ผู้เขียน หัวข้อ: เจาะประเด็นความเหลื่อมล้ำระหว่างวิชาชีพ ปัญหาโลกแตกในกระทรวงสาธารณสุข  (อ่าน 3456 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9779
    • ดูรายละเอียด
ในระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขพยายามที่จะหาทางออกในการลดความเหลื่อมล้ำของบุคลากรในสังกัดด้วยการหาตำแหน่งข้าราชการมาเพิ่มแต่ได้รับมาอย่างจำกัดจำเขี่ย หรือการปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์การจ่ายเงินค่าตอบแทนต่างๆ นานา ในขณะที่กระทรวงสาธารณสุขเป็นกระทรวงใหญ่ ที่มีหลายวิชาชีพที่มีความพิเศษในตัวเองทำให้ดูเหมือนว่าแต่ละคน แต่ละวิชาชีพได้มากได้น้อยแตกต่างกัน ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่พยายามแก้ไขจึงยังแก้ไม่ตก และในโอกาสที่กระทรวงสาธารณสุขกำลังมีการปฏิรูปใหญ่ภายใต้การนำของนพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งปฏิบัติหน้าที่แทนรัฐมนตรี ก็ปลุกความหวังที่จะลดความเหลื่อมล้ำทั้งในสายวิชาชีพ และระหว่างวิชาชีพ ลงให้ได้ สำนักข่าว Hfocus จึงได้ถือโอกาสนี้สอบถามความเห็นผู้แทนจากฝั่งแพทย์ และฝั่งพยาบาล ว่ามีความคิด ความหวังหรือทดท้อใจต่อการแก้ไขปัญหาที่เรื้อรังมานานนี้อย่างไร

พญ.ประชุมพร บูรณเจริญ ประธานสมาพันธ์โรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไป

“เราเสียแพทย์ดีๆ ไปคนหนึ่ง แต่ได้ผู้บริหารห่วยๆ มาคนหนึ่ง ไม่คุ้ม เพราะฉะนั้นก็เห็นด้วยหากจะมีการแก้ไขระเบียบตรงนี้ แต่ก็ต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถตามคุณสมบัติที่กำหนดเอาไว้อย่างเข้มข้น ต้องผ่านมาอย่างมีคุณภาพ ไม่ใช่ใช้เส้นสายเข้ามา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลควรมีการเรียนหลักสูตรการเป็นผอ.โรงพยาบาล ถ้าไม่จบหลักสูตรก็ไม่ควรมาเป็น เรื่องนี้ต้องใช้เวลาพอสมควรแต่มันเริ่มแล้ว”

โดยในส่วนของพญ.ประชุมพร บูรณเจริญ ประธานสมาพันธ์โรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไป กล่าวว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในกระทรวงสาธารณสุขโดยเฉพาะเรื่องค่าตอบแทนถูกพูดถึงมานาน ตั้งเริ่มเห็นชัดเจนขึ้นหลังจากที่มีระเบียบค่าตอบแทนฉบับที่ 4 ซึ่งตอนแรกพูดถึงกรณีของแพทย์เท่านั้น ต่อมาจึงเกิดฉบับที่ 6 กลุ่มพยาบาลออกมา และจากนั้นจะมีกลุ่มอื่นๆ ตามมา จนกระทั่งฉบับ 7ตอนนั้นนพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดสธ.ขณะนั้น ให้ออกมาล้อกับฉบับที่ 4 แต่น้อยกว่าเล็กน้อย โดยตอนนั้นเราทำเพื่อทุกวิชาชีพเลย และทำให้แม้กระทั่งลูกจ้างทั้งหลาย แต่กระทรวงการคลังไมให้เพราะบอกว่าไม่ใช่กลุ่มวิชาชีพ ซึ่งเราเองคัดค้านเพราะเห็นว่าเป็นคนทำงานด้วยกัน สุดท้ายก็ไม่ได้อยู่ดี อย่างไรก็ตาม ความเหลื่อมล้ำในเรื่องของค่าตอบแทนนั้นลากยาวมาถึงการทำระเบียบค่าตอบแทนตามภาระงาน หรือ P4P และมีการปรับปรุงแก้ไข มีการประเมิน และออกเป็นระเบียบอีกหลายฉบับ เพราะ P4P อันใหม่จะคิดค่างานให้ใกล้เคียงกันมากขึ้น ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการประเมินผลตามที่ได้มีการตกลงกันตั้งแต่แรก ว่าจะทำต่อหรือไม่ โดยในส่วนของหมอนั้นได้ไปหารือกันในสมาพันธ์แล้วส่วนใหญ่เห็นว่าควรดำเนินการต่อ

เรื่องความเหลื่อมล้ำ ความก้าวหน้าในวิชาชีพที่ผ่านมาเป็นอย่างไร ?

ตรงนี้เราไม่ได้เป็นคนคิด การขึ้นสู่ตำแหน่งเป็นเรื่องที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) คิดให้ทั้งหมด กระทรวงไม่สามารถไปสั่งก.พ.ให้ทำอย่างนั้น อย่างนี้ได้ อีกทั้ง ก.พ.ไม่ได้ดูแลแค่ สธ.เพียงกระทรวงเดียวเท่านั้น แต่เขาดูแลทุกกระทรวง ดังนั้นเราต้องไปคุยกับก.พ.ว่าจะสามารถแก้ไขอย่างไรได้บ้างหรือไม่

แต่สธ.ก็เป็นผู้ร่างแผนการไปเสนอก.พ.ให้พิจารณา ?

เราขอเยอะๆ ไป แต่ ก.พ.และสำนักงบก็ไปหั่นลงจากที่ขอ เพราะต้องเทียบกับกระทรวงอื่นๆ เพื่อให้เสมอภาค

ข้อกำหนดในการขึ้นสู่ตำแหน่งต่างๆ ถูกจำกัดเอาไว้ให้กับบางวิชาชีพ จึงทำให้บางวิชาชีพเห็นว่าเป็นต้นตอของความเหลื่อมล้ำที่แท้จริง ?

ทั้งหมดนี้ก็อยู่ในเงื่อนไขของก.พ.เช่นเดียวกัน สธ.มีเพียงหน้าที่ในการแจ้งให้ทราบเท่านั้นว่าการจะขึ้นสู่ตำแหน่งนี้ได้ต้องมีคุณสมบัติ1,2,3,4,5 ซึ่งเป็นข้อสรุปของก.พ. ไม่ว่าอย่างไรก็ตามการขึ้นสู่ตำแหน่งเป็นเรื่องของก.พ. ตัดสินใจแทบทั้งหมด แต่แน่นอนว่ากระทรวงเป็นคนชงเรื่องขึ้นไป แล้วขั้นตอนการชงเรื่องของกระทรวงนั้นดีหรือไม่ เป็นธรรมหรือไม่ ซึ่งการชงเรื่องแต่ละครั้งก็เป็นไปตามแต่นโยบายของปลัดกระทรวงแต่ละคน แต่ไม่ว่าคนไหนขึ้นมาเป็นปลัดก็อิงตามระเบียบข้อกำหนดของก.พ.อยู่ดี หลายๆ คนก็กล้าที่จะมีเงื่อนไขที่ชัดเจนว่าเป็นไปตามนี้ แต่สุดท้ายไม่ว่าจะเป็นระดับสูงต่ำก็ต้องให้เข้าตามเงื่อนไขของ ก.พ.อยู่ดี

ตัวอย่างการกำหนดสเป็คผู้บริหาร เช่น ผู้ที่จะเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาล หรือนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดต้องเป็นแพทย์เท่านั้น ทำให้เกิดคำถามว่าคนอื่น สายวิชาชีพอื่นๆ ที่มีความรู้ความสามารถทำไมถึงขึ้นสู่ตำแหน่งเหล่านี้บ้างไม่ได้ ?

เรื่องนี้มีคำถามมาหลายสิบปีแล้ว เช่น ทันตแพทย์ซึ่งเรียนมาตั้งนานเหมือนกันเป็นบ้างไม่ได้หรือ เภสัชกรเป็นบ้างไม่ได้หรือ อันนี้เราต้องคุยและนำเสนอก.พ. กระทรวงชงได้แต่เขาจะเอาหรือเปล่านั้นไม่ได้เป็นอำนาจของสธ. ถามว่าทำไมไม่ชงวิชาชีพอื่น ก็เพราะคุณสมบัติของแพทย์มีเยอะกว่าเลยได้ก่อน สมัยหมอเรียนจบใหม่ๆ หลายๆ โรงพยาบาลขาดแพทย์ มีแต่พยาบาล แต่สมัยนั้นทันแพทย์ขาดมากกว่าเราอีก เภสัชก็ไม่มี แล้วคนเหล่านั้นจะถูกชงขึ้นเป็น สสจ. เป็นผอ.โรงพยาบาลได้อย่างไรก็ในเมื่อวิชาชีพนั้นขาดแคลน ตัวแพทย์เองทำหน้าที่เป็นทั้งแพทย์ประจำโรงพยาบาล เป็นทั้งเภสัชกรทั้งหมด สมัยนั้นเราควาญหาเภสัชกรทั้งจังหวัดก็ยังยาก เมื่อปี 2528 นั้นแล้วคุณจะอยากเป็นได้อย่างไรเพราะมีแต่แพทย์เท่านั้น เขาเลยกำหนดให้ตำแหน่งนั้นเป็นของแพทย์ เภสัชกร ทันตแพทย์เพิ่งจะมีในโรงพยาบาลเมื่อไม่กี่ปีก่อนนี้เอง

“เราต้องกลับไปดูประวัติศาสตร์ว่าเป็นมาอย่างไร คุณเริ่มมีตัวตนในโรงพยาบาลชุมชนตั้งแต่ปีไหน คนแรกของพวกคุณที่อยู่ครบทุกอำเภอนั้นมีตั้งแต่ปีไหน ของแพทย์มีมาตั้งแต่สถานีอนามัยเป็นโรงพยาบาลประจำอำเภอเลยด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นตำแหน่งต่างๆ เลยกำหนดว่าเป็นแพทย์ เพราะมั่นใจว่ามีคนแน่ๆ แต่วันนี้อาจจะมาทบทวนได้แล้วเพราะว่าเภสัชกรมีทุกโรงพยาบาล ทันตแพทย์มีทุกโรงพยาบาล”

เนื่องจากช่วงนี้อยู่ในกระแสของการปฏิรูปประเทศ และการปฏิรูประบบสุขภาพ ดังนั้นถึงเวลาแล้วหรือยังที่อาจจะพิจารณาแก้ไขเรื่องความก้าวหน้าในอาชีพเพื่อให้เกิดความเสมอภาคกัน ?

เรื่องนี้ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์) เซ็ตไว้แล้ว ให้ประชาคมสาธารณสุขไปคุยกันเรื่องการปฏิรูป เรื่องตำแหน่งต่างๆ นั้น แต่ยังไม่ได้ลงในรายละเอียด แต่อยู่ในแนวทางการปฏิรูปกระทรวงสาธารณสุขโดยผ่านความเห็นของประชาคม ซึ่งไม่ว่าจะอย่างไรก็ต้องอิงเรื่องค่าตอบแทนแล้วค่อยมาสู่เรื่องของตำแหน่ง และการขึ้นสู่ตำแหน่งจะมีความเป็นธรรมได้อย่างไร ซึ่งมีการคุยกันมา 2 ครั้งแล้ว ตอนนี้ถึงเวลาที่ต้องพูดเรื่องนี้แล้วเพราะคนทำงานเยอะแล้ว และครบตามสายงานที่ควรจะมีแล้ว และต้องมีคนที่มีความเห็นต่าง ซึ่งต้องมาคุยกัน มาเซ็ตระบบนี้ให้ดีขึ้น เรามองว่ากระทรวงเราเป็นกระทรวงที่ใหญ่ที่สุดใน ก.พ. เราควรต้องคุยกับ ก.พ.ด้วย ตอนที่เราไป ก.พ.เรื่องปลัดฯ เราบอกว่าเราไม่อยากอยู่กับ ก.พ.แล้วเพราะไม่ได้ช่วยอะไรเรา ตำแหน่งก็หายาก การบรรจุข้าราชการยากมาก ยังไม่ได้พูดถึงเรื่องความเหลื่อมล้ำของตำแหน่ง เอาแค่การบรรจุเป็นข้าราชการยังยากมากแทบไม่มี เรื่องนี้ต้องคุยกันอีกเยอะ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็อยู่ที่นโยบายของรัฐบาลด้วย คราวนี้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เปิดกว้างให้เราคุยกันเรื่องนี้พอสมควร เราสามารถที่จะเสนอ แต่ไมได้หมายความว่าจะได้ตามที่เสนอ แต่เราก็คงต้องเสนอ ที่ผ่านมาขอบรรจุข้าราชการไป 1 หมื่นตำแหน่ง และเพิ่มค่าตอบแทนที่สูงขึ้น แต่ คสช.ยังไม่ได้พิจารณาอนุมัติ ดังนั้นเราต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปก่อน เรื่องระยะยาวนั้นก็อยู่ในแผนที่จะทำ

อนาคตจะมีการเปลี่ยนแปลง แก้ไขระเบียบที่กำหนดว่าผู้บริหารหน่วยงานนั้นๆ จะต้องเป็นแพทย์เท่านั้น มาเป็นวิชาชีพอื่นๆ ได้ หรือไม่ ?

อันนี้จะต้องมีการทำ root cause analysis (การวิเคราะห์ถึงปัจจัยสำคัญในเรื่องนั้นๆ) ถึงเวลาแล้วที่ต้องทำ เสียดายที่ท่านปลัดฯ ใกล้จะเกษียณแล้ว ปีหนึ่งคงไม่ทัน คิดว่าคงไม่ทัน เพราะว่ากว่าจะทำอะไรสักอย่างหนึ่ง หรือ สองหรือสามมันใช้เวลาเป็นปีๆ เพราะว่า ก.พ.ก็ไม่ได้มีแค่ก.พ. แต่พ่วงสำนักงบประมาณ เพราะฉะนั้นจะมีข้อแม้เยอะแยะ แต่ถึงจะไม่เร็วแต่เราก็ควรเริ่มกันได้แล้ว ถ้าเริ่มเร็วก็จบได้เร็ว เริ่มช้าก็จบช้า

ถ้าเกิดการเปลี่ยนแปลงแก้ไขระเบียบการขึ้นสู่ตำแหน่งบริหารจริงๆ ตรงนี้จะทำให้เกิดปัญหาความไม่พอใจตามมาอีกหรือไม่ ?

ที่จริงมีคนเสนอด้วยซ้ำว่าจริงๆ ตำแหน่งผอ.ควรเป็นนักบริหารด้วยซ้ำ ไม่จำเป็นต้องเป็นหมอ แต่ถ้าหมอคนนั้นอยากเป็นผอ. ก็ไปเรียนบริหารมา จริงๆ เคยมีคนเสนออย่างนั้นด้วยซ้ำ

ในช่วงที่มีการเสนอเรื่องนี้กระแสเป็นอย่างไรบ้าง ?

เรามองว่าแพทย์กว่าจะเรียนจบมาก็ควรเอาไปเป็นแพทย์ดีกว่า เพราะว่าพอเอามาเป็นผู้บริหารก็ไม่มีเวลาเป็นแพทย์ หรือทำงานเป็นแพทย์น้อยลง เราเสียแพทย์ดีๆ ไปคนหนึ่ง แต่ได้ผู้บริหารห่วยๆ มาคนหนึ่ง ไม่คุ้ม เพราะฉะนั้นก็เห็นด้วยหากจะมีการแก้ไขระเบียบตรงนี้ แต่ก็ต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถตามคุณสมบัติที่กำหนดเอาไว้อย่างเข้มข้น ต้องผ่านมาอย่างมีคุณภาพ ไม่ใช่ใช้เส้นสายเข้ามา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลควรมีการเรียนหลักสูตรการเป็นผอ.โรงพยาบาล ถ้าไม่จบหลักสูตรก็ไม่ควรมาเป็น เรื่องนี้ต้องใช้เวลาพอสมควรแต่มันเริ่มแล้ว

ดร.กฤษดา แสวงดี อุปนายกสภาการพยาบาล

“ยิ่งขาดแคลนแพทย์มากเท่าใด พยาบาลก็ยิ่งต้องทำงานหนักมากขึ้น ทำงานแทนแพทย์ได้ แต่ก้าวหน้าไม่ได้ ระบบความก้าวหน้าของเรา ไม่ได้เป็นไปตามความรู้ความสามารถ พยาบาล จบปริญญา โท เอก เพิ่มขึ้น ก็ยังคงเป็นระดับ ชำนาญการ แพทย์ขึ้นสู่ระดับเชี่ยวชาญ ตั้งแต่อายุ ไม่ถึง 40 หรือ 40 ต้นๆ”

ด้าน ดร.กฤษดา แสวงดี อุปนายกสภาการพยาบาล กล่าวว่า เรื่องความก้าวหน้าในอาชีพของกลุ่มบุคลากรด้านสุขภาพ ถือว่าเป็นกลุ่มวิชาชีพที่มีความเฉพาะทาง ดังนั้นความก้าวหน้าก็ต้องสะท้อนความรู้ความสามารถของเขา แต่ปัจจุบันจะติกกรอบธรรมเนียมต่างๆ คือถ้าเราจะก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้นก็ต้องไปยุบตำแหน่งเล็กๆ ลง เพราะถ้าตำแหน่งสูงขึ้นใช้เงินมากขึ้น พยาบาลจะขึ้นซี 8,9 ได้ก็ต้องไม่มีพยาบาลซี 3 เพื่อไม่ให้เกินกรอบวงเงิน ทำให้เขาขึ้นสู่ตำแหน่งสูงๆ ไม่ได้ คำถามคือแล้วทำไมบุคลกรของเราต้องมารับผิดชอบเรื่องนี้ด้วย ในเมื่อหน่วยงานก็ต้องการกำลังคนขนาดนี้

ในส่วนของพยาบาลคนเยอะแต่ไม่ใช่ปัญหาเพราะว่าพยาบาลทำงาน 3 กะ ดังนั้นต้องมีเงินมากกว่าคนอื่น 3 เท่า แต่จะมาเอาประเด็นว่าคนเยอะแล้วก้าวหน้าน้อยอย่างนี้ไม่ได้ ในงานบริการทั้งหลายใช้กำลังพยาบาลเป็นหลัก ดังนั้นจึงมองว่าข้าราชการทั่วไป ถ้าคนทำงานเริ่มที่ปริญญาตรี อย่างน้อยเกษียณด้วยตำแหน่งชำนาญการพิเศษเป็นอย่างน้อย เพราะทำงานกันมานาน 40 ปี แต่สายงานไหนจะขึ้นสู่ตรงนั้นเร็วอย่างไรก็แล้วแต่ลักษณะงาน โดยในส่วนของวิชาชีพนี้มีลักษณะที่พิเศษทั้งในเรื่องการใช้ความรู้ความสามารถในการปฏิบัติงาน และความรับผิดชอบที่สูงขึ้นเรื่อยๆ เขาก็น่าจะมีเส้นทางความก้าวหน้าได้เร็วกว่างานปกติ งานรูทีน กับงานที่ต้องคิดตลอดเวลาให้คนไข้ปลอดภัย ให้คนได้รับบริการที่ดี แต่ปัจจุบันกลายเป็นว่า ในสายงานวิชาชีพกลับเร็วช้าต่างกันแบบมหาศาล เช่น แพทย์เรียน 6 ปี เมื่อเข้ามาสู่ระบบราชการก็เริ่มต้นด้วยซีที่สูงกว่าคนอื่นตรงนี้เป็นสิ่งที่เข้าใจได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าอายุ 30 กว่าๆ ก็ขึ้นสู่ซี 9 กันหมดแล้ว  แพทย์จบใหม่กับพยาบาลที่ทำงานมาแล้ว 5 ปี 10 ปี พยาบาลอาจจะเก่งกว่าในบางเรื่องด้วยซ้ำ แต่ทำไมแพทย์ต้องเร็วกกว่า แพทย์จบใหม่ยังต้องมาเรียนรู้งานจากพยาบาลอยู่เลย

“ในพยาบาลวิชาชีพตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา สัดส่วนนี้ไม่เปลี่ยนเลย แม้ว่าจะมีพยาบาลในกระทรวงสาธารณสุขเพิ่มขึ้นกว่า 40,000 คน โดยในรอบ10 ปี ที่ผ่านมาพบว่าระดับปฏิบัติการ 37.19% ระดับชำนาญการ 56.47% ในจำนวนนี้ กว่า 10% เงินเดือนตัน แล้วระดับชำนาญการพิเศษ 3.06% ระดับเชี่ยวชาญ 0.06% ในขณะที่ พยาบาล เป็นกำลังหลัก ในการขับเคลื่อนระบบบริการ ยิ่งขาดแคลนแพทย์มากเท่าใด พยาบาลก็ยิ่งต้องทำงานหนักมากขึ้น ทำงานแทนแพทย์ได้ แต่ก้าวหน้าไม่ได้ ระบบความก้าวหน้าของเรา ไม่ได้เป็นไปตามความรู้ความสามารถ พยาบาล จบปริญญา โท เอก เพิ่มขึ้น ก็ยังคงเป็นระดับ ชำนาญการ แพทย์ ขึ้นสู่ระดับเชี่ยวชาญ ตั้งแต่อายุ ไม่ถึง 40 หรือ 40 ต้นๆ ในขณะที่ พยาบาลกว่า 80% เกษียณอายุในระดับชำนาญการ”

การแก้ปัญหาควรทำอย่างไร ?

ตอนนี้สิ่งที่เสนอในการปฏิรูปเลยคือเรื่องของความก้าวหน้าในอาชีพของแต่ละสายงานควรมีความชัดเจนและเป็นไปตามความรู้ความสามารถจริงๆ ไม่ต้องมาแบ่งว่าสายงานนี้เป็นแพทย์ สายงานนี้เป็นใคร ความรู้ความสามารถของเขาไปถึงระดับที่ควรจะก้าวหน้าก็ต้องก้าวหน้า

แล้วต้องแก้กฎระเบียบตรงไหน ?

กฎระเบียบที่ถูกจำกัดด้วยวงเงินทำให้จำนวนตำแหน่งถูกจำกัดด้วย และเมื่อถูกจำกัดก็ต้องมองอีกว่าตำแหน่งที่มีจะให้ใคร มันก็ไม่เป็นไปตามหลักความรู้ความสามารถ ต้องเป็นไปตามหลักอาวุโสอย่างเดียวเพราะว่าเรามีของจำกัด เช่น พยาบาลปัจจุบันส่วนใหญ่เงินเดือนตันอยู่ที่ระดับชำนาญการ คนเหล่านี้อายุประมาณ 40 ปี ทำงานมาตั้งแต่อายุ 22 เท่ากับว่าทำงานมาประมาณ 18-20 ปี แล้วเงินเดือนตัน พอเงินเดือนตันแล้วเป็นความผิดของเขาอย่างนั้นหรือ ขึ้นสู่ตำแหน่งชำนาญการพิเศษไม่ได้ ได้แค่ชำนาญการ จนกระทั่งเงินเดือนสูงสุดของตำแหน่งชำนาญการเงินเดือนก็ไม่ขึ้นอีก ในขณะที่คนเหล่านี้เป็นหัวหน้าตึก เป็นซูเปอร์ไวเซอร์ ต้องสอนงานคนอื่น ต้องควบคุมกำกับงาน ต้องรับผิดชอบผลผลิตของโรงพยาบาล ต้องได้ผลดี แต่กลับเงินเดือนตัน มันจะมีแรงจูงใจไหม และขึ้นซี 8 ไม่ได้ ต้องรอยุบรวม ส่วนเรื่องอื่นๆ เป็นไปตามหลักการที่บอกว่าการขึ้นสู่ตำแหน่งต้องมีความรู้ความสามารถอันนี้รับได้ เป็นเกณฑ์กลางที่รับได้ แต่กรอบนี้ไม่สามารถทำให้คนขึ้นสู่ตำแหน่งได้ตามที่ควรจะเป็น ถ้าตามหลักการไม่ว่าใครก็ตามที่แสดงผลงานได้ตามหลักการก็ควรจะได้

เรื่องนี้เป็นปัญหามานาน และมีความพยายามในการแก้ปัญหามาตลอด แต่ก็ทำไม่สำเร็จ คิดว่าติดปัญหาตรงไหน ?


ไม่มีความจริงจังกับการทำงาน เช่น การแก้ไขอะไรสักอย่างมันต้องเริ่มที่ สธ. แล้วไปผ่านก.พ.ให้ความเห็นชอบ เพราะเป็นคนควบคุมหลักเกณฑ์ ควบคุมมาตรฐาน แต่กว่าจะร่างขึ้นไปได้ก็ต้องอาศัยการมีส่วนร่วม ระดมนักวิชาการ พอไม่จริงจังแทนที่จะทำงานได้เร็วภายใน 1 เดือน ก็ไม่มีแบบนี้ แล้วพอไป ก.พ.เมื่อไหร่จะตรวจการบ้าน ก็ไม่มีตัวกำกับ ถ้าเป็นไปได้ก็ทำไปเลย เช่น กระบวนการพัฒนาหลักเกณฑ์ความก้าวหน้าของการเข้าสู่ตำแหน่งมีกรอบระยะเวลามาเลยว่ายกร่างไม่เกิน 60 วัน ตรวจการบ้านไม่เกิน 30 วัน เหมือนกับการพิจารณากฎหมาย ไม่ใช่ว่าว่างเมือไหร่แล้วค่อยมาตรวจ ซึ่งเดี๋ยวนี้เป็นอย่างนั้นคือว่าว่างเมื่อไหร่ค่อยมาดู เราเห็นใจคนทำงานที่ไม่ได้ทำอย่างอย่างเดียว แต่ทำงานหลายอย่าง แต่ในเมื่อมันไม่มีกฎกติกาเลยว่าอะไรต้องเสร็จเมื่อไหร่ก็ทำให้เกิดความล่าช้าไปเรื่อยๆ เป็นปีๆ พอไม่ทวงถาม ไม่มีม็อบก็หยุด มีม็อบมาก็เรียกประชุม ที่ผ่านมาเป็นอย่างนั้น

ข้อกำหนดในการขึ้นสู่ตำแหน่งต่างๆ ถูกจำกัดเอาไว้ให้กับบางวิชาชีพเท่านั้นหรือไม่ ?

บางตำแหน่งโดยเฉพาะตำแหน่งบริหารเราก็ต้องเอาคนที่มีความรู้ความสามารถ ถึงแม้สเป็คของผู้อำนวยการไม่ได้บอกว่าต้องเป็นแพทย์ก็ตาม แต่สมมติว่าจะขึ้นสู่ตำแหน่งผู้อำนวยการ แต่บอกว่าต้องเป็นผู้ที่เคยเป็นรองแพทย์มาก่อน แล้วอย่างนี้ใครจะได้เป็น ในเมื่อรองแพทย์ก็ต้องเป็นแพทย์

ในโอกาสปฏิรูปกระทรวงสาธารณสุขถึงเวลาที่ต้องมีการแก้ไขปรับปรุงระเบียบหลักเกณฑ์พวกนี้หรือไม่ ?

คิดว่าควรจะเป็นอย่างนั้น มันเหมือนกับคำพูดที่ว่าเราเสียแพทย์มือดีๆ ไป 1 คน แล้วเราก็ได้นักบริหารห่วยๆ มา 1 คนนั่นแหละ มันเป็นอย่างนั้น ถ้าเราจริงใจกับตรงนี้ และเปิดสำหรับทุกคน ถ้าวิชาชีพอื่นไม่มีความสามารถเลยก็ไม่ว่าอะไร แต่ตอนนี้แม้แต่สมัครก็สมัครไม่ได้ แม้แต่ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมตำบล ที่บอกว่าใครอยากเป็นตำแหน่งนี้ก็ต้องเปลี่ยนตำแหน่งมาเป็นนักวิชาการสาธารณสุขก่อน พอคนอื่นจะเปลี่ยนตำแหน่ง พยาบาลวิชาชีพก็พร้อมที่จะเปลี่ยนตำแหน่ง ก็เกิดหลักเกณฑ์เงื่อนไขที่ทำให้ไม่สามารถขึ้นสูตำแหน่งนั้นได้ เพราะฉะนั้นถ้าปฏิรูปก็ต้องดูทุกๆ ตำแหน่ง

จากการสังเกตทิศทางการปฏิรูปกระทรวงสาธารณสุขครั้งนี้เห็นสัญญาณการปฏิรูปเรื่องนี้หรือไม่ ?

เห็นทุกๆ เวที เห็นท่านปลัดพูดเสมอเรื่องความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำในทุกวิชาชีพ ถ้าดูแนวคิดของผู้บริการ คิดว่าผู้บริหารมีความตั้งใจ แต่ความตั้งใจนั้นจะลงมาถึงการปฏิบัติแค่ไหน ไม่เคยมีการมาวิเคราะห์กันอย่างจริงจัง ระเบียบเหล่านั้นเป็นอุปสรรค์ตรงไหน จะแก้ไขตรงไหน อำนาจเป็นของใคร อย่างนี้เป็นต้น


http://www.hfocus.org/content/2014/06/7521