ผู้เขียน หัวข้อ: สธ.ออกนอก ก.พ. “ความก้าวหน้า vs ความเสมอภาคระหว่างวิชาชีพ” แล้วประชาชนจะได้อะไร  (อ่าน 1631 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9772
    • ดูรายละเอียด
ภายหลังจาก นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ออกมาประกาศว่าจะนำพาบุคลากรกระทรวงสาธารณสุข ปลดแอกจากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ให้สำเร็จ ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารจัดการอัตรากำลัง เพื่อคืนความสุขให้กับบุคลากรได้มีความก้าวหน้าในอาชีพการงาน หลังจากที่มีการขับเคลื่อนเรื่องนี้มาหลายยุคผู้บริหารแต่ก็ไม่คืบ ทำให้นโยบายนี้ดูท่าจะได้ใจบุคลากรด้านสาธารณสุขหลายสาขาวิชาชีพไปเต็มๆ แต่อย่างไรเสียคนในสังกัดกว่า 3 แสนคนย่อมมีทั้งคนที่สนับสนุน และไม่เห็นด้วยอย่างมีเหตุมีผล ซึ่งสำนักข่าว HFocus ได้มีโอกาสสัมภาษณ์คนที่มีความเห็นต่างในเรื่องนี้ และนำมาเผยแพร่ให้ผู้อ่านได้มองเห็นมุมมองที่หลากหลายต่อไป

โดยในส่วนของนางทัศนีย์ บัวคำ อุปนายกสมาคมวิชาชีพสาธารณสุข เป็นคนหนึ่งที่ตั้งคำถามว่า ถ้าออกจากการดูแลของ ก.พ.แล้วจะมีประโยชน์อย่างไร ใครจะได้ ใครจะเสีย ที่สำคัญคือประชาชนจะได้อะไร หากยังอยู่ที่ก.พ.กระทบกับงานบริการประชาชนอย่างไร และยังมีคำถามถึงเรื่องนี้อีกมากที่ยังต้องการคำตอบจากผู้นำนโยบาย ส่วนอีกด้านหนึ่ง พญ.อุทุมพร กำภู ณ อยุธยา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครศรีธรรมราช ที่ออกมายก 2 มือสนับสนุนให้กระทรวงสาธารณสุขแยกตัวเป็นอิสระจาก ก.พ. เพื่อให้การทำงาน การบริหารจัดการกำลังคนไม่เป็นอุปสรรค สอดคล้องกับบริบทสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งความคล่องตัวนี้จะส่งผลโดยตรงต่อการให้บริการประชาชนได้อย่างสบายอกสบายใจ

ทัศนีย์ บัวคำ อุปนายกสมาคมวิชาชีพสาธารณสุข

“กระทรวงสธ.ออกมาแล้วประชาชนได้อะไร พี่มองเรื่องผลลัพธ์ เพราะทุกคนต้องการก้าวหน้าในอาชีพการงานอยู่แล้ว แต่มั่นใจแล้วหรือว่าทุกคนจะมีความสุขเหมือนกัน จะมีความเท่าเทียม เสมอภาคกันหรือไม่ ปลัดต้องตอบให้ได้ วันนี้เรายังไม่เห็นพิมพ์เขียว ไม่เห็น road map อะไรเลย เห็นแค่คำเดียวว่าจะออกจาก ก.พ.”

มาเริ่มต้นกันที่ความเห็นของนางทัศนีย์ ที่บอกว่าไม่ได้ปฏิเสธ แต่ก็ไม่ได้ขานรับนโยบายที่จะพากระทรวงสาธารณสุขออกจากก.พ. เพราะถ้าจะออกจากก.พ.จริงๆ ต้องมีข้อมูลมาสนับสนุน ว่าใครได้ ใครเสียอย่างไร ประชาชนได้ประโยชน์อย่างไรจากเรื่องนี้ ถ้าออกจริงๆ มีอะไรมารองรับ และรับรองว่าจะเกิดสิ่งที่ดีกว่า แต่ในสถานการณ์อย่างนี้ยังไม่เข้าใจเหมือนกันว่าออกเพื่ออะไร เพราะกระทรวงสาธารณสุขอยู่กับ ก.พ. มากี่ปี จนกระทั่ง ก.พ.มีการแก้พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนพ.ศ. 2551 เป็นกฎหมายดีๆ ที่ให้อำนาจกลับมาที่กระทรวงฯ เยอะมาก ทั้งเรื่องการกำหนดอัตรา ตำแหน่ง หรือเรื่องการจัดสรรอัตราว่าง การเลื่อนตำแหน่ง มันขึ้นอยู่กับว่าเจ้ากระทรวงหรือผู้เกี่ยวข้องจะนำกฎหมายไปสู่การปฏิบัติได้อย่างไร

“เรื่องการปฏิรูปแล้ว มันต้องถามด้วยว่าประชาชนได้อะไร เพราะจริงๆ แล้วข้าราชการคือคนที่ต้องทำหน้าที่ให้บริการประชาชน ถ้าไม่ออกจากก.พ.แล้วบริการประชาชนไม่ได้อย่างนั้นหรือไม่ ถ้าไม่ออก ปฏิบัติหน้าที่ได้หรือไม่ ถ้าไม่ออกปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ปัญหามันอยู่ตรงไหน ติดขัดตรงไหน วันนี้ต้องเอาสิ่งเหล่านี้มาคุย เพราะว่าการพิจารณากฎหมายจะต้องพิจารณาเรื่องการคุ้มครองสิทธิของประชาชน ประชาชนได้อะไร”

วันนี้ข้าราชการที่อยากออกเพราะติดปัญหาเส้นทางความก้าวหน้าอย่างนั้นหรือ ก็ต้องกลับมาดูเรื่องโครงสร้างใหม่ กระทรวงสาธารณสุขแตกต่างจากข้าราชการอื่นๆ เช่นครู หรือตำรวจ กระทรวงสาธารณสุขมีหลายสายงาน มีพนักงานอยู่ 3 แสนกว่าคน จะจัดการอย่างไร ส่วนตัวมองว่าเป็นปัญหาที่ไม่สามารถออกได้ง่ายๆ แต่ถ้าตอบได้ว่าออกแล้วประชาชนได้รับบริการที่ดีขึ้น ก็ยินดีสนับสนุนไม่ได้มีข้อขัดแย้งอะไร เพียงแต่ตั้งคำถามเฉยๆ และจริงๆ ทุกวันนี้เราแทบจะไม่มีหน่วยไหนขึ้นมาคานเลย ซึ่งต้องยอมรับว่าปัญหาใหญ่ของกระทรวงสาธารณสุขคือปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำในวงการการแพทย์และสาธารณสุขมีสูงมาก

ที่สำคัญก.พ.ว่าอย่างไรบ้าง ประชาชนว่าอย่างไร มันต้องถามหลายส่วน เพราะการจะเปลี่ยนแปลงอะไรมันมีผลกระทบหลายส่วน เปลี่ยนแล้วดีขึ้นกว่าเดิมไหม ที่สำคัญไม่ใช่นึกอยากเปลี่ยนโดยใช้ความรู้สึก แต่ข้าราชการหลายๆ คนอาจจะอยากออกก็มีเพราะเขาอาจจะไม่เข้าใจ หรือไม่ได้เข้าถึงข้อมูลที่ดีพอ มุมมองส่วนตัวเห็นว่าต้องมีการถ่วงดุลและสร้างดุลภาพของระบบให้ได้แล้วถึงจะออกได้อย่างที่ไม่เป็นปัญหากับสังคม กับประชาชน และมีเส้นทางก้าวหน้าหรือจัดการปัญหาเรื่องการบรรจุ

ตอนนี้ดูเหมือนจะเป็นปัญหาเรื่องความก้าวหน้าสำหรับคนทำงาน เพราะการอยู่กับ ก.พ.ค่อนข้างขยับขยายลำบาก ?

เพราะฉะนั้นมันติดในเรื่องของโครงสร้าง วันนี้เราต้องมองว่าปัญหาทั้งหมดมาจากโครงสร้าง ที่เป็นโครงสร้างแนวดิ่ง จากข้างบนลงข้างล่าง โดยไม่ได้มองว่าทุกวันนี้บริบทมันเปลี่ยนไปแล้ว ความก้าวหน้าของการทำงานไม่ตรงกับภาระงานที่ค่อนข้างหนัก วันนี้ถ้าจะรื้อกันใหม่ จะคิดโครงสร้างแนวดิ่งไม่ได้ ต้องคิดถึงแนวระนาบว่าเป็นอย่างไร เกิดแรงจูงใจในการทำงานอย่างไร มีเส้นทางความก้าวหน้าสำหรับคนที่ทำงานเพื่อกระทรวงอย่างไร คนฐานล่างทำงานกว่า 300 กิจกรรมจาก 9 กรม ถามว่าคนเหล่านี้เขาได้อะไรบ้าง นอกจากเอาไปแบ่งกันเอง 75 อัตรา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และคนข้างล่างต้องแย่งชิงกัน ทั้งๆ ที่มี รพ.สต.อยู่เกือบ 1 หมื่นแห่ง แต่วันนี้ให้ 75 อัตรา แล้วถามว่าแรงจูงใจอะไรที่เขาจะได้รับกลับไป เลยคิดว่าเพราะ ก.พ.หรือเปล่า เขาต้องคิดอย่างนี้อยู่แล้วคิดเป็นอย่างอื่นไม่ได้ เพราะเขาไม่มีข้อมูลอย่างอื่นมาสนับสนุน แต่ถ้าเป็นมุมมองส่วนตัวเห็นว่าถ้าจะต้องรื้อกันจริงๆ ต้องดูว่าอะไรที่ติดขัด อะไรที่เป็นปัญหาจริงที่ทำให้คนทำงานท้อ และไม่อยากให้บริการ หรือบริการไปก็ไม่ได้ประสิทธิภาพเท่าที่ควร นี่คือผลกระทบที่เกิดจากชาวบ้านแล้ว มองว่าถ้าจะต้องออกจากก.พ.ก็ต้องดูกฎหมาย ระเบียบหรืออะไรที่ติดขัดและเดินไม่ได้ คือต้องหาปัญหาเรื่องนี้เสียก่อนว่าเพราะอะไรถึงเดินไม่ได้ ถ้าเป็นกฎหมายควรแก้กฎหมาย กับการที่ต้องไปรื้อทั้งหมดกับการสร้าง พ.ร.บ.ใหม่ขึ้นมา อะไรจะเป็นเครื่องการันตีว่าถ้ากระทรวงสาธารณสุขดูแลกันเองแล้วจะทำให้มีประสิทธิภาพสูงสุด อยากจะทำอะไรไม่ใช่ใช้ความรู้สึก

หมายความว่าปัญหาเรื่องการกระจายกำลังคนทำงานจริงๆ แล้วไม่ได้อยู่ที่ ก.พ.อย่างนั้นหรือไม่ ?

พี่มองทั้ง 2 ส่วน ปัญหาอาจจะอยู่ที่ ก.พ.ก็ได้ แต่ต้องมองว่า ก.พ.ทำงานภายใต้รัฐบาล ขึ้นกับสำนักนายกรัฐมนตรี ต้องไปดูว่านโยบายของสำนักนายกฯ เป็นอย่างไร เพราะมันจะเชื่อมโยงกัน และต้องมาดูกฎหมายด้วยว่าเป็นตัวขัดขวาง หรือเป็นข้อจำกัดให้เดินต่อไม่ได้จนกระทั่งอึดอัด อยากจะออก เราต้องกางตรงนี้ให้ได้ก่อน ตอนนี้เราไม่โทษใคร เพราะการโทษกันไป โทษกันมาแล้วประชาชนได้อะไร คือมันต้องคิดถึงประชาชน เหมือนวันนี้จะปฏิรูปประเทศแล้วประชาชนได้อะไร ออกจาก ก.พ.คือการปฏิรูประบบสาธารณสุข มันไม่ใช่ต้องตอบว่าไม่ใช่ เพราะปัญหาของกระทรวงสาธารณสุขคือความเหลื่อมล้ำ การเข้าไม่ถึงบริการ ความไม่เท่าเทียมกันในการใช้บริการด้านสุขภาพ วันนี้เราต้องพูดความจริง เอาความจริงมาพูดกัน เราไม่ได้ไปต่อว่ากัน ปลัดอาจจะมีมุมหนึ่งที่คิดด้านนั้น ปลัดก็ต้องเอารายละเอียดด้านนั้นมาคุยว่าใช่หรือไม่ และต้องถาม ก.พ.ด้วย ว่าคิดอย่างไร เพราะก.พ.เป็นคู่กรณีกัน ถ้า ก.พ.เป็นตัวขัดขวางความก้าวหน้าตรงนี้ แล้ว ก.พ.มีทางออกสำหรับเรื่องนี้หรือไม่ ไม่อย่างนั้นจะย้อนไปสู่อดีตเหมือนกับที่เคยลุกออกมาบอกว่าอยากจะออกจาก ก.พ.ตั้งแต่ปี2535 ที่มีการแก้กฎหมาย และตอนนั้น ก.พ. ก็โยนซี 9 ซี 10 มาให้ พันกว่าอัตรา เสร็จแล้วตำแหน่งเหล่านี้ลงไปที่ผอ.โรงพยาบาลชุมชน แต่ไม่ลงไปที่คนปฏิบัติงาน ทำให้มีปฏิกิริยากัน และกลับมา โทษ ก.พ.

ตำแหน่งข้าราชการที่ ก.พ.ให้มาในแต่ละปีจะจำกัดไม่เกินเท่านั้น เท่านี้อัตรา ดังนั้นถ้าจะปฏิรูปเพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานได้รับโอกาสก้าวหน้าในวิชาชีพมากกว่าที่เป็นอยู่จะต้องทำอย่างไร ?

วันนี้เราต้องเอาปัญหาเป็นตัวตั้ง มองปัญหา บริบท และสถานการณ์ที่ทุกวันนี้มันเปลี่ยนไปหมดแล้ว ปัญหาเรื่องโรคต้องดูที่ระบบการดูแลสุขภาพ และสถานการณ์ที่เกิดขึ้นแต่ละพื้นที่ที่มีความแตกต่าง ความแออัด ชุมชน ดังนั้นเราต้องมาดูว่าภาระงานที่แต่ละคนต้องแบกรับจริงๆ มันคืออะไร ต้องคิดย้อนกลับขึ้นไป ด้วยความคิดที่เปลี่ยนไป บางพื้นที่ต้องเพิ่มอัตรา การทำงานจะเปลี่ยนไป มีรูปแบบเปลี่ยนไป ดังนั้นจากเดิมที่ไม่เคยดูแล ไม่มีเส้นทางก้าวหน้าให้เลยก็มาคิดตรงนี้ จากเดิมที่ไม่มีกรอบอัตรากำลังให้เลยนั้น เราจะโทษก.พ.อย่างเดียวไม่ได้ เพราะคนที่มีส่วนในการนั่งคิดทั้งหมดเลยคือกระทรวงสาธารณสุข เพราะฉะนั้นทั้งหมดก็ต้องมานั่งคิดคุยกันและคลี่กันจริง และเอาคนที่มีส่วนได้ส่วนเสียมาร่วมด้วย ถึงจะเป็นการเปิดโอกาส การออกกฎหมายใหม่โดยไม่มีการนำไปสู่การปฏิบัติถามว่ามีประโยชน์อะไร เพราะว่ามีกฎหมายแล้วไปนั่งศึกษากฎหมายและทำให้เกิดการปฏิบัติอย่างนี้จะไม่ดีกว่าหรือ ก.พ.ก็ต้องมาดูตัวเอง เบื้องต้นทุกคนต้องมาดูตัวเอง

หากออกจริงๆ แล้วจะทำให้กระทรวงฯ สามารถจัดสรรตำแหน่งกันเองได้ง่ายขึ้นหรือไม่ เพราะรู้สภาพความต้องการของแต่ละพื้นที่จริงๆ และไม่มีเงื่อนไขจาก ก.พ. หรือตรงนี้จะเกิดปัญหาใหม่อะไรขึ้นมาหรือไม่ ?

แน่นอน เพราะว่าต้องกลับไปดูว่าจริงๆ สาธารณสุขมีกี่สายงาน มีกี่ตำแหน่ง มีกี่อัตรา ทั้งสายบริหารที่เป็นแพทย์โดยตรง สายสนับสนุนอีก มีเส้นแบ่งแล้ว สายสนับสนุนทั้งๆ ที่เป็นคนที่ทำให้เกิดผลสำเร็จของงาน สายนี้กลับไม่เติบโต ไม่เจริญก้าวหน้า เพราะฉะนั้นคนที่ทำข้อมูลตรงนี้ส่งไปให้ ก.พ.คือกระทรวงฯ ก.พ.รับข้อมูลและไปดำเนินการตามที่กระทรวงขอ

ความก้าวหน้าจะช่วยดึงคนในระบบ แต่ถูกตีกรอบอัตราจาก ก.พ.ที่ขีดเส้นให้แค่นี้ ?

เพราะ ก.พ.ต้องดู และคุมเม็ดเงินด้วย รัฐบาลก็ต้องส่งสัญญาณว่ามีเม็ดเงินจากรัฐบาลเท่าไหร่ เพราะว่าถ้าไปจ้างหมดรัฐก็ไม่มีเงินจ่าย ตรงนี้จะทำอย่างไร แต่ตรงนี้ก็ต้องมาดูว่าข้อมูลที่ ก.พ.ให้นั้นคือความจริงหรือไม่ ที่ว่าจะส่งผลกระทบระดับประเทศ ทุกคนไม่ได้เอาข้อเท็จจริงมาพูด ทุกคนอนุมาน ก.พ.อนุมานว่าจะเกิดผลกระทบตามนี้ แต่จริงหรือไม่ เพราะฉะนั้น ก.พ.ก็ต้องถอดออกมาให้สังคมรู้ว่ามันจะกระทบแบบนี้ๆ ต้องกะเทาะปัญหาออกมาให้สังคมรับรู้ อย่างกระทรวงฯ ขอไป 1 หมื่นอัตรา แต่ก.พ.ให้ได้แค่ 7,000 อัตรา 3,000 ไม่ได้ ที่ไม่ได้เพราะอะไร ก.พ. ก็ต้องบอกข้อเท็จจริงมา แต่เราไม่รู้ว่าคืออะไร อย่าลืมว่าวันนี้โลกเป็น network (เครือข่าย) คนต้องการรับรู้ข่าวสาร เอาข้อเท็จจริงทั้งหมดมากาง มาวิเคราะห์ ถ้า ก.พ.บอกว่าไม่ได้ขัดขวางก็ต้องเปิด แล้วต้องดูว่ากระทรวงฯ พูดความจริงหรือเปล่า ทุกคนต้องพูดความจริง

“คุณจะออกหรือไม่ออกจะต้องตอบสังคมให้ได้ ใครได้ใครเสีย  และสุดท้ายถ้าไม่ออกจะกระทบไหมว่าคุณให้บริการประชาชนไม่ได้ มันคืออะไร คือทุกคนใช้ความรู้สึก แต่ทุกคนต้องเอาข้อมูลข้อเท็จจริงมาตีแผ่ กางให้สังคมได้รับรู้ ปลัดฯ เสนอแนวนั้น ปลัดฯ ก็ต้องมีความชัดเจน ที่ต้องการให้ออกแล้วผลที่ตามมาดีอย่างไร ในสถานการณ์บ้านเมืองเป็นแบบนี้ และต้องการให้เกิดการปฏิรูปประเทศ แต่ใน choice (ทางเลือก) ของการออกจาก ก.พ.แล้วบอกว่าคือการปฏิรูปนั้นมันยังมองไม่เห็น แต่ถ้าบอกว่าวันนี้จะปฏิรูประบบสาธารณสุขคือการกระจายอำนาจ อย่างนี้คือชัดเจน กระทรวงสาธารณสุขมีหน้าที่กำกับดูแลให้คนทำหน้าที่ให้ได้มาตรฐาน เพราะสุดท้ายคนที่ได้ประโยชน์คือชาวบ้าน แต่กระทรวงยังยอมรับตรงนี้ไม่ได้ เพราะไม่อยากกระจายอำนาจ ถ้ากระจายอำนาจก็จบ”

บุคลากรในสังกัดส่วนใหญ่ขานรับนโยบายมีเยอะมาก ?

คนที่ออกมาขานรับมีจำนวนหนึ่ง แต่คนที่ยังลังเลก็มีอยู่มาก อาจจะได้ข้อมูลมาด้านหนึ่ง เอาจากกลุ่มที่มีการรวมตัวกันแล้วบอกว่าเป็นตัวแทน อันนี้ใช่ของจริงหรือเปล่า พี่ไม่ได้ปฏิเสธ และไม่ได้ขานรับ แต่บอกว่าให้เอาข้อเท็จจริงมาคุยว่าออกแล้วได้ เสีย อย่างไร เรื่องนี้ไม่ได้ทำง่าย กฎหมายมีการศึกษาไหม อะไรเป็นเครื่องการันตีได้ว่าออกมาแล้วทุกคนจะมีความสุข เราจะมั่นใจได้อย่างไร

หลายหน่วยงานที่ออกจากก.พ.แล้ว เช่น ครู ตำรวจ มองเรื่องความก้าวหน้าของหน่วยงานเหล่านี้อย่างไร ?

ตำรวจมองง่ายๆ ก่อนจะขึ้นจากจ่ามาเป็นสัญญาบัตร เขาใช้เวลากี่ปี ส่วนครูต้องถามว่าที่ออกมากจาก ก.พ.แล้ววันนี้คุณภาพของเด็กเป็นอย่างไร เรื่องการศึกษาเห็นชัดมาก ครูมีความก้าวหน้ามาก แต่ผลลัพธ์สุดท้ายคือเด็กวันนี้เป็นอย่างไร เช่นเดียวกัน กระทรวงสาธารณสุข ออกมาแล้วประชาชนได้อะไร พี่มองเรื่องผลลัพธ์ เพราะทุกคนต้องการก้าวหน้าในอาชีพการงานอยู่แล้ว แต่มั่นใจแล้วหรือว่าทุกคนจะมีความสุขเหมือนกัน จะมีความเท่าเทียม เสมอภาคกันหรือไม่ ปลัดต้องตอบให้ได้ 1,2,3,4 วันนี้เรายังไม่เห็นพิมพ์เขียว ไม่เห็น road map อะไรเลย เห็นแค่คำเดียวว่าจะออกจาก ก.พ.

ถ้าไม่พูดถึงความก้าวหน้าด้วยการรับตำแหน่งข้าราชการแล้ว การสร้างความก้าวหน้า สร้างความสุขเบื้องต้นให้กับคนทำงาน เพื่อดึงคนเหล่านี้ให้อยู่ในระบบเพื่อให้บริการประชาชนได้อย่างมีคุณภาพจะต้องทำอย่างไร ?

ปัญหาของกระทรวงสาธารณสุขที่หยั่งรากลึกมากคือความเหลื่อมล้ำ เพราะฉะนั้นต้องมาแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำให้ได้ วันนี่มันมีช่องว่าง โดยเฉพาะผู้บริหารส่วนใหญ่ทั้งหมดคือแพทย์ เราต้องยอมรับความจริง ทำไมคนสายงานอื่นไม่สามารถขึ้นบริหารงานได้ทั้งๆ ที่หลายคนอาจจะมีความรู้ความสามารถ แต่ถูกกดทับไว้หมดเลยจะเกิดความสุขได้อย่างไร ตรงนี้จะต้องมีการแก้ไข

พญ.อุทุมพร กำภู ณ อยุธยา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครศรีธรรมราช

“ที่ผ่านมา ก.พ.มองกระทรวงสาธารณสุขเหมือนกับกระทรวงอื่น แต่จริงๆ กระทรวงสาธารณสุขแตกต่างจากกระทรวงอื่นๆ เพราะว่าเราเป็นวิชาชีพ งานเป็นงานบริการสาธารณะขั้นพื้นฐานของประชาชน และเป็นผู้รับผิดชอบหลักของประเทศ เพราะฉะนั้นด้วยเงื่อนไขของ ก.พ.ทำให้ภาพการจัดระบบบริการต่างๆ ไม่สามารถตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยสอดคล้องกับวิชาชีพได้ ซึ่งตรงนี้การที่เราจะมีพ.ร.บ.ของกระทรวงสาธารณสุขเฉพาะก็เป็นทางออกที่เหมาะสม”

ด้าน พญ.อุทุมพร กำภู ณ อยุธยา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า เห็นด้วยกับนโยบายนี้เพราะจะทำให้เกิดความคล่องตัวในการทำงาน และเรื่องบริหารจัดการกำลังคนให้สอดคล้องกับการปฏิรูประบบสุขภาพด้วย ซึ่งขณะนี้มีการทำเรื่องเขตบริการสุขภาพ ซึ่งจริงๆ แล้วเรื่องนี้มีการขับเคลื่อนกันมานาน ไม่ใช่เพิ่งมาคิด ก่อนหน้านี้มีการเสนอร่าง พ.ร.บ.กระทรวงสาธารณสุขผ่านสภาผู้แทนราษฎร และสภาฯ ได้ส่งร่างฯ นี้มาให้ผู้เกี่ยวข้องได้ให้ความเห็น

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ก.พ.มองกระทรวงสาธารณสุขเหมือนกับกระทรวงอื่น แต่จริงๆ กระทรวงสาธารณสุขแตกต่างจากกระทรวงอื่นๆ เพราะว่าเราเป็นวิชาชีพ งานเป็นงานบริการสาธารณะขั้นพื้นฐานของประชาชน และเป็นผู้รับผิดชอบหลักของประเทศ เพราะฉะนั้นด้วยเงื่อนไขของ ก.พ.ทำให้ภาพการจัดระบบบริการต่างๆ ไม่สามารถตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยสอดคล้องกับวิชาชีพได้ ซึ่งตรงนี้การที่เราจะมีพ.ร.บ.ของกระทรวงสาธารณสุขเฉพาะก็เป็นทางออกที่เหมาะสม

ความเฉพาะของกระทรวงสาธารณสุขที่มีหลากหลายวิชาชีพจะใช้แบบแผนเดียวในการจัดการกับการจัดบริการของวิชาชีพที่หลากหลาย อัตรากำลัง ภาระงาน ความก้าวหน้าในการทำงาน สัดส่วนของบุคลากรระหว่างวิชาชีพ และความก้าวหน้าระหว่างวิชาชีพต่างๆ มีความจำเพาะ ดังนั้นจึงมีการดำเนินการเพื่อให้บริหารจัดการที่ไม่ใช่การบริหารจัดการรวมเหมือนทุกกระทรวง

ขับเคลื่อนมานานถึงขั้นมีร่างพ.ร.บ.ของตัวเอง แต่ทำไมถึงยังไม่ประสบความสำเร็จ มีปัญหาตรงจุดไหน ?

ขั้นตอนการดำเนินงานนั้นมีขั้นตอนตามกฎหมายด้วย ไม่ใช่เรื่องที่นึกจะมีก็มี คือมีการร่าง ให้ผู้เกี่ยวข้องให้ความเห็น นำเข้าพิจารณาในสภาเป็นวาระๆ รวมทั้งผู้ที่จะต้องเสนอเข้าไป คือมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องหลายอย่างที่ยังไปไม่ถึงจุดที่ต้องการ แต่เราขับเคลื่อนกันอยู่ มีหลายความเห็นที่ตอบรับแนวคิดนี้ในหลายๆ กลุ่มเหมือนกันที่ไม่ใช่เฉพาะบุคลากรในกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ที่ทำตรงนี้ไม่ได้หมายความว่าเราต้องการให้ได้ซีเยอะๆ แต่ในเรื่องของความก้าวหน้าก็ต้องทำตามกรอบ ไม่ได้ทำตามอำเภอใจ แต่เป็นเรื่องของการบริหารงาน โครงสร้างองค์กร โครงสร้างบุคลากรเพื่อตอบสนองต่อการจัดบริการให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของพลวัต เพราะฉะนั้นจึงเป็นปัญหาว่าเราต้องมีความคล่องตัวในการจัดการตรงนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงาน งบประมาน เรื่องการลงทุน ต่างๆ เหล่านี้มีความเชื่อมโยงและเกี่ยวพันกัน ไม่ได้เกี่ยวพันกับ ก.พ.เพียงอย่างเดียว มันจะเกี่ยวข้องกับกลไกบริหารงานของกระทรวงสาธารณสุขหลายๆ เรื่องที่มันต้องไปด้วยกัน ตรงนี้ถ้ามีกฎหมายรองรับเป็นการเฉพาะจะทำให้การจัดการหลายๆ ส่วนสอดคล้องกัน และคล่องตัว รวดเร็ว

การขับเคลื่อนครั้งนี้ต้องเริ่มจากจุดไหน จะเอาร่างเดิมมาปรับปรุงหรือไม่ ?

เราจะเริ่มขับเคลื่อนที่เป็นรูปธรรมคือการขับเคลื่อนในกระทรวง จะต้องไปดู ไปศึกษารายละเอียดที่เคยทำมาแล้ว และทำตามข้อเสนอเป็นร่างก่อนเสนอเข้าไป รวมถึงการกำหนดขั้นตอนการปฏิบัติ แต่ไม่สามารถบอกรายละเอียดได้ ซึ่งตอนนี้ทางกระทรวงได้ให้ผู้เกี่ยวข้องดำเนินการเรื่องนี้อยู่

ถ้าดึงอำนาจการจัดสรรกำลังคนมาไว้ที่กระทรวงสาธารณสุขทั้งหมดแล้ว จะมีการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจได้อย่างไร ?

ตอนนี้เราพูดถึงเรื่องการปฏิรูปกระทรวงสาธารณสุข ตรงนี้เราจะมีการกำหนดทิศทางระบบสุขภาพของประเทศ และการให้บริการ การจัดการเรื่องการเงินการคลังและบุคลากร และระบบการควบคุมกำกับ ตรงนี้จะมีเรื่องการดูแล และมีโครงสร้างขององค์กรดูแลเรื่องการควบคุมกำกับทั้งในระดับนโยบาย และระดับปฏิบัติการ เพื่อดูว่าสอดคล้องกับเป้าหมายของประเทศหรือไม่ และกลไกเขตบริการสุขภาพจะไม่ได้มีแค่ภาคราชการ แต่จะให้มีภาคประชาชนเข้ามาร่วมจัดการ และตรวจสอบตรงนี้ด้วย เพราะฉะนั้นคิดว่ามีกลไกตรวจสอบ ควบคุมภายในและสร้างการมีส่วนร่วมตั้งแต่ทุกระดับ

ก่อนจะเริ่มดำเนินการพากระทรวงออกจาก ก.พ.ได้มีการสำรวจความคิดเห็นของบุคลากรที่สังกัดกระทรวงสาธารณสุขก่อนหรือไม่ ?

จริงๆ เรื่องนี้เคยมีการประชุมประชาคมสาธารณสุข และตัวแทนบุคลากรกลุ่มต่างๆ เพื่อถามความเห็น ทุกๆ กลุ่มเห็นด้วยในหลักการ แต่ในรายละเอียดต้องมาช่วยกันดูเพื่อให้เกิดความเหมาะสมในการทำงานที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน ต่อการจัดการ ต่อขวัญกำลังใจของบุคลากร และอย่างที่บอก เรามีหลายวิชาชีพดังนั้นต้องดูรายละเอียดเพื่อให้เกิดความเหมาะสม แต่ตอนนี้เป็นช่วงที่บ้านเมืองวุ่นวายเลยยังไม่ได้คุยกันต่อ แต่ในระดับกระทรวงก็จะมีผู้เกี่ยวข้องดำเนินการอยู่

ได้มีการประสานพูดคุย หรือขอความคิดเห็นไปยัง ก.พ.หรือไม่ ?

คิดว่าเราจะต้องเริ่มดำเนินการภายในกระทรวงก่อนที่จะไปคุย เพราะตรงนี้เป็นเรื่องที่เกิดภายในของเรา แต่เมื่อถึงขั้นตอนหนึ่งที่ต้องมีการปรึกษาหารือก็จะเชิญผู้เกี่ยวข้องมาปรึกษาหารือกันอีกรอบ แต่ตอนนี้เป็นการทำงานภายใน ที่อยู่ระหว่างการทำงานให้เป็นรูปธรรม อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่จะเกิดขึ้นในระยะสั้น โดยสาระเนื้อหาของมันเป็นเรื่องที่ต้องคุยกันยาว อาจจะใช้เวลาหลายเดือนกว่าจะเห็นเป็นรูปเป็นร่าง กว่าจะมีการสอบถามความคิดเห็น และสรุป เพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางระบบสุขภาพของประเทศด้วย คิดว่าถึงอย่างไรก็ต้องมีการปรับกฎหมาย ต้องมีข้อกำหนด กฎหมายมารองรับ

ต้องใช้เวลาประมาณเท่าไหร่ถึงจะเริ่มเห็นเป็นรูปเป็นร่าง ?

คิดว่าน่าจะไม่ต่ำกว่า 6 เดือน แต่ก็ขึ้นอยู่กับทีมงาน นโยบายของประเทศ และนโยบายของกระทรวง เพราะมีหลายปัจจัย อันนี้ถ้าทำเสร็จจะไปเกี่ยวข้องกับอัตรากำลัง งบประมาณ ผู้เกี่ยวข้องและเรื่องการบริหารจัดการภาพรวมของประเทศต้องมาร่วมกันดูตรงนี้อีกรอบ ถึงแม้ว่าเราจะบอกว่าเราจะมีพ.ร.บ.รองรับกระทรวงเราเอง แต่เราไม่ได้อยู่โดดเดี่ยว แม้กระทรวงเราจะเป็นกระทรวงเฉพาะที่มีกฎหมายดูแล แต่ถึงอย่างไรก็ต้องดูควบคู่กับกระทรวงอื่นๆ ด้วย เพราะว่าการทำงานนั้นจะเป็นแบบก้าวกระโดดไปทีละกระทรวงไม่ได้ แต่เราต้องก้าวไปพร้อมๆ กัน ซึ่งอาจจะต้องมีการปฏิรูประบบข้าราชการ มีกฎหมาย หรือ พ.ร.บ. รองรับในแต่ละกระทรวงเองด้วย ไม่เฉพาะกระทรวงสาธารณสุข นี่จะอยู่ในกรอบของทิศทางการปฏิรูปประเทศด้วยส่วนหนึ่ง แต่ตรงนี้เป็นข้อเสนอของกระทรวงสาธารณสุขต่อการปฏิรูปประเทศคือการปฏิรูประบบสุขภาพที่ต้องมีกฎหมายมารองรับ ซึ่งรวมถึง พ.ร.บ.กระทรวงสาธารณสุข ที่จะเป็นอีกหนึ่งกฎหมายที่มารองรับตรงนี้

ถ้าออกจาก ก.พ.แล้วประชาชนจะได้รับประโยชน์อย่างไร ?

ประชาชนจะได้รับความคล่องตัวในการบริการให้กับประชาชน เมื่อมีการจัดการตรงนี้จะส่งผลให้เกิดความคล่องตัวในการจัดบริการให้กับประชาชน นี่คือประโยชน์ที่ประชาชนได้รับ การวางกำลังคนได้อย่างเหมาะสม ความก้าวหน้าของคนทำงานก็สอดคล้องกับภาระงาน เรื่องการบริการ เราคาดหวังอย่างนั้น รวมถึงมีกลไกตรวจสอบดูแลว่าการที่เราเดินมาอย่างนี้ถูกทางหรือไม่ ถ้าไม่ถูกก็ต้องมีการปรับปรุง ตกแต่งเพื่อให้มีความคล่องตัวในการปรับแต่ง คิดว่าการมีกฎหมายเฉพาะจะทำให้เกิดความคล่องตัวในการปรับแต่งตรงนี้


http://www.hfocus.org/content/2014/06/7420