My Community

หมวดหมู่ทั่วไป => ข่าวเกี่ยวกับวงการแพทย์ => ข้อความที่เริ่มโดย: patchanok3166 ที่ 08 พฤศจิกายน 2018, 12:05:14

หัวข้อ: ชงเก็บภาษี “ไขมันทรานส์” เป็นไปไม่ได้ เหตุยกเลิกใส่อาหารแล้ว เครือข่ายลดเค็มหนุน
เริ่มหัวข้อโดย: patchanok3166 ที่ 08 พฤศจิกายน 2018, 12:05:14
สธ. ชี้ เก็บภาษีอาหารมี “ไขมันทรานส์” เป็นไปไม่ได้ เหตุมีประกาศ อย.ห้ามใส่ลงในอาหารแล้ว ด้านเครือข่ายลดเค็มรอดูอัตราภาษีความเค็ม ย้ำ ลดเค็มต้องลดไม่เกิน 10% ช่วยรสชาติไม่ผิดเพี้ยน พร้อมรณรงค์ลดกินโซเดียมเพิ่ม เหตุคนไทยยังติดเค็มอยู่มาก


วันนี้ (7 พ.ย.) นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีกรมสรรพสามิตเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาแพกเกจภาษีใหม่ โดยจะเก็บภาษีสินค้าที่มีความเค็มและความมัน เพื่อลดการบริโภค ว่า เรื่องไขมันทรานส์คิดว่า คงเป็นไปไม่ได้ เพราะล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ประกาศแล้วว่า ไม่ให้มีการนำหรือผลิตสินค้า อาหารที่ทำให้เกิดไขมันทรานส์อยู่แล้ว ส่วนการเสนอสินค้าที่มีความเค็มหรือการเพิ่มภาษีความเค็ม ตนยังไม่ทราบรายละเอียด แต่คิดว่าน่าจะเป็นในเรื่องของการดูแลอาหารที่ทำสำเร็จแล้วมากกว่า ต้องไม่ให้ใส่เกลือหรือเครื่องปรุงรสเค็มต้องไม่เกินปริมาณเท่าไรแบบนี้มากกว่า เหมือนกับการเพิ่มภาษีพวกน้ำอัดลมต่างๆ ต้องมีปริมาณน้ำตาลต้องไม่เกินเท่านั้นเท่านี้ เป็นต้น และน่าจะไม่เกี่ยวกับอาหารประเภทปลาเค็ม


ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวเข้าใจว่ายังคงเป็นข้อเสนอ ยังไม่เห็นหน้าตาออกมาเป็นรูปธรรม ว่า จะมีการเก็บในอัตราเท่าไรอย่างไร แต่คาดว่าคงจะได้ตัวอย่างจากภาษีน้ำตาล ซึ่งหากมีการออกกฎหมายเก็บภาษีความเค็มจริง ก็ถือว่าเป็นเรื่องดี เพราะจะไปมุ่งเป้าสินค้าอาหารที่มีเกลือ หรือโซเดียมสูง หากไม่อยากเสียภาษีมากก็ต้องปรับสูตรลดความเค็มลง ซึ่งการกินเค็มน้อยจะช่วยป้องกันโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคไต ฯลฯ ทั้งนี้ หากมีการควบคุมในกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปจะทำได้ง่ายกว่า เนื่องจากมีฉลากแสดงปริมาณสัดส่วนของโซเดียมและเกลือในอาหาร ง่ายแก่การควบคุม


ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม การเก็บภาษีความเค็มอาจมีผลกระทบต่อประชาชนบ้างเล็กน้อย เพราะหากปรับสูตรรสชาติทันทีเลย คนที่ยังกินรสชาติเค็มอาจจะไม่ชิน ซึ่งการปรับสูตรลดความเค็มจะต้องปรับให้ลดลงไม่เกิน 10% ซึ่งลิ้นของผู้บริโภคจะจับไม่ได้ว่าความเค็มเปลี่ยน โดยต้องค่อยๆ ลดความเค็มลงไป แต่ข้อดีคือหากปรับก็เป็นการปรับทุกบริษัท เป็นการไปลดความเค็มหรือลดเกลือตั้งแต่ต้นทาง ผู้บริโภคก็ไม่มีทางเลือก แต่คนที่อยากกินเค็มก็มีสิทธิไปเติมเอง ดังนั้น นอกจากมาตรการทางภาษีแล้ว ที่ต้องทำควบคู่กันไป คือ การรณรงค์ลดบริโภคเค็ม เพราะทุกวันนี้คนก็ยังติดการกินเค็มอยู่


“ขณะนี้คนไทยกินเค็มหรือบริโภคโซเดียมเกินกว่าที่ร่างกายต้องการ 2 เท่า โดยเมื่อ 8 ปีก่อนคนไทยบริโภคเกลือมากถึง 4 พันมิลลิกรัมต่อวัน เกินกว่าที่ร่างกายต้องการ 2 เท่า คือ 2 พันมิลลิกรัมต่อวัน โดยเฉพาะอาหารกึ่งสำเร็จรูป เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป โจ๊กซอง โจ๊กถ้วย มีปริมาณโซเดียมมากถึง 1,800 มิลลิกรัมต่อหน่วยบริโภค บางคนทานมากกว่าวันละ 2 ซอง ก็ยิ่งได้รับโซเดียมเกิน อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจล่าสุดมีข้อมูลว่าคนเริ่มบริโภคเกลือลดลงเหลือประมาณ 3,500 มิลลิกรัมต่อวัน จึงต้องเดินหน้ารณรงค์ลดบริโภคเค็มลงอีก โดยปริมาณที่เหมาะสมคือ ไม่ควรเกินมื้อละ 600 มิลลิกรัม รวม 3 มื้อต่อวันก็จะอยู่ที่ 1,800 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งเชื่อว่าขณะนี้คนในสังคมตื่นตัวมากขึ้น เห็นได้จากสินค้าต่างๆ เริ่มมีการปรับตัวทำสูตรลดเค็มกันมากขึ้น เช่น น้ำปลาลดโซเดียม ซีอิ๊วลดโซเดียม เป็นต้น เพราะคนต้องการสินค้าทางเลือกสุขภาพมากขึ้น การมีภาษีความเค็มออกมาเครือข่ายก็ไม่ขัดข้อง ซึ่งหากทางสรรพสามิตเห็นว่ามีผลดีก็ควรเร่งขับเคลื่อน” ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าว


เผยแพร่: 7 พ.ย. 2561   โดย: ผู้จัดการออนไลน์