My Community

หมวดหมู่ทั่วไป => ข่าวเกี่ยวกับวงการแพทย์ => ข้อความที่เริ่มโดย: patchanok3166 ที่ 06 พฤษภาคม 2018, 17:23:59

หัวข้อ: รามาฯ เจ๋ง ! รักษาธาลัสซีเมียให้หายขาดได้ ไม่ต้องถ่ายเลือด ครั้งแรกในโลก
เริ่มหัวข้อโดย: patchanok3166 ที่ 06 พฤษภาคม 2018, 17:23:59
โรงพยาบาลรามาธิบดี รักษาธาลัสซีเมียด้วยการบำบัดยีนสำเร็จเป็นครั้งแรกของโลก ชี้ อาจเป็นจุดเริ่มต้นในการรักษาโรคทางพันธุกรรมอื่น ๆ

  โรคธาลัสซีเมียเป็นโรคทางพันธุกรรมที่เกิดความผิดปกติกับเม็ดเลือดแดง ทำให้การสร้างฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดงลดน้อยลง ส่งผลให้ร่างกายรู้สึกอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ซีด ปัจจุบันพบคนไทยป่วยโรคนี้มากถึง 200,000-300,000 คน ขณะที่ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขเคยพบว่า คนไทยมียีนโรคธาลัสซีเมียแฝงในตัวมากกว่า 22 ล้านคน และส่วนใหญ่ไม่รู้ตัว ซึ่งการรักษานั้น ผู้ป่วยจะต้องถ่ายเลือดและให้ยาขับเหล็กตลอดชีวิต แต่ล่าสุด โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้วิจัยพบวิธีรักษาโรคธาลัสซีเมียโดยไม่ต้องถ่ายเลือด และสามารถทำสำเร็จเป็นครั้งแรกในโลก


ทั้งนี้ ศ. นพ.สุรเดช หงส์อิง หัวหน้าโครงการโรคมะเร็งในเด็ก และอาจารย์แพทย์สาขาวิชาโลหิตวิทยาและมะเร็งวิทยา ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวถึงความสำเร็จในการรักษาโรคธาลัสซีเมียให้หายขาด ผ่านเฟซบุ๊ก Rama Lounge ว่า โรคธาลัสซีเมีย เป็นโรคทางพันธุกรรมที่มีโอกาสน้อยมากที่จะรักษาให้หายขาดได้ จะต้องรักษาแบบประคับประคองอาการไปตลอดชีวิตด้วยการถ่ายเลือดและให้ยาขับเหล็ก

          ส่วนอีกวิธีการหนึ่งก็คือ การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด หรือสเต็มเซลล์จากผู้บริจาคที่มีสุขภาพดีและสามารถเข้ากับผู้ป่วยได้ ซึ่งจะได้จากพี่น้องของผู้ป่วยเอง หรือผู้บริจาคจากสภากาชาดไทย แต่ก็มีเพียงร้อยละ 25 เท่านั้นที่สามารถหาผู้บริจาคที่เหมาะสมได้ และระหว่างการรักษามักมีภาวะแทรกซ้อน อาจส่งผลให้ผู้ป่วยมีอายุขัยลดลง

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาเคยมีความพยายามรักษาโรคธาลัสซีเมียด้วยการตัดยีน หรือยีนเทอราปี แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ จนกระทั่งล่าสุด โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้ร่วมมือกับนักวิจัยจาก University of Paris และทีมแพทย์จากสหรัฐอเมริกา Harvard Medical School นำสเต็มเซลล์ของผู้ป่วยมาตัดต่อยีน ซึ่งเป็นยีนใหม่ที่ได้จากการสร้างขึ้นมาในหลอดทดลอง โดยทดลองในผู้ป่วย 22 ราย เป็นคนไทย 4 ราย พบว่าหลังการรักษาแล้ว ผู้ป่วยไม่ต้องเข้ารับการถ่ายเลือดอีก และสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อยางปกติสุข ถือเป็นการประสบความสำเร็จครั้งแรกของโลก

          ทั้งนี้ ศ. นพ.สุรเดช ระบุว่า ความสำเร็จตรงนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่น่าจะมีโอกาสขยายไปยังการรักษาโรคที่เกิดจากพันธุกรรมอื่น ๆ ได้ เช่น โรคมะเร็ง ตอนนี้ก็มีการตัดต่อยีนของเซลล์เม็ดเลือดขาวไปฆ่าเซลล์มะเร็ง แต่ปัญหาคือไม่มีทุนวิจัยจริงจัง หากจะทำให้สำเร็จต้องทำให้เป็นเรื่องระดับชาติ

06  พ.ค  61   โดย เดลินิวส์ื