ผู้เขียน หัวข้อ: ถึงเวลาโรงเรียนและโรงพยาบาลรัฐควรทำงบประมาณรายจ่ายเอง  (อ่าน 651 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9779
    • ดูรายละเอียด
โจทย์สำคัญที่ยังรอการแก้ไขอีกโจทย์หนึ่ง คือควรให้ โรงเรียนและโรงพยาบาลของรัฐ จัดทำงบประมาณโดยตรงได้หรือยัง

ถ้าองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น สามารถขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายได้โดยตรง

ได้อ่านข่าวที่ท่านนายกฯพูดเมื่อคืน แล้วพบว่ามีเรื่องที่น่าสนใจมาก และอยากขยายให้หลายท่านรับรู้ โดยเฉพาะเรื่องการทำงบประมาณโดยระดับล่างขึ้นสู่ระดับบน ที่เรียกว่า วิธีการงบประมาณแบบเริ่มจากศูนย์ หรือ Zero-based Budgeting (ZBB) ที่ได้พูดแล้วพูดอีกจนนับครั้งไม่ถ้วน นับสิบปีมาแล้ว

เป็นความฝันที่ใกล้เป็นจริง เมื่อท่านนายกฯ พูดออกทีวีเมื่อวันศุกร์ที่ 7 ต.ค.ดังนี้

การปฏิรูปงบประมาณของรัฐบาล...

    พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ (ฉบับใหม่) เสนอโดยสำนักงบประมาณ
    พ.ร.บ.การเงินการคลังของรัฐ เสนอโดยกระทรวงการคลัง ซึ่งขณะนี้สำนักงานกฤษฎีกากำลังพิจารณาในสองประเด็นสำคัญ คือ
    ที่มาของงบประมาณรายจ่าย
    หน่วยรับงบประมาณ ซึ่ง “เพิ่มเติม” ให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายได้ “โดยตรง” เพื่อให้สอดคล้องความต้องการของพื้นที่
    ประเด็นการจำแนกงบประมาณ

ข้อ 2.2 เป็นสิ่งที่พยายามพูดมาตลอด ว่าเป็นเรื่องที่ควรให้ส่วนท้องถิ่นได้เป็นผู้ทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีเอง และเสนอขึ้นมาที่ส่วนกลาง และให้ส่วนกลางส่งมอบงบประมาณให้ส่วนท้องถิ่นโดยตรง แบบนี้จะไม่มีการรั่วไหล

ถ้าเป็นเช่นนี้จะตัดปัญหาการรั่วไหลระหว่างทางได้ การเบิกจ่ายงบประมาณจะรวดเร็ว ตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ตรงและรวดเร็ว และหยุดการทุจริตคอรัปชั่นได้ในระดับหนึ่ง

และเมื่อเป็นเช่นนี้ จึงเป็นโอกาสดีที่หน่วยงานสังกัดองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นเช่นโรงเรียน สถานพยาบาลในท้องถิ่น สามารถทำงบประมาณรายจ่ายได้ด้วยตนเอง การทุจริตคอรัปชั่นอาจจะยังไม่หมด แต่เชื่อว่าประสิทธิภาพการเบิกจ่าย และการตอบสนองความต้องการของประชาชนในท้องถิ่นจะดีขึ้น

อาจจะยังติดขัดอยู่บ้างที่หน่วยงานรัฐสำคัญบางส่วนคือโรงเรียน และโรงพยาบาลที่ยังสังกัดส่วนกลาง พระราชบัญญัติการเงินการคลังของรัฐนี้อาจยังเอื้อมไม่ถึงทั้งหมด แต่ถ้าหากจะคำนึงถึงประสิทธิภาพการตอบสนองความต้องการของโรงเรียนหรือโรงพยาบาล เชื่อว่าจะดีขึ้นอย่างมาก

โรงเรียน และโรงพยาบาลถือเป็นหน้าด่านที่ติดต่อกับประชาชนในพื้นที่โดยตรง ทั้งสองมีทั้งรายรับรายจ่าย การบริหารจัดการตามงบประมาณที่กระจายจากส่วนกลางไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของโรงเรียนและโรงพยาบาลแต่ละแห่งได้ แม้ว่าจะเป็นโรงเรียนเหมือนกันหรือโรงพยาบาลเหมือนกัน

งบประมาณที่ผ่านจากส่วนกลางโดยพิจารณาจากค่าใช้จ่ายรายหัวโดยเฉลี่ยของโรงเรียนที่ผ่านกระทรวงศึกษาธิการก็ดี หรือของโรงพยาบาลที่ผ่าน สปสช. หรือสำนักงานประกันสุขภาพแห่งชาติ ก็ดี ได้รับการร้องเรียนอยู่ตลอดมา เพราะไม่สามารถตอบสนองความต้องการของสถานพยาบาลหรือสถานศึกษาที่เป็นด่านหน้าของกระทรวงได้

ถ้าเขาเป็นผู้ทำงบประมาณขึ้นมา เขาย่อมรู้ดีถึงความต้องการและสามารถจัดลำดับความสำคัญได้ และเชื่อว่าบุคคลากรระดับผู้อำนวยการโรงเรียนหรือโรงพยาบาลมีศักยภาพพอที่จะจัดทำงบประมาณรายจ่ายแต่ละปีได้อยู่แล้ว

กล่าวโดยเฉพาะ สถานพยาบาลโดยเฉพาะโรงพยาบาลรัฐในต่างจังหวัด มีความขาดแคลนในเกือบทุกด้านไม่ว่าบุคคลากร เครื่องไม้เครื่องมือ ผู้ป่วยจำนวนมากไม่มีเตียงเพียงพอ ต้องนอนรอแพทย์ตรวจตามทางเดิน แพทย์พยาบาลทำงานเกินกำลังจนเหนื่อยล้า  ความสะอาดและสุขลักษณะต่ำกว่าเกณฑ์ ไม่รวมถึงผู้มาเยี่ยมผู้ป่วย ที่ต้องทนทุกข์เมื่อต้องมาใช้ชีวิตกับผู้ป่วยอย่างแออัดคับแคบ นานนับเดือนนับปี

ขอให้ฝันเป็นจริง ทุกโรงพยาบาลสามารถจัดทำงบประมาณโดยตรง เสนอต่อส่วนกลาง และอย่าปล่อยให้ใครมาแอบอ้างกินหัวคิว เพียงเพราะต้องเข้าไปจัดการงบประมาณแต่ละช่วงชั้น คุณภาพชีวิตของประชาชนจะได้รับการยกระดับจริงๆสักที

โดย : ดร.เฉลิมพล ไวทยางกูร
วันที่ 12 ตุลาคม 2559
http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/639192