ผู้เขียน หัวข้อ: ชีวิตและงานของ ′เสด็จเตี่ย′ เบื้องหลังถูกปลด-สาเหตุประชวร  (อ่าน 1952 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9779
    • ดูรายละเอียด
ในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นช่วงที่สยามประเทศปรับเปลี่ยนโฉมหน้าครั้งใหญ่ เจ้านายเชื้อพระวงศ์หลายพระองค์ถูกส่งไปศึกษาในต่างประเทศเพื่อกลับมาพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้า บางพระองค์ทรงสร้างคุณูปการแก่ประเทศชาติจนได้รับการยกย่องให้เป็นบิดาแขนงต่างๆ ดังเช่นสมเด็จกรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ "องค์บิดาของทหารเรือไทย" หรือที่ประชาชนทั่วไปเรียกพระองค์ว่า "เสด็จเตี่ย"

ซึ่งพระประวัติบางช่วงของพระองค์ยังมีข้อคำถามชวนสงสัยว่า "ทำไม?"

ทำไมพระบิดาแห่งทหารเรือไทย ครั้งหนึ่ง "ถูกปลด" จากกองทัพเรือ?

ทำไมพระองค์สิ้นพระชนม์อย่างกะทันหัน ทั้งที่ประชวรอยู่เพียง 3 วัน?

ขอเชิญท่านผู้อ่านติดตามจาก นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2558 กับบทความชื่อ "เหตุที่กรมหลวงชุมพรฯ ทรงถูกปลดจากทหารเรือ" ของวรชาติ มีชูบท และ "ประวัติศาสตร์วิเคราะห์ : กรณีสิ้นพระชนม์ของพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์" ของนายแพทย์เอกชัย โควาวิสารัช ที่จะช่วยตอบคำถามข้างต้นเกี่ยวกับกรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์


(ซ้าย) พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร (กลาง) นายพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ เมื่อครั้งทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นนายพลเรือโท พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ (ขวา) พระรูปกรมหลวงชุมพรฯทรงฉายในประเทศอังกฤษ เมื่อคราวเสด็จไปรับเรือหลวงพระร่วง พ.ศ.2463

ปลดสายฟ้าแลบ!

ในปี พ.ศ.2454 หลังจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์ได้เพียง 6 เดือน มีพระราชดำรัสให้ปลดนายพลเรือตรี พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ จากกองทัพเรือ

เหตุที่ถูกปลด "สายฟ้าแลบ" นี้มีผู้กล่าวถึงในหลายกระแส

กระแสหนึ่งว่าเป็นเหตุมาจากเรื่องวิวาทชกต่อยระหว่างมหาดเล็กกับนักเรียนนายเรือ ที่ทำให้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่พอพระราชหฤทัย

กระแสหนึ่งว่ากรมหลวงชุมพรฯ คบหาสมาคมกับกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ซึ่งเป็นผู้ที่มีความขัดแย้งกับพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สันนิษฐานว่ากรมหลวงชุมพรฯ ทรงคล้อยตามความคิดกรมหลวงประจักษ์ฯ จึงละเลยงานราชการทหารเรือ จนไม่เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยให้ทำราชการในตำแหน่งสำคัญ

กระแสหนึ่งก็เชื่อกันว่าพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ไว้วางพระราชหฤทัยในกรมหลวงชุมพรฯ คือเกิดข่าวลือว่ากรมหลวงชุมพรฯ อาจจะทรงคบคิดกับกรมหลวงนครสวรรค์วรพินิต(พระอิสริยยศในขณะนั้น) ชิงราชสมบัติเพราะพระมารดาของทั้ง 2 พระองค์คือ เจ้าจอมมารดาโหมด และพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี นั้นต่างก็สืบเชื้อสายสกุลบุนนาคมาด้วยกัน

เรื่องราวความขัดแย้งดังที่บอกเล่ากันมานั้น ล้วนชวนให้สงสัยอยู่ไม่น้อยว่าข้อใดคือสาเหตุที่ทำให้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวตัดสินพระราชหฤทัยปลดกรมหลวงชุมพรฯ

กรณีของกรมหลวงชุมพรฯในประวัติต้นรัชกาลที่ 6พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชบันทึกพระราชทานเจ้าพระยารามราฆพว่า

"ครั้น ณ วันที่ 6 เมษายนได้มีประชุมเสนาบดีสภาตามธรรมดา, แล้วฉันจึ่งได้พบพูดเรื่องกรมชุมพรกับน้องชายเล็ก [สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมขุนพิษณุโลกประชานารถ] และกรมนครไชยศรี ท่านทั้งสองนี้ก็ออกความเห็นว่าควรให้กรมชุมพรออกเป็นกองหนุนเสียคราว 1, เพื่อให้กรมชุมพรเองรู้สำนึกว่าจะนอนกินเงินเดือนอยู่เฉยๆ ไม่ได้, และให้พวกศิษย์รู้สึกว่าครูมิใช่คนสำคัญเท่าที่เฃาทั้งหลายตีราคาไว้"

เมื่อที่ประชุมมีมติเช่นนั้นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ ให้กรมหลวงชุมพรฯ ออกจากราชการเป็นทหารกองหนุนชั่วคราวในปีพ.ศ. 2454 อีกเพียง 3  เดือนเศษต่อมา ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้เสด็จเข้ารับราชการอีกครั้งแต่โปรดเกล้าฯ ให้เสด็จกลับเข้ารับราชการในกรมมหาดเล็กแทนที่จะเป็นกองทัพเรือเช่นเดิม


(ซ้าย) "ประวัติต้นรัชกาลที่ 6 เล่ม 2" พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชบันทึกพระราชทานเจ้าพระยารามราฆพ (ม.ล.เฟื้อ พึ่งบุญ) Sillapa_srv/Neng/คำบรรยายภาพกรมหลวงชุมพร


จนกระทั่งเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2460 กรมหลวงชุมพรฯ ได้กราบบังคมทูลขอเข้ารับราชการทหารเรืออีกครั้ง เพื่อทำหน้าที่ป้องกันประเทศในภาวะสงคราม จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เสด็จกลับเข้ารับราชการในกองทัพเรืออีกครั้ง

ภายหลังจึงทำให้ได้รับพระมหากรุณาธิคุณเลื่อนพระยศเป็นนายพลเรือโทและนายพลเรือเอก ทั้งยังได้โปรดเกล้าฯ เฉลิมพระอิสริยยศเป็นกรมขุนและกรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ตามลำดับ

ขอแขวนข้อสรุปเรื่องออกจากราชการกองทัพเรือไว้ก่อนเพื่อชวนท่านผู้อ่านติดตามประเด็นเรื่องการสิ้นพระชนม์ของกรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์

เนื่องจากประชวรและสิ้นพระชนม์กะทันหัน

กรมหลวงชุมพรฯ ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงทหารเรือเพียงไม่กี่วันเท่านั้น พระองค์ก็ได้กราบถวายบังคมลาออกจากราชการเสด็จไปตากอากาศเพื่อรักษาพระองค์เนื่องจากพระโรคภายในที่ "มณฑลชุมพร"

ระหว่างประทับอยู่ที่ชุมพรนั้นประชวรหนักอยู่เพียง 3 วันก็สิ้นพระชนม์ เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ.2466 ณ ตำบลหาดทรายรี สิริพระชันษาได้เพียง 40 ต้นๆ เท่านั้น

อาการประชวรด้วยพระโรคอะไรที่เป็นสาเหตุการสิ้นพระชนม์ของพระองค์?

นายแพทย์เอกชัย โควาวิสารัช ได้วิเคราะห์สาเหตุการสิ้นพระชนม์ของกรมหลวงชุมพรฯโดยได้ตั้งข้อสังเกตไว้หลายประการ

"ผมคิดว่ากรณีทิวงคตของสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ มีความคล้ายคลึงกับกรณีสิ้นพระชนม์ของกรมหลวงชุมพรฯ หลายประการคือ

ประการที่1 ทั้ง 2 พระองค์ยังทรงหนุ่มแน่นอยู่ (สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ ทิวงคตเมื่อพระชนมายุ 37 พรรษา ส่วนกรมหลวงชุมพรฯ สิ้นพระชนม์เมื่อมีพระชันษาได้ 44 ปี)

ประการที่ 2 ทั้ง 2 พระองค์ทรงตากฝนก่อนที่จะประชวรหนัก

ประการที่ 3 ทั้ง 1 พระองค์ประชวรหนักเป็นระยะเวลาสั้นๆ ก่อนจะทิวงคต (5 วัน) และสิ้นพระชนม์ (3 วัน)

ประการที่ 4 จากเอกสารเบื้องต้นสันนิษฐานว่า ไข้หวัดใหญ่เป็นสาเหตุที่ทำให้สมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ ทิวงคต และกรมหลวงชุมพรฯ สิ้นพระชนม์

"ผมมีความยากลำบากในการวิเคราะห์สาเหตุการสิ้นพระชนม์ของพระองค์มากกว่ากรณีทิวงคตของสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ฯ มาก เพราะไม่มีเอกสารใดๆเลยที่บันทึกพระอาการของพระองค์ในช่วงที่ประชวรหนัก"

อะไรคือสาเหตุของการถูกปลดจากราชการกองทัพเรือ ทั้งที่ทรงเป็นบิดาของทหารเรือไทย อะไรคือสาเหตุการสิ้นพระชนม์อย่างกะทันหันของกรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ โปรดติดตามตอนจบได้ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม

เหตุการณ์ช่วงหนึ่งในพระชนม์ชีพของกรมหลวงชุมพรฯจะทำให้ท่านเห็นความเป็นไปและอีกแง่มุมที่น่าสนใจของประวัติศาสตร์ชาติ


โดย ภูมิรัตน์ มีลักษณะ และวิรัลพัชร สุคันธา
มติชนรายวัน
วันที่ 07 กรกฎาคม พ.ศ. 2558