ผู้เขียน หัวข้อ: สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 9-16 ก.พ.2557  (อ่าน 988 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9787
    • ดูรายละเอียด
สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 9-16 ก.พ.2557
« เมื่อ: 24 กุมภาพันธ์ 2014, 00:46:30 »
1. มือมืดเหิม ยิงเอ็ม 79 ใส่ศาลอาญา-ยิงบ้าน ปธ.องค์กรต้านคอร์รัปชั่น ด้าน “เฉลิม” ขู่บิ๊กเนมจะถูกยิง ขณะที่สุเทพ ลั่น ล้อมทำเนียบฯ!

       ความคืบหน้าการชุมนุมของคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข(กปปส.) ที่มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นเลขาธิการ หลังรัฐบาล โดยศูนย์อำนวยการรักษาความสงบ(ศรส.) พยายามขอศาลออกหมายจับแกนนำและแนวร่วม กปปส. พร้อมจัดชุดติดตามเพื่อจับกุมผู้ที่ถูกออกหมายจับ
      
       ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 10 ก.พ. พล.ต.ต.ประยนต์ ลาเสือ ผู้บังคับการกองบังคับการสืบสวนสอบสวน กองบัญชาการตำรวจนครบาล ได้นำกำลังเข้าจับกุมนายสนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม อดีตผู้อำนวยการสำนักข่าวทีนิวส์ และแนวร่วม กปปส.ขณะรับประทานอาหารกับเพื่อนที่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล พลาซา สาขาลาดพร้าว ทั้งนี้ ตำรวจจับกุมนายสนธิญาณ ฐานเป็นผู้ต้องสงสัยกระทำผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก่อนนำตัวไปควบคุมไว้ที่กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 จ.ปทุมธานี ซึ่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ให้อำนาจตำรวจควบคุมตัวได้นาน 7 วัน หลังจากนั้นสามารถขอศาลควบคุมตัวต่อได้ครั้งละ 7 วัน รวมแล้วไม่เกิน 30 วัน แต่นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) และกรรมการ ศรส.รีบออกมาส่งสัญญาณว่า เมื่อควบคุมตัวครบ 7 วัน จะขอขยายเวลาควบคุมตัวตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินต่อศาลอีก 30 วัน
      
       เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังจับกุมนายสนธิญาณ ตำรวจ สภ.โพธิ์แก้ว จ.นครปฐม นำโดย พ.ต.อ.อรรณพ นวมนาคะ ผู้กำกับฯ ได้นำตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบพร้อมอาวุธครบมือกว่า 50 นาย บุกค้นบ้านนายสนธิญาณ ซึ่งตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ อ.สามพราน จ.นครปฐมเมื่อช่วงเช้ามืดวันที่ 11 ก.พ. แต่แทนที่ตำรวจจะใช้วิธีเรียกให้คนในบ้านมาเปิดประตูให้ กลับใช้วิธีปีนรั้วเข้าไปในบ้าน ที่มีภรรยาและน้องสาวของนายสนธิญาณพักอยู่ ก่อนค้นรถ-ค้นบ้าน ไม่พบสิ่งผิดปกติ พบเพียงเสื้อเกราะสื่อมวลชนและวิทยุสื่อสาร ก่อนคุมตัวคนขับรถและผู้ติดตามนายสนธิญาณไปสอบสวน
      
       ทั้งนี้ นางดรุณี ชื่นฤทัยในธรรม น้องสาวนายสนธิญาณ เผยว่า การเข้าตรวจค้นของตำรวจ เป็นการกระทำเกินกว่าเหตุ ลุแก่อำนาจ เพราะแม้จะมีหมายค้นจากศาล แต่เมื่อมีคนอยู่ในบ้าน เจ้าหน้าที่ควรเรียกคนในบ้านออกมาเปิดประตู ไม่ใช่ปีนเข้าบ้านโดยพลการ พร้อมพกอาวุธปืนสั้นและปืนยาวเข้ามาพูดจาลักษณะไม่สุภาพ ดังนั้น ตนและนางทิวา ภรรยานายสนธิญาณจะแจ้งความเอาผิดเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ สภ.โพธิ์แก้ว
      
       2 วันต่อมา(13 ก.พ.) ตำรวจปทุมธานีได้นำตัวนายสนธิญาณจาก ตชด.ภาค 1 ไปขอศาลขยายเวลาควบคุมตัวตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินเพิ่มอีก 7 วัน เนื่องจากจะครบกำหนด 7 วัน ในวันที่ 16 ก.พ. โดยอ้างว่า การซักถามนายสนธิญาณยังไม่เสร็จสิ้น ขณะที่ทนายความของนายสนธิญาณ ได้ยื่นคำร้องคัดค้านการขยายเวลาควบคุมตัวของพนักงานสอบสวน ด้านศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า การที่ผู้ต้องหาถูกควบคุมตัวมา 4 วัน มีการซักถามข้อมูลและข้อเท็จจริงพอสมควรแล้ว การควบคุมตัวต่ออีกจึงเป็นเรื่องเกินความจำเป็น จึงไม่อนุญาตให้ขยายเวลาการควบคุมตัว
      
       ด้านนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ เหมือนออกอาการไม่พอใจ โดยบอกว่า วันที่ 15 ก.พ. พนักงานสอบสวนดีเอสไอ จะแจ้งข้อหานายสนธิญาณฐานกบฏ พร้อมยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อออกหมายขังนายสนธิญาณอีก 12 วัน ตามประมวลกฎหมายอาญา พร้อมคัดค้านการประกันตัว อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงกำหนด ทนายความของนายสนธิญาณได้ยื่นคำร้องคัดค้านการฝากขัง พร้อมขอประกันตัวโดยใช้บัญชีเงินฝากมูลค่า 5 แสนบาท ด้านศาลพิเคราะห์แล้วอนุญาตให้ฝากขัง แต่เมื่อพิจารณาพฤติการณ์แห่งคดีมีเหตุสมควรให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยตีราคาประกัน 4 แสนบาท พร้อมกำหนดเงื่อนไขห้ามผู้ต้องหาไปยุยง ปลุกปั่น หรือกระทำการใดที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง
      
       ทั้งนี้ วันเดียวกัน(13 ก.พ.) ศาลแพ่ง ได้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวในคดีที่นายเสรี วงษ์มณฑา แนวร่วม กปปส.เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายธาริตกรณีดีเอสไอมีคำสั่งอายัดบัญชีเงินฝากธนาคาร 7 บัญชีของนายเสรี โดยศาลได้สั่งให้จำเลยถอนการอายัดบัญชีเงินฝากดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่าจำเลยน่าจะใช้อำนาจเกินสมควร เพราะจากการตรวจสอบไม่พบเส้นทางการเงินไหลเวียนผิดปกติแต่อย่างใด
      
       นอกจาก ศรส.และนายธาริตจะใช้อำนาจอายัดบัญชีแกนนำและแนวร่วม กปปส.แล้ว ยังขู่จะสั่งระงับการทำธุรกรรมทางการเงินของบริษัทที่เป็นท่อน้ำเลี้ยงให้ กปปส.จำนวน 136 ราย และจะเผยชื่อท่อน้ำเลี้ยงดังกล่าว เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้ ศรส.จะยังไม่ได้ประกาศรายชื่อท่อน้ำเลี้ยงอย่างเป็นทางการ แต่มีบางรายชื่อหลุดออกมาถึงมือสื่อมวลชน ร้อนถึงผู้บริหารของบริษัทที่ถูกระบุ ต้องรีบออกมาแถลงปฏิเสธ เช่น นายบุญชัย โชควัฒนา ประธานกรรมการบริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด(มหาชน) โดยยืนยันว่า บริษัททำธุรกิจอย่างโปร่งใส ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง พร้อมเตรียมฟ้องกลับ ศรส.ฐานหมิ่นประมาทกล่าวหาเป็นท่อน้ำเลี้ยงโดยมิชอบและไม่มีหลักฐาน
      
       ส่วนกรณีที่ ศรส.ระบุว่า มี 2 โรงแรมให้ที่พักพิงนายสุเทพและแกนนำ กปปส.นั้น เมื่อวันที่ 11 ก.พ. ผู้จัดการและทนายประจำโรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัลและโรงแรมดุสิตธานี ได้เข้าชี้แจงต่อ ศรส. โดยยืนยันว่า ทางโรงแรมไม่ได้ให้ที่พักพิงแกนนำ กปปส.คนใด และไม่ได้ให้การสนับสนุนทางการเมือง
      
       เป็นที่น่าสังเกตว่า รัฐบาล โดย ศรส.เริ่มให้ตำรวจขอคืนพื้นที่จากผู้ชุมนุมเมื่อวันที่ 14 ก.พ. โดยไม่สนว่าเป็นวันมาฆบูชา ซึ่งเป็นวันพระใหญ่ โดยตำรวจประมาณ 3,000 นาย พร้อมกำลังพลแม่นปืนของหน่วยอรินทราช 26 ติดอาวุธทั้งปืนยาวและปืนสั้น ได้เข้าขอคืนพื้นที่ตั้งแต่บริเวณแยกมิสกวันถึงสะพานมัฆวานรังสรรค์ ซึ่งเป็นผู้ชุมนุมกลุ่มอิสระ ไม่ได้ขึ้นกับ กปปส.จากนั้น ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ในฐานะผู้อำนวยการ ศรส.ได้นำทีมตำรวจเปิดแถลงที่ทำเนียบรัฐบาล อ้างว่า ในการขอคืนพื้นที่ครั้งนี้ พบอาวุธหลายรายการ ขณะที่อีกด้าน ได้มีตำรวจอีกส่วนหนึ่งจ้องขอคืนพื้นที่จาก กปปส.แจ้งวัฒนะเช่นกัน แต่ไม่สำเร็จ โดยตำรวจกับผู้ชุมนุมอยู่ห่างกันประมาณ 50 เมตร ซึ่งผู้ชุมนุมได้นั่งกับพื้นหันหน้าเข้าหาตำรวจ พร้อมสวดมนต์ “อิติปิโส...”
      
       สำหรับความรุนแรงที่มักเกิดกับผู้ชุมนุมเวทีต่างๆ ที่ถูกมือมืดข่มขู่คุกคามด้วยปืนและระเบิดเอ็ม 79 นั้น ล่าสุดได้ลามไปถึงสถาบันศาลและผู้มีชื่อเสียงในสังคมแล้ว โดยเมื่อช่วงค่ำวันที่ 14 ก.พ. มือมืดได้ยิงระเบิดเอ็ม 79 เข้าใส่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก โดยระเบิดตกที่หน้าต่างชั้น 7 ของอาคารศาลได้รับความเสียหาย ด้านนายธงชัย เสนามนตรี อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา เผยว่า ตั้งแต่ศาลอาญาก่อตั้งมาจะครบ 132 ปีแล้ว ยังไม่เคยเกิดเหตุการณ์แบบนี้มาก่อน พร้อมยืนยัน ไม่หวั่นไหว ผู้พิพากษาจะยังทำหน้าที่ตามปกติและพิจารณาคดีตรงไปตรงมา
      
       นอกจากนี้กลางดึกคืนเดียวกัน วันที่ 14 ก.พ.ล่วงเข้าวันที่ 15 ก.พ.เวลา 03.30น. ได้เกิดเหตุคนร้ายใช้อาวุธปืนกราดยิงเข้าใส่บ้านพักนายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) ในพื้นที่เขตยานนาวา โดยกระสุนปืนโดนตัวบ้านหลายแห่ง พบกระสุนตกอยู่ทั้งในและนอกบ้าน 12 นัด ซึ่งนายประมนต์ เชื่อว่า สาเหตุมาจากปัญหาการเมือง พร้อมยืนยัน ตนไม่ได้เกี่ยวข้องกับท่อน้ำเลี้ยง กปปส.
      
       ด้าน ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ผู้อำนวยการ ศรส.ยืนยันว่า เหตุยิงศาลอาญาและยิงบ้านนายประมนต์ไม่ใช่ฝีมือรัฐบาล พร้อมเตือนนายประมนต์ด้วยว่า “ระวังจะถูกยิงอย่างอื่น ผมเตือนเพราะหวังดี รวมถึงบรรดาบิ๊กเนมคนอื่น เพราะทุกวันนี้มีการชิงดีชิงเด่นแล้วโยนมาให้รัฐบาล สถานการณ์ทุกวันนี้ผมเตือนแล้ว ถ้ามือที่สามมีจังหวะก็ซัด”
      
       ร.ต.อ.เฉลิม ได้ออกมาประกาศเมื่อวันที่ 16 ก.พ.ด้วยว่า จากนี้ไปจะเดินหน้าขอคืนพื้นที่ 5 แห่ง คือ บริเวณข้างทำเนียบรัฐบาล ,ถนนราชดำเนิน ,กระทรวงมหาดไทย ,กระทรวงพลังงาน ,และแจ้งวัฒนะ พร้อมอ้างว่า การชุมนุมที่ด้านหน้าทำเนียบฯ มีผู้ต้องหาตามหมายจับและมีอาวุธปืน ดังนั้นหากเสียงปืนดังจากด้านนั้น เจ้าหน้าที่มีสิทธิป้องกันตัว
      
       ขณะที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. ไม่หวั่น ศรส.ขอคืนพื้นที่ ประกาศนำมวลชนไปปิดล้อมทำเนียบรัฐบาลในวันที่ 17 ก.พ. เพื่อไม่ให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกฯ เข้าทำงานในทำเนียบฯ ได้ เพราะ น.ส.ยิ่งลักษณ์หมดความชอบธรรมในการบริหารประเทศแล้ว เนื่องจากไม่เคารพศาลรัฐธรรมนูญและกฎหมายรัฐธรรมนูญ ยืนยัน จะไม่ยุบเวที หาก ศรส.ขอพื้นที่ไหนคืน จะไปปิดล้อมที่นั่น พร้อมท้า ร.ต.อ.เฉลิม ให้มาขอคืนพื้นที่ได้เลย หากไม่มา ถือว่าเป็นลูกหมา ไม่ใช่ลูกคน ย้ำ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่มีวันจะได้มาทำงานที่ทำเนียบฯ ไม่ว่าชาตินี้หรือชาติหน้า
      
       2. รัฐบาล ส่อขัด รธน.ให้ ธ.ก.ส.กู้เงินแบงก์ออมสิน 2 หมื่นล้านจ่ายชาวนา ด้านสหภาพฯ ออมสินจี้ยกเลิกปล่อยกู้ ขณะที่สหภาพฯ ธ.ก.ส.จี้หยุดกู้!

       ความคืบหน้ากรณีที่รัฐบาลพยายามหาทางกู้เงินจากธนาคารพาณิชย์เพื่อมาจ่ายหนี้ชาวนาในโครงการรับจำนำข้าวจำนวน 1.3 แสนล้านบาท แต่ไม่มีแบงก์ไหนอยากปล่อยกู้ เนื่องจากเกรงว่าอาจผิดกฎหมาย เพราะรัฐบาลอยู่ระหว่างรักษาการ ไม่สามารถกู้เงินจำนวนมากที่จะมีผลต่อรัฐบาลชุดใหม่ได้ ประกอบกับโครงการรับจำนำข้าวมีการชี้มูลโดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) แล้วว่ามีการทุจริต ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 13 ก.พ. มีรายงานว่า นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รักษาการรองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้แจ้ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ว่า หลังจากได้ระดมเงินจากแหล่งต่างๆ แล้ว จะชำระเงินจำนำข้าวให้ชาวนาได้ตั้งแต่วันที่ 17 ก.พ.เป็นต้นไป วันละ 4-5 พันล้านบาท โดยมีงบรองรับไว้แล้ว 4 หมื่นล้านบาท
      
       ซึ่งวันต่อมา(14 ก.พ.) น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้ออกมาบอกให้ชาวนาสบายใจได้ เพราะเงินค่าจำนำข้าวจะทยอยชำระถึงมือชาวนาแน่นอนตั้งแต่วันที่ 17 ก.พ.เป็นต้นไป ส่วนรัฐบาลจะหาเงินมาชำระหนี้ชาวนาได้ถึง 1.3 แสนล้านบาทหรือไม่นั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ บอกว่า ยังตอบไม่ได้ เป็นหน้าที่ของกระทรวงการคลังที่จะต้องประสานกับธนาคารเพื่อหาเงินกู้
      
       วันเดียวกัน(14 ก.พ.) มีข่าวแพร่สะพัดว่า ธนาคารออมสินได้ปล่อยกู้สินเชื่อระหว่างธนาคาร(อินเตอร์แบงก์) ให้กับ ธ.ก.ส.วงเงิน 5 พันล้านบาทเมื่อวันที่ 13 ก.พ. ซึ่งนายวรวิทย์ ชัยลิมปมนตรี ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ได้ออกมายอมรับว่า ปล่อยกู้อินเตอร์แบงก์ให้ ธ.ก.ส.จริง 5 พันล้าน พร้อมย้ำว่า การกู้ยืมระหว่างธนาคารเป็นการทำธุกรรมทางการเงินปกติ และเป็นการกู้โดยไม่ต้องมีการค้ำประกัน ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลหรือกระทรวงการคลัง เพราะเป็นตั๋วเงินระยะสั้น อายุกู้เพียง 30 วัน ส่วน ธ.ก.ส.จะนำเงินดังกล่าวไปใช้ทำอะไร ก็ไม่ใช่หน้าที่ของผู้ให้กู้ต้องไปสอบถามรายละเอียด
      
       ด้านนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กในวันเดียวกันว่า มีข่าวว่ารัฐมนตรีคลังจะให้ ธ.ก.ส.กู้เงินธนาคารออมสิน เพื่อจ่ายชาวนา โดยจะออกเลตเตอร์ ออฟ คอมฟอร์ท ให้ทั้งสองธนาคาร ซึ่งหากเป็นเรื่องจริง แสดงว่ามีความพยายามพลิกแพลงอย่างมาก เพราะปกติ ทั้งสองธนาคารต้องให้กระทรวงการคลังออกหนังสือค้ำประกันและ ครม.ต้องอนุมัติด้วย แต่ตอนนี้ หาก ครม.อนุมัติการค้ำประกัน ก็จะผิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 181 จึงเลี่ยงไปออกเลตเตอร์ ออฟ คอมฟอร์ท ซึ่งเป็นหนังสือกล่อมใจ เป็นการแสดงความประสงค์ว่ากระทรวงการคลังอยากจะค้ำประกัน แต่ยังไม่สามารถทำได้ จึงพูดให้กำลังใจว่า เมื่อพ้นจากสภาพรัฐบาลรักษาการแล้ว ค่อยออกหนังสือค้ำประกันจริงๆ ในภายหลัง ทั้งนี้ นายธีระชัย ตั้งข้อสังเกตว่า หากเลตเตอร์ ออฟ คอมฟอร์ท นี้มีผลผูกมัดได้จริง ครม.ก็จะผิดกฎหมาย แต่ถ้าไม่ผูกมัด ทั้งสองธนาคารก็ไม่สามารถบังคับให้เกิดการค้ำประกันขึ้นได้ ดังนั้นรัฐมนตรีคลังจะผลักภาระไปให้บอร์ดของทั้งสองธนาคารเต็มๆ แต่ที่หนักกว่าก็คือ ทั้งรัฐมนตรี ข้าราชการกระทรวงการคลัง และผู้บริหารของสองธนาคารน่าจะผิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 181 (4) อย่างชัดเจน เพราะเป็นการใช้ทรัพยากรของรัฐ ทำให้มีผลต่อการเลือกตั้งที่ยังไม่จบสมบูรณ์ นายธีระชัย ยังแนะด้วยว่า ถ้าข้าราชการและผู้บริหารธนาคารไม่เห็นด้วย ควรทำหนังสือให้รัฐมนตรีคลังสั่งการ เพื่อให้เขารับผิดชอบคนเดียว
      
       เป็นที่น่าสังเกตว่า เริ่มเกิดปัญหากับกรณีที่ ธ.ก.ส.กู้เงินจากธนาคารออมสิน 5 พันล้านบาทแล้ว เพราะเมื่อวันที่ 15 ก.พ. แหล่งข่าวจาก ธ.ก.ส.ยืนยันว่า ธ.ก.ส.ไม่ใช่ผู้กู้ยืมเงิน 5 พันล้านดังกล่าวโดยตรง แต่เป็นการจัดหามาโดยกระทรวงการคลัง ซึ่งกระทรวงจะจัดหาเงินกู้มาให้เป็นระยะๆ ตามแผนการกู้ยืมตามวงเงิน 1.3 แสนล้าน สำหรับวิธีการและช่องทางการกู้เงิน เป็นการพิจารณาของกระทรวงการคลัง ไม่เกี่ยวกับ ธ.ก.ส. รวมถึงการกู้ยืมระหว่างธนาคารหรืออินเตอร์แบงก์ ก็จัดหาโดยกระทรวงการคลังเช่นกัน
      
       ทั้งนี้ ข่าวยังไม่ค่อยชัดเจนว่า ธนาคารออมสินปล่อยกู้อินเตอร์แบงก์ให้ ธ.ก.ส.ไปเท่าไหร่แล้ว 5 พันล้าน หรือ 2 หมื่นล้านกันแน่ โดยนายวรวิทย์ ชัยลิมปมนตรี ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เผยเมื่อวันที่ 16 ก.พ.ว่า ธนาคารได้ทำอินเตอร์แบงก์ปล่อยกู้ให้ ธ.ก.ส.ในวงเงิน 2 หมื่นล้าน โดยปล่อยกู้ 5 พันล้าน ยังไม่ได้พิจารณาให้ ธ.ก.ส.กู้ในวงเงินที่สูงถึง 2 หมื่นล้าน พร้อมย้ำว่า การปล่อยกู้ครั้งนี้ไม่เกี่ยวกับโครงการรับจำนำข้าว ขอให้ลูกค้าธนาคารมั่นใจว่า วงเงินดังกล่าวไม่เกี่ยวกับเงินฝากของลูกค้า พร้อมเชื่อมั่นว่า ลูกค้าจะไม่ถอนเงินฝาก อย่างไรก็ตาม ทางธนาคารจะมีการประเมินสถานการณ์ใน 3 วัน ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 17 ก.พ. เป็นต้นไป
      
       วันเดียวกัน(16 ก.พ.) สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจธนาคารออมสิน ได้ออกแถลงการณ์ด่วน จี้ให้ธนาคารยกเลิกปล่อยกู้อินเตอร์แบงก์ให้ ธ.ก.ส. เนื่องจากการปล่อยกู้ดังกล่าวส่งผลกระทบในวงกว้างแล้ว ทำให้ผู้ฝากและสาธารณชนเกิดข้อกังขา
      
       ขณะที่อนุกรรมการสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ธ.ก.ส.ภาคใต้ตอนบน ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ผู้จัดการ ธ.ก.ส.ชี้แจงข้อเท็จจริงเรื่องการกู้เงินจากธนาคารออมสิน 2 หมื่นล้านบาท พร้อมนัดให้พนักงานแต่งชุดดำมาทำงานในวันจันทร์ที่ 17 ก.พ. เพื่อคัดค้านการกู้เงินจากธนาคารออมสิน พร้อมย้ำ หาก ธ.ก.ส.กู้เงินจากธนาคารออมสินจริง พนักงานจะยกระดับการคัดค้านทันที
      
       ด้านนายสรรเสริญ สมะลาภา กรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ และอดีต ส.ส.ได้เผยแพร่ข้อมูลผ่านเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ส่วนตัวเกี่ยวกับยอดการถอนเงินผิดปกติจากธนาคารออมสิน สาขาพาราไดซ์ พาร์คว่า เมื่อวันที่ 14 ก.พ.2557 มีการถอนเงินผิดปกติจำนวน 80 ราย รวม 58 ล้านบาท โดยระบุสาเหตุของการถอนเงินว่า เนื่องจากธนาคารเอาเงินไปปล่อยกู้ให้ ธ.ก.ส.
      
      

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9787
    • ดูรายละเอียด
Re: สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 9-16 ก.พ.2557
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: 24 กุมภาพันธ์ 2014, 00:46:38 »
 3. กกต. มีมติจัดเลือกตั้งล่วงหน้าย้อนหลัง 20 เม.ย.-เลือกตั้งจริงรอบสอง 27 เม.ย. ด้าน ปชป.เล็งยื่นศาล รธน.ซ้ำ ให้เลือกตั้งโมฆะ!

       ความคืบหน้าเกี่ยวกับการเลือกตั้ง หลังคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) เตรียมเสนอให้รัฐบาลออก พ.ร.ฎ.เลือกตั้งใหม่ใน 28 เขตใน 8 จังหวัดภาคใต้ที่ยังไม่มีผู้สมัคร ส.ส. เพราะ กกต.ไม่มีอำนาจออกประกาศกำหนดวันเลือกตั้งใหม่นั้น
       
       ปรากฏว่า แกนนำพรรคเพื่อไทยต่างประสานเสียงไม่เห็นด้วยกับการให้รัฐบาลออก พ.ร.ฎ.เลือกตั้งใหม่ พร้อมยืนยันว่า กกต.ควรออกเป็นประกาศมากกว่า ทั้งนี้ นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย ชี้ว่า ถ้ารัฐบาลออก พ.ร.ฎ.เลือกตั้งใหม่ เท่ากับเป็นการออก พ.ร.ฎ.ซ้อน พ.ร.ฎ.เลือกตั้งเดิม จะเข้าข่ายผิดกฎหมายทันที พร้อมเชื่อว่า เรื่องนี้เป็นการลวงให้รัฐบาลทำผิดกฎหมาย เพื่อที่พรรคประชาธิปัตย์จะได้ยื่นยุบพรรคเพื่อไทยทันที
       
       ด้านนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง ยืนยันว่า กกต.ไม่ได้ลวงรัฐบาล แต่หากรัฐบาลเห็นไม่ตรงกับ กกต.ทางออกที่ดีที่สุด คือยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย นายสมชัย เผยด้วยว่า กกต.จะเป็นเจ้าภาพเชิญรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยมาหารือในวันที่ 17 ก.พ.ว่าควรทำอย่างไรให้การเลือกตั้งเสร็จตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ตามรัฐธรรมนูญ
       
       ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 11 ก.พ. กกต.ได้ประชุมหารือกับประธาน กกต.จังหวัดและ กกต.จังหวัด 18 จังหวัด เพื่อกำหนดวันเลือกตั้งทดแทนการเลือกตั้งล่วงหน้าเมื่อวันที่ 26 ม.ค.และ 2 ก.พ. หลังประชุม นายสมชัย แถลงว่า ที่ประชุมมีมติ 3 ส่วน คือ 1.จะจัดการลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตเพื่อทดแทนวันที่ 26 ม.ค.ที่เสียไป ในวันที่ 20 เม.ย. โดยมีจำนวน 21 จังหวัด 2.จะจัดการลงคะแนนเลือกตั้งทดแทนวันที่ 2 ก.พ.ที่เสียไป ในวันที่ 27 เม.ย. และ 3.กรณี 28 เขตที่ไม่มีผู้สมัคร ส.ส.แม้แต่รายเดียว กกต.จะส่งจดหมายไปยังรัฐบาล เพื่อออก พ.ร.ฎ.เลือกตั้งใหม่ นายสมชัย เผยเหตุผลที่ กกต.กำหนดวันเลือกตั้งทดแทนการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 26 ม.ค.และ 2 ก.พ. เป็นวันที่ 20 และ 27 เม.ย.ด้วยว่า เพราะหากปล่อยให้มีการลงคะแนนช่วงเดียวกับการเลือกตั้ง ส.ว.(30 มี.ค.) จะทำให้เกิดการคัดค้านรุนแรงและประชาชนสับสน
       
       ส่วนความคืบหน้ากรณีที่นายวิรัตน์ กัลยาศิริ อดีต ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และคณะรัฐมนตรี กระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ด้วยการจัดให้มีการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 ก.พ. ซึ่งไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมายหลายประการ โดยผู้ถูกร้องต้องการใช้การเลือกตั้งเป็นเครื่องมือในการฟอกตัว ฟอกความผิด ฟอกการทุจริต เพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่ตนเอง เพื่อหวังกลับเข้าสู่อำนาจในการปกครองประเทศโดยเร็วที่สุด จึงเป็นการเลือกตั้งที่ขัดต่อเจตนารมณ์ของการปกครองระบอบประชาธิปไตยนั้น ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า คำร้องยังไม่มีมูลที่จะเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ จึงมีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้วินิจฉัย
       
       ด้านนายวิรัตน์ เผยว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้วินิจฉัยว่าตนไม่สามารถใช้ช่องทางตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ในการยื่นได้ และไม่ได้ระบุว่า การเลือกตั้งไม่เป็นโมฆะ ดังนั้นทีมกฎหมายของพรรคจะติดตามตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลที่ผลักดันให้มีการเลือกตั้งต่อไป หากพบพฤติกรรมที่ส่อขัดรัฐธรรมนูญ ทีมกฎหมายจะใช้ช่องทางตามมาตรา 68 ยื่นร้องซ้ำอีกครั้ง โดยขณะนี้เห็นประเด็นที่สามารถยื่นซ้ำได้บ้างแล้ว เช่น การขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 127 ที่กำหนดให้เปิดสภาภายใน 30 วันหลังเลือกตั้ง และขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 172 ที่กำหนดให้มีนายกรัฐมนตรีภายใน 60 วัน รวมถึงการเลือกตั้งครั้งนี้มีการเผยแพร่ผลการลงคะแนนไปแล้ว ทั้งที่การเลือกตั้งยังไม่เสร็จสิ้นกระบวนการ ถือว่าผิดกฎหมายเช่นกัน นอกจากนี้ทีมกฎหมายกำลังพิจารณาด้วยว่า จะสามารถยื่นศาลปกครองได้ด้วยหรือไม่
       
       4. อดีต รมต.คลัง ประสานเสียง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านขัด รธน. ด้านศาล รธน.นัดคู่กรณีส่งคำแถลงปิดคดี 27 ก.พ.นี้!

       เมื่อวันที่ 12 ก.พ. ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้ไต่สวนคำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 154 วรรคหนึ่ง (1) ว่าร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ หรือร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยเป็นการไต่สวนพยานผู้เชี่ยวชาญด้วยวาจา 5 ราย ประกอบด้วย นายภัทรชัย ชูช่วย ผู้แทนผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) ,นายพิสิฐ ลี้อาธรรม อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ,น.ส.สุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลัง ,นายทนง พิทยะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
       
        ทั้งนี้ นายภัทรชัย เบิกความสรุปว่า คำว่า “เงินแผ่นดิน” หมายถึงเงินที่เข้ามา ไม่ว่าจะเข้ามาในลักษณะเงินบริจาค เงินงบประมาณหรือเงินนอกงบประมาณก็ตาม ดังนั้นร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้าน จึงเป็นเงินแผ่นดิน โดยร่างดังกล่าวระบุให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังออกระเบียบหรือกำหนดวิธีขั้นตอนต่างๆ ในการเบิกจ่าย ซึ่ง สตง.จะเป็นผู้ตรวจสอบว่า ระเบียบที่ออกมานั้นเหมาะสมหรือไม่
       
        ด้านนายพิสิฐ เบิกความสรุปว่า ระบบงบประมาณปกติต้องเปิดเผยข้อมูลอย่างละเอียด แต่ร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้าน เปิดเผยตัวเลขแค่ 8 ตัว และ 1 ใน 8 ตัว คือ โครงการระบบขนส่งมวลชนรถไฟฟ้าความเร็วสูง ซึ่งมีมูลค่าถึง 1 ล้านล้านบาท และให้อำนาจรัฐบาลไปจัดการเอง โดยไม่ได้ระบุให้หน่วยงานใดเป็นผู้ดำเนินการ ขณะเดียวกันจะใช้เวลาในการกู้เงิน 6-7 ปี ซึ่งเป็นแผนกู้เงินที่ผูกพันไปถึงรัฐบาลอีกหลายชุด
       
        นายพิสิฐ ชี้ด้วยว่า หากปล่อยให้รัฐบาลใดสามารถออกกฎหมาย เพื่อใช้จ่ายเงินโดยไม่มีข้อจำกัดและไม่ได้รับการตรวจสอบจากรัฐสภา จะทำให้เกิดปัญหาทางเศรษฐกิจเหมือนหลายๆ ประเทศในขณะนี้ ดังนั้นเจตนารมณ์ของการร่างรัฐธรรมนูญ 2550 คือ ต้องการให้รัฐบาลใดในอนาคตจะต้องอยู่ในกรอบวินัยการคลัง และจะต้องเปิดเผยข้อมูล มีระบบการคานอำนาจที่สามารถตรวจสอบได้ ดังนั้นการออกร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้าน เป็นการขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ 2550 หมวด 8 อย่างสิ้นเชิง
       
        ขณะที่นายทนง เบิกความสรุปว่า หากร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านผ่านไปได้ กระทรวงการคลังและกระทรวงคมนาคม มีสิทธิใช้เงินโดยคนอื่นไม่มีสิทธิเข้าไปตรวจสอบ โดยอ้างว่าเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องและประสิทธิภาพของการดำเนินโครงการ นายทนง ยังระบุด้วยว่า ไม่จำเป็นต้องร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้าน เพราะหากกระทรวงการคลังต้องการกู้ และส่งให้กระทรวงคมนาคมนำไปจัดสรรตามโครงการต่างๆ ก็สามารถใช้วิธีตามระบบงบประมาณปกติได้ ไม่ใช่ไปสร้างกรณีพิเศษให้กับการกู้ด้วยการออก พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านแบบนี้ พร้อมย้ำด้วยว่า เรื่องรถไฟความเร็วสูงเป็นเรื่องใหญ่มากของประเทศไทย ซึ่งยังไม่เห็นความจำเป็นที่เมืองไทยต้องมีรถไฟความเร็วสูง
       
        ด้านนายธีระชัย เบิกความสรุปว่า ไม่เห็นด้วยกับการร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้าน และหากดำเนินการตามร่าง พ.ร.บ.นี้ จะส่งผลเสียต่อระบบการเงินการคลังของประเทศอย่างมาก เพราะจะกระทบกรอบวินัยการเงินการคลัง และสร้างปัญหาต่อฐานะเครดิตของประเทศ ส่วนสาเหตุที่มองว่าร่างกฎหมายนี้ไม่เข้ากรอบวินัยการเงินการคลัง เพราะไม่ยึด 5 องค์ประกอบ คือ 1.ข้อมูลที่จะเปิดเผยต่อสาธารณะ มีแค่ 3 หน้า ทั้งที่ใช้เงินสูงถึง 2 ล้านล้าน จึงไม่น่าเชื่อถือ 2.ไม่มีการถกเถียงในที่สาธารณะเท่าที่ควร จึงไม่รอบคอบเท่ากับกระบวนการงบประมาณตามปกติ 3.การเบิกใช้อาจจะไม่รัดกุม 4.โครงการเป็นก้อนใหญ่แบบเหมารวม ทำให้มีการโยกเงินไปมาได้ ซึ่งเป็นการควบคุมที่หละหลวมในแง่นักลงทุน และ 5.รัฐสภาไม่สามารถกำกับและควบคุมการปฏิบัติของรัฐบาลได้ เพราะกำหนดให้ ครม.เสนอสภาเพื่อทราบเท่านั้น สรุปคือ หากเดินหน้าร่างกฎหมายนี้ จะสร้างความเสียหายต่อระบบการเงินการคลัง
       
        ขณะที่ น.ส.สุภา เบิกความสรุปว่า ร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้าน เป็นการนำโครงการเข้ามาโดยไม่ผ่านหน่วยงานที่เป็นมันสมองของประเทศ คือ คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และจะเป็นการทำลายกระบวนการพิจารณาขององค์กรที่มีหน้าที่โดยตรงโดยสิ้นเชิง ถ้ามีการตรา พ.ร.บ.นี้ จะทำให้กระทรวงการคลังไม่สามารถควบคุมการก่อหนี้ได้เลย และจะทำให้กรอบวินัยการคลังที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.บริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ.2548 ถูกเพิกเฉย ไม่ได้ใช้บังคับ
       
        ทั้งนี้ หลังไต่สวนปากคำพยานผู้เชี่ยวชาญทั้ง 5 ปากเสร็จสิ้นแล้ว ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแจ้งให้นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา ในฐานะผู้เสนอความเห็น ,นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะผู้ร้อง และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้ถูกร้อง ยื่นคำแถลงปิดคดีภายในวันที่ 27 ก.พ.นี้ หากไม่ยื่น ถือว่าไม่ติดใจ อย่างไรก็ตาม คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญยังไม่ได้ระบุว่าจะมีการอ่านคำวินิจฉัยคำร้องคดีนี้ในวันใด

 ASTVผู้จัดการออนไลน์    17 กุมภาพันธ์ 2557