ผู้เขียน หัวข้อ: ลดอุบัติภัยสงกรานต์...ต้องรณรงค์ให้ตรงจุด  (อ่าน 1104 ครั้ง)

seeat

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 470
    • ดูรายละเอียด
เทศกาลสงกรานต์ ปี 2555 ใกล้เข้ามาทุกทีแล้ว หลายหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน และองค์กรสาธารณประโยชน์ต่างจัดทำโครงการรณรงค์ในรูปแบบต่างๆ

มีกิจกรรมการสื่อสารเพื่อการรณรงค์ในหลากหลายรูปแบบ ซึ่งโดยทั่วไปต่างก็มุ่งหวังรณรงค์เพื่อลดภาวะการเกิดอุบัติเหตุ การตาย การบาดเจ็บ และความสูญเสียที่เกิดขึ้นในระหว่างการฉลองสงกรานต์

ทั้งนี้ จากปีที่ผ่าน ๆ มาพบว่า การเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนจนทำให้ผู้คนจำนวนมากถึงแก่ชีวิตและบาดเจ็บทางร่างกายนั้น สาเหตุสำคัญอันดับแรกๆ  มาจากการดื่มหรือเมาสุราแล้วไปขับรถ ซึ่งข้อมูลดังกล่าวนี้ก็มีการศึกษา มีการเก็บรวบรวมและทำรายงานเผยแพร่ต่อสาธารณะ และรายงานให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องทราบต่อเนื่องกันมาทุกปี และมีกิจกรรมการรณรงค์ในช่วงเทศกาลสงกรานต์เพื่อลดอุบัติเหตุ ลดการบาดเจ็บล้มตายเป็นประจำทุกปี มีการตั้งเป้าตัวเลขผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บลดลงจากปีก่อน ๆ เช่นเดียวกันกับปีนี้ที่มีการดำเนินการดังกล่าว ทั้งนี้ หน่วยงานหลายหน่วยงานมีการตั้งเป้าในสงกรานต์ปีนี้ว่าจะลดจำนวนผู้เสียชีวิตเป็น “0” (ศูนย์) ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี
 
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการรณรงค์ลดอุบัติเหตุในเทศกาลสงกรานต์เป็นประจำทุกปี แต่ผลกลับปรากฏว่า จำนวนผู้ถึงแก่ชีวิตและบาดเจ็บจากอุบัติเหตุบนท้องถนนก็ยังมีจำนวนมากอยู่ บางปีก็ลดลงบ้าง 5% หรือ 10% บางปีกลับเพิ่มขึ้นจากปีก่อน สถิติและข้อมูลเหล่านี้น่าจะชี้ให้เห็นว่า การรณรงค์ลดอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลสงกรานต์นั้นยังดำเนินการไม่ถูกทาง เป็นการแก้ไขปัญหาไม่ตรงจุดนัก
 
ในประการแรก จะเห็นได้ว่าจากผลการสำรวจที่เป็นทางการพบว่า สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุและการบาดเจ็บล้มตาย อันดับแรกมาจากการขับรถในขณะที่มีการดื่มสุราจนมีอาการมึนเมา แต่ปัญหาดังกล่าวนี้กลับไม่ได้ รับการแก้ไขอย่างจริงจัง และเคร่งครัด ตลอดเวลาที่ผ่านมาภาครัฐไม่กล้าที่จะออกนโยบาย ห้ามจำหน่ายและห้ามดื่มสุราในเทศกาลสงกรานต์หรืออย่างน้อยในวันสงกรานต์ก็ได้ สิ่งที่ทำได้ก็แค่การประกาศ การรณรงค์ให้ดื่มอย่างมีความรับผิดชอบ ดื่มอย่างมีสติ ดื่มไม่ขับ ซึ่งก็เท่ากับว่ายังสนับสนุนให้มีการดื่มฉลองกันอยู่นั่นเอง
 
ประการที่ 2 การบังคับใช้กฎหมายตาม พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ ก็ยังไม่เข้มข้น มีการปล่อยปละละเลย และควบคุมกวดขันไม่ทั่วถึง เช่น ตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ฯ ห้ามจำหน่ายสุราในปั๊มน้ำมัน ห้ามดื่มสุราในที่สาธารณะ แต่ก็ยังมีการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมายดังกล่าวอยู่ตลอด โดยที่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องไม่สามารถดูแลได้ทั่วถึง หรือไม่ก็ปล่อยปละละเลยไม่สนใจเพราะเห็นว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย เหล่านี้เป็นต้น จึงทำให้การบังคับใช้กฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่ได้ถูกใช้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

ในประการสุดท้ายการรณรงค์เพื่อลดอุบัติเหตุในช่วงสงกรานต์ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ค่อนข้างเป็นการรณรงค์ที่มุ่งเน้นเชิงกิจกรรม และโน้มน้าวใจให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของบุคคล และเป็นการรณรงค์ในระยะสั้นมากกว่า ซึ่งเรียกว่าเป็นการรณรงค์แบบ Activity-based/ Individual change and Short term run (AIS) ซึ่งการรณรงค์ในลักษณะเช่นนี้ แม้จะได้ผลก็จะเป็นผลระยะสั้นๆ เฉพาะช่วงเทศกาล เป็นการชั่วคราวเท่านั้น ซึ่งผลจากสถิติการเกิดอุบัติเหตุและจำนวนผู้เสียชีวิตในปีที่ผ่านๆ มากก็เป็นที่ยืนยันได้ว่าการรณรงค์แบบ AIS นั้นได้ผลไม่มากนัก
 
ดังนั้น การรณรงค์เพื่อมุ่งหวังให้เกิดผลการลดอุบัติเหตุและการตายในช่วงเทศกาลสงกรานต์นั้น นอกเหนือจากการใช้มาตรการทางกฎหมาย และทางนโยบายที่ตรงจุดแล้ว ในแง่ของการดำเนินการรณรงค์ก็ต้องปรับเปลี่ยนแนวคิดและแนวทางการรณรงค์ด้วย คือต้องยกระดับรูปแบบการรณรงค์แบบ AIS ไปสู่การรณรงค์แบบ CSL (Cultural-based/ Social change and Long term run) กล่าวคือ การดำเนินการรณรงค์ในกรณีนี้ต้องรณรงค์เชิงวัฒนธรรม ซึ่งหมายถึงการรณรงค์นั้นต้องพุ่งเป้าไปที่จากปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมเดิมที่เป็นฐานคติของผู้คนในสังคม และมุ่งเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของสังคมโดยรวม ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่า วัฒนธรรมของสังคมเดิม ๆ นั้นมองว่า “เทศกาลที่มีความสนุกสนานต้องดื่มเหล้าฉลองกัน หากขาดเหล้าก็จะขาดความสนุกไป การดื่มเหล้าเป็นเรื่องธรรมดาของสังคม เป็นสิทธิส่วนบุคคล” ซึ่งวิธีคิดเช่นนี้เป็นวัฒนธรรมที่ฝังอยู่ในสังคมไทยมาเป็นเวลานาน ฉะนั้น การรณรงค์เพื่อลดอุบัติเหตุให้ได้ผล ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมจึงต้องมุ่งรณรงค์ให้ถึงรากวัฒนธรรมของสังคม และปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมที่กระทบต่อสุขภาวะสาธารณะดังกล่าวนั้นเสีย ไม่ใช่ทำการรณรงค์เพียงแค่เป็นกิจกรรมหนึ่งเท่านั้น นอกเหนือจากนี้ การรณรงค์ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องระยะยาว ไม่ใช่ทำๆ หยุดๆ หรือทำเฉพาะช่วงเทศกาลเท่านั้น
 
มิฉะนั้นแล้ว การรณรงค์ทั้งหลายก็ไม่ต่างจากการ “ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ” !

ดร. บุญอยู่ ขอพรประเสริฐ
กรุงเทพธุรกิจ  12 เมษายน 2555