My Community

หมวดหมู่ทั่วไป => ข่าวเกี่ยวกับวงการแพทย์ => ข้อความที่เริ่มโดย: story ที่ 17 มิถุนายน 2011, 20:32:18

หัวข้อ: สธ.พัฒนาการดูแล-ส่งต่อผู้ป่วยหนัก14จว.ใต้
เริ่มหัวข้อโดย: story ที่ 17 มิถุนายน 2011, 20:32:18
สธ.พัฒนาระบบบริการผู้ป่วย-และระบบการส่งต่อผู้ป่วยหนัก 14 จังหวัดใต้ ตั้ง รพ.สุราษฏ์ธานี และ รพ.หาดใหญ่ เป็นศูนย์เชี่ยวชาญ

วันนี้ (17 มิ.ย.) ที่ โรงแรมหาดยาวเบย์วิว รีสอร์ท เกาะพงัน จังหวัดสุราษฏร์ธานี นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์จักรกฤษณ์ ภูมิสวัสดิ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขเขต 6 นายแพทย์วิรัช เกียรติเมธา สาธารณสุขนิเทศก์ปฎิบัติหน้าที่ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขเขต 7 นายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขเขต 8 และ นายแพทย์ชาตรี เจริญชีวกุล เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ เปิดประชุมการพัฒนาระบบบริการสุขภาพในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้  โดยมีนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุขทุกระดับเข้าร่วมประชุม เพื่อวางแนวทางพัฒนาประสิทธิภาพการดูแลรักษาผู้ป่วย และระบบการส่งต่อผู้ป่วยหนัก

โดย นายแพทย์ไพจิตร์ กล่าวว่า จากการประเมินสถานการณ์การรักษาพยาบาล โดยเฉพาะการดูแลผู้ป่วยที่จำเป็นต้องนอนรักษาในโรงพยาบาล พบว่า ในปี 2552 ผู้ป่วยนอนรักษาในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขมากที่สุดร้อยละ 65 หรือประมาณ 2 ใน 3 รองลงมาคือโรงพยาบาลเอกชน ร้อยละ 24 และสังกัดทบวงมหาวิทยาลัยร้อยละ 4 ในภาพรวมอัตราการรักษาผู้ป่วยในในปี 2552 ร้อยละ 13 เพิ่มจากปี 2538 ซึ่งมีร้อยละ 10 โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้เพิ่มสูงที่สุดในประเทศร้อยละ 16 เนื่องจากเป็นโรคที่มีอาการรุนแรง เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง กระทรวงสาธารณสุขจึงมีนโยบายที่จะจัดบริการสุขภาพให้มีมาตรฐาน และรวดเร็วขึ้น ได้มอบให้ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขทุกเขต  ร่วมกับผู้บริหารในระดับจังหวัด วางแผนการจัดบริการในแต่ละเขต และภายในภาค โดยในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ได้มีการจัดทำข้อตกลงระหว่างเขตตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขเขตที่ 6, 7 และ8 เพื่อร่วมกันจัดบริการ และจัดระบบการเชื่อมประสานการส่งต่อผู้ป่วยให้มีประสิทธิภาพ

นายแพทย์ไพจิตร์ กล่าวว่า ตามข้อตกลงดังกล่าว ได้กำหนดให้โรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่มีเครื่องมือ เทคโนโลยี แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาต่าง ๆ 2 แห่ง เป็นศูนย์เชี่ยวชาญรักษาผู้ป่วย โดยให้โรงพยาบาลศูนย์สุราษฎร์ธานี ดูแล 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบน คือ ชุมพร ระนอง ภูเก็ต พังงา กระบี่ นครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี ส่วนที่เหลืออีก 7 จังหวัดตอนล่าง ให้โรงพยาบาลศูนย์หาดใหญ่ดูแล คือ พัทลุง ตรัง สตูล ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสงขลา ส่วนระบบการส่งต่อผู้ป่วยจะใช้ลักษณะไร้ขอบเขตจังหวัด ใกล้ที่ไหนเข้าที่นั่น รักษาชีวิตของผู้ป่วยให้ดีที่สุด จะยึดตามพื้นที่ภูมิศาสตร์ และความสะดวกของผู้รับบริการเป็นหลัก

นายแพทย์ไพจิตร์ กล่าวต่อว่า ในการพัฒนาศูนย์เชี่ยวชาญรักษาโรคของภาคใต้นั้น ได้วางแผนพัฒนาโรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี และโรงพยาบาลศูนย์หาดใหญ่ เป็นศูนย์เชี่ยวชาญด้านอุบัติเหตุ โดยโรงพยาบาลศูนย์สุราษฎร์ธานีจะเป็นศูนย์เชี่ยวชาญด้านหัวใจ ด้านทารกแรกเกิด และศูนย์เชี่ยวชาญด้านโรคมะเร็ง จะพัฒนาโรงพยาบาลศูนย์อีก 6 แห่งในภาคใต้ ได้แก่ วชิระภูเก็ต มหาราชนครศรีธรรมราช ชุมพร ตรัง ยะลา และนราธิวาสราชนครินทร์ เป็นโรงพยาบาลรองรับการรักษาผู้ป่วยที่ป่วยรุนแรง ป่วยหนัก และพัฒนาโรงพยาบาลทั่วไป 12 แห่ง ได้แก่ ระนอง เกาะสมุย พังงา ตะกั่วป่า กระบี่ ทุ่งสง พัทลุง สงขลา สตูล เบตง ปัตตานีและสุไหงโก-ลก เป็นโรงพยาบาลรักษาผู้ป่วยที่ต้องใช้แพทย์เฉพาะสาขาดูแล เป็นเครือข่ายรองรับผู้ป่วยภายใน 14 จังหวัดภาคใต้ มั่นใจว่าผู้ป่วยจะได้รับบริการที่มีคุณภาพ อยู่ใกล้ที่ไหนเดินทางไปใช้บริการที่นั่นได้ เนื่องจากอยู่ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขเหมือนกัน.


เดลินิวส์ 17 มิถุนายน 2554
หัวข้อ: Re: สธ.พัฒนาการดูแล-ส่งต่อผู้ป่วยหนัก14จว.ใต้
เริ่มหัวข้อโดย: story ที่ 17 มิถุนายน 2011, 20:35:11
อัดงบ 100 ล.ลำเลียงผู้ป่วยหนัก/ฉุกเฉินภาคใต้ 24 ชั่วโมง

สธ.วางระบบความพร้อมช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ เจ็บป่วยฉุกเฉินในพื้นที่ 14 จังหวัด ภาคใต้ทั้งไทยและชาวต่างชาติ โดยจับมือสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ บางกอกแอร์เวย์ส กรมเจ้าท่า กองทัพเรือ และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ร่วมปฏิบัติการช่วยชีวิตลำเลียงผู้เจ็บป่วยฉุกเฉินทางบก  ทางน้ำ ทางอากาศ ตลอด 24 ชั่วโมง  ใช้งบรองรับปีนี้ 100 ล้านบาท
       
       วันนี้ (16 มิ.ย.) ที่ โรงแรมหาดยาวเบย์วิว รีสอร์ท เกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดการประชุมเสวนาและมอบนโยบายการดำเนินงานด้านการแพทย์และสาธารณสุข รวมทั้งเป็นประธานในพิธีบันทึกความร่วมมือการเตรียมความพร้อมรับภัยพิบัติ และการลำเลียงผู้ป่วยในภาวะฉุกเฉินอย่างครบวงจรในเขตภาคใต้  ระหว่างผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขประจำเขต 6, 7, 8   ที่ดูแล 14 จังหวัดภาคใต้ กับเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ  สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเขต 11, 12 กองทัพเรือภาค 2 สงขลา กองทัพเรือภาค 3 ภูเก็ต กองบังคับการตำรวจน้ำ จ.สุราษฎร์ธานี สงขลา ภูเก็ต ตรัง ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยเขต 11 สุราษฎร์ธานี  เขต 12 สงขลา เขต 13 ภูเก็ต สำนักงานเจ้าท่าภาค 4 ภาค 5 และสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส
       
       นพ.ไพจิตร์ กล่าวว่า ทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยมีโอกาสเกิดภัยพิบัติอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะภัยจากธรรมชาติ เนื่องจากผลจากภาวะโลกร้อน รวมทั้งการเกิดอุบัติเหตุทั้งทางบก น้ำ และทางอากาศ กระทรวงสาธารณสุขจึงต้องจัดเตรียมระบบการช่วยชีวิตประชาชนให้มีความพร้อมทุก รูปแบบทั้งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ โดยพัฒนาระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินครอบคลุมทุกพื้นที่  ให้ พร้อมปฏิบัติการช่วยชีวิตผู้ประสบภัย อุบัติเหตุต่างๆ และเจ็บป่วยฉุกเฉินทุกประเภท ตลอด 24 ชั่วโมง มีศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการทางโทรศัพท์หมายเลข 1669  ฟรี โดยได้กำหนดมาตรฐานระยะเวลาในการปฏิบัติการช่วยชีวิตผู้ป่วย และนำส่งโรง พยาบาลภายใน 10 นาที ภายหลังได้รับการแจ้งเหตุ ให้ได้ร้อยละ 80 ของการออกปฏิบัติการ เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตและพิการ
       
       สำหรับ 14 จังหวัดภาคใต้ เป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลาย มีทั้งภูเขา น้ำตก พื้นที่เกาะ มีสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญมีชื่อเสียงระดับโลก แต่ละปีมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติไปท่องเที่ยวพักผ่อนจำนวนมาก ซึ่งมีโอกาสเสี่ยงเกิดเจ็บป่วยฉุกเฉิน หรืออุบัติเหตุได้สูง  จึงต้องพัฒนาและซักซ้อมให้เกิดความพร้อมทุกด้าน เมื่อเกิดเหตุสามารถปฏิบัติการได้ทันที  โดยในปีงบประมาณ 2554 นี้ได้จัดสรรงบประมาณจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินรองรับโดยเฉพาะ 100 ล้านบาท
       
       นพ.ชาตรี เจริญชีวะกุล เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน กล่าวว่า ข้อมูลสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2554 ทั่วประเทศ มีชุดปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินขึ้นทะเบียนรับรองมาตรฐานแล้ว 10,984  ชุด มีผู้ปฏิบัติการทางการแพทย์ฉุกเฉิน ทั้งภาครัฐ เอกชนและมูลนิธิต่างๆ ขึ้นทะเบียน 122,945 คน  มีรถยนต์พร้อมเครื่องมือกู้ชีพ 14,189 คัน เรือ 1,128 ลำ เครื่องบิน 101 ลำ และศูนย์รับแจ้งเหตุสั่งการแพทย์ฉุกเฉิน 78 แห่ง มีองค์กรปกครองท้องถิ่นร่วมจัดระบบการแพทย์ฉุกเฉิน 5,397 แห่ง จากทั้งหมด 7,852 แห่ง ผลการดำเนินงานตั้งแต่ 21 กันยายน 2553-20 มีนาคม 2554  ออกปฏิบัติการ 580,811 ครั้ง  โดยเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินร้อยละ 60 อุบัติเหตุจราจร ร้อยละ 28  สามารถให้การช่วยเหลือภายใน 10 นาที ได้ร้อยละ 75
       
                 นพ.ชาตรี กล่าวต่อว่า สถิติการปฏิบัติการด้านการแพทย์ฉุกเฉินในพื้นที่ภาคใต้ ในปี 2554 ชุดปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินออกให้บริการกว่า 60,682 ครั้ง   ล่าสุด ในเหตุการณ์อุทกภัย ดินโคลนถล่มในภาคใต้ช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา ออกปฏิบัติการทางน้ำช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินทางน้ำได้กว่า 60 ราย และการปฏิบัติการทางอากาศ 24 เที่ยวบิน ช่วยผู้ป่วยได้ 28 ราย  ซึ่งสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ จะมุ่งเน้นพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินให้ครบวงจรทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศเพิ่มมากขึ้น  มี การฝึกอบรมบุคลากรอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในเขตภาคใต้มีบุคลากรที่ผ่านการฝึกอบรมเวชศาสตร์การบินแล้วครอบคลุมทั้ง 14 จังหวัด รวม 55 คน โดยเฉพาะในจังหวัดสุราษฎร์ธานี และปัตตานี ถือเป็นศูนย์กลางการปฏิบัติการทางอากาศยานในเขตพื้นที่ภาคใต้
       
       ตามบันทึกความร่วมมือครั้งนี้  กระทรวง สาธารณสุข ทำหน้าที่จัดตั้งและพัฒนาระบบบริการด้านการแพทย์ฉุกเฉิน การส่งต่อผู้ป่วย ในเขตพื้นที่ใน 14 จังหวัดภาคใต้ ครบวงจรทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งภาวะปกติ และภาวะวิกฤติฉุกเฉิน สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทำหน้าที่จัดสรรงบประมาณ สนับสนุนหน่วยงานต่างๆ ให้ผู้ป่วยได้รับบริการตามสิทธิตามกฎหมาย  สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ทำหน้าที่จัดสรรงบประมาณ  เพื่อ อุดหนุนการปฏิบัติการของชุดปฏิบัติการหน่วยกู้ชีพรวมถึงประสานงานติดต่อกับ หน่วยงานต่างๆ เพื่อให้การปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ 
       
       ส่วนกองทัพเรือ สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย   สายการบินบางกอกแอร์เวย์  และกองบังคับการตำรวจน้ำ ทำหน้าที่ ส่งเสริม สนับสนุนและอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติการรักษาพยาบาลของหน่วยแพทย์กู้ชีพ  เช่น สนับสนุนเรือ  เครื่องบิน เพื่อลำเลียงผู้ป่วยฉุกเฉินไปยังโรงพยาบาลต่างๆทั่วประเทศ 

ASTVผู้จัดการออนไลน์    16 มิถุนายน 2554