความบางตอนดังนี้

“(1) เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2484 และเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2484 เวลากลางวัน จำเลยได้กล่าวในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ชักจูงอุบายด้วยประการต่างๆ ให้รัฐมนตรีเห็นดีเห็นชอบกับความคิดของจำเลยในการที่จะให้ประเทศไทยเข้าร่วมทำสงครามเข้าข้างญี่ปุ่น โดยจำเลยได้อ้างเหตุจูงใจเป็นใจความว่า ถ้าเข้ากับญี่ปุ่นรบอังกฤษจะเสียหายน้อยกว่า ถ้ารบชนะจะได้ดินแดนเก่าที่เสียไปกลับคืนมาด้วย”[15]

ต่อมาวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2484 ฝ่ายไทยได้ยินยอมลงนามในข้อตกลงระหว่างไทยและญี่ปุ่น คือ ฝ่ายไทยจะอนุญาตให้กองทหารญี่ปุ่นผ่านดินแดนของประเทศไทยไปได้ ให้ความสะดวกและหลีกเลี่ยงการเป็นปฏิปักษ์ต่อกันโดยการตกลงกันระหว่างเจ้าหน้าที่ทั้งสองประเทศ โดยที่ญี่ปุ่นให้ประกันเอกราช อธิปไตย และเกียรติยศของประเทศจะได้รับความเคารพ[16]

นอกจากนั้นนายทวี บุณยเกตุเลขาธิการคณะรัฐมนตรีในขณะนั้นได้บันทึกเหตุการณ์ความตอนหนึ่งในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10ธันวาคมพ.ศ.​2484ความว่า

“นายกรัฐมนตรี:ใคร่จะชี้แจงเป็นเรื่องลับอย่างไรก็ตามญี่ปุ่นไม่ได้บังคับแค่ในการปรับปรุงคณะรัฐมนตรีนั้นตามนโยบายเดิมเราตั้งตัวเป็นกลางรัฐมนตรีก็ดีเจ้าหน้าที่ก็ดีต้องทำให้สมนโยบาย

แต่เดี๋ยวนี้นโยบายของเราได้เปลี่ยนแปลงไปแล้วเราจำเป็นจะต้องปรับปรุงให้เข้ากับฝ่ายญี่ปุ่นได้ผู้ที่เข้ากับเขาไม่ได้คือคุณวิลาศ (นายวิลาศโอสถานนท์)มีพี่เมียเป็นอธิบดีกรมโฆษณาการจุงกิงเมียเป็นลูกเซียวฮวดเส็งได้เรียกมาชี้แจงก็บอกว่าไม่มีอะไรยินดีจะพ้นตำแหน่งไปเพื่อชาติและได้ยื่นใบลาแล้ว

ส่วนคุณหลวงประดิษฐ์มนูธรรมเขาก็เคารพในส่วนตัวและความรู้แค่พูดกันไม่ใคร่ลงตัวต้องพูดกันยืดยาวต่างมีเทียวโอรี(หลักการ,ทฤษฎี)เขาไม่ได้บอกให้ออกแค่ผมเห็นว่าควรปรับปรุง”[15]

นั่นย่อมแสดงอย่างชัดเจนว่า ณ วันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2484 ฝ่ายญี่ปุ่นยังไม่ได้มีเงื่อนไขให้หลวงประดิษฐ์มนูธรรม หรือนายปรีดี พนมยงค์ออกจากตำแหน่งทางการเมืองในคณะรัฐมนตรี

ถ้าเช่นนั้น อะไรคือสาเหตุที่ทำให้นายปรีดี พนมยงค์ต้องออกไปจนพ้นจากคณะรัฐมนตรีหลังจากนั้น

ปรากฏว่านายทวี บุณยเกตุเลขาธิการคณะรัฐมนตรีๆในขณะนั้น ได้บันทึกเหตุการณ์สำคัญไว้มีความตอนหนึ่งซึ่งเกี่ยวกับนโบายการกู้เงินและการพิมพ์ธนบัตรของญี่ปุ่นของกระทรวงการคลังดังนี้

“ระหว่างวันที่11-12ธันวาคมพ.ศ.2484คือภายหลังจากการที่ประเทศไทยได้เซ็นสัญญายอมให้ญี่ปุ่นผ่านประเทศไทยได้ไม่กี่วันรัฐบาลญี่ปุ่นก็ได้เริ่มเจรจาขอกู้เงินจากไทยงวดแรกเพื่อใช้จ่ายในกิจการทหารของญี่ปุ่นนายปรีดีพนมยงค์รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้เสนอความเห็นต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีว่า

การที่จะให้รัฐบาลญี่ปุ่นกู้เงินไปใช้จ่ายในกิจการทหารของเขานั้นเข้าใจว่าคงจะไม่กู้เพียงแค่จำนวนนี้แต่จะขอกู้มาอีกเรื่อยๆไม่มีที่สิ้นสุดตามความจำเป็นในทางการทหารของเขา

หากเราให้ก็ต้องพิมพ์ธนบัตรเพิ่มขึ้นทำให้มีธนบัตรหมุนเวียนในท้องตลาดมากขึ้นอย่างรวดเร็วจะเป็นผลเสียหายทางเศรษฐกิจคือจะทำให้เกิดเงินเฟ้อจึงเห็นว่าควรให้ทหารญี่ปุ่นพิมพ์ธนบัตรของเขาขึ้นใช้เองในกองทัพของเขาเรียกว่าInvasion Notes(ธนบัตรที่ฝ่ายเข้ายึดครองพิมพ์ออกมาใช้)จะดีกว่า

ทั้งนี้เพื่อว่าเมื่อสงครามเสร็จสิ้นลงแล้วเราจะได้ประกาศยกเลิกธนบัตรเหล่านี้เมื่อเสร็จสงครามแล้วการเงินและการเศรษฐกิจของประเทศก็ะจะได้ไม่ถูกกระทบกระเทือนและจะได้ไม่เกิดเงินเฟ้อขึ้น

นายกรัฐมนตรีได้กล่าวแย้งว่าการที่จะปฏิบัติตามความเห็นและตามข้อเสนอของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังนั้นแม้จะเป็นการป้องกันมิให้เกิดเงินเฟ้อขึ้นได้ก็ตามแต่ก็เท่ากับเป็นการแสดงว่าเราได้เสียเอกราชและอธิปไตยไปแล้วจึงไม่เห็นด้วย

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจึงแถลงค้านว่าก็การที่เรายอมให้ทหารญี่ปุ่นเข้ามาอยู่เต็มบ้านเต็มเมืองและทำอะไรได้ต่างๆนั้นไม่ได้แปลว่าเราได้เสียเอกราชและอธิปไตยไปแล้วหรือ

ในเรื่องนี้มีการถกเถียงกันอย่างรุนแรงระหว่างนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแต่ในที่สุดนายกรัฐมนตรีก็ได้ยืนยันในความเห็นที่จะให้ญี่ปุ่นยืมเงินบาทโดยพิมพ์ธนบัตรออกใช้ให้มากขึ้นตามความจำเป็น”[15]

(มีต่อ)

19 ก.พ. 2564 โดย: ผู้จัดการออนไลน์
หัวข้อ: (ต่อ)ภารกิจคณะราษฎรยังไม่เสร็จ !? (ตอนที่ 15) เบื้องหลังปรีดีเป็นผู้สำเร็จราชการ
เริ่มหัวข้อโดย: story ที่ 19 กุมภาพันธ์ 2021, 20:38:40
นอกจากนั้นยังมีอีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญคือที่รัฐบาลญี่ปุ่นได้เสนอให้รัฐบาลไทยรับหลักการในเรื่องเงินตราสามประการคือ

(ก) ให้กำหนดค่าเงินบาทเท่ากับเงินเยน คือในอัตราแลกเปลี่ยน 1 บาท ต่อ 1 เยน

(ข) การชำระเงินระหว่างประเทศญี่ปุ่นและประเทศไทยให้ชำระเงินด้วยเงินเยน และ

(ค) ให้ตั้งธนาคารกลางขึ้นเป็นเจ้าหน้าที่เงินตรา โดยให้มีที่ปรึกษาและหัวหน้าหน่วยงานต่างๆเป็นชนชาติญี่ปุ่น[17]

ปรากฏว่าพระองค์เจ้าวิวัฒนไชย ไชยันต์ ซึ่งเป็นที่ปรึกษาการคลัง ของนายปรีดี พนมยงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ทรงเห็นว่าข้อเสนอแรกของญี่ปุ่นเป็นการกำหนดค่าเงินบาทให้ต่ำกว่าความเป็นจริงไปกว่าร้อยละ 33 เพราะในขณะนั้นเงินบาทมีค่าสูงกว่าเงินเยน (คือ 1 บาทแลกได้ 1.5507 เยน) แต่เมื่อรัฐบาลญี่ปุ่นยืนยันเป็นเด็ดขาดในข้อเสนอนี้รัฐบาลก็ต้องยอมรับไป

สำหรับข้อเสนอข้อสองนั้นรัฐบาลต้องยอมรับโดยปริยาย เพราะการสงครามในขณะนั้นบังคับมิให้มีการค้าขายติดต่อกับประเทศใดอีกได้นอกจากประเทศญี่ปุ่น

แต่สำหรับข้อเสนอข้อที่สามนั้นรัฐบาลไทยมิได้ยอมรับในทันที เพราะจะเท่ากับว่ายอมให้ญี่ปุ่นเข้ามาควบคุมเงินตราและเครดิตขอไทยโดยตรง อันเป็นความประสงค์ของญี่ปุ่นในขณะนั้น โดยพระองค์เจ้าวิวัฒนไชยได้ทรงวางแผนร่างพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2485 อย่างเร่งด่วนพระองค์เองให้เป็นผลสำเร็จ เพื่อไม่ให้ญี่ปุ่นเข้ามาแทรกแซงการเงินของประเทศไทย [17]

อย่างไรก็ตามการเจรจาที่รุกคืบฝ่ายไทยนั้นนายวนิช ปานะนนท์ได้กลายเป็นบุคคลที่มีความสำคัญในการเจรจาร่วมกับไทยญี่ปุ่นโดยเมื่อวันที่ 11ธันวาคมพ.ศ. 2484นายวนิช ปานะนนท์ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการผสมระหว่างไทย-ญี่ปุ่น [1]

หลังจากนั้นเพียงวันเดียวปรากฏว่าวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2484นายปรีดี พนมยงค์ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติเงินตรา (ฉบับที่ 8)พ.ศ. 2484ที่กำหนดให้ค่าเงินบาทไทยนั้นจะต้องเทียบกับทองคำหรือเงินตราต่างประเทศที่หนุนหลังไม่ใช่พิมพ์ธนบัตรโดยไร้กฎเกณฑ์ใดๆ [18]

การวางรากฐานกฎหมายดังกล่าวเอาไว้ล่วงหน้า เป็นผลทำให้ในเวลาต่อมาพระองค์เจ้าวิวัฒนไชย ไชยันต์ ได้ทรงเจรจากับฝ่ายญี่ปุ่นจนยอมตกลงให้ฝ่ายไทยใช้เงินเยนซึ่งญี่ปุ่นเครดิตบัญชีธนาคารแห่งประเทศไทยไว้นั้น ซื้อทองคำเก็บไว้ได้เป็นครั้งคราว ทำให้ทุนสำรองเงินตราของไทยมีค่าสูงขึ้นยิ่งกว่าที่จะเก็บไว้เป็นเงินเยน และก็ได้มาบางส่วนเท่าที่การขนส่งในระหว่างสงครามจะอำนวยให้ ส่วนที่เหลือตกค้างอยู่ในประเทศญี่ปุ่นนั้น เมื่อเสร็จสงครามแล้วทางไทยก็ได้รับคืนมาในที่สุด แทนที่จะได้เงินเยนซึ่งแทบไร้ค่าหลังสงครามโลกครั้งที่สอง

อย่างไรก็ตามความขัดแย้งในด้านการเงินและการคลัง เป็นหัวใจสำคัญอย่างยิ่งต่อการเอื้อประโยชน์ของการเข้ามาของญี่ปุ่น จากคำให้การของพล.ต.อ.อดุล อดุลเดชจรัสรองนายกรัฐมนตรีอธิบดีกรมตำรวจ พบว่าหลังจากนั้นญี่ปุ่นไม่พอใจในบทบาทของนายปรีดี พนมยงค์ และอาจมีการรายงานเรื่องภายในคณะรัฐมนตรีไปให้ฝ่ายญี่ปุ่นได้รับทราบ ดังปรากฏคำให้การของพล.ต.อ.อดุล อดุลเดชจรัสคณะกรรมการตามตามพระราชบัญญัติอาชญากรสงคราม ความว่า

“ข้าพเจ้าได้ไปที่วังสวนกุหลาบ ซึ่งเป็นที่พักของนายกรัฐมนตรีในเวลานั้น ได้พบนายกรัฐมนตรีกับนายวนิช ปานะนนท์ นายวนิชฯได้พูดว่าทางฝ่ายญี่ปุ่น มีความรังเกียจหลวงประดิษฐ์มนูธรรม และนายวิลาศ โอสถานนท์ เพราะสองคนนี้มีความคิดเอนเอียงไปทางอังกฤษ คณะรัฐมนตรีมีความคิดเห็นว่าร่วมกับญี่ปุ่นด้วยประการใดๆก็ทำไปไม่สะดวก เพราะสองคนนี้มีความคิดเห็นไม่ตรงกับญี่ปุ่น

เขาจะให้สองคนนี้ออกจากคณะรัฐมนตรีเฉพาะหลวงประดิษฐ์มนูธรรมนั้นฝ่ายญี่ปุ่นเสนอว่าควรแต่งตั้งให้เป็นคณะผู้สำเร็จราชการแผ่นดินที่ญี่ปุ่นมีความประสงค์จะให้หลวงประดิษฐ์มนูธรรมเป็นคณะผู้สำเร็จราชการนั้นข้าพเจ้าคิดว่าหลวงประดิษฐ์มนูธรรมยังเป็นผู้มีอิทธิพลข้าราชการและประชาชนนับถืออยู่มากถ้าให้เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแล้วจะได้พ้นจากหน้าที่การเมืองและญี่ปุ่นคงคิดว่าจะไม่ทำให้ประชาชนเห็นว่าญี่ปุ่นรังแกหลวงประดิษฐ์มนูธรรม”[15]

วันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2484 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบให้นายปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตามความเห็นของจอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี และเป็นผลทำให้นายปรีดี พนมยงค์ ต้องพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังโดยทันที [19]

17 ธันวาคม พ.ศ. 2484นายวนิช ปานะนนท์ได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีและรัฐมนตรีสั่งราชการกระทรวงการคลังและกระทรวงพาณิชย์ [1] โดยต่อมาเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2484น.อ.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ร.น.รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมได้แจ้งผลการสอบสวนความบริสุทธิ์ของนายวนิช ปานะนนท์ต่อกรณีมีจดหมายสนเท่ห์ที่ได้มาตั้งแต่เดือนตุลาคมพ.ศ. 2484ความตอนหนึ่งว่า

“มีกิจการที่ควรจะกล่าวอยู่ 2ประการก็คือในระหว่างที่นายวนิชไปดำเนินการเจรจาในเรื่องการไกล่เกลี่ยกรณีพิพาทกับอินโดจีนนั้นประการหนึ่งและอีกประการหนึ่งก็คือรัฐบาลไทยได้ซื้อทองจากประเทศญี่ปุ่นอีกส่วนหนึ่ง

ทั้งสองอย่างนี้มีการกล่าวหาและกรรมการได้สอบสวนแล้วปรากฏจากผลของกรรมการสอบสวนว่าเท่าที่ในระหว่างการกระทำการไปนั้นก็ได้กระทำไปภายในกรอบคำสั่งของผู้บังคับบัญชา...ส่วนเกี่ยวกับทางกรมตำรวจนั้นก็ไม่ปรากฏว่ามีเรื่องราวอะไรที่ต้องดำเนินการต่อไป” [20]

ต่อมาวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2484 รัฐบาลไทยได้ทำพิธีลงนามร่วมเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นที่อุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หลังจากนั้นสถานการณ์ผลจากสงครามรุนแรงขึ้น วันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2485 รัฐบาลไทยจึงได้ถลำลึกลงไปลงนามเป็นพันธมิตรทางการทหารกับฝ่ายอักษะอย่างเต็มตัว โดยมีการลงนามโดยผ่านสถานทูตญีปุ่นและเยอรมันประจำกรุงเทพมหานคร และได้ยกเลิกความสัมพันธ์กับประเทศกลุ่มฝ่ายสัมพันธมิตรทั้งหมด

หลังจากนั้นอีกหนึ่งเดือนนายวนิช ปานะนนท์ จนได้รับเครื่องราชอิสสริยาภรณ์ซุยโฮ ชั้นหนึ่งจากญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2485

นับจากนั้นเป็นต้นมานายวนิช ปานะนนท์ได้เป็นบุคคลสำคัญในการเจรจาระหว่างไทยกับญี่ปุ่นในหลายมิติเป็นลำดับ กล่าวคือ

เมื่อวันที่ 28มีนาคมพ.ศ. 2485นายวนิช ปานะนนท์ได้รับการแต่งตั้งเป็นหัวหน้าคณะทูตเศรษฐกิจไทยไปเจรจาการเศรษฐกิจและการคลังกับรัฐบาลญี่ปุ่นณกรุงโตเกียวต่อมาในวันที่ 22พฤษภาคมพ.ศ. 2485นายวนิช ปานะนนท์ได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการพิจารณาการเงินของชาติและวันที่25พฤษภาคมพ.ศ. 2485นายวนิช ปานะนนท์ได้รับการแต่งตั้งเป็นอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศกระทรวงพาณิชย์ [1]

นอกจากนั้น ตามคำให้การของนายทวี บุณยเกตุในฐานะอดีตเลขาธิการคณะรัฐมนตรีสมัยนั้นได้ให้การไว้ต่อคณะกรรมการตามพระราชบัญญัติอาชญากรสงครามเมื่อวันที่ 23ตุลาคมพ.ศ. 2488ความตอนหนึ่งว่า

“ตามปกติจอมพลป.พิบูลสงครามมักใช้หลวงวิจิตรวาทการนายวนิชปานะนนท์นายพลตรีประยูรภมรมนตรีนายพลตรีไชยประทีปเสนพระบริภัณฑ์ยุทธกิจพลเรือโทสินธุ์กมลนาวินไปติดต่อกับฝ่ายญี่ปุ่นและฝ่ายอักษะท่าทีของพวกนี้รับใช้อยู่นี้นิยมชอบชอบฝ่ายญี่ปุ่นแต่พระบริภัณฑ์ยุทธกิจท่าทีไม่ปรากฏชัด” [21]

สอดคล้องกับคำให้การของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา อดีตผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้ทรงให้การเอาไว้ต่อคณะกรรมการตามพระราชบัญญัติอาชญากรสงครามเมื่อวันที่ 19ตุลาคมพ.ศ. 2488ความตอนหนึ่งถึงคนในรัฐมนตรีหรือบุคคลที่สนิทชิดชอบกับจอมพลป.ที่มีความนิยมชอบชอบฝ่ายญี่ปุ่นและอักษะความตอนหนึ่งว่า

“ฝ่ายที่นิยมอักษะและพูดว่าฝ่ายอักษะจะต้องชนะสงครามแน่นอนและฝ่ายอังกฤษและอเมริกาจะต้องพ่ายแพ้แน่มี 1)นายประยูรภมรมนตรี 2)หลวงพรหมโยธี 3)หลวงสินธุสงครามชัย 4)หลวงวิจิตรวาทการ 5)ขุนนิรันดรชัย 6)พลตรีไชยประทีปเสนผู้ที่นิยมญี่ปุ่นออกหน้าออกตาก็มีหลวงวิจิตรวาทการนายวนิชปานะนนท์หลวงสินธุสงคราม...ส่วนขุนนิรันดรชัยนั้นต้องการให้สงครามยืดเยื้อไปอีกนานๆจะได้ทำการค้าขายได้ต่อไปอีก”[22]

โดยเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ขึ้นแล้ว รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามได้ดำเนินนโบายที่เอื้ออำนวยต่อญี่ปุ่นหลายประการ ดังเช่น

ดำเนินการควบคุมและยึดบริษัทน้ำมันที่สำคัญ 2 บริษัทคือ บริษัท สแตนดาร์ด แวคัม ออยส์ (Standard Vacum Oil Co., Ltd.) และบริษัท เชลล์ (Shell Co., Ltd.) และรัฐบาลเข้าทำการกลั่นเอง[16] และทำการขยายโรงกลั่นทั้ง 2 ให้ทันสมัยได้รับความช่วยเหลือจากญี่ปุ่น โดยแห่งหนึ่งอยู่ที่ตำบลช่องนนทรี อีกแห่งหนึ่งอยู่ที่บางจาก ปรากฏว่าน้ำมันจากโรงกลั่นทั้ง 2 นี้ถูกนำมาใช้ในการทหารซึ่งญี่ปุ่นต้องการมากในขณะนั้น[23]

เช่นเดียวกับธุรกิจค้าข้าว ภายหลังจากการที่เจ้าของโรงสีข้าวต้องถูกบีบด้วยมาตรการทางภาษีจนต้องปิดกิจการ และบังคับปิดกิจการ จนโรงสีข้าวทั้งหลายต้องเอาโรงสีมาให้บริษัท ข้าวไทย จำกัดเช่าไปดำเนินการแบบผูกขาดกิจการค้าข้าวแทน [24] และต่อมารัฐบาลได้ตกลงใจให้ “สิทธิการส่งข้าวออกนอกประเทศแก่ญี่ปุ่น” คือ บริษัทมิตซุยและบริษัทมิตซูบิชิ [25]

นอกจากนั้นสำนักงานธนาคารไทย ได้มีส่วนในการจัดให้ธนาคารไทย 3 ธนาคาร อันได้แก่ ธนาคารเอเซียเพื่ออุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม (จัดตั้งด้วยเงินทุนของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง, ธนาคารนครหลวงไทย (จัดตั้งด้วยเงินทุนของขุนนิรันดรชัยและคณะ), และธนาคารมณฑล (จัดตั้งด้วยเงินทุนของรัฐบาลและบริษัท ข้าวไทย จำกัด)ได้ร่วมกันให้ธนาคารโยโกฮามาสเปซี กู้เงินจำนวนมากถึง 10,000,000 บาท เพื่อช่วยส่งเสริมการค้ากับญี่ปุ่นมิให้ติดขัด[26]

โดยเฉพาะอย่างยิ่งธนาคารมณฑล

ซึ่งก่อตั้งเมื่อวันที่ 17มกราคมพ.ศ. 2485นั้นมีทุนจดทะเบียนก่อตั้งด้วยทุนมากถึง 10,000,000บาทโดยกระทรวงการคลังถือหุ้นร้อยละ 50.65และบริษัทข้าวไทยจำกัดถือหุ้นร้อยละ 45.17มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นฐานการเงินให้บริษัท ข้าวไทย จำกัด ในการส่งข้าวขายให้กับญี่ปุ่น[27]

โดยฐานสำคัญของทั้งบริษัท ข้าวไทย จำกัด และธนาคารมณฑลนั้นล้วนแล้วแต่มีนายวนิช ปานะนนท์เป็นกรรมการบริษัททั้งสิ้นยังไม่นับว่านายวนิช ปานะนนท์นั้นเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญต่อการสนับสนุนน้ำมันสำหรับการเป็นยุทธปัจจัยให้กับญี่ปุ่นอีกด้วย

จนในที่สุดวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ.2486นายวนิช ปานะนนท์ก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง [1]

ต่อมาวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2487พล.ต.อ.อดุลฯรองนายกรัฐมนตรีและอธิบดีกรมตำรวจได้สั่งจับกุมนายวนิชฯในข้อหาทุจริตควบคุมตัวไว้สอบสวนที่กองตำรวจสันติบาลโดยที่จอมพล ป.พิบูลสงครามไม่สามารถจะช่วยอะไรได้ ซึ่งต่างจากทุกครั้งที่ผ่านมาที่จอมพล ป.พิบูลสงครามออกหน้ารับแทนเองทั้งหมด

ส่วนนายพลอาเคโตะ นากามูระตำแหน่งแม่ทัพญี่ปุ่นในประเทศไทยได้บันทึกถึงสาเหตุของการที่นายวนิช ปานะนนท์ถูกสอบสวนด้วยข้อหาการกระทำความผิดทางกฎหมายเกี่ยวกับ“การค้าทองคำ”ซึ่งทางฝ่ายญี่ปุ่นได้พากเพียรขอร้องต่อฝ่ายไทยให้ปฏิบัติกับนายวนิช ปานะนนท์อย่างมีเมตตาธรรม[28]

โดยในระหว่างการสอบสวนนั้นเองจากบันทึกข้อความของร.ต.อ.เฉียบ ชัยสงค์ได้ระบุถึงช่วงเวลาการสอบสวนของนายวนิช ปานะนนท์ความตอนหนึ่งว่า

นายวนิช ปานะนนท์ส่ายหน้าแล้วหยิบซองบุหรี่นาค ซึ่งเป็นของที่ระลึกจากจอมพลป.พิบูลสงครามว่า“เจรจาดีที่โตเกียว”แล้วกล่าวว่า

“ผมได้ซองบุหรี่นี้เป็นที่ระลึกพิเศษทีเดียวแต่ลายเซ็นอันนี้ก็ช่วยอะไรผมไม่ได้“[9]

โดยร.ต.อ.เฉียบ ชัยสงค์เจ้าพนักงานสอบสวนยังได้บันทึกต่ออีกว่า

“ข้าพเจ้าสงสารเขาแต่ก็ช่วยอะไรไม่ได้เสียจริงๆแม้แต่เขาจะร้องขอให้ข้าพเจ้าโทรศัพท์ไปที่บ้านเพื่อขอร้องให้ภรรยาสุดที่รักของเขาตำน้ำพริกส้มมะขามส่งไปให้กินในเย็นวันนั้นข้าพเจ้าผู้มีวินัยจัดก็มิได้ผ่อนผันให้เขาเสียเลยและต่อมาไม่นานนักเขาก็จากโลกนี้ไปอย่างไม่มีวันจะฟื้นขึ้นมาอีก”[9]

ภายหลังจากการที่นายวนิช ปานะนนท์ถูกคุมขังเพื่อทำการสอบสวนอยู่ประมาณปีเศษต่อมาวันที่ 21พฤษภาคมพ.ศ. 2487นายวนิชฯได้ถึงแก่กรรมโดยรัฐบาลประกาศอย่างเป็นทางการว่าเป็นการฆ่าตัวตายด้วยการแขวนคอซึ่งเรื่องนี้ฝ่ายญี่ปุ่นไม่มีใครเชื่อจึงได้ยื่นเรื่องขอเข้าทำงานสอบสวน

อย่างไรก็ดีนายพลอาเคโตะ นากามูระ ได้กล่าวว่าเรื่องจบลงโดยที่ฝ่ายครอบครัวของนายวนิช คือ “หลวงสินธุ์สงครามชัย” ในฐานะพี่เขยของนายวนิชได้มีหนังสือตอบทุกฝ่ายว่า ทางครอบครัวของนายวนิชไม่มีอะไรติดใจ และไม่มีความประสงค์ให้มีการพิสูจน์ความจริงใดๆเพิ่มเติม[28]

ข้อสังเกตประการหนึ่งที่ควรบันทึกเอาไว้คือนายวนิช ปานะนนท์เสียชีวิตวันที่ 21พฤษภาคมพ.ศ. 2487 (ในสมัยรัฐบาลจอมพลป.พิบูลสงคราม)แต่กว่าจะได้จัดงานในฌาปนกิจศพคือวันที่ 27มีนาคมพ.ศ. 2490 (ในสมัยรัฐบาลพลเรือตรีถวัลย์ธำรงนาวาสวัสดิ์)หรือเวลาห่างกันประมาณ 2ปี 10เดือน

ด้วยเพราะระยะเวลานานมากนับจากวันเสียชีวิตของนายวนิช ปานะนนท์ ถึงวันจัดงานฌาปนกิจศพแต่กลับไม่ปรากฏคำไว้อาลัยในหนังสืองานฌาปนกิจศพลจากผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในขณะนั้นและรวมถึงไม่มีคำไว้อาลัยจากอดีตนายกรัฐมนตรีคนใดในหนังสืองานฌาปนกิจศพเล่มดังกล่าวนี้เลยคงมีแต่คำไว้อาลัยและขอบคุณจากนายสิงห์ ไรวาหรือพระนรราชจำนงปลัดกระทรวงเศรษฐการที่เคยทำงานร่วมกันมาเท่านั้น[1]

ส่วนสาเหตุการเสียชีวิตที่แท้จริงนั้นไม่มีใครทราบ แต่นายพลอาเคโตะ นากามูระก็ได้บันทึกสันนิษฐานว่าพล.ต.อ.อดุล อดุลเดชจรัส น่าจะเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง[28]

และหากสมมุติว่าจะเป็นกรณีการฆาตกรรมก็ต้องพิจารณาต่อไปว่าในความเป็นจริงแล้วใครจะได้ประโยชน์มากที่สุดจากบุคคลที่ถูกขังอยู่ในเรือนจำและกำลังถูกสอบสวนในเรื่องการทุจริตค้าทองคำที่เกิดขึ้นแต่ถูกอำพรางว่าเป็นการฆ่าตัวตาย

เพราะข้อสันนิษฐานที่ว่ารัฐบาลอยู่เบื้องหลังการฆาตกรรมนายวนิช ปานะนนท์ เพื่อกำจัดสายลับญี่ปุ่นนั้นมีความสมเหตุสมผลมากเพียงใดหรือไม่ เพราะอย่างไรเสียนายวนิช ปานะนนท์ ก็อยู่ในเรือนจำอยู่แล้วไม่สามารถก่อให้เกิดอันตรายกับรัฐบาลหรือขบวนการเสรีไทยได้ ดังนั้นจึงยังไม่สามารถดตัดข้อสันนิษฐานอีกเรื่องหนี่งคือ “การถูกฆ่าตัดตอน” มิให้สาวถึงผู้ที่เกี่ยวข้องอื่นๆได้ด้วยเช่นกัน

ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

อ้างอิง
[1] ประวัตินายวนิช ปานะนนท์, ประชุมพงศาวดารภาคที่ 39 เรื่องจดหมายเหตุของคณะบาดหลวงฝรั่งเศส ซึ่งเข้ามาตั้งครั้งกรุงศรีอยุธยาตอนแผ่นดินพระเจ้าเอกทัศ กับครั้งกรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทรตอนต้น ภาค 6, พิมพ์เป็นที่ระลึกในงานฌาปนกิจศพ นายวนิช ปานะนนท์, ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2490

[2] คณะกรรมการดำเนินงานฉลอง 100 ปี ชาตกาล นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส, คำให้การต่อศาลอาชญากรสงคราม เอกสารประวัติศาสตร์,พิมพ์ครั้งแรก พฤศจิกายน 2545, พิมพ์ที่เจริญวิทย์การพิมพ์, เลขมาตฐานสากลประจำหนังสือ 974-7834-35-9 หน้า 166
http://www.openbase.in.th/files/pridibook011.pdf

[3] ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติน้ำมันเชื้อเพลิง พุทธศักราช 2481, เล่ม 56, วันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2481, หน้า 327-333
https://dl.parliament.go.th/backoffice/viewer2300/web/previewer.php

[4] สังศิต พิริยะรังสรรค์, ทุนนิยมขุนนางไทย พ.ศ. 2475-2504, จัดพิมพ์โดยสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, พิมพ์ที่โรงพิมพ์เทพประทานพร, พ.ศ. 2526, หน้า 100-106

[5] กรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์, งบดุลของบริษัท ข้าวไทย จำกัด, 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2482 บริษัทข้าวไทยได้เพิ่มทุนขึ้นเป็น 6,000,000 บาท ในปี พ.ศ. 2489 กรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์, รายงานการประชุมของบริษัท ข้าวไทย จำกัด พ.ศ. 2489

[6] สมบุญ ไผทฉันท์, ผู้จัดการสมาคมผู้ส่งข้าวออกต่างประเทศ (อดีตเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทข้าวไทย ปี พ.ศ. 2482-2515 ตำแหน่งสุดท้ายเป็นผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายปกครองและเลขนุการของบริษัทข้าวไทย), สัมภาษณ์วันที่ 26 ตุลาคม 2522

[7] รัศมี ชาตะสิงห, “บทบาทของพลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนาในระยหกปีแรกของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง (พ.ศ. 2476-2481),วิทยานิพนธ์ อักษรศาสตรมหาบัณฑิต แผนกวิชาประวัติศาสตร์ บัณฑิตยวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2521 หน้า 490

[8] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าพระราชทานยศ จอมพล จอมพลเรือและจอมพลอากาศ แก่นายพลตรี หลวงพิบูลสงคราม ด้วยคธาจอมพล, เล่มที่ 58 วันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2484 หน้า 981-984
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2484/A/981.PDF

[9] บันทึกข้อความของ ร.ต.อ.เฉียบ ชัยสงค์ ภายหลังถูก พ.ท.ผิน ชุณหะวัณ มีคำสั่งปลดอออกจากราชการเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490

[10] หนังสือพิมพ์ศรีกรุง, ข่าวทองคำจะถึงแล้ว ทางการญี่ปุ่นให้ความอารักขาในการนำส่ง ทางเราได้จัดตั้งคณะกรรมการรับมอบแล้ว, ปีที่ 22 ฉะลับที่ 4774 วันพุธที่ 8 ตุลาคม 2484,หน้า 11 ต่อหน้าหลัง

[11] พีระ เจริญวัฒนนุกูล, การ(บ่น)ลาออกแต่ไม่ยอมออก เครื่องมือทางการเมืองของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม, ศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม 2559, เผยแพร่ลงเว็บไซต์ศิลปวัฒนธรรม,วันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2563
https://www.silpa-mag.com/history/article_43489

[12] บัตรสนเท่ห์และการตั้งการสืบสวนกรณีดังกล่าวได้จาก (3) สร. 0201.2.7/49 เรื่อง นายวนิช ปานะนนท์, นายยล สมานนท์ กับพวกทุจริตเรื่องขายทองของธนาคารไทยจำกัด (14 ก.ย.-20 มี.ค. 2488). ทั้งนี้ ดูความร้อนรนใจของญี่ปุ่นที่จะช่วยเหลือนายวนิชในกรณีดังกล่าวได้จากเอกสารชุดเอกสารที่ฝ่ายอเมริกันตัดสัญญาณได้จาก Tsubokami Teiji (19 September 1941). in The “Magic” Background of Pearl Harbour. (Washington, D.C. : Department of Defense, 1977), V. 3 Appendix, p. A-649.

[13] รายงานประชุมคณะรัฐมนตรี ครั้งที่ 56/2484 วันที่ 22 ตุลาคม 2484

[14] คณะกรรมการดำเนินงานฉลอง 100 ปี ชาตกาล นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส, คำให้การต่อศาลอาชญากรสงคราม เอกสารประวัติศาสตร์,พิมพ์ครั้งแรก พฤศจิกายน 2545, พิมพ์ที่เจริญวิทย์การพิมพ์, เลขมาตฐานสากลประจำหนังสือ 974-7834-35-9 หน้า 165

[15] สุพจน์ ด่านตระกูล, บทนำวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2544 หนังสือคำการต่อศาลอาชญากรสงคราม เอกสารประวัติศาสตร์,พิมพ์ครั้งแรก พฤศจิกายน 2545, คณะกรรมการดำเนินงานฉลอง 100 ปี ชาตกาล นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโสพิมพ์ที่เจริญวิทย์การพิมพ์, เลขมาตฐานสากลประจำหนังสือ 974-7834-35-9 หน้า 1-25

[16] คณะกรรมการดำเนินงานฉลอง 100 ปี ชาตกาล นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส, คำให้การต่อศาลอาชญากรสงคราม เอกสารประวัติศาสตร์,พิมพ์ครั้งแรก พฤศจิกายน 2545, พิมพ์ที่เจริญวิทย์การพิมพ์, เลขมาตฐานสากลประจำหนังสือ 974-7834-35-9 หน้า 64
http://www.openbase.in.th/files/pridibook011.pdf

[17] วิวัฒนไชยานุสรณ์, ธนาคารแห่งประเทศไทย พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงพระศพ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิวัฒนไชย ณ เมรุ วัดเทพศิรินทราวาส , วันเสาร์ที่ 1 เมษายน พ.ศ.2505, หน้า 29-33

[18] รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร, ครั้งที่ 2/2484 (วิสามัญครั้งที่ 3) สมัยที่ 2 ชุดที่ 3 วันอังคารที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2484 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม, หน้า 36-38
https://dl.parliament.go.th/bitstream/handle/lirt/73406/2_24841212_wb.pdf?sequence=1

[19] รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร, ครั้งที่ 3/2484 (วิสามัญครั้งที่ 3) สมัยที่ 2 ชุดที่ 3 วันอังคารที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2484 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม, หน้า 46-49
https://dl.parliament.go.th/bitstream/handle/lirt/73407/3_24841216_wb.pdf?sequence=1

[20] รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร, ครั้งที่ 4/2484 (วิสามัญครั้งที่ 3) สมัยที่ 2 ชุดที่ 3 วันอังคารที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2484 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม, หน้า 61-63
https://dl.parliament.go.th/bitstream/handle/lirt/73408/4_24841223_wb.pdf?sequence=1

[21] คณะกรรมการดำเนินงานฉลอง 100 ปี ชาตกาล นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส, คำให้การต่อศาลอาชญากรสงคราม เอกสารประวัติศาสตร์,พิมพ์ครั้งแรก พฤศจิกายน 2545, พิมพ์ที่เจริญวิทย์การพิมพ์, เลขมาตฐานสากลประจำหนังสือ 974-7834-35-9 หน้า 138-139
http://www.openbase.in.th/files/pridibook011.pdf

[22] เรื่องเดียวกัน, หน้า 124-125

[23] ผาณิต รวมศิลป์, “นโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจสมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามตั้งแต่ พ.ศ. 2481 ถึง พ.ศ. 2487” วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต แผนกวิชาประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, พ.ศ. 2521 หน้า 372-375

[24] สังศิต พิริยะรังสรรค์, ทุนนิยมขุนนางไทย พ.ศ. 2475-2504, จัดพิมพ์โดยสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, พิมพ์ที่โรงพิมพ์เทพประทานพร, พ.ศ. 2526, หน้า 97

[25] ผาณิต รวมศิลป์, “นโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจสมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามตั้งแต่ พ.ศ. 2481 ถึง พ.ศ. 2487” วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต แผนกวิชาประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, พ.ศ. 2521 หน้า 76

[26] ธนาคารแห่งประเทศไทย, “ประวัติธนาคารแห่งประเทศไทย”(พระนคร:ธนาคารแห่งประเทศไทย, 2513), อนุสรณ์พระราชทานเพลิงศพ พลเอกเภา บริภัณฑ์ยุทธกิจ ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2523, หน้า 2

[27] พรรณี บัวเล็ก, วิเคราะห์นายทุนธนาคารพาณิชย์ของไทย พ.ศ. 2475-2516, สำนักพิมพ์สร้างสรรค์วิชาการจำกัด ร่วมกับ โครงการหนังสือเล่ม สถาบันวิจัยจุฬาลงกรณ์พิมพ์ครั้งที่ 1 ธันวาคม 2529, จำนวน 1,000 เล่ม, ISBN 974-567-234-2, หน้า 49-50

[28] นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, ไทย-ญี่ปุ่นในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง จากสายตาของแม่ทัพญี่ปุ่นประจำประเทศไทย, นำเสนอในงานวิชาการในปี พ.ศ. 2532 จัดพิมพ์โดยมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ปี 2534,หน้า 39-40
https://so02.tci-thaijo.org/index.php/japanese/article/download/52233/43310

 19 ก.พ. 2564  โดย: ผู้จัดการออนไลน์
หัวข้อ: ภารกิจคณะราษฎรยังไม่เสร็จ (ตอนที่ 16) ศูนย์บัญชาการเสรีไทยใกล้พระราชวัง ตอนแรก
เริ่มหัวข้อโดย: story ที่ 06 มีนาคม 2021, 11:16:30
จากบันทึกของนายปรีดี พนมยงค์ ในเรื่องบางเรื่องเกี่ยวกับพระบรมวงศานุวงศ์ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ในเรื่องการได้รับเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ความตอนหนึ่งว่า

“ฝ่ายญี่ปุ่นที่เข้ายึดประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 นั้น ได้แจ้งต่อ จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีว่า ข้าพเจ้าเป็นผู้ขัดขวางไมตรีระหว่างญี่ปุ่นกับไทย โดยให้ไปอยู่ในตำแหน่งอื่นที่ไม่มีอำนาจบริหาร

จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ได้ให้ พล.ต.อ.อดุลเดชจรัส แจ้งแก่ข้าพเจ้าว่า ขอให้ข้าพเจ้าลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ถ้าข้าพเจ้าเห็นชอบด้วย ก็จะเสนอสภาผู้แทนราษฎรให้ลงมติแต่งตั้งข้าพเจ้าเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในตำแหน่งที่ว่างอยู่

ข้าพเจ้าจึงตกลงยอมให้เสนอชื่อข้าพเจ้าต่อสภาผู้แทนราษฎรดังกล่าวนั้น เพราะข้าพเจ้าเห็นว่า ตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์โดยเนื้อแท้แล้วไม่มีภาระมาก จึงต้องช่วยให้ข้าพเจ้ามีเวลาที่จะจัดขบวนต่อต่านญี่ปุ่นเป็นการลับ ซึ่งต่อมามีชื่อว่า “ขบวนการเสรีไทย” และข้าพเจ้าก็ได้พ้นจากการอยู่ในรับบาลที่ร่วมมือกับฝ่ายญี่ปุ่น”[1]

โดยในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ประธานผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้ทรงมอบหมายให้นายปรีดี พนมยงค์ ช่วยเป็นภาระถวายความปลอดภัยแด่สมเด็จพระพันวัสสาพระบรมอัยยิกาเจ้า

จากคำของหม่อมเจ้าหญิงอัปภัศราภา เทวกุล ปรากฏในบันทึกบางตอนในหนังสือสมเด็จพระศรีวรินทิราฯ สมเด็จพระพันวัสสาพระบรมอัยยิกาเจ้า ได้กล่าวถึงความสัมพันธ์ในการถวายความปลอดภัยของนายปรีดี พนมยงค์ ที่ได้อัญเชิญเสด็จอพยพไปที่พระราชวังบางปะอิน จังหวัดอยุธยา ความตอนหนึ่งว่า

“ไม่มีใครเข้าใจว่า เหตุใด ดร.ปรีดี ซึ่งเป็นหัวหน้าคนสำคัญในการบั่นทอนอธิปไตยของพระมหากษัตริย์กลับมาขออาสาเป็นธุระในการที่ถวายความปลอดภัยความสะดวกแด่สมเด็จพระอัยยิกาเจ้าหลายคนแคลงใจ หลายคนชื่นชม แต่จะแคลงใจหรือชื่นชมก็ตาม ความปลอดภัยของสมเด็จพระอัยยิกาเจ้าอยู่เหนือสิ่งใด สำหรับผู้ที่มีหน้าทีรับผิดชอบในขบวนเสด็จอพยพ”[2]

หม่อมเจ้าหญิงอัปภัศราภา เทวกุล ยังได้ทรงเล่าท่าทีของนายปรีดี พนมยงค์และภรรยา ถึงการพบกันครั้งแรกว่า

“ที่อยุธยา ดร.ปรีดี และภรรยาได้เข้าเฝ้า กราบทูลซักถามถึงความสะดวกสบายอยู่เป็นเนืองนิจ จนคนที่คลางแคลงอยู่บางคนชักจะไม่แน่ใจ เพราะกิริยาพาทีในเวลาเข้าเฝ้านั้นเรียบร้อนนุ่มนวลนัก นัยตาก็ไม่มีแววอันควรจะระแวง”[2]

หม่อมเจ้าหญิงอัปภัศราภา เทวกุล ได้ทรงเล่าว่า สมเด็จฯ ทรงมีพระราชปฏิสันฐานกับนายปรีดี พนมยงค์ ด้วยดี เมื่อทรงทราบว่าพักอยู่ที่คุ้มขุนแผน ก็ทรงหันไปทางข้าหลวงตรัสสั่งว่า “ดูข้าวปลาไปให้เขากินนะ” เวลาเย็นๆ ผู้สำเร็จราชการฯก็เชิญเสด็จประทับรถยนต์ประพาสรอบๆ เกาะ จนครั้งหนึ่งสมเด็จฯมีกระแสพระราชดำรัสครั้งหนึ่งว่า “หลานฉันยังเด็กนะ ฝากด้วย” ผู้สำเร็จราชการฯ ก็กราบทูลสนองพระราชประสงค์เป็นอย่างดีด้วยความเคารพ ทำให้ผู้ที่ชื่นชมก็ทวีความชื่นชมยิ่งขึ้น ผู้ที่คลางแคลงใจก็เริ่มจะไม่แน่ใจตนเอง

อีกเหตุการณ์หนึ่ง ที่หม่อมเจ้าหญิงอัปภัศราภา เทวกุล ได้ทรงเล่าเอาไว้คือ

วันหนึ่งที่วัดมงคลบพิตร จังหวัดอยุธยาสมเด็จฯ ตรัสว่า “ฉันจะไปปิดทอง” ตรัสแล้วเสด็จไปทรงซื้อทางที่วางขายอยู่ในบริเวณนั้น เมื่อเสด็จไปถึงองค์พระปรากฏว่าทรงปิดไม่ถึง ผู้สำเร็จราชการฯ จึงกราบทูลว่า “ข้าพระพุทธเจ้าจะไปปิดถวาย” สมเด็จฯจึงประทานทองให้ไปพร้อมตรัสว่า “เอาไปปิดเถอะ คนที่ทำบุญด้วยกัน ชาติหน้าก็จะเป็นญาติกัน”

เล่าลือกันว่ากระแสพระราชดำรัสนั้น ทำให้ผู้สำเร็จราชการฯซาบซึ้งมาก พวกที่ชื่นชมก็สรรเสริญพระปรีชาสามารถในสมเด็จฯ ว่าทรงเปลี่ยนใจคนที่เคยเขียนประกาศประณามพระราชวงศ์อย่างตรงไปตรงมา พวกที่เคลือบแคลงอยู่ก็ยังคงเฝ้าดูต่อไป

หม่อมเจ้าหญิงอัปภัศราภา เทวกุล ยังได้ทรงเล่าต่อไปว่า

“ประทับอยู่อยุธยาได้ 3 เดือน ก็ต้องทรงอพยพใหม่เพราะเกิดพายุใหญ่พัดเอาหลังคาที่ประทับพัง ต้องเสด็จคืนสู่พระนคร แต่มิได้ไปประทับที่วังสระปทุม เพราะบริเวณนั้นมีสภาพเป็นดงญี่ปุ่นเสด็จประทับที่พระตำหนักในพระบรมมหาราชวัง

สมเด็จฯ ประทับอยู่ในพระบรมมหาราชวังได้ 6 เดือน ก็ต้องตกพระทัยอย่างยิ่ง เพราะวันหนึ่ง ได้มีการทิ้งระเบิดในพระนครครั้งใหญ่ลูกระเบิดลงที่บางกอกน้อย วัดสุทัศน์ และในพระบรมมหาราชวังลงที่พระที่นั่งบรมพิมาน และพระที่นั่งพิมานรัถยา อันอยู่ขวาซ้ายของพระตำหนักที่ประทับไม่กี่เส้น

ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์จึงเชิญเสด็จหลบภัยไปประทับอยู่ที่พระราชวังบางปะอิน โดยทอดเรือพระที่นั่งประพาสแสงจันทร์ให้เป็นที่ประทับอยู่หน้าพระที่นั่งวโรภาศ พระองค์เจ้าพวงสร้อยสอางค์ประทับที่ตำหนักของสมเด็จฯ พระองค์เจ้าประดิษฐาสารีประทับที่ตำหนักพระราชชายา ข้าราชบริพารก็พักตามเรือเล็กตำหนักน้อยทั่วกันไป ม.จ.พูนพิศมัน ดิศกุล, และ ม.จ.พัฒนายุ ดิศกุล ประทับที่วัดนิเวศธรรมประวัติตรงข้ามพระราชวัง

พระราชวังบางปะอินก็กลับคืนสู่สภาพมีชีวิตขึ้นบ้าง ผู้สำเร็จราชการจอดเรือตะวันส่องแสงอยู่ที่หน้า “สภาคารราชประยูร” อันเคยเป็นที่ประทับของสมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมงกุฎราชกุมาร เขตพระราชวังบางปะอินก็เป็นเขตพระราชฐานโดยแท้จริง ผู้ใจะกล้ำกลายเข้าไปไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นพลเรือนหรือทหารทั้งไทยญี่ปุ่น พระบารมีของสมเด็จฯแผ่ครอบบางปะอินเป็นที่ร่มรื่นอยู่นานถึงเก้าเดือน

ชาวบ้านในแถบนั้นก็กลับมีขวัญดีชวนกันมาเฝ้า หาอะไรมาแสดงถวายให้ทอดพระเนตรเพื่อทรงสำราญดังที่บรรพบุรุษเคยปฏิบัติมาในกาลก่อน บางวันก็มาแข่งเรือถวายให้ทอดพระเนตร บางวันก็มาเล่นเพลงเรือถวายให้ทรงฟัง บางคืนก็มารำวงถวาย...

...ผู้สำเร็จราชการก็หมั่นเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท จนเจ้านายที่ตามเสด็จที่เคยไม่โปรดก็เริ่มจะโปรด เสด็จพระองค์ประดิษฐาเคยเล่าให้ผู้เขียนวันหนึ่งว่า “ผู้สำเร็จฯนี่เขาดีนะ เมื่อวานเดินผ่านมาเห็นขุดดินปลูกต้นไม่อยู่ เขาว่าดีได้ออกกำลัง”

วันเกิดผู้สำเร็จฯ ผู้คุมกระบวนเสด็จก็จัดให้มีการแสดงละครสิ่งละอันพันละน้อยให้เป็นการตอบแทนน้ำใจ พวกที่ชื่นชมยินดีในการกลับใจของ ดร.ปรีดีก็ชื่นชมไป ฝ่ายที่คลางแคลงและหัวแข็งก็ยังไม่ยอมลงใจสนิท เก้าเดือนในบางปะอินเป็นเก้าเดือนแห่งความสุขของทุกคนที่บางปะอินอย่างดีที่สุดที่จะหาได้ในยามสงคราม”

หม่อมเจ้าหญิงอัปภัศราภา เทวกุล ได้ทรงเล่าต่อว่าผู้สำเร็จราชการนั้นทุกคราวที่มาเฝ้า สมเด็จฯ จะทรงต้อนรับอย่างดี เคยตรัสด้วยว่า

“พ่อคุณเถอะ ฝากหลานด้วยนะ พ่อมาทำบุญกับคนแก่นี่ พ่อได้กุศล”

ผู้สำเร็จฯ ก็รับพระราชเสาวณีย์ด้วยกิริยามารยาทอันงดงาม เจ้านายทั้งหลายเห็นใจในการที่ผู้สำเร็จฯ มาอยู่ใกล้ชิดเป็นประจำทำให้อุ่นพระทัยกันทั่ว

แต่ไม่มีสักพระองค์หรือสักคนจะทราบว่าภายใน “สภาคารราชประยูร” อันเป็นที่พักของผู้สำเร็จฯนั้น คือสถานที่บัญชาการเสรีไทยในประเทศ มีเครื่องรับ-ส่งวิทยุอันทันสมัยอยู่ชั้นล่างอย่างมิดชิด [2]

และการที่เป็นสถานที่ถวายความอารักขาความปลอดภัยให้กับสมเด็จพระพันวัสสาพระบรมอัยยิกาเจ้าทำให้ “สภาคารราชประยูร” จึงกลายเป็นสถานที่บัญชาการทางวิทยุของขบวนการเสรีไทย ซึ่งฝ่ายการเมืองมองข้ามไป และไม่สามารถเข้ามาก้าวก่ายหรือแทรกแซงได้ โดยมีนายปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เป็นหัวหน้าขบวนการเสรีไทย

นายป๋วย อึ้งภากรณ์ หนึ่งในขบวนการเสรีไทยสายอังกฤษ (ใช้รหัสนามแฝงว่า “ร.ต.เข้ม เย็นยิ่ง”) ได้เป็นผู้ริเร่ิมที่ทำให้บันทึกการติดต่อทางวิทยุระหว่างอังกฤษกับขบวนการเสรีไทยในประเทศไทยเกิดขึ้นได้เป็นผลสำเร็จเป็นครั้งแรก กล่าวคือ

ในเดือน พฤศจิกายน พ.ศ. 2486 นายป๋วย อึ้งภากรณ์ (เข้ม), ประทาน เปรมกมล (แดง), สำราญ วรรณพฤกษ์ (เค็ง) [3]ได้เดินทางเข้ามาในประเทศไทย โดยการกระโดดร่มลงที่จังหวัดชัยนาท แต่ถูกเจ้าหน้าที่ไทยและชาวบ้านช่วยกันล้อมจับกุมตัวไว้ และถูกตั้งข้อหาว่า “ทรยศต่อชาติ และทำจารกรรม” ร.ต.เข้ม เย็นยิ่ง ถูกซ้อมและผลักเข้าสู่กอหนาม และนำตัวมาขังล่ามโซ่ไว้บนศาลาวัดวังน้ำขาว อำเภอวัดสิงห์ เป็นเวลาหลายวัน ก่อนถูกส่งมาลงเรือยนตร์ลำน้ำเจ้าพระยาเข้ามาที่ตึกสันติบาลในกรุงเทพฯ[4],[5]

แต่ด้วยความช่วยเหลือของตำรวจที่เคยเป็นนักเรียนอัสสัมชัญด้วยกัน ร.ต.เข้ม จึงได้มีโอกาสเข้าพบนายปรีดี พนมยงค์ ทำให้ฝ่ายเสรีไทยเริ่มส่งวิทยุไปยังกองทัพอังกฤษที่อินเดียสำเร็จเป็นครั้งแรก เป็นเหตุให้หน่วยทหารจากอังกฤษและสหรัฐอเมริการสามารถลอบเข้ามาปฏิบัติงานในแผ่นดินไทยได้สะดวกขึ้น[4],[5]

นายป๋วย อึ้งภากรณ์ ได้บันทึกเอาไว้ถึงความสัมพันธ์ระหว่างเสรีไทยกับพระบรมวงศานุวงศ์ความตอนหนึ่งว่า

ระหว่างที่นายป๋วย อึ้งภากรณ์ ได้ส่งวิทยุดังกล่าวข้างต้นนั้น ทางการทหารอังกฤษได้ส่งเครื่องบินมาทิ้งระเบิดในประเทศเป็นระยะๆ หัวหน้าเสรีไทยจึงได้มีโทรเลขแจ้งไปยังอังกฤษว่า บางทีเครื่องบินทหารอังกฤษมาทิ้งระเบิดเปะปะ ขอให้ระมัดระวังให้ดี เฉพาะอย่างยิ่งอย่าทิ้งที่พระบรมมหาราชวัง หรือวังของเจ้านายต่างๆ ให้หลีกเลี่ยงพระบรมวงศานุวงศ์ และที่ตั้งรัฐบาลกับที่ทำการเสรีไทยต่างๆ ได้แจ้งสถานที่ต่างๆ ที่ควรเลี่ยงไปอย่างชัดเจน ทางอังกฤษก็ตอบรับว่าจะปฏิบัติตาม[5]

บังเอิญในระยะนั้น มีเครื่องบินของอังกฤษบินไปทางบางปะอิน จังหวัดอยุธยา และทิ้งระเบิดด้วยแต่เคราะดีที่ไม่มีผู้ใดเป็นอันตราย รุ่งขึ้นนายป๋วยได้รับคำต่อว่าอย่างรุนแรงจากหัวหน้าเสรีไทยในเรื่องนี้ และได้ส่งคำประท้วงไปอย่างดุเดือดต่อกองบัญชาการทหารอังกฤษ ทางการอังกฤษจึงมีโทรเลขตอบขอโทษและรับรองว่าจะพยายามมิให้เกิดความพลาดพลั้งอย่างนี้ขึ้นอีก[5]

การที่เสรีไทยโดยเฉพาะหัวหน้าเสรีไทย ได้แสดงความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ ถวายความอารักขาให้พ้นภัยสงครามครั้งนั้น สมเด็จพระพันวัสสาพระบรมอัยยิกาเจ้าได้ทรงซาบซึ้งพระทัยดี และเมื่อสิ้นสงคราม ได้รับสั่งเรียกนายปรีดี พนมยงค์ไปที่ประทับและขอบใจ ซึ่งคณะเสรีไทยถือว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณเป็นอย่างยิ่ง[5]

แต่ความสัมพันธ์กลับตรงกันข้ามกัน เมื่อความขัดแย้งของจอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี กับ นายปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการนั้น ก็เริ่มมีให้เห็นเป็นระยะๆ เริ่มต้นด้วย “การลาออก” ซึ่งเป็นเครื่องมือทางการเมืองทดลองใจของจอมพล ป. พิบูลสงคราม กล่าวคือ

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2486 จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ยื่นใบลาออกตรงมายังประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ นายปรีดี พนมยงค์จึงเขียนความเห็นในบันทึกหน้าปกใบลานั้นว่า “ใบลานั้นถูกต้องตามรัฐธรรมนูญแล้วอนุมัติให้ลาออกได้” หลังจากนั้น พระองค์เจ้าอาทิตย์ฯทรงลงพระนามตาม หลังจากนั้นจึงเชิญนายทวี บุณยเกตุ ซึ่งขณะนั้นเป็นรัฐมนตรีและเลขาธิการให้วิทยุของกรมโฆษณาการประกาศการลาออกของจอมพล ป.

จอมพล ป.เมื่อทราบจากการประกาศลาออก จึงโกรธมากและเรียกใบลาออกกลับคืนสำเร็จ แล้วสั่งให้วิทยุกระจายเสียงด้วยใจความว่าการลาออกนั้นคลาดเคลื่อนไป ทำให้จอมพล ป.ฯยังครองตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไปเพราะหลักฐานการลาออกสูญหายไป จอมพล ป. จึงตำหนินายทวี บุณเกตุ ที่ให้วิทยุกระจายเสียงประกาศลาออก จึงเป็นผลทำให้นายทวี บุณยเกตุตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีและเลขาธิการคณะรัฐมนตรี

นอกจากนั้นจอมพล ป.ยังอ้างตำแหน่งผู้บังคับบัญชาการทหารสูงสุด ออกคำสั่งให้พระองค์เจ้าอาทิตย์ฯ และนายปรีดี พนมยงค์ มาประจำกองบัญชาการทหารสูงสุด คือ เท่ากับให้ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บัญชาการทหารสูงสุดและให้ไปรายงานตัวภายใน 24 ชั่วโมง

ปรากฏว่าพระองค์เจ้าอาทิตย์ฯ ได้เสด็จไปรายงานพระองค์ต่อจอมพล ป. ตามคำสั่ง แต่นายปรีดี ไม่ยอมไปโดยให้เหตุผลว่า นายปรีดีมีตำแหน่งเป็นผู้แทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงเป็นจอมทัพตามรัฐธรรมนูญ ถ้าไปรายงานตนก็เท่ากับเป็นการลดพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ลงอยู่ภายใต้ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ปรากฏว่ามีรัฐมนตรีบางคนได้ชี้แจงและขอร้องให้จอมพล ป.ฯ ถอนคำสั่งที่ว่านั้น ทำให้นายปรีดีรอดตัวไปอีกครั้งหนึ่ง [6]

แต่เหตุการณ์ในครั้งนั้นได้ทำให้นายปรีดี พนมยงค์ ทาบทามนายทวี บุณยเกตุ ซึ่งได้ลาออกจากตำแหน่งทางการเมืองมาได้เข้าร่วมเป็นกำลังสำคัญให้กับขบวนการเสรีไทยได้ในเวลาต่อมาไม่นานหลังจากนั้น [7]

ต่อมาประมาณเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2486 ได้เกิดเรื่องอีกครั้งหนึ่ง เมื่อมีข่าววิทยุต่างประเทศกระจายข่าวว่า พระเจ้าวิคตอร์เอมมานูเอล แห่งอิตาลีไม่อาจทรงเพิกเฉยต่อการดำเนินการรของมุสโสลินีที่ทำให้ชาติประสบความพ่ายแพ้ในสงคราม และนำอิตาลีไปสู่ความหายนะ พระองค์จึงรับสั่งให้มุสโสลินีเข้าเฝ้าที่พระราชวังกิรินัล แล้วผู้ที่ร่วมคิดกับพระองค์ทำการจับกุมมุสโสินีใส่รถพยาบาลจนนำตัวไปสู่ที่คุมขังแห่งหนึ่ง ครั้นแล้วพระมหากษัตริย์องค์นั้นทรงแต่งตั้งจอมพลบาโดกลิโอเป็นนายกรัฐมนตรี จัดตั้งรัฐบาลใหม่แห่งชาติอิตาเลียนขึ้น

ปรากฏว่านายปรีดี พนมยงค์ ได้ทูลพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภาเพื่อสนุกๆ (หรืออาจทดลองใจ)ว่า ต้องหาคนแก่ๆ อย่างบาโดกลิโอ แล้วทูลต่อไปว่าเมื่อตอนบ่ายที่รถไฟซึ่งนายปรีดีโดยสารมาหัวหินนั้น เห็น พล.ท.พระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร ซึ่งยืนอยู่ที่ห้วยทราย ท่านผู้ที่ชราพอๆ กับจอมพล บาโดกลิโอน่าจะทำได้ ครั้นแล้วเราก็เสสรวลกันเป็นเรื่องสนุกไม่จริงจัง[6]

ต่อมา จอมพล ป.จึงได้เรียกประชุมผู้ก่อการ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 เป็นการด่วน แจ้งว่าพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภาได้รายงานว่า นายปรีดีคิดจับตัว จอมพล ป.ฯ เหมือนที่มุสโสลินีถูกจับ โดยนายปรีดีจะให้ พล.ท.พระยาวิชิตฯเป็นผู้นำจับ จึงตั้งกรรมการสอบสอบสวนเบื้องต้นขึ้น

นายปรีดีจึงแจ้งต่อกรรมการสอบสวนว่าเป็นการพูดเล่นสนุกๆ เพราะถ้าจะจับจอมพล ป.จริงแล้วก็ไม่บอกพระองค์อาทิตย์ฯ เพราะนายปรีดียังมีเพื่อนที่ไว้ใจได้ยิ่งกว่าพระองค์อาทิตย์ฯมากนัก อีกทั้ง พล.ท.พระยาวิชิตฯนั้นชราแล้ว จะทำการอย่างที่กล่าวหาได้อย่างไร หลังคำชี้แจงดังกล่าวเรื่องนี้ก็ได้ระงับไป พระองค์เจ้าอาทิตย์ก็ทรงเจื่อนๆ กับนายปรีดี และตั้งแต่นั้นมานายปรีดีก็ต้องระวังการพูดกับพระองค์เจ้าอาทิตย์ฯ มากขึ้น[6]

ต่อมาวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2486 รัฐบาลไทย-ญี่ปุ่น ได้ลงนามในสัญญาว่าด้วยอาณาเขตประเทศไทย ทำให้ไทยได้รัฐกลันตัน ตรังกานู เคดะ ปลิส เชียงตุง เมืองพาน มาเป็นของไทย[8]

แต่ในอีกด้านหนึ่ง การก่อตัวและการขยายตัวของขบวนการเสรีไทยได้เติบโตขึ้น นายปรีดี พนมยงค์ กับเพื่อนผู้ร่วมก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งมีประสบการณ์กันมาแล้วในด้านการรักษาความลับ ได้วางแผนต่อต้านญี่ปุ่น โดยยึดหลักการเดียวกับที่ใช้ในการปฏิวัติ 2475 คือให้ผู้ร่วมใจรับผิดชอบในสายงานด้านต่างๆ โดยแต่ละสายไม่รู้เรื่องของสายอื่น นายปรีดีแต่ผู้เดียวรู้แผนรวม

ผู้ร่วมงานในขั้นต้นเป็นผู้ที่เข้าไปหานายปรีดีเอง มิได้รับการชักชวน กลุ่มผู้ก่อการฝ่ายพลเรือนที่ร่วมงานก็มี นายดิเรก ชัยนาม, นายสงวน ตุลารักษ์, นายจรูญ สืบแสง, ม.ล.กรี เดชาติวงศ์, นายสะพรั่ง เทพหัสดิน, หลวงบรรณกรโกวิท (เปาว์ จักกะพาก) นอกนั้นก็มีนายจำกัด พลางกูร, หัวหน้าคณะกู้ชาติ (ตั้งขึ้นก่อนญี่ปุ่นเข้าเมืองไทย) นายทองเปลว ชลภูมิ, นายทวี ตะเวทิกุล, นายวิจิตร ลุลิตานนท์, นายเตียง ศิริขันธ์, นายถวิล อดุล [9]

ต่อมานายทหารในคณะปฏิวัติ 2475 ได้ทยอยกันเข้าร่วมขบวนการต่อต้านญี่ปุ่น ได้แก่ พลตำรวจเอก อดุล อดุลเดชจรัส, นาวาเอกผัน นาวาจิตร, นาวาเอกสังวร สุวรรณชีพ, นาาวเอกบุง ศุภชลาศัย, นาวาเอกทหาร ขำหิรัญ, นาวาเอกชลิต กุลกำธร และภายหลังก็มีทหารและตำรวจเข้าร่วมงานมากขึ้นตามลำดับ

ในที่สุด นายปรีดี ได้มอบหน้าที่สำคัญแก่บุคคลต่อไปนี้
1) พลตำรวจเอก อดุล อดุลเดชจรัส รองหัวหน้าใหญ่ และผู้ควบคุมสายตำรวจ
2)นายดิเรก ชัยนาม หัวหน้ากองกลาง
3)นายวิจิตร ลุลิตานนท์ เลขาธิการ
4)นายทวี บุณยเกต หัวหน้าพลพรรคและผู้ติดต่อกับรัฐบาล
5)นายชาญ บุนนาค หัวหน้าหน่วยสืบราชการลับ วิทยุสื่อสาร หน่วยรับส่งคนเข้าออก หน่วยจ่ายอาวุธ
6)พลโทชิต มั่นศิลป์ สินาดโยธารักษ์ หัวหน้าฝ่ายทหารบก
7)พลเรือตรีสังวร สุวรรณชีพ หัวหน้าฝ่ายทหารเรือและหน่วยสารวัตรทหาร
8)นายทวี ตะเวทิกุล หัวหน้ากองการคลัง
9)หลวงบรรณกรโกวิท หัวหน้าการรับส่งทางเรือ
10)นายสะพรั่ง เทพหัสดิน หัวหน้าการรับส่งทางบก
11)นาวาเอกบุง ศุภชลาศัย หัวหน้าอาสาพลเรือน[9]

5 มี.ค. 2564 ผู้จัดการออนไลน์
หัวข้อ: ภารกิจคณะราษฎรยังไม่เสร็จ(ตอนที่16)ศูนย์บัญชาการเสรีไทยใกล้พระราชวัง ตอนแรก(ต่อ)
เริ่มหัวข้อโดย: story ที่ 06 มีนาคม 2021, 11:18:42
เสรีไทยยังได้ร่วมมือขยายผลของเชื่อมไปถึงแนวร่วมที่อังกฤษและสหรัฐอเมริกา โดยนายป๋วย อึ้งภากรณ์ ซึ่งเป็นสมาชิกเสรีไทย ประเทศอังกฤษได้บันทึกว่า

“เมื่อเราติดต่อทางวิทยุกับสหประชาชาติได้ไม่ช้า ทางกองบัญชาการอังกฤษก็ปรารภว่าอยากจะส่งพลจัตวาเจ๊กส์ และ พันตรี ฮอบบส์เข้ามา มาหารือและเจรจากับหัวหน้าขบวนการเสรีไทย ซึ่งหัวหน้าเสรีไทยก็ได้ตอบเชื้อเชิญให้เข้ามา

ในโทรเลขฉบับต่อมาทางอังกฤษได้ถามต่อมาว่า ในคณะของพลจัตวาเจ็กส์นั้น อยากจะให้หม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์ สวัสดิวัฒน์ ซึ่งทรงยศเป็นร้อยเอกในกองทัพอังกฤษขณะนั้นเข้ามาด้วย ไม่ทราบว่าหัวหน้าเสรีไทยจะยินดีต้อนรับหรือไม่

การที่อังกฤษมีโทรเลขถามเรื่องหม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์ สวัสดิวัฒน์(ท่านชิ้น) นี้ ผู้ที่ไม่ทราบเรื่องอาจจะประหลาดใจ เพราะท่านชิ้นก็เป็นคนไทยทำไมจะต้องถามกันด้วย น่าจะส่งเข้ามาได้ดีกว่าส่งนายทหารฝรั่งด้วยซ้ำ

คำอธิบายขก็คือ ด้านอังกฤษเข้าใจดีว่านายปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้ก่อการในคณะราษฎร เปลี่ยนแปลงการปกครองปี พ.ศ. 2475 ผู้หนึ่ง ซึ่งเปลี่ยนระบบจากสมบูรณาญาสิทธิราช มาเป็นระบบรัฐธรรมนูญ โดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข

และต่อมาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่พอพระทัยในการดำเนินงานของคณะราษฎรถึงกับทรงสละราชสมบัติ ส่วนท่านชิ้นนั้นเป็นพระเชษฐาของสมเด็จพระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 กับเป็นราชเลขานุการใกล้ชิดพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯด้วย ทางอังกฤษเกรงว่าท่านหัวหน้าเสรีไทยจะรังเกียจหรือเข้าใจผิดด้านการเมืองอย่างใดอย่างหนึ่ง จึงต้องถามก่อน

หัวหน้าเสรีไทย ได้ตอบโทรเลขไปทันทีว่าขอเชิญท่านชิ้นเสด็จเข้ามาด้วยความยินดี ใจความในโทรเลขนั้นตอนหนึ่งว่า

“เรื่องการเมืองภายในประเทศนั้นเป็นอันยุติไม่มีปัญหาอีกต่อไป เสรีไทยมีความมุ่งหมายอยู่อย่างเดียวที่จะรักษาเอกราชและอิสระภาพของประชาชาติไทยฉะนั้น คนไทยทุกคนไม่ว่าจะเป็นเจ้านายหรือราษฎรธรรมดาที่มีความรักชาติอย่างเดียวกัน ต้องถือเป็นคณะเดียวกัน มีความสามัคคีกัน เป็นหลักการใหญ่”[3]

ต่อมาท่านชิ้นได้ทรงส่งวิทยุโทรเลขของท่านเองมาอีกหนึ่งฉบับ ตรงถึงนายปรีดี พนมยงค์ ขอบใจที่หัวหน้าเสรีไทยยินดีต้อนรับ และทรงแสดงเจตนาว่าจะร่วมงานด้วยอย่างจริงใจ แต่ใคร่จะขอถามว่าเพื่อนฝูงของท่านชิ้นหลายท่านต้องโทษการเมืองอยู่ที่ เกาะตะรุเตาบ้าง บางขวางบ้าง ที่อื่นๆ บ้างนั้น นายปรีดี พนมยงค์ จะกระทำอย่างไร[3]

หัวหน้าเสรีไทยตอบไปโดยฉับพลันว่า กรมขุนชัยนาทฯ และผู้อื่นๆ ต้องโทษการเมืองอยู่ที่ตะรุเตา บางขวาง และที่อื่นนั้น ทางกรุงเทพฯ จะหาทางปลดปล่อย และมิใช่จะปลดปล่อยอย่างเดียว จะออกกฎหมายนิรโทษกรรมด้วย โอกาสที่จะกระทำได้ก็คือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ต้องกลให้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แล้วผู้สำเร็จราชการฯ แต่งตั้งนายควง อภัยวงศ์ ผู้ร่วมงานอยู่ในขณะนั้นขึ้นเป็นหัวหน้าเป็นรัฐบาลแทน”[3]

นี่คือความชัดเจนก่อนการร่วมมือระหว่างอดีตผู้นำก่อการของคณะราษฎรกับพระบรมวงศานุวงศ์เพื่อรักษาเอกราชและอิสระภาพของชาติไทยเป็นเป้าหมายสูงสุด ยุติความขัดแย้งและเยียวยาบาดแผลเรื่องราวอดีต

ท่านชิ้นและทางราชการอังกฤษ ก็มีความพอใจ คณะของพลจัตวาเจ็กส์ และท่านชิ้นจึงได้เข้ามกรุงเทพฯ และได้เข้าพบบรรดาหัวหน้าเสรีไทยหลายครั้ง

นายป๋วย อึ้งภากรณ์ บันทึกการพบกันเอาไว้บางครั้งก็คือ บนเรือซึ่งลอยลำวิ่งขึ้นลงอยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยา (ซึ่งปลอดจากญี่ปุ่น) และที่ตึกโดมของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ชั้นสอง ซึ่งใช้เป็นที่ทำการแห่งหนึ่งของขบวนการเสรีไทย (ศาสตราจารย์วิจิตร ลุลิตานนท์ เป็นเลขาธิการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองอยู่ในขณะนั้น)[3]

ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

อ้างอิง
[1] ปรีดี พนมยงค์, ความเป็นไปภายในคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์, หนังสือบางเรื่องเกี่ยวกับพระบรมวงศานุวงศ์ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2, หน้า 32
https://pridi.or.th/sites/default/files/pdf/2515-64.pdf

[2] คำของหม่อมเจ้าหญิง อัปภัศราภา เทวกุล, บางเรื่องเกี่ยวกับพระบรมวงศานุวงศ์ในระหว่างสงครามโลกครั้ง 2, “สมเด็จพระศรีสวรินทิรา”, อนุสรณ์ ในงานพระราชทานเพลิงศพ ร.ท.อู๊ด นิตยสุทธิ ต.ช.ต.ม., อดีตผู้แทนราษฎร จังหวัดนคราราชสีมา ณ ฌาปนสถาน วัดใหม่อัมพร อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา, หน้า 39-44

[3] ทศ พันธุมเสน และจินตนา ยศสุนทร, จากมหาสงครามสู่สันติภาพ, คณะกรรมการดำเนินงานโครงการฉลอง 100 ปี ชาตกาล นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส, จัดพิมพ์เนื่องในโอกาสฉลองครบรอบ 100 ปี ชาตกาล นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส (11 พฤษภาคม 2443-11 พฤษภาคม พ.ศ. 2543), ผู้จัดพิมพ์ร่วม สถาบันปรีดี พนมยงค์, ดำเนินการผลิตโดย โครงการจัดทำสื่อเผยแพร่เกียรติคุณ นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุดสสำหรับเด็กและเยาวชน และสำนักพิมพ์มูลนิธิเด็ก, ISBN 974-7833-35-2 พิมพ์ครั้งที่ 2 16 สิงหาคม พ.ศ. 2552 หน้า 63
http://www.openbase.in.th/files/pridibook013.pdf

[4] ดร.อัศวิน จินตกานนท์, สงครามโลกครั้งที่ 2 ทำไมไทยจึงไม่แพ้, วีรชนเสรีไทยกับบทบาทในการรักษาเอกราชของชาติไทย เว็บไซต์ของบริษัททีมกรุ๊ป
https://www.teamgroup.co.th/downloads/publications/book221211.pdf

[5] ป๋วย อึ้งภากรณ์, พระบรมวงศานุวงศ์ และขบวนการเสรีไทย, ธันวาคม ค.ศ. 1971,จากหนังสืออนุสรณ์ ในงานพระราชทานเพลิงศพ ร.ท.อู๊ด นิตยสุทธิ ต.ช.ต.ม., อดีตผู้แทนราษฎร จังหวัดนคราราชสีมา ณ ฌาปนสถาน วัดใหม่อัมพร อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา วันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2517, หน้า 45-48

[6] ปรีดี พนมยงค์, ความเป็นไปภายในคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์, หนังสือบางเรื่องเกี่ยวกับพระบรมวงศานุวงศ์ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2, หน้า 41-49
https://pridi.or.th/sites/default/files/pdf/2515-64.pdf

[7] ทวี บุณยเกตุ, ข้อเท็จจริงเพิ่มเติมเกี่ยวกับเหตุการณ์ในประเทศไทยระหว่างมหาสงครามโลกครั้งที่ 2, หนังสือ คำบรรยายและบทความบางเรื่องของนายทวี บุณยเกตุ, คุรุสภาจัดพิมพ์เป็นบรรณาการในงานพระราชทานเพลิงศพ นายทวี บุณยเกตุ ม.ป.ช., ท.จ.ว., ท.ม. ณ เมรุหน้าพลับพลา อิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันพุธที่ 8 มีนาคม พุทธศักราช 2515,หน้า 17-19

[8] ทศ พันธุมเสน และจินตนา ยศสุนทร, เรื่องเดียวกัน หน้า 143-144
http://www.openbase.in.th/files/pridibook013.pdf

[9] ทศ พันธุมเสน และจินตนา ยศสุนทร, เรื่องเดียวกัน หน้า 19-20

[10] ปรีดี พนมยงค์, คำปรารภตามคำร้องขอของนายกนธีร์ ศุภมงคล อดีตเลขาธิการ ส.ป.อ. และอดีตที่ปรึกษาของรัฐบาลจอมพลถนอม เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2514, อนุสรณ์ ในงานพระราชทานเพลิงศพ ร.ท.อู๊ด นิตยสุทธิ ต.ช.ต.ม., อดีตผู้แทนราษฎร จังหวัดนคราราชสีมา ณ ฌาปนสถาน วัดใหม่อัมพร อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา, หน้า 84

[11] ทศ พันธุมเสน และจินตนา ยศสุนทร, เรื่องเดียวกัน หน้า 73-74

[12]โรม บุนนาค, นักการเมืองไร้แผ่นดิน, คอลัมน์ เรื่องเก่าเล่าใหม่ หน้า 65-66 นิตยสาร all ฉบับเดือนมกราคม พ.ศ. 2550

[13] ตอนที่ 5 กบฏพระยาทรงสุรเดช, "ย้อนรอยรัฐประหารไทย" สารคดีทางดีเอ็นเอ็น: ศุกร์ที่ 25 มีนาคม 2554

[14] ราชกิจจานุเบกษา,ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องนายทหารออกจากประจำการ, เล่ม 62 ตอนที่ 9, วันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2488 หน้า 148-149
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2488/D/009/148.PDF

[15] ราชกิจจานุเบกษา, พระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดฐานกบฏและจราจล พุทธศักราช 2488, เล่ม 62 ตอนที่ 27, วันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2488 หน้า 337-341
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2488/A/027/337.PDF

[16] ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติอนุมัติพระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดฐานกบถและจราจล พุทธศักราช 2488, เล่ม 62 ตอนที่ 42, วันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2488, หน้า 479-480
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2488/A/042/479.PDF

[17] รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 16 (สมัยสามัญ สมัยที่สอง) วันพฤหัสบดีที่ 31 มกราคม พุทธศักราช 2478, หน้า 488-489
https://dl.parliament.go.th/bitstream/handle/lirt/383561/16_24770131_wb.pdf?sequence=1

[18] สุพจน์ แจ้งเร็ว, คดียึดพระราชทรัพย์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ,ศิลปวัฒนธรรม ลำดับที่ 272 ปีที่ 23 ฉบับที่ 8 มิถุนายน 2545, หน้า 62-80

[19] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสันติภาพ, เล่มที่ 62 ตอนที่ 44 วันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2488 หน้า 503-506
https://dl.parliament.go.th/bitstream/handle/lirt/235501/SOP-DIP_P_419966_0001.pdf?sequence=1

[20] ปรีดี พนมยงค์,คัดลอกบางตอนจาก สุนทรพจน์ ของนายปรีดี พนมยงค์ แสดงให้สภาผู้แทนราษฎร วันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 , อนุสรณ์ ในงานพระราชทานเพลิงศพ ร.ท.อู๊ด นิตยสุทธิ ต.ช.ต.ม., อดีตผู้แทนราษฎร จังหวัดนคราราชสีมา ณ ฌาปนสถาน วัดใหม่อัมพร อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา พ.ศ. 2517, เผยแพร่เว็บไซต์สถาบันปรีดี, หน้า 11
https://pridi.or.th/sites/default/files/pdf/2515-66.pdf

5 มี.ค. 2564  ผู้จัดการออนไลน์
หัวข้อ: ภารกิจคณะราษฎรยังไม่เสร็จ!?(ตอนที่ 15)เบื้องหลังปรีดีเป็นผู้สำเร็จราชการ(ตอนจบ)
เริ่มหัวข้อโดย: story ที่ 13 มีนาคม 2021, 11:14:09
ณ บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

ถ้าเช่นนั้น อะไรคือสาเหตุที่ทำให้นายปรีดี พนมยงค์ ต้องออกไปจนพ้นจากคณะรัฐมนตรีหลังจากนั้น

ปรากฏว่า นายทวี บุณยเกตุ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ๆในขณะนั้น ได้บันทึกเหตุการณ์สำคัญไว้มีความตอนหนึ่งซึ่งเกี่ยวกับนโยบายการกู้เงินและการพิมพ์ธนบัตรของญี่ปุ่นของกระทรวงการคลัง ดังนี้

“ระหว่างวันที่ 11-12 ธันวาคม พ.ศ. 2484 คือภายหลังจากการที่ประเทศไทยได้เซ็นสัญญายอมให้ญี่ปุ่นผ่านประเทศไทยได้ไม่กี่วัน รัฐบาลญี่ปุ่นก็ได้เริ่มเจรจาขอกู้เงินจากไทยงวดแรก เพื่อใช้จ่ายในกิจการทหารของญี่ปุ่น นายปรีดี พนมยงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้เสนอความเห็นต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีว่า
การที่จะให้รัฐบาลญี่ปุ่นกู้เงินไปใช้จ่ายในกิจการทหารของเขานั้น เข้าใจว่าคงจะไม่กู้เพียงแค่จำนวนนี้ แต่จะขอกู้มาอีกเรื่อยๆไม่มีที่สิ้นสุด ตามความจำเป็นในทางการทหารของเขา
หากเราให้ก็ต้องพิมพ์ธนบัตรเพิ่มขึ้น ทำให้มีธนบัตรหมุนเวียนในท้องตลาดมากขึ้นอย่างรวดเร็ว จะเป็นผลเสียหายทางเศรษฐกิจ คือจะทำให้เกิดเงินเฟ้อ จึงเห็นว่าควรให้ทหารญี่ปุ่นพิมพ์ธนบัตรของเขาขึ้นใช้เองในกองทัพของเขา เรียกว่า Invasion Notes (ธนบัตรที่ฝ่ายเข้ายึดครองพิมพ์ออกมาใช้)จะดีกว่า
ทั้งนี้เพื่อว่าเมื่อสงครามเสร็จสิ้นลงแล้ว เราจะได้ประกาศยกเลิกธนบัตรเหล่านี้ เมื่อเสร็จสงครามแล้ว การเงินและการเศรษฐกิจของประเทศก็จะได้ไม่ถูกกระทบกระเทือนและจะได้ไม่เกิดเงินเฟ้อขึ้น

นายกรัฐมนตรีได้กล่าวแย้งว่า การที่จะปฏิบัติตามความเห็นและตามข้อเสนอของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังนั้น แม้จะเป็นการป้องกันมิให้เกิดเงินเฟ้อขึ้นได้ก็ตาม แต่ก็เท่ากับเป็นการแสดงว่าเราได้เสียเอกราชและอธิปไตยไปแล้ว จึงไม่เห็นด้วย

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจึงแถลงค้านว่า ก็การที่เรายอมให้ทหารญี่ปุ่นเข้ามาอยู่เต็มบ้านเต็มเมืองและทำอะไรได้ต่างๆนั้น ไม่ได้แปลว่าเราได้เสียเอกราชและอธิปไตยไปแล้วหรือ

ในเรื่องนี้มีการถกเถียงกันอย่างรุนแรง ระหว่างนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แต่ในที่สุดนายกรัฐมนตรีก็ได้ยืนยันในความเห็นที่จะให้ญี่ปุ่นยืมเงินบาท โดยพิมพ์ธนบัตรออกใช้ให้มากขึ้นตามความจำเป็น”[15]
นอกจากนั้นยังมีอีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญคือที่รัฐบาลญี่ปุ่นได้เสนอให้รัฐบาลไทยรับหลักการในเรื่องเงินตราสามประการคือ

(ก) ให้กำหนดค่าเงินบาทเท่ากับเงินเยน คือในอัตราแลกเปลี่ยน 1 บาท ต่อ 1 เยน
(ข) การชำระเงินระหว่างประเทศญี่ปุ่นและประเทศไทยให้ชำระเงินด้วยเงินเยน และ
(ค) ให้ตั้งธนาคารกลางขึ้นเป็นเจ้าหน้าที่เงินตรา โดยให้มีที่ปรึกษาและหัวหน้าหน่วยงานต่างๆเป็นชนชาติญี่ปุ่น[17]

ปรากฏว่าพระองค์เจ้าวิวัฒนไชย ไชยันต์ ซึ่งเป็นที่ปรึกษาการคลัง ของนายปรีดี พนมยงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ทรงเห็นว่าข้อเสนอแรกของญี่ปุ่นเป็นการกำหนดค่าเงินบาทให้ต่ำกว่าความเป็นจริงไปกว่า 33 เปอร์เซ็นต์ เพราะในขณะนั้นเงินบาทมีค่าสูงกว่าเงินเยน (คือ 1 บาทแลกได้ 1.5507 เยน) แต่เมื่อรัฐบาลญี่ปุ่นยืนยันเป็นเด็ดขาดในข้อเสนอนี้รัฐบาลก็ต้องยอมรับไป

สำหรับข้อเสนอข้อสองนั้นรัฐบาลต้องยอมรับโดยปริยาย เพราะการสงครามในขณะนั้นบังคับมิให้มีการค้าขายติดต่อกับประเทศใดอีกได้นอกจากประเทศญี่ปุ่น

แต่สำหรับข้อเสนอข้อที่สามนั้นรัฐบาลไทยมิได้ยอมรับในทันที เพราะจะเท่ากับว่ายอมให้ญี่ปุ่นเข้ามาควบคุมเงินตราและเครดิตขอไทยโดยตรง อันเป็นความประสงค์ของญี่ปุ่นในขณะนั้น โดยพระองค์เจ้าวิวัฒนไชยได้ทรงวางแผนร่างพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2485 อย่างเร่งด่วนพระองค์เองให้เป็นผลสำเร็จ เพื่อไม่ให้ญี่ปุ่นเข้ามาแทรกแซงการเงินของประเทศไทย [17]

อย่างไรก็ตามการเจรจาที่รุกคืบฝ่ายไทยนั้น นายวนิช ปานะนนท์ ได้กลายเป็นบุคคลที่มีความสำคัญในการเจรจาร่วมกับไทยญี่ปุ่น โดยเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2484 นายวนิช ปานะนนท์ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการผสมระหว่างไทย-ญี่ปุ่น [1]

หลังจากนั้นเพียงวันเดียวปรากฏว่าวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2484 นายปรีดี พนมยงค์ ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติเงินตรา (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2484 ที่กำหนดให้ค่าเงินบาทไทยนั้นจะต้องเทียบกับทองคำหรือเงินตราต่างประเทศที่หนุนหลัง ไม่ใช่พิมพ์ธนบัตรโดยไร้กฎเกณฑ์ใดๆ [18]

การวางรากฐานกฎหมายดังกล่าวเอาไว้ล่วงหน้า เป็นผลทำให้ในเวลาต่อมาพระองค์เจ้าวิวัฒนไชย ไชยันต์ ได้ทรงเจรจากับฝ่ายญี่ปุ่นจนยอมตกลงให้ฝ่ายไทยใช้เงินเยนซึ่งญี่ปุ่นเครดิตบัญชีธนาคารแห่งประเทศไทยไว้นั้น ซื้อทองคำเก็บไว้ได้เป็นครั้งคราว ทำให้ทุนสำรองเงินตราของไทยมีค่าสูงขึ้นยิ่งกว่าที่จะเก็บไว้เป็นเงินเยน และก็ได้มาบางส่วนเท่าที่การขนส่งในระหว่างสงครามจะอำนวยให้ ส่วนที่เหลือตกค้างอยู่ในประเทศญี่ปุ่นนั้น เมื่อเสร็จสงครามแล้วทางไทยก็ได้รับคืนมาในที่สุด แทนที่จะได้เงินเยนซึ่งแทบไร้ค่าหลังสงครามโลกครั้งที่สอง



อย่างไรก็ตามความขัดแย้งในด้านการเงินและการคลัง เป็นหัวใจสำคัญอย่างยิ่งต่อการเอื้อประโยชน์ของการเข้ามาของญี่ปุ่น จากคำให้การของ พล.ต.อ.อดุล อดุลเดชจรัส รองนายกรัฐมนตรี อธิบดีกรมตำรวจ พบว่าหลังจากนั้นญี่ปุ่นไม่พอใจในบทบาทของนายปรีดี พนมยงค์ และอาจมีการรายงานเรื่องภายในคณะรัฐมนตรีไปให้ฝ่ายญี่ปุ่นได้รับทราบ ดังปรากฏคำให้การของพล.ต.อ.อดุล อดุลเดชจรัส คณะกรรมการตามตามพระราชบัญญัติอาชญากรสงคราม ความว่า

“ข้าพเจ้าได้ไปที่วังสวนกุหลาบ ซึ่งเป็นที่พักของนายกรัฐมนตรีในเวลานั้น ได้พบนายกรัฐมนตรีกับนายวนิช ปานะนนท์ นายวนิชฯ ได้พูดว่าทางฝ่ายญี่ปุ่น มีความรังเกียจหลวงประดิษฐ์มนูธรรม และนายวิลาศ โอสถานนท์ เพราะสองคนนี้มีความคิดเอนเอียงไปทางอังกฤษ คณะรัฐมนตรีมีความคิดเห็นว่าร่วมกับญี่ปุ่นด้วยประการใดๆก็ทำไปไม่สะดวก เพราะสองคนนี้มีความคิดเห็นไม่ตรงกับญี่ปุ่น

เขาจะให้สองคนนี้ออกจากคณะรัฐมนตรี เฉพาะหลวงประดิษฐ์มนูธรรมนั้น ฝ่ายญี่ปุ่นเสนอว่าควรแต่งตั้งให้เป็นคณะผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ที่ญี่ปุ่นมีความประสงค์จะให้หลวงประดิษฐ์มนูธรรม เป็นคณะผู้สำเร็จราชการนั้น ข้าพเจ้าคิดว่าหลวงประดิษฐ์มนูธรรมยังเป็นผู้มีอิทธิพล ข้าราชการและประชาชนนับถืออยู่มาก ถ้าให้เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแล้ว จะได้พ้นจากหน้าที่การเมือง และญี่ปุ่นคงคิดว่าจะไม่ทำให้ประชาชนเห็นว่าญี่ปุ่นรังแกหลวงประดิษฐ์มนูธรรม”[15]

วันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2484 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบให้นายปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตามความเห็นของจอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี และเป็นผลทำให้นายปรีดี พนมยงค์ ต้องพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังโดยทันที [19]

17 ธันวาคม พ.ศ. 2484 นายวนิช ปานะนนท์ ได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี และรัฐมนตรีสั่งราชการ กระทรวงการคลังและกระทรวงพาณิชย์ [1] โดยต่อมาเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2484 น.อ.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ร.น. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมได้แจ้งผลการสอบสวนความบริสุทธิ์ของนายวนิช ปานะนนท์ ต่อกรณีมีจดหมายสนเท่ห์ที่ได้มาตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2484 ความตอนหนึ่งว่า

“มีกิจการที่ควรจะกล่าวอยู่ 2 ประการ ก็คือ ในระหว่างที่นายวนิช ไปดำเนินการเจรจาในเรื่องการไกล่เกลี่ยกรณีพิพาทกับอินโดจีนนั้นประการหนึ่ง และอีกประการหนึ่งก็คือรัฐบาลไทยได้ซื้อทองจากประเทศญี่ปุ่นอีกส่วนหนึ่ง

ทั้งสองอย่างนี้ มีการกล่าวหาและกรรมการได้สอบสวนแล้ว ปรากฏจากผลของกรรมการสอบสวนว่า เท่าที่ในระหว่างการกระทำการไปนั้น ก็ได้กระทำไปภายในกรอบคำสั่งของผู้บังคับบัญชา... ส่วนเกี่ยวกับทางกรมตำรวจนั้น ก็ไม่ปรากฏว่ามีเรื่องราวอะไรที่ต้องดำเนินการต่อไป” [20]

ต่อมาวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2484 รัฐบาลไทยได้ทำพิธีลงนามร่วมเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นที่อุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หลังจากนั้นสถานการณ์ผลจากสงครามรุนแรงขึ้น วันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2485 รัฐบาลไทยจึงได้ถลำลึกลงไปลงนามเป็นพันธมิตรทางการทหารกับฝ่ายอักษะอย่างเต็มตัว โดยมีการลงนามโดยผ่านสถานทูตญี่ปุ่นและเยอรมันประจำกรุงเทพมหานคร และได้ยกเลิกความสัมพันธ์กับประเทศกลุ่มฝ่ายสัมพันธมิตรทั้งหมด

หลังจากนั้นอีกหนึ่งเดือน นายวนิช ปานะนนท์ จนได้รับเครื่องราชอิสสริยาภรณ์ซุยโฮ ชั้นหนึ่งจากญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2485

นับจากนั้นเป็นต้นมา นายวนิช ปานะนนท์ ได้เป็นบุคคลสำคัญในการเจรจาระหว่างไทยกับญี่ปุ่นในหลายมิติเป็นลำดับ กล่าวคือ

เมื่อวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2485 นายวนิช ปานะนนท์ ได้รับการแต่งตั้งเป็นหัวหน้าคณะทูตเศรษฐกิจไทยไปเจรจาการเศรษฐกิจและการคลัง กับรัฐบาลญี่ปุ่น ณ กรุงโตเกียว ต่อมาในวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2485 นายวนิช ปานะนนท์ ได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการพิจารณาการเงินของชาติ และวันที่25 พฤษภาคม พ.ศ. 2485 นายวนิช ปานะนนท์ ได้รับการแต่งตั้งเป็นอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ [1]

นอกจากนั้น ตามคำให้การของนายทวี บุณยเกตุ ในฐานะอดีตเลขาธิการคณะรัฐมนตรีสมัยนั้น ได้ให้การไว้ต่อคณะกรรมการตามพระราชบัญญัติอาชญากรสงคราม เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2488 ความตอนหนึ่งว่า

“ตามปกติ จอมพล ป.พิบูลสงคราม มักใช้หลวงวิจิตรวาทการ นายวนิช ปานะนนท์ นายพลตรีประยูร ภมรมนตรี นายพลตรีไชย ประทีปเสน พระบริภัณฑ์ยุทธกิจ พลเรือโทสินธุ์ กมลนาวิน ไปติดต่อกับฝ่ายญี่ปุ่นและฝ่ายอักษะ ท่าทีของพวกนี้รับใช้อยู่นี้นิยมชอบชอบฝ่ายญี่ปุ่น แต่พระบริภัณฑ์ยุทธกิจท่าทีไม่ปรากฏชัด” [21]

สอดคล้องกับคำให้การของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา อดีตผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ได้ทรงให้การเอาไว้ต่อคณะกรรมการตามพระราชบัญญัติอาชญากรสงคราม เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2488 ความตอนหนึ่งถึงคนในรัฐมนตรีหรือบุคคลที่สนิทชิดชอบกับจอมพล ป. ที่มีความนิยมชอบชอบฝ่ายญี่ปุ่นและอักษะความตอนหนึ่งว่า

“ฝ่ายที่นิยมอักษะและพูดว่า ฝ่ายอักษะจะต้องชนะสงครามแน่นอน และฝ่ายอังกฤษและอเมริการจะต้องพ่ายแพ้แน่ มี 1) นายประยูร ภมรมนตรี 2) หลวงพรหมโยธี 3) หลวงสินธุสงครามชัย 4) หลวงวิจิตรวาทการ 5) ขุนนิรันดรชัย 6)พลตรีไชย ประทีปเสน ผู้ที่นิยมญี่ปุ่นออกหน้าออกตาก็มี หลวงวิจิตรวาทการ นายวนิช ปานะนนท์ หลวงสินธุสงคราม... ส่วนขุนนิรันดรชัยนั้นต้องการให้สงครามยืดเยื้อไปอีกนานๆจะได้ทำการค้าขายได้ต่อไปอีก”[22]

โดยเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ขึ้นแล้ว รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามได้ดำเนินนโบายที่เอื้ออำนวยต่อญี่ปุ่นหลายประการ ดังเช่น

ดำเนินการควบคุมและยึดบริษัทน้ำมันที่สำคัญ 2 บริษัทคือ บริษัท สแตนดาร์ด แวคัม ออยส์ (Standard Vacum Oil Co., Ltd.) และบริษัท เชลล์ (Shell Co., Ltd.) และรัฐบาลเข้าทำการกลั่นเอง[16] และทำการขยายโรงกลั่นทั้ง 2 ให้ทันสมัยได้รับความช่วยเหลือจากญี่ปุ่น โดยแห่งหนึ่งอยู่ที่ตำบลช่องนนทรี อีกแห่งหนึ่งอยู่ที่บางจาก ปรากฏว่าน้ำมันจากโรงกลั่นทั้ง 2 นี้ถูกนำมาใช้ในการทหารซึ่งญี่ปุ่นต้องการมากในขณะนั้น[23]

เช่นเดียวกับธุรกิจค้าข้าว ภายหลังจากการที่เจ้าของโรงสีข้าวต้องถูกบีบด้วยมาตรการทางภาษีจนต้องปิดกิจการ และบังคับปิดกิจการ จนโรงสีข้าวทั้งหลายต้องเอาโรงสีมาให้บริษัท ข้าวไทย จำกัดเช่าไปดำเนินการแบบผูกขาดกิจการค้าข้าวแทน [24] และต่อมารัฐบาลได้ตกลงใจให้ “สิทธิการส่งข้าวออกนอกประเทศแก่ญี่ปุ่น” คือ บริษัทมิตซุยและบริษัทมิตซูบิชิ [25]

นอกจากนั้นสำนักงานธนาคารไทย ได้มีส่วนในการจัดให้ธนาคารไทย 3 ธนาคาร อันได้แก่ ธนาคารเอเซียเพื่ออุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม (จัดตั้งด้วยเงินทุนของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง, ธนาคารนครหลวงไทย (จัดตั้งด้วยเงินทุนของขุนนิรันดรชัยและคณะ), และธนาคารมณฑล (จัดตั้งด้วยเงินทุนของรัฐบาลและบริษัท ข้าวไทย จำกัด)ได้ร่วมกันให้ธนาคารโยโกฮามาสเปซี กู้เงินจำนวนมากถึง 10,000,000 บาท เพื่อช่วยส่งเสริมการค้ากับญี่ปุ่นมิให้ติดขัด[26]

โดยเฉพาะอย่างยิ่งธนาคารมณฑล ซึ่งก่อตั้งเมื่อวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2485 นั้น มีทุนจดทะเบียนก่อตั้งด้วยทุนมากถึง 10,000,000 บาท โดยกระทรวงการคลังถือหุ้น ร้อยละ 50.65 และบริษัท ข้าวไทย จำกัด ถือหุ้นร้อยละ 45.17 มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นฐานการเงินให้บริษัท ข้าวไทย จำกัด ในการส่งข้าวขายให้กับญี่ปุ่น[27]

โดยฐานสำคัญของทั้งบริษัท ข้าวไทย จำกัด และธนาคารมณฑล นั้นล้วนแล้วแต่มีนายวนิช ปานะนนท์ เป็นกรรมการบริษัททั้งสิ้น ยังไม่นับว่านายวนิช ปานะนนท์ นั้นเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญต่อการสนับสนุนน้ำมันสำหรับการเป็นยุทธปัจจัยให้กับญี่ปุ่นอีกด้วย

จนในที่สุดวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ.2486 นายวนิช ปานะนนท์ ก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง [1]

ต่อมาวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2487 พล.ต.อ.อดุลฯ รองนายกรัฐมนตรี และอธิบดีกรมตำรวจ ได้สั่งจับกุมนายวนิชฯ ในข้อหาทุจริต ควบคุมตัวไว้สอบสวนที่กองตำรวจสันติบาล โดยที่จอมพล ป.พิบูลสงครามไม่สามารถจะช่วยอะไรได้ ซึ่งต่างจากทุกครั้งที่ผ่านมาที่จอมพล ป.พิบูลสงครามออกหน้ารับแทนเองทั้งหมด

ส่วนนายพลอาเคโตะ นากามูระ ตำแหน่งแม่ทัพญี่ปุ่นในประเทศไทยได้บันทึกถึงสาเหตุของการที่นายวนิช ปานะนนท์ถูกสอบสวนด้วยข้อหาการกระทำความผิดทางกฎหมายเกี่ยวกับ “การค้าทองคำ” ซึ่งทางฝ่ายญี่ปุ่นได้พากเพียรขอร้องต่อฝ่ายไทยให้ปฏิบัติกับนายวนิช ปานะนนท์ อย่างมีเมตตาธรรม[28]

โดยในระหว่างการสอบสวนนั้นเองจากบันทึกข้อความของ ร.ต.อ.เฉียบ ชัยสงค์ ได้ระบุถึงช่วงเวลา การสอบสวนของนายวนิช ปานะนนท์ ความตอนหนึ่งว่า

นายวนิช ปานะนนท์ส่ายหน้าแล้วหยิบซองบุหรี่นาค ซึ่งเป็นของที่ระลึกจากจอมพล ป. พิบูลสงครามว่า “เจรจาดีที่โตเกียว” แล้วกล่าวว่า

“ผมได้ซองบุหรี่นี้เป็นที่ระลึกพิเศษทีเดียว แต่ลายเซ็นอันนี้ก็ช่วยอะไรผมไม่ได้ “[9]

โดย ร.ต.อ.เฉียบ ชัยสงค์ เจ้าพนักงานสอบสวนยังได้บันทึกต่ออีกว่า

“ข้าพเจ้าสงสารเขา แต่ก็ช่วยอะไรไม่ได้เสียจริง ๆ แม้แต่เขาจะร้องขอให้ข้าพเจ้าโทรศัพท์ไปที่บ้าน เพื่อขอร้องให้ภรรยาสุดที่รักของเขาตำน้ำพริกส้มมะขามส่งไปให้กินในเย็นวันนั้น ข้าพเจ้าผู้มีวินัยจัดก็มิได้ผ่อนผันให้เขาเสียเลย และต่อมาไม่นานนักเขาก็จากโลกนี้ไปอย่างไม่มีวันจะฟื้นขึ้นมาอีก”[9]

ภายหลังจากการที่นายวนิช ปานะนนท์ ถูกคุมขังเพื่อทำการสอบสวนอยู่ประมาณปีเศษ ต่อมาวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2487 นายวนิชฯได้ถึงแก่กรรม โดยรัฐบาลประกาศอย่างเป็นทางการว่าเป็นการฆ่าตัวตายด้วยการแขวนคอ ซึ่งเรื่องนี้ฝ่ายญี่ปุ่นไม่มีใครเชื่อ จึงได้ยื่นเรื่องขอเข้าทำงานสอบสวน

อย่างไรก็ดี นายพลอาเคโตะ นากามูระ ได้กล่าวว่าเรื่องจบลงโดยที่ฝ่ายครอบครัวของนายวนิช คือ “หลวงสินธุ์สงครามชัย” ในฐานะพี่เขยของนายวนิชได้มีหนังสือตอบทุกฝ่ายว่า ทางครอบครัวของนายวนิชไม่มีอะไรติดใจ และไม่มีความประสงค์ให้มีการพิสูจน์ความจริงใดๆเพิ่มเติม [28]

ส่วนสาเหตุการเสียชีวิตที่แท้จริงนั้นไม่มีใครทราบ แต่นายพลอาเคโตะ นากามูระก็ได้บันทึกสันนิษฐานว่าพล.ต.อ.อดุล อดุลเดชจรัส น่าจะเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง[28] และหากสมมุติว่าจะเป็นกรณีการฆาตกรรม ก็ต้องพิจารณาต่อไปว่าในความเป็นจริงแล้วใครจะได้ประโยชน์มากที่สุดจากบุคคลที่ถูกขังอยู่ในเรือนจำและกำลังถูกสอบสวนในเรื่องการทุจริตค้าทองคำที่เกิดขึ้น แต่ถูกอำพรางว่าเป็นการฆ่าตัวตาย

ข้อสังเกตประการหนึ่งที่ควรบันทึกเอาไว้คือ นายวนิช ปานะนนท์ เสียชีวิตวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2487 (ในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม) แต่กว่าจะได้จัดงานในฌาปนกิจศพ คือวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2490 (ในสมัยรัฐบาลพลเรือตรีถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์) หรือเวลาห่างกันประมาณ 2 ปี 10 เดือน

ด้วยเพราะระยะเวลานานมากนับจากวันเสียชีวิตของนายวนิช ปานะนนท์ ถึงวันจัดงานฌาปนกิจศพ แต่กลับไม่ปรากฏคำไว้อาลัยในหนังสืองานฌาปนกิจศพลจากผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในขณะนั้น และรวมถึงไม่มีคำไว้อาลัยจากอดีตนายกรัฐมนตรีคนใดในหนังสืองานฌาปนกิจศพเล่มดังกล่าวนี้เลย คงมีแต่คำไว้อาลัยและขอบคุณจากนายสิงห์ ไรวา หรือ พระนรราชจำนง ข้าราชการกระทรวงเศรษฐการที่เคยทำงานร่วมกันมาเท่านั้น[1]

ส่วนพระนรราชจำนงซึ่งเป็นคนเดียวที่ได้เขียนคำไว้อาลัยถึงนายวนิช ปานะนนท์นั้น ก็เป็นผู้หนึ่งซึ่งได้เคยถูกพาดพิงในการตั้งกระทู้ถามโดยนายเลียง ไชยกาล เมื่อคราวประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 12 (สมัยวิสามัญ สมัยที่สอง) ซึ่งเป็นการตั้งกระทู้ถามพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา เรื่อง ผู้ที่ดินของพระมหากษัตริย์ในราคาถูกๆ เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2480 พาดพิงว่า เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2480 นั้น พระนรราชจำนง ได้ซื้อ โฉนดของสำนักพระคลังข้างที่ เลขที่ 2110 อำเภอบางรัก ราคา 6,614 บาท[29] จริงหรือไม่


26 ก.พ. 2564  ผู้จัดการออนไลน์
หัวข้อ: ภารกิจคณะราษฎรยังไม่เสร็จ (ตอนที่ 16) ศูนย์บัญชาการเสรีไทยใกล้พระราชวัง ตอนจบ
เริ่มหัวข้อโดย: story ที่ 13 มีนาคม 2021, 11:17:18
ณ บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

สำหรับขบวนการเสรีไทยนั้น ได้ตั้งหน่วยกองพลส่วนหน้า 24 แห่ง มีพลพรรคเข้าฝึกอบรมประมาณ 500 คน รวมจำนวนประมาณ 10,000 คน และถ้าจะรวมจำนวนสำรองที่จะระดมเมื่อลงมือปฏิบัติต่อสู้ญี่ปุ่นอย่างเปิดเผยแล้ว ก็จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นรวมเป็นพลพรรคที่สามารถต่อสู้ทางอาวุธประมาณ 80,000 คน และถ้ารวมทั้งผู้ที่ประจำกองบัญชาการและธุรการอื่นๆด้วยแล้ว จำนวนก็จะมีมากกว่านั้น[10]

ทั้งนี้ หน่วยเสรีไทยในประเทศไทยได้แยกออกเป็น 2 ฝ่าย

ฝ่ายที่หนึ่ง คือ พลพรรคพวกซึ่งมีหน้าที่ฝึกหัดอาวุธ หัดให้รู้จักการใช้อาวุธชนิดต่างๆ ฝึกรบแบบกองโจรเพื่อเตรียมรบเมื่อถึงเวลาและเมื่อได้รับคำสั่ง

ฝ่ายที่สอง คือ ฝ่ายสืบราชการลับอีกพวกหนึ่ง หน่วยสืบราชการลับนี้ได้รับความร่วมมือกับตำรวจดีมากเพราะพลตำรวจเอก อดุล อดุลเดชจรัส เป็นหัวหน้าเสรีไทยด้วยผู้หนึ่ง จึงทำให้การสืบสวนเป็นที่พอใจและถูกต้องตรงกับความจริง[7]

ทั้งนี้ หน่วยพลพรรคบางหน่วยของเสรีไทย ต้องการทำลายทหารญี่ปุ่นที่เข้าไปในเขตหวงห้ามอันเป็นที่ตั้งของเสรีไทยแล้วก็ทำการฝังเพื่อทำลายหลักฐานเสีย เช่น ที่จังหวัดกาญจนบุรี และที่จังหวัดสุโขทัย เป็นต้น การลักขโมยและทำลายทรัพย์สินตลอดจนยุทโธปกรณ์ของทหารญี่ปุ่น ก็มีอยู่เป็นการประจำ เช่น ขโมยน้ำมันเชื้อเพลิง ขโมยปืนและกระสุนปืน ขโมยวัตถุระเบิด ขโมยรถยนต์ ฯลฯ[7]

การกระทำเหล่านี้ได้ล่วงรู้ไปถึงกองบัญชาการทหารหน่วย 136 ของอังกฤษที่เมืองแคนดี ประเทศอินเดีย ทำให้กองบัญชาการทหารอังกฤษและอเมริกันเชื่อถือและไว้วางใจในความร่วมมือของเสรีไทยในประเทศมาก

จนในระยะหลังๆ ขบวนการเสรีไทยขาดยารักษาโรคจึงได้ติดต่อขอไปที่เมืองแคนดี เขาก็นำหีบยารักษาโรคที่เสรีไทยขอไปผูกติดกับร่มชูชีพบรรทุกเครื่องบินมาทิ้งให้ที่ท้องสนามหลวงหลายหีบในเวลากลางวันแสกๆ ทำเอากองทหารญี่ปุ่นโกรธและสงสัยมากขึ้นถึงกับประท้วงรัฐบาล

รวมถึงการทิ้งระเบิดของเครื่องบินของฝ่ายสัมพันธมิตรในระยะหลังๆ นี้ก็แม่นยำและทิ้งลงยังเป้าหมายเฉพาะที่ตั้งของญี่ปุ่นทั้งนั้น จาการที่ขบวนการเสรีไทยบอกเป้าหมายไปบ้าง หรือทางอังกฤษสอบถามมาบ้าง [7]

ในขณะที่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้เกิดปัญหาค่าครองชีพแพง เครื่องอุปโภคบริโภคอัตคัดขาดแคลน ในขณะที่จอมพล ป.ยังได้บังคับชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรทางวัฒนธรรมผ่านรัฐนิยม อีกทั้งยังทำตัวเทียมกษัตริย์ให้ผู้ชมภาพยนตร์ยืนทำความเคารพในการฉายภาพ จอมพล ป. ส่งผลทำให้ความไม่พอใจของราษฎรส่วนมากถึงขีดสุดที่ต้องการให้เปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี ทำให้ผู้แทนราษฎรทั้งประเภทที่หนึ่งและประเภทที่สองส่วนมากได้ตระหนักถึงกระแสของประชาชนในครั้งนั้น[6]

เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ญี่ปุ่นมีความคิดจะเปลี่ยนตัวจอมพล ป. ซึ่งย่อมทำให้จอมพล ป.เกิดความหวาดระแวงญี่ปุ่น แต่ในขณะเดียวกันฝ่ายญี่ปุ่นเองก็เริ่มไม่ไว้วางใจต่อจอมพล ป.มากขึ้น ถึงขนาดที่นายพลญี่ปุ่นประจำอินโดจีนพร้อมนายทหารญี่ปุ่นอีก 4 คน ได้เดินทางไปกรุงพนมเปญเพื่อทาบทาม พันเอกพระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน)ทหารไทยอดีตผู้ก่อการคนสำคัญของคณะราษฎรให้มารับตำแหน่งสำคัญในประเทศไทย เพราะมีผู้นับถือว่ามีความรู้และความจริงใจ และมีลูกศิษย์เป็นนายทหารจำนวนมาก

โดยพันเอกพระยาทรงสุรเดช ผู้นี้ ได้ถูกจอมพล ป.บังคับเนรเทศไปอยู่ที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2481 เนื่องจากรัฐบาลจอมพล ป.ระแวงว่าพันเอกพระยาทรงสุรเดชมีแผนจะยึดอำนาจการปกครอง พันเอกพระยาทรงสุรเดชจึงต้องย้ายไปอยู่ที่กัมพูชาอย่างยากจนประกอบอาชีพขนายขนมและรับซ่อมจักรยานเล็กๆ น้อย

อย่างไรก็ตามพันเอกพระยาทรงสุรเดช ได้ปฏิเสธนายทหารญี่ปุ่นอย่างหนักแน่นที่จะรับตำแหน่งโดยการสนับสนุนจากญี่ปุ่น ฝ่ายทหารญี่ปุ่นจึงแสดงความเคารพเดินทางกลับไป [11]

แต่หลังจากนั้น ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่อำนาจของจอมพล ป.สั่นคลอน วันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2487 พันเอกพระยาทรงสุรเดชก็ได้เสียชีวิตด้วยอาการโลหิตเป็นพิษ แต่ก็มีข้อสงสัยจากคำบอกเล่าของบุตรชายว่าได้ถูกวางยาพิษจนเสียชีวิตที่กัมพูชา [12],[13]

ในช่วงเวลาใกล้เคียงกันนั้น จอมพล.ป ได้จัดพิธีชวนญี่ปุ่นให้ไปร่วมสาบานต่อหน้า “พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรแก้วมรกต” ว่าจะซื่อสัตย์ต่อกันไปจนถึงที่สุด[6] แต่พิธีดังกล่าวก็กลับเป็นสัญญาณที่ทำให้เห็นว่าทั้งสองฝ่ายมีความไม่ไว้วางใจต่อกันมากขึ้น

ในขณะเดียวกันวิทยุนิวเดลลีฮ์ของอังกฤษก็ใช้กลยุทธ “เสี้ยม” เพื่อทำให้ญี่ปุ่นระแวงจอมพล ป.ยิ่งขึ้น โดยกระจายคำกลอนซ้ำๆ หลายวันและบอกช้าๆ ขอให้ผู้ฟังจดไว้ ซึ่งฝ่ายญี่ปุ่นก็ได้จดไว้ด้วย คำกลอนนั้นนายปรีดี ได้บันทึกเอาไว้ในหนังสือบางเรื่องเกี่ยวกับพระบรมวงศานุวงศ์ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ความว่า

“เป็นจอมพลไฉนยอมเป็นจอมแพ้
ทำผิดแล้วคิดแก้ไม่ได้หรือ
เกิดเป็นชายชาตรีมีฝีมือ
ใยจึงดื้อให้ไพรีนั่งขี่คอ”[6]
นายปรีดี ได้บันทึกในเรื่องผลกระทบของบทกลอนนี้ว่า

“ข้าพเจ้าทราบจากคนไทยที่ติดต่อกับญี่ปุ่นว่า กลอนบทนี้ญี่ปุ่นจดไว้แล้ว ระแวงจอมพล ป.ยิ่งขึ้น ประกอบด้วย พ.อ.กาจ กาจสงคราม ได้เดินทางไปเมืองจีน โดยทางจีนให้นายพลไตลี-นายใหญ่เกสตาโปจีนที่จุงกิงรับรองในการสนทนานั้นมีล่ามที่เป็นคนเกิดในเมืองไทย ข่าวนี้วี่แววไปถึงฝ่ายญี่ปุ่น แม้ พ.อ.กาจฯ จะบอกนายพลไตลีว่าตนเดินทางมาเอง แต่ญี่ปุ่นรู้วี่แววก็สงสัยว่า จอมพล ป.คงใช้มา คนไทยที่ติดต่อกับญี่ปุ่นรีบมาบอกข้าพเจ้าว่า ทหารญี่ปุ่นตระเตรียมที่จะเข้ายึดรัฐบาลไทย”[6]

จนกระทั่งเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2487 จอมพล ป. เสนอร่างพระราชบัญญัติให้รับรองพระราชกำหนดระเบียบบริหารนครเพชบูรณ์และพุทธบุรีมณฑล ซึ่งจอมพล ป.ดำริสร้างเป็นนครขึ้นในบริเวณป่าที่มีไข้จับสั่นระบาดร้ายแรง ในการนั้นก็จะต้องเกณฑ์ราษฎรไปทำงานโยธา ผู้แทนราษฎรทั้งประเภทหนึ่งและประเภทสองส่วนมาก ซึ่งตระหนักถึงความไม่พอใจของราษฎรอยู่แล้วได้ลงมติไม่อนุมัติร่างกฎหมายนั้น[6]

ต่อมารัฐมนตรีส่วนมากยืนยันในคณะรัฐมนตรีว่า ตามมารยาทรัฐบาลต้องลาออก แต่สภาผู้แทนราษฎรอาจแนะนำคณะผู้สำเร็จราชการให้ตั้งใหม่ได้ จอมพล ป.จึงได้ยื่นใบลาออกต่อคณะผู้สำเร็จราชการ ในขณะที่ฝ่ายญี่ปุ่นได้เข้าพบนายปรีดีสอบถามถึงเรื่องการตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ควรเป็นใคร นายปรีดีจึงยืนยันไปว่าควรเป็นไปตามระบบรัฐธรรมนูญของไทย และตอบคำถามฝ่ายญี่ปุ่นถึงเรื่องนายควง อภัยวงศ์ ซึ่งนายปรีดีก็ได้ตอบไปว่า “เขาเป็นคนร่าเริง นิสัยดี หวังว่าเขาจะร่วมมือกับฝ่ายญี่ปุ่นได้” [6]

ซึ่งในความเป็นจริงแล้วนายควง อภัยวงศ์ ได้รับเงื่อนไขจากนายปรีดีว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรีเพื่อตีหน้าเข้าข้างญี่ปุ่น ส่วนการงานขอรัฐบาลให้นายทวี บุณยเกตุเป็นผู้สั่งราชการสำนักนายกรัฐมนตรี จนในที่สุดเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรได้เลือกนายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรีตามที่ตกลงกัน[6]

แต่ฝ่ายพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภาทรงยืนกรานไม่ยอมลงพระนามตั้งนายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ในที่สุด พระองค์ได้ทรงขอลาออกจากตำแหน่งประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ โดยเข้าพระทัยว่า นายควงฯ จะไปไม่ตลอดรอดฝั่ง ไม่ช้าจอมพล ป.ก็จะกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีก ซึ่งนายปรีดีจะต้องออกไปโดยพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภาจะทรงกลับมาเป็นผู้สำเร็จราชการอีก[6]

จากนั้นสภาผู้แทนราษฎรจึงลงมติอย่างเป็นเอกฉันท์ เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2487 ตั้งให้นายปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แต่ผู้เดียว ในวันเดียวกันนั้นนายปรีดีจึงได้ลงนามประกาศพระบรมราชโองการในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ตั้งพันตรีควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรี โดยมีประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการตามระเบียบ[6]

หลังจากนั้นปรากฏว่าจอมพล ป. ได้ไปรวบรวมทหารตั้งมั่นอยู่ที่ลพบุรีซึ่งเป็นการคุกคามใหม่ต่อรัฐบาล พล.ร.ท.สินธุ กมลนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและผู้บัญชาการทหารเรือ ซึ่งเป็นพี่เขยของนายวนิช ปานะนนท์นั้น โดยภายหลังจากการที่ นายวนิช ปานะนนท์ ได้เสียชีวิตในเรือนจำอย่างมีพิรุธแล้ว พล.ร.ท.สินธุ กมลนาวิน เปลี่ยนใจย้ายมาอยู่ฝ่ายต่อต้านญี่ปุ่น โดยพล.ร.ท.สินธุ กมลนาวิน ได้เข้าพบนายปรีดี พนมยงค์ และเสนอว่าต้องปลดจอมพล ป.จากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด โดยขอให้ พลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นแม่ทัพใหญ่ และ พล.ท.ชิต มั่นศิลป์ สินาดโยธารักษ์ เป็นรองแม่ทัพใหญ่[6]

เมื่อนายควง อภัยวงศ์ นายกรัฐมนตรี ได้รับสนองพระบรมราชโองการปลดออกจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด และแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน และรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้ง พลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นแม่ทัพใหญ่ และ พลโทชิต มั่นศิลป์ สินาดโยธารักษ์ เป็นรองแม่ทัพใหญ่แล้ว พอถึงรุ่งเข้าก็ได้ให้วิทยุกระจายเสียงประกาศพระบรมราชโองการดังกล่าว จึงเป็นผลทำให้จอมพล ป.ต้องปฏิบัติตามพระบรมราชโองการอย่างไม่มีทางเลือกและได้ย้ายจากลพบุรีไปอยู่ที่อำเภอลำลูกกาจนตลอดสงคราม[6]

นอกจากนั้นในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2488 นายควง อภัยวงศ์ นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ปลดพลโทผิน ชุณหะวัณ ประจำเสนาธิการทหารบก ออกจากประจำการ[14] โดยพลโทผิน ชุณหะวัณ คือแม่ทัพเข้ายึดครองเมืองเชียงตุง ได้เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2485 ตามคำสั่งจัดตั้งกองทัพพายัพของ จอมพล ป. และยังเป็นข้าหลวงใหญ่เมืองเชียงตุงอีกด้วย โดยหลังพลโทผิน ชุณหะวัณถูกปลดออกจากราชการแล้ว พลโทผินก็อพยพครอบครัวไปทำไร่ ทำสวนอยู่ที่อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา

อย่างไรก็ตามนายทวี บุณยเกตุ เมื่อได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการของคณะรัฐบาลนายควง อภัยวงศ์ จึงได้มีโอกาสรวบรวมบรรดานิสิตของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาฝึกอาวุธและคัดเลือกส่งไปเป็นเสรีไทยประจำค่ายที่ลพบุรี จังหวัดเขาบางทราย ภายใต้การควบคุมของพลเรือตรีสังวรณ์ สุวรรณชีพ ซึ่งนับว่าเป็นค่ายที่มีจำนวนพลพรรคมากที่สุดแลมีสมรรถภาพสูงที่สุดแห่งหนึ่ง คือ มีทั้งพวกนิสิตซึ่งล้วนเป็นผู้ที่มีการศึกษาอยู่ในระดับสูง และมีทั้งทหารเรือฝ่ายพรรคนาวิกโยธินด้วย[7]

ในระหว่างที่สงครามใกล้จะเสร็จสิ้นลงนี้สถานการณ์ภายในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่พระนครได้ตึงเครียดมากเกือบจะถึงจุดระเบิดแล้ว เพราะทหารญี่ปุ่นมีความมั่นใจว่า ไทยจะหักหลัง

ในช่วงนั้นเองวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2488 นายทวี บุณยเกตุ ได้ดำเนินการเสนอร่างพระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดฐานกบฏและจราจล พุทธศักราช 2488 [15] เพื่อให้นายควง อภัยวงศ์ รับสนองพระบรมราชโองการ ต่อมาสภาผู้แทนราษฎรก็ได้ให้ความเห็นชอบพระราชบัญญัติอนุมัติพระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดฐานกบถและจราจล พุทธศักราช 2488 เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2488 [16] อันเป็นผลทำให้ปล่อยตัวนักโทษทางการเมืองทั้งหมดตามคำมั่นสัญญาของนายปรีดี พนมยงค์ ที่ได้ให้ไว้ต่อหม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์ สวัสดิวัฒน์(ท่านชิ้น)

ไม่เพียงเป็นการทำตามสัญญาต่อหม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์ สวัสดิวัฒน์(ท่านชิ้น) เท่านั้น แต่ความจริงยังเป็นไปตามข้อเรียกร้องของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7[17] ก่อนที่จะทรงสละราชสมบัติเสียอีก

นอกจากนั้นในหนังสือเจ้าฟ้าประชาธิปก ราชันผู้นิราศ ของนายหนหวย ได้กล่าวถึงความพยายามที่จะเยียวยาบาดแผลของความขัดแย้งในอดีตความตอนหนึ่งว่า

“นายปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน รัฐบุรุษอาวุโส ยังได้แสดงความจริงใจเปิดเผยต่อบุคคลหลายคนและหนังสือพิมพ์ว่า จะคืนวังศุโขทัยที่ตกเป็นของรัตามคำพิพากษาคืนให้แก่จำเลยที่ 2 ซึ่งยังดำรงพระชนม์ชีพอยู่ ย่ิงไปกว่านี้ในฐานะผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน นายปรีดี พนมยงค์ ดำริจะอัญเชิญพระบรมอัฐิของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกลับคืนประเทศไทย ได้มีการติดต่อเป็นทางการสมานรอยร้าวในอดีตกับสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีเป็นที่เรียบร้อย และรู้กันทั่วไป”[18]

ก่อนที่ไทยจะลุกขึ้นญี่ปุ่นจะต้องพุ่งรบกันซึ่งกำหนดเอาไว้วันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2488 ปรากฏว่าวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2488 สหรัฐอเมริกาทิ้งระเบิดปรมาณูที่เมือง ฮิโรชิม่า คนตาย 66,000 คน บาดเจ็บ 69,000 คน ตามมาด้วยสหรัฐอเมริกาทิ้งระเบิดปรมาณูที่เมืองนางาซากิ บาดเจ็บ 25,000 คน รวมทั้งสองครั้งตายมากกว่า 250,000 คน ในวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2488 และเป็นผลทำให้ประเทศญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้ไปเสียก่อนในวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2488 [8]

วันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2488 ประเทศไทยจึงประกาศสันติภาพ โดยพระบรมราชโองการว่า การประกาศสงครามกับอังกฤษและอเมริกาเป็นโมฆะไม่ผูกพันประชาชนชาวไทย[19] พันตรีควง อภัยวงศ์ จึงได้ลาออกจากนายกรัฐมนตรีในวันรุ่งขึ้น และเปิดทางให้นายทวี บุณยเกตุ เป็นนายกรัฐมนตรีเพื่อให้เกิดการเจรจาและทำความเข้าใจอันดีกับฝ่ายพันธมิตร

แต่การจับมือร่วมงานระหว่างนายปรีดี พนมยงค์ อดีตผู้ก่อการคณะราษฎร กับพระบรมวงศานุวงศ์ในการกอบกู้เอกราชในภารกิจขบวนการเสรีไทยครั้งนี้ ยังไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะยังต้องอาศัยศิลปการทูตเจรจาต่อรอง ผ่านดุลอำนาจระหว่างประเทศเพื่อลดความเสียหายให้น้อยที่สุดหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื่องจากหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศไทยต้องเข้าสู่ภาวะปัญหาทางเศรษฐกิจที่รุนแรง จึงต้องปลดทหารออกจำนวนมาก ชีวิตของเหล่าวีรบุรุษที่เคยได้ยึดดินแดนกลับมาในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. ซึ่งรวมถึง พลโทผิน ชุณหะวัณ มีความโกรธแค้น เพราะนอกจากเหล่าทหารหาญต้องเดือดร้อนทางฐานะการเงินและสูญเสียเกียติยศแล้ว ดินแดนทั้งหลายที่เคยประเทศไทยเคยยึดมาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ยังจะต้องส่งมอบคืนกลับให้หมด นอกจากนั้นผู้นำทางการทหารอย่างจอมพล ป. พิบูลสงครามและคณะ ก็ยังต้องถูกจับไปขึ้นศาลอาชญากรสงครามอีกด้วย

ตรงกันข้ามกับสถานภาพทางการเมืองของนักการเมืองในเวลานั้น ไม่ว่าสงครามโลกครั้งที่ 2 เศรษฐกิจจะแย่งเพียงใด แต่บริษัททั้งหลายของนักการเมืองที่มีหุ้นอยู่ ไม่ว่าจะเป็นบริษัท ข้าวไทย จำกัด และ บริษัท ไทยนิยมพาณิชย์ จำกัด รวมถึงธนาคารพาณิชย์ทั้งหลายที่ได้มาจากการลงทุนของรัฐบาล ของส่วนตัว หรือการเบียดบังมาจากทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ก็ยังมีกำไรอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ความร่วมมือกันทำงานอย่างระหว่างนายปรีดี พนมยงค์ กับเจ้านายซึ่งเป็นพระบรมวงศานุวงศ์ที่ทำไปเรื่องรักษาเอกราชและผลประโยชน์ของชาติในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองนั้น นายปรีดี พนมยงค์ ในเวลาต่อมาเมื่อเป็นนายกรัฐมนตรีแล้วได้กล่าวในคราวประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 สุนทรพจน์ความตอนหนึ่งเรื่อง “ประชาธิปไตยที่มีสามัคคีธรรม” อันประกอบไป กฎหมาย ศีลธรรม และความซื่อสัตย์สุจริตความตอนหนึ่งเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า

“ข้าพเจ้าเชื่อว่าถ้าต่างฝ่ายต่างสุจริตมุ่งส่วนรวมของประเทศชาติ ไม่ใช่มุ่งหวังส่วนตัว แม้แนวทางที่จะเดินไปสู่จุดหมาย จะเป็นคนละแนว แต่ในอวสานต์เราก็พบกันได้

ข้าพเจ้าขออ้างเจ้านายหลายพระองค์นั้น ท่านก็มีจุดหมายเพื่อส่วนรวมของประเทศชาติ ไม่ใช่ส่วนพระองค์ ผลสุดท้ายเราก็ร่วมมือทำงานด้วยกันมาเป็นอย่างดีในการรับใช้ประเทศชาติ และรักใคร่สนิทสนมยิ่งเสียกว่าผู้ซึ่งเอาประเทศชาติป็นสิ่งกำบัง แต่ความจริงมุ่งหวังในประโยชน์ส่วนตัวมาก ผู้ที่คอยอิจฉาริษยาเมื่อไม่ได้ผลสมหวังแล้ว ก็ทำลายกิจการอันเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ แทนที่จะเสริมก่อให้เป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติอันเป็นส่วนรวม

ผู้ที่ทำการปฏิปักษ์ต่อคณะราษฎรแต่โดยมีอุดมคติซื่อสัตย์ต่อองค์พระมหากษัตริย์ ข้าพเจ้าเคารพในความซื่อสัตย์ ซึ่งมีตัวอย่างอยู่มากหลายที่ผู้ซื่อสัตย์เหล่านี้ได้ร่วมกิจการรับใช้ชาติกับข้าพเจ้า ท่านเหล่านี้ไม่ต้องวิตกกังวล

แต่ผู้ซึ่งแสดงว่าซื่อสัตย์ต่อองค์พระมหากษัตริย์ในภายนอก ส่วนภายในหวังผลส่วนตัวหรือมูลสืบเนื่องมาแต่ความไม่พอใจเป็นส่วนตนเช่นนี้แล้ว ก็เกรงว่าผู้นั้นก็อาจหันเหไปได้สุดแต่ว่าตนจะได้รับประโยชน์ส่วนตนอย่างไหนมากกว่า” [20]

อ้างอิง
[1] ปรีดี พนมยงค์, ความเป็นไปภายในคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์, หนังสือบางเรื่องเกี่ยวกับพระบรมวงศานุวงศ์ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2, หน้า 32
https://pridi.or.th/sites/default/files/pdf/2515-64.pdf

[2] คำของหม่อมเจ้าหญิง อัปภัศราภา เทวกุล, บางเรื่องเกี่ยวกับพระบรมวงศานุวงศ์ในระหว่างสงครามโลกครั้ง 2, “สมเด็จพระศรีสวรินทิรา”, อนุสรณ์ ในงานพระราชทานเพลิงศพ ร.ท.อู๊ด นิตยสุทธิ ต.ช.ต.ม., อดีตผู้แทนราษฎร จังหวัดนคราราชสีมา ณ ฌาปนสถาน วัดใหม่อัมพร อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา, หน้า 39-44

[3] ทศ พันธุมเสน และจินตนา ยศสุนทร, จากมหาสงครามสู่สันติภาพ, คณะกรรมการดำเนินงานโครงการฉลอง 100 ปี ชาตกาล นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส, จัดพิมพ์เนื่องในโอกาสฉลองครบรอบ 100 ปี ชาตกาล นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส (11 พฤษภาคม 2443-11 พฤษภาคม พ.ศ. 2543), ผู้จัดพิมพ์ร่วม สถาบันปรีดี พนมยงค์, ดำเนินการผลิตโดย โครงการจัดทำสื่อเผยแพร่เกียรติคุณ นายปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุดสสำหรับเด็กและเยาวชน และสำนักพิมพ์มูลนิธิเด็ก, ISBN 974-7833-35-2 พิมพ์ครั้งที่ 2 16 สิงหาคม พ.ศ. 2552 หน้า 63
http://www.openbase.in.th/files/pridibook013.pdf

[4] ดร.อัศวิน จินตกานนท์, สงครามโลกครั้งที่ 2 ทำไมไทยจึงไม่แพ้, วีรชนเสรีไทยกับบทบาทในการรักษาเอกราชของชาติไทย เว็บไซต์ของบริษัททีมกรุ๊ป
https://www.teamgroup.co.th/downloads/publications/book221211.pdf

[5] ป๋วย อึ้งภากรณ์, พระบรมวงศานุวงศ์ และขบวนการเสรีไทย, ธันวาคม ค.ศ. 1971,จากหนังสืออนุสรณ์ ในงานพระราชทานเพลิงศพ ร.ท.อู๊ด นิตยสุทธิ ต.ช.ต.ม., อดีตผู้แทนราษฎร จังหวัดนคราราชสีมา ณ ฌาปนสถาน วัดใหม่อัมพร อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา วันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2517, หน้า 45-48

[6] ปรีดี พนมยงค์, ความเป็นไปภายในคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์, หนังสือบางเรื่องเกี่ยวกับพระบรมวงศานุวงศ์ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2, หน้า 41-49
https://pridi.or.th/sites/default/files/pdf/2515-64.pdf

[7] ทวี บุณยเกตุ, ข้อเท็จจริงเพิ่มเติมเกี่ยวกับเหตุการณ์ในประเทศไทยระหว่างมหาสงครามโลกครั้งที่ 2, หนังสือ คำบรรยายและบทความบางเรื่องของนายทวี บุณยเกตุ, คุรุสภาจัดพิมพ์เป็นบรรณาการในงานพระราชทานเพลิงศพ นายทวี บุณยเกตุ ม.ป.ช., ท.จ.ว., ท.ม. ณ เมรุหน้าพลับพลา อิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันพุธที่ 8 มีนาคม พุทธศักราช 2515,หน้า 17-19

[8] ทศ พันธุมเสน และจินตนา ยศสุนทร, เรื่องเดียวกัน หน้า 143-144
http://www.openbase.in.th/files/pridibook013.pdf

[9] ทศ พันธุมเสน และจินตนา ยศสุนทร, เรื่องเดียวกัน หน้า 19-20

[10] ปรีดี พนมยงค์, คำปรารภตามคำร้องขอของนายกนธีร์ ศุภมงคล อดีตเลขาธิการ ส.ป.อ. และอดีตที่ปรึกษาของรัฐบาลจอมพลถนอม เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2514, อนุสรณ์ ในงานพระราชทานเพลิงศพ ร.ท.อู๊ด นิตยสุทธิ ต.ช.ต.ม., อดีตผู้แทนราษฎร จังหวัดนคราราชสีมา ณ ฌาปนสถาน วัดใหม่อัมพร อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา, หน้า 84

[11] ทศ พันธุมเสน และจินตนา ยศสุนทร, เรื่องเดียวกัน หน้า 73-74

[12]โรม บุนนาค, นักการเมืองไร้แผ่นดิน, คอลัมน์ เรื่องเก่าเล่าใหม่ หน้า 65-66 นิตยสาร all ฉบับเดือนมกราคม พ.ศ. 2550

[13] ตอนที่ 5 กบฏพระยาทรงสุรเดช, "ย้อนรอยรัฐประหารไทย" สารคดีทางดีเอ็นเอ็น: ศุกร์ที่ 25 มีนาคม 2554

[14] ราชกิจจานุเบกษา,ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องนายทหารออกจากประจำการ, เล่ม 62 ตอนที่ 9, วันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2488 หน้า 148-149
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2488/D/009/148.PDF

[15] ราชกิจจานุเบกษา, พระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดฐานกบฏและจราจล พุทธศักราช 2488, เล่ม 62 ตอนที่ 27, วันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2488 หน้า 337-341
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2488/A/027/337.PDF

[16] ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติอนุมัติพระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดฐานกบถและจราจล พุทธศักราช 2488, เล่ม 62 ตอนที่ 42, วันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2488, หน้า 479-480
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2488/A/042/479.PDF

[17] รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 16 (สมัยสามัญ สมัยที่สอง) วันพฤหัสบดีที่ 31 มกราคม พุทธศักราช 2478, หน้า 488-489
https://dl.parliament.go.th/bitstream/handle/lirt/383561/16_24770131_wb.pdf?sequence=1

[18] สุพจน์ แจ้งเร็ว, คดียึดพระราชทรัพย์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ,ศิลปวัฒนธรรม ลำดับที่ 272 ปีที่ 23 ฉบับที่ 8 มิถุนายน 2545, หน้า 62-80

[19] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสันติภาพ, เล่มที่ 62 ตอนที่ 44 วันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2488 หน้า 503-506
https://dl.parliament.go.th/bitstream/handle/lirt/235501/SOP-DIP_P_419966_0001.pdf?sequence=1

[20] ปรีดี พนมยงค์,คัดลอกบางตอนจาก สุนทรพจน์ ของนายปรีดี พนมยงค์ แสดงให้สภาผู้แทนราษฎร วันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 , อนุสรณ์ ในงานพระราชทานเพลิงศพ ร.ท.อู๊ด นิตยสุทธิ ต.ช.ต.ม., อดีตผู้แทนราษฎร จังหวัดนคราราชสีมา ณ ฌาปนสถาน วัดใหม่อัมพร อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา พ.ศ. 2517, เผยแพร่เว็บไซต์สถาบันปรีดี, หน้า 11
https://pridi.or.th/sites/default/files/pdf/2515-66.pdf

12 มี.ค. 2564  ผู้จัดการออนไลน์
หัวข้อ: ภารกิจคณะราษฎรยังไม่เสร็จ (ตอนที่ 18) ความต่างในสำนึกผิดของปรีดีกับจอมพลป.ต่อ
เริ่มหัวข้อโดย: story ที่ 23 มีนาคม 2021, 21:17:50
ณ บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

“ข้าพเจ้าและเพื่อนคณะราษฎรหลายคน รู้สำนึกความพลาดพลั้งบกพร่องอันเป็นเหตุให้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯต้องสละราชสมบัติ ดังนั้นเราจึงยอมรับสภาพและได้พยายามแก้ไขความพลั้งพลาดบกพร่อง”

นี่คือข้อความสำคัญของนายปรีดี พนมยงค์ ที่ได้เขียนเอาไว้ในหนังสือ “บางเรื่องเกี่ยวกับการก่อตั้งคณะราษฎรและระบบประชาธิปไตย” ซึ่งแสดงให้เห็นว่า นอกจากความรู้สึกผิดหรือพลาด ต่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น มิได้มีเพียงแค่ “ขุนนิรันดรชัย” ตามคำสัมภาษณ์ของพลโทสรภฏ นิรันดร ผู้เป็นบุตรชายเท่านั้น แต่ความจริงแล้วยังมีผู้ก่อการคนอื่นรู้สึกเช่นนี้ด้วย แต่เป็นความรู้สึกผิดหรือพลาดที่มีประเด็นต่างกันออกไป

จากบันทึกพระราชทานสัมภาษณ์ของ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ได้พระราชทานสัมภาษณ์นักข่าวเมื่อปี พ.ศ. 2516 ซึ่งได้ปรากฏในหนังสือ “เบื้องแรกประชาธิปตัย” ซึ่งได้รวบรวมและจัดพิมพ์โดยสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย ในเรื่องการสำนึกผิดของคนสองคนกล่าวคือ จอมพล ป.พิบูลสงคราม และหลวงประดิษฐ์มนูธรรม พระยามานวราชเสวี ต่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เอาไว้อย่างน่าสนใจดังนี้

“จอมพล ป. เคยมาเฝ้า เขาพูดว่าอยากจะล้างบาปเพราะทำกับท่านไว้มากเหลือเกินจากนั้นก็เลยไปสร้างโรงพยาบาลพระปกเกล้าไว้ให้ที่จันทบุรีดูเหมือนจะสร้างไปทั้งหมด 5 ล้านบาท”[2]

สำหรับการพระราชทานสัมภาณ์ของ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีประเด็นนี้แม้จอมพล ป.จะไม่ได้ระบุว่าได้ทำบาปอะไรไว้ แต่ก็แสดงให้เห็นว่าการแสดงสำนึกดังกล่าวนี้น่าจะเกิดขึ้นในช่วงปลายรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงครามสมัยที่ 2 แล้ว

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคมพ.ศ. 2484 ก่อนประมาณ 4 เดือนที่ศาลแพ่งจะมีคำพิพากษาคดีให้สมเด็จพระปกเกล้าฯและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีชำระหนี้ ในวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2484

ต่อมาหลังจากนั้นอีก 8 ปีต่อมา พ.ศ. 2492 จอมพล ป.พิบูลสงคราม (ได้ยึดอำนาจจากพันตรีควง อภัยวงศ์เมื่อวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2491) ได้กราบบังคมทูลสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7 ขอพระราชทานให้ทรงอัญเชิญพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวกลับสู่สยาม เพื่ออัญเชิญขึ้นประดิษฐานไว้ร่วมกับสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้าในพระบรมมหาราชวัง และการเข้าเฝ้าสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีของจอมพล ป. พิบูลสงคราม น่าจะเกิดขึ้นในช่วงเวลานี้

โดยโรงพยาบาลพระปกเกล้า เดิมชื่อ โรงพยาบาลจันทบุรี คณะรัฐมนตรีมีมติให้เปลี่ยนชื่อเป็นโรงพยาบาลพระปกเกล้าเพื่อน้อมเกล้าถวายเป็นพระบรมราชานุสรณ์แด่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2496 นอกจากนี้ ยังมีการสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและตึกต่างๆ เช่นอาคารประชาธิปก อาคารประชาธิปกศักดิเดชน์ ภายในโรงพยาบาล

นอกจากนั้นมีการจัดตั้งโรงเรียนพยาบาลผดุงครรภ์และอนามัยขึ้นที่โรงพยาบาลพระปกเกล้า ปัจจุบัน คือ วิทยาลัยพยาบาลพระปกเกล้า จันทบุรี และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ยังได้พระราชทานพระราชทรัพย์จัดตั้ง “ทุนประชาธิปก” (ต่อมาเปลี่ยนเป็น มูลนิธิประชาธิปก-รำไพพรรณี) เพื่อสนับสนุนกิจการของโรงพยาบาลพระปกเกล้า, วิทยาลัยพยาบาลพระปกเกล้า จันทบุรี และมหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี

ส่วนการกระทำดังกล่าวนั้นจะมีผลทำให้ล้างบาปให้กับจอมพล ป.ที่ได้กระทำไว้ต่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ได้จริงหรือไม่ และได้จริงมากน้อยเพียงใด ไม่มีใครทราบได้ แต่คำพูดถึงความต้องการล้างบาปนั้นไม่ได้ออกมาจากปากของจอมพล ป.โดยตรงในทางสาธารณะ หากแต่เป็นการบันทึกทรงเล่าของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี และประเด็นล้างบาปของจอมพล ป.ที่คิดได้นั้นก็ไม่ใช่พระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวก่อนจะสละราชสมบัติ

ในอีกด้านหนึ่ง เมื่อย้อนเวลากลับไปก่อนที่จะเสด็จกลับประเทศไทย อันเป็นเวลา “ก่อน” ที่จอมพล ป.พิบูลสงครามจะได้แสดงความรู้สึกถึงสำนึกอยากจะล้างบาปนั้น ได้ปรากฏบันทึกพระราชทานสัมภาษณ์ของ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ได้พระราชทานสัมภาษณ์นักข่าวเมื่อปี พ.ศ. 2516 ในหนังสือ “เบื้องแรกประชาธิปตัย”อีกถึงนายปรีดีพนมยงค์ และพระยามานวราชเสวีที่ขอเข้าเฝ้าที่อังกฤษ ความว่า

“หลวงประดิษฐ์มนูธรรม พระยามานวราชเสวี เคยไปขอเข้าเฝ้าฯ บอกว่า ข้าพระพุทธเจ้าตอนนั้นยังเด็ก คิดอะไรหัวมันรุนแรงเกินไป ไม่นึกว่าจะลำบากยากเย็นถึงเพียงนี้ ถ้ารู้ยังงี้ก็ไม่ทำ”[2]

แต่สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีได้ทรงเล่าต่อว่า
“ฉันก็ไม่ได้ว่าอะไรเขา เรื่องมันแล้วไปแล้วไม่เคยเก็บเอามาคิด”[2]

แม้จะไม่มีใครทราบได้ว่าหลวงประดิษฐ์มนูธรรมได้กราบบังคมทูลเช่นนั้น หมายถึงเรื่องอะไรบ้าง แต่สิ่งที่หลายคนได้จากบันทึกของนายปรีดี พนมยงค์นั้น มีความรู้สึกถึงความพลั้งพลาดบกพร่องตั้งแต่มีเหตุที่ทำให้สมเด็จพระปกเกล้าฯสละราชสมบัติ จึงได้พยายามแก้ไขความพลั้งพลาดบกพร่องนั้น

“ข้าพเจ้าและเพื่อนคณะราษฎรหลายคน รู้สำนึกความพลาดพลั้งบกพร่องอันเป็นเหตุให้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯต้องสละราชสมบัติ ดังนั้นเราจึงยอมรับสภาพและได้พยายามแก้ไขความพลั้งพลาดบกพร่อง

อาทิเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้เริ่มเกิดขึ้นในยุโรปก่อนที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ สวรรคตนั้น พระองค์ก็เคยได้มีพระราชหัตถเลขาถึงรัฐบาลในขณะนั้นที่มีพระราชประสงค์ จะเสด็จกลับมาประทับที่จังหวัดตรัง ตามฐานะแห่งพระอิสริยยศสมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปกซึ่งพระองค์ได้สงวนไว้ในการสละสมบัติ

คณะรัฐบาลกำลังพิจารณาพระราชประสงค์นั้นแต่ก็มิทันกราบบังคมทูลไป ครั้นแล้วพระองค์ก็เสด็จสวรรคต จึงเป็นที่น่าเสียดายของข้าพเจ้าและเพื่อนหลายคนในคณะราษฎร มหาดเล็กชั้นต่ำที่มิได้ตามเสด็จไปอยู่กับพระองค์ในอังกฤษไม่มีทางรู้เรื่องนี้ข้าพเจ้าจำได้ว่าพระราชหัตถเลขานั้นเป็นลายพระหัตถ์ของพระองค์เองมีถึงจอมพล ป. ที่ได้นำมาอ่านในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี

เมื่อเสร็จสงครามแล้ว ข้าพเจ้าได้สถาปนาพระเกียรติของพระองค์ท่านให้คืนคงเป็นพระมหากษัตริย์ของประเทศไทยอย่างเต็มที่ ดังปรากฏในลายพระหัตถ์ของหม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์และพระกระแสรับสั่งของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี...

...การสละราชสมบัติของพระปกเกล้าฯนั้น พระองค์ได้ทรงชี้แจงไว้ในเอกสารสละราชสมบัติแล้วว่าพระองค์ไม่ทรงเห็นด้วยกับรัฐบาลสมัยนั้นอย่างไรบ้าง รัฐบาลได้พยายามที่จะกราบบังคมทูลชี้แจงข้อข้องพระทัยของพระองค์ จึงได้แต่งตั้งเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศร์ รัฐมนตรีในรัฐบาลนั้น ซึ่งเคยเป็นเสนาบดีของพระองค์มาก่อนให้เป็นตัวแทนรัฐบาลไปกราบบังคมทูลแต่พระองค์ก็ได้ตัดสินพระทัยสละราชสมบัติ

มีผู้วิจารณ์ว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ไม่ควรสละราชสมบัติ เพราะพระองค์ไม่ทรงต้องรับผิดชอบอย่างใดในการลงพระปรมาภิไธยตามที่รัฐบาลเสนอมา ข้าพเจ้าตอบผู้วิจารณ์ว่ารัฐบาลนั้นก็เสียดายเป็นอย่างยิ่งที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงสละราชสมบัติ

แต่ถ้าคิดทางด้านพระองค์แล้ว เราก็ควรเคารพสักการะพระองค์ท่านที่มีพระราชประสงค์รักษาศักดิ์ศรีแห่งราชขัตติยะไว้ คือเมื่อทรงเห็นว่ารัฐบาลสมัยนั้นทำการที่ไม่ต้องด้วยพระราชประสงค์ พระองค์ก็ทรงสละความสุขสำราญส่วนพระองค์ในการสละราชสมบัติยิ่งกว่าจะต้องลงพระปรมาภิไธยในเรื่องขัดต่อความบริสุทธิ์ใจของพระองค์ดั่งนี้ปวงชนชาวไทยต้องเคารพสักการะ และเทิดพระเกียรติ ศักดิ์ศรีอันสูงยิ่งขอพระองค์ไว้ชั่วกาลนาน”[2]

 จอมพล ป.พูลสงคราม
จอมพล ป.พูลสงคราม

 หนังสือ “บางเรื่องเกี่ยวกับการก่อตั้งคณะราษฎรและระบบประชาธิปไตย” 
หนังสือ “บางเรื่องเกี่ยวกับการก่อตั้งคณะราษฎรและระบบประชาธิปไตย”

อย่างไรก็ตามนายปรีดี พนมยงค์ ได้ดำเนินการแก้ไขสิ่งที่ติดค้างถึงสาเหตุของการสละราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 มาก่อนหน้านี้ด้วย ให้นายทวี บุณยเกตุ เสนอให้พระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดฐานกบฏและจราจล พุทธศักราช 2488 [3] เพื่อให้นายควง อภัยวงศ์ รับสนองพระบรมราชโองการ ต่อมาสภาผู้แทนราษฎรก็ได้ให้ความเห็นชอบพระราชบัญญัติอนุมัติพระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดฐานกบถและจราจล พุทธศักราช 2488 เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2488 [4]
ทั้งนี้การนิรโทษกรรมนักโทษการเมืองทั้งหมดในคราวนั้น ก็สอดคล้องเป็นไปตามพระราชประสงค์ในข้อเรียกร้องของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ก่อนที่จะสละราชสมบัติ [5]

นอกจากนั้นนายปรีดี พนมยงค์ก็ยังได้แสดงความจงรักภักดีในการถวายความปลอดภัยให้กับพระบรมวงศานุวงศ์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างชัดเจน จนไม่มีใครอาจทราบมาก่อนได้ว่านายปรีดี พนมยงค์ได้ตระหนักความพลั้งพลาดต่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวตั้งแต่เกิดเหตุการสละราชสมบัติแล้ว และพยายามหาทางแก้ไขมาเป็นลำดับ

และอีกประเด็นหนึ่งคือการคืนพระราชวังศุโขทัย โดยหนังสือเจ้าฟ้าประชาธิปก ราชันผู้นิราศ ของนายหนหวย ได้กล่าวถึงนายปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการความตอนหนึ่งว่า

“นายปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน รัฐบุรุษอาวุโส ยังได้แสดงความจริงใจเปิดเผยต่อบุคคลหลายคนและหนังสือพิมพ์ว่า จะคืนวังศุโขทัยที่ตกเป็นของรัตามคำพิพากษาคืนให้แก่จำเลยที่ 2 ซึ่งยังดำรงพระชนม์ชีพอยู่ ย่ิงไปกว่านี้ในฐานะผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน นายปรีดี พนมยงค์ ดำริจะอัญเชิญพระบรมอัฐิของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกลับคืนประเทศไทย ได้มีการติดต่อเป็นทางการสมานรอยร้าวในอดีตกับสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีเป็นที่เรียบร้อย และรู้กันทั่วไป”[6]

แต่ยังคงเหลืออีกหนึ่งเรื่องที่สำคัญก็คือ “สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2” ซึ่งมาจากการคัดเลือกของคณะราษฎรกันเองเป็นเวลา 10 ปี ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงไม่เห็นด้วยเพราะเท่ากับเป็นการนำพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ไปให้คณะบุคคลหนึ่ง ทรงเรียกว่าเป็นสมบูรณาญาสิทธิของคณะ ซึ่งไม่ได้เป็นวิถีทางของประชาธิปไตย และทรงเห็นว่าควรจะให้มีเลือกตั้งหมดยังจะดีกว่า [5]

ซึ่งแน่นอนว่าถ้าจะแก้ไขข้อบกพร่องพลั้งพลาดในเรื่องการยกเลิกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 นั้นก็ต้องมีการ “แก้ไขรัฐธรรมนูญ”อย่างแน่นอน และจะต้องเป็นการแก้ไขเพื่อยกเลิกอำนาจของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 เองด้วย

อย่างไรก็ตาม ในการที่จะหาจังหวะการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น รัฐบาลจะต้องดำเนินการรักษาเอกราชและผลประโยชน์ของชาติหลังสงครามโลกให้สำเร็จเสียก่อน ซึ่งปญหามิใช่มีแรงเสียดทานจากนอกประเทศเท่านั้น แต่ยังมีความผิดหวังจากทหารในประเทศผู้ที่มีอำนาจอยู่แต่เดิมด้วย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปลดประจำการทหารจำนวนมากหลังสงครามโลกเสร็จ ย่อมนำไปสู่ความโกรธแค้นของทหารจำนวนมากได้ และไม่ว่ารัฐธรรมนูญจะออกแบบมาดีเพียงใดก็ตาม แต่ความโกรธแค้นก็สามารถนำไปสู่ทำการรัฐประหารในเวลาต่อมาได้เช่นกัน

ทั้งนี้ภายหลังพันตรีควง อภัยวงศ์ ได้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อประเทศไทยได้ประกาศสันติภาพให้การประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตรของรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงครามเป็นโมฆะ เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2488[7] แล้ว นายทวี บุณยเกตุ จึงเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีประมาณ 17 วัน และผู้ที่มารับช่วงต่อก็คือม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช อัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน หัวหน้าเสรีไทย สายสหรัฐอเมริกา ซึ่งเดินทางมารับช่วงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2488

ทั้งนี้ภายหลังจากสงครามโลกครั้งที่สองจบลง ฝ่ายสัมพันธมิตรได้จัดตั้งศาลอาชญากรสงครามขึ้น เพื่อพิจารณาความผิดของฝ่ายอักษะที่ได้ทำไป ที่เมืองนูเรมเบิร์กประเทศเยอมนี และกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ส่งผลทำให้ทหารนาซีของเยอรมนีถูกแขวนคอจำนวน 12 คน และทหารญี่ปุ่นถูกแขวนคอจำนวน 7 คน รวมถึงอดีตนายกรัฐมนตรีโตโจด้วย

ปรากฏว่าฝ่ายสัมพันธมิตรจะนำอาชญากรสงครามในประเทศไทยไปขึ้นศาลต่างประเทศได้แก่ จอมพลแปลก พิบูลสงคราม, หลวงวิจิตรวาทการ, พล.ต.ประยูร ภมรมนตรี, และนายสังข์ พัธโนทัย

จากเหตุผลดังกล่าว ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ได้สั่งให้พระยาอรรถการีย์(สิทธิ จุณณานนท์) ร่าง พระราชบัญญัติ อาชญากรสงคราม พ.ศ. 2488 ให้ความเห็นชอบจากสภาและประกาศใช้อย่างรวมเร็วในวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2488[8]

การจัดตั้งศาลอาชญากรสงครามโดยที่ไม่ต้องส่งตัวนักโทษทั้ง 4 คน ไปศาลต่างประเทศได้สำเร็จ จึงเป็นสัญลักษณ์ที่เป็นการยอมรับไปโดยปริยายว่าประเทศไทยไม่ใช่ประเทศผู้แพ้สงคราม และสามารถพิจารณาคดีอาชญากรสงครามในประเทศไทยเองได้

นอกจากนั้นในระหว่างที่ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรีนั้น สามารถเจรจาให้ประเทศไทยหลุดพ้นในการเป็นอาณัติอังกฤษได้สำเร็จ ภายหลังต่อมาจึงเป็นผลทำให้อังกฤษและไทยได้ลงนามใน “ความตกลงสมบูรณ์แบบเพื่อยุติภาวะสงคราม ระหว่างไทยกับบริเตนใหญ่และอินเดีย” ที่สิงคโปร์เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2489 โดยไทยต้องคืนดินแดนในมลายู และรัฐฉาน ที่ได้มาระหว่างสงครามให้แก่อังกฤษ และต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่อังกฤษด้วยข้าวสาร 1.5 ล้านตัน

จากนั้นประเทศไทยได้ทำความตกลงกับฝรั่งเศสที่เรียกร้องให้ไทยมอบพระแก้วมรกตและพระบางให้กับฝรั่งเศส แต่ฝ่ายไทยได้แสดงหลักฐานการค้นพบครั้งแรกพระแก้วมรกตว่าเป็นของไทยอย่างไร จึงทำให้ข้อเรียกร้องของฝรั่งเศสตกไป ส่วนพระบางนั้นไทยก็ได้คืนลาวไปตามข้อเรียกร้อง

อย่างไรก็ตามเมื่อเสร็จสงครามแล้ว ก็ต้องเผชิญหน้ากับปัญหาทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง ส่งผลทำให้ต้องปลดข้าราชการทหารในสนามออกซึ่งได้สร้างความโกรธแค้นให้กับทหารจำนวนมาก

โดย พล.อ.จิร วิชิตสงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ออกคำสั่งที่9/13324/2488 เรื่องคำชี้แจงทหาร เฉพาะข้าราชการกลาโหมชั้นสัญญาบัตร เมื่อวันที่13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2488 อธิบายความบางตอนว่า

“นับแต่ พ.ศ. 2480 เป็นต้นมา เมื่อเร่ิมรู้สึกว่าจะมีภัยมาสู่ประเทศ เพื่อรักษาไว้ซึ่งเอกราชอธิปไตยและความเป็นกลางของประเทศ กระทรวงกลาโหมจึงได้รับงบประมาณทวีขึ้นทุกปีตามโครงการป้องกันประเทศของทหารจนถึง พ.ศ. 2488 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของสงครามโลกนี้ ได้ใช้จ่ายเงินไปรวมทั้งสิ้นประมาณ 812 ล้านบาท

และในระยะ 9 ปีนี้ ประเทศเรามีเงินงบประมาณรายได้เพียง 1,255 ล้านบาทเท่านั้น ตามตัวเลขนี้จะเห็นได้ว่าในระยะเวลา 9 ปีนี้ รัฐบาลได้ใช้จ่ายเงินในการทหารถึง 2 ใน 3 แห่งเงินรายได้ของประเทศทั้งหมด

นอกจากนี้รัฐบาลยังจะจ่ายให้กระทรวง ทบวง กรมอื่นในการบำรุงประเทศอีกด้วยเหมือนกัน เมื่อรัฐบาลต้องจ่ายเกินตัวเช่นนี้จะได้เงินจากไหนมาจ่าย เงินจำนวนนี้ก็จำต้องเจียดมาจากเงินคงคลัง เงินกู้ และเงินภาษีอากรจากราษฎรนั่นเอง

ในระหว่างเวลาที่กองทัพญี่ปุ่นเข้ามาอยู่ในประเทศเรา ได้มีการแลกเปลี่ยนเงินเยนกับเงินบาท เพื่อให้กองทัพญี่ปุ่นได้มีเงินบาทใช้จ่ายในประเทศเรา จำนวนเงินที่แลกเปลี่ยนประมาณ 2,000 ล้านบาท และเวลานี้เรามีเงินเยนอยู่ในประเทศญี่ปุ่น 1,500 ล้านเยน แต่เงินจำนวนนี้จะมีค่าเพียงใดยังไม่ทราบได้

ถ้ารัฐบาลยังจะต้องใช้จ่ายเงินเป็นจำนวนมากเช่นนี้ต่อไปโดยไม่มีทางจะเพิ่มพูนรายได้เพียงพอ ก็จำเป็นต้องออกธนบัตรเป็นจำนวนมากๆ และการออกธนบัตรโดยไม่มีทุนสำรองเป็นมาตรฐานตามส่วนสัมพันธ์กันแล้ว ผลร้ายที่จะได้รับก็คือทำให้ค่าของธนบัตรลดลง ถ้าค่าของธนบัตรลดต่ำลงมากเกินขีดแล้ว ก็จะเกิดวิกฤตกาลในการคลังซึ่งอาจเป็นเหตุให้เกิดความปั่นป่วนในทางเศรษฐกิจและกระทบกระเทือนถึงการครองชีพของราษฎรได้ โดยเหตุนี้รัฐบาลจึงไม่ทำวิธีนี้”[9]

พล.อ.จิร วิชิตสงคราม ยังได้เขียนบทความเอาไว้เรื่อง “การเลิกระดมพล ภายหลังสงครามสงครามมหาเอเชียบูรพา”อธิบายถึงสถานกาณ์ค่าเงินว่า

“เงินบาทของเราเคยมีค่า 11 บาทต่อ 1 ปอนด์ ขณะนั้นลดลงเกินกว่า 80 บาทต่อ 1 ปอนด์ เราต้องให้เงินเป็นค่าใช้จ่ายของกองทหารยึดครอง จัดการเลี้ยงดูทหารเหล่านั้นรวมทั้งเชลยศึก ทหารญี่ปุ่น และคนงานที่ญี่ปุ่นขนมาจากทางภาคใต้เป็นจำนวนแสนทั้งชดใช้ค่าเสียหายในทรัพย์สินของฝ่ายสหประชาชาติอีก คำนวณแล้วเป็นจำนวนพันๆล้านบาท นอกจากนี้ยังมีอื่นๆอีก”[9]

คำสั่งของ พล.อ.จิร วิชิตสงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมยังมีข้อความบางตอนต่อไปอีกว่า

“นอกจากรัฐบาลจะต้องใช้จ่ายตามที่ชี้แจงมาแล้ว ยังให้ข้าวสารแก่สหรประชาชาติอีก1,500,000 ตัน เป็นการช่วยเหลือในฐานะที่เขาทำให้สงครามพ้นไปจากบ้านเมืองเรา ซึ่งคิดเป็นเงินประมาณ 700 ล้านบาท...

...เมื่อฐานะการเงินของประทศเป็นเช่นนี้ ย่อมเป็นวิสัยปกติธรรมดาที่ทางทหารจะหวังได้รับเงินจากประเทศเป็นจำนวนมากเหมือนแต่กาลก่อนย่อมไม่ได้ และตามหลักการสำหรับกิจการทหารนั้น เมื่อประเทศมีแววแห่งภัยใกล้เข้ามา การทหารก็จะแบ่งตัวขึ้นเพื่อป้องกันหรือบรรเทาภัยนั้นๆ เมื่อภัยน้อยลงหรือหมดภัยแล้วก็ย่อมต้องลดกำลังลงตามส่วน...

...สำหรับประเทศเราก็อยู่ในฐานะที่จะต้องลดกำลังลงเช่นเดียวกัน เพื่อกลับเข้าสู่อัตราปกติตามกำลังเงินที่ประเทศจะให้ได้”[9]

พล.อ.จิร วิชิตสงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยังได้แสดงตัวเลขที่บันทึกไว้มีนายทหารและนายสิบถูกปลดออกโดยสรุปดังนี้

“นายพล มีจำนวนรวมทั้งกระทรวงฯ 81 นาย ถูกปลด 11 นาย คิดเป็นร้อยละ 13.5, นายพัน มีจำนวนรวมทั้งกระทรวงฯ 1,035 นาย ถูกปลด 303 นาย คิดเป็นร้อยละ 29.3, นายร้อย มีจำนวนรวมทั้งกระทรวงฯ 3,845 นาย ถูกปลด 1,455 นาย คิดเป็นร้อยละ 37.5, จ่านายสิบ มีจำนวนทั้งกระทรวงฯ 2,577 นาย ถูกปลด 730 นาย คิดเป็นร้อยละ 28.7 และนายสิบ จำนวนทั้งกระทรวงฯ 24,545 นาย ถูกปลด 3,905 นาย คิดเป็นร้อยละ 15.5”[9]

หลังจากนั้นอีก 20 ปีต่อมาในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เมื่อปี พ.ศ. 2508 ได้มีการเขียนบทความในหัวข้อ “สารพัดปัญหา” โดยเสียดสีว่า เมื่อเสร็จสิ้นสงครามโลกครั้งที่สองแล้ว ทางการได้สั่งปลดทหารในสนามและให้เดินทางนับไม้หมอนจากเชียงตุงถึงกรุงเทพนั้น พล.อ.จิร วิชิตสงคราม ได้เขียนบทความอธิบายเหตุการณ์ในเรื่องนี้ว่า

“ด้วยการขาดแคลนเครื่องมือในการขนส่ง และความจำเป็นที่กองทัพของเราจะต้องปฏิบัติตามข้อตกลงทางการทหารดังกล่าวแล้ว ทหารจำต้องอาศัยการเดินช่วย มิฉะนั้นแล้วก็จะต้องรอคอยกันเป็นเวลาแรมเดือน ผมเชื่อว่าได้มีการเดินกันนับตั้งแต่วันที่ประกาศสันติภาพ เพราะรู้ตัวอยู่แล้วว่าเป็นฝ่ายแพ้ ขณะนั้นมีหน่วยทหารของเราได้ปฏิบัติการอยู่นอกดินแดน การกล่าวว่ามีการแกล้งให้ทหารเดินนั้น ผมไม่คิดว่าจะมีผู้บังคับบัญชาทหาไทยคนใดใจเหี้ยมโหดที่กระทำเช่นนั้นได้”[9]

อย่างไรก็ตาม ในขณะที่ชีวิตทหารต้องถูกปลดประจำการและยากลำบากจำนวนมากแต่กลับตรงกันข้ามกับบริษัทที่มีหุ้นนักการเมืองรวมอยู่ยังคงมีกำไรอย่างต่อเนื่องแม้ในภาวะเสร็จสิ้นสงครามยากลำบากทั่วประเทศ

ตัวอย่างเช่น ในปี พ.ศ. 2489 บริษัท ข้าวไทย จำกัด ยังคงมีกำไรสุทธิ 5,699,120 ล้านบาท มีเงินปันผลได้ 375,000 ล้านบาทและยังมีเงินบำเหน็จกรรมการ 217,270 บาท แม้ในปี พ.ศ. 2490 ก็ยังมีกำไรสุทธิสูงถึง 5,699,120 ล้านบาท ในขณะที่ในปี พ.ศ. 2489 บริษัท ไทยนิยมพาณิชย์ จำกัด ยังมีกำไรสุทธิ 692,275 ล้านบาท มีผลตอบแทนกรรมการ 100,000 บาท และในปี พ.ศ. 2490 ก็ยังมีกำไรสุทธิ 101,945 บาท และมีผลตอบแทนกรรมการ 50,000 บาท

ทหารและกองกำลังทั้งหลายที่ถูกปลดประจำการ จะไม่เกิดการเปรียบเทียบได้อย่างไร?

อย่างไรก็ตาม หลังจากเจรจากับอังกฤษจนสำเร็จ ประเทศไทยพ้นสถานะประเทศผู้แพ้สงครามแล้ว ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ได้ยุบสภาเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ.2488 เพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ ผลปรากฏว่าการเลือกตั้งมีขึ้นในวันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2489 พันตรีควง อภัยวงศ์ ได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยมี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในขณะที่นายปรีดี พนมยงค์ สนับสนุนให้นายดิเรก ชัยนาม เป็นนายกรัฐมนตรีแต่ไม่ประสบความสำเร็จ

แต่พันตรีควง อภัยวงศ์ ก็ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีรอบที่สอง ได้เพียงแค่ 2 เดือนเท่านั้น เพราะสภาผู้แทนราษฎรได้ผ่านร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองใช้จ่ายของประชาชนในภาวะคับขัน (พ.ร.บ.ปักป้ายราคาสินค้าอุปโภคบริโภค หรือ “พ.ร.บ.ปักป้ายข้าวเหนียว”)ที่เสนอโดย นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ ส.ส.อุบลราชธานี ซึ่งเป็นผู้ใกล้ชิดกับนายปรีดี พนมยงค์ในฐานะที่นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ เป็นหัวหน้าขบวนการเสรีไทย เขตอุบลราชธานี โดยกฎมายฉบับนี้พันตรีควง อภัยวงศ์ไม่เห็นด้วยในหลักการเนื่องจากไม่มีมาตรการในการควบคุมราคา แต่สภาฯได้ลงมติรับหลักการด้วยคะแนน65 ต่อ 63 เสียง รัฐมนตรีทั้งคณะจึงได้กราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่ง

 มีต่อ

19 มี.ค. 2564   โดย: ผู้จัดการออนไลน์
หัวข้อ: (ต่อ)ภารกิจคณะราษฎรยังไม่เสร็จ (ตอนที่ 18) ความต่างในสำนึกผิดของปรีดีกับจอมพลป.
เริ่มหัวข้อโดย: story ที่ 23 มีนาคม 2021, 21:21:18
ต่อมาวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2489 ศาลฎีกาได้ตัดสินคดีอาชญากรสงครามในคดีอาชญากรสงครามที่ 1/2489 ยกฟ้องปล่อยตัวจำเลยทั้ง 4 คน จอมพลแปลก พิบูลสงคราม, หลวงวิจิตรวาทการ, พล.ต.ประยูร ภมรมนตรี, และนายสังข์ พัธโนทัย

เพราะพระราชบัญญัติอาชญากรสงครามโลกไม่สามารถลงโทษจำเลยย้อนหลังในการกระทำก่อนวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2489

ต่อมาในวันรุ่งขึ้น วันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2489 นายปรีดี พนมยงค์ ได้รับการสนับสนุนจากพรรคสหชีพและพรรคแนวรัฐธรรมนูญให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หลังจากนั้นเพียง 2 เดือน รัฐบาลนายปรีดี พนมยงค์ ก็ได้กราบบังคมทูลโปรดเกล้ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 อันเป็นการยุติสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 ด้วยรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวนี้ เหลือเพียงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งแต่เพียงอย่างเดียว[10]

ทั้งนี้เป็นที่ชัดเจนว่าการยกเลิกบทเฉพาะกาลในเรื่องผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 นั้น ได้ถูกริเริ่มโดยนายปรีดี พนมยงค์ ดังปรากฎในคำปรารภของรัฐธรรมนูญฉบับเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 ความตอนหนึ่งว่า

“ต่อมานายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในขณะนั้น ได้ปรารภกับนายควง อภัยวงศ์ นายกรัฐมนตรีว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยนี้พระมหากษัตริย์ได้พระราชทานแก่ชนชาวไทยมาแล้วเป็นปีที่ 14 ถึงแม้ว่าการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีรัฐธรรมนูญเป็นหลักนี้จะได้ยังความเจริญให้เกิดแก่ประเทศชาตินับอเนกประการ ทั้งประชาชนจะได้ทราบซึ่งถึงคุณประโยชน์ของการปกครองระบอบนี้เป็นไปอย่างดีแล้วก็จริง

แต่เหตุการณ์บ้านเมืองก็ได้เปลี่ยนแปลงไปเป็นอันมาก ถึงเวลาแล้วที่ควรจะได้เลิกบทฉะเพาะกาลอันมีอยู่ในรัฐธรรมนูญนั้น และปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย นายกรัฐมนรีจึ่งนำความนั้นปรึกษาหารือกับสมาชิกผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 พร้อมกับคณะผู้ก่อการขอพระราชทานรัฐธรรมนูญ...”[10]

ทั้งนี้นายปรีดี พนมยงค์ ได้อธิบายในเรื่องยุบเลิกผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 เอาไว้ว่า

“ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 คณะราษฎรได้ปฏิบัติตามคำมั่นที่ให้ไว้แก่ราษฎรเพื่อให้ราษฎรมีสิทธิประชาธิปไตยสมบูรณ์ ดังนั้นผู้แทนราษฎรประเภท 2 ซึ่งส่วนมากเป็นสมาชิกคณะราษฎรจึงได้ร่วมมือกับผู้แทนราษฎรประเภท 1 ซึ่งได้รับการเลือกโดยตรงจากราษฎรจัดร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์ขึ้น ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันท์มหิดลได้ทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 แทนฉบับ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475

รัฐธรรมนูญฉบับ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 ให้สิทธิประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์ที่สุดแก่ปวงชนชาวไทย คือ

มาตรา 13 ให้มีเสรีภาพบริบูรณ์ในการถือศาสนาหรือลัทธินิยมใดๆ

มาตรา 14 ให้เสรีภาพบริบูรณ์ในร่างกาย เคหสถาน ทรัพย์สิน การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา การศึกษาอบรม การชุมนุมสาธารณะ การตั้งสมาคม การตั้งคณะพรรคการเมือง การอาชีพ

แม้มีข้อกำหนดภายใต้บังคับแห่งกฎหมาย แต่บทกฎหมายนั้นก็ไม่ล่วงล้ำสิทธิประชาธิปไตย คือ เพียงกำหนดให้อยู่ในความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมของประชาชนดังนั้นหนังสือพิมพ์จึงออกกันแพร่หลาย พรรคการเมืองก็ตั้งกันได้อย่างแพร่หลายโดยไม่จำกัดความนิยมลัทธิการเมืองของพรรคนั้นๆ

รัฐสภาซึ่งประกอบไปด้วยพฤติสภา (SENATE) และสภาผู้แทนสมาชิกของทั้งสองสภาเป็นไปได้โดยการเลือกตั้ง มิใช่โดยการแต่งตั้ง คือ การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนให้ราษฎรลงคะแนนออกเสียงโดยตรงและลับ การเลือกตั้งสมาชิกพฤฒสภาให้ใช้วิธีลงคะแนนออกเสียงโดยทางอ้อมและทางลับซึ่งเป็นหลักที่นิยมกันทั่วไปซึ่งเรียกกันว่าการลงคะแนนสองชั้น คือราษฎรลงคะแนนตั้งตัวแทนของตน (ซึ่งอาจเป็นสมาชิกสภาผู้แทน) มาขั้นหนึ่งก่อน แล้วตัวแทนของราษฎรลงมติเลือกพฤฒสมาชิกอีกขั้นหนึ่ง” [11]

สถานการณ์ในเวลานั้นได้ทำให้สถานภาพของนายปรีดี พนมยงค์ นายกรัฐมนตรี ได้รับการยกย่องในหลายมิติรอบด้าน เพราะได้นำพาทำให้ประเทศไทยให้พ้นจากประเทศผู้แพ้สงคราม เป็นผู้นำในการทำให้นิรโทษกรรมทางการเมืองในอดีต นำพาทำให้จอมพล ป. พิบูลสงครามและพวกรอดพ้นจากคดีอาชญากรสงคราม อีกทั้งยังเป็นผู้ให้กำเนิดรัฐธรรมนูญที่ทำให้เกิดผู้แทนราษฎรและพฤฒสมาชิกที่มาจากประชาชนโดยตรง และเป็นผู้อธิบายชำระประวัติศาสตร์ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวอีกด้วย

อย่างไรก็ตามยังมีอีกหนึ่งประเด็นที่นายปรีดี พนมยงค์ในฐานะนายกรัฐมนตรี ได้มีความพยายามเสนอสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี และพระยามานนวราชเสวี เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8มีพระราชประสงค์จะแต่งตั้งกรมขุนชัยนาทนเรนทร และพระองค์เจ้าธานีนิวัติ (กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร)เป็นผู้สำเร็จราชการ [12]

แต่ในที่สุดเหตุการณ์สวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่8 ก็ได้ตามมาในเวลาเพียง 1 เดือนนับแต่วันที่ประกาศรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2489 ได้เป็นจุดเปลี่ยนของสถานการณ์ของนายปรีดี พนมยงค์ และได้ถูกระบอบ”อนาธิปไตย” เข้ามาทำลาย จนถึงขั้นไม่สามารถรักษารัฐธรรมนูญเอาไว้ได้ และถูกฉีกไปในท้ายที่สุด

อ้างอิง
[1] ปรีดี พนมยงค์, บางเรื่องเกี่ยวกับการก่อตั้งคณะราษฎรและระบบประชาธิปไตย, อนุสรณ์ ในงานพระราชทานเพลิงศพ ร.ท.อู๊ด นิตยสุทธิ ต.ช.ต.ม., อดีตผู้แทนราษฎร จังหวัดนคราราชสีมา ณ ฌาปนสถาน วัดใหม่อัมพร อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมาพ.ศ. 2517, เผยแพร่เว็บไซต์สถาบันปรีดี, หน้า 123-127
https://pridi.or.th/sites/default/files/pdf/2515-66.pdf

[2] พระราชบันทึกทรงเล่าของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี, เบื้องแรกประชาธิปตัยเล่ม 1, สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย, โรงพิมพ์มติชนปากเกร็ด, พิมพ์ครั้งที่ 3 มิถุนายน 2560, ISBN: 978-616-91915-8-2, หน้า 32

[3] ราชกิจจานุเบกษา,ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องนายทหารออกจากประจำการ, เล่ม 62 ตอนที่ 9, วันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2488 หน้า 148-149
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2488/D/009/148.PDF

[4] ราชกิจจานุเบกษา, พระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดฐานกบฏและจราจล พุทธศักราช 2488, เล่ม 62 ตอนที่ 27, วันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2488 หน้า 337-341
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2488/A/027/337.PDF

[5] รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 16 (สมัยสามัญ สมัยที่สอง) วันพฤหัสบดีที่ 31 มกราคม พุทธศักราช 2478, หน้า 488-489
https://dl.parliament.go.th/bitstream/handle/lirt/383561/16_24770131_wb.pdf?sequence=1

[6] สุพจน์ แจ้งเร็ว, คดียึดพระราชทรัพย์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ,ศิลปวัฒนธรรมลำดับที่ 272 ปีที่ 23 ฉบับที่ 8 มิถุนายน 2545, หน้า 62-80

[7] ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสันติภาพ, เล่มที่ 62 ตอนที่ 44 วันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2488 หน้า 503-506
https://dl.parliament.go.th/bitstream/handle/lirt/235501/SOP-DIP_P_419966_0001.pdf?sequence=1

[8] ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติ อาชญากรสงคราม พุทธศักราช 2488,เล่มที่ 62 ตอนที่ 591 วันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2488, หน้า 591-596
https://dl.parliament.go.th/bitstream/handle/lirt/13367/SOP-DIP_P_401936_0001.pdf?sequence=1

[9] พล.อ.จิร วิชิตสงคราม, การเลิกระดมพลภายหลังสงครามมหาเอเชียบูรพา, หนังสืองานพระราชทานเพลิงศพ พลเอกจิร วิชิตสงคราม ม.ป.ช., ม.ว.ม., ท.จ.ว. ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันพุธที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2522 หน้า 243-253

[10] ราชกิจจานุเบกษา, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489,เล่มที่ 63 ตอนที่ 30 วันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2489, หน้า 318-324
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2489/A/030/318.PDF

[11] ปรีดี พนมยงค์, บางเรื่องเกี่ยวกับการก่อตั้งคณะราษฎรและระบบประชาธิปไตย, อนุสรณ์ ในงานพระราชทานเพลิงศพ ร.ท.อู๊ด นิตยสุทธิ ต.ช.ต.ม., อดีตผู้แทนราษฎร จังหวัดนคราราชสีมา ณ ฌาปนสถาน วัดใหม่อัมพร อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมาพ.ศ. 2517, เผยแพร่เว็บไซต์สถาบันปรีดี, หน้า 128
https://pridi.or.th/sites/default/files/pdf/2515-66.pdf

[12] สรรใจ แสงวิเชียร และวิมลพรรณ ปีตธวัชชัย, กรณีสวรรคต 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489, พิมพ์โดยแหล่งพิมพ์เรือใบ, ศิริราชมูลนิธิสงวนลิขสิทธิ์, พิมพ์ครั้งที่ 3, 17 มิถุนายน พ.ศ. 2517 หน้า 163

19 มี.ค. 2564 โดย: ผู้จัดการออนไลน์
https://mgronline.com/daily/detail/9640000026572