My Community

หมวดหมู่ทั่วไป => ข่าวเกี่ยวกับวงการแพทย์ => ข้อความที่เริ่มโดย: story ที่ 07 กันยายน 2011, 22:57:52

หัวข้อ: พบคนใน 3 จชต.ป่วยเป็นโรคพีทีเอสดีถึงร้อยละ 13!!
เริ่มหัวข้อโดย: story ที่ 07 กันยายน 2011, 22:57:52
สธ.พัฒนาระบบเยียวยาใจผู้ได้รับผลกระทบกว่า 2 หมื่นราย จากเหตุไม่สงบ 4 จังหวัดชายแดนใต้ 7 ปี ในปีนี้พบเหยื่อความรุนแรงเป็นโรคพีทีเอสดี ร้อยละ 13
       
       วันนี้ (7 ก.ย.) ที่โรงแรมซีเอส ปัตตานี จ.ปัตตานี นายต่อพงษ์ ไชยสาส์น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดโครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการการดำเนินงานเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เยียวยายุคเปลี่ยนผ่าน:เสียงกู่จากผู้ปฏิบัติงานเยียวยาชายแดนใต้ สู่รัฐบาลใหม่ โดยมีภาคีเครือข่ายผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องภาครัฐและเอกชน ได้แก่ ศูนย์เยียวยาจังหวัด ศูนย์เยียวยาอำเภอ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ประธานเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบระดับอำเภอ ศูนย์เยียวยาฟื้นฟูสุขภาพจิตประจำโรงพยาบาล กรมคุ้มครองสิทธิเสรีภาพจำนวน 4 คน ร่วมประชุม 250 คน เพื่อพัฒนาระบบการดูแลผู้ได้รับผลกระทบให้ยืนหยัดอยู่ในสังคมมีเกียรติมีศักดิ์ศรีและปกติสุขเหมือนคนไทยทั่วไป
       
       นายต่อพงษ์ กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายเร่งนำสันติสุขและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนกลับมาสู่พื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ โดยเน้นส่งเสริมความร่วมมือในทุกภาคส่วนกับประชาชนในพื้นที่ และบูรณาการการบริหารจัดการให้มีเอกภาพทั้งในระดับนโยบายและระดับการปฏิบัติ เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอย่างเป็นธรรม จากการประเมินสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ 4 จังหวัดภาคใต้ ประกอบด้วย ยะลา นราธิวาส ปัตตานี และ 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา จนถึงขณะนี้ยังมีเหตุเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอด 7 ปีตั้งแต่ปี 2547-2554 มีผู้ได้รับผลกระทบรวม 20,689 คน เสียชีวิต 4,771 คน เป็นประชาชนทั่วไป ร้อยละ 87 ทหาร ร้อยละ 7 ตำรวจร้อยละ 6 ผู้บาดเจ็บ พิการ จำนวน 8,512 คน สตรีผู้สูญเสียผู้นำครอบครัว จำนวน 2,295 คน มีเด็กกำพร้า 5,111 คน ซึ่งส่งผลกระทบถึงบุคคลใกล้ชิดด้วย ที่ผ่านมารัฐบาลได้จัดตั้งคณะอนุกรรมการและคณะทำงานดูแลเยียวยาจิตใจผู้ได้รับผลกระทบทั้งหมดโดยให้ศูนย์สุขภาพจิตที่ 15 จังหวัดปัตตานี เป็นศูนย์กลางประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

นายต่อพงษ์ กล่าวต่อว่า โรคที่กระทรวงสาธารณสุขเฝ้าระวัง ในพื้นที่ความไม่สงบมี 5 โรค ได้แก่ 1.โรคซึมเศร้า 2.ภาวะเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย 3.โรคพีทีเอสดี (Post Traumatic Stress Disorder) หรือโรคเครียดภายหลังเหตุการณ์สะเทือนขวัญ 4.โรคเครียดวิตกกังวล 5.ภาวะการติดสุรา/สารเสพติด จากการตรวจคัดกรองสุขภาพจิตในกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบทั้งหมดในรอบ 6 เดือนปีนี้ พบผู้มีปัญหาผู้มีโรคพีทีเอสดี จำนวน 6 คน หรือร้อยละ 13 ของผู้มีความเสี่ยง ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ปกติซึ่งต้องไม่เกินร้อยละ 10 ส่วนใหญ่เป็นผู้ใหญ่วัยทำงาน ยังมีอาการฝันร้าย นึกถึงเหตุการณ์ เลี่ยงไปที่เกิดเหตุ ขณะนี้จิตแพทย์ นักจิตวิทยา อสม.ได้ติดตามดูแลอาการใกล้ชิด และประเมินอาการ เป็นระยะ
       
       ด้านนายแพทย์อิทธิพล สูงแข็ง รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว่า ในการติดตามดูแลผลกระทบสุขภาพจิตหลังเกิดเหตุการณ์ ระยะที่ 1 เจ้าหน้าที่บุคลากรสาธารณสุขศูนย์เยียวยาฟื้นฟูสุขภาพจิตประจำ รพ.จะทำการเยี่ยมประเมินอาการเพื่อค้นหาผู้ที่เสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิตและให้การปฐมพยาบาลด้านจิตใจ ภายใน 72 ชั่วโมงแรกถึง 2 สัปดาห์หลังเกิดเหตุการณ์ ระยะที่ 2 ช่วง 2 สัปดาห์ถึง 1 เดือน จะดูแลประคับประคองด้านจิตวิทยา และการช่วยเหลือต่างๆ ระยะที่ 3 ช่วง 1-3 เดือน จะติดตามเพื่อประเมินผลกระทบทางด้านสุขภาพจิต หากระดับความเครียดหรือความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิตยังไม่ลดลง จะส่งพบจิตแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและให้การบำบัดรักษาด้วยยาและปรับพฤติกรรมความคิดในกรณีที่มีภาวะพีทีเอสดี กระบวนการทั้งหมดนี้ดำเนินการอยู่ที่บ้าน ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล โดยใช้บุคลากรประกอบด้วยนักจิตวิทยาพยาบาลศูนย์เยียวยาฟื้นฟูสุขภาพจิต และ อสม.ซึ่งขณะนี้มีองค์กรสาธารณที่ไม่หวังผลประโยชน์และหน่วยงานภาครัฐอื่นมาร่วมดูแลเป็นระบบแบบวันสตอปเซอร์วิส ยึดผู้ได้รับผลกระทบเป็นศูนย์กลางให้ครอบคลุมที่สุด

ASTVผู้จัดการออนไลน์    7 กันยายน 2554