My Community

หมวดหมู่ทั่วไป => ข่าวเกี่ยวกับวงการแพทย์ => ข้อความที่เริ่มโดย: story ที่ 10 ตุลาคม 2018, 21:52:31

หัวข้อ: สาธารณสุขไม่ได้ล่มสลายครับ แต่ คน เงิน ของ...ไม่พอ
เริ่มหัวข้อโดย: story ที่ 10 ตุลาคม 2018, 21:52:31
สาธารณสุขล่มสลาย...ความคิดบ้าๆ ที่ไร้สาระ
นั่นเป็นความรู้สึกแรกที่โผล่ขึ้นมาในความคิด หลังจากที่เห็นการแพร่ข่าวลักษณะนี้ผ่านเครือข่ายสังคมจากแหล่งเดิมๆ ที่พยายามปลุกระดมหลายเรื่องหลายราว กล่าวหาว่าร้ายคนและหน่วยงานต่างๆ ที่ไม่ทำทุกอย่างตามที่ตนเองต้องการ หาว่าเค้าเลว เค้าไม่ดี เค้าซูเอี๋ยกัน คอรัปชั่น ต้องกำจัดให้สิ้นซาก
ทั้งๆ ที่หลายต่อหลายเรื่องไม่เคยรู้เรื่องราวอย่างจริงจังลึกซึ้ง แต่กลับโฆษณาว่ารู้ลึกเกินไปเลยต้องออกมาแฉด้วยถ้อยความหยาบๆ ให้คนในสังคมดราม่ากันไปทุกวี่วัน แค่เรื่องที่ตนเชี่ยวชาญ ยังไม่เคยทำให้สถานการณ์ปัญหาดีขึ้นได้แม้แต่น้อย ดันเอาเสือมาใส่รองเท้าทำเรื่องอื่นในสังคมที่ตนเองไม่รู้เรื่องอะไรเลย บ้าหรือเปล่า?
กลับเข้ามาที่สาระ สาธารณสุขไม่ได้ล่มสลายครับ สิ่งที่เราเห็นมาตลอดคือ โครงสร้างพื้นฐานในการดูแลสุขภาพของประชาชนนั้นมันไม่เพียงพอที่จะสนองตอบต่อความต้องการจำเป็นด้านสุขภาพของประชาชนต่างหาก คน เงิน ของ...ไม่พอ เข้าใจไหมว่า "ไม่พอ"

ไม่พอนั้นมาจากทั้งปริมาณที่ไม่พอจริงๆ กับการกระจายที่ไม่เหมาะสม บางที่มีเยอะกว่าที่ควร แต่ส่วนใหญ่มีน้อยกว่าที่ควร เมื่อไม่พออยู่แล้ว ดันมีนโยบายที่กระตุ้นหนุนเสริมให้คนเข้าถึงบริการมากขึ้นด้วย โดยไม่สำรวจให้ดีก่อนว่าจะทำให้ภาระของระบบนั้นมากขึ้นเพียงใด และจะ suffer อย่างไร เรื่องมันเลยเป็นอย่างที่เห็นกันว่า งานต่างๆ เยอะเกินกว่าที่ระบบควรจะรับ แต่สุดท้ายแล้วระบบสาธารณสุขของเรา บุคลากรสุขภาพทั้งหลายเค้าไม่เคยใจไม้ไส้ระกำต่อคนไข้ เราจึงเห็นเค้าพยายามเต็มที่เกินกำลังในการดูแลคนไข้ไงล่ะ
อีกนัยหนึ่ง หากวิเคราะห์ดีๆ สถานการณ์ดังกล่าวนั้น ระบบสาธารณสุขไม่ได้ล่มสลายแน่นอน แต่มันบอกถึงว่า สถานะสุขภาพของประชาชนนั้นย่ำแย่ครับ เข้าใจไหมว่า "ย่ำแย่" สถานการณ์สถานะสุขภาพของคนจำนวนมากไม่ดี เค้าจึงเจ็บป่วย และมาพึ่งพาระบบสาธารณสุขไง
ใครทำให้สถานะสุขภาพของคนจำนวนมากไม่ดีล่ะ ก็มาจากลักษณะการใช้ชีวิตในสังคม ปัจจัยแวดล้อมทางสังคมต่างๆ ตั้งแต่การศึกษา อาชีพ การคมนาคม อาหารการกินและเครื่องดื่ม ที่อยู่อาศัย การคมนาคมขนส่ง และอื่นๆ ถ้าทำให้มันมีคุณภาพดีขึ้น สถานะสุขภาพจะดีขึ้น ปัญหาสุขภาพโดยรวมจะลดลง ภาระต่อระบบสาธารณสุขจะลดลง
เค้าศึกษาและพิสูจน์มากันจนพรุน รู้กันในระดับสากลแล้ว แต่แหล่งข่าวดราม่าทั้งหลายยังพยายามกันเหลือเกินที่จะสร้างและบิดเบือนกันไปเรื่อยว่ามาจากเหตุผลเดิมๆ อย่างระบบหลักประกันสุขภาพอย่างบัตรทอง ต้องล้มต้องล้างต้องปฏิรูป เพราะเป็นต้นตอแห่งการล่มสลาย มันใช่ซะที่ไหนครับ สมองน่ะลดความจงเกลียดจงชังลงเถิด ตายไปก็ตกนรกจากการกระทำแบบนี้จนชาชิน
ระบบหลักประกันทั้งหลาย หากที่ใดทำขึ้นมา เค้ามักมีวัตถุประสงค์ที่จะช่วยให้คนเจ็บป่วยได้เข้าถึงบริการดูแลรักษาเพื่อให้ดีขึ้นโดยเร็วจะได้กลับมาเป็นกำลังการผลิตให้ประเทศต่อไป ถ้าปล่อยให้คนยากคนจนส่วนใหญ่ของประเทศป่วยแล้วตายไปโดยไม่ได้รักษา จำนวนคนในประเทศจะลดลงฮวบฮาบ กำลังการผลิตลดลง คนรวยแค่หยิบมือจะอยู่รอดได้หรือ
แต่อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากการสร้างระบบหลักประกันสุขภาพนั้นมีแน่ ภาระงานในระบบมากขึ้นแน่ เพราะคนไม่เคยเข้าถึงกลับมาเข้าถึงบริการ ดังนั้นจึงจำเป็นที่ประเทศที่ต้องการจะทำระบบนี้ ต้องประเมินให้ดีว่าทรัพยากร คน เงิน ของ ที่มีนั้นมันรองรับไหวไหม ไหวแค่ไหน ต้องไม่สัญญาเกินตัวว่ากรูทำได้ทุกอย่าง เพราะมันเป็นไปไม่ได้หากทรัพยากรจำกัด
การถัวเฉลี่ยความเสี่ยงทางสุขภาพ อันถือเป็นหลักการสำคัญของการจัดการระบบการเงินการคลังแบบถัวเฉลี่ยรายจ่ายต่อหัวประชากรนั้น ในอดีตเคยใช้ได้ แต่ในอนาคตไม่มีทางใช้ได้อีกต่อไป เพราะคนทั่วโลกสูงอายุมากขึ้น และเจ็บป่วยมากขึ้นพร้อมกันกับอายุที่เพิ่มขึ้นเหมือนกันไปหมด
ดังนั้นจึงต้องรับสัจธรรมนี้ด้วย และร่วมกันคิดหามาตรการจัดการ เตือนให้คนของเราทุกคนไม่ประมาทในชีวิต และเตรียมจัดการตนเองและครอบครัวล่วงหน้าตั้งแต่ยังเป็นวัยทำงาน
เลิกเสียทีเถิดประชาชนชาวไทย เลิกแชร์ข่าวดราม่าจากคนหรือแหล่งเดิมๆ ที่เหมือนหวังดีแต่กลับกระหน่ำซ้ำเติมให้มีแต่ความบาดหมาง ไม่มีทางที่แนวทางแบบนั้นจะก่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้ ถือโอกาสร่วมกันรับรู้ว่า บุคลากรสุขภาพของประเทศเรานั้นเค้าทำงานกันหนักมาก มากเกินกว่าที่ควรจะเป็น และบุคลากรเหล่านั้นเค้าก็ล้วนแต่เป็นเพื่อนพ้องน้องพี่ของเรา หรืออีกหน่อยก็อาจเป็นหนึ่งในลูกหลานของเรา ดังนั้นควรหันมาช่วยเค้ากัน ช่วยอย่างไร?
หนึ่ง ทรัพยากรในระบบไม่พอ ทั้งคนเงินของ หากเรามีแรงกาย ทักษะต่างๆ ก็อาสาไปช่วยโรงพยาบาลใกล้บ้านของเราตามเวลาที่เราพอมี หากมีเงินหรือข้าวของต่างๆ ไปถามและไปบริจาคเลย ไม่ต้องลังเล เพราะสุดท้ายโรงพยาบาลเค้าไม่ได้เอาไปทำหากำไรเข้าตัว เค้าเอาไปให้คนไข้แหงๆ อยู่แล้ว
สอง ถมอย่างไรก็ยากที่จะเพียงพอ หากไม่ช่วยกันดูแลตนเองให้มีสุขภาพที่ดี ลดละเลิกปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้สุขภาพแย่ลง ทั้งเหล้าบุหรี่ ยาเสพติด ของกินประเภทหวานเค็มมันจัด ออกกำลังกายบ้าง ตรวจสุขภาพประจำปีหากทำได้
สาม รัฐน่ะ เพลาๆ การปั่นตัวเลขทางเศรษฐกิจผ่านการสนับสนุนธุรกิจที่ทำลายสุขภาพประชาชน ใจต้องกล้าหน่อย ทั้งบุหรี่ เหล้า ฟาสต์ฟู้ดส์ และอื่นๆ
สี่ ความรับผิดชอบต่อสังคมนั้นสำคัญ คนไทยแต่ละคนควรทบทวนชีวิตตนเองว่า แต่ละวันคุณทำอะไรดีๆ บ้าง และมีการกระทำอะไรทำร้ายตนเองและคนอื่นในสังคมบ้าง ทิ้งขยะเป็นที่เป็นทางไหม ใช้ชีวิตเสี่ยงและประมาทไหม เบียดเบียนคนอื่นแค่ไหน ลดบ้างได้หรือเปล่า ในขณะเดียวกันธุรกิจอุตสาหกรรมต่างๆ เจ้าของและคนทำงานในธุรกิจอุตสาหกรรมนั้นๆ ก็ควรทบทวนเช่นกัน ว่ามีทางใดที่จะพัฒนาระบบการทำงานและผลิตภัณฑ์สินค้าหรือบริการต่างๆ ให้ดีต่อคนในสังคมได้เพิ่มขึ้นไหม
นี่คือสี่ข้อสำคัญที่ทุกคนควรทำ ไม่ใช่ไปสร้างดราม่าป่าวประกาศว่าล่มสลาย แล้วหาแพะรับบาปที่ไม่เข้าท่า ไม่ใช่ไปป่าวประกาศว่าต้องล้มล้างโน่นนี่นั่น ไม่ใช่ชี้แต่ปัญหา แต่ตัวเองก็ไม่เคยมีความคิดเชิงบวกที่จะชี้ให้เกิดการพัฒนา เน้นแต่เรื่องทางตรงข้าม
มาป่าวประกาศความคิดไม่เข้าท่า เอาคณาจารย์โรงเรียนแพทย์ไปทำงานชนบท โดยที่ไม่รู้เสียเลยว่าเดี๋ยวนี้เค้าทำงานกันไปถึงไหนแล้ว และคนในพื้นที่นั้นมีความเชี่ยวชาญในการดูแลคนในพื้นที่มากกว่าเหล่าคนที่อยู่บนหอคอยงาช้าง ที่ไม่เคยไปคลุกดิน
นายกฯ ควรพิจารณาอย่างจริงจังเสียที ว่าจะปล่อยให้เกิดดราม่าบ้าบอคอแตกแบบที่เห็นไปอีกนานแค่ไหน เราต้องการคนดีและเก่ง ที่สำคัญที่สุดคือ จิตใจต้องดีและคิดเชิงบวกครับ
ป.ล.หากเพื่อนพ้องน้องพี่จะช่วยสังคมไทย ก็กรุณาอธิบายเรื่องที่กล่าวไว้ข้างต้นให้แวดวงของเราได้เข้าใจกันบ้างก็จะเป็นพระคุณอย่างสูง
ผู้เขียน : ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Sat, 2018-10-06 10:16 -- hfocus
.................................................................................