แสดงกระทู้

This section allows you to view all posts made by this member. Note that you can only see posts made in areas you currently have access to.


Messages - story

หน้า: 1 ... 453 454 [455] 456 457 ... 651
6811


สวัสดี เพื่อนแพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ทุกท่าน

   ก่อนอื่นจะขอกล่าวถึง การประชุมสามัญประจำปี 2556 ของสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป (สพศท.) เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2556 ที่โรงแรม เซ็นทราศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ ซึ่งถือว่า เป็นการประชุมครั้งที่ 4 หลังจากการประชุมก่อตั้งสมาพันธ์ฯในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2552

ทางสมาพันธ์ฯได้รับเกียรติ จากนพ. ชลน่าน ศรีแก้ว รมช. สธ. มาเป็นประธานกล่าวเปิดงาน ในการประชุมวันนั้นเราได้ ประธานสมาพันธ์ฯ พญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นสมัยที่2 ติดต่อกันและทีมรองประธานอีก 9 คน ที่จะช่วยเสริมหญิงเหล็กอย่าง พญ.ประชุมพร ให้ทำงานได้อย่างราบรื่น สามารถสร้างเครือข่ายที่เข้มแข็งได้ต่อไป โดยการรวมตัวของแพทย์เราชาวโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ยังได้รับการสนับสนุนจาก เลขาธิการแพทยสภา นพ.สัมพันธ์ คมฤทธิ์ ซึ่งจะจัดตั้งอนุกรรมการแพทยสภา ประกอบไปด้วย ประธานองค์กรแพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป เพื่อแลกเปลี่ยน เรียนรู้การทำงาน การแก้ปัญหาให้กับผู้ป่วยต่อไป และ คุณอรวรรณ นุ้ยภักดี ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาระบบงานบุคคล กพ. ได้กล่าวยกย่องการรวมตัวของสมาพันธ์ฯว่าเป็นต้นแบบการรวมตัวของข้าราชการเพื่อประโยชน์ของประชาชน ซึ่งทาง กพ.กำลังศึกษาและจะยกร่างเป็นกฎหมายต่อไป

ในวันเดียวกันกับการประชุมของสมาพันธ์ฯ ทางคณะกรรมการร่างพ.ร.บ. คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ. ...  ของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมี นพ. ชลน่าน ศรีแก้ว รมช. สธ.เป็นประธาน มีท่านประธานสมาพันธ์ฯของเรา พญ.ประชุมพร เป็นกรรมการด้วย (ท่าน รมช. สธ. และประธานสมาพันธ์ ทำงานหนักจริงๆ) ประชุมร่วมกับ คุณปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ ได้สรุปผลการประชุมเป็นที่น่าพอใจสำหรับผู้ให้การรักษา อย่างเพื่อนแพทย์ทุกท่าน แต่อย่างไรก็ตาม สมาพันธ์ฯจะติดตามเรื่องนี้อย่างไม่ให้คาดสายตา

เรื่อง P4P ท่านปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ได้มาร่วมบรรยายในงานประชุมใหญ่ครั้งนี้ด้วย ทำให้ชาวสมาพันธ์ฯ เราได้รับทราบแนวทางของ สธ. และตัวแทนสมาพันธ์ ได้แจ้งถึงปัญหาการทำ P4P ว่า มีความไม่สะดวกในการทำงาน ความไม่สบายใจและความไม่ลงรอยกันในแต่ละวิชาชีพ ทำให้ท่านปลัดฯเรียกประชุมคณะกรรมการค่าตอบแทนของกระทรวง ด่วน!! ในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ เพียง 4วันหลังจากการประชุมสมาพันธ์ฯ แต่ไม่แน่ใจว่า ตัวแทนผู้บริหารที่เป็นกรรมการเข้าร่วมประชุมนั้น อยู่โรงพยาบาลเดียวกับพวกเราหรือเปล่า ถึงได้มีคำกล่าวว่า “ไม่มีปัญหา เนื่องจากมีการพูดคุยกันตลอด” แต่ถึงอย่างไร 1 มีนาคม คงต้องเก็บแต้ม P4P ตามนโยบายกระทรวงฯ ซึ่งมีการแบ่งสัดส่วนจำนวนเงินของแต่ละวิชาชีพมาแล้ว จะช่วยลดความขัดแย้งได้ระดับหนึ่ง และท่านปลัดฯ สัญญาว่าจะหาเงินมาจ่าย P4P ไม่ให้เป็นภาระของโรงพยาบาลต่อไป

สำหรับผู้ที่สนใจข่าวสารของสมาพันธ์ฯ หรือต้องการพูดคุยกัน สามารถเข้าไปที่ http://www.thaihospital.org

ร่วมแรง ร่วมใจสร้างความสามัคคี
สมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป

6812
โจมตีกลางวงประชุม! “หมอประดิษฐ” อึ้งเจอกลุ่มแพทย์ชนบทแต่งดำกว่า 150 คน บุกพบคาเก้าอี้ประธานประชุมค่าตอบแทน แม้ ปลัด สธ.เข้าสกัดห้ามแต่ไม่ฟัง เครื่องร้อนยื่นหนังสือร้องถูกตัดเบี้ยกันดาร ชี้มีประโยชน์แอบแฝงเอื้อ รพ.เอกชนดึงแพทย์ พร้อมยื่นถอดถอนพ้นตำแหน่ง ลั่นไม่ร่วมสังฆกรรมอีกต่อไป “หมอณรงค์” แจงเปลี่ยนพื้นที่กันดารเป็นพื้นที่เฉพาะ ยังรับเงินเหมือนเดิม ส่วนที่ปรับเป็นชุมชนเมืองรับเงินตามภาระงาน รมว.สธ.ชี้เงินค่าตอบแทนไม่มาก ถือเป็นเรื่องของน้ำใจ ย้ำให้มากกว่านี้อีก 3 เท่า แต่ไม่มีน้ำใจก็ดึงไว้ระบบไม่ได้
       
       วันนี้ (13 มี.ค.) ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท นำแพทย์ พยาบาล และเภสัชกร จากโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) ทั้งจังหวัดที่อยู่บริเวณปริมณฑล และแพทย์ที่เดินทางมาจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ภาคอีสาน ภาคเหนือ จำนวนกว่า 100 คน แต่งกายด้วยชุดสีดำ บุกเข้าห้องประชุมชัยนาทนเรนทร สำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในระหว่างที่ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กำลังประชุมคณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนกำลังคน สธ.ซึ่งมีตัวแทนจากกระทรวงการคลัง กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงกลาโหม เข้าร่วมประชุม โดยระหว่างนั้น นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ.ได้พยายามห้ามปรามและร้องขอให้รอพบภายหลังการประชุม แต่ นพ.เกรียงศักดิ์ ไม่ฟัง กลับนำกลุ่มผู้มาเรียกร้องบุกตะลุยเข้าห้องประชุมในทันทีโดยไม่ฟังคำห้ามปรามใด เพื่อคัดค้านกรณี สธ.จะทบทวนการจ่ายค่าตอบแทนใหม่ โดยเฉพาะในส่วนของ รพช.ที่จะเปลี่ยนจากการจ่ายแบบอัตราเดียวทุกพื้นที่และทุกหน่วยบริการ (Flat Rate) เป็นจ่ายตามภาระงาน (Pay for Performance หรือ P4P) และมีการปรับลดเบี้ยเลี้ยงในพื้นที่ทุรกันดารลงร้อยละ 50 ของอัตราเดิมในวันที่ 1 ต.ค.2556 และเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายทั้งหมดในวันที่ 1 ต.ค.2557
       
       เมื่อ นพ.เกรียงศักดิ์ บุกเข้าห้องประชุมแล้ว ได้กล่าวกับ รมว.สาธารณสุข ว่า ที่มาในครั้งนี้ขออนุญาตไม่ไหว้ เพราะไม่ได้มาด้วยความเคารพนับถือ เนื่องจากสิ่งที่ นพ.ประดิษฐ กำลังดำเนินการอยู่นั้น ไม่แน่ใจว่ามีผลประโยชน์แอบแฝงเพื่อเอื้อธุรกิจเอกชนในการรองรับการเปิดประชาคมอาเซียนหรือไม่ เพราะการปรับวิธีจ่ายเป็นแบบ P4P และตัดค่าตอบแทนตามพื้นที่กันดาร อันเป็นแรงจูงใจให้แพทย์และบุคลากรทำงานในพื้นที่ชนบท จะส่งผลให้ภาคเอกชนสามารถดึงแพทย์เข้าไปทำงานได้ง่ายขึ้น จึงอยากท้าทาย สธ.ให้ประกาศดำเนินการเรื่องนี้ตั้งแต่ 1 เม.ย.2556 ไม่ต้องรอปี 2557 เพื่อจะได้เห็นผลกระทบ นอกจากนี้ ยังแสดงจุดยืนอีกว่า แพทย์ชนบทจะไม่ร่วมสังฆกรรมใดๆ กับ สธ.ที่มี นพ.ประดิษฐ เป็นเจ้ากระทรวง และ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ เป็นปลัด สธ.อีกต่อไป
       
       นพ.รอซาลี ปัตยะบุตร ผอ.รพ.รามัน จ.ยะลา กล่าวว่า ตนไม่มั่นใจในเกณฑ์ใหม่ของ สธ.ที่ปรับเปลี่ยนพื้นที่ใหม่ หากดูแลหมอในพื้นที่ห่างไกลที่เสียโอกาสในด้านต่างๆ มากกว่าหมอในเมือง ตนก็สามารถรับได้ แต่ไม่อยากให้คงเบี้ยเลี้ยงเฉพาะ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แล้วตัดเบี้ยเลี้ยงในพื้นที่ทุรกันดารอื่นที่ต้องเสียโอกาสไป ซึ่งไม่อยากให้กระทรวงอ้างถึงการจ่ายแบบ P4P ว่าจะทดแทนได้ เพราะ P4P เปรียบเสมือนโบนัสจากการทำงานหนัก แต่เบี้ยเลี้ยงเหมือนกับค่าเสียโอกาสที่ต้องเดินทางมาทำงานในพื้นที่ขาดแคลน ไม่สามารถเทียบกันได้
       
       ด้าน นพ.ณรงค์ กล่าวว่า ปัจจุบันค่าจ้างในระบบสาธารณสุขมีทั้งหมด 91,000 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 51.62 ของเงินในระบบสุขภาพ แบ่งเป็นเงินเดือน 51,000 ล้านบาท เงินจ้างลูกจ้างชั่วคราว 14,000 ล้านบาท ซึ่งเงินก้อนนี้ในอนาคตจะไม่ต้องจ่าย เพราะมีการปรับเป็นข้าราชการ และเงินพื้นที่พิเศษและวิชาชีพที่ขาดแคลนอีก 26,000 ล้านบาท หรือเรียกว่าเงินค่าเสี่ยงภัย พื้นที่ทุรกันดาร ซึ่งการปรับเปลี่ยนเงินค่าตอบแทนนั้น โดยหลักใช้วงเงิน 26,000 ล้านบาทเหมือนเดิม ไม่ลด แต่จะเปลี่ยนวิธีการจ่ายเงิน โดยพื้นที่ทุรกันดารเดิมยังคงได้เงินอัตราตามเดิม แต่พื้นที่ปกติกำหนดให้จ่ายเป็นค่าตอบแทนจากภาระงาน หรือ P4P แทน
       
       นพ.ณรงค์ กล่าวอีกว่า เบื้องต้นได้จัดทำข้อเสนอการปรับเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายกำหนด 3 ระยะ แบ่งเป็น ระยะ 1 เริ่มวันที่ 1 เม.ย.2556 ปรับพื้นที่ 4 กลุ่ม ได้แก่ พื้นที่ชุมชนเมือง พื้นที่ปกติ พื้นที่เฉพาะ 1 และพื้นที่เฉพาะ 2 โดยปรับอัตราเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายในพื้นที่ชุมชนเมืองและพื้นที่ปกติจำนวนหนึ่ง และให้จ่ายแบบ P4P โดยมีการประกันวงเงินวิชาชีพตามหลักการของแต่ละวิชาชีพนั้นๆ ระยะที่ 2 เริ่มวันที่ 1 ต.ค.2556 ปรับเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย รพช.พื้นที่ชุมชนเมืองทั้งหมดลง 50% ในทั้ง 2 กลุ่ม และกำหนดให้จ่าย P4P ประกันวงเงินตามหลักการของ รพ.แต่ละแห่ง ซึ่งไม่น้อยกว่าของเดิม ส่วนพื้นที่รพช.ทุรกันดาร ให้จ่าย P4P ในกรอบวงเงินที่เหมาะสม และระยะที่ 3 วันที่ 1 ต.ค.2557 จะกำหนดพื้นที่แบบใหม่เป็นกลุ่ม รพช.พื้นที่เฉพาะแทนพื้นที่ทุรกันดาร โดยกำหนดให้จ่ายเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย เพื่อเป็นค่าชดเชยการเสียโอกาส ส่วนพื้นที่ รพช.ชุมชนเมือง และพื้นที่ปกติ ให้ปรับเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายทั้งหมดและจ่าย P4P ซึ่งเป็นกติกาเดียวกับโรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไป (รพศ.รพท.) อีกทั้ง จะพิจารณายกระดับ รพ.อยู่พื้นที่ห่างไกลบางพื้นที่เป็น รพท.เช่น ยะลา นราธิวาส เป็นต้น ทั้งนี้ พื้นที่ทุรกันดารที่ปรับใหม่ ยังคงได้อัตราค่าเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายเหมือนเดิม แต่เปลี่ยนเป็นพื้นที่เฉพาะแทน
       
       นพ.ประดิษฐ กล่าวภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมได้รับหลักการในข้อเสนอการปรับวิธีการจ่ายค่าตอบแทนแบบใหม่ แต่ในส่วนของ P4P ยังต้องมีการพิจารณารายละเอียดอีกที ส่วนเรื่องกลุ่มแพทย์ชนบทนั้นตนไม่ติดใจที่เดินทางมาเรียกร้อง เพราะเข้าใจว่าอาจยังมีความไม่เข้าใจในหลายเรื่อง ซึ่งการชี้แจงทั้งทางวาจาและลายลักษณ์อักษรจะเป็นหน้าที่ของ ปลัด สธ.ขณะที่ความเป็นห่วงเรื่องสมองไหลไป รพ.เอกชนนั้น ตนคิดว่าเงินของ สธ.ถือว่าเป็นการจ่ายค่าตอบแทนที่ไม่มาก ถือเป็นน้ำใจเพียงเล็กน้อย แต่เรื่องที่หมอจะอยู่ในระบบเป็นเรื่องของน้ำใจมากกว่า ต่อให้เอาเงินให้มากกกว่านี้อีก 3 เท่า ถ้าไม่มีน้ำใจอยากทำงานเพื่อประชาชนก็ดึงหมอไว้ในระบบไม่ได้ ส่วนการกล่าวหาว่าตนเอื้อประโยชน์เอกชนนั้น ก็ขอให้พิสูจน์ เพราะเป็นเรื่องที่พิสูจน์ได้อยู่แล้ว ส่วนการยื่นหนังสือให้ นายกรัฐมนตรีถอดถอนตนนั้นจะนำหนังสือยื่นนายกฯ ให้ และหากรัฐบาลพิจารณาว่าตนไม่มีผลงานก็ยินดีน้อมรับ
       
       สำหรับปัจจุบันอัตราค่าเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายในแต่ละระยะของ รพช.แบ่งเป็นพื้นที่ปกติ ทุรกันดารระดับ 1 และทุรกันดารระดับ 2 ทำงานปีที่ 1-3 ในพื้นที่ปกติได้ 10,000 บาท พื้นที่ทุรกันดารระดับ 1 ได้ 20,000 บาท พื้นที่ทุรกันดารระดับ 2 ได้ 30,000 บาท ซึ่งการปรับใหม่จะเป็นพื้นที่ชุมชนเมือง 10,000 บาท ระดับปกติ 10,000 บาท พื้นที่กลุ่มเฉพาะ 1 ได้ 20,000 บาท พื้นที่กลุ่มเฉพาะ 2 ได้ 30,000 บาท ปีที่ 4-10 พื้นที่ปกติ 30,000 บาท ทุรกันดารระดับ 1 ได้ 40,000 บาท ทุรกันดารระดับ 2 ได้ 50,000 เปลี่ยนเป็นพื้นที่ชุมชนเมือง 12,000 บาท พื้นที่ปกติระดับแบ่งระดับ 2.1 2.2 และ 2.3 ซึ่งเป็น รพ.ขนาดแตกต่างกัน จะได้ที่ 30,000 20,000 และ 15,000 บาท ตามลำดับ ทั้งนี้ หลังจากวันที่ 1 ต.ค.2556 แพทย์และทันตแพทย์ที่ทำงานปีที่ 1-3 ในพื้นที่ชุมชนเมืองจะไม่ได้รับเบี้ยเลี้ยง แต่ระดับอื่นๆที่กำหนดยังได้เท่าเดิม และหลังวันที่ 1 ตุลาคม 2557 พื้นที่ชุมชนเมือง และพื้นที่ระดับปกติจะไม่ได้รับเงินเบี้ยเลี้ยงเลย เปลี่ยนเป็นการจ่ายแบบ P4P เว้นพื้นที่พิเศษจะมีการจำแนกกลุ่มและมีอัตราเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายที่กำหนดตามพื้นที่แต่ละพื้นที่

ASTVผู้จัดการออนไลน์    13 มีนาคม 2556

6813
วันที่ 12 มี.ค.56 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายภักดีหาญส์ หิมะทองคำ รองโฆษกสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังเสร็จการประชุมคณะรัฐมนตรี ว่าคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) ตั้งคณะกรรมทำงานเพื่อปรับปรุงหลักเกณฑ์การกำหนดอัตราเงินและประโยชน์ตอบแทนอื่นๆ ของผู้อำนวยการองค์กรมหาชน ซึ่งจะมีผลทบทวนผลตอบแทนของทั้งผู้บริหารและบุคลากรในหน่วยงานภาครัฐ โดยมีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นรองประธาน

มติชนออนไลน์ 12 มีนาคม พ.ศ. 2556

6814
ความก้าวหน้าในการจัดการที่สำคัญยิ่งของงานด้านสุขภาพคือ การที่มีการตั้งองค์กรอิสระมาทำหน้าที่ด้านสุขภาพเคียงข้างกระทรวงสาธารณสุข เพราะทุกองค์กรล้วนมีข้อจำกัดกระทรวงสาธารณสุขเองก็เช่นกันซึ่งเป็นองค์กรที่ใหญ่โต เทอะทะ เน้นการรักษาผู้ป่วยให้ดีที่สุดก็แทบจะหมดแรงทำภารกิจอื่นแล้ว การจัดการแบบรวมศูนย์อำนาจก็มีข้อจำกัดในเชิงประสิทธิภาพ ประกอบกับนิยามสุขภาพที่กว้างไกลเป็นสุขภาวะ ทำให้มีการผลักดันให้เกิดองค์กรอิสระขึ้นมาร่วมปฏิบัติการในการดูแลสุขภาพเคียงข้างกระทรวงสาธารณสุข โดยเรียกรวมๆ ว่า องค์กรตระกูล ส.

ในปี 2535 จึงมีการก่อตั้งองค์กรตระกูล ส. องค์กรแรกคือ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข(สวรส.) จากการวิจัยทำให้มีองค์ความรู้และได้ผลักดันผลการวิจัยไปสู่การขับเคลื่อนนโยบายและการก่อตั้งองค์กรที่มีภารกิจเฉพาะอีกหลายองค์กรตามมา อันได้แก่ การก่อตั้งสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล(สรพ.)ในปี 2542 ก่อตั้งสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)ในปี 2544 ก่อตั้งสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)ในปี 2545 ก่อตั้งสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(สช.)ในปี 2550 ก่อตั้งสำนักงานการแพทย์ฉุกเฉิน(สพฉ.) ในปี 2551 เป็นต้น ในปัจจุบันองค์กรตระกูล ส.เหล่านี้มีบทบาทอย่างมากต่อการขับเคลื่อนประเด็นทางสุขภาพอย่างมีส่วนร่วมและสร้างความตระหนักกับผู้คนในสังคมว่าสุขภาพเป็นประเด็นของทุกคน ไม่ใช่แต่เฉพาะของหมอหรือของกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น

ในช่วงกว่า 20 ปีที่ผ่านมา องค์กรตระกูล ส. ต่างสร้างสรรค์งานเพื่อสุขภาพคนไทยไปมาก แม้ภารกิจจะแตกต่างแต่ก็มีทิศทางไปสู่เป้าหมายเดียวกันคือการส่งเสริมการเติบโตของภาคประชาชนให้ลุกขึ้นมาเป็นเจ้าของปัญหาและมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาต่างๆโดยองค์กรตระกูล ส.ทำหน้าที่อำนวยการให้ภาคประชาสังคมเติบโต เสนอเสียงสะท้อนจากประชาชน และผลักดันนโยบายสาธารณะที่ควรจะเป็น ซึ่งทิศทางเช่นนี้เองที่เป็นเสมือนก้อนกรวดในรองเท้าของรัฐบาลทุกรัฐบาล

องค์กรตระกูล ส. มีการเสนอให้ควบคุมการโฆษณาเหล้าเบียร์อย่างเข้มข้น เสนอให้กระจายอำนาจและเปิดโอกาสให้จังหวัดจัดการตนเอง ส่งเสริมการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนต่อสิทธิต่างๆ หนุนเสริมชุมชนต่อการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ เรียกร้องไม่ให้สนับสนุนการเจรจา  FTA ที่เอาเรื่องสิทธิบัตรยาไปแลกเพื่อการค้าขาย สร้างความเข้มแข็งแก่คนฐานรากในการตรวจสอบนโยบายรัฐบาล คัดค้านการทำสุขภาพให้เป็นสินค้าเช่นนโยบายเมดิคัลฮับ นี่คือตัวอย่างเพียงบางส่วนที่เป็นเสมือนก้อนกรวดในรองเท้าของรัฐบาลซึ่งล้วนแต่เป็นประเด็นที่ก้าวหน้าแต่ไม่ตรงใจรัฐบาล

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลพรรคเพื่อไทยได้มียุทธศาสตร์ที่ชัดเจนในการจัดแถวองค์กรตระกูล ส.ให้เข้ามาอยู่ในการสั่งการของรัฐบาล โดยใช้วิธีการที่หลากหลายเช่น การเปลี่ยนคนที่สั่งได้มาเป็นคณะกรรมการบอร์ด การส่งคนของฝ่ายการเมืองเข้ามาแทรกแซงการทำงานโดยตรงด้วยการเป็นผู้นำหรือเป็นผู้บริหารระดับสูงขององค์กร หรือล่าสุดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายประดิษฐ์ สินธวณรงค์ ก็ได้กำหนดให้องค์กรตระกูล ส.หลายองค์กรเข้ามาทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขภายใต้การควบคุมกำกับของรองปลัดกระทรวงสาธารณสุขแม้ด้านหนึ่งเสมือนเพื่อการบูรณาการงาน แต่อีกด้านหนึ่งก็คือการจัดแถวเพื่อการจำกัดบทบาทขององค์กรตระกูล ส. ไม่ให้ทำเรื่องที่ก้าวหน้าที่รัฐบาลไม่อยากทำหรือไม่ให้มาขวางนโยบายสีเทาที่รัฐบาลอยากทำ และเพื่อทำหมันการหนุนเสริมการเติบโตของภาคประชาชน

ทิศทางของการเป็นประชาธิปไตยต้องส่งเสริมการเติบโตขององค์กรอิสระและภาคประชาชน ไม่ใช่การจัดแถวเพื่อการกินรวบและการสั่งการแบบรวมศูนย์อำนาจ ซึ่งจะทำให้ระบบสุขภาพไทยถอยหลังลงคลอง

สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ
หนังสือพิมพ์ASTVผู้จัดการรายวัน วันที่ 12 มีนาคม 2556

6815
การรุกคืบเพื่อรวบอำนาจในระบบสุขภาพโดยฝ่ายการเมืองเป็นไปอย่างมีจังหวะ

นโยบายปรับโครงสร้างหน่วยงานในกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)ของ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข (สธ.) ซึ่งได้รับแรงหนุนสำคัญจาก นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดสธ. เร้าให้ฉุกคิดคำถามคือมีวาระซ่อนเร้นหรือไม่นั่นเพราะโครงสร้างใหม่ที่จะเริ่มใช้ในเดือน พ.ค.นี้ไม่เพียงแต่ปฏิรูปหน่วยงานสังกัด สธ.เท่านั้น แต่กลับ ครอบคลุมการทำงานองค์กรอิสระด้านสุขภาพที่ก่อนหน้านี้ถูกแยกอำนาจออกมาจากสธ.ด้วย

คำถามที่ตามมา ... นี่เป็นความพยายามรวบอำนาจเก่าคืนต้นสังกัดหรือไม่

เริ่มตั้งแต่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ที่มีการเพิ่มตำแหน่งรองเลขาธิการขึ้นจากเดิมอีก 2 อัตรา หนึ่งคือ นพ.อรรถสิทธิ์ กาญจนสินิทธ์ อดีต สส.ขอนแก่น พรรคไทยรักไทย อีกหนึ่งคือ นพ.สัมฤทธิ์ ศรีธำรงสวัสดิ์ อดีตผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สปสช.ซึ่งมีฝ่ายการเมืองสนับสนุนเกิดข้อวิพากษ์ถึงความคลุมเครือในสายสัมพันธ์

ถัดมาไม่นานมีคำสั่งลดทอนอำนาจการเบิกจ่ายเงินของ "ผู้อำนวยการสำนัก" ใน สปสช. ขึ้นอีกฉบับ เดิมทีผู้อำนวยการสำนักสามารถอนุมัติเงินและการพัสดุ ได้ไม่เกิน 1 ล้านบาท แต่ปัจจุบันถูกจำกัดให้เหลือเพียง 1 หมื่นบาทหากเกิน 1 หมื่นบาทรองเลขาธิการ ซึ่งเลขาธิการได้ให้อำนาจไว้จะเป็นผู้อนุมัติ

 แหล่งข่าว สปสช. อธิบายว่า คำสั่งดังกล่าวเป็นการปรับโครงสร้างตามปกติเพื่อแก้ปัญหาเรื่องวิจารณญาณของผู้อำนวยการเขตในการเลือกอนุมัติที่แตกต่างกัน ตามที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเคยทักท้วง

ทว่า ข้อกังขาเรื่องการรวมศูนย์เบิกจ่ายไว้กับบุคคลที่ฝ่ายการเมืองวางไว้ยังคงมีอยู่

ขณะที่สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ(สพฉ.) ล่าสุดก็ถูกลดทอนอำนาจลงเช่นกัน เมื่อวันที่ 8 มี.ค.ที่ผ่านมา สธ. มีนโยบายปรับเปลี่ยนภารกิจ สพฉ. โดยลดบทบาทลงเหลือเพียงการทำหน้าที่ดูแลมาตรฐาน ติดตาม ควบคุมและบังคับใช้ พ.ร.บ.การแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติเท่านั้น

ขณะที่อำนาจเดิม อาทิ การสั่งการรถพยาบาล การเปิดสายด่วนการแพทย์ฉุกเฉิน 1669 รวมถึงการประสานเครือข่ายอาสาและมูลนิธิ และการจัดการภัยพิบัติ สธ.จะเป็นผู้ดูแลเองทั้งหมด

พร้อมกันนี้ เตรียมจะถอดตรา สพฉ. ออก และเปลี่ยนเป็นสัญลักษณ์ของ สธ. แทน

ที่ผ่านมา สพฉ. ทำงานมีประสิทธิภาพ วัดผลจากการให้บริการสิทธิเจ็บป่วยฉุกเฉิน เหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง และอุทกภัยครั้งใหญ่เมื่อปี2554

สังคมจึงเพรียกหาคำอธิบายที่มีน้ำหนักต่อการตัดสินใจทางนโยบายในครั้งนี้

นอกจากนี้ นพ.ประดิษฐ ยังมีนโยบาย "จัดกลุ่มบริหาร" โดยดึงหน่วยงานสังกัด สธ. และองค์กรอิสระด้านสุขภาพ ที่มีภารกิจคล้ายคลึงกันมาจัดเป็นกลุ่มเพื่อบริหารร่วมมีรองปลัด สธ. ดูแล

น่าจับตาที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งถูกมัดรวมไว้กับกรมควบคุมโรคและกรมอนามัย

นี่เป็นการคุมทิศทางโดย สธ. ภายใต้คำสั่งการเมืองหรือไม่ นั่นเพราะ สสส. เป็นขุมทรัพย์ขนาดใหญ่ที่หลายฝ่ายจับจ้อง

ด้านสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ก็มีคนใกล้ชิด นพ.ประดิษฐ อย่าง นพ.สมเกียรติ วัฒนศิริชัยกุล อดีตคณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เข้ามาเป็นผู้อำนวยการคนใหม่

ล่าสุด นพ.ประดิษฐ ยังจะตั้งคณะกรรมการพัฒนาสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) มากำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์การสาธารณสุขของประเทศ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม

ทั้งๆ ที่ขณะนี้มีคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(สช.) ซึ่งมีโครงสร้างในลักษณะเดียวกันทำหน้าที่ครอบคลุมกว่า เพราะมีภาควิชาการ ประชาชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอยู่แล้ว

การตั้ง คสช. ขึ้นมาใหม่จึงทั้งซ้ำซ้อนและไม่ก่อประโยชน์ต่อการบริหารงานภาพรวม

ประเมินกันว่า อนาคตอันใกล้สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) จะประสบชะตากรรมในลักษณะเดียวกัน ด้วยเป็นหน่วยงานหลักใช้การันตีมาตรฐานโรงพยาบาลเอกชน ก่อนเข้าสู่เมดิคัลฮับเต็มรูปแบบ

ทั้งหมดคือข้อกังขาที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด

หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 12 มีนาคม 2556

6816
กระทรวงสาธารณสุข ตั้งเป้า 3 ปี บรรจุสมุนไพรไทย 15 รายการ เข้าบัญชียาหลักแห่งชาติ เผยเล็งวิจัยต่อยอดสรรพคุณ 'กวาว เครือขาว-บัวบก-ขมิ้นชัน' ก่อนส่งเสริมให้ใช้เป็นมาตรฐาน

เมื่อวันที่ 11 มีนาคม นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยระหว่างลงนามความร่วมมือเพื่อผลักดันยาจากสมุนไพรเข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติ ร่วมกับผู้แทนจากกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ว่า สธ.มีเป้าหมายในการนำยาสมุนไพรบรรจุอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติร้อยละ 10 ในอีก 3 ปี นับตั้งแต่ปี 2556-2560 และว่า ขณะนี้ในบัญชียาหลัก มียาสมุนไพร 71 รายการ จากยาทั้งหมด 878 รายการ คิดเป็น ร้อยละ 8.09

"ในปี 2558 ตั้งเป้าจะผลักดันให้มีการใช้ยาจากสมุนไพรให้เป็นมาตรฐานกับการรักษาอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย เช่น ไอ เจ็บคอ ปวดท้อง เป็นต้น ไม่ใช่ให้เป็นแค่ยาทางเลือกหรือยาสำรองเหมือนในอดีต อย่างไรก็ตาม การจะสร้างความเชื่อมั่นให้แพทย์ยอมรับในสรรพคุณว่ามีประโยชน์ในการรักษา และใช้ยาจากสมุนไพรให้เป็นมาตรฐาน จะต้องมีการวิจัยสรรพคุณและเห็นผลทดลองทางคลินิกที่เป็นรูปธรรม รวมถึงการผลิตยาจากสมุนไพรต้องได้มาตรฐานจีเอ็มพี (GMP) เพื่อเป็นหลักประกันในประสิทธิผลและความปลอดภัยจากการใช้ยา ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายยาแผนปัจจุบันได้ เพราะทุกวันนี้ประเทศไทยนำเข้ายาแผนปัจจุบันมากถึงร้อยละ 75" นพ.ประดิษฐ กล่าว

ทางด้าน นพ.สมชัย นิจพานิช อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยฯ กล่าวว่า ขณะนี้ได้ตั้งคณะกรรมการ ประกอบด้วย นักวิชาการจาก 3 หน่วยงาน นักวิจัย และผู้ทรงคุณวุฒิจากมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัย ต่างๆ สนับสนุนข้อมูลและคัดเลือกสมุนไพรที่จะวิจัยและพัฒนาต่อยอดเพื่อผลักดันเข้าสู่บัญชียาหลัก เพิ่มอีกอย่างน้อย 15 รายการ ภายใน 3 ปี เพื่อนำมาใช้รักษาอาการเจ็บป่วยของประชาชนอย่างแพร่หลาย เบื้องต้นเตรียมคัดเลือกสมุนไพรกว่า 10 รายการ นำมาวิจัยสรรพคุณในการรักษาโรคเพิ่มเติม ได้แก่ ว่านชักมดลูก ขมิ้นชันและสารสกัดจากขมิ้นชัน ใบบัวบก กระชายดำ กวาวเครือขาว พรมมิ ขิง หม่อน ปัญจขันธ์ ใบฝรั่ง และพริก

นพ.สมชัย กล่าวอีกว่า ข้อมูลในปี 2555 ระบุว่า มูลค่าการใช้ยาจากสมุนไพรในโรงพยาบาลรัฐทั่วประเทศประมาณ 363 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 1.82 ของการใช้ยา ทั้งหมด โดยยาสมุนไพรที่ประชาชนนิยมใช้มากที่สุด 3 อันดับแรก ในบัญชียาหลัก คือ
1.ขมิ้นชันรักษาอาการของระบบทางเดินอาหาร แน่นท้องจุกเสียด ท้องอืด ท้องเฟ้อ
2.ไพลใช้บรรเทาอาการปวดเมื่อย ลดบวม ฟกช้ำ เคล็ดขัดยอก และ
3.ฟ้าทลายโจรใช้รักษาอาการของระบบทางเดินหายใจ บรรเทาอาการหวัด เจ็บ

มติชน วันที่ 13 มี.ค. 2556

6817
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 11 มีนาคม ในการประชุมวุฒิสภา ที่มีนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา เป็นประธาน โดยก่อนข้าสู่วาระการประชุม พล.ต.ท.สมยศ ดีมาก ส.ว.สรรหา กล่าวว่า ได้รับเรื่องร้องเรียนจากเพื่อนข้าราชการที่ใช้สวัสดิการการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลของรัฐ โดยข้าราชการไทยเดิมมีประมาณ 2 ล้านคน รวมครอบครัวอีกประมาณ 6-8 ล้านคน การรักษาพยาบาลที่ผ่านมาเรียบร้อยดี แพทย์ผู้รักษาสามารถสั่งยาใหม่หรือเก่าที่มีประสิทธิภาพสูงให้กับคนไข้ แต่เมื่อเร็วๆ นี้ มีหนังสือเวียนจากกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง แจ้งมายังผู้บริหารโรงพยาบาลของรัฐ แจ้งให้แพทย์ผู้ตรวจรักษาสามารถจ่ายยาได้เฉพาะยาในบัญชียาหลักแห่งชาติเท่านั้น ไม่สามารถจ่ายนอกบัญชีได้ ไม่เช่นนั้นกรมบัญชีกลางจะเรียกเก็บเงินจากโรงพยาบาลของรัฐ ซึ่งแน่นอนว่าโรงพยาบาลจะต้องไปเรียกเก็บจากแพทย์ผู้สั่งยาต่อไป

"การกระทำของกรมบัญชีกลางครั้งนี้เป็นการคุกคามต่อจรรยาบรรณวิชาชีพของแพทย์อย่างไม่เคยมีมาก่อน ทำให้แพทย์ไม่กล้าสั่งยาให้ผู้ป่วย ถือเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องหรือเหมาะสม ความจริงสิทธิสวัสดิการพยาบาลของข้าราชการที่มีมานานแล้ว โดยผู้ป่วยที่เป็นข้าราชการสามารถรับยาทุกชนิดโดยไม่ต้องเสียเงินเลย"  พล.ต.ท.สมยศ กล่าว

หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 12 มีนาคม 2556

6818
สธ.สั่งลดบทบาท สพฉ.ดึงอำนาจกลับกระทรวง ให้โรงพยาบาลราชวิถีเป็นแม่งานแทน

กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีนโยบายปรับเปลี่ยนภารกิจของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) โดยลดบทบาทลงให้เหลือเพียงแต่การทำหน้าที่ดูแลมาตรฐานติดตาม ควบคุม และบังคับใช้ พ.ร.บ.การแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติเท่านั้น ส่วนอำนาจหน้าที่เดิม สธ.จะเข้ามาดูแลเองทั้งหมด

สำหรับอำนาจ สพฉ.ก่อนหน้านี้ คือการบริหารจัดการการแพทย์ฉุกเฉิน อาทิการสั่งการรถพยาบาล การเปิดสายด่วนการแพทย์ฉุกเฉิน 1669 รวมถึงการประสานเครือข่ายอาสาและมูลนิธิ และการจัดการภัยพิบัติ

นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ.กล่าวว่า ในระดับจังหวัดจะให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเป็นเลขานุการอนุกรรมการการแพทย์ฉุกเฉินจังหวัด มีหน้าที่ประสานทุกองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์ฉุกเฉิน

นอกจากนี้ จะอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ซึ่งให้อำนาจ สธ. บัญชาการเหตุการณ์โดยให้โรงพยาบาลราชวิถีเป็นตัวกลางในการจัดการด้านการแพทย์ฉุกเฉินยามเกิดภัยพิบัติ ขณะเดียวกันบุคลากรการแพทย์ฉุกเฉินถือเป็นคนของ สธ. จะพิจารณาเครื่องแบบและตราติดรถพยาบาลให้เหมาะสมต่อไป

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ 12 มี.ค.นี้จะพิจารณางบประมาณสำหรับงานหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ประจำปี 2557 รวมทั้งสิ้น 1.58 แสนล้านบาท 

หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 11 มีนาคม 2556

6819
 1. กกต.มีมติ 3 ต่อ 1 ยังไม่ประกาศรับรองผลเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. รอสอบเรื่องร้องเรียน “สุขุมพันธุ์” ด้าน ผบ.ตร.เตรียมรับ “พงศพัศ” กลับเข้ารับราชการ!

       หลัง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.พรรคประชาธิปัตย์ คว้าชัยในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 3 มี.ค. ได้เป็นผู้ว่าฯ กทม.สมัยที่สอง วันต่อมา(4 มี.ค.) ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ พร้อมด้วยแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ ได้ขึ้นรถติดเครื่องขยายเสียงตระเวนขอบคุณประชาชนที่ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง โดยติดข้อความที่ข้างรถว่า “ขอบคุณทุกคะแนนเสียงที่มอบให้ จะเป็นพลังให้เราทำงานต่อทันที”
       
       ทั้งนี้ วันเดียวกัน(4 มี.ค.) พล.ต.ท.ทวีศักดิ์ ตู้จินดา ประธาน กกต.กทม.ได้ส่งผลเลือกตั้งให้ กกต.กลาง พร้อมแนบรายงานกรณี ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ถูกร้องเรียนเกี่ยวกับการปราศรัยใส่ร้าย ตามมาตรา 57(5) ของ พ.ร.บ.เลือกตั้งท้องถิ่นฯ 2 เรื่อง ให้ กกต.พิจารณา และว่า กกต.กลางมีอำนาจประกาศรับรองผลเลือกตั้งภายใน 7 วันนับจากวันเลือกตั้ง หรืออย่างช้าวันที่ 8 มี.ค.
       
       อย่างไรก็ตาม 2 วันต่อมา(6 มี.ค.) กกต.กลาง 4 คน ได้ประชุมเพื่อพิจารณาว่าจะประกาศรับรองผลเลือกตั้งอย่างเป็นทางการหรือไม่ โดยไม่รอให้นายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธาน กกต.ที่ติดภารกิจเดินทางไปต่างประเทศได้เดินทางกลับมาก่อน จากนั้นที่ประชุมมีมติ 3 ต่อ 1 เห็นควรยังไม่ประกาศรับรองผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ที่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ได้รับเลือกตั้ง โดยให้เหตุผลว่า ต้องสืบสวนสอบสวนกรณี ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ถูกร้องคัดค้านให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน หากไม่แล้วเสร็จ กกต.สามารถประกาศรับรองผลการเลือกตั้งไปก่อนได้
       
       นายภุชงค์ นุตราวงค์ เลขาธิการ กกต.เผยว่า เรื่องร้องเรียนมี 3 เรื่อง อยู่ระหว่างการพิจารณาของ กกต.กทม.2 เรื่อง และฝ่ายสืบสวนสอบสวนของ กกต.กลาง 1 เรื่อง เป็นคำร้องที่กล่าวหาว่า ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์กระทำผิด ฐานปราศรัยใส่ร้าย หลอกลวง จูงใจให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยม ทาง กกต.กทม.ขอเวลาสืบสวนสอบสวน 15 วัน ก่อนเสนอ กกต.กลาง หากการสอบสวนแล้วเสร็จก่อน 30 วัน กกต.อาจประกาศรับรองผลก่อนเวลาที่กฎหมายกำหนดได้
       
       ทั้งนี้ มีรายงานว่า กกต.เสียงข้างน้อย 1 เสียง ที่เห็นว่าควรประกาศรับรองผลเลือกตั้งเลย คือ นายประพันธ์ นัยโกวิท กกต.ด้านบริหารงานเลือกตั้ง เนื่องจากมองว่า พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการ กทม.พ.ศ.2528 มาตรา 48 กำหนดให้ผู้ว่าฯ กทม.ต้องเข้าปฏิบัติหน้าที่ภายใน 7 วันนับแต่วันเลือกตั้ง แต่ กกต.เสียงข้างมากเห็นว่า พ.ร.บ.เลือกตั้งท้องถิ่น และประกาศ คปค.ที่กำหนดให้ กกต.สืบสวนสอบสวนกรณีมีเรื่องร้องเรียนให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน เป็นกฎหมายที่มีศักดิ์สูงกว่า พ.ร.บ.องค์กรปกครองท้องถิ่นอื่นๆ ประกอบกับ กกต.กทม.ยืนยันว่า จะสอบสวนให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน ซึ่งปลัด กทม.ยังสามารถปฏิบัติหน้าที่ในฐานะรักษาการผู้ว่าฯ กทม.ได้
       
        ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ บอกว่า การรับรองผลเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ล่าช้าไม่ส่งผลกระทบอะไรกับการทำงาน และว่า ไม่รู้ว่ามีประเด็นอะไรร้องเรียนไปยัง กกต.บ้าง ได้ยินว่ามีกรณีการโพสต์เฟซบุ๊กของนายศิริโชค โสภา ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ และนายเสรี วงษ์มณฑา นักวิชาการอิสระ ซึ่งไม่ได้เข้าข่ายใส่ร้ายป้ายสีหรือทำผิดกฎหมาย อย่างไรก็ตาม พรรคได้เตรียมทีมกฎหมายไว้ต่อสู้เรื่องนี้แล้ว รอให้ กกต.เรียกไปชี้แจงก่อน
       
        ขณะที่นายบุญยอด สุขถิ่นไทย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ แถลงยกตัวอย่างว่า ในการเลือกตั้ง ส.ส.เมื่อวันที่ 3 ก.ค.2554 เคยร้องคัดค้านการเลือกตั้งต่อ กกต.ใน 6 ประเด็น เป็นกรณีนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะแกนนำ นปช.ได้ขึ้นเวทีปราศรัย ให้สัมภาษณ์ และโพสต์ในเฟซบุ๊กในลักษณะใส่ร้ายกล่าวหาพรรคประชาธิปัตย์ โดยมีเนื้อหาลักษณะคล้ายคลึงกับการร้องคัดค้านการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งนี้ ดังนั้น จึงหวังว่า กกต.จะพิจารณาในแนวทางเดียวกัน โดยการยกคำร้องว่า ไม่ใช่เป็นการใส่ร้ายป้ายสี แต่เป็นการใช้สิทธิแสดงออกตามระบอบประชาธิปไตย และขอให้รีบรับรองผลเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.โดยเร็ว
       
        ด้านนายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย ออกมาเผยว่า ทีมกฎหมายของพรรคอยู่ระหว่างถอดเทปคำปราศรัยทั้งหมดในช่วงโค้งสุดท้ายของแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ 9 คน รวมทั้ง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ที่ถ่ายทอดผ่านทีวีดาวเทียมหลายช่อง เพราะคิดว่าน่าจะเข้าข่ายใส่ร้ายป้ายสี พล.ต.อ.พงศพัศ และผิดกฎหมายเลือกตั้ง มาตรา 57 โดยจะส่งหลักฐานทั้งหมดให้ กกต.ในวันที่ 11 มี.ค.
       
        ส่วนความเคลื่อนไหวของ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.พรรคเพื่อไทย หลังพ่ายเลือกตั้ง มีแนวโน้มว่าจะกลับเข้ารับราชการตำรวจอีกครั้ง โดย พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.) เผยว่า ได้คุยเป็นการส่วนตัวกับ พล.ต.อ.พงศพัศแล้ว ยืนยันว่าจะขอกลับเข้ามารับตำแหน่งเดิม(รอง ผบ.ตร.) อย่างไรก็ตาม เมื่อผู้สื่อข่าวไปถาม พล.ต.อ.พงศพัศ ถึงการกลับเข้ารับราชการตำรวจ พล.ต.อ.พงศพัศ ไม่ตอบรับหรือปฏิเสธ โดยบอกว่าแล้วแต่นายกรัฐมนตรีจะพิจารณา ขณะที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ยังไม่ให้คำตอบ โดยอ้างว่า ต้องรอ กกต.ประกาศรับรองผลเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ก่อน
       
        ทั้งนี้ มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า เป็นเรื่องไม่เหมาะสม หาก พล.ต.อ.พงศพัศจะกลับเข้ารับราชการเป็นรอง ผบ.ตร.อีกครั้ง เนื่องจากข้าราชการต้องมีความเป็นกลาง แต่ พล.ต.อ.พงศพัศลาออกไปลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ในนามพรรคเพื่อไทย จึงถือว่าฝักใฝ่การเมือง และสูญเสียความเป็นกลางแล้ว
       
       2. พันธมิตรฯ ยื่น จม.รอง ปธ.สภาฯ ยันจุดยืนค้านนิรโทษฯ คดีทุจริต-ความผิดอาญา ขณะที่ ปชป.เมินร่วมหารือนิรโทษฯ จี้ รบ.ถอน กม.ปรองดอง 4 ฉบับก่อน!

       ตามที่นายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคเพื่อไทย พยายามผลักดันให้มีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมผู้ชุมนุมทางการเมือง โดยได้ประสานให้มีการหารือ 4 ฝ่ายในวันที่ 11 มี.ค.ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย(พท.)-พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.)-พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) นั้น
       
        เมื่อวันที่ 5 มี.ค.ที่ประชุม ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ได้มีมติจะไม่ส่งตัวแทนเข้าร่วมหารือดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่า พรรคมีจุดยืนสนับสนุนการนิรโทษกรรมเฉพาะผู้ที่ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินเท่านั้น และว่า หากรัฐบาลจริงใจที่จะเดินหน้ากระบวนการปรองดอง ต้องถอนร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ ทั้ง 4 ฉบับออกจากวาระการประชุมสภาก่อน ส่วนการเชิญกลุ่มต่างๆ เข้าหารือนั้น พรรคเห็นว่ามีการเชิญแค่บางกลุ่ม ไม่ครอบคลุมตัวแทนทุกกลุ่ม จึงไม่น่าจะนำไปสู่การปรองดองอย่างแท้จริง
       
        ส่วนท่าทีของแกนนำพันธมิตรฯ นั้น เมื่อวันที่ 6 มี.ค. นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรฯ ได้เข้ายื่นจดหมายแสดงจุดยืนของพันธมิตรฯ ต่อนายเจริญ โดยแกนนำพันธมิตรฯ มีมติว่า 1. จุดยืนพันธมิตรฯ คือไม่เห็นด้วยและจะคัดค้านจนถึงที่สุดหากมีการออกกฎหมายใดใดเพื่อนิรโทษกรรมหรือล้างความผิดให้ผู้กระทำผิดทางอาญา หรือความผิดกรณีทุจริตทุกกรณี
       
        2.ควรนิรโทษกรรมให้เฉพาะผู้ที่ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ รวมทั้งควรเพิ่มตัวแทนในการหารือ เช่น ตัวแทนองค์การพิทักษ์สยาม ,นางนิชา หิรัญบูรณะ ธุวธรรม ,ตัวแทนครอบครัวเจ้าหน้าที่รัฐผู้สูญเสีย รวมทั้งตัวแทนผู้ได้รับผลกระทบ เช่น ร้านค้าที่สี่แยกราชประสงค์และสยามสแควร์ ,ผู้แทนคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ(คอป.)
       
        3.ในการลงมติ ต้องไม่ใช้มติเสียงข้างมาก แต่ต้องเป็นมติเอกฉันท์ 4.หากนายเจริญไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่พันธมิตรฯ ขอให้เพิ่มกลุ่มต่างๆ ในการหารือ พันธมิตรฯ จะไม่เข้าร่วมหารือด้วย หรือหากนายเจริญปฏิบัติตามเงื่อนไขได้ แต่ต่อมามีการแปรญัตติหรือเปลี่ยนแปลงร่างกฎหมายนิรโทษกรรม ไม่เป็นไปตามที่มีข้อยุติอย่างเป็นเอกฉันท์ พันธมิตรฯ จะคัดค้านและชุมนุมนอกสภาอย่างถึงที่สุด และ 5.หากนายเจริญไม่อยากเห็นความขัดแย้งนอกสภา ส.ส.ควรหยุดเสนอกฎหมายที่เกี่ยวกับการนิรโทษกรรมทุกฉบับ และควรถอนร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ ทั้ง 4 ฉบับที่ยังค้างอยู่ในวาระการประชุมสภาออกมา
       
        ขณะที่นายเจริญ ยืนยันว่า ไม่ขัดข้องกับข้อเสนอของพันธมิตรฯ ที่ขอให้เพิ่มกลุ่มในการหารือ และจะเชิญพรรคประชาธิปัตย์อีกครั้ง นายเจริญ ยังขอให้ทุกฝ่ายสบายใจว่า การหารือครั้งนี้ ไม่มีเบื้องหน้าเบื้องหลัง ไม่มีเกมการเมือง จะนิรโทษกรรมให้กับกลุ่มผู้ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ เท่านั้น สำหรับแกนนำจะยังไม่พูดถึง ส่วนที่พันธมิตรฯ และพรรคประชาธิปัตย์เสนอให้ถอนร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ ทั้ง 4 ฉบับออกจากสภาก่อนนั้น นายเจริญ อ้างว่า ไม่สามารถไปบังคับสมาชิกที่เข้าชื่อเสนอกฎหมายได้ การจะถอนกฎหมายเป็นเรื่องของผู้เสนอ แต่ยืนยันว่า ระหว่างนี้จะยังไม่มีการพิจารณากฎหมายทั้ง 4 ฉบับ
       
        ด้าน พล.อ.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ อดีตประธานองค์การพิทักษ์สยาม(อพส.) เผยว่า จะไม่ไปร่วมหารือเรื่องกฎหมายนิรโทษกรรม เพราะไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับ อพส. ขณะที่นายคณิต ณ นคร อดีตประธาน คอป.ก็บอกเช่นกันว่า จะไม่เข้าร่วมหารือ เพราะ คอป.ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้แล้ว
       
        ทั้งนี้ วันต่อมา(7 มี.ค.) นายวรชัย เหมมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย และคณะ ได้เข้ายื่นร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง ต่อนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยนายวรชัย ยืนยันว่า แกนนำมวลชนและผู้สั่งการจะไม่ได้รับอานิสงส์จากกฎหมายดังกล่าว เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดข้อครหาว่าทำเพื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร พร้อมขอให้นายสมศักดิ์เร่งบรรจุร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ฉบับนี้เข้าสภาโดยเร็ว
       
        ด้านนายสมศักดิ์ บอกว่า จะตรวจสอบความถูกต้องและบรรจุในวาระการประชุมสภาฯ ภายใน 1 สัปดาห์ ส่วนจะสามารถนำขึ้นมาพิจารณาได้เมื่อใด ต้องขึ้นอยู่กับสมาชิก ซึ่งส่วนตัวสนับสนุนแนวทางการสร้างความปรองดองอยู่แล้ว
       
        ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ วิเคราะห์ว่า การเสนอร่างกฎหมายใหม่เข้าสภาของนายวรชัย น่าจะเป็นตัวหลอกมากกว่า เพราะในการประชุมสภาเพื่อพิจารณากฎหมาย หากมีบุคคลใดเสนอร่างกฎหมายเข้าไป แล้วมี ส.ส.คนอื่นเสนอร่างกฎหมายเอาไว้แล้ว เช่น ร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ ทั้ง 4 ฉบับที่ค้างอยู่ในวาระ อาจมีการอ้างว่าเป็นหลักการเดียวกัน จะได้ขอให้พิจารณารวมกันไป ดังนั้น การที่คงร่าง พ.ร.บ.ปรองดองฯ ทั้ง 4 ฉบับเอาไว้ จะเป็นหัวเชื้อในการล้างผิดให้กับคดีทุจริต
       
       เป็นที่น่าสังเกตว่า ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ที่นายวรชัยและคณะเสนอ มี 7 มาตรา โดยเฉพาะมาตรา 3 มีความหมายกว้างมาก บัญญัติว่า ให้บรรดาการกระทำใดใดของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองหรือการแสดงออกทางการเมือง หรือบุคคลซึ่งไม่ได้เข้าร่วมชุมนุมทางการเมือง แต่กระทำการอันมีมูลเหตุเกี่ยวข้องหรือเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมือง โดยการกล่าวด้วยวาจาหรือโฆษณาด้วยวิธีการใดเพื่อเรียกร้องหรือให้มีการต่อต้านรัฐ การป้องกันตน การต่อสู้ขัดขืนการดำเนินการเป็นการกระทบต่อชีวิต ร่างกาย อนามัย ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดของบุคคลอื่น ตั้งแต่วันที่ 19 ก.ย.2549 ถึงวันที่ 10 พ.ค.2554 ไม่เป็นความผิดต่อไป และให้ผู้กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง ขณะที่มาตรา 3 วรรคสอง บัญญัติว่า การกระทำในวรรคหนึ่ง ไม่รวมถึงการกระทำใดใดของบรรดาผู้มีอำนาจในการตัดสินใจหรือสั่งการให้มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองในห้วงเวลาดังกล่าว
       
       3. “ธาริต” สรุปคดี 396 โรงพัก ส่ง ป.ป.ช.สอบ “อภิสิทธิ์-สุเทพ” พร้อมแจ้งข้อหา “พีซีซี” ฉ้อโกง-ผิด กม.ฮั้ว สั่งอายัดเงิน 438 ล้าน!

       เมื่อวันที่ 5 มี.ค. นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) เผยความคืบหน้าการสอบสวนคดีโครงการก่อสร้างสถานีตำรวจ(ทดแทน) จำนวน 396 แห่งของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.) ว่า ได้ลงนามเห็นชอบสรุปสำนวนในส่วนของนักการเมืองเสนอไปยังเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) แล้ว และว่า มีข้าราชการการเมืองเกี่ยวข้องในการกระทำผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 จำนวน 2 ราย คือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะอดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะอดีตรองนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแล ตร. ส่วนความผิดเกี่ยวกับ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 หรือกฎหมายฮั้ว มาตรา 11 ,12 และ 13 พบว่า นายสุเทพเข้าข่ายกระทำผิดเพียงคนเดียว
       
        นายธาริต ยังบอกอีกว่า จะดำเนินคดีกับบริษัทพีซีซี ดีเวลล็อปเม้นท์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด ที่เป็นคู่สัญญากับ ตร.ทั้งคดีฉ้อโกงผู้รับเหมา และความผิด พ.ร.บ.ฮั้ว ซึ่งต้องจ่ายค่าปรับเป็นเงินครึ่งหนึ่งของสัญญา คือ 2.9 พันล้านบาท จากมูลค่าโครงการ 5.8 พันล้านบาท
       
        ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้ออกมายืนยันว่า คณะรัฐมนตรีชุดที่ตนเป็นนายกรัฐมนตรีไม่ได้เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างโครงการก่อสร้างโรงพัก 396 แห่ง พร้อมมั่นใจว่าไม่ได้กระทำการฝ่าฝืนมติ ครม.แต่อย่างใด จึงต้องถามดีเอสไอ เพราะที่ผ่านมามีการแจ้งข้อหาหลายคดี ที่หลายฝ่ายนึกไม่ถึงว่าดีเอสไอจะคิดได้ถึงขนาดนั้น
       
        ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 7 มี.ค. ผู้บริหารบริษัท พีซีซีฯ ประกอบด้วย นายพิบูลย์ อุดมสิทธิกุล ,นายจตุรงค์ อุดมสิทธิกุล และนายวิศณุ วิเศษสิงห์ ได้เข้าพบพนักงานสอบสวนดีเอสไอ เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาในคดีก่อสร้างโรงพัก 396 แห่ง 2 ข้อหา คือ ฉ้อโกงผู้รับเหมาช่วง และผิด พ.ร.บ.ฮั้ว โดยได้นำเอกสารหลักฐานเข้าชี้แจง 14 รายการ ยืนยันว่า บริษัทไม่ได้หนีงานหรือฉ้อโกงตามที่ถูกกล่าวหา ส่วนความล่าช้าในการก่อสร้างเกิดจากผู้ว่าจ้างไม่ให้ความร่วมมือ มีการส่งมอบพื้นที่ล่าช้า ขณะที่การตรวจงานแต่ละครั้ง ใช้เวลามาก นอกจากนี้ยังยืนยันด้วยว่า ไม่ได้มีการจ้างช่วง เป็นเพียงการจ้างค่าแรง เพราะวัสดุก่อสร้างหลักเป็นของบริษัท พีซีซีฯ นำส่งทั้งหมด
       
        ด้าน พ.ต.ท.ถวัล มั่งคั่ง ผู้เชี่ยวชาญด้านคดีพิเศษ ในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวนดีเอสไอ เผยว่า ดีเอสไอได้มีคำสั่งอายัดเงินในบัญชีธนาคารออมสิน สาขาประตูช้างเผือก จ.เชียงใหม่ จำนวน 438 ล้านบาท และดอกเบี้ยจากเงิน 877 ล้านบาท ที่ ตร.จ่ายเป็นเงินค่าล่วงหน้า 15% แก่บริษัท พีซีซีฯ หลังจากธนาคารหักไว้ในบัญชีเพื่อเป็นสัญญาค้ำประกันโครงการทันที 438 ล้านบาท
       
        ซึ่งวันต่อมา(8 มี.ค.) นายพิบูลย์ อุดมสิทธิกุล ประธานกรรมการบริษัท พีซีซีฯ ได้เดินทางมาพบ พ.ต.ท.ถวัล แต่เช้า เพื่อต่อว่าเรื่องการอายัดเงินในบัญชีดังกล่าว เนื่องจากทำให้บริษัทเสียเครดิต และไม่มีเงินจ่ายลูกน้อง พร้อมประกาศว่าจะฟ้องร้องพนักงานสอบสวน จากนั้น พ.ต.ท.ถวัล ได้พานายพิบูลย์ไปพบนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ ซึ่งนายพิบูลย์ได้ขอให้นายธาริตถอนการอายัดเงินในบัญชีธนาคารออมสิน 438 ล้านบาท และบัญชีอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างโรงพัก แต่นายธาริตบอกให้ทำหนังสือแจ้งเหตุผลการถอนอายัดบัญชี นายพิบูลย์จึงกลับไป และบอกว่าจะมายื่นหนังสือที่ดีเอสไออีกครั้งในวันที่ 11 มี.ค.
       
       4. ศาลแพ่ง ชี้อีก คดีไฟไหม้ “เซน” ไม่ใช่ก่อการร้าย -สั่ง “เทเวศฯ” จ่ายสินไหม 1.9 พันล้าน ด้านสยามสแควร์ ได้ 1.7 ล้าน!

       หลังศาลแพ่ง พิพากษาให้บริษัท เทเวศประกันภัย จ่ายค่าสินไหมทดแทนแก่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ กรณีถูกเผาระหว่างการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงเมื่อวันที่ 19 พ.ค.2553 เป็นเงิน 3.7 พันล้านบาทเมื่อวันที่ 1 มี.ค. เนื่องจากเห็นว่าเหตุการณ์ดังกล่าวไม่ใช่การก่อการร้ายตามที่บริษัท เทเวศประกันภัยระบุนั้น ปรากฏว่า ยังมีคดีที่บริษัท เทเวศประกันภัย ถูกฟ้องให้จ่ายค่าสินไหมทำนองเดียวกันอีก โดยเมื่อวันที่ 5 มี.ค. ศาลแพ่งได้พิพากษาให้บริษัท เทเวศประกันภัย จ่ายค่าสินไหมทดแทนแก่บริษัท สรรพสินค้าเซ็นทรัล จำกัด ผู้บริหารห้างสรรพสินค้าเซน ซึ่งถูกเพลิงไหม้ระหว่างการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงเมื่อวันที่ 19 พ.ค.2553 เป็นเงินกว่า 1.9 พันล้านบาท โดยให้เหตุผลเดิมว่า เหตุการณ์ดังกล่าวไม่ใช่การก่อการร้าย
       
        ทั้งนี้ ศาลระบุว่า ในทางนำสืบของจำเลย(บริษัท เทเวศประกันภัย) ไม่ปรากฏชัดว่าการก่อวินาศกรรมหรือเหตุการณ์รุนแรง เป็นการกระทำของผู้เข้าร่วมชุมนุมคนใด หรือเป็นการสั่งการโดยแกนนำให้ผู้เข้าร่วมชุมนุมกระทำการนั้น และศาลเห็นว่า กลุ่มคนร้ายที่บุกรุกและเผาทรัพย์ในห้างสรรพสินค้าเซนมีจำนวนไม่มาก ใช้วิธีการไม่สลับซับซ้อน สำหรับถังก๊าซ น้ำมัน ระเบิดขวด หรือยางรถยนต์ ก็เชื่อว่าเป็นสิ่งที่หยิบฉวยได้จากบริเวณใกล้เคียงมาใช้เป็นเชื้อเพลิงและอาวุธ จึงไม่อาจรับฟังได้ว่าเป็นการก่อการร้าย
       
        อย่างไรก็ตาม ศาลเห็นว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังแกนนำประกาศยุติการชุมนุม เป็นการไม่นำพาต่อคำสั่งรัฐบาล ก่อให้เกิดความปั่นป่วน วุ่นวาย จนไม่สามารถควบคุมได้ ถือได้ว่าอยู่ในความหมายของคำว่า “การจลาจล” จำเลยจึงต้องชำระค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ ตามที่โจทก์ได้ทำประกันภัยเพิ่มนอกเหนือจากประกันภัยทั่วไป เป็นเงิน 1,977,305,182 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี
       
        ด้านนายนริศ เชยกลิ่น รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด(มหาชน) บอกว่า พอใจคำตัดสินของศาล ทั้งคดีเซ็นทรัลเวิลด์และเซน เพราะบริษัทจ่ายค่าประกันความเสียหายทุกชนิดปีละกว่า 10 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม นายนริศ บอกว่า บริษัทยังไม่คิดฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งกับผู้ที่ก่อเหตุเผาห้างเซนแต่อย่างใด
       
        ขณะที่บริษัท เทเวศประกันภัย ได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงว่า เนื่องจากคดีดังกล่าวยังไม่ถึงที่สุด และการรับประกันภัยดังกล่าว บริษัทได้กระจายความเสี่ยงโดยทำประกันภัยต่อ ไปยังบริษัทรับประกันทั้งในและต่างประเทศ(รี-อินชัวเรอร์) หลายบริษัท จึงจำเป็นต้องปรึกษาบริษัทเหล่านั้น เพื่อขอแนวทางดำเนินการต่อไป พร้อมยืนยันว่า กรณีเพลิงไหม้ดังกล่าว บริษัทได้ตั้งสำรองค่าสินไหมทดแทนไว้แล้ว จึงไม่กระทบต่อสถานะทางการเงินของบริษัทแต่อย่างใด
       
        ทั้งนี้ วันเดียวกัน(5 มี.ค.) ศาลแพ่ง ได้อ่านคำพิพากษาคดีที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้กำกับดูแลศูนย์การค้าสยามสแควร์ เป็นโจทก์ฟ้องบริษัท เมืองไทยประกันภัย ให้จ่ายค่าสินไหมทดแทนกรณีที่สยามสแควร์ถูกไฟไหม้ระหว่างการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงเมื่อวันที่ 19 พ.ค.2553
       
        โดยศาล พิเคราะห์พยานหลักฐานที่โจทก์และจำเลยนำสืบแล้ว เห็นว่า แม้จะมีการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงบริเวณพื้นที่สี่แยกราชประสงค์และบริเวณใกล้เคียงต่อเนื่องจนถึงวันที่ 19 พ.ค.2553 และในทางนำสืบ จำเลยระบุว่า ระหว่างการชุมนุม มีกลุ่มก่อการร้ายใช้อาวุธสงครามร้ายแรงก่อวินาศกรรมหลายครั้ง แต่การนำสืบไม่ปรากฏชัดว่าว่าการก่อวินาศกรรมหรือเหตุการณ์รุนแรงเหล่านั้น เป็นการกระทำของผู้เข้าร่วมชุมนุมคนใด หรือเป็นการสั่งการโดยแกนนำให้ผู้เข้าร่วมชุมนุมกระทำการนั้น
       
        ศาล ยังระบุด้วยว่า วันเกิดเหตุ เห็นว่าขณะคนร้ายเผาโรงภาพยนตร์สยาม แกนนำ นปช.ประกาศยุติการชุมนุมแล้ว ไม่มีข้อเรียกร้องทางการเมืองเหลืออยู่ และเหตุการณ์เผาโรงภาพยนตร์สยาม ทางจำเลยนำสืบไม่ได้ว่าเกี่ยวโยงกับกลุ่มคนเสื้อแดงหรือ นปช.อย่างไร และไม่ว่าจะกระทำโดยคนใดหรือกลุ่มใด ก็มิใช่การกระทำที่หวังผลทางการเมือง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจึงฟังไม่ได้ว่าเป็นการก่อการร้าย
       
        อย่างไรก็ตาม ศาลเห็นว่า ความปั่นป่วน วุ่นวาย จนไม่สามารถควบคุมได้ ถือว่าอยู่ในความหมายของคำว่าจลาจล อัคคีภัยที่เกิดขึ้นจึงเป็นภัยที่เกิดจากการจลาจล ซึ่งเป็นข้อยกเว้นความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันอัคคีภัย จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชอบต่อโจทก์ตามประกันอัคคีภัยดังกล่าว แต่มีกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยซึ่งโจทก์ทำไว้ 2 แห่ง ที่ไม่มีข้อยกเว้นความเสียหายที่เกิดจากการจลาจล จำเลยจึงต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์จำนวน 2 คูหา รวมเป็นเงิน 1,780,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี

ASTVผู้จัดการออนไลน์    10 มีนาคม 2556

6820
1."สุขุมพันธุ์" คว้าชัย ได้นั่งผู้ว่าฯ กทม.ต่ออีกสมัย ด้วยคะแนน 1.2 ล้านเสียง ทิ้งห่าง "พงศพัศ" 1.7 แสนคะแนน พร้อมทุบสถิติยุค "สมัคร"!

       นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) พูดถึงการลงพื้นที่ช่วย ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้สมัครของพรรคหาเสียงในช่วงโค้งสุดท้ายว่า มีคนบอกว่าห้ามแพ้การเลือกตั้ง เพราะจะทำให้ประเทศไทยไม่เหลืออะไร แสดงว่ามีคนที่เป็นห่วงเรื่องการกินรวบประเทศอยู่พอสมควร นายอภิสิทธิ์ ยังแฉด้วยว่า ขณะนี้มีการใช้อำนาจรัฐถึงขั้นที่ว่า หากทราบว่าใครสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ ก็จะติดตามถ่ายรูป เรียกตัวเขามาสอบ และดำเนินการอีกหลายอย่าง แต่ไม่เป็นอะไร พวกตนพร้อมสู้ และหวังว่า คน กทม.จะให้คำตอบว่าการใช้อำนาจรัฐแบบนี้ จะเจอกับอะไร
       
       ด้านนายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานกลุ่มกรีน และคณะ ได้เข้ายื่นหนังสือต่อ พล.ต.ท.ทวีศักดิ์ ตู้จินดา ประธาน กกต.กทม. ขอให้ตรวจสอบการที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี ช่วย พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ผู้สมัครของพรรคเพื่อไทยหาเสียง เนื่องจากอาจเข้าข่ายผิดกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่น มาตรา 60 ของ พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 พร้อมกันนี้กลุ่มกรีนได้นำหลักฐานและเอกสารการถอดเทปคำปราศรัยของนายกฯ และ ครม.ที่ขึ้นปราศรัยหาเสียงมอบให้ กกต.กทม.ตรวจสอบด้วย
       
       ขณะที่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ของพรรคประชาธิปัตย์ ได้แถลงเปิดใจทั้งน้ำตาเมื่อวันที่ 28 ก.พ.ว่า “ที่ผ่านมาถือเป็นความฝันอันสูงสุดที่ได้ทำงานรับใช้ประชาชน ถ้าจะหยุดหายใจนาทีนี้ คิดว่าชีวิตของตัวเองก็คุ้มค่าแล้ว เพราะผมเป็นคนกรุงเทพฯ มาตั้งแต่เกิด ไม่เคยคิดว่าจะไปทำงานที่อื่น” ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ยังบอกด้วยว่า ตนอาจจะไม่หล่อ พูดไม่เป็น แต่เรื่องทุ่มเทไม่มีปัญหา เพราะเอาคนกรุงเทพฯ เป็นที่ตั้งในการทำงาน มีความซื่อตรงในสายเลือด มีความจงรักภักดีต่อสถาบันชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เป็นเสาหลักในชีวิต พร้อมย้ำว่า 4 ปีที่ผ่านมา ตนได้พิสูจน์แล้วว่า ทำงานปกป้องผลประโยชน์คนกรุงเทพฯ ได้
       
       ด้านนางนินนาท ชลิตานนท์ ปลัด กทม.พูดถึงการนับคะแนนเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ว่า หลังปิดหีบในเวลา 15.00น.แล้ว หากไม่มีการร้องคัดค้านหรือการประท้วงใดใด น่าจะทราบผลการนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการได้ในเวลาประมาณ 19.00น.
       
       ล่าสุด เมื่อเวลา 20.00น. วันที่ 3 มี.ค.ทราบผลการนับคะแนนทั้ง 50 เขต ครบ 100% แล้ว ปรากฏว่า ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ ได้นั่งผู้ว่าฯ กทม.อีกสมัย ด้วยคะแนน 1,256,231 เสียง ขณะที่ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย ได้ 1,077,899 เสียง ส่วนผู้ที่ตามมาอันดับสาม คือ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส ผู้สมัครอิสระ ได้ 166,582 เสียง อันดับสี่ นายสุหฤท สยามวาลา ผู้สมัครอิสระ ได้ 78,825 เสียง และนายโฆสิต สุวินิจจิต ผู้สมัครอิสระ ได้ 28,640 เสียง
       
       เป็นที่น่าสังเกตว่า ผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งนี้ ทำให้โพล 4 สำนักหน้าแตก ประกอบด้วย สวนดุสิตโพล ,กรุงเทพโพล ,เอแบคโพลล์ ,บ้านสมเด็จโพล เพราะสำรวจความคิดเห็นประชาชนก่อนวันลงคะแนนเลือกตั้ง ระบุว่า พล.ต.อ.พงศพัศ จะชนะ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ มีเพียงสำนักเดียวที่ผลโพลถูกต้อง คือ นิด้าโพล ที่ระบุว่า ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ จะชนะ พล.ต.อ.พงศพัศ ร้อยละ 43.16 ต่อ 41.45
       
       อย่างไรก็ตาม ผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งนี้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ และ พล.ต.อ.พงศพัศ สามารถทำลายสถิติคะแนนเลือกตั้งเกิน 1 ล้านเสียงที่นายสมัคร สุนทรเวช ผู้สมัครจากพรรคประชากรไทย เคยได้ 1,016,096 คะแนน เมื่อปี 2543
       
       สำหรับยอดผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งนี้มีจำนวน 2,715,640 คน จากผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งทั้งหมด 4,244,465 คน หรือคิดเป็น 63.98% โดยเขตทวีวัฒนามีประชาชนมาใช้สิทธิเลือกตั้งมากที่สุด 72% ขณะที่เขตดุสิตมีประชาชนมาใช้สิทธิเลือกตั้งน้อยสุด 56.85%
       
       2.รัฐบาล-สมช.บินมาเลเซียลงนามเจรจา “บีอาร์เอ็น” หวังยุติไฟใต้ ด้าน “ถวิล” ติง ผลีผลามยกระดับปัญหา!

       หลังโจรใต้ก่อเหตุไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างต่อเนื่อง ปรากฏว่า ล่าสุด สภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) ของไทยได้ลงนามเพื่อเปิดการเจรจากับแกนนำกลุ่มบีอาร์เอ็น ที่เชื่อว่าเป็น 1 ในกลุ่มที่ก่อเหตุไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว โดยมีมาเลเซียเป็นเจ้าภาพ
       
       ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 28 ก.พ. พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการ สมช.ได้เดินทางไปประเทศมาเลเซีย พร้อมด้วย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.บต.) ,พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก รองปลัดกระทรวงกลาโหม และ พล.ต.ท.สฤษดิ์ชัย เอนกเวียง ผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล เพื่อร่วมพิธีลงนามความเห็นพ้องทั่วไปเพื่อร่วมกระบวนการเจรจาสันติภาพในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้กับแกนนำขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี(กลุ่มบีอาร์เอ็น) ประกอบด้วย นายฮัสซัน ตอยิบ หรือนายอาแซ เจ๊ะหลง รองเลขาธิการฯ และหัวหน้าสภาการเมืองของกลุ่มบีอาร์เอ็น ,นายอาแว ยะบะ เลขานุการฝ่ายต่างประเทศ ,นายอับดุลเลาะห์ มาหะมะ ระดับนำฝ่ายอูลามา และนายอับดุลเลาะห์มาน ยะบะ ระดับนำฝ่ายการเมือง โดยมี พล.อ.ตันสรี ดาโต๊ะสรี บิน โมฮัมเหม็ด ซิน ผู้บัญชาการทหารสูงสุดมาเลเซีย เป็นสักขีพยาน โดยการลงนามครั้งนี้มีขึ้นก่อนที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะเดินทางไปประชุมที่มาเลเซียในช่วงสายวันเดียวกัน
       
       อย่างไรก็ตาม ก่อนที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ พร้อมด้วยรัฐมนตรีหลายคน เช่น นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ,พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ,นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน รวมทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก และ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จะออกเดินทางจากท่าอากาศยานทหารกองบิน 6 (บน.6) เพื่อไปร่วมประชุมประจำปีระหว่างไทยและมาเลเซีย ผู้สื่อข่าวได้ถาม น.ส.ยิ่งลักษณ์ถึงกระแสข่าวเลขาธิการ สมช.ไปลงนามข้อตกลงกับแกนนำบีอาร์เอ็นจริงหรือไม่ แต่ น.ส.ยิ่งลักษณ์บ่ายเบี่ยง ไม่ยอมตอบคำถาม โดยบอกแค่ว่า การเดินทางไปครั้งนี้ จะมีการลงนามบันทึกความเข้าใจ(เอ็มโอยู) 2 ฉบับ คือ ความร่วมมือเรื่องข้ามแดน และความร่วมมือด้านกีฬา
       
       กระทั่งหลังหารือทวิภาคีกับนายนาจิบ ราซัก นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ทั้งสองฝ่ายได้เปิดแถลงร่วมกัน โดยนายนาจิบ แถลงว่า มีความยินดีที่จะอำนวยความสะกวกให้มีการหารือเกี่ยวกับการแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ระหว่างเจ้าหน้าที่ของไทยกับผู้ที่มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มที่เกี่ยวข้อง และหวังว่าหลังจากนี้จะนำไปสู่การพูดคุย พร้อมแสดงความยินดีที่สภาความมั่นคงแห่งชาติของไทยได้หารือกับตัวแทนกลุ่มบีอาร์เอ็นและมีการลงนามในกระบวนการเจรจาเพื่อยุติปัญหา นอกจากนี้นายนาจิบยังแสดงความชื่นชมนายกรัฐมนตรีไทยที่ผลักดันให้เกิดการเจรจาได้
       
       นายนาจิบ ยังบอกอีกว่า อยากเห็นพื้นที่ที่มีความรุนแรงเปลี่ยนมาเป็นพื้นที่ที่มีการพัฒนาและเติบโต พร้อมคาดว่าภายใน 2 สัปดาห์นี้จะมีการตั้งคณะทำงานร่วมของทั้งสองฝ่าย นายนาจิบ ยังขอบคุณ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่มีส่วนในการประสานให้เกิดการเจรจาครั้งนี้ด้วย
       
       ด้าน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้กลับมาแถลงข่าวอีกครั้งในประเทศไทย โดยยืนยันว่า มาเลเซียไม่สนับสนุนให้ผู้ก่อความไม่สงบใช้ความรุนแรงและแบ่งแยกดินแดน รวมถึงการใช้พื้นที่ประเทศมาเลเซียในการหลบหนี และว่า ครั้งนี้เป็นเพียงการเริ่มต้นพูดคุยก่อนไปถึงการเจรจาเพื่อสร้างความเข้าใจ พร้อมยืนยันว่า พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นคนหนึ่งที่ต้องการให้บ้านเมืองสงบ
       
       ขณะที่ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการ สมช.ให้สัมภาษณ์ โดยยอมรับว่า ตนเป็นผู้นำคณะในการลงนามกับกลุ่มตัวแทนบีอาร์เอ็น 4 คน โดยมีข้อตกลงที่จะร่วมกันพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อนำไปสู่สันติสุข และว่า หลังจากนี้จะมีการพูดคุยแสดงความคิดเห็นบนเวทีเพื่อให้เกิดสันติภาพ
       
       ด้านนายถวิล เปลี่ยนศรี ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ในฐานะอดีตเลขาธิการ สมช. ได้ออกมาแสดงความเป็นห่วงการลงนามสันติภาพระหว่างเลขาธิการ สมช.กับแกนนำกลุ่มบีอาร์เอ็นว่า ทำถูกคนหรือไม่ แกนนำดังกล่าวเป็นตัวแทนของกลุ่มที่ก่อความไม่สงบจริงหรือไม่ เพราะทราบดีว่ามีหลายกลุ่ม และการพูดคุยกับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งอันตรายเกินไป ซึ่งส่วนตัวแล้วไม่เชื่อว่าการเจรจากับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งแล้วเรื่องจะจบ พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า รัฐบาลดำเนินการแบบรวดเร็ว และยกระดับผลีผลามเกินไป น่าจะสร้างมาตรฐานการไว้เนื้อเชื่อใจกันก่อน
       
       เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังรัฐบาลและ สมช.ไปลงนามสันติภาพกับแกนนำกลุ่มบีอาร์เอ็น เหตุไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผู้สื่อข่าวจึงถาม น.ส.ยิ่งลักษณ์ ว่า นายกฯ เพิ่งไปหารือที่มาเลเซียเพียงวันเดียว ก็เกิดเหตุการณ์จักรยานยนต์บอมบ์ที่ จ.นราธิวาส ซึ่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ รีบออกตัวว่า การเริ่มพูดคุย ไม่ได้หมายความว่าเป็นการหยุดเหตุได้ทันที พร้อมอ้างว่า เหตุไม่สงบที่เกิดขึ้น เกิดตามปกติอยู่แล้ว ไม่ใช่การตอบโต้การเจรจาสันติภาพกับแกนนำบีอาร์เอ็นแต่อย่างใด
       
       3.ป.ป.ช. อายัดทรัพย์สิน “พล.อ.เสถียร” อดีตปลัด กห. 65 ล้าน ฐานร่ำรวยผิดปกติ รอเจ้าตัวชี้แจงใน 30 วัน!

       เมื่อวันที่ 26 ก.พ. นายวิชา มหาคุณ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ในฐานะประธานอนุกรรมการไต่สวนคดี พล.อ.เสถียร เพิ่มทองอินทร์ อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม(กห.) ร่ำรวยผิดปกติ แถลงว่า ป.ป.ช.ได้มีมติให้อายัดทรัพย์สินของ พล.อ.เสถียร เนื่องจากไต่สวนพบว่า พล.อ.เสถียร มีพฤติการณ์น่าเชื่อว่ามีการโอน ยักย้าย หรือซุกซ่อนทรัพย์สินที่อาจเกี่ยวข้องกับการร่ำรวยผิดปกติ โดยให้ น.ส.ณิชาพัฒน์ เพิ่มทองอินทร์ บุตรบุญธรรม เป็นผู้ถือครองทรัพย์สินแทน
       
       นอกจากนี้ยังพบว่า มีการทำนิติกรรมอำพรางในชื่อบุคคลอื่นด้วย โดยอนุกรรมการไต่สวนพบว่า สมัย พล.อ.เสถียรเป็นปลัดกระทรวงกลาโหม มีเงินไหลเข้าบัญชีกว่า 10 ล้านบาท และเงินไหลเข้าบัญชีนางณัฐนิชาช์ ภริยา และ น.ส.ณิชาพัฒน์ กว่า 100 ล้านบาท ในปี 2553 รวมทั้งมีการซื้อขาย โอนที่ดินจำนวนมาก เกินกว่าฐานะที่ภริยาและบุตรบุญธรรมจะพึงมี จึงเชื่อว่าเงินที่ไหลเข้าดังกล่าวน่าจะมาจากเงินของ พล.อ.เสถียร “การไต่สวนยังพบว่า มีการนำเงินไปฝากไว้กับนายสมบัติ จันทรวงษ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(มธ.) ที่เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาของ น.ส.ณิชาพัฒน์ ในการทำปริญญาเอก จำนวน 20 ล้านบาท ซึ่งนายสมบัติได้นำเงินไปฝากที่สหกรณ์ออมทรัพย์ มธ.4 บัญชี โดยยอมรับว่า ภริยา พล.อ.เสถียรนำเงินมาฝากไว้ อ้างว่ามีปัญหาครอบครัว ขอนำเงินมาฝากไว้ชั่วคราว จึงยอมรับฝากเงินไว้ เท่ากับว่านายสมบัติเป็นนอมินี”
       
       ป.ป.ช.จึงมีมติให้อายัดทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับ พล.อ.เสถียร ไว้ชั่วคราวจำนวน 65 ล้านบาท โดยในจำนวนนี้ มีบัญชีเงินฝาก 18 ล้านบาท ที่นายสมบัติฝากไว้ในสหกรณ์ออมทรัพย์ มธ.ด้วย ทั้งนี้ ป.ป.ช.ได้ทำหนังสือแจ้งให้ พล.อ.เสถียร ทราบและเข้าชี้แจงที่มาของเงินดังกล่าวภายใน 30 วัน หลังจากได้รับหนังสือจาก ป.ป.ช.
       
       นายวิชา ยังเผยด้วยว่า สำหรับนอมินีที่ถือครองทรัพย์สินของ พล.อ.เสถียร นอกจากนายสมบัติแล้ว ยังพบว่ามีบุคคลอื่นร่วมเป็นนอมินีด้วย โดย ป.ป.ช.กำลังตรวจสอบว่ามีใครบ้าง นายวิชา ยังยืนยันด้วยว่า คดีนี้ถือเป็นผลงานของเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.ที่ตรวจสอบพบความผิดปกติในบัญชีทรัพย์สินของ พล.อ.เสถียร จึงไปติดตามตรวจค้น ไม่ได้มีใครร้องเรียนมาให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบแต่อย่างใด
       
       นอกจากนี้ ป.ป.ช.ยังได้ตรวจสอบพบ พล.อ.เสถียร จงใจยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จ สมัยดำรงตำแหน่งกรรมการองค์การคลังสินค้า ปี 2550-2551 รวมมูลค่าทรัพย์สินกว่า 14 ล้านบาท ป.ป.ช.จึงได้เสนอเรื่องให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองวินิจฉัยว่า พล.อ.เสถียร จงใจยื่นบัญชีทรัพย์สินเท็จ เพื่อไม่ให้ พล.อ.เสถียรดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่รัฐเป็นเวลา 5 ปี และให้ลงโทษทางอาญาด้วย
       
       ทั้งนี้ 2 วันต่อมา(28 ก.พ.) นายสมบัติ จันทรวงศ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เข้าชี้แจงต่อคณะอนุกรรมการไต่สวนของ ป.ป.ช.กรณีถูกกล่าวหาเป็นนอมินีรับฝากเงินจากนางณัฐนิชาช์ ภริยา พล.อ.เสถียร 18 ล้านบาท โดยยอมรับว่า รับฝากเงินจากนางณัฐณิชาช์จริง แต่ไม่รู้จัก พล.อ.เสถียร เป็นการส่วนตัว ส่วนสาเหตุที่รับฝากเงิน เนื่องจากนางณัฐณิชาช์อ้างว่า มีปัญหาครอบครัว เมื่อปี 2554 ซึ่งขณะนั้น พล.อ.เสถียรยังไม่ได้เป็นปลัดกระทรวงกลาโหม จึงไม่เอะใจว่าเงิน 18 ล้านมาจากอะไร เพราะสนิทกันมาก รู้จักกันมา 7-8 ปี ซึ่งต่อมา นางณัฐณิชาช์ได้ถอนเงินคืนไปซื้อที่ดิน โดยใช้ชื่อตนเป็นหุ้นส่วนเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาเรื่องสินสมรส เมื่อขายที่ดินได้ 27 ล้าน นางณัฐณิชาช์ได้นำเช็คสั่งจ่ายในนามบริษัท สยามโกลบอล เฮาส์ จำกัด มาให้ตน เพราะมีชื่อเป็นหุ้นส่วนอยู่ จึงนำไปฝากบัญชีสหกรณ์ออมทรัพย์ มธ. เพราะสะดวกที่สุดที่จะนำเงินสดมาคืนให้ โดยทยอยถอนเงินสดคืนนางณัฐณิชาช์ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
       
       นายสมบัติยังได้ขอให้ ป.ป.ช.ยกเลิกการอายัดบัญชีเงินฝากส่วนตัวของตนที่มีเงินอยู่ 6 แสนกว่าบาทด้วย พร้อมเผยว่า จะแสดงความรับผิดชอบต่อเรื่องที่เกิดขึ้นด้วยการยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นอาจารย์ต่ออธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในวันที่ 6 มี.ค.นี้ แต่ให้มีผลสิ้นเดือน เม.ย. เพื่อจัดการคะแนนสอบของนักศึกษาให้เรียบร้อยก่อน
       
       ด้านนายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. พูดถึงกรณีที่นายสมบัติขอให้ ป.ป.ช.ถอนอายัดบัญชีเงินฝากส่วนตัว 6 แสนกว่าบาทว่า ป.ป.ช.ได้ถอนการอายัดให้ เพราะนายสมบัติสามารถชี้แจงที่มาของเงินจำนวนนี้ได้ และว่า นายสมบัติให้ความร่วมมือกับ ป.ป.ช.ดีมาก เบื้องต้นถือว่าบริสุทธิ์อยู่ ยังไม่มีข้อมูลชี้ว่ามีความผิดอะไร ทั้งนี้ ป.ป.ช.อยู่ระหว่างรอ พล.อ.เสถียรเข้าชี้แจงที่มาที่ไปของทรัพย์สินทั้งหมดที่ถูกอายัด อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า พล.อ.เสถียร อยู่ระหว่างเดินทางไปกับคณะแสวงบุญที่ประเทศอินเดีย ยังไม่ทราบกำหนดกลับ
       
       4.ศาล ยกฟ้อง “สนธิ-แกนนำพันธมิตรฯ” คดี “ทักษิณ” ฟ้องหมิ่น ออกปฏิญญาปี ’51 ชี้ เป็นการติชมด้วยความเป็นธรรม!

       เมื่อวันที่ 28 ก.พ. ศาลจังหวัดมีนบุรี ได้อ่านคำพิพากษาคดีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กับพวกรวม 6 คน เป็นจำเลย ฐานหมิ่นประมาท
       
       คดีนี้ โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งหกได้ร่วมกันหมิ่นประมาท โดยประกาศปฏิญญาเมื่อวันที่ 28 มี.ค.2551 ที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งระบุทำนองว่า โจทก์บริหารประเทศโดยไม่สุจริต กดขี่ ข่มเหง เข่นฆ่าประชาชน และไม่จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์
       
       ขณะที่จำเลยทั้งหกนำสืบว่า สาเหตุที่ต้องประกาศปฏิญญาร่วมกัน เนื่องจากขณะนั้นรัฐบาลซึ่งมีนายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี จะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปี 2550 มาตรา 237 เพื่อหนีคดียุบพรรคพลังประชาชน เนื่องจากกรรมการบริหารพรรคบางคนถูกกล่าวหาว่าทุจริตเลือกตั้ง และแก้ไขมาตรา 309 เพื่อลบล้างความผิดที่คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ(คตส.) ได้ตรวจสอบและชี้มูลความผิดโจทก์และพวกพ้อง คำปฏิญญาดังกล่าวจึงมีขึ้นเพื่อตักเตือนรัฐบาลนายสมัคร ไม่ให้เป็นหุ่นเชิดของโจทก์ เนื่องจากพฤติกรรมของโจทก์สมัยเป็นนายกรัฐมนตรี โจทก์ได้ใช้นโยบายประชานิยมเพื่อให้ได้มาซึ่งคะแนนเสียง โดยหลอกลวงประชาชนว่าจะแก้ปัญหาความยากจนให้หมดไปภายใน 6 ปี แต่นอกจากความยากจนจะไม่หมดไปแล้ว โจทก์กับพวกกลับร่ำรวยมากขึ้น ซึ่งภายหลังทรัพย์ของโจทก์และพวกได้ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาให้ยึดทรัพย์ตกเป็นของแผ่นดิน ฐานร่ำรวยผิดปกติ นอกจากนี้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ ยังได้พิพากษาจำคุกโจทก์ 2 ปี ฐานกระทำการขัดต่อ พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542
       
       ไม่เท่านั้น โจทก์ยังใช้นโยบายปราบปรามผู้กระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติดอย่างแข็งกร้าว โดยรายงานของวุฒิสภาระบุว่า มีผู้เสียชีวิตจากนโยบายดังกล่าวประมาณ 2,600 คน นอกจากนี้ยังมีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่เอื้อประโยชน์ให้นายทุนและพวกพ้องของโจทก์ ขณะที่ คตส.ได้ตรวจสอบพบการทุจริตของโจทก์และพวกพ้องหลายโครงการ
       
       ด้านศาลพิจารณาข้อนำสืบของจำเลยแล้วเห็นว่า สมัยที่โจทก์ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โจทก์บริหารประเทศไม่โปร่งใส มีการทุจริตคอร์รัปชั่น มีการออกนโยบายที่เอื้อประโยชน์ต่อตนเองและพวกพ้อง ทำให้โจทก์และพวกร่ำรวยขึ้น แม้โจทก์จะไม่ยอมรับคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ให้ริบทรัพย์สินของโจทก์กับพวกฐานร่ำรวยผิดปกติให้ตกเป็นของแผ่นดิน แต่ก็แสดงให้เห็นว่า โจทก์มีพฤติกรรมบริหารประเทศส่อไปในทางไม่สุจริตจริง ส่วนข้อความที่กล่าวหาโจทก์ว่า กดขี่ ข่มเหง และเข่นฆ่าประชาชนนั้น สืบเนื่องจากนโยบายปราบปรามยาเสพติดของโจทก์ที่แข็งกร้าว เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตจากนโยบายดังกล่าวถึง 2,600 คน
       
       ส่วนข้อความที่กล่าวหาว่าโจทก์ไม่จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์นั้น ศาลเห็นว่า จากการนำสืบของจำเลย แสดงให้เห็นว่า หลังจากโจทก์พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โจทก์ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนต่างประเทศหลายแขนงอย่างต่อเนื่องว่า “ตนเองเป็นภัยคุกคามชนชั้นสูง” และ “บรรดาชนชั้นสูงที่มีอภิสิทธิ์ทั้งหลาย เชื่อถือในทุกสิ่ง ยกเว้นประชาธิปไตย” พฤติกรรมของโจทก์ย่อมทำให้คนทั่วไปเข้าใจว่า โจทก์ไม่จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ นอกจากนี้โจทก์ยังแสดงออกอย่างต่อเนื่องว่าเกี่ยวข้องกับการบริหารราชการแผ่นดิน ด้วยการสนับสนุนคนใกล้ชิดกับตนเองเป็นนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และข้าราชการระดับสูง ย่อมทำให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจได้ว่า โจทก์อยู่เบื้องหลังการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช
       
       การที่จำเลยที่ 1-4 นำเอาจุดบกพร่องในการบริหารราชการแผ่นดินของโจทก์มาวิพากษ์วิจารณ์ เป็นวิสัยของประชาชนที่ทำได้ เพราะโจทก์เคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ถือเป็นบุคคลสาธารณะ การวิพากษ์วิจารณ์ของจำเลยเป็นการติชมด้วยความเป็นธรรม เป็นการป้องกันส่วนได้เสียของตนตามคลองธรรม ในฐานะประชาชนชาวไทยที่ไม่เห็นด้วยกับการกระทำหรือพฤติกรรมของรัฐบาลที่บริหารราชการแผ่นดินในขณะนั้น การกระทำของจำเลยที่ 1-4 จึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา เมื่อจำเลยที่ 1-4 ไม่ผิด จำเลยที่ 5-6 ในฐานะผู้สนับสนุนการกระทำของจำเลยที่ 1-4 ย่อมไม่มีความผิดด้วย พิพากษายกฟ้อง
       
       5.ศาลแพ่ง สั่ง “เทเวศประกันภัย” จ่ายชดเชย “เซ็นทรัลเวิลด์” 3.7 พันล้าน กรณีถูกเผาช่วงเสื้อแดงชุมนุม ด้านเทเวศฯ ยัน ไม่กระทบสถานะบริษัท!

เหตุเพลิงไหม้เซ็นทรัลเวิลด์ (19 พ.ค.53)
       จากกรณีที่ได้มีการเผาบ้านเผาเมืองระหว่างการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงเมื่อวันที่ 19 พ.ค.2553 ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ซึ่งเป็น 1 ในสถานที่ที่ถูกเผา ได้ยื่นฟ้องบริษัท เทเวศประกันภัย จำกัด (มหาชน) ให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเนื่องจากอัคคีภัย แต่เทเวศประกันภัยต่อสู้ว่าเป็นการก่อการร้าย ซึ่งกรมธรรม์ไม่คุ้มครองนั้น
       
       ล่าสุด เมื่อวันที่ 1 มี.ค. ศาลแพ่งได้พิพากษาว่า เทเวศประกันภัยต้องรับผิดชอบตามกรมธรรม์ เพราะเหตุการณ์เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ไม่ใช่กรณีก่อการร้าย แต่อยู่ในข่าย “จลาจล”ซึ่งเป็นภัยที่ได้รับการคุ้มครองจากกรมธรรม์ ดังนั้น ศาลจึงพิพากษาให้เทเวศประกันภัยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสำหรับความเสียหายต่อทรัพย์สิน จำนวน 2,719,734,979.29 บาท และชดเชยความเสียหายต่อธุรกิจอีกจำนวน 989,848,850.01 บาท พร้อมอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันที่ 31 มีนาคม 2554 จนกว่าจะชำระครบถ้วน รวมทั้งค่าทนายความอีก 60,000 บาท
       
        ด้านบริษัท เทเวศประกันภัย ได้ออกคำชี้แจงหลังทราบคำพิพากษาของศาล โดยยืนยันว่า บริษัทได้ดำเนินธุรกิจประกันวินาศภัยด้วยหลักธรรมาภิบาลเสมอมา และเคารพในคำวินิจฉัยของศาล แต่เนื่องจากคดีดังกล่าวยังไม่ถึงที่สุด และในการรับประกันภัยตามกรมธรรม์นี้ บริษัทได้กระจายความเสี่ยง โดยจัดให้มีการประกันภัยต่อ ไปยังบริษัทรับประกันภัยทั้งในประเทศและต่างประเทศหลายบริษัท ดังนั้นบริษัทจึงจำเป็นต้องปรึกษาและประสานงานกับบริษัทรับประกันภัยต่อ เพื่อขอแนวทางในการดำเนินการต่อไป
       
       ทั้งนี้ บริษัท เทเวศประกันภัย ยืนยันด้วยว่า ฐานะการเงินของบริษัทยังคงมีความมั่นคง และเชื่อมั่นว่า ท้ายที่สุดหากบริษัทต้องชำระเงินตามคำพิพากษาดังกล่าว บริษัทจะได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากผู้รับประกันภัยต่อตามกรมธรรม์ประกันภัยต่อ ดังนั้น คำพิพากษาดังกล่าวจึงไม่มีผลกระทบต่อความมั่นคงและสถานะทางการเงินของบริษัทแต่อย่างใด

ASTVผู้จัดการออนไลน์    3 มีนาคม 2556

6821
1. สะพัด ตั้ง “พระพายัพ” เป็นพระครูปลัดฯ ทั้งที่เพิ่งบวชแค่ 10 วัน ด้าน อ.กรมศาสนา ยัน แค่ฉายา ขณะที่ “สนธิ” ซัด “พระพยอม” สอพลอ “ชินวัตร”!

       เมื่อวันที่ 17 ก.พ. มีรายงานข่าวว่า นายพายัพ ชินวัตร น้องชาย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นักโทษหนีคำพิพากษาจำคุก 2 ปีคดีซื้อที่รัชดาฯ ได้เดินทางไปบวชที่วัดป่าพุทธคยา ประเทศอินเดีย ตั้งแต่เมื่อวันที่ 10 ก.พ.ที่ผ่านมา โดยได้รับฉายาว่า “พระพายัพ เขมะคุโณ” และมีกำหนดลาสิกขาในวันที่ 11 มี.ค.นี้ อย่างไรก็ตาม มีข่าวว่า สมเด็จพระธีรญาณมุนี เจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทราวาส ได้แต่งตั้งพระพายัพให้เป็นพระฐานานุกรมในตำแหน่ง “พระครูปลัดสัมพิพัฒน์ญาณจารย์”
       
       ทั้งนี้ แหล่งข่าวระดับสูงในสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) เผยว่า การแต่งตั้งพระพายัพเป็นพระครูปลัดฯ ไม่เหมาะสม เนื่องจากตามธรรมเนียมปฏิบัติ พระสงฆ์ที่จะได้รับแต่งตั้งเป็นพระฐานานุกรมต้องบวชมาแล้วไม่น้อยกว่า 10 พรรษา
       
       ด้านนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย รีบออกมาชี้ว่า การตั้งพระพายัพเป็นพระครูปลัดฯ เป็นสิทธิและอำนาจของสมเด็จพระธีรญาณมุนี ไม่เกี่ยวกับ พศ. ส่วนเหตุผลในการแต่งตั้งเป็นวิจารณญาณของสมเด็จพระธีรญาณมุนี “เชื่อว่าท่านคงมีเหตุผลในการตั้ง ที่ผ่านมาท่านเคยแต่งตั้งพระรูปอื่นเป็นพระฐานานุกรม เพื่อทำหน้าที่เป็นคณะทำงาน แต่ไม่มีใครสนใจ แต่คราวนี้พระพายัพ นามสกุลชินวัตร เลยถูกจับตามองจากสังคม”
       
       ขณะที่พระราชธรรมนิเทศ หรือพระพยอม กัลยาโณ ประธานมูลนิธิวัดสวนแก้ว พูดถึงการตั้งพระพายัพเป็นพระครูปลัดฯ ว่า การตั้งพระฐานานุกรม มีการกำหนดหลักเกณฑ์ไว้ 2 ข้อ 1.ต้องอุปสมบทมาหลายพรรษา และ 2.ต้องมีผลงานการสนับสนุนส่งเสริมพระพุทธศาสนา และว่า เห็นข่าวว่า พระพายัพมีผลงานการสร้างโบสถ์ หากเป็นเช่นนั้นจริง พระพายัพก็มีสิทธิได้รับแต่งตั้งเป็นพระฐานานุกรมได้ “ปัญหานี้ไม่น่าจะเกิดขึ้นเลย ถ้าพระพายัพ ไม่ได้เป็นน้องชายของคนชื่อทักษิณ” ส่วนกรณีที่หลักการกำหนดให้พระที่จะได้รับแต่งตั้งเป็นพระฐานานุกรม ต้องบวชหลายพรรษานั้น พระพยอม บอกว่า “เราไม่ควรจะไปยึดเรื่องพรรษากันได้แล้ว เพราะพระบางรูปบวชมานานหลายพรรษา แต่ไม่เคยทำคุณงามความดี หรืออะไรที่เป็นประโยชน์แก่พระศาสนา ก็ไม่ควรเลื่อนตำแหน่งอะไรให้เลย”
       
       ด้านนายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย พูดถึงการตั้งพระพายัพเป็นพระครูปลัดฯ โดยตั้งคำถามว่า หากมีใครบวชแค่ไม่กี่วัน แล้วไม่ได้นามสกุลชินวัตร จะได้รับแต่งตั้งเป็นพระครูปลัดฯ หรือไม่ และถ้ายึดหลักที่พระพยอมบอกว่า พระพายัพได้ทำคุณประโยชน์ให้กับพระพุทธศาสนาด้วยการสร้างโบสถ์ ถ้าเช่นนั้น เหตุใดทำไมตอนที่ตนบวชที่วัดป่าบ้านตาด จึงไม่ได้รับแต่งตั้งเป็นพระครูปลัดฯ ทั้งที่ตนเคยซื้อที่เกือบ 100 ไร่ให้วัดกุดโพนทันของหลวงพ่อญา ทั้งนี้ นายสนธิ ชี้ว่า การแปลพระวินัยเข้าข้างตัวเองของพระพยอม เข้าข่ายสอพลอคฤหัสถ์ เพราะความดีที่ทำตอนเป็นคฤหัสถ์ไม่สามารถนำมาต่อยอดให้กับความเป็นพระได้
       
       นายสนธิ ยังข้องใจการบวชของพระพายัพด้วยว่า หากบวชเพื่ออุทิศส่วนกุศล แค่บวชอย่างเดียวก็น่าจะจบ ถ้าไม่ต้องการตำแหน่งก็ปฏิเสธได้ นี่แสดงว่าเจตนาการบวชของพระพายัพไม่ได้ต้องการรักษาพรหมจรรย์ในฐานะที่จะเป็นพระภิกษุ หรือว่าพวกชินวัตรจะเข้าวงการไหน ต้องใหญ่หมด และที่น่าอับอายขายหน้ามาก พระมหาเถระก็ยอมที่จะทำลายพระธรรมวินัยด้วย และที่น่ากลัวที่สุด สิ่งที่พระพยอมพูดแก้ตัวให้พระพายัพว่า ควรเลิกนับถือพรรษากันได้แล้ว แสดงว่าคนอย่างพระพยอมยังไม่เข้าใจพระธรรมวินัยเลย ถ้าพระพยอมจะสอพลอพวกชินวัตร ก็สอพลอไป แต่ไม่ควรมาจาบจ้วงพระธรรมวินัย
       
       ทั้งนี้ หลังเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์การแต่งตั้งพระพายัพเป็นพระครูปลัดฯ ปรากฏว่า นายปรีชา กันธิยะ อธิบดีกรมการศาสนา ออกมายืนยันว่า ไม่ได้มีการแต่งตั้งพระพายัพเป็นพระฐานานุกรมแต่อย่างใด โดยบอกว่า เมื่อพระพายัพบวช พระอุปัชฌาย์ของพระพายัพได้ตั้งฉายาให้ว่า “พระครูปลัด” ซึ่งเป็นเพียงแค่ฉายาเท่านั้น และว่า การจะได้รับตำแหน่งพระฐานานุกรม จะต้องผ่านการบวชมาไม่น้อยกว่า 10 พรรษา ต้องเป็นพระที่มีคุณงามความดีเผยแผ่พุทธศาสนา และต้องเข้าสู่การพิจารณาของมหาเถรสมาคม เพื่อนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ และประกาศในราชกิจจานุเบกษา ดังนั้น สมณศักดิ์ของพระจะได้มาไม่ใช่เรื่องง่าย และต้องมีการปฏิบัติเช่นข้าราชการทั่วไป โดยกรณีของพระพายัพยังไม่มีการดำเนินการแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีคำยืนยันเรื่องนี้จากสมเด็จพระธีรญาณมุนีและพระพายัพ ที่มีกำหนดเดินทางกลับจากอินเดียในวันที่ 23 ก.พ.แต่อย่างใด
       
       2. สารพัดวิชามารหาเสียงผู้ว่าฯ กทม. ตัดต่อภาพดาราหนุนเบอร์ 9 ด้าน “พงศพัศ” ยัน เปล่าทำ!

       ความเคลื่อนไหวก่อนโค้งสุดท้ายในการหาเสียงเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. เมื่อวันที่ 18 ก.พ. นายสมชัย จึงประเสริฐ กรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ด้านสืบสวนสอบสวนและวินิจฉัย ได้ออกมาย้ำว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ต้องมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านไม่น้อยกว่า 1 ปี ตาม พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นฯ พ.ศ.2545 ไม่ใช่ 90 วันตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร ส่วนที่มีข่าวว่า มีการย้ายประชาชนจากต่างจังหวัดเข้าทะเบียนบ้าน เพื่อให้มีสิทธิเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ครั้งนี้ นายสมชัย บอกว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า การโอนย้ายดังกล่าวไม่ใช่เพื่อใช้สิทธิเลือกตั้ง แต่เพื่อสิทธิประโยชน์ด้านอื่น เช่น การรักษาพยาบาล หรือสิทธิในการเข้าเรียนของบุตร และว่า การย้ายช่วงนี้เป็นการย้ายตามปกติ แต่ถ้าใครพบว่ามีการย้ายคนเข้ามาในทะเบียนบ้านแบบผิดปกติ โดยที่เจ้าบ้านไม่อนุญาต จะมีความผิด ผู้พบเห็นสามารถยื่นร้องมาที่นายทะเบียนประจำสำนักงานเขต และนายวีระ ยี่แพร ผู้อำนวยการ กกต.กทม.ได้ทันที
       
       เป็นที่น่าสังเกตว่า ยิ่งใกล้โค้งสุดท้าย ก็เริ่มมีการใช้วิชามารในการหาเสียง โดยเมื่อวันที่ 19 ก.พ. ได้มีการเผยแพร่ภาพตัดต่อของดาราชื่อดังหลายคนบนเฟซบุ๊กเพื่อให้ผู้ที่เห็นเข้าใจผิด คิดว่า ดาราคนนั้นสนับสนุน พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.พรรคเพื่อไทย โดยดาราที่ถูกตัดต่อภาพ ได้แก่ เบิร์ด ธงไชย แมคอินไตย์ นักร้องชื่อดัง ,ณเดชน์ คูกิมิยะ ดารานักแสดงชื่อดัง และบัวขาว ป.ประมุข นักมวยชื่อดัง ซึ่งภายหลัง มีผู้เล่นเฟซบุ๊กจับได้ว่า คนที่โพสต์ภาพตัดต่อของบัวขาวคือ กลุ่มเสื้อแดง-นปช. โดยผู้ที่จับได้ โพสต์ข้อความว่า “ไอ้หยา คาหนังคาเขา ! จับได้แล้วใครแอบอ้างดารา เชียร์ พงศพัศ พงษ์เจริญ ผู้ลงสมัคร เลือกตั้งผู้ว่า พรรคเพื่อไทย !! ที่แท้ ... ผีโม่แป้งคือ เว็บไซด์เฟสบุ๊ก "เสื้อแดงคลับ Red club" โดยมีโลโก้ นปช. และมีข้อความเชิญชวนชัดเจนว่า "นักชกบัวขาว ก็ยังเชียร์ เบอร์ 9 อิอิ ^__^"
       
       ขณะที่เฟซบุ๊ก Bird Thongchai ของนักร้องชื่อดัง เบิร์ด-ธงไชย แมคอินไตย์ ได้โพสต์ข้อความยืนยันว่า ภาพของตนถูกตัดต่อ "ช่วงนี้ถ้าใครเห็นรูปพี่เบิร์ดไปเกี่ยวข้องกับการสนับสนุนตัวบุคคลที่เข้ามาชิงตำแหน่งผู้ว่ากรุงเทพมหานคร ขอให้ทราบกันว่าเป็น "ภาพตัดต่อลงไปบนโทรศัพท์มือถือ" พี่เบิร์ดไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสนับสนุนบุคคลใดๆทั้งสิ้นครับ ขอบคุณครับ"
       
       ด้านนายศิริโชค โสภา ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ได้แถลงเรียกร้องให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ตรวจสอบการตัดต่อภาพดารา เพราะอาจทำให้ประชาชนหลงเชื่อว่าบุคคลเหล่านั้นสนับสนุนผู้สมัครคนดังกล่าว และลงคะแนนให้ได้ ถือว่าส่อผิด พ.ร.บ.เลือกตั้งท้องถิ่น
       
       ขณะที่ พล.ต.อ.พงศพัศ รีบออกมาบอกว่า ยังไม่ทราบต้นตอที่มาที่ไปและยังไม่เห็นภาพดังกล่าว และว่า ในการหาเสียง ตนได้ยึดตามประกาศของ กกต.มาโดยตลอด และพร้อมจะไปแสดงความบริสุทธิ์ใจกับ กกต.ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนั้น ตนไม่ได้เป็นคนโพสต์
       
       อย่างไรก็ตาม นอกจากกรณีตัดต่อภาพดังกล่าวแล้ว ยังมีกรณีนักวิชาการคนหนึ่งไม่ชอบพรรคเพื่อไทย จึงนำสติ๊กเกอร์ไปติดที่ป้ายหาเสียงของ พล.ต.อ.พงศพัศ มีข้อความว่า “เผาบ้านเผาเมือง” และ “ไม่เลือกผู้ว่าฯ สร้างภาพ” ทราบชื่อคือ นายหทัยวุฒิ สายทอง อายุ 45 ปี นักวิชาการศึกษา 5 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 2 กรุงเทพฯ โดยถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.พหลโยธิน จับกุมขณะเตรียมนำสติ๊กเกอร์ไปติดที่ป้ายหาเสียงของ พล.ต.อ.พงศพัศ ทั้งนี้ นายหทัยวุฒิ สารภาพว่าเป็นผู้ติดสติ๊กเกอร์ดังกล่าวจริง และเป็นผู้จัดทำสติ๊กเกอร์ด้วยตัวเอง สาเหตุที่ทำ เพราะไม่ชอบพรรคเพื่อไทยเป็นการส่วนตัว ไม่เกี่ยวกับตัวผู้สมัคร พร้อมยืนยัน ไม่เคยเข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่มการเมืองใดใด
       
       ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ เริ่มร้องเรียน กกต.ว่ามีการใช้อำนาจรัฐในลักษณะซื้อเสียงประชาชน ช่วยเหลือผู้สมัครบางพรรค โดยนายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา และทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมด้วยนายสัญญา จันทรรัตน์ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.เขตวังทองหลาง ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อ กกต.กลางและ กกต.กทม.ขอให้ตรวจสอบกรณีกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นำแบบสำรวจข้อมูลครัวเรือนเพื่อการจัดสวัสดิการและพัฒนาสังคม ไปทำสำรวจกับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งใน กทม. โดยมีการอ้างกับประชาชนว่า หากประชาชนให้ข้อมูลในแบบสอบถามแล้ว จะได้รับเงินชุดละ 1 พันบาทหลังการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. จึงได้นำเอาวิดีโอบันทึกภาพ พร้อมเอกสารถอดเทปการพูดคุยระหว่างผู้มีสิทธิเลือกตั้งกับผู้ทำแบบสอบถามมาให้ กกต.เป็นหลักฐาน ด้าน กกต.กทม.อ้างว่า คำร้องดังกล่าวยังไม่ชัดเจน ดังนั้นจะต้องเรียกผู้ร้องมาให้ถ้อยคำเพิ่ม
       
       ส่วนการทำโพลของสำนักต่างๆ ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ยังระบุว่า คน กทม.เลือก พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย มากกว่า ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ โดยสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิต สำรวจพบว่า ร้อยละ 46.69 เลือก พล.ต.อ.พงศพัศ ขณะที่ร้อยละ 32.99 เลือก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ส่วนนิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) สำรวจพบความนิยมของผู้สมัครทั้ง 2 พรรคค่อนข้างสูสีกัน โดยร้อยละ 26.80 เลือก พล.ต.อ.พงศพัศ ขณะที่ร้อยละ 25.86 เลือก ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ส่วนอีกร้อยละ 36.84 ยังไม่ตัดสินใจ
       
       3. โจรใต้ บึ้มป่วนไม่เลิก เชื่อตอบโต้วิสามัญ 16 ศพ ขณะที่ รบ.เล็งใช้ พ.ร.บ.มั่นคง ม. 21 เปิดช่องคนหลงผิดมอบตัว!

       สัปดาห์ที่ผ่านมา เหตุไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งฝ่ายความมั่นคงเชื่อว่า เป็นการตอบโต้หลังผู้ก่อความไม่สงบบุกโจมตีฐานปฏิบัติการกองร้อยปืนเล็กที่ 2 หน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส 32 กองทัพเรือ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส จนเกิดการปะทะกับเจ้าหน้าที่ และถูกวิสามัญฆาตกรรมไปรวม 16 ศพ
       
       ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 17 ก.พ. ได้เกิดระเบิดขึ้นที่หน้าร้านกาแฟ บริเวณวงเวียนหอนาฬิกา ปากทางเข้ามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี แรงระเบิดทำให้อาสาสมัครเสียชีวิต 3 คน ประกอบด้วย อส.วิโรจน์ จันทศิริ ,อส.มะกรี ดือเระ และ อส.อธิพล อาแช
       
       ต่อมาวันที่ 19 ก.พ. ได้เกิดเหตุคนร้าย 2 คน ขี่รถจักรยานยนต์ขว้างระเบิดเข้าใส่กลุ่มทหาร ร้อย ร.5032 หน่วยเฉพาะกิจยะลาที่ 11 ขณะเล่นฟุตบอลในฐานปฏิบัติการภายในวัดหลักห้า อ.เมือง จ.ยะลา ส่งผลให้ทหารได้รับบาดเจ็บ 8 นาย
       
       ต่อมาวันที่ 22 ก.พ. คนร้ายได้ยิงเอ็ม 79 ถล่ม สภ.กะพ้อ จ.ปัตตานี จำนวน 3 ลูก โดยกระสุนตกระหว่าง สภ.กะพ้อกับแฟลตตำรวจ ทำให้ตำรวจได้รับบาดเจ็บ 7 นาย นอกจากนี้ช่วงเช้าวันเดียวกัน คนร้ายยังได้กดชนวนระเบิดขณะทหารร้อย ร.2514 ฉก.ปัตตานี 24 กำลังดูแลความปลอดภัยครูอยู่ในโรงเรียนบ้านเกาะตา ริมถนนสาย 419 หมู่ 3 ต.ทุ่งพลา อ.โคกโพธิ์ แรงระเบิดทำให้ทหารได้รับบาดเจ็บสาหัส 2 นาย
       
       ล่าสุด เมื่อวันที่ 23 ก.พ. ได้เกิดระเบิดขึ้นอีกบริเวณถังขยะหน้าร้านเซเว่น-อีเลฟเว่น ซึ่งอยู่ตรงข้ามกองบังคับการกรมทหารพรานที่ 45 เขตเทศบาล ต.ตันหยงมัส อ.ระแงะ จ.นราธิวาส หลังรับแจ้งเหตุ พ.ต.อ.จิระเดช พระสว่าง ผู้กำกับการ สภ.ระแงะ ได้นำกำลังเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบ แต่ปรากฏว่า ได้เกิดระเบิดขึ้นอีก 1 ครั้ง บริเวณรถจักรยานยนต์ที่คนร้ายนำมาจอดทิ้งไว้ที่หน้าประตูทางเข้าร้านเซเว่น-อีเลฟเว่น แรงระเบิดทำให้มีผู้บาดเจ็บ 3 ราย เป็นเจ้าหน้าที่อาสาสมัครรักษาดินแดนที่ว่าการ อ.ระแงะ ขณะที่ผู้กำกับการ สภ.ระแงะ รอดตายหวุดหวิด
       
       ทั้งนี้ รัฐบาลเริ่มมีแนวคิดจะแก้ปัญหาความไม่สงบด้วยการใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง มาตรา 21 ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ก่อเหตุที่หลงผิดเข้ามอบตัว แต่ยังไม่สรุปว่าจะใช้หรือไม่ ซึ่งนายถาวร เสนเนียม รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้ออกมาสนับสนุนให้รัฐบาลใช้มาตรา 21 โดยบอกว่า เรื่องนี้ สมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์เคยใช้มาก่อนแล้ว เป็นการเปิดโอกาสให้คนที่หลงผิดเข้ามอบตัวต่อรัฐ และนำคนเหล่านี้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม มีการอบรม 3 เดือน หรือ 6 เดือน โดยความเห็นชอบของศาลด้วย ซึ่งที่ผ่านมาเคยใช้ในพื้นที่ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ได้ผลดีมาก
       
       ขณะที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศปก.กปต.) ได้มีคำสั่งแต่งตั้งอดีต ส.ส.กลุ่มวาห์ดะ 9 คนเป็นที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี เพื่อให้การขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบด้วย 1.นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา 2.นายเด่น โต๊ะมีนา 3.นายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ 4.นายซูการ์โน มะทา 5.นายนัจมุดดิน อูมา 6.น.ส.เพชรดาว โต๊ะมีนา 7.นายอับดุลเราะห์มาน อับดุลสมัด 8.นายสุธิพันธ์ ศรีริกานนท์ และ 9.นายสุดิน ภูยุทธานนท์ โดยบุคคลทั้ง 9 มีหน้าที่ให้คำปรึกษา เสนอความเห็น วิเคราะห์ และเสนอแนะงานด้านต่างๆ ตามที่รองนายกรัฐมนตรีมอบหมาย
       
       4. พม่า เตรียมปิดซ่อมแท่นผลิตก๊าซยาดานา 5-14 เม.ย. ส่งผลไทยเจอวิกฤตพลังงาน ขณะที่ กทม.-ภาคใต้ส่อไฟดับบางโซน!

       เมื่อวันที่ 18 ก.พ. นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เผยว่า พม่าจะหยุดจ่ายก๊าซในแหล่งยาดานา เนื่องจากแท่นผลิตทรุด จึงจะหยุดเพื่อซ่อมระหว่างวันที่ 4-12 เม.ย. ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการผลิตไฟฟ้าของไทย ที่ปกติต้องได้รับก๊าซดังกล่าวมาผสมให้ค่าความร้อนเหมาะสม ต้องหยุดดำเนินการลงด้วย ทำให้ก๊าซหายไปจากระบบ 1,100 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งจะกระทบต่อกำลังการผลิตไฟฟ้าฝั่งตะวันตกของไทย ให้หายไปอย่างน้อย 4,100 เมกะวัตต์ “พม่าแจ้งมาที่จะหยุดซ่อมช่วง 4-12 เม.ย. เราเองก็พยายามจะเจรจาให้เลื่อนไปช่วงสงกรานต์ เพราะโรงงานอุตสาหกรรมหยุดมาก จะได้หรือไม่...”
       
        ด้านนายสุทัศน์ ปัทมสิริวัฒน์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) บอกว่า การหยุดซ่อมแท่นผลิตก๊าซของพม่าครั้งนี้ ต่างจากแผนหยุดซ่อมทั่วไปตรงที่ความต้องการใช้ไฟของไทยสูงขึ้น แต่สำรองไฟฟ้าพร้อมใช้(ฮอต สแตนบาย) ต่ำผิดปกติ เหลือเพียง 600 เมกะวัตต์ จากมาตรฐานที่ 1,200 เมกะวัตต์ ประกอบกับช่วงเดือน เม.ย.จะมีการใช้ไฟฟ้าสูงสุด(พีค) โดยประเมินว่า ปีนี้ปริมาณการใช้ไฟน่าจะอยู่ที่ 2.7 หมื่นเมกะวัตต์ มากกว่าปีที่แล้วซึ่งอยู่ที่ 2.6 หมื่นเมกะวัตต์ ขณะที่กำลังผลิตไฟฟ้ารวมของไทยอยู่ที่ 3.2 หมื่นเมกะวัตต์ ดังนั้นหากการใช้ไฟสูงกว่าที่คาดไว้ ก็อาจเสี่ยงไฟดับบางพื้นที่ แต่ยังไม่ถึงขั้นไฟดับทั่วประเทศ และว่า พื้นที่ที่ไฟฟ้าอาจดับมี 2 จุด คือ บางส่วนของกรุงเทพฯ และบางส่วนของภาคใต้ เพราะทั้งสองแหล่งรับไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าทางภาคตะวันตก
       
        ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 19 ก.พ. ได้หารือกรณีพม่าจะหยุดจ่ายก๊าซจากแหล่งยาดานาช่วงเดือน เม.ย. ซึ่งที่ประชุมได้มอบหมายให้กระทรวงพลังงานเป็นหน่วยงานหลักในการช่วยเหลือประชาชน พร้อมกันนี้ได้มีมติเห็นชอบให้หน่วยราชการทั้งหมดรณรงค์ประหยัดไฟฟ้า โดยนำทุกมาตรการที่มีอยู่มาใช้ และขอความร่วมมือประชาชนในการช่วยกันประหยัดไฟด้วย
       
       ด้านนายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ออกมาส่งสัญญาณว่า การที่พม่าจะหยุดจ่ายก๊าซในเดือน เม.ย. จะส่งผลกระทบให้คนไทยต้องจ่ายค่าเอฟทีเพิ่ม เนื่องจากต้องนำเข้าน้ำมันเตา ส่วนค่าเอฟทีจะเพิ่มเท่าไร ต้องรอให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานเป็นผู้กำหนด และว่า ความเสี่ยงครั้งนี้ เกิดจากการที่ไทยพึ่งพาก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้ามากเกินไป คือ มีสัดส่วนกว่า 70% จึงควรกระจายความเสี่ยงด้วยการใช้เชื้อเพลิงประเภทอื่นเพิ่มขึ้น เช่น ถ่านหินสะอาด และเอทานอล
       
       ขณะที่นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) ไม่เห็นด้วยหากจะมีการปรับขึ้นค่าเอฟที โดยชี้ว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ใช่ความผิดของประชาชนและโรงงานอุตสาหกรรม ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรรับภาระนี้แทน
       
       ทั้งนี้ นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อวันที่ 20 ก.พ. เพื่อรับมือวิกฤตพลังงานช่วงเดือน เม.ย. ที่พม่าจะหยุดซ่อมแท่นผลิตก๊าซว่า หลังจากได้เจรจากับบริษัท โททาล ผู้ผลิตก๊าซในแหล่งยาดานาของพม่าแล้ว สรุปว่า พม่าจะเลื่อนการหยุดซ่อมประจำปีออกไป 1 วัน จากวันที่ 4-12 เม.ย. เป็น 5-14 เม.ย.แทน แต่ไทยยังต้องเฝ้าระวังวันที่ 5 เม.ย. เพราะเป็นวันที่คาดว่าอุณหภูมิจะสูงสุดของปี ทำให้ปริมาณการใช้ไฟฟ้าสูงสุดไม่ต่ำกว่า 26,000 เมกะวัตต์ แต่จะถึง 27,000 เมกะวัตต์ หรือไม่ ยังไม่สามารถบอกได้ “วันที่ 5 เม.ย. กระทรวงฯ จะจัดงานรณรงค์ให้ข้าราชการ ประชาชน และเอกชนลดการใช้ไฟทั่วประเทศช่วง 14.00น.เป็นต้นไป ยอมรับว่าไม่สามารถรับประกันเรื่องปัญหาไฟดับได้ แต่หากโรงไฟฟ้าใดเกิดปัญหา อาจทำให้พื้นที่ภาคใต้และกรุงเทพฯ บางส่วนไฟดับได้”
       
        ส่วนกรณีที่ภาคเอกชนไม่เห็นด้วยกับการขึ้นค่าเอฟทีนั้น นายพงษ์ศักดิ์ ยังคงยืนยันว่า ค่าไฟขึ้นแน่ช่วงครึ่งหลังของปีนี้ เนื่องจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) รายงานว่า ค่าไฟฟ้าช่วงครึ่งปีหลังอาจต้องปรับเพิ่มไม่ต่ำกว่า 2.20 สตางค์ต่อหน่วย โดยคำนวณจากค่าเชื้อเพลิงน้ำมันเตาและดีเซล ซึ่งเดิม กกพ.คิดจากการใช้ไฟช่วงที่พม่าปิดซ่อมประจำปีตามปกติ 1.70 สตางค์ต่อหน่วย แต่เมื่อพม่าหยุดซ่อมเร็วกว่าปกติ จึงต้องบวกเพิ่มอีก 0.48 สตางค์ต่อหน่วย
       
        วันต่อมา(21 ก.พ.) นายพงษ์ศักดิ์ ได้หารือกับนายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) และคณะ เพื่อหาทางรับมือวิกฤตพลังงานช่วงเดือน เม.ย. โดยนายพงษ์ศักดิ์ได้เสนอให้ภาคอุตสาหกรรมหยุดทำการผลิตหรือหยุดงานในวันที่ 5 เม.ย. และไปทำงานในวันที่ 7 หรือ 11 เม.ย.แทน ซึ่ง ส.อ.ท.จะกลับไปหารือกับสมาชิกทั้ง 42 กลุ่มอุตสาหกรรมอีกครั้งว่าจะหยุดงานในวันดังกล่าวได้หรือไม่

ASTVผู้จัดการออนไลน์    24 กุมภาพันธ์ 2556

6822
ผ่าโครงสร้างใหม่กระทรวงหมอ ดึง สสส. สพฉ. สปสช.มาดูแลเอง

การจัดโครงสร้างใหม่ของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ตามที่ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข มอบหมายให้นายคณิศ แสงสุพรรณ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง มูลนิธิสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง (สวค.) จัดทำแผนปฏิรูปการเปลี่ยนแปลงสธ. เพื่อแก้ปัญหาด้านภาระการเงินการคลังของโรงพยาบาล ปัญหาด้านกำลังคน รวมถึงกำหนดบทบาทใหม่ทั้งในฐานะของผู้ให้บริการและในฐานะผู้กำหนดหลักเกณฑ์ แล้วเสร็จลงเมื่อวันที่6 มี.ค.ที่ผ่านมา

เบื้องต้นได้กำหนดให้มีการประสานงานระหว่างกรมในสังกัด สธ. และกลุ่มงานในสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) เช่น กรมการแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และกรมสนับสนุนบริการสุขภาพให้มากขึ้น โดยให้ประสานความร่วมมือกับกลุ่มภารกิจยุทธศาสตร์และประเมินผล กลุ่มภารกิจบริหารกองทุนและกลุ่มภารกิจสนับสนุนเครือข่ายผู้ให้บริการ สปสช. ส่วนการตั้งสำนักงานเขตสุขภาพ 12 เขต ก็จะประสานกับสำนักงาน13 เขตของ สปสช.อย่างใกล้ชิด

นอกจากนี้ ยังมีการจัดกลุ่มของหน่วยงานที่มีลักษณะงานคล้ายคลึงกัน ได้แก่งานการจัดทำมาตรฐาน ให้สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) และสถาบันการแพทย์เฉพาะทางอยู่กับกรมการแพทย์กรมสุขภาพจิต กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา

ขณะที่งานการส่งเสริมสุขภาพ ให้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) อยู่กับกรมควบคุมโรค กรมอนามัย และให้สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) อยู่กับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

สำหรับข้อมูลกลางในระบบประกันสุขภาพ ได้มอบหมายให้ สปสช. ดูแลทั้งประชาชนที่อยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) และที่อยู่ในระบบกองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

พร้อมกันนี้ ยังให้มีคณะกรรมการจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ร่วมกัน คณะกรรมการรณรงค์การลดใช้ยา และคณะกรรมการวางระบบติดตามประเมินผล 3 กองทุน

ขณะที่โรงพยาบาลและสถานพยาบาลนั้น จะให้ สรพ. และกรมสนับสนุนบริการสุขภาพจัดทำมาตรฐานโรงพยาบาลสำหรับประเมินคุณภาพ

ทั้งนี้ การจัดกลุ่มบริหารโดยดึงหน่วยงานอิสระ อาทิ สปสช. สพฉ. สสส. เข้ามาทำงานร่วมกับหน่วยงานของ สธ.นั้น จะอยู่ภายใต้การควบคุมของรองปลัด สธ.ตามที่ นพ.ประดิษฐ ได้แบ่งภารกิจไว้

หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 8 มีนาคม 2556

6823
คณะเภสัชฯ มอ.ค้นพบสารชนิดใหม่ใน "ใบชะมวง" ออกฤทธิ์ต้านมะเร็ง นับเป็นการค้นพบครั้งแรกของโลก พร้อมตั้งชื่อว่า "ชะมวงโอน" ระบุใช้เป็นสารต้นแบบที่นำไปพัฒนาโครงสร้างสู่ยาต้านมะเร็งในอนาคต

    รศ.ดร.ภก.ภาคภูมิ พาณิชยปการนันท์ ผอ.สถานวิจัยยาสมุนไพรและเทคโนโลยีชีวภาพทางเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ (มอ.) เปิดเผยว่า ได้ร่วมกับนายอภิรักษ์ สกุลปักษ์ นักศึกษาทุนโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก ภาควิชาเภสัชเวทและเภสัชพฤกษศาสตร์ ทำการศึกษาวิจัยคุณสมบัติมีฤทธิ์ต้านมะเร็งและต้านแบคทีเรียก่อโรคทางเดินอาหารจาก "ใบชะมวง" ได้สำเร็จเป็นครั้งแรกของโลก หลังจากใช้เวลาศึกษาค้นคว้านานกว่า 2 ปี ซึ่งผลงานดังกล่าวได้รับการตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติ Food Chemistry ซึ่งเป็นวารสารที่ได้รับความน่าเชื่อถือและเป็นที่ยอมรับในวงการวิชาการอย่างกว้างขวาง

    สำหรับการวิจัยดังกล่าวได้เก็บรวบรวมผักพื้นบ้านจำนวน 22 ชนิด มาทำการสกัดและทดสอบว่ามีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อ Helicobacier pylori ซึ่งเป็นเชื้อที่ก่อให้เกิดโรคทางเดินอาหารหรือไม่ โดยพบว่าชะมวงเป็นพืชที่ออกฤทธิ์ดีที่สุด จึงนำมาแยกสารที่ต้องการจนสามารถได้สารซึ่งมีฤทธิ์ในระดับดีมาก เป็นสารที่มีค่าความเข้มข้นต่ำที่สามารถยับยั้งเชื้อได้ หรือ MIC ประมาณ 7.8 ไมโครกรัมต่อมิลลิเมตร ซึ่งถือว่าเป็นสารตัวใหม่ที่ยังไม่มีการค้นพบมาก่อน โดยตั้งชื่อว่า "ชะมวงโอน" (Chamuangone) เพื่อแสดงให้เห็นว่าเป็นการค้นพบในประเทศไทย

    ทั้งนี้ ยังได้ศึกษาต่อถึงความเป็นไปได้ในการออกฤทธิ์ยับยั้งเชื้อโปรโตซัวร์ ซึ่งเป็นโรคระบาดที่พบบ่อยในภาคใต้ โดยสารชะมวงโอนสามารถยับยั้งโปรโตซัวร์ได้ดี จึงนำชะมวงโอนไปทดสอบกับเซลล์มะเร็งปอด และเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว จนพบว่าสารชะมวงโอนมีฤทธิ์ต้านเซลล์มะเร็งได้ดี

    "ความสำเร็จจากงานวิจัยที่ได้โครงสร้างใหม่ของสารที่มีฤทธิ์ต้านมะเร็งจากชะมวงโอนครั้งนี้ สามารถนำไปใช้ดัดแปลงพัฒนาต้านมะเร็งที่ออกฤทธิ์ดีขึ้น และลดอาการข้างเคียงต่อเซลล์ปกติ แม้ว่าขั้นตอนการนำสารดังกล่าวไปใช้รักษาโรคมะเม็งยังต้องมีกระบวนการวิจัยเพิ่มเติมอีกหลายขั้นตอน เพื่อการรักษาที่ได้ผลมากขึ้น หรือลดอาการข้างเคียงจากการใช้ยา" รศ.ดร.ภก.ภาคภูมิกล่าว.

ไทยโพสต์  11 มีนาคม พ.ศ. 2556

6824
โฆษกศาลยุติธรรมเผยเตรียมพิจารณาทบทวนการตรวจสุขภาพจิตผู้พิพากษาทุก 5 ปี ชี้ที่ผ่านมาได้แต่ตรวจสุขภาพทางร่างกายอย่างเดียวจนไม่รู้ว่าคนไหนมีอาการป่วยทางจิต เผยหากตรวจพบถือเป็นผู้ป่วยแต่ไม่ต้องถึงกับให้ออกเพราะไม่ใช่การทุจริตต่อหน้าที่
       
       วันนี้ (8 มี.ค.) นายสิทธิศักดิ์ วนะชกิจ โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวถึงกรณีนายกิติ ปิ่นงาม ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ ใช้อาวุธปืนยิงตัวตายภายในบ้านพัก สาเหตุจากโรคซึมเศร้า เมื่อวันที่ 7 ม.ค.ที่ผ่านมาว่า ตามปกติแล้วก่อนสอบเข้าเป็นผู้ช่วยผู้พิพากษาจะต้องมีการตรวจร่างกายและตรวจอาการทางจิตโดยจิตแพทย์ มีบางคนสอบไม่ผ่านการตรวจทางจิต แต่เมื่อเข้ารับราชการเป็นผู้พิพากษาแล้วทำงานต่อเนื่องไปจนถึงศาลฎีกา จะมีการตรวจสุขภาพร่างการกายเพียงอย่างเดียว ไม่มีการตรวจอาการทางจิต ดังนั้นจะรู้เพียงว่าผู้พิพากษาคนใดเจ็บป่วยทางกาย แต่จะไม่สามารถรู้ได้เลยว่าท่านใดมีอาการป่วยทางจิต หากจะถามตนว่าทำไมจึงไม่มีการตรวจอาการทางจิต ส่วนตัวมองว่าหากดูแลรักษาร่างกายให้แข็งแรงก็จะไม่กระทบสุขภาพจิตใจ และไม่กระทบการทำงานของผู้พิพากษา การป่วยทางจิตน้อยคนนักที่จะเป็นและตรวจพบยาก ไม่เหมือนการเจ็บป่วยทางร่างกายที่พบเห็นได้ อาการทางจิตหลบซ่อนอยู่ภายใน ถ้าไม่ได้เข้ารับการตรวจกับหมอเฉพาะทางไม่มีทางรู้ได้ อย่างกรณีของท่านกิติ เท่าที่ตนทราบทางภรรยาของท่านกิติก็ไม่ทราบมาก่อน และเมื่อได้สอบถามไปยังเพื่อนร่วมรุ่นผู้ช่วยผู้พิพากษารุ่นที่ 29 และเพื่อนผู้พิพากษาในแผนกคดียาเสพติดในศาลอุทธรณ์ ทราบว่าท่านกิติเป็นปกติ ไม่มีอาการเก็บเนื้อเก็บตัว ร่าเริง ไม่มีอาการส่อไปในทางที่จะป่วยทางจิต ซึ่งบรรดาผู้พิพากษาและเพื่อนๆ รู้สึกตกใจมากที่ต้องสูญเสียทรัพยากรที่มีคุณค่า ท่านกิติเป็นผู้พิพากษาที่ซื่อสัตย์ สุจริต ไม่มีประวัติด่างพร้อย อาจป่วยแบบเฉียบพลัน ซึ่งไม่ใช่คนแรกที่กระทำอัตวินิบาตกรรมตัวเอง
       
       นายสิทธิศักดิ์กล่าวว่า ทราบว่าขณะนี้มีผู้พิพากษาที่มีอาการเจ็บป่วยทางจิตอยู่ในศาลบ้าง แต่ทางคณะกรรมการข้าราชการตุลาการ (ก.ต.) ก็ไม่จำเป็นต้องให้ออกจากราชการ เนื่องจากถือว่าเป็นผู้ป่วย ไม่ใช่กรณีทุจริตหรือประพฤติมิชอบ ก็จะให้ทำงานเบาๆ แล้วไปรักษาตัว จะไม่ปล่อยให้ผู้พิพากษาที่ป่วยทางจิตไม่ปกติไปตัดสินคดีชี้เป็นชี้ตาย หรือตัดสินข้อพิพาทต่างๆ หากไม่อยู่ในวิสัยที่จะสามารถทำงานได้ก็สามารถลาป่วยไปรักษาได้ ถ้ารักษาหายเป็นปกติและสามารถพิสูจน์ตัวเองเขียนคำพิพากษาได้ ปฏิกิริยา ปฎิสัมพันธ์กับคนรอบข้างเป็นปกติ ก็สามารถที่จะรับราชการต่อและได้รับการเลื่อนชั้นได้
       
       อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวเห็นว่าอาจจะต้องนำกรณีของท่านกิติ เสนอนายไพโรจน์ วายุภาพ ประธานศาลฎีกา นำเข้าสู่ที่ประชุมบอร์ดผู้บริหาร หารือทบทวนเรื่องการตรวจสุขภาพจิต ส่วนตัวเห็นว่าอาจจะมีการกำหนดให้ตรวจทุกๆ 5 ปี หรือก่อนเลื่อนตำแหน่ง อาจจะต้องทำการทดสอบสุขภาพจิต โดยใช้แบบทดสอบทางจิตวิทยาเบื้องต้นก็พอจะทราบได้ เพราะปัจจุบันผู้พิพากษาทำงานท่ามกลางความขัดแย้งของคู่ความ เผชิญความเครียดทุกวัน เปรียบเสมือนทำงานท่ามกลางมลภาวะค่อยๆ สะสมเข้าไปในร่างกาย ถึงจุดหนึ่งก็จะปรากฏอาการ ขึ้นอยู่กับภูมิคุ้มกันของตนเองว่ามีมากน้อยเพียงใด งานผู้พิพากษาบั่นทอนสุขภาพ ร่างกาย อายุผู้พิพากษาให้เจ็บป่วยมากขึ้น อายุยืนน้อยลง ผู้้พิพากษาศาลชั้นต้นต้องสืบพยานก็เครียด เขียนคำพิพากษาก็เครียด ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ศาลฎีกาก็ต้องตัดสินคดีเดือนละกว่า 10 คดี ก็อาจเกิดอาการเครียดไม่รู้ตัว ซึ่งผู้พิพากษาทุกคนเป็นบุคลากรที่มีคุณค่าขององค์กรศาลยุติธรรม

ทีมข่าวอาชญากรรม    8 มีนาคม 2556
http://www.manager.co.th

6825
สธ.ปรับระบบบริการเป็น 12 เขตพื้นที่ หวังลดการกระจุกตัวของผู้ป่วยในโรงพยาบาลขนดใหญ่ เล็งกระจายการผ่าตัดไส้ติ่ง ผ่าตัดทำคลอดจาก รพศ./รพท.สู่ รพช.30 แห่ง พร้อมให้แพทยสภาทำความเข้าใจโรงพยาบาลขนาดเล็กผ่าตัด หลังกังวลการฟ้องร้อง
   
       วันนี้ (11 ธ.ค.) นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงการเตรียมพร้อมปรับรูปแบบการบริการสาธารณสุขในปี 2556 ว่า เดิมระบบบริการของสถานพยาบาลในสังกัด สธ.จะแยกส่วนกันชัดเจน ทำให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไปกระจุกตัวในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ทั้งๆ ที่ควรกระจายอย่างเหมาะสม รมว.สาธารณสุขจึงมีนโยบายจัดระบบใหม่ โดยทำเป็นแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service Plan) โดยแบ่งเป็นพวงบริการ 12 เขตพื้นที่ ซึ่งแต่ละพื้นที่จะพัฒนาการบริการออกเป็น 10 สาขา คือ 1. การพัฒนาการบริการรักษาหัวใจและหลอดเลือด 2. มะเร็ง 3. อุบัติเหตุ 4. ทารกแรกเกิด 5. จิตเวช 6. ตาและไต 7. การบริการ 5 สาขา ทั้งสูตินรีเวช ศัลยกรรม อายุรกรรม กุมารเวช และออร์โธปิดิกส์ 8.ทันตกรรม 9. การบริการปฐมภูมิทุติยภาพองค์รวม และ 10.การบริการโรคไม่ติดต่อ ซึ่งทั้งหมดมีการเตรียมพร้อมตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา
       
       นพ.ณรงค์กล่าวอีกว่า เบื้องต้นจะเริ่มการบริการ 5 สาขาหลัก เน้นการกระจายการผ่าตัดผู้ป่วยไส้ติ่งอักเสบออกจากโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ไปยังโรงพยาบาลในเครือข่ายที่แต่ละ 12 เขตพื้นที่บริการเป็นผู้กำหนด โดยจะต้องดำเนินการให้ได้ร้อยละ 50 ภายใน 2 ปี ทั้งนี้ แผนดังกล่าวเนื่องจากเดิมทีการผ่าตัดส่วนใหญ่จะมุ่งไปที่โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัดไส้ติ่ง ผ่าตัดทำคลอด ทำให้เกิดการกระจุกตัว ทั้งๆที่โรงพยาบาลขนาดเล็กบางแห่งสามารถทำได้ แต่ปัญหาคือ ด้วยข้อจำกัดของบุคลากร และความกังวลในเรื่องการฟ้องร้อง ทำให้ที่ผ่านมาไม่มีการผ่าตัดในโรงพยาบาลขนาดเล็ก
       
       “การผ่าตัดไส้ติ่ง ผ่าตัดทำคลอด จะให้โรงพยาบาลชุมชน(รพช.) ขนาดใหญ่ที่มีบุคลากรทางการแพทย์ประจำอยู่ราว 10 คนขึ้นไป มากสุดพบถึง 30-40 คน อาทิ รพช.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร รพช.บางละมุง จ.ชลบุรี รพช.จอมทอง จ.เชียงใหม่ โดยจะให้รพช.ทำหน้าที่ตรงนี้ รวมไปถึงกรณีผู้ป่วยติดเตียง ซึ่งป่วยเรื้อรังก็จะมีการพิจารณาให้รพช.ดูแล สำหรับตัวเลข รพช. ที่มีศักยภาพในการทำหน้าที่ดังกล่าว เบื้องต้นมีประมาณ 30 แห่งจากทั่วประเทศ โดยแนวทางการบริหารรูปแบบนี้จะมีความชัดเจนในวันที่ 14 ธันวาคม จากนั้นในเดือนมกราคม 2556 จะมีการพิจารณาในเรื่องแผนกำลังคน และการใช้งบประมาณ” นพ.ณรงค์กล่าว
       
       ผู้สื่อข่าวถามว่าจะแก้ปัญหาอย่างไรกรณีบุคคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลขนาดเล็กอาจไม่ต้องการทำหน้าที่ผ่าตัด เนื่องจากกังวลหากมีปัญหากับคนไข้ นพ.ณรงค์ กล่าวว่า ได้มีการหารือกับทางแพทยสภา ในฐานะกำกับดูแลแพทย์ว่าจะมีการพูดคุยทำความเข้าใจอย่างไร เพราะเรื่องนี้เป็นภาระหน้าที่ของแพทย์ทุกระดับทุกคน ทั้งนี้ มีการหารือด้วยว่าจะมีการอบรมให้กับบุคลากรสาธารณสุขในโรงพยาบาลขนาดเล็กด้วย เพื่อเพิ่มศักยภาพมากขึ้น ซึ่งเรื่องนี้จะหารือในรายละเอียดอีกครั้ง


ASTVผู้จัดการออนไลน์    11 ธันวาคม 2555

หน้า: 1 ... 453 454 [455] 456 457 ... 651