ผู้เขียน หัวข้อ: สางปัญหา “ท้องไม่พร้อม-แท้งไม่ปลอดภัย” ด้วย พ.ร.บ.อนามัยเจริญพันธุ์  (อ่าน 794 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9760
    • ดูรายละเอียด
ไม่น่าเชื่อว่าโลกสีน้ำเงินกลมๆ ใบนี้จะมีผู้หญิงเผชิญปัญหาการทำแท้งมากถึงปีละกว่า 20 ล้านคน เสียชีวิตจากการทำแท้งไม่ปลอดภัย 80,000 คน หรือตกชั่วโมงละ 9 คน!!

       ขณะที่ประเทศไทยเองก็มีข่าวเกี่ยวกับการทำแท้งปรากฏอยู่ตามหน้าสื่อบ่อยครั้ง อย่างกรณีพบซากทารกที่ถูกทำแท้งจำนวน 2002 ศพในวัด 3 แห่งในกรุงเทพฯ เมื่อ พ.ย. 2553 สะท้อนให้เห็นว่าไม่มีการเข้าถึงบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย และไม่มีการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ ซึ่งจากการสำรวจพบว่า เมื่อปี 2554 ผู้หญิงไทยมีอัตราการแท้งสูงถึง 30,389 ราย ตายจากการแท้งที่ไม่ปลอดภัย 4 ราย และใช้ค่ารักษาพยาบาลกว่า 154 ล้านบาท
       
       สาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้หญิงไทยในวัยเจริญพันธุ์ (15-49 ปี) ซึ่งมีจำนวนมากถึง 16 ล้านคน เผชิญหน้ากับปัญหาการทำแท้งก็คือ “การตั้งครรภ์ไม่พร้อม” ซึ่งปัจจัยหลักนั้น นพ.กิตติพงศ์ แซ่เจ็ง ผอ.สำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวระหว่างการประชุมนานาชาติ “สุขภาพสตรีและการทำแท้งไม่ปลอดภัย” ซึ่งจัดโดยมูลนิธิเพื่อสุขภาพและสิทธิอนามัยการเจริญพันธุ์ของสตรี (แห่งประเทศไทย) ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน และวิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่าเกิดจาก 1. ถูกล่วงละเมิดทางเพศจากคนใกล้ชิด โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่น และ 2. การเข้าไม่ถึงบริการคุมกำเนิด ซึ่งเป็นเรื่องของทัศนคติที่มองว่าผู้หญิงที่รู้จักการป้องกันตนเองเป็นคนใจแตก
       
       “ที่เห็นได้ชัดคือ ผู้หญิงวัยทำงานที่ยังใช้คำนำหน้าว่า “นางสาว” หรือยังไม่มีสามี เมื่อมาขอใช้บริการคุมกำเนิดตามสถานพยาบาล เช่น ใส่ห่วง หรือฉีดยา ผู้ให้บริการมักมองว่ามีความประพฤติที่ไม่เหมาะสม นอกจากนี้ เรื่องการยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่ปลอดภัย ทั้งการขูดมดลูกซึ่งมีอัตราการตาย ตกเลือด และติดเชื้อสูง รวมไปถึงความล่าช้าของการดำเนินการยุติการตั้งครรภ์ตามกฎหมายอาญามาตรา 305 และข้อบังคับแพทยสภานั้น ส่งผลให้หญิงตั้งครรภ์จำนวนมากหันไปทำแท้งเถื่อนแทน ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาด้วยตัวเองที่ไม่ถูกต้องและไม่ปลอดภัย เป็นผลให้เกิดปัญหาสุขภาพกาย จิตใจ ครอบครัว และสังคมตามมาอีกมากมาย” นพ.กิตติพงศ์กล่าว
   
       สำหรับมาตรการแก้ปัญหาเบื้องต้น แว่วว่ามีการเสนอให้ทุกสถานพยาบาลดำเนินการยุติตั้งครรภ์อย่างปลอดภัยตามวิธีที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ คือ 1.ยกเลิกการขูดมดลูก โดยให้หันมาใช้เครื่องดูดมดลูกแทน ซึ่งมีความปลอดภัยกว่า และ 2.การรณรงค์ให้ทุกประเทศขึ้นทะเบียนยา Mifepristone และ Misoprostol เพื่อใช้ในการยุติการตั้งครรภ์กรณีที่อายุครรภ์น้อยกว่า 63 วันหรือ 9 สัปดาห์ ซึ่งเป็นยาที่องค์การอนามัยโลกได้บรรจุลงในบัญชียาหลัก ซึ่งต้องเป็นไปตามกฎหมายของแต่ละประเทศกำหนดนั้น อาจไม่ใช่แนวทางแก้ปัญหาที่ครอบคลุมนัก เพราะไม่ได้แก้ปัญหาที่ต้นเหตุคือการท้องไม่พร้อม
       
       อย่างไรก็ตาม นพ.กิตติพงศ์เปิดเผยว่า การจะแก้ปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อมและการทำแท้งไม่ปลอดภัย ต้องเร่งผลักดันให้ร่าง พ.ร.บ.อนามัยการเจริญพันธุ์ พ.ศ.... ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของกฤษฎีกา ให้มีผลบังคับใช้โดยไว เพราะร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวจะช่วยให้ทุกภาคส่วนจัดบริการการป้องกันการตั้งครรภ์ไม่พร้อมและดำเนินการยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัยได้เข็มแข็งขึ้น
       
       “อย่างปัญหาทัศนคติแง่ลบต่อผู้หญิงที่มาขอรับบริการคุมกำเนิดหรือยุติการตั้งครรภ์นั้น พ.ร.บ.ดังกล่าวก็จะไปช่วยสนับสนุนให้มีการปรับปรุงหลักสูตรการเรียนแพทย์และพยาบาลให้มีความเข้าใจการบริการตรงนี้มากขึ้น ลดทัศนคติที่ไม่ดีตรงนี้ออกไป เพื่อให้สามารถเปิดกว้างในการให้คำปรึกษาการวางแผนครอบครัว การคุมกำเนิด และการยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัยได้” นพ.กิตติพงศ์กล่าว
       
       นพ.กิตติพงศ์กล่าวอีกว่า นอกจากนี้จะช่วยในเรื่องของการส่งเสริมการมีลูกเมื่อพร้อม การเข้าถึงการวางแผนครอบครัว การให้ความรู้ด้านเพศศึกษาแก่เด็ก ตั้งแต่ระดับครอบครัว โรงเรียน และชุมชน การรู้จักปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนต่างเพศ การรู้จักปฏิเสธการมีเพศสัมพันธ์ การป้องกันหรือการมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย รวมไปถึงพัฒนาระบบบริการสาธารณสุขและพัฒนาบุคลากรให้รู้เท่าทันเทคโนโลยีการคุมกำเนิด การยุติการตั้งครรภ์ เพิ่มทักษะการให้คำปรึกษา ซึ่งตรงนี้อาจช่วยเปลี่ยนใจให้คนอยากทำแท้งเลิกทำแท้งได้ รวมไปถึงสนับสนุนให้มีการจัดบริการด้านสังคมด้วย เช่น การเปิดให้ศึกษาต่อ เพราะนักเรียนส่วนใหญ่ที่ไปทำแท้งเพราะต้องการที่จะเรียนต่อ จึงจะมีการเปิดโอกาสตรงนี้ด้วย
       
       พ.ร.บ.อนามัยการเจริญพันธุ์จึงเป็นกฎหมายที่ประเทศไทยจำเป็นต้องมี เพื่อลดภาวะการตั้งครรภ์ไม่พร้อม และเพิ่มการเข้าถึงบริการอนามัยเจริญพันธุ์ที่ปลอดภัยและมีคุณภาพ ช่วยขจัดปัญหาและสางปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อมและการยุติการตั้งครรภ์ไม่ปลอดภัย เป็นแนวทางในการประกันพัฒนาการและความมั่นคงในชีวิตและสุขภาพของสตรี!

ASTVผู้จัดการออนไลน์    3 กุมภาพันธ์ 2556