ผู้เขียน หัวข้อ: ตามหาธรรมมาภิบาลในระบบสาธารณสุขและหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(2)  (อ่าน 642 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9760
    • ดูรายละเอียด
การกล่าวหาว่าจะมีการล้มบัตรทอง   ใครไม่ปฏิบัติตามหลักการของบัตรทอง?

การกล่าวหาว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขหรือมีกลุ่มคนจะล้มบัตรทองนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก เพราะการกล่าวหาแบบนี้ได้เกิดขึ้นแล้วครั้งหนึ่ง กล่าวคือ

เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2555 มีการประชุมและแถลงข่าวที่โรงแรมริชมอนด์ นนทบุรี เปิดตัว “กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” โดยมีการกล่าวหาว่ามี “กลุ่มก๊วนที่จะล้มหลักประกันสุขภาพ”อยู่ 7 กลุ่ม โดยมีชื่อของสหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย(สผพท.) เป็น 1 ใน 7 กลุ่มที่ กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพแห่งชาติกล่าวหาว่าวางแผนจะล้มระบบหลักประกัน

ในวันที่ 25 มกราคม 2555 สผพท.ได้ยื่นฟ้อง(ที่ศาลจังหวัดนนทบุรี)กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ในข้อหาหมิ่นประมาทใส่ความให้สผพท.เสียหายโดยไม่มีมูลความจริง และศาลได้ไกล่เกลี่ยให้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันไปก่อนมีคำพากษา โดยจำเลยทั้ง9 คน ได้ยินยอมที่จะยุติการกล่าวหาสผพท.โดยไม่มีมูลความจริงต่อไป มิฉะนั้นจะมีการดำเนินการตามกฎหมาย เพราะว่าการที่พวกเราออกมาให้ความจริงเกี่ยวกับระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินั้น เป็นการให้ข้อคิดและการทักท้วงการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติโดยบอร์ด(คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) และเลขาธิการสปสช.นั้น ทำให้เกิดผลเสียหายดังนี้คือ

1.ผลสียหายแก่สุขภาพของประชาชน กล่าวคือประชาชนไม่ได้รับการรักษาตามมาตรฐาน เนื่องจากสปสช.ออกระเบียบจำกัดรายการยาและรายการการรักษา จนทำให้ผู้ป่วยในระบบ 30 บาทมีอัตราตายมากกว่าผู้ป่วยในกลุ่มโรคเดียวกัน ตามผลการวิจัยของ TDRI

2. ผลเสียหายแก่มาตรฐานการแพทย์ ทั้งนี้ผลเสียหายนี้ เกิดขึ้นจากระเบียบและข้อจำกัดของสปสช.ที่ห้ามแพทย์ใช้ยาบางอย่าง โดยอ้างว่ามีราคาแพง และสปสช.ไปเหมาซื้อยามาเอง โดยบางครั้งเป็นยาล็อตใกล้หมดอายุ กว่าจะไปถึงโรงพยาบาลก็หมดอายุแล้ว หรือไปทำ CL ยามา แล้วไปซื้อยาเลียนแบบที่ด้อยคุณภาพ ทำให้มาตรฐานการรักษาผู้ป่วยเสียหาย หรือด้อยคุณภาพ

3.ผลเสียหายต่อระบบการบริการสาธารณะด้านสาธารณสุข เพราะการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของสปสช. ทำให้โรงพยาบาลขาดเงินทุนหมุนเวียนในการจัดทำบริการสาธารณสุขแก่ประชาชน มีโรงพยาบาลที่ขาดทุนอย่างต่อเนื่องหรือขาดทุนซ้ำซาก จนอยู่ในสภาพใกล้ล้มละลายเป็นจำนวนหลายร้อยโรงพยาบาล

4. สปสช.บริหารกองทุนโดยขาดธรรมาภิบาล ขาดความสุจริตโปร่งใส ขาดความรับผิดชอบ ไม่รับฟังปัญหาของโรงพยาบาล ไม่ให้ความร่วมมือแก้ไขปัญหา จนต้องมีการร้องเรียนให้มีการตรวจสอบการบริหารกองทุนจากหน่วยงานราชการหลายหน่วยงาน เช่นคตร. สตง. ปปท. DSI และคณธกรรมการเฉพาะกิจตามตำสั่งคสช.ที่ได้ ชี้มูลว่า การบริหารงบประมาณของสปสช.มีมูลในการทุจริตประพฤติมิชอบ

เมื่อกลุ่มพิทักษ์สิทธิพลเมืองไปยื่นเรื่องการทุจริตประพฤติมิชอบแก่นพ.ปิยสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในฐานะเป็นประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติด้วยว่า ขอให้ดำเนินการคัดเลือกผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งเลขาธิการสปสช.ด้วยความรอบคอบระมัดระวัง เพื่อให้ได้คนดีมีธรรมาภาล มีความสุจริตโปร่งใส มาดำรงตำแหน่งเลขาธิการสปสช.

พูดอย่างตรงไปตรงมาก็คือ ขอให้ประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติควรพิจารณาว่านพ.ประทีป ธนกิจเจริญมีข้อครหาเรื่องความไม่สุจริตโปร่งใส และได้ถูกปปท.ชี้มูลในกรณีนี้ และปปท.มีมติให้ส่งเรื่องให้ปปท.ดำเนินการทางคดีอาญาต่อไป นั้น สมควรจะเลือกมาให้เป็นเลขาธิการสปสช.หรือไม่?

ไม่มีใครพูดภึงการจะ “ล้มระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ”แต่อย่างใด

ในเหตุการณ์แรกเมื่อปีพ.ศ. 2555 ที่มี “กำเนิดของกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” นั้น เกิดขึ้นเนื่องจากผลพวงของการที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ตรวจสอบการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและการบริหารสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีปัญหาความไม่ถูกต้อง และสตง.แนะนำให้แก้ไข

โดยพญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ ได้ไปร้องเรียนกับนายวิทยา บุรณศิริ ให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาการบริหารงานที่ไม่ถูกต้องของสปสช.

ซึ่งในขณะนั้น มีการเปลี่ยนรัฐบาลจากนายกรัฐมนตรีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีนายวิทยา บุรณศิริเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและเป็นประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และเขาได้ประกาศจะกลับมาเก็บเงินประชาชนครั้งละ 30 บาทอีกเหมือนเมื่อตอนเริ่มต้นโครงการในยุครัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร

และพญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ ไปร้องกับนายวิทยา บุรณศิริ ให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาการบริหารงานที่ไม่ถูกต้องของสปสช.

จึงทำให้มีการเปิดตัวของกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และออกมาโจมตีว่ามีกลุ่มก๊วนที่จะล้มหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

ทั้งนี้จะสังเกตเห็นได้ว่า เมื่อกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้รับรู้ว่ารัฐบาลใดก็ตาม กำลังจะสอบสวนเรื่องการทุจริตหรือตรวจสอบการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งจะทำให้พวกตน “สูญเสียอำนาจในการบริหารสปสช.หรือหลุดจากตำแหน่งกรรมการบอร์ด” คนเหล่านี้ก็จะออกมา “ใส่ร้ายรัฐบาล รัฐมนตรี และกล่มคนที่ไม่เห็นด้วยกับพวกตน” ว่าจะ “ล้มหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ”

นอกจากคนกลุ่มนี้จะดำเนินการ “ใส่ร้ายป้ายสี” ว่าจะมีการล้มหลักประกันสุขภาพแห่งชาติแล้ว คนเหล่านี้ยังไปหาประชาชนมาเป็นแนวร่วมในการประท้วงรัฐมนตรีและรัฐบาลด้วย เช่น เครือข่ายผู้ป่วยเรื้อรัง เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี เครือข่ายผู้บริโภค เครือข่ายผู้ป่วยโรคไต เครือข่ายแรงงานนอกระบบ เครือข่ายศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพภาคประชาชน

ต่อมา นพ.เกรียงศักดิ์ วัชระนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบทคนปัจจุบัน ได้เขียนในเฟซบุ้คของชมรมแพทย์ชนบทว่า การล้มหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินั้น ไม่ได้หมายความว่าจะยุบสปสช. แต่เป็นการเปลี่ยนหลักการ ได้แก่

1.การไม่เพิ่มงบประมาณให้เพียงพอ

2.ผู้มีอำนาจเข้ามาแทรกแซงขบวนการสรรหาเลขาธิการสปสช. ต้องการคนที่สั่งได้

3.จ้องแก้กฎหมายหลักการสำคัญ คือแยกเงินเดือนออกจากงบเหมาจายรายหัว เพิ่มสัดส่วนบอร์ดให้กระทรวงสาธารณสุขมีเสียงข้างมาก ให้ปลัดสธ.เป็นรองประธานโดยตำแหน่ง

4. ทำให้ระบบเป็นการสงเคราะห์ผู้มีรายได้น้อย และผู้ที่สังคมควรช่วยเหลือเกื้อกูล ไม่ใช่สิทธิ์ ไม่ใช่เสมอภาคอีกต่อไป

5.ให้มีการร่วมจ่ายที่จุดบริการ

การที่นพ.เกรียงศักดิ์ออกมา “กล่าวหาว่ารัฐมนตรีหรือรัฐบาลต้องการ “ล้มหลักการสำคัญของบัตรทอง” นั้นเป็นการกล่าวเท็จ เพราะในมาตรา 5 ของพระราชบัญญํติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติพ.ศ. 2545 นั้น บัญญัติไว้ว่า
มาตรา 5
(วรรค 1) บุคคลทุกคนมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐานและมีประสิทธิภาพตามที่กำหนดโดยพระราชบัญญัตินี้

(วรรค 2) คณะกรรมการอาจกำหนดให้บุคคลที่เข้ารับการบริการสาธารณสุขต้องร่วมจ่ายค่าบริการในอัตราที่กำหนดให้แก่หน่วยบริการในแต่ละครั้งที่เข้ารับบริการ เว้นแต่ผู้ยากไร้หรือบุคคลอื่นที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดไม่ต้องจ่ายค่าบริการ

(วรรค 3) ประเภทและขอบเขตของบริการสาธารณสุขที่บุคคลจะมีสิทธิได้รับให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

จึงเห็นได้อย่างชัดเจนว่า “หลักการสำคัญของบัตรทอง”ที่ได้บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพพ.ศ. 2545 มาตั้งแต่ต้นนั้น มีอยู่ 3 อย่าง แต่ผู้บริหารสปสช.ปัจจุบันเอง ที่ไม่ทำตามหลักการนั้น กล่าวคือ

1.บุคคลต้องได้รับบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐาน
แต่ปัจจุบันสปสช.บริหารโดยไม่เคยกล่าวถึงการบริการว่ามี “มาตรฐานที่ดี/เหมาะสม” แถมยังอวดอ้างว่าเป็นระบบที่ดีที่สุดในโลก แต่ทั่วโลกกำลังจับตาดูอยู่ว่า การบริการสาธารณสุขของไทยกระจุกอยู่ในกรุงเทพมหานครและเมืองใหญ่ๆเท่านั้น ไม่ได้มีความเป็นธรรมแก่ประชาชนในชนบท และยังมีผลการรักษาในระบบบัตรทองเลวกว่าผลการรักษาในระบบอื่น ตามผลการวิจัยของ TDRI อีกด้วย

2.(ถ้าเงินไม่พอใช้) คณะกรรมการก็สามารถกำหนดให้ประชาชนร่วมจ่ายได้ โดยยกเว้นไม่ให้ผู้ยากไร้จ่าย ไม่ใช่แบบที่หมอเกรียงศักดิ์ว่ารัฐมนตรีจะแก้หลักการสำคัญ ของบัตรทองให้ผิดเพี้ยนไปจากเดิม มีแต่สปสช.เท่านั้นที่บิดเบือนหลักการว่าต้องเสมอภาค เท่าเทียม แต่ไม่ป็นธรรม เพราะคนไม่จนมาแย่งใช้สิทธิกับคนจน จึงทำให้เงินไม่พอใช้ ส่งผลถึงคุณภาพการบริการที่ด้อยกว่ามาตรฐาน

3. คณะกรรมการอาจกำหนดว่าจะให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณสุขได้มากน้อยแค่ไหนก็ได้ ไม่ใช่โฆษณาว่ารักษาทุกโรค แต่ออกระเบียบไม่ให้รักษาหลายโรค (ไม่บอกความจริงแก่ประชาชน)

ในบทความ ตอนต่อไป ข้าพเจ้าจะเขียนถึงการเลือกเลขาธิการสปสช.ที่กลุ่มชมรมแพทย์ชนบท ผูกขาดตำแหน่งเลขาธิการสปสช.ไว้เฉพาะคนของกลุ่มตนเท่านั้น ได้อย่างไร?

เพราะมีสปสช.มา 15 ปี มีเลขาสปสช.มา 2 คนเท่านั้น โดยคนที่ 1 คือนพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ สมาชิกรุ่นใหญ่ของชมรมแพทย์ชนบท และเป็นแกนนำคนสำคัญในการวางหลักการของ “หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” และเป็นผู้วางรากฐานในการดำเนินงานของหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

ส่วนเลขาธิการสปสช.คนที่ 2 คือนพ.วินัย สวัสดิวร(นามสกุลเดิม เชิญรุ่งโรจน์ แต่งงานแล้วเปลี่ยนมาใช้นามสกุลภรรยา) เลขาฯสปสช.คนที่ 2 นี้ ไม่ใช่แกนนำของชมรมแพทย์ชนบท แต่เป็นคนที่แกนนำและพี่ใหญ่ชมรมแพทย์ชนบท “ไว้วางใจและสั่งได้”

พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา
กลุ่มพิทักษ์สิทธิพลเมือง
สหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย(สผพท.)
15 กรกฎาคม 2559