ผู้เขียน หัวข้อ: หนังสือแสดงเจตนาตาย ประเด็นสำคัญที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรพิจารณาให้ถ้วนถี่  (อ่าน 3859 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9760
    • ดูรายละเอียด

Living will
                                            หนังสือแสดงเจตนาตาย
                          ประเด็นสำคัญที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรพิจารณาให้ถ้วนถี่

                                   
นพ. วิสุทธิ์  ลัจฉเสวี
วท.บ. พบ. นบ.(เกียรตินิยมอันดับ2)
วุฒิบัตรผู้เชี่ยวชาญศัลยศาสตร์
ประกาศนียบัตรวิชาว่าความ สภาทนายความ
ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา


Living Will(ข้อกฏหมาย)

1)การออกกฏกระทรวงฉบับนี้เกินขอบเขตอำนาจที่พรบ.สุขภาพแห่งชาติมาตรา๑๒บัญญัติไว้หรือไม่(ดูประกอบข้อ 9   )

2)ขั้นตอนการออกกฏกระทรวงฉบับนี้ถูกต้องตามขั้นตอนที่เป็นสาระสำคัญหรือไม่ เช่นการทำประชาพิจารณ์หรือการรับฟังผู้มีส่วนได้เสียในหมู่ภาคีวิชาชีพสาธารณสุข

3)การกล่าวอ้างรัฐธรรมนูญปี๒๕๕๐ มาตรา ๔ ,๒๘,๓๒.มาเป็นฐานในการออกกม.โดยอ้างศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มีการบัญญัติไว้เช่นนั้นจริงหรือไม่ หรือเป็นการกล่าวอ้างที่เกินกว่าที่ รธน.บัญญัติไว้ นอกจากนี้ รธน.มาตรา ๒๘ยังกล่าวว่าการอ้างศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ทำได้เท่าที่ไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชนเท่านั้น

4)การทำหนังสือแสดงเจตนาฯเช่นนี้ถือเป็นการแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในสิ่งที่เป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมหรือไม่ ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฏหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๕๖ซึ่งถือว่าการแสดงเจตนาเช่นนั้นเป็นโมฆะ เพราะโดยหลักแล้วไม่มีใครสามารถรู้ล่วงหน้าว่าตัวเองจะเสียชีวิตในลักษณะใด จากสาเหตุใด ณ.สถานที่ใด และก่อนเสียชีวิตนั้นต้องได้รับการดูแลรักษาด้วยวิธีใด ต้องใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ทางการแพทย์ชนิดใดบ้าง จะได้รับความทุกข์ทรมาณเพียงใดหรือไม่และผลการรักษาสุดท้ายจะเป็นเช่นไร ดังนั้นการแสดงเจตนาล่วงหน้าที่จะปฏิเสธวิธีการรักษาแบบนั้นแบบนี้ การปฏิเสธที่จะไม่ใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์แบบนั้นแบบนี้จึงไม่ได้อยู่บนพื้นฐานข้อมูลที่ถูกต้องเป็นจริงหรือเป็นการสำคัญผิดในข้อเท็จจริงซึ่งอาจเกิดความเสียหายได้ จึงเกิดปัญหาความชอบด้วยกฏหมายของการแสดงเจตนาฯนี้

5)การทำหนังสือแสดงเจตนาฯตายตามกฏหมายและกฏกระทรวงข้อนี้ไม่ได้ต่างอะไรกับการกระทำที่เรียกว่าการุณยฆาตหรือที่รู้จักกันดีในชื่อMercy Killing แม้จะมีความพยายามออกตัวไว้ในคำแนะนำเบื้องต้นว่าไม่ใช่ เพราะคำว่า “การกระทำ”มีความหมายรวมถึง “การงดเว้นการกระทำ”ด้วยตามความในประมวลกฏหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา๕๙วรรค๕ที่กล่าวว่า “...................การกระทำ ให้หมายความรวมถึงการให้เกิดผลอันหนึ่งอันใดขึ้นโดยงดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลนั้นด้วย”ดังนั้นการที่ปล่อยให้ผู้ป่วยเสียชีวิตลงโดยงดเว้นไม่ให้การรักษาหรือการใช้เครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์บางอย่างเพื่อช่วยชีวิตตามมาตรฐานวิชาชีพก็มีค่าเท่ากับการกระทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตโดยผู้ที่งดเว้นนั่นเอง

6)พรบ.สุขภาพแห่งชาติ มาตรา๑๒และกฏกระทรวงฉบับนี้ถือว่าขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือไม่ ขัดต่อหลักกฏหมายจารีตประเพณี เจตนคติ ความรักความผูกพันความห่วงหาอาทรระหว่างกันในสถาบันครอบครัวของไทยหรือไม่

7)ความผิดตามประมวลกฏหมายอาญา มาตรา๒๘๘(ฆ่าผู้อื่น),๒๘๙(๔)(ฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน),๒๙๑(ประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นตาย),๓๐๗(ทอดทิ้งผู้ป่วยเจ็บเกิดอันตรายต่อชีวิต),๓๐๘(บทเพิ่มโทษ),๓๗๔(ช่วยได้แต่ไม่ช่วยผู้ตกในอันตรายต่อชีวิต).ประมวลกฏหมายแพ่งและพาณิชย์.มาตรา๔๒๐.(ละเมิดถึงแก่ชีวิต)ได้รับการยกเว้นโดยกม.ฉบับนี้ได้ทั้งหมดหรือไม่ กรณีแพทย์ปฏิบัติตามหนังสือแสดงเจตนาฯของผู้ป่วย และตามหลักศักดิ์ของกฏหมาย(Hierarchy) กม.ฉบับนี้สามารถยกเว้นความรับผิดตามประมวลกฏหมายอาญาและประมวลกฏหมายแพ่งฯดังที่กล่าวข้างต้นได้ทั้งหมดจริงหรือไม่?

8)ปัญหาเรื่องการประกันชีวิต การตายแบบนี้ถือเป็นการตายโดยผิดธรรมชาติหรือไม่ ต้องมีการชันสูตรพลิกศพตามประมวลกฏหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา๑๔๘หรือไม่ ปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายในการรักษา ปัญหามรดก ปัญหาการพิจารณาตามม.๔๑ พรบ.หลักประกันสุขภาพฯ ปัญหาการวินิจฉัยกรณีเป็นผู้บริจาคอวัยวะกับสภากาชาดไทยซึ่งอาจเป็นอุปสรรคได้  ปัญหานิติกรรมสัญญาต่างๆ   ฯลฯ 

9)ตามมาตรา๘ พรบ.สุขภาพแห่งชาติ พศ.๒๕๕๐ “............และในกรณีที่ผู้รับบริการปฏิเสธไม่รับบริการใด จะให้บริการนั้นมิได้.............”
                   ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับกับกรณีดังต่อไปนี้

(๑)   ผู้รับบริการอยู่ในภาวะที่เสี่ยงอันตรายถึงชีวิตและมีความจำเป็นต้องให้ความช่วยเหลือเป็นการรีบด่วน
(๒)   ..........................

ดังนั้นการที่จะปฏิเสธการรักษาใดๆจะต้องไม่ใช่กรณีที่อยู่ในภาวะที่เสี่ยงอันตรายถึงชีวิต
มาตรา๑๒ “บุคคลมีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุข..........
                    การดำเนินการตามหนังสือแสดงเจตนาตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฏกระทรวง
                    เมื่อผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุขได้ปฏิบัติตามเจตนาของบุคคลตามวรรคหนึ่งแล้วมิให้ถือว่าการกระทำนั้นเป็นความผิดและให้พ้นจากความรับผิดทั้งปวง
ตีความได้ว่ากฏหมายให้สิทธิบุคคลในการทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุข..........ซึ่งถือเป็นการแสดงเจตนาหรือคำเสนอในการจะขอทำนิติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่กฏหมายไม่ใด้กำหนดให้ผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุขต้องรับคำเสนอหรือให้คำสนองนั้นเพื่อก่อเกิดเป็นสัญญา และไม่สามารถบังคับให้ กระทำเช่นนั้นได้เพราะจะขัดกับหลัก “เสรีภาพในการทำสัญญา(Freedom of Contract)ดังนั้นการออกกฏกระทรวงตามกฎหมายแม่บทมาตรา๑๒นี้จึงต้องไม่มีเนื้อหาในการจำกัดสิทธิในรูปแบบหนึ่งแบบใดของผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุข

        แต่พบว่าในกฏกระทรวงฉบับนี้มีข้อความที่ไปจำกัดสิทธิของผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุขเป็นจำนวนมากเป็นการแทรกแซงขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ตามกฏหมายโดยที่กฏหมายไม่ได้ให้อำนาจไว้ จึงอาจถือได้ว่าเป็นการออกกฏโดยนอกเหนืออำนาจหน้าที่หรือไม่ถูกต้องตามกฏหมาย

10)สภาพบังคับของกฏหมาย กฏหมายนี้ไม่มีสภาพบังคับทั้งผู้ป่วยที่แสดงเจตนาและผู้ประกอบวิชาชีพสาธารณสุข สามารถใช้วิจารณญานตัดสินใจได้ว่าจะสนองตอบข้อเสนอของผู้ป่วยหรือไม่ก็ได้และอาจมีการชี้แจงแลกเปลี่ยนความเห็นกับฝ่ายญาติรวมทั้งอาจมีการพิจารณาเปลี่ยนตัวผู้ให้การดูแลรักษาด้วย

11)ประเด็นกฏกระทรวงข้อ๔ “หนังสือแสดงเจตนาจะทำ ณ สถานที่ใดก็ได้ “ ควรแก้เป็น “การจัดทำ การยกเลิก เปลี่ยนแปลง หรือแก้ไขหนังสือแสดงเจตนาฯต้องทำเป็นหนังสือ ลงวันที่ เดือน ปี และลายมือชื่อผู้จัดทำพร้อมพยานอย่างน้อยสองคนและจดทะเบียน ณ สำนักงานสุขภาพแห่งชาติ”

12)ถ้าการออกกฏกระทรวงฉบับนี้กระทำไม่ถูกต้องครบถ้วนตามรูปแบบขั้นตอนอันเป็นสาระสำคัญ หรือออกนอกเหนือจากที่กฏหมายแม่บทกำหนด หรือขัดต่อรัฐธรรมนูญพศ.๒๕๕๐มาตรา๕๑,๘๐(๒)เรื่องสิทธิการได้รับบริการสาธารณสุขอย่างเสมอภาค ได้มาตรฐานและมีประสิทธิภาพหรือขัดต่อประมวลกฏหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๕๖ เรื่องการแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในสิ่งที่เป็นสาระสำคัญของนิติกรรม หรือขัดต่อพรบ.วิชาชีพเวชกรรม พศ. ๒๕๒๕หรือขัดต่อมาตรฐานและจริยธรรมในการรักษาผู้ป่วยหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน      ผู้ได้รับความเดือดร้อนเสียหายหรือคาดว่าจะได้รับความเดือดร้อนเสียหายอย่างหลีกเลี่ยงมิได้สามารถฟ้องร้องต่อศาลปกครองสูงสุดเพื่อให้เพิกถอนกฏกระทรวงฉบับนี้ได้ตามพรบ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองพศ.๒๕๔๒ มาตรา๑๑(๒)
.................................

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9760
    • ดูรายละเอียด
Living Will (ข้อเท็จจริงทางการแพทย์และสาธารณสุข)

1)สำนักงานสุขภาพแห่งชาติ (สช)มีอำนาจหน้าที่ออกกฏกระทรวงมาบังคับให้ภาคีวิชาชีพสาธารณสุขทั่วประเทศปฏิบัติตามหรือไม่ เลขาธิการสช.เทียบเท่าตำแหน่งอะไรในกระทรวงสาธารณสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุขยังมีอยู่หรือไม่

2)การทำหนังสือแสดงเจตนาฯถือว่าขัดต่อพรบ.วิชาชีพเวชกรรมหรือจริยธรรมทางการแพทย์หรือไม่ที่มีหน้าที่ตามกฏหมายหรือมีจุดประสงค์เพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วยให้ดีที่สุดตามภาวะวิสัยและพฤติการณ์ในขณะนั้น แพทย์ไม่มีหน้าที่ทอดทิ้งให้ผู้ป่วยเสียชีวิตหรือแม้แต่จะกำหนดรูปแบบใดๆในการเสียชีวิตตามเจตนาของผู้ป่วยที่ขาดความรู้ความเข้าใจและสำคัญผิดในข้อเท็จจริงเป็นอย่างมาก

3)การทำหนังสือแสดงเจตนาฯถือเป็นการจำกัดสิทธิ แทรกแซง ขัดขวาง หรือก่อให้เกิดความสับสนต่อบุคคลากรในกระบวนการรักษาพยาบาลตามมาตรฐานวิชาชีพตามกฏหมายของแต่ละภาคีวิชาชีพสาธารณสุขหรือไม่ เฉพาะงานที่ดูแลผู้ป่วยธรรมดาก็ล้นมืออยู่แล้ว มีความขาดแคลนทั้งบุคคลากรและงบประมาณ ยังต้องมีภาระเพิ่มในการพิจารณาเรื่องหนังสือแสดงเจตนาฯของผู้ใกล้ตายอีกซึ่งไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์อันใด มิหนำซ้ำจะเป็นการทำให้ผู้ป่วยทั่วไปเสียโอกาสหรือถูกละเมิดสิทธิหรือไม่

4)สำนักงานสุขภาพแห่งชาติดูจะไม่มีบทบาทความรับผิดชอบใดๆเลยตามความในกฏกระทรวงฉบับนี้ ทั้งๆที่เป็นผู้เสนอกฏหมายฉบับนี้แต่เพียงผู้เดียว แต่กลับมอบความรับผิดชอบทั้งหมดให้กับผู้ปฏิบัติงานทางสาธารณสุขรับไป เป็นการเพิ่มปัญหาความขัดแย้งและความไม่เข้าใจกันระหว่างผู้ปฏิบัติหน้าที่ทางสาธารณสุขและญาติผู้ป่วยหรือระหว่างญาติผู้ป่วยด้วยกันเองและสุ่มเสี่ยงต่อการมีคดีฟ้องร้องกันในศาลมากยิ่งขึ้น  แตกต่างอย่างมากกับการเกาะติดกรณีการเสนอพรบ.สุขภาพแห่งชาติปี๒๕๕๐ที่เขียนล็อกสะเป๊กตำแหน่งประธานกรรมการสรรหาและตำแหน่งเลขาธิการเอาไว้ในมาตรา๕๔และ๕๕ และผู้เสนอพรบ.นี้ก็กลายมาเป็นเลขาธิการสช.ตัวจริง

5)ตายอย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์คืออะไรและที่ตายกันอยู่ในปัจจุบันนี้รวมทั้งอดีตกาลไม่มีศักดิ์ศรีหรืออย่างไร หรือเป็นแค่วาทะกรรมให้ดูเท่ห์ๆแล้วไปลอกเลียนแบบต่างชาติบางกลุ่มบางลัทธิมาที่ไม่มีรากเหง้าทางวัฒนธรรมที่เหมือนกับวัฒนธรรมไทยของเราเลย

6)ข้อความในหนังสือแสดงเจตนาที่กล่าวว่า   .................ในกรณีที่ผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุขได้ให้บริการดังกล่าว(เช่นให้การรักษาไปแล้วเช่นใช้เครื่องช่วยหายใจ)โดยมิได้ทราบถึงเนื้อความในหนังสือแสดงเจตนาฉบับนี้หรือไม่ทราบความประสงค์ที่แท้จริงของข้าพเจ้า(มาทราบภายหลัง)ข้าพเจ้าขอร้องให้ผู้นั้นกรุณา หยุดการบริการ (Withdraw)ต่อไปนี้ด้วย ได้แก่
                                -การใช้เครื่องช่วยหายใจ
                                 -การให้สารอาหาร............
                                 - ...........................

โดยสัญชาติญาณของมนุษย์  จริยธรรมและมโนธรรมแห่งวิชาชีพ หลักศาสนาและศีลธรรมอันดี วัฒนธรรมประเพณี รวมถึงหลักกฏหมาย    ไม่มีใครทำได้ลงคอหรอกครับ !!!!   
................................................................................

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9760
    • ดูรายละเอียด
Living Will(ข้อเสนอแนะ)

1)ควรกำหนดให้สำนักงานสุขภาพแห่งชาติเป็นผู้รับผิดชอบในการพิสูจน์ ปัญหาความจริงแท้ของหนังสือแสดงเจตนาฯ(Authenticity) และมีหน้าที่ในการรับจดทะเบียนและให้การรับรองหนังสือแสดงเจตนาฯด้วยโดยเป็นหน่วยงานกลางในการประสานงานทางด้านทะเบียน การเก็บรักษาหนังสือแสดงเจตนาฯ ปัญหาทางด้านข้อกฏหมายและปัญหาทางด้านการปฏิบัติเพื่อให้เป็นไปตามกฏกระทรวงนี้

2)กรณีมีปัญหาการตีความ วาระสุดท้ายของชีวิตจะเริ่มนับเมื่อไร การทรมานจากการเจ็บป่วยมากน้อยขนาดไหนจึงจะเข้าเกณฑ์ การรักษาที่เกินจำเป็น (Futile Treatment)คือการรักษาประเภทใดบ้าง การรักษาแบบประคับประคอง(Palliative Treatment)คืออะไรบ้าง สภาพผักถาวร(Permanent Vegetative State)แค่ไหนอย่างไรรวมถึงการระบุประเภทของบริการสาธารณสุขที่ไม่ต้องการจะได้รับตามหนังสือแสดงเจตนาฯหรือกรณีมีความเห็นไม่ตรงกันระหว่างญาติกับผู้ประกอบวิชาชีพหรือระหว่างญาติด้วยกันเองให้ผู้ประกอบวิชาชีพปรึกษาไปยังสำนักงานสุขภาพแห่งชาติให้เลขาธิการสช.เป็นผู้ตัดสินใจชี้ขาดโดยทำเป็นหนังสือรับรองถึงผู้ประกอบวิชาชีพโดยตรงและให้กำหนดเพิ่มเติมไว้ในกฏกระทรวงว่าผู้ประกอบวิชาชีพไม่ต้องรับผิดใดๆในกรณีปฏิบัติตามหนังสือรับรองของเลขาธิการสช.แล้ว

3)ถ้าผู้ใดต้องการตายแบบมีศักดิ์ศรีหรือตายอย่างสงบธรรมชาติจริงๆก็ควรอยู่ที่บ้านไม่ควรดิ้นรนมารับการรักษาจากบุคคลากรสาธารณสุข เพราะการมารับการรักษาในสถานพยาบาลใดๆก็ตามจะก่อให้เกิดสิทธิและหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติตามกฏหมายมากมาย  การมาแล้วมีเงื่อนไขไม่รับบริการอย่างโน้นไม่ต้องการอุปกรณ์ทางการแพทย์อย่างนี้ทั้งๆที่ตัวเองก็ไม่มีความรู้ความเข้าใจในกระบวนการรักษาพยาบาลเลย มีแต่จะก่อภาระให้แก่ระบบบริการสาธารณสุขในหลายๆด้าน ระบบสาธารณสุขไทยได้ดูแลผู้ป่วยทุกระดับชั้นและมีแนวทางการปฏิบัติต่อผู้อยู่ในวาระสุดท้ายอย่างมีเกียรติและเหมาะสมร่วมกับญาติพี่น้องมาอย่างยาวนานเป็นร้อยปีแล้วโดยไม่มีปัญหาอะไร

นพ. วิสุทธิ์  ลัจฉเสวี
...

หมอธรรมดาๆ

  • Verified User
  • Newbie
  • *
  • กระทู้: 36
    • ดูรายละเอียด
อืม  มุมมองเฉียบคม  น่าคิด