My Community

หมวดหมู่ทั่วไป => ข่าวเกี่ยวกับวงการแพทย์ => ข้อความที่เริ่มโดย: story ที่ 29 ธันวาคม 2020, 19:55:14

หัวข้อ: “อัจฉริยะ” พา 3 ครอบครัว ร้อง “อนุทิน” สอบ รพ.สมุทรสาคร หลังทำคลอดเด็กตาย
เริ่มหัวข้อโดย: story ที่ 29 ธันวาคม 2020, 19:55:14
ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม นำ 3 ครอบครัวผู้เสียหายร้อง“อนุทิน” ตรวจสอบมาตรฐานรพ.สมุทรสาคร หลังทำคลอดทารกจนเสียชีวิตถึง 40 ศพ/เดือน ลั่นให้เวลา 7 วัน สาธารณสุข ขอรู้ผลความคืบหน้า

วันนี้ (12 ต.ค.) ที่กระทรวงสาธาณสุข (สธ.) นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม พร้อมด้วย ครอบครัวผู้เสียหายจากการทำคลอดที่โรงพยาบาล (รพ.) สมุทรสาคร จำนวน 3 ราย เดินทางเข้าร้องเรียน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการ สธ. โดยมี นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ รองปลัด สธ. รับเรื่องแทน

นายอัจฉริยะ กล่าวว่า ได้นำครอบครัวผู้เสียหายมาร้องเรียนที่ สธ. โดยความตั้งใจเดิมจะนำศพเด็กทั้ง 3 ราย ที่ครอบครัวเชื่อว่าเสียชีวิตจากทำการคลอดของแพทย์รายหนึ่งมาวางที่หน้าห้องรัฐมนตรีว่าการ สธ. แต่เปลี่ยนความตั้งใจ เนื่องจากต้องการให้เกียรติและต้องการเข้ามาพูดคุยเบื้องต้นก่อน

นายอัจฉริยะ กล่าวว่า ในช่วง 1 ปี รพ.สมุทรสาคร มีการทำคลอดจนเด็กเสียชีวิตมากกว่า 100 ศพ เฉพาะในเดือนกันยายน จำนวน 40 ศพ วันนี้จึงพาผู้เสียหายเข้าร้องเรียนต่อรัฐมนตรีว่าการ สธ. ถึงมาตรฐานของ รพ. และหาข้อเท็จจริงว่า เหตุใดบางศพถึงจัดอยู่ในศพไร้ญาติ ทั้งๆ ที่มีพ่อแม่พร้อมรับศพไปทำพิธีกรรมเอง และในบางรายทาง รพ. ไม่ได้แจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งเป็นการปกปิดข้อมูล ทั้งนี้ หลังเกิดเหตุการณ์ขึ้น รพ. ไม่มีความรับผิดชอบ ไม่ดูแลครอบครัวผู้เสียหาย” นายอัจฉริยะ กล่าว

นอกจากนี้ นายอัจฉริยะ กล่าวว่า แม้ รพ.จะมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง แต่ตนไม่มีความเชื่อมั่นใน รพ. และต้องการให้รัฐมนตรีว่าการ สธ.เข้ามาดูแลด้วยตนเอง เพราะการมีศพเด็กมากกว่าร้อยศพ ไม่ใช่เรื่องปกติ จะต้องตรวจสอบคุณภาพของ รพ.เพื่อความชัดเจน
“เมื่อรู้ว่าทาง รพ. ไม่สามารถให้บริการคลอดในจำนวนมากได้ ทำไมถึงไม่ส่งต่อไปยัง รพ.อื่นๆ และหมอที่ทำคลอดก็เปิดคลินิกส่วนตัวให้บริการพิเศษ รับฝากท้องจำนวนมาก ในวันนี้ได้นำศพเด็กมาแล้ว ศพอยู่ในรถ แต่เกรงใจและให้เกียรติ อย่างไรก็ตาม ผมให้เวลา 7 วันในการดำเนินการ ถ้ายังไม่มีความคืบหน้าก็จะนำศพเด็กมาวางไว้ที่หน้าห้องรัฐมนตรีว่าการ สธ. จริง นี่เป็นคนไทยที่คลอดแล้วเสียชีวิต ยังมีแรงงานต่างด้าวอีกจำนวนมากที่ไม่มีปากเสียงอีกกี่ศพ” นายอัจฉริยะ กล่าว

ด้าน นพ.สุระ กล่าวว่า สธ.จะเข้าไปดำเนินการหาข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ให้เสร็จภายใน 3 เดือน โดยระหว่างนั้น จะมีการดำเนินการตรวจสอบคุณภาพ รพ. ควบคู่กันไป และส่วนผู้เสียหายจะได้รับการเยียวยาตามมาตรา 41 พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ขอเวลาให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการตามระเบียบเพื่อความถูกต้อง แต่เบื้องต้นทราบข้อมูลว่า รพ.สมุทรสาคร มีผู้มาคลอดเฉลี่ยวันละ 20 ราย หรือปีละ 7,000-8,000 ราย ขณะที่ รพ.มีสูตินรีแพทย์ประมาณ 8-9 ราย ดังนั้นจะมอบหมายให้ผู้ตรวจราชการเขตสุขภาพที่ 5 เข้าไปตรวจสอบว่าอัตราการเข้ามารับการบริการคลอด จะมากกว่าประสิทธิภาพการดูแลของ รพ. หรือไม่ ซึ่งตามมาตรฐาน หาก รพ.ใดที่ไม่สามารถดูแลผู้ป่วยคลอดได้ ก็จะต้องส่งต่อไปยัง รพ.อื่นใกล้เคียง

นพ.อนุกูล กล่าวว่า ตั้งแต่เดือนมิถุนายน-กันยายน ในระยะเวลา 4 เดือน มีทารกที่เสียชีวิตภายใน 24 ชั่วโมงหลังจากการทำคลอด จำนวน 14 ศพ แบ่งเป็น เดือนมิถุนายน 2 ราย เดือนกรกฎาคม 5 ราย เดือนสิงหาคม 3 ราย และ เดือนกันยายน 4 ราย โดยการจัดการศพทารกจะจำหน่าย 2 สัปดาห์ต่อ 1 ครั้ง และศพผู้ใหญ่จะจำหน่ายทุก 7 วัน เนื่องจากร่างใหญ่กว่า และข้อมูลเฉลี่ย รพ.สมุทรสาคร ทำคลอดเฉลี่ยวันละ 20 ราย หรือ เดือนละ 600 ราย จะมีเสียชีวิตเฉลี่ย 4 ราย ส่วนในกรณีที่มีการเก็บศพเด็กไว้นานถึง 7 เดือนนั้น อาจเกิดจากการสื่อสารคลาดเคลื่อนระหว่างห้องเก็บศพและการจำหน่ายศพ

“รพ.สมุทรสาคร ได้เลิกจ้างแพทย์รายดังกล่าวตั้งแต่เดือนกันยายนที่ผ่านมา ซึ่งเดิมแพทย์รายนี้เป็นลูกจ้างเหมารายปี ที่จ้างมาตั้งแต่ปี 2554” นพ.อนุกูล กล่าว

12 ต.ค. 2563  ผู้จัดการออนไลน์
หัวข้อ: สธ.ตั้ง คกก.สอบข้อเท็จจริงกรณีคลอดเด็กเสียชีวิต ให้ความเป็นธรรมทั้ง 2 ฝ่าย
เริ่มหัวข้อโดย: story ที่ 29 ธันวาคม 2020, 19:56:15
กระทรวงสาธารณสุข ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงกรณีการคลอดเด็กเสียชีวิตที่โรงพยาบาลสมุทรสาคร เพื่อให้ความเป็นธรรมกับทั้ง 2 ฝ่าย พร้อมเร่งรัดประสานเรื่องการเยียวยาตามระเบียบ กฎหมาย กองทุนรักษาพยาบาลของผู้ป่วยแต่ละราย

วันนี้ (12 ต.ค.) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์ สุระ วิเศษศักดิ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ความคืบหน้ากรณีการคลอดเด็กเสียชีวิตที่โรงพยาบาลสมุทรสาคร ว่า รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้มอบหมายให้เป็นตัวแทนรับข้อร้องเรียน และขอแสดงความเสียใจต่อการสูญเสียของทั้ง 3 ครอบครัว เหตุการณ์ดังกล่าวไม่มีฝ่ายใดต้องการให้เกิดขึ้น ได้มอบหมายให้ นายแพทย์ กิตติ กรรภิรมย์ สาธารณสุขนิเทศก์ เขตสุขภาพที่ 5 ปฏิบัติหน้าที่ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 5 และผู้แทนกองกฎหมาย สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง โดยมีผู้แทนจากภายนอกและภายในโรงพยาบาล ให้เป็นที่ยอมรับของผู้ร้องเรียน ร่วมเป็นกรรมการ เพื่อให้ความเป็นธรรมกับทั้ง 2 ฝ่าย ขณะเดียวกัน ให้เร่งรัดเรื่องการขอรับการเยียวยาตามระเบียบหรือกฎหมายกองทุนรักษาพยาบาลของผู้ป่วยแต่ละรายด้วย

ขณะนี้ โรงพยาบาลสมุทรสาครได้พิจารณาไม่ต่อสัญญาจ้างแพทย์ที่ได้รับการร้องเรียนกรณีดังกล่าว และได้ดำเนินการส่งเอกสารยื่นเรื่องขอรับการเยียวยาในรายแรกที่ใช้สิทธิจากกองทุนประกันสังคม ผลการพิจารณาของคณะกรรมการ แจ้งว่า ไม่เข้าหลักเกณฑ์การจ่ายเยียวยา เนื่องจากเสียชีวิตจากพยาธิสภาพโรค แต่ทางโรงพยาบาลได้ทำเรื่องขออุทธรณ์อีกครั้ง อยู่ในระหว่างดำเนินการ สำหรับรายที่ 2 และรายที่ 3 เป็นสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โรงพยาบาลได้รวบรวมข้อมูล หลักฐานประกอบขอรับการเยียวยาจากกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และจะประสานงานให้มีการพิจารณาโดยเร็ว

นายแพทย์อนุกูล ไทยถานันดร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมุทรสาคร กล่าวว่า โรงพยาบาลสมุทรสาคร แต่ละปีมีการคลอดจำนวนมาก ประมาณ 7,000-8,000 คน จำเป็นต้องจ้างสูตินรีแพทย์จากภายนอกมาแบ่งเบาภาระงาน โดยมีคณะกรรมการพัฒนาระบบบริการแม่และเด็ก เพื่อติดตามกำกับการให้บริการที่มีคุณภาพ ลดความเสียหาย ลดโอกาสเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ให้น้อยที่สุด จากกรณีที่เกิดขึ้นได้แต่งตั้งคณะกรรมการวิเคราะห์ปัญหาอย่างละเอียดในแต่ละราย เพื่อค้นหาสาเหตุที่เกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ รวมถึงแนวทางการดูแลผู้ป่วย ตลอดจนปรับปรุงการสื่อสารระหว่างทีมผู้ให้บริการกับผู้ป่วยและญาติให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งในกระบวนการสนับสนุนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งพบว่ายังมีประเด็นที่จะพัฒนา เช่น ขั้นตอนการรับมอบศพผู้เสียชีวิต และการส่งมอบศพผู้เสียชีวิตเพื่อนำไปดำเนินการต่อ แม้จะดำเนินการไปด้วยวัตถุประสงค์ที่ดีเพื่อลดภาระของญาติผู้เสียชีวิตแต่ต้องมีการบันทึกหลักฐานชัดเจน เพื่อการตรวจสอบในภายหลังต่อไป

12 ต.ค. 2563  ผู้จัดการออนไลน์