ผู้เขียน หัวข้อ: ทำไมจึงคัดค้านร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขพ.ศ. ....  (อ่าน 1870 ครั้ง)

khunpou

  • Full Member
  • ***
  • กระทู้: 111
    • ดูรายละเอียด
ทำไมจึงคัดค้านร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขพ.ศ. ....
พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา
ประธานสหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย
(สผพท.)
สาเหตุที่แพทย์ผู้ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขเป็นส่วนใหญ่ของแพทย์ที่มาออกหน้าคัดค้านร่างพ.ร.บ.นี้ ก็เพราะว่า
1.เราเห็นว่าประชาชนส่วนใหญ่จะเสียประโยชน์มากกว่าที่จะได้ประโยชน์จากพ.ร.บ.นี้ ประชาชนส่วนหนึ่งคาดหวังว่า ถ้าไปโรงพยาบาลแล้วเกิดความเสียหาย จะได้เงินช่วยเหลือและชดเชยอย่างรวดเร็วและเป็นจำนวนมากกว่าเพดาน 200,000 บาท ที่เคยได้จากมาตรา 41 ของพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
   แต่ความจริงที่จะเกิดขึ้นก็คือ
   1.1 รพ.กระทรวงสธ.ขาดเงิน ขาดคน ขาดเตียง ยา เวชภัณฑ์ เทคโนโลยีใหม่ๆอยู่แล้ว เมื่อต้องถูกบังคับให้จ่ายเงินเข้ากองทุน ก็จะยิ่งขาดเงินจัดซื้อยา เวชภัณฑ์ เตียง และเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัย  จึงจะมีผลให้ประชาชนส่วนใหญ่จะเสียประโยชน์ เพราะจะไม่ได้รับการดูแลรักษาเต็มที่
  1. 2.โรงพยาบาลเอกชนต้องเพิ่มเงินค่าบริการประชาชนมากขึ้น เนื่องจากมีต้นทุนเพิ่มจากการถูกจ่ายเข้ากองทุน ประชาชนที่ไปใช้บริการรพ.เอกชนก็ต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้น
   
2.เรามองเห็นว่ากลุ่มที่จะได้ประโยชน์อย่างมากจากการมีพ.ร.บ.นี้ คือกลุ่มผู้อยู่เบื้องหลังการเขียนและผลักดันร่างพ.ร.บ.นี้ จากการที่เขียนล็อกสเป็คให้ NGO มาเป็นกรรมการเสียงข้างมาก ในบทเฉพาะกาล ซึ่งต้องมาวางระเบียบกฎเกณฑ์การใช้เงิน รวมทั้งสามารถตั้งกรรมการถาวรมาสืบทอดอำนาจได้อีก เรียกว่า มีผลประโยชน์ทับซ้อน เหมือนกองทุน สปสช. สสส.สช.และกองทุนปฏิรูปประเทศ 600 ล้านบาทของราษฎรอาวุโส
3. การอ้างว่า พ.ร.บ.นี้ จะทำให้การฟ้องร้องลดลง และสามารถเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์ รวมทั้งสามารถพัฒนาระบบบริการสาธารณสุขนั้นไม่สามารถเป็นจริงได้ ทั้งนี้เพราะว่า
3.1 การอ้างว่าไม่ต้องพิสูจน์ถูกผิดนั้น  ทำไม่ได้ เพราะมาตรา 6 บอกว่า ถ้าไม่ผิด จะไม่จ่ายเงิน ฉะนั้นถ้ากรรมการให้จ่ายเงิน แสดงว่ามีความผิด
   และที่อ้างว่าไม่เพ่งโทษบุคคล ก็ไม่จริง เพราะโรงพยาบาลต้องส่งรายงาน ฉะนั้นประชาชนที่ได้รับเงินก็ต้องรู้อยู่แล้วว่าแพทย์คนไหนทำผิด อาจจะไปฟ้องศาล เพราะหวังจะได้เงินมากกว่า(เงินจากกองทุน)ก็เป็นได้ การร้องเรียนและฟ้องร้องกลับจะมากขึ้น
3.2 การที่มีคณะกรรมการและอนุกรรมการมาตัดสินว่าจะจ่ายเงิน(เพราะมีความผิด)หรือไม่ โดยไม่อาศัยความเห็นของผู้มีความรู้ในวิชาชีพเฉพาะ ทำให้เกณฑ์มาตรฐานวิชาชีพไม่มีความหมายเป็นที่เชื่อถือของประชาชนและประเทศชาติอีกต่อไป แพทย์ก็เลยขาดความมั่นใจในการรักษาผู้ป่วย ฉะนั้นแพทย์ก็จะพยายามไม่รักษาผู้ป่วยที่อาจจะเกิดปัญหา เช่นผู้ป่วยอาการหนัก ผู้ป่วยที่คาดว่าจะมีโรคแทรกซ้อน ผู้ป่วยที่ต้องการแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง ทั้งนี้ ผู้ป่วยจะถูกส่งต่อไปยังโรงพยาบาลขนาดใหญ่มากขึ้น ผู้ป่วยจะต้องเดินทางไกลขึ้นกว่าจะได้รับการรักษา เช่นในปัจจุบัน โรงพยาบาลอำเภอก็จะส่งผู้ป่วยไปรพ.จังหวัด ต่อไปถ้ามีพ.ร.บ.นี้ รพ.จังหวัดก็อาจส่งผู้ป่วยไปรพ.ของมหาวิทยาลัยมากขึ้น เพราะเป็นรพ.ที่มีมาตรฐานดีที่สุดในประเทศไทย ผู้ป่วยอาจสูญเสียเวลานาทีทองที่จะรอดชีวิต
 การอ้างว่าจะเอาความผิดเป็นบทเรียน ไปพัฒนาระบบบริการจึงเป็นไปไม่ได้ เพราะถ้าไม่ชี้ถูกผิดจริง จะเกิดบทเรียนหรือจะรู้ว่าแก้ไขอย่างไรนั้นไม่สามารถทำได้
3.3 การขยายอายุความจาก 1 ปี เป็น 3 ปี และขยายอายุความจากเมื่อเกิดเหตุการณ์ มาเป็นเมื่อผู้เสียหาย “รู้สึก” ว่าเกิดความเสียหายได้ยาวนานถึง 10 ปีนั้น เป็นการขยายอายุความโดยไม่มีที่สิ้นสุด ไม่มีประมาณ ย่อมจะขยายเวลาการฟ้องร้องโดยไม่มีที่สิ้นสุด
3.4 บุคลากรทางการแพทย์เกิดความโกรธ น้อยใจ เสียใจ ท้อใจ อึดอัดคับข้องใจ และหมดกำลังใจในการทำงาน เมื่อได้รู้ว่าพวกผู้บังคับบัญชาของเราเอง เห็นดีเห็นงามว่า พวกเราเป็นผู้ร้าย ทำให้ประชาชนเกิดความเสียหาย แล้วไม่ขอโทษ ไม่สำนึกผิด ไม่ช่วยเหลือผู้เสียหายอย่างรวดเร็วทันใจ จึงหันไปร่วมมือกับประชาชนส่วนหนึ่งที่อ้างว่าเป็นพวกผู้เสียหายและพวกอ้างว่าอยากคุ้มครองประชาชน ไปร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายตามหลักการและเหตุผลว่าจะคุ้มครองประชาชน แต่ในบทบัญญัติแต่ละมาตรานั้น มันขัดแย้งกับเหตุผลที่เขียนไว้โดยสิ้นเชิง และมีแนวโน้มว่า บุคลากรที่ทุ่มเททำงานหนักตามมาตรฐานและจริยธรรมวิชาชีพ จะไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 80(2)
ประชาชนจะเห็นได้ว่า กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ที่ออกมาประท้วงนั้น เป็นคนของกระทรวงสาธารณสุขทั้งสิ้น เพราะรัฐมนตรีสาธารณสุขบอกว่า ถ้าไปรวบรวมรายชื่อมาว่า 80%ของบุคลากรกระทรวงสาธารณสุขไม่สบายใจกับพ.ร.บ.นี้ จึงจะถอนร่างพ.ร.บ.นี้ออกไป
  จึงทำให้พวกเราที่อ่านพ.ร.บ.แล้ว ต้องเผยแพร่ให้เพื่อนร่วมชะตากรรม (ที่ต้องทำงานหนัก จนไม่มีเวลาสนใจว่า จะมีใครเขียนพ.ร.บ.คาดโทษเราไว้ก่อน) ได้หันมาสนใจในสาระสำคัญของพ.ร.บ.ด้วยว่า มันมีความนัยอะไรที่แอบแฝงอยู่บ้าง ที่สำคัญก็คือ รัฐมนตรีและปลัดกระทรวง ไม่เคยเอาใจใส่ว่า บุคลากรใต้บังคับบัญชาของตน ต้องทำงานบริการรับใช้ประชาชน โดยมีความเสี่ยงต่อความผิดพลาดสูง เพราะขาดทั้งคน เงิน สิ่งของ และที่สำคัญคือขาดขวัญกำลังใจ แทนที่เจ้านายผู้บังคับบัญชาจะช่วยดูแลแก้ไขและรับฟังปัญหาอุปสรรคของเราบ้าง รัฐมนตรีก้ไม่ยอมให้เข้าพบ สั่งปลัดมาบีบแพทย์ที่อยู่ใต้บังคับบัญชา จนไม่กล้าหือ
ส่วนตัวผู้เขียนเอง เป็นข้าราชการบำนาญแล้ว เดี๋ยวนี้ก็รักษาผู้ป่วยน้อยลง ความเสี่ยงต่อความผิดพลาดและเสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้องก็น้อยลง แต่ก็เป็นห่วงแพทย์รุ่นหลังที่ต้องทำงานรักษาประชาชนอยู่ รวมทั้งเป็นห่วงระบบการแพทย์และสาธารณสุขแบบไทยๆ ที่มีความห่วงใยเอื้ออาทรกัน จะสูญสลายไปมากขึ้น หลังจากเริ่มสูญสลาย เมื่อมีพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพ สปสช และมาตรา 41ที่ทำให้มีการฟ้องร้องเพิ่มขึ้น

  รัฐมนตรีและปลัดต้องหันมา “ปฏิรูป” ระบบบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขของกระทรวงให้มีมาตรฐาน มีความพอเพียง ทั้งคน เงิน สิ่งของ เทคโนโลยีที่จำเป็นให้เหมาะสม พอเพียง มีมาตรฐานก่อน เพื่อป้องกันความผิดพลาดและความเสียหายแก่ประชาชน ไม่ใช่ปล่อยปละละเลยให้บุคลากรทำงานอย่างชาดแคลนและสุ่มเสี่ยง จนทำให้ประชาชนตาย พิการ แล้วจึงมาชดเชยด้วยเงิน ที่ไม่สามารถซื้อชีวิตและสุขภาพให้ดีคืนกลับมาได้

ปล. เมื่อนายอภิสิทธิ์ได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สื่อมวลชนหลายสำนักต่างก็เปรียบเทียบเขากับประธานาธิบดีโอบามา  แต่เดี๋ยวนี้ โอบามาสามารถปฏิรูประบบบริการด้านสุขภาพได้ด้วยทีมงานของเขาเอง สำเร็จแล้ว แต่รัฐบาลอภิสิทธิ์ ต้องไปยืมมือคนแก่สองคน มาวางแผน “ปฏิรูป”ประเทศ หรือยอมให้ NGO มาสั่งการปฏิรูประบบบริการทางการแพทย์แทนรัฐบาล แต่การปฏิรูปนี้น่ากลัวว่าจะเลวร้ายลงกว่าเดิม เพราะรัฐบาล ไม่ฟังเสียงคนทำงานเลย