แสดงกระทู้

This section allows you to view all posts made by this member. Note that you can only see posts made in areas you currently have access to.


Messages - story

หน้า: 1 ... 454 455 [456] 457 458 ... 651
6826
คณะเภสัชฯ มอ.ค้นพบสารชนิดใหม่ใน "ใบชะมวง" ออกฤทธิ์ต้านมะเร็ง นับเป็นการค้นพบครั้งแรกของโลก พร้อมตั้งชื่อว่า "ชะมวงโอน" ระบุใช้เป็นสารต้นแบบที่นำไปพัฒนาโครงสร้างสู่ยาต้านมะเร็งในอนาคต

    รศ.ดร.ภก.ภาคภูมิ พาณิชยปการนันท์ ผอ.สถานวิจัยยาสมุนไพรและเทคโนโลยีชีวภาพทางเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ (มอ.) เปิดเผยว่า ได้ร่วมกับนายอภิรักษ์ สกุลปักษ์ นักศึกษาทุนโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก ภาควิชาเภสัชเวทและเภสัชพฤกษศาสตร์ ทำการศึกษาวิจัยคุณสมบัติมีฤทธิ์ต้านมะเร็งและต้านแบคทีเรียก่อโรคทางเดินอาหารจาก "ใบชะมวง" ได้สำเร็จเป็นครั้งแรกของโลก หลังจากใช้เวลาศึกษาค้นคว้านานกว่า 2 ปี ซึ่งผลงานดังกล่าวได้รับการตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติ Food Chemistry ซึ่งเป็นวารสารที่ได้รับความน่าเชื่อถือและเป็นที่ยอมรับในวงการวิชาการอย่างกว้างขวาง

    สำหรับการวิจัยดังกล่าวได้เก็บรวบรวมผักพื้นบ้านจำนวน 22 ชนิด มาทำการสกัดและทดสอบว่ามีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อ Helicobacier pylori ซึ่งเป็นเชื้อที่ก่อให้เกิดโรคทางเดินอาหารหรือไม่ โดยพบว่าชะมวงเป็นพืชที่ออกฤทธิ์ดีที่สุด จึงนำมาแยกสารที่ต้องการจนสามารถได้สารซึ่งมีฤทธิ์ในระดับดีมาก เป็นสารที่มีค่าความเข้มข้นต่ำที่สามารถยับยั้งเชื้อได้ หรือ MIC ประมาณ 7.8 ไมโครกรัมต่อมิลลิเมตร ซึ่งถือว่าเป็นสารตัวใหม่ที่ยังไม่มีการค้นพบมาก่อน โดยตั้งชื่อว่า "ชะมวงโอน" (Chamuangone) เพื่อแสดงให้เห็นว่าเป็นการค้นพบในประเทศไทย

    ทั้งนี้ ยังได้ศึกษาต่อถึงความเป็นไปได้ในการออกฤทธิ์ยับยั้งเชื้อโปรโตซัวร์ ซึ่งเป็นโรคระบาดที่พบบ่อยในภาคใต้ โดยสารชะมวงโอนสามารถยับยั้งโปรโตซัวร์ได้ดี จึงนำชะมวงโอนไปทดสอบกับเซลล์มะเร็งปอด และเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว จนพบว่าสารชะมวงโอนมีฤทธิ์ต้านเซลล์มะเร็งได้ดี

    "ความสำเร็จจากงานวิจัยที่ได้โครงสร้างใหม่ของสารที่มีฤทธิ์ต้านมะเร็งจากชะมวงโอนครั้งนี้ สามารถนำไปใช้ดัดแปลงพัฒนาต้านมะเร็งที่ออกฤทธิ์ดีขึ้น และลดอาการข้างเคียงต่อเซลล์ปกติ แม้ว่าขั้นตอนการนำสารดังกล่าวไปใช้รักษาโรคมะเม็งยังต้องมีกระบวนการวิจัยเพิ่มเติมอีกหลายขั้นตอน เพื่อการรักษาที่ได้ผลมากขึ้น หรือลดอาการข้างเคียงจากการใช้ยา" รศ.ดร.ภก.ภาคภูมิกล่าว.

ไทยโพสต์  11 มีนาคม พ.ศ. 2556

6827
โฆษกศาลยุติธรรมเผยเตรียมพิจารณาทบทวนการตรวจสุขภาพจิตผู้พิพากษาทุก 5 ปี ชี้ที่ผ่านมาได้แต่ตรวจสุขภาพทางร่างกายอย่างเดียวจนไม่รู้ว่าคนไหนมีอาการป่วยทางจิต เผยหากตรวจพบถือเป็นผู้ป่วยแต่ไม่ต้องถึงกับให้ออกเพราะไม่ใช่การทุจริตต่อหน้าที่
       
       วันนี้ (8 มี.ค.) นายสิทธิศักดิ์ วนะชกิจ โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวถึงกรณีนายกิติ ปิ่นงาม ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ ใช้อาวุธปืนยิงตัวตายภายในบ้านพัก สาเหตุจากโรคซึมเศร้า เมื่อวันที่ 7 ม.ค.ที่ผ่านมาว่า ตามปกติแล้วก่อนสอบเข้าเป็นผู้ช่วยผู้พิพากษาจะต้องมีการตรวจร่างกายและตรวจอาการทางจิตโดยจิตแพทย์ มีบางคนสอบไม่ผ่านการตรวจทางจิต แต่เมื่อเข้ารับราชการเป็นผู้พิพากษาแล้วทำงานต่อเนื่องไปจนถึงศาลฎีกา จะมีการตรวจสุขภาพร่างการกายเพียงอย่างเดียว ไม่มีการตรวจอาการทางจิต ดังนั้นจะรู้เพียงว่าผู้พิพากษาคนใดเจ็บป่วยทางกาย แต่จะไม่สามารถรู้ได้เลยว่าท่านใดมีอาการป่วยทางจิต หากจะถามตนว่าทำไมจึงไม่มีการตรวจอาการทางจิต ส่วนตัวมองว่าหากดูแลรักษาร่างกายให้แข็งแรงก็จะไม่กระทบสุขภาพจิตใจ และไม่กระทบการทำงานของผู้พิพากษา การป่วยทางจิตน้อยคนนักที่จะเป็นและตรวจพบยาก ไม่เหมือนการเจ็บป่วยทางร่างกายที่พบเห็นได้ อาการทางจิตหลบซ่อนอยู่ภายใน ถ้าไม่ได้เข้ารับการตรวจกับหมอเฉพาะทางไม่มีทางรู้ได้ อย่างกรณีของท่านกิติ เท่าที่ตนทราบทางภรรยาของท่านกิติก็ไม่ทราบมาก่อน และเมื่อได้สอบถามไปยังเพื่อนร่วมรุ่นผู้ช่วยผู้พิพากษารุ่นที่ 29 และเพื่อนผู้พิพากษาในแผนกคดียาเสพติดในศาลอุทธรณ์ ทราบว่าท่านกิติเป็นปกติ ไม่มีอาการเก็บเนื้อเก็บตัว ร่าเริง ไม่มีอาการส่อไปในทางที่จะป่วยทางจิต ซึ่งบรรดาผู้พิพากษาและเพื่อนๆ รู้สึกตกใจมากที่ต้องสูญเสียทรัพยากรที่มีคุณค่า ท่านกิติเป็นผู้พิพากษาที่ซื่อสัตย์ สุจริต ไม่มีประวัติด่างพร้อย อาจป่วยแบบเฉียบพลัน ซึ่งไม่ใช่คนแรกที่กระทำอัตวินิบาตกรรมตัวเอง
       
       นายสิทธิศักดิ์กล่าวว่า ทราบว่าขณะนี้มีผู้พิพากษาที่มีอาการเจ็บป่วยทางจิตอยู่ในศาลบ้าง แต่ทางคณะกรรมการข้าราชการตุลาการ (ก.ต.) ก็ไม่จำเป็นต้องให้ออกจากราชการ เนื่องจากถือว่าเป็นผู้ป่วย ไม่ใช่กรณีทุจริตหรือประพฤติมิชอบ ก็จะให้ทำงานเบาๆ แล้วไปรักษาตัว จะไม่ปล่อยให้ผู้พิพากษาที่ป่วยทางจิตไม่ปกติไปตัดสินคดีชี้เป็นชี้ตาย หรือตัดสินข้อพิพาทต่างๆ หากไม่อยู่ในวิสัยที่จะสามารถทำงานได้ก็สามารถลาป่วยไปรักษาได้ ถ้ารักษาหายเป็นปกติและสามารถพิสูจน์ตัวเองเขียนคำพิพากษาได้ ปฏิกิริยา ปฎิสัมพันธ์กับคนรอบข้างเป็นปกติ ก็สามารถที่จะรับราชการต่อและได้รับการเลื่อนชั้นได้
       
       อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวเห็นว่าอาจจะต้องนำกรณีของท่านกิติ เสนอนายไพโรจน์ วายุภาพ ประธานศาลฎีกา นำเข้าสู่ที่ประชุมบอร์ดผู้บริหาร หารือทบทวนเรื่องการตรวจสุขภาพจิต ส่วนตัวเห็นว่าอาจจะมีการกำหนดให้ตรวจทุกๆ 5 ปี หรือก่อนเลื่อนตำแหน่ง อาจจะต้องทำการทดสอบสุขภาพจิต โดยใช้แบบทดสอบทางจิตวิทยาเบื้องต้นก็พอจะทราบได้ เพราะปัจจุบันผู้พิพากษาทำงานท่ามกลางความขัดแย้งของคู่ความ เผชิญความเครียดทุกวัน เปรียบเสมือนทำงานท่ามกลางมลภาวะค่อยๆ สะสมเข้าไปในร่างกาย ถึงจุดหนึ่งก็จะปรากฏอาการ ขึ้นอยู่กับภูมิคุ้มกันของตนเองว่ามีมากน้อยเพียงใด งานผู้พิพากษาบั่นทอนสุขภาพ ร่างกาย อายุผู้พิพากษาให้เจ็บป่วยมากขึ้น อายุยืนน้อยลง ผู้้พิพากษาศาลชั้นต้นต้องสืบพยานก็เครียด เขียนคำพิพากษาก็เครียด ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ศาลฎีกาก็ต้องตัดสินคดีเดือนละกว่า 10 คดี ก็อาจเกิดอาการเครียดไม่รู้ตัว ซึ่งผู้พิพากษาทุกคนเป็นบุคลากรที่มีคุณค่าขององค์กรศาลยุติธรรม

ทีมข่าวอาชญากรรม    8 มีนาคม 2556
http://www.manager.co.th

6828
สธ.ปรับระบบบริการเป็น 12 เขตพื้นที่ หวังลดการกระจุกตัวของผู้ป่วยในโรงพยาบาลขนดใหญ่ เล็งกระจายการผ่าตัดไส้ติ่ง ผ่าตัดทำคลอดจาก รพศ./รพท.สู่ รพช.30 แห่ง พร้อมให้แพทยสภาทำความเข้าใจโรงพยาบาลขนาดเล็กผ่าตัด หลังกังวลการฟ้องร้อง
   
       วันนี้ (11 ธ.ค.) นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงการเตรียมพร้อมปรับรูปแบบการบริการสาธารณสุขในปี 2556 ว่า เดิมระบบบริการของสถานพยาบาลในสังกัด สธ.จะแยกส่วนกันชัดเจน ทำให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไปกระจุกตัวในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ทั้งๆ ที่ควรกระจายอย่างเหมาะสม รมว.สาธารณสุขจึงมีนโยบายจัดระบบใหม่ โดยทำเป็นแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service Plan) โดยแบ่งเป็นพวงบริการ 12 เขตพื้นที่ ซึ่งแต่ละพื้นที่จะพัฒนาการบริการออกเป็น 10 สาขา คือ 1. การพัฒนาการบริการรักษาหัวใจและหลอดเลือด 2. มะเร็ง 3. อุบัติเหตุ 4. ทารกแรกเกิด 5. จิตเวช 6. ตาและไต 7. การบริการ 5 สาขา ทั้งสูตินรีเวช ศัลยกรรม อายุรกรรม กุมารเวช และออร์โธปิดิกส์ 8.ทันตกรรม 9. การบริการปฐมภูมิทุติยภาพองค์รวม และ 10.การบริการโรคไม่ติดต่อ ซึ่งทั้งหมดมีการเตรียมพร้อมตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา
       
       นพ.ณรงค์กล่าวอีกว่า เบื้องต้นจะเริ่มการบริการ 5 สาขาหลัก เน้นการกระจายการผ่าตัดผู้ป่วยไส้ติ่งอักเสบออกจากโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ไปยังโรงพยาบาลในเครือข่ายที่แต่ละ 12 เขตพื้นที่บริการเป็นผู้กำหนด โดยจะต้องดำเนินการให้ได้ร้อยละ 50 ภายใน 2 ปี ทั้งนี้ แผนดังกล่าวเนื่องจากเดิมทีการผ่าตัดส่วนใหญ่จะมุ่งไปที่โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัดไส้ติ่ง ผ่าตัดทำคลอด ทำให้เกิดการกระจุกตัว ทั้งๆที่โรงพยาบาลขนาดเล็กบางแห่งสามารถทำได้ แต่ปัญหาคือ ด้วยข้อจำกัดของบุคลากร และความกังวลในเรื่องการฟ้องร้อง ทำให้ที่ผ่านมาไม่มีการผ่าตัดในโรงพยาบาลขนาดเล็ก
       
       “การผ่าตัดไส้ติ่ง ผ่าตัดทำคลอด จะให้โรงพยาบาลชุมชน(รพช.) ขนาดใหญ่ที่มีบุคลากรทางการแพทย์ประจำอยู่ราว 10 คนขึ้นไป มากสุดพบถึง 30-40 คน อาทิ รพช.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร รพช.บางละมุง จ.ชลบุรี รพช.จอมทอง จ.เชียงใหม่ โดยจะให้รพช.ทำหน้าที่ตรงนี้ รวมไปถึงกรณีผู้ป่วยติดเตียง ซึ่งป่วยเรื้อรังก็จะมีการพิจารณาให้รพช.ดูแล สำหรับตัวเลข รพช. ที่มีศักยภาพในการทำหน้าที่ดังกล่าว เบื้องต้นมีประมาณ 30 แห่งจากทั่วประเทศ โดยแนวทางการบริหารรูปแบบนี้จะมีความชัดเจนในวันที่ 14 ธันวาคม จากนั้นในเดือนมกราคม 2556 จะมีการพิจารณาในเรื่องแผนกำลังคน และการใช้งบประมาณ” นพ.ณรงค์กล่าว
       
       ผู้สื่อข่าวถามว่าจะแก้ปัญหาอย่างไรกรณีบุคคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลขนาดเล็กอาจไม่ต้องการทำหน้าที่ผ่าตัด เนื่องจากกังวลหากมีปัญหากับคนไข้ นพ.ณรงค์ กล่าวว่า ได้มีการหารือกับทางแพทยสภา ในฐานะกำกับดูแลแพทย์ว่าจะมีการพูดคุยทำความเข้าใจอย่างไร เพราะเรื่องนี้เป็นภาระหน้าที่ของแพทย์ทุกระดับทุกคน ทั้งนี้ มีการหารือด้วยว่าจะมีการอบรมให้กับบุคลากรสาธารณสุขในโรงพยาบาลขนาดเล็กด้วย เพื่อเพิ่มศักยภาพมากขึ้น ซึ่งเรื่องนี้จะหารือในรายละเอียดอีกครั้ง


ASTVผู้จัดการออนไลน์    11 ธันวาคม 2555

6829
ฮือฮา “หมอเณร” หมอสมุนไพรชื่อดังเมืองกาญจนบุรี ลงทุนแต่งเพลง-ร้องเอง เนื้อหาประชดรัฐ เผยแพร่ทาง “ยูทิวบ์” พร้อมฝากถึงรัฐบาล “ปู-ยิ่งลักษณ์” หันมาสนใจในเรื่องของสมุนไพร และให้การสนับสนุน เพราะสมุนไพรของไทยสามารถรักษาโรคร้ายให้หายขาดได้ เชื่อถ้านายกฯ สนับสนุนยาสมุนไพรไทยก็จะเป็นที่ยอมรับของชาวต่างชาติแน่นอน และชาวโลกจะต้องทึ่งในความมหัศจรรย์ของสมุนไพรไทยที่ทรงคุณค่ามหาศาล
       
       เมื่อเวลา 08.30 น.วันนี้ (6 มี.ค.) นายชัยรัตน์ นนทชัย หรือหมอเณร หมอยาสมุนไพรชื่อดัง เปิดเผยว่า ตนคลุกคลีอยู่กับวงการยาสมุนไพรมานานกว่า 30 ปี สามารถผลิตคิดค้นยาสมุนไพรตามตำราที่มีอยู่ด้วยตนเองจนสามารถนำยาสมุนไพรชนิดต่างๆ ให้ผู้ป่วยนำไปรับประทานจนหายเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้ที่ป่วยเป็นโรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคหัวใจรั่ว หรือแม้กระทั่งโรคเอดส์ที่เคยระบาดอย่างหนักในห้วงหลายปีก่อน จนทำให้ไม่สามารถผลิตยาสมุนไพรเพื่อให้บริการแก่ผู้ป่วยแทบไม่ทัน
       
       อีกทั้งผู้ป่วยที่เดินทางมาให้ตนรักษาต้องยอมรับว่า มาจากทั่วทุกสารทิศของประเทศ หรือแม้กระทั่งผู้ป่วยชาวต่างชาติก็มีมาก และต้องยอมรับว่า ผู้ป่วยแต่ละรายที่มารับยาสมุนไพรนั้นต่างก็มีอาการป่วยที่หนักหนาสาหัสทั้งนั้น และทุกคนที่ป่วยได้ผ่านการรักษาจากโรงพยาบาลที่มีชื่อเสียงต่างๆ ของประเทศไทยมาด้วยกันทั้งนั้นเช่นกัน ผู้ป่วยบางรายญาติได้นำพามาที่สวนสมุนไพรเพราะเห็นว่ายาสมุนไพรเป็นที่พึ่งสุดท้ายของเขา ที่อาจจะทำให้เขามีชีวิตอยู่ได้ ซึ่งก็เป็นไปตามที่เขาต้องการ ผู้ป่วยจำนวนมากหลังจากได้รับประทานยายาสมุนไพรตามขั้นตอน ก็ได้หายป่วยจนเป็นปกติ ชาวบ้านต่างก็ทราบกันดี
       
       แต่ปัจจุบัน ตนต้องมาต่อสู้เพียงลำพัง ต่อสู้กับหน่วยงานภาครัฐ หรือหน่วยงานที่มีส่วนรับผิดชอบเกี่ยวกับยาสมุนไพร หรือสมุนไพรไทยที่ต่อสู้กับหน่วยงานเหล่านี้ ก็เพื่อต้องการให้หน่วยงานภาครัฐหันมาใส่ใจสนใจ หันมาทำความเข้าใจ หันมาค้นคว้าหาความรู้เกี่ยวกับคุณค่าของสมุนไพรไทยให้ลึกซึ้งมากกว่าที่เป็นอยู่ และหันมาให้การสนับสนุนผู้ที่มีความรู้ความสามารถในการคิดค้น และผลิตยาสมุนไพรจากตำราโบราณที่เขามีอยู่ แต่ปัจจุบัน ทั้งๆ ที่ต่างก็มีทีท่าว่าจะให้การสนับสนุน แต่เอาเข้าจริงๆ ก็เป็นได้แค่เพียงนโยบายลมๆ แล้งๆ นอกจากไม่สนับสนุนแล้ว ยังมากีดกัน และกลั่นแกล้งกันอีก
       
       นายชัยรัตน์ ยังได้กล่าวฝากไปถึงรัฐบาลให้ช่วยหันมาสนใจในเรื่องของสมุนไพร และให้การสนับสนุนด้วยจะได้ไม่ต้องไปซื้อเครื่องกระตุ้นหัวใจ และหัวใจเทียมจากต่างประเทศปีละนับพันล้านบาท เพราะสมุนไพรของไทยเรานั้นสามารถรักษาให้หายขาดได้ และอย่าไปเชื่อนักวิจัยให้มากจนเกินไป เพราะว่าเพิ่งจะมาทำกันเมื่อไม่กี่ปีมานี่เอง ส่วนสมุนไพรยาโบราณนั้นมีมาเป็นพันๆ ปีแล้ว ถ้านายกรัฐมนตรีให้การสนับสนุนผลงาน และยาสมุนไพรไทยก็จะเป็นที่ยอมรับของชาวต่างชาติแน่นอน และชาวโลกจะต้องทึ่งในความมหัศจรรย์ของสมุนไพรไทยที่ทรงคุณค่ามหาศาล
       
       ส่วนที่ชาวบ้านเรียกตนว่า “หมอเณร” นั้น ก็เพระว่าตนเคยบวชเป็นเณรมาก่อน ซึ่งตนเป็นคนจังหวัดปทุมธานี แต่ได้ย้ายมาซื้อที่ดินเพื่อปลูก และสร้างสวนสมุนไพรที่ จ.กาญจนบุรี ที่สวนจะมีสมุนไพรกว่าร้อยชนิด บางชนิดไม่มีขายกันในท้องตลาด เช่น หำรอด คองแมว สมุนไพร 2 ชนิดนี้ จะใช้เป็นยาฆ่าเชื้อ การรักษาด้วยสมุนไพรเป็นยาสูตรมีทั้งยาหม้อ ยาผง ไม่ใช่ยาเดี่ยวจึงต้องใช้สมุนไพรหลายชนิด จึงต้องไปหาเพิ่มเติมมาจากที่อื่นๆ
       
       ครั้งอดีตตนได้ดำเนินการเรื่องส่งยาสมุนไพรไปจำหน่ายยังประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ทวีปแอฟริกา ครั้งนั้นได้รับการสนับสนุนจากสมาคมแพทย์แผนไทย ให้ช่วยรับรองตัวยาสมุนไพร ต่อมา ได้มีเจ้าหน้าที่พยาบาลจากประเทศลาว มาสั่งซื้อสมุนไพรจากตน เพื่อนำไปรักษาคนไข้ที่ป่วย และรักษาโดยแพทย์แผนปัจจุบันไม่หาย ถึงแม้ว่าตนจะไม่ได้รับใบประกอบโรคศิลปะ แต่ทว่าความรู้ความสามารถของตนที่มีอยู่ก็สามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยให้รอดตายจากโรคแปลกๆ จำนวนมากแล้ว โดยตนรับรักษาคนไข้ด้วยยาสมุนไพรไทยที่ได้ศึกษามาจากบรรพบุรุษมาตั้งแต่อายุ 15 ปี มีชื่อเสียงทั้งใน และต่างประเทศมาตลอด และหากว่ายาสมุนไพรที่มีอยู่นั้นไม่มีคุณภาพดีจริง คนป่วยที่มารักษากับตนคงไม่หายจากอาการป่วยอย่างแน่นอน หรือไม่ตนก็คงถูกประชาชนประณามไปนานแล้ว
       
       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับเนื้อเพลงที่หมอเณรร้อง และเผยแพร่ลงทาง YouTube (ยูทิวบ์) ทั้งหมดนั้น หมอเณรแต่งขึ้นมาเอง และร้องเอง โดยแต่งเพลงขึ้นมาจากสถานการณ์ความเป็นจริงในปัจจุบัน โดยหมอเณรให้เหตุุผลว่า ที่แต่งเพลงขึ้นมาเผยแพร่เนื่องจากหน่วยงานภาครัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องไม่ค่อยให้การสนับสนุนวงการแพทย์แผนโบราณที่มีมาอย่างยาวนานนับพันปี และยิ่งนับวัน สมุนไพรไทยก็เริ่มจะหดหายไปจากวงการ หากหน่วยงานรัฐยังนิ่งเฉยอย่างนี้อยู่ต่อไป และหากยังเป็นเช่นนี้ตนก็จะประกาศขายสวนสมุนไพรที่มีอยู่ประมาณ 100 ไร่ทิ้ง แล้วกลับไปอยู่บ้านแบบสบายๆ จะดีกว่า
       
       ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า หลังจากเพลงของหมอเณรถูกเผยแพร่ลงทาง YouTube (ยูทิวบ์) ได้ไม่นานปรากฏว่า ได้มีประชาชนโทรศัพท์เข้ามาสอบถามเกี่ยวกับคลิปที่หมอเณรนำไปเผยแพร่จนได้รับความสนใจ โดยเฉพาะผู้ที่เคยมารักษาที่สวนสมุนไพร โดยหมอเณรได้เปิดเผยว่า ได้ตัดสินใจเผยแพร่คลิปดังกล่าวเมื่อประมาณเที่ยงคืนที่ผ่านมาโดยใช้ชื่อว่า “มรดกไทย หมอเณร” หรือ http://www.youtube.com/watch?v=OtIKpdSjqhg

ASTVผู้จัดการออนไลน์    6 มีนาคม 2556

6830
6 ประเด็นใหญ่คนไข้สิทธิบัตรทองร้องเรียน “คลินิกชุมชนอบอุ่น” โดยเฉพาะเรื่องการไม่ยอมส่งตัวเข้ารักษาในโรงพยาบาลรัฐ ด้าน ผอ.สปสช. เขต 13 กทม.แจง ได้มีการพัฒนาระบบโดยการตั้ง “กองทุนระบบส่งต่อ” ช่วยลดภาระคลินิก เชื่อลดปัญหาการไม่ส่งตัวคนไข้สู่รพ.รัฐได้ พร้อมเผยหลักการประเมินการส่งต่อ ใครมีปัญหาร้อง สปสช.ทันที ขณะที่ยอดคนไข้บัตรทองเข้าใช้บริการคลินิกอบอุ่นจริงเพียง 40-50% จากยอดเหมาจ่ายรายหัว!
       
       ความแออัดของคนไข้ในโรงพยาบาลรัฐที่เดินทางมารอรับการรักษามีอยู่เป็นจำนวนมากในแต่ละวัน ทำให้คนไข้ส่วนใหญ่ต้องรอคิวเป็นเวลากว่าครึ่งวันจึงจะได้พบแพทย์ บางคนมาตั้งแต่เช้ามืด เพื่อเข้ารับการรักษาในช่วงบ่าย หรือตอนเย็น อันเกิดจากบุคลากรทางการแพทย์ไม่เพียงพอต่อปริมาณคนไข้ในแต่ละวันนั่นเอง ปัญหาดังกล่าวส่งผลให้ภาครัฐต้องหาทางออก ในการลดความแออัด และการบริการที่ไม่ทั่วถึง โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ใช้สิทธิบัตรทอง หรือ 30 บาทรักษาทุกโรค เพื่อมุ่งให้ประชาชนมีคุณภาพร่างกายที่ดียิ่งขึ้น
       
       “คลินิกชุมชนอบอุ่นเป็นกลไกที่สำคัญในระบบบริการของสำนักหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่เข้ามามีบทบาทในการแบ่งเบาความแออัด และการบริการของโรงพยาบาลรัฐขนาดใหญ่ ให้ทันต่อความต้องการของประชาชน เนื่องจากบุคลากรของรัฐมีจำนวนไม่เพียงพอ” นายแพทย์รัฐพล เตรียมวิชานนท์ ผู้อำนวยการสำนักหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 13 กรุงเทพมหานคร กล่าว
       
       อย่างไรก็ดี แม้จุดประสงค์หลักของการเกิดคลินิกชุมชนอบอุ่น ซึ่งถือเป็นหน่วยบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิในการตรวจรักษาโรคพื้นฐาน และคัดกรองโรคเบื้องต้น แต่หากพบว่าคนไข้เป็นโรคที่เกินความสามารถในการรักษาก็จะส่งตัวไปยังโรงพยาบาลรัฐ กลับพบว่ามีประเด็นความขัดแย้งระหว่างคลินิกชุมชนอบอุ่น และคนไข้ให้เห็น โดยเฉพาะกรณีส่งตัว
       
       จากข้อมูลสำนักหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 13 กรุงเทพมหานคร พบมีเรื่องร้องเรียนในพื้นที่ กทม.ในปีงบประมาณ 2553 จำนวนทั้งหมด 3,409 เรื่อง ปีงบประมาณ 2554 มีจำนวน 3,519 เรื่อง และปีงบประมาณ 2555 (9 เดือน) มีจำนวน 2,753 เรื่อง (ตารางประกอบ)

       6 ประเด็นคนไข้ร้องเรียน
       
       นายแพทย์รัฐพล เตรียมวิชานนท์ ผอ.สปสช.เขต 13 ระบุว่า จากข้อมูลการร้องเรียนคลินิกชุมชนอบอุ่นที่ผ่านมา สามารถแบ่งเป็น 2 แบบคือ กรณีที่มีมูล คือเกิดจากคลินิก กับไม่มีมูล คือความเข้าใจผิด โดยมีประเด็นหลักดังนี้
       
       1. คลินิกไม่ยอมออกใบส่งตัวให้เมื่อเกินความสามารถของทางคลินิก หรือมีภาวะเสี่ยงเป็นโรคร้ายแรง
       2. เรียกเก็บเงินโดยไม่มีเหตุที่จะเก็บได้
       3. คาดหวังการบริการ เช่น คนไข้คาดหวังว่าบริการของทางคลินิกจะสะดวกสบาย มีความสามารถสูง สามารถรักษาได้ทุกอย่าง รวมถึงพฤติกรรมการบริการของเจ้าหน้าที่ไม่เหมาะสม
       4. คาดหวังให้ส่งตัว ทั้งๆ ที่บางโรคคลินิกรักษาได้ แต่คนไข้ไม่เชื่อว่าคลินิกจะทำได้ ทั้งๆ ที่เป็นโรคง่ายๆ โรคพื้นฐาน เช่น ไข้หวัด เบาหวาน ความดัน โรคพวกนี้ต้องรักษาต่อเนื่อง พอคนไข้บางรายเห็นคลินิกเล็ก ก็คิดว่าไม่อยากรักษา อยากไปโรงพยาบาล เพื่อไปพบอาจารย์หมอ หรือต้องการไปหาหมอที่มีชื่อเสียง เป็นต้น
       5. เรื่องของเวลาเปิด-ปิดของคลินิกบางแห่งอยู่ในเวลาที่คนไข้ทำงาน ทำให้คนไข้ไม่สะดวกเข้ารับการรักษา ซึ่งทาง สปสช.กทม.พยายามแก้ไขอยู่ โดยคาดหวังให้คลินิกเปิดถึง 20.00 น. ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพัฒนา
       6. กรณีที่คนไข้เข้าใจผิดว่าบางบริการ หรือยาบางชนิดอยู่ในสิทธิบัตรทอง คิดว่าไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย แต่จริงๆ แล้วไม่อยู่ในสิทธิบัตรทอง เช่น เสริมความงาม
       
       “ผมมองว่าการร้องเรียนเป็นเรื่องธรรมดา เราต้องมีกระบวนการพิจารณา เมื่อคนไข้ร้องเรียนเข้ามา ก็ต้องจับประเด็นให้ได้ว่าร้องเรื่องอะไร”

       “กองทุนระบบส่งต่อ” ช่วยคลินิก-ลดปัญหาการส่งตัว
       
       ผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 13 กรุงเทพมหานคร กล่าวอีกว่า ก่อนหน้านี้ประเด็นการไม่ส่งตัวไปยังโรงพยาบาลรัฐมีจำนวนมาก ทำให้ทาง สปสช.กทม.หาแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยจัดตั้งเป็นกองทุนระบบส่งต่อขึ้น เพื่อจะเข้ามารับภาระช่วยให้คลินิกจ่ายเงินน้อยลง รับผิดชอบแค่บางส่วนเท่านั้น เนื่องจากเวลาส่งคนไข้ไปโรงพยาบาลจะมีค่าใช้จ่ายสูง ไม่ว่าจะเป็นค่าตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือ MRI อยู่ที่ประมาณ 8,000-20,000 บาทต่อครั้ง เมื่อมีกองทุนระบบส่งต่อจะให้คลินิกรับผิดชอบแบบเหมาในอัตรา 1,400 บาทต่อครั้งต่อการส่งตัวเท่านั้น
       
       การจัดการในรูปแบบดังกล่าวจะทำให้คลินิกไม่ลำบากใจเวลาต้องส่งตัวคนไข้ เพราะหากคลินิกต้องรับผิดชอบคนไข้ครั้งละ 10,000 บาท แค่วันละ 10 ราย หลายๆ วัน ก็คงอยู่ไม่ไหว พอตั้งกองทุนนี้ขึ้นมาเรื่องร้องเรียนก็ค่อยๆ ลดลง
       
       นอกจากกองทุนระบบส่งต่อที่เข้ามาช่วยลดปัญหาความขัดแย้งระหว่างคลินิก กับคนไข้แล้วนั้น หากคนไข้เกิดความไม่สบายใจในการบริการของคลินิกที่ตนมีชื่ออยู่ก็สามารถขอย้ายได้จำนวน 4 ครั้งต่อปี ยังสำนักงานเขตที่อยู่ตามทะเบียนบ้านอีกด้วย
       
       การถอดถอน “คลินิกชุมชนอบอุ่น” ยาก
       
       จากปัญหาที่ผ่านมา สปสช.ได้มีการถอดถอนคลินิกชุมชนอบอุ่นใน กทม.เพียงแห่งเดียว เพราะไม่ได้มาตรฐาน โดยเฉพาะในเรื่องของความสะอาดที่ไม่ดูแลเรื่องการติดเชื้อให้ได้ตามมาตรฐาน จึงต้องถอดออกไปจากโครงการในที่สุด
       
       “การจะถอดถอนไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องดูจนแน่ใจว่าสิ่งที่คลินิกทำไม่มีมาตรฐานจริงๆ และต้องยอมรับว่าคลินิกก็มีการปรับตัวอย่างต่อเนื่อง ส่วนกรณีที่ผิดจริงก็จะดำเนินเรื่องสอบสวน โดยส่วนหนึ่งจะดูที่เจตนาของคลินิก หากคลินิกมีเจตนาที่ดีในการให้บริการ ก็อยู่ในวิสัยที่ปรับปรุงได้”
       
       อย่างไรก็ตาม การเข้ามาช่วยของภาคเอกชนในรูปแบบของการเข้าร่วมโครงการคลินิกชุมชนอบอุ่น เป็นการลงทุนและจัดการด้วยภาคเอกชนเอง ดังนั้นในบางมิติของภาคเอกชนย่อมมีความมุ่งหวังเรื่องกำไร เป็นเรื่องธรรมดา

 สปสช.แจง หลักการประเมินการส่งต่อคนไข้
       
       อย่างไรก็ดี ในการประเมินการส่งต่อคนไข้นั้น หากมีการร้องเรียนเข้ามาทาง สปสช.เขต 13 จะทำหน้าที่ประเมินว่าคนไข้มีความจำเป็นหรือไม่ โดยดูจากเรื่องที่ยื่นคำร้องมา ถ้าดูแล้วแพทย์ให้เหตุผลไม่ชัดเจนว่าทำไมถึงคิดว่ารักษาได้ แต่หากทางสำนักงานฯ ประเมินว่าความสามารถไม่ถึง จะใช้อำนาจของสำนักงานฯ ตามข้อสัญญาบังคับให้ส่งต่อ โดยมีคณะกรรมการพิจารณาตรงนี้
       
       โดยที่ผ่านมามีอยู่หลายครั้งที่ทาง สปสช.กทม.บังคับให้คลินิกส่งต่อเลย โดยไม่ต้องออกใบส่งตัว และให้โรงพยาบาลรักษาได้เลย โดยหักเงินของคลินิกให้ แต่ก็ต้องรอให้ผู้ป่วยร้องเรียนเข้ามาก่อน ได้ทั้งตัวผู้ป่วย และโรงพยาบาลที่รับการส่งต่อ หากพบว่าคลินิกควรส่งตัวคนไข้มารักษานานแล้ว ทั้งนี้เรื่องการไม่ส่งต่อถือเป็นเรื่องร้ายแรง ทางสำนักงานฯ ก็มีอำนาจจัดการ
       
       “หากระบบทำให้คนไข้เสียหายแล้ว ไม่ว่าจากอะไรก็ตามจะมีกระบวนการเยียวยา ช่วยเหลือเบื้องต้น จะมีคณะกรรมการช่วยเหลือเบื้องต้น ซึ่งเคยเจอกรณีระบบผิดพลาด ทำให้คนไข้ไม่ได้รับการรักษา ช้าไประยะหนึ่ง โรคมีโอกาสลุกลาม ทำให้เกิดผลเสีย อันนี้ก็ชดเชยความเสียหาย โดยไม่เพ่งเล็งว่าคลินิกหรือหมอผิด เพราะหน้าที่ของเราคือ การช่วยเหลือเบื้องต้น การจ่ายชดเชย หาทางแก้ไขเชิงระบบ”
       
       คนไข้บัตรทองเข้ารักษาจริงเพียง 40-50%
       
       ส่วนเรื่องการรับจำนวนคนไข้ของคลินิกนั้น สปสช.มีสัดส่วนคนไข้ที่เหมาะสมอยู่ที่ประมาณ 10,000 คนต่อคลินิก มากสุดไม่เกิน 12,000 คนต่อคลินิก ส่วนคลินิกขนาดใหญ่อาจเพิ่มโควตาเป็น 20,000 คนต่อคลินิก ไม่เกิน 24,000 คนต่อคลินิก โดยพบยอดการเข้ารับการรักษาประมาณ 40-50% แต่ยังมีส่วนของการสร้างเสริมสุขภาพด้วย โดยมีทั้งรูปแบบของการลงพื้นที่ ไปเยี่ยมตามบ้าน และส่งเสริมในหน่วยบริการ เช่น ฉีดวัคซีน การคัดกรองความเสี่ยงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเบาหวาน มะเร็งปากมดลูก มะเร็งเต้านม เป็นต้น
       
       สำหรับคลินิกที่เข้าร่วมโครงการจะเป็นระบบคุ้มครองความเสี่ยงร่วมกัน แบบเหมาจ่าย โดยทั่วไป สปสช.จะจ่ายให้คลินิกที่เข้าร่วมโครงการอยู่ที่ 800 บาทต่อคนต่อปี โดยมีการหักค่ากองทุนส่งต่อไปแล้ว และความเสี่ยงต่ำสุดอยู่ที่ 681 บาทต่อคนต่อปี อีกทั้งยังมีเงินค่าใช้จ่ายอย่างอื่นเพิ่มให้อีก เช่น ค่าส่งเสริมสุขภาพ เงินพัฒนา ดังนั้นค่าหัวโดยประมาณจากความเสี่ยงต่ำสุดอยู่ที่ 681 บาทต่อคน มาเป็น 1,000 บาทต่อคน ในอัตราเหมาที่ 800 บาท จะมาเป็นที่ประมาณ 1,200 บาท โดยวัดความเสี่ยงจากหลายปัจจัย เช่น คลินิกนั้นมีคนไข้ที่เป็นโรคยากๆ, มีความเสี่ยงสูง, มีคนไข้เรื้อรัง เป็นต้น อีกทั้งยังมีสูตรคำนวณอายุ เช่น คนแก่จะได้ค่าน้ำหนักเยอะ วัยรุ่นจะได้น้อย เป็นต้น
       
       หากคำนวณอัตราคนไข้ที่เหมาะสมอยู่ที่ประมาณ 10,000 คนต่อคลินิก กับค่ารายหัวคนไข้โดยประมาณในระบบเหมาจ่ายที่ประมาณ 1,200 บาทต่อคน จะพบอัตรางบที่คลินิกชุมชนอบอุ่นได้รับอยู่ที่ประมาณ 12,000,000 ล้านบาทต่อปี และเมื่อเทียบการเข้ารับการรักษาประมาณ 50% ของจำนวนโควตาผู้ป่วย ทำให้มีส่วนต่างอยู่ที่ประมาณ 6,000,000 บาทต่อปี ทั้งนี้ส่วนต่างยังไม่รวมค่าความเสี่ยงที่เกิดจากกรณีที่ต้องส่งผู้ป่วยต่อยังโรงพยาบาลรัฐ ซึ่งหากมีผู้ป่วยที่ต้องส่งต่อจำนวนมากก็จะทำให้มีรายจ่ายและความเสี่ยงที่เยอะขึ้น
       
       “ขณะนี้ยังไม่มีคลินิกไหนถอนตัวออกจากโครงการ จึงเห็นว่าคลินิกส่วนใหญ่ไม่น่าจะขาดทุน แต่คิดว่าคลินิกคงไม่ได้กำไรมากมายนัก มีรายได้เพียงเลี้ยงตัวเองได้เท่านั้น เนื่องจากการกำหนดอัตรา 10,000 คนต่อคลินิก ถือว่าเป็นอัตราที่มีการคำนวณความเสี่ยงไว้แล้ว”

       แนะคนไข้ตรวจสอบสิทธิ
       
       ทั้งนี้ การเข้ารับบริการของประชาชนในสิทธิบัตรทองของแต่ละคลินิกจะมีสถิติการบริการส่งเข้ามาที่สำนักงานฯ ส่วนคลินิกที่มีคนไข้น้อยส่วนหนึ่งเพราะคนไข้แข็งแรงดีไม่ไปใช้บริการ จะได้รับเงินค่าหัวต่ำกว่าคลินิกที่มีคนไข้เยอะ อาจเกิดจากฐานประชากรที่เป็นวัยหนุ่มสาว มีร่างกายแข็งแรง เช่น คลินิกใกล้มหาวิทยาลัยหรืออาจเป็นเพราะประชาชนไม่รู้จักคลินิกที่ตนสังกัดก็ได้ หรืออาจเป็นเพราะคลินิกบางแห่งที่ตั้งไม่สะดวกเท่าที่ควร อีกทั้งยังพบว่ามีคนไข้บัตรทองจำนวนไม่น้อยที่ไม่ทราบว่าตนมีสิทธิบัตรทอง
       
       “ประชาชนสามารถตรวจสอบสิทธิได้ที่ 1330 หรือเข้า bkk.nhso.go.th และอยากขอให้ประชาชนที่มีสิทธิบัตรทองช่วยกันตรวจสอบการให้บริการของคลินิก หากพบไม่ดีก็ขอให้ร้องเรียนมาที่ สปสช.ได้เลย" ผู้อำนวยการ สปสช.เขต 13 ระบุ

       เพิ่มดูแลฟันเด็ก 20% พร้อมบูรณาการข้อมูล
       
       นอกจากดูแลสุขภาพของประชาชนในสิทธิบัตรทองแล้ว ทาง สปสช.กทม.ยังมีโครงการทันตกรรมในเด็ก โดยผู้อำนวยการ สปสช.เขต 13 บอกว่า ในปีนี้ทาง สปสช.กทม.จะเพิ่มเป้าหมายการตรวจสุขภาพฟันของเด็กให้ครอบคลุมเพิ่มขึ้นอีก 20% จากเดิมที่มีเด็กประมาณ 30,000-40,000 ราย ยังไม่มีข้อมูลในการดูแล ซึ่งทาง สปสช.กทม.จะเน้นความร่วมมือกับทางสำนักอนามัย กทม. รวมถึงสมาคมทันตแพทยศาสตร์ศึกษา และสมาคมทันตแพทย์เอกชนเข้าไปดูแลให้ทั่วถึง
       
       ทั้งนี้ ระบบการจัดการเรื่องทันตกรรมถือเป็นงานใหญ่ ทาง สปสช.กทม.กำลังพัฒนาระบบ และมองว่าจะทำอย่างไรการเข้าถึงบริการถึงจะดีขึ้น มีการพยายามจัดการระบบ เพื่อให้คนไข้เข้าถึงง่ายขึ้น ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการดำเนินงาน
       
       “ทาง สปสช.กทม.จะให้ความสำคัญด้านงานป้องกันที่มีความซับซ้อนน้อยกว่า ซึ่งอยากขอความร่วมมือให้ทางคนไข้ โดยเฉพาะพ่อแม่จะต้องช่วยดูแลบุตรหลาน เช่น ต้องทราบว่าเวลาไหนควรพาบุตรหลานไปตรวจเช็กสุขภาพฟัน รวมถึงสอนหลักการดูแลฟันให้แก่เด็ก” นพ.รัฐพลกล่าว


ASTVผู้จัดการออนไลน์    3 มีนาคม 2556

6831
น.ส.ช่อทิพย์ วิเศษพงษ์พันธุ์ รักษาการผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาสมรรถนะธุรกิจ สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สพว.) กล่าวถึงกรณีแพทยสภาเสนอให้รัฐบาล โดยกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ผลักดันให้ประเทศไทยเป็นเมืองหลวงศัลยกรรมตกแต่งของเอเชีย ด้วยการเปิดการทำทัวร์ศัลยกรรมทั้งระบบ ว่า ปัจจุบันเมืองไทยมีจุดแข็งเรื่องการท่องเที่ยว และทางการแพทย์อยู่แล้ว หากนำจุดแข็งทั้งสองเรื่องมาผนวกกันก็จะทำให้เกิดจุดแข็งใหม่ของประเทศขึ้น ซึ่งหากมีการทำทัวร์ศัลยกรรมจริง สพว.ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรมก็พร้อมที่จะให้ความร่วมมือในการเป็นเครือข่ายเพื่อช่วยส่งเสริม และพัฒนาผู้ประกอบการทั้งธุรกิจการท่องเที่ยวและธุรกิจบริการสุขภาพ

"การจัดทำทัวร์ศัลยกรรมเชื่อว่า สธ.มีความพร้อมในการดำเนินการอยู่แล้ว สพว.พร้อมที่จะให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ เพราะถือว่าเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการ ช่วยให้ประเทศไทยมีรายได้เพิ่มขึ้น และหากเปิดเออีซี ก็เชื่อว่าคนในประชาคมอาเซียนจะเดินทางเข้ามารักษาตัวในประเทศไทยเพิ่มขึ้น ซึ่งจำเป็นต้องเร่งจัดความพร้อมให้แก่ผู้ประกอบการก่อนเพื่อรองรับการเปิดเออีซี" น.ส.ช่อทิพย์กล่าว

น.ส.ช่อทิพย์กล่าวต่อว่า ขณะนี้ สพว.ได้จัดโครงการ AEC Ready เพื่อเตรียมความพร้อมให้แก่ผู้ประกอบการเกี่ยวกับการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ เช่น โรงพยาบาล โรงพยาบาลเฉพาะทาง คลินิกเสริมความงาม สปา เอเยนซี่ทัวร์ การแพทย์แผนไทย การแพทย์ทางเลือก ตลอดจนธุรกิจที่เกี่ยวกับยานพาหนะทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ด้วยการจัดอบรมสัมมนาให้ความรู้เกี่ยวกับ AEC ในด้านต่างๆ โดยเปิดอบรมฟรีในเดือนมี.ค.นี้ โดยวันที่ 6-7 มี.ค. อบรมที่จ.ชลบุรี วันที่ 8-9 มี.ค. อบรมที่กรุงเทพฯ วันที่ 16-17 มี.ค. อบรมที่ จ.อุดรธานี วันที่ 20-21 มี.ค. อบรมที่ จ.เชียงใหม่ และวันที่ 22-23 มี.ค. อบรมที่ จ.สงขลา หมดเขตรับสมัครภายในวันที่ 1 มี.ค. นี้

ข่าวสด ฉบับวันที่ 27 ก.พ. 2556

6832
สธ.จับมือ บก.ปคบ.บุกตรวจ “นิติพล-วุฒิศักดิ์” ย่านสยามสแควร์ พบขายยารักษาสิวโดยไม่ใช่แพทย์ และโฆษณาเกินจริง มีการลดแลกแจกแถม เบื้องต้นแจ้งข้อหาทั้งสองคลินิกแล้ว
       
       วันนี้ (25 ก.พ.) เมื่อเวลา 11.30 น.ที่ศูนย์การค้าสยามสแควร์ นายพสิษฐ์ ศักดาณรงค์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย นพ.สุชาติ เลาบริพัตร ผู้อำนวยการสำนักงานกฎหมาย กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) และตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) นำกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปคบ.และเจ้าหน้าที่ สบส.ลงพื้นที่ตรวจสอบคลินิกสถานเสริมความงาม นิติพล คลินิกเวชกรรม สาขาสยามสแควร์ หลังมีผู้ร้องเรียนว่าสถานบริการดังกล่าวทำการจำหน่ายยารักษาสิวให้ลูกค้าโดยที่ไม่ใช่แพทย์
       
       นายพสิษฐ์ กล่าวว่า การเข้าจับกุมในครั้งนี้เป็นการขยายผลจากการที่มีผู้ร้องเรียนเข้ามาทาง สบส.ว่า สถานบริการดังกล่าวมีการจ่ายยาโดยไม่ใช่แพทย์ ทั้งนี้ จากการล่อซื้อของเจ้าหน้าที่พบว่ามีการกระทำผิดจริง โดยในสถานที่เกิดเหตุสามารถจับผู้กระทำความผิดได้ 3 ราย เป็นแพทย์ผู้ควบคุม 1 ราย และพนักงานประจำร้านอีก 2 ราย ซึ่งหนึ่งใน 2 รายนั้นเป็นพนักงานที่ทำการจำหน่ายยา 1 ราย จึงได้ให้ทางเจ้าหน้าที่รวบรวมไว้เป็นหลักฐาน และทำการประสานทางเจ้าของสถานบริการมารับทราบข้อมูล ทั้งนี้ สถานเสริมความงามหรือแม้กระทั่งสถานพยาบาลต่างๆ ต้องให้ผู้เชี่ยวชาญในการจำหน่ายยาเท่านั้น เนื่องจากจะทำให้เกิดอันตรายต่อผู้ที่เข้ามาทำการรักษา สธ.เองได้มีการกำชับให้มีการกวดขันในการรักษาโรคอย่างถูกต้อง แม้กระทั่งเรื่องของการรักษาของความงามก็มีความสำคัญควรได้รับการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่ถูกต้อง เบื้องต้นทางเจ้าหน้าที่แจ้งข้อกล่าวหาว่า ร่วมกันประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และประกอบทำกิจการอื่นในสถานพยาบาล
       
       นายพสิษฐ์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังได้ทำการตรวจสอบ สถานเสริมความงาม วุฒิศักดิ์ คลินิก เวชกรรม สาขาสยามสแควร์ ด้วย ซึ่งพบว่ากระทำความผิดฐานมีการโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง เช่น เป็นผลิตภัณฑ์อันดับ 1 ที่มีดารามาใช้บริการมากที่สุด ใช้แล้วทำให้ผิวกลับไปเป็นเด็กอีกครั้ง และการยกกระชับผิวหน้าด้วยทองคำบริสุทธิ์ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ยังร่วมไปถึงมีการโฆษณาลดแลกแจกแถมสินค้าอีกด้วย ซึ่งตามหลักแล้วไม่สามารถทำได้ จึงได้แจ้งความผิดฐานโฆษณาโอ้อวดเกินจริง พร้อมสั่งให้ปลดป้ายโฆษณา และมีการเปรียบเทียบปรับ 2 หมื่นบาท ทั้งนี้ หากพบมีการฝ่าฝืนอีกก็จะปรับเป็นเงินวันละ10,000 บาท
       
       “ทั้ง 2 กรณีถือเป็นความผิดที่ร้ายแรง โดยเฉพาะกรณีจำหน่ายยาโดยไม่มีการตรวจวินิจฉัยโรคก่อน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อผิวได้ เนื่องจากผิวของแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน เช่น บางรายสามารถใช้ผลิตภัณฑ์รักษาสิวบางตัวได้ แต่ในผลิตภัณฑ์ตัวเดียวกันก็สามารถทำให้อีกคนแพ้ได้ ซึ่งเรื่องการแพ้ยาหรือผลิตภัณฑ์ถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะบางรายอาจถึงขั้นเป็นฝ้าถาวร หน้าเกิดอาการบวมแดงจากการแพ้ หรืออาจถึงขั้นเสียโฉมได้ ดังนั้น การจำหน่ายยาหรือผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับความงามทุกครั้งจะต้องมีแพทย์ควบคุม ซึ่งในเรื่องดังกล่าวตนก็จะนำรายงานให้แพทสภาทราบเพื่อทำการตรวจสอบรายละเอียดต่อไป” นายพสิษฐ์ กล่าว
       
       ด้าน พ.ต.อ.ล้ำพันธุ์ พรรธนประเทศ ผกก.4 ปคบ.กล่าวว่า จากการตรวจสอบพบว่าทั้ง 2 คลินิกมีการกระทำความผิดจริง ดังนั้นเบื้องต้นคลินิกทั้ง 2 แห่ง จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย โดยคลินิกแรกจะถูกดำเนินคดีทางกฎหมายเกี่ยวกับการจำหน่ายผลิตภัณฑ์โดยไม่มีแพทย์ควบคุม มีโทษจำคุก 3 ปี ปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนกรณีที่ 2 เป็นการโฆษณาชวนเชื่อ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท

ASTVผู้จัดการออนไลน์   25 กุมภาพันธ์ 2556

6833
  "หวานเป็นลม ขมเป็นยา" เป็นคำที่คนไทยตั้งแต่ในอดีตได้เตือนว่า อาหารส่วนใหญ่ที่มีรสหวานมาก็จะเป็นโรคได้ ส่วนยาไทยที่เอาไว้รักษาโรคนั้นต่างก็มีรสขมทั้งสิ้น
       
        คนทั่วไปส่วนใหญ่ชอบรับประทานอาหารและเครื่องดื่มที่มีรสหวาน โดยที่อาจไม่เคยรู้เลยว่าความหวานนี่แหละที่ก่อให้เกิดโรคมากมาย และถ้าเราลดเรื่องอาหารที่มีรสหวานได้ เราก็จะหยุดได้หลายโรค
       
        นพ.เปี่ยมโชค ชลิดาพงศ์ คุณหมอที่จบแพทย์แผนปัจจุบันแต่มีความเชี่ยวชาญด้านโภชนาการ โดยปัจจุบันได้ให้คำแนะนำเรื่องโภชนาการเพื่อรักษาอาการเจ็บป่วยแทนการใช้ยา นพ.เปี่ยมโชค ด้เขียนหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ "ทำไมคุณถึงป่วย? อีกมุมหนึ่งของความรู้สุขภาพที่หมอของคุณอาจไม่เคยบอกคุณมาก่อน" ข้อมูลที่เขียนนี้ถือได้ว่ามีประโยชน์ต่อผู้อ่านเพราะได้รวบรวมงานเขียนและงานวิจัยหลายชิ้นในต่างประเทศ โดยมีความบางตอนที่น่าสนใจและผู้อ่านหลายคนอาจไม่เคยรู้มาก่อนมาเผยแพร่เพื่อเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะดังนี้
       
        จากหนังสือ "Lick the sugar habit" ที่เขียนโดย Nancy Appleton ตีพิมพ์ ปี 1992 เธอเป็นปริญญาเอกทาง Clinical nutrition ในหนังสือเล่มนี้ได้สรุปไว้ว่า มีโรคและอาการกินหวานอยู่ถึง 110 ชนิด จะเรียกได้ว่าโรคที่เรานิยมเป็นอยู่ในยุคนี้มีสาเหตุมาจากน้ำตาลมาเกี่ยวข้องด้วย เช่น ทำให้ฟันผุ, ให้กระดูกผุ, ทำให้แก่เร็ว, ทำให้อ้วน, ทำให้หลั่งอดรีนาลีนอย่างรวดเร็วในเด็ก, ทำให้เกิดหอบหืด, ทำให้เกิดโรคภูมิแพ้, ทำให้เด็กเป็นโรคผิวหนัง เอ็กซีม่า, ทำให้ปวดศีรษะไมเกรน, ทำให้เกิดโรคข้ออักเสบ, ทำให้เกิดริดสีดวงทวาร, ทำให้เป็นต้อกระจก, ทำให้สายตาสั้น, ทำให้เป็นโรคซึมเศร้า, ทำให้ไขมันในตับเพิ่มขึ้น, ทำลายตับอ่อน, ทำให้เป็นโรคเบาหวาน, ทำให้เป็นโรคความดันโลหิตสูง, ทำให้เกิดนิ่วในไต, เพิ่มโอกาสที่จะเป็นมะเร็งในกระเพาะอาหาร, เพิ่มโอกาสมะเร็งลำไส้ใหญ่, เป็นปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งถุงน้ำดี ฯลฯ
       
        ที่น่าสนใจคือ น้ำตาลทำให้เกิดสมาธิสั้น ความวิตกกังวล อารมณ์แปลกประหลาดในเด็ก โดยมีตัวอย่างจากหนังสือ alternative medicine ฉบับเดือนกันยายน 2004 หน้า 24 ชื่อ the real reason sweets make kids jumpy บทความนี้เป็นงานวิจัยที่ทำในอังกฤษ พบว่า:
       
        ความหวานและสีผสมอาหารที่มีอยู่ขนมหวาน ลูกอม และน้ำอัดลม มีส่วนในการทำให้เด็กที่กินของเหล่านี้เข้าไปเกิดอาการสมาธิสั้น เป็นการศึกษาในเด็กอายุ 3 ขวบ จำนวน 277 คน โดยการเฝ้าสังเกตพฤติกรรมของเด็กเหล่านี้ในช่วงเวลาที่เด็กกินอาหารที่มีความหวาน มีสีผสมอาหาร และอาหารที่ไม่มีความหวาน ไม่มีสีผสมอาหาร
       
        ซึ่งพบว่า ในช่วงที่เด็กกินอาหารที่มีความหวาน มีสีผสมอาหารและอาหารที่ไม่มีความหวาน ไม่มีสี พฤติกรรมของสมาธิสั้นลดลงมากกว่าครึ่งหนึ่ง กลุ่มที่ทำงานวิจัยนี้มีข้อเสนอแนะว่าการลดปัญหาของอาการสมาธิสั้นคือ ให้เด็กกินอาหารที่มีความหวาน มีสีผสมอาหารลดลง โดยเน้นที่อาหารและขนมสำเร็จรูปทั้งหลาย ขนมหวาน ลูกอม และน้ำอัดลม ขนมถุงจำพวกขบเคี้ยวทั้งหลายด้วย
       
        นอกจานี้บางคนอาจะไม่รู้ว่า น้ำตาลสามารถกดการทำงานของเม็ดเลือดขาวได้ (Sugar suppress lymphocyte) พูดง่ายๆก็คือกดการทำงานของภูมิต้านทานนั่นเอง จากหนังสือของนายแพทย์ James Braly ปี 1992 ชื่อ DR.BRALY'S FOOD ALLERTY & NUTRITION - REVOLUTION หน้า 242 เรื่อง "How to eat" มีข้อความแปลเป็นไทยว่า
       
        "ในบางคนน้ำตาลกดการทำงานของเม็ดเลือด โดยเฉพาะเม็ดเลือดขาวซึ่งเป็นตัวหลักของภูมิต้านทาน (เม็ดเลือดขาวมีหน้าที่สำคัญคือคอยทำลายเชื้อโรค และปกป้องร่างกายจากสิ่งแปลกปลอม) ยกตัวอย่างง่ายๆ ถ้าคุณกินน้ำอัดลม 1 กระป๋อง หรือกาแฟใส่น้ำตาล 1 ถ้วย แล้วตามด้วยขนมหวานอีก 1 ชิ้น เม็ดเลือดขาวของคุณจะทำงานลดลง 75 เปอร์เซนต์ และจะเป็นอย่างนี้อยู่นาน 6-8 ชั่วโมง กว่าจะกลับมาทำงานตามปกติ"
       
        จากหนังสือ Low Carb Energy ฉบับเดือน มีนาคม 2005 หน้า 87 ชื่อเรื่อง "SUGAR a Serious addiction you can break" รายงานนี้เขียนโดยแพทย์หญิง Christine Horner คุณหมอคริสติน บรรยายเรื่องหวานกดภูมิต้านทานแปลเป็นไทยได้ว่า
       
        "นักวิจัยพบว่าการกินหวานกดภูมิต้านทาน โดยไปกดการทำงานของเม็ดเลือดขาวที่เรียกว่า T lymphocyte ยกตัวอย่าง ถ้ากินขนมหวานชิ้นใหญ่ซัก 1 ชิ้น ความหวานจะกดการทำงานของเม็ดเลือดขาวประมาณ 50-94 เปอร์เซนต์ นาน 5 ชั่วโมง"
       
        นอกจากนี้ในหนังสือ Improving genetic expression in the prevention of the diseases of aging โดย Jeffery S. Bland, Ph.D. และ institute for functional medicine ปี 1998 หน้า 69 แสดงให้เห็นว่า เมื่อมีภาวะน้ำตาลในเลือดสูง น้ำตาลจะกระตุ้นให้เกิดอนุมูลอิสระ (Free Radicals) ได้ง่ายขึ้น และมากขึ้นภายในหลอดเลือด และอนุมูลอิสระเหล่านี้ก็จะทำลายผนังหลอดเลือดทั่วไปหมด และทำลายทุกอย่างที่เลือดวิ่งไปถึงทุกเซลล์ของร่างกาย
       
        โดยเฉพาะผู้ป่วยมะเร็งก็ควรจะทราบด้วยว่า ในรายงานของ Gordon Research Institute USA มีข้อความว่า "เซลล์มะเร็งมี Glucose receptor หรือ จุดสำหรับดูดซึมน้ำตาลเข้าเซลล์มากกว่าเซลล์ปกติถึง 24 เท่า แสดงให้เห็นว่าเซลล์มะเร็งมีความสามารถดูดซึมน้ำตาลได้เร็วมากและจำนวนมาก เพราะฉะนั้นคนไข้มะเร็งที่กินหวานก็เท่ากับส่งเสบียงให้เซลล์มะเร็งโดยตรง
       
        แม้ความหวานและน้ำตาลจะอันตรายและก่อให้เกิดโรคและปัญหามากมาย แต่บางคนต่อให้รู้ก็อาจจะเลิกยากเพราะมีงานวิจัยระบุว่าน้ำตาลอาจเป็นสารเสพติดอีกชนิดหนึ่ง !?
       
        จากหนังสือของนายแพทย์ James Braly ปี 1992 ชื่อ Dr. Braly's Food Allergy & Nutrition-Revolution หน้า 455 เรื่อง "Corn Syrup" ซึ่งน้ำตาลจากข้าวโพดนี้เป็นสารให้ความหวานที่ผสมอยู่ในอาหารและเครื่องดื่มสำเร็จรูป เกือบทุกชนิด ตั้งแต่ขนมถุง ลูกอม ยันน้ำอัดลม "เป็นสารเสพติดและก่อให้เกิดภูมิแพ้อย่างแรง"
       
        จากหนังสือ Low Carb Energy ฉบับเดือน มีนาคม 2005 หน้า 86 ชื่อเรื่อง "SUGAR A Serious addiction you can break" รายงานนี้เขียนโดยแพทย์หญิง Christine Horner ได้บรรยายเอาไว้ว่า คนอเมริกันกินน้ำตาลเฉลี่ย 60 กิโลกรัม/คน/ปี และตัวเลขที่น่ากลัว คือ โดยเฉลี่ย เด็กกินเป็น 2 เท่าของผู้ใหญ่ และในหนังสือเล่มนี้ก็เขียนไว้ทำนองเดียวกับหนังสือ LICK THE SUGAR HABIT ก็คือ ความหวานเพิ่มโอกาสการเป็นโรคร้ายหลายชนิด เช่น ลำไส้ใหญ่เป็นแผลอักเสบเรื้อรัง หอบหืด ข้ออักเสบ ไส้ติ่งอักเสบ ไมเกรน ซึมเศร้า โรคเหงือก ฟันผุ เบาหวาน อ้วน กระดูกผุ โรคหัวใจ และหลอดเลือด ฯลฯ
       
        ในหนังสือเล่มนี้เขียนเรื่องการเสพติดไว้ดังนี้ ความหวานกระตุ้นสมองที่ตำแหน่งเดียวกับ มอร์ฟีน เฮโรอีน และ โคเคน และยังอ้างถึงวารสาร NEURO IMAGE ฉบับเดือนเมษายน 2004 ที่รายงานวิจัยของมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย เสตท ว่า เวลาเราอยากกินหวานๆ สมองจะมีปฏิกิริยาเหมือนเราอยากเสพมอร์ฟีน เฮโรอีน และโคเคน และเวลาเราได้กินหวานๆ สมองจะมีปฏิกิริยาเหมือนเรา ได้เสพมอร์ฟีน เฮโรอีน และโคเคน
       
        ทั้งนี้มีการทดลองในหนู โดยให้หนูกินอาหารและน้ำหวาน เมื่อเวลาผ่านไปหนูกินน้ำหวานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และกินอาหารลดลง และเมื่อหยุดน้ำหวาน หนูจะเกิดอาการลงแดงทันที คือ ปากสั่น ตัวสั่น และเมื่อให้กินน้ำหวานอาการเหล่านี้ก็จะหายไป
       
        คราวนี้แบ่งหนูออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกให้น้ำหวาน กลุ่มที่สองให้มอร์ฟีน โดยเริ่มจากกลุ่มแรกให้หนูกินน้ำหวาน พอหยุดน้ำหวานหนูจะเกิดอาการลงแดงทันที คือ ปากสั่น ตัวสั่นอีก แต่คราวนี้ให้ยาชื่อ naloxone พบว่า หนูหายจากอาการปากสั่น ตัวสั่น (ยา naloxone เป็นยาที่ใช้ช่วยในการเลิกยาเสพติดพวกมอร์ฟีนและเฮโรอีน)
       
        หลังจากนั้นเริ่มให้มอร์ฟีนหนูอีกกลุ่มหนึ่ง จนหนูติดมอร์ฟีนแล้วหยุดให้มอร์ฟีน หนูเกิดอาการลงแดงทันที ปากสั่น ตัวสั่น เค้าก็ให้ยา naloxone หนูก็หายลงแดงทันที ซึ่งเป็นลักษณะแบบเดียวกัน
       
        ดังนั้นเมื่อได้ทราบข้อมูลข้างต้นแล้ว ต่อไปใครอยากจะอร่อยปากด้วยความหวาน ให้ใคร่ครวญให้ดีว่าเราอยากจะหายจะโรคที่เราเป็นด้วยการหยุดกินหวานได้แล้วหรือยัง?

ณ บ้านพระอาทิตย์
       โดย : ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
ASTVผู้จัดการรายวัน    22 กุมภาพันธ์ 2556

6834
เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ที่สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) นพ.ประดิษฐ สิน ธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน (กพฉ.) กล่าวภายหลังประชุมเพื่อพิจารณาคัดเลือกผู้สมัครเพื่อแต่งตั้งเป็นเลขาธิการ สพฉ.ว่า ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกตามหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือก เลขาธิการ สพฉ. ภายใต้ พ.ร.บ.การแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ.2551 มีจำนวน 5 ราย คือ
1.นายภวัต เลิศสุธน
2.นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร
3.ศ.ดร.กิติพงษ์ เกิดฤทธิ์
4.พ.อ.(พิเศษ) นพ.โชคชัย ขวัญพิชิต และ
5.พ.อ.นพ.สุรจิต สุนทรธรรม

โดยภายหลังการประชุมลับ ผลปรากฏว่า นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร ได้รับคัดเลือกเป็นเลขาธิการ สพฉ. คะแนนเอกฉันท์  งดออกเสียง 2 คน ซึ่งเป็นกรรมการผู้ที่ได้รับมอบหมายเข้าประชุม ทั้งนี้ เลขาธิการ สพฉ.คนใหม่นี้จะมีหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ฉุกเฉินแห่งชาติ ที่จะเข้ารับผิดชอบการบริหารงานด้านการแพทย์ฉุกเฉินให้เป็นไปตามข้อนโยบายของ กพฉ.ที่ต้องการให้ประชาชนทุกคนได้รับการบริการด้านการแพทย์ฉุกเฉินที่ได้มาตรฐานอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม โดยมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี

นพ.อนุชากล่าวว่า ปัจจุบันระบบการแพทย์ฉุกเฉินมีการพัฒนาที่เป็นระบบมากขึ้น แต่ก็ยอมรับว่าจะต้องมีการพัฒนาในอีกหลากหลายด้าน เพื่อนำไปสู่เป้าหมายสำคัญ คือ ผู้ป่วยฉุกเฉินจะต้องได้รับบริการทางการแพทย์ฉุกเฉินอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม จากนี้ไปจะเน้นการพัฒนามาตรฐาน ความปลอดภัย และการคุ้มครอง ผู้ให้บริการโดยมีเป้าหมาย 5 ค. คือ ครอบคลุมการบริการผู้ป่วยฉุกเฉิน คล่องแคล่ว ด้วยการเพิ่มจำนวนหน่วยกู้ชีพให้ครอบคลุมพื้นที่บริการครบ 24 ชั่วโมง มีคุณภาพ

ทั้งนี้ นพ.อนุชา จบการศึกษาแพทยศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ประวัติการทำงาน เคยดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุดรธานี เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชกรรมสาขาศัลยกรรมออร์โธปิดิกส์ และเคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลสุวรรณคูหา จ.อุดรธานี เป็นหัวหน้าศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน จ.อุดรธานี ตั้งแต่ปี 2548 รวมทั้งเคยได้รับรางวัลแพทย์ดีเด่นด้านอุบัติเหตุ ของสมาคมแพทย์อุบัติเหตุแห่งประเทศไทยเมื่อปี 2544

หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2556

6835
เป็นประเด็นร้อนและยืดเยื้อมานานสำหรับการยกเลิกขึ้นทะเบียนสารเคมีการเกษตร 4 ชนิด ได้แก่ คาร์โบฟูราน, เมโทมิล, อีพีเอ็น และไดโครโตฟอส ซึ่งเป็นสารเคมีที่หมดอายุลงเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2554 ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตรายฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2551 ที่ได้กำหนดให้ขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายทางการเกษตรประมาณ 27,000 รายการต้องขึ้นทะเบียนใหม่ และสารเคมีทุกชนิดจะมีอายุ 6 ปี หลังการขึ้นทะเบียน

ขณะนี้สารเคมีทั้ง 4 ชนิดนี้ยังสามารถวางขายตามตลาดได้ แต่ไม่สามารถนำเข้าเพิ่มเติมได้ เนื่องจากการอนุโลมของกรมวิชาการเกษตรที่อนุโลมให้สินค้าที่นำเข้าก่อนวันที่ 22 สิงหาคม 2554 สามารถวางจำหน่ายได้อีก 2 ปี ซึ่งจะครบกำหนดในเดือนสิงหาคม 2556

การดำเนินการขอขึ้นทะเบียนสารเคมี กว่า 10,000 ชนิด ดำเนินการควบคู่ไปกับการยื่นคัดค้านการขึ้นทะเบียน สารเคมีที่เป็นพิษร้ายแรงต่อร่างกาย โดยมีคาร์โบฟูราน, เมโทมิล, อีพีเอ็น และ ไดโครโตฟอส เป็นเป้าหลัก ทั้งฝ่ายขอ ขึ้นทะเบียนและฝ่ายคัดค้านการขึ้นทะเบียนต่างหาข้อมูลเหตุผลสนับสนุนทุกทางเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์

เป็นเรื่องเป็นราวกันอยู่นาน กรมวิชาการเกษตรซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบในเรื่องนี้ก็ยังไม่ได้ดำเนินการให้เสร็จสิ้น เหตุผลหนึ่งก็เป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่าการทำงานตามระบบราชการต้องเป็นไปตามกระบวนการซึ่งล่าช้ามาก จึงเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ฝ่ายยื่นคัดค้านการขึ้นทะเบียนนำไปโจมตีว่า "บริษัทเจ้าของผลิตภัณฑ์กระเป๋าหนัก จ่ายเยอะ...ซื้อเวลาได้นาน"

จากอธิบดีคนเก่าที่เกษียณอายุไปในปลายเดือนกันยายน 2555 ส่งไม้ต่อมาที่ นายดำรงค์ จิระสุทัศน์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตรคนใหม่ ที่ขึ้นดำรงตำแหน่งด้วยท่าทีขึงขัง ให้ความหวังว่าเรื่องน่าจะดำเนินไปเร็วกว่าเดิม โดยการให้ข่าวว่าจะจัด ประชาพิจารณ์ในเร็ว ๆ นี้ จนเข้าสู่เดือนสุดท้ายของปีก็ยังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด และตอบคำถามว่า "ตั้งใจจะจัดในเดือนธันวาคม 2555 แต่ติดปัญหาบางอย่างจึงต้องเลื่อนไปหลังปีใหม่ 2556"

ผ่านปีใหม่มาเดือนกว่ายังไม่มีข่าวคราวความคืบหน้าใด ๆ ออกมา จนกระทั่งเหตุเกิดในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้เสนอให้ยกเลิกใช้สารเคมีทั้ง 4 ชนิด พร้อมกับให้เหตุผลว่า แต่ละปีมีผู้ป่วยที่ได้รับอันตรายจากสารเคมีจำนวนมาก และตรวจพบสารตกค้างในเลือดของเกษตรกรและผู้บริโภคจำนวนมากเช่นกัน อีกทั้งได้ทวงถามกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ว่า "เมื่อไหร่เรื่องจะถึงบทสรุป จะต้องให้ประชาชนล้มตายไปอีกเท่าใดจึงจะเลิกใช้"

นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ตอบกระทรวงสาธารณสุขไปว่า เห็นด้วยที่ว่าสารเคมีเป็นพิษต่อเกษตรกรและผู้บริโภค ควรจะยกเลิกให้เร็วที่สุด แต่ติดที่ว่าการจะยกเลิกต้องเป็นไปตามกระบวนการที่กฎหมายกำหนด โดยกฎหมายที่ควบคุมดูแลเรื่องนี้อยู่คือ พ.ร.บ.วัตถุอันตรายฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2551 ซึ่งกระบวนการหนึ่งที่สำคัญคือการทำประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง หลังจาก นั้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯจึงได้สั่งการไปยังกรมวิชาการเกษตรให้เร่งดำเนินการ

นายดำรงค์ จิระสุทัศน์ เปิดเผยว่า การพิจารณาว่าจะอนุญาตขึ้นทะเบียนหรือยกเลิกการใช้ ไม่ได้อยู่ในอำนาจของกรมวิชาการเกษตร แต่เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการวัตถุอันตราย ซึ่งมีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน ความคืบหน้า ล่าสุดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ทำหนังสือยื่นไปยังกระทรวงอุตสาหกรรม ถึงประเด็นที่ว่าจะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของคณะกรรมการวัตถุอันตราย โดยไม่ผ่านการทำประชาพิจารณ์รับฟังความเห็นได้หรือไม่ เพื่อพิจารณายกเลิกใช้สารเคมี 4 ชนิดได้โดยเร็ว ตามที่กระทรวงสาธารณสุขได้เสนอมา แต่ยังไม่มีหนังสือตอบกลับมาแต่อย่างใด กรมจึงจะทำประชาพิจารณ์ตามกระบวนการเดิมที่วางแผนไว้ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2556

ดังนั้นต้องติดตามความคืบหน้าอย่างใกล้ชิดว่า ผลการประชาพิจารณ์ใน วันที่ 21 กุมภาพันธ์นี้จะออกมาเป็นอย่างไร และฝ่ายคณะกรรมการวัตถุอันตรายจะดำเนินการอย่างไร หลังจากการประชาพิจารณ์ได้ข้อสรุปแล้ว

หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 18 - 20 ก.พ. 2556

6836
ปรากฏการณ์ก้นหอยเกิดขึ้นในวิชาชีพพยาบาลมาพักหนึ่งแล้ว และยังคงมีแนวโน้มเกิดขึ้นต่อเนื่องหากยังไม่มีการแก้ปัญหา

วิจิตร ศรีสุพรรณ นายกสภาการพยาบาลอธิบายว่า ปรากฏการณ์นี้คือปัญหาขาดแคลนพยาบาล ทำให้พยาบาลต้องรับภาระหนัก เหน็ดเหนื่อยเกินกว่าที่ควรและเมื่อเหนื่อยมากสุดท้ายก็ลาออก ทำให้ยิ่งขาดแคลนพยาบาลมากขึ้น มองดูเหตุการณ์รวมๆ แล้ววาดภาพได้เป็นรูปก้นหอยพอดี

ปัญหาดังกล่าวเกิดจากหลายปัจจัย ทั้งเรื่องบรรยากาศ ค่าตอบแทน สวัสดิการ และความมั่นคงของอาชีพ แม้สภาการพยาบาลทำโครงการพยาบาลคืนถิ่น เพื่อกระจายพยาบาลให้เพียงพอทุกพื้นที่มาตั้งแต่ปี 2544 ไม่สำเร็จเท่าที่ควร

"เราดึงเด็กเรียนดีจากชนบทมาเรียนพยาบาล แล้วให้กลับไปทำงานในต่างจังหวัด แม้ปัจจุบันมีผู้เข้าร่วมโครงการเพิ่มเป็น 150-200 คนต่อปี แต่เมื่อทำงานสักพักหนึ่งไม่ได้บรรจุเป็นข้าราชการ ไม่มีสวัสดิการ ต้องทำงานหนัก ทำให้คนเหล่านี้เปลี่ยนไปทำอาชีพอื่นในที่สุด"

ขณะเดียวกันการเคลื่อนย้ายวิชาชีพพยาบาลอย่างเสรี ก็ไม่น่าจะช่วยให้ไทยมีพยาบาลนำเข้าเพิ่มขึ้นมาเติมเต็มส่วนที่ขาดได้ เพราะกลุ่มประเทศอาเซียนใหม่เช่น กัมพูชา ลาวพม่า เวียดนาม ยังขาดแคลนพยาบาลมากกว่าไทย และไม่สามารถผลิตเพิ่มได้อย่างเต็มที่ไทยจึงไม่สามารถนำเข้าพยาบาลจากประเทศกลุ่มดังกล่าวได้

ส่วนประเทศอื่นๆเช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไนพยาบาลก็มีรายได้มากกว่าไทย จึงไม่น่าจะสนใจย้ายมามากนัก ด้านฟิลิปปินส์ที่ส่งออกพยาบาลจำนวนมาก ก็กลายเป็นประเทศที่จำนวนพยาบาลในประเทศไม่เพียงพอเสียเอง

นอกจากเรื่องจำนวนบุคลากรวิชาชีพแล้ววิจิตรกล่าวว่า เพื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียนพยาบาลไทยต้องเรียนรู้วัฒนธรรมของคนไข้แต่ละชาติด้วย เพราะพยาบาลต้องทำงานใกล้ชิดกับคนไข้มาก จึงต้องเอาใจใส่รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เพื่อไม่ทำสิ่งที่คนไข้ไม่ชอบ นอกจากนี้ทักษะเฉพาะทางก็จะกลายเป็นสิ่งสำคัญสำหรับพยาบาลในอนาคต

สภาการพยาบาลจึงทยอยดำเนินการสร้างความพร้อมของวิชาชีพมุ่งสู่ประชาคมอาเซียนทั้งขอความสนับสนุนจากภาครัฐและดำเนินการเองรวม 9 เรื่องได้แก่

1.เร่งผลิตบุคลากร โดยให้สถาบันการศึกษาพยาบาลของรัฐ 53 แห่ง ผลิตพยาบาลเพิ่มอีก2,500 คนต่อปี แต่ละปีจึงผลิตได้ 1.05 หมื่นคน รวมระยะเวลา 4-5 ปี โดยรองบประมาณสนับสนุนจากภาครัฐ 5,000 ล้านบาทปัจจุบันมีผู้มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพพยาบาลและการผดุงครรภ์ทั้งสิ้น1.67 แสนคน มีผู้ยังคงทำงานในวิชาชีพราว1.3 แสนคน ส่งผลให้สัดส่วนพยาบาลต่อคนไข้ขณะนี้อยู่ที่ประมาณ15 : 10,000 แต่ในอนาคตต้องการให้สัดส่วนอยู่ที่ 1 : 400

2.เรียกร้องให้ภาครัฐปรับปรุงโครงสร้างค่าตอบแทนของพยาบาลให้เหมาะสมกับภาระงาน เพื่อดึงดูดให้พยาบาลอยู่ในประเทศและไม่เปลี่ยนไปทำอาชีพอื่น

3.ดึงดูดพยาบาลที่สำเร็จปริญญาโทเข้ามาเป็นอาจารย์ โดยกำหนดค่าตอบแทนที่เหมาะสม และจัดสรรทุนพัฒนาอาจารย์ใหม่ในระดับปริญญาโทและปริญญาเอกระดับละ 250 ทุนต่อปี เป็นเวลา 3 ปีต่อเนื่องเพื่อทดแทนอาจารย์ที่กำลังจะเกษียณในช่วง10 ปีนี้จำนวน 30% โดยจะของบสนับสนุน 4,186 ล้านบาท

4.ให้ความรู้และเสริมสร้างทัศนคติที่ดีเกี่ยวกับคนต่างชนชาติ ศาสนา และวัฒนธรรม โดยอนาคตอาจบรรจุความรู้เหล่านี้ในการสอบวิชาชีพพยาบาลด้วย

5.จัดฝึกอบรมเฉพาะทางให้แก่พยาบาลไทยและพยาบาลต่างชาติ

6.เสริมสร้างจิตใจรักบริการให้แก่บุคลากรทุกระดับ

7.ปรับปรุงโครงสร้างโรงพยาบาลให้น่าอยู่ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตบุคลากร

8.ให้ความช่วยเหลือด้านการศึกษาแก่นักศึกษาและอาจารย์พร้อมพัฒนาหลักสูตรพยาบาลเพื่อเพิ่มความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอาเซียน และเพิ่มทักษะภาษาให้แก่พยาบาลด้วย

หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2556

6837
ผลวิจัยชี้ บริษัทยาข้ามชาติแห่ขอสิทธิบัตรแบบไม่มีวันตายเพียบ สหรัฐฯขอมากสุดถึง 736 ราย อึ้ง! ยา 59 รายการที่มียอดการใช้สูงในไทยมีการผูกขาดยาวนาน ผลาญงบกว่า 8,400 ล้านบาท ย้ำใช้ยาชื่อสามัญช่วยเพิ่มการเข้าถึงยาของประชาชนได้ เสนอรัฐบาลแก้ พ.ร.บ.สิทธิบัตรสกัด
       
       วันนี้ (21 ก.พ.) ที่อาคารสุขภาพแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ภญ.อุษาวดี มาลีวงศ์ นักวิจัยของเครือข่ายวิจัยระบบยา สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวระหว่างการนำเสนอผลวิจัย “สิทธิบัตรยาที่มีลักษณะไม่มีวันสิ้นสุดในประเทศไทยและการคาดประมาณผลกระทบที่เกิดขึ้น” ว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้จำกัดความของการขอรับสิทธิบัตรยาแบบ Evergreening Patent หรือการขอรับสิทธิบัตรที่มีลักษณะแบบไม่มีที่สิ้นสุดว่า เป็นกลยุทธ์ขยายเวลาสิทธิบัตรให้ผู้ผลิตผูกขาดยาได้นานขึ้น ที่สำคัญมักพบพฤติกรรมการขอสิทธิบัตรแบบ Evergreening หลังจากยาต้นแบบออกสู่ตลาด โดยเฉพาะยาที่มียอดขายสูง ส่วนในประเทศไทยจากการวิจัยพบว่า ตั้งแต่ปี พ.ศ.2543-2553 มีคำขอรับสิทธิบัตรแบบ Evergreening มากถึงร้อยละ 84 จากจำนวน 2,188 คำขอ เป็นคำขอของบริษัทยาไทยเพียง 12 ราย ที่เหลือเป็นของบริษัทยาต่างชาติทั้งหมด โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาที่ขอมากถึง 736 ราย ซึ่งขณะนี้ได้รับการอนุมัติไปแล้ว 31 ฉบับ ทำให้ผู้ได้รับสิทธิบัตรได้รับความคุ้มครองอย่างต่อเนื่องเกินกว่า 20 ปี หรืออาจชั่วชีวิตของยานั้น
   
       ภญ.อุษาวดี กล่าวอีกว่า การขอสิทธิบัตรยาแบบ Evergreening พบว่าส่วนใหญ่เป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงตำรับยาสูตรผสม ขนาดการใช้ยา การเปลี่ยนแปลงสารเคมี วิธีการรักษา หรือวิธีการใช้ใหม่ แต่ไม่มีขั้นตอนการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น ทำให้ส่งผลกระทบต่อภาพรวมการบริโภคยาและตลาดยาของประเทศ สอดคล้องกับการวิจัยในขั้นตอนสุดท้ายเรื่องผลกระทบค่าใช้จ่ายด้านยาและการเข้าถึงยา ซึ่งได้เลือกรายการยาที่มียอดการใช้สูงสุด 59 รายการมาวิเคราะห์พบว่า เป็นคำขอรับสิทธิบัตรแบบ Evergreening ที่ส่งผลให้มีการผูกขาดตลาดตั้งแต่ปี พ.ศ.2539-2571 คิดเป็นมูลค่าสะสมประมาณ 8,477.7 ล้านบาท และหากพิจารณาเฉพาะผลกระทบที่เกิดขึ้นแล้ว คือตั้งแต่ปี พ.ศ.2539-2553 พบว่า ประเทศไทยเสียโอกาสในการประหยัดงบประมาณไปแล้วถึง 1,177.6 ล้านบาท
       
       “ถ้าหากกรมทรัพย์สินทางปัญญานำแนวทางการพิจารณาคำขอรับสิทธิบัตรฉบับใหม่มาใช้ เพื่อป้องกันการเกิดสิทธิบัตรที่ไม่มีวันสิ้นสุด จะสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายด้านยาได้ถึง 8,500 ล้านบาทโดยประมาณ ภญ.อุษาวดี กล่าวและว่า นอกจากนี้ ในการประเมินความคุ้มค่าการใช้ยาของยาต้านไวรัสเอดส์ โรคมะเร็ง และโรคกระดูกพรุน ระหว่างยาต้นแบบและยาชื่อสามัญ พบว่ายารักษามะเร็งไม่มีความคุ้มค่าในด้านต้นทุน อรรถประโยชน์ เมื่อเปรียบเทียบเกณฑ์ความคุ้มค่าที่แนะนำโดย WHO เนื่องจากยาต้นแบบมีราคาแพง แต่หากมีการทดแทนด้วยยาชื่อสามัญในผู้ป่วยทุกรายพบความคุ้มค่าในการใช้ยามากขึ้น เนื่องจากค่าใช้จ่ายด้านยาลดลง และในเวลา 10 ปีของการรักษาทั้ง 3 โรค พบว่าการทดแทนยาต้นแบบด้วยยาชื่อสามัญทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาเพิ่มขึ้นร้อยละ 66.9 ในผู้ป่วยโรคกระดูกพรุน ร้อยละ 21.7 ในผู้ป่วยโรคเอดส์ และร้อยละ 9.3 ในผู้ป่วยมะเร็งเต้านม
       
       รศ.ภญ.นุศราพร เกษสมบูรณ์ อาจารย์ประจำคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในฐานะคณะวิจัย กล่าวว่า งานศึกษานี้มีข้อเสนอ 4 ประเด็น ดังนี้ 1.ให้มีการออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อตั้งสำนักงานคณะกรรมการควบคุมยาแห่งชาติ และแก้ไข พ.ร.บ.สิทธิบัตรให้กำหนดรายละเอียดขั้นตอนการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น 2.แก้ไข พ.ร.บ.สิทธิบัตร เพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการสิทธิบัตรเภสัชภัณฑ์ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญเฉพาะและไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน ทำหน้าที่พิจารณา วินิจฉัย และดำเนินการเกี่ยวกับสิทธิบัตรเภสัชภัณฑ์ 3.แก้ไข พ.ร.บ.สิทธิบัตรให้กำหนดขั้นตอนรายละเอียดการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น และ 4.มาตรการเร่งด่วน โดยการออกประกาศกรมทรัพย์สินทางปัญญาใช้คู่มือการตรวจสอบสิทธิบัตรที่เกี่ยวข้องกับการประดิษฐ์ทางยา นอกจากนี้ ควรประกาศให้สาธารณชนรับทราบข้อมูลบรรณานุกรมของแต่ละคำขอสิทธิบัตร ปรับปรุงระบบฐานข้อมูลให้เป็นมิตรต่อผู้ใช้ พัฒนาระบบการรายงานสถานะการดำเนินงานของแต่ละคำขอรับสิทธิบัตรให้ถูกต้องทันสมัย และพัฒนาระระบบการประกาศโฆษณาคำขอรับสิทธิบัตรที่ชัดเจนถูกต้องตรวจสอบได้

 ASTVผู้จัดการออนไลน์    21 กุมภาพันธ์ 2556

6838
ต่างชาติฮิตแห่ทำศัลยกรรมในไทย แม้การประชาสัมพันธ์น้อย แพทยสภาวอนรัฐบาลดันไทยเป็นเมืองหลวงศัลยกรรมเอเชีย แนะทำทัวร์ศัลยกรรม เตือนทำศัลยกรรมเกาหลีแก้ไขยาก เตรียมจัดประชุมวิชาการเสริมจมูก 2-3 มี.ค.นี้ เพิ่มความชำนาญแพทย์ไทย
       
       วันนี้ (21 ก.พ.) ที่แพทยสภา นพ.สัมพันธ์ คมฤทธิ์ เลขาธิการแพทยสภา กล่าวระหว่างการแถลงข่าว “ชูไทยเมืองหลวงศัลยกรรมความงาม” รวมกับ นพ.ชลธิศ สินรัชตานันท์ นายกสมาคมศัลยกรรมตกแต่งใบหน้าแห่งประเทศไทย และ นพ.อรรถพันธ์ พรมณฑารัตน์ นายกสมาคมศัลยกรรมและเวชศาสตร์เพื่อการเสริมสวยประเทศไทย ว่า แพทยสภาสนับสนุนนโยบายเมดิคัล ฮับ (Medical Hub) ของรัฐบาล แม้ 10 ปีที่ผ่านมาจะยังไม่เห็นผลรูปธรรมมากนัก จึงอยากวอนให้รัฐบาล โดยกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นำจุดแข็งทางการแพทย์โดยเฉพาะด้านศัลยกรรมตกแต่งความงามมาเผยแพร่ให้ทั่วโลกรับรู้ เนื่องจากปัจจุบันได้รับความนิยมสูง ซึ่งจากข้อมูลของสมาคมเสริมความงามนานาชาติ ระบุว่าปริมาณการทำศัลยกรรมทั้งประเภทผ่าตัด และไม่ผ่าตัดในกลุ่มภูมิภาคเอเชียนั้น จีนมีสัดส่วนการทำศัลยกรรมสูงสุด ตามด้วยญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน โดยล้วนเดินทางมาทำที่ประเทศไทย ขณะที่สหรัฐอเมริกา และฝั่งยุโรปก็มีความสนใจเช่นกัน ตกปีละประมาณร้อยละ 10 โดยส่วนใหญ่จะนิยมศัลยกรรมจมูกและกรีดตา ส่วนการผ่าตัดแปลงเพศเป็นที่นิยมขนาดสภาผู้แทนราษฎรของประเทศโปแลนด์ยังสนใจ
       
       นพ.สัมพันธ์ กล่าวอีกว่า เห็นได้ว่าไทยมีจุดแข็งและศักยภาพในการศัลยกรรมตกแต่งมาก ทั้งต่างชาติยังให้การยอมรับ แต่ที่ผ่านมาไม่มีการประชาสัมพันธ์เหมือนประเทศเกาหลี ทั้งที่คนเกาหลียังมาทำศัลยกรรมในไทย ทำให้ที่ผ่านมาเมื่อพูดถึงการทำศัลยกรรมจะนึกถึงเกาหลีก่อน ซึ่งหากคนไทยไปทำจะเสี่ยงมาก เพราะเมื่อทำมาแล้วไม่ดีหรือเกิดผลแทรกซ้อนต้องบินกลับไปแก้ไขที่เกาหลี เนื่องจากการแก้ไขในไทยจะทำได้ยาก จึงอยากให้ภาครัฐตระหนักถึงความสำคัญและออกนโยบายเร่งด่วนเพื่อรองรับการขยายตัวของธุรกิจศัลยกรรมความงามที่มีช่องทางเติบโตสูงด้วยการสนับสนุนธุรกิจสุขภาพและความงามในรูปแบบของทัวร์ศัลยกรรมทั้งระบบ และร่วมผลักดันให้ไทยก้าวสู่ศูนย์กลางด้านศัลยกรรมตกแต่งของเอเชีย
       
       “ปัจจุบันธุรกิจด้านการรักษาทางการแพทย์ในภาพรวมมีมูลค่าเพียง 30,000 ล้านบาท จำเป็นต้องสนับสนุนให้สูงขึ้นถึง 60,000 ล้านบาท ภายใน 4-5 ปี ซึ่งไทยมีศักยภาพทำได้ ยิ่งจะใกล้เปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558 ธุรกิจนี้จะยิ่งเติบโต ถึงเวลาที่รัฐบาลไทยต้องนำจุดแข็งทางการแพทย์มาเป็นจุดขายเพื่อประโยชน์ของคนไทยเอง” เลขาธิการแพทยสภา กล่าวและว่า ขอเตือนคนไทยที่จะไปทำศัลยกรรมที่เกาหลีให้ระวังตัว เพราะปัจจุบันมีธุรกิจนำทัวร์ศัลยกรรมเกาหลี ซึ่งหากผลลัพธ์ไม่ดีธุรกิจนั้นอาจไม่รับผิดชอบ ซึ่งทางแพทยสภาไม่สามารถเอาผิดได้ เพราะเป็นความสมัครใจของผู้ไปทำเอง แต่หากเป็นคลินิกไทยรับแพทย์ต่างชาติมาทำให้ หากมีข้อผิดพลาดและแพทย์คนทำกลับประเทศไป คลินิกไทยต้องรับผิดทั้งทางแพ่งและอาญา ขณะที่แพทย์ต่างชาติที่เข้ามาหากไม่ได้รับอนุญาตจากแพทยสภาก็ถือว่าผิดเช่นกัน
       
       นพ.อรรถพันธ์ กล่าวว่า กรณีไปทำศัลยกรรมกับทัวร์ไทยต้องมีการสอบถามให้ถี่ถ้วนว่า หากไปทำจะมีโอกาสผิดพลาดมากน้อยแค่ไหน หากมีรับผิดชอบในการบินกลับไปแก้ไขด้วยหรือไม่ และการแก้ไขไม่ว่าจะเป็นจมูกเบี้ยว หรืออะไรก็ตาม จะต้องแก้ไขกี่ครั้งจึงจะแล้วเสร็จ ตรงนี้ต้องสอบถามและสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษร เป็นการปกป้องสิทธิของตัวเอง
       
       นพ.ชลธิศ กล่าวว่า ปัจจุบันมีคลินิกความงามหลายแห่งผันตัวเองเป็นตัวแทนโรงพยาบาลเกาหลีเพื่อส่งลูกค้าไปทำศัลยกรรม ซึ่งเมื่อทำมาแล้วมีข้อผิดพลาด กลับหันมาหาแพทย์ไทยเพื่อขอแก้ไข ซึ่งยากมากในการแก้ไข เพราะกว่าจะทราบว่าแพทย์เกาหลีทำอะไรบ้างต้องใช้เวลาและอาจแก้ไขได้ไม่เหมือนเดิม ไม่เหมือนแพทย์ไทยหากทำศัลยกรรมแล้วไม่พอใจการปรับเปลี่ยนยังทำได้ง่าย ทั้งนี้ การไปทำศัลยกรรมถึงเกาหลีเป็นความนิยมส่วนบุคคล หากจะทำต้องศึกษาข้อมูลให้ดี เพราะที่เกาหลีจะมีเขตพิเศษเฉพาะ ไม่มีการตรวจสอบพิเศษใดๆ หากมีการทำศัลยกรรมที่นั่นแล้วผิดพลาด แพทยสภาเกาหลีอาจไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมามีคนไทยที่ไปทำศัลยกรรมที่เกาหลี โดยการร้อยไหมปรากฏว่ากลับมาไทยหน้าบวมช้ำ ต้องให้แพทย์ไทยแก้ไข ขณะที่การไปเสริมจมูกก็มีปัญหาเบี้ยว ทะลุบ้างเช่นกัน จะเห็นว่าผลข้างเคียงที่เกิดขึ้น เกิดขึ้นได้หมดทั่วโลกไม่ว่าจะไปทำศัลยกรรมที่ประเทศไหน แม้แต่ประเทศไทยก็มีโอกาส เพราะการทำศัลยกรรมหรือการรักษาใดๆ ย่อมมีผลข้างเคียงไม่มากก็น้อยแล้วแต่ร่างกายคน แต่หากรักษาที่ประเทศไทยเองย่อมมีโอกาสช่วยเหลือแก้ไขได้ทัน
       
       นพ.ชลธิศ กล่าวอีกว่า เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นการทำศัลยกรรมของไทย ในวันที่ 2-3 มีนาคมนี้ ที่โรงแรมอีสติน แกรนด์ สาทร แพทยสภา ร่วมกับสมาคมศัลยกรรมตกแต่งฯ และราชวิทยาลัย โสต ศอ นาสิกแพทย์ประเทศไทย ร่วมจัดงานประชุมวิชาการเชิงปฏิบัติการแพทย์ด้านศัลยกรรม และเวิร์กชอปครั้งแรกในภูมิภาคเอเชีย (Masterclass Project : Rhinoplasty) ซึ่งจะอบรมแพทย์ศัลยกรรมตกแต่ง จากเดิมมีความชำนาญอยู่แล้ว ให้ยิ่งชำนาญเฉพาะทางมากขึ้น โดยปีนี้จะเน้นการเสริมจมูก ฉีดจมูก รวมไปถึงการแก้ไขปัญหาจากการศัลยกรรมจมูกด้วย โดยในการประชุมจะเปิดเผยวัสดุที่ผลิตขึ้นใหม่ของ นพ.สัมพันธ์ เพื่อให้เป็นเครื่องมือแพทย์ในการทำจมูกแบบใหม่ ที่ปลอดภัยและมีรูปทรงเหมาะกับคนไทย ขณะนี้อยู่ระหว่างจดสิทธิบัตร และกำลังยื่นขอขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้เป็นเครื่องมือแพทย์ต่อไป ที่สำคัญในวันที่ 3 มี.ค.นี้ จะมีการสอนการผ่าตัดเสริมจมูกจริงอีกด้วย

ASTVผู้จัดการออนไลน์    21 กุมภาพันธ์ 2556

6839
การคิดค่าคะแนนปฏิบัติงาน (Work Point System)

ค่าคะแนนประกันงานขั้นต่ำ ในเวลาราชการ กำหนดโดย OT base ดังนี้

แพทย์              ๒,๒๐๐   คะแนน
ทันตแพทย์         ๒,๒๐๐   คะแนน
เภสัชกร             ๑,๔๔๐   คะแนน
พยาบาลวิชาชีพ    ๑,๒๐๐   คะแนน
จพ.เทคนิค            ๙๖๐   คะแนน
...

วงเงินที่เบิกจ่าย

๑.คำนวนวงเงินที่เบิกจ่าย (ข้อมูลการเงินปีที่ผ่านมา)

-ค่าแรงต่อรายรับทั้งหมด
รพช.ไม่เกิน ๗๒%
รพท. ไม่เกิน ๖๕%
รพศ. ไม่เกิน ๕๓%
-ไม่เกินสัดส่วนค่าใช้จ่ายแต่ละประเภท ตามกลุ่ม รพ.ที่กำหนด

๒.วงเงินในข้อใดน้อยกว่าให้ใช้วงเงินตามข้อนั้น
...

สัดส่วนการเบิกจ่ายระหว่างวิชาชีพ

-รพศ/รพท กำหนดให้มีการแบ่งสัดส่วนวงเงินค่าตอบแทน P4P ตามกลุ่มลักษณะการปฏิบัติงาน

-รพช. อาจคิดรวมบุคลากรทั้งหมด หรือแบ่งสัดส่วนวงเงินค่าตอบแทน P4P ตามกลุ่มลักษณะการปฏิบัติงาน

-ตัวเลขสัดส่วนระหว่างวิชาชีพ กำหนดดังนี้

๑. แพทย์ มีสัดส่วน ๑
๒. ทันตแพทย์ มีสัดส่วน ๐.๗๕
๓. เภสัชกร มีสัดส่วน ๐.๓
๔. พยาบาลวิชาชีพ มีสัดส่วน ๐.๒๕
๕. นักเทคนิคการแพทย์/สหสาขา มีสัดส่วน ๐.๒
๖. ตำแหน่งเจ้าพนักงาน มีสัดส่วน ๐.๑
๗. งาน back office และอื่นๆ มีสัดส่วน ๐.๐๕
...

ตัวอย่าง การคำนวนวงเงินระหว่างวิชาชีพ รพท.แห่งหนึ่ง
วงเงิน P4P ๒๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท/ปี(๑,๗๕๐,๐๐๐ บาท/เดือน)

ประเภทบุคลากร         สัดส่วน         จำนวนคน(คนxเดือน)         ยอดเงินต่อวิชาชีพ(บาท/คน)

แพทย์                        ๑               ๔๘๕                             ๑๕,๒๐๘.๕๗
ทันตแพทย์                ๐.๗๕             ๑๓๑                              ๑๑,๔๐๖.๔๓
เภสัชกร                    ๐.๓               ๑๙๖                               ๔,๕๖๒.๕๗
พยาบาลวิชาชีพ           ๐.๒๕           ๒,๙๕๕                             ๓,๘๐๒.๑๔
...

6840


ยังไม่นิ่ง...สำหรับรายละเอียดของการจ่ายค่าตอบแทน ฉบับปรับปรุงใหม่ มีการเปลี่ยนแปลงล่าสุด

การบริหารงบประมาณค่าตอบแทน
-ปี ๒๕๕๕ ให้เบิกจ่ายจากเงินบำรุง กระทรวง สธ.จะมีหนังสือสั่งการไป
-ปี ๒๕๕๖ งบประมาณ ๓,๐๐๐ ล้านบาท ให้ แบ่ง ๑ ใน ๓ เป็น P4P และ ๒ ใน ๓ เป็นเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย
-ปี ๒๕๕๗ เสนอตั้งงบประมาณ คาดว่า ๖,๐๐๐-๘,๐๐๐ บาท

หลักการ
-ปรับ ฉ.๔ และ ๖ ปรับพื้นที่ ปรับอัตรา
-ตัด ฉ.๗ คงเหลือ รพศ/รพท. ๙ แห่ง
-เติม P4P ตั้งแต่ ๑ มีค.๕๖ ทุกแห่ง

นโยบาย งบปี ๕๗
-เงินเดือนทั้งหมด+ค่าจ้าง ตั้งที่เงินรายหัวประชากร UC
-ค่าตอบแทน ตั้งที่เงินรายหัวประชากร UC
-เติมเงินแก้ปัญหาเฉพาะหน้า รพ.ขาดสภาพคล่อง ๓ ปี
...

ข้อเสนอค่าตอบแทนพื้นที่พิเศษ(เบี้ยเลี้ยงเหมาจ่าย)
กลุ่ม รพศ/รพท.แบ่งเป็น ๓ ระดับ

๑.รพศ./รพท.พื้นที่ปกติ

๒.รพศ/รพท ยากลำบากในการบริหารบุคลากร
รพ.เกาะสมุย
รพ.ตะกั่วป่า
รพ.นราธิวาส
รพ.ปัตตานี
รพ.ยะลา
รพ.บึงกาฬ
รพ.สุไหงโก-ลก

๓.รพศ/รพท ยากลำบากในการบริหารบุคลากร มาก
รพ.เบตง
รพ.ศรีสังวาลย์
......................................................................

กลุ่ม รพช.แบ่งเป็น ๔ ระดับ
๑.รพช.พื้นที่ชุมชนเมือง (เขตเมือง ๑๓ แห่ง และรพช.ที่จะยกระดับเป็น รพท. ๒๐ แห่ง)
เขตเมือง ๑๓ แห่ง
รพ.บางกรวย
รพ.บางบัวทอง
รพ.บางใหญ่
รพ.ปากเกร็ด
รพ.พนัสนิคม
รพ.บ้านบึง
รพ.อ่าวอุดม
รพ.บางบ่อ
รพ.บางจาก
รพ.สามพราน
รพ.ป่าตอง
รพ.ถลาง
รพ.หางดง

รพช.ที่จะยกระดับเป็น รพท. ๒๐ แห่ง
รพ.บางละมุง
รพ.กบินทร์บุรี
รพ.บางพลี
รพ.แกลง
รพ.อรัญประเทศ
รพ.มาบตาพุด
รพ.ชุมแพ
รพ.กุมภวาปี
รพ.เดชอุดม
รพ.๕๐พรรษาฯ
รพ.วารินชำราบ
รพ.ปากช่องนานา
รพ.เทพรัตน์ นม.
รพ.สว่างแดนดิน
รพ.นางรอง
รพ.ปราสาท
รพ.ฝาง
รพ.จอมทอง
รพ.สิชล
รพ.ทุ่งสง

๒.รพช.พื้นที่ปกติ(๕๘๙ แห่ง)
๓.รพช.พื้นที่ทุรกันดาร และขาดแคลน ระดับ ๑(๖๕ แห่ง)
๔.รพช.พื้นที่ทุรกันดาร และขาดแคลน ระดับ ๒(๔๘ แห่ง)

ข้อมูลที่จัดเก็บจากพื้นที่ประกอบการพิจารณา
๑.ความยากลำบากในการเดินทาง : ระยะเวลาการเดินทางจากตัวจังหวัด
๒.City-Life effect : ระยะเวลาเดินทางจากอำเภอไปยังจังหวัด Reference City (กำหนด จังหวัดReference City จากจังหวัดที่มีรายได้จัดเก็บเองของ อปท.ในจังหวัดมากกว่า ๒๕๐ ล้านบาทต่อปี)
๓.ความเจริญ จำนวนร้าน เซเว่น อีเลพเว่น, จำนวนธนาคารพาณิชย์(ไม่นับธนาคารออมสิน,ธกส.), รายได้จัดเก็บเองของอปท.
......................................................................................

หน้า: 1 ... 454 455 [456] 457 458 ... 651