My Community

หมวดหมู่ทั่วไป => ข่าวเกี่ยวกับวงการแพทย์ => ข้อความที่เริ่มโดย: story ที่ 16 มีนาคม 2011, 00:56:42

หัวข้อ: ผ่ากลยุทธ์ 'นพ.ปราเสริฐ-รพ.กรุงเทพ'
เริ่มหัวข้อโดย: story ที่ 16 มีนาคม 2011, 00:56:42
เกมรุกครั้งล่าสุด เครือรพ.กรุงเทพ เก็บหุ้นรพ.บำรุงราษฎร์ เกมนี้เพิ่งเริ่มต้น จับตาเหยี่ยวธุรกิจผู้มีสายตายาวไกล นพ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ

นับจากนี้เครือ รพ.กรุงเทพ จะเป็นทองแผ่นเดียวกันกับ รพ.บำรุงราษฎร์ หรือจะอยู่ร่วมกันอย่างหวาดระแวง เป็นความเงียบงันที่ต่างฝ่ายต่างไว้เชิงซึ่งกันและกัน

"ไม่ได้ดอดเข้าซื้อ...แต่ซื้อตรงๆ และไม่เคยคิดเทคโอเวอร์แบบไม่เป็นมิตร ในชีวิตไม่เคยทำ" นพ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ (BGH) กล่าว หลังจากมีข่าวรพ.กรุงเทพ "แอบ" เข้าซื้อหุ้น บมจ.โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ (BH) สัดส่วน 11.11% แบบที่อีกฝ่ายไม่ทันตั้งตัว

หมอเสริฐ วัย 77 ปี ผ่านร้อนผ่านหนาวมาอย่างโชกโชนยังเก็บงำการเดินแผนธุรกิจอย่างลุ่มลึก เขาไม่ยอมคลายคำตอบว่าจะซื้อหุ้นบำรุงราษฎร์เพิ่มอีกหรือไม่ แต่ยืนยันเจตนาว่าต้องการเป็น "พันธมิตร" กับบำรุงราษฎร์ ทั้งที่ก่อนหน้านั้นได้มีการหารือกับผู้ถือหุ้นใหญ่บำรุงราษฎร์ (ตระกูลโสภณพนิช) มาระยะหนึ่งแล้วแต่ยังไม่ทันได้ข้อสรุป..หมอเสริฐก็ชิงลงมือแบบสายฟ้าแลบ

พฤติกรรมหลายครั้งบ่งชี้ว่านักธุรกิจวัยชรารายนี้ ไม่เพียงเป็นเหยี่ยวธุรกิจที่กัดไม่ปล่อยและรอคอยที่จะโฉบเหยื่ออย่างใจเย็น นพ.ปราเสริฐยังเป็นนักวางกลยุทธ์ที่หาตัวจับยาก เช่นกรณีก่อนจะเข้าไป "ฮุบ" เครือโรงพยาบาลพญาไท (PYT) และเครือโรงพยาบาลเปาโล เมโมเรียลของ ทนายวิชัย ทองแตง รพ.กรุงเทพใช้วิธีทยอยเข้าสะสมหุ้น PYT ไว้ก่อน 19.47% ก่อนจะจบดีลที่การเทคโอเวอร์แบบเป็นมิตร

หมอเสริฐยังใช้วิธีทยอยเก็บหุ้น RAM แบบใจเย็นจนกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่โรงพยาบาลรามคำแหงสัดส่วน 38.24% แต่ทว่าในแง่การบริหาร นพ.เอื้อชาติ กาญจนพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการ โรงพยาบาลรามคำแหง ก็ "ตีกันสุดฤทธิ์" ไม่ให้คุณหมอนักล่ารายนี้แผ่ขยายอิทธิพลเข้ามาภายในโรงพยาบาล ขณะเดียวกันโรงพยาบาลรามคำแหงก็ไปประสานความร่วมมือกับ "เสี่ยอ้วน" ชัยสิทธิ์ วิริยะเมตตากุล ผู้บริหารเครือโรงพยาบาลวิภาวดี (VIBHA) สร้างแนวป้องกันตัวเอง

ทั้ง RAM และ VIBHA ต่างมีคู่แข่งรายเดียวกันคือรพ.กรุงเทพ ซึ่งไม่ใช่คู่แข่งทางภูมิศาสตร์โดยตรงแต่เป็นคู่แข่งเชิงกลยุทธ์มากกว่า ในวงการแพทย์รู้กันดีว่าการรุกคืบของรพ.กรุงเทพ เพื่อจ้องฮุบโรงพยาบาลรามคำแหงเป็น Hostile Takeover ที่อีกฝ่ายไม่ค่อยแฮปปี้..แต่ไม่พูด

ที่ผ่านมาเริ่มเห็นการเคลื่อนไหวรวมตัวกันเป็นเครือข่ายมีแกนนำได้แก่  รพ.วิภาวดี (VIBHA) รพ.รามคำแหง (RAM) รพ.เชียงใหม่ลานนา (CMR) รพ.สินแพทย์ และรพ.วิภาราม เป็นต้น ขณะที่รพ.ศิครินทร์ ก็เปิดทางให้ตระกูลมาลีนนท์ เข้ามาลงทุนมากขึ้น

ช่วงหลายปีที่ผ่านมานพ.ปราเสริฐเดิมเกมรุกรวบรวมธุรกิจโรงพยาบาลไว้ใน อุ้งมือ นับตั้งแต่การเข้าเทคโอเวอร์โรงพยาบาลสมิติเวช สัดส่วน 95.76% เข้าซื้อโรงพยาบาลบีเอ็นเอช  91.42% รวมถึงทยอยเข้าเก็บหุ้นโรงพยาบาลกรุงธน (KDH) สัดส่วน 20.20% ผ่าน บล.เอเซีย พลัส เมื่อกลางปี 2553 ที่ผ่านมา หมอเสริฐยังเข้าถือหุ้นโรงพยาบาลนนทเวช (NTV) ในนามส่วนตัว 0.79% ซึ่งอาจเป็นเป้าหมายต่อไปเช่นกัน

"เมื่อมีจังหวะที่หุ้นราคาถูกจึงได้เข้าไปลงทุน (BH) ส่วนในอนาคตจะเป็นอย่างไรและจะมีแนวทางการควบรวมกิจการหรือไม่นั้น ขั้นแรกคงต้องรอให้การรับโอนกิจการจาก บมจ.เฮลท์ เน็ตเวิร์ค (เครือพญาไท-เปาโล) แล้วเสร็จก่อน เพื่อทำให้อันดับเครดิตดีและขอให้บริษัทมีฐานะมั่นคงก่อน" หมอเสริฐ กล่าว

สำหรับดีลการเข้าซื้อหุ้นบำรุงราษฎร์ คุณหมอนักเทคโอเวอร์ กล่าวว่า ได้แรงบันดาลใจมาจาก กองทุนเทมาเส็ก ของสิงคโปร์ ที่ขายหุ้นออกมาในราคา 29 บาท เป็นจุดที่น่าสนใจแต่รพ.กรุงเทพ ซื้อในราคาแพงกว่านิดหน่อย แต่ยังถือว่า "ถูก" หากขายหุ้น (BH) ตอนนี้ก็ยังมีกำไร และช่วงที่เข้าไปซื้อเป็นช่วงที่ต่างประเทศทิ้งหุ้นออกมามากเมื่อเห็นหุ้น ถูกก็ซื้อไว้

วัตถุประสงค์ของ รพ.กรุงเทพ ต้องการ "กินรวบ" ทุกตลาดไว้ทั้งหมด ปัจจุบันคุม "ตลาดบน" ไว้ส่วนใหญ่ แผนเข้าเทคโอเวอร์เครือรพ.เปาโล เมโมเรียลและรพ.พญาไท เพื่อขยายตลาดคนไข้ระดับ "กลาง-ล่าง" มากขึ้นโดยแผนขั้นต่อไปจะมีการเปิดคลินิกในต่างจังหวัดรุกหนักขึ้น

หมอเสริฐยืนยันว่า เครือรพ.กรุงเทพ ไม่มีนโยบายปรับขึ้นค่าบริการรักษาพยาบาล แต่มีเป้าหมายที่จะ "ลดค่าบริการมากกว่า" การที่ขนาดบริษัทใหญ่ขึ้นทำให้มีต้นทุนที่ถูกลงน่าจะทำให้สามารถลดค่าบริการ ลงได้ โดยอาจมีการกำหนดค่าบริการเป็นแพ็คเกจ  สำหรับความคืบหน้าการควบรวมกิจการกับเครือรพ.พญาไท-เปาโล คาดว่าจะแล้วเสร็จในกลางเดือนเมษายนนี้ ในเชิงรายได้และกำไรสุทธิจะเพิ่มขึ้นประมาณ 20%

การเดินเกมธุรกิจของคุณหมอวัยไม้ใกล้ฝั่งรายนี้ กำลังทำให้เครือรพ.กรุงเทพ "หนีคู่แข่ง" ไปพร้อมๆ กับ "ไล่กิน" คู่แข่งไปเรื่อยๆ ปฏิเสธไม่ได้ว่าวิธีการไล่ซื้อโรงพยาบาลอื่นยิ่งทำให้รพ.กรุงเทพ เข้มแข็งทั้งใน "แนวลึก" ลดต้นทุน และ "แนวกว้าง" ขยายฐานลูกค้ากลุ่มใหม่

คู่แข่งของหมอเสริฐไม่ได้กลัวกลยุทธ์ "ขึ้นราคา" แต่กลัวกลยุทธ์ "ลดราคา" ต่างหาก ในเกมธุรกิจถ้าใครกุมตลาดส่วนใหญ่ไว้ได้แล้วใช้กลยุทธ์ลดราคา คู่แข่งที่เหลือจะถูกบีบเข้ามุมและยอมจำนน (ขายกิจการ) ในที่สุด

มีข่าวเล็ดลอดว่าผู้ถือหุ้นใหญ่รพ.บำรุงราษฎร์ค่อนข้าง “ไม่พอใจ” กับวิธีการเก็บหุ้นที่ไม่บอกกล่าวกันก่อน ปัจจุบันรพ.บำรุงราษฎร์กำลัง "ถูกบีบ" ในเชิงภูมิศาสตร์และเชิงกลยุทธ์ทั้ง “ไม้นวม-ไม้แข็ง” เป็นความเงียบงันที่ต่างฝ่ายต่างไว้เชิงซึ่งกันและกันว่า "ข้าก็เหนือ" บนความ "หวาดระแวง" ที่อีกฝ่ายเก็บอาวุธไว้ใต้โต๊ะเจรจา

หมอเสริฐพยายามสื่อว่าไม่เคยคิดเทคโอเวอร์แบบไม่เป็นมิตร กรณีเข้าซื้อหุ้นบำรุงราษฎร์ เป็นเพียงแค่การลงทุน เท่านั้น และซื้ออย่างเปิดเผยไม่ได้ "แอบ" หรือ "ดอดซื้อ" ถ้าขายออกไปก็ได้กำไรแล้ว 800 ล้านบาท แต่ไม่คิดจะขายหรือซื้อเพิ่มอีกตอนนี้ พร้อมยืนยันว่าพอเข้าไปซื้อหุ้นเสร็จก็ได้คุยกันอีกครั้งก็ไม่มีปัญหาอะไร กัน ที่ผู้บริหารฝรั่งฝั่งนั้น (บำรุงราษฎร์) ออกมาให้ข่าวก็ไม่ได้ถือสาอะไรเขาอาจจะระแวงไปเอง

“ไม่ว่าใครเราก็คุยกันแบบเพื่อนหมด อนาคตอะไรก็เกิดขึ้นได้ อนาคตใกล้ๆ เรา ไม่มีแผนจะเข้าไปนั่งเป็นกรรมการหรือเทคโอเวอร์บำรุงราษฎร์ เราเป็นโรงพยาบาลระดับเดียวกัน (ระดับบน) สามารถร่วมมือกันได้ในอนาคตการจะควบรวมกันก็เป็นไปได้ทั้งนั้น”

หมอเสริฐวัย 77 ปี ยังบอกด้วยว่าสภาวะแวดล้อมในประเทศไทยไม่ค่อยเอื้อต่อธุรกิจโรงพยาบาลสัก เท่าไรแม้ว่าไทยจะมีศักยภาพดีที่สุดในอาเซียนอีก 3 ปีข้างหน้าแพทย์และพยาบาลจะเดินทางออกนอกประเทศไปทำงานได้อย่างเสรี รวมถึงต่างชาติจะมาไล่เทคโอเวอร์โรงพยาบาลในประเทศไทย ผู้ประกอบการไทยควรต้อง “รวมกลุ่มกัน” ให้แน่นเข้าไว้...หมอเสริฐตีภาพให้ดูน่ากลัว

สำหรับแผนธุรกิจหลังจากควบรวมกับเครือพญาไท-เปาโล เขาบอกว่า เครือรพ.กรุงเทพจะได้ฐานลูกค้ากลุ่มใหม่เป็นกลุ่มคนไข้นอกและคนไข้ประกันสังคม จนถึงลูกค้าระดับบนบางส่วน ในส่วนของรพ.กรุงเทพ รพ.สมิติเวช และรพ.บีเอ็นเอช จะจับตลาดบนและคนไข้ต่างชาติ

นอกจากนี้ยังสามารถลดต้นทุนและเกิดประสิทธิภาพในระบบจัดซื้อยาและ เวชภัณฑ์, ห้องแล็บ, ระบบไอที, ระบบบัญชี และการส่งต่อคนไข้ระหว่างกัน อนาคตทางกลุ่มจะรับคนไข้กลุ่มข้าราชการเข้ามาอยู่ในพอร์ตด้วย ที่ผ่านมา รพ.พญาไทและเปาโล มีต้นทุนเงินกู้แพงพอมาอยู่กับรพ.กรุงเทพก็ช่วยลดต้นทุนตรงนี้ได้

"มาร์เก็ตแชร์จำนวนเตียงในกลุ่มโรงพยาบาลเอกชนของเครือ รพ.กรุงเทพ จะเพิ่มเป็น 15% จากเดิม 10% และทำให้กลุ่มของเรามีขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดาโรงพยาบาลเอกชนด้วยกัน"

สำหรับเป้าหมายรายได้รวมในปี 2554 ส่วนของ BGH ตั้งเป้าเติบโต 10% เหมือนทุกปี แต่ในส่วนของรพ.พญาไท-เปาโล น่าจะโตได้มากกว่าดูจากแนวโน้มยังโตได้สูงอีกหลายปี ส่วนแผนการลงทุนในต่างประเทศปัจจุบันกลุ่มรพ.กรุงเทพรับจ้างบริหารที่อาบูดาบีและพม่าและมีสาขาที่กัมพูชา ตอนนี้กำลังมองหาโอกาสอยู่เหมือนกันแต่คงเป็นแบบรับจ้างบริหารมากกว่าลงทุนเอง

"ที่ฮ่องกงทางบำรุงราษฎร์เขาอยากไปเราก็จะไม่ไปยุ่ง วงการนี้ผมถือว่าทุกคนคือเพื่อนไม่ใช่คู่แข่ง" นายแพทย์ปราเสริฐ กล่าว...นี่คือวิธีคิดของเหยี่ยวธุรกิจผู้มีสายตายาวไกล "เหยี่ยวเวหา" ผู้สร้างตำนานสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส   

๐ มาร์เก็ตแคป BGH พุ่ง 83,000 ล้านบาท

ดีลควบรวมกิจการระหว่าง บมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ (BGH) กับ บมจ.เฮลท์ เน็ตเวิร์ค (เครือ รพ.พญาไท และเครือรพ.เปาโล เมโมเรียล) ของ ทนายวิชัย ทองแตง จะมีการรับโอนสินทรัพย์ประมาณ 9,825 ล้านบาท โดยชำระด้วยหุ้นเพิ่มทุน BGH จำนวน 230.87 ล้านหุ้น ที่ราคาหุ้นละ 37.75 บาท คิดเป็นมูลค่ารวม 8,715 ล้านบาท และจ่ายเงินสดอีก 680 ล้านบาท

รวมถึงรับโอนหนี้เงินกู้ยืมและดอกเบี้ยค้างจ่าย 430 ล้านบาท เพิ่มทุนอีก 4.12 ล้านหุ้น ให้แก่กลุ่มผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของเฮลท์ เน็ตเวิร์ค ในราคาหุ้นละ 37.75 บาท และทำคำเสนอซื้อหุ้นทั้งหมดของ บมจ.ประสิทธิ์พัฒนา (PYT) โดย BGH ต้องออกหุ้นเพิ่มทุน 72.19 ล้านหุ้น แลกในสัดส่วน 10.17 หุ้น PYT ต่อ 1 หุ้น BGH ภายหลังการเพิ่มทุน BGH จะมีทุนเพิ่มจาก 1,246.19 ล้านบาท เป็น 1,553.39 ล้านบาท โดยออกหุ้นใหม่ทั้งหมด 307.19 ล้านหุ้น

นฤมล น้อยอ่ำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน บมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ เปิดเผยว่า ภายหลังการควบรวมกิจการกันแล้วหุ้น BGH จะไดลูทลง 15.9-19.8% ขึ้นอยู่ว่าจะเลือกใช้วิธีชำระด้วยเงินสดทั้งหมดหรือแลกหุ้นบางส่วนของบ มจ.ประสิทธิ์พัฒนา (PTY) แม้ PYT จะมีผลขาดทุนสะสมอยู่แต่จะไม่มีผลกระทบทางบัญชี อีกทั้งถ้ามีกำไรสุทธิก็ไม่ต้องเสียภาษีอีก 1-2 ปีตามกฎหมาย

"เมื่อควบรวมกิจการเข้ามาจะทำให้กำไรต่อหุ้นของเราเพิ่มขึ้นอีก 20% รวมถึงยังมีค่าความนิยมอีก 8,800 ล้านบาท แต่ไม่มีผลในงบกำไรขาดทุนจะรวมอยู่ในงบดุลแทน"

นฤมล กล่าวอีกว่าผลประโยชน์ที่จะได้รับทันทีหลังควบรวมเสร็จไม่เกินเดือนเมษายน คาดว่า EBITDA จะเพิ่มขึ้นทันที 45% โดยในส่วนของรายได้จากส่วนของ บมจ.เฮลท์ เน็ตเวิร์ค สิ้นปีนี้น่าจะเติบโต 40% ผลประโยชน์อื่นๆ ที่จะได้เครือข่ายโรงพยาบาลจะเพิ่มขึ้น 42% จำนวนสาขาเพิ่มจาก 19 แห่งเป็น 27 แห่ง จำนวนเตียงเพิ่มขึ้น 57% จาก 3,127 เตียงเป็น 4,901 เตียง มูลค่าตลาดเพิ่มขึ้นอีก 25% จาก 47,040 ล้านบาทเป็น 58,637 ล้านบาท แต่ถ้าคำนวณจากราคาตลาดหุ้น BGH ในปัจจุบัน (53.50 บาท) มาร์เก็ตแคปจะเพิ่มเป็น 83,101 ล้านบาท

ในแง่มูลค่าตลาดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เครือ รพ.กรุงเทพ จะไต่อันดับมาเป็น "อันดับสอง" รองจากโรงพยาบาลจากประเทศออสเตรเลีย รวมถึงรายได้รวมและกำไรสุทธิก็จะอยู่ใน "อันดับสอง" ด้วยเช่นกัน ส่วนการรับรู้รายได้จากการถือหุ้นบำรุงราษฎร์ (BH) 11.11% จะรับรู้รายได้ในรูปของเงินปันผลเท่านั้น

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
15 มีนาคม 2554