My Community

หมวดหมู่ทั่วไป => ห้องพักผ่อนรวม (Common Room) => ข้อความที่เริ่มโดย: pani ที่ 05 มิถุนายน 2014, 10:26:01

หัวข้อ: การปฏิวัติน้ำเงิน-สารคดี(เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก)
เริ่มหัวข้อโดย: pani ที่ 05 มิถุนายน 2014, 10:26:01
อุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำกุมอนาคตอาหารโลกไว้ในมือจริงหรือ

นับตั้งแต่ปี 1980 เป็นต้นมา  อุตสาหกรรมเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทั่วโลกขยายตัวราว 14 เท่า  ในปี 2012 ปริมาณผลผลิตเพิ่มสูงถึง 66 ล้านตัน  แซงหน้าผลผลิตเนื้อวัวอย่างขาดลอยเป็นครั้งแรก  และคิดเป็นสัดส่วนเกือบครึ่งหนึ่งของปริมาณการบริโภคปลาและสัตว์ทะเลมีเปลือกทั้งหมดในโลก  คาดกันว่าการเพิ่มจำนวนประชากร การเติบโตของรายได้ และความเชื่อที่ว่าอาหารทะเลดีต่อสุขภาพและหัวใจ  จะผลักดันให้ความต้องการเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 35 หรือมากกว่าในเวลาเพียง 20 ปีนับจากนี้  ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า เนื่องจากปริมาณผลผลิตจากการทำประมงในธรรมชาติทั่วโลกอยู่ในภาวะชะงักงันความต้องการที่เพิ่มขึ้นเกือบทั้งหมดคงต้องมาจากการเพาะเลี้ยง

“เราไม่มีทางได้โปรตีนทั้งหมดที่เราต้องการจากปลาในธรรมชาติค่ะ” โรซามอนด์ เนย์เลอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายอาหารจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด และผู้ทำงานวิจัยเกี่ยวกับระบบเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ให้ทรรศนะ “แต่ผู้คนกังวลกันมากว่า เราจะสร้างอุตสาหกรรมเพาะเลี้ยงสัตว์แบบเข้มข้นอีกรูปแบบหนึ่งขึ้นในมหาสมุทร ดังนั้นพวกเขาจึงต้องการให้มันเป็นไปอย่างถูกต้องตั้งแต่แรก”

จะว่าไป พวกเขาก็มีเหตุผลควรให้ต้องกังวล

“การปฏิวัติน้ำเงิน” (Blue Revolution) รูปแบบใหม่ซึ่งส่งกุ้ง ปลาแซลมอน และปลานิล ในบรรจุภัณฑ์สุญญากาศราคาย่อมเยาไปขายทั่วโลก  ได้ก่อปัญหาสารพัดเช่นที่เคยเกิดขึ้นกับเกษตรกรรมบนบก ทั้งการทำลายถิ่นอาศัย มลพิษทางน้ำ และความกังวลเรื่องความปลอดภัยของอาหาร ในช่วงทศวรรษ 1980 พื้นที่ป่าชายเลนเขตร้อนอันกว้างใหญ่ไพศาลถูกแผ้วถางเพื่อทำฟาร์มกุ้ง ทุกวันนี้ มลพิษจากการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเป็นภัยร้ายที่แพร่กระจายไปทั่วเอเชีย ซึ่งเป็นแหล่งเพาะเลี้ยงปลาร้อยละ 90 ของโลก  ในการเลี้ยงปลาให้รอดในกระชังหรือบ่อที่แออัด  เกษตรกรหลายรายในภูมิภาคนั้นยัง  หันไปพึ่งยาปฏิชีวนะและสารฆ่าแมลงที่ห้ามใช้ในสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น

ปัญหาไม่ได้อยู่ที่การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำซึ่งทำกันมาตั้งแต่โบร่ำโบราณ แต่อยู่ที่การขยายตัวอย่างรวดเร็วและเข้มข้นต่างหาก คำถามคือเราจะพัฒนาอุตสาหกรรมนี้โดยไม่ก่อให้เกิดโรคระบาดและมลพิษได้อย่างไร  สำหรับบิล มาร์ติน เจ้าของฟาร์มเลี้ยงปลานิลรายใหญ่ที่สุดรายหนึ่งในสหรัฐฯ  คำตอบอยู่ที่การเลี้ยงปลาในบ่อบนดิน ไม่ใช่ในกระชังที่ลอยอยู่กลางแม่น้ำ ทะเลสาบ หรือในทะเล 

ในการเลี้ยงปลาให้รอด มาร์ตินต้องพึ่งพาระบบบำบัดน้ำเสียขนาดใหญ่พอจะใช้กับเมืองเล็กๆได้ทั้งเมือง ไฟฟ้าที่ใช้ป้อนระบบดังกล่าวมาจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน  เขานำน้ำในบ่อมาหมุนเวียนใช้ประมาณร้อยละ 85 น้ำส่วนที่เหลือซึ่งมีแอมโมเนียและของเสียจากปลาในปริมาณสูงจะถูกส่งต่อไปยังโรงบำบัดน้ำเสียในท้องถิ่น ขณะที่ของเสียปริมาณมากในรูปของแข็งมีจุดหมายปลายทางอยู่ที่บ่อกลบฝังขยะ เพื่อทดแทนน้ำที่สูญเสียไป เขาต้องสูบน้ำขึ้นมาจากบ่อบาดาล วันละกว่าหนึ่งล้านลิตร มาร์ตินตั้งเป้าว่าจะนำน้ำร้อยละ 99 มาใช้หมุนเวียน และนำก๊าซมีเทนจากของเสียมาผลิตไฟฟ้าคาร์บอนต่ำไว้ใช้เองในฟาร์ม  ทว่าเป้าหมายเหล่านั้นยังอยู่ห่างออกไปอีกหลายปี

ไกลออกไปจากชายฝั่งปานามา 13 กิโลเมตร ไบรอัน โอแฮนลอน ประธานบริษัทโอเพนบลูวัย 34 ปี ใช้แนวทางตรงกันข้าม โอแฮนลอนเป็นพ่อค้าปลารุ่นที่สามของครอบครัวจากนิวยอร์ก ในช่วงต้นทศวรรษ 1990 การล่มสลายของอุตสาหกรรมประมงปลาค้อดในมหาสมุทรแอตแลนติกตอนเหนือ ทำให้ธุรกิจของครอบครัวเขาล้มละลาย พ่อและลุงของเขาพูดเสมอว่า อนาคตของอุตสาหกรรมนี้อยู่ที่ปลาจากการเพาะเลี้ยง ดังนั้นโอแฮนลอนจึงเริ่มเลี้ยงปลากะพงแถบแดงใน บ่อขนาดใหญ่ตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่น

ปัจจุบัน โอแฮนลอนเป็นเจ้าของกิจการฟาร์มปลานอกชายฝั่งขนาดใหญ่ที่สุดในโลกซึ่งตั้งอยู่นอกชายฝั่งประเทศปานามา เขามีพนักงานราว 200 คน สถานีเพาะพันธุ์ปลาขนาดใหญ่บนฝั่ง และกองเรือสีส้มสดใสที่คอยวิ่งดูแลกระชังยักษ์มากกว่า 20 กระชัง ซึ่งสามารถเลี้ยงปลาช่อนทะเลได้มากกว่าหนึ่งล้านตัว   ด้วยอัตราการเจริญเติบโตที่เร็วมากทำให้ปลาชนิดนี้เป็นที่นิยมในหมู่ผู้เลี้ยงปลา และก็เช่นเดียวกับปลาแซลมอน ปลาช่อนทะเลอุดมไปด้วยกรดไขมันโอเมกา-3 ที่ดีต่อหัวใจ อีกทั้งเนื้อปลายังมีสีขาว ฉ่ำไขมัน และรสชาตินุ่มนวล เมื่อปีที่แล้ว เขาส่งปลาช่อนทะเล 800 ตันไปยังภัตตาคารหรูทั่วสหรัฐฯ ในปีหน้าเขาหวังว่าจะขายได้สองเท่า และทำกำไรได้ในที่สุด

การบำรุงรักษาและการจัดการฟาร์มปลานอกชายฝั่งมีต้นทุนสูง แม้การเลี้ยงปลาแซลมอนส่วนใหญ่จะกระจุกตัวอยู่ในอ่าวเล็กปลอดคลื่นลมใกล้ชายฝั่ง ขณะที่คลื่นเหนือกระชังของโอแฮนลอนอาจสูงถึงหกเมตรหรือมากกว่าแต่กระแสน้ำที่เชี่ยวกรากนี่แหละคือปัจจัยสำคัญ โอแฮนลอนใช้ความเจือจางช่วยป้องกันการสะสมของมลพิษและโรคปลา กระชังของเขาไม่เพียงมีความหนาแน่นของปลาคิดเป็นเศษเสี้ยวเดียวของฟาร์มปลาแซลมอนทั่วไป แต่ยังอยู่ในท้องน้ำลึกซึ่งมีทั้งคลื่นและกระแสน้ำพัดผ่านตลอดเวลา ที่ผ่านมาโอแฮนลอนยังไม่เคยใช้ยาปฏิชีวนะกับปลาช่อนทะเลที่เขาเลี้ยงและนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยไมแอมีก็ตรวจไม่พบของเสียจากปลาภายนอกกระชังเลย

แต่ไม่ว่าคุณจะเลี้ยงปลาในกระชังนอกชายฝั่งหรือในบ่อที่มีระบบกรองน้ำบนบก คุณจะยังคงต้องให้อาหาร               พวกมัน ปลามีข้อได้เปรียบสำคัญประการหนึ่งที่เหนือกว่าสัตว์บก นั่นคือคุณให้อาหารพวกมันน้อยกว่ามาก การผลิตปลาเลี้ยงหนึ่งกิโลกรัมใช้อาหารประมาณหนึ่งกิโลกรัม ขณะที่สัดส่วนระหว่างการผลิตเนื้อไก่ เนื้อหมู และเนื้อวัวหนักหนึ่งกิโลกรัมต่ออาหารที่ใช้อยู่ที่ 1:2, 1:3 และ 1:7 ตามลำดับ

แต่ปลาเลี้ยงบางชนิดซึ่งผู้บริโภคกระเป๋าหนักชื่นชอบก็มีข้อเสียเช่นกัน กล่าวคือ พวกมันเป็นสัตว์กินเนื้อที่ตะกละตะกลาม  ผู้เลี้ยงปลาช่อนทะเลอย่างโอแฮนลอนเลี้ยงปลาด้วยอาหารเม็ดที่ประกอบด้วยปลาป่นถึงร้อยละ 25 และน้ำมันปลาร้อยละห้า โดยส่วนประกอบที่เหลือส่วนใหญ่เป็นสารอาหารจากธัญพืช ปลาป่นและน้ำมันได้มาจากปลาที่เป็นเหยื่อปลาอื่นหรือเรียกรวมๆว่า “ปลาเป็ด” เช่น ปลาซาร์ดีนและปลากะตัก

นับตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา สัดส่วนปริมาณปลาเป็ดที่ป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่า ปัจจุบัน อุตสาหกรรมนี้สวาปามผลผลิตปลาป่นและน้ำมันปลาของโลกสูงถึงเกือบร้อยละ 70 และร้อยละ 90 ตามลำดับ ตลาดปลาป่นร้อนแรงมากถึงขนาดหลายประเทศส่งเรือไปทวีปแอนตาร์กติกาเพื่อจับคริลล์ตัวเล็กจิ๋วถึงปีละกว่า 200,000 ตัน ถึงแม้คริลล์ส่วนใหญ่จะลงเอยด้วยการนำไปผลิตยาและผลิตภัณฑ์อื่นๆ ทว่าสำหรับผู้วิพากษ์วิจารณ์อุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำแล้ว แนวคิดเรื่องการกวาดสิ่งมีชีวิตลำดับล่างสุดของห่วงโซ่อาหารเพื่อนำมาผลิตเป็นโปรตีนราคาถูก ฟังดูเหมือนความสิ้นคิดทางนิเวศวิทยาจริงๆ

อุตสาหกรรมเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำยกหลายเหตุผลมาแก้ต่าง เป็นต้นว่า ที่ผ่านมาเกษตรกรผู้เลี้ยงปลามีประสิทธิภาพมากขึ้น พวกเขาหันไปเลี้ยงปลาที่กินทั้งพืชและสัตว์อย่างปลานิล และใช้อาหารที่ประกอบด้วยถั่วเหลืองและธัญพืชอื่นๆเป็นหลัก ปัจจุบันอาหารปลาแซลมอนโดยทั่วไปมีส่วนประกอบของปลาป่นไม่เกินร้อยละ 10 สัดส่วนปริมาณปลาเป็ดที่ใช้ต่อผลผลิตหนึ่งกิโลกรัมลดลงจากเมื่อ 15 ปีก่อนถึงราวร้อยละ 80

การทดแทนน้ำมันปลายังคงเป็นเรื่องยากกว่า เพราะในน้ำมันปลามีกรดไขมันโอเมกา-3 อันมีค่า ในทะเลโอเมกา-3 สร้างขึ้นโดยสาหร่าย จากนั้นจะถูกส่งผ่านขึ้นไปตามลำดับในห่วงโซ่อาหาร บริษัทผู้ผลิตอาหารสัตว์บางแห่งกำลังสกัดโอเมกา-3 จากสาหร่ายโดยตรง วิธีการนี้ยังมีผลพลอยได้ในการช่วยลดปริมาณสารดีดีที สารพีซีบี และไดออกซิน ซึ่งอาจสะสมในปลาเลี้ยงได้ ขณะเดียวกัน โรซามอนด์ เนย์เลอร์ จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ก็ชี้ช่องทางที่ทำได้เร็วกว่าอย่างการดัดแปรพันธุกรรมพืชน้ำมันอย่างคาโนลาให้สร้างโอเมกา-3 ในปริมาณสูง

เรื่องโดย โจเอล เค. บอร์น จูเนียร์
มิถุนายน 2557