ผู้เขียน หัวข้อ: รักษาฟรี ไม่พอใจแถมเงินกลับบ้าน  (อ่าน 1764 ครั้ง)

pradit

  • Global Moderator
  • Sr. Member
  • *****
  • กระทู้: 322
    • ดูรายละเอียด
รักษาฟรี ไม่พอใจแถมเงินกลับบ้าน
« เมื่อ: 12 สิงหาคม 2010, 00:15:58 »
ระบบบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขไทย “ลงทุนน้อยแต่หวังผลเกินจริง”

ของถูกๆดีๆมีที่กระทรวงสาธารณสุขแห่งประเทศไทย

รักษาฟรี  ไม่พอใจแถมเงินกลับบ้าน

พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา

ประธานสหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย(สผพท)

President of Healthcare Workforce of Thailand (FHWT)

 

จากสถิติของWorld Bank www.worldbank.org ประเทศไทยมีค่าใช้จ่ายในด้านการดูแลรักษาสุขภาพของประชาชนแต่ละคนพียง 136 เหรียญสหรัฐ ในขณะที่ค่าใช้จ่ายด้านนี้โดยเฉลี่ยทั่วโลกต่อประชาชน 1คนเหมือนกัน คือ 802 เหรียญสหรัฐ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น พบว่าสิงคโปร์มีค่าใช้จ่ายนี้ 1,148 เหรียญ มาเลเซีย 309 เหรียญ จีน 108 เหรียญ ญี่ปุ่น 2,751 เหรียญ ออสเตรเลีย 3,968 เหรียญ สหรัฐ 7,285 เหรียญ

 ถ้าเปรียบเทียบจำนวนประชากรทั้งโลกที่มี 6,619 ล้านคนประเทศไทยมีประชากร 66.9ล้านคน คิดเป็น 1% ของประชากรทั้งโลก แต่ประเทศไทยมีค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาสุขภาพเพียง 0.17% ของค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประชากรโลก

 เมื่อคิดอัตราค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพเปรียบเทียบกับรายได้มวลรวมของประเทศ พบว่า ประเทศไทยมีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพเพียง 3.7% สิงคโปร์ 3.7% มาเลเซีย 4.4%จีน 4.6%ญี่ปุ่นเท่ากับ 8.0% ออสเตรเลีย 8.9% สหรัฐ 18.7%

แต่ถ้าเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาสุขภาพของรัฐบาลแล้ว จะพบว่า รัฐบาลไทยมีภาระค่าใช้จ่ายด้านนี้สูงถึง 11.3% ของค่าใช้จ่าย(งบประมาณ)ของประเทศ ในขณะที่ มาเลเซียมีอัตราภาระเดียวกันนี้เพียง 7.0% สิงคโปร์ 5.4% มาเลเซีย 7.0%  จีน 9.9% ญี่ปุ่น 11.9 อเมริกา 14.8

จะเห็นได้ว่า ประเทศไทยมีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพต่อประชาชน 1 คนต่ำมาก แต่ต้องใช้เงินงบประมาณแผ่นดินในอัตราส่วนที่สูงกว่าหลายๆประเทศ ทั้งนี้ เพราะนโยบายประชานิยม ที่ทำให้ประชาชน  47 ล้านคน มีสิทธิในการมารับการรักษาพยาบาลในระบบหลักประกันสุขภาพ โดยไม่มีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาสุขภาพของตนเอง และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่มีค่าใช้จ่ายในการบริหารสำนักงานกองทุนในราคาสูง แต่งบประมาณที่ไปส่งให้โรงพยาบาลที่ต้องรักษาผู้ป่วยนั้น เหลือ*เพียง 600 บาทต่อคนต่อปี คิดแล้วน้อยกว่า 20 เหรียญสหรัฐต่อคนต่อปี

   จึงไม่น่าแปลกใจเลย ที่โรงพยาบาลของรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข ที่เป็นแหล่งที่ต้องรับผิดชอบดูแลรักษาประชาชน 47 ล้านคน จะมีสภาพการเงินติดลบทางบัญชี ถึง 2 ใน 3 *ของจำนวนโรงพยาบาลทั้งหมด และมีโรงพยาบาลจำนวน  300 กว่าแห่งที่ขาดสภาพคล่องทางการเงิน*

   นอกจากงบประมาณแผ่นดินจะตกไปถึงโรงพยาบาลเป็นส่วนน้อยแล้ว ยังพบว่าการรักษาผู้ป่วยของโรงพยาบาลเหล่านี้ ถูกจำกัดด้วยบัญชียาหลักแห่งชาติ และสปสช.เองก็กำหนดรายการยามาด้วยในรายการที่เป็นโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูงบางโรค เช่น โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว ทั้งๆที่สปสช.มิได้เป็นผู้เชี่ยวชาญในการรักษาโรคเหล่านั้น ทำให้มีข้อจำกัดในการที่แพทย์ไม่สามารถสั่งยาที่เหมาะสมให้ผู้ป่วยได้ เพราะถ้าสั่งยาอื่น ก็ไม่สามารถเบิกเงินค่ารักษาผู้ป่วยจากสปสช.ได้ และยังมีกำหนดกฎเกณฑ์อื่นๆอีกมากมาย ที่ผิดเพี้ยนไปจากที่พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติบัญญัติไว้ เช่น การที่สปสช.ไปซื้อเครื่องมือ และเวชภัณฑ์ทางการแพทย์เอง ทั้งๆที่ไม่ใช่หน้าที่ของสปสช. และการบริหารงานที่อาจผิดกฎหมายอื่นๆอีกมากมาย

   เนื่องจากงบประมาณที่โรงพยาบาลได้รับมีจำนวนน้อยกว่าภาระงานจริง ทำให้ประชาชนไม่ได้รับยาที่เหมาะสมที่สุด และผลการรักษาของประชาชนในกลุ่มบัตรทอง มี *อัตราป่วยตายสูงที่สุด (ตายจากการเจ็บป่วย) สูงกว่าระบบประกันสังคม และระบบสวัสดิการข้าราชการ อย่างเห็นได้ชัด

   นอกจากความขาดแคลนด้านงบประมาณแล้ว โรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขยังขาดบุคลากรในปริมาณที่เหมาะสมกับจำนวนผู้ป่วย เห็นได้ชัดเจนว่าพยาบาลต้องทำงานควบเวร 16 ชั่วโมง แพทย์ต้องทำงานติดต่อกันมากว่า 32 ชั่วโมง โดยไม่ได้พักผ่อนนอนหลับอย่างเต็มที่ เพราะแพทย์มีหน้าที่เวรที่ต้องตื่นตลอดในห้องฉุกเฉิน และยังมีเวรที่หลับๆตื่นๆสำหรับดูแลรักษาผู้ป่วยที่นอนในโรงพยาบาลอีก ถ้าถูกตามไปดูผู้ป่วยตลอดทั้งคืน ก็ไม่ได้นอนหลับเลย และเมื่อหมดหน้าที่แพทย์เวรแล้ว ก็ยังไม่สามารถกลับไปพักผ่อนได้ ต้องทำหน้าที่แพทย์ประจำในเวลาราชการต่อไปอีก จนหมดเวลาราชการจึงจะไปพักผ่อนนอนหลับได้

   พบว่า สัดส่วนแพทย์ต่อประชาชนของสวีเดน(ที่ชอบเอามาอ้างกันมาก) นั้น มีแพทย์ 1 คนต่อประชากร322 คน แต่แพทย์ไทยในโรงพยาบาลอำเภอมีแพทย์ 1 คน ต่อประชาชน 30,000 คน พยาบาลของสวีเดนมี1 คนต่อประชาชน 121 คน แต่ประเทศไทยมีพยาบาล 1 คนต่อประชาชน 651 คน

   ทั้งนี้ ไม่ต้องกล่าวถึงบุคลากรทุกประเภทในโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข ที่ต้องเปิดทำการตลอด 24 ชั่วโมงทุกวันตลอดปี แต่ไม่สามารถบรรจุบุคลากรเข้าทำงานได้ เพราะข้อจำกัดของกพ. โรงพยาบาลจึงต้องเจียดเงินในลิ้นชักของโรงพยาบาล มาจ้างบุคลากรต่างๆ มาช่วยทำงานดูแลรักษาประชาชนเพิ่มเติม แต่ก็ยังไม่มีจำนวนที่เหมาะสมอยู่ดี

    การที่โรงพยาบาลต้องควักเงินของโรงพยาบาล ที่มีน้อยอยู่แล้ว บางโรงพยาบาลอยู่ในสภาวะที่ขาดสภาพคล่องทางการเงิน ทำให้โรงพยาบาล ไม่สามารถที่จะซื้อยา หรืออุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นสำหรับผู้ป่วยได้

   จึงไม่แปลกอะไร ที่เราจะเห็นโรงพยาบาลของรัฐบาลทุกระดับ พยายามจัดงานต่างๆในการระดมทุนหรือขอบริจาคจากประชาชน เพื่อหารายได้มาดำเนินงานรักษาผู้ป่วยอยู่เป็นนิจศีล โรงพยาบาลรัฐบาลขนาดใหญ่ที่มีชื่อเสียงในระดับสูงสิบอันดับแรกของประเทศ  เช่นโรงเรียนแพทย์ต่างๆ ก็หาเงินบริจาคได้มาก แต่โรงพยาบาลเล็กๆ ก็ขาดเงินทำงานอยู่ร่ำไป

   การขาดเงินทำงานของโรงพยาบาล ประกอบกับรัฐบาลไม่ได้จัดสรรเงินในการพัฒนาโรงพยาบาลเลย เพราะภาระค่าใช้จ่ายงบประมาณให้สปสช.สูงถึงปีละ 120,000 ล้านบาท ทำให้กระทรวงสาธารณสุขไม่มีเงินมาซ่อมแซม ปรับปรุง และพัฒนาโรงพยาบาลรวมทั้งไม่สามารถพัฒนาเทคโนโลยีและเครื่องมือทางการแพทย์มานับ 10 ปีแล้ว

   โดยสรุป โรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข อยู่ในสภาพขาดแคลนองค์ประกอบที่จะทำงานดูแลรักษาประชาชน ขาดทั้ง คน เงิน และของ  แต่บุคลากรของกระทรวงสาธารณสุขก็ยังก้มหน้าก้มตา ทำงานตามหน้าที่ในวิชาชีพ ที่ได้รับการปลูกฝัง ให้มีมาตรฐาน มีจรรยาบรรณ มีคุณธรรม จริยธรรม ทั้งนี้ เพื่อช่วยดูแลรักษาประชาชนอย่างเต็มกำลังความสามารถ ยอมทำงานยาวนานติดต่อกันเกินมาตรฐานที่ควรทำ หาเตียงเสริม หาเงินบริจาค และพยายามทำหน้าที่ของตนเองอย่างดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่การทำงานที่ยาวนานติดต่อกันเกินมาตรฐานของวิชาชีพนี้ทั่วโลก อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อความผิดพลาด และผลเสียต่อผู้ป่วยได้ง่าย

   บุคลากรที่ทนภาระงานไม่ได้ หรือมีความจำเป็นทางครอบครัว ก็เลือกการลาออกไปหาโอกาสในการทำงานในสภาพที่ดีกว่านี้ บุคลากรที่ยังเหลืออยู่ก็ยิ่งมีภาระเพิ่มขึ้น

   แต่แทนที่รัฐบาลโดยกระทรวงสาธารณสุข จะหาทางป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชนในการไปโรงพยาบาล กลับรอให้เกิดความเสียหาย พิการ ตาย แล้วจึงจะให้ค่าช่วยเหลือและชดเชย

   แทนที่ประชาชนจะไปเรียกร้องให้รัฐบาล ให้จัดการบริการทางการแพทย์ให้เหมาะสม ได้มาตรฐานเหมือนสวีเดน กลับพอใจที่จะเสี่ยงอันตราย แล้วมาขอเงินชดเชยหลังจากพิการหรือตายไปแล้ว เหมือนสวีเดน

  การเขียนพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากบริการสาธารณสุขนั้น เขียนหลักการ และเหตุผลให้ดูดี แต่ซ่อนความนัยไว้มาก การอ้างว่าไม่เพ่งโทษบุคคล ก็ไม่จริง การอ้างว่าไม่พิสูจน์ถูก/ผิด ก็ไม่จริง การอ้างว่า การร้องเรียนฟ้องร้องจะลดลงก็ไม่จริง

  และที่สำคัญคือบทเฉพาะกาล 180 วัน เขียนล็อคสเปคไว้เลยว่า ใครจะมานั่งบริหารกองทุนในระยะแรก เพื่อเตรียมวางตัวคนมาบริหารกองทุนระยะยาว และเตรียมงาบงบประมาณมากมายมหาศาล

   เหมือนการเขียนพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แล้วมานั่งเป็นเลขาธิการ และวางตัวทายาทคนต่อไป

ผลักดันร่างพ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ แล้วมาเป็นเลขาธิการเอง

ชงเอง กินเอง และหากองทุนใหม่เพื่อกินต่อไป

   ปปช.สมควรมาตรวจสอบผลประโยชน์ทับซ้อนของคนกลุ่มนี้ด้วย

สำหรับรัฐบาลนี้ มองดูคนที่มาเป็นรัฐมนตรีแต่ละคน ก็ดูภายนอกอาจ smart แต่ดูแนวคิดและการทำงานแล้ว หากึ๋นไม่เจอเลย

   หรือผู้เขียนจะมองคนผิดไป?

*ข้อมูลจากการสัมมนา “แปดปีภายใต้หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 12 มีค. 2553 จัดโดยแพทยสภา
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 12 สิงหาคม 2010, 07:57:56 โดย pradit »