ผู้เขียน หัวข้อ: สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 23-29 ก.ย.55  (อ่าน 1109 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9779
    • ดูรายละเอียด
สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 23-29 ก.ย.55
« เมื่อ: 15 ตุลาคม 2012, 03:03:37 »
1. “ในหลวง” พระราชทานทรัพย์ 90 ล้าน ตั้ง “กองทุนการศึกษา” สร้างคนดีคืนสู่สังคม!
       
       เมื่อวันที่ 25 ก.ย. นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) เผยว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชประสงค์จะพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน 90 ล้านบาท เพื่อจัดตั้งกองทุนการศึกษา โดยมีวัตถุประสงค์ 3 ประการ คือ 1.ส่งเสริมสนับสนุนและปลูกฝังค่านิยมการยึดมั่นในคุณธรรม จริยธรรม เพื่อให้เด็กเติบโตเป็นพลเมืองที่มั่นคงอยู่ในคุณงามความดี 2.ส่งเสริมและสนับสนุนเด็กที่มีความประพฤติดี ให้ได้รับการศึกษาจนสำเร็จการศึกษา และ 3.ส่งเสริมสนับสนุนและช่วยเหลือโรงเรียนที่คณะกรรมการพิจารณาเห็นสมควร
       
       และเพื่อให้การดำเนินงานโครงการดังกล่าวเป็นไปตามพระราชประสงค์ด้วยความเรียบร้อย จึงได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการอำนวยการโครงการกองทุนการศึกษา โดยมี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี เป็นประธานคณะกรรมการอำนวยการโครงการ และ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี เป็นประธานคณะกรรมการบริหารโครงการ
       
       ทั้งนี้ การดำเนินโครงการในระยะแรก จะมีการคัดเลือกโรงเรียนขึ้นมา 23 แห่ง และคัดเลือกนักเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมเข้ารับทุนการศึกษาทั้งหมด 42 คน ทั้งระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา โดยระดับประถมฯ จะได้รับการอุดหนุน ปีละ 10,000 บาท ส่วนระดับมัธยมฯ ได้ปีละ 15,000 บาท นายชินภัทร เผยด้วยว่า โครงการกองทุนการศึกษานี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะทำให้โรงเรียนเป็นต้นแบบในการสร้างคนดีคืนสู่สังคม และเป็นการดำเนินงานในลักษณะปิดทองหลังพระ
       
       สำหรับความคืบหน้าพระอาการประชวรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 24 ก.ย.สำนักพระราชวัง ได้ออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 57 ว่า คณะแพทย์ผู้ถวายการรักษารายงานว่า เมื่อวันที่ 22 ก.ย. พระองค์ทรงมีพระปรอทต่ำๆ ช่วงเช้า และขึ้นสูง 38.7 องศาเซลเซียสในตอนบ่ายและกลางคืน ทรงมีพระกรรสะเล็กน้อย ผลการตรวจพระวรกาย การหายพระทัยเร็วขึ้นเล็กน้อย การเต้นของพระหทัยเร็วขึ้นเล็กน้อย ไม่มีพระอาการเจ็บพระนาภี ผลการตรวจเอกซเรย์พระอุระ(ทรวงอก) และการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ปรากฏว่า เหมือนเดิม ผลการตรวจพระโลหิตพบว่ามีการอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย และได้ทำการเพาะเชื้อในพระโลหิต ซึ่งระหว่างรอผลตรวจ คณะแพทย์ได้ถวายพระโอสถปฏิชีวนะทางหลอดพระโลหิตเมื่อวันที่ 23 ก.ย. จากนั้น พระปรอทลดลง เสวยพระกระยาหารได้และบรรทมได้ดี
       
       ต่อมา วันที่ 25 ก.ย. สำนักพระราชวังออกแถลงการณ์ว่า คณะแพทย์ผู้ถวายการรักษา รายงานความคืบหน้าพระอาการประชวรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า อุณหภูมิพระวรกายเป็นปกติตั้งแต่เมื่อวันที่ 24 ก.ย. การหายพระทัยและการเต้นของพระหทัยกลับเป็นปกติ ความดันพระโลหิตปกติ ผลการตรวจพระโลหิต พบว่ากลับเป็นปกติ ขณะที่ห้องปฏิบัติการรายงานผลการตรวจเพาะเชื้อในพระโลหิตเป็นระยะเวลา 72 ชั่วโมง ไม่พบเชื้อแบคทีเรีย พระอาการทั่วไปดี เสวยพระกระยาหารได้มากขึ้น และบรรทมได้ดี คณะแพทย์จึงได้ขอหยุดถวายพระโอสถปฏิชีวนะทางหลอดพระโลหิตตั้งแต่วันที่ 26 ก.ย.เป็นต้นไป
       
       2. พิษอัลไพน์ “ยงยุทธ” สุดต้าน ไขก๊อกรองนายกฯ -มท.1 แล้ว มีผล 1 ต.ค. ด้าน ปชป.ชี้ ต้องหลุด ส.ส.ด้วย!

นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย ให้สัมภาษณ์กรณีการลาออกจากตำแหร่ง เมื่อวันที่ 28 ก.ย.
       ตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ได้ชี้มูลความผิดวินัยร้ายแรงนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงมหาดไทยและรักษาการปลัดกระทรวงมหาดไทย ปฏิบัติหน้าที่มิชอบกรณีที่ดินอัลไพน์ ต่อมามีข่าวว่า ที่ประชุมคณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือน(อ.ก.พ.) กระทรวงมหาดไทยได้มีมติปลดนายยงยุทธ หลังมีทางเลือก 3 ทาง คือให้ออก ปลดออก หรือไล่ออก อย่างไรก็ตามการปลดดังกล่าวเป็นการปลดย้อนหลังไปตั้งแต่วันที่กระทำความผิดและยังอยู่ในราชการ ส่งผลให้มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า นายยงยุทธขาดคุณสมบัติที่จะเป็นรัฐมนตรีแล้วหรือไม่ ซึ่งแกนนำพรรคเพื่อไทยต่างยืนยันว่า นายยงยุทธไม่ต้องหลุดจากรัฐมนตรี ขณะที่นายยงยุทธ ก็ยืนยันว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีไม่ได้ติดใจเรื่องนี้ เพราะได้สอบถามข้อกฎหมายจากคณะกรรมการกฤษฎีกาและสำนักงานข้าราชการพลเรือน(ก.พ.) แล้ว นายยงยุทธยังบอกให้สื่อมวลชนรอฟังการชี้แจงจาก อ.ก.พ.ด้วย
       
       ซึ่งต่อมา นายพระนาย สุวรรณรัฐ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะรองประธาน อ.ก.พ.กระทรวงมหาดไทย ได้แถลงข่าวพร้อมแจกเอกสารชี้แจงมติ อ.ก.พ.กรณีนายยงยุทธ โดยบอกว่า ที่ประชุม อ.ก.พ.เห็นด้วยกับ ป.ป.ช.เสียงข้างน้อย 3 คน ที่เห็นว่ายังไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะฟังได้ว่านายยงยุทธกระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหา แต่ อ.ก.พ.จำเป็นต้องลงมติปลดนายยงยุทธตามมติเสียงข้างมากของ ป.ป.ช. อย่างไรก็ตาม นายพระนาย บอกว่า แม้นายยงยุทธจะถูกลงโทษปลดออก แต่ถือว่าเข้าข่ายได้รับการล้างมลทินตามมาตรา 5 ของ พ.ร.บ.ล้างมลทิน พ.ศ.2550 ซึ่งผลของการล้างมลทิน ทำให้ผู้นั้นไม่เคยถูกลงโทษหรือลงทัณฑ์ทางวินัยในกรณีนั้นๆ ส่งผลให้นายยงยุทธไม่ขาดคุณสมบัติการดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดใด
       
       ด้านแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ข้องใจที่ อ.ก.พ.มีมติลงโทษนายยงยุทธย้อนหลังไปเมื่อวันที่ 30 ก.ย.2545 เพื่อให้เข้าข่าย พ.ร.บ.ล้างมลทิน พ.ศ.2550 โดยนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ชี้ว่า การจะเข้าข่าย พ.ร.บ.ล้างมลทินได้ ไม่ใช่แค่ว่าผู้ถูกลงโทษทางวินัยได้กระทำก่อนหรือในวันที่ 5 ธ.ค.2550 เท่านั้น แต่ผู้นั้นต้องได้รับโทษหรือรับทัณฑ์ทั้งหมดหรือบางส่วนไปก่อนหรือในวันที่ พ.ร.บ.ดังกล่าวใช้บังคับด้วย ซึ่งนายยงยุทธยังไม่ได้รับโทษแต่อย่างใด และอยากถาม อ.ก.พ.ว่า ทำไมจึงพิจารณาโทษย้อนหลัง ทั้งที่พิจารณาในเดือน ก.ย.2555
       
       ขณะที่นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา และหัวหน้าทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) เตือนรัฐบาลว่า หากไม่มีการปลดนายยงยุทธออกจากรัฐมนตรี ครม.ทั้งหมดจะต้องร่วมรับผิดชอบทั้งในทางอาญาและปกครอง และหากนายยงยุทธยังเป็นประธานในการประชุม ครม.วันที่ 25 ก.ย.แทน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่เดินทางไปต่างประเทศ นายกรัฐมนตรีจะต้องร่วมรับผิดชอบด้วย “จึงขอให้นายยงยุทธลาออก หากไม่ลาออก ทีมกฎหมายเห็นว่ามีกระบวนการที่จะดำเนินการ 3 ช่องทาง คือ 1.ให้ ส.ส.เข้าชื่อ 1 ใน 10 หรือ 50 คน ร้องต่อประธานสภาฯ ให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคุณสมบัติ 2.ยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน และ 3.ยื่นคำร้องต่อ กกต.เพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคุณสมบัติ”
       
       เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังเจอคำเตือนจากพรรคประชาธิปัตย์ ส่งผลให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่กล้าให้นายยงยุทธเป็นประธานการประชุม ครม.เมื่อวันที่ 25 ก.ย. โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้โทรศัพท์สั่งการจากต่างประเทศให้นายยงยุทธเดินทางไปดูแลเรื่องน้ำท่วมและเรื่องการเยียวยาที่ จ.ปราจีนบุรีแทน และให้ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานประชุม ครม.แทน รวมทั้งให้นายยงยุทธระงับการเสนอบัญชีแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับสูงของกระทรวงมหาดไทยเข้า ครม.ด้วย เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจตามมา
       
       ทั้งนี้ เริ่มมีข่าวว่านายยงยุทธอาจลาออกหรือพักร้อนเพื่อลดแรงเสียดทาน แต่นายยงยุทธไม่ตอบรับหรือปฏิเสธ โดยบอก ทุกอย่างขึ้นอยู่กับนายกรัฐมนตรี หากอยากให้ทำหน้าที่ต่อก็ต้องทำต่อไป พร้อมย้ำ ไม่ได้กังวลหรือผวากับสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะมั่นใจว่าทำในสิ่งที่ถูกต้องแล้ว
       
       อย่างไรก็ตาม กระแสกดดันเริ่มมากขึ้นๆ โดยนายเทพพนม นามลี ประธานคณะกรรมการกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) แดงสุรินทร์ และสมาชิกพรรคเพื่อไทย ได้ยื่นเรื่องต่อ กกต.ให้ตรวจสอบคุณสมบัติของนายยงยุทธว่ายังอยู่ในตำแหน่งรัฐมนตรีต่อไปได้หรือไม่ พร้อมอ้างว่า ที่ตนต้องมายื่น กกต. เพราะกลัวว่านายยงยุทธจะเป็นเหตุให้พรรคเพื่อไทยต้องถูกยุบ
       
       ขณะที่นายยงยุทธเอง ก็ได้มอบหมายให้นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรเพื่อไทย ไปยื่น กกต.เพื่อตรวจสอบคุณสมบัติของตนเองเช่นกัน พร้อมยืนยันว่าที่ยื่น กกต.เพื่อให้เกิดความชัดเจนในข้อกฎหมาย และไม่ได้มีคำสั่งจากใคร แต่ตัดสินใจด้วยตัวเอง
       
       ด้านนายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการไต่สวนที่ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์ ได้ออกมายืนยันว่า นายยงยุทธไม่เข้าข่ายได้รับการล้างมลทินตาม พ.ร.บ.ล้างมลทิน พ.ศ.2550 เพราะนายยงยุทธยังไม่ได้รับโทษจากการลงมติของ อ.ก.พ.กระทรวงมหาดไทย จึงยังไม่มีมลทินและไม่เข้าหลักเกณฑ์การล้างมลทินตามกฎหมาย
       
       ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ชี้ว่า นายยงยุทธขาดคุณสมบัติที่จะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีแล้ว จึงไม่มีความชอบธรรมที่จะปฏิบัติหน้าที่ใดใด และนายกรัฐมนตรีต้องเร่งแก้ปัญหานี้
       
       จากนั้นเริ่มมีกระแสข่าวอีกครั้งว่านายยงยุทธจะลาออก ซึ่งนายยงยุทธดูเหมือนจะเครียดขึ้นเรื่อยๆ โดยเมื่อบ่ายวันที่ 28 ก.ย. ได้เดินทางไปกราบสมเด็จพระพุฒาจารย์(เกี่ยว อุปเสโณ) ที่วัดสระเกศราชวรวิหาร จากนั้นช่วงเย็นได้เปิดแถลงด้วยสีหน้าไม่สู้ดี โดยยอมรับว่า ได้ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งรองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแล้ว โดยจะมีผลในวันที่ 1 ต.ค. พร้อมให้เหตุผลที่ลาออกว่า เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น “เป็นความจำเป็นของผมเองที่มีความประสงค์จะลาออกจากทั้ง 2 ตำแหน่ง แต่ยืนยันว่าผมยังคงทำหน้าที่หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และ ส.ส.บัญชีรายชื่ออยู่ ทั้งนี้ ในระหว่างนี้จนถึงวันที่ 1 ต.ค.ผมจะยังคงทำหน้าที่ตามปกติ”
       
       ด้านนายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษากฎหมาย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รีบออกมายืนยันว่า พ.ต.ท.ทักษิณไม่ได้กดดันให้นายยงยุทธลาออก และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ก็ไม่ได้โทรศัพท์สั่งการให้นายยงยุทธลาออกเช่นกัน
       
       อย่างไรก็ตาม แม้นายยงยุทธจะลาออกจากรองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแล้ว แต่นายวิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ ได้ออกมาชี้ว่า การถูกปลดออกหรือไล่ออกเพราะทุจริตในหน้าที่ จะต้องลาออกจาก ส.ส.ด้วย เพื่อไม่ให้สภาต้องมีมลทิน พร้อมยืนยัน พรรคจะยื่นเรื่องต่อประธานสภาฯ เพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคุณสมบัติของนายยงยุทธต่อไป โดยจะเหลือเพียงวินิจฉัยคุณสมบัติการเป็น ส.ส.เท่านั้น
       
       3. พันธมิตรฯ ออกแถลงการณ์ประณาม “เสื้อแดง” ปั่นหัวมวลชนทำร้ายคนอื่น พร้อมติง รัฐบาล-ตร.ส่งสัญญาณให้ท้าย!

ประชาชนที่รักสถาบันพระมหากษัตริย์จำนวนมากเดินทางไปให้กำลังใจอดีตครูสาวที่กองปราบฯ ก่อนถูกคนเสื้อแดงป่วนจนเกิดการปะทะกันในเวลาต่อมา(25 ก.ย.)
       เมื่อวันที่ 27 ก.ย. แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้ประชุมและออกแถลงการณ์เรื่อง ประณามการยั่วยุ คุกคาม โดยคนเสื้อแดงและตำรวจ ทั้งนี้ พันธมิตรฯ ได้ระบุถึงแถลงการณ์ก่อนหน้านี้ที่ได้ประกาศพร้อมให้ความช่วยเหลือเรื่องทนายแก่ น.ส.มนัสนันท์ หนูคำ อดีตครูโรงเรียนนานาชาติ ที่ถูกพนักงานสอบสวนกองปราบปรามเรียกให้ไปรายงานตัวในวันที่ 25 ก.ย.ในคดีที่ถูกนางดารุณี กฤตบุญญาลัย แนวร่วมคนเสื้อแดง แจ้งความดำเนินคดีข้อหาหมิ่นประมาท หลัง น.ส.มนัสนันท์ ได้พูดต่อว่าและตั้งคำถามนางดารุณี เมื่อวันที่ 31 ส.ค.ที่ห้างสรรพสินค้าพารากอน ว่าเหตุใดจึงพูดจาบจ้วงสถาบัน เนื่องจากพันธมิตรฯ เห็นว่า น.ส.มนัสนันท์มีเจตนาปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งปรากฏว่า บรรยากาศวันรายงานตัว ได้มีประชาชนที่รักสถาบันเดินทางไปให้กำลังใจ น.ส.มนัสนันท์ที่กองปราบฯ จำนวนมาก
       
       อย่างไรก็ตาม ได้เกิดเหตุวุ่นวายขึ้น เนื่องจากได้มีมวลชนคนเสื้อแดงมารวมตัวที่หน้ากองปราบฯ เช่นกัน พร้อมตั้งเวทีปราศรัยและปลุกระดมผ่านวิทยุชุมชน ซึ่งสะท้อนชัดเจนว่าต้องการสร้างสถานการณ์ กระทั่งมีการเผชิญหน้ากับประชาชนที่มาให้กำลังใจ น.ส.มนัสนันท์ และมีการปะทะกัน จนมีผู้บาดเจ็บทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งนี้ พันธมิตรฯ เห็นว่า คนเสื้อแดงบางคนต้องการหาเรื่องและใช้ความรุนแรงกับอีกฝ่าย และยังใช้กองกำลังชายฉกรรจ์ใส่ชุดดำอีกจำนวนมากเข้าทำร้ายผู้ที่ไปให้กำลังใจ น.ส.มนัสนันท์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสตรีและผู้สูงอายุ
       
       พันธมิตรฯ จึงมีมติต่อเหตุการณ์ดังกล่าวว่า จุดยืนของแกนนำพันธมิตรฯ ต้องการให้กำลังใจและสนับสนุนผู้ที่ปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ และพันธมิตรฯไม่ได้เป็นผู้จัดชุมนุม หรือนำการชุมนุมในวันดังกล่าวแต่อย่างใด และพันธมิตรฯ ขอแสดงความเสียใจต่อประชาชนที่ได้รับบาดเจ็บไม่ว่าจะเป็นกลุ่มใดก็ตาม และขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายเคารพความเห็นที่แตกต่าง ไม่ใช้ความรุนแรง พร้อมกันนี้ขอประณามผู้นำคนเสื้อแดงที่เจตนาสร้างความรุนแรงอย่างไร้เหตุผล และขอประณามบุคคลในรัฐบาลพรรคเพื่อไทยและรัฐตำรวจที่มีท่าทีส่งเสริมให้ใช้ความรุนแรง พร้อมขอให้ดำเนินคดีกับผู้ที่ใช้ความรุนแรงทุกคนอย่างเป็นธรรม และหากเกิดเหตุการณ์เช่นนี้เขึ้นอีก รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ต้องรับผิดชอบฝ่ายเดียวเท่านั้น
       
       พันธมิตรฯ ยังได้เตือนสถานีโทรทัศน์และวิทยุในเครือข่ายของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย และระบอบทักษิณด้วยว่า ให้หยุดบิดเบือนปลุกระดมและให้มวลชนของตัวเองหยุดคุกคามสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของกลุ่มอื่น ไม่เช่นนั้นสถานการณ์อาจลุกลามบานปลายจนไม่สามารถควบคุมได้ เป็นที่น่าสังเกตว่า เมื่อวันที่ 25 ก.ย. น.ส.มนัสนันท์ไม่ได้เดินทางมารายงานตัวต่อพนักงานสอบสวนกองปราบฯ ขณะที่พนักงานสอบสวนได้เลื่อนนัด น.ส.มนัสนันท์ให้มารายงานตัวในวันที่ 29 ต.ค. ซึ่งพันธมิตรฯ ยังยืนยันพร้อมช่วยเหลือเรื่องทนายแก่ น.ส.มนัสนันท์ และยังรอการติดต่อจาก น.ส.มนัสนันท์ว่าต้องการความช่วยเหลือจากทนายพันธมิตรฯ หรือไม่ ส่วนการเดินทางไปให้กำลังใจ น.ส.มนัสนันท์ในวันที่ 29 ต.ค.นั้น ให้ถือเป็นสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามระบอบประชาธิปไตย แกนนำพันธมิตรฯ พร้อมสนับสนุนและให้กำลังใจผู้ที่เจตนาปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์เช่นเดิม
       
       4. ศาลอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว “เจ๋ง ดอกจิก” หลังเจ้าตัวรับปาก เลิกชุมนุม-ปราศรัยทางการเมืองเด็ดขาด!

นายยศวริศ ชูกล่อม หรือเจ๋ง ดอกจิก ดีใจหลังศาลอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว(28 ก.ย.)
       เมื่อวันที่ 24 ก.ย.นางกรุณา มอริส ภรรยาของนายยศวริศ ชูกล่อม หรือเจ๋ง ดอกจิก แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) ผู้ต้องหาคดีก่อการร้าย และผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวนายยศวริศเป็นครั้งที่ 2 ต่อศาลอาญา โดยใช้หลักทรัพย์เงินสด 6 แสนบาท
       
        ทั้งนี้ นายยศวริศ ถูกศาลถอนประกันเมื่อวันที่ 22 ส.ค.หลังกระทำผิดเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราวจากการขึ้นเวทีปราศรัยของคนเสื้อแดง โดยพูดข่มขู่คุกคามตุลาการศาลรัฐธรรมนูญด้วยการบอกชื่อ-นามสกุล ของตุลาการฯ และครอบครัว พร้อมที่อยู่และเบอร์โทรศัพท์ ทั้งยังชักชวนให้คนเสื้อแดงโทรศัพท์ไปหาและเดินทางไปเยี่ยม หลังถูกศาลถอนประกัน นายยศวริศจึงกลับเข้าไปอยู่ในเรือนจำอีกครั้ง กระทั่งเมื่อวันที่ 3 ก.ย.ทนายนายยศวริศได้ยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราว แต่ศาลไม่อนุญาต โดยชี้ว่า ยังไม่มีเหตุผลเพียงพอให้เชื่อว่าจำเลยสำนึกผิดและเข็ดหลาบแล้ว ล่าสุด ภรรยานายยศวริศได้ยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวเป็นครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 24 ก.ย.โดยยืนยันว่านายยศวริศสำนึกผิดแล้ว ซึ่งศาลได้นัดไต่สวนในวันที่ 25 ก.ย.
       
        ระหว่างไต่สวน นายยศวริศ แถลงยืนยันต่อศาลว่า ได้สำนึกผิดในสิ่งที่ทำลงไป และได้ลงคำขอโทษทั้ง 7 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในหนังสือพิมพ์รายวัน 2 ฉบับติดต่อกัน 3 วัน พร้อมส่งจดหมายเปิดผนึกถึงมือตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทุกคนแล้ว และว่า ถ้าได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ตนจะไม่กระทำผิดซ้ำอีก และจะออกไปให้ความรู้ทางวิชาการต่อประชาชนเกี่ยวกับศาลยุติธรรมและองค์กรอื่นๆ ที่มีหน้าที่ให้ความยุติธรรมต่อประชาชน จะไม่หลบหนี จะไม่ขึ้นเวทีปราศรัยและจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับการชุมนุมของคนเสื้อแดงและการชุมนุมทางการเมืองอีก และจะไม่กระทำการใดใดที่เป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลและองค์กรอิสระ รวมทั้งถ้ามีโอกาสได้พูดคุยกับแกนนำ นปช. จะตักเตือนให้ระมัดระวังเกี่ยวกับการกระทำที่จะกระทบกับสิทธิของผู้อื่นและองค์กรอิสระด้วย ด้านศาลได้นัดฟังคำสั่งในวันที่ 28 ก.ย.
       
        ทั้งนี้ ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า พฤติการณ์ของจำเลยเพียงพอที่จะทำให้เห็นว่ารู้สำนึกในการกระทำผิดเงื่อนไขปล่อยตัวชั่วคราว และแสดงความมุ่งมั่นว่าหากได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวอีกครั้ง จะยินยอมสละสิทธิของตนเองตามรัฐธรรมนูญที่จะไม่ขึ้นเวทีปราศรัยและจะแถลงข่าวว่าจะไม่ยุ่งเกี่ยว ไม่ปราศรัยแสดงความเห็นใดใดทางการเมืองอีกต่อไป จึงเด่นชัดว่าจำเลยสำนึกต่อการกระทำที่ผ่านมา
       
        ประกอบกับคาดว่าการพิพากษาคดีนี้คงต้องใช้เวลานานพอสมควร ซึ่งจำเลยมีสิทธิตามรัฐธรรมนูญและประมวลกฎหมายอาญาที่จะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวได้ ดังนั้น เพื่อให้โอกาสจำเลยกลับตัวเป็นจำเลยที่ดี จึงมีเหตุสมควรให้ปล่อยตัวจำเลยระหว่างการพิจารณาคดีอีกครั้ง โดยตีราคาประกัน 6 แสนบาท อย่างไรก็ตาม ศาลได้กำหนดเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราวใหม่ 2 ประการ คือ 1.ห้ามจำเลยกระทำการใดใดที่มีลักษณะดูหมิ่นยั่วยุ ปลุกปั่น ปลุกระดม ให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง หรือเกิดอันตรายต่อเกียรติยศชื่อเสียง และความเป็นอยู่ส่วนตัวของบุคคลอื่น หรือความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือกระทำการใดใดเพื่อให้ประชาชนละเมิดกฎหมายแผ่นดิน และห้ามจำเลยออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล 2.ให้ถือคำแถลงของจำเลยต่อศาลที่ยินยอมจะสละสิทธิส่วนตัวตามรัฐธรรมนูญ ที่จำเลยจะไม่ขึ้นปราศรัยบนเวทีและจะไม่ยุ่งเกี่ยว ไม่ปราศรัยแสดงความคิดเห็นใดใดทางการเมืองอีกต่อไป ให้เป็นส่วนหนึ่งของเงื่อนไขในการปล่อยตัวชั่วคราว
       
        ทั้งนี้ ศาลได้กำชับให้นายยศวริศปฏิบัติตนเป็นจำเลยที่ดีและปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ศาลกำหนดอย่างเคร่งครัด หากฝ่าฝืนเงื่อนไขหรือมีเหตุผลสมควรเป็นอย่างอื่น ศาลจะมีคำสั่งตามที่เห็นสมควรต่อไป
       
        เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังศาลอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว นายยศวริศได้ยกมือท่วมหัวไหว้ศาล ส่วนนางกรุณา ภรรยานายยศวริศ ดีใจถึงกับน้ำตาไหล ขณะที่คนเสื้อแดงจำนวนหนึ่งได้เข้ามาแสดงความยินดีกับนายยศวริศด้วย


ASTVผู้จัดการออนไลน์    30 กันยายน 2555