ผู้เขียน หัวข้อ: ยูเอ็นรับรอง! ‘ตุรกี’ เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น ‘ตุรเคีย’ หวังคนเลิกสับสนกับไก่งวง  (อ่าน 250 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9796
    • ดูรายละเอียด
เป็นเวลานานมาแล้วที่หากเอ่ยถึงชื่อประเทศ ‘ตุรกี’ (Turkey) เชื่อว่าหลายคนก็คงอดไม่ได้ที่จะนึกเชื่อมโยงไปถึง “ไก่งวง” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของวันขอบคุณพระเจ้าในทวีปอเมริกาเหนือ เนื่องจากใช้ตัวสะกดเหมือนกันเป๊ะในภาษาอังกฤษ

ทว่าความสับสนนี้จะไม่มีอีกต่อไป... เมื่อองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ได้ประกาศรับรองเปลี่ยนชื่อประเทศตุรกี เป็น “ตุรเคีย” (Türkiye) ตามการร้องขอของรัฐบาลอังการาเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (2 มิ.ย.) โดยให้มีผลบังคับใช้ทันทีในทุกๆ ภาษาของโลก

สเตฟาน ดูจาร์ริก โฆษกเลขาธิการสหประชาชาชาติ ระบุว่า จดหมายแจ้งขอเปลี่ยนชื่อประเทศตุรกี เป็นตุรเคียถูกส่งถึงสำนักงานใหญ่ยูเอ็นที่นครนิวยอร์กเมื่อวันพุธ (1) และก่อนหน้านั้น 1 วัน เมฟลุต คาวูโซกลู รัฐมนตรีต่างประเทศตุรเคีย ก็ได้ทวีตภาพถ่ายตนเองขณะกำลังลงนามในจดหมายที่จะยื่นถึง อันโตนิโอ กูเตียร์เรส เลขาธิการใหญ่สหประชาชาติ

คาวูโซกลู ระบุว่า “ด้วยจดหมายที่ผมส่งไปถึงเลขาฯ ยูเอ็นในวันนี้ เราได้จดทะเบียนชื่อประเทศของเราว่า Türkiye ในภาษาต่างประเทศทุกๆ ภาษา” และการใช้ชื่อใหม่นี้ “จะช่วยเพิ่มมูลค่าแบรนด์ให้แก่ประเทศของเรา” ตามแนวคิดริเริ่มของประธานาธิบดี เรเจป ตัยยิบ แอร์โดอัน ซึ่งปกครองตุรกีมานานเกือบ 2 ทศวรรษ

ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ รัฐบาลตุรเคียได้ส่งเสริมให้ผู้ผลิตสินค้าในประเทศเปลี่ยนจากคำว่า “Made in Turkey” เป็น “Made in Türkiye” บนผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของตุรเคียที่ส่งออกไปต่างประเทศ

ซินาน อุลเกน ประธานสถาบันคลังสมอง EDAM ในนครอิสตันบูล ชี้ว่า สาเหตุหลักที่รัฐบาลตัดสินใจเปลี่ยนชื่อประเทศก็เพื่อไม่ให้สับสนกับ “ไก่งวง” อีกต่อไป อีกทั้งคำว่าไก่งวง หรือ ‘turkey’ ในภาษาอังกฤษนั้นยังถูกใช้ในความหมายของการ “ล้มเหลว” หรือ “คนโง่” ด้วย

อุลเกน มองว่าสำหรับ แอร์โดอัน แล้ว การเปลี่ยนชื่อประเทศเป็น “ตุรเคีย” ยังสื่อให้เห็นถึง “วัฒนธรรม อารยธรรม และคุณค่าของความเป็นชาติตุรเคียได้ดีที่สุด”

นอกจากบริบททางวัฒนธรรมแล้ว การเปลี่ยนชื่อประเทศครั้งนี้ยังอาจมีนัยทางการเมืองแฝงอยู่ด้วย เนื่องจากตุรกีกำลังจะมีการเลือกตั้งทั่วไปอีกครั้งในเดือน มิ.ย. ปี 2023 ท่ามกลางสภาพเศรษฐกิจที่ฝืดเคือง

ฟราสเซสโก ซิกคาร์ดี ผู้จัดการโครงการอาวุโสจากสถาบัน Carnegie Europe มองว่า นี่อาจเป็นอีกหนึ่งยุทธศาสตร์ของรัฐบาลตุรเคียเพื่อที่จะเอาใจพลเมืองสายชาตินิยมในช่วง 1 ปีก่อนการเลือกตั้ง พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า แอร์โดอัน ประกาศแผนเปลี่ยนชื่อประเทศเมื่อเดือน ธ.ค. ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นช่วงที่คะแนนนิยมของเขาตกต่ำมาก อีกทั้งตุรกียังเผชิญพิษเศรษฐกิจรุนแรงที่สุดในรอบ 20 ปี

นักวิเคราะห์หลายคนชี้ว่า แอร์โดอัน มักจะงัดกลยุทธ์แบบ “ประชานิยม” มาใช้เพื่อเบนความสนใจของประชาชนจากปัญหาภายในประเทศ ตัวอย่างเช่น การประกาศเปลี่ยนพิพิธภัณฑ์ ฮาเกีย โซเฟีย ในนครอิสตันบูลให้กลับไปเป็น “มัสยิด” อีกครั้งเมื่อปี 2020 เป็นต้น

ซิกคาร์ดี ระบุด้วยว่า คำว่า ตุรเคีย เริ่มถูกนำมาใช้ครั้งแรกเมื่อปี 1923 หลังจากที่ประเทศฟื้นตัวจากสงครามโลกครั้งที่ 1 ดังนั้นการส่งเสริมชื่อนี้ให้แพร่หลายในระดับสากลจึงดูเหมือนจะเป็นความพยายามยกสถานะ แอร์โดอัน ให้เป็นผู้นำคนสำคัญในประวัติศาสตร์เทียบชั้น “มุสตาฟา เคมาล อตาเติร์ก” บิดาผู้ก่อตั้งสาธารณรัฐตุรเคียยุคใหม่

ที่มา : CNN, เอเอฟพี

4 มิ.ย. 2565  ผู้จัดการออนไลน์