My Community

หมวดหมู่ทั่วไป => ข่าวเกี่ยวกับวงการแพทย์ => ข้อความที่เริ่มโดย: story ที่ 01 เมษายน 2019, 22:32:37

หัวข้อ: สบส.ตรวจสอบ รพ.เอกชนย่านรามอินทรา หลังผู้ป่วยร้องคิดค่ารักษาท้องเสียแพงเกินจริง
เริ่มหัวข้อโดย: story ที่ 01 เมษายน 2019, 22:32:37
สบส.เร่งตรวจสอบ รพ.เอกชน ย่านรามอินทรา หลังผู้ป่วยร้องคิดค่ารักษาท้องเสียแพงถึง 3 หมื่นบาท เช็กติดป้ายราคาหรือไม่ คิดค่ารักษาเกินป้ายหรือไม่ หมอวินิจฉัยโรคตามวิชาชีพหรือไม่

จากกรณีข่าวผู้ป่วยรายหนึ่งร้องเรียนผ่านสื่อว่า ไม่ได้รับความเป็นธรรม จากการถูก รพ.เอกชน ย่านรามอินทรา เรียกเก็บค่ารักษาอาการท้องเสียแพงเกินจริงกว่า 30,000 บาท นั้น

วันนี้ (3 มี.ค.) นพ.ณัฐวุฒิ ประเสริฐสิริพงศ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวว่า ตนได้สั่งการให้พนักงานเจ้าหน้าที่จากสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ และกองกฎหมาย ร่วมตรวจสอบข้อเท็จจริง

รพ.เอกชนที่ถูกร้องเรียน โดยตรวจสอบในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 ใน 3 ประเด็น ได้แก่ 1.โรงพยาบาลมีการแสดงอัตราค่ารักษาพยาบาล ยา เวชภัณฑ์ ค่าบริการทางการแพทย์ ค่าบริการอื่นๆ และสิทธิของผู้ป่วยให้เห็นชัดเจนที่จุดบริการ และจัดให้มีจุดสอบถามอัตราค่าบริการหรือไม่ 2.โรงพยาบาลเก็บค่ารักษาเกินกว่าที่แสดงหรือไม่ และ 3.แพทย์ผู้ให้บริการ มีการวินิจฉัยโรคเป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพหรือไม่ เพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ทั้ง 2 ฝ่าย

"หากตรวจพบว่าสถานพยาบาลไม่ติดป้ายแสดงอัตราค่ารักษาพยาบาล ยา เวชภัณฑ์ ค่าบริการทางการแพทย์ ค่าบริการอื่นๆและสิทธิของผู้ป่วย ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท และหากเรียกเก็บค่ารักษาเกินอัตราที่แสดง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ" นพ.ณัฐวุฒิ กล่าว

ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ สบส. กล่าวว่า ปัญหาการร้องเรียนเกี่ยวกับอัตราค่ารักษาพยาบาลนั้น บ่อยครั้งเกิดเพราะขาดการสื่อสารระหว่างเจ้าหน้าที่กับตัวผู้ป่วยหรือญาติ ดังนั้น จึงฝากถึงผู้ประกอบกิจการ และผู้ดำเนินการสถานพยาบาลเอกชนทุกท่านขอให้มีการกำชับกับเจ้าหน้าที่ว่า ทุกครั้งก่อนจะทำการเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลจากผู้ป่วย หรือญาติจะต้องสื่อสารทำความเข้าใจในอัตราค่ารักษาพยาบาลให้ชัดเจน มีการชี้แจงรายละเอียดอย่างตรงไปตรงมา รวมทั้ง เปิดช่องทางให้ประชาชนสามารถตรวจสอบหลักฐานการรักษาพยาบาลในกรณีที่มีข้อสงสัยในอัตราค่ารักษาพยาบาล หรือบริการอื่นๆ เชื่อว่าจะช่วยลดความเข้าใจผิด หรือข้อเคลือบแคลงต่ออัตราค่ารักษาพยาบาลได้

ทั้งนี้ หากพบเห็นสถานพยาบาลเอกชนแห่งใดในเขตกรุงเทพฯ ไม่จัดแสดงค่าบริการให้ชัดเจน หรือเรียกเก็บค่ารักษาเกินอัตราที่แสดง สามารถแจ้งได้ที่ศูนย์รับเรื่องร้องเรียน กรม สบส.หมายเลขโทรศัพท์ 0-2193-7000 ต่อ 18618 ในวันและเวลาราชการ กรม สบส.จะเร่งตรวจสอบข้อเท็จจริง

3 มี.ค. 2562  โดย: ผู้จัดการออนไลน์
หัวข้อ: สบส.ตรวจสอบ รพ.เอกชน ถูกร้องเก็บค่ารักษาท้องเสียแพง พบมีอาการอื่นร่วม ชงอนุ
เริ่มหัวข้อโดย: story ที่ 01 เมษายน 2019, 22:36:01
สบส.เผยผลตรวจสอบ รพ.เอกชนย่านรามอินทรา หลังถูกร้องเก็บค่ารักษาท้องเสียแพง พบเวชระเบียนมีอาการอักเสบกระเพาะปัสสาวะ กระเพาะอาหาร ติดเชื้อ ปัสสาวะมีเลือด ราคาเป็นไปตามประกาศ แต่เตรียมชงคณะอนุกรรมการฯ พิจารณามาตรฐานรักษาอีกครั้ง เกินจำเป็นหรือไม่

วันนี้ (4 มี.ค.) ทพ.อาคม ประดิษฐ์สุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวถึงการลงพื้นที่ตรวจสอบ รพ.เอกชนย่านรามอินทรา หลังประชาชนร้องเรียนผ่านเก็บค่ารักษาอาการท้องเสียกว่า 30,000 บาท แพงเกินจริง ว่า จากการตรวจสอบข้อมูลในเวชระเบียน ซึ่งจะระบุขั้นตอนวิธีการรักษาต่างๆ และตรวจสอบข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับอัตราค่ารักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลต้องประกาศไว้ตั้งแต่แรก เบื้องต้นพบว่า ผู้ป่วยเข้ามารักษาอาการท้องเสีย พร้อมด้วยอาการแทรกซ้อนอื่นๆ คือ วิงเวียนศีรษะ ภาวะบ้านหมุน ยืนไม่อยู่ กระเพาะปัสสาวะอักเสบ กระเพาะอาหารอักเสบ ซึ่งผลการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ (แล็บ) พบว่า มีการติดเชื้อ ระบบปัสสาวะมีเลือดสีแดง ถือว่าค่อนข้างอันตราย จึงได้ให้นอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล 2 คืน คือ คืนวันที่ 22-23 ก.พ. โดยรักษาด้วยการให้นำเกลือ และให้ยาฆ่าเชื้อ จากนั้นผู้ป่วยออกจาก รพ.ในวันที่ 24 ก.พ.

ทพ.อาคม กล่าวว่า และจากการตรวจสอบวิธีการรักษา กับอัตราค่ารักษาพยาบาลก็พบว่า เป็นไปตามที่ได้มีการประกาศเอาไว้ ไม่มีการคิดเกินราคาแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ตนได้รวบรวมหลักฐานทั้งหมด เพื่อนำเข้าที่ประชุมคณะอนุกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ซึ่งจะมีผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ มาพิจารณาร่วมกันเร็วๆ นี้ ว่า การรักษาตามรายการที่ระบุไว้นั้นเป็นไปตามมาตรฐานการรักษาหรือไม่ มีการรักษาที่เกินจำเป็นหรือไม่

“ในเรื่องฐานความผิดหากเป็นการคิดค่ารักษาแพงเกินไปจากที่มีการประกาศไว้จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท แต่กรณีนี้เทียบแล้วไม่ได้เก็บค่ารักษาแพงเกินจากที่ประกาศไว้ ส่วนในเรื่องของวิธีการรักษานั้นเป็นเรื่องที่ต้องมีการพูดคุยกันมากกว่า” ผอ.สำนักสถานพยาบาล กล่าว

4 มี.ค. 2562  โดย: ผู้จัดการออนไลน์