My Community

หมวดหมู่ทั่วไป => ข่าวเกี่ยวกับวงการแพทย์ => ข้อความที่เริ่มโดย: story ที่ 19 พฤษภาคม 2011, 21:53:39

หัวข้อ: การขาดแคลนแพทย์ในกระทรวงสาธารณสุข
เริ่มหัวข้อโดย: story ที่ 19 พฤษภาคม 2011, 21:53:39
   ปัญหาการขาดแคลนแพทย์ในกระทรวงสาธารณสุขนั้นมีมานานหลายสิบปีแล้ว  โดยเฉพาะในช่วงปีพ.ศ. 2500 เป็นต้นไป ที่แพทย์ที่เรียนจบใหม่ๆ ได้พากันอพยพไปเรียนต่อแพทย์เฉพาะทางในประเทศสหรัฐอเมริกา ประกอบกับเป็นช่วงสงครามเวียดนาม ที่คนหนุ่มๆในสหรัฐถูกเกณฑ์ไปเป็นทหารมาก รวมทั้งแพทย์เองก็ถูกเกณฑ์ไปรักษาทหารในสงครามด้วย ทำให้ขาดแคลนหมอหนุ่มสาว ที่จะไปเป็น แพทย์ประจำบ้าน และยังขาดแคลนแพทย์ที่จะดูแลรักษาประชาชนในสหรัฐ ทำให้สหรัฐเองต้องเปิดรับแพทย์จากต่างชาติไปฝึกอบรมเป็นแพทย์ประจำบ้านเป็นจำนวนมาก และเมื่อฝึกอบรมสำเร็จเป็นผู้เชี่ยวชาญแล้ว แพทย์เหล่านี้ก็หางานทำต่อไปได้ง่าย และมีแพทย์ต่างชาติประจำทำงานในสหรัฐเป็นจำนวนมากด้วย

  แพทย์ไทยก็เช่นเดียวกัน มีข่าวในบางปีว่า แพทย์ไทยซื้อตั๋วเครื่องบินเหมาลำไปสหรัฐ การที่แพทย์พากันไปฝึกอบรมและทำงานในสหรัฐมากๆนั้น ทำให้เกิดความขาดแคลนแพทย์ที่จะดูแลรักษาประชาชนในประเทศไทย  และจนบัดนี้แพทย์ไทยหลายๆคนก็ยังทำงานและอาศัยอยู่ในสหรัฐ  และได้รับสัญชาติเป็นพลเมืองสหรัฐ และมีลูกหลานที่เป็นพลเมืองอเมริกันโดยกำเนิด และก็คงจะเป็นพลเมืองอเมริกันอย่างถาวรต่อไป

 อันที่จริงแล้ว คนไทยที่มีอาชีพอื่นๆ ก็ไปเรียนหนังสือ และทำงานในสหรัฐอีกหลากหลายอาชีพ รวมทั้งพยาบาล วิศวกร นักวิทยาศาสตร์และอื่นๆอีกมากมาย

   แต่ดูเหมือนว่า การที่แพทย์และพยาบาลไปอยู่ต่างประเทศนั้น ได้ทำให้เกิดผลกระทบโดยตรงต่อการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขในประเทศไทย จนทำให้องค์กรวิชาชีพแพทย์ได้คิดวิธีการแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรแพทย์ โดยการจัดให้มีการฝึกอบรมผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชาแพทย์ต่างๆ ซึ่งเมื่อก่อนนี้ยังไม่มีหลักสูตรการฝึกอบรมและการสอบวุฒิบัตรอย่างเป็นทางการ โดยแพทยสภาได้เริ่มเปิดรับแพทย์มาเข้าหลักสูตรการฝึกอบรมรุ่นแรกในปีพ.ศ. 2512 เพื่อให้แพทย์ไทยมีทางเลือกที่จะได้รับการฝึกอบรมเป็นผู้เชี่ยวชาญในประเทศไทย ไม่ต้องไปฝึกอบรมในต่างประเทศ เพื่อจะได้ยังคงทำงานดูแลรักษาประชาชนในประเทศไทยต่อไป

  ในขณะที่กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบในการจัดการบริการสาธารณะด้านสาธารณสุข ก็ได้หาทางที่จะแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ โดยได้ออกระเบียบให้ผู้ที่จะเข้าเป็นนักศึกษาแพทย์ ต้องทำสัญญาล่วงหน้าว่า เมื่อเรียนสำเร็จแล้ว จะต้องไปทำงานชดใช้ทุน 3 ปี ในสถานที่ที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดไว้ และถ้าใครไม่ไปทำงานตามสัญญาก็จะต้องชดใช้ทุนเป็นเงิน 3 เท่าของเงินบำรุงการศึกษา  ซึ่งรัฐบาลได้ขึ้นราคาค่าบำรุงการศึกษาของแพทย์ศาสตร์เพิ่มขึ้นจากเดิมเป็นปีละ 10,000 บาท โดยคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติการดำเนินการนี้ตามข้อเสนอของกระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่ วันที่ 14 มีนาคม 2510 โดยกำหนดให้ผู้ที่จะรับทุนการศึกษามีจำนวนร้อยละ 75 และผู้(เลือกจะ)ไม่รับทุนการศึกษามีเพียงร้อยละ 25 โดยให้เรียกเก็บค่าบำรุงการศึกษาตั้งแต่ปี 3 ขึ้นไป

   ต่อมาในในวันที่ 8 ธันวาคม 2513 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้เลิกเก็บเงินบำรุงการศึกษาในอัตราปีละ 10,000 บาทนี้  แต่ได้ออกระเบียบใหม่ว่า ตั้งแต่ปีการศึกษา 2514เป็นต้นไป นักศึกษาแพทย์ทุกคนจะต้องทำสัญญาเป็นข้อผูกพันว่า เมื่อสำเร็จการศึกษาเป็นแพทยศาสตร์บัณฑิตแล้ว จะต้องทำงานให้แก่ราชการเป็นเวลา 3 ปี  โดยกำหนดว่าถ้าไม่ทำตามสัญญานี้ ก็ให้ชดใช้เงินคืนเป็นจำนวนเงิน 200,000 บาท ซึ่งต่อมาในปีพ.ศ. 2546 ได้เพิ่มเงินค่าปรับเป็น 400,000 บาท

  และในยุคที่นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ เป็นปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้มีความพยายามที่จะเสนอขอขึ้นค่าปรับชดใช้ทุนเป็น 1,200,000 บาท แต่ได้รับการคัดค้านจากบุคลากรแพทย์ว่า การบังคับให้นักศึกษาแพทย์ทำสัญญานั้น เป็นการทำสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ไม่สมควรจะเพิ่มค่าปรับอีก ข้อเสนอเพิ่มค่าปรับจึงได้ตกไป

     หลังจากการบังคับให้นักศึกษาแพทย์ต้องทำสัญญาชดใช้ทุนแล้ว ต่อมากระทรวงสาธารณสุขก็ได้ออกระเบียบให้นักศึกษาวิชาทางการแพทย์อื่นๆ เช่นทันตแพทย์ พยาบาล เภสัชกร ฯลฯ ทำสัญญาชดใช้ทุนเช่นเดียวกับนักศึกษาแพทย์เช่นเดียวกัน

  ในขณะเดียวกัน กระทรวงสาธารณสุขได้พัฒนาสถานีอนามัยประจำอำเภอ ให้เป็นโรงพยาบาลประจำอำเภอ และเปลี่ยนมาเรียกว่า โรงพยาบาลชุมชน และแพทย์ที่สำเร็จการศึกษาใหม่นี้ ก็จะถูกส่งไปประจำตามโรงพยาบาลชุมชนเหล่านี้ ซึ่งบางแห่งก็จะเป็นแพทย์เพียงคนเดียวในโรงพยาบาล แพทย์ที่จบการศึกษาใหม่ๆที่ขาดประสบการณ์จริงในการรักษาผู้ป่วย อาจจะเกิดความเครียด และประสบปัญหาในการดูแลรักษาผู้ป่วย โดยไม่มีแพทย์อาวุโสเป็นที่ปรึกษา และประชาชนก็อาจจะเสี่ยงอันตรายจากการทำงานของแพทย์ใหม่ๆเหล่านี้  แพทยสภาจึงต้องขอให้กระทรวงสาธารณสุข จัดให้แพทย์เหล่านี้ ต้องผ่านการเพิ่มพูนทักษะในโรงพยาบาลประจำจังหวัด ก่อน 1 ปี จึงค่อยส่งไปประจำในโรงพยาบาลชุมชน โดยแพทยสภาได้กำหนดเกณฑ์มาตรฐานของโรงพยาบาลที่ใช้เป็นสถานที่เพิ่มพูนทักษะ สำหรับแพทย์จบใหม่ เพื่อจะได้มีประสบการณ์ในการรักษาผู้ป่วยภายใต้การดูแลแนะนำ และให้การปรึกษาของแพทย์อาวุโส เพื่อให้มีประสบการณ์ในการแก้ปัญหาสุขภาพของผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสมตามมาตรฐานทางการแพทย์

  แต่กระทรวงสาธารณสุขก็ขอต่อรองว่า โรงพยาบาลชุมชนขาดแคลนแพทย์มาก จึงขอให้แพทย์จบใหม่ผ่านการเพิ่มพูนทักษะเพียง 8 เดือนแทนที่จะเป็น 1 ปี และการหมุนเวียนแพทย์จบใหม่ของกระทรวงสาธารณสุขก็ทำให้แพทย์บางคน ยังไม่ได้เข้าโครงการเพิ่มพูนทักษะก่อน  แต่ต้องไปทำงานในโรงพยาบาลชุมชนตั้งแต่เดือนแรกที่เริ่มเข้าทำงาน

   ถึงแม้ว่ากระทรวงสาธารณสุขจะใช้อำนาจในการบังคับแพทย์ ให้อยู่ทำงานในกระทรวงสาธารณสุขมายาวนานถึง 44 ปีแล้ว แต่กระทรวงสาธารณสุขก็ยังมีแพทย์ไม่เพียงพอที่จะทำงานในการตรวจรักษาประชาชนได้อย่างมีคุณภาพมาตรฐาน เนื่องจากแพทย์ก็ยังลาออกจาการทำงานในกระทรวงสาธารณสุขอย่างต่อเนื่อง มีผลให้จำนวนแพทย์ในกระทรวงสาธารณสุขไม่เพิ่มขึ้นมากนัก ทั้งนี้เห็นได้จากงานวิจัยของพญ.ฉันทนา ผดุงทศ และคณะ (1)ที่รายงานว่า แพทย์ในกระทรวงสาธารณสุขต้องทำงานสัปดาห์ละ 90-120 ชั่วโมง และใช้เวลาในการตรวจรักษาผู้ป่วยนอกเพียงคนละ 2-4 นาที เท่านั้น ซึ่งข้อมูลนี้ สอดคล้องกับข้อมูลของศ.ศุภชัย ยาวะประภาษ และคณะ (2)ที่ไปเก็บข้อมูลจากโรงพยาบาลหลายๆระดับในจังหวัดเชียงใหม่(2) ที่พบว่าแพทย์มีเวลาตรวจร่างกายและสั่งการรักษาผู้ป่วยคนละ 2-4 นาทีเช่นเดียวกัน

      จึงเห็นได้อย่างชัดเจนว่า กระทรวงสาธารณสุขประสบความล้มเหลวในการสร้างแรงจูงใจให้แพทย์อยากทำงานในกระทรวงสาธารณสุข ทั้งๆที่ได้ออกระเบียบบังคับนักศึกษาแพทย์ให้ทำสัญญาชดใช้ทุนมาถึง 44 ปีมาแล้ว แต่กระทรวงสาธารณสุขยังไม่ประสบความสำเร็จในการ “รักษาแพทย์ไว้ให้ยังคงอยู่ทำงานดูแลรักษาประชาชน ในกระทรวงสาธารณสุข” เพราะถึงแม้ว่าจะมีการขยายการเรียนการสอนแพทยศาสตร์ไปจนมีโรงเรียนแพทย์เกือบ 20 แห่ง จากเดิมที่มีเพียง 4-5 แห่ง มีจำนวนนักศึกษาแพทย์ที่สำเร็จการศึกษาปีละเกือบ 2,000 คนแล้ว  และแพทย์ส่วนมากถูกจัดสรรให้ไปใช้ทุนในโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข แต่ก็ยังมีแพทย์ที่ทำงานราชการในโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขไม่เพียงพอต่อการให้บริการแก่ประชาชนอยู่เช่นเดิม

    แล้วแพทย์ที่มีอยู่มากขึ้นทุกๆปีจากการสำเร็จการศึกษามาจากโรงเรียนแพทย์นั้น หายไปอยู่ที่ไหนหมด? จากสถิติของสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ (3)กระทรวงสาธารณสุขพบว่า ในปีพ.ศ. 2547 มีแพทย์ไทยทั้งสิ้น 18,918 คน เป็นแพทย์ในราชการ 15,324 คน(81%) เอกชน 3,594 คน(19%) โดยแพทย์ในราชการนั้น อยู่ในกระทรวงสาธารณสุข 9,375 คน (49.5%)อยู่ในราชการอื่น 5,949 คน (31.5%) และอยู่ในภาคเอกชน 3,595 คน(19%)

  ส่วนในปีพ.ศ.2551 นั้น มีแพทย์ทั้งหมด 30,000 คน อยู่ในส่วนราชการ 22,000(73%) คน อยู่ในกระทรวงสาธารณสุข 11,000 คน (36.5%) อยู่ในราชการอื่น 11,000 คน(36.5%) อยู่ในเอกชน 5,000 คน(17%) และเกษียณอายุราชการ 3,000 คน(10%)(3)
 
จะเห็นได้ว่า แพทย์ที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นนั้น  มีแพทย์ในภาคราชการเพิ่มมากขึ้น แต่ไปเพิ่มในภาคราชการอื่นมากกว่าในราชการกระทรวงสาธารณสุข ส่วนแพทย์ในภาคเอกชนก็ไม่ได้เพิ่มในอัตราส่วนที่มากกว่าในกระทรวงสาธารณสุขอย่างชัดเจนนัก ซึ่งแพทย์ที่ทำงานนอกกระทรวงสาธารณสุขก็คือ อาจารย์ในโรงเรียนแพทย์ต่างๆ ข้าราชการในกระทรวงอื่นๆ เทศบาลต่างๆ และองค์กรอื่นๆ

   สำหรับปีพ.ศ. 2554 นั้น มีแพทย์สำเร็จการศึกษาใหม่ 1,838 คน ถูกบรรจุเข้าทำงานในกระทรวงสาธารณสุข 1,517 คน และบางคนก็ถูกส่งไปอยู่ประจำที่โรงพยาบาลชุมชนตั้งแต่เดือนแรก โดยที่ยังไม่ผ่านการเพิ่มพูนทักษะ เนื่องจากโรงพยาบาลชุมชนยังขาดแคลนแพทย์อยู่มาก

  ถ้ามาดูจำนวนแพทย์ที่ลาออกจากกระทรวงสาธารณสุขจะพบว่าในจำนวนแพทย์ที่ลาออกทั้งหมดที่ตอบแบบสอบถาม 850คน ไป(4)ทำงานในโรงพยาบาลเอกชน 469 คน( 55.18%) ไปทำคลินิก 317 คน( 37.29%) เลิกเป็นหมอ 41 คน (4.82%) ไปเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย 23 คน (2.71%)
 พบว่าจำนวนแพทย์ที่ลาออกแต่ละปี ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2544 -2549 มีดังนี้(5)

ปีพ.ศ....จัดสรรใหม่...ลาออก...ลาออกร้อยละ...คงเหลือ
2544......878........269........30.63........609
2545......922........540........58.56........382
2546...1,028........795........77.33........233
2547......995........408........41.01........547
2548...1,177........485........41.09........692
2549...1.148........520........46.16........628
รวม......6,148.....3,017........49.07......3,131

จะเห็นได้ว่า ข้อมูลการลาออกในปีแรกและปีที่2 ของการใช้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีจำนวนแพทย์ลาออกจากราชการเป็นเปอร์เซ็นต์มากที่สุด คือมีจำนวนแพทย์ลาออกถึง58.5% และ77.3% ตามลำดับ

  ส่วนข้อมูลการลาออก ของแพทย์ในปีพ.ศ.2550-2554 ได้ข้อมูลจากกองการเจ้าหน้าที่ ฝ่ายอัตรากำลัง สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขมีดังนี้
พ.ศ....จัดสรรใหม่...ลาออก...ลาออกร้อยละ...คงเหลือ
2550....1181.......511........43.26........670
2551....1070.......257........   24.02.......813
2552....1055.......169........16.02........886
2553....1344.........11..........0.82......1333
2554....1517.........10..........0.66......1507
รวม.......6167.......958.........15.53......5209

จะเห็นได้ว่า แนวโน้มการลาออกของแพทย์ในกระทรวงสาธารณสุขลดลงในปีพ.ศ. 2552 แต่ในปีต่อๆมาจำนวนแพทย์ที่ลาออกลดลงจากเดิมอีก และจำนวนแพทย์ลาออกลดลงมากในช่วงปี พ.ศ. 2553 - 2554  ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขอาจจะต้องไปสำรวจข้อมูลว่า ทำไมแพทย์จึงไม่ลาออกจากระทรวงสาธารณสุข  อาจจะมีสาเหตุจากการเพิ่มค่าตอบแทนเป็นเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดจากเดิมในปีพ.ศ. 2551 หรือไม่ ?ที่เพิ่มแรงจูงใจให้แพทย์ยังคงทำงานอยู่ในกระทรวงสาธารณสุขและไม่ลาออกเป็นจำนวนมากเหมือนเดิม

   ในขณะที่เขียนบทความนี้ ได้สอบถามไปที่กองการเจ้าหน้าที่ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขว่า ณ เวลาปัจจุบันนี้มีแพทย์ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขกี่คน ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ตอบว่ายังไม่มีจำนวนตัวเลขที่แน่นอนว่ามีแพทย์ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขกี่คน

   แต่ถ้าผู้เขียนจะคาดประมาณจำนวนแพทย์จากข้อมูลการบรรจุใหม่ การลาออกและการเกษียณอายุราชการแล้ว ก็น่าจะคาดได้ว่า ปัจจุบันนี้มีจำนวนแพทย์ในกระทรวงสาธารณสุขประมาณ 15,000 คน

   แต่ส่วนหนึ่งของแพทย์ 15,000 คนนี้ ยังมีคนที่กำลังลาไปศึกษาต่อเฉพาะทางในโรงเรียนแพทย์ หรือสถาบันฝึกอบรมแพทย์เฉพาะทาง  ซึ่งพบว่า จำนวนแพทย์ประจำบ้านทั้งหมด ที่สังกัดกระทรวงสาธารณสุขมีจำนวนประมาณ 3,000 คน ทำให้จำนวนแพทย์ของกระทรวงสาธารณสุขที่ทำงานจริงนั้น น้อยกว่าจำนวนตัวเลขแพทย์ที่บันทึกไว้ว่าสังกัดกระทรวงสาธารณสุข นอกจากนั้น ยังมีแพทย์ที่ทำหน้าที่บริหาร โดยไม่ได้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมอีกประมาณไม่ต่ำกว่า 2,000 คน จึงทำให้จำนวนแพทย์ที่ทำงานในกระทรวงสาธารณสุขมีประมาณไม่เกิน 10,000 คน

   การมีแพทย์เพียง 10,000 คนแต่ต้องรับภาระรักษาผู้ป่วยเป็นจำนวนมาก และจำนวนผู้ป่วยก็เพิ่มขึ้นทุกๆปีนี้ ก็เป็นสาเหตุสำคัญอันหนึ่ง ที่ซ้ำเติมปัญหาการขาดแคลนแพทย์ให้มากขึ้น เนื่องจากจำนวนผู้ป่วยเพิ่มในอัตราที่มากกว่า การเพิ่มจำนวนแพทย์ ทั้งนี้เนื่องจากระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีเงินงบประมาณในการรักษาผู้ป่วยเพิ่มขึ้นทุกปี รวมทั้งมีการโฆษณาประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนมารับบริการ “รักษาโรค” อยู่ตลอดเวลา แต่กระทรวงสาธารณสุขไม่ได้รับงบประมาณในการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ไม่ได้รับงบประมาณในการจัดซื้อวัคซีนป้องกันโรค ต้องรอขอส่วนแบ่งมาจากสปสช.  นอกจากนี้กระทรวงสาธารณสุขยังไม่มีงบประมาณในการให้ความรู้แก่ประชาชนในการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค เพราะงบประมาณส่วนนี้ ก็ถูกส่งไปที่สสส. รวมทั้งงบประมาณการป้องกันอุบัติเหตุจากการจราจร ก็ไปอยู่ที่หน่วยงานอื่น ซึ่งไม่สามารถป้องกันอุบัติเหตุการจราจรให้ลดน้อยลงได้เลย

  สาเหตุต่างๆดังกล่าวมานี้ ทำให้ปัญหาการเจ็บ (จากอุบัติเหตุ)ป่วย(จากโรคภัยต่างๆ) มีมากขึ้น ส่วนประชาชนก็ไม่ต้องรับผิดชอบดูแลรักษาสุขภาพของตนเอง มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขคอยกระตุ้นเตือน (บนป้ายโฆษณาทั่วประเทศ)ว่าให้ถือบัตรประชาชนใบเดียวไปรักษาฟรีได้ทุกโรงพยาบาลทั่วประเทศ จนมีผู้ป่วยล้นโรงพยาบาล ในขณะที่จำนวนแพทย์ก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างสมดุลกัน

  นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขยังได้ดำเนินการ “เปลี่ยนชื่อ” สถานีอนามัยประจำตำบล ให้กลายเป็น “โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล”

 แต่การตั้งชื่อ  “โรงพยาบาล”อาจจะทำให้ประชาชนเข้าใจผิดและคาดหวังว่าจะไปรับบริการในการรักษาโรคเพิ่มขึ้น และอาจทำให้เจ้าหน้าที่ประจำโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเข้าใจผิดว่า จะต้องทำการ “รักษาผู้ป่วย” มากกว่าที่จะทำหน้าที่ส่งเสริมสุขภาพ เพราะในปัจจุบัน เจ้าหน้าที่ในสถานีอนามัย ก็มักจะต้องทำหน้าที่ในการรักษาผู้ป่วยเป็นเบื้องต้นอยู่แล้ว

   ถ้าเพียงแต่เปลี่ยนป้าย เปลี่ยนชื่อมาเป็นโรงพยาบาล  ก็คงจะต้องเพิ่มภาระงานในการรักษาผู้ป่วยมากขึ้น ตามความคาดหวังของประชาชน  แต่จะมีแพทย์ไปประจำทำการรักษาในโรงพยาบาลเหล่านี้ได้เมื่อไร? ในขณะที่แพทย์ในโรงพยาบาลอื่นๆก็มีไม่เพียงพออยู่แล้ว

  ถ้าไม่มีแพทย์ไปประจำทำงานในโรงพยาบาลตำบลเหล่านี้  แล้วแต่งตั้งให้พยาบาลเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลตำบล เมื่อพยาบาลต้องไปรักษาผู้ป่วย แล้วถูกร้องเรียนว่าเกิดความเสียหายขึ้นมา กระทรวงสาธารณสุขจะรับผิดชอบอย่างไร? จะออกพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขอีกหรือไม่? หรือปล่อยให้งานแก้ไขเยียวยาความผิดพลาดเสียหายไปเข้าสู่การพิจารณาของสภาพยาบาลแทน

  แล้วเมื่อไรจึงจะแก้ปัญหาการขาดแคลนแพทย์ในกระทรวงสาธารณสุขให้หมดไป? เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวกและปลอดภัยจากการรับบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขอย่างทั่วถึง จากระดับโรงพยาบาลตำบล ไปจนถึงโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ทั่วประเทศ

พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา
ประธานสผพท.
14 พ.ค. 54

 เอกสารอ้างอิง
1.ฉันทนา ผดุงทศและคณะ ชั่วโมงการทำงานของแพทย์ในโรงพยาบาลกระทรวงสาธารณสุข. วารสารวิชาการสาธารณสุข 2550; 16:493-502
2.ศุภชัย ยาวะประภาษและคณะ รายงานการเก็บข้อมูลการทำงานของแพทย์ จากรายงานการประชุมคณะกรรมการกพ.
3.เชิดชู อริยศรีวัฒนา การสรุปผลการสัมมนาเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนแพทย์ของกระทรวงสาธารณสุข วารสารวงการแพทย์ 2551; 10 (277) : 29
4. การสำรวจปัญหาแพทย์ลาออก โดยแพทยสภา
5.อดุลย์ วิริยเวชกุล แพทย์ไทยลาออก”สนองเมดิคัลฮับ”. บทบรรณาธิการ วารสารวงการแพทย์ 2551; 265-266
หัวข้อ: Re: การขาดแคลนแพทย์ในกระทรวงสาธารณสุข
เริ่มหัวข้อโดย: Celestemui ที่ 18 กันยายน 2015, 13:49:51
ผมมองว่าเป็นงานที่หนักนะ เวลาพักผ่อนก็ไม่ปกติซักเท่าไหร่พอจบมาต้องใช้ทุนอีกซึ่งมองว่าทำให้คนเหล่านี้รู้สึกอยู่กับที่โดนไม่ชอบใจเท่าไหร่ พอมีโอกาสก็พร้อมที่จะออกบินเลย
หัวข้อ: Re: การขาดแคลนแพทย์ในกระทรวงสาธารณสุข
เริ่มหัวข้อโดย: sereynut ที่ 22 กันยายน 2015, 10:19:57
 :o :o :o :o
คาสิโนออนไลน์ ในรูปแบบใหม่ล่าสุดจาก ปอยเปต คาสิโน รีสอร์ท ได้ที่นี่ royal1688 (https://www.royal-1688.net)