ผู้เขียน หัวข้อ: สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 17-23 พ.ย.2556  (อ่าน 973 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9787
    • ดูรายละเอียด
สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 17-23 พ.ย.2556
« เมื่อ: 08 ธันวาคม 2013, 23:40:08 »
1.ศาล รธน. มีมติ 5 : 4 แก้ที่มา ส.ว. ไม่ชอบ ผิดทั้งเนื้อหา-กระบวนการ ขัด ม.68 เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจปกครอง ปท. แต่ไม่เข้าเงื่อนไขยุบพรรค!

       เมื่อวันที่ 20 พ.ย. ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 9 คน ได้ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัยคำร้องที่ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และ ส.ว.หลายกลุ่ม เช่น พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ส.ว.สรรหา และคณะ ,นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ และคณะ ยื่นขอให้ศาลวินิจฉัยกรณีที่นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ,นายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานรัฐสภา กับพวกรวม 312 คน ร่วมกันเข้าชื่อเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มา ส.ว.ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 หรือไม่
      
       ทั้งนี้ ศาลเริ่มด้วยการวินิจฉัยว่า ศาลมีอำนาจในการพิจารณาวินิจฉัยคำร้องดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่า
       รัฐธรรมนูญกำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบและถ่วงดุลการใช้อำนาจ เพื่อให้เป็นไปตามหลักนิติธรรม เพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม ควบคู่ไปกับการธำรงและรักษาไว้ซึ่งความเป็นสูงสุดของรัฐธรรมนูญ สังเกตได้จากมาตรา 216 วรรค 5 ของรัฐธรรมนูญระบุว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐ เมื่อพิจารณาแล้ว ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจึงเห็นว่า คดีนี้ ผู้ร้องใช้สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 วรรค 2 ด้วยการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ โดยอ้างว่าผู้ถูกร้องได้กระทำการเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองโดยวิธีการที่มิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีอำนาจที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้
      
       ทั้งนี้ ศาลฯ มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัย 2 ประเด็น คือ 1.กระบวนการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มา ส.ว.เป็นกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวีธีการที่มิชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้หรือไม่ และ 2.การแก้ไขเพิ่มเติมเนื้อหาของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มา ส.ว.มีลักษณะเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนิ้หรือไม่
      
       ซึ่งคำวินิจฉัย สรุปได้ว่า กระบวนการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวมีการใช้ร่างคนละฉบับ โดยร่างที่มีการเสนอให้รัฐสภาพิจารณารับหลักการในวาระ 1 เป็นคนละร่างกับที่นายอุดมเดช รัตนเสถียร ยื่นต่อสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งร่างที่เสนอให้รัฐสภาพิจารณา มีการแก้ไขเพิ่มเติมหลักการที่สำคัญหลายประการ คือมีการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 196 วรรค 2 และมาตรา 241 วรรค 1 ซึ่งการแก้ไขมาตรา 196 จะมีผลให้ผู้ที่เคยดำรงตำแหน่ง ส.ว. และสมาชิกภาพสิ้นสุดลง สามารถสมัครเป็น ส.ว.ได้อีก โดยไม่ต้องเว้นวรรค 2 ปี ซึ่งการแก้ไขมาตราเหล่านั้นในร่างดังกล่าว มีเจตนาปกปิดข้อเท็จจริง เพราะไม่แจ้งให้สมาชิกรัฐสภารับทราบทุกคน การเสนอร่างแก้ไขดังกล่าวที่รัฐสภารับหลักการจึงเป็นไปโดยมิชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 291 วรรค 1
      
       นอกจากนี้ ศาลยังเห็นว่า การนับระยะเวลาในการแปรญัตติไม่ถูกต้อง ไม่ครบ 15 วันตามมติที่ประชุมสภาฯ โดยการประชุมเมื่อวันที่ 4 เม.ย.2556 ซึ่งเป็นวันที่สภาฯ รับหลักการ แต่ยังไม่ได้ลงมติว่าจะแปรญัตติกี่วัน เพราะองค์ประชุมไม่ครบ ประธานรัฐสภาจึงนัดประชุมอีกครั้งวันที่ 18 เม.ย. ซึ่งมีการลงมติให้แปรญัตติ 15 วัน แต่ประธานรัฐสภาสรุปให้นับวันแปรญัตติย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 4 เม.ย. ไม่ใช่ 18 เม.ย. ทำให้ระยะเวลาการแปรญัตติเหลือเพียง 1 วัน ไม่ครบ 15 วันตามมติที่ประชุม ซึ่งศาลฯ เห็นว่าการนับเวลาย้อนหลังเป็นการกระทำที่ขัดต่อข้อบังคับการประชุมและไม่เป็นกลาง จึงไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 125 วรรค 1 และวรรค 2 รวมทั้งขัดต่อหลักนิติธรรมตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรค 2 ด้วย การกำหนดวันแปรญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 3 วรรค 2 และมาตรา 120 วรรค 1
      
       ส่วนการแสดงตนและลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มา ส.ว. ศาลก็ชี้ว่าไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญเช่นกัน เนื่องจากมีพยานหลักฐานทั้งพยานบุคคล ภาพถ่ายและวิดีทัศน์ ว่ามีการใช้บัตรลงคะแนนแทนกันหลายใบ ซึ่งคนที่กระทำการดังกล่าวคือ นายนริศร ทองธิราช ส.ส.สกลนคร พรรคเพื่อไทย ทั้งนี้ ศาลชี้ว่า การใช้บัตรลงคะแนนแทนกัน นอกจากเป็นการละเมิดหลักการพื้นฐานของการเป็นสมาชิกรัฐสภาที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 122 แล้ว ยังขัดต่อข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ขัดต่อหลักความซื่อสัตย์สุจริตที่สมาชิกรัฐสภาปฏิญาณตนไว้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 123 และขัดต่อการออกเสียงลงคะแนนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 126 วรรค 3 ที่ให้สมาชิก 1 คนมีเสียง 1 เสียงในการออกเสียงลงคะแนน การกระทำดังกล่าวจึงเป็นการออกเสียงลงคะแนนที่ทุจริตและไม่ชอบ
      
       สำหรับการแก้ไขเพิ่มเติมเนื้อหาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มา ส.ว.เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือให้บุคคลใดได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น ศาลเห็นว่า รัฐธรรมนูญ 2550 ร่างขึ้นโดยมีรัฐธรรมนูญ 2540 เป็นแม่แบบ โดยได้แก้ไขเรื่องคุณสมบัติของ ส.ว.ฉบับเดิมไว้หลายประการ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาเหมือนการใช้รัฐธรรมนูญ 2540 โดยกำหนดให้มี ส.ว.สรรหาร่วมกับ ส.ว.เลือกตั้งในสัดส่วนที่เท่าเทียมกัน เพื่อให้โอกาสประชาชนทุกภาคส่วน ทุกสาขาอาชีพมีส่วนร่วมในการทำหน้าที่ ส.ว.ให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติ ทั้งยังได้กำหนดคุณสมบัติของ ส.ว.ให้อิสระจากการเมือง และ ส.ส. เช่น ห้ามบุพการี คู่สมรส บุตรของ ส.ส.หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เข้ามาเป็น ส.ว. และห้ามเกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองหรือตำแหน่งทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี นอกจากนี้รัฐธรรมนูญ 2550 ยังกำหนดให้วุฒิสภาเป็นองค์กรตรวจทาน กลั่นกรองการทำงานของสภาผู้แทนราษฎร และถ่วงดุลอำนาจ ส.ส. โดยให้อำนาจ ส.ว.ในการตรวจสอบถอดถอน ส.ส.ได้ในกรณีที่ถูกกล่าวหาว่ามีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ส่อทุจริตต่อหน้าที่ หรือส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ
      
       เมื่อมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มา ส.ว.โดยให้มีแต่ ส.ว.เลือกตั้ง และเปิดช่องให้บุพการี คู่สมรส และบุตรของ ส.ส.หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองลงสมัคร ส.ว.ได้ และนักการเมืองไม่ต้องเว้นวรรค 5 ปีก็ลงสมัครได้ ศาลจึงเห็นว่า “เป็นการแก้กลับไปสู่จุดบกพร่องที่เคยเกิดขึ้นแล้ว เป็นจุดบกหร่องที่ล่อแหลม เสี่ยงต่อการสูญสิ้นศรัทธา และสามัคคีของมวลหมู่มหาชนชาวไทย เป็นความพยายามนำประเทศชาติให้ถอยหลังเข้าคลอง ทำให้วุฒิสภากลับไปเป็นสภาญาติพี่น้อง สภาของครอบครัว และสภาผัวเมีย สูญเสียสถานะและศักยภาพการเป็นสติปัญญาให้แก่สภาผู้แทนราษฎร กลายเป็นเพียงเสียงสะท้อนของมวลชนกลุ่มเดียวกัน ทำลายสาระสำคัญของการมี 2 สภา นำพาไปสู่การผูกขาดอำนาจรัฐ ตัดการมีส่วนร่วมของปวงประชาหลายสาขา หลายอาชีพ เป็นการกระทบต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเปิดช่องให้ผู้ร่วมกระทำการครั้งนี้กลับมีโอกาสได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองด้วยวิธีการที่ไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากการออกเสียงแสดงประชามติของมหาชนชาวไทย”
      
       นอกจากนี้ ศาลยังระบุด้วยว่า เนื้อหาในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวมาตรา 11 และมาตรา 11/1 ยังขัดต่อรัฐธรรมนูญในแง่กระบวนการตรากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และ ส.ว.ที่จะบัญญัติใหม่ด้วย โดยมีการรวบรัดให้มีการประกาศใช้กฎหมายฯ ดังกล่าวโดยไม่ต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 141 ที่จะต้องส่งร่างกฎหมายดังกล่าวให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญก่อน ซึ่งขัดกับการถ่วงดุลและคานอำนาจ อันเป็นหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ทำให้ฝ่ายการเมืองสามารถออกกฎหมายได้ตามอำเภอใจ โดยอาศัยเสียงข้างมาก
      
       ด้วยเหตุนี้ ศาลจึงมีมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 ว่าการพิจารณาและลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มา ส.ว. เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 122 ,125 วรรค 1 และวรรค 2 ,มาตรา 126 วรรค 3 ,มาตรา 291 และมาตรา 3 วรรค 2 และมีมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 ว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวมีเนื้อความสาระสำคัญขัดแย้งต่อหลักการพื้นฐานและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 2550 อันเป็นการทำให้ผู้ที่ถูกร้องในคดีนี้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศด้วยวิธีการซึ่งไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 วรรค 1 ส่วนที่ผู้ร้องขอให้ยุบพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้อง และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคเหล่านั้น ศาลเห็นว่ายังไม่เข้าเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 68 วรรค 3 และวรรค 4 จึงยกคำร้องในส่วนนี้
      
       2.พท. เหิม ประกาศไม่รับอำนาจศาล รธน.พร้อมเตรียมแจ้งจับตุลาการ ด้าน ปชป. ซัด “กบฏ” เล็งยื่นถอดถอน 312 ส.ส.-ส.ว.พ่วงคดีอาญา!

       หลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มา ส.ว.ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 แต่ไม่เข้าเงื่อนไขยุบพรรค ปรากฏว่า ส.ส.พรรคเพื่อไทย(พท.) และแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) ได้ออกมาต่อต้านและไม่ยอมรับคำวินิจฉัย โดย ส.ส.พรรคเพื่อไทย ได้ออกแถลงการณ์ 9 ข้อไม่ยอมรับอำนาจและคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เช่น อ้างว่าสมาชิกรัฐสภา 312 คนมีอำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญตามหลักประชาธิปไตย ,กล่าวหาว่าศาลรัฐธรรมนูญจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดรัฐธรรมนูญ ,กล่าวหาว่าศาลรัฐธรรมนูญอ้างหลักนิติธรรมในการวินิจฉัยเพื่อขยายอำนาจให้ตนเองมากกว่าที่รัฐธรรมนูญกำหนด,กล่าวหาว่าศาลรัฐธรรมนูญแทรกแซงอำนาจนิติบัญญัติ และกล่าวหาว่าการที่ศาลรัฐธรรมนูญรับวินิจฉัยร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มา ส.ว.เป็นการกระทำที่กระเทือนพระราชอำนาจ เพราะนายกฯ ได้ทูลเกล้าฯ ร่างฯ ดังกล่าวแล้ว จึงเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ว่าจะทรงเห็นชอบด้วยหรือไม่ ฯลฯ
      
       ส.ส.พรรคเพื่อไทยยังขู่จะฟ้องร้องดำเนินคดี 5 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก ข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ด้วย เป็นที่น่าสังเกตว่า ไม่เพียง ส.ส.พรรคเพื่อไทย จะแถลงไม่ยอมรับอำนาจและคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ แต่ยังมีแนวคิดจะเสนอให้รัฐสภาเดินหน้าลงมติวาระ 3 ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เพื่อล้มรัฐธรรมนูญ 2550 ทั้งฉบับ และตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.) เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ด้วย หลังศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยว่า การแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับทำไม่ได้ หากจะทำต้องทำประชามติก่อน
      
       ด้านนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ยังคงยืนยันเช่นกันว่า การดำเนินการทุกอย่างเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มา ส.ว.ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญและข้อบังคับ พร้อมย้ำว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจในการวินิจฉัย ขณะที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ตอนแรกไม่ยอมตอบคำถามผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ กระทั่ง 2 วันผ่านไป เมื่อถูกผู้สื่อข่าวถามกรณีที่ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์และกลุ่ม 40 ส.ว.เรียกร้องให้แสดงความรับผิดชอบกรณีนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มา ส.ว.ขึ้นทูลเกล้าฯ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ก็อ้างว่า ได้ทำตามขั้นตอนของรัฐธรรมนูญ และว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นถือเป็นเรื่องใหม่ คงต้องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาและฝ่ายกฎหมายศึกษาก่อน
      
       ส่วนท่าทีของ ส.ว.ที่ร่วมเสนอและลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มา ส.ว.นั้น นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา บอกว่า ส.ว.จะประชุมกันวันที่ 25 พ.ย.นี้ ส่วนผลจะออกมาแนวทางเดียวกับพรรคเพื่อไทยหรือไม่ ขึ้นอยู่กับที่ประชุม แต่ส่วนตัวแล้วมองว่า เมื่อลงเรือลำเดียวกับพรรคเพื่อไทยแล้ว ก็ต้องทำให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
      
       ขณะที่หลายภาคส่วนในสังคมต่างรุมประณาม ส.ส.พรรคเพื่อไทยที่ประกาศไม่ยอมรับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ พร้อมเดินหน้ายื่นถอดถอนและฟ้องคดีอาญา 312 ส.ส.-ส.ว.ซึ่งรวมถึงนายกฯ -ประธานรัฐสภา-ประธานวุฒิสภาด้วย โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เผยหลังประชุม ส.ส.พรรคว่า พรรคขอประณามการที่พรรคเพื่อไทยไม่ยอมรับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ถือเป็นการทำลายหลักนิติธรรม และว่า พรรคจะยื่นถอดถอนบุคลที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดครั้งนี้ต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ในสัปดาห์หน้า ส่วนคดีอาญาจะฟ้องผู้ที่มีส่วนในการปลอมแปลงเอกสารหรือใช้เอกสารปลอมในการสับเปลี่ยนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มา ส.ว. และบรรดาผู้เสนอร่างฯ ดังกล่าวทั้ง 312 คน รวมทั้งดำเนินคดีอาญานายนริศร ทองธิราช ส.ส.สกลนคร พรรคเพื่อไทย ที่กดบัตรแทนกันด้วย
      
       นายอภิสิทธิ์ ยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ขณะนี้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มา ส.ว.หมดสภาพไปแล้ว หากนายกฯ ซึ่งเป็นผู้นำร่างฯ ดังกล่าวขึ้นทูลเกล้าฯ ยังเพิกเฉยและไม่กราบบังคมทูลถวายรายงานข้อเท็จจริงเรื่องนี้ แสดงว่าไม่ยอมรับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญใช่หรือไม่ ถ้าใช่ก็ประกาศออกมาเลย ประชาชนจะได้ดำเนินการกับนายกฯ ได้ถูก พร้อมย้ำว่า นายกฯ จะหนีความรับผิดชอบไม่ได้
      
       ขณะที่นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะทีมกฎหมายของพรรคฯ ชี้ว่า การที่ ส.ส.พรรคเพื่อไทยประกาศไม่รับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ถือเป็นกบฏ เพราะประเทศไทยออกแบบให้รัฐธรรมนูญสูงสุดเหนือรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล เมื่อสูงสุดก็ต้องมีคนตรวจสอบ การออกแบบจึงอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ
      
       ด้านนายอุทัย ยอดมณี ผู้ประสานงานเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย(คปท.) ได้เข้ายื่นหนังสือต่อ ป.ป.ช.เพื่อขอให้ไต่สวนข้อเท็จจริง ชี้มูลความผิดและดำเนินคดีอาญา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ,ประธานรัฐสภา ,ประธานวุฒิสภา และ ส.ส.-ส.ว.ทั้ง 312 คนแล้ว นอกจากนี้ยังมี ส.ส.และ ส.ว.บางส่วนยื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช.เพื่อขอให้ดำเนินคดีอาญาและถอดถอนบุคคลดังกล่าวออกจากตำแหน่งรวม 5 คำร้อง ป.ป.ช.จึงแถลงรวม 5 คำร้องเข้าด้วยกัน พร้อมให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ทั้งคณะเป็นองค์คณะไต่สวนข้อเท็จจริงคดีนี้
      
       ด้านนายวิชา มหาคุณ กรรมการและโฆษก ป.ป.ช.เผยว่า รัฐธรรมนูญระบุชัดเจนให้ ป.ป.ช.ดำเนินการไต่สวนโดยเร็วแม้ไม่ได้ระบุว่ากี่วัน แต่ก็เป็นที่ทราบกันดีว่าอย่าช้า แต่ ป.ป.ช.จะไม่ทำแบบฉุกละหุก รีบร้อนไม่ได้ ไม่เช่นนั้นจะถูกกล่าวหาว่า ป.ป.ช.ลักหลับ คงไม่ดี ทั้งนี้ หาก ป.ป.ช.มีมติชี้มูลผู้ถูกกล่าวหาวันใด ผู้ถูกกล่าวหาจะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ทันทีจนกว่าวุฒิสภาจะมีมติถอดถอนหรือไม่ถอดถอน ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 วรรค 4
      
       เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังฝ่ายต่างๆ ยื่นเรื่องถอดถอน 312 ส.ส.-ส.ว.ต่อ ป.ป.ช. ปรากฏว่า ทนายความกลุ่ม นปช.นายคารม พลพรกลาง รีบเข้ายื่นหนังสือคัดค้านทันที โดยอ้างว่า ป.ป.ช.ไม่มีสิทธิไต่สวนเรื่องดังกล่าว เพราะการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภาไม่ใช่การทุจริตต่อหน้าที่ พร้อมขู่ หาก ป.ป.ช.ยังเดินหน้าไต่สวน อาจเข้าข่ายผิดกฎหมายอาญา ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และว่า สัปดาห์หน้าจะไปยื่นฟ้องศาลรัฐธรรมนูญ เพราะการวินิจฉัยของศาลฯ ถือว่าขัดรัฐธรรมนูญ
      
       ด้านกลุ่มนิติราษฎร์ นำโดย นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่เคยเคลื่อนไหวให้ยกเลิกหรือแก้ไขกฎหมายอาญา มาตรา 112 เกี่ยวกับคดีหมิ่นสถาบัน ก็ได้ออกมาปกป้อง 312 ส.ส.-ส.ว. ด้วยการเปิดแถลงโจมตีศาลรัฐธรรมนูญว่าไม่มีอำนาจที่จะบอกให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มา ส.ว.ตกไป พร้อมอ้างว่า ขณะนี้ขั้นตอนอยู่ระหว่างการรอลงพระปรมาภิไธย หากพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย ก็สามารถนำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษาได้ทันที แต่หากไม่ทรงลงพระปรมาภิไธย ก็ถือว่าทรงใช้อำนาจวีโต้ สภาฯ ก็ต้องมาปรึกษากันอีกครั้ง ถ้าสภาฯ ยืนยันด้วยคะแนน 2 ใน 3 ก็ทูลเกล้าฯ ได้อีกครั้ง หากพ้น 60 วัน พระมหากษัตริย์ไม่ทรงลงพระปรมาภิไธย ก็สามารถประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อบังคับใช้ได้ทันที
      
       3.วุฒิฯ เสียงข้างมากผ่านวาระ 3 พ.ร.บ.กู้ 2 ล้านล้านแล้ว ด้าน ปชป. ยื่นศาลฯ วินิจฉัยขัด รธน.หรือไม่ แฉคลิปฉาวเสียบบัตรแทนกันอีก!

       เมื่อวันที่ 18 พ.ย. ได้มีการประชุมวุฒิสภาเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ วงเงิน 2 ล้านล้านบาท ในวาระ 2 และ 3 โดยก่อนหน้าจะถึงวันประชุม นายบุญยอด สุขถิ่นไทย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) ได้ออกมาแฉว่า มีการล็อบบี้ ส.ว.ให้ผ่านร่าง พ.ร.บ.กู้เงินนี้ ตามร่างเดิมที่ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร โดยแลกกับเงินคนละ 30 ล้านบาท
      
       ขณะที่นายธวัช บวรวนิชยกูร ส.ว.สรรหา ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท เผยว่า ร่างของ กมธ.มีการแก้ไข 2 มาตรา คือมาตรา 3 มีการเพิ่มคำว่า “โครงการ” เข้าไป เพื่อให้เกิดความชัดเจนว่า จะไม่มีการเปลี่ยนหรือนำโครงการอื่นๆ เข้ามาใส่เพิ่มเติมในอนาคต ซึ่งจะเป็นหลักประกันได้ว่าโครงการจะเป็นไปตามวัตถุประสงค์ตามเนื้อหาของโครงการจริงๆ ขณะที่ร่างเดิมของสภาผู้แทนราษฎร ไม่มีคำว่า “โครงการ” ส่วนมาตรา 6 ร่างเดิมของสภาฯ ระบุว่าการจัดสรรเงินกู้ไม่ต้องส่งคลัง แต่ กมธ.ให้ตัดคำว่า “ไม่” ทิ้ง หมายความว่า ต้องส่งคลัง ซึ่งจะทำให้การใช้เงินในทุกๆ โครงการต้องผ่านกระบวนการของงบประมาณ
      
       เป็นที่น่าสังเกตว่า เหตุที่การพิจารณาในชั้น กมธ.สามารถแก้ไข 2 มาตราดังกล่าวได้สำเร็จ เนื่องจากในการประชุม กมธ.สายรัฐบาลเข้าร่วมประชุมน้อย ทำให้กลายเป็น กมธ.เสียงข้างน้อยในที่ประชุมที่ต้องการให้คงร่างเดิมของสภาฯ โดยไม่ต้องแก้ไข 2 มาตราดังกล่าว
      
       อย่างไรก็ตาม เมื่อเข้าสู่การพิจารณาในวาระ 2 และ 3 ปรากฏว่า ที่ประชุมวุฒิสภาเสียงข้างมากกลับเห็นด้วยกับ กมธ.เสียงข้างน้อยที่ต้องการให้ใช้ร่างเดิมของสภาฯ โดยไม่ต้องแก้ไขมาตรา 3 และ 6 ดังกล่าว โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบกับ กมธ.เสียงข้างน้อยให้ตัดคำว่า “โครงการ” ออกจากมาตรา 3 ด้วยคะแนน 63 ต่อ 52 งดออกเสียง 1 ขณะที่มาตรา 6 ที่ประชุมเสียงข้างมากไม่เห็นด้วยกับการให้เงินกู้เป็นเงินที่ต้องส่งเข้าคลัง ด้วยคะแนน 68 ต่อ 44 ส่งผลให้ต้องกลับไปใช้ร่างเดิมของสภาฯ
      
       ทั้งนี้ หลังใช้เวลาอภิปราย 2 วัน(18-19 พ.ย.) ปรากฏว่า ช่วงดึกของคืนวันที่ 19 พ.ย. การพิจารณาและลงมติมาตราต่างๆ เป็นไปอย่างรวดเร็ว กระทั่งล่วงเข้าวันใหม่ 20 พ.ย. เมื่อการพิจารณาดำเนินไปจนถึงเวลา 02.49น.ที่ประชุมได้ลงมติวาระ 3 ทันที โดยที่ประชุมเสียงข้างมากมีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ด้วยคะแนน 63 ต่อ 14
      
       ด้านนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน(วิปฝ่ายค้าน) เผยว่า ฝ่ายค้านได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 154 แล้วว่าร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ขัดรัฐธรรมนูญหรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องหรือไม่ ซึ่งนายกฯ ต้องระงับการทูลเกล้าฯ ร่างดังกล่าวไว้ก่อนจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย
      
       ทั้งนี้ มีรายงานว่า คำร้องที่พรรคประชาธิปัตย์ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ระบุว่า พ.ร.บ.กู้เงินนี้เป็นการกู้เงินนอกระบบงบประมาณที่ใหญ่ที่สุด คือมากกว่า 4 เท่าของประเทศไทยที่เคยกู้จากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ) และต้องเสียดอกเบี้ยมหาศาลถึง 3 ล้านล้านบาท ในเวลา 50 ปีอนาคต ซึ่งตอกย้ำว่าร่าง พ.ร.บ.กู้เงินนี้ไม่ได้ทำตามกรอบวินัยการเงินการคลัง นอกจากนี้ยังไม่มีรายละเอียดของโครงการต่างๆ ว่าจะใช้จ่ายเท่าไหร่ กลับเป็นเพียงกรอบการลงทุนพื้นฐานที่ไร้ความชัดเจน และที่สำคัญ ฝ่ายค้านมีพยานหลักฐานด้วยว่า ระหว่างการลงมติร่าง พ.ร.บ.กู้เงินนี้ มี ส.ส.พรรคเพื่อไทย เสียบบัตรลงคะแนนแทนกันอีกแล้ว
      
(มีต่อ)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9787
    • ดูรายละเอียด
Re: สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 17-23 พ.ย.2556
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: 08 ธันวาคม 2013, 23:40:16 »
  4.แกนนำต้านระบอบทักษิณทุกกลุ่ม ผนึกกำลังล้างระบอบทักษิณ-ปฏิรูปประเทศ เชื่อ โลกจารึก 24 พ.ย. เตรียมดาวกระจาย 25 พ.ย.!

       ความคืบหน้าการชุมนุมบนถนนราชดำเนิน หลังนายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำผู้ชุมนุม ประกาศยกระดับการต่อสู้เป็นการขจัดระบอบทักษิณแบบถอนรากถอนโคนให้หมดไปจากแผ่นดินไทย โดย 1 ในมาตรการที่จะดำเนินการคือ ยื่นถอดถอน ส.ส.310 คน ที่เสนอและลงมติกฎหมายล้างผิดคนโกง โดยเปิดให้ประชาชนร่วมลงชื่อถอดถอนตั้งแต่วันที่ 16-19 พ.ย. จากนั้นนายสุเทพ พร้อมด้วย ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ได้นำรายชื่อประชาชนที่รวบรวมได้ 115,500 รายชื่อ ซึ่งบรรจุอยู่ในกล่องจำนวน 77 กล่อง ไปยื่นต่อนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา เพื่อถอดถอน 310 ส.ส.แล้วเมื่อวันที่ 20 พ.ย. ซึ่งนายนิคม บอกว่า รายชื่อจำนวนมาก คงต้องใช้เวลาตรวจสอบเป็นเดือน เพราะเจ้าหน้าที่สามารถตรวจสอบได้เพียงวันละ 5 พันคนเท่านั้น และว่า เมื่อตรวจสอบเสร็จก็ต้องนำส่งให้สำนักทะเบียนราษฎร กระทรวงมหาดไทย ตรวจสอบรายชื่ออีกครั้งว่าเป็นผู้มีสิทธิหรือไม่ จากนั้นจึงจะส่งต่อไปยัง ป.ป.ช.เพื่อตรวจสอบและตั้งข้อกล่าวหาต่อไป
       
        ทั้งนี้ นายสุเทพ ได้ปราศรัยบนเวทีราชดำเนินโดยตั้งเป้าว่า วันที่ 24 พ.ย.จะมีคนมาร่วมชุมนุมนับล้านคนเพื่อล้มล้างระบอบทักษิณให้หมดจากแผ่นดินไทย “ต้นเหตุทั้งหลายเกิดจาก พ.ต.ท.ทักษิณ เชื่อว่าเงินซื้อได้แม้กระทั่งชีวิตคน เริ่มต้นซื้อ ส.ส. ประชาชน และข้าราชการให้โกงการเลือกตั้ง จนกระทั่งได้เสียงข้างมากมาจัดตั้งรัฐบาลด้วยเงิน พอได้เป็นรัฐบาลก็เริ่มทุจริต ฉ้อโกง และนำเงินภาษีของประชาชนไปซื้อเสียงผ่านโครงการประชานิยมทั้งหลาย” นายสุเทพ ยังประกาศด้วยว่า การต่อสู้ครั้งนี้จะเป็นการต่อสู้ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดและโลกจะต้องจารึกไว้ พร้อมแย้มว่า เช้าวันที่ 25 พ.ย. จะร่วมกับผู้ชุมนุมเดินออกไปในพื้นที่ 12 แห่ง แต่ยังไม่บอกว่าไปไหนบ้าง แต่จะเดินอย่างอารยะ สงบ อหิงสา ไม่มีความรุนแรงเด็ดขาด
       
        ขณะที่ผู้ชุมนุมกลุ่มเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย(คปท.) ที่ชุมนุมบริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ ได้ยกระดับการชุมนุมเมื่อวันที่ 22 พ.ย.โดยเคลื่อนไปหน้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นหนังสือจี้นายกฯ และ ครม.หยุดบริหารบ้านเมือง เพราะตลอด 2 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลสร้างแต่ปัญหา จากนั้นผู้ชุมนุมได้เคลื่อนไปยังพรรคเพื่อไทย ก่อนนำป้ายผ้าขนาดใหญ่ปิดทับชื่อพรรค โดยมีข้อความโจมตีรัฐบาล-ประธานรัฐสภา-ประธานวุฒิสภา และ 312 ส.ส.-ส.ว.ที่แก้รัฐธรรมนูญที่มา ส.ว.ไม่ชอบ จากนั้นผู้ชุมนุมได้เคลื่อนไปปักหลักชุมนุมบริเวณแยกนางเลิ้ง จนถึงเชิงสะพานชมัยมรุเชษฐ์ ถนนพิษณุโลก ขณะที่ผู้ชุมนุมกลุ่มกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ(กปท.) ได้ย้ายจุดชุมนุมจากบริเวณสะพานผ่านฟ้าไปอยู่บริเวณสะพานมัฆวานฯ แทน คาดว่าเพื่อเปิดพื้นที่รองรับประชาชนที่จะมาร่วมชุมนุมในวันที่ 24 พ.ย.
       
        ล่าสุด เมื่อวันที่ 23 พ.ย. นายสุเทพและแกนนำผู้ชุมนุมทุกกลุ่มได้ประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันว่าจะผนึกกำลังกันขับไล่ระบอบทักษิณออกจากแผ่นดินไทย จะร่วมกันปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นของประชาชน และสัญญาว่าจะร่วมสู้กับพี่น้องจนกว่าจะชนะ จะเปลี่ยนจากระบอบทักษิณ เป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข อย่างสมบูรณ์แบบ
       
        ขณะที่ฝ่ายเสื้อแดง หลังจากได้นัดชุมนุมที่สนามราชมังคลากีฬาสถานเมื่อวันที่ 20 พ.ย.เพื่อกดดันศาลรัฐธรรมนูญ ก่อนสลายตัวไปในคืนวันเดียวกัน ปรากฏว่า ล่าสุด(23 พ.ย.) แกนนำ นปช.นำโดยนายจตุพร พรหมพันธุ์ ได้ประกาศระดมมวลชนให้มาชุมนุมกันอีกครั้งในวันที่ 24 พ.ย.เช่นกัน ที่สนามราชมังคลากีฬาสถาน โดยอ้างว่าที่ต้องชุมนุม เพราะรัฐบาลถูกประหารโดยศาลรัฐธรรมนูญ และว่า เบื้องต้นจะปักหลักชุมนุมโดยไม่มีกำหนด เพื่อรอดูท่าทีของผู้ชุมนุมที่ราชดำเนินด้วย พร้อมยืนยัน จะชุมนุมในที่ตั้ง สงบ สันติ ไม่นำมวลชนไปชนม็อบราชดำเนินแน่นอน

ASTVผู้จัดการออนไลน์    24 พฤศจิกายน 2556