แสดงกระทู้

This section allows you to view all posts made by this member. Note that you can only see posts made in areas you currently have access to.


Topics - pradit

หน้า: 1 ... 14 15 [16] 17
226
โรงพยาบาลเอกชนชื่อดัง 4 แห่ง ถอนตัวบัตรทอง เหตุขาดทุน ส่งผลคนกทม.เกือบ 2 แสนคน ไร้โรงพยาบาลรองรับสิทธิ

นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล ผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 13 กรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า ปลายปี 2552 ที่ผ่านมามีโรงพยาบาลเอกชน 4 แห่งแสดงความจำนงขอถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วน หน้า ได้แก่ 1.รพ.เกษมราษฎร์ ประชาชื่น มีประชาชนที่ได้รับผลกระทบ 74,395 คน 2.รพ.เกษมราษฎร์ บางแค ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ 53,740 คน 3.รพ.เกษมราษฎร์ สุขาภิบาล 3 จำนวน 41,004 คน และ 4.รพ.ศรีวิชัย 2 จำนวน 30,130 คน ซึ่งจะทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบ จำนวน 199,269 คน

 “การงดรับบริการครั้งนี้ ไม่ใช่งดรับผู้ป่วยทั้งหมด โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ งดรับเฉพาะผู้ป่วยที่ถือบัตรปฐมภูมิในโรงพยาบาล หรือผู้ป่วยที่มีสิทธิรักษาที่โรงพยาบาลโดยตรง แต่จะยังเป็นหน่วยบริการรับส่งต่อจากปฐมภูมินอกโรงพยาบาล ซึ่งขณะนี้มีประมาณ 2 แสนคน ส่วนโรงพยาบาลศรีวิชัย ขอออกจากโครงการทั้งผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน สำหรับสาเหตุการถอนตัวมาจากโรงพยาบาลไม่สามารถแบกรับภาระงานที่มากขึ้น รวมถึงภาระการขาดทุน ซึ่งเรื่องนี้เกิดขึ้นได้ ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะปัจจุบันย่อมมีทั้งโรงพยาบาลที่ถอนตัวและเข้าร่วมใหม่ จึงไม่อยากให้กังวล” นพ.สุรเดช กล่าว

 นพ.สุรเดช กล่าวอีกว่า ผลกระทบครั้งนี้ สปสช.ได้จัดหาหน่วยบริการใหม่รองรับผู้ป่วยทั้งหมดแล้ว แต่หากประชาชนไม่สะดวกสามารถเลือกหน่วยบริการใกล้บ้านตามระบบได้ ซึ่งการเลือกหน่วยบริการใกล้บ้านด้วยตนเองนั้น สปสช.ยังได้ประชุมร่วมกับผู้นำชุมชนเพื่อแจ้งว่า หากชุมชนใดต้องการย้ายหน่วยบริการ ทาง สปสช. จะจัดเจ้าหน้าที่ลงไปดำเนินการปรับเปลี่ยนให้ทันที ล่าสุดมีโรงพยาบาลเอกชน 1 แห่ง คือ โรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ แสดงความจำนงขอเข้าร่วมโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จะเป็นอีกหนึ่งหน่วยบริการให้ประชาชนได้เลือก

 “การแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งหมดจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในเดือนเมษายน 2553 อย่างไรก็ตามเพื่อความสะดวกของผู้ป่วยที่ต้องส่งต่อ ทาง สปสช.ได้ขอให้หน่วยบริการเดิมทำประวัติผู้ป่วย เพื่อมอบให้หน่วยบริการใหม่นำไปใช้เป็นข้อมูลในการรักษาด้วย” นพ.สุรเดช กล่าว

227
วันที่ 16 ก.พ. นายไชยนันท์ ทยาวิวัฒน์ ผอ.โรงพยาบาลเชียงคำ จ.พะเยา กล่าวว่า ฝ่ายเทคนิคของโรงพยาบาลมีการพัฒนาระบบเครื่องมือตรวจและรักษาอาการของผู้ ป่วยด้วยเครือข่ายระบบคอมพิวเตอร์ออนไลน์ ผ่านทางระบบอินเตอร์เน็ตเป็น “เว็บแคม” ใช้รักษาผู้ป่วยโดยแพทย์จะรักษาอาการผู้ป่วยผ่านทางกล้องเว็บแคม ที่ติดตั้งและเชื่อมต่อกับจอแอลซีดี เมื่อกล้องส่องไปที่ผู้ป่วยให้เห็นอาการหรือบาดแผลที่ชัดเจน แพทย์จะมองเห็นและสั่งการรักษาผ่านทางจอแอลซีดีได้ทันที ทำให้เกิดความรวดเร็วต่อการทำงานของแพทย์และผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะนี้จุดแรกที่ใช้ระบบดังกล่าวคือ แผนกฉุกเฉิน เพราะมีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาจำนวนมากในแต่ละวัน และเพื่อความสะดวกรวดเร็วในการให้บริการรักษาผู้ป่วย ตนได้สั่งการให้ฝ่ายเทคนิคเร่งผลิต 24 เครื่อง เพื่อนำไปติดตั้งในทุกตึกของโรงพยาบาล 

228
ที่กระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 15 ก.พ. เวลา 13.00 น. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนงบประมาณในโรงพยาบาลถิ่น ทุรกันดาร จำนวน 172 แห่ง
ซึ่งตั้งอยู่บริเวณตามแนวชายแดน 10 จังหวัด ที่ต้องแบกรับค่ารักษาพยาบาลกลุ่มคนที่รอพิสูจน์สัญชาติ นอกจากการบริการรักษาคนไทยที่ได้รับงบประมาณค่าใช้จ่ายรายหัว โดยต้องเจียดงบประมาณที่ได้ไปช่วยเหลือ ซึ่งกลุ่มคนรอพิสูจน์สัญชาติ เป็นคนไทยที่อยู่ในประเทศไทยมานาน
 ก่อนหน้านี้เคยได้รับบัตรสวัสดิการประชาชนเพื่อรักษาพยาบาล (บัตร สปร.) สิทธิ์รักษาฟรีในฐานะผู้มีรายได้น้อย และนอกจากนี้ยังเคยได้รับสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) เช่นเดียวกับคนไทยมาก่อน แต่ได้ถูกยกเลิกไปเมื่อปี 2545 หลังจากที่มีการตีความใน พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งนอกจากกลุ่มคนที่รอพิสูจน์สัญชาติแล้ว
 นายจุรินทร์ กล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีกลุ่มแรงงานต่างด้าวที่ข้ามแดนเข้ามาทำงานในประเทศไทย ซึ่งนำบางโรคเข้ามาแพร่ยังคนไทยด้วย เช่น วัณโรค อหิวาตกโรค โรคเท้าช้าง เป็นต้น จำเป็นต้องป้องกันและควบคุม ทำให้เป็นปัญหาที่โรงพยาบาลตามแนวชายแดนต้องแบกรับค่าใช้จ่ายเช่นกัน ในการประชุมผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขวันนี้ จึงเห็นชอบให้นำเรื่องนี้เสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อจัดงบประมาณในการ ดูแลสุขภาพกลุ่มคนที่รอพิสูจน์สัญชาติ ซึ่งมีจำนวน 450,000 รายเพื่อให้ได้รับสิทธิบัตรทอง เป็นการช่วยเหลือโรงพยาบาลที่กำลังประสบปัญหา คาดว่าเบื้องต้นจะเป็นการของบประมาณในช่วงครึ่งปี 2553 นี้ โดยเริ่มตั้งแต่เดือนเมษายน – ตุลาคม จำนวน 550 ล้านบาท อย่างไรก็ตามจะนำเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมบอร์ด สปสช. ในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นวาระพิเศษเพื่อขอมติ

229
สธ.เดินหน้าตาม พ.ร.บ.กระจายอำนาจ พร้อมให้ทุกจังหวัดตั้งคณะกรรมการพิจารณาการถ่ายโอนสถานีอนามัยให้ อปท.ดูแล เผยขณะนี้พร้อมรับโอนแล้ว 500 แห่ง สั่งเน้นประชาชนต้องได้รับประโยชน์มากขึ้น เตรียมขอ ก.พ.อนุมัติ 22,000 ตำแหน่ง บรรจุลูกจ้างวิชาชีพสาธารณสุขที่จบตั้งแต่ปี 2548-2552 เป็นข้าราชการ สร้างขวัญกำลังใจ เล็งขอตำแหน่งพยาบาล 3,000 อัตรา แก้ปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนใต้
       
        นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงการถ่ายโอนสถานีอนามัยไปอยู่กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ว่า สธ.พร้อมที่จะดำเนินการตามพระราชบัญญัติการกระจายอำนาจ เพื่อทำให้งานสาธารณสุขในพื้นที่ได้รับการพัฒนาดียิ่งขึ้น โดยขณะนี้มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นประมาณ 500 แห่ง มีความพร้อมรับโอนสถานีอนามัย ซึ่ง สธ.จะพิจารณาเรื่องนี้อย่างรอบคอบ และดำเนินการค่อยเป็นค่อยไปตามความพร้อมของพื้นที่ โดยจะให้ทุกจังหวัดตั้งคณะกรรมการพิจารณาร่วมกันกับ อปท.ว่าจะเป็นไปในลักษณะใด เนื่องจากการกระจายอำนาจไม่มีรูปแบบเดียว และต้องคำนึงถึงประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ รวมทั้งความก้าวหน้าในวิชาชีพของบุคลากรสาธารณสุขด้วย
       
       นพ.สุพรรณ กล่าวต่อว่า นอก จากนี้ สธ.ยังได้วางแผนในด้านอัตรากำลังคน โดยได้ทำหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ขอบรรจุตำแหน่งเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ทั่วประเทศทุกสาขาที่สำเร็จการศึกษา ตั้งแต่ปี พ.ศ.2548-2552 ประมาณ 22,000 คน และยังเป็นลูกจ้างชั่วคราวของ สธ. ให้บรรจุเป็นข้าราชการทั้งหมด เพื่อสร้างขวัญกำลังใจในการทำงาน ให้มีความมั่นคงในอาชีพ ซึ่งในจำนวนนี้รวมถึงการขอตำแหน่ง 3,000 อัตรา เพื่อรองรับพยาบาล 3,000 คนในโครงการผลิตพยาบาลวิชาชีพเพื่อแก้ปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา ซึ่งจะจบในปี 2554 ด้วย

230
เมื่อวันที่ 13 ก.พ.53 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.สาธารณสุข เปิดเผยว่า ได้เสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) ของบกลาง เพื่อพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉิน จำนวนเงินทั้งสิ้น 133,133,400 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการระบบการแพทย์ฉุกเฉินของประเทศ โดยเฉพาะการพัฒนาศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการทาง 1669 ซึ่งเป็นจุดเริ่มในการรับแจ้งเหตุจากประชาชนหรือผู้ป่วยฉุกเฉิน และการสั่งการให้หน่วยปฎิบัติออกให้บริการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉิน ของสำนักงานระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินประจำจังหวัด จำนวน 79 แห่ง หากงบไม่เพียงพอจะส่งผลกระทบต่อผู้เจ็บป่วย ขาดโอกาสรับการดูแลรักษาอย่างทันท่วงที อาจเสียชีวิตหรือพิการได้

นาย จุรินทร์ กล่าวต่อไปว่า สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ได้รับงบประมาณตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2553 วงเงิน 444.9 ล้านบาท ประกอบด้วย งบกองทุนการแพทย์ฉุกเฉิน จำนวน 390.2500 ล้านบาท สำหรับเป็นค่าชดเชยบริการการแพทย์ฉุกเฉินซึ่งมีปีละ 700,000 ครั้ง โดยคิดเป็นรายละ 8.30 บาท ต่อประชาชนที่อยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือเฉลี่ยอัตรา 6.23 บาทต่อประชากรไทยทั้งหมด และเป็นงบบริหารจัดการของสถาบันฯ จำนวน 54.7167 ล้านบาท โดยไม่ได้รับจัดสรรในส่วนของการพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉิน โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายในการสนับสนุนศูนย์รับแจ้งเหตุสั่งการ ค่าบริหารจัดการระบบการแพทย์ฉุกเฉินระดับจังหวัด จึงทำให้ไม่สามารถปฏิบัติงานได้

นายจุรินทร์ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้งบกลางที่ขอเพิ่มครั้งนี้ จะใช้ดำเนินงาน 2 ส่วนได้แก่ การสนับสนุนศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการตลอด 24 ชั่วโมง และสนับสนนุสำนักงานระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินประจำจังหวัด 113,365,400 บาท ตรวจสอบคุณภาพการจ่ายค่าชดเชยบริการ 12,945,000 บาท และพัฒนาบุคลากรในระบบการแพทย์ฉุกเฉิน จำนวน 6,814,000 บาท

“ซึ่ง หาก ครม.ให้ความเห็นชอบ ก็จะช่วยให้ศูนย์รับแจ้งเหตุ 1669 และศูนย์รับแจ้งเหตุประจำจังหวัดทุกจังหวัดสามารถรับแจ้งเหตุ และสั่งการช่วยเหลือผู้ป่วยกรณีฉุกเฉินได้ตลอด 24 ชั่วโมงในทันที” นายจุรินทร์ กล่าว

231
เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ที่อาคารสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.อำนาจ กุสลานันท์ อุปนายกแพทยสภา กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการแพทยสภามีมติเป็นเอกฉันท์รับรองหลักสูตรแพทยศาสตร์ ภาคภาษาอังกฤษ ของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) เหมือนเดิม ไม่มีการกลับมติคณะกรรมการแต่อย่างใด เพียงแต่ภายหลังจากมีการรับรองหลักสูตรนี้ มีคณาจารย์ คณะแพทยศาสตร์บางคนมีความเห็นต่าง คณะกรรมการแพทยสภาจึงต้องนำเรื่องนี้กลับเข้ามาสู่การพิจารณาใหม่อีกครั้ง
 “คณะกรรมการแพทยสภามีมติรับรองหลักสูตรแพทยศาสตร์ ภาคภาษาอังกฤษของ มศว เหมือนเดิม ไม่ใช่หลักสูตรนานาชาติ เพราะเห็นว่าหลักสูตรนี้เป็นประโยชน์ต่อประชาชน และไม่ได้ทำให้เกิดความเสียหายต่อสังคม การผลิตแพทย์ในประเทศก็ยังคงดำเนินการตามปกติ และหลักสูตรนี้ก็เป็นการผลิตแพทย์มารับใช้สังคมไทย เพียงแต่เรียนเป็นภาษาอังกฤษ เพื่อให้แพทย์มีโอกาสพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษ” นพ.อำนาจกล่าว

 นพ.สัมพันธ์ คมฤทธิ์ เลขาธิการแพทยสภา กล่าวว่า ในการรับรองหลักสูตรแพทยศาสตร์ ภาคภาษาอังกฤษ มีการระบุเงื่อนไขไว้อย่างชัดเจน ผู้ที่สามารถศึกษาในหลักสูตรนี้ได้ต้องเป็นคนไทย เมื่อสำเร็จการศึกษาต้องใช้ทุน ต้องรายงานผลการดำเนินการต่อแพทยสภาทุก 6 เดือน และต้องมีการประสานความขัดแย้งภายใน มศว ให้เรียบร้อยด้วย ในส่วนของการเปิดสอนหลักสูตรนี้หรือไม่ คิดค่าเล่าเรียนเท่าไหร่ รับนักศึกษาจำนวนเท่าไหร่ เป็นอำนาจการพิจารณาของสภามหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สำหรับการจะเปิดหลักสูตรแพทยศาสตร์ นานาชาติเพื่อรับนักศึกษาต่างชาติหรือไม่ จะต้องมีการหารือในระดับประเทศ ทั้งสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และแพทยสภา
 “แพทยสภาไม่ได้พิจารณาหลักสูตรนี้ด้วยความรีบร้อน แต่มีการเลื่อนวาระเรื่องนี้ออกจากการพิจารณาของคณะกรรมการมาแล้วถึง 2 ครั้ง และแม้หลักสูตรจะผ่านการรับรอง แต่ถ้า มศว เคลียร์ความขัดแย้งภายในไม่ได้ ก็คงเปิดหลักสูตรนี้ไม่ได้ เพราะการจะเปิดการเรียนการสอนจะต้องผ่านกระบวนการ 2 ส่วน คือ การรับรองหลักสูตรและการอนุมัติของสภามหาวิทยาลัย” นพ.สัมพันธ์กล่าว

232
ข่าว รพศ./รพท. / "รพ. พระนารายณ์มหาราช"
« เมื่อ: 13 กุมภาพันธ์ 2010, 16:48:42 »
คำถาม "รพ. พระนารายณ์มหาราช" อยู่จังหวัดไหนครับ?

233
สรุปลำดับเหตุการณ์

1.เนื้อหาใจความสำคัญ- สตง.-ทักทวง-กระทรวงสาธารณสุข
ที่ ตผ 0020.1/5978                  สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน
                                     ถนนพระรามที่ 6 กทม. 10400
                     
                24   พฤศจิกายน   2552

เรื่อง   การกำหนดเงินค่าตอบแทนเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายของกระทรวงสาธารณสุข
      
เรียน   ปลัดกระทรวงสาธารณสุข
อ้างถึง.......

   สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินได้ตรวจสอบระเบียบ ข้อบังคับ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจ่ายเงินค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานให้กับหน่วยบริการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข ตามหนังสือที่อ้างถึง 1 ถึง 11 นั้น
   สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินพิจารณาแล้วเห็นว่า
   1. ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจ่ายเงินค่าตอบแทนแนบท้ายข้อบังคับกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยการจ่ายเงินค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานให้กับหน่วยบริการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข(ฉบับที่ 7) พ.ศ.2552 ได้กำหนดการจ่ายค่าตอบแทนการปฏิบัติงานในโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไปทุกแห่ง โดยกำหนดค่าตอบแทนแพทย์ ทันตแพทย์ ตั้งแต่ 10,000 – 15,000 บาท เภสัชกรตั้งแต่ 3,000 – 4,500 บาท พยาบาลวิชาชีพ  ตั้งแต่ 1,200 – 1,800 บาท เจ้าหน้าที่ระดับปริญญาขึ้นไป ตั้งแต่ 1,200 – 1,800 บาท และต่ำกว่าปริญญา ตั้งแต่ 600 – 900 บาท นั้น เป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ฯ การจ่ายค่าตอบแทนให้แก่เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในหน่วยบริการที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศที่มีความแตกต่างกันในทางกายภาพ และลักษณะทางภูมิศาสตร์ หรือ ลักษณะของพื้นที่ บางแห่งเป็นพื้นที่ที่มีความทุรกันดารมาก บางแห่งมีความทุรกันดารน้อยมาก หรือ ไม่มีเลย การกำหนดอัตราเหมาจ่ายในลักษณะดังกล่าว จึงอาจเกิดความไม่เป็นธรรมแก่เจ้าหน้าที่ที่มีคำสั่งให้ไปปฏิบัติงานประจำในหน่วยบริการที่มีความทุรกันดารมาก แต่ได้รับค่าตอบแทนเท่ากันกับหน่วยบริการที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ทุรกันดารน้อย หรือน้อยกว่า เป็นต้น หลักเกณฑ์ดังกล่าว จึงไม่สอดคล้องตามเจตนารมณ์ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจ่ายเงินค่าตอบแทนแนบท้ายข้อบังคับกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ.2554 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 4 ) ข้อ 6 พ.ศ.2551และ (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2552 ซึ่งการกำหนดการจ่ายค่าตอบแทนการปฏิบัติงานสำหรับแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาลวิชาชีพ และเจ้าหน้าที่ไปปฏิบัติงานในพี้นที่ทุรกันดาร และขาดแคลนบุคลากร และแก้ปัญหาความขาดแคลนบุคลากรในหน่วยบริการได้

2.เนื้อหาใจความสำคัญ-กระทรวงสาธารณสุข-ชี้แจง-สตง.
ที่ สธ 0201.041/4758                               กระทรวงสาธารณสุข
                               ถนนติวานนท์ จังหวัดนนทบุรี 11000
                     
                18   ธันวาคม   2552

เรื่อง   ชี้แจงการกำหนดเงินค่าตอบแทนเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายของกระทรวงสาธารณสุข
      
เรียน   ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน

อ้างถึง    หนังสือสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ที่ ตผ 0020/5978 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2552

สิ่งที่ส่งมาด้วย   สำเนาหนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร 1008.3.3/547 ลงวันที่ 30 กันยายน 2552
      
      กระทรวงสาธารณสุข ได้พิจารณาแล้วขอเรียน ดังนี้
      1. หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจ่ายเงินค่าตอบแทนแนบท้ายข้อบังคับกระทรวงสาธารณสุข ว่าด้วยการจ่ายเงินค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานให้กับหน่วยบริการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2552 เป็นการจ่ายค่าตอบแทนให้แก่เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไปทุกแห่ง โดยมุ้งเน้นและคำนึงถึงลักษณะงานที่ปฏิบัติในโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไปเป็นสำคัญ ซึ่งจะแตกต่างจากการจ่ายเงินค่าตอบแทนเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายตามหลักเกณฑ์ฯ (ฉบับที่ 4) และฉบับที่ 6 ซึ่งจะพิจารณาถึงพื้นที่ทุรกันดารและความขาดแคลนบุคลากร
      อย่างไรก็ตามขณะนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้มอบหมายให้สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ศึกษาวิเคราะห์การจ่ายค่าตอบแทนให้แก่แพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาลและบุคลากรสาธารณสุขอื่นๆ ของกระทรวงสาธารณสุขที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนี้ในภาพรวมทั้งหมดว่ามีความถูกต้องเหมาะสมประการใดหรือไม่ และควรมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงแก้ไขในลักษณะใด ซึ่งรวมถึงหลักเกณฑ์ฯ การจ่ายค่าตอบแทนฯ (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2552 นี้ด้วย โดยกระทรวงสาธารณสุขจะนำข้อทักท้วงของผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินดังกล่าวมาข้างต้น มาประกอบการพิจารณาปรับปรุงแก้ไขหลักเกณฑ์การจ่ายค่าตอบแทนภายหลังจากได้รับผลการศึกษาวิเคราะห์จากสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)แล้ว

3.ปลัดกระทรวงสาธารณสุขยังไม่เปลี่ยนแปลงคำสั่งให้จ่ายเงินค่าตอบแทนเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายรพศ./รพท.

4.เลขาชมรม(ผอก)รพศ/รพท (พี่ธวัตชัย วงค์คงสวัสดิ์) กล่าวให้กำลังใจพวกเราว่า จะสนับสนุนให้ผอก.รพศ./รพท.ทั่วประเทศ จ่ายเงินค่าตอบแทนเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายแก่พวกเราโดยถ้วนหน้า


เฮ....เฮ....เฮ

234
12 กุมภาพันธ์ พ.ศ  2553
เรื่อง  ข้อเสนอของสมาพันธ์แพทย์รพศ./รพท. ต่อการแก้ไขปัญหาในกระทรวงสาธารณสุข 
เรียน  ฯพณฯ รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข       
สิ่งที่แนบมาด้วย  บทความเรื่อง กระทรวงสาธารณสุขจะพัฒนาอย่างไร  ของ พญ.เชิดชู  อริยศรีวัฒนา   

กระทรวงสาธารณสุขมีปัญหาในเชิงระบบหลายประการอย่างต่อเนื่อง เป็นระยะเวลายาวนาน การจะแก้ไขปัญหาให้ลุล่วงไปนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่บุคลากรผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนจะได้มีส่วนร่วมในการแก้ไขรวมถึงเสนอข้อมูลรอบด้านแก่ผู้บริหาร  เพื่อนำไปใช้ประกอบในการวางนโยบายและแผนงานที่สอดคล้องกับสภาพปัญหาที่แท้จริง

สมาพันธ์แพทย์รพศ/รพท แห่งประเทศไทย เป็นองค์กรตัวแทนของแพทย์ผู้ปฏิบัติงานในหน่วยบริการของกระทรวงสาธารณสุข อันประกอบไปด้วยแพทย์ประมาณ 6,000 กว่าคน ซึ่งล้วนแต่เป็นผู้ที่ประสบกับปัญหาดังกล่าวโดยตรง  ปัญหาที่เกิดขึ้นในระบบสาธารณสุขไทย นอกจากกระทบถึงขวัญและกำลังใจการทำงานของแพทย์แล้ว ยังส่งผลกระทบถึงผู้ป่วยอีกด้วย เพื่อเป็นข้อมูลแก ฯพณฯ รัฐมนตรี ว่าการกระทรวงสาธารณสุข สมาพันธ์แพทย์รพศ./รพท.แห่งประเทศไทย จึงขอเสนอนำข้อมูลปัญหาและแนวทางการแก้ไขดังนี้ปัญหาและแนวทางแก้ไขดังนี้
 
1.กรณีปัญหาการตรวจสอบการใช้งบประมาณไทยเข้มแข็ง
คณะกรรมการตรวจสอบยังใช้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อน ไม่ตรงกับความเป็นจริง  มีการเลือกใช้ข้อมูลเพียงบางส่วนไปนำเสนอต่อสาธารณะ การสรุปผลการตรวจสอบหลายกรณีจึงไม่สอดคล้องกับสภาวการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ทางสมาพันธ์แพทย์ฯ  มีขอเสนอ ดังนี้
           1.1 ควรแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเชิงลึกที่ประกอบด้วยบุคคลที่เชื่อถือได้และมีความเป็นกลาง   การระบุว่ามีความผิดทุจริตคอรัปชั่น   ควรมีหลักฐานที่ชัดเจน  มีการกระทำผิดจริง  เปิดโอกาสให้ชี้แจง อย่างเท่าเทียมกัน  หากพบว่ามีการกระทำผิดก็ควรดำเนินการจนถึงที่สุด
         1.2 การจัดสรรงบประมาณควรพิจารณาถึงภาระงานเป็นหลัก ภารกิจบริการทุติยภูมิ และตติยภูมิมีความแตกต่างจากการให้บริการแบบปฐมภูมิในโรงพยาบาลชุมชนและศูนย์สุขภาพชุมชนอย่างสิ้นเชิง บริการปฐมภูมิในโรงพยาบาลชุมชนนั้น มีต้นทุนบริการรวมถึงเทคนิคบริการที่ไม่สลับซับซ้อน ให้บริการประชาชนจำนวนไม่มาก ในขณะที่การบริการแบบทุติยภูมิและตติยภูมินั้นสลับซับซ้อนมากกว่า ใช้เทคโนโลยีบริการที่สูงกว่า ให้บริการที่ครอบคลุมประชากรจำนวนมากกว่า จึงมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าบริการแบบปฐมภูมิ โดยต้นทุนบริการของทั้งสองระบบนั้น จึงไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบในด้านของจำนวนและตัวเลขได้

2. ปัญหาการจัดสรรงบประมาณของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
เงินงบประมาณตามรายประชากรส่งไม่ถึงหน่วยบริการทั้งหมด ทั้งนี้ในความเป็นจริง สปสช. ดำเนินการกันเงินส่วนหนึ่งไว้เพื่อจัดทำโครงการอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวการรักษาพยาบาล  ทำให้หน่วยบริการประสบภาวะขาดสภาพคล่องทางการเงิน บางแห่งมีปัญหามากจนอาจไม่สามารถบริหารหน่วยบริการได้ในอนาคตอันใกล้
กรณีนี้สมาพันธ์แพทย์รพศ./รพท. แห่งประเทศไทย มีข้อเสนอดังต่อไปนี้
 2.1 ควรแยกงบประมาณที่เป็นเงินเดือนของบุคลากรและค่าตอบแทนออกจาก เงินค่า   
รักษาพยาบาล/หัวประชากร
  2.2 เสนอให้มีการตรวจสอบ และทบทวนการทำงานของสปสช. เพราะจากบทบาทหน้าที่ในปัจจุบันสปสช.กำลังทำเกินหน้าที่ซึ่งกฎหมายกำหนด การกระทำดัวกล่าวส่งผลกระทบต่อหน่วยบริการเป็นอย่างมาก

3. ปัญหาความขาดแคลนบุคลากร   
ขณะนี้เกิดภาวะขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ทุกในระดับ  โดยเฉพาะรพศ./รพท.    ซึ่งมีภาระงานหนัก รวมถึงภารกิจพิเศษนอกแผนปฏิบัติงาน เนื่องมาจากการที่ สปสช และกระทรวงสาธารณสุขสั่งการลงมาเป็นกรณีพิเศษมาตลอดทั้งปี
   3.1 ควรมีการกำหนดมาตรฐานภาระงานที่เหมาะสมของแพทย์   เพื่อประชาชนจะได้รับการดูแลรักษาที่มีคุณภาพ และนำไปสู่การจัดอัตรากำลังของแพทย์ที่ถูกสัดส่วนกับภาระงาน
   3.2 กำหนดการร่วมจ่ายของประชาชนในรูปแบบที่เหมาะสม เช่น ในโรคที่เกิดจากพฤติกรรมเสี่ยงของผู้ป่วย  เช่น  ดื่มสุรา  สูบบุหรี่ ฯลฯ   หรือการใช้บริการของโรงพยาบาลนอกเวลาราชการของผู้ป่วยที่ไม่มีภาวะฉุกเฉิน  หรือในกรณีที่ผู้ป่วยต้องการบริการเพิ่มเติมจากบริการพื้นฐานของโรงพยาบาล ควรให้ผู้ป่วยมีส่วนร่วมจ่าย (Copayment)  เพื่อสร้างความตระหนักให้กับประชาชนให้มีการดูแลสุขภาพตนเองเป็นอย่างดี รวมถึง เพื่อลดภาระ งานที่ไม่จำเป็นของบุคลากร และลดภาระทางการเงินที่โรงพยาบาลต้องแบกรับ
   3.3 จัดสรรเงินงบประมาณเพื่อจ่ายค่าตอบแทนทุกประเภท อย่างเป็นธรรม และพิจารณาเร่งรัดการจ่ายค่าตอบแทนตามภาระงานที่ทางกระทรวงสาธารณสุขได้ชะลอเรื่องไว้ (ตั้งแต่ สตง. ได้ทำหนังสือท้วงติงมา)  ทำให้บุคลากร ของ รพศ./รพท. สูญเสียขวัญและกำลังใจเป็นอย่างมาก
                      3.4 การจัดสรรโควตาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และบุคลากรอื่นๆของโรงพยาบาลต่างๆ ในปัจจุบันนี้ ไม่เป็นไปตามสภาพความต้องการที่แท้จริงของโรงพยาบาลในพื้นที่ มีการจัดสรรบุคลากรให้แก่รพศ./รพท. โดยบุคคลที่ไม่เข้าใจระบบการทำงานในรพศ./รพท. และไม่เข้าใจปัญหาในพื้นที่ต่างๆ  อีกทั้งมีการใช้เหตุผลอื่นๆที่ไม่สมควร  มากกว่าความจำเป็นของพื้นที่

4. การแยกการบริหารงานบุคลากรของกระทรวงสาธารณสุขออกจากก.พ.     
ที่ผ่านมา ก.พ.ไม่เข้าใจงานกระทรวงสาธารณสุข มีการยุบหน่วยงานบางหน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุขไป (ซึ่งมีส่วนทำให้การบริหารงบประมาณไทยเข้มแข็ง มีปัญหา) ในขณะเดียวกัน กพ. ก็มีนโยบายลดจำนวนข้าราชการลง ในขณะที่บุคลากรทางสาธารณสุขยังมีจำนวนไม่พอเหมาะกับภาระงาน ทำให้เกิดความขาดแคลนบุคลากรในทุกระดับ  นอกจากนี้ค่าตอบแทนที่บุคลากรได้รับยังไม่สอดคล้องกับภาระงาน ทั้งยังมีความแตกต่างจากภาคเอกชนค่อนข้างมาก นอกจากนี้กฎระเบียบของ กพ. บางส่วนยังเป็นอุปสรรคต่อการแก้ปัญหา และการพัฒนางานของโรงพยาบาล

5. ระบบคุณธรรม และหลักการบริหารงานแบบธรรมาภิบาลของกระทรวงสาธารณสุข         การบริหารงานในกระทรวงสาธารณสุขที่ผ่านมา ถูกวิพากษ์ วิจารณ์ในหลายกรณีว่าไม่เป็นไปตามนโยบายการกำกับดูแลองค์กรที่ดี (การบรรจุแต่งตั้ง การเลื่อน การย้าย และการโอน เจ้าหน้าที่ของรัฐ รวมทั้งระบบการให้รางวัล และการลงโทษ ต้องทำด้วยความโปร่งใส เป็นธรรม และตรวจสอบได้ บนพื้นฐานของกฎหมาย ความรู้ ความสามารถ และผลงานอย่างแท้จริง) ซึ่งสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศใช้นโยบายนี้ตั้งแต่วันที่ 9 ม.ค. 2552

 การบริหารโดยไม่ชอบด้วยคุณธรรม ไม่ยึดหลักธรรมาภิบาลดังกล่าว มีผลกระทบทำให้ข้าราชการที่มีความรู้ความสามารถจำนวนไม่น้อย ขาดขวัญ และกำลังใจในการทำงาน ประกอบกับนโยบายของท่านรัฐมนตรีสาธารณสุขที่ได้ประกาศเมื่อวันที่20 ม.ค.2553 ว่าจะยึดหลักการ 3 ประการ คือ ความโปร่งใส ความสามัคคี และการมีส่วนร่วมในการทำงานร่วมกันทุกฝ่ายในสังคมสาธารณสุข ทางสมาพันธ์แพทย์รพศ./รพท.แห่งประเทศไทยขอมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ และ ผลักดันให้มีการดำรงไว้ซึ่งระบบธรรมาภิบาลในกระทรวงสาธารณสุข

 จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาดำเนินการต่อไป เพื่อเป็นคุณูปการแก่วงการสาธารณสุขไทยในปัจจุบัน และอนาคต


                                               ขอแสดงความนับถืออย่างสูง
                           
                                                   ( พญ. พจนา กองเงิน)

235
คมชัดลึก : กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับกระทรวงการคลัง เตรียมประกาศใช้บัญชียาแผนไทย ในโรงพยาบาลและสถานบริการสาธารณสุข เพื่อใช้รักษาโรคหรือบรรเทาอาการเจ็บป่วย ใช้เป็นรายการยาสมุนไพรที่เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ สามารถเบิกจ่ายได้ คาดใช้ได้ในเดือนมีนาคมนี้
 
(10ก.พ.) นางพรรณสิริ   กุลนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขและคณะผู้บริหารระดับสูง เดินทางไปที่โรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่น เยี่ยมชมระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน   และการให้บริการงานแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก และมอบนโยบายการพัฒนางาน

 นางพรรณสิริ   กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายส่งเสริมการใช้การแพทย์แผนไทยและยาสมุนไพรไทย ใช้รักษาโรค อาการเจ็บป่วยต่างๆ   เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายการซื้อยาแผนปัจจุบันที่มีราคาแพง โดยจะให้โรงพยาบาลขนาดใหญ่ ได้แก่ โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป ใช้ยาสมุนไพรที่มีผลการวิจัยรับรองประสิทธิภาพในการรักษาทดแทนยาแผนปัจจุบันไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ส่วนโรงพยาบาลชุมชนใช้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 

ขณะนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมมือกับกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ปรับปรุงบัญชียาแผนไทยที่ใช้ในโรงพยาบาลและสถานบริการสาธารณสุข เพื่อเตรียมประกาศใช้ในการรักษาโรค หรือบรรเทาอาการเจ็บป่วยของประชาชน เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ   โดยสามารถเบิกค่ารักษาได้เช่นเดียวกับยาแผนปัจจุบัน    คาดว่าจะสามารถประกาศใช้ได้ในเดือนมีนาคมนี้ ซึ่งจะทำให้ยาแผนไทยต่างๆ เข้ามามีบทบาทในการรักษาโรค ได้รับการยอมรับจากบุคลากรการแพทย์ ใช้กันอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น และยาแผนไทยมีราคาถูกกว่ายาแผนปัจจุบันหลายเท่าตัว แต่คุณภาพดีไม่แพ้กัน   

 นางพรรณศิริกล่าวต่อว่า รายการยาไทยที่จะใช้ในโรงพยาบาลและสถานบริการสาธารณสุขครั้งนี้   จะต้องเป็นยาที่ใช้รักษาโรค หรือบรรเทาอาการเจ็บป่วยให้ทุเลาลง   ไม่รวมยาที่ใช้บำรุงสุขภาพ   หรือยาที่ใช้ป้องกันโรค ประกอบด้วยยา 3 ประเภท ได้แก่ 1.ยาที่อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติพ.ศ. 2549 ซึ่งมี 19 รายการ ได้แก่ ยาแก้ไข้ห้าราก ยาเขียวหอม ยาเหลืองปิดสมุทร ยาจันทน์ลีลา ยาถ่ายดีเกลือฝรั่ง ยาธาตุบรรจบ ยาประสะกานพลู ยาประสะไพล ยาประสะมะแว้ง ยาหอมเทพจิตร ยาหอมนวโกฐ ขมิ้นชัน ขิง ชุมเห็ดเทศ บัวบก พญายอ พริก ไพล และฟ้าทะลายโจร   2.ยาที่เป็นเภสัชตำรับโรงพยาบาลซึ่งโรงพยาบาลต่างๆผลิตใช้เองทั้งยาสำเร็จ รูป เช่น การผลิตยาสามัญประจำบ้านแผนโบราณ ยาที่ผลิตตามคัมภีร์ และยาที่ผลิตจากการศึกษาวิจัยและพัฒนา   รวมทั้งยาที่โรงพยาบาลปรุงเพื่อใช้ในผู้ป่วยแต่ละราย และ 3. ยาที่ผลิตมาจากบริษัทเอกชนในประเทศที่ได้มาตรฐานการผลิตที่ดีหรือจีเอ็มพี( GMP ) และผ่านการขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแล้ว 

 ขณะนี้โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขหลายแห่ง สามารถผลิตยาสมุนไพรที่ มีคุณภาพใช้เองในโรงพยาบาล โดยใช้วัตถุดิบจากท้องถิ่น    เช่น ที่โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์   จังหวัดปราจีนบุรี   โรงพยาบาลดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี หากพัฒนาให้ได้มาตรฐานจีเอ็มพี ก็สามารถสนับสนุนให้โรงพยาบาลอื่นๆได้

236
กทม.เตรียมความพร้อมทีมแพทย์ฉุกเฉินจัดอบรมเชิงปฏิบัติการทางการแพทย์ใน สาธารณภัยกลุ่มชน แก่บุคลากรในเครือข่ายระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินจากโรงพยาบาลของรัฐและเอกชน 44 แห่ง และ 8 แห่งจากมูลนิธิต่างๆที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีความพร้อมในการรับมือกับเหตุสาธารณภัยที่อาจเกิดขึ้นในกรุงเทพมหา นครได้อย่างเป็นระบบ
 
นพ.สราวุฒิ สนธิแก้ว ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงการจัดอบรมครั้งนี้ว่าการเกิดภัยพิบัติและสาธารณภัยในประเทศไทย และในโลกมีแนวโน้มที่จะเกิดบ่อยขึ้นอีกทั้งมีความรุนแรงมากขึ้น มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากเหตุสาธารณภัยจำนวนมาก ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครก็มีเหตุสาธารณภัยขึ้นบ่อยครั้งและอาจเกิดเหตุ สาธารณภัยขนาดใหญ่เกิดขึ้นได้ กรุงเทพมหานครจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมในการรับมือกับเหตุสาธารณภัย

 
นพ.เพชรพงษ์ กำจรกิจการ ผู้อำนวยการศูนย์เอราวัณ กล่าวว่า สำนักการแพทย์ กรุงเทพหมานครโดยศูนย์เอราวัณ ซึ่งทำหน้าที่เป็นหน่วยงานหลักในการให้บริการด้านการแพทย์ฉุกเฉินในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จัดให้มีการอบรมเชิงปฏิบัติการทางการแพทย์ในสาธารณภัยกลุ่มชนแก่บุคลากรในเครือข่ายระบบการแพทย์ฉุกเฉินพื้นที่กรุงเทพมหานคร ประกอบด้วยโรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานครทั้ง 9 แห่ง โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงกลาโหม โรงพยาบาลสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติโรงพยาบาลสังกัดทบวงหาวิทยาลัยและโรงพยาบาลเอกชนชั้นนำ รวมทั้งชุดปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินจากมูลนิธิที่ขึ้นทะเบียนหน่วยบริการระดับพื้นฐานในระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน 8 มูลนิธิจำนวนรวมกว่า 180 คน เพื่อให้มีความพร้อมในการรับมือกับเหตุสาธารณภัยที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่กรุงเทพมหานครได้อย่างเป็นระบบ โดยรูปแบบการมีทั้งการบรรยาย การสาธิตและฝึกปฏิบัติในสถานการณ์จำลอง นอกจากจะเป็นการเสริมความรู้จากการบรรยาย การสาธิตและยังได้รับประสบการณ์จริง จากการฝึกปฏิบัติในสถานการณ์จำลอง ทำให้ได้รู้ข้อผิดพลาดในการฝึกปฏิบัติที่ชุดปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินยังมีอยู่และนำไปพัฒนาปรับปรุงการปฏิบัติงานให้พร้อมรับสถานการณ์จริงอย่างเหมาะสมต่อไป
 
ผู้อำนวยการศูนย์เอราวัณกล่าวอีกว่า ในการเตรียมความพร้อมในการฝึกปฏิบัติในสถานการณ์จำลอง ชุดปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินต้องเตรียมพร้อมและสามารถปฏิบัติการประสานสั่ง การร่วมกับชุดปฏิบัติการอื่นตามแผนปฏิบัติการอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อช่วย เหลือผู้ป่วยฉุกเฉินและบาดเจ็บสู่ความปลอดภัยให้ได้มากที่สุดอย่างรวดเร็ว ไม่สับสนและทุกทีมปลอดภัย การพัฒนาระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินเพื่อรองรับเหตุสาธารณภัยที่ไม่มีใครบอกได้ว่าจะเกิดขึ้นที่ไหนเวลาใดและรุนแรงเพียงใด การเตรียมความพร้อมก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์เป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับการรับมือกับเหตุสาธารณภัยเพราะเมื่อถึงเวลานั้นจะเกิดความวุ่นวายสับสนมาก ถ้าไม่เตรียมการให้พร้อมไว้ก่อนกรุงเทพมหานครอาจจะไม่สามารถรับมือกับ เหตุการณ์สาธารณภัยขนาดใหญ่ได้

237
วันนี้(8 ก.พ.) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.สาธารณสุข แถลงภายหลังประชุมผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงว่า ขณะนี้ได้สั่งการให้มีการแก้ไขปัญหากรณีวิทยาลัยนครราชสีมา สาขาวิชาการพยาบาลแล้ว โดยเมื่อตรวจสอบพบว่ากระบวนการเรียนการสอนหลักสูตรได้รับการรับรองเฉพาะปี 2548-2549 แต่เมื่อปี 2550 สภาการพยาบาลได้ขอให้วิทยาลัยมีการปรับปรุงกระบวนการ ทั้งเรื่องเกณฑ์อาจารย์ที่สอนอาจารย์ที่มีชื่อแต่ไม่ได้ไปสอนจริง ซึ่งสภาการพยาบาลได้ให้ข้อมูลว่า ทางวิทยาลัยดังกล่าวได้เพิกเฉยไม่ได้ดำเนินการ ดังนั้นในปี 2550 จึงได้มีมติไม่รับรองหลักสูตร จึงเป็นปัญหาสำหรับเด็กที่เรียนตั้งแต่ปี 2548 และย่างเข้าสู่ปีที่ 3 ที่ไม่มีการรับรองหลักสูตร และยังถือเป็นปัญหาของเด็กปี 1 ในปี 2550-2551 เป็นต้นมาอีกด้วย

รมว.สาธารณสุข กล่าวต่อว่า สำหรับทางแก้ปัญหา กระทรวงสาธารณสุขเห็นว่าควรดำเนินการทางสถาบันและผู้บริหารสถาบันโดยเคร่งครัดตามกฎหมาย โดยกระทรวงศึกษาธิการจะเป็นผู้ดำเนินการ ส่วนนักศึกษาให้แยกออกเป็น 2 แนวทาง แนวทางแรก ให้สถาบันพระบรมราชชนกช่วยหาสถานที่เรียนให้เด็กที่ประสบปัญหา โดยใช้วิธีการโอนหน่วยกิตไปยังสถาบันการศึกษาใหม่ที่หาได้ ส่วนแนวทางที่ 2 ให้วิทยาลัยพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข 29 แห่ง ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของสภาการพยาบาลช่วยพิจารณารับเด็กที่เรียนไม่จบหรือ แม้แต่เรียนจบแล้วไม่สามารถไปขอใบประกอบวิชาชีพได้ ให้มีโอกาสเข้ามาเรียนเพิ่มเติม จนสามารถเข้าไปขอใบประกอบวิชาชีพได้ ถือว่าเข้าเกณฑ์เป็นการเยียวยาทั้งเด็กที่จบแล้วและยังไม่จบหลักสูตร.

238
คมชัดลึก :นาย จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีแพทยสภาอนุมัติหลักสูตรแพทยศาสตร์ภาคภาษาอังกฤษ ของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ว่า คณะกรรมการกำลังคนด้านสุขภาพแห่งชาติ
 ที่มี นพ.มงคล ณ สงขลา เป็นประธาน จะเปิดรับความคิดเห็นจากฝ่ายต่าง ๆ วันที่ 9 กุมภาพันธ์ ตั้งแต่เวลา 08.30 น.เป็นต้นไป และแพทยสภาจะทบทวนเรื่องนี้ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ซึ่ง สธ.มีตัวแทนเข้าร่วมเป็นกรรมการแพทยสภาหลายคน โดยเฉพาะ นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัด สธ. ร่วมเป็นกรรมการด้วย น่าจะได้ข้อยุติเร็วๆ นี้การดำเนินการใดๆ ก็ตามจะต้องไม่กระทบต่อการผลิตแพทย์เพื่อดูแลสาธารณสุขสำหรับคนไทยในปัจจุบัน รวมทั้งต้องไม่กระทบต่อการบริการของประชาชนชาวไทยด้วย
 ด้าน นพ.สัมพันธ์ คมฤทธิ์ เลขาธิการแพทยสภา กล่าวว่า แพทยสภายืนยันว่าไม่ได้รับรองหลักสูตรแพทยศาสตร์นานาชาติ หรือหลักสูตรอินเตอร์ แต่เป็นการรับรองหลักสูตรแพทยศาสตร์ ภาษาอังกฤษเท่านั้น ซึ่งในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ หลังจากเปิดรับฟังความคิดเห็นจากทั้งฝ่ายที่คัดค้านและเห็นด้วย จะรับรองมติที่เกิดขึ้น
 ศ.ดร.วิรุณ ตั้งเจริญ อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) กล่าวว่า แนวคิดการจัดตั้งหลักสูตรแพทยนานาชาติ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ประสงค์อยากให้เป็นองค์กรอิสระ แต่หลักสูตรดังกล่าวยังไม่ได้เข้าสู่การพิจารณาของสภามหาวิทยาลัยแต่อย่างใด ยืนยันว่า มศว เป็นมหาวิทยาลัยที่ติดดิน มีปรัชญาที่ชัดเจนว่าการช่วยคนต้องช่วยคนในถิ่นฐานก่อน โดยฉพาะในประเทศไทยมีคนที่มีชีวิตขัดสนอย่างมาก ยังต้องการความช่วยเหลือจากองค์กร สังคมอีกมากมาย เรื่องนี้ขอให้แก้ปัญหาด้วยหลักการและเหตุผลบนฐานคิดของสังคมไทย ที่ยังต้องการความช่วยเหลือจากศาสตร์ต่างๆ ภายในมหาวิทยาลัยอีกมาก

239
---ประชาชนต้องเดินทางจากอำเภอหนึ่งสู่ตัวจังหวัด หรืออีกอำเภอหนึ่งเพื่อรับบริการการตรวจรักษา หรือจากจังหวัดหนึ่งสู่อีกจังหวัดหนึ่งมากเกินไป(น่าจะเดินทางน้อยกว่านี้ ถ้า...)
---ประชาชนต้องตื่นแต่เช้าเพื่อเดินทางมาที่โรงพยาบาลศูนย์/ทั่วไป รอคิวตรวจ เนื่องจากมีผู้ป่วยจำนวนมาก หากมาช้าอาจต้องรอทั้งวันกว่าจะได้ตรวจ
---เมื่อได้คิวตรวจ แพทย์ก็ใช้เวลาเพียงไม่กี่นาทีในการตรวจ ดูเหมือนตรวจไม่ละเอียด และผู้ป่วยรู้สึกไม่มั่นใจ
---ยาที่ได้รับ ผู้ป่วยก็ไม่มั่นใจ เพราะรู้ว่าโรงพยาบาลพยายามใช้ยาราคาถูกๆ บางครั้งก็ดูเหมือนแพทย์ให้ยาไม่กี่อย่าง น้อยกว่าแต่ก่อน
---ในโรคที่รื้อรังซึ่งต้องพบแพทย์เป็นระยะๆ แพทย์ก็นัดตรวจแต่ครั้งบางทีนาน 3 ถึง 4 เดือน ผู้ป่วยรู้สึกนานเกินไป
---การนัดตรวจบางอย่าง เช่น การตรวจมะเร็งเต้านมโดยใช้แมมโมแกรม โรงพยาบาลบางแห่งกว่าจะนัดได้ต้องใช้เวลาถึง 3 ถึง 6 เดือน การผ่าตัดบางอย่าง เช่น การผ่าตัดต้อกระจก การผ่าตัดนิ่วในทางเดินปัสสาวะ โรงพยาบาลบางแห่งกว่าจะได้คิวผ่าตัดก็นานหลายเดือน การทำกายภาพบำบัดก็เหมือนกัน บางแห่งกว่าจะได้คิวก็รอจนเบื่อ
---ผู้ป่วยที่ต้องนอนโรงพยาบาล(โดยเฉพาะแผนกอายุรกรรม และศัลยกรรมในโรงพยาบาลศูนย์/ทั่วไป) มีมากเกินกว่าจำนวนเตียงที่มี ต้องนอนเตียงเสริม
---จำนวนพยาบาลในโรงพยาบาลศูนย์/ทั่วไป มีไม่พอ ไม่เหมาะสมกับจำนวนผู้ป่วยที่ต้องดูแลรักษา กระทบต่อคุณภาพการดูแลผู้ป่วย
---อื่นๆ อีกมากมาย ช่วยกันบรรยายหน่อย-----------

240
ปัญหาที่เผชิญหน้า
วิกฤตวิชาชีพแพทย์
วิกฤตระบบสาธารณสุขไทย
วิกฤตกระทรวงสาธารณสุข
ปัญหาที่มีอยู่จริง---ใครรู้-ใครเห็น-ใครทำอะไร?
                           ---ที่ผ่านมาใครทำอะไร---กระทรวงสาธารณสุข-แพทยสภา-แพทยสมาคม
                                                                 ---(ราช)วิทยาลัยแพทย์-โรงเรียนแพทย์
(กระทรวงสาธารณสุขที่กลุ่มแพทย์ชนบทมีอิทธพลมายาวนานทำอะไรบ้าง /ทำเป็นหรือเปล่า/แก้ปัญหาหรือสร้างปัญหา?)
ประเด็น-คิดว่ามีปัญหาหรือเปล่า?-รู้สาเหตุของปัญหาหรือเปล่า?-รู้วิธีแก้ปัญหาหรือเปล่า?-แก้ปัญหาตรงจุดหรือเปล่า?-แก้ปัญหาหนึ่งแล้วสร้างอีกปัญหาหนึ่งหรือเปล่า?)

วิกฤต/ปัญหาที่สำคัญ
๑. ระบบคุณธรรม/ธรรมาภิบาลในกระทรวงสาธารณสุข
---เป็นรากเหง้าของทุกปัญหา
---การเข้าสู่ตำแหน่งของผู้บริหารระดับต่างๆ-การแต่งตั้ง/โยกย้าย(ด้วยเกณฑ์อะไร?/เหตุผลอะไร?/โปร่งใส?/ด้วยเป้าหมายอะไร?/ผลงาน/ความสามารถอะไร? หรือด้วย..............)

ในบ้านเมืองนั้นมีทั้งคนดี และคนไม่ดี ไม่มีใครที่จะทำให้ทุกคนเป็นคนดีได้ ทั้งหมด การทำให้บ้านเมือง มีความปกติสุข เรียบร้อยจึงมิใช่การทำให้ทุกคนเป็นคนดี หากแต่อยู่ที่การส่งเสริมคนดี ให้คนดีปกครองบ้านเมือง และคุมคนไม่ดี ไม่ให้มีอำนาจ ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้  -------------------------------พระบรมราโชวาท   ๑๑ ธค. ๒๕๑๒

การบรรจุแต่งตั้ง การเลื่อน การย้าย และการโอน เจ้าหน้าที่ของรัฐ รวมทั้งระบบการให้รางวัล และการลงโทษ ต้องทำด้วยความโปร่งใส เป็นธรรม และตรวจสอบได้ บนพื้นฐานของกฎหมาย ความรู้ ความสามารถ และผลงานอย่างแท้จริง
-------นโยบายการกำกับดูแลองค์การที่ดี  สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข     ๙  มค. ๒๕๕๒

ผู้บริหารทุกระดับ เข้าสู่ตำแหน่งเพื่ออำนาจ(บริหาร) ผ่านช่องทางต่างๆ(ที่ไม่ใช่ธรรมาภิบาล) จึงทำทุกวิถีทางเพื่อรักษาตัวให้อยู่ในอำนาจ(บริหาร) หรือให้มีอำนาจ(บริหาร)มากขึ้น  ไม่ใช่มุ่งทำผลงานเพื่องาน ----- เราต้องการให้คนดี(ที่มีความกล้า)ได้เป็นผู้บริหารกระทรวงฯในทุกระดับ
คนดีไม่ได้รับการส่งเสริม คนดีถูกกลั่นแกล้ง คนดีถูกมองข้าม
----------------------------------------คนดีจะหมดกำลังใจ คนดีจะสูญหาย กระทรวงฯจะ......................?

๒. ความขาดแคลน/การกระจายแพทย์
---ใคร(หน่วยงานใด/องค์กรใด)รับผิดชอบเรื่องนี้?-ทำไมถึงแก้ไม่ได้สักที หรือไม่ตั้งใจแก้?
---ใครรู้? ใครเห็น? ใครทำอะไร?
---อุปสรรค/ปัญหา คือ ๑-๒-๓-----?
---ต้องแสดงให้เห็นถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น(แล้ว)กับประชาชน และสังคม เพื่อให้ทุกฝ่ายผลักดัน
                            -การรอเพื่อตรวจรักษา/วินิจฉัยที่รพศ/รพท.-ผู้ป่วยนอก-ผ่าตัดบางอย่าง-ตรวจพิเศษ
                            -ความละเอียดในการตรวจรักษา(เวลาในการตรวจผู้ป่วยแต่ละราย)-นาที?
                            -การที่ต้องถูกส่งตัวไปตรวจรักษา/วินิจฉัยจากรพช.ไปยังรพศ/รพท.(ความไม่สะดวก-ความล่าช้า-ผลการรักษาไม่ดี)
                            -ความแออัดของผู้ป่วยที่นอนรักษาตัวในรพศ/รพท.(เตียงเสริม)
                            -ผู้ป่วยหนักไม่มีห้องไอซียูให้นอน ต้องนอนในหอผู้ป่วยรวม
                            -ยาราคาถูกที่โรงพยาบาลจัดซื้อมาใช้รักษาผู้ป่วย คุณภาพดีหรือ?

---ข้อมูลเชิงประจักษ์
                       -การไหลออกของแพทย์-ภาพรวม-ภาพย่อย
                       -ค่าตอบแทน/ภาระงาน
                       -ความเสี่ยงต่อการถูกร้องเรียน/ฟ้องร้อง(จำนวน-ภาพรวม-ภาพย่อย---ความรุนแรง)
                       -คุณภาพของผู้เลือกเรียนคณะแพทย์ศาสตร์/สัดส่วนชาย:หญิง
                       -การเลือกเรียนแพทย์เฉพาะทางสาขาต่างๆ
                       -จำนวนผู้ป่วย(นอก/ใน)ของรพศ/รพท-จำนวนผู้ป่วยส่งต่อ
                       -จำนวนผู้ป่วย(นอก/ใน)ของรพช-จำนวนผู้ป่วยส่งต่อ
                       -จำนวนผู้ป่วยหนักในรพศ/รพท/รพช
                       -การผ่าตัด/หัตถการในรพศ/รพท/รพช

๓. ระบบที่ไม่ต้องรับผิดชอบ
---ผู้ป่วยไม่ต้องรับผิดชอบ---ไม่ต้องจ่ายค่าตรวจรักษา---ไม่ดูแลสุขภาพตัวเอง---ร้องเรียนฟ้องร้องตามสบาย(ฟรีด้วย)
---โรงพยาบาลที่ส่งต่อผู้ป่วยไม่ต้องตามจ่าย---ส่งอย่างเดียว---ไม่อยากรับกลับ
---ผู้บริหารไม่ต้องรับผิดชอบ---ระดับโรงพยาบาล---ระดับกรมกองต่างๆ---ระดับกระทรวง?

๔. ประเด็นย่อย
๔.๑ ระบบการให้ค่าตอบแทนที่เป็นธรรม?
๔.๒ มาตรฐานวิชาชีพ/การทำงาน?
๔.๓ ระบบการส่งต่อผู้ป่วย?
๔.๔ ระบบการสร้างสุขภาพ/ซ่อมสุขภาพ?
๔.๕ การแยกตัวออกจากกพ.?
๔.๖ ความผิดจากการประกอบวิชาชีพแพทย์ไม่เป็นคดีอาญา?

เชิญชวนเพื่อนๆสมาชิก แสดงความคิดเห็นได้เต็มที่เลยครับ

หน้า: 1 ... 14 15 [16] 17