ผู้เขียน หัวข้อ: บ้านแพ้วโมเดล กับอนาคตรพ.สังกัดสธ. ‘ออกนอกระบบคือคำตอบ vs ยังไม่จำเป็น’  (อ่าน 1689 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9773
    • ดูรายละเอียด
ยังมีข้อถกเถียงกันอยู่เรื่อยๆ เกี่ยวกับการเอาโรงพยาบาลของรัฐออกนอกระบบการดูแลของกระทรวงสาธารณสุข โดยยกตัวอย่างโรงพยาบาลบ้านแพ้วขึ้นมาเป็นกรณีศึกษา แต่จนแล้วจนแล้วจนรอด ความคิดเหล่านี้ก็จมหายเหมือนกับโยนก้อนลงในน้ำวันดีคืนดีก็มีการหยิบยกขึ้นมาพูดกันอีกครั้งและอีกครั้ง วันนี้สำนักข่าว Hfocus ได้มาพูดคุยกับ 2 คุณหมอเกี่ยวกับความคิดเห็นเรื่องที่ว่าจะให้โรงพยาบาลออกนอกระบบหรือในระบบ แบบไหนจะดีกว่ากัน โดยฝ่ายหนึ่งคือ นพ.วิชัย โชควิวัฒน ที่คร่ำหวอดในแวดวงสาธารณสุขมานาน และสนับสนุนแนวคิดให้โรงพยาบาลออกนอกระบบมามาตั้งแต่เริ่มมีการพูดถึงเรื่องเหล่านี้ กับอีกฝั่งคือ นพ.สุทัศน์ ศรีวิไล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ หมอที่ทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลของรัฐมากว่า 5 แห่ง

นพ.วิชัย โชควิวัฒน

“เมื่อออกนอกระบบแล้วเป็นอิสระมากขึ้น สามารถเพิ่มจำนวนคนตามความจำเป็นและความเหมาะสมผ่านบอร์ดบริหาร อย่างไรก็ตามทั้งหมดก็ยังอยู่ภายใต้กระทรวง เพราะตามกฎหมายยังเป็นโรงพยาบาลในกำกับของกระทรวงฯ ยังต้องรับนโยบายของกระทรวงฯ แต่ไม่อยู่ภายใต้พันธนาการของกระทรวง”

มาเริ่มต้นที่ นพ.วิชัย โชควิวัฒน ที่สนับสนุนให้โรงพยาบาลของรัฐออกนอกระบบการดูแลของกระทรวงสาธารณสุข เพราะจะทำให้มีความคล่องตัวในการบริหารงาน เพราะไม่ถูกจำกัดด้วยระบบราชการ โดยยกตัวอย่างโรงพยาบาลบ้านแพ้ว ที่หลังจากออกมามาบริหารงานเป็นองค์กรมหาชน ก็สามารถขยายการบริการได้แบบก้าวกระโดดจากที่เคยเป็นโรงพยาบาลขนาด 30 เตียง ก็สามารถขนาดเป็น 300 เตียงได้ในเวลาต่อมา

เหตุผลที่ตอนนั้นต้องให้โรงพยาบาลบ้านแพ้วออกนอกระบบคืออะไร ?

กรณีของการเอาโรงพยาบาลบ้านแพ้วออกนอกระบบนั้นเป็นสิ่งที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอเองเมื่อตอนที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ที่ต้องมีการกู้เงินมาแก้ปัญหาสภาพคล่องในประเทศ และมีงบประมาณก้อนหนึ่งที่กู้จาก ADB : Asian Development Bank ธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย และตอนนั้นมีการรับปากว่าจะเอาโรงพยาบาลออกนอกระบบ หลายแห่ง เป็นเงื่อนไข เช่น โรงพยาบาลสระบุรี โรงพยาบาลขอนแก่น โรงพยาบาลหาดใหญ่ โรงพยาบาลนครพิงค์ และโรงพยาบาลบ้านแพ้ว แต่หลังจากได้รับเงินกู้แล้วก็ไม่ยอมทำ จึงเกิดการทวงถาม กระทรวงสาธารณสุขจึงยอมให้เอาโรงพยาบาลบ้านแพ้ว ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่มีขนาดเล็กที่สุดออกนอกระบบไป เพื่อรักษาสัญญาทั้งๆ ที่ไม่ได้อยากจะทำอย่างนั้น

พอโรงพยาบาลบ้านแพ้วออกนอกระบบกลายเป็นเรื่องที่ดี เพราะมีความเป็นอิสระกว่าการอยู่ในกระทรวงที่มีความเป็นระบบราชการ มีข้อกัดเยอะ เช่น ถ้าจะขยายโรงพยาบาลต้องขออนุญาตส่วนกลาง หรือถ้าจะเพิ่มจำนวนคนก็จะต้องมาขอกระทรวงสาธารณสุข แต่กระทรวงฯ ไม่มีอำนาจเบ็ดเสร็จว่าจะให้หรือไม่ ต้องไปขอจากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน ถ้าเป็นเรื่องงบประมาณก็ต้องไปขอที่สำนักงบประมาณ คือมีพันธนาการเยอะมาก แต่เมื่อออกนอกระบบแล้วเป็นอิสระมากขึ้น ผลคือบ้านแพ้วจาก 30 เตียง ปัจจุบันเป็น 300 เตียง และเกือบจะไม่ต้องของบประมาณจากกระทรวงสาธารณสุขเลย สามารถเพิ่มจำนวนคนตามความจำเป็นและความเหมาะสมผ่านบอร์ดบริหาร อย่างไรก็ตามทั้งหมดก็ยังอยู่ภายใต้กระทรวง เพราะตามกฎหมายยังเป็นโรงพยาบาลในกำกับของกระทรวงฯ ยังต้องรับนโยบายของกระทรวงฯ แต่ไม่อยู่ภายใต้พันธนาการของกระทรวง นอกจากนี้ยังสามารถขยายสาขาอีกมาก เช่นที่ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ หรือที่สาขาภายในอำเภอ ภายในจังหวัด รวมทั้งจังหวัดอื่น จนตอนนี้สามารถทำอะไรได้เยอะแยะ ให้บริการประชาชน โดยเฉพาะการให้บริการประชาชนของกระทรวงสาธารณสุขมีปัญหามากเพราะมีข้อจำกัด ในขณะที่ความต้องการของประชาชนมากขึ้น คนไปใช้บริการมากขึ้นเท่าตัวในรอบ 10 ปี แต่บริการเพิ่มขึ้นไม่ถึง 50% ขณะที่ความต้องการเพิ่มขึ้น 100%

“โรงพยาบาลตอนนี้มีสภาพเหมือนตลาดสด เตียงล้น คนไข้ต้องมานอนที่ระเบียง ล้นมาตามทางเชื่อม หน้าบันได นี่คือปัญหา ถ้าปล่อยให้เป็นอย่างนี้เรื่อยๆ ต่อให้ไปพัฒนาระบบมากเพียงใดก็มีข้อจำกัดเพราะว่าสถานที่จำกัด คนจำกัด งบประมาณจำกัด แต่ความต้องการบริการเพิ่มขึ้น ดังนั้นต่อให้พัฒนามากเพียงใดก็ไม่สามารถบริการประชาชนที่เพิ่มมากขึ้นได้อย่างมีคุณภาพ นี่คือปัญหา”

จุดอ่อนในการบริหารงานของโรงพยาบาลบ้านแพ้วหลังออกนอกระบบการดูแลของกระทรวงสาธารณสุขมีหรือไม่ ?

ตอนที่ออกไปประมาณ 10 ปี สวรส.ทำการประเมินคุณภาพการบริการ ความพึงพอใจของผู้รับบริหาร ประเมินการบริหารงานของผู้บริหาร และประเมินองค์กรที่เกี่ยวข้องที่ทำงานร่วม พบว่าเกือบไม่มีข้อเสียเลย

โรงพยาบาลของรัฐในแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน การจะออกนอกระบบจะต้องประเมินจากอะไร ?

ส่วนใหญ่เขาทำตามความพร้อม ไม่รีบร้อน เพราะว่าถ้าทำอะไรเหมือนกันทั้งประเทศส่วนใหญ่จะเจ๊ง อย่างไรก็ตามหลังเอาโรงพยาบาลออกนอกระบบแล้ว มีอีกระลอกหนึ่งที่เอาสถานีอนามัยไปอยู่กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) พอออกไปสักระยะแล้วมีการประเมินก็พบว่าได้ผลดีเช่นเดียวกัน แต่ว่าก่อนจะออกมีเงื่อนไขว่าออกโดยไม่บังคับ ออกไปตามความพร้อมโดยที่ทางสถานีอนามัยพร้อมที่จะออก อปท.ก็พร้อมที่จะรับ คือการออกไป ต้องออกไปในลักษณะที่มีการเตรียมความพร้อม ไม่ใช่ว่านึกอยากจะออกก็ออก และไม่ใช่ว่าสั่งให้ออกก็ออก อย่างนี้ไม่ใช่ ไม่อย่างนั้นจะมีปัญหา

โรงพยาบาลระดับไหนที่สามารถออกไป แล้วอยู่ได้โดยไม่มีปัญหา ?

ได้ทุกระดับ ตัวอย่างที่เกิดขึ้นแล้วมี 2 ระดับ คือ โรงพยาบาลขนาด 30 เตียงของโรงพยาบาลบ้านแพ้ว ซึ่งปกติอยู่ด้วยตัวเองไม่ได้เพราะเป็นโรงพยาบาลขนาดเล็ก แต่กลับพบว่าอยู่ได้ด้วยดี ถ้าโรงพยาบาลใหญ่กว่านั้นยิ่งอยู่ได้ดี และที่เล็กกว่านั้นคือสถานีอนามัย แทนที่จะอยู่กับกระทรวงฯ ก็ให้ท้องถิ่นดูแลก็อยู่ได้ เพราะฉะนั้นเรื่องขนาดไม่ใช่ปัญหา ปัญหาอยู่ที่กระทรวงเขาไม่อยากให้ออก เพราะเขาอยากจะมีหน่วยงานภายในอาณาจักรของตัวเอง

ถ้าออกไปจริงๆ จะต้องใช้รูปแบบการบริหารแบบเดียวกับโรงพยาบาลบ้านแพ้วหรือไม่ ?

การออกนอกระบบมีได้หลายรูปแบบ 1. การออกไปตามพระราชกฤษฎีกาคือโรงพยาบาลบ้านแพ้ว 2. ออกไปอยู่กับท้องถิ่น มันมีหลายแบบ เพราะฉะนั้นต้องมาพิจารณาและดูความพร้อม ความเหมาะสมของแต่ละแห่ง

ถ้าเช่นนั้นก็หมายความว่า แต่ละโรงพยาบาลต้องปรับการบริหารที่เหมาะสมของแต่ละโรงพยาบาลเอาเองไม่มีที่ไหนสามารถบริหารงานได้เหมือนๆ กัน ?

เบื้องต้นต้องศึกษาก่อนว่าถ้าจะออก จะออกไปในรูปแบบไหน ออกแล้วจะเตรียมการอย่างไรบ้าง ระยะเปลี่ยนผ่านต้องเตรียมโครงสร้าง เตรียมระบบ เตรียมคนอย่างไร เตรียมระเบียบต่างๆ เตรียมงบประมาณอย่างไร อย่างโรงพยาบาลบ้านแพ้วจะมีคณะกรรมการบริหารท้องที่ของเขาเอง เขาต้องเลือกกรรมการบริหารที่เข้าใจ ต้องเลือกผู้อำนวยการที่เข้าใจ ต้องมีการเตรียมความพร้อมหลายเรื่อง ไม่ใช่ว่าพอกระจายออกไปแล้วจะดีเลย อย่างนี้ไม่ใช่ มันไม่ง่ายขนาดนั้น

นพ.สุทัศน์ ศรีวิไล

“ต้องศึกษาว่าบ้านแพ้วดูแลตัวเองได้จริงหรือเปล่าถ้าอยู่ที่เดิมโดยไม่ออกไปอยู่นอกโครงการ หรือไม่ทำอย่างอื่นๆ ถ้าไปดูที่บ้านแพ้ว แล้วดูว่าถ้าโรงพยาบาลทุกโรงทำเหมือนบ้านแพ้วแล้วประชาชนจะเดือดร้อน”

ด้าน นพ.สุทัศน์ ศรีวิไล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ และประธานชมรมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป กระทรวงสาธารณสุข มองว่ายังมีความจำเป็นที่โรงพยาบาลของรัฐจะต้องอยู่ในความดูแลของกระทรวงสาธารณสุข เพราะกระทรวงสาธารณสุขเป็นหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ดูแลคนไทยทั้งประเทศด้วยงบประมาณที่มาจากภาษีของประชาชน เป็นเงินภาษีของทุกคนที่ย้อนกลับมาดูแลทุกคน เพราะฉะนั้นจะไปออกนอกระบบไม่ได้ ต้องอยู่ในระบบ

ก่อนหน้านี้เคยเอาโรงพยาบาลบ้านแพ้วออกจากระบบแล้วได้ผลดี เพราะมีความคล่องตัวในการพัฒนามากกว่า ?

บ้านแพ้วนั้นดูแลตัวเองไม่ได้ ต้องไปทำมาหากินที่อื่น มันไม่ใช่ Economy of Scale การจะดูแลตัวเองด้วยตัวเองนั้นจะต้องมีรายได้ที่เยอะพอสมควร การจะมีรายได้เยอะพอสมควรก็แสดงว่าต้องเก็บเงินเยอะ บ้านแพ้วนี่ยังต้องไปทำรับจ้างทำนั่น นี่ ทั่วประเทศไทยเพื่อมาเลี้ยงตัวเอง ถ้าโรงพยาบาลออกนอกระบบแล้วประเทศไทยจะยิ่งยุ่งไปกันใหญ่ เห็นมีโมเดลแต่ต้องศึกษาว่าบ้านแพ้วดูแลตัวเองได้จริงหรือเปล่าถ้าอยู่ที่เดิมโดยไม่ออกไปอยู่นอกโครงการ หรือไม่ทำอย่างอื่นๆ ถ้าไปดูที่บ้านแพ้ว แล้วดูว่าถ้าโรงพยาบาลทุกโรงทำเหมือนบ้านแพ้วแล้วประชาชนจะเดือดร้อน

คุณหมอจึงเห็นว่า ถ้าเอาโรงพยาบาลของรัฐออกนอกระบบจะทำให้ต้องปากกัดตีนถีบ ต้องดูแลตัวเองเหมือนเอกชน จะส่งผลต่อการดูแลประชาชนโดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย ?

ใช่ การที่เราจะไปอยู่นอกระบบ ยังไงๆ เราก็ต้องอาศัยเงินภาษีของชาวบ้าน เป็นงบประมาณของรัฐมา support อยู่แล้ว  เพราะฉะนั้นเราต้องทำงานเหมือนกับเป็นระบบประชาชนที่ดูแลประชาชน คิดว่าคุณหมอที่อยู่ในระบบ กับหมอที่อยู่ในโรงพยาบาลเอกชนก็มีความคิดเห็นที่ต่างกัน คุณหมอที่อยู่ในโรงพยาบาลของรัฐ เป็นคุณหมอที่เสียสละพอสมควร คุณหมอที่อยู่เอกชนก็เสียสละในระดับหนึ่ง คนละบริบทกัน วิธีคิดก็ไม่เหมือนกัน แต่ว่าโรงพยาบาลทั้ง 2 ส่วนก็ช่วยคนไข้ได้เหมือนกันเพียงแต่เป็นคนละกลุ่มเท่านั้นเอง โรงพยาบาลเอกชนก็ช่วยเหลือคนไข้ที่สามารถจ่ายค่ารักษาพยาบาลได้ หรือคนไข้ต่างประเทศที่มาใช้จ่าย ทำให้รัฐมีเงินเข้า ในส่วนของโรงพยาบาลของรัฐก็ดูแลคนไทยที่ไม่มีเงินไปเข้าโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งทำให้เป็นการกระจายผู้ป่วย คิดว่าระบบของประเทศไทย พอที่จะไปได้อยู่แล้ว

มีหลายภาคส่วนที่สนับสนุนให้เอาโรงพยาบาลของรัฐออกนอกระบบเพื่อความคล่องตัวในการบริหารงาน ?

อันนี้แล้วแต่วิธีคิดของคน เพราะว่าประสบการณ์ของแต่ละคนไม่เหมือนกัน อย่างผมเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลของรัฐมา 5 โรงแล้วรู้ว่าโอกาสของคนถ้าไม่มีโรงพยาบาลของรัฐจะเดือดร้อน แต่อันนี้ก็เป็นวิธีคิดของแต่ละคน ซึ่งคิดได้หมด ไม่มีใครถูกใครผิด แต่ที่เรียนนั้นมาจากประสบการณ์ที่เป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลมา แต่ถ้าเกิดจะทำจริงต้องมีการวิจัยเรื่องนี้อย่างมากซึ่งเราไม่ใช่นักวิจัย ต้องมีคนมาวิจัยให้ดูว่าจริงไหม แต่ตรงนี้เป็นประสบการณ์ที่เห็นอยู่ตามชนบท ตามต่างจังหวัด ตามที่ต่างๆ

หมายความว่าโรงพยาบาลของรัฐควรจะอยู่ในการดูแลของกระทรวงสาธารณสุขอย่างนี้ดีกว่าการออกนอกระบบ ?

ประเทศไทยมีระบบอยู่แล้วคือระบบเอกชน และระบบของรัฐ โดยระบบของรัฐจะดูแลประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศที่มีรายได้น้อย เพราะฉะนั้นเราก็อยู่ด้วยภาษีของประชาชน ดังนั้นเราต้องดูแลประชาชนที่มีรายได้น้อย คนที่มีรายได้เยอะ มีกำลังก็ไปอยู่ในระบบประกันชีวิต หรือโรงพยาบาลเอกชนอยู่แล้ว เรามี 2 ระบบอยู่แล้วจะออกไปทำให้ปนๆ กันทำไม 

หมายเหตุ จากประเด็นดังกล่าวนั้น ล่าสุดความเห็นของนพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดสธ.ที่ตอบคำถามผู้สื่อข่าว กรณีการให้รพ.สังกัดสธ.ออกนอกระบบในลักษณะรพ.บ้านแพ้วว่า “ยังไม่คิดขนาดนั้น อย่างน้อยทำอะไรต้องคิดเป็นเขตบริการสุขภาพ หากจะออกนอกระบบต้องออกเป็นเขตบริการสุขภาพ อย่าออกเพียงโรงพยาบาลใดโรงพยาบาลหนึ่ง แต่ทั้งหมดต้องคำนึงถึงประชาชนเป็นสำคัญ”


Mon, 2014-06-02 11:38 -- hfocus