My Community

หมวดหมู่ทั่วไป => ข่าวสมาพันธ์ => ข้อความที่เริ่มโดย: seeat ที่ 18 ธันวาคม 2011, 00:43:50

หัวข้อ: ร่างพ.ร.บ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ....จะเข้าสภา
เริ่มหัวข้อโดย: seeat ที่ 18 ธันวาคม 2011, 00:43:50
(http://i1015.photobucket.com/albums/af274/tigerns2505/fire.jpg)

มีหลายร่าง แต่หนึ่งในนั้น เป็นร่างของ นส.สารี อ๋องสมหวัง
สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ. เป็นอย่างไรมาดูกัน

วิชาชีพด้านสาธารณสุข ก็เป็นผู้ประกอบการ ตามกฏหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค (มาตรา ๓... ผู้ประกอบการ)

(http://i1015.photobucket.com/albums/af274/tigerns2505/Pagesfrom.jpg)

คณะกรรมการ ฟ้องศาลดำเนินคดี แทนผู้บริโภคได้ โดยยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียม (มาตรา ๑๙(๕))

(http://i1015.photobucket.com/albums/af274/tigerns2505/Pagesfrom-2.jpg)

บุคคลใดๆก็สามารถถูกเชิญไปให้ปากคำ หรือความเห็น และจัดส่งเอกสารไปให้คณะกรรมการ (มาตรา ๒๒)

(http://i1015.photobucket.com/albums/af274/tigerns2505/Pagesfrom-3.jpg)

องค์การอิสระนี้เป็น One Stop Service สำหรับผู้บริโภค สภาวิชาชีพใดๆก็ไม่มีความหมาย หน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคของรัฐ ก็ว่างงาน
(ข้อ ๕)


(http://i1015.photobucket.com/albums/af274/tigerns2505/Pagesfrom-5.jpg)

พี่ๆน้องๆคิดเห็นกันอย่างไร...?

หัวข้อ: Re: ร่างพ.ร.บ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ....จะเข้าสภา
เริ่มหัวข้อโดย: story ที่ 18 ธันวาคม 2011, 23:58:01
จดหมายเปิดผนึกถึงสมาชิกวุฒิสภา

ขอให้ทบทวนความเหมาะสมของพ.ร.บ.องค์กรอิสระเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ....

ประธานสหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย(สผพท.)
ที่ทำการเฉพาะกิจ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
โทร. ๐๘๖ ๕๖๕ ๙๙๘๕

๑๘ ธันวาคม ๒๕๕๔

เรื่อง ขอให้วุฒิสภาทบทวนความเหมาะสมที่จะต้องตราพ.ร.บ.องค์กรอิสระเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ....

เรียน สมาชิกวุฒิสภาทุกท่าน

อ้างถึง พ.ร.บ.องค์กรอิสระเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ....

สิ่งที่ส่งมาด้วย ๑.ผลการตรวจสอบ(สปสช.)และข้อเสนอแนะของสตง.

๒.จดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรีและครม.จากสผพท.

ในขณะนี้มีพ.ร.บ.องค์กรอิสระเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. .... ที่ผ่านมติเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร และกำลังพิจารณาอยู่ในวุฒิสภา

ซึ่งเมื่อดิฉันได้อ่านพ.ร.บ.นี้แล้ว เห็นว่า ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องตราพ.ร.บ.แบบนี้อีกด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้คือ

๑. ในปัจจุบันนี้มีพ.ร.บ.ที่มีวัตถุประสงค์ในการคุ้มครองผู้บริโภคอยู่หลายฉบับ และพ.ร.บ.องค์กรอิสระเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคฉบับที่ผ่านมติของสภาผู้แทนราษฎรฉบับนี้ มีเนื้อหาและการบังคับหรือดำเนินการซ้ำซ้อนกับพ.ร.บ.ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคอีกหลายฉบับที่มีอยู่แล้วดังนี้คือ *พระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. ๒๕๔๕ * พระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ.๒๕๕๑ * พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๒๒ และ พ.ศ.๒๕๔๑ *พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.๒๕๕๑

นอกจากนี้ยังมีพระราชกฤษฎีกา และกฎกระทรวงอีกหลายฉบับที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ในการคุ้มครองผู้บริโภคได้อย่างกว้างขวาง และครอบคลุมการบริโภคได้ทุกภาคส่วนอยู่แล้ว และยังมีสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นหน่วยงานภาครัฐ ที่ทำงานในด้านการคุ้มครองผู้บริโภค มีมูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภคเป็นหน่วยงานเอกชน ที่ดำเนินการด้านคุ้มครองผู้บริโภคอยู่อย่างเข้มแข็งอยู่แล้ว

๒. องค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ได้พยายามผลักดันให้เกิดองค์กรอิสระเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค โดยการเขียนพระราชบัญญัติเพื่อจัดตั้งองค์กรอิสระเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งอ้างตามรัฐธรรมนูญปี ๒๕๕๐ มาตรา ๖๑ วรรค ๒ “ให้มีองค์การเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นอิสระจากหน่วยงานของรัฐ ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนผู้บริโภค ทำหน้าที่ให้ความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาของหน่วยงานของรัฐในการตราและการบังคับใช้กฎหมายและกฎ และให้ความเห็นในการกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค รวมทั้งตรวจสอบและรายงานการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค ทั้งนี้ให้รัฐสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการขององค์การอิสระดังกล่าวด้วย”

แต่ร่างพ.ร.บ.องค์กรอิสระเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. .... ที่ผ่านการรับรองจากสภาผู้แทนฯไปแล้ว และกำลังพิจารณาอยู่ในวุฒิสภาในปัจจุบัน นั้นได้ร่างขึ้นโดยได้ขยายขอบข่ายการทำงานขององค์กรอิสระเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคไปไกลเกินกว่าเจตนารมณ์เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญพ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๖๑ มากมาย เกินเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ และมีความน่าเคลือบแคลงในการกำหนดให้ได้รับงบประมาณจากภาษีประชาชนมาเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน แต่พ.ร.บ.ไม่ได้กำหนดระเบียบการใช้เงิน การตรวจสอบ และไม่ได้กำหนดจริยธรรมหรือแนวทางในการป้องกันการดำเนินการที่เอื้อประโยชน์แก่คณะกรรมการหรือเลขาธิการที่จะมาดำรงตำแหน่งหัวหน้าสำนักงาน การกำหนดให้คณะกรรมการเขียนหลักเกณฑ์การดำเนินงานเอง ก็จะดำเนินการตามรอยขององค์กรอิสระอื่นๆที่ตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติเฉพาะ เช่น สปสช.และตระกูลส.อื่นๆ ที่บริหารงานและดำเนินการที่ขัดต่อมติครม. ผิดระเบียบสตง. ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ กำหนดเงินเดือนและเบี้ยประชุมขัดต่อมติครม. และความผิดอื่นๆ ตามที่สตง.ได้ชี้ประเด็นความไม่ถูกต้อง ไม่ประหยัด ไม่มีประสิทธิภาพ เหมือนในกรณีของสปสช.และคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งทำให้ประชาชนเสียหาย (ตามเอกสารหมายเลข ๑) และยังมีอีกหลายประเด็นที่สตง.ยังไม่ได้ตรวจสอบ (ตามเอกสารหมายเลข ๒.)

ฉะนั้นการเขียนร่างพ.ร.บ.องค์กรอิสระฯนี้ จึงสุ่มเสี่ยงต่อการดำเนินการที่ไม่สามารถรักษากฎหมาย คุณธรรม จริยธรรมและความถูกต้องและมีประสิทธิภาพได้

นอกจากนั้นยังมีการบัญญัติไว้ในพ.ร.บ.นี้ว่ารัฐบาลจะออกกฎหมาย หรือกฎระเบียบใดๆ ต้องส่งมาให้คณะกรรมการในพ.ร.บ.องค์การอิสระฯนี้พิจารณาให้ความเห็นชอบเสียก่อน ถ้าเห็นชอบแล้วจึงจะดำเนินการต่อไปได้ และดำเนินการไปแล้วก็ต้องรายงานคณะกรรมการนี้อีก (มาตรา ๒๑)

และคณะกรรมการนี้ยังมีสิทธิเรียกข้าราชการหรือพนักงานของรัฐมาให้ข้อมูลหรือส่งเอกสารมาให้คณะกรรมการประกอบการพิจารณาได้ด้วย(มาตรา ๒๒)

ข้อสังเกต คณะกรรมการเป็นคนจากองค์กรเอกชน ที่มิได้กำหนดเกณฑ์มาตรฐานความรู้ความเชี่ยวชาญใดๆ นอกจากทำงานด้านเอกชนคุ้มครองผู้บริโภค แต่จะมีอำนาจพิจารณากฎระเบียบของทางราชการก่อนจะดำเนินการใดๆ แสดงว่าบ้านเมืองนี้ ไม่ต้องอาศัยผู้แทนปวงชนชาวไทย ไม่ต้องอาศัยคุณสมบัติสอบผ่านหลักเกณฑ์ข้าราชการหรือพนักงานของรัฐ แต่มามีอำนาจพิจารณากฎหมายได้เหนือกว่าผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะได้

๓. ความเคลือบแคลงในความซื่อสัตย์สุจริต โปร่งใสในการดำเนินงานที่ไม่ได้กำหนดระเบียบปฏิบัติ พร้อมทั้งหลักเกณฑ์ด้านจริยธรรมกำกับไว้ เนื่องจากองค์กรนี้จะต้องได้รับงบประมาณจากเงินภาษีอากรของประชาชนมาใช้ในการดำเนินงาน แต่ไม่อยู่ภายใต้การดูแลกำกับของรัฐมนตรีหรือหน่วยงานราชการใดๆทั้งสิ้น และในร่างพ.ร.บ.นี้ ได้เลียนแบบพ.ร.บ.องค์กรอิสระทางด้านสาธารณสุข เช่น สสส. สวรส. สปสช. สช.ฯลฯ ที่ให้มีการจัดตั้งกองทุนที่ได้เงินมาจากภาษีของประชาชน มีคณะกรรมการมาบริหารกองทุน มีเลขาธิการทำหน้าที่หัวหน้าผู้บริหารสำนักงาน โดยการเลือกกันเองขององค์กรเอกชน ที่มีกฎกติการเลือก การสรรหา และบทเฉพาะกาลคล้ายคลึงกันกับ องค์กรข้างต้นที่กล่าวมา แต่องค์กรอื่นๆเหล่านั้น ยังมีรัฐมนตรี หรือนายกรัฐมนตรีคอยกำกับดูแล แต่องค์กรตามพ.ร.บ.ใหม่นี้ เลือกกันเองมาจากกลุ่มเอ็นจีโอล้วนๆ ไม่มีตัวแทนภาครัฐหรือผู้แทนจากการคัดเลือกของประชาชน เช่นสส.มาคอยกำกับดูแลเลยจึงน่าเป็นห่วงเรื่องความสุจริต โปร่งใส หรือมีผลประโยชน์ทับซ้อนของคณะกรรมการและหรือเลขาธิการ

ขอให้ดูสปสช.(สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ)เป็นตัวอย่าง เอาคนเขียนพ.ร.บ.มานั่งเป็นเลขาธิการคนแรก ๒ สมัย สช.(สำนักงานสุขภาพแห่งชาติ)ก็เช่นเดียวกัน เขียนพ.ร.บ.เสร็จก็มาเป็นเลขาธิการสองสมัย และพยายามบอกว่าองค์กรของตนเองเป็นอิสระ จะออกกฎระเบียบอะไรเองก็ได้ แต่ตอนนี้สตง.ตรวจพบความผิดพลาดบกพร่องในการบริหารเงิน บริหารกองทุนของสปสช.อีกมากมาย องค์กรใหม่นี้จะไม่มีคนอื่นกำกับเลย น่าเป็นห่วงว่า จะเป็นช่องทางที่เอ็นจีโอจะใช้เงินงบประมาณไม่คุ้มค่า ไม่ประหยัด และไม่มีประสิทธิภาพเหมือนที่สตง.ชี้ประเด็นการบริหารงบประมาณของสปสช.

และถ้าดูให้ดีแล้ว เอ็นจีโอในองค์กรส.ทั้งหลายเหล่านี้เป็นคนกลุ่มเดียวกัน ทำงานอยู่ในองค์กรอิสระไขว้กันไปมา มีกลุ่มเอ็นจีโอที่เขียนและผลักดันร่างนี้เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา ตั้งเงินเดือนและค่าตอบแทนสูงๆ

จากเงินภาษีประชาชน ใช้งบบริหารและงบกองทุน ผิดมติครม. ผิดระเบียบสตง. ผิดระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี และผิดระเบียบของหน่วยงานเอง

แล้วจะมีใครตรวจสอบได้? กว่าสตง.จะตรวจพบประเด็นความผิดเวลาก็ล่วงเลยมาเข้าปีที่ ๑๐ แล้ว

แล้วเราจะปล่อยให้องค์กรอิสระตามพ.ร.บ.ใหม่นี้ดำเนินการตามรอยเท้าของสปสช.อีกหรือ?

ฉะนั้น ถ้าจะให้มีการจัดตั้งองค์กรอิสระนี้จริง จึงน่าจะตั้งกฎเกณฑ์ไว้ว่า ห้ามกลุ่มเอ็นจีโอคุ้มครองผู้บริโภคที่มีส่วนร่วมในการประชุมผลักดันหรือเขียนพ.ร.บ.นี้ไม่ให้เข้ามาดำรงตำแหน่งใดๆในองค์กรอิสระนี้ ไม่ว่าในบทเฉพาะกาล หรือกรรมการชุดแรก ๔ ปี ทั้งนี้เพื่อแสดงความสุจริตและโปร่งใสว่า ไม่เขียนพ.ร.บ.นี้มาเพื่อแสวงหาประโยชน์ให้แก่ตนเองและพวกพ้อง

๔.ในปัจจุบันนี้ มีพ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคพ.ศ. ๒๕๕๑ ที่บัญญัติขึ้นเพื่อคุ้มครองและเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค ซึ่งทำให้ผู้บริโภคมีความสะดวก รวดเร็ว และไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการฟ้องร้องแต่อย่างใด

* ผู้บริโภคฟ้องคดีได้โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่าย ซึ่งแตกต่างจากกฎหมายเดิม

* การดำเนินกระบวนพิจารณาเป็นไปโดยรวดเร็ว และมีการประนีประนอมก่อนพิจารณาคดี

* ผู้บริโภคไม่ต้องพิสูจน์ความเสียหาย หากแต่ ผู้ประกอบการเป็นผู้ต้องพิสูจน์ว่าตนเองไม่ต้องรับผิดเพราะเหตุใด

* ให้ศาลมีอำนาจใช้ดุลยพินิจกำหนดค่าเสียหายโดยไม่ต้องคำนึงถึงความเสียหายที่แท้จริง

การที่กำหนดให้คณะกรรมการในพ.ร.บ.องค์การอิสระฯนี้มีอำนาจหน้าที่ในการช่วยดำเนินคดี สนับสนุนการร้องเรียน และดำเนินการไกล่เกลี่ยคดีผู้บริโภคอีก จึงน่าจะเป็นการบัญญัตินอกเหนือเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ ซ้ำซ้อนกับพ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค และเป็นช่องทางทุจริต(เรียกทรัพย์จากผู้ถูกร้องเรียนโดยเจตนาทุจริต) และยังเป็นการก้าวล่วงอำนาจของสภาวิชาชีพต่างๆที่เกี่ยวกับการบริการ การออกแบบงานสถาปัตยกรรม วิชาชีพวิศวกรรม การบริการด้านสุขภาพการแพทย์ การสาธารณสุข เภสัชกรรม ฯลฯ

๕. การกำหนดรายชื่อองค์กรที่เป็นกรรมการสรรหา ก็เป็นองค์กรที่มีตัวบุคคลที่เป็นพวกเดียวกันกับผู้เสนอกฎหมายนี้อยู่แล้ว เช่น ประธานสภาสมาคมผู้สูงอายุ เลขาธิการสช. ประธานสภาพัฒนาเด็กและเยาวชน ทำให้น่าสงสัยว่า กลุ่มเอ็นจีโอเหล่านี้ ต้องการเลือกพวกพ้องเข้ามามีอำนาจเหนืออำนาจรัฐ และใช้เงินภาษีประชาชนอย่างอิสระ ไม่ต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลหรือตรวจสอบใดๆจากองค์กรภาครัฐ (เหมือนที่เกิดขึ้นในสปสช. สสส. สช. สวรส. ที่มีกลุ่มเอ็นจีโอเหล่านี้ เป็นกรรมการไขว้กันไปมาคนละหลายๆองค์กร)
หัวข้อ: Re: ร่างพ.ร.บ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ....จะเข้าสภา
เริ่มหัวข้อโดย: story ที่ 18 ธันวาคม 2011, 23:58:46
๖. ในร่างพ.ร.บ.องค์กรอิสระนี้ได้กำหนดขอบเขตการทำงานของคณะกรรมการที่ต้องเกี่ยวข้องกับกฎหมายต่างๆมากมายหลายสิบฉบับ แต่กรรมการที่คัดเลือกมานั้น ไม่ได้มีคุณสมบัติเฉพาะตำแหน่งที่มีความรู้ความสามารถตามกฎหมายทั้งหมดนี้แต่อย่างใด ซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหาการไม่สามารถดำเนินการตามหลักนิติธรรม ได้

๗.ในร่างพ.ร.บ.ใหม่นี้ กำหนดให้คดีที่อยู่ในข่ายของพ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค ซึ่งรวมคดีที่เกี่ยวกับการบริการสาธารณสุขเข้าไปด้วย ซึ่งจะทำให้บุคลากรในสาขาวิชาชีพต่างๆในด้านสาธารณสุข ต้องถูกบังคับให้ทำงานภายใต้กฎหมายเพิ่มขึ้นอีก ๑ ฉบับ นอกเหนือจากกฎหมายต่างๆที่มีอยู่แล้ว ได้แก่ พ.ร.บ.ประกอบวิชาชีพเวชกรรม พ.ร.บ.สถานพยาบาล กฎหมายแพ่ง กฎหมายอาญา กฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ร.บ.สินค้าไม่ปลอดภัย และพ.ร.บ.องค์กรอิสระเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งนับว่าเป็นการบีบบังคับผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุขมากเกินบุคลอื่นๆ ต่อไปคงไม่มีใครอยากมาเป็นบุคลากรทางด้านสุขภาพ ประชาชนอาจจะต้องไปรับบริการสาธารณสุขจากต่างประเทศก็เป็นไปได้

ในขณะที่มีข้อเรียกร้องให้แก้ไขพ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ร.บ.สินค้าไม่ปลอดภัย ซึ่งมีความซ้ำซ้อนกับพ.ร.บ.ยา พ.ร.บ.ประกอบวิชาชีพเวชกรรม และยังจะมีพ.ร.บ.องค์กรอิสระนี้มาทับซ้อนพ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค และพ.ร.บ.สินค้าไม่ปลอดภัยเข้าไปอีก

๘. ปัจจุบันนี้ มีสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค เป็นหน่วยงานภาครัฐ สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี ได้รับงบประมาณจากภาษีอากรประชาชนอยู่แล้วปีละประมาณ ๒๐๐ ล้านบาท ในขณะที่องค์กรอิสระที่จะตั้งใหม่ตามพ.ร.บองค์กรอิสระฯนี้ ก็เขียนไว้ว่าจะขอเงินงบประมาณอย่างน้อยปีละไม่ต่ำกว่า ๒๐๐ ล้านบาท มาทำงานซ้ำซ้อนกัน เพียงแต่ให้เอกชนมาเป็นผู้ทำงานแทน ซึ่งปัจจุบันนี้ในภาคเอกชนคุ้มครองผู้บริโภค ก็มีมูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภคทำงานในด้านการคุ้มครองผู้บริโภคอยู่แล้ว เพียงแต่อาจจะมีความลำบากในการหาเงินบริจาคมาทำงาน การเขียนพ.ร.บ.องค์กรอิสระเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคแบบนี้ จึงเท่ากับเป็นการแสวงหาเงินและแสวงหาอำนาจขององค์กรเอกชนเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค และมีความซ้ำซ้อนกับพ.ร.บ.ต่างๆดังกล่าว

๙.เหตุผลต่างๆดังกล่าวนี้ จึงเห็นว่า ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมีพ.ร.บ.องค์กรอิสระฯนี้ให้มีภาระหน้าที่ซ้ำซ้อนกับหน่วยงานอื่น เป็นการไม่ประหยัดงบประมาณจากภาษีประชาชน และมีอำนาจเหนือหน่วยงานภาครัฐที่มาจากผู้แทนปวงชนชาวไทย(คือครม.) และเหนือข้าราชการ(ที่ต้องมีความรู้ความสามารถและความเชี่ยวชาญเหมาะสมกับตำแหน่ง)

โดยบุคคลที่จะมาเป็นประธานกรรมการและคณะกรรมการนี้ ไม่ต้องถูกเลือกโดยประชาชน ไม่ต้องถูกคัดเลือกจากกฎระเบียบทางราชการ

หรือถ้าสว.จะคิดว่า ต้องมีองค์กรอิสระฯนี้ตามรัฐธรรมนูญ สมาชิกวุฒิสภา ก็ควรจะได้พิจารณาทบทวนแก้ไขพ.ร.บ.องค์กรอิสระเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ไม่ให้ซ้ำซ้อนกับพ.ร.บ.ต่างๆดังกล่าว รวมทั้งไม่ให้มีอำนาจมากมายมหาศาลเกินเจตนารมณ์มาตรา ๖๑ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพ.ศ. ๒๕๕๐ รวมทั้งเขียนมาตรการในกฎระเบียบการดำเนินงานให้ครอบคลุมความถูกต้องในด้านนิติธรรม คุณธรรม จริยธรรมของคณะกรรมการ และให้มีองค์กรกำกับและตรวจสอบได้ตามกฎหมาย ได้แก่ปปช. สตง. และรัฐสภารวมทั้งมีบทบัญญัติว่าคณะกรรมการและเลขาธิการต้องรายงานทรัพย์สินและหนี้สินต่อปปช.ก่อนเข้ารับตำแหน่ง และทุกปีในขณะดำรงตำแหน่ง และก่อนออกจากตำแหน่งด้วย

จึงเรียนมาเพื่อขอให้ท่านสมาชิกวุฒิสภาโปรดพิจารณาประเด็นต่างๆดังกล่าว เพื่อป้องกันไม่ให้การคุ้มครองผู้บริโภคเป็นไปโดยซ้ำซ้อน ไม่ประหยัด ไม่มีประสิทธิภาพ เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มเอ็นจีโอมีอำนาจเหนือภาครัฐและผู้แทนปวงชนชาวไทย และเพื่อป้องกันการทุจริตและผลประโยชน์ทับซ้อน แบบเดียวกับการจัดตั้งกองทุนอื่นๆด้านสาธารณสุขที่ก่อให้เกิดปัญหาแก่ระบบบริการสาธารณสุขต่างๆมากมายดังที่ทราบกันดีอยู่แล้ว

ขอแสดงความนับถือ

(พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา) ประธานสผพท.
หัวข้อ: Re: ร่างพ.ร.บ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ....จะเข้าสภา
เริ่มหัวข้อโดย: poppoppo ที่ 21 ธันวาคม 2011, 13:24:14
 ;D
หัวข้อ: Re: ร่างพ.ร.บ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ....จะเข้าสภา
เริ่มหัวข้อโดย: watesutt ที่ 21 ธันวาคม 2011, 14:37:18
 
  ถ้าอย่างนั้น เรามีสิทธิ์ ที่จะปฎิเสธ การรักษา หรือเลือกที่จะรักษา ในกรณี case ง่ายๆ ได้หรือเปล่าครับ

ประเมินดู ถ้าคนไข้ หรือญาติคนไข้ หัวหมอ มา ก็ปฎิเสธไปเลย จะได้ตัดไฟตั้งแต่ต้นลม :D :D :D :o :o :o :o
หัวข้อ: Re: ร่างพ.ร.บ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ....จะเข้าสภา
เริ่มหัวข้อโดย: Meem ที่ 23 ธันวาคม 2011, 12:38:50
โรงพยาบาลของรัฐ คงปฏิเสธ ไม่ได้แน่
เอกชน หรือคลีนิค ถ้าไม่ฉุกเฉิน น่าจะปฏิเสธได้นะ