My Community

หมวดหมู่ทั่วไป => ข่าวเกี่ยวกับวงการแพทย์ => ข้อความที่เริ่มโดย: story ที่ 19 ธันวาคม 2014, 22:50:35

หัวข้อ: ทำไมยังไม่ยอมวิจัยเรื่องการกดนวดตาเพื่อรักษาโรคต้อหินเรื้อรังและจอประสาทตาเสื่อม
เริ่มหัวข้อโดย: story ที่ 19 ธันวาคม 2014, 22:50:35
นพ.สมเกียรติ อธิคมกุลชัย เป็นจักษุแพทย์ได้เป็นผู้คิดค้นเพื่อประโยชน์สาธารณะในการรักษาโรคต้อหินและโรคจอประสาทตาเสื่อม โดยไม่ต้องผ่าตัด ใช้ยา หรือใช้เลเซอร์
      
        ทั้งนี้โรคต้อหินเรื้อรัง ไม่มีอาการโรคต้อหินเรื้อรัง คือไม่มีอาการ ประสาทตาค่อยๆถูกทำลายอย่างช้าๆ โดยไม่รู้ตัว สาเหตุที่แท้จริงยังไม่ทราบ ปัจจัยเสี่ยงอย่างหนึ่งคือมีความดันลูกตาสูง โดยยังคงมีผู้ป่วยที่รับการรักษาเต็มรูปแบบ แต่ยังตาบอด ซึ่งสถาบันวิจัยโรคต้อหินในต่างประเทศ กำลังเร่งคิดค้นหาสาเหตุที่แท้จริงและวิธีรักษา เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยให้รอดพ้นจากการตาบอด
      
        ทุกวันนี้ยังไม่มีใครทราบสาเหตุที่แท้จริงของโรคต้อหิน และการรักษาทั้งหมดเป็นมาตรการลดความดันลูกตาทั้งสิ้น ซึ่งผลของการรักษา ไม่อาจคาดการณ์ได้ ถ้ารุนแรงก็จะตาบอดหมดทั้ง 2 ข้าง ไม่ว่าจะได้รับการรักษาหรือไม่ก็ตาม
      
        วิธีการในยุคปัจจุบันในการลดความดันลูกตา คือการใช้ยาหยอดตา ยากิน เพื่อลดการสร้างน้ำ การผ่าตัดเพื่อทำช่องระบายน้ำออกจากลูกตา หรือการยิงเลเซอร์เพื่อเคลียร์ช่องระบายน้ำ
      
        นพ.สมเกียรติ อธิคมกุลชัย เริ่มสังเกตวิธีการลดความดันลูกตา ก่อนการผ่าตัดต้อกระจกด้วยการใช้ลูกบอลยางกดลูกตา ซึ่งช่วยลดความดันลูกตาได้ โดยมีวิธีคิดต่อยอดและตั้งสมมติฐานว่า เนื้อเยื่อของร่างกายคนเราสามารถ Remodel ได้ การกดตาเป็นวิธีเร่งระบายน้ำออกจากลูกตา โดยแรงกดจะไปถ่างช่องทางระบายน้ำออกจากลูกตา ทำให้ความดันลูกตาลดลง และถ้ากดตาบ่อยๆ นานๆเข้า ช่องทางระบายก็น่าจะขยายถาวร และความดันลูกตาก็จะลดลงถาวรด้วยเช่นกัน

ทำไมยังไม่ยอมวิจัยเรื่อง การกดนวดตาเพื่อรักษาโรคต้อหินเรื้อรังและจอประสาทตาเสื่อม !? (ตอนที่ 1)
        จากการทดสอบกับคนไข้พบว่าผู้ป่วยจำนวนมากมีการมองเห็นดีขึ้นมาก โดย นพ.สมเกียรติ ได้ใช้วิธีใช้ฝ่ามือกดเบ้าตาทั้ง 2 ข้าง จนเห็นแสงเป็นเวลา 2 นาทีครึ่ง ให้ทำบ่อยๆอย่างน้อย 10 ครั้งต่อวัน ส่วนอาการจะดีขึ้นเร็วช้าก็ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคนั้น
      
        นพ.สมเกียรติ ได้ใช้ Magnifying contract lens พิสูจน์พบว่า ในขณะกดตานั้นมีเลือดแดงเข้ามาในขณะกดา การกดนวดตาจึงไม่ใช่เพียงแค่การลดความดันตาเท่านั้น แต่ยังเป็นการกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดในลูกตาได้ด้วย
      
        ความน่าทึ่งและน่ายินดีก็เพราะมีผู้ป่วย ชื่อนายเฉลียว เขาหนองบัว อายุ 82 ปี ที่น่าจะเรียกได้ว่าเป็นผู้ป่วยโรคต้อหิน รายแรกของโลก ที่ตาบอดไป 3 วัน สามารถกลับมามองเห็นได้อีกครั้งหนึ่ง !!!

ทำไมยังไม่ยอมวิจัยเรื่อง การกดนวดตาเพื่อรักษาโรคต้อหินเรื้อรังและจอประสาทตาเสื่อม !? (ตอนที่ 1)
        นอกจากนี้ยังพบตัวอย่างผู้ป่วยต้อหินระยะสุดท้ายที่รับการรักษาแล้วยังสิ้นหวังและกำลังจะตาบอดเมื่อเข้ารับการรักษาด้วยนวัตกรรมการนวดตา ผลปรากฏว่าผู้ป่วยเหล่านั้นได้พ้นทุกข์และกลับมามีชีวิตที่ปกติสุขอีกครั้งหลายราย เช่น นายเฉลิม ไชยลังกา, นายบุญช่วย เอี่ยมดีเลิศ, นายทวีศักด์ ไชยสงค์, นายเฉลิมพันธ์ หวังวิวัฒนา, นายอุบลทิพย์ ยลศิลป์, นายไกรสร เฟื่องสัทธรรม, นายชาตรี หลิมประเสริญศิริ, นายสุรเชษฐ์ ธิดารัตน์สกุล, นายผุสดี รุกขวิบูลย์ ฯลฯ
      
        เมื่อได้ผลมากมายขนาดนี้ จึงพิสูจน์ได้ว่าการกดนวดตาเกิดผล 2 ประการคือ 1. ช่วยลดความดันลูกตา และ 2. เพิ่มการไหลเวียนเลือดเข้าไปในลูกตา
      
        ศาสตราจารย์โจเซฟ เฟลมเมอร์ จากสวิสเซอร์แลนด์ เป็นผู้ที่ทุ่มเท 30 กว่าปี ในงานวิจัยเรื่องต้อหินและระบบไหลเวียนเลือดของลูกตา โดยไม่เชื่อว่าความดันลูกตาเป็นสาเหตุหลักของโรคต้อหินเรื้อรัง เพราะผู้ป่วยโรคต้อหินเรื้อรังส่วนใหญ่ความดันลูกตาไม่สูงและจำนวนไม่น้อยที่ความดันลูกตาอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำด้วยซ้ำ และการรักษาผู้ป่วยด้วยมาตรการลดความดันลูกตา ทั้งการใช้ยา การผ่าตัด หรือการยิงเลเซอร์ ไม่สามารถหยุดการดำเนินโรคได้ และยังคงพบผู้ป่วยตาบอด ทั้งๆที่รับการรักษาตามมาตรฐานแล้ว และมีการเขียนตำราชื่อ Glaucoma ระบุว่า
      
        "ระบบไหลเวียนเลือดน่าจะเป็นสาเหตุสำคัญของโรคต้อหินและด้วยแนวคิดทางตะวันตกจึงมีความพยายามพัฒนาตัวยาที่จะช่วยเพิ่มระบบไหลเวียนเลือด"
      
        แต่ด้วยแนวคิดแบบตะวันออก ทำให้ นพ.สมเกียรติ ได้ค้นพบเทคนิดการนวดตาสามารถเพิ่มการไหลเวียนเข้าในลูกตาได้ โดยที่ไม่ต้องอาศัยยาเลย
      
        นวดตาเพื่อเพิ่มระบบไหวเวียเลือด ดูเรียบง่าย ตรงไปตรงมา ไม่สลับซับซ้อน ทำเองได้ พึ่งพาตัวเองได้ !!!
      
        นพ.สมเกียรติ อธิคมกุลชัย เดิมตั้งใจเพียงแค่คิดค้นทางเลือกในการลดความดันลูกตา แต่กลับกลายเป็นการค้นพบวิธีรักษาจำเพาะของโรคต้อหินโดยบังเอิญ คือการเพิ่มการไหลเวียนเข้าในลูกตาด้วยการ "นวดกดตา"
      
        การค้นพบสาเหตุและวิธีรักษาโรคต้หินในครั้งนี้ กำลังจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกระบวนการรักษาโรคต้อหิ้น ในอนาคตอันใกล้ดังต่อไปนี้
      
        1. ผู้ป่วยสามารถลดภาระในชีวิตประจำวันจากการที่ต้องใช้ยาเป็นประจำทุกๆวัน วันละหลายๆชนิด และลดภาะค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้เป็นประจำทุกๆเดือน ซึ่งมักจะต้องเพิ่มขึ้นเรื่อยๆทุกๆปี จากภาวะโรคที่มักจะเลวลงตามอายุขัย การดื้อยา และค่ายาที่มักจะปรับเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะตัวยาใหม่ๆ
      
        2. สามารถป้องกันและลดจำนวน ผู้ป่วยทุพลภาพทางสายตา ซึ่งจะช่วยลดภาระและปัญหาทางสังคมที่จะตามมาอีกมากมาย
      
        3. โรงพยาบาลของรัฐ สามารถประหยัดงบประมาณในการรักษาผู้ป่วยโรคต้อหินเรื้อรัง ในโครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทั้งค่ายา ค่าผ่าตัด และค่าใช้จ่ายในการยิงเลเซอร์
      
        4. ประเทศไทย สามารถประหยัดงบประมาณทางด้านสาธารณสุข และลดการสูญเสียเงินตราต่างประเทศไม่น้อยกว่า 5,000 ล้านบาทต่อปี
      
        5. ในระดับนานาชาติ การค้นพบนี้จะมีประโยชน์มหาศาลต่อมนุษยชาติ เป็นการปฏิวัติความเชื่อและวิธีรักษาโรคต้อหินใหม่ทั้งหมดในอนาคต
      
        6. จากการคิดค้นต่อยอด ทำให้สามารถป้องกันรักษา และฟื้นฟูโรคจอประสาทตาที่ส่วนใหญ่ยังเป็นโรคที่รักษาไม่ได้ และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้คนตาบอดถาวร
      
        คำถามที่สำคัญสำหรับในตอนนี้ก็คือ "เรื่องสำคัญและเรื่องใหญ่ขนาดนี้ งานวิจัยมีความคืบหน้าและจริงใจแค่ไหน?" เพราะต้องยอมรับว่าวิธีการดังกล่าวหาได้ผลจริง มันก็จะดูเรียบง่าย ไม่พึ่งยา ไม่พึ่งการผ่าตัด หรือการยิงเลเซอร์ ก็ย่อมต้องมีคนเสียผลประโยชน์อยู่พอสมควรจริงหรือไม่?
      
        และถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะทวงถามความคืบหน้างานวิจัยนี้ว่าซุกหมกเอาไว้ที่ไหนอย่างไร และอยู่กับใครหรือไม่?

ณ บ้านพระอาทิตย์
       โดย...ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
ASTVผู้จัดการรายวัน    12 ธันวาคม 2557
หัวข้อ: ทำไมยังไม่ยอมวิจัยเรื่องการกดนวดตาเพื่อรักษาโรคต้อหินเรื้อรังฯ(2)
เริ่มหัวข้อโดย: story ที่ 19 ธันวาคม 2014, 22:52:48
 ภายหลังจากการที่ นพ.สมเกียรติ อธิคมกุลชัย จักษุแพทย์ผู้คิดค้นการนวดตาเพื่อรักษาโรคต้อหินและโรคจอประสาทตาเสื่อม เพื่อเพิ่มระบบไหลเวียนเลือดภายใต้หลักคิดที่ว่าเนื้อเยื่อของเราสามารถปรับสภาพ (Remodel) ได้โดยไม่ต้องผ่าตัด ใช้ยา หรือใช้เลเซอร์ แต่ต้องเจออุปสรรคอยู่มากในวงการจักษุแพทย์ด้วยกันเองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
      
        เริ่มต้นจากมีจักษุแพทย์บางท่านได้ไปร้องเรียนยังกองการประกอบโรคศิลปะ แต่เมื่อทำอะไรไม่ได้ ก็ได้มีการร้องเรียนไปยังทางราชวิทยาลัยจักษุแพทย์เพื่อให้ดำเนินการกับ นพ.สมเกียรติ ต่อมาในยุคประธานราชวิทยาลัย อ.อภิชาติ สิงคาลวณิช ได้มีจดหมายสั่งให้มีการลบข้อมูลในเว็บไซต์ที่ นพ.สมเกียรติ ได้ทำการเผยแพร่ในขณะนั้น ด้วยเหตุผลว่า "อาจทำความเสียหายต่อผู้ป่วยและจักษุแพทย์ที่ถูกพาดพิง" ซึ่ง นพ.สมเกียรติ อธิคมกุลชัย จึงได้ทำหนังสือชี้แจงความเป็นมาถึงประธานราชวิทยาลัยจักษุแพทย์เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2549 และร้องขอต่อราชวิทยาลัยฯใน 4 ประเด็นหลักคือ
      
        1. นพ.สมเกียรติ แจ้งว่าได้พบสาเหตุและวิธีรักษาจำเพาะของโรคต้อหินเรื้อรังแล้ว ซึ่งจะมีคุณประโยชน์มหาศาลต่อมนุษยชาติ และจะนำชื่อเสียงมาสู่ประเทศไทย
      
        2. ขอให้ทางราชวิทยาลัยฯ แต่งตั้งอนุกรรมการเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้
      
        3. ขอร้องให้กรรมการราชวิทยาลัยทุกท่าน สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับ นพ.เอกชัย จุละจาริตต์ ผู้ป่วยโรคต้อหินที่มีความน่าเชื่อถือ ซึ่งมีอาการดีขึ้นจากวิธีกดนวดตา ซึ่งเป็นนายแพทย์ที่มีประวัติการทำงานดีเด่น เคยได้รับรางวัลจากสภาวิจัยแห่งชาติถึง 2 ครั้ง ( นพ.สมเกียรติแจ้งว่าไม่มีกรรมการราชวิทยาลัยฯแม้แต่ท่านเดียวที่จะเสียสละเวลาคุยสอบถามกับ นพ.เอกชัย)
      
        4. ได้แจ้งให้ทราบว่า นพ.สมเกียรติ กำลังดำเนินการที่จะทำวิจัยยืนยันผล โดยร่วมมือกับ รพ.เมตตาประชารักษ์ (รพ.วัดไร่ขิง) โดยมีการมอบข้อมูลให้ นพ.วิวัฒน์ โกมลสุรเดช โดยจะทำการวิจัย 4 หัวข้อ คือ การนวดตา สามารถลดความดันลูกตาในผู้ป่วยโรคต้อหินเรื้อรัง, การนวดตาสามารถเพิ่มการไหลเวียนโลหิตไปหล่อเลี้ยงเซลล์ประสาทตา, การนวดตาสามารถฟื้นฟูสภาพสายตาให้แก่ผู้ป่วยโรคต้อหินเรื้อรัง, สาเหตุของโรคต้อหินเรื้อรัง เกิดจากความเสื่อมสภาพของแผ่น Lamina cribrosa

ทำไมยังไม่ยอมวิจัยเรื่องการกดนวดตาเพื่อรักษาโรคต้อหินเรื้อรังและจอประสาทตาเสื่อม !? (ตอนที่ 2)
โจเซฟ เฟลมเมอร์
        นอกจากนี้ นพ.สมเกียรติ ยังได้แจ้งว่าได้ร่วมมือกับ ศาสตราจารย์โจเซฟ เฟลมเมอร์ จากมหาวิทยาลัย บาเซล ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ผู้เขียนตำรา ต้อหิน (Glaucoma) ประเทศสหรัฐอเมริกาเพื่อแจกจักษุแพทย์ทั่วโลก ได้ยืนยันที่จะทำการวิจัยเรื่องดังกล่าวร่วมกันอีกด้วย
      
        ต่อมา ประธานราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย ได้มีหนังสืออีกครั้งให้ทำการปิดเว็บไซต์ในการเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าว นพ.สมเกียรติ อธิคมกุลชัย จึงได้ทำหนังสืออีกครั้งในวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2549 แจ้งว่าการนวดตายังเป็นวิธีเดียวเท่านั้นในปัจจุบันที่จะช่วยเหลือผู้ป่วยโรคต้อหินเรื้อรังที่โรคกำลัง Active ให้สามารถกลับมาดำเนินชีวิตได้ตามปกติอีกครั้งหนึ่ง การปิดเว็บไซต์ก็เท่ากับปิดโอกาสที่ผู้ป่วยโรคต้อหินเหล่านั้น จะเข้าถึงข้อมูลที่จะสามารถช่วยเหลือเขาให้รอดพ้นจากภาวะตาบอดได้ อย่างไรก็ตาม นพ.สมเกียรติ อธิคมกุลชัย ได้น้อมรับการตัดสินของราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทยที่ได้ตัดสินใจจากข้อมูลเท่าที่ได้รับในเวลานั้น จึงได้ดำนินการปิดเว็บไซต์การรักษาโรคต้อหินด้วยการนวดตาหลังจากนั้น 1 เดือน
      
        ต่อมาเมื่อผู้บริหารชุดใหม่เข้าทำหน้าที่ ได้ประสานมายังผู้บริหารของโรงพยาบาลในเครือบางปะกอก เพื่อขอให้ นพ.สมเกียรติ อธิคมกุลชัย ให้หยุดการรักษาผู้ป่วยด้วยเทคนิคการนวดตาและให้ปิดเว็บไซต์ที่เผยแพร่ข้อมูลการคิดค้น ปรากฏว่า นพ.สมเกียรติ จึงได้ส่งรายละเอียดข้อมูลความเป็นมาในการคิดค้นเทคนิคการนวดตา ซึ่ง เป็นการคิดค้นบนพื้นฐานความรู้ด้านจักษุขั้นสูง และส่งจดหมายชี้แจงถึงประธานราชวิทยาลัยจักษุแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2550 โดยได้ยืนยันในจดหมายฉบับนั้นความตอนหนึ่งว่า
      
        "3 ปีที่คิดค้นวิธีการช่วยเหลือผู้ป่วยโรคต้อหินเรื้อรังที่มีปัญหาดวงตาใกล้บอด ได้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี เกินความคาดหมายที่คิดเอาไว้มาก ได้ค้นพบสาเหตุที่แท้จริงของโรคต้อหินเรื้อรังและค้นพบการักษาจำเพาะของโรคนี้ ในขณะที่ศูนย์วิจัยโรคต้อหินทั่วโลก ยังไม่สามารถคิดค้นได้
      
        เนื่องจากการคิดค้นของผมจบสมบูรณ์แล้ว ผมพร้อมที่จะเลิกการักษาด้วยวิธีการดังกล่าวตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ยกเว้นผู้ป่วยที่โรคกำลัง Active และตากำลังจะบอด ซึ่งผมจะยังคงทำการักษาต่อไปด้วยสำนึกของความเป็นแพทย์และเพื่อนมนุษย์"
      
        ภายหลังจาก นพ.สมเกียรติ ส่งข้อมูล "ประวัติการคิดค้นการนวดรักษาโรคต้อหิน" และจดหมายถึงประธานวิทยาลัยจักษุแห่งประเทศไทยไปแล้ว อุปสรรคในการช่วยเหลือผู้ป่วยโรคต้อหินด้วยการนวดตาก็ค่อยๆบรรเทาลง จนกระทั่ง นพ.สมเกียรติ ได้แจ้งความก้าวหน้าในผลการคิดค้นอีกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลการค้นพบว่า"การใช้สายตาจ้องคอมพิวเตอร์เป็นประจำ เป็นอีกปัจจัยเสี่ยงอย่างหนึ่งของโรคต้อหินเรื้อรัง" ซึ่งตรงกับข้อมูลการค้นพบของ ดอกเตอร์ มัสซายูกิ ทาเตะมิชิ จากโรงเรียนแพทย์มหาวิทาลัย โตโฮ รายงานเอาไว้เมื่อปลายปี พ.ศ. 2547 ซึ่งปัญหานี้จะทำให้มีผู้ป่วยทยอยตาบอดมากขึ้นโดยไม่รู้ตัว จึงแจ้งต่อความสำคัญของการนวดตาไปยังประธานราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2551 และได้ส่งหนังสือตำราเล่มใหม่ของ ศาสตราจารย์โจเซฟ เฟลมเมอร์ เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2551 ที่ได้ระบุว่า "ระบบไหลเวียนเลือดเป็นสาเหตุสำคัญของโรคต้อหินเรื้อรัง"
      
        แม้ว่าจะมีผู้ป่วยโรคต้อหินเรื้อรังจะมีอาการดีขึ้นและได้รับผลตอบรับดีจากการนวดตา ต่อมาเกิดการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารของโรงพยาบาล มีผลทำให้ นพ.สมเกียรติถูกให้ออกจากงานทันที จึงเท่ากับเป็นการยุติการคิดค้นในโรงพยาบาลดังกล่าวลง
      
        สำหรับงานวิจัยที่ดำเนินมาก่อนหน้านี้ โดย นพ.วิวัฒน์ โกมลสุรเดช โรงพยาบาลวัดไร่ขิง ได้ทำหนังสือราชการเสนอขออนุมัติต่อกรมการแพทย์ตั้งแต่วันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2549 นั้น ผลปรากฏเรื่องราวที่น่าสนใจดังนี้
      
        นพ.สมเกียรติ อธิคมกุลชัย ได้เข้าไปชี้แจงโครงการวิจัยดังกล่าวร่วมกับจักษุแพทย์จากโรงพยาบาลวัดไร่ขิง ซึ่งบังเอิญว่า หนึ่งในคณะกรรมการที่สัมภาษณ์เพื่อพิจารณาอนุมัติโครงการวิจัย เป็นจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคต้อหินท่านหนึ่ง จากคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น "ได้ปฏิเสธโครงการวิจัยนี้"โดยให้เหตุผลว่า :
      
        "ทุกวันนี้โรคต้อหินเรื้อรังสามารถรักษาได้ดีอยู่แล้ว ไม่มีความจำเป็นต้องทำวิจัย"
      
        แต่ความพยายามในการพิสูจน์ความจริงยังไม่จบเพียงเท่านี้ โปรดติดตามตอนต่อไป


 ณ บ้านพระอาทิตย์
       โดย...ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
 ASTVผู้จัดการรายวัน    19 ธันวาคม 2557
หัวข้อ: ทำไมยังไม่ยอมวิจัยเรื่องการกดนวดตาเพื่อรักษาโรคต้อหินเรื้อรังฯ(3)
เริ่มหัวข้อโดย: story ที่ 27 ธันวาคม 2014, 01:25:13
มีบางท่านที่อาจไม่เข้าใจว่าทำไมถ้าการนวดรักษาโรคต้อหินทำได้จริง ทำไม นพ.สมเกียรติ อธิคมกุลชัย จักษุแพทย์ผู้คิดค้นวิธีดังกล่าวจึงไม่ทำวิจัยเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงเหล่านั้นด้วยตัวเอง?
      
        แม้ว่าในความจริงแล้วจะมีผู้ป่วยโรคต้อหินเรื้อรังมีอาการดีขึ้น และบางรายซึ่งตาบอดไปแล้วกลับมามองเห็นได้ แต่นั่นก็อยู่ในระดับ "เบาะแสที่มีผู้ป่วยหายจริง" เพื่อที่จะนำไปสู่งานวิจัย เพราะถ้าจะทำงานวิจัยแล้วจะต้องมีสถาบันรองรับ ที่ต้องมีความพร้อมทั้งทางเครื่องมือ อุปกรณ์ และเงินทุนวิจัย นั่นน่าจะเป็นเหตุผลถึงข้อสงสัยว่าเหตุใด นพ.สมเกียรติ อธิคมกุลชัย จึงได้เรียกร้องให้ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทยทำการวิจัยเพื่อพิสูจน์ความจริงในเรื่องนี้ว่าเป็นอย่างไร?
      
        แม้ข้อเสนอของ นพ.สมเกียรติ อธิคมกุชัย ที่ร่วมเสนอกับ โรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) จะถูกปฏิเสธโดยคณะกรรมการพิจารณาอนุมัติโครงการวิจัย ของกรมการแพทย์ว่า
      
        "ทุกวันนี้โรคต้อหินเรื้อรังสามารถรักษาได้ดีอยู่แล้ว ไม่มีความจำเป็นต้องทำวิจัย"
      
        แม้ นพ.สมเกียรติ อธิคมกุลชัย จะได้โต้แย้งในประเด็นนี้ว่า "การรักษาทุกวันนี้ แม้ผู้ป่วยจะรับการรักษาตามระบบแล้วก็ตาม ก็ยังคงมีผู้ป่วยตาบอดอย่างน้อย 10%" แต่คำโต้แย้งนี้ก็ไม่สามารถทำให้คณะกรรมการพิจารณาโครงการนี้อนุมัติได้
      
        อย่างไรก็ตามความพยายามในการพิสูจน์ด้วยการวิจัยของ นพ.สมเกียรติ อธิคมกุลชัย ในครั้งที่ 2 ยังคงเดินหน้าต่อไป เกิดขึ้นในขณะที่ประชุมนอกสถานที่ของผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงสาธารณสุข โดยมี นพ.ประเวศ วะสี เป็นประธานในที่ประชุม และมีตัวแทนผู้ป่วย 3 ราย เข้าให้ข้อมูลผลการรักษาโรคต้อหินเรื้อรังด้วยการนวดตา โดย 2 ใน 3 เป็นแพทย์ที่ป่วยด้วยโรคต้อหินเรื้อรัง และ 1 ใน 2 รายนั้น ตาบอดไปแล้ว 1 ข้าง
      
        ผลของการประชุม นพ.ประเวศ วะสี จึงได้แนะให้ "โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ" (Health Intervention and Technology Assessment Program) หรือเรียกสั้นๆว่า HITAP ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยภายใต้สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) กระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการประเมินประสิทธิผลของการรักษาโรคต้อหินดังกล่าว โดยเมื่อวันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2550 ดร.นพ.ยศ ตีระวัฒนานนท์ หัวหน้าโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ ทำหนังสือประธานราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย เพื่อขอเรียนเชิญราชวิทยาลัยจักษุแพทย์พิจารณาส่งผู้แทนเพื่อเข้าร่วมเป็นกรรมการและนักวิจัยในการศึกษาประสิทธิผลของการรักษาโรคต้อหินด้วยวิธีการนวดตา
      
        แต่ผลที่ได้รับก็คือราชวิทยาลัยจักษุแพทย์ได้ปฏิเสธความร่วมมือ จึงไม่สามารถเดินหน้าวิจัยเพื่อพิสูจน์ความจริงในเรื่องนี้ได้ต่อไป
      
        ความพยายามครั้งที่ 3 นพ.สมเกียรติ จึงได้นำตัวแทนผู้ป่วยโรคต้อหินและโรคจอประสาทเสื่อม จำนวน 6 คน เข้าพบ ศาสตราจารย์ คลินิก นายแพทย์อภิชาติ สิงคาลวณิช หัวหน้าภาควิชาจักษุวิทยา ศิริราชพยาบาล เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2552 โดยผู้ป่วยหนึ่งรายคือ คุณกาญจนา ปานข่อยงาม เป็นรองเลขาธิการสภาวิจัยแห่งชาติ ได้กล่าวร้องขอให้ อาจารย์อภิชาติ สิงคาลวณิช ให้ช่วยดำเนินการวิจัยพิสูจน์คุณประโยชน์ของการนวดตา เพื่อให้สามารถนำไปช่วยเหลือผู้ป่วยอื่นๆที่ยังรองความหวังว่าจะมีวิธีการรักษาใหม่ ที่จะช่วยผู้ป่วยเหล่านั้นไม่ให้ตาบอด ซึ่งอาจารย์อภิชาติแจ้งว่าต้องปรึกษาและขอความเห็นจากคณาจารย์ในภาควิชาดูก่อน
      
        ด้วยเหตุผลนี้ นพ.สมเกียรติ อธิคมกุลชัย จึงได้ยื่นจดหมายร้องต่อเหล่าคณาจารย์ภาควิชาจักษุวิทยา ศิริราชพยาบาล โดย นพ.สมเกียรติ ได้แจ้งรายชื่อบุคคลต่างๆพร้อมเบอร์โทรศัพท์มือถือ ที่ได้รับผลการรักษาด้วยวิธีการนวดตาหลายคน หลายอาชีพ เช่น นักเทคนิกการแพทย์ ครู เด็ก ฯลฯ โดยได้ขอร้องแทนผู้ป่วยโรคจอประสาทตาเสื่อมทั่วโลก ขอให้เหล่าคณาจารย์ในภาควิชาจักษุวิทยา ศิริราชพยาบาล ได้โปรดรับพิจารณาที่จะพิสูจน์ข้อเท็จจริงเหล่านี้ให้กระจ่าง
      
        แต่เรื่องการร้องขอก็จบลงด้วยความเงียบและวังเวงต่อไป !!!
      
        แต่ นพ.สมเกียรติ ได้เดินหน้าทำหนังสือเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2553ถึง ศาสตราจารย์ นายแพทย์ สมศักดิ์ โล่เลขา เลขาธิการแพทยสภาในขณะนั้น แต่ผลปรากฏว่า ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่เลขา ก็ได้แต่เพียงโทรศัพท์มาคุยด้วย โดยแจ้งว่าไม่สามารถก้าวล่วงราชวิทยาลัยจักษุแพทย์ที่เป็นองค์กรทางกฎหมายและมีอำนาจเบ็ดเสร็จ สามารถชี้ผิด ชี้ถูกในทุกเรื่องของการทำเวชปฏิบัติทางด้านจักษุวิทยา และนี่คือจุดสำคัญที่ทำให้จักษุแพทย์ส่วนใหญ่ ไม่มีใครกล้าให้ความร่วมมือในการทำวิจัยพิสูจน์ความจริงในเรื่องนี้
      
        นพ.สมเกียรติ อธิคมกุลชัย จึงเปรียบเสมือนตัวประหลาดในวงการจักษุแพทย์ เพราะแม้แต่การทำงานก็แทบจะไม่มีที่ยืนในวงการจักษุแพทย์ แม้ว่าบ้านจะอยู่ที่กรุงเทพมทหานคร แต่โรงพยาบาลส่วนใหญ่ก็ไม่รับเข้าทำงานเพราะไม่ต้องการมีปัญหากับราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย จน นพ.สมเกียรติ ได้ออกไปทำงานที่โรงพยาบาลเอกชัย จังหวัดสมุทรสาคร เพื่อสร้างฐานผู้ป่วยและดำเนนการคิดค้นต่อยอด จนในที่สุดประสบความสำเร็จในการรักษาโรคของระบบประสาทตาของผู้ป่วยจำนวนมาก
      
        จนในที่สุดความสำเร็จในการช่วยเหลือไม่ให้คนตาบอดได้มีการพูดและเผยแพร่ไปถึงสื่อมวลชน จนผู้สื่อข่าวได้ไปสัมภาษณ์ นพ.ศักดิ์ชัย วงศ์กิตติรักษ์ ประธานราชวิทยาลัยจักษุแพทย์ในขณะนั้น ซึ่งได้ให้สัมภาษ์ว่า:
      
        "การนวดตายังไม่ได้ผ่านการวิจัยพิสูจน์ขอ้เท็จจริง และห้ามผู้ป่วยโรคต้อหินกระทำการนวดตา เพราะจะทำให้ตาบอด"
      
        นอกจากนี้ยังได้ส่งเรื่องให้กองการประกอบโรคศิลป์ดำเนินการเอาผิดฐานโฆษณาะอวดอ้างการรักษา และส่งเรื่องให้แพทยสภาพเอาผิดทางจริยธรรม ถึงกระนั้นทั้งสองหน่วยงานก็ยังไม่สามารถดำเนินการเอาผิดได้ น่าจะเป็นเพราะ 2 สาเหตุสำคัญ คือ ประการที่หนึ่งเป็นเรื่องที่สังคมต้องการทราบความเป็นจริง และประการที่สองแพทย์ที่มีใบประกอบโรคศิลปทุกคนสามารถใช้ศาสตร์การนวดกับผู้ป่วยได้อยู่แล้วตามกฎกระทรวงสาธารณสุขที่ลงนามโดย นายกร ทัพพะรังสี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
      
        ต่อมาเมื่อผู้สื่อข่าวไปสัมภาษณ์นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งยังไม่ทราบข้อมูลแน่ชัด ได้สั่งการห้ามรักษาด้วยการนวดตา ทำให้เครือข่ายผู้ป่วยโรคจอประสาทตาเสื่อม รวมตัวประท้วงที่ตึกสำนักงานปลัดกระทรวงสาธาณสุข
      
        นพ.เทวัญ ธานีรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักแพทย์ทางเลือก และ พญ.วิลาวัณย์ จึงประเสริฐ อธิบดีกรมพัฒนาแพทย์แผนไทยในขณะนั้น ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริง และเชิญ นพ.สมเกียรติ และผู้ป่วยที่เคยรับการรักษาด้วยการนวดตาเข้าไปให้ข้อมูล จนได้ข้อมูลข้อเท็จจริงทั้งหมด ก่อนนำเสนอให้แก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จึงทำให้เรื่องนี้ยุติลง
      
        เมื่อราชวิทยาลัยจักษุแพทย์ไม่สามารถปกปิดเรื่องนี้ต่อไปได้แล้ว จึงได้เชิญประชุมร่วมเพื่อแก้ไขปัญหานี้ ในช่วงต้นเดือนเมษายน พ.ศ. 2554 โดยได้เชิญผู้อำนวยการสำนักแพทย์ทางเลือก คณะผู้แทนแพทยสภา ผู้อำนวยการกองประกอบโรคศิลปะ ผู้ป่วยโรคต้อหินที่รักษาด้วยการนวดตา (นพ.เอกชัย จุละจาริตต์ และ นพ.สมเกียรติ อธิคมกุลชัย) ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่ได้วิธีการรักษาด้วยวิธีการนวดตาได้มีโอกาสเข้าไปให้ข้อมูลแก่ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย
      
        แต่แม้จะเป็นความสำเร็จในการเข้าไปนำเสนอการนวดตาเพื่อรักษาโรคต้อหินเรื้อรังและโรคจอประสาทตาเสื่อมได้เป็นครั้งแรก แต่ก็ไม่ใช่ว่าอุปสรรคและขวากหนามจะจบลงเพียงเท่านี้

ณ บ้านพระอาทิตย์
       โดย...ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
ASTVผู้จัดการรายวัน    26 ธันวาคม 2557
หัวข้อ: ทำไมยังไม่ยอมวิจัยเรื่องการกดนวดตาเพื่อรักษาโรคต้อหินเรื้อรังฯ(4)
เริ่มหัวข้อโดย: story ที่ 13 มกราคม 2015, 07:36:25
 ภายหลังจาก นพ.เทวัญ ธานีรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักแพทย์ทางเลือก และ พญ.วิลาวัณย์ จึงประเสริฐ อธิบดีกรมพัฒนาแพทย์แผนไทยในขณะนั้น ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริง และเชิญ นพ.สมเกียรติ และผู้ป่วยที่เคยรับการรักษาด้วยการนวดตาเข้าไปให้ข้อมูล จนได้ข้อมูลข้อเท็จจริงทั้งหมด จึงเป็นจุดเริ่มต้นครั้งใหม่ที่ นพ.สมเกียรติ อธิคมกุลชัย จะได้มีโอกาสเข้าไปนำเสนอวิธีการรักษาด้วยวิธีการนวดตาแก่ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทยเป็นครั้งแรก หลังความพยายามมาอย่างยาวนานกว่า 7 ปี
      
        กระแสตอบรับของผู้ป่วยโรคต้อหินเรื้อรังและโรคจอประสาทตาเสื่อมได้ผลดีขึ้นจากเทคนิคการนวดตานั้น ทำให้ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทยไม่สามารถปกปิดเรื่องนี้ต่อไปได้แล้ว จึงได้เชิญประชุมร่วมเพื่อแก้ไขปัญหานี้ ในช่วงต้นเดือนเมษายน พ.ศ. 2554
      
        การประชุมในครั้งนั้นประกอบไปด้วย ผู้อำนวยการสำนักแพทย์ทางเลือก คณะผู้แทนแพทยสภา ผู้อำนวยการกองประกอบโรคศิลปะ ผู้ป่วยโรคต้อหินที่รักษาด้วยการนวดตา (นพ.เอกชัย จุละจาริตต์ อดีตผู้อำนวจการศูนย์สิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางกายแพทย์แห่งชาติ) และ นพ.สมเกียรติ อธิคมกุลชัย ซึ่งประธานราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทยได้ขอให้ทุกฝ่ายหยุดให้สัมภาษณ์ และได้ถามความประสงค์ของ นพ.สมเกียรติ อธิคมกุลชัย ในฐานะผู้คิดค้นเทคนิกการนวดตาเพื่อรักษาโรคต้อหินและจอประสาทตาเสื่อม และสำนักแพทย์ทางเลือกว่าต้องการอะไร
      
        ซึ่งนพ.สมเกียรติ ยังคงยืนยันเหมือน 7 ปีที่ผ่านมาว่าต้องการให้ทางราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย ทำการวิจัยยืนยันผลเพื่อพิสูจน์ว่าการนวดตามีประโยชน์หรือมีโทษต่อผู้ป่วย ซึ่งผลปรากฏว่าประธานราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทยได้รับข้อตกลง แต่ นพ.ปริญญ์ โรจนพงศ์พันธุ์ ประธานฝ่ายวิชาการในเวลานั้น ซึ่งเป็นจักษุแพทย์ทางด้านต้อหินได้ต่อรองให้ทำวิจัยโรคจอประสาทตาเสื่อม (RP) ก่อน และยังไม่ให้วิจัยโรคต้อหิน !!!
      
        ไม่มีใครให้เหตุผลที่แท้จริงได้ว่าทำไมจึงเลือกให้ทำวิจัยเรื่องโรคจอประสาทตาเสื่อมก่อน และยังไม่ให้วิจัยโรคต้อหิน?
      
        แต่ในมุมของผลประโยชน์แล้วเป็นที่ทราบกันในวงการจักษุแพทย์ว่าการรักษาโรคต้อหินคือกล่องดวงใจที่สำคัญ และนำไปสู่การแสวงหาผลประโยชน์มหาศาลจากการผ่าตัดโรคต้อกระจกอีกทอดหนึ่ง ดังนั้นหากสมมุติว่ามีวิธีการนวดตาแล้วรักษาโรคต้อหินเรื้อรังได้อย่างเรียบง่ายและราคาไม่แพง คนป่วยพึ่งพาตนเองได้ ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ในวงการจักษุแพทย์ได้ใช่หรือไม่?
      
        แต่ปัญหาสำคัญที่สุดในการประชุมครั้งนั้นคือ "สถาบันใดจะเสนอทำวิจัยโรคนี้ ?" ปรากฏว่าในที่ประชุมต่างเงียบและวางเฉยรวมถึงกลุ่มโรงเรียนแพทย์ จนคุณหมอปานเนตร ปางพุฒิพงศ์ ได้เสนอตัวให้ โรงพยาบาล เมตตาประชารักษ์ (โรงพยาลวัดไร่ขิง) กรมการแพทย์ เป็นสถาบันที่จะทำวิจัยพิสูจน์ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ เนื่องจากทางโรงพยาลวัดไร่ขิง ได้รับมอบหมายจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ให้สึกษาการผ่าตัดฝังชิพช่วยเหลือผู้ป่วยโรคจอประสาทตาเสื่อม (RP) ที่บอดสนิดแล้ว
      
        แต่กระบวนการวิจัยหลังจากการประชุมดังกล่าวก็ไม่ได้รับความร่วมมือหรือมีความคืบหน้าอย่างจริงจังจากทุกภาคส่วน งานวิจัยจึงยังไม่ก้าวหน้า และเมื่อเวลาก็ได้ล่วงเลยมาปีเศษ นพ.สมเกียรติ อธิคมกุลชัย ได้รับคำแนะนำจากผู้ป่วยโรคต้อหินเรื้อรังท่านหนึ่งคือ นายสหัส พุกกะมาน ที่ปรึกษาสำนักพระราชวัง ให้ทำหนังสือถึงคุณหญิงอารยา พิบูลนครินทร์ ราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และนายสหัส พุกกะมาน ก็ได้นำจดหมายส่งให้คุณหญิงอารยาด้วยตัวเอง โดยหนังสือดังกล่าวลงวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2555 และในหนังสือดังกล่าวยังคงระบุรายชื่อผู้ป่วยพร้อมเบอร์โทรศัพท์มือถือให้ทำการตรวจสอบผู้ป่วยที่มีอาการดีขึ้นจากการนวดตาหลายคน โดยความตอนหนึ่งในจดหมายมีใจความตอนหนึ่งว่า:
      
        "ข้าพเจ้าได้ทราบข่าวว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ได้เคยรับสั่งให้หน่วยงาน สวทช.พัฒนาวิจัยชิพขึ้นมา เพื่อให้โรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ทำการศึกษาวิธีผ่าตัดฝังชิพดังกล่าวให้แก่ผู้ป่วยที่ตาบอดสนิทแล้วจากโรคจอประสาทตาเสื่อมอาร์พี นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณแก่ผู้ป่วยโรคอาร์พีที่ตาบอดสนิทแล้วทั้งสองตาเป็นอย่างยิ่ง อย่างไรก็ตามเมื่อมีการค้นพบเทคนิคการนวดตาที่สามารถหยุดการดำเนินโรคได้แน่นอนแล้วในประเทศไทย ข้าพเจ้าใคร่ขอเสนอความคิดเห็นว่า ควรจะมีการประชาสัมพันธ์ข้อมูลของโรคนี้ให้ประชาชนทั่วไปได้รับทราบ เพื่อสนับสุนการค้นหาผู้ป่วยรายใหม่และช่วยเหลือผู้ป่วยรายเก่าที่ตายังไม่บอด ให้เข้าถึงการรักษาด้วยเทคนิกการนวดตา ก็จะทำให้ไม่มีผู้ป่วยตาบอดรายใหม่จากโรคนี้อีกต่อไป"
      
        ต่อมาคุณหญิงอารยา พิบูลนครินทร์ ราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ส่งจดหมายสอบถามข้อเท็จจริงและความคืบหน้าในการวิจัยไปยังกระทรวงสาธารณสุขเพื่อติดตามผล ถึง 2 ฉบับ
      
        โดยฉบับแรกเป็นหนังสือเลขที่ รล ๐๐๑๐/๘๗๙๕ ลงวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2555 จากคุณหญิงอารยา พิบูลนครินทร์ ราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี นำเรียน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข โดยเนื้อความในจดหมายระบุว่า :
      
        "ด้วยนายแพทย์สมเกียรติ อธิคมกุลชัย จักษุแพทย์ประจำโรงพยาบาลเอกชัย ตำบลโคกขาม อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร มีหนังสือขอให้นำความกราบบังคมทูลสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ขอพระราชทานพระราชวินิจฉัยเรื่องการรักษาผู้ป่วยโรคต้อหินเรื้อรังด้วยเทคนิคการนวดตา ซึ่งนายแพทย์สมเกียรติ เป็นผู้ค้นพบ โดยเทคนิคดังกล่าวสามารถช่วยเหลือโรคต้อหินให้ผู้ป่วยโรคต้อหินรักษาด้วยวิธีที่มีความสุข รอดพ้นจากการพิการตาบอด และจากผลสำเร็จในการคิดค้นดังกล่าว ได้นำไปสู่การคิดค้นต่อยอดเพื่อรักษาผู้ป่วยโรคจอประสาทตาอุดตัน โรคเส้นเลือดแดงจอประสาทตาอุดอัน โรคไมเกรน และโรคใบหน้ากระตุกครึ่งซีก จึงมีความห็นว่าควรจะผลักดันเทคนิคการนวดตาให้แพร่หลายเพราะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งทั้งในด้านการรักษา การป้องกัน การส่งเสริมสุขภาพและฟื้นฟูดวงตาแก่ผู้ป่วยด้วยโรคดังกล่าว แต่นายแพทย์สมเกียรติฯไม่มีความสามารถเพียงพอที่จะประชาสัมพันธ์เทคนิคการนวดตาให้เป็นที่แพร่หลายได้ ดังความละเอียดสำเนาหนังสือที่แนบมาพร้อมนี้
      
        จึงเรียนมาเพื่อขอได้โปรดพิจารณาข้อเท็จจริง และดำเนินการพิสูจน์ข้อเท็จจจริงว่าเป็นไปได้หรือไม่ ทั้งนี้หากมีความคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะประการใด กรุณาแจ้งให้ทราบด้วย จักขอบคุณยิ่ง เพื่อจะได้นำความกราบบังคมทูลประกอบพระราชวินิจฉัยต่อไป"
      
        เวลาผ่านไปอีก 7 เดือน คุณหญิงอารยา พิบูลนครินทร์ ราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ภายหลังไม่ได้มีความคืบหน้าเรื่องการพิสูจน์ข้อเท็จจริง จึงได้ทำหนังสือเลขที่ รล๐๐๑๐/๓๙๐๐ ลงวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2556 นำเรียนปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นครั้งที่ 2 ความว่า :
      
        "ตามหนังสือที่อ้างถึง ขอให้กระทรวงสาธารณสุขพิจารณาสอบข้อเท็จจริง กรณีนายแพทย์สมเกียรติ อธิคมกุลชัย จักษุแพทย์ประจำโรงพยาบาลเอกชัย ตำบลโคกขาม อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร มีหนังสือขอให้นำความกราบบังคมทูล สมเด็จพระเทพรันตนราชสุดาฯ สบามบรมราชกุมารี ขอพระราชทานวินิจฉัยเรื่องการรักษาผู้ป่วยโรคต้อหินเรื้อรังด้วยเทคนิกการนวดตา โดยเทคนิคดังกล่าวสามารถช่วยเหลือให้ผู้ป่วยด้วยโรคต้อหินเรื้อรังด้วยเทคนิคการนวดตา โดยเทคนิคกดังกล่าวสามารถช่วยเหลือให้ผู้ป่วยด้วยโรคต้อหินรักษาด้วยวิธีที่มีความสุข รอดพ้นจากการพิการตาบอดและสามารถนำไปคิดค้นต่อยอดเพื่อรักษาผู้ป่วยโรคจอประสาทตาเสื่อมอาร์พี โรคศูนย์กลางจอตาเสื่อมในผู้สูงอายุ โรคศูนย์กลางจอตาบวมน้ำ โรคเส้นเลือดดำจอประสาทตาอุดตัน โรคเส้นเลือดแดงจอประสาทตาอุดตัน โรคไมเกรน และโรคใบหน้ากระตุกครึ่งซีกความแจ้งอยู่แล้วนั้น
      
        บัดนี้เวลาได้ล่วงเลยมาพอสมควรแล้ว กองราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ยังมิได้รับทราบผลการพิจารณาสอบข้อเท็จจริง เพื่อกราบบังคมทูลทราบฝ่าละอองพระบาท
      
        จึงเรียนมาเพื่อขอได้โปรดเร่งรัดในการพิจารณาสอบข้อเท็จจริง หรือหากช่วยเหลือราษฎรแล้วประการใด กรุณาแจ้งให้ทราบด้วย จักขอบคุณยิ่ง เพื่อจะได้นำความกราบบังคมทูลประกอบพระราชวินิจฉัยต่อไป"
      
        แต่เวลาได้ผ่านไป 10 ปีแล้ว ความพยายามในการให้มีการวิจัยเพื่อพิสูจน์เรื่องการนวดตาว่าช่วยเหลือโรคต้อหินเรื้อรังและโรคจอประสาทตาเสื่อมว่าได้ผลหรือไม่ ก็ยังไม่คืบหน้าแต่ประการใด?

ณ บ้านพระอาทิตย์
       โดย...ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
ASTVผู้จัดการรายวัน    2 มกราคม 2558
หัวข้อ: ทำไมยังไม่ยอมวิจัยเรื่องการกดนวดตาเพื่อรักษาโรคต้อหินเรื้อรังฯ(5)
เริ่มหัวข้อโดย: story ที่ 13 มกราคม 2015, 07:37:35
ภายหลังจากคุณหญิงอารยา พิบูลนครินทร์ ราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทำหนังสือเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2555 ถึงปลัดกระทรวงสาธารณสุขเพื่อขอความอนุเคราะห์พิจารณาสอบข้อเท็จจริง และดำเนินการวิจัยพิสูจน์ข้อเท็จจริงว่าการรักษาผู้ป่วยโรคต้อหินเรื้อรังด้วยเทคนิคการนวดตานั้นเป็นไปได้หรือไม่?
      
        ถามว่าหลังจากมีหนังสือแล้วปรากฏว่างานวิจัยก็ได้รุดหน้าไปอีกครั้งหนึ่ง โดยได้มีการประชุมระหว่าง นพ.สมเกียรติ อธิคมกุลชัยผู้คิดค้นวิธีการนวดตาเพื่อรักษาโรคต้อหินเรื้อรังและจอประสาทตาเสื่อมร่วมกับสำนักการแพทย์ทางเลือก 1 ครั้ง และเป็นการประชุมระหว่าง นพ.สมเกียรติ อธิคมกุลชัย กับสำนักการแพทย์ทางเลือกและโรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (โรงพยาบาลวัดไร่ขิง) 3 ครั้ง
      
        ที่มีการประชุมที่โรงพยาบาลวัดไร่ขิงก็เพราะเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่จักษุแพทย์ที่ได้รับเชิญให้เป็นกรรมการในการวิจัยนั้นสามารถเข้าประชุมได้ง่ายขึ้น
      
        แต่เวลาผ่านไป 7 เดือน ยังไม่มีความคืบหน้าในการวิจัยใดๆ !!!?
      
        เวลาได้ล่วงเลยมาพอสมควร กองราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารียังมิได้ทราบผลการพิจารณาสอบข้อเท็จจริง เพื่อกราบบังคมทูลทราบฝ่าละอองพระบาท
      
        คุณหญิงอารยา พิบูลนครินทร์ ราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี จึงได้ทำหนังสือเป็นครั้งที่ 2เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2556 เพื่อขอให้ปลัดกระทรวสาธารณสุขได้โปรดเร่งรัดในการพิจารณาสอบข้อเท็จจริงเพื่อจะได้นำความกราบบังคมทูลประกอบพระราชวินิจฉัย
      
        หลังจากนั้นอีก 26 วัน จึงได้มีการจัด "ประชุมครั้งสุดท้าย"เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2556 ที่ว่าเป็นครั้งสุดท้ายก็ไม่ใช่เพราะว่ามีผลสรุปงานวิจัยใดๆแล้ว แต่หากเป็นเพราะว่า "จักษุแพทย์ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการ 3 ท่าน ไม่เข้าร่วมประชุมทั้งหมด"
      
        เหตุผลที่ไม่เข้าร่วมประชุมทั้ง 3 ท่าน ก็เพราะให้เหตุผลว่าติดงานตรวจรักษาผู้ป่วย ทั้งๆที่การประชุมครั้งนั้นมีการนัดหมายประชุมล่วงหน้าไปแล้วกว่า 3 สัปดาห์
      
        มันอาจจะเป็นความบังเอิญอย่างร้ายกาจที่แพทย์ทั้ง 3 ท่านติดงานตรวจรักษาผู้ป่วยพร้อมๆกัน หรือไม่?
      
        หรืออาจจะเป็นไปได้หรือไม่ ที่จักษุแพทย์ของโรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ ไม่ต้องการที่จะมีปัญหากับทางราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทยหรือไม่?
      
        10 ปี แห่งความมืดมนในขั้นตอนเพียงแค่การแสวงหาข้อเท็จจริงจากการวิจัยว่า วิธีการนวดตานั้นสามารถรักษาโรคต้อหินเรื้อรังและโรคจอประสาทตาเสื่อมได้หรือไม่?

ทำไมยังไม่ยอมวิจัยเรื่อง การกดนวดตาเพื่อรักษาโรคต้อหินเรื้อรังและจอประสาทตาเสื่อม !? (ตอนที่ 5)
        แต่ในช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมาเรากลับได้ข้อมูลจากผลการรักษาจาก นพ.สมเกียรติ อธิคมกุลชัย ถึงจำนวนผู้ป่วยที่มีตัวตนหลายคนซึ่งตาบอดไปแล้วสามารถกลับมามองเห็นใหม่ได้ หรือมีอาการดีขึ้นจากโรคต้อหินเรื้อรัง หรือโรคจอประสาทตาเสื่อม โดยไม่ต้องใช้ยาหรือใช้การผ่าตัด โดยการนวดกดตาจนเห็นแสง 2 นาทีต่อรอบ และทำมากกว่า 10 ครั้งต่อวัน และยังมีกรณีศึกษาไปไกลถึงการช่วยแก้ปัญหาให้กับผู้ป่วยที่ตาโปนจากโรคไทรอยด์เป็นพิษโดยไม่ต้องเสี่ยงกับการผ่าตัด แต่ก็ยังไม่มีผลการวิจัยออกมาแต่ประการใด
      
        ผลดีจะเป็นอย่างไรก็ควรจะวิจัยให้ทราบ ผลร้ายเป็นอย่างไรก็ควรจะสรุปออกมาเป็นงานวิจัยให้รู้ เพราะวันนี้เราเห็นผลดีแล้วจากผู้ป่วยกลุ่มหนึ่งเป็นที่ประจักษ์ที่รักษาด้วยการนวดตา แต่ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทยก็ดูเหมือนว่ายังไม่สามารถนำเสนอผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบในทางลบได้นอกจากการ "แสดงความคิดเห็น" เท่านั้น
      
        ผ่านไปอีกเกือบ 16 เดือน นับตั้งแต่มีหนังสือครั้งที่ 2 จากคุณหญิงอารยา พิบูลนครินทร์ ราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี เพื่อเร่งรัดปลัดกระทรวงสาธารณสุขในการพิจารณสอบข้อเท็จจริง ก็ยังไม่ปรากฏว่ามีผลสรุปงานวิจัยเป็นอย่างไร?
      
        ในขณะที่งานวิจัยยังไม่คืบหน้าก็ถือว่ายังไม่มีข้อยุติ ว่าการนวดตามีผลดีหรือผลร้ายเป็นอย่างไรกันแน่ แต่กลับปรากฏว่ามีผู้ที่ใช้ชื่อว่า "ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย" ได้จัดทำวีดีโอการ์ตูนเคลื่อนไหวเผยแพร่ในเว็บไซต์ยูทูป ในหัวข้อที่ว่า...
      
        "การนวดตาอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อดวงตา"
      
        โดยในเนื้อความของการเผยแพร่ครั้งนี้ได้มีการอธิบายเอาไว้ดังนี้
      
        "การนวดตาอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อดวงตา
      
        ปัจจุบันมีการพูดถึงการนวดตากันมาก ซึ่งยังไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ใดๆ ยืนยันว่าการนวดตาสามารถป้องกันและรักษาโรคตาใดๆได้
      
        นอกจากนี้ การนวดตาอาจทำให้เกิดอันตรายต่อดวงตาได้ เช่น การนวดตาโดยออกแรงกดไปที่ลูกตาโดยตรง จะเป็นการเพิ่มแรงดันในลูกตา ทำให้ลูกตาที่มีลักษณะกลมผิดรูป ซึ่งอาจส่งผลให้จอตาขาดและหลุดลอก เลนส์แก้วตาอาจเคลื่อน เลือดอาจออกในวุ้นตาโดยเฉพาะผู้ที่เป็นเบาหวานเข้าตาระยะรุนแรง และอาจทำให้ความดันตาสูงเรื้อรังจนเป็นต้อหิน
      
        การพักผ่อนสายตาที่ดีที่สุดคือ เมื่อเรามองใกล้ๆนานๆ เช่น อ่านหนังสือ หรือ จ้องหน้าอุปกรณ์พกพาต่างๆ ซึ่งครั้งหนึ่งไม่ควรเกิน 45 - 60 นาที แล้วให้ออกมามองบริเวณอื่นๆ มองออกไปไกลๆ หรือจะหลับตาก็ได้ เป็นเวลา 10 - 15 นาที เพื่อถนอมสายตาให้อยู่คู่ไปกับเรานานๆ
      
        ด้วยความห่วงใยต่อสุขภาพตาของคุณ โดยราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย"
      
        เพียงแค่ข้อมูลข้างต้นก็คงมีผู้คนอีกจำนวนมากคงจะเกิดความสับสนขึ้นอีกครั้ง แต่มีข้อสังเกตให้วิญญูชนได้ลองพิจารณาคำถามดังต่อไปนี้
      
        1. ถ้าราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทยเห็นว่าการนวดตาอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อดวงตา แล้วเหตุใดจึงไม่เร่งดำเนินการวิจัยว่าช่วยรักษาโรคต้อหินเรื้อรังและโรคจอประสาทตาเสื่อมได้จริงหรือไม่?
      
        การเลือกใช้ข้อความว่า "ไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ใดๆ ยืนยันว่าการนวดตาสามารถป้องกันและรักษาโรคตาใดๆได้" แท้ที่จริงแล้วก็เพราะการนวดตานั้นเป็นนวัตกรรมที่เกิดขึ้นในประเทศไทยที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แต่มีผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นจำนวนมากจึงสมควรต้องทำงานวิจัยเพื่อมีหลักฐานทางการแพทย์ แต่ที่ไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ก็เพราะราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย ไม่มีความจริงใจในการวิจัยเพื่อทำให้เกิดหลักฐานทางการแพทย์ ใช่หรือไม่?
      
        เพราะตลอดระยะเวลา 10 ปี ของการเรียกร้องของ นพ.สมเกียรติ อธิคมกุลชัย นั้น ไม่ได้เรียกร้องเพื่อให้รับรองการนวดตา แต่ให้วิจัยเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริง ด้วยเหตุผลใดจึงไม่มีความพยายามแสวงหาในข้อเท็จจริงนี้?
      
        2. เพราะไม่มีงานวิจัยรองรับถึงวิธีการนวดตาของ นพ.สมเกียรติ อธิคมกุลชัย การจะกล่าวอ้างถึงอันตรายก็ยังไม่สามารถสรุปได้เช่นกัน ดังนั้นการกล่าวอ้างว่าจะทำให้เกิดอันตรายนั้นจึงอยู่ในระดับเพียงแค่ "ความเห็น" ว่า "อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อดวงตา" และถ้าจะสร้างความตระหนักของคำว่า "อาจ" อันตราย โดยที่ไม่ได้มีงานวิจัยรองรับ ก็อาจจะทำให้สามารถมองอีกมุมหนึ่งได้เหมือนกันว่า "ไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ใดๆ ยืนยันว่าการนวดตาของ นพ.สมเกียรติ อธิคมกุลชัย มีอันตรายต่อดวงตาได้" ซึ่งเป็นตรรกะเดียวกัน จริงหรือไม่?
      
        3. ในระหว่างที่ยังไม่สรุปงานวิจัย (ซึ่งไม่รู้ว่าจะสรุปหรือไม่ และเมื่อไหร่) แม้การกล่าวถึงความเสี่ยงอันตรายนั้นถือเป็นสิ่งที่ดีที่จะสร้างความตระหนักและป้องกันให้กับแพทย์และผู้ป่วยเอาไว้ก่อน แต่คำถามสำคัญที่ตามมาคือ ในขณะที่ นพ.สมเกียรติ อธิคมกุลชัย ได้แสดงหลักฐานและมีกรณีศึกษาของผู้ป่วยจำนวนมากที่ใช้เทคนิคนวดตาแล้วมีอาการดีขึ้นจากโรคต้อหินเรื้อรังและโรคจอประสาทตาเสื่อมโดยไม่ต้องการผ่าตัด มีตัวตนและชื่อสกุลและเบอร์โทรศัพท์ที่ยืนยันข้อเท็จจริงได้ ทางด้านราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทยซึ่งได้กล่าวถึงข้อห่วงใยที่ว่า "อาจ" อันตรายนั้น ได้พิสูจน์และมีหลักฐานของผู้ป่วยที่ใช้วิธีเทคนิกนวดตาของ นพ.สมเกียรติ (ไม่ใช่ของคนอื่น) แล้วมีอันตรายเช่นนั้นหรือไม่ อย่างไร?
      
        ภายหลังระหว่างบทความนี้ได้เผยแพร่ไปแล้ว ได้รับทราบว่าราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย ได้กรุณาตอบคำถามและข้อสงสัยที่มีมาก่อนหน้านี้ แต่อย่างไรก็ตามมีข้อสังเกตที่น่าสนใจและน่าจะพิจารณา ซึ่งจะนำเสนอในโอกาสต่อไป
      

ณ บ้านพระอาทิตย์
       โดย...ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
ASTVผู้จัดการรายวัน    9 มกราคม 2558
หัวข้อ: ทำไมยังไม่ยอมวิจัยเรื่องการกดนวดตาเพื่อรักษาโรคต้อหินเรื้อรังฯ(ตอนจบ)
เริ่มหัวข้อโดย: story ที่ 01 กุมภาพันธ์ 2015, 02:00:06
ภายหลังบทความชุดนี้ได้ส่งไปยังถึงโรงพิมพ์ครบ 6 ตอน ก็ได้ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2557 นพ.ไพศาล ร่วมวิบูลย์สุข ประธานราชจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย ได้กรุณาทำหนังสือเลขที่ รจท. 5/2558 เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงว่าเหตุใดงานวิจัยในเรื่องนี้ยังไม่คืบหน้า
       
        อย่างไรก็แล้วแต่ข้อเท็จจริงเหล่านี้ในฐานะประชาชนและผู้ป่วยก็ควรจะได้รับข้อมูลรอบด้านเพื่อประกอบการตัดสินใจ

        ประการแรก นพ.ไพศาล ร่วมวิบูลย์สุข ประธานราชจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย ได้ทำหนังสือออกเป็นหลายส่วน ส่วนแรกคือข้อเท็จจริงของการนวดตาเพื่อรักษาโรคต้อหินเรื้อรังและโรคจอประสาทตาเสื่อม เนื้อหากล่าวโดยสรุปคือ ประธานราชจักษุแพทย์แห่งประเทศไทยได้ตั้งคำถามถึงข้อสงสัยในเรื่องนี้ว่าวิธีการกดนี้เอามาจากไหน เช่น การกดเห็นแสงเพื่ออะไร การกด 2 นาทีครึ่งเพราะอะไร การกดมากกว่า 10 ครั้งเพราะอะไร กด 50 ครั้งกับ 200 ครั้งต่างกันอย่างไร กดกลางวันหรือกลางคืนต่างกันหรือไม่ และไม่เชื่อว่าการใช้คอมพิวเตอร์มีผลทำให้ต้อหินเพิ่มมากขึ้น เพราะความชุกและอุบัติการณ์ของโรคต้อหินยังคงเท่าเดิม และกล่าวว่าในทางจักษุวิทยาโรคจอประสาทตาเสื่อมที่เรียกว่า Retinitis Pigmentosa เป็นโรคทางพันธุกรรม ไม่เกี่ยวข้องกับการไหลเวียน
       
        สำหรับข้อชี้แจงในเรื่องนี้ หากท่านผู้อ่านได้ติดตามมาอย่างต่อเนื่อง จะทราบว่าพื้นฐานสำคัญคือ
       
       1. นพ.สมเกียรติ อธิคมกุลชัย เชื่อว่าเนื้อเยื่อของร่างกายของคนเราสามารถ Remodel ได้ การกดตาเป็นวิธีการเร่งระบายน้ำออกจากลูกตา โดยแรงกดจะไปถ่างช่องทางระบายน้ำออกจากลูกตา ทำให้ความดันในลูกตาลดลง และถ้ากดบ่อยๆนานๆเข้า ช่องทางระบายก็น่าจะขยายถาวร ความดันลูกตาก็จะลดลงถาวรได้เช่นกัน และผลการรักษาด้วยวิธีนี้ก็ได้ผลดังกล่าวจริงกับผู้ป่วยเป็นจำนวนมาก
       
       2. นพ.สมเกียรติ อธิคมกุลชัย ได้พิสูจน์โดยใช้ Magnifying Contact Lens พิสูจน์พบว่ามีเลือดแดงเข้ามาในขณะกดตา ซึ่งสอดคล้องกลับงานวิชาการของ ศาสตราจารย์โจเซฟ เฟลมเมอร์ ที่ศึกษา 30 กว่าปี ในงานวิจัยเรื่อง ต้อหินและระบบไหลเวียนเลือดของลูกตา และเขียนตำราเรื่องต้อหิน และระบุว่า ระบบไหลเวียนเลือดน่าจะเป็นสาเหตุสำคัญของโรคต้อหิน จึงเห็นว่าการกดนวดตามีพื้นฐานทางการแพทย์รองรับอยู่
       
       3. นพ.สมเกียรติ อธิคมกุลชัย ได้ใช้วิธีการกดนวดตา โดยให้เห็นแสง 2 นาทีครึ่งต่อรอบ และทำมากกว่า 10 ครั้งต่อวัน นั้น ความจริงยังมีเงื่อนไขรายละเอียดเพิ่มเติมอีกหลายประการ เช่น ต้องกดไม่ให้เกิดอาการปวด และเมื่อกดไปเรื่อยๆแสงเหล่านั้นจะค่อยๆหายไป สิ่งที่เกิดขึ้นมานั้นก็น่าจะเป็นเพราะได้รับข้อมูลและสั่งสมประสบการณ์จากผู้ป่วยจริงที่มีอาการดีขึ้น ทั้งผู้ป่วยต้อหินเรื้อรังและโรคจอประสาทตาเสื่อม และข้อสำคัญที่น่ายินดีไปกว่านั้นคือมีผู้ป่วยที่ตาบอดไปแล้ว 3 วันกลับมามองเห็นได้อีกครั้งอีกด้วย
       
       เนื่องจากเรื่องนี้เป็นนวัตกรรมที่เกิดขึ้นและมีผู้ที่ได้รับประโยชน์ การที่จะตั้งคำถามว่าทำไมไม่เป็นอย่างนั้น หรือทำไมเป็นอย่างนี้ การจะหาคำตอบเหล่านั้นได้ก็น่าจะอยู่บนพื้นฐานงานวิจัยเชิงเปรียบเทียบที่มีการควบคุมและป้องกันอาการยาหลอก อย่างไรก็ตามไม่สำคัญเท่ากับว่า “มีเบาะแส” ที่ผู้ป่วยที่มีตัวตนจริงได้รับประโยชน์จากวิธีการนี้ หากราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทยมีความจริงใจและเห็นแก่ประโยชน์ของผู้ป่วย ก็ควรจะเปลี่ยนจากคำถามมาช่วยกันวิจัยเพื่อหาข้อเท็จจริงและหากคำตอบให้ได้ข้อยุติในเรื่องนี้จริงหรือไม่?
       
        ประการที่สอง นพ.ไพศาล ร่วมวิบูลย์สุข ประธานราชจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย ได้ชี้แจงเรื่องอันตรายของการกดนวดตาว่า การนวดตาจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของรูปทรงของน้ำวุ้นตา หากเกิดขึ้นนานๆอาจทำให้น้ำวุ้นตาที่เปลี่ยนแปลงนี้ดึงจอประสาทตา ทำให้จอประสาทตาฉีกขาดและหลุดออก หรือในรายที่มีเบาหวานเข้าจอประสาทตาจนมีเส้นเลือดผิดปกติเกิดขึ้นระหว่างน้ำวุ้นตาและจอประสาทตา ซึ่งอาจเกิดขึ้นโดยผู้ป่วยเบาหวานไม่รู้ตัว การกดตาจะทำให้เกิดการฉีกขาดของเส้นเลือดนี้ทำให้เกิดเลือดออกในน้ำวุ้นตา การกดนวดตาที่แรงเกินไปหรือกดเป็นประจำ อาจทำให้เลนส์แก้วตาเคลื่อนหลุดได้ และนอกจากนี้การกดตาอาจทำให้ต้อหินแย่ลงแทนที่จะช่วยรักษา เพราะจะทำให้ความดันตาเพิ่มขึ้นได้จากการกด การที่ผู้ป่วยต้อหินหยุดการใช้ยาหยอดหรือยารับประทานเพื่อคุมความดันตาที่ใช้อยู่ประจำ แต่หันมาใช้วิธีนวดตานี้แทน อาจทำให้ความดันตาสูงขึ้นจากเดิม จากที่เคยคุมได้จากยา และทำให้มีความเสี่ยงต่อตาบอดมากขึ้น ซึ่งมีผู้ป่วยตัวอย่างที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว
       
        สำหรับเรื่องนี้ นพ.สมเกียรติ อธิคมกุลชัย ได้ให้ความเห็นต่อข้อโต้แย้งนี้ว่า ถ้าลูกตามีรูระบายน้ำในลูกตาอุดตัน การกระตุ้นทางกายภาพด้วยการกดจะเพิ่มแรงดันลูกตาจริงยิ่งกดยิ่งขึ้น ถ้าเกิดขึ้นจากการตรวจพบเช่นนี้ก็ควรจะใช้การผ่าตัด ซึ่งกรณีดังกล่าวมีอยู่น้อยมาก แต่ลูกตาส่วนใหญ่แทบทุกคนนั้นมีรูระบายน้ำคนไข้ส่วนใหญ่ที่กดตาแล้วจะพบว่าหลังกดนวดตากลับพบว่าแรงดันตาลดลง ซึ่ง นพ.สมเกียรติ อธิคมกุลชัย ไม่ปฏิเสธว่าเรื่องดังกล่าวการควรได้รับการตรวจและได้รับคำแนะนำจากจักษุแพทย์อยู่
       
        สำหรับการใช้ยาหยอดตาที่ใช้สำหรับโรคต้อหินส่วนใหญ่เป็นยาลดการสร้างน้ำซึ่งจะเป็นผลทำให้ความดันตาลดลง แต่ก็มีผลเสียด้วยเพราะผลข้างเคียงคือยาประเภทนี้มีสารกันบูด ทำให้เยื่อตาขาวและผิวกระจกตาดำอักเสบจนอาจทุกทรมานจากการเป็นแผลได้ แต่ถ้าเป็นการใช้ยารับประทานก็จะมีผลข้างเคียงทำให้เกิดนิ่วในกระเพาะปัสสาวะหรือทางเดินปัสสาวะ ยังไม่นับการแพ้ยาที่อาจทำให้เกิดอาการช็อคได้เช่นกัน
       
       ดังนั้น นพ.สมเกียรติ อธิคมกุลชัย จึงมีความเห็นว่าการกดนวดตาเป็นการเร่งระบายน้ำออกซึ่งเป็นผลทำให้ความดันตาลดลง ถ้าอยู่ภายใต้คำแนะนำและการตรวจให้ถี่ถ้วนของจักษุแพทย์ก็จะสามารถบรรเทาอาการต้อหินได้ และหากความดันตาปกติแล้วก็จะสามารถหยุดใช้ยาได้ในที่สุด เป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยทั้งในด้านผลการรักษา และลดผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากยาได้ และลดค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยได้ ซึ่งย่อมจะเกิดประโยชน์ต่อผู้ป่วยเป็นที่ประจักษ์
       
       ข้อสำคัญการอ้างอิงทางวิชาการที่ ประธานราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทยได้กล่าวถึงว่ามีอันตรายนั้น กลับหมายถึงการขยี้ตา (Eye rubbing) และการใช้นิ้วจิ้มกดตา (Digital Massage) ไม่เหมือนกับการกดนวดรักษาตาของ นพ.สมเกียรติ อธิคมกุลชัย ที่ใช้อุ้งมือที่มีความอ่อนนุ่มกว่า จึงย่อมไม่สามารถเปรียบเทียบกันได้แต่ประการใด
       
        แต่ความสำคัญยิ่งกว่าคือประธานราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย ควรจะอ้างอิงในสิ่งที่ไม่เหมือนกันมาเผยแพร่ให้ประชาชนสับสนหรือไม่ อย่างไร !?

(http://mpics.manager.co.th/pics/Images/558000000627102.JPEG)

        ประการที่สาม นพ.ไพศาล ร่วมวิบูลย์สุข ประธานจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย ได้ชี้แจงกรณีการวิจัยเรื่องการนวดตากล่าวโดยสรุปว่า การวิจัยที่จะจัดทำขึ้นเป็นไปได้ยาก และมีความสุ่มเสี่ยงที่จะขัดกับหลักจริยธรรมของการวิจัยในมนุษย์ หากเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นอยู่กับผู้เข้าร่วมวิจัย จะต้องมีการกำหนดมาตรการในการรักษาภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นด้วย และราชวิทยาลัยฯจึงเลือกที่จะเป็นตัวกลางประสานให้ นพ.สมเกียรติ ที่ได้พบกับหน่วยงานที่สามารถช่วยสนับสุนให้ทำวิจัยเรื่องการนวดตาได้ ซึ่ง ASTV สามารถสอบถามความคืบหน้าเอาเองได้ และกล่าวว่า นพ.สมเกียรติ ได้รับการยืนยันจากศาสตราจารย์โจเซฟ เฟลมเมอร์ จากสวิสเซอร์แลนด์ ที่จะทำการวิจัยร่วมกัน ดังนั้น นพ.สมเกียรติ จึงสามารถทำงานวิจัยระดับนานาชาติได้ ซึ่งมีโอกาสจะได้รับการยอมรับจากนานาชาติมากกว่าการวิจัยในประเทศไทย นพ.สมเกียรติควรแสดงความน่าเชื่อถือของการรักษาวิธีนี้ โดยให้ข้อมูลความคืบหน้าในการวิจัยร่วมกับศาสตราจารย์ท่านนี้มาเสนอในบทความด้วย
       
       สำหรับกรณีนี้ นพ.สมเกียรติ อธิคมกุลชัย ให้ความเห็นว่า จริยธรรมที่เกิดขึ้น ก็ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมและความเป็นจริงที่เกิดขึ้นว่าอยู่ในบริบทใด กรณีการรักษาของ นพ.สมเกียรติ อธิคมกุล นั้นได้เห็นผู้ป่วยที่ยากจน และรวมถึง “ผู้ป่วยจำนวนมาก”ที่ได้รับความทุกข์ทรมานจนใกล้จะตาบอดหรือตาบอดไปแล้วแม้จะใช้แพทย์แผนปัจจุบันไปแล้วก็ไม่ดีขึ้น เมื่อการนวดตาสามารถทำให้มีอาการดีขึ้นได้ก็ต้องเข้าช่วยเหลือตามประสบการณ์และผลงานในการรักษาในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ดังนั้นนคำว่า “ธรรมจรรยา”ในเรื่องนี้ จึงน่าจะควรอยู่ที่ว่าหากมีความจริงใจจริงก็ควรช่วยกันเร่งและสนับสนุนให้งานวิจัยออกมาเป็นข้อสรุปโดยเร็วจากผู้ที่เข้ามารักษาจริงในปัจจุบันกับ นพ.สมเกียรติ อธิคมกุลชัย ว่าเป็นผลอย่างไร เพื่อสร้างโอกาสให้กับผู้ป่วยอีกจำนวนมาก จริงหรือไม่? ทั้งในแง่ “ประสิทธิผลและความปลอดภัย” สำหรับการให้ความร่วมมือของ ศาสตราจารย์โจเซฟ เฟลมเมอร์ แม้จะให้กำลังใจ นพ.สมเกียรติ อธิคมกุลชัย แต่เนื่องจากศาสตราจารย์โจเซฟ เฟลมเมอร์ ทำงานอยู่ในสถาบันที่อุปถัมภ์โดยบริษัทยา จึงไม่สามารถมาสนับสนุนโดยปราศจากทุนสนับสนุนงานวิจัยโดยไม่ต้องใช้ยาหรือเครื่องมือแพทย์ได้
       
       ประการสำคัญที่สุดเมื่อมีรายงานว่าผู้ป่วยโรคต้อหินเรื้อรังและจอประสาทตาเสื่อมมีอาการดีขึ้น โดยเฉพาะบางรายที่ตาบอดไปแล้วกลับมามองเห็นได้ การวิจัยเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริง หากผลการวิจัยได้พิสูจน์ได้ว่าการกดนวดตาผู้ป่วยได้รับประโยชน์จริง ก็ย่อมจะสร้างคุณูปการอันใหญ่หลวงต่อประชาชนและผู้ป่วยโรคนี้ ในขณะเดียวกันหากการวิจัยสามารถหาข้อยุติหรือพิสูจน์ได้ว่าการนวดตาด้วยวิธีนี้ได้เกิดผลร้ายกับใครด้วยเงื่อนไขใด ก็จะนำไปสู่บทสรุปถึงอันตราย หรือเป็นข้อห้าม หรือต้องควรระวัง ได้ต่อไปอย่างเป็นรูปธรรม หากมีความจริงใจ การที่จักษุแพทย์จะร่วมวิจัยในเรื่องดังกล่าวย่อมจะช่วยเปิดโอกาสให้กับผู้ป่วย และช่วยป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ด้วย จริงหรือไม่?
       
        จากเรื่องราวที่กล่าวมาถึง 7 ตอน ด้วยพฤติการณ์ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา รวมไปถึงหนังสือขอให้พิสูจน์ข้อเท็จจริงและทวงถามของราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารีถึง 2 ฉบับ แล้วยังไม่มีความคืบหน้าใดๆในการพิสูจน์ข้อเท็จจริงสังคมไทยย่อมสามารถที่จะใช้วิจารณญาณได้ว่าเกิดอะไรขึ้นในช่วงระยะเวลายาวนานที่ไม่ได้มีการวิจัยในเรื่องนี้ และอาจจะตัดสินได้ว่าประชาชนตาดำๆควรจะเชื่อใคร?

ณ บ้านพระอาทิตย์
       โดย...ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
       
ASTVผู้จัดการรายวัน    16 มกราคม 2558