ผู้เขียน หัวข้อ: ร้อยปีผ่านไปกับทฤษฎีใหม่ไททานิคจม  (อ่าน 1074 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
ร้อยปีผ่านไปกับทฤษฎีใหม่ไททานิคจม : คอลัมน์ เวิลด์วาไรตี้ : โดย ... อุไรวรรณ นอร์มา

          แม้เวลาเนิ่นนานผ่านมาครบหนึ่งศตวรรษ แต่การถกเถียงว่าอะไรเป็นสาเหตุให้เรือสำราญที่ครั้งหนึ่งได้ชื่อว่าอลังการและทันสมัยที่สุดของโลกอย่างเรือไททานิก พุ่งชนภูเขาน้ำแข็งและจมดิ่งสู่ใต้ท้องมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ คืนวันที่ 14 เมษายน ปี 1912 ทำให้มีผู้เสียชีวิตเกือบ 1,500 คน ยังไม่จบสิ้นลงง่ายๆ ทั้งที่มีการสอบสวนในระดับรัฐบาลสองครั้ง มีหนังสือออกมามากมายนับไม่ถ้วน กับภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ทำเงินถล่มทลาย เพราะยังมีผู้ที่เชื่อว่า ไม่น่าจะเป็นเพราะความเขลาและความอวดดีของมนุษย์เท่านั้นที่เป็นสาเหตุหลัก

          สองทฤษฎีใหม่ที่นักประวัติศาสตร์และทีมนักดาราศาสตร์ศึกษาค้นคว้า เสนอออกมาในปีแห่งการรำลึกร้อยปีโศกนาฏกรรมไททานิก คือไททานิกอาจเป็นเหยื่อของมิราจ หรือภาพผิดปกติของวัตถุในระยะไกลที่เกิดจากหักเหหรือสะท้อนของแสง คล้ายกับภาพลวงตาที่ผู้คนเห็นในทะเลทราย กับทฤษฎีโยงปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ที่ไม่เกิดบ่อยนักแต่เกิดช่วงนั้นพอดี ส่งภูเขาน้ำแข็งลอยเข้ามาอยู่ในเส้นทางเดินเรือ

          ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านภัยพิบัติและนักประวัติศาสตร์ไททานิกกลุ่มเดิม แย้งว่าความพยายามที่จะหาสาเหตุธรรมชาติมาสนับสนุนทฤษฎีการจมของเรือยักษ์ อาจเป็นการแสวงหาข้อแก้ตัวให้แก่มนุษย์เราเท่านั้น

          ทิม มาลติน นักประวัติศาสตร์ที่เขียนหนังสือสามเล่มเกี่ยวกับไททานิก เล่มล่าสุดเป็นอี-บุ๊ก ชื่อ "A Very Deceiving Night"  ให้น้ำหนักกับปรากฏการณ์เกี่ยวกับแสง ที่อาจลวงตาลูกเรือในคืนฟ้ากระจ่าง

          มาลตินเชื่อว่า นี่อาจเป็นความผิดพลาดของมนุษย์ แต่ไม่ว่าอย่างไรก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ ท้องฟ้าในคืนนั้นสดใสไร้เมฆ แต่จากคำบอกเล่าของลูกเรือหลายลำ รวมทั้งลูกเรือไททานิกเอง บอกว่า มีบางอย่างผิดปกติในช่วงวันสองวัน

          มาลตินกล่าวว่า อากาศเย็นผิดปกติ บิดเบี้ยวการเดินทางของแสงให้แสงโน้มลงต่ำอย่างผิดวิสัย จนเกิดเป็นภาพลวงตา และคำให้การของวิลเลียม แมคมาสเตอร์ เมอร์ด็อก หนึ่งในผู้บังคับเรือไททานิกที่รอดชีวิต ก็พบว่า เขาเห็นอะไรบางอย่างคล้ายหมอกควันที่เส้นขอบฟ้า และจู่ๆ ภูเขาน้ำแข็งก็ปรากฏออกมาจากความพร่าเลือนนั้น นอกจากนี้ เรือลำอื่นๆ รวมทั้งผู้รอดชีวิต เล่าตรงกันว่า เห็นภาพแสงประหลาดลักษณะเดียวกัน และมีปัญหาในการเดินเรือใกล้ๆ ภูเขาน้ำแข็ง

          ขณะที่นักฟิสิกส์อย่างโดนัลด์ โอลสัน และรัสเซลล์ ดาสเชอร์ จากมหาวิทยาลัยเทกซัส เสนออีกทฤษฎีในนิตยสารสกาล แอนด์ เทเลสโคป ที่สอดรับกับความเชื่อของมาลติน 

          โอลสันที่มักเชื่อมโยงปรากฏการณ์ดาราศาสตร์แปลกๆ กับเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ กล่าวว่า สองเดือนก่อนหน้านั้น  ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์และโลก โคจรมาอยู่ในแนวที่ทำให้แรงดึงดูดกระแสน้ำบนโลกขึ้นลงผิดปกติ และในเวลานั้น โลกอยู่ในตำแหน่งใกล้ดวงจันทร์มากที่สุดในรอบ 1,400 ปี

          ทั้งสองศึกษาบันทึกทางประวัติศาสตร์และดาราศาสตร์ ที่ผู้เชี่ยวชาญปรากฏการณ์น้ำขึ้นน้ำลงคนหนึ่งศึกษาไว้เมื่อปี 2522  ปรากฏการณ์น้ำขึ้นน้ำลงผิดปกติ เป็นเหตุให้ธารน้ำแข็งแตกเป็นภูเขาน้ำแข็งออกจากกรีนแลนด์ ภูเขาน้ำแข็งส่วนที่เคลื่อนไปทางทิศใต้ไปติดอยู่ใกล้ๆ กับแถบบลาบราดอร์และนิวฟาวด์แลนด์ แต่หลังจากนั้นก็เคลื่อนตัวช้าๆ ไปทางใต้ต่อ ทับเส้นทางเดินเรือเวลาที่ไททานิกล่องมาพอดี   

          ซึ่งในประเด็นนี้ สอดรับกับทฤษฎีของมาลติน ที่เชื่อว่า น้ำแข็งที่เพิ่มจำนวนในท้องทะเล ทำให้อากาศเหนือพื้นน้ำเย็นกว่าอากาศด้านบนมากขึ้น และยิ่งส่งผลให้มิราจปรากฏชัด 

          เจมส์ เดลกาโก ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารมหาสมุทรและบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐ กล่าวว่า ทฤษฎีและงานวิจัยใหม่ๆ มีความสำคัญ แต่ต้องไม่ลืมข้อเท็จจริงของสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยว่า พวกเขาไม่ฟังคำเตือน และเพราะเรือแล่นเร็วเกินไป จึงพุ่งชนภูเขาน้ำแข็ง

          เช่นเดียวกับ ลี คลาร์ค ผู้เชี่ยวชาญด้านพิบัติภัยเจ้าของผลงานหนังสือ "Worst Cases" กล่าวว่า กระแสน้ำและมิราจอาจเกิดขึ้นจริง แต่การโทษเป็นสาเหตุไททานิกอับปางนั้น ผิดพลาด เพราะข้อมูลพื้นฐานของเรื่องเศร้าที่ไม่อาจโต้แย้งได้ คือเรือแล่นเร็วเกินไปในท้องทะเลที่อันตราย หากไททานิกหยุดนิ่งเสียในคืนนั้นเพราะก้อนน้ำแข็ง เหมือนกับที่เรือแคลิฟอร์เนียนทำในเวลานั้น ปรากฏการณ์น้ำขึ้นน้ำลงและมิราจ ก็ไม่มีผลแต่อย่างใด

          14 เมษายน วันที่ชนภูเขาน้ำแข็ง ไททานิกได้รับการเตือนให้ระวังก้อนน้ำแข็ง รวมทั้งคำเตือนจากเรือแคลิฟอร์เนียน เกือบชั่วโมงก่อนเผชิญโศกนาฏกรรม ข้อความนั้นระบุว่า "เราหยุดเดินเรือและมีน้ำแข็งล้อมรอบอยู่" แต่ไททานิกไม่สนใจและบอกว่า "เรายุ่งอยู่"

          แต่ชาร์ลส เพอร์โรว์ ผู้เชี่ยวชาญภัยพิบัติมหาวิทยาลัยเยล มองว่า ทฤษฎีมิราจ น่าคิด เพราะอากาศเย็นที่ก่อปรากฏการณ์แสงพร่าเลือนเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เครื่องบินประสบเหตุตกในแอนตาร์กติกา เมื่อปี 2522 มาแล้ว ซึ่งในตอนแรก โทษว่าเป็นความผิดพลาดของนักบิน

          ขณะที่สตีเวน บีล ผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์เชิงวัฒนธรรมของหายภัยไททานิก แสดงความเข้าใจในความพยายามแสวงหาสาเหตุการจมของเรือยักษ์อย่างไม่จบสิ้น เพราะการได้ย้อนกลับไปคิดไขปริศนาสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่งที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ฉุกเฉิน และควบคุมไม่ได้ในอดีตนั้น ถือเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งก็ว่าได้


(หมายเหตุ : ร้อยปีผ่านไปกับทฤษฎีใหม่ไททานิคจม : คอลัมน์ เวิลด์วาไรตี้ : โดย ... อุไรวรรณ นอร์มา)
คม ชัด ลึก  14 เมย 2555