แสดงกระทู้

This section allows you to view all posts made by this member. Note that you can only see posts made in areas you currently have access to.


Messages - patchanok3166

หน้า: 1 ... 17 18 [19] 20
271
ดอกเก๊กฮวยที่นิยมนำมาทำเป็นเครื่องดื่มสมุนไพรสีสวย สรรพคุณของเก๊กฮวยก็ใช่ว่าจะน้อยหน้ารสชาติและกลิ่นหอม ๆ ล้อมรอบไปด้วยประโยชน์ดีต่อสุขภาพ !

          เก๊กฮวย สรรพคุณสมุนไพรชนิดนี้ไม่ได้มีไว้ทำเครื่องดื่มแก้กระหายอย่างเดียว แต่ดอกเก๊กฮวยที่นำมาต้มเป็นชาเก๊กฮวยก็ดี หรือน้ำสมุนไพรเพื่อสุขภาพก็ดี ล้วนแล้วแต่แฝงสรรพคุณเป็นยามาด้วย และหากอยากรู้จักสรรพคุณของเก๊กฮวยให้ถ่องแท้ ลองอ่านบทความด้านล่าง แล้วไปหาน้ำเก๊กฮวยดื่มกันเลย !
เก๊กฮวย มีดีที่ดอก

          เก๊กฮวยเป็นดอกไม้ตระกูลเดียวกับดอกทานตะวันและดอกดาวเรือง เก๊กฮวยในภาษาจีนเรียกว่า จวี๋ฮัว ถ้าแปลเป็นไทยก็จะเรียกกันว่า ดอกเบญจมาศสวน หรือดอกเบญจมาศหนู ส่วนเก๊กฮวยในภาษาอังกฤษ มีชื่อว่า Chrysanthemum 

          ชื่อวิทยาศาสตร์ของเก๊กฮวยนั้นเรียกต่างออกไปในแต่ละสายพันธุ์ โดยเก๊กฮวยดอกขาว มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Dendranthema morifolium (Ramat.) Tzvel. หรือ Chrysanthemum morifolium Ramat. จัดเป็นพืชในตระกูล Asteraceae ส่วนสายพันธุ์เก๊กฮวยดอกสีเหลือง ชื่อวิทยาศาสตร์คือ Dendranthema indicum L. หรือ Chrysanthemum indicum L. ซึ่งไม่ว่าจะเป็นเก๊กฮวยสายพันธุ์สีขาวหรือสีเหลือง สรรพคุณทางยาของเก๊กฮวยก็อยู่ที่ดอกเก๊กฮวยด้วยกันทั้งคู่ค่ะ

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของต้นเก๊กฮวย
 
          ต้นเก๊กฮวยเป็นไม้ล้มลุก ขนาดต้นสูงประมาณ​ 60-150 เซนติเมตร เจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่อากาศหนาว ในไทยจึงนิยมปลูกเก๊กฮวยบนที่ราบสูงเป็นส่วนใหญ่ ส่วนดอกเก๊กฮวยเป็นดอกขนาดเล็ก มีทั้งดอกเก๊กฮวยสีเหลืองและดอกเก๊กฮวยสีขาว ต้นเก๊กฮวยจะออกดอกได้ดีในช่วงฤดูหนาว โดยส่วนใหญ่จะนิยมเก็บดอกมาตากแห้ง นึ่ง หรืออบแห้ง แล้วนำมาทำเป็นเครื่องดื่มสมุนไพร


เก๊กฮวย สรรพคุณไม่ธรรมดา

          สรรพคุณทางยาของดอกเก๊กฮวยมีดีอยู่หลายด้าน โดยสามารถจำแนกประโยชน์ของดอกเก๊กฮวยที่เกี่ยวกับสุขภาพได้ ดังนี้

          1. ช่วยดับร้อน ดอกเก๊กฮวยมีฤทธิ์เย็น ช่วยดับพิษร้อนในร่างกาย แก้อาการร้อนใน แก้กระหาย แก้ไข้ โดยใช้ดอกเก๊กฮวยแห้งประมาณ 5-9 กรัม ต้มกิน หรือทำเป็นชา แล้วดื่มในปริมาณที่เหมาะสม

          2. ช่วยกระตุ้นระบบย่อยอาหาร โดยเฉพาะดื่มชาเก๊กฮวยร้อน ๆ จะช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ดียิ่งขึ้น ช่วยบรรเทาอาการปวดท้องจากอาหารไม่ย่อยได้ ทั้งนี้ให้ใช้ดอกเก๊กฮวยแห้งประมาณ 5-9 กรัม ต้มกิน หรือทำเป็นชา แล้วดื่มในปริมาณที่เหมาะสม

          3. ดีต่อหัวใจ เก๊กฮวยเป็นพืชสมุนไพรที่ดีต่อสุขภาพหัวใจ เพราะมีฤทธิ์ลดระดับความดันโลหิต นอกจากนี้ทางมูลนิธิโรคหัวใจแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ยังระบุว่า เก๊กฮวยช่วยป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือดได้อีกด้วย

          4. แก้ตาบวมแดง ในตำรับยาสมุนไพรจีนมักใช้ดอกเก๊กฮวยผสมกับใบหม่อน เก๋ากี้ หรือชุมเห็ดไทย รักษาอาการตาบวมแดงจากการตากลม หรือตาบวมแดงจากภาวะตับพร่อง ไฟในตับมาก โดยใช้ดอกสดล้างสะอาด ตำให้แหลก แล้วนำมาประคบที่ดวงตา

5. แก้วิงเวียน หากมีอาการปวดศีรษะ วิงเวียน เนื่องจากการกำเริบของหยางในตับ สามารถใช้เก๊กฮวยร่วมกับโกฐสอและสมุนไพรฤทธิ์เย็นชนิดอื่นเพื่อบรรเทาอาการได้

          6. รักษาแผลฝีหนอง และแผลบวม โดยใช้ดอกเก๊กฮวยสด 1 กำมือ ล้างให้สะอาด บดผสมน้ำแล้วดื่ม จากนั้นนำกากดอกเก๊กฮวยมาพอกตามแผล

          7. รักษาผมร่วง ตำรับยาจากประเทศเวียดนามใช้ดอกเก๊กฮวยสดตำละเอียดแล้วกลั่นเอาแต่น้ำมาหมักผม โดยเชื่อว่าดอกเก๊กฮวยสามารถรักษาอาการผมร่วง ช่วยให้สีผมดำ เงางาม ไม่เปลี่ยนเป็นสีเทาก่อนวัยอันควร

          การใช้ดอกเก๊กฮวยให้เป็นประโยชน์เพื่อสุขภาพ ในปัจจุบันจะนิยมนำดอกเก๊กฮวยแห้งมาต้มเป็นน้ำสมุนไพร หรือจิบเป็นชาสมุนไพรกันเสียมากกว่าจะนำดอกเก๊กฮวยมาใช้ภายนอก ดังนั้นเรามาดูวิธีทำน้ำเก๊กฮวยกันค่ะ

วิธีทำน้ำเก๊กฮวย
     
          1. ใช้ดอกเก๊กฮวยแห้งประมาณ 1 กำมือ นำมาต้มกับน้ำเดือดประมาณ 2 ลิตร

          2. ต้มดอกเก๊กฮวยสัก 2-3 นาที แล้วใส่น้ำตาลทรายลงไป (ความหวานตามชอบ)

          3. คนสักพักพอให้น้ำตาลทรายละลายจนหมด ปิดไฟ พักไว้จนเย็น

          4. เมื่อน้ำเก๊กฮวยพออุ่น ๆ สามารถเทใส่แก้วแล้วดื่มได้เลย หรือจะพักน้ำเก๊กฮวยให้เย็นจากนั้นเติมน้ำแข็งดื่มแบบเย็น ๆ ให้ชื่นใจก็ได้

          ทั้งนี้ในการต้มน้ำเก๊กฮวย บางคนอาจใส่ใบเตยลงไปด้วยเพื่อเพิ่มกลิ่นหอม หรืออาจใส่ลูกพุดจีนเพิ่มสีเหลืองให้น้ำเก๊กฮวยมีสีสันมากกว่าเดิมก็ได้เช่นกันค่ะ ว่าแล้วก็ไปหาน้ำเก๊กฮวยมาดื่มเพื่อสุขภาพกันบ้างดีกว่าเนอะ ;)




07เม.ย 61
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชฯ
มูลนิธิโรคหัวใจแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

272
 “ไม่กินข้าวนะ กำลังไดเอตอยู่” ประโยคนี้คุ้นๆ ไหมคะ คุณอาจจะเป็นคนพูดเอง หรืออาจจะได้ยินคนใกล้ตัวพูดกันอยู่บ่อยๆ ไม่กินข้าวในที่นี้ เป็นไปได้ทั้งการ “ไม่กินข้าว แต่กินเกาเหลา สุกี้ ยำ ส้มตำ ฯลฯ” ไปจนถึง “งดมื้ออาหาร” ไปเลย บางคนทำแล้วได้ผล แต่บางคนก็อาจจะไม่ได้โชคดีเสมอไป หากไม่ทานแป้งเลยจะมีผลเสียต่อร่างกายอย่างไรบ้าง Sanook! Health มีคำตอบค่ะ

 

แป้งนั้น สำคัญไฉน?

แป้ง หรือคาร์โบไฮเดรต เป็นหนึ่งในอาหาร 5 หมู่ที่ร่างกายต้องการในแต่ละวัน โดยคาร์โบไฮเดรตเมื่อเข้าสู่ร่างกายจะแปลงเป็นน้ำตาลกลูโคส มีหน้าที่คอยให้พลังงานแก่ร่างกาย ไม่ว่าจะทำกิจกรรมใดๆ ก็ตาม ยืน เดิน วิ่ง ทำงาน ออกกำลังกาย ทุกกิจกรรมล้วนแล้วแต่ต้องการพลังงานทั้งสิ้น ดังนั้นหากร่างกายได้รับคาร์โบไฮเดรตไม่เพียงพอ อาจทำให้เราขาดพลังงานในการทำกิจกรรมดังกล่าว ไม่เรี่ยวแรง สมองไม่แล่น เหนื่อยง่าย หรืออาจถึงขั้นโหยหิว มือสั่น อยากทานอะไรหวานๆ อาการคุ้นๆ ไหม ใครที่หักดิบอดข้าวไปสักพักหลายคน อาจเคยมีอาการคล้ายๆ กันนี้มาแล้ว

 

อันตรายจากการขาดคาร์โบไฮเดรต

หากเราไม่ทานแป้ง หรือน้ำตาลเลย อะไรจะเกิดขึ้น? แน่นอนว่าอันดับแรกคือ ร่างกายจะไม่มีเรี่ยวแรงในการทำกิจกรรมต่างๆ ขาดพลังงานในการดำรงชีวิต ร่างกายอาจพยายามหาแหล่งพลังงานมาเผาผลาญแทนคาร์โบไฮเดรต โดยการดึงไขมัน และโปรตีนมาเผาผลาญแทน แต่ในเมื่อไขมัน และโปรตีนเป็นตัวที่ช่วยสร้างกล้ามเนื้อ สร้างความชุ่มชื้นให้กับผิวหนัง หากโดนดึงมาเผาผลาญพลังงานแทนคาร์โบไฮเดรตอยู่เรื่อยๆ กล้ามเนื้อก็อาจจะลีบแบน ร่างกายซูบผอม ผิวหนังเหี่ยวย่น

นอกจากนี้ เมื่อร่างกายขาดสารอาหารที่สำคัญไป ระบบการทำงานภายในก็จะเริ่มแปรปรวน ภูมิคุ้มกันเริ่มบกพร่อง ตับไตกระเพาะอาหารเริ่มทำงานผิดปกติ รวมไปถึงระบบโลหิต ต่อมน้ำเหลือง และอื่นๆ จึงอาจเป็นช่วงอันตรายที่หลายโรครุมเร้าได้ง่าย เพราะร่างกายจะอ่อนแอ เชื้อแบคทีเรีย และไวรัสอาจเข้ามาก่อโรคให้เราได้ง่ายยิ่งขึ้น

 

ทานแป้งเท่าไรต่อวัน ถึงจะพอดี?

สำหรับใครที่ยังอยากลดความอ้วน ลดน้ำหนัก อย่างปลอดภัย ไร้โรค ยังคงต้องจำกัดปริมาณในการทานแป้งนั่นแหละถูกแล้ว แต่ไม่ควรงดทานเลย 100% ควรทานให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสม เลืออกทานคาร์โบไฮเดรตที่ดีมีคุณภาพ เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่ดี มีประโยชน์ และไม่มากเกินไปจนเหลือไปสะสมเป็นชั้นไขมันหนาๆ ตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย

คาร์โบไฮเดรตที่แนะนำ คือ ข้าวที่ไม่ได้รับการขัดสี หรือขัดสีน้อย เช่น ข้าวซ้อมมือ ข้าวกล้อง ขนมปังที่ไม่ฟอกขาว เช่น ขนมปังโฮลวีท รวมไปถึงผักผลไม้ที่มีรสหวานน้อย กากใยอาหารเยอะ อย่างมันเทศ ข้าวโพด ก็ยังทานได้ และดีต่อร่างกาย แต่ควรควบคุมปริมาณไม่ให้มากจนเกินความจำเป็นต่อร่างกาย

คิดง่ายๆ คือใน 1 มื้อ ทานได้ 1 กำปั้นมือ ทานอาหารให้ครบ 3 มื้อ มื้อเย็นจะลดแป้งลงอีกสักนิด และเพิ่มเนื้อสัตว์ และผักผลไม้เข้ามาแทนก็ได้ แต่อย่าถึงกับงดทานแป้ง และน้ำตาลโดยสิ้นเชิง

แต่ถ้าต้องการที่จะลดปริมาณของคาร์โบไฮเดรตที่น่าจะส่งผลดีต่อร่างกาย คือ การบริโภคน้ำตาลที่มากเกินไป โดยเราไม่ควรบริโภคเกินวันละ 6 ช้อน เพราะร่างกายจะนำน้ำตาลไปใช้ไม่ทัน ทำให้เกิดการสะสมไขมันในตับ ทำให้ตับอักเสบ และเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดตับแข็งได้ รวมทั้ง น้ำตาลที่เกินจะกลายเป็นไขมันที่สะสมอยู่ตามพุงของเรานั่นเอง

สิ่งสำคัญที่คนอยากผอมมักมองข้าม คือนอกจากการควบคุมปริมาณอาหารที่ทานในแต่ละวันแล้ว เราควรเผาผลาญพลังงานที่มีอยู่ออกไปด้วยการออกกำลังกาย ดังนั้นหากต้องออกกำลังกาย ร่างกายของเราจึงจำเป็นต้องมีพลังงานเพื่อเผาผลาญไขมันส่วนเกินด้วย ใครทำได้ตามนี้ รับรองว่านอกจากจะได้รูปร่างดีๆ กลับไปแล้ว ยังได้สุขภาพร่างกายที่แข็งแรง ไร้โรคภัยเป็นของแถมไปด้วยแน่นอน


08 เม.ย. 61 sanook.com

273
วันก่อนเห็นเพื่อนร่วมงานทานข้าวเสร็จก็ลุกขึ้นหยิบแปรงสีฟันเข้าห้องน้ำทันที เราก็นับถือในความเคร่งครัดของการดูแลสุขภาพช่องปากของตัวเองได้ดีในแบบที่เราไม่เคยทำ แต่ก็น่าสงสัยว่าเราเป็นคนหนึ่งที่ไม่เคยแปรงฟันเกิน 2 ครั้งต่อวัน แต่หมอฟันกลับบอกว่าเราแทบไม่มีฟันผุเลย คราบหินปูนก็ไม่ค่อยมี ไม่ต้องขูดให้เสียเงินเปล่า แต่เพื่อนคนนั้นกลับมีฟันผุมากมาย แถมยังมีปัญหาเรื่องของการเสียวฟันอยู่บ่อยๆ

หรือว่า... การแปรงฟันหลังทานอาหารทันที ไม่ได้ดีต่อสุขภาพฟันอย่างที่เราคิด?

 

มีผลงานวิจัยพบว่า การทานอาหารประเภทน้ำผลไม้ น้ำอัดลม หรืออาหารและเครื่องดื่มที่มีฤทธิ์เป็นกรดอ่อนๆ และมีน้ำตาลสูง จะทำให้สารเคลือบฟันด้านนอกอ่อนตัวลงนานตั้งแต่ 10 oทีไปจนถึง 1 ชั่วโมง ช่วงที่สารเคลือบฟันกำลังอ่อนตัวอยู่นั้น หากทำการแปรงฟันทันที จึงอาจเป็นสาเหตุทำให้สารเคลือบฟันหลุดลอกได้

เมื่อสารเคลือบฟันหลุดลอก เป็นเหตุให้ฟันไม่แข็งแรง อาจเสี่ยงมีอาการเสียงฟัน ฟันกร่อน ฟันสึก ไปจนถึงฟันผุได้ง่ายเช่นเดียวกัน

 

หากใครที่ยังอยากแปรงฟันเพื่อสุขภาพที่ดีของช่องปากระหว่างวัน ทีคำแนะนำดังนี้


1.แปรงฟันด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ ก่อน ทานอาหารประเภทเครื่องดื่มน้ำผลไม้ปั่น น้ำอัดลม หรือเครื่องดื่มและอาหารที่มีรสเปรี้ยว และหวานจัด

2.บ้วนปากด้วยน้ำเปล่าทันทีหลังจากทานอาหารดังกล่าวทันที อาจจะบ้วนซ้ำๆ ได้ พักสัก 1 ชั่วโมง แล้วค่อยลุกไปแปรงฟัน

3.เลือกใช้แปรงสีฟันที่มีขนนุ่ม แปรงฟันให้เบามือ แต่แปรงให้นานขึ้น ดีกว่าการแปรงฟันเร็วๆ แรงๆ

4.หลังแปรงฟัน สามารถบ้วนแต่ฟองทิ้งได้โดยไม่ต้องบ้วนน้ำเปล่าซ้ำ แต่หากรู้สึกไม่สบายปาก ให้บ้วนน้ำเปล่าเพียงครั้งเดียว เพื่อให้ฟลูออไรด์ในยาสีฟันยังคงอยู่ที่ฟันให้มากที่สุด
 

เพียงเทคนิคง่ายๆ เท่านี้ คุณก็จะมีสุขภาพฟันที่ดี โดยไม่ต้องไปพบทันตแพทย์บ่อยๆ แล้วล่ะค่ะ


07  เม.ย 61  ข้อมูล :health2you

274
 รักษาการ ผอ.โรงพยาบาลดอนสัก เขียนใบสั่งยา รักษาอาการยอดนิยม แบบไม่ใช้ยา เน้นออกกำลังกาย คุมอาหาร อย่างสม่ำเสมอ โซเชียลถูกใจแห่แชร์กระหน่ำ

           วันที่ 27 มกราคม 2561 โลกโซเชียลได้มีการแห่แชร์ภาพใบสั่งยาของ นายแพทย์พิรกิจ วงศ์วิชิต แพทย์ชำนาญการ รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลดอนสัก จ.สุราษฎร์ธานี โดยได้โพสต์ภาพและข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Piragit Wongwichit ระบุว่า "ใบสั่งยา แบบไม่ใช้ยา แชร์ได้ครับ ไม่หวงสูตรยา"


 ซึ่งใบสั่งยาของ นายแพทย์พิรกิจ มีดังนี้

           ยาลดความอ้วน - วิ่งวันละ 3 กิโล สัปดาห์ละ 4 วัน ควบคุมอาหาร (ไม่อดอาหาร)
           ยาลดความดัน - งดอาหารเค็ม วิ่ง/เดิน วันละ 30 นาที สัปดาห์ละ 4 วัน
           ยาเบาหวาน - งดอาหารหวาน ออกกำลังกาย เดิน/วิ่ง สัปดาห์ละ 4 วัน
           ยาลดไขมัน - งดอาหารทอด/อาหารมัน ออกกำลังกาย เดิน/วิ่ง สัปดาห์ละ 4 วัน
           สรุป : ออกกำลังกายสม่ำเสมอ สุขภาพแข็งแรง

05 มี.ค 61ข้อมูลจาก  เฟซบุ๊ก Piragit Wongwichit

275
 นิ่วในไตเกิดจากอะไร ชอบดื่มน้ำเย็นจัด ดื่มน้ำน้อย ทำให้เป็นนิ่วในไตได้จริงหรือ ?

หลายคนที่ชอบดื่มน้ำเย็นรู้สึกกลัวและกังวลว่า นี่เรามีโอกาสเสี่ยงเป็นนิ่วในไตด้วยไหม ? แล้วจริง ๆ นิ่วในไตเกิดจากการชอบดื่มน้ำเย็นจัด หรือดื่มน้ำน้อยเกินไปจริงหรือไม่ มาชี้แจงกันค่ะ

ดื่มน้ำน้อยเสี่ยงเป็นนิ่วในไตจริงไหม ?

          พูดถึงประเด็นดื่มน้ำน้อยกันก่อน เรื่องนี้เป็นความจริงค่ะ โดย อ.นพ.มนินธ์ อัศวจินตจิตร์ ศัลยแพทย์ระบบปัสสาวะ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวผ่านรายการชัวร์ก่อนแชร์ ทางสำนักข่าวไทย ว่า คนที่ดื่มน้ำน้อยจะทำให้สารก่อนิ่วมีความเข้มข้นสูงในปัสสาวะ สุดท้ายจะเกิดการจับตัว ตกผลึกกลายเป็นก้อนนิ่วขึ้นมาได้

ดื่มน้ำเย็นจัดบ่อย ๆ ก็เสี่ยงนิ่วในไตด้วยหรือ ?

          แต่สำหรับกรณีดื่มน้ำเย็นจัดนั้น อ.นพ.มนินธ์ ระบุว่า ขณะนี้ยังไม่เคยมีหลักฐานทางการแพทย์ว่าเป็นสาเหตุของการเกิดนิ่วในไตได้ ดังนั้นประเด็นนี้จึงไม่เป็นความจริง

          เช่นเดียวกับ พญ.ธิดากานต์ รุจิพัฒนกุล หรือคุณหมอผิง ที่ระบุในทวิตเตอร์ @thidakarn ว่า การดื่มน้ำเย็นไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นนิ่วในไต ซึ่งจริง ๆ แล้วนิ่วในไตเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ หลักป้องกันเบื้องต้นคือ ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอทุกวัน ถ้ามีติดเชื้อทางเดินปัสสาวะควรรีบรักษา อย่าปล่อยให้เป็นเรื้อรัง ไม่รับประทานเครื่องในสัตว์หรือหน่อไม้มากจนเกินไป

แล้วนิ่วในไตเกิดขึ้นได้อย่างไร ?

          นิ่วในไต เป็นก้อนผลึกขนาดเล็ก ประกอบด้วยหินปูน (แคลเซียม) กับสารเคมีอื่น ๆ เช่น ออกซาเลต เป็นต้น หรือบางรายอาจจะมีขนาดใหญ่ที่เกิดจากสารตกค้างต่าง ๆ ทั้งจากสารอาหารที่เรากินเข้าไป หรือกรดบางชนิดที่ร่างกายขับออกไม่หมด เช่น กรดยูริก โดยเจ้าก้อนนิ่วนี้ไม่ได้สร้างแค่ความเจ็บปวดเพียงอย่างเดียว แต่ยังไปเพิ่มอัตราเสี่ยงในการเป็นโรคไตอีกด้วย

          สาเหตุที่ทำให้เกิดนิ่วในไตมีหลายประการ เช่น เกิดจากการเสียสมดุลของสารก่อนิ่วกับสารยับยั้งนิ่ว ซึ่งปกติจะขับออกมาในปัสสาวะ ถ้าหากมีสารก่อนิ่วขับออกมากับปัสสาวะมากผิดปกติก็จะจับตัวกลายเป็นตะกอน เมื่อสะสมมาก ๆ เข้าก็จับตัวกันกลายเป็นก้อนนิ่วได้

          นอกจากนี้ยังมีข้อมูลว่าการรับประทานอาหารบางชนิด เช่น แคลเซียม หรือออกซาเลตมากเกินไปก็อาจเป็นสาเหตุให้เกิดนิ่วได้ในผู้ป่วยบางราย


นิ่วในไต ป้องกันได้ไหม ?

          นิ่วในไตสามารถป้องกันได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเอง เช่น

          - ดื่มน้ำสะอาดให้ได้มากกว่าวันละ 8 แก้วหรือ 2 ลิตร เพื่อให้ร่างกายสร้างน้ำปัสสาวะตลอดเวลา จะช่วยป้องกันการเกิดนิ่วได้

          - ลดอาหารบางประเภทลง เช่น เนื้อสัตว์ อาหารที่มีกรดยูริกสูง (หนังสัตว์ปีก ตับ ไต ปลาซาร์ดีน) อาหารที่มีออกซาเลตสูง (งา ผักโขม ถั่วต่าง ๆ ช็อกโกแลต และชา)

          - พยายามควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน

          - ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ร่างกายทำงานได้ดีขึ้นและช่วยลดความเครียด

          ทั้งนี้หากใครมีอาการผิดปกติในระบบทางเดินปัสสาวะ เช่น ปัสสาวะเป็นเลือด ติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ มีอาการปวดบั้นเอวข้างใดข้างหนึ่งอย่างรุนแรง ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ เพราะนี่คือสัญญาณเตือนของโรคนิ่วในไตได้เช่นกันค่ะ

          -  นิ่วในไต อาการไหนบอกชัด รู้จักปัจจัยเสี่ยงป่วย

06 เม.ย 61
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
รายการชัวร์ก่อนแชร์ 
ทวิตเตอร์ @thidakarn
หน่วยปฏิบัติการวิจัยชีวเคมีและชีววิทยาโมเลกุลของโรคทางเมแทบอลิซึม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
 

276
 มะยงชิด ผลไม้ที่อุดมไปด้วยสารอาหารล้นเหลือ สารต้านอนุมูลอิสระก็มีไม่น้อย แถมรสชาติอร่อยจนต่อให้มะยงชิดราคาแรงก็ต้องยอม เพราะ 1 ปีมะยงชิดจะออกผลให้ได้ลิ้มรสสัก 1 ครั้ง !

          เข้าสู่ฤดูร้อนอย่างเป็นทางการ เราก็จะเริ่มเห็นผลไม้หน้าร้อนกันมากขึ้น และที่หลายคนนึกถึงมากที่สุดก็น่าจะเป็นมะยงชิด หรือมะปรางลูกเท่าไข่ไก่ รสหวานอมเปรี้ยว กินสด ๆ ก็อร่อย หรือจะนำมะยงชิดไปทำเป็นขนมหวานก็ได้ฟีลชื่นใจไปอีกแบบ และเนื่องจากช่วงนี้เป็นหน้ามะยงชิดจะออกผล วันนี้กระปุกดอทคอมเลยนำสรรพคุณของมะยงชิดมานำเสนอ มาดูกันค่ะว่า คุณค่าทางโภชนาการของมะยงชิดมีดีต่อสุขภาพของเรายังไง


มะยงชิด ผลไม้รสออกหวาน ดาวเด่นในหน้าร้อน

          มะยงชิดจัดเป็นผลไม้ในตระกูลเดียวกับมะปราง หรือเป็นมะปรางอีกชนิดหนึ่ง ทำให้ลักษณะผลของมะยงชิดจะคล้ายคลึงกับมะปรางมาก โดยผลมะยงชิดมีทั้งผลขนาดเล็ก ขนาดปานกลาง และขนาดใหญ่ ตามลักษณะของสายพันธุ์ที่แตกต่างกันออกไป ส่วนรสชาติของมะยงชิดผลดิบจะออกเปรี้ยว ถ้าผลสุกจะให้รสหวานอมเปรี้ยวเล็กน้อย หรือบางพันธุ์อาจมีรสหวานน้อย เปรี้ยวมากก็เป็นได้

มะยงชิด นครนายก ของดีเลื่องชื่อ

          จังหวัดนครนายกเป็นแหล่งปลูกมะยงชิดแห่งหนึ่งในประเทศไทย ที่สำคัญมะยงชิดของนครนายกยังเลื่องชื่อตรงที่มะยงชิดที่นี่ให้ผลใหญ่ มีรสหวาน เนื้อหนา เมล็ดเล็ก โดยมะยงชิด นครนายกจะมีสายพันธุ์เด่น ๆ เช่น มะยงชิดพันธุ์ทูลเกล้า มะยงชิดพันธุ์บางขุนนท์ และมะยงชิดพันธุ์ท่าด่าน ซึ่งจัดเป็นพันธุ์มะยงชิดที่ให้ผลดก ผลใหญ่ เปลือกหนากรอบ เมล็ดเล็ก และมีรสหวานอมเปรี้ยวเล็กน้อยทั้งนั้น มะยงชิดของจังหวัดนครนายกจึงเป็นที่นิยมมากนั่นเองค่ะ

          ทั้งนี้มะยงชิดยังมีชื่อเรียกตามแต่รสชาติด้วย โดยถ้ามีรสหวานมากกว่าเปรี้ยวจะเรียกว่า มะยงชิด แต่หากมีรสชาติเปรี้ยวมากกว่าหวานจะเรียกว่า มะยงห่าง ซึ่งในส่วนของรสชาตินั้นก็อย่างที่บอกค่ะว่าเป็นไปตามความแตกต่างของแต่ละสายพันธุ์ ส่วนแหล่งปลูกมะยงชิดในบ้านเราจะมีอยู่ที่นครนายก สุโขทัย ปราจีนบุรี เพชรบูรณ์ และกำแพงเพชร

มะยงชิด มะปราง ความแตกต่างที่สังเกตได้

          แม้มะยงชิดจะเป็นมะปรางชนิดหนึ่ง ทว่าความแตกต่างของมะยงชิดกับมะปรางก็มีข้อสังเกตให้แยกมะยงชิดกับมะปรางได้ดังนี้ค่ะ

          - เนื้อมะยงชิดจะมีรสหวาน ส่วนเปลือกมะยงชิดจะมีรสเปรี้ยว ส่วนมะปรางจะมีรสชาติเปรี้ยวอมหวานทั้งเปลือกและเนื้อใน

          - ผลมะยงชิดมีสีเหลืองออกส้ม ส่วนผลมะปรางจะมีสีเหลืองนวล หรือเหลืองออกทอง

          - รสชาติของมะยงชิดจะออกหวานเด่นกว่าเปรี้ยว แต่มะปรางจะมีรสเปรี้ยวนำหวานมากกว่า

คุณค่าทางโภชนาการของมะยงชิด

          ข้อมูลจากกองโภชนาการ กรมอนามัย แสดงคุณค่าทางโภชนาการของมะยงชิดปริมาณ 100 กรัม หรือมะยงชิดประมาณ 3-4 ผล ดังนี้

          - พลังงาน 62 กิโลแคลอรี

          - น้ำ 85 กรัม

          - โปรตีน 0.5 กรัม

          - ไขมัน 0.3 กรัม

          - คาร์โบไฮเดรต 14.2 กรัม

          - ใยอาหาร 1.6 กรัม

          - เถ้า 0.3 กรัม

          - โซเดียม 2 มิลลิกรัม

          - โพแทสเซียม 137 มิลลิกรัม

          - แมกนีเซียม 6 มิลลิกรัม

          - แคลเซียม 1 มิลลิกรัม

          - ฟอสฟอรัส 13 มิลลิกรัม

          - เหล็ก 0.28 มิลลิกรัม

          - สังกะสี 0.10 มิลลิกรัม

          - ไอโอดีน 1.8 ไมโครกรัม

          - เบต้าแคโรทีน 207 ไมโครกรัม

          - วิตามินซี 25 มิลลิกรัม

          - น้ำตาล 13 กรัม

มะยงชิด สรรพคุณดีต่อสุขภาพไม่น้อย

          นอกจากรสชาติมะยงชิดจะหวานอร่อยแล้ว  สรรพคุณของมะยงชิดก็ดีต่อสุขภาพของเราไม่น้อย โดยเราจะไล่เลียงประโยชน์ของมะยงชิดต่อสุขภาพให้เห็นชัด ๆ ตามนี้

1. ต้านอนุมูลอิสระ

          มะยงชิดปริมาณ 100 กรัม หรือราว ๆ 3-4 ผล มีเบต้าแคโรทีนอยู่มากถึง 207 ไมโครกรัม ซึ่งเบต้าแคโรทีนก็จัดเป็นสารต้านอนุมูลอิสระในกลุ่มแคโรทีนอยด์ ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระชนิดที่ได้จากผัก-ผลไม้ที่มีสีส้ม สีเหลือง มะยงชิดจึงมีสรรพคุณต้านอนุมูลอิสระในตัวเอง อีกทั้งเบต้าแคโรทีนที่อยู่ในผลมะยงชิด ยังมีส่วนช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้แข็งแรงด้วยนะคะ

2. บำรุงสายตา

          เบต้าแคโรทีนเป็นสารตั้งต้นของวิตามินเอ กล่าวคือ เมื่อร่างกายได้รับเบต้าแคโรทีนเข้าไป ร่างกายจะเปลี่ยนเบต้าเคโรทีนเป็นวิตามินเอให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย และสรรพคุณของวิตามินเอก็เป็นที่รู้กันดีอยู่แล้วว่า มีคุณสมบัติช่วยบำรุงสายตา ดังนั้นมะยงชิดที่มีสารตั้งต้นของวิตามินเออยู่จำนวนไม่น้อย จึงมีสรรพคุณช่วยบำรุงสายตาของเราไปด้วยนั่นเอง

3. ป้องกันเลือดออกตามไรฟัน

          ในผลมะยงชิดมีวิตามินซีอยู่ด้วยนะคะ และวิตามินซีก็มีคุณสมบัติช่วยป้องกันการเกิดเลือดออกตามไรฟัน อีกทั้งวิตามินซียังมีส่วนช่วยบำรุงระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทำให้ไม่เจ็บป่วยง่าย โดยเฉพาะโรคหวัดต่าง ๆ

4. เติมความสดชื่นให้ร่างกาย

          มะยงชิดเป็นผลไม้ที่มีเนื้อเยอะ ฉ่ำน้ำ มีรสหวานอมเปรี้ยวนิด ๆ กินแล้วช่วยเติมความสดชื่นให้ร่างกายได้อย่างทันทีเลยล่ะค่ะ

5. ช่วยลดความเสี่ยงโรคกระดูก

          สรรพคุณด้านนี้ต้องยกผลประโยชน์ให้แคลเซียมและฟอสฟอรัสในผลมะยงชิดเลยค่ะ เพราะทั้งแคลเซียมและฟอสฟอรัสเป็นสารอาหารที่มีความสำคัญต่อกระดูกมาก ๆ มีส่วนช่วยบำรุงกระดูกและฟันให้แข็งแรง พร้อมกันนั้นก็ช่วยลดความเสี่ยงโรคกระดูกพรุน และโรคกระดูกเสื่อม

          นอกจากความอร่อยแล้ว มะยงชิดยังมีสรรพคุณไม่น้อยเลยนะคะ จัดว่าเป็นผลไม้ที่ควรค่าแก่การรับประทานจริง ๆ



06 เม.ย 61  ขอขอบคุณข้อมูลจากกองโภชนาการ กรมอนามัย 

277
สอบปากคำแพทย์หญิงเจ้าของคลินิกในฐานะพยาน ยังไม่มีความคืบหน้า อ้างเครียด เตรียมส่งหลักฐานไปสถาบันนิติเวชเพื่อตรวจหาดีเอ็นเอประกอบกับผลดีเอ็นเอจากซากทารก 4 ศพ

วันนี้ (19 ก .พ.) ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้าหลังตำรวจกว่า 50 นาย พร้อมเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เข้าตรวจค้นคลินิกศรีสมัยการแพทย์ และบ้านพักอีก 4 แห่งเมื่อ 4 วันที่ผ่านมา ของแพทย์หญิงศรีสมัย (สงวนนามสกุล) เจ้าของคลินิกดังกล่าว และยังรับราชการนายแพทย์ระดับ 7 โรงพยาบาลหัวหิน ซึ่งได้ยึดหลักฐานต่างๆ เก็บรักษาไว้ที่สถานีตำรวจภูธรหัวหินหลายรายการ ทั้งรถจักรยานยนต์ยี่ห้อฮอนด้าเวฟ 100 หมายเลขทะเบียน กษท ประจวบคีรีขันธ์ 261 ซึ่งเป็นรถจักรยานยนต์ที่ นายสุวิทย์ อายุ 35 ปี ซึ่งเป็นชายในภาพวงจรปิดที่ขับขี่นำถุงดำออกจากคลินิก

นอกจากนั้น ยังมีเบาะ ผ้าขนหนู ถุงมือยางที่ใช้แล้ว รวมทั้งกรดเกลือ 2 แกลลอน ซึ่งได้ถูกใช้ไปบางส่วนแล้ว ยึดได้จากรีสอร์ตของแพทย์หญิงในตำบลทับใต้ ตลอดจนใบเวชระเบียน (ทะเบียนคนไข้ที่มาใช้บริการคลินิก) ทั้งนี้ ในส่วนของรถยนต์ที่แพทย์หญิงใช้ขนของอกจากคลินิกไปไว้ที่รีสอร์ตในตำบลทับใต้ ก็ต้องนำมาตรวจสอบเช่นกันซึ่งอยู่ในระหว่างดำเนินการ

พ.ต.อ.สิทธิชัย ศรีโสภาเจริญรัตน์ ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรหัวหิน กล่าวว่า หลังจากวานนี้ในการเดินทางไปสอบปากคำแพทย์หญิงเจ้าของคลินิกในฐานะพยานในช่วงเย็นที่ผ่านมา ที่โรงพยาบาลหัวหิน ซึ่งแพทย์หญิงนอนพักรักษาตัวอยู่ตั้งแต่คืนวันที่มีการเข้าตรวจค้นคลินิก ถึงแม้ว่า 3 วันที่ผ่านมา จะพยายามเข้าไปสอบปากคำในฐานะพยานแต่ก็ยังไม่มีอะไรคืบหน้ามากนัก เนื่องจากาทีมพนักงานสอบสวนสอบปากคำได้เพียงนิดเดียว ทางแพทย์หญิงได้ขอพนักงานสอบสวนว่ารู้สึกอ่อนเพลีย มีอาการเครียด และขอพักผ่อน

พ.ต.อ.สิทธิชัย ศรีโสภาเจริญรัตน์ ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรหัวหิน กล่าวว่า การเข้าสอบปากคำแพทย์หญิงเจ้าของคลินิกในฐานะพยาน ถึงแม้จะยังไม่คืบหน้ามากนัก ซึ่งทางตำรวจพิสูจน์หลักฐาน ได้พยามตรวจสอบลายนิ้วมือที่ยึดหลักฐานต่างๆ มาได้ ไม่ว่าจะเป็นเบาะ ถุงมือใช้แล้ว ผ้าขนหนู และสิ่งของอีกหลายรายการที่ยึดมาได้ โดยทางพิสูจน์หลักฐานได้แยกตรวจดีเอ็นเอ และจะส่งไปยังสถาบันนิติเวชเพื่อตรวจสอบกับดีเอ็นเอของซากทารกที่ส่งไปตรวจทั้งหมด ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ ส่วนการสอบปากคำแพทย์หญิงทุกวันก็จะทำไปต่อเนื่อง ซึ่งหากการรวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ และหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ มีความชัดเจนเมื่อไหร่ตำรวจก็จะแจ้งข้อกล่าวหา แต่ตอนนี้ยังไม่แจ้งข้อกล่าวหาใคร

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ในส่วนของรถยนต์ยี่ห้อฟอร์ด หมายเลขทะเบียน กข 7149 ประจวบคีรีขันธ์ ที่แพทย์หญิงใช้ขนเบาะ ผู้ขนหนู ถุงมือ ถุงดำ กรดเกลือ และอื่นๆ ออกไปจากคลินิกศรีสมัยการแพทย์นั้น ทางตำรวจยอมรับว่ายังไงก็ต้องนำรถยนต์มาตรวจสอบด้วยแต่ขณะนี้นี้ยังไม่ได้ดำเนินการแต่อย่างใด

ขณะที่ประชาชนชาวหัวหินต่างวิจารณ์กันถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ตั้งแต่พบศพเด็กทารก 4 ศพตั้งแต่วันที่ 13 ก.พ.ที่ผ่านมา จนวันนี้เกือบ 1 สัปดาห์แล้ว ชาวบ้านเห็นว่ายังไม่มีอะไรคืบหน้าเห็นออกมาตอบกับสื่ออย่างเดียวว่า “สอบในฐานะพยาน” และเรื่องดังกล่าวก็ยังไม่เห็นทางกระทรวงสาธารณสุข ออกมาดำเนินการอะไรทั้ง ที่ทำงานอยู่ที่โรงพยาบาลหัวหิน จึงอยากเห็นตำรวจทำงานในคดีดังกล่าวให้มีความคืบหน้าไปมากกว่านี้เพราะสังคมจับตามมองอยู่

ขอขอบคุณ

 06 มี.ค 61 ข้อมูล : 77kaoded

278
รพ.หลังคาแดง เปิดหอผู้ป่วยวิกฤตดูแล คนไข้จิตเวชก้าวร้าวรุนแรง 6 กลุ่ม พร้อมจัดห้องสลายความเครียด ระบายความก้าวร้าว ใช้วัสดุนุ่มบุผนังห้อง ไม่มีของใช้ให้หยิบฉวยเป็นอาวุธ พ่วงจัดอุปกรณ์ระบายความก้าวร้าว มาตรฐานปลอดภัยระดับแนวหน้าของอาเซียน ช่วยผู้ป่วยสงบสติอารมณ์ลงได้ภายใน 3 วัน


น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวภายหลังตรวจเยี่ยมสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา (หลังคาแดง) ว่า ได้รับรายงานจากสถาบันจิตเวชศาสตร์ฯ พบว่า มีผู้ป่วยชายที่อาการกำเริบก้าวร้าวรุนแรง มีความเสี่ยงทำร้ายตัวเองหรือคนอื่น ซึ่งจัดเป็นผู้ป่วยจิตเวชที่อยู่ในภาวะวิกฤต เข้ารักษาที่ห้องฉุกเฉินวันละ 30 กว่าคน ส่วนใหญ่เป็นโรคจิตเภท และผู้ที่ใช้สารเสพติด เช่น เหล้า ยาบ้า มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น มากกว่าผู้ป่วยหญิงประมาณ 2 เท่าตัว จึงได้พัฒนามาตรฐานบริการโดยเปิดหอผู้ป่วยวิกฤตจิตเวช (Psychiatric Intensive Care Unit : PICU) ขนาด 20 เตียง เพื่อลดความเสี่ยงและอันตรายให้ผู้ป่วยทุกคน พบว่าได้ผลดีมาก สามารถทำให้ผู้ป่วยมีอาการสงบภายใน 3 วัน เร็วกว่าหอผู้ป่วยทั่วไปที่ใช้เวลาประมาณ 7-10 วัน มีความปลอดภัยและเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูสมรรถภาพด้านกายจิตสังคมได้เร็ว นับเป็น รพ.ต้นแบบแห่งแรกในประเทศที่มีมาตรฐานอยู่ในอันดับต้นๆ ของอาเซียน ซึ่งกรมฯ มีนโยบายจะขยายผลใช้ใน รพ.จิตเวชทั้งเด็กและผู้ใหญ่ทั่วประเทศเพื่อให้ผู้ป่วยจิตเวชทุกคนได้รับบริการที่มีมาตรฐาน เป็นมิตร มีความอบอุ่น ปลอดภัย คืนคุณค่าความเป็นมนุษย์ให้ผู้ป่วยอย่างดีที่สุด



นพ.นพดล วาณิชฤดี รักษาราชการผู้อำนวยการสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา กล่าวว่า หอผู้ป่วยวิกฤตจิตเวชเริ่มให้บริการตั้งแต่ พ.ศ. 2555 เป็นต้นมา มีทีมงานสหวิชาชีพดูแลอย่างใกล้ชิดประกอบด้วยจิตแพทย์ แพทย์ประจำบ้าน พยาบาล ผู้ช่วยเหลือคนไข้ เภสัชกร นักจิตวิทยา และนักสังคมสงเคราะห์ ซึ่งจะวางแผนดูแลช่วยเหลือผู้ป่วยแต่ละคนร่วมกันและประเมินผลการรักษาทุกวันจัดสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อการดูแลผู้ป่วยในระยะวิกฤต โดยมีห้องเฉพาะที่ออกแบบให้เอื้อต่อการสงบสติอารมณ์ มีความปลอดภัยสูง ผนังห้องและพื้นบุด้วยวัสดุนุ่ม ภายในห้อง ไม่มีสิ่งของเครื่องใช้ที่สามารถหยิบฉวยมาเป็นอาวุธได้ และจัดอุปกรณ์ให้ผู้ป่วยใช้ระบายความก้าวร้าวรุนแรง หรือสลายความเครียด เช่น กระสอบทรายแบบนุ่ม ลูกบอลล้มลุก ส่วนห้องน้ำผู้ป่วยใช้ฝักบัวฝังติดผนัง กระจกส่องหน้าเป็นอะลูมิเนียม ไม่แตก ในปี 2560 ให้บริการ 543 คน ครึ่งหนึ่งเป็นโรคจิตเภท อีกร้อยละ 24 เป็นผู้ป่วยจิตเวชที่ใช้สารเสพติด และเป็นโรคซึมเศร้าร้อยละ 6


นพ.นพดล กล่าวว่า ผู้ป่วยจิตเวชที่อาการเข้าข่ายวิกฤตต้องให้การดูแลใกล้ชิด มี 6 ประเภท ได้แก่ 1.ผู้มีภาวะเสี่ยงฆ่าตัวตายสูง 2.เคยมีพฤติกรรมทำร้ายตนเองช่วง 7 วันก่อนมารพ. 3.มีการวางแผนทำร้ายตนเอง 4.มีความคิดหมกมุ่นเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายมาอย่างน้อย 3 วัน 5.มีสายตาท่าทางไม่เป็นมิตร เอะอะโวยวาย ก้าวร้าว ด่าว่าคนอื่นเสียงดัง มีหูแว่ว ระแวงคนอื่นจะทำร้าย 6.อารมณ์หุนหันพลันแล่น เปลี่ยนแปลงง่าย เสี่ยงเป็นอันตรายต่อตนเองต่อผู้อื่นหรือสิ่งของ นอกจากนี้ สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา ยังได้ปรับบริการฟื้นฟูศักยภาพผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังที่อยู่ในชุมชน ให้สอดคล้องกับสังคมสมัยใหม่และชุมชนเมืองขนาดใหญ่ใน กทม. ซึ่งมักพบข้อจำกัดทางครอบครัว โดยเปิดบริการ รพ.กลางวัน ฟื้นฟูสมรรถภาพด้านกาย ใจ จิตสังคม จิตวิญญาณ ทักษะด้านชีวิตประจำวันแบบไปเช้าเย็นกลับ และมีการฝึกทักษะทางอาชีพที่เหมาะสม มีรายได้สามารถพึ่งพาตัวเองได้ เช่นขายของเบ็ดเตล็ดในโรงพยาบาล ขายกาแฟในโครงการร้านกาแฟหลังคาแดง เพื่อสร้างความภาคภูมิใจให้ผู้ป่วยรู้สึกมีคุณค่า มีศักดิ์ศรี และเกิดทักษะทางสังคม มีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นดีขึ้น


"ขณะนี้อยู่ระหว่างขยายพื้นที่บริการ รพ.กลางวัน ให้สามารถดูแลผู้ป่วยได้มากขึ้นจาก 20 คนเป็น 40-50 คน ต่อวัน เพื่อให้ผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังเข้าถึงระบบการดูแลต่อเนื่องและได้รับโอกาสฝึกฝนอาชีพมากขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีศักดิ์ศรีในสังคม ขณะเดียวกันได้ร่วมมือกับมูลนิธิ รพ.สมเด็จเจ้าพระยาฯ และบริษัท ซีพี รีเทลลิงค์ จำกัด จัดทำโครงการสร้างอาชีพผู้ป่วยจิตเวชคืนสู่สังคม ขณะนี้มีผู้ป่วยที่ผ่านการฝึกและสามารถทำงานเป็นพนักงานประจำของบริษัทฯ แล้ว 2 คน ทำงานในร้านกาแฟมวลชนภายในห้างสรรพสินค้าที่อยู่ในชุมชนได้ตามปกติ มีค่าตอบแทนและสวัสดิการไม่แตกต่างกับบุคคลทั่วไป และได้รับคำชื่นชมจากลูกค้าที่มาใช้บริการว่ามีทักษะการชงกาแฟอย่างดีเยี่ยม" นพ.นพดล กล่าว



 5 เม.ย. 2561  โดย: MGR Online

279
หลายคนที่ไม่สบาย แล้วอยากให้ไข้ลดลงเร็วๆ อาจมีการกราบกรานอ้อนวอน ขอให้หมอช่วยฉีดยาให้ ด้วยคิดว่ายาฉีดออกฤทธิ์แรงกว่า เร็วกว่า แล้วหลังจากนั้นก็จะขอยาฉีดอยู่เรื่อยๆ แม้ว่าราคาจะสูงกว่ายากินก็ตาม แต่ก็คิดเสียเองว่า เป็นไข้เมื่อไร ยาฉีดเท่านั้นถึงจะเอาอยู่ เรื่องนี้จริงหรือไม่ ยาฉีดกับยากินต่างกันอย่างไร ออกฤทธิ์ไม่เท่ากันจริงหรือไม่ และหากใช้ยาฉีดบ่อยๆ จะอันตรายต่อร่างกายหรือไม่ มาหาคำตอบกันค่ะ

 

ยาฉีด VS ยากิน

จริงๆ แล้ว ยาฉีด กับยากิน หากมีระดับยาที่เท่ากัน จะออกฤทธิ์ได้เท่ากัน ต่างกันเพียงระยะเวลาในการออกฤทธิ์ ซึ่งโดยหลักการใช้ยาแล้ว แพทย์จะคำนึงถึงประสิทธิภาพ และความปลอดภัยของผู้ป่วยเป็นสำคัญ ในการเลือกชนิดยาให้กับผู้ป่วย มากกว่ามุ่งเป้าไปที่การออกฤทธิ์เร็วแต่เพียงอย่างเดียว การใช้ยากิน จึงค่อนข้างปลอดภัยกว่า

 

อันตรายจากยาฉีด

แม้ยาฉีดจะออกฤทธิ์เร็ว แต่ก็มีความเสี่ยงไม่น้อย เพราะเมื่อฉีดยาเข้าเส้นเลือด ยาจะเข้าสู่กระแสเลือดได้ทันที หากพบว่าผู้ป่วยแพ้ยา หรือได้รับยาผิด ก็จะมีอาการผิดปกติอย่างรวดเร็ว และรุนแรงกว่ายากินมากเช่นกัน

นอกจากนี้ ยาฉีดยังมีราคาสูงกว่ายากิน นอกจากจะสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายในเรื่องของยาโดยใช่เหตุแล้ว เราควรเตือนตัวเองว่า ยาฉีดอันตรายมากกว่ายากิน



ผู้ป่วยขอยาฉีดกับหมอเองได้หรือไม่?

การขอยาฉีดนั้น ควรพิจารณาโดยแพทย์เท่านั้น เพื่อการใช้ยาอย่างปลอดภัย และคุ้มค่า

 

ดังนั้นครั้งหน้า อย่าคิดไปเองว่าต้องเป็นยาฉีดเท่านั้นถึงจะรักษาหาย ให้แพทย์เป็นผู้พิจารณายาที่เหมาะสมในการรักษาให้เราเองจะดีกว่าค่ะ

 
23 มี.ค. 61  ข้อมูล :องค์การเภสัชกรรม

280
เชื่อว่าคุณจะต้องเคยรู้จัก หรือมีเพื่อนที่มีนิสัยแบบนี้อย่างน้อยๆ หนึ่งคน คือพวกที่ชอบเก็บอาหารเอาไว้ในตู้เย็นนานจนไม่คิดว่าจะยังกินได้อยู่ แต่คนๆ นั้นก็ยังหยิบออกมากินได้อย่างหน้าตาเฉย พร้อมกับบอกว่า “มันยังไม่เสีย ยังกินได้อยู่” ทั้งๆ ที่อาหารเหล่านั้นเก่าเก็บมาหลายสัปดาห์ หรือเผลอๆ อาจจะเป็นเดือน

อาหารที่แช่ในตู้เย็น ไม่ได้แปลว่าจะไม่บูดไม่เน่าเสมอไป หลายคนประสบปัญหา แยกไม่ออกว่าอันนี้บูดหรือยัง เน่าหรือยัง ยังทานได้อยู่หรือเปล่า Sanook! Health มีเคล็ดลับง่ายๆ มาให้ช่วยสังเกตอาหารเหล่านั้นกันค่ะ

1. กลิ่นเปลี่ยนไป
วิธีสังเกตง่ายๆ ที่หลายคนมักจะใช้บ่อยๆ คือการดมกลิ่น วิธีนี้ง่าย และให้ผลที่ชัดเจนในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะกับอาหารที่เปียกๆ มีน้ำ ไม่ใช่อาหารแห้ง เช่น นม โยเกิร์ต แกงต่างๆ กลิ่นที่เปลี่ยนไปก็อาจจะเหม็นเปรี้ยว เหม็นหืน เรียกง่ายๆ ว่ากลิ่นเปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิมนั่นแหละ ถ้ากลิ่นไม่ผ่านก็อย่าทานเลย

ปล. แกงที่แช่เย็นจัดๆ ในตู้เย็น ดมกลิ่นตอนที่เย็นๆ อาจจะไม่ค่อยชัดเจน ลองเอาออกมาอุ่น หรือทิ้งไว้ให้หายเย็นแล้วค่อยลองดมใหม่ คราวนี้จะได้กลิ่นชัดขึ้น

 

2.เนื้อสัมผัสเปลี่ยนไป
จากโยเกิร์ตที่เด้งดึ๋ง เนียนนุ่ม ตักง่าย กลายเป็นเนื้อแข็งๆ เป็นก้อนๆ ไม่เนียนละเอียดเหมือนเดิม ก็ให้สันนิษฐานได้เลยว่ามันเสียแล้ว นอกจากโยเกิร์ตก็อาจเป็นอาหารประเภทแกง อย่างแกงกะทิต่างๆ ที่อาจจะเนื้อข้น ติดช้อน มีฟอง รวมไปถึงข้าวที่จากเนื้อร่วนๆ เป็นเม็ดๆ อาจจะกลายเป็นข้าวแฉะๆ เหนียวๆ ไม่น่าทานเหมือนเดิม เป็นต้น

3.พบสิ่งแปลกปลอมในถุง
ขออนุญาตเรียกรวมๆ ว่าสิ่งแปลกปลอม เพราะอันที่จริงแล้วเราหมายถึง “รา” แต่ราที่คุณเห็นในอาหารก็มีหลายชนิด หลายรูปร่าง ขนาด และสี ดังนั้นไม่ว่าสิ่งที่คุณเห็นจะลักษณะเป็นอย่างไร เป็นเยื่อๆ ใยๆ บางๆ เป็นก้อนๆ หรือเป็นสีเขียว สีดำ สีส้ม มีเหลือง ฯลฯ ตราบใดที่เป็นสิ่งแปลกปลอมที่มันไม่เคยอยู่ในหีบห่อนั่นๆ มาก่อน สันนิษฐานได้เลยว่าอาจเป็นเชื้อรา ทิ้งโลด

 

4.รสชาติเปลี่ยนไป
คราวนี้หากไม่เห็นความผิดปกติของอาหารในมือเราเลย คงต้องถึงขั้นลองชิมแล้วล่ะค่ะ ชิมช้อนเล็กๆ ล่ะ อย่าชิมเยอะ หากสัมผัสได้ถึงรสชาติที่เปลี่ยนไป เนื้อสัมผัสที่ได้จากลิ้นเปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเปรี้ยวๆ เหม็นๆ แหยะๆ ลื่นๆ ถ้าไม่ปกติเหมือนเดิมก็ทิ้งโลดเช่นกัน

 

5.นับวันหมดอายุคร่าวๆ
มาถึงวิธีสุดท้ายสำหรับคนที่ประสาทสัมผัสไม่ได้เรื่องจริงๆ แยกไม่ออกทั้งจากตา จมูก ปาก ลองนึกถึงวันที่ซื้อมาทานวันแรก นับวันดูว่าวันนี้ผ่านไปกี่วันแล้ว อาหารแต่ละอย่างเวลาหมดอายุไม่เท่ากัน แต่หากเป็นอาหารที่มีส่วนผสมของนม เช่น นม โยเกิร์ต รวมถึงแกงกะทิ และอาหารที่มีส่วนผสมของแป้ง และน้ำตาลมากๆ เช่น ข้าวสวย ขนมจีน เค้ก เบเกอรี่ต่างๆ พวกนี้เก็บได้ไม่นาน หากนับวันแล้วเกิน 7 วัน เราแนะนำให้โยนทิ้งไปได้เลย รวมถึงผักผลไม้ที่เหี่ยวๆ ไม่เหมือนเดิม ก็ควรทิ้งเช่นกัน

สำหรับไข่ไก่ที่แช่ในตู้เย็น อาจจะต้องลองกะเทาะออกมาดูข้างใน ดมกลิ่ม และสังเกตสี และเนื้อสัมผัส ไข่สังเกตได้ง่าย หากไข่เน่าเสียกลิ่นจะแรงมาก ทนทานไม่ได้แน่นอน

 

เมืองไทยเป็นประเทศที่มีอากาศร้อนตลอดทั้งปี โดยเฉพาะช่วงหน้าร้อนก็จะยิ่งร้องเป็นพิเศษ สิ่งที่ตามมาช่วงหน้าร้อนมักจะเป็นเรื่องอาหารเน่าเสีย ทานแล้วจะทำให้ท้องเสีย ท้องร่วง หากทานเข้าไปสะสมมากๆ ก็อาจเป็นสาเหตุของมะเร็งกระเพาะอาหารได้เช่นกัน เพราะฉะนั้นระมักระวังกันให้ดีนะคะ


01 เม.ย. 61   sanook.com

281
ไม่ใช่ผลไม้ทุกชนิดที่จะทานแล้วไม่อ้วนเสมอไป เพราะผลไม้หลายชนิด โดยเฉพาะผลไม้รสหวานจัดในบ้านเรา เช่น ทุเรียน มะม่วงสุก เต็มไปด้วยน้ำตาลปริมาณมากมายมหาศาลที่อาจทำให้เราอ้วนได้ง่ายๆ แต่เมืองที่เต็มไปด้วยผลไม้อย่างเมืองไทยแบบนี้ จะให้ทานแต่ผลไม้ที่มีน้ำตาลมากมายขนาดนั้นได้อย่างไร ในเมื่อเรามีผลไม้อีกมากมายที่อร่อย ฉ่ำหวาน น้ำตาลน้อย แถมยังราคาไม่แรงจนเกินไปอีกด้วย

 
สตรอว์เบอร์รี่
จำนวน 8 ชิ้น
เท่ากับน้ำตาล 2 ช้อนชา


ฝรั่ง
จำนวน 1 ผล
เท่ากับน้ำตาล 2 ช้อนชา

 
แก้วมังกร
จำนวน ½ ผล
เท่ากับน้ำตาล 2 ½ ช้อนชา

 

สับปะรด
จำนวน 8 ชิ้น
เท่ากับน้ำตาล 3 ช้อนชา

 

ส้ม
จำนวน 2 ผล
เท่ากับน้ำตาล 3 ช้อนชา

 

มะละกอ
จำนวน 8 ชิ้น
เท่ากับน้ำตาล 3 ช้อนชา

   
ทานน้ำตาลเท่าไร ถึงจะพอดีต่อร่างกาย?

      ตามปกติแล้ว ในวันหนึ่งๆ เราควรบริโภคน้ำตาลไม่เกินวันละ 6 ช้อนชา ดังนั้นหากทานผลไม้อย่างใดอย่างหนึ่งในนี้แล้ว ก็ควรระมัดระวังในการทานอาหารอื่นๆ ในมื้ออาหารแต่ละมื้อด้วย โดยเฉพาะอาหารจำพวกแป้ง และไขมัน และขอแนะนำให้ทานผลไม้สด มากกว่าน้ำผลไม้คั้นแยกกาก เพราะเราจะได้ประโยชน์จากคุณค่าทางอาหารมากกว่า และยังได้กากใยอาหารที่ช่วยในการทำงานของระบบขับถ่ายได้มากกว่าอีกด้วย นอกจากนี้สิ่งที่ขาดไม่ได้ คือการออกกำลังกายที่สม่ำเสมออย่างน้อย 3-4 ครั้งต่อสัปดาห์ เท่านี้คุณก็มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง ห่างไกลจากภาวะอ้วนน้ำหนักเกินแล้วล่ะ

05 เม.ย. 61 ข้อมูล :คุณวนะพร ทองโฉม นักวิชาการ ฝ่ายโภชนาการ คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

282
ขึ้นชื่อว่าเป็น “ผักสด” ย่อมดีต่อสุขภาพอยู่แล้ว เพราะคุณค่าทางสารอาหารอยู่ครบ ไม่สูญเสียไประหว่างทำอาหารผ่านความร้อน แต่ก็ยังมีผักสด ผักดิบ ที่ไม่เหมาะสำหรับบางคนที่อาจมีปัญหาสุขภาพในบางด้าน หรือผักสดบางชนิดอาจมีอันตรายแฝงในแบบที่เราไม่ทันคาดคิด

1.ถั่วงอก กับเชื้อแบคทีเรียปนเปื้อน
ถั่วงอกดิบพบการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรียอย่าง ซาลโมเนลลา หรืออีโคไล ซึ่งไม่ใช่แค่บ้านเราท่านั้น ที่ต่างประเทศก็พบการปนเปื้อนของเชื้อโรคเช่นกัน เมื่อทำการเพาะถั่วงอก ความชื้นและอุณหภูมิของถั่วงอกในการเจริญเติบโต เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของเชื้อโรคเช่นเดียวกัน แต่หากเรานำมาปรุงผ่านความร้อน เชื้อเหล่านี้ก็จะถูกทำลาย เราจึงสามารถทานถั่วงอกได้ปลอดภัยมากขึ้น

2.กะหล่ำ กับสารกอยโตรเจน
คนที่ปัญหาเกี่ยวกับไฮโปไทรอยด์ หรือการทำงานของต่อมไทรอยด์ทำงานต่ำกว่าปกติ หากรับประทานผักที่มีกอยโตรเจน เช่น กะหล่ำปลี หรือกะหล่ำดอก สารกอยโตรเจน จะเข้าไปยับยั้งการดูดซึมไอโอดีน  ยิ่งทำให้ต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนได้น้องลงไปกว่าเดิมอีก ดังนั้นควรทานผักเหล่านี้โดยทำไปปรุงให้ผ่านความร้อนจะดีกว่า
แต่คนปกติทานได้ไม่มีปัญหา จะมีเรื่องกังวลแค่สารฆ่าแมลงที่อาจตกค้างได้เท่านั้น อาจจะต้องล้างให้สะอาด โดยแยกออกมาเป็นใบๆ ก้านๆ

3.หน่อไม้ และมันต่างๆ กับสารไซยาไนด์
มันฝรั่ง มันสำปะหลัง และหน่อไม้ดิบ อาจมีสารไซยาไนด์ที่เป็นอันตรายต่อร่างกายถึงขั้นเสียชีวิตได้ สารไซยาไนด์จะสลายหายไปได้ ต้องผ่านความร้อนโดยการต้มนานมากกว่า 10 นาทีขึ้นไป


4.ถั่วฝักยาว กับสารปนเปื้อน
บางคนอาจเคยมีอาการท้องอืดหลังทานถั่วฝักยาวดิบ อาจเป็นที่ระบบลำไส้ของแต่ละคนมากกว่า แต่เรื่องที่ต้องระมัดระวังจริงๆ คือ ถั่วฝักยาว เป็นกลุ่มพืชที่มีการใช้ยากำจัดศัตรูพืชสูง ซึ่งอาจทำให้ตัวถั่วฝักยาวเองดูดซึมสารเหล่านั้นเข้าไปด้วย ปกติสารเหล่านี้จะต้องใช้เวลาจนกว่าจะสลายไปราวๆ 7 วัน แต่กว่าจะถึงมือเรา เราไม่อาจทราบได้ว่าเวลาผ่านไปนานเท่าไรแล้ว

หากถั่วฝักยาวมารับประทานเอง ควรล้างให้สะอาด เอามือถูถั่วฝักยาวซ้ำๆ และอาจต้องมีการแช่น้ำทิ้งไว้ด้วย เพราะเป็นพืชที่มีการดูดซึมสารพิษตกค้างจากยากำจัดศัตรูพืชค่อนข้างมาก

5.ผักโขม กับกรดออกซาลิก
กรดออกซาลิกในผักโขม อาจเข้าไปขัดขวางกระบวนการทางร่างกายที่จะดึงเอกแคลเซียม และธาตุเหล็กไปใช้ แม้ว่าเราจะทานอาหารที่มีแคลเซียม และธาตุเหล็ก แต่หากเราทานผักโขมเข้าไปด้วย อาจทำให้ร่างกายดูดซึมแคลเซียม และธาตุเหล็กได้น้อยลง ดังนั้นถ้าเป็นไปได้ ควรหลีกเลี่ยงในการทานพร้อมกัน

 

วิธีทานผักอย่างปลอดภัย

เรามีข้อกังวลกับผักในเรื่องของสารตกค้างจากสารเคมี และยาฆ่าแมลง ยากำจัดศัตรูพืช วิธีลดความเสี่ยง คือการล้างผักให้สะอาด อาจแช่น้ำทิ้งไว้ 10 นาทีก่อนล้างอีกครั้ง

ส่วนเรื่องของแบคทีเรีย การล้างผักให้สะอาดนั้นไม่สามารถลดแบคทีเรียที่ถูกดูดซึมเข้าไปในผักได้ วิธีแก้ไขง่ายๆ คือนำไปปรุงอาหารผ่านความร้อน เชื้อแบคทีเรียส่วนใหญ่จะสลายไปเมื่อผ่านความร้อนที่เหมาะสม ก็จะทำให้เราทานผักได้อย่างปลอดภัยแล้วค่ะ
 


05 เม.ย. 61  ข้อมูลจาก สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล

283
ศิริราชแจงไม่มีปิดข่าว นศ.แพทย์ฆ่าตัวตาย ยันไม่ได้มาจากความเครียดเรื่องเรียน เหตุเรียนดี เรียนเก่ง เป็นเด็กกิจกรรม ไม่มีสัญญาณบ่องบอกจะฆ่าตัวตายมาก่อน แต่ไม่อยากให้พูดในวงกว้าง เกรงกระทบจิตใจพ่อแม่

จากกรณีข่าวนักศึกษาแพทย์ มหาวิทยาลับดังแห่งหนึ่งฆ่าตัวตาย โดยมหาวิทยาลัยให้มีการปิดข่าว ห้ามมีการพูดถึงเพราะกลัวเสียชื่อเสียงนั้น

วันนี้ (29 มี.ค.) ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงเรื่องนี้ ว่า ศิริราชไม่ได้ปิดบัง เนื่องจากเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เกรงกระทบจิตใจของผู้ปกครองนักศึกษา โดยยืนยันว่า นักศึกษาแพทย์คนที่เสียชีวิตดังกล่าวเป็นเด็กเรียนดี เกรดเฉลี่ย 3.85 ในเทอมล่าสุด และเคยได้รับเหรียญเงินในการแข่งขันโอลิมปิกวิชาการ อีกทั้งยังเป็นเด็กกิจกรรม สนุกสนาน ร่าเริงดี เคยเป็นประธานจัดการแข่งขันตอบปัญหานานาชาติ เป็นคนเปิดเผย และไม่เคยโพสต์ข้อความหรือส่งสัญญาณอะไรมาก่อน ฉะนั้นสาเหตุการเสียชีวิตไม่น่าจะมาจากผลการเรียน อีกทั้งไม่มีสัญญาณเตือนล่วงหน้ามาก่อน

ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า ส่วนสาเหตุการเสียชีวิตจะมาจากเรื่องใดไม่สามารถตอบได้ ที่ผ่านมา ทางศิริราช หรือ คณะแพทยศาสตร์ต่างๆ ก็มีกระบวนการเฝ้าระวังนักศึกษาอยู่แล้ว และมีการนำกิจกรรมเข้ามาสอดแทรก และฝึกฝนให้นักศึกษามีการปรับตัว และจัดการอยู่กับความเครียดให้ได้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าวิชาแพทย์ มีความเครียดอยู่แล้ว แต่ในระบบการเรียนจะมีอาจารย์คอยตามประกบประคับประคองจิตใจอยู่ อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ไม่อยากให้กลายเป็นทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ เกรงพ่อแม่เด็กตะกระทบกระเทือนจิตใจ เพราะเพิ่งจะเริ่มทำใจสงบได้ไม่นาน ที่ผ่านมา ทางตนก็ได้ไปร่วมงานศพ และให้กำลังใจครอบครัวแล้วเช่นกัน

29 มี.ค. 2561  โดย: MGR Online

284
สาวใหญ่โวย พ่อประสบเหตุจักรยานยนต์ชนกัน นำตัวส่งโรงพยาบาลแต่หมอให้กลับบ้าน แต่อีกไม่ถึงชั่วโมงเกิดแน่นหน้าอก ต้องพาไปอีกโรงพยาบาล ตรวจพบซี่โครงหัก-กระดูกแตก

(4 เม.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในโลกโซเชียลได้มีการแชร์โพสต์เกี่ยวกับการตรวจรักษาอาการคนเจ็บที่ผิดพลาด ทำให้ผู้ป่วยเกือบเสียชีวิต โดยผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ “ปุ๊ พัทยา จารุวรรณ บุญสิงห์” เปิดเผยว่า พ่อได้ประสบเหตุจักรยานยนต์ชนกัน มีอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่ออก ตาตุ่มแตก แต่ไปโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ทำการตรวจโรคและจ่ายยา ให้กลับบ้านไปดูอาการ แล้วค่อยมาอีกครั้งวันถัดไป

หลังจากจ่ายเงินไป 300 บาท กลับไปถึงบ้านไม่ถึงชั่วโมง พ่อมีอาการแน่นหน้าอกอีกครั้ง ลุกไม่ได้ ต้องนำตัวส่งรักษาอีกโรงพยาบาลหนึ่งแทน หมอเอ็กซเรย์พบว่า ซี่โครงหัก 2 ซี่ กระดูกตาตุ่มแตก ทำให้รู้สึกรับไม่ได้กับการบริการ 2-3 มาตราฐานของโรงพยาบาลแห่งนี้ พร้อมกับถามถึงจรรยาบรรณแพทย์

ล่าสุดผู้สื่อข่าวได้ติดต่อไปทางเจ้าของโพสต์ดังกล่าว เปิดเผยว่า ผู้บาดเจ็บเป็นพ่อ ซึ่งประสบอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ชนกัน พี่น้องจึงนำตัวส่งไปรักษาที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง แต่ปรากฏว่าพ่อไม่ยอมไป สั่งให้ไปอีกโรงพยาบาลหนึ่งแทน เพราะเป็นผู้ป่วยผู้สูงอายุที่โรงพยาบาลแห่งนี้อยู่

แต่พอไปถึงแค่นำพ่อส่งที่จุดรับผู้ป่วยแล้ว น้องได้หาที่จอดรถที่ลานจอด พอกลับมาทาง รพ.แจ้งว่าให้พ่อกลับไปนอนดูอาการที่บ้าน จ่ายค่ารักษาไป 300 บาท น้องก็ไม่คิดว่าเป็นอะไรร้ายแรง จึงพาพ่อกลับบ้าน จนเหตุการณ์เป็นไปตามอย่างที่โพสต์ ตนรู้สึกโมโหมาก หากพ่อเป็นอะไรถึงขั้นร้ายแรง ใครจะรับผิดชอบ จึงอยากให้ทาง รพ. จัดหาบุคลากรที่มีคุณภาพในการรักษาประชาชนให้ดีกว่านี้

ล่าสุดทางคณะผู้บริหารเมืองพัทยาได้รับทราบเรื่อง ถึงเหตุการณ์การรักษาที่ไม่มีประสิทธิภาพและไม่ละเอียด และเป็นเหตุการณ์ครั้งที่ 2 ในช่วงสัปดาห์เดียว โดยทางคณะผู้บริหารเมืองพัทยาจะรีบนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมสภาเมืองพัทยาเป็นวาระเร่งด่วนในวันอังคารหน้า (10 เม.ย.) เพื่อหาข้อสรุปปรับปรุงแก้ไขทีมบุคลากรทางการแพทย์ให้ดีขึ้น



04 เม.ย. 61  sanook.com

285
เร็ว ๆ นี้ หลายคนอาจได้ดูคลิปในร้านยาแห่งหนึ่งที่มีประเด็นเกี่ยวกับ ยาแก้แพ้ ยาแก้หวัด แล้วสงสัยว่าจริง ๆ แล้วมันมีความแตกต่างกันอย่างไร เราใช้ยาผิดกันมาตลอดอย่างที่ปรากฏในคลิปหรืออย่างไร วันนี้เรามีคำตอบมาให้

ยาแก้แพ้ หรือยาต้านฮีสตามีน (antihistamines) เป็นยากลุ่มที่ออกฤทธิ์ต้านการทำงานของสารเคมีที่ชื่อว่า “ฮีสตามีน” ที่มักจะหลั่งออกมาเมื่อมีปฏิกิริยาการแพ้ (allergic reaction) อาการที่เราคุ้นเคยกันดีเมื่อมีฮีสตามีนหลั่งออกมาคือ จาม น้ำมูกไหล คันคอ บางรายที่เป็นมากก็จะมีเรื่องของหลอดลมบวมตีบ ซึ่งถ้าสังเกตดี ๆ อาการเหล่านี้จะคล้ายๆ กับอาการหวัด หลายคนที่เป็นหวัดก็มักจะมีอาการเหล่านี้ได้ เพราะเป็นการตอบสนองของร่างกายต่อการติดเชื้อไวรัสหวัดซึ่งมีอยู่มากมายหลายร้อยชนิด หรืออาการหวัด (common cold) ไปกระตุ้นให้อาการภูมิแพ้ของบางคนกำเริบขึ้น ซึ่งในทางปฏิบัติเป็นเรื่องที่แยกออกจากกันได้ค่อนข้างยาก

นอกจากนี้ บางคนยังไวต่อการเปลี่ยนแปลงของอากาศเย็น เช่น บางคนช่วงหน้าหนาวก็จะมีน้ำมูกใสๆ ไหลออกมาโดยที่ไมได้เป็นหวัด ซึ่งก็เป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับการตอบสนองของร่างกายต่อสภาพอากาศเช่นกัน

ทีนี้เราทราบแล้วว่า อาการแพ้กับอาการหวัดมีความเหลื่อมล้ำของอาการที่ปรากฏอยู่ค่อนข้างมาก ดังนั้น ในทางปฏิบัติก็สามารถใช้ยาในแบบเดียวกันได้ ก็คือ ยาต้านฮีสตามีน หรือภาษาชาวบ้านคือยาแก้แพ้

ยาแก้แพ้ในทางเภสัชศาสตร์มี 2 แบบ เราแบ่งกันตามลักษณะการออกฤทธิ์เป็นหลัก รวมทั้งอาการข้างเคียงที่พบบ่อยด้วย ดังนี้ (ในบทความนี้จะใช้คำว่า “ยาต้านฮีสตามีน” หรือ “ยาแก้แพ้” สลับกันไปมา แต่ขอให้เข้าใจว่าเป็นความหมายเดียวกัน)

ยาแก้แพ้รุ่นที่ 1 (First generation antihistamines)
รุ่นนี้มีขายมานาน บางตัวเป็นยาสามัญประจำบ้าน ที่เราคุ้นเคยกันดีคือ คลอร์เฟนิรามีน (chorpheniramine; CPM) บรอมเฟนิรามีน (brompheniramine) ไตรโพลิดีน (tripolidine) หรือกระทั่ง ไฮดรอกไซซีน (hydroxyzine) หรือใครจะเชื่อบ้างว่ายาแก้เมารถเมาเรืออย่างไดเมนฮัยดริเนต (dimenhydrinate) ก็เป็นยาต้านฮีสตามีน เพียงแต่ฤทธิ์ที่เด่นมากของ dimenhydrinate ไปอยู่ที่ส่วนที่เกี่ยวข้องกับระบบการทรงตัวในหูเลยทำให้เอาไปใช้แก้เมารถเมาเรือมากกว่าที่จะมาเป็นยาแก้แพ้แบบทั่วๆ ไป

ยาแก้แพ้รุ่นที่ 1 มีข้อเสียที่เด่นมากคือ ทำให้คนกินแล้วง่วงซึม บางคนไม่ง่วง แต่มึนๆ หัวตื้อๆ รู้สึกเพลีย โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นที่มาของคำเตือนให้ระวังการขับรถหรือใช้เครื่องจักรเมื่อกินยานี้ รวมทั้งไม่ควรกินยาแก้แพ้รุ่นที่ 1 ร่วมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ นอกจากนี้ยาแก้แพ้รุ่นที่ 1 ยังไปออกฤทธิ์ที่ระบบสารเคมีอื่น ๆ ในร่างกายทำให้เกิดอาการข้างเคียงอื่น ๆ ได้อีก เช่น ทำให้ ปากแห้ง คอแห้ง บางคนกินแล้วใจเต้นเร็ว ฯลฯ แต่ในความเป็นข้อเสียก็อาจจัดเป็นข้อดีในบางกรณี จะได้กล่าวต่อไป

ยาแก้แพ้รุ่นที่ 2 (Second generation antihistamines)
เป็นยาที่ออกมานานพอสมควร เป็นยาที่นิยมมากกว่ายาแก้แพ้รุ่นที่ 1 เพราะ “ไม่ง่วง” (บางคนจึงเรียกว่ายาแก้แพ้แบบไม่ง่วง) กินแล้วไม่มีอาการปากแห้ง คอแห้ง (ยกเว้นยาบางชนิดและกับบางคนที่มีการตอบสนองต่อยาไวกว่าปกติ ก็จะมีอาการง่วงเล็กน้อยและปากแห้งคอแห้งได้บ้าง) แบบยาแก้แพ้รุ่นที่ 1 ยารุ่นนี้ออกฤทธิ์นาน กินยาวันละ 1-2 ครั้งได้ และบางตัวก็มีฤทธิ์แก้อาการคัดจมูกไปด้วย

ข้อเด่นของยาแก้แพ้รุ่นนี้คือ มีฤทธิ์ “แก้แพ้”จริง ๆ คือมีความจำเพาะในการต้านฤทธิ์ฮีสตามีนสูงมาก จึงนำไปใช้ในโรคที่เกี่ยวข้องกับ “การแพ้” อย่างกว้างขวาง เช่น atopic dermatitis, allergic rhinitis, chronic urticaria, urticaria จากสาเหตุอื่นๆ

อย่างที่กล่าวว่า ยาแก้แพ้รุ่นที่ 1 มีข้อเสียคือง่วงนอน ปากแห้ง คอแห้ง ในบางกรณี ข้อเสียกลับกลายเป็นข้อดี คือสั่งใช้เพื่อหวังประโยชน์จากอาการข้างเคียงนั้น เช่น CPM ง่วงนอน ก็สั่งให้ผู้ที่เป็นหวัดกินก่อนนอน เพื่อให้ง่วง นอนพักผ่อนได้ หรือบางคนแพ้อากาศเย็น มีน้ำมูกไหล หรือเป็นหวัดแล้วมีน้ำมูกใสๆ ไหลตลอดเวลา กินยาแก้แพ้แบบไม่ง่วงแล้วน้ำมูกไม่ลดก็มากินยาแก้แพ้แบบง่วงแล้วดีขึ้นเพราะอาศัยฤทธิ์อื่นที่นอกเหนือไปจากฤทธิ์ต้านฮีสตามีน

บางคนไปหาหมอที่โรงพยาบาลอาจเคยได้ทั้งยาแก้แพ้แบบง่วงและไม่ง่วงโดยกินคนละเวลากัน เหตุผลก็เป็นอย่างข้างต้น หรือบางคนมีอาการภูมิแพ้อยู่เดิม พอเป็นหวัด อาการแพ้ก็กำเริบก็เลยต้องกินยาแก้แพ้เพื่อช่วยลดอาการดังกล่าว “ยาแก้แพ้” กับ “ยาแก้หวัด” จึงมาซ้อนทับกันอย่างไม่ตั้งใจ กลายเป็นเรื่องชวนสับสน พอๆ กับที่ประชาชน เข้าใจกันว่า “ยาปฏิชีวนะ” คือยา “ยาแก้อักเสบ”

แท้จริงแล้ว ถ้าบอกว่า จะซื้อยาแก้หวัด โดยปกติ เภสัชกรตามร้านยาต้องซักอาการเพิ่มด้วยซ้ำว่า อาการหวัดเป็นอย่างไร มีอาการอะไรบ้าง เพื่อจะได้จ่ายยา “บรรเทาตามอาการ” ได้ถูกต้อง บางคนมีแค่น้ำมูกไหล ก็จ่ายยาแก้แพ้ บางคนไอมีเสมหะก็ต้องจ่ายยาอย่างอื่นเพิ่ม ดังนั้น เมื่ออาการที่ปรากฏคล้ายกัน ก็ไม่ต้องแปลกใจที่ยาที่ใช้ก็อาจเหมือนกันได้เป็นธรรมดา

หมายเหตุ : Pharmchompoo เป็นนามปากกาของเภสัชกรท่านหนึ่งซึ่งเรียนจบมาทางด้านเภสัชศาสตร์โดยตรง ปัจจุบันประจำอยู่ที่โรงพยาบาลชื่อดังแห่งหนึ่ง และบทความเชิงสาระความรู้เพื่อการตระหนักเกี่ยวกับการใช้ยาให้ถูกต้องเหมาะสม จะมาพบกับคุณผู้อ่านเป็นประจำอย่างน้อยสองครั้งต่อเดือน


22 มี.ค. 2561  โดย: MGR Online

หน้า: 1 ... 17 18 [19] 20