ผู้เขียน หัวข้อ: สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 6-12 ต.ค.2556  (อ่าน 872 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9787
    • ดูรายละเอียด
สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 6-12 ต.ค.2556
« เมื่อ: 27 ตุลาคม 2013, 21:21:41 »
 1. รบ.งัด กม.มั่นคงฯ หลังม็อบ กปท.ยึดหน้าทำเนียบฯ ก่อนยอมย้ายกลับสวนลุมฯ รักษาหน้า รบ. ด้าน นศ.ไม่พอใจ แยกตัวปักหลักอุรุพงษ์ ก่อนถูกมือมืดปาบึ้ม!

       เมื่อวันที่ 7 ต.ค. กลุ่มกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ(กปท.) นำโดย พล.อ.ปรีชา เอี่ยมสุพรรณ และ พล.ร.อ.ชัย สุวรรณภาพ ได้นำมวลชนที่ปักหลักชุมนุมอยู่บริเวณสวนลุมพินีบางส่วน เดินทางมาชุมนุมที่หน้าทำเนียบรัฐบาล บริเวณเชิงสะพานชมัยมรุเชษฐ ท่ามกลางตำรวจปราบจลาจลที่มาคุมสถานการณ์ประมาณ 400 นาย
      
       ทั้งนี้ พล.ร.อ.ชัย แถลงเหตุผลที่นำมวลชนมาชุมนุมหน้าทำเนียบฯ ว่า เพราะรัฐบาลไม่สนใจปัญหาประชาชน เอาแต่เร่งผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องที่มา ส.ว.ในวาระ 3 ด้านตำรวจรีบตั้งจุดสกัดทุกทาง โดยอ้างว่า เพื่อป้องกันไม่ให้มือที่สามเข้ามาสร้างสถานการณ์ให้เกิดความรุนแรง
      
       วันต่อมา(8 ต.ค.) พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรี ได้เรียกประชุมหน่วยงานด้านความมั่นคง ก่อนสรุปว่าการชุมนุมดังกล่าวยังไม่น่าห่วง จึงยังไม่ประกาศใช้ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร แต่ผ่านไปแค่ 1 วัน พล.ต.อ.ประชาก็ได้เรียกประชุม ครม.ชุดเล็ก และหน่วยงานด้านความมั่นคง ก่อนมีมติประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ครอบคลุมพื้นที่ 3 เขต ประกอบด้วย เขตดุสิต ,เขตพระนคร และเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เป็นเวลา 10 วัน ตั้งแต่วันที่ 9-18 ต.ค.
      
       ด้านนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ได้ออกมาติงรัฐบาลว่า ไม่มีเหตุผลเพียงพอในการประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ เหมือนประกาศเพื่อรักษาหน้านายกฯ เพราะกลัวว่านายกรัฐมนตรีจีนมาเยือนไทยแล้วจะเห็นม็อบต่อต้านรัฐบาลอยู่ที่หน้าทำเนียบฯ ทั้งที่ผู้ชุมนุมไม่ได้ทำอะไรผิด
      
       ขณะที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา บอกว่า กลุ่ม 40 ส.ว.จะยื่นศาลรัฐธรรมนูญเอาผิด ครม.ที่ประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ดังกล่าว เนื่องจากการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธเป็นเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 63
      
       เป็นที่น่าสังเกตว่า ตำรวจพยายามเจรจากับแกนนำ กปท.เพื่อขอให้ย้ายผู้ชุมนุมออกจากหน้าทำเนียบฯ เพราะนายกรัฐมนตรีจีนจะเดินทางมาเยือนไทยอย่างเป็นทางการในวันที่ 11 ต.ค. พร้อมเข้าพบ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แต่การเจรจาไม่เป็นผล ขณะที่แกนนำ กปท.ขอเจรจากับ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรี แต่ พล.ต.อ.ประชา ปฏิเสธโดยอ้างว่า ติดภารกิจต้องไปตอบกระทู้ถามสดแทนนายกฯ ในที่ประชุมรัฐสภา สุดท้ายแกนนำ กปท.ได้เจรจากับ พล.ต.อ.วรพงษ์ ชิวปรีชา รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ก่อนได้ข้อสรุปว่า กปท.ยอมย้ายออกจากหน้าทำเนียบฯ กลับไปชุมนุมที่สวนลุมฯ โดยตำรวจจะถอนกำลังออกจากพื้นที่และจัดรถอำนวยความสะดวกแก่ผู้ชุมนุม
      
       อย่างไรก็ตาม หลังจากผู้ชุมนุมถอนตัวเพื่อกลับไปที่สวนลุมฯ ปรากฏว่า มีผู้ชุมนุมบางส่วนไม่เห็นด้วยกับการย้ายออกจากหน้าทำเนียบฯ โดยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงและนักศึกษาอาชีวะ จึงไปปักหลักชุมนุมบริเวณแยกอุรุพงษ์ เนื่องจากอยู่นอกพื้นที่ประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ขณะที่นายอุทัย ยอดมณี นายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง ประกาศว่า การชุมนุมครั้งนี้จะยืดเยื้อแน่นอน ทั้งนี้ ในเวลาต่อมา ผู้ชุมนุมที่แยกอุรุพงษ์ ได้ตั้งชื่อกลุ่มของตัวเองว่า “กลุ่มเครือข่ายนักศึกษาและประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) พร้อมยืนยัน ไม่ได้มีความขัดแย้งกับกลุ่ม กปท.แต่อย่างใด
      
       ด้าน พล.อ.ปรีชา เอี่ยมสุพรรณ และ พล.ร.อ.ชัย สุวรรณภาพ เสนาธิการร่วม กปท.แถลงเหตุผลที่ตัดสินใจย้ายการชุมนุมออกจากหน้าทำเนียบฯ กลับสวนลุมฯ ว่า เพื่อรักษาชีวิตพี่น้องไม่ให้สูญเสียเลือดเนื้อ เพราะตำรวจพร้อมจะสลายการชุมนุมทุกเมื่อ “ผมเข้าใจและเห็นใจคนที่ไปชุมนุมต่อที่อุรุพงษ์ด้วยความที่เป็นคนรักชาติ ฉะนั้นการที่เขาจะชุมนุมต่อถือว่าเป็นสิทธิในฐานะเสรีชน สามารถกระทำได้”
      
       ด้านรัฐบาลยังไม่ยกเลิก พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ และยังไม่มีความชัดเจนว่าจะยกเลิกเมื่อใด หรือจะมีการขยายพื้นที่บังคับใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ไปถึงแยกอุรุพงษ์หรือไม่ แต่เมื่อกลางดึกคืนวันที่ 10 ต.ค.ล่วงเข้าวันที่ 11 ต.ค. เวลา 02.30น. ได้เกิดเหตุมือมืดโยนระเบิดขวดใส่เต็นท์ผู้ชุมนุมที่แยกอุรุพงษ์ ส่งผลให้ไฟไหม้เต็นท์ โชคดีที่ผู้ชุมนุมรีบดับเพลิงได้ทัน จึงเสียหายแค่บางส่วน นอกจากนี้ระเบิดยังทำให้กระจกรถที่จอดอยู่ด้านล่างแตก และมีผู้บาดเจ็บ 2 ราย เป็นการ์ดที่เฝ้าพื้นที่ชุมนุม 1 ราย และผู้ชุมนุมอีก 1 ราย โดยถูกสะเก็ดระเบิดและเศษแก้ว ขณะที่ ผู้เห็นเหตุการณ์ เล่าว่า ระเบิดดังกล่าวถูกโยนลงมาจากบนทางด่วนศรีรัช พร้อมกับใบปลิวจำนวนมาก เขียนว่า “พวกมึงทำกูรถติด ไปหาที่ประท้วงใหม่ไปๆๆๆๆ” ขณะที่ผู้ชุมนุม แม้จะตกใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ก็ยังยืนจะปักหลักชุมนุมบริเวณดังกล่าวต่อไป
      
       ด้านตำรวจและ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรี รีบออกมาชี้ว่า เป็นการสร้างสถานการณ์ พร้อมเตือนประชาชนอย่ามาร่วมชุมนุม อาจไม่ปลอดภัยได้ นอกจากนี้ยังอ้างว่า การจะป้องกันเหตุบริเวณดังกล่าวทำได้ยาก เพราะพื้นที่ชุมนุมอยู่ใต้ทางด่วน พร้อมแนะให้ผู้ชุมนุมย้ายไปที่สวนลุมฯ แทน
      
       ขณะที่นายอุทัย ยอดมณี นายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง ในฐานะแกนนำ คปท. ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 1 เมื่อวันที่ 12 ต.ค. โดยยืนยันว่า จะปักหลักชุมนุมบริเวณแยกอุรุพงษ์ต่อไป โดยมีจุดยืนว่า การบริหารงานของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ก่อให้เกิดปัญหาทางสังคม การเมือง เศรษฐกิจ ชีวิตคนไทยตกต่ำลงในช่วง 2 ปี ขณะที่รัฐบาลมุ่งแต่แก้ไขรัฐธรรมนูญ ออกกฎหมายนิรโทษกรรมเพื่อพวกพ้อง ไม่ได้ทำเพื่อส่วนรวม ขัดกับหลักนิติรัฐ นิติธรรม เมื่อประชาชนออกมาชุมนุมอย่างสงบ กลับประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ มาสกัดกั้นประชาชน และนักศึกษาจำนวนมาก
      
       แถลงการณ์ดังกล่าวยังยืนยันด้วยว่า คปท.มีการดำเนินการอย่างอิสระ ไม่ได้รับการสนับสนุนจากพรรคการเมืองใด และไม่เกี่ยวข้องกับกลุ่ม กปท.หรือกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองอื่นๆ แต่ไม่ปฏิเสธที่กลุ่มอื่นจะมาร่วมมือด้วย พร้อมเชิญชวนให้นักเรียน นิสิต นักศึกษาทุกสถาบัน และประชาชนมาชุมนุมเรียกร้องรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่แยกอุรุพงษ์ด้วยกัน
      
       2. ชัดแล้ว “จุลสิงห์” อดีต อสส.สั่งไม่ฟ้อง “ทักษิณ” คดีก่อการร้าย อ้าง ไม่ได้ยุม็อบให้เผา ด้าน ปชป.ข้องใจสั่งคดีสวนทางดีเอสไอ ขณะที่ “ธาริต”รีบบอก คดีจบแล้ว!


       เมื่อวันที่ 10 ต.ค. นายอรรถพล ใหญ่สว่าง อัยการสูงสุดคนใหม่ พร้อมด้วยนายวินัย ดำรงค์มงคลกุล ผู้ตรวจอัยการ ได้แถลงเปิดตัวทีมโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุดชุดใหม่ ที่มีนายนันทศักดิ์ พูลสุข อธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษคนใหม่ เป็นโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด จากนั้น นายนันทศักดิ์ แถลงถึงการสั่งคดีของอัยการในคดีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กับพวกรวม 26 คน ตกเป็นผู้ต้องหาฐานร่วมกันหรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำผิดหรือสนับสนุนให้กระทำผิดฐานก่อการร้าย หรือเพื่อให้เกิดเหตุร้ายแก่ประเทศไทยจากภายนอกประเทศ ระหว่างการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) ที่แยกราชประสงค์ เมื่อเดือน พ.ค.2553 ว่า อัยการส่งฟ้องศาลอาญาแล้ว 24 ราย ยุติการดำเนินคดี 1 ราย คือ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือ เสธ.แดง ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก เนื่องจากเสียชีวิตแล้ว
      
       ในส่วนของ พ.ต.ท.ทักษิณ นั้น ได้แยกสำนวนออกมาต่างหากจากผู้ต้องหาคนอื่นๆ เนื่องจากเป็นความผิดที่ได้กระทำนอกราชอาณาจักร จึงอยู่ในอำนาจของอัยการสูงสุดเป็นผู้สั่งคดี โดยนายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ อดีตอัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ เนื่องจากเห็นว่า ขณะเกิดเหตุ ผู้ต้องหาพำนักอยู่ในต่างประเทศ ส่วนที่ได้วิดีโอลิงก์ โฟนอิน หรือทวิตเตอร์ ทั้งภาพและเสียงเข้ามาที่เวทีปราศรัยของผู้ชุมนุมที่ประท้วงตามสถานที่ต่างๆ ทั้งใน กทม.และต่างจังหวัดนั้น เนื้อหาสาระส่วนใหญ่เป็นการเรียกร้องประชาธิปไตย ให้ยุบสภาตามวิธีทางระบอบประชาธิปไตย รวมทั้งโจมตีการปฏิวัติรัฐประหารและโจมตีการบริหารงานของรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ จุลานนท์ และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี “พ.ต.ท.ทักษิณมิได้กล่าวเรียกร้องให้ผู้ชุมนุมกระทำผิดกฎหมาย ให้เผาศาลากลางจังหวัด เผาสถานทูต หรือเผาสถานกงสุล หรือยุยงให้ล้มล้างรัฐธรรมนูญโดยวิธีการอันไม่ชอบด้วยกฎหมาย การที่เกิดเหตุรุนแรงที่สี่แยกราชประสงค์ เนื่องจากรัฐบาลใช้กำลังทหารเข้ากดดันกระชับพื้นที่และปิดล้อมโดยใช้รถยานเกราะและอาวุธสงครามขับไล่สลายการชุมนุมของกลุ่ม นปช. และประชาชน จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก”
      
       อย่างไรก็ตาม ประเด็นเรื่องการใช้ยานเกราะและอาวุธสงครามสลายการชุมนุมกลุ่มเสื้อแดงนี้ ทางกองทัพบก ได้ออกมาปฏิเสธแล้วว่าไม่จริง เพราะยานเกราะมีไว้เพื่อกำบังกระสุนหรือระเบิดเท่านั้น เนื่องจากเจ้าหน้าที่ถูกยิงเสียชีวิตหลายนายตั้งแต่การชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดงที่แยกคอกวัวเมื่อเดือน เม.ย.2553 แม้แต่ในเดือน พ.ค.ก็ยังมีเจ้าหน้าที่ถูกยิงเสียชีวิตหลายนาย ซึ่งพบว่ามีการใช้อาวุธร้ายแรงในการชุมนุม รวมทั้งมีผู้ชุมนุมบางส่วนปล้นปืนของเจ้าหน้าที่ด้วย จึงไม่อยากให้อัยการสูงสุดด่วนสรุปเช่นนั้น ประชาชนจะเข้าใจผิดกองทัพได้
      
       ส่วนที่การประท้วงได้กระจายไปตามต่างจังหวัดและมีการวางเพลิงเผาสถานที่ราชการ ศาลากลางจังหวัดต่างจังหวัด 4 แห่ง หรือมีผู้ก่อความไม่สงบ วางระเบิดหรือยิงอาวุธปืนร้ายแรงเข้าไปที่ธนาคารพาณิชย์หรือสถานที่ราชการนั้น นายจุลสิงห์ อดีตอัยการสูงสุดมองว่า ไม่มีข้อเท็จจริงเชื่อมโยงว่าเกิดจากการยุยงสนับสนุนของ พ.ต.ท.ทักษิณ พยานหลักฐานยังไม่พอฟังได้ว่า พ.ต.ท.ทักษิณได้ร่วมหรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำผิดหรือสนับสนุนให้มีการกระทำความผิดฐานก่อการร้าย จึงมีคำสั่งไม่ฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ
      
       ด้านนายอรรถพล ใหญ่สว่าง อัยการสูงสุดคนใหม่ ยืนยันว่า การสั่งคดีในส่วนของ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นการสั่งคดีโดยนายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ อดีตอัยการสูงสุด ซึ่งสั่งคดีก่อนที่ตนจะเข้ามารับตำแหน่งอัยการสูงสุด
      
       สำหรับคดีก่อการร้ายนี้ นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) พร้อมคณะพนักงานสอบสวนดีเอสไอ ได้นำสำนวนการสอบสวนจำนวน 5 ลัง พร้อมความเห็นสมควรสั่งฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ กับพวกรวม 25 คน ในข้อหาร่วมกันหรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำผิดหรือสนับสนุนให้ผู้อื่นกระทำผิดฐานก่อการร้าย ไปมอบให้นายวัยวุฒิ หล่อตระกูล รองอัยการสูงสุดเมื่อวันที่ 29 ก.ค.2553 เพื่อพิจารณายื่นฟ้องต่อศาล โดยในส่วนของ พ.ต.ท.ทักษิณนั้น ทางพนักงานสอบสวนมีความเห็นสั่งฟ้องในความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายนอกราชอาณาจักร และข้อหาเพื่อให้เกิดเหตุร้ายแก่ประเทศไทยจากภายนอกประเทศตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 127 ประกอบมาตรา 4 ,5 ,6 และ 7 ด้วย
      
       ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) ตั้งข้อสังเกตกรณีที่อัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณในคดีก่อการร้ายว่า ถือเป็นคำสั่งที่สวนทางกับกรณีที่นายธาริตส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดสั่งฟ้อง จึงต้องส่งกลับไปให้ดีเอสไอพิจารณา ดังนั้นต้องถามนายธาริตว่า ยังยืนยันในคำสั่งฟ้องก่อนหน้านี้หรือไม่
      
       ซึ่งนายธาริต รีบออกมาบอกว่า ไม่สามารถทำความเห็นแย้งอัยการสูงสุดได้ เพราะเป็นคำสั่งทางคดีของอัยการสูงสุด คดีจึงถือเป็นที่ยุติแล้ว หากประชาชนข้องใจดุลยพินิจในคำสั่งดังกล่าวก็ไม่สามารถไปร้องขอให้หน่วยงานใดรื้อฟื้นคดีได้
      
       ด้านนายถาวร เสนเนียม รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ข้องใจที่นายจุลสิงห์สั่งไม่ฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ สำนักงานอัยการสูงสุดได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาพิจารณา มีนายวินัย ดำรงค์มงคลกุล อธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ เป็นประธาน และสรุปความเห็นให้สั่งฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ “อยากให้อัยการสูงสุดชี้แจงเพื่อให้ประชาชนมองสำนักงานอัยการสูงสุดในทิศทางที่ดี เนื่องจากคดีนี้เป็นคดีสำคัญ... ผมได้ยื่นเรื่องให้คณะกรรมาธิการการยุติธรรมและการตำรวจ วุฒิสภา ตรวจสอบแล้ว”
      
       ทั้งนี้ นายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ อดีตอัยการสูงสุด ได้เข้าชี้แจงคณะกรรมาธิการการยุติธรรมฯ เมื่อวันที่ 14 ต.ค.ว่า เหตุที่สั่งไม่ฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ เนื่องจากเป็นความผิดนอกราชอาณาจักร จึงไม่อยู่ในอำนาจของอัยการสูงสุด แม้จะเป็นผู้สนับสนุนก็ตาม เพราะไม่มีแรงผลักดันมากพอ ยืนยันว่า ได้ไตร่ตรองอย่างรอบคอบโดยยึดกฎหมาย ไม่เข้าข้างฝ่ายใด และไม่เคยใช้กฎหมายประหัตประหารใคร
      
       ขณะที่นายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนาย นปช. รีบออกมาอ้างว่า การที่อัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณอาจเป็นผลดีต่อ 24 แกนนำ นปช. ที่อาจไม่เข้าข่ายก่อการร้ายก็ได้
      
       เป็นที่น่าสังเกตว่า เหตุผลของอัยการสูงสุดที่สั่งไม่ฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ โดยบอกว่า พ.ต.ท.ทักษิณไม่ได้กล่าวเรียกร้องให้ผู้ชุมนุมกระทำผิดกฎหมาย หรือให้เผาศาลากลางจังหวัดนั้น หากย้อนกลับไปฟังคำพูดที่ พ.ต.ท.ทักษิณโฟนอินมายังเวทีคนเสื้อแดงแล้ว จะพบว่า แม้ พ.ต.ท.ทักษิณจะไม่พูดให้ชัดเจนให้คนเสื้อแดงเผาศาลากลาง แต่ข้อความที่สื่อสารออกมา ก็สอดรับกับคำปราศรัยของแกนนำ นปช.หลายคนที่ส่งสัญญาณให้คนเสื้อแดงเผาทั้ง กทม.และศาลากลางจังหวัดทั่วประเทศ
      
       ยกตัวอย่างเช่น พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โฟนอินมายังเวทีคนเสื้อแดงว่า “...ผมอยากจะฝากบอกคนเสื้อแดงทั่วประเทศอีกครั้งหนึ่งครับว่า ถ้ามีอะไรเกิดขึ้นรุนแรงกับพี่น้องเสื้อแดงที่กรุงเทพฯ พี่น้องเสื้อแดงต่างจังหวัดให้ไปที่ศาลากลางกันให้เต็มที่...”
      
       ขณะที่นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำ นปช.ปราศรัยว่า “...ขอให้เสื้อแดงที่อยู่ทุกจังหวัด ฟังภารกิจดังต่อไปนี้ ให้ไปรวมตัวที่ศาลากลางฯ รอเวลา มีการปราบเมื่อไหร่ ตัดสินใจได้ทันที ทุกจังหวัดให้ไปศาลากลางฯ ฟังสัญญาณจากที่นี่ จอมืดเมื่อไหร่แปลว่าได้มีการปราบแล้ว พี่น้องใช้ดุลพินิจจัดการได้ทันที...”
      
       ด้านนายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง แกนนำ นปช.ปราศรัยว่า “...ถ้ารู้ว่าเขาจะปราบปราม ไม่ต้องเตรียมอะไรมาก มาด้วยกันขวดแก้วคนละใบ มาเติมน้ำมันเอาข้างหน้า บรรจุให้ได้ 75 ซีซี ถึง 1 ลิตร ถ้าเรามา 1 ล้านคนในกรุงเทพมหานคร มีน้ำมัน 1 ล้านลิตร รับรองว่า กทม.เป็นทะเลเพลิงอย่างแน่นอน การสู้ของคนเสื้อแดงแบบง่ายๆ อย่างนี้ บอกให้ทหารได้รับทราบ บอกให้ทหารสุนัขรับใช้อำมาตย์ได้รู้ว่า ถ้าคุณทำร้ายคนเสื้อแดงแม้เลือดหยดแต่หยดเดียว นั่นหมายความว่ากรุงเทพฯ จะเป็นทะเลเพลิงทันที ส่วนต่างจังหวัด จตุพรได้บอกแล้วให้รอฟังข่าว พี่น้องที่อยู่ในต่างจังหวัด ไม่ได้มาไม่เป็นไร ถ้ามีอะไรเกิดขึ้น รวมตัวกันที่ศาลากลางฯ ไม่ต้องรอเงื่อนไข จัดการให้ราบพณาสูร...”
      
       ขณะที่นายวีระ มุสิกพงศ์ แกนนำ นปช.ปราศรัยว่า “...และถ้านึกว่ายุทธวิธีแบบนี้จะทำให้คนเขากลัว นึกว่ายุทธวิธีแบบนี้ ถ้าทำแล้วจะทำให้พี่น้องแตกกระสานซ่านเซ็นกลับบ้าน ไอ้เรื่องแตกกลับบ้านนั้นเป็นไปได้ แต่จะบอกให้รู้ไว้ว่า ไฟจะลุกท่วมทุกตารางนิ้วของประเทศไทย...”
      
       ส่วนนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช. ปราศรัยว่า “...ถ้าพวกคุณยึดอำนาจ พวกผมเผาทั่วประเทศ เผาไปเลยพี่น้อง ผมรับผิดชอบเอง แล้วใครจะจับ ใครจะอะไร มาเอากับผมนี่ ถ้าคุณยึดอำนาจ เผา ....อย่างที่ผมบอกไงครับ ว่าคนเสื้อแดงเขาขี้ตกใจ ถ้ามายิงตูม ตูม ตูม ตูม คนเสื้อแดงเขาวิ่งเข้าเกษร(พลาซ่า) วิ่งเข้าเซ็นทรัลเวิลด์ วิ่งเข้าพารากอน วิ่งเข้าโรงแรมแถวนี้ แล้วของเราเท่าที่ผมฟังดู เช็คกระแสอาการตกใจ แนวโน้มที่จะเป็นมีหลายอาการ บางคนตกใจแล้วชอบวิ่งไปหากระเป๋าแบรนด์เนมก็มี บางคนเวลาตกใจชอบวิ่งไปร้านเครื่องประดับ เครื่องทอง เครื่องเพชรก็มี บางคนเวลาตกใจชอบขับรถเข้าไปในห้างก็มี บางคนเวลาตกใจจุดไฟขึ้นมาดื้อๆ ก็มี...”
      

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9787
    • ดูรายละเอียด
Re: สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 6-12 ต.ค.2556
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: 27 ตุลาคม 2013, 21:21:51 »
       3. ศาล รธน. ไม่รับวินิจฉัยร่างแก้ รธน. ตาม ม.154 ชี้ ไม่ใช่ร่าง พ.ร.บ. พร้อมเผย ยังไม่ได้พิจารณาร่างแก้ที่มา ส.ว.อีก 4 คำร้อง!

       ความคืบหน้ากรณีที่ ส.ว.68 คนนำโดยนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา และ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ 142 คน นำโดยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ ได้ยื่นเรื่องต่อนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา เพื่อส่งต่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 154 ว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยที่มา ส.ว.มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ หลังที่ประชุมรัฐสภาเสียงข้างมากลงมติเห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวในวาระ 3 เมื่อวันที่ 28 ก.ย. ซึ่งมาตรา 154 ระบุว่า หากมี ส.ส.หรือ ส.ว.เข้าชื่อเสนอร่าง พ.ร.บ.ฉบับใดให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย นายกรัฐมนตรีจะต้องระงับการทูลเกล้าฯร่างกฎหมายดังกล่าว เพื่อรอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก่อน แต่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ไม่สน เดินหน้าทูลเกล้าฯ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวเมื่อวันที่ 1 ต.ค. ขณะที่หลายฝ่ายเตือนว่า นายกฯ กระทำการไม่บังควรและผลักภาระให้พระมหากษัตริย์
       
       ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 9 ต.ค. ศาลรัฐธรรมนูญได้เผยแพร่เอกสารข่าวผลประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญว่า ตามที่สมาชิกรัฐสภา 142 คนเห็นว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยที่มา ส.ว.มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากร่างฯ ที่เสนอต่อประธานรัฐสภากับฉบับที่ประธานรัฐสภาแจกจ่ายให้สมาชิกรัฐสภาตั้งแต่วาระ 1 เป็นคนละฉบับกัน และมีเนื้อหาสาระแตกต่างกันหลายส่วน ขณะที่กระบวนการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและข้อบังคับการประชุม การปฏิบัติหน้าที่ประธานที่ประชุมรัฐสภาของนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ก็ไม่เป็นกลางและเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ เพราะจะมีโอกาสลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ว.ได้ทันทีที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ ไม่เท่านั้นยังมีการกดบัตรลงคะแนนแทนกันของสมาชิกรัฐสภาที่ไม่ได้อยู่ในที่ประชุมหลายคน จึงเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 130 นอกจากนี้การที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวมีข้อความที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 ยังทำให้เสียดุลยภาพทางการเมืองและการตรวจสอบโดยสิ้นเชิง และการยกเลิกข้อความในรัฐธรรมนูญมาตรา 115 ย่อมส่งผลให้การได้มาซึ่ง ส.ว.มีความไม่เป็นกลางและมีการแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง
       
       ขณะที่คำร้องของ 68 ส.ว.ระบุว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยที่มา ส.ว. เป็นร่างที่ไม่คำนึงถึงสถานะของความเป็นกฎหมายสูงสุด มีผลเป็นการลบล้างสิทธิการดำรงตำแหน่งของ ส.ว.ที่มาจากการสรรหา ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันรับรองไว้ นอกจากนี้ยังขยายวาระการดำรงตำแหน่งของ ส.ว.เลือกตั้ง ซึ่งเป็นการกระทำที่ขัดกันแห่งผลประโยชน์ อันเป็นสิ่งต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 122 อีกทั้งร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวยังมีความไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะร่างฯ ที่เสนอญัตติกับฉบับที่สมาชิกรัฐสภาพิจารณาเป็นคนละฉบับกัน จึงเป็นญัตติที่มิชอบ ขณะที่การปฏิบัติหน้าที่นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภาที่ดำเนินการประชุมทั้งที่รู้ว่าองค์ประชุมไม่ครบ ถือเป็นการจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 137 และฝ่าฝืนข้อบังคับการประชุมรัฐสภาอย่างชัดแจ้ง เช่นเดียวกับการปฏิบัติหน้าที่ของนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ก็ขัดกันแห่งผลประโยชน์ ไม่เป็นกลาง และขัดหลักนิติธรรม กระบวนการตราร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ยังปรากฏการลงคะแนนแทนสมาชิกรายอื่นระหว่างการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ซี่งเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญเช่นกัน
       
       ทั้งนี้ องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาแล้วมีมติว่า คำร้องทั้งสองไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะรับไว้วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 154 วรรค 1 ได้ เนื่องจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 154 เป็นการควบคุมการตรา พ.ร.บ.มิให้ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ โดยให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรที่จะวินิจฉัย แต่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยที่มา ส.ว. ไม่ใช่ร่าง พ.ร.บ. จึงไม่เข้าข่ายมาตรา 154 แต่อย่างใด ศาลจึงมีคำสั่งไม่รับคำร้องทั้งสองไว้วินิจฉัย
       
       ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญ ยังเผยด้วยว่า ศาลฯ ยังไม่ได้พิจารณาคำร้องเกี่ยวกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยที่มา ส.ว.อีก 4 คำร้อง เพราะอยู่ระหว่างรอให้ผู้ถูกร้องทั้ง 312 คน ทำคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาส่งกลับมายังศาลฯ ภายใน 15 วัน รวมทั้งคำร้องเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 และ 237 ว่าเป็นการล้มล้างการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยหรือไม่ เนื่องจากอยู่ระหว่างตรวจสอบเอกสารหลักฐานและรายงานที่คณะกรรมาธิการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 68 และ 237 ส่งมาให้ศาลฯ พิจารณา เพื่อนำมาประกอบสำนวนก่อนหน้านี้
       
       4. ที่ประชุมวุฒิฯ เสียงข้างมาก ผ่านวาระ 1 พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านแล้ว ด้าน 40 ส.ว.เล็งยื่นศาล รธน.วินิจฉัยขัด รธน.หรือไม่!

       เมื่อวันที่ 7 ต.ค. ได้มีการประชุมวุฒิสภาเพื่อพิจารณาเรื่องด่วนร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ วงเงิน 2 ล้านล้านบาท ในขั้นรับหลักการวาระ 1 โดยนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้กล่าวรายงานถึงความจำเป็นในการใช้จ่ายตามร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้าน พร้อมยืนยันว่า กระบวนการเบิกจ่ายเงินมีความรัดกุม โปร่งใส และวงเงินกู้ไม่เกิน 2 ล้านล้านในเวลา 7 ปี ไม่เกินร้อยละ 50 ของกรอบหนี้สาธารณะ สามารถบริหารจัดการหนี้ได้ ไม่ให้กระทบต่อสถานะการคลังของประเทศ
       
        จากนั้น นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ได้ให้คณะกรรมาธิการ(กมธ.) คมนาคมและคณะกรรมาธิการการเงิน การคลัง การธนาคาร และสถาบันการเงิน วุฒิสภา รายงานผลการศึกษาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวต่อที่ประชุม ซึ่ง กมธ.เห็นว่าที่ประชุมควรรับหลักการร่างฯ ดังกล่าว เพราะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานมีความจำเป็น เพื่อให้เกิดการเชื่อมต่อกับต่างประเทศ อำนวยความสะดวกด้านการคมนาคมและขนส่งสินค้า ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนทางเศรษฐกิจ
       
        ด้านนายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา ในฐานะตัวแทน กมธ.การเงิน การคลังฯ รายงานว่า จากการศึกษาของ กมธ.แม้จะเห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน แต่มีข้อเสนอแนะว่า รัฐบาลควรศึกษารายละเอียดการลงทุน ความคุ้มค่าทุกด้าน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด นอกจากนี้ยังเห็นว่าร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 169 และว่า รัฐบาลสามารถบริหารจัดการโครงการเหล่านี้ด้วยวิธีงบประมาณปกติได้ โดยตั้งงบรายจ่ายข้ามปี หรือตั้งเป็นงบผูกพันข้ามปี พร้อมวงเงินเผื่อเหลือเผื่อขาดไว้ ดังนั้นการนำเข้าสภาเพียงครั้งเดียว แล้วต้องมีผลผูกพันวงเงินถึง 2 ล้านล้านบาท เป็นเวลา 7 ปี เท่ากับหลีกเลี่ยงการตรวจสอบ
       
        ขณะที่นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยืนยันว่า ก่อนจะเสนอร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ได้หารือหลายหน่วยงานแล้ว ได้รับคำยืนยันจากคณะกรรมการกฤษฎีกาและสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะว่าดำเนินการตามรัฐธรรมนูญแล้ว และเท่าที่ตรวจสอบพบว่า เคยมีการออก พ.ร.บ.กู้เงินในลักษณะนี้มากว่า 10 ฉบับแล้ว
       
        ทั้งนี้ หลังที่ประชุมวุฒิฯ ใช้เวลาอภิปรายร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านเป็นเวลา 2 วัน โดยมี ส.ว.ใช้สิทธิอภิปราย 74 คน ในที่สุด ที่ประชุมเสียงข้างมากก็ได้ลงมติเห็นชอบหลักการร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ 86 ต่อ 41 เสียง งดออกเสียง 8 เสียง และตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมา 25 คนเพื่อแปรญัตติใน 7 วัน ด้านคณะกรรมาธิการฯ เตรียมขอเพิ่มเวลาอีก 30 วัน เนื่องจากต้องเชิญส่วนราชการมาชี้แจงถึง 18 หน่วยงาน
       
        ด้านนายประสาร มฤคพิทักษ์ ส.ว.สรรหา เผยว่า หากร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านผ่านการพิจารณาของรัฐสภาเมื่อใด ทางกลุ่ม 40 ส.ว.จะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 154 ว่าร่างฯ ดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 169 หรือไม่ และว่า เท่าที่ดูเนื้อหาของร่างฯ ฉบับนี้มีหลายส่วนที่เป็นปัญหา ทั้งความไม่ชัดเจนไม่สมเหตุผลของโครงการ ส่อที่จะทำให้เกิดภาระหนี้สินแก่ประเทศมหาศาล

ASTVผู้จัดการออนไลน์    13 ตุลาคม 2556