My Community

หมวดหมู่ทั่วไป => ข่าวเกี่ยวกับวงการแพทย์ => ข้อความที่เริ่มโดย: story ที่ 24 มกราคม 2015, 14:05:06

หัวข้อ: วิเคราะห์ปัญหา รพ.ขาดทุน (1) เปิดใจ ‘นพ.สุทัศน์’ ส่งข้อมูลหรือไม่ สปสช.ก็จัดสรร
เริ่มหัวข้อโดย: story ที่ 24 มกราคม 2015, 14:05:06
หลังจากที่ไทยสามารถทำให้ประชาชนทุกคนมีหลักประกันสุขภาพได้อย่างถ้วนหน้าแล้ว ดูเหมือนว่าปัญหาขาดทุนของโรงพยาบาล (รพ.) ในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สป.สธ.) ได้กลายเป็นประเด็นที่มีการถกเถียงกันอย่างต่อเนื่อง การถกเถียงอยู่ใน 2 กลุ่มใหญ่ คือ ฝั่งของ สป.สธ. ในฐานะเจ้าของหน่วยบริการ ที่ระบุว่าสาเหตุสำคัญส่วนหนึ่ง น่าจะมาจากการจัดสรรงบประมาณในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ไม่ว่าจะผลกระทบจากการปรับวิธีจัดสรรงบประมาณที่กระจายตามรายหัวประชากร การบริหารด้วยวิธีแยกกองทุน และการส่งงบประมาณลงไปยังหน่วยบริการโดยตรง รวมถึงปัญหาการบริหารงานของ สปสช.

ขณะที่ฝั่งของ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ในฐานะผู้จัดสรรเงิน ก็ระบุว่า สปสช.มักตกจำเลยว่าเป็นตัวการทำให้ รพ.ขาดทุน เสมอมา แต่คำถามที่ สปสช.ถามกลับคือ การที่รพ.ขาดทุนนั้น มีสาเหตุมาจากการจัดสรรงบหลักประกันสุขภาพเพียงอย่างเดียวเท่านั้น หรืออยู่ที่จำนวนงบประมาณที่ไม่เคยได้ตามที่ขอ การบริหารของ สธ. และการบริหารของผู้บริหาร รพ.

จากปัญหาข้างต้นเหล่านี้ได้นำมาสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงระหว่าง กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โดยเฉพาะในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา รวมถึงเป็นที่มาข้อเสนอการปรับจัดสรรงบเหมาจ่ายขาลงจากทาง สธ. ซึ่งยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ในขณะนี้

สำนักข่าว Health Focus จึงได้จัดทำรายงานพิเศษ วิเคราะห์ปัญหา รพ.ขาดทุน ขึ้น โดยสัมภาษณ์สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ความคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยตอนแรกนี้ จะเริ่มจาก นพ.สุทัศน์ ศรีวิไล ผอ.รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ และประธานชมรมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป (รพศ./รพท.) ผู้ที่ประกาศ งดส่งข้อมูลที่เกี่ยวกับงบเหมาจ่ายรายหัวให้สปสช. จนกว่าจะมีการแก้ไขปัญหาได้

เปิดใจ ‘นพ.สุทัศน์’ ส่งข้อมูลหรือไม่ สปสช.ก็จัดสรรเงินเหมือนเดิม

ความขัดแย้งในระบบสุขภาพ ระหว่างกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ยังคงเป็นประเด็นร้อนที่หลายฝ่ายจับตามองว่า ท้ายที่สุดแล้วปัญหาความไม่ลงตัวในระบบบริหารงาน จะสามารถหาข้อยุติร่วมกันได้อย่างไร โดยไม่กระทบการให้บริการสาธารณสุขต่อประชาชน

นพ.สุทัศน์ ศรีวิไล

สำนักข่าว Health Focus ได้มีโอกาสพูดคุยกับ นพ.สุทัศน์ ศรีวิไล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ และประธานชมรมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป (รพศ./รพท.) ถึงปมขัดแย้งระหว่างโรงพยาบาลสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กับ สปสช.ผู้จัดสรรงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมทั้งเปิดใจถึงเหตุผลในการดำเนินมาตรการงดส่งข้อมูลบริการประชาชนให้ สปสช. ซึ่งตลอด 1-2 เดือนที่ผ่านมา ประเด็นนี้ถูกหยิบยกขึ้นมาวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนาหู ทั้งในแวดวงสุขภาพและประชาชนทั่วไป ซึ่งถือเป็นกลุ่มคนที่อาจจะได้รับผลกระทบโดยตรง หากทั้งสองหน่วยงานไม่สามารถหาข้อยุติร่วมกันได้ในเร็ววัน

 “นโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เป็นนโยบายที่ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพได้มากขึ้น เพราะเมื่อเจ็บป่วยแต่ละครั้งไม่ต้องมานั่งคิดมากว่าจะไม่มีเงินรักษา ที่สำคัญไม่ว่าจะป่วยเป็นโรคอะไร ก็มีหลักประกันคอยช่วยเหลืออย่างแน่นอน ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดีมาก แต่เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนา ทำให้งบประมาณด้านสุขภาพในแต่ละปีที่ได้รับจัดสรรนั้นต่ำมาก ประมาณ 4% ของจีดีพี เมื่อได้เงินมาน้อยแต่ต้องบริหารจัดการให้คุ้มค่ามากที่สุด จึงต้องอาศัยระบบบริหารจัดการงบประมาณที่มีประสิทธิภาพ โดยต้องเปิดโอกาสให้หน่วยบริการได้เข้ามามีส่วนร่วม ไม่ใช่ใช้หลักการทางบัญชีมากำหนดแนวทางให้บริการอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน” นพ.สุทัศน์ ฉายภาพรวมระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยมองว่าแม้ในทางปฏิบัติจะสามารถช่วยให้คนไทยเข้าถึงบริการสาธารณสุขมากขึ้น แต่เพราะข้อจำกัดด้านงบประมาณ ประกอบกับระบบบริหารจัดการที่ไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้เกิดปัญหาความไม่คล่องตัวและกระทบต่อผู้ปฏิบัติงานในหน่วยบริการ

ประธานชมรมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป บอกว่า ปัญหาสำคัญที่ทำให้งบประมาณหลักประกันสุขภาพไม่เพียงพอ เกิดจากในแต่ละปี สปสช.จะรวบรวมผลงานในปีที่ผ่านมาของ สธ.ทั้งหมด เพื่อเสนอของบประมาณต่อสำนักงบประมาณ ซึ่งหากดูตามสถิติการให้บริการจะพบว่า จำนวนผู้เข้ารับบริการนั้นเพิ่มขึ้นทุกปี เฉพาะที่โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคระห์ เพิ่มขึ้น 100% ดังนั้นงบประมาณที่รับจัดสรรก็ควรได้เพิ่มขึ้น แต่เมื่อได้เท่าเดิม สปสช.ก็ไม่ได้รับผิดชอบ บอกแต่เพียงว่าเป็นเพราะข้อจำกัดของงบประมาณแผ่นดิน ที่ผ่านมาโรงพยาบาลหลายแห่งจึงสะท้อนกลับไปว่า หากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ต่อไป อาจทำให้โรงพยาบาลเล็กๆ ซึ่งมีประชากรไม่มาก จะประสบปัญหาขาดทุนอย่างหนัก เพราะงบเหมาจ่ายรายหัวที่ได้รับไม่เพียงพอ ในปีงบประมาณ 2555 โรงพยาบาลเล็กๆ บางแห่ง เมื่อนำเงินเหมาจ่ายรายหัวหักค่าแรงแล้ว เหลือเงินรายหัวเพียง 500 กว่าบาท จึงจำเป็นต้องได้รับงบประมาณด้านอื่นๆ เพิ่มให้ด้วย โดยขอให้ สธ.เป็นผู้ปรับเกลี่ยงบประมาณเอง แต่เม็ดเงินยังคงอยู่ที่ สปสช.ตามเดิม แต่ก็ไม่ยอม

นพ.สุทัศน์ ระบุว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่เพียงการไม่ยอมรับข้อเสนอของหน่วยบริการเพียงเท่านั้น แต่หากดูตัวเลขงบประมาณที่ได้รับจากสำนักงบประมาณในแต่ละปี กับเม็ดเงินที่ สปสช.จัดสรรให้หน่วยบริการนั้น ไม่สอดคล้องกัน ตรงนี้จำเป็นต้องมีการตรวจสอบความโปร่งใสในการบริการจัดการ เพราะในฐานะผู้ให้บริการเมื่อประสบปัญหาเช่นนี้แล้ว ไม่มีความสุขในการให้บริการประชาชนอย่างแน่นอน ตัวอย่างเช่น โรงพยาบาลแห่งหนึ่งมีหมอเฉพาะทางด้านหัวใจที่เก่งมาก แต่ สปสช.กลับมาคอยกำหนดว่า ต้องซื้อยาชนิดนี้ ต้องจ่ายยาชนิดนั้น ซึ่งเป็นไปตามการกำหนดราคาค่ารักษา แต่ว่าหมอคนนี้เรียนมาอีกแบบหนึ่ง และถนัดที่จะรักษาตามที่ได้ร่ำเรียนมา ถามว่าเมื่อเป็นเช่นนี้ผู้ปฏิบัติงานจะมีความสุขได้อย่างไร

“ในความเป็นจริง ในเมื่อ สปสช.ได้รับจัดสรรงบประมาณมาแล้ว ก็ควรโยนงบประมาณไปยังสถานบริการโดยที่ไม่ต้องกำหนดกฎเกณฑ์ในการรักษา ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของโรงพยาบาลเป็นผู้บริหารเงินด้วยตัวเอง เพื่อให้สอดรับกับลักษณะงานและความเหมาะสมในพื้นที่ จากนั้นค่อยมาติดตามประเมินว่าทำอย่างที่ได้คุยกันไว้ไหม มีประสิทธิภาพตามหลักเกณฑ์หรือเปล่า ไม่ใช่มากำหนดว่าจะต้องซื้อนั้น ซื้อนี่ ท้ายที่สุดหากผู้ปฏิบัติงานไม่มีความสุข ทนไม่ไหว ก็ลาออกไปอยู่ที่อื่น เมื่อเป็นเช่นนี้ผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ฐานะยากจน”

นพ.สุทัศน์ บอกต่อไปว่า ประเด็นสำคัญที่ไม่ควรนำเอาหลักการทางบัญชี มากำกับการให้บริการเหมือนกันทั่วทั้งประเทศ เป็นเพราะการเจ็บป่วยในแต่ละพื้นที่นั้นไม่เหมือนกัน ภาคเหนือมีปัญหาสุขภาพแบบหนึ่ง ภาคใต้ก็มีปัญหาอีกแบบหนึ่ง และโดยเฉพาะโรงพยาบาลที่ติดกับชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน หากมีผู้ป่วยซึ่งไม่ใช่คนไทยเข้ามารักษา ทางโรงพยาบาลก็ต้องเป็นผู้ปรับเกลี่ยเงินจากส่วนอื่นๆ มารองรับ เพราะคนกลุ่มนี้ไม่ได้รับงบเหมาจ่ายรายหัวอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเรื่องการบริหารจัดการถือเป็นเรื่องภายใน เป็นหน้าที่ของหน่วยบริการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งที่ผ่านมาเราก็ทำแบบนี้มานานโดยที่ไม่มีปัญหา ถึงแม้เงินที่ให้มาต่อหัวจะน้อยเพราะข้อกำจัดงบประมาณ ข้อจำกัดด้านบุคลากรที่น้อยกว่าความต้องการ ทำให้ สปสช.แม้จะไม่ใช่ผู้รักษาคนไข้ แต่ได้รับรางวัลเยอะแยะมากมายในแต่ละปี

ความเห็นของ นพ.สุทัศน์ ระบุชัดเจนว่า  แนวทางพัฒนาระบบหลักประกันบริการสุขภาพถ้วนหน้านั้น จำเป็นต้องเอาบริการนำไม่ใช่เอาเงินนำ ซึ่ง สธ.ก็ได้ดำเนินการอยู่ ทั้งนี้อย่างที่ได้บอกตั้งแต่ต้นว่าการใช้จ่ายเงินได้คุ้มค่ามากที่สุด เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยระบบพัฒนาขึ้นได้ แต่สุดท้ายหากเงินไม่พอจริงๆ ก็ต้องพึ่งงบประมาณจากทางจังหวัดเข้ามาสมทบ เป็นการแบ่งปันทรัพยากรร่วมกัน ไม่ใช่ต่างคนต่างอยู่ เพราะไม่เพียงทำให้แต่ละคนต้องแบกรับภาระที่หนักเกินไป ยังส่งผลกระทบต่อภาพรวมในการให้บริการด้วย แต่ขณะเดียวกัน สปสช. จำเป็นต้องแสดงความจริงใจ โดยการเปิดเผยและรายงานข้อมูลไม่ว่าจะเป็นการโอนเงินหรือหักเงิน แต่ที่ผ่านมาเวลาขอข้อมูลไป สปสช.ไม่เคยให้ ซึ่งก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าเป็นเพราะเหตุใด อย่างเช่นที่โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ ปีนี้ได้รับหนังสือจาก สปสช.บอกว่าได้เงินทั้งหมด 522 ล้าน แต่ส่งเงินให้จริงๆ เพียง 507 ล้าน

 “คนเราถ้าจะให้เชื่อใจกันมันต้องโปร่งใส ต้องมีการนำข้อมูลมาพูดคุยกันอย่างแฟร์ๆ ทั้งสองฝ่าย ไม่ใช่กับเราอย่างหนึ่งแต่ทำอีกอย่างหนึ่ง การทำแบบนี้เปรียบเสมือนการคุยไปรบไป สุดท้ายก็หาข้อยุติร่วมกันไม่ได้ แต่ไม่เป็นไรเพราะเราทำเพื่อระบบ เราไม่ได้ทำเพื่อส่วนตัว ไม่ได้มีผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะอย่างไรเราก็เป็นข้าราชการของกระทรวงสาธารณสุข ทุกวันนี้ต้องยอมรับว่าการบริการงานที่ผ่านมาของ สปสช.ทำให้ระบบมีปัญหา เราจึงพยายามทำให้ระบบมันเข้มแข็งมากขึ้น แต่สิ่งที่สะท้อนกลับมา กลับมีการพูดว่าเราจะไปล้มระบบของเขา”

นพ.สุทัศน์ บอกอีกว่า จริงๆ แล้วจุดเริ่มต้นปัญหาความขัดแย้ง ระหว่าง สธ.กับ สปสช. เกิดจากปัญหาเชิงระบบ ซึ่งเชื่อมโยงกับการให้บริการผู้ป่วย เนื่องจากคนไข้ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้หน่วยบริการต้องบริหารจัดการ โดยการเพิ่มค่าตอบแทนให้บุคลากรมากขึ้น แต่ สปสช.จัดสรรเงินโดยคิดระบบเอง ไม่สนใจข้อเรียกร้องหรือข้อเสนอจากหน่วยบริการ อีกทั้งยังเอาเงินเหมาจ่ายรายหัวแบ่งไปตั้งกองทุนย่อย หรือสนับสนุนงานวิจัยซึ่งไม่สมควร เพราะเงินที่ได้รับจัดสรรนั้นได้น้อยและไม่เพียงพออยู่แล้วเป็นทุนเดิม เมื่อปัญหาไม่ได้รับการแก้ไขทุกคนก็ทนมาเรื่อยๆ หากทนไม่ได้ก็ลาออกไปอยู่โรงพยาบาลเอกชน ท้ายที่สุดจึงถึงจุดแตกหัก เพราะไม่มีใครทนได้อีกต่อไปแล้ว

ส่วนประเด็นที่หลายคนมองว่า ขณะนี้ชมรมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ลงมายืนต่อสู้เคียงข้าง นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นคู่ขัดแย้งกับ สปสช.นั้น ตรงนี้อยากให้มองว่าเนื่องจาก ปลัด สธ. มีหน้าที่ดูแลหน่วยงานและข้าราชการในสังกัดทั้งระบบ ดังนั้นในเมื่อโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปเดือดร้อน ตามระบบก็ต้องรายงานปัญหาตรงต่อผู้บริหาร เพราะที่ผ่านมาอย่างที่ได้บอกไปตั้งแต่ข้างต้นแล้วว่า การบริหารงานของ สปสช. ซึ่งพยายามรวมอำนาจไว้ที่ตัวเอง ไม่เพียงทำให้โรงพยาบาลทั่วประเทศประสบปัญหาขาดทุน แต่ยังก้าวล่วงการบริหารงานของโรงพยาบาล ทำให้หน่วยบริการไม่อึดอัดไม่คล่องตัว

“ชมรมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ยังคงยืนยันว่าจะไม่ส่งข้อมูลบริการประชาชนให้ สปสช. แต่จะส่งตรงให้สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขเพียงเท่านั้น เพราะที่ผ่านมาไม่ว่าจะส่งข้อมูลไปอย่างไร ก็ได้รับการจัดสรรเงินรูปแบบเดิม โดยเฉพาะปัญหาเงินค้างท่อ ที่ก่อนถึงวันสิ้นงบประมาณ สปสช.จะรีบโอนเงินมายังโรงพยาบาล โดยนำเงินจำนวนนี้ไปหักลบกับงบประมาณใหม่ในปีถัดไป ทำให้โรงพยาบาลได้รับเงินไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย ซึ่งทำให้เกิดความสับสนในระบบบัญชี ดังนั้นไม่ว่าจะส่งข้อมูลไปยัง สปสช.หรือไม่ ระบบจัดสรรเงินก็มั่วเหมือนเดิม แต่ถึงอย่างไรก็ตามหาก สปสช.ต้องการให้ปัญหาความขัดแย้งยุติลง ก็ต้องปฎิรูประบบตามข้อเสนอของ สธ. ซึ่งถือเป็นแนวทางที่ดีที่สุดในการยกประสิทธิภาพระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทย” ประธานชมรมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป กล่าวทิ้งท้าย


Wed, 2015-01-21
http://www.hfocus.org/content/2015/01/9126
หัวข้อ: วิเคราะห์ปัญหา รพ.ขาดทุน (2) นโยบาย “บริการไร้รอยต่อ จ.ชุมพร” ส่งผล รพ.หลังสวน
เริ่มหัวข้อโดย: story ที่ 24 มกราคม 2015, 14:06:50
หลังจากที่ไทยสามารถทำให้ประชาชนทุกคนมีหลักประกันสุขภาพได้อย่างถ้วนหน้าแล้ว ดูเหมือนว่าปัญหาขาดทุนของโรงพยาบาล (รพ.) ในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สป.สธ.) ได้กลายเป็นประเด็นที่มีการถกเถียงกันอย่างต่อเนื่อง การถกเถียงอยู่ใน 2 กลุ่มใหญ่ คือ ฝั่งของ สป.สธ. ในฐานะเจ้าของหน่วยบริการ ที่ระบุว่าสาเหตุสำคัญส่วนหนึ่ง น่าจะมาจากการจัดสรรงบประมาณในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ไม่ว่าจะผลกระทบจากการปรับวิธีจัดสรรงบประมาณที่กระจายตามรายหัวประชากร การบริหารด้วยวิธีแยกกองทุน และการส่งงบประมาณลงไปยังหน่วยบริการโดยตรง รวมถึงปัญหาการบริหารงานของ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)

ขณะที่ฝั่งของ สปสช.ในฐานะผู้จัดสรรเงิน ก็ระบุว่า สปสช.มักตกจำเลยว่าเป็นตัวการทำให้ รพ.ขาดทุน เสมอมา แต่คำถามที่ สปสช.ถามกลับคือ การที่รพ.ขาดทุนนั้น มีสาเหตุมาจากการจัดสรรงบหลักประกันสุขภาพเพียงอย่างเดียวเท่านั้น หรืออยู่ที่จำนวนงบประมาณที่ไม่เคยได้ตามที่ขอ การบริหารของ สธ. และการบริหารของผู้บริหาร รพ.

จากปัญหาข้างต้นเหล่านี้ได้นำมาสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงระหว่าง สธ. และ สปสช. โดยเฉพาะในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา รวมถึงเป็นที่มาข้อเสนอการปรับจัดสรรงบเหมาจ่ายขาลงจากทาง สธ. ซึ่งยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ในขณะนี้ ด้วยเหตุนี้จึงมีความพยายามแก้ไขปัญหามาโดยตลอด แต่ก็ยังไม่เห็นการแก้ไขที่เป็นรูปธรรม ล่าสุด เพียงแค่ประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหา รพ.ขาดทุน นัดแรก ที่มี นพ.ยุทธ โพธารามิก เป็นประธานกรรมการ ก็มีอันล่มอย่างไม่เป็นท่า เมื่อตัวแทนฝั่งสธ.ปฏิเสธการเข้าร่วมประชุม

สำนักข่าว Health Focus จึงได้จัดทำรายงานพิเศษ วิเคราะห์ปัญหา รพ.ขาดทุน ขึ้น โดยสัมภาษณ์สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ความคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ในตอนแรกได้นำเสนอ วิเคราะห์ปัญหา รพ.ขาดทุน (1) เปิดใจ ‘นพ.สุทัศน์’ ส่งข้อมูลหรือไม่ สปสช.ก็จัดสรรเงินเหมือนเดิม

ต่อไปนี้เป็นตอนที่ 2 นโยบาย “บริการไร้รอยต่อ จ.ชุมพร” ส่งผล รพ.หลังสวน วิกฤตขาดทุนระดับ 7

รพ.หลังสวน จ.ชุมพร หนึ่งใน รพ.ขาดทุน วิกฤตรุนแรงระดับ 7 มียอดหนี้สะสม ธันวาคม 57 สูงถึง 85 ล้านบาท ผอ.รพ.หลังสวนเผยผลกระทบนโยบายรักษาพยาบาลไร้รอยต่อ จ.ชุมพร ทำผู้ป่วยล้น รพ.หลังสวน เหตุแห่ขอรักษาแพทย์เฉพาะทาง ทำงบเหมาจ่ายไม่เพียงพอ แจงนำเสนอปัญหาทุกเวที แต่ไม่ได้รับการช่วยเหลือ ยอดหนี้ล่าสุดจาก 75 ล้านบาท ทะลุเป็น 85 ล้านบาท ถูกบริษัทยาขึ้นแบล็คลิสต์ เฉพาะหนี้ อภ. 35 ล้านบาท ชี้วิกฤติต้องสั่งยาผ่าน รพ.ชุมพร เพื่อรักษาผู้ป่วย ชี้ติดปัญหาระเบียบใช้เงินทั้งของ สธ. และสปสช.

นพ.ศักดิ์สิทธิ์ มหารัตนวงศ์

โรงพยาบาลหลังสวน จ.ชุมพร หนึ่งใน รพ.ขาดทุน วิกฤตรุนแรงระดับ 7 มียอดหนี้สะสม ณ เดือนธันวาคม 2557 สูงถึง 85 ล้านบาท จากการพูดคุยกับ นพ.ศักดิ์สิทธิ์ มหารัตนวงศ์ ผู้อำนวยการ รพ.หลังสวน ที่เข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนตุลาคม 2557 ได้วิเคราะห์ถึงปัญหาขาดทุนของ รพ.ว่า เนื่องจาก รพ.หลังสวนเป็น รพ.ขนาด 120 เตียง ในระดับ M2 (ยกระดับเป็น M2 ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา) ปัจจุบันมีแพทย์เฉพาะทางบริการครอบคลุมทุกสาขา และตามเขตพื้นที่จะรับผิดชอบ 5 อำเภอตอนใต้ จ.ชุมพร แต่ด้วยนโยบายสิทธิระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของชุมพร จะต่างจากจังหวัดอื่น คือที่จ.ชุมพรนั้น เปิดให้ผู้ป่วยเลือกรักษา รพ.ใดก็ได้ ไม่ต้องผ่านหน่วยบริการต้นสังกัดคัดกรองส่งต่อ ขณะที่พฤติกรรมสุขภาพชาวบ้านที่มักเลือกรักษากับแพทย์เฉพาะทางโดยตรง ประกอบกับ รพ.โดยรอบส่วนใหญ่มีแต่แพทย์อายุรกรรมทั่วไป จึงทำให้ผู้ป่วย รพ.หลังสวนมีจำนวนมาก

นพ.ศักดิ์สิทธิ์ กล่าวว่า เมื่อดูจำนวนผู้มีสิทธิ์ อ.หลังสวน มีผู้ขึ้นทะเบียนระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าประมาณ 75,000 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้มีสิทธิ์ที่ขึ้นทะเบียน รพ.หลังสวน ราว 50,000 คน และที่เหลือขึ้นทะเบียนผู้มีสิทธิ์ รพ.ปากน้ำหลังสวนซึ่งเป็นโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) ขนาดเล็กที่อยู่ใกล้เคียง และเมื่อดูอัตราการใช้บริการพบว่า ผู้ป่วยที่เข้ารับบริการร้อยละ 90 ใช้สิทธิระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า มีเพียงร้อยละ 10 ที่ใช้สิทธิรักษาพยาบาลอื่น อาทิ ประกันสังคม สวัสดิการข้าราชการ เป็นต้น และเมื่อดูงบประมาณระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ รพ.ได้รับ โดยปี 2557 อยู่ที่ประมาณ 2,800 บาท คูณกับจำนวนผู้มีสิทธิ์ของ รพ.หลังสวน ส่งผลให้เกิดปัญหางบประมาณไม่สมดุล

“ผู้มีสิทธิ์ที่ขึ้นทะเบียนบัตรทองที่ รพ.หลังสวนมีน้อย ขณะที่ระบบสุขภาพของ จ.ชุมพร เป็นระบบที่เปิดให้ผู้ป่วยเลือกใช้สิทธิ์ที่ไหนก็ได้ เป็นนโยบายให้บริการแบบไร้รอยต่อ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จึงไหลมารักษาที่ รพ.หลังสวน เพื่อรักษากับแพทย์เฉพาะทาง จึงส่งผลต่องบประมาณ รพ.หลังสวน ที่จำกัด ซึ่งที่นี่ให้บริการทั้ง เอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ ผ่าตัดข้อสะโพก ข้อเข่าเทียม ผ่าตัดศัลยกรรม และยังมีไอซียู 8 เตียง แม้ว่าในส่วนผู้ป่วยในจะเป็นการเบิกจ่ายตามดีอาร์จี แต่การชดเชยของ รพ.ระดับ M2 ก็ไม่มากเมื่อเปรียบเทียบกับโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป” ผอ.รพ.หลังสวน กล่าว และว่า นอกจากนี้ รพ.ยังต้องดูแลกลุ่มผู้ป่วยแรงงานต่างด้าว ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนและไม่มีเงินจ่ายค่ารักษา จึงเป็นอีกหนึ่งภาระที่ รพ.ต้องแบกรับ เหล่านี้เป็นที่มาของภาระหนี้สิน รพ.ที่สะสมเพิ่มขึ้น   

เมื่อดูในส่วนของภาระหนี้สิน รพ.นั้น นพ.ศักดิ์สิทธิ์ กล่าวว่า หนี้สะสมส่วนใหญ่เป็นค่ายาและเวชภัณฑ์ ซึ่งยาบางรายการเป็นยาจำเป็นแต่ไม่สามารถเบิกจ่ายได้ และปัจจุบันต้องบอกว่า รพ.ได้ถูกขึ้นแบล็คลิสต์จากบริษัทยา จนไม่สามารถสั่งซื้อยาได้แล้ว ต้องสั่งผ่าน รพ.ชุมพร และตามจ่ายภายหลัง นอกจากนี้เฉพาะองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ขณะนี้เรามีหนี้ค้างจ่ายกับ อภ.ถึงกว่า 35 ล้านบาทแล้ว ที่ผ่านมา รพ.หลังสวน ได้วิเคราะห์ต้นทุนค่าใช้จ่ายตามโปรแกรมของ สธ. และเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับ รพ.ระดับเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็น รพ.ท่าศาลา รพ.กาญจนดิษฐ์ พบว่า ต้นทุนค่าใช้จ่าย รพ.หลังสวนอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน รพ.ระดับ M2 ไม่ได้มีค่าใช้จ่ายที่มากเกินไป ดังนั้นโจทย์คือเมื่อ รพ.หลังสวนได้ทำเต็มที่แล้ว ทั้งเพิ่มประสิทธิภาพ และลดค่าใช้จ่าย แต่เมื่อดูค่าใช้จ่ายปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นค่าสาธารณูปโภค ค่าล่วงเวลาเจ้าหน้าที่ ยังติดลบที่ 3-5 ล้านบาทต่อเดือนจะทำอย่างไร 

นพ.ศักดิ์สิทธิ์ กล่าวต่อว่า นอกจากปัญหางบประมาณระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ไม่สมดุลกับผู้ป่วยแล้ว ยังมีข้อจำกัดการใช้งบประมาณ งบที่ได้รับจาก สปสช.ยังกำหนดให้ใช้เฉพาะในส่วนบริการผู้ป่วยเท่านั้น ห้ามนำไปบริหารในส่วนอื่น ทำให้เกิดความไม่คล่องตัว ขณะที่การจ่ายงบประมาณยังเป็นการแบ่งจ่าย 4 ไตรมาส โดยไตรมาสสุดท้ายเป็นการจ่ายตามผลงาน ตามการคีย์ข้อมูล หากหน่วยบริการใดทำไม่ถึงเกณฑ์ หรือฐานข้อมูลไม่ดีก็จะถูกหักงบประมาณอีก ส่งผลให้งบประมาณได้รับไม่เต็มหน่วยและกระทบเพิ่มขึ้น แม้ว่าจะบริการอย่างเต็มที่ก็ตาม   

นอกจากนี้ยังติดหลักเกณฑ์ระเบียบของ สธ. ทั้งระเบียบพัสดุจัดซื้อจัดจ้าง การจัดซื้อยาร่วม ระเบียบการใช้เงินสวัสดิการ ส่งผลให้ไม่สามารถนำมาบริหารเพื่อชำระหนี้ได้ ขณะที่ผู้ป่วยที่จ่ายเงินเองก็เลือกที่จะเข้ารับบริการยัง รพ.เอกชนเพื่อรับบริการที่ดีกว่า ที่ผ่านมาสิ่งที่ รพ.หลังสวนทำได้ก็คือการขอรับบริจาค แต่ด้วยภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้ตั้งแต่ตนเข้าบริหารจนถึงปัจจุบัน สามารถหาเงินบริจาคได้เพียงแค่กว่าแสนบาทเท่านั้น เพื่อนำมาจ่ายหนี้สะสมค้างจ่าย

“จากปัญหาวิกฤตทางการเงินของ รพ.หลังสวน ที่ผ่านมาหลายเวทีที่เรียกประชุม รพ.ขาดทุนวิกฤตรุนแรงระดับ 7 ผมไปนำเสนอปัญหาทุกที่ ตั้งแต่ระดับจังหวัด ระดับเขต จนถึงส่วนกลาง แต่เมื่อกลับมาทุกอย่างเหมือนเดิม วันนี้ผมอยากบอกว่าจากยอดหนี้สะสม 75 ล้านบาท เพิ่มเป็น 85 ล้านบาท ในช่วง 1 เดือน เราได้บริหารและพยายามทำทุกอย่างเต็มที่แล้วความจริงปัญหา ณ วันนี้ไม่ได้อยู่ที่บริหารจัดการ แต่อยู่ที่งบประมาณที่ได้รับไม่เพียงพอกับภาระการบริการของ รพ.” ผอ.รพ.หลังสวน กล่าว และว่า แม้ปัญหาขาดทุน รพ.หลังสวนจะไม่ได้รับการแก้ไข รพ.ก็ยังคงให้บริการได้ เพราะยังคงมีงบเงินเดือนจ่ายให้กับบุคลากร แต่ยอดหนี้สะสมคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และคงเป็นหน้าที่ของ รพ.ที่ต้องดิ้นรนเพื่อหาค่ายามาจ่ายรักษาให้กับประชาชน


Fri, 2015-01-23
http://www.hfocus.org/content/2015/01/9144
หัวข้อ: วิเคราะห์ปัญหา รพ.ขาดทุน (3) “รพ.ศรีเชียงใหม่” ติดกลุ่มขาดทุน เหตุ “ฐานเงินเดือน
เริ่มหัวข้อโดย: story ที่ 24 มกราคม 2015, 14:08:29
หลังจากที่ไทยสามารถทำให้ประชาชนทุกคนมีหลักประกันสุขภาพได้อย่างถ้วนหน้าแล้ว ดูเหมือนว่าปัญหาขาดทุนของโรงพยาบาล (รพ.) ในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สป.สธ.) ได้กลายเป็นประเด็นที่มีการถกเถียงกันอย่างต่อเนื่อง การถกเถียงอยู่ใน 2 กลุ่มใหญ่ คือ ฝั่งของ สป.สธ. ในฐานะเจ้าของหน่วยบริการ ที่ระบุว่าสาเหตุสำคัญส่วนหนึ่ง น่าจะมาจากการจัดสรรงบประมาณในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ไม่ว่าจะผลกระทบจากการปรับวิธีจัดสรรงบประมาณที่กระจายตามรายหัวประชากร การบริหารด้วยวิธีแยกกองทุน และการส่งงบประมาณลงไปยังหน่วยบริการโดยตรง รวมถึงปัญหาการบริหารงานของ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)

ขณะที่ฝั่งของ สปสช.ในฐานะผู้จัดสรรเงิน ก็ระบุว่า สปสช.มักตกจำเลยว่าเป็นตัวการทำให้ รพ.ขาดทุน เสมอมา แต่คำถามที่ สปสช.ถามกลับคือ การที่รพ.ขาดทุนนั้น มีสาเหตุมาจากการจัดสรรงบหลักประกันสุขภาพเพียงอย่างเดียวเท่านั้น หรืออยู่ที่จำนวนงบประมาณที่ไม่เคยได้ตามที่ขอ การบริหารของ สธ. และการบริหารของผู้บริหาร รพ.

จากปัญหาข้างต้นเหล่านี้ได้นำมาสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงระหว่าง สธ. และ สปสช. โดยเฉพาะในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา รวมถึงเป็นที่มาข้อเสนอการปรับจัดสรรงบเหมาจ่ายขาลงจากทาง สธ. ซึ่งยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ในขณะนี้ ด้วยเหตุนี้จึงมีความพยายามแก้ไขปัญหามาโดยตลอด แต่ก็ยังไม่เห็นการแก้ไขที่เป็นรูปธรรม ล่าสุด เพียงแค่ประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหา รพ.ขาดทุน นัดแรก ที่มี นพ.ยุทธ โพธารามิก เป็นประธานกรรมการ ก็มีอันล่มอย่างไม่เป็นท่า เมื่อตัวแทนฝั่งสธ.ปฏิเสธการเข้าร่วมประชุม

สำนักข่าว Health Focus จึงได้จัดทำรายงานพิเศษ วิเคราะห์ปัญหา รพ.ขาดทุน ขึ้น โดยสัมภาษณ์สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ความคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง

ในตอนแรกได้นำเสนอ วิเคราะห์ปัญหา รพ.ขาดทุน (1) เปิดใจ ‘นพ.สุทัศน์’ ส่งข้อมูลหรือไม่ สปสช.ก็จัดสรรเงินเหมือนเดิม

ตอนที่ 2 นโยบาย “บริการไร้รอยต่อ จ.ชุมพร” ส่งผล รพ.หลังสวน วิกฤตขาดทุนระดับ 7

ต่อไปนี้เป็นตอนที่ 3 “รพ.ศรีเชียงใหม่” ติดกลุ่มขาดทุน เหตุ “ฐานเงินเดือนสูง ร้อยละ 65”

“รพ.ศรีเชียงใหม่” ติดกลุ่ม รพ.ขาดทุนวิกฤตรุนแรงระดับ 7 เหตุ “ฐานเงินเดือนสูง” เผยสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 65 ของงบเหมาจ่ายรายหัว เหลืองบบริหารร้อยละ 35 ต่อปี แถม ปี 56 ถูก มท.ประกาศแยกกิ่งอำเภอ ตั้ง รพ.ใหม่ ส่งผลผู้มีสิทธิบัตรทองลดเหลือแค่ 30,000 คน ทำงบถูกตัดไปกว่า 14 ล้านบาท ทำ รพ.ขาดทุนต่อเนื่อง แจงแนวทางแก้ปัญหา เน้นบริการผู้ป่วยในเพิ่ม เปิดผ่าตัดต้อกระจก พร้อมระดมเงินบริจาคจากชาวบ้านหนุน

โรงพยาบาลศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย เป็นอีกหนึ่งโรงพยาบาลที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มโรงพยาบาลสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สป.สธ.) ที่ประสบภาวะขาดทุนวิกฤตรุนแรงระดับ 7 โดยเข้าข่ายต้องได้รับการแก้ไขปัญหาเร่งด่วน จากการพูดคุยกับ นพ.แหลมทอง แก้วตระกูลพงษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย ได้วิเคราะห์สาเหตุการขาดทุนของ รพ.ศรีเชียงใหม่

นพ.แหลมทอง กล่าวว่า ปัญหา รพ.ขาดทุนแต่ละแห่งมีสาเหตุที่แตกต่างกันไป แต่ในส่วนของ รพ.ศรีเชียงใหม่ การขาดทุนและถูกจัดกลุ่มให้อยู่ใน รพ.ขาดทุนวิกฤตรุนแรงระดับ 7 เกิดจาก 2 สาเหตุหลัก ซึ่งก่อนอื่นต้องอธิบายว่า หลักการวิเคราะห์ รพ.ขาดทุนของ สป.สธ. เป็นการวิเคราะห์ตัวเลขย้อนหลัง 12 ไตรมาส หรือ 3 ปี โดยรพ.ขาดทุนวิกฤตระดับ 7 จะต้องมีตัวเลขขาดทุนตั้งแต่ 6 ไตรมาสขึ้นไป ซึ่ง รพ.ศรีเชียงใหม่มีตัวเลขขาดทุน 7 ไตรมาส จึงถูกจัดอยู่ในกลุ่มนี้ด้วย     

ทั้งนี้สถานการณ์การเงินของ รพ. ในช่วงแรกยอมรับว่า รพ.ศรีเชียงใหม่มีตัวเลขติดลบต่อเนื่องถึง 6 ไตรมาส แต่ช่วงหลังการบริหารทำให้ภาวะการขาดทุนลดลง แต่กลับมาประสบปัญหาขาดทุนอีกครั้งในช่วงปลายปี 2556 จากปัญหาขัดแย้งการบริหารงบระหว่าง สป.สธ. และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เนื่องจากการจัดส่งงบลงหน่วยบริการที่ล่าช้า เห็นเหตุให้ รพ.ประสบภาวะขาดทุนอีกครั้ง ทำให้ตัวเลขการขาดทุนเป็น 7 ไตรมาส จึงถูกจัดกลุ่มอยู่ใน รพ.ขาดทุนวิกฤตรุนแรงระดับ 7 ซึ่งนี่เป็นเหตุผลหนึ่ง

นพ.แหลมทอง กล่าวว่า ส่วนสาเหตุการขาดทุนแรก คือ รพ.ศรีเชียงใหม่ติดอยู่ในกลุ่มโรงพยาบาลที่มีสัดส่วนเงินเดือนข้าราชการที่สูงมาก ซึ่งหลังจากมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่กระจายงบตามรายหัวประชากรจะมีการหักงบประมาณเงินเดือนไว้ที่ส่วนกลางก่อน และเมื่อหักเหลือเท่าไหร่จึงจัดสรรมายัง รพ. เพื่อใช้สำหรับการบริหารและดูแลผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ส่งผลให้ รพ.ใดที่มีสัดส่วนรายจ่ายเงินเดือนสูง งบที่ใช้ในการดูแลผู้ป่วยก็จะเหลือน้อย

“รพ.ศรีเชียงใหม่ เมื่อนำเงินเดือนบุคลากรมาคิดคำนวณจะพบว่า เฉพาะเงินเดือนบุคลากรที่นี่ก็ถูกตัดงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวเพื่อกันเป็นเงินเดือนไว้ที่ส่วนกลางไปแล้วร้อยละ 65 จากค่าเฉลี่ยเงินเดือนที่ สธ.กำหนดจะต้องไม่เกินร้อยละ 50 ดังนั้น รพ.ศรีเชียงใหม่จึงเหลืองบเพื่อใช้จ่ายเพียงแค่ร้อยละ 35 จากงบที่ได้ ถือว่าน้อยมาก และเป็นที่มาของสาเหตุการขาดทุน” ผอ.รพ.ศรีเชียงใหม่ กล่าวและว่า เวลาที่พูดคุยถึงปัญหาขาดทุน รพ.ที่มีปัญหาเดียวกับ รพ.ศรีเชียงใหม่จะถูกจัดอยู่ในกลุ่ม รพ.ที่มีฐานเงินเดือนสูง แบ่งเป็น รพ.ที่มีจำนวนข้าราชการมาก และ รพ.ที่มีข้าราชการที่มีอายุงานนานทำให้ฐานเงินเดือนสูง ซึ่งปัญหาหลังนี้ สป.สธ.ทราบมานานแล้ว แต่ไม่สามารถแก้ไขได้ เพราะ รพ.ต่างจังหวัด บุคลากรส่วนใหญ่เป็นคนในพื้นที่และทำงานมานาน ซึ่งมีโรงพยาบาลเกือบ 10 แห่งที่อยู่ในสภาวะเดียวกัน เป็นปัญหาที่ประสบปัญหามานานตั้งแต่มีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่รวมงบเงินเดือน       

นพ.แหลมทอง กล่าวว่า ส่วนสาเหตุที่ 2 ซึ่งทำให้ รพ.ศรีเชียงใหม่เกิดภาวะขาดทุนนั้น คือเมื่อต้นปีงบประมาณ 2556 กระทรวงมหาดไทยได้ทำการแยกอำเภอในการบริหาร ทำให้มีการจัดตั้ง รพ.ใหม่เพิ่มขึ้น จึงส่งผลให้ รพ.ศรีเชียงใหม่จากเดิมรับผิดชอบประชากรอำเภอศรีเชียงใหม่และกิ่งอำเภอโพธิ์ตาก จึงเหลือเพียงการดูแลรับผิดชอบเฉพาะประชากรในอำเภอศรีเชียงใหม่เท่านั้น ส่งผลให้งบเหมาจ่ายรายหัวที่เคยได้รับลดลงไปด้วย จากเดิมที่เคยได้รับ 45,000 คน เหลือเพียง 30,000 คนเท่านั้น ส่วนประชากรที่เหลือ 15,000 คน ถูกโอนสิทธิขึ้นทะเบียนยังหน่วยบริการที่ตั้งขึ้นใหม่ ทำให้งบประมาณ รพ.ศรีเชียงใหม่ลดลงถึง 14 ล้านบาท หรือร้อยละ 40 ของงบประมาณที่ได้รับ ส่งผลให้งบ รพ.ปี 2556 ติดตัวแดงทั้งปี

“จากสถานการณ์ดังกล่าว ทาง รพ.ได้ปรับวิธีการบริหาร ลดรายจ่ายทุกอย่าง อย่างเช่น การลดค่าล่วงเวลาร้อยละ 10 การทบทวนการใช้ทรัพยากรทุกอย่าง พร้อมกับเพิ่มรายได้ให้กับ รพ. อย่างเช่น การตั้งกองทุนผ้าป่า การจัดตั้งมูลนิธิรับบริจาคเพื่อนำเงินมาสนับสนุน รพ. ส่งผลให้ รพ.สามารถฟื้นตัวได้ช่วงกลางปี 2557 อย่างไรก็ตามเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาระยะยาว รพ.จึงได้จัดบริการรักษาเพิ่มขึ้น โดยดึงแพทย์เฉพาะทางมารักษาผู้ป่วยเพื่อหาเงินเข้าสู่ระบบ อย่างเช่น โครงการผ่าต้อกระจก แม้ว่าเราจะเป็น รพ.เล็กๆ ไม่สามารถผ่าตัดเองได้ แต่ได้ร่วมกับ รพ.บ้านแพ้ว มาผ่าตัดให้กับชาวบ้านที่นี่ทุก 2 ปี เฉลี่ยประมาณ 100 ราย ไม่เพียงแต่ทำให้ชาวบ้านเข้าถึงการรักษาเพิ่มขึ้น แต่ยังทำให้ รพ.เบิกจ่ายจากระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้เพิ่มขึ้น” นพ.แหลมทอง กล่าวและว่า นอกจากนี้ รพ.ยังเพิ่มบริการผู้ป่วยใน เน้นให้การรักษาโรคซับซ้อนเพิ่มเติม ทำให้สามารถเบิกจ่ายจาก สปสช.เพิ่มขึ้น

ผอ.รพ.ศรีเชียงใหม่ กล่าวต่อว่า ในการบริหารเพื่อแก้ปัญหาขาดทุนนี้ เกิดจากการพูดคุยกันภายในโรงพยาบาล จังหวัด และส่วนกลางเองก็มีส่วนในการช่วยเหลือ ทั้งนี้ต้องบอกว่า หากปลายปี 2556 ไม่เกิดปัญหาขัดแย้งระหว่าง สป.สธ. และ สปสช. รพ.ศรีเชียงใหม่ก็จะไม่ถูกจัดอยู่ในกลุ่ม รพ.ขาดทุนวิกฤตรุนแรงระดับ 7 และหาก สป.สธ. และ สปสช.ยังไม่สามารถแก้ไขความขัดแย้งนี้ได้ เชื่อว่าจะทำให้ รพ.ขาดทุนกลุ่มนี้เพิ่มขึ้น อันเนื่องมาจากสาเหตุความไม่ชัดเจนของงบประมาณที่จะได้รับซึ่งส่งผลต่อการบริหารของ รพ. จนกลายเป็นภาวะวิกฤตในที่สุด

“หาก สป.สธ.และ สปสช.เคลียร์กันได้ จะได้เกิดความแน่นอนในการบริหาร เพราะความไม่แน่นอน เป็นสิ่งที่บริหารได้ยาก จะได้รับงบประมาณมากหรือน้อย ขาดทุนหรือกำไรว่ากันไปเลยง่ายกว่า เช่น ขาดทุนจะขาดทุนเท่าไหร ทั้งนี้เพื่อที่ รพ.ได้เตรียมบริหารจัดการถูก”

ส่วนข้อเสนอให้มีการแยกงบเงินเดือนออกจากงบเหมาจ่ายรายหัวนั้น นพ.แหลมทอง กล่าวทิ้งท้ายว่า เป็นข้อเสนอที่พูดกันมานาน  มี รพ.ที่ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ โดย รพ.ที่ได้ประโยชน์อย่าง รพ.ตนคงสนับสนุนแนวคิดนี้ แต่ รพ.ที่เสียประโยชน์ อย่าง รพ.ที่จัดตั้งขึ้นใหม่ มีข้าราชการไม่มาก หรืออายุงานน้อยก็จะไม่เห็นด้วย เรื่องนี้จึงเป็นข้อเสนอที่มีทั้งผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยคงจะเดินหน้าได้ยาก และหากจะดำเนินการจริงคงต้องมีการพูดคุยกัน สอบถามความเห็นผู้บริหาร รพ.ทั้ง 800 แห่ง ดังนั้นขณะนี้จึงยังไม่มีผู้ใหญ่กล้าฟันธงในเรื่องนี้


Sat, 2015-01-24
http://www.hfocus.org/content/2015/01/9146
หัวข้อ: วิเคราะห์ปัญหา รพ.ขาดทุน (4)“โหนดบริการ” กระทบ รพ.หนองไผ่ ทำรายรับลดต่อเนื่อง
เริ่มหัวข้อโดย: story ที่ 27 มกราคม 2015, 07:14:55
หลังจากที่ไทยสามารถทำให้ประชาชนทุกคนมีหลักประกันสุขภาพได้อย่างถ้วนหน้าแล้ว ดูเหมือนว่าปัญหาขาดทุนของโรงพยาบาล (รพ.) ในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สป.สธ.) ได้กลายเป็นประเด็นที่มีการถกเถียงกันอย่างต่อเนื่อง การถกเถียงอยู่ใน 2 กลุ่มใหญ่ คือ ฝั่งของ สป.สธ. ในฐานะเจ้าของหน่วยบริการ ที่ระบุว่าสาเหตุสำคัญส่วนหนึ่ง น่าจะมาจากการจัดสรรงบประมาณในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ไม่ว่าจะผลกระทบจากการปรับวิธีจัดสรรงบประมาณที่กระจายตามรายหัวประชากร การบริหารด้วยวิธีแยกกองทุน และการส่งงบประมาณลงไปยังหน่วยบริการโดยตรง รวมถึงปัญหาการบริหารงานของ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)

ขณะที่ฝั่งของ สปสช.ในฐานะผู้จัดสรรเงิน ก็ระบุว่า สปสช.มักตกจำเลยว่าเป็นตัวการทำให้ รพ.ขาดทุน เสมอมา แต่คำถามที่ สปสช.ถามกลับคือ การที่รพ.ขาดทุนนั้น มีสาเหตุมาจากการจัดสรรงบหลักประกันสุขภาพเพียงอย่างเดียวเท่านั้น หรืออยู่ที่จำนวนงบประมาณที่ไม่เคยได้ตามที่ขอ การบริหารของ สธ. และการบริหารของผู้บริหาร รพ.

จากปัญหาข้างต้นเหล่านี้ได้นำมาสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงระหว่าง สธ. และ สปสช. โดยเฉพาะในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา รวมถึงเป็นที่มาข้อเสนอการปรับจัดสรรงบเหมาจ่ายขาลงจากทาง สธ. ซึ่งยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ในขณะนี้ ด้วยเหตุนี้จึงมีความพยายามแก้ไขปัญหามาโดยตลอด แต่ก็ยังไม่เห็นการแก้ไขที่เป็นรูปธรรม ล่าสุด เพียงแค่ประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหา รพ.ขาดทุน นัดแรก ที่มี นพ.ยุทธ โพธารามิก เป็นประธานกรรมการ ก็มีอันล่มอย่างไม่เป็นท่า เมื่อตัวแทนฝั่งสธ.ปฏิเสธการเข้าร่วมประชุม

สำนักข่าว Health Focus จึงได้จัดทำรายงานพิเศษ วิเคราะห์ปัญหา รพ.ขาดทุน ขึ้น โดยสัมภาษณ์สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ความคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง

ในตอนแรกได้นำเสนอ วิเคราะห์ปัญหา รพ.ขาดทุน (1) เปิดใจ ‘นพ.สุทัศน์’ ส่งข้อมูลหรือไม่ สปสช.ก็จัดสรรเงินเหมือนเดิม

ตอนที่ 2 นโยบาย “บริการไร้รอยต่อ จ.ชุมพร” ส่งผล รพ.หลังสวน วิกฤตขาดทุนระดับ 7

ตอนที่ 3 “รพ.ศรีเชียงใหม่” ติดกลุ่มขาดทุน เหตุ “ฐานเงินเดือนสูง ร้อยละ 65”

ต่อไปนี้เป็นตอนที่ 4 “โหนดบริการ” กระทบ รพ.หนองไผ่ ทำรายรับลดต่อเนื่อง

ผอ.รพ.หนองไผ่ เพชรบูรณ์ แจงเหตุ รพ.ติดกลุ่มขาดทุนรุนแรงระดับ 7 ทั้งจากขาดสภาพคล่องปลายปี 56 ได้รับโอนงบบัตรทองเพียง 3 เดือน แถมถูกสปสช.เรียกเงินคืน 5 ล้านบาท เพราะไม่มีแพทย์เฉพาะทางที่จะสร้างผลงานดูแลผู้ป่วยหนักและโรคซับซ้อนได้ แม้ก่อนหน้านั้นจะมี แต่ผลจากนโยบายโหนดบริการของ จ.เพชรบูรณ์ ทำแพทย์เฉพาะทางถูกดึงไปที่อื่น แถมถูกดึงงบอื่นไปทั้งหมด ทั้งงบลงทุน ค่าตอบแทนพิเศษ และทุนเรียนต่อ รายรับลดลงต่อเนื่องจาก 100 ล้านบาท เหลือ 80 ล้านบาท ซ้ำงบรายหัวไม่เพิ่มมา 3 ปี แต่เงินเดือนเพิ่มขึ้น 10% ยอมรับโหนดบริการเป็นนโยบายที่ดี แต่ไม่ดีต่อ รพช. ชี้ควรให้ รพช.ได้เติบโตตามบริบทของพื้นที่ จะเป็นประโยชน์ต่อชุมชนมากกว่า

นอกจาก รพ.หลังสวน จ.ชุมพร และ รพ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคายที่ทางสำนักข่าว Health focus ได้เจาะสัมภาษณ์ถึงปัญหา รพ.ขาดทุนไปก่อนหน้านี้แล้ว รพ.หนองไผ่ จ.เพชรบูรณ์ เป็น รพ.อีกแห่ง ที่อยู่ในกลุ่ม รพ.ที่ประสบภาวะขาดทุนวิกฤตรุนแรงระดับ 7 ซึ่งทางสำนักข่าวฯ ได้ติดตามข้อมูลเพื่อนำเสนอ

นพ.สงวนชัย เจนศิริกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลหนองไผ่ กล่าวว่า ขณะนี้ รพ.หนองไผ่ไม่ได้อยู่ในกลุ่ม รพ.ขาดทุนวิกฤติรุนแรงระดับ 7 แล้ว ซึ่งก่อนหน้านี้สาเหตุหลักที่ทำให้ รพ.หนองไผ่ถูกจัดอยู่ใน รพ.ขาดทุนกลุ่มนี้มาจากการขาดสภาพคล่องช่วงปลายปี 2556 เนื่องจากได้รับโอนงบประมาณระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามาเพียง 3 เดือนเท่านั้น ประกอบกับถูกสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เรียกเงินคืนประมาณ 5 ล้านบาท จึงส่งผลกระทบอย่างมาก

ทั้งนี้สาเหตุที่ รพ.หนองไผ่ถูกเรียกเงินคืนนั้น สาเหตุหลักเนื่องจาก รพ.ไม่มีบริการแพทย์เฉพาะทางที่จะสร้างผลงานดูแลผู้ป่วยหนักและโรคซับซ้อนได้ เพื่อให้ได้รับงบประมาณจากการคำนวณค่า RW จากที่เมื่อก่อน รพ.เคยมีบริการเหล่านี้ รวมถึงการผ่าตัดโรคที่ไม่ซับซ้อนมากนัก แต่หลังจากมีนโยบายเขตบริการที่มีการกำหนด รพ.ขึ้นเป็นโหนดบริการ(node) โดยที่ จ.เพชรบูรณ์ 10 แห่ง กำหนดให้ รพ.หล่มสัก และ รพ.วิเชียรบุรี เป็นโหนดบริการ ทำให้แพทย์เฉพาะทางของ รพ.หนองไผ่ถูกดึงไปที่อื่น ส่งผลไม่เพียงแต่ให้การผ่าตัดลดลง แต่ปัจจุบัน รพ.หนองไผ่ไม่มีการผ่าตัดผู้ป่วยแล้ว จึงทำให้ขาดรายได้ส่วนนี้เพื่อมาสนับสนุน ประกอบกับจำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับบริการยังลดลงอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งผู้ป่วยกลุ่มข้าราชการและผู้ป่วยกลุ่มอื่นๆ ก็ไม่รักษาที่ รพ. เนื่องจากต่างต้องการรักษากับแพทย์เฉพาะทาง จึงไหลไปที่อื่น

นพ.สงวนชัย กล่าวว่า เมื่อช่วง 2 ปีก่อนหน้านี้ รพ.หนองไผ่ไม่ได้ถูกจัดอยู่กลุ่ม รพ.วิกฤตเลย เรามีสภาพคล่องที่ดีตลอด แต่หลังจากมีการจัดทำโหนดบริการ นอกจากปัญหาที่กล่าวข้างต้นแล้ว การลงทุนในหน่วยบริการทั้งหมดถูกดึงไปยังหน่วยบริการที่ถูกกำหนดเป็นโหนดบริการหมด ไม่ว่าจะเป็นทุนก่อสร้าง วัสดุ อุปกรณ์การแพทย์ แม้แต่ทุนเรียนต่อและค่าตอบแทนพิเศษ ที่เป็นการดึงแพทย์เฉพาะไปหมด

“จากการกำหนดโหนดบริการ ทำให้เราเหมือนถูกตอนไม่ให้โต รายรับลดลงต่อเนื่องทุกปี จาก 3 ล้านบาท เป็น 4 ล้านบาท และ 5 ล้านบาท และปี 2558 นี้ คาดว่ารายได้จะลดลงไปถึง 10 ล้านบาท ขณะที่งบประมาณเหมาจ่าย แต่เดิม รพ.หนองไผ่เคยได้รับงบประมาณเกือบ 100 ล้านบาท แต่ปี 2558 นี้เหลือเพียงแค่ 80 ล้านบาท” ผอ.รพ.หนองไผ่ กล่าวและว่า นอกจากนี้สาเหตุที่ทำให้ รพ.เจ๊งกันทั่วประเทศ คืองบเหมาจ่ายรายหัวต่อประชากรในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไม่เพิ่มมา 3 ปีแล้ว ขณะที่เงินเดือนลูกจ้างเพิ่มขึ้นปีละ 6% และปีนี้เพิ่มเป็น 10% รวมถึงค่ายาและเวชภัณฑ์ที่ปรับเพิ่ม แต่รายได้กลับลดลง สิ่งที่ รพ.ทำได้คือประหยัด ตัดสิ่งที่ไม่จำเป็นออกไป ซึ่งอาจกระทบต่อการพัฒนาหน่วยบริการบ้าง  

ต่อข้อซักถามว่า การจัดเขตบริการที่กำหนดโหนดบริการแสดงว่าไม่ดีต่อ รพ. นพ.สงวนชัย กล่าวว่า เป็นนโยบายที่ดี แต่ดีเฉพาะ รพ.ที่กำหนดเป็นโหนดบริการเท่านั้น แต่ในส่วนโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) นั้นนับวันก็จะแย่ลง ซึ่งหากมองในแง่การบริการต่อชาวบ้านก็ไม่ดีเช่นกัน ซึ่งความเห็นส่วนตัว ควรให้ รพช.มีโอกาสเติบโตตามบริบทของตนเอง เพราะแต่ละพื้นที่อาจต้องการบริการทางการแพทย์ที่แตกต่างกัน เช่น บางพื้นที่อาจต้องการหมอเด็ก บางพื้นที่ต้องการหมอเฉพาะทางด้านอื่นๆ แต่การจัดเป็นโหนดบริการแบบนี้ รพ.จะไม่มีแพทย์เฉพาะทางเลย ประกอบกับแพทย์ที่จบใหม่ ในการรักษาส่วนใหญ่จะส่งตรวจแลปอย่างเดียว ส่งผลให้รายจ่าย รพ.เพิ่มขึ้นอีก

“ในทางทฤษฎี นโยบายโหนดบริการเป็นหลักการดี แต่ในทางปฏิบัติกลับทำให้ รพช.ที่ไม่ใช่โหนดบริการเจ๊ง ไม่เจ๊งก็เกือบเจ๊ง แต่ รพ.ที่ถูกกำหนดเป็นโหนดบริการนั้นดีขึ้น ซึ่งขณะนี้ รพช.ได้รับผลกระทบ ซึ่งจะมากหรือน้อยก็ต่างกันไป ซึ่งที่ รพ.หนองไผ่ ผมโชว์ตัวเลขขาดทุนให้เห็นชัดเจน และจากวิกฤตนี้ผมได้คาดการณ์ล่วงหน้าแล้วว่า รพ.หนองไผ่จะเข้าสู่วิกฤตระดับ 7 ณ วันที่ 30 ก.ย. 2556 เรารู้ตัวล่วงหน้าแล้วว่าไม่รอดแน่นอน” ผอ.รพ.หนองไผ่ กล่าว

นพ.สงวนชัย กล่าวว่า ส่วนทางออกในการแก้ไขปัญหานั้น คือต้องให้งบประมาณเพิ่มเติมกับ รพ.ขาดทุนวิกฤตรุนแรงระดับ 7 โดยในส่วน รพช.อาจใช้เงินเพียงแค่ 5-20 ล้านบาทต่อแห่ง ซึ่งถือว่าไม่มากหากดูภาพรวมงบประมาณทั้งระบบ แต่ในส่วนของโรงพยาบาลทั่วไปอาจต้องใช้งบประมาณมากกว่านี้


Sun, 2015-01-25
http://www.hfocus.org/content/2015/01/9151
หัวข้อ: วิเคราะห์ปัญหา รพ.ขาดทุน (5) รพ.โพนทอง แบกภาระค่าตอบแทน ถูกเบี้ยวค่าตรวจแลป
เริ่มหัวข้อโดย: story ที่ 27 มกราคม 2015, 07:16:36
หลังจากที่ไทยสามารถทำให้ประชาชนทุกคนมีหลักประกันสุขภาพได้อย่างถ้วนหน้าแล้ว ดูเหมือนว่าปัญหาขาดทุนของโรงพยาบาล (รพ.) ในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สป.สธ.) ได้กลายเป็นประเด็นที่มีการถกเถียงกันอย่างต่อเนื่อง การถกเถียงอยู่ใน 2 กลุ่มใหญ่ คือ ฝั่งของ สป.สธ. ในฐานะเจ้าของหน่วยบริการ ที่ระบุว่าสาเหตุสำคัญส่วนหนึ่ง น่าจะมาจากการจัดสรรงบประมาณในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ไม่ว่าจะผลกระทบจากการปรับวิธีจัดสรรงบประมาณที่กระจายตามรายหัวประชากร การบริหารด้วยวิธีแยกกองทุน และการส่งงบประมาณลงไปยังหน่วยบริการโดยตรง รวมถึงปัญหาการบริหารงานของ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)

ขณะที่ฝั่งของ สปสช.ในฐานะผู้จัดสรรเงิน ก็ระบุว่า สปสช.มักตกจำเลยว่าเป็นตัวการทำให้ รพ.ขาดทุน เสมอมา แต่คำถามที่ สปสช.ถามกลับคือ การที่รพ.ขาดทุนนั้น มีสาเหตุมาจากการจัดสรรงบหลักประกันสุขภาพเพียงอย่างเดียวเท่านั้น หรืออยู่ที่จำนวนงบประมาณที่ไม่เคยได้ตามที่ขอ การบริหารของ สธ. และการบริหารของผู้บริหาร รพ.

จากปัญหาข้างต้นเหล่านี้ได้นำมาสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงระหว่าง สธ. และ สปสช. โดยเฉพาะในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา รวมถึงเป็นที่มาข้อเสนอการปรับจัดสรรงบเหมาจ่ายขาลงจากทาง สธ. ซึ่งยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ในขณะนี้ ด้วยเหตุนี้จึงมีความพยายามแก้ไขปัญหามาโดยตลอด แต่ก็ยังไม่เห็นการแก้ไขที่เป็นรูปธรรม ล่าสุด เพียงแค่ประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหา รพ.ขาดทุน นัดแรก ที่มี นพ.ยุทธ โพธารามิก เป็นประธานกรรมการ ก็มีอันล่มอย่างไม่เป็นท่า เมื่อตัวแทนฝั่งสธ.ปฏิเสธการเข้าร่วมประชุม

สำนักข่าว Health Focus จึงได้จัดทำรายงานพิเศษ วิเคราะห์ปัญหา รพ.ขาดทุน ขึ้น โดยสัมภาษณ์สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ความคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง

ในตอนแรกได้นำเสนอ วิเคราะห์ปัญหา รพ.ขาดทุน (1) เปิดใจ ‘นพ.สุทัศน์’ ส่งข้อมูลหรือไม่ สปสช.ก็จัดสรรเงินเหมือนเดิม

ตอนที่ 2 นโยบาย “บริการไร้รอยต่อ จ.ชุมพร” ส่งผล รพ.หลังสวน วิกฤตขาดทุนระดับ 7

ตอนที่ 3 “รพ.ศรีเชียงใหม่” ติดกลุ่มขาดทุน เหตุ “ฐานเงินเดือนสูง ร้อยละ 65”

ตอนที่ 4 “โหนดบริการ” กระทบ รพ.หนองไผ่ ทำรายรับลดต่อเนื่อง

ต่อไปนี้เป็นตอนที่ 5 รพ.โพนทอง แบกภาระค่าตอบแทน ถูกเบี้ยวค่าตรวจแลป ปัญหาส่งเบิกกับสปสช. ต้นเหตุขาดทุน   

อดีตผอ.รพ.โพนทอง แจง รพ.ขาดทุน เหตุถูกเบี้ยวหนี้ค่าตรวจแลป หลังยกระดับเป็นศูนย์กลางตรวจแลปของอีสานตอนบน บางแห่งค้างจ่าย 3 ล้านบาท แถมภาระค่าตอบแทนแพทย์เฉพาะทางเพียบ เฉพาะค่าโอทีเฉลี่ย 1.7 ล้านบาทต่อเดือน พร้อมยอมรับ ระบบเบิกจ่ายเพื่อรับเงินบัตรทองของรพ.มีปัญหา ข้อมูลไม่สมบูรณ์ ทำให้เบิกจ่ายได้ไม่เต็ม ติงสปสช.มีท่อส่งงบเยอะเกิน เต็มไปด้วยรหัสและตัวย่อ รพ.เองตามไม่ทัน เป็นปัญหาจัดส่งข้อมูล ส่งผลให้มีการเรียกเงินคืนในภายหลัง

นอกจาก รพ.หลังสวน จ.ชุมพร และ รพ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย และ รพ.หนองไผ่ จ.เพชรบูรณ์ ที่ทางสำนักข่าว Health focus ได้เจาะสัมภาษณ์ถึงปัญหา รพ.ขาดทุนไปก่อนหน้านี้แล้ว รพ.โพนทอง จ.ร้อยเอ็ด เป็น รพ.อีกแห่ง ที่อยู่ในกลุ่ม รพ.ที่ประสบภาวะขาดทุนวิกฤตรุนแรงระดับ 7 ซึ่งทางสำนักข่าวฯ ได้ติดตามข้อมูลเพื่อนำเสนอเป็นตอนที่ 5

นพ.นิวัติ บัณฑิตพรรณ

นพ.นิวัติ บัณฑิตพรรณ อดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลโพนทอง จ.ร้อยเอ็ด กล่าวว่า ก่อนที่ตนจะเกษียณอายุราชการปี 2557 สาเหตุที่ รพ.โพนทองประสบภาวะขาดทุนมาจาก 2 สาเหตุหลัก คือ ค่าแรงบุคลากรทางการแพทย์ เนื่องจากปัจจุบัน รพ.โพนทองได้ถูกพัฒนาเป็น รพ.ขนาด M2 และเตรียมที่จะยกระดับเป็น รพ.M1 และได้มีการขยายเตียงผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเป็น 114 เตียง พร้อมกับมีการเปิดบริการผู้ป่วยนอกเฉพาะทางเพิ่ม เหล่านี้ทำให้รายจ่ายของ รพ.เพิ่มขึ้นในช่วง 2 ปีหลังมานี้ โดยเฉพาะในส่วนของค่าตอบแทนแพทย์เฉพาะทาง ซึ่งขณะนี้เรามีแพทย์เฉพาะทางถึง 7 สาขาแล้ว นอกจากนี้ยังมีค่าตอบแทนล่วงเวลาเฉลี่ยสูงถึงเดือนละ 1.6-1.7 ล้านบาท

นพ.นิวัติ กล่าวว่า สาเหตุรองลงมาคือค่าแลป เนื่องจาก รพ.โพนทอง เป็นศูนย์กลางตรวจแลปของอีสานตอนบน จึงมี รพ.ต่างๆ ส่งแลปเข้ามาตรวจเป็นจำนวนมาก ยิ่งในช่วงปีหลังๆ มานี้ เนื่องจากแพทย์จบใหม่ส่วนใหญ่ ในการวินิจฉัยโรคผู้ป่วยมักจะส่งตรวจแลปเพื่อป้องกันปัญหาในการรักษาไว้ก่อน ซึ่งปรากฎว่า รพ.หลายแห่งที่ส่งแลปเข้ามานั้น มีส่วนหนึ่งที่ไม่สามารถเรียกเก็บค่าใช้จ่ายได้ บางแห่งสะสมเป็นหนี้ถึง 3 ล้านบาท ซึ่งในการเกลี่ยเงินระดับจังหวัด รพ.โพนทองไม่เคยได้รับชดเชยในส่วนนี้ ขณะที่การส่งตรวจแลปในส่วนของ รพ.โพนทองก็เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะแลปเฉพาะทางจากการขยายบริการแพทย์เฉพาะทาง จึงเป็นภาระที่ รพ.ต้องแบกรับ

นอกจากนี้ในด้านรายรับก็มีปัญหา โดยเฉพาะการเบิกจ่ายจากระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งต้องยอมรับว่า รพ.โพนทองมีปัญหาการทำข้อมูลเบิกจ่าย การบันทึกข้อมูล บางอย่างมีความล่าช้าจนเกิดความบกพร่อง ทำให้ไม่สามารถเบิกเงินในระดับที่ รพ.ควรจะได้รับ ซึ่งขณะนี้ทางผู้อำนวยการ รพ.โพนทองคนใหม่ อยู่ระหว่างการปรับปรุงเพื่ออุดรอยรั่วส่วนนี้ เพื่อทำให้การจัดทำข้อมูลมีความสมบูรณ์ รพ.สามารถเบิกจ่ายชดเชยได้เพิ่มขึ้น

“เข้าใจว่าระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าก็เหมือนกับระบบประกันทั่วไปที่ต้องนำงานไปแลกเงิน ถ้าข้อมูลไม่ถึงก็เบิกไม่ได้ ซึ่งตรงนี้ รพ.ยังมีปัญหาการทำข้อมูล อย่างเช่น ข้อมูลเบิกจ่ายผู้ป่วยใน ซึ่ง รพ.โพนทองเป็น รพ.ที่มีผู้ป่วยในมากที่สุดในจังหวัดร้อยเอ็ด โดยมีจำนวนถึง 7,000 รายต่อปี ในจำนวนนี้มีการผ่าตัดประมาณ 3,000 ราย แต่พบว่าบางครั้งแพทย์มีการสรุปข้อมูลการรักษาที่ล่าช้า ทำให้ไม่สามารถเบิกจ่ายได้ จึงยอมรับว่าบางส่วนมาจากปัญหาระบบของ รพ.เอง” อดีต ผอ.รพ.โพนทอง กล่าว

นพ.นิวัติ กล่าวต่อว่า ขณะที่การกระจายงบประมาณของ สปสช.นั้น ต้องยอมรับว่ามีท่อในการส่งงบประมาณเยอะมาก และเต็มไปด้วยรหัสและตัวย่อ ทำให้ รพ.เองก็ตามไม่ทัน จึงเป็นปัญหาในการจัดส่งข้อมูลเช่นกัน ส่งผลให้มีการเรียกเงินคืนในภายหลัง ซึ่ง รพ.โพนทองเองก็ถูกเรียกคืนเช่นกันแต่ไม่มาก ดังนั้น สปสช.ควรมีการปรับปรุงในส่วนนี้เช่นกัน

“การขาดทุนของ รพ.โพนทองเกิดจากหลายปัจจัย นอกจากรายจ่ายบุคลากรและค่าแลปอย่างที่ระบุข้างต้นแล้ว ความบกพร่องของข้อมูล รพ.ยังส่งผลต่อการเบิกจ่ายที่เป็นรายรับของ รพ. อย่างไรก็ตามตลอด 12 ปี ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หากดูสภาพคล่องทางการเงิน รพ.โพนทองยังอยู่ได้ ส่วนที่ รพ.โพนทองถูกจัดอยู่ในกลุ่ม รพ.ขาดทุนวิกฤตรุนแรงระดับ 7 นั้น ไม่รู้ว่าใช้หลักเกณฑ์พิจารณาอย่างไร เพราะตลอดระยะเวลาที่บริหารจนถึงเกษียณ รพ.ก็ยังมีสภาพคล่องทางการเงินมาโดยตลอด ยังจ่ายค่ายา ค่าเวชภัณฑ์ และเงินเดือนบุคลากรได้ ซึ่งผมเองก็งงว่าทำไม รพ.โพนทอนจึงขาดทุนรุนแรงระดับ 7 ได้” นพ.นิวัติ กล่าว

Mon, 2015-01-26
http://www.hfocus.org/content/2015/01/9156