My Community

หมวดหมู่ทั่วไป => ข่าวเกี่ยวกับวงการแพทย์ => ข้อความที่เริ่มโดย: story ที่ 29 ธันวาคม 2020, 20:00:05

หัวข้อ: บอร์ด คกก.โรคติดต่อฯ ไฟเขียวนโยบายกักตัวโควิด-19 เหลือ 10 วัน รองรับเปิดประเทศ
เริ่มหัวข้อโดย: story ที่ 29 ธันวาคม 2020, 20:00:05
รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผย คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เห็นชอบนโยบายกักกันโรคระดับชาติ 3 ด้าน มีระบบการกักกันโรคและสถานที่กักกันผู้สัมผัสโรค หรือพาหะ กลไกการบริหารจัดการเชื่อมโยงการทำงานระดับชาติและจังหวัด และมีระบบการบริหารจัดการข้อมูลแบบบูรณาการ พร้อม มีมติลดการกักตัวโควิด จาก14 วัน เหลือ 10 วัน รอเพียง ศบค.เห็นชอบ

วันนี้ (29 ต.ค.) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 8/2563 ว่า สถานการณ์โรคโควิด-19 ของประเทศไทยอยู่ในระดับต่ำ ผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่พบในขณะนี้ส่วนใหญ่เดินทางมาจากต่างประเทศ แม้ว่าจะมีผู้ติดเชื้อภายในประเทศบ้าง ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ แต่จากประสบการณ์การทำงานตั้งแต่ต้นปี ทำให้เราสามารถควบคุมโรคได้ดี ตั้งแต่การตรวจคัดกรองอย่างละเอียด ทำให้ค้นพบเร็ว ควบคุมโรคได้ดี ทีมงานสาธารณสุขมีความเข้มแข็ง ค้นหาเชิงรุกและตรวจหาเชื้อในกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่อย่างครอบคลุม สามารถป้องกันควบคุมไม่ให้มีการระบาดในวงกว้าง ภาพรวมในเวลานี้ ประเทศไทยมีศักยภาพในการต่อสู้โควิด-19 ทั้งทรัพยากร เวชภัณฑ์ แล็บ ยา แพทย์พยาบาล ที่สำคัญไม่มีผู้ป่วยหนักในไอซียู และอัตราการเสียชีวิตต่ำมากน้อยกว่าร้อยละ 2 ทำให้ประชาชนมั่นใจได้

“โจทย์สำคัญในวันนี้ คือ การสร้างสมดุลระหว่างสุขภาพกับเศรษฐกิจบนพื้นฐานความปลอดภัยประชาชน ช่วยกันฟื้นฟูเศรษฐกิจซึ่งไทยยังต้องพึ่งพาต่างชาติ การเปิดประเทศให้ชาวต่างชาติให้สามารถเดินทางเข้ามาในประเทศเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยว หรือการค้าการลงทุน จะช่วยให้เศรษฐกิจของเรากลับมาเดินหน้าอีกครั้ง เรื่องเศรษฐกิจสุขภาพเป็นนโยบายสำคัญทีจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยยังคงความปลอดภัยให้กับประชาชนและสังคมด้วย” นายอนุทิน กล่าว

นายอนุทิน กล่าวต่อว่า คณะกรรมการได้มีมติเห็นชอบ ร่างนโยบายการกักกันโรคในประเทศ (National Quarantine Policy) รองรับการเปิดประเทศเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชนในระยะยาว ประกอบด้วย 3 หลักการ คือ
1. จัดให้มีระบบการกักกันโรค และสถานที่กักกันผู้สัมผัสโรคหรือพาหะ เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อที่ปลอดภัยได้มาตรฐาน เหมาะสมกับบริบทของการปฏิบัติงานและกลุ่มเป้าหมาย และเพียงพอทุกพื้นที่

2. พัฒนากลไกการบริหารจัดการระบบการกักกันโรคและสถานที่กักกันโรคให้เป็นเอกภาพ ทั้งในระดับชาติ และระดับจังหวัด ที่สามารถทำงานเชื่อมโยงกันได้ โดยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด และคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร

3. เร่งพัฒนาระบบการบริหารจัดการข้อมูลแบบบูรณาการ เพื่อสนับสนุนการทำงานร่วมกันของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

พร้อมทั้งได้กำหนดระบบการจัดการในสถานที่กักกันโรค 10 ข้อ ทั้งด้านการจัดการสถานที่พัก พื้นที่ส่วนกลางและสถานที่เฉพาะ, มีผู้รับผิดชอบทุกขั้นตอนครบตามจำนวนวันที่กำหนด, การคัดกรองการเจ็บป่วย หรือสงสัยติดเชื้อโควิด-19, การจัดการสิ่งแวดล้อม, การบริการพื้นฐานเพื่อการดำรงชีวิต, การรวบรวม จัดเก็บข้อมูล, ระบบรายงานเหตุการณ์, การพัฒนาทักษะผู้ปฏิบัติงาน, การตรวจประเมินสถานที่กักกันโรค และมีวิธีการการตรวจสอบย้อนหลังเมื่อพบเหตุการณ์ผิดปกติ รวมทั้งมีการกำกับติดตาม และประเมินผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินงาน ทั้งในระดับชาติและพื้นที่อย่างสม่ำเสมอ

นอกจากนี้ ในที่ประชุมคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ เห็นด้วยกับหลักการ เรื่องการลดเวลาการกักตัวจาก 14 วัน เหลือ 10 วัน และให้ข้อเสนอแนะให้เน้นเรื่องความปลอดภัย การติดตามตัวได้ มีอาการป่วยหรือไม่ เข้มข้นการปฏิบัติตัวแบบ New normal โดยจะเสนอ ศบค. พิจารณาต่อไป

29 ต.ค. 2563  ผู้จัดการออนไลน์
หัวข้อ: สธ.ยันไทยมีประสิทธิภาพเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว ชี้กักตัวเหลือ10วัน ยังต้องเสนอ
เริ่มหัวข้อโดย: story ที่ 29 ธันวาคม 2020, 20:03:59
รองนายกฯ และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ยืนยัน ประเทศไทยพร้อมแล้วที่จะเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยว เผย ระยะกักตัว 10 วัน และ 14 วัน มีความเสี่ยงไม่ต่างกัน ยังต้องเสนอเข้า ครม. อีกครั้งเพื่อพิจารณาวันกักตัวของนักท่องเที่ยว

วันนี้ (13 พ.ย.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดงาน Smart Living with Covid-19 ทําความเข้าใจสื่อ “เปิดประเทศปลอดภัย เศรษฐกิจไทยไปรอด” โดยมี นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และอธิบดีกรมที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมให้ข้อมูลกับสื่อมวลชน เพื่อทําความเข้าใจถึงนโยบายการเปิดประเทศอย่างไร ให้คนไทยปลอดภัย และเศรษฐกิจไทยไปรอด โดย นายอนุทิน กล่าวว่า ในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในปีที่ผ่านมา ประเทศไทยจําเป็นต้องใช้มาตรการควบคุมโรค ที่เข้มข้นในการล็อกดาวน์ ทําให้ส่งผลกระทบกับชีวิตประชาชนเป็นอย่างมาก แต่ขณะนี้ ประเทศไทยสามารถควบคุมโรคได้เป็นอย่างดี รัฐบาลจึงมีนโยบายให้คลายล็อกเปิดประเทศ บนพื้นฐานความปลอดภัยของประชาชน ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข ได้นําประสบการณ์ และองค์ความรู้ มาปรับเป็นมาตรการควบคุมโรค เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือ การทยอยเปิดประเทศ ทั้งการตั้งด่านเฝ้าระวังคัดกรอง และควบคุมโรค โดยมีทีมสอบสวนโรค และอาสาสมัครสาธารณสุขประจําหมู่บ้าน หรือ อสม. กว่า 1 ล้านคน ในการเฝ้าระวังมีการจัดสถานกักกันโรคทุกประเภท และห้องรับมากกว่า 8,000 ห้อง ห้องปฏิบัติการในการตรวจหาสารพันธุกรรม ของเชื้อโควิด-19 พร้อมจัดเตรียมยาฟาวิพิราเวีย กว่า 5 แสนเม็ด ห้องแยกโรค และเตรียมเพื่อรองรับการรักษา รวมถึงความร่วมมือจากภาคประชาชน ซึ่งมั่นใจว่าสิ่ง เหล่านี้ จะทําให้ประเทศไทยมีความพร้อม ในการเดินหน้าสู้กับโควิด-19 ภายใต้แนวคิด Smart Living with โควิด-19 คนไทยปลอดภัย เศรษฐกิจไทยไปรอด

ส่วนข้อเสนอการลดวันกักตัว ผู้เดินทางจากประเทศที่มีความเสี่ยงโรคโควิด จาก 14 วัน เหลือ 10 วันนั้นยังอยู่บนพื้นฐานความปลอดภัยของประชาชน ขณะที่ข้อมูลล่าสุดพบว่าระยะกักตัว 10 วัน และ 14 วัน มีความเสี่ยงไม่ต่างกัน และเมื่อออกจากที่กักกันโรคจะใช้มาตรการป้องกันส่วนบุคคล อย่าง เคร่งครัด เช่น สวมหน้ากาก ล้างมือบ่อยๆ เว้นระยะห่างระหว่างบุคคล และมี ระบบติดตามตัวทุกคน เพื่อรายงานอาการป่วย

นายอนุทิน กล่าวว่า จะดําเนินการผ่าน 3 P for Safety คือ Post Safety ด่านควบคุมโรคปลอดภัย มีระบบเฝ้าระวังคัดกรอง และ ควบคุมโรค, Policy for National quarantine Safety จัดทํานโยบายควบคุมโรค ระดับชาติ มีระบบกักกันโรค และสถานที่กักกันโรคที่ได้มาตรฐาน, Public Health Emergency Operation Center ฉุกเฉิน ที่เป็นระบบทางการเฝ้าระวัง และสอบสวนโรคเชิงรุก โดยจะมีการจัดทีมสอบสวนโรค กว่า 3,000 ทีมทั่วประเทศ

นอกจากนี้ ยังรวมถึงการเฝ้าระวัง และตรวจห้องปฏิบัติการ ในกลุ่มที่มีอาการเข้าเกณฑ์ เช่น ผู้ป่วยโรคปอดอักเสบ อาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ ผู้ต้องขังแรก รวมถึงแรงงานต่างด้าวด้วย

13 พ.ย. 2563 ผู้จัดการออนไลน์
หัวข้อ: ศบค.ต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินอีก 45 วัน ตีกลับกักตัวเหลือ 10 วัน มาเสนอใหม่อีกครั้ง
เริ่มหัวข้อโดย: story ที่ 29 ธันวาคม 2020, 20:09:58
ศบค.เห็นชอบขยายประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินอีก 45 วัน ตั้งแต่ 1 ธ.ค. 63 - 15 ม.ค. 64 ยอมถอยตีกลับการกักตัวเหลือ 10 วัน ให้ ศบค.ชุดเล็กและ สธ.ไปคิดและนำเสนอรูปแบบใหม่ หลังประชาชนยังกังวล พร้อมไฟเขียวจังหวัดชายแดนตั้ง OQ กลุ่มแรงงานต่างด้าว

วันนี้ (18 พ.ย.) นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) แถลงข่าวภายหลังการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ว่าจากการประชุมกว่า 3 ชั่วโมง มีเรื่องการพิจารณา 3 เรื่องหลัก คือ

1. การขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ครั้งที่ 8 ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2563 - 15 ม.ค. 2564 รวม 45 วัน ซึ่งตามปกติจะอนุมัติคราวละ 1 เดือน แต่ครั้งนี้คร่อมในช่วงปีใหม่ไปด้วยเนื่องจากจะมีการแข่งขันกีฬาใหญ่ คือ แบดมินตันโลก มีผู้เดินทางเข้ามาจำนวนมาก

2. การลดระยะเวลากักกันจาก 14 วัน เหลือ 10 วัน โดยกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอให้คงการกักตัวในโรงแรม 10 วัน และ 4 วันให้อยู่ในพื้นที่ที่กำหนด เป็น Area Quarantine แต่ที่ประชุมมีการตั้งคำถามจำนวนมาก จึงมีข้อสรุปว่าให้ถอนเรื่องนี้ไปก่อน โดยให้ทีม ศบค.ชุดเล็ก และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ไปลงในรายละเอียดในช่วง 2-4 สัปดาห์ต่อจากนี้แล้วค่อยนำเข้าที่ประชุมครั้งใหม่

3. อนุมัติให้พื้นที่ชายแดนพิจารณาใช้งบประมาณเพื่อจัดทำการกักกันเฉพาะในองค์กร (Qrganizational Quarantine) หรือ OQ ในกลุ่มแรงงานต่างด้าว เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

เมื่อถามว่ายังคงการกักตัว 14 วันใช่หรือไม่ นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ยืนยันว่ายังกักตัวที่ 14 วัน แต่พัฒนาการทำ Quarantine ทั่วโลก ปรับเป็น 10 วัน ทำอย่างไรที่จะเป็น 10 วัน โดยสร้างความมั่นใจประชาชนมากกว่านี้ในอีกเดือนกว่าๆ นี้ ทีม ศบค. และ สธ.จะทำการบ้านเพิ่มเติมและเสนอรูปแบบใหม่เพิ่มเติม

18 พ.ย. 2563 ผู้จัดการออนไลน์