My Community

หมวดหมู่ทั่วไป => ข่าวสมาพันธ์ => ข้อความที่เริ่มโดย: story ที่ 18 มีนาคม 2017, 00:57:08

หัวข้อ: "เวลาการทำงาน สุขภาพและความปลอดภัย" โดยประธานสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/ทั่วไปฯ
เริ่มหัวข้อโดย: story ที่ 18 มีนาคม 2017, 00:57:08
(http://i1015.photobucket.com/albums/af274/tigerns2505/2_7.jpg)
เป็นที่ทราบกันดี เป็นความจริงที่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ มีผลการวิจัยมากมายทั่วโลกว่า ชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน(long working hour) การทำงานเป็นกะ(shift work) การทำงานช่วงกลางคืน(night work) เป็นผลลบต่อสุขภาพของผู้ทำงาน(health) ทำให้เกิดอุบัติเหตุมากขึ้น(safety) และเพิ่มความเสี่ยงต่อความปลอดภัยของผู้ป่วย(patient safety)….

มีผลกระทบโดยตรงต่อผู้ทำงาน คือ คุณภาพชีวิตต่ำลง(quality of life) ขาดความสมดุลระหว่างงานกับการใช้ชีวิต(work-life balance) และกระทบต่อการใช้ชีวิตในสังคม(social participation) นอกจากนี้ยังมีผลกระทบต่อผลงานด้วย คือ ทำให้ผลิตภาพ(productivity) ประสิทธิภาพ(effectiveness) และประสิทธิผล(efficiency)น้อยลง

มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับผลิตภาพ และผลผลิต มีตัวอย่างในอดีตที่ทำงานน้อยลงแล้วมีผลงานมากขึ้นผลงานดีขึ้น ย้อนกลับไปในปี ค.ศ. 1914 ผู้บริหารบริษัทฟอร์ดมอเตอร์ของสหรัฐอเมริกา เชื่อว่าการทำงาน สัปดาห์ละ48ชั่วโมงและ9ชั่วโมงต่อกะที่ทำกันอยู่นั้นไม่ดีต่อคนงาน ยาวนานเกินไป จึงลดชั่วโมงการทำงานเหลือเพียง40ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และ 9 ชั่วโมงต่อกะให้ลดเหลือกะละ8ชั่วโมง หลังจากปรับเวลาการทำงานแบบนี้ได้ 2 ปี กำไรของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าจาก 30ล้านเหรียญเป็น 60ล้านเหรียญต่อปี หลังจากนั้นบริษัทต่างๆก็ทำตามลดเวลาการทำงานลง จนในปี 1950 การทำงานสัปดาห์ละ40ชั่วโมง 8ชั่วโมงต่อวัน กลายเป็นมาตรฐานการทำงานในสหรัฐอเมริกา และกลายเป็นกฎหมายในที่สุด

(http://i1015.photobucket.com/albums/af274/tigerns2505/3_6.jpg)
การทำงานที่ยาวนาน ทำงานไม่เป็นเวลาที่แน่นอน(เป็นกะ เป็นเวร) และการทำงานในเวลากลางคืน ไม่ดีต่อสุขภาพและความปลอดภัยและกระทบต่อผลงานนั้น มีสาเหตุสำคัญๆมาจาก2สาเหตุ

สาเหตุแรก คือ การรบกวนนาฬิกาชีวิต(circadian rhythm) การรบกวนการนอน(shortened/disturbed sleep) และการรบกวนชีวิตครอบครัวและสังคม(family and social life)

สาเหตุที่สองคือ ความเครียด(stress) และความล้า(fatigue)จากการทำงาน คนที่ยังทำงานแบบนี้อยู่จะรู้ว่าผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตเป็นยังไง เวลาที่เราทำงาน สามี/ภรรยา/ลูกหลาน/เพื่อนฝูงเค้าพักกัน เวลาเค้าว่างกันเราก็มาอยู่เวร เวลาที่เหนื่อยล้าจากการทำงานมันรู้สึกยังไง (ผู้บริหารที่ไม่ได้อยู่เวรแล้วอาจจะลืมความรู้สึกแบบนี้ไปแล้ว) มันไม่อยากทำจะอะไรแล้ว ไม่อยากได้ใคร่มี มันหมดสภาพ หมดอารมณ์ หมดอาลัยตายอยาก....

(http://i1015.photobucket.com/albums/af274/tigerns2505/4_5.jpg)
ตัวอย่างภัยพิบัติ หรืออุบัติเหตุที่มีการสูญเสียมากมาย ล้วนเกิดในช่วงกลางคืน ช่วงวันหยุด ทำงานเป็นเวรเป็นกะ เกิดจากคนที่ทำงานมานานโดยไม่ได้พัก เช่น
การรั่วไหลของสารพิษไดออกซินที่เมือง seveso ประเทศอิตาลี ในปี1970 เกิดอุบัติเหตุทำให้มีการรั่วไหลของสารพิษไปในอากาศกระจายไปในพื้นที่18ตารางกิโลเมตร สัตว์จำนวนมากตาย และมีการฆ่าทำลายสัตว์เลี้ยงมากกว่า80,000ตัว เพื่อไม่ให้คนกินเนื้อสัตว์ที่มีสารพิษ ผู้บริหารโรงงานถูกจับ ถึงแม้ความสูญเสียกับคนไม่มากนักเพราะเป็นเมืองเล็กๆ แต่ได้จุดประกายเรื่องมาตรการความปลอดภัยในโรงงานอุตสาหกรรมขึ้น (อุบัติเหตุเกิดในช่วง ทำงานเป็นกะ/วันเสาร์)

อุบัติเหตุนิวเคลียร์เกาะทรีไมล์ เมืองแฮริสเบิร์ก รัฐเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา ในปี 1979 มีการหลอมละลายในเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ ทำให้มีการรั่วไหลของสารกัมมันตรังสีสู่สิ่งแวดล้อม มีการวิเคราะห์สาเหตุ พบว่าหนึ่งในความผิดพลาดเกิดจากปัจจัยมนุษย์ (อุบัติเหตุเกิดในช่วง ทำงานเป็นกะ/กลางคืน) ผลกระทบทำให้มีหยุดชะงักในอุตสาหกรรมนิวเคลียร์เป็นเวลานาน และได้มีการออกกฎระเบียบด้านความปลอดภัยใหม่สำหรับอุตสาหกรรมนิวเคลียร์

หายนะจากการระเบิดของโรงงานผลิตยาฆ่าแมลงของบริษัทยูเนียนคาร์ไบด์ ที่เมืองโภปาล ประเทศอินเดีย ในปี 1984 มีสารไซยาไนด์รั่วไหลออกมาสู่บรรยากาศ กระทบต่อประชาชน 500,000 คน มีผู้เสียชีวิตประมาณ15,000 คน ถือว่าเป็นภัยพิบัติที่ร้ายแรงที่สุดในวงการอุตสาหกรรม พนักงานและผู้บริหารบริษัทถูกจับ (อุบัติเหตุเกิดในช่วง ทำงานเป็นกะ/กลางคืน/วันอาทิตย์)

การระเบิดที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล ยูเครน ประเทศรัฐเซีย(ในขณะนั้นยูเครนยังไม่แยกประเทศ) ในปี 1986 สารกัมมันตรังสีที่ถูกปล่อยออกมาในสิ่งแวดล้อมมากกว่าระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิมาถึงสี่ร้อยเท่า ประมาณ 100,000 ตารางกิโลเมตรของที่ดินมีการปนเปื้อนอย่างมีนัยสำคัญด้วยฝุ่นละอองกัมมันตรังสี(เกือบทั่วยุโรป) อุบัติเหตุเกิดระหว่างการทดสอบการทำงานของระบบหล่อเย็นซึ่งวันนั้นกำหนดไว้จะทดสอบช่วงกลางวันแต่มีเหตุให้ล่าช้าไปทดสอบในกะกลางคืน ถือว่าเป็นอุบัติเหตุที่เกิดกับโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ในแง่ของค่าใช้จ่ายและชีวิต (อุบัติเหตุเกิดในช่วง ทำงานเป็นกะ/กลางคืน/วันเสาร์)

ไฟไหม้โรงงานผลิตสารเคมีของบริษัทแซนดอส(ใกล้แม่น้ำไรน์) ที่เมืองบาเซิล ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ในปี 1986 ระหว่างและหลังจากการฉีดน้ำดับเพลิง ยาฆ่าแมลง สารปรอท และสารเคมีอื่นๆ ประมาณ 30 ตันไหลลงสู่แม่น้ำไรน์ทำให้แม่น้ำกลายเป็นสีแดง น้ำที่ปนเปื้อนสารเคมีไหลผ่านประเทศ สวิสเซอร์แลนด์ เยอรมัน ฝรั่งเศส และเนเธอร์แลนด์แล้วไหลลงสู่ทะเลเหนือ ถือเป็นภัยพิบัติด้านสิ่งแวดล้อมที่เลวร้ายที่สุดของยุโรป (อุบัติเหตุเกิดในช่วง ทำงานเป็นกะ/กลางคืน/วันเสาร์)

เรือบรรทุกน้ำมัน เอ็กซอน วัลเดซ ชนโขดหินในอลาสก้า ในปี 1989 ทำให้น้ำมันดิบประมาณ 11 ล้านแกลลอน รั่วลงสู่ทะเล น้ำมันดิบถูกพบตามแนวชายฝั่งยาว 2,100 กิโลเมตร มีพื้นที่ในมหาสมุทรที่ปนเปื้อนน้ำมันดิบประมาณ 28,000ตารางกิโลเมตร หนึ่งในสาเหตุของอุบัติเหตุในครั้งนี้ คือ ความล้าและงานที่หนักเกินไปของพนักงานเดินเรือ (due to fatigue and excessive workload) (อุบัติเหตุเกิดในช่วง ทำงานเป็นกะ/กลางคืน/วัน Good Friday)

การระเบิดที่โรงกลั่นน้ำมันที่เมืองเท็กซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี 2005 ซึ่งเป็นโรงกลั่นน้ำมันใหญ่เป็นอันดับ3ของสหรัฐอเมริกา จากการวิเคราะห์สาเหตุ ปัจจัยสำคัญคือ พนักงานทำงานวันละ12ชั่วโมงติดต่อกัน29วัน หลังจากนั้นมีการออกแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับความล้าจากการทำงาน

แม้แต่การล่มของเรือไททานิคในปี 1912 ก็เกิดอุบัติเหตุชนภูเขาน้ำแข็งตอน 5ทุ่ม (23.30 น. 14เมษายน1912)


(http://i1015.photobucket.com/albums/af274/tigerns2505/5_3.jpg)
ขณะที่คนอื่นเค้านอน เค้าพักผ่อนกัน บุคลากรสาธารณสุขทั่วประเทศในโรงพยาบาลศูนย์28แห่ง โรงพยาบาลทั่วไป88แห่ง โรงพยาบาลชุมชน 780แห่ง ต้องตื่นทำงานกัน พวกเราจำนวนมากทำงานด้วยชั่วโมงที่ยาวนานกว่าสาขาอาชีพอื่น ไม่รู้ว่ามีโศกนาฏกรรมเกิดขึ้นที่ไหนบ้าง วันไหนบ้าง มากน้อยแค่ไหน แต่ถ้าพวกเรายังทำงานหนักกันแบบทุกวันนี้ วันหนึ่งโศกนาฏกรรมอาจเกิดขึ้นกับตัวเราหรือพี่น้องของเราเอง

(http://i1015.photobucket.com/albums/af274/tigerns2505/6_3.jpg)
ตัวอย่างข่าวคราวที่บุคลากรสาธารณสุข เกิดอุบัติเหตุจนเสียชีวิต ระหว่างเดินทางกลับบ้าน หรือเดินทางมาทำงาน

(http://i1015.photobucket.com/albums/af274/tigerns2505/7_3.jpg)
การเกิดอุบัติเหตุของรถพยาบาลก็มีอยู่เนืองๆ ในปี 2557 มีอุบัติเหตุ 61 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บ 130 คน และเสียชีวิต 19 คน
กระทรวงสาธารณสุขก็ได้มีหนังสือมาตรการการป้องกันและแก้ไขออกมา เมื่อ 16 มีนาคม 2559 ให้จำกัดความเร็ว ให้พนักงานขับรถผ่านการอบรม ติดตั้งอุปกรณ์ GPS ให้รถพยาบาลติดตั้งกล้องวงจรปิด แต่ไม่พูดถึงชั่วโมงการทำงานของพนักงานขับรถเลย ถ้าพนักงานขับรถไม่ค่อยได้พัก พักไม่พอ อุบัติเหตุก็คงไม่ลด การสูญเสียก็ยังคงมีต่อไป

(http://i1015.photobucket.com/albums/af274/tigerns2505/8_3.jpg)
คงเคยผ่านตากันบ้าง เรื่องลูกหมอ ชนะเลิศเรียงความวันแม่ โดยเขียนถึงชีวิตของครอบครัวตัวเอง แม่ถูกรถชนตาย พ่อที่เป็นหมอติดเชื้อระหว่างการดูแลผู้ป่วยจนตาย(ตั้งแต่ 2545 เกือบ15ปีก่อน) อยู่กับย่าด้วยความลำบาก มีหนังสือจากสาธารณสุขจังหวัดปราจีนบุรี(12กุมภาพันธ์ 2559) ขอความอนุเคราะห์ช่วยเหลือครอบครัวนี้
มีบุคลากรสาธารณสุขมากมายที่ได้รับผลกระทบ ทุกข์ทรมาน หรือเสียชีวิตจากการทำงานหนักและยาวนาน ทั้งที่เป็นข่าวและไม่เป็นข่าว







หัวข้อ: Re: "เวลาการทำงาน สุขภาพและความปลอดภัย" โดยประธานสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/ทั่วไปฯ
เริ่มหัวข้อโดย: story ที่ 18 มีนาคม 2017, 01:05:17
(http://i1015.photobucket.com/albums/af274/tigerns2505/9_2.jpg)
ในประเทศญี่ปุ่น มีข่าวประเภทนี้บ่อย ล่าสุดมีข่าว หมอห้องฉุกเฉินทำงานจนตาย พนักงานฆ่าตัวตายเพราะงานหนักเกินไป แต่ประเทศญี่ปุ่นเค้ามีระบบการช่วยเหลือคนที่ได้รับผลกระทบจากการทำงานเป็นอย่างดี มีการชดเชยให้

บริษัทที่เป็นข่าวล่าสุด คือ บริษัทเดนท์สุ ที่พนักงานฆ่าตัวตาย ผู้บริหารบริษัทลาออก(29ธันวาคม2516) เพราะดูแลลูกน้องได้ไม่ดี
(ของเราเป็นยังไงครับ เจ็บป่วยก็ยังต้องมาทำงาน ถ้ายังถ่อสังขารมาได้ก็ต้องมา จะเป็นจะตายผู้บริหารไม่รู้ไม่เห็น)

จากวัฒนธรรมการทำงานหนัก(หลังแพ้สงครามโลกครั้งที่สอง) มีคนญี่ปุ่นตายจากการทำงานหนักเป็นจำนวนมาก ในปี 1970 มีการตั้งชื่อ กลุ่มอาการคาโรชิ(Karochi syndrome) ขึ้น หมายถึง ตายจากการทำงานหนักมากเกินไป(death from overwork) คือถูกงานฆ่าตายนั่นเอง ตายได้ยังไง หนึ่ง ฆ่าตัวตาย จากภาวะความเครียดและซึมเศร้าจากการทำงาน สอง ตายจากโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมอง ในปีหนึ่งมีคนฆ่าตัวตายจากการทำงานหนักประมาณ 400 คน ตายจากโรคหัวใจและหลอดเลือดสมองประมาณ300คน (โดยการแยกสาเหตุอื่นๆไปแล้ว บางหน่วยว่าตัวเลขยังน้อยไปอีกด้วย)

หน่วยงานป้องกันและให้คำปรึกษาเหยื่อจากสภาวะคาโรชิ ยืนยันว่า การจำกัดจำนวนชั่วโมงการทำงานเท่านั้นที่จะลดการเสียชีวิตจากเหตุนี้ได้

องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ได้ยกตัวอย่างผู้ที่มีอาการคาโรชิไว้ดังนี้
– คนงานในบริษัทผลิตขนมใหญ่ ต้องทำงาน 110 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เขาเสียชีวิตด้วยวัย 34 ปี จากอาการโรคหัวใจกำเริบ
– พนักงานขับรถประจำ ใช้เวลาในการทำงาน 3,000 ชั่วโมงต่อปี เขาทำงานโดยไม่มีวันหยุดติดกัน 15 วัน ก่อนจะเสียชีวิตจากอาการหลอดเลือดสมองแตกเฉียบพลัน
– พยาบาลวัย 22 ปี เสียชีวิตจากอาการหัวใจวายหลังทำงาน 34 ชั่วโมงต่อเนื่องเป็นเวลา 5 ครั้งต่อหนึ่งเดือน

(http://i1015.photobucket.com/albums/af274/tigerns2505/10_2.jpg)
ทั้งภาครัฐและบริษัทเอกชนในญี่ปุ่นพยายามให้คนทำงานน้อยลง เช่น เตรียมออกกฎหมายบังคับให้คนลางานบ้าง ลดวันการทำงานเหลือ4วันต่อสัปดาห์บ้าง

ข้อมูลจากกระทรวงแรงงานของญี่ปุ่นในช่วงปี 2014-2015 พบว่ามีการขอเงินชดเชยจากการเสียชีวิตจากการทำงานมากถึง 1,456 ครั้งซึ่งมากเป็นประวัติการ โดยส่วนใหญ่เป็นลูกจ้างในภาคสาธารณสุขซะด้วย

(http://i1015.photobucket.com/albums/af274/tigerns2505/11_3.jpg)
แล้วทำงานแค่ไหนถึงจะพอดี มีการรณรงค์ เรียกร้อง การเดินขบวน การประท้วง การเสียเลือดเสียเนื้อมามากมายในอดีต ที่จะให้มีการทำงานวันละ8ชั่วโมง และที่ประสบผลสำเร็จเป็นแห่งแรก คือ ประเทศออสเตรเลีย จากการเดินขบวนเรียกร้องในนครเมลเบิร์นในปี ค.ศ.1856

(http://i1015.photobucket.com/albums/af274/tigerns2505/12_3.jpg)
8 ชั่วโมงทำงาน 8 ชั่วโมงนันทนาการ 8 ชั่วโมงนอน เป็นแนวคิดของ โรเบิร์ต โอเวน นักมนุษยนิยมและสังคมนิยมชาวเวลส์ที่นำเสนอในปี1817 (ซึ่งในยุคนั้นคนทำงานกัน 10-16 ชั่วโมงต่อวัน) เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตของคนทำงาน ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นมาตรฐานการทำงานในปัจจุบัน

มีการสำรวจการใช้เวลาในหนึ่งวันของคนทำงานชาวอเมริกันอายุ 25-54 ปีที่มีเด็ก(อายุน้อยกว่า18ปี)อยู่ในครอบครัวด้วยในปี 2015 พบว่าโดยเฉลี่ยแล้ว ทำงาน(work) 8.8 ชั่วโมง
นอน(sleep) 7.6 ชั่วโมง
ที่เหลือเป็นการใช้ชีวิต(life)
บันเทิงและกีฬา2.5ชั่วโมง
งานบ้าน 1.1 ชั่วโมง
กินและดื่ม1.1 ชั่วโมง
ดูแลคนอื่น 1.2 ชั่วโมง
อื่นๆอีก 1.7 ชั่วโมง
คนเรานอกจากทำงานและนอนแล้ว ชีวิตต้องมีสีสัน ทำสิ่งที่ตัวเองอยากทำ ต้องใช้เวลากับครอบครัว และต้องมีเวลาทำกิจกรรมกับคนอื่น(สังคม) จึงจะเกิดความสมดุลในชีวิต

(http://i1015.photobucket.com/albums/af274/tigerns2505/13_3.jpg)
หากเวลาการทำงานมากขึ้น เวลาสำหรับตัวเอง ครอบครัวและสังคม น้อยลงก็จะเกิดความไม่สมดุลขึ้น เกิดความเครียด ความล้ามากขึ้น

ยิ่งเวลาทำงานมากขึ้นจนแทบจะไม่มีเวลาทำกิจกรรมอื่นเลย จะเป็นการทำลายสุขภาพ ทำร้ายชีวิตของคนทำงานและครอบครัว ถือเป็นการละเมิด เป็นการทำงานที่ทุกข์ทรมาน ซึ่งถ้าถูกบังคับให้ทำ ก็เป็นการถูก(คนอื่น)ละเมิด ถ้าสมัครใจทำเอง ก็เป็นการละเมิดตัวเอง


(http://i1015.photobucket.com/albums/af274/tigerns2505/14_3.jpg)
ในยุโรปอาศัยข้อมูลจากการวิจัย นำไปสู่การออกกฎหมายเพื่อดูแลคนของเค้า
มีการวิจัยเกี่ยวกับชั่วโมงการทำงานกับสุขภาพ พบว่าการทำงานตั้งแต่ 49 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ขึ้นไป นำไปสู่โรคต่างๆ และสุขภาพย่ำแย่

เกี่ยวกับการเกิดอุบัติเหตุอันเนื่องมาจากการทำงานไม่ว่าจะเกิดระหว่างการทำงาน หรือเกิดระหว่างการเดินทางเพื่อหรือกลับจากการทำงาน มากขึ้นหลังจากชั่วโมงที่8 และที่9
คนทำงานเวรละ 12 ชั่วโมงมีความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุมากกว่าคนทำงานเวรละ 8 ชั่วโมงถึง 2 เท่า

(http://i1015.photobucket.com/albums/af274/tigerns2505/15_3.jpg)
คนทำงานมากกว่า60ชั่วโมงต่อสัปดาห์ มีความเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วยมากกว่าคนทำงานน้อยกว่า60ชั่วโมงถึง 23 %

คนทำงานมากกว่า65ชั่วโมงต่อสัปดาห์ มีความเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุเพิ่มขึ้น 88% เมื่อเทียบกับคนทำงาน 40ชั่วโมงต่อสัปดาห์เป็นต้น (มีการวิจัยอีกมากมาย)


(http://i1015.photobucket.com/albums/af274/tigerns2505/16_3.jpg)
ข้อมูลจากการวิจัยเหล่านี้ สหภาพยุโรปเอามาเป็นเกณฑ์ในการออกกฎหมายที่เรียกว่า working time directive (เริ่มตั้งแต่ ค.ศ.1993 และได้มีการปรับเปลี่ยนมาเป็นระยะๆ) เค้าออกกฎมาเพื่อสุขภาพและความปลอดภัยของคนทำงาน เค้าถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของคนที่รัฐต้องคุ้มครองไม่ให้ถูกคนจ้างงานมาละเมิด กฎนี้ไม่บังคับกับการทำงานของตัวเอง(self- employ)

เนื้อหาหลักๆ คือ
ชั่วโมงการทำงาน (ไม่เกิน48ชั่วโมงต่อสัปดาห์) เวลาพักในแต่ละวันอย่างน้อย11ชั่วโมง และ
วันหยุดสัปดาห์ละ1วัน
ทำงานกลางคืนไม่เกิน8ชั่วโมง
และมีวันพักผ่อนประจำปี อย่างน้อย 4 สัปดาห์

ทั้งนี้ไม่บังคับกับกิจการด้านความมั่นคง(ทหาร) ด้านความปลอดภัย(ตำรวจ) และในภาวะวิกฤตหรือระยะทีมีภัยพิบัติ

(http://i1015.photobucket.com/albums/af274/tigerns2505/17_3.jpg)
แต่หากใครสมัครใจจะทำงานมากกว่าที่กฎหมายระบุไว้(ต้องไม่ได้ถูกบังคับ) เค้าก็มีทางออกให้ เรียกว่า การขอทำงานเกินกว่าที่กำหนด (opt out)ซึ่งต้องทำเป็นลายลักษณ์อักษร และจะยกเลิกก็ได้เมื่อไม่ต้องการทำงานเกิน นั่นคือ ห้ามบังคับทำเกิน แต่สมัครใจทำเกินได้ (แต่ก็มีจำกัดชั่วโมงทำงานสูงสุดเอาไว้ด้วย)

ทั้งนี้งานเกี่ยวกับขนส่งสาธารณะ ขนส่งมวลชน ขนส่งของสำคัญ ห้าม opt out จะขอทำงานเกินไม่ได้(คนขับรถสาธารณะ นักบิน กัปตันเรือ ไม่อนุญาตให้ทำเกินกฎหมาย)

ทั้งนี้มีบางประเทศในสหภาพยุโรปที่ไม่ยอมให้มีการ opt out เลยไม่ว่าจะอาชีพใดๆ เค้าถือว่า กฎหมายป้องกันไม่ให้ถูกละเมิด แม้แต่ตัวเองก็ห้ามละเมิดตัวเอง คือ ฟินแลนด์ เดนมาร์ก สวีเดน ลักเซมเบิร์ก ออสเตรีย ลิทัวเนีย ไอร์แลนด์ อิตาลี โปรตุเกส โครเอเชีย โรมาเนีย และกรีซ (กลุ่มประเทศสีเขียว)

บางประเทศเปิดให้มีการขอ opt out บ้างเป็นบางส่วน คือ ฝรั่งเศส เยอรมัน เบลเยี่ยม เนเธอร์แลนด์ สเปน สโลวีเนีย แลตเวีย ฮังการี สาธารณรัฐเช็ก สโลวาเกีย และโปแลนด์ (กลุ่มประเทศสีส้ม)

อีกกลุ่ม คือ มีการเปิดให้มีการขอ opt out กันอย่างกว้างขวาง คือ อังกฤษ บัลกาเรีย เอสโทเนีย ไซปรัส และมอลต้า
นี่เป็นตัวอย่างของกลุ่มประเทศที่เค้าดูแลคนของเค้า ปกป้องสิทธิคนของเค้า ซึ่งเราน่าจะศึกษานำมาใช้ประโยชน์ในการดูแลคนของเราบ้าง
หัวข้อ: Re: "เวลาการทำงาน สุขภาพและความปลอดภัย" โดยประธานสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/ทั่วไปฯ
เริ่มหัวข้อโดย: story ที่ 18 มีนาคม 2017, 01:10:26
(http://i1015.photobucket.com/albums/af274/tigerns2505/18_2.jpg)
หลักฐานเชิงประจักษ์ 3 ประเด็นที่ไม่น่าจะมีใครแย้ง คือ
หนึ่ง การทำงานยาวนาน/เป็นกะ/กลางคืน ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ อุบัติเหตุ คุณภาพชีวิตของคนทำงานและความปลอดภัยของผู้ป่วย

สอง บุคลากรสาธารณสุขของเราจำนวนมากได้รับผลกระทบดังกล่าว (คำถามที่ถามในที่ประชุม คือ เราสมัครใจทำงานแบบ“long working hour” หรือถูกบังคับให้ทำกันแน่)

สาม ไม่มีมาตรการดูแลบุคลากรสาธารณสุขในขณะนี้

(http://i1015.photobucket.com/albums/af274/tigerns2505/19_1.jpg)
การบังคับใช้แรงงานหรือบริการ ที่มิใช่โดยสมัครใจ ถือว่าเป็น forced labour ซึ่งนานาชาติไม่ยอมรับ และประนาม เพราะถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ จะบังคับด้วยกำลัง ด้วยอำนาจ หรืออ้างความจำเป็น ก็ถือว่าบังคับ

(http://i1015.photobucket.com/albums/af274/tigerns2505/20_1.jpg)
องค์กรแรงงานระหว่างประเทศได้รายงานว่า ในช่วงปี 2012 ทั่วโลกมีการบังคับใช้แรงงานประมาณ 20.9 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นงานภาคเอกชน มีเพียง 2.2 ล้านคนที่ถูกบังคับใช้แรงงานโดยหน่วยงานของรัฐ
ภาพและข่าวการบังคับใช้แรงงานที่ถูกเผยแพร่ทั่วไป คือ การบังคับให้ประชาชนนับล้านคนเก็บฝ้ายโดยรัฐบาลของประเทศอุซเบกิสถาน และเตอร์กมีนิสถาน และภาพและข่าวของแรงงานนับแสนคนในไทยที่ถูกบังคับใช้แรงงานในอุตสาหกรรมประมง ซึ่งเป็นเหตุให้ประเทศไทยถูกหลายประเทศจำกัดสิทธิทางการค้า

นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ ได้กล่าวผ่านรายการคืนความสุขให้คนไทย เมื่อ 20 มิถุนายน 2557 ว่า...จำเป็นต้องเร่งรีบในการกำจัดกลุ่มผู้มีอิทธิพลเหล่านี้ และจัดระเบียบแรงงานโดยเร็วที่สุด

(http://i1015.photobucket.com/albums/af274/tigerns2505/21_1.jpg)
ฝากให้ผู้มีอำนาจมาดูแลบุคลากรสาธารณสุขด้วยครับ มาจัดระเบียบด้วยครับ

เรื่องนี้ เรื่องการทำงานอยู่เวรจนไม่มีเวลาพัก ไม่มีเวลาดูแลตัวเอง ไม่มีเวลาดูแลครอบครัว จนกลายเป็นวัฒนธรรมของพวกเราชาวสาธารณสุขไปแล้ว(รึเปล่า) เรายอมรับสภาพแบบนี้กันแล้ว(หรือไม่)
มันมีกับดักอยู่สองกับดักในเรื่องนี้
กับดักอันแรก คือ “สมัยก่อนนะ... พี่ๆก็อยู่เวรกันแบบนี้แหละ ไม่ได้กิน ไม่ได้นอนกันเลย เงินเดือนก็น้อยกว่าสมัยนี้อีก......”
กับดักอีกอัน คือ “เอ้า...ถ้าเราไม่ทำ แล้วใครจะดูคนไข้ล่ะ....”
ถ้าเรายังติดกับดักสองอันนี้อยู่ เราก็คงต้องอยู่ในสภาพแบบนี้ต่อไป (พวกเราสุขภาพเสื่อมโทรม เจ็บ ตายจากการทำงาน ผู้ป่วยมีความเสี่ยงที่จะเกิดอันตราย พิการ ตาย) เราจะไม่สามารถก้าวไปข้างหน้าได้
เราคิดว่าการที่เรายอมทำงานหนักเหนื่อยแบบนี้ เราทำดีแล้ว เราเสียสละ เราได้บุญ มองอีกมุม คือ
หนึ่ง เราทำลายสุขภาพตัวเอง ถ้าเราสุขภาพยังไม่ดี(ทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต) เราจะไปสร้าง/ซ่อมสุขภาพให้ชาวบ้านได้ดีได้ยังไง
สอง เราทำร้ายครอบครัวของเราเอง เราดูแลลูก/สามี/ภรรยา/พ่อ/แม่ของคนอื่นโดยไม่มีเวลาดูแล ลูก/สามี/ภรรยา/พ่อ/แม่ของตัวเองรึเปล่า (ถามคนในครอบครัวเราดูหน่อยก็ดี)
สาม เราทำร้ายคนไข้ ถ้าให้คนอื่นที่ร่างกาย/จิตใจพร้อมกว่าเรามาดูแลคนไข้ ผลลัพธ์จะดีกว่าเราที่เหนื่อยและล้ารึเปล่า (อย่าดูถูกผู้บริหารว่าเค้าจะบริหารจัดการเรื่องนี้ไม่ได้ )
สี่ เราทำร้ายระบบสาธารณสุข เรายอมแบกภาระจนดูเหมือนไม่มีปัญหา หรือเป็นแค่ปัญหาเล็กๆ การแก้ปัญหาจึงไม่ได้รับการดำเนินการอย่างจริงจังเรื่อยมา กลายเป็นเรื่องเรื้อรังมานานจนถึงวันนี้

ออกจากกับดักกันเถอะครับ

(http://i1015.photobucket.com/albums/af274/tigerns2505/22_1.jpg)
นาย “งาน” กำลังทำร้าย นาย “บุคลากร” โดยที่ นาย”ผู้บริหาร” รู้เห็นเป็นใจ ในขณะที่นาย”องค์กรวิชาชีพ”อยู่ในเหตุการณ์แต่ไม่ช่วยตามความจำเป็น

ตามภาษากฎหมาย หากนาย”บุคลากร”บาดเจ็บหรือตายจากการกระทำของนาย”งาน”
ถือว่า นาย”ผู้บริหาร”เป็นผู้สมรู้ ผู้สมคบ และ
ถือว่านาย”องค์กรวิชาชีพ”กระทำโดยละเว้น

ตามภาษาธรรม .......... บาปกรรม

(http://i1015.photobucket.com/albums/af274/tigerns2505/23.jpg)
น่าดีใจที่กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายเกี่ยวกับบุคลากรเกี่ยวกับเจ้าหน้าที่ ที่จะให้มึความสุข พวกเราตั้งหน้าตั้งตารอรูปธรรมที่ผู้บริหารกระทรวงฯออกมาให้พวกเรายิ้มกันได้ (อย่าแค่มาวัด มาแค่สอบถาม หา happynometer ) ผู้บริหารเป็นคนคิด เป็นคนพูด แต่คนที่ทำให้ประชาชนสุขภาพดี หายเจ็บหายไข้ เจ้าหน้าที่เป็นคนทำ หากเจ้าหน้าที่อยู่ในสภาพที่ไม่สามารถทำงานได้ดี ความคิดของท่านก็จะกลายเป็นแค่ความฝันลมๆแล้งๆ คำพูดของท่านก็จะเป็นคำเพ้อเจ้อที่ไม่เป็นความจริง
ถ้าจะเรียงความสำคัญ ต้องเอา เจ้าหน้าที่มีความสุขขึ้นก่อน เพราะเจ้าหน้าที่จะทำให้ประชาชนสุขภาพดี และทำให้ระบบสุขภาพยั่งยืน




https://www.facebook.com/praditc/media_set?set=a.1439844269400210.1073741867.100001239514505&type=3&uploaded=23