My Community

หมวดหมู่ทั่วไป => ข่าวเกี่ยวกับวงการแพทย์ => ข้อความที่เริ่มโดย: patchanok3166 ที่ 04 มกราคม 2019, 09:36:21

หัวข้อ: สธ.เกาะติดพายุปาบึก-ย้ายผู้หญิงท้อง ผู้ป่วยติดเตียงออกจาก รพ.สายบุรี
เริ่มหัวข้อโดย: patchanok3166 ที่ 04 มกราคม 2019, 09:36:21
สธ. เกาะติดสถานการณ์พายุปาบึก พบว่า เกิดฝนตกหนัก ใน 3 จังหวัด คือ สงขลา พัทลุง และ ปัตตานี พบน้ำท่วมทางเข้า รพ.สายบุรี เกิดไฟฟ้าลัดวงจร แต่แก้ไขแล้ว ยังเปิดให้บริการปกติ ขณะเดียวกัน ประสานอพยพ คนท้อง ผู้ป่วยติดเตียงออกจากพื้นที่แล้ว เพื่อความปลอดภัย ด้านกรมสุขภาพจิต แนะประชาชนเตรียมพร้อมรับมือพายุปาบึกอย่างมีสติ ส่วนผู้มีโรคประจำตัว ขอให้จัดเตรียมยาประจำตัวไว้ใกล้ตัว โดยเฉพาะผู้ป่วยจิตเวช ระมัดระวังการขาดยา


วันนี้ (3 ม.ค.) นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังการประชุม ศูนย์ปฏิบัติด้านการแพทย์และสาธารณสุข พร้อมประชุมระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ กับ นายแพทย์สาธารณสุข ถึงกรณีพายุปาบึก ว่า หลังจากได้มีการสั่งการให้ทุกพื้นที่ใน 16 จังหวัดภาคใต้ ซึ่งคาดว่าจะได้รับผลกระทบจากพายุ มีการตั้งศูนย์ปฏิบัติการขึ้น และ มีการสำรวจยาและเวชภัณฑ์นั้น ล่าสุด ทุกพื้นที่ได้เตรียมการพร้อมแล้ว และจากการสอบถามในพื้นที่ พบว่า พายุมีการเคลื่อนผ่านไปยัง จ.สงขลา, ปัตตานี และ พัทลุง ซึ่งฝนตกลงมาต่อเนื่อง


นพ.สุขุม กล่าวต่อว่า ปริมาณฝนที่ตกส่งผลให้ รพ.สายบุรี จ.ปัตตานี เกิดน้ำท่วมทางเข้าโรงพยาบาล แต่ยังเปิดให้บริการได้ตามปกติ และเนื่องจากฝนตกลงมาตั้งแต่ช่วงเช้าจนถึงขณะนี้ จึงได้มีการประสานร่วมกับจังหวัด อพยพหญิงตั้งครรภ์ ผู้ป่วยติดเตียงออกจากพื้นที่แล้ว ขณะเดียวกัน ที่ รพ.สายบุรี ก็พบปัญหาไฟฟ้าลัดวงจร แต่ได้แก้ไขเสร็จเรียบร้อยแล้ว ส่วน จ.สงขลา ก็ได้รับรายงานว่า มีฝนตกลงมาต่อเนื่องตั้งแต่ ตี 5 ของวันนี้ (3 ม.ค.) และมีแนวโน้มเพิ่มปริมาณ โดยสถานพยาบาลที่เสี่ยงอาจได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ได้แก่ รพ.ระโนด, รพ.สิงหนคร และ รพ.สะเดา ขณะที่ จ.พัทลุง พบมีฝนตกอย่างหนัก ทางกระทรวงได้สั่งการให้มีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด


“ได้มีเปิดศูนย์ปฏิบัติการ และให้แจ้งหรือรายงานสถานการณ์ในระบบ แต่เพื่อความไม่ประมาท ได้สั่งกำชับให้มีการเตรียมใช้วิทยุสื่อสาร หากสถานการณ์พายุรุนแรง หรืออินเทอร์เน็ตไม่สามารถใช้รายงานผลได้ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการน้อมนำพระราชดำริของในหลวง ร.๙ ที่ทรงนำวิทยุสื่อสาร มาช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ห่างไกล โดยวิทยุสื่อสารนี้สามารถสื่อได้ในระยะสั้น และได้มีการวางแม่ข่ายไว้แล้ว ขณะเดียวกัน ได้กำชับให้เฝ้าระวังไฟฟ้าลัดวงจรในพื้นที่ด้วย” นพ.สุขุม กล่าว


วันเดียวกัน นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า กรมสุขภาพจิตมีความเป็นห่วงประชาชน เนื่องจากสถานการณ์ภัยพิบัติจากพายุ จะมีผลกระทบต่อสภาพจิตใจประชาชน ส่วนใหญ่อาจเกิดสภาวะเครียด วิตกกังวล วิธีการป้องกันผลกระทบดังกล่าวที่ดีที่สุด คือ การเตรียมความพร้อมรับมือไว้ล่วงหน้าทั้งตนเองและครอบครัว จะช่วยลดความสูญเสียต่างๆ ได้มาก โดยขอให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากพายุในครั้งนี้ อย่าตื่นตระหนก แต่ขอให้ตั้งสติพร้อมรับมือกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น โดยขอให้ประชาชนปฏิบัติ 4 ประการดังนี้


1. ผู้ที่อยู่ในพื้นที่มีโอกาสเสี่ยงภัยพิบัติจากพายุ ติดตามข่าวสารประกาศเตือนภัยจากทางราชการเป็นหลัก ระมัดระวังข่าวปลอมที่อาจก่อให้เกิดความตื่นตระหนก เพื่อลดความวิตกกังวล และวางแผนรับมือได้อย่างเหมาะสม


2. ให้ตั้งสติ อย่าตกใจ และให้คิดถึงความปลอดภัยของชีวิตและคนในครอบครัวไว้ก่อน เนื่องจากเป็นภัยที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ โดยให้เตรียมความพร้อมร่วมกันในครอบครัว จัดลำดับความสำคัญเร่งด่วนของปัญหา เรียงจากมากไปหาน้อย แก้ไปทีละข้อ จัดเตรียมสำรองเทียนไข ไฟฉาย อาหารแห้ง และน้ำดื่มให้เพียงพออย่างน้อย 3 วัน กำหนดหน้าที่ของคนในครอบครัว ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และวางแผนการขนย้ายผู้ที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้หรือได้น้อย เช่น ผู้ป่วยติดเตียง ผู้สูงอายุ ผู้พิการ รวมทั้งสิ่งของจากบ้านเรือนไว้ให้พร้อม การวางแผนโดยมีสตินั้น จะช่วยลดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินลงได้มาก และผลกระทบด้านจิตใจจะลดน้อยลง


3. สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัวทุกโรค ขอให้จัดเตรียมยาที่กินประจำไว้ใกล้ตัว เพื่อหยิบง่ายในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน โดยเฉพาะผู้ป่วยจิตเวช ควรระมัดระวังการขาดยา เพราะอาจทำให้อาการจะกำเริบระหว่างที่รับมือกับภัยพิบัติครั้งนี้ แนะนำให้ครอบครัวผู้ป่วยช่วยตรวจสอบจำนวนยา หากพบยาใกล้หมด หรือยากินสูญหาย อาจไม่ต้องรอให้มีอาการป่วยก่อน ควรรีบแจ้งสถานพยาบาล หรือ อสม. ที่อยู่ใกล้บ้าน โดยการได้รับยาต่อเนื่องจะทำให้ผู้ป่วยสามารถควบคุมอาการให้เป็นปกติได้ ซึ่งหากปล่อยให้อาการกำเริบบ่อยๆ อาจส่งผลเสียเกิดอาการทางจิตรุนแรงขึ้นได้ และการรักษาจะยุ่งยากขึ้นในภายหลัง


4. ควรจดเบอร์ฉุกเฉินของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะด้านสุขภาพและความปลอดภัยไว้ติดตัว ได้แก่ สายด่วนสุขภาพจิต 1323, สายด่วนกู้ชีพ 1669, สายด่วนนิรภัย 1784 ของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพื่อสามารถโทรขอรับความช่วยเหลือได้ทันทีหากเกิดภาวะจำเป็นเร่งด่วน


สำหรับการเตรียมความพร้อมให้การดูแลจิตใจประชาชนในพื้นที่ประสบภัย ทางกรมสุขภาพจิตได้ให้โรงพยาบาลจิตเวชและศูนย์สุขภาพจิตที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งให้เตรียมทีมสุขภาพจิตเอ็มแคท (Mental Health Crisis Assessment and Treatment Team ; MCATT) พร้อมเวชภัณฑ์ยาที่จำเป็น พร้อมปฏิบัติการสนับสนุนการดำเนินการร่วมกับทีมสุขภาพจิตเอ็มแคทของสถานพยาบาลในเขตสุขภาพ ตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมเวชภัณฑ์ยารักษา และ การเยียวยาด้านอารมณ์จิตใจ สนับสนุนการปฏิบัติงานของทีมสุขภาพจิตเอ็มแคทเครือข่ายของโรงพยาบาลที่อยู่ในพื้นที่ประสบภัยอย่างใกล้ชิด


เผยแพร่:  4 ม.ค. 2562 โดย: ผู้จัดการออนไลน์