My Community

หมวดหมู่ทั่วไป => ข่าวเกี่ยวกับวงการแพทย์ => ข้อความที่เริ่มโดย: patchanok3166 ที่ 06 พฤศจิกายน 2018, 10:22:02

หัวข้อ: พยาบาลควงเวรกว่า 40 ชม. จ่อเสนอ สธ.แก้ 3 ปม คนทำงานไม่พอ ความปลอดภัย สวัสดิการ
เริ่มหัวข้อโดย: patchanok3166 ที่ 06 พฤศจิกายน 2018, 10:22:02
พยาบาลเผยควงเวรมากกว่า 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ กระทบคุณภาพชีวิต การบริการด้อยลง เสี่ยงอุบัติเหตุ สภาการพยาบาลเตรียมข้อเสนอต่อ สธ.แก้ 3 ปม คนทำงานไม่พอ ความปลอดภัย และสวัสดิการ ด้าน รพศ.รพท.เล็งคุย 7 พ.ย.เรื่องภาระงานหมอ


ความคืบหน้ากรณีการกำหนดชั่วโมงทำงานของบุคลากรสาธารณสุขทุกวิชาชีพ โดย นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จะตั้งคณะทำงานขึ้นมาศึกษา


วันนี้ (5 พ.ย.) น.ส.กฤษดา แสวงดี ผู้แทนนายกสภาการพยาบาล กล่าวว่า การทำงานของพยาบาลทุกวันนี้พบเกิน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์มาตลอด ซึ่งมีทั้งความสมัครใจของพยาบาลเอง และบังคับสมัครใจแบบให้โอที แต่ส่วนใหญ่เป็นแบบบังคับสมัครใจ เนื่องจากปริมาณคนไข้จำนวนมาก และอัตรากำลังของพยาบาลสัดส่วนไม่เพียงพอ เพราะปัจจุบันมีอัตรากำลังในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ร้อยละ 60 แต่ก็ไม่พออยู่ดี ซึ่งจริงๆ การทำงานที่เหมาะสมต้องเป็นเช้า 8 ชั่วโมง และบ่าย 8 ชั่วโมง โดยมี 1 ชั่วโมงพัก แต่ความเป็นจริงบางคนควงกะเช้าบ่ายมากถึง 16 ชั่วโมง ทั้งที่งานวิจัยพบว่าต้องทำงานต่อเนื่องไม่ควรเกิน 12 ชั่วโมง เพราะจะส่งผลต่อการปฏิบัติงานและจะส่งผลต่อการให้บริการคนไข้ เหมือนกรณีที่เกิดอุบัติเหตุรถพยาบาล ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น แต่ก็เกิดขึ้น


น.ส.กฤษดา กล่าวว่า ขณะนี้รอเรียกจากทางปลัด สธ.เพื่อเข้าหารือเรื่องนี้ โดยสภาการพยาบาลเตรียมเสนอ ดังนี้ 1. ควรมีการกระจายอัตรากำลังในสัดส่วนที่เหมาะสม ไม่กระจุกตัวเหมือนปัจจุบัน ที่แออัดในตัวเมือง อย่างกรุงเทพฯ และ 2. ภาระงานบางอย่างไม่จำเป็น ไม่ควรให้ทำ เช่น การปูเตียง เช็ดตัว สามารถให้ผู้ช่วยพยาบาลทำได้ และงานเอกสารก็ควรให้ธุรการทำ เพื่อให้การทำงานไม่เป็นภาระงานจนเกินไป  อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญ พยาบาลไม่ควรทำงานแบบควงเวรติดต่อกันเกิน 3 วันต่อสัปดาห์ เพราะจะส่งผลต่อการบริการได้


ด้าน นางประภัสสร พงศ์พันธุ์พิศาล กรรมการและผู้ช่วยเลขาธิการสภาการพยาบาล กล่าวว่า ขณะนี้สภาการพยาบาลอยู่ระหว่างรอการหารือร่วมกับ นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ถึงการกำหนดชั่วโมงภาระงานของพยาบาล ซึ่งทางสภาการพยาบาลได้เตรียมข้อมูลไว้หมดแล้ว โดยสิ่งที่จะเสนอมีอยู่ 3 ประเด็น คือ 1.เรื่องของชั่วโมงการทำงาน ซึ่งปัจจุบันพยาบาลมีภาระงานที่หนักมาก ทำงานเกินกว่า 30-40 เวร ส่งผลให้คุณภาพชีวิตแย่ลง คุณภาพการบริการก็ด้อยลงด้วย เนื่องจากอัตรากำลังของพยาบาลไม่สัมพันธ์กับจำนวนคนไข้ เมื่อคนไข้มากก็ปฏิเสธการรับคนไข้ไม่ได้ การทำงานของพยาบาลก็จะยาวออกเหมือนกับของแพทย์เช่นกัน และบางทีเราต้องอยู่เวร 24 ชั่วโมงด้วย


นางประภัสสร กล่าวว่า   2.เรื่องของความปลอดภัย จะเห็นว่ารถพยาบาลเกิดอุบัติเหตุพลิกคว่ำบ่อยครั้ง เมื่อเวลาออกไปก็มักเป็นชั่วโมงที่เกินจากการทำงานปกติแล้ว ตัวคนทำงานก็มีภาวะเหนื่อยล้า พอส่งคนไข้เสร็จแล้วบ่อยครั้งต้องรับคนไข้ที่อาการดีขึ้นกลับมา เช่น กรณีที่ รถพยาบาล รพ.อมก๋อย เป็นต้น ชั่วโมงของการพักรถ พยาบาล และพนักงานขับรถ ทำให้ไม่เกิดความปลอดภัย และ 3.เรื่องสวัสดิการค่าตอบแทนและความก้าวหน้าต่างๆ เช่น บ้านพักพยาบาล การดูแลเมื่อเจ็บป่วยจากการทำงาน เช่น เกิดอุบัติเหตุขณะออกไปส่งคนไข้ ตรงนี้ต้องดูแลด้วย ซึ่งปัจจุบันเราดูแลกันเอง


"ประเด็นต่างๆ เหล่านี้ คือ สิ่งที่สภาการพยาบาลจะเสนอต่อท่านปลัด สธ. ซึ่งทั้งจะต้องแก้กันเป็นแพ็กเกจเดียวกัน อย่างเรื่องภาระงานที่มาก คนทำงานไม่พอกับงานหรือผู้ป่วย ต่อให้ผลิตแพทย์หรือพยาบาลเพิ่มมากเท่าไร แต่เรื่องของความปลอดภัย สิทธิสวัสดิการต่างๆ ต้องดูแลด้วย จึงจะสามารถคงคนเอาไว้ในระบบ หากไม่แก้ปัญหาเหล่านี้ คนก็จะไหลออกจากระบบไปอีก คนก็จะไม่เพียงพอต่อไป" นางประภัสสร กล่าว
 

นางประภัสสร กล่าวว่า ข้อเสนอของสภาการพยาบาลคือ 1.อัตรากำลังคนต้องเพียงพอกับภาระงาน จะช่วยเรื่องของชั่วโมงการทำงานได้ด้วย ซึ่งเรามีข้อมูลอยู่ว่า การดูแลในช่วงฉุกเฉิน หรือการดูแลช่วงปกติอัตรากำลังควรเป็นเท่าไร และชั่วโมงการทำงานควรเป็นอย่างไร  2.กำหนดเวลาพักเวลาทำงานให้ชัดเจน โดยเฉพาะเรื่องของการส่งต่อผู้ป่วย ต้องมีมาตรฐานที่ชัดเจนแบบที่กรมการขนส่งดำเนินการ เช่น มาส่งแล้วต้องมีเวลาพัก ไม่ใช่รับกลับทันที พนักงานขับรถและพยาบาลต้องมีเวลาพักผ่อนที่เพียงพอ ซึ่งจะช่วยลดอุบัติเหตุได้  3.จัดประเภทและภาระงานของโรงพยาบาลให้ชัดเจน ทั้ง รพ.ศูนย์ รพ.ทั่วไป รพ.ชุมชน ให้ทำงานในสเกลของโรงพยาบาล รวมถึงการส่งต่อแบบไร้รอยต่อ จะช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาลขนาดใหญ่  4.ต้องส่งเสริมเรื่องการดูแลสุขภาพป้องกันโรค เพื่อลดจำนวนคนไข้มาโรงพยาบาล รวมถึงชุมชนมีส่วนร่วมในการดูแลด้วย และ 5.สวัสดิการและค่าตอบแทนต่างๆ ต้องมีความเหมาะสม


ด้าน นพ.โมลี วนิชสุวรรณ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมุทรสาคร และประธานชมรมโรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไป (รพศ./รพท.) กล่าวว่า ในวันที่ 7 พ.ย.นี้ ทางชมรมฯ จะประชุมหารือกันเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว เนื่องจากภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์เป็นปัญหามานาน แต่ละแห่งก็จะต้องหาทางแก้ปัญหากัน เพราะโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงฯมีความแตกต่าง มีทั้งโรงพยาบาลเล็ก โรงพยาบาลใหญ่ หลายแห่งมีหมอเยอะ หลายแห่งหมอน้อย การบริหารจัดการก็ต้องดำเนินการตามบริบทของพื้นที่นั้นๆ แต่ภาพรวมปัญหาภาระงานมีหมด และมีมานานจริงๆ แต่ก็ต้องเห็นใจ กระทรวงสาธารณสุข เพราะเป็นเหมือนบ่อ อย่างคนไข้มาก็ต้องรับหมด ไม่สามารถมากำหนดเกณฑ์ได้ว่า ถ้าส่งต่อมาจะรับได้เท่านี้ๆ 
 

“โรงพยาบาลต้องทำงานตลอด 24 ชั่วโมง การจะหาทางออกเพื่อลดภาระงานแพทย์  ก็ต้องไม่กระทบการให้บริการตรงนี้  ซึ่งในวันที่ 7 พฤศจิกายน จะหารือถึงทางออก ทั้งการกระจายแพทย์ให้เหมาะสม การพัฒนาระบบส่งต่อคนไข้ เจ้าหน้าที่ปลอดภัย ซึ่งตรงนี้กระทรวงฯ มีการพัฒนามาตลอด แต่ก็คงต้องมาหารือว่ายังมีจุดที่ต้องพัฒนาอย่างไรต่อไป” นพ.โมลี กล่าว



เผยแพร่: 5 พ.ย. 2561    โดย: ผู้จัดการออนไลน์