ผู้เขียน หัวข้อ: นางาซากิ: เมืองระเบิดปรมาณูถล่มที่ "ถูกลืม"  (อ่าน 307 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9782
    • ดูรายละเอียด
ระเบิดปรมาณูที่เมืองนางาซากิมีอานุภาพร้ายแรงกว่าที่เมืองฮิโรชิมาเสียอีก

การเดินทางไปเมืองนางาซากิของนายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ในวันพฤหัสบดี 9 ส.ค. อาจดูเหมือนไม่ใช่เรื่องพิเศษอะไรนัก แต่นี่เป็นครั้งแรกที่คนในตำแหน่งดังกล่าวเดินทางไปร่วมพิธีรำลึกประจำปีที่เมืองซึ่งถูกถล่มด้วยระเบิดปรมาณูเมื่อวันที่ 9 ส.ค. 1945 ซึ่งนำไปสู่การสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2

นางาซากินับเป็นเมืองสุดท้ายในโลกที่โดนโจมตีด้วยระเบิดปรมาณูของกองทัพสหรัฐฯ ทว่ากลับถูกมองว่าเป็นเมืองที่ "ถูกลืม" เพราะคนมักจะนึกถึงแต่การทิ้งระเบิดที่เมืองฮิโรชิมาซึ่งเกิดขึ้นก่อนหน้าเพียงสามวัน

ย้อนไปวันที่ 14 ส.ค. 1945 ญี่ปุ่นยินยอมพ่ายสงครามต่อฝ่ายพันธมิตร และลงนามเมื่อวันที่ 2 ก.ย. ซึ่งนับว่าเป็นการสิ้นสุดสงครามอย่างเป็นทางการ เกร็ก มิทเชล นักเขียนชาวอเมริกัน ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า ไม่เคยมีใครเขียนหนังสือขายดี หรือสร้างภาพยนตร์ โดยใช้ชื่อ "นางาซากิ" เลย

ในขณะที่ฮิโรชิมาเป็นพื้นที่ราบขนาดใหญ่ นางาซากิตั้งอยู่บนบริเวณสองหุบเขาซึ่งรายงานของกองทัพสหรัฐฯ ระบุว่า ช่วยลดความเสียหายได้อย่างมาก

ย้อนไปปี 2016 นายบารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในขณะนั้น ไปเยือนแค่เมืองฮิโรชิมา และไม่มีนางาซากิอยู่ในกำหนดการ ทำให้ผู้รอดชีวิต และญาติ ๆ ของผู้เสียชีวิตราวห้าหมื่นคนจากเหตุการณ์เมื่อ 73 ปีที่แล้วในเมืองนางาซากิต้องผิดหวัง

ผู้นำญี่ปุ่นไว้อาลัยที่เพิร์ล ฮาร์เบอร์ พร้อมให้คำมั่นไม่ทำให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยอีก
เยาวชนญี่ปุ่นคิดอย่างไรกับนักบินกามิกาเซในสงครามโลกครั้งที่ 2
เกิดอะไรขึ้นที่ดันเคิร์ก?
มีการคาดการณ์ว่ามีผู้เสียชีวิตจากระเบิดในเมืองฮิโรชิมาราว 135,000 คน แม้ว่า "Fat Man" ซึ่งเป็นชื่อเล่นของระเบิดที่ถล่มนางาซากิจะมีน้ำหนักระเบิดทีเอ็นทีถึง 20 กิโลตัน ในขณะที่ "Little Boy" ซึ่งถล่มฮิโรชิมามีน้ำหนักเพียง 15 กิโลตัน นี่เป็นผลจากสภาพภูมิศาสตร์ที่แตกต่างของเมืองทั้งสอง ในขณะที่ฮิโรชิมาเป็นพื้นที่ราบขนาดใหญ่ นางาซากิตั้งอยู่บนบริเวณสองหุบเขาซึ่งรายงานของกองทัพสหรัฐฯ ระบุว่า ช่วยลดความเสียหายได้อย่างมาก

อีกเหตุผลหนึ่งที่ฮิโรชิมาเป็นที่จดจำมากกว่าเป็นเพราะปฏิบัติการในที่เมืองนั้นเป็นผลมาจากการวางแผนและลงมือปฏิบัติที่ดี หากพิจารณาในมุมมองทางยุทธศาสตร์ทหาร

"Fat Man" ระเบิดที่ถล่มนางาซากิ

โชคของโคกุระ

ก่อนอื่นเลย นางาซากิไม่ใช่เป้าหมายแรก ๆ ของสหรัฐฯ ด้วยซ้ำ เมืองฮิโรชิมาและโคกุระ เป็นเป้าหมายต้น ๆ เนื่องจากมีความเป็นเมืองและมีความเจริญทางอุตสาหกรรม และตั้งอยู่บนที่ราบ

ในตอนแรก เมืองเป้าหมายมีโยโกฮามาและเกียวโตด้วย แต่โยโกฮามาเป็นตัวเลือกที่ถูกตัดออกไปเนื่องจากการโจมตีในวิถีทหารแบบปกติได้สร้างความเสียหายพอแล้ว ต่อมา เกียวโตก็ถูกตัดออกจากตัวเลือกเช่นกัน เนื่องจากสหรัฐฯ เกรงว่าจะไม่สามารถได้รับความนิยมเนื่องจากเกียวโตเป็นเมืองศูนย์กลางจักรพรรดิญี่ปุ่น

กองทัพสหรัฐฯ เกือบจะโจมตีเมืองโคกุระ แต่ต้องพบกับสภาพอากาศที่เต็มไปด้วยเมฆหมอกและควัน และตัดสินใจเลือกนางาซากิแทนอย่างกะทันหัน คนญี่ปุ่นยังใช้คำกล่าวที่ว่า "Kokura luck" หรือ โชคของโคกุระ ในการพูดถึงเหตุการณ์ในครั้งนั้นจนถึงทุกวันนี้

จำเป็นต้องระเบิดจริงหรือ

การทิ้งระเบิดลงที่ฮิโรชิมาและนางาซากิยังเป็นประเด็นถกเถียงจนถึงทุกวันนี้ ทางการสหรัฐฯ และประธานาธิบดีแฮรี ทรูแมน ของสหรัฐฯ บอกว่าการโจมตีเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ญี่ปุ่นยอมแพ้สงคราม และทำให้มีผู้เสียชีวิตน้อยกว่าการบุกด้วยกองทัพด้วยวิถีปกติเสียอีก อย่างไรก็ตาม นักประวัติศาสตร์มองว่าแค่การโจมตีฮิโรชิมาก็อาจจะเพียงพอให้ญี่ปุ่นเตรียมยอมแพ้สงครามแล้ว

เอกสารลับของทางการสหรัฐฯ ชี้ว่า การโจมตีทั้งสองเมืองเป็นแผนการมาตั้งแต่แรกแล้ว ซึ่งเป็นแผนเพื่อการทดลองประสิทธิภาพของทั้งระเบิดยูเรเนียมและพลูโตเนียม

เทลฟอร์ด เทย์เลอร์ หัวหน้าอัยการในการพิจารณาคดีนูเรมเบิร์กซึ่งดำเนินคดีกับสมาชิกคนสำคัญของนาซีเยอรมนี ระบุในหนังสือเมื่อยุค 70 ว่า การระเบิดเมืองนางาซากิถือว่าเป็นอาชญากรรม

ทำให้รัสเซียประทับใจ

การทิ้งระเบิดที่เมืองนางาซากิเป็นครั้งที่สองและครั้งสุดท้ายที่มีการใช้ระเบิดปรมาณูในสงครามความขัดแย้ง แต่นักประวัติศาสตร์เชื่อว่า นั่นเป็นการตั้งเป้าอย่างอ้อม ๆ ไปที่รัสเซีย ย้อนไปเมื่อวันที่ 8 ส.ค. 1945 สหภาพโซเวียตประกาศสงครามกับญี่ปุ่นและความเป็นไปได้การที่รัสเซียจะบุกโจมตีญี่ปุ่นทำให้สหรัฐฯ กังวลใจ

มาร์ค เซลดอน นักประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยคอร์แนลล์ บอกว่า การทำให้รัสเซียประทับใจเป็นผลลัพธ์ที่เยี่ยมกว่าการจบสงครามในญี่ปุ่นเสียอีก นายเซลดอนคิดว่ารัฐบาลของประธานาธิบดีทรูแมน มีความกดดันที่จะพิสูจน์ว่า เป็นเรื่องคุ้มที่ริเริ่มโครงการแมนแฮตตัน(Manhattan Project) ซึ่งเป็นโครงการสร้างระเบิดปรมาณูลูกแรก ๆ ของสหรัฐฯ ซึ่งใช้ต้นทุนมหาศาล

คนรุ่น "ฮิบาคุชา"

ฮิบาคุชา เป็นคำภาษาญี่ปุ่นที่หมายถึงผู้รอดชีวิตจากการทิ้งระเบิดในทั้งสองเมืองเมื่อปี 1945 ในตอนแรกพวกเขาถูก "ปิดบัง" จากโลกภายนอก โดยสหรัฐฯ ต้องการปฏิเสธว่าคนเหล่านี้ไม่ได้รับผลกระทบระยะยาวจากการทิ้งระเบิดในครั้งนั้น แต่ตั้งแต่ปี 1957 เป็นต้นมา รัฐบาลญี่ปุ่นให้การรักษาพยาบาลผู้รอดชีวิตเหล่านี้ฟรี ต่อมาในปี 1978 ชาวต่างชาติที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวเกาหลีที่ถูกมาบังคับใช้แรงงานในญี่ปุ่น ก็ได้รับสิทธิ์นั้นด้วย

ตัวเลขทางการระบุว่ามีคนรุ่น "ฮิบาคุชา" อยู่ราว 650,000 คน และจากสถิติล่าสุดเมื่อเดือน มี.ค. ปีนี้ ผู้รอดชีวิต 154,859 คนยังมีชีวิตอยู่

เช่นเดียวกับฮิโรชิมา นางาซากิเป็นอีกเมืองที่มีส่วนร่วมในกระบวนการเพื่อสันติภาพ นายกเทศมนตรีเมืองนางาซากิ โทมิฮิซะ ทาโอเอะ เคยโต้แย้งกับนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ของญี่ปุ่น อย่างเปิดเผย ที่ญี่ปุ่นปฏิเสธไม่เข้าร่วมกับสนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์ซึ่งจัดตั้งขึ้นเมื่อปีที่แล้ว นายทาโอเอะบอกว่า ในฐานะประเทศเดียวในโลกที่เคยต้องเผชิญกับระเบิดปรมาณูในช่วงสงคราม เขาขอให้พิจารณานโยบายนี้ใหม่และเข้าร่วมสนธิสัญญานี้ให้เร็วที่สุด

ในฐานะพันธมิตรของสหรัฐฯ ญี่ปุ่นต้องพึ่งอาวุธนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ สำหรับความมั่นคงของประเทศ แต่มันก็เป็นแหล่งอาวุธเดียวกันกับที่เคยทำลายล้างคนของพวกเขาเองมาแล้วในอดีต

9 สิงหาคม 2018
https://www.bbc.com/thai/international-45119425