ผู้เขียน หัวข้อ: สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 31 มี.ค.- 6 เม.ย.2556  (อ่าน 1142 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9787
    • ดูรายละเอียด
1. รัฐสภาเสียงข้างมาก ผ่านวาระแรก ร่างแก้ รธน.ทั้ง 3 ฉบับ ด้าน ปชป.ชี้ ส่อโมฆะ เหตุรวบรัดวันแปรญัตติ ขณะที่ ส.ว.พึ่งศาล รธน.วินิจฉัยขัด ม.68 หรือไม่!

       เมื่อวันที่ 1-3 เม.ย. ได้มีการประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับ ที่เสนอโดย ส.ว.เลือกตั้งกลุ่มนายดิเรก ถึงฝั่ง ส.ว.นนทบุรี ร่วมกับ ส.ส.พรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาล ประกอบด้วย 1.ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 111 เกี่ยวกับที่มาของ ส.ว. ซึ่งแก้ไขให้เพิ่มจำนวน ส.ว.เป็น 200 คน และมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ยกเลิก ส.ว.สรรหา 2.ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 190 ซึ่งแก้ไขให้การทำหนังสือสัญญากับต่างประเทศที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ-สังคม-การค้าการลงทุน หรืองบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ ไม่ต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อน 3.ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 68 และ 237 โดยมาตรา 68 แก้ไขให้ประชาชนที่พบเห็นการกระทำที่เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง สามารถยื่นเรื่องต่ออัยการสูงสุดได้เพียงช่องทางเดียว ไม่สามารถยื่นเรื่องตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ ส่วนมาตรา 237 แก้ไขให้ยกเลิกโทษยุบพรรค รวมทั้งห้ามตัดสิทธิหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรค
       
       ทั้งนี้ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) ได้ประท้วงการทำหน้าที่ประธานการประชุมของนายนิคม ไวยรัชภานิช ประธานวุฒิสภา โดยไม่ต้องการให้นายนิคมเป็นประธานการประชุม เพราะนายนิคมได้ร่วมลงชื่อเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 190 และ 237 ซึ่งอาจเข้าข่ายขัดต่อรัฐธรรมนูญ เนื่องจากคนเป็นประธานวุฒิสภาต้องวางตัวเป็นกลาง ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ จึงให้ทางเลือกนายนิคมว่า ถ้าต้องการทำหน้าที่ประธานที่ประชุม ต้องถอนชื่อจากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อน หากไม่ถอนชื่อ ก็ไม่ควรทำหน้าที่ประธานที่ประชุม ควรให้นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานเพียงคนเดียว แต่นายนิคมยืนยันไม่ถอนชื่อ โดยอ้างว่าเป็นสิทธิของตน เพราะตนสวมหมวก 2 ใบ และยังคงยืนยันจะทำหน้าที่ประธานที่ประชุมต่อไป หากใครเห็นว่าตนทำผิด ก็ให้ไปยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญได้เลย ส่งผลให้ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ไม่พอใจและประท้วงนายนิคมเป็นระยะๆ กระทั่งสุดท้าย พรรคประชาธิปัตย์ตัดสินใจใช้มาตรการไม่อภิปรายในช่วงที่นายนิคมเป็นประธานที่ประชุม
       
       ส่วนเนื้อหาการอภิปรายนั้น ส.ส.พรรคเพื่อไทยและ ส.ว.เลือกตั้งบางกลุ่ม ได้อภิปรายหนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 4 มาตรา โดย พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อ้างว่า การแก้มาตรา 68 ช่วยลดงานของศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ต้องมาเสียเวลากลั่นกรองคดี การให้ประชาชนยื่นผ่านอัยการ อัยการจะช่วยทำหน้าที่กลั่นกรองคดีให้ ขณะที่นายนิติภูมิ นวรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย หนุนแก้ไขมาตรา 190 โดยอ้างว่า การที่ต้องนำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศเข้าที่ประชุมรัฐสภาเพื่อเห็นชอบก่อน ทำให้ความลับรั่วไหล และจะส่งผลให้ไทยเสียเปรียบคู่เจรจา
       
       ด้สย ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์-พรรคภูมิใจไทย และ ส.ว.สรรหาบางส่วนได้อภิปรายคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 4 มาตรา โดย นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ ส.ส.นครราชสีมา พรรคภูมิใจไทย ชี้ว่า การที่ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลและ ส.ว.เลือกตั้งจับมือกันเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ เป็นการเสนอแบบต่างตอบแทน โดย ส.ส.เสนอเรื่องที่มาวุฒิสภา ขณะที่ ส.ว.เสนอเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อ ส.ส. ซึ่งตนไม่เห็นด้วยกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 3 ฉบับ เพราะการแก้ไขให้มีแต่ ส.ว.เลือกตั้ง จะเหมือนกับที่ประเทศเคยใช้เมื่อปี 2548-2549 จนถูกกล่าวหาว่าขาดความเป็นกลาง และรับเงินเดือนจากพรรคการเมือง ขณะที่การแก้มาตรา 68 ก็เป็นการตัดสิทธิประชาชน ซึ่งน่าจะมาจากกรณีที่มีคนไปใช้สิทธิร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเมื่อครั้งมีการแก้ไขมาตรา 291 ส่วนการแก้มาตรา 190 ก็เป็นการปิดกั้นตัวแทนประชาชนในการตรวจสอบรัฐบาล
       
       เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังประชุมพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ 1 วัน วันต่อมา(2 เม.ย.) นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา 1 ในกลุ่ม 40 ส.ว. ได้ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่านายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภาและคณะรวม 312 คน กระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการและกระทำการขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ กรณีได้เข้าชื่อเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 เพื่อตัดสิทธิประชาชน และลิดรอนสิทธิการมีส่วนร่วมของประชาชน รวมทั้งขัดต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก่อนหน้านี้ จึงขอให้ศาลฯ สั่งให้นายสมศักดิ์และพวกที่รู้เห็นเป็นใจและร่วมกันเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยกเลิกการกระทำดังกล่าว พร้อมสั่งให้ยุบพรรคการเมืองที่สังกัดอยู่ ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย ,พรรคชาติไทยพัฒนา ,พรรคชาติพัฒนา ,พรรคพลังชล และพรรคประชาธิปไตยใหม่ ทั้งนี้ นายสมชาย ขอให้ศาลฯ สั่งคุ้มครองชั่วคราวเป็นกรณีฉุกเฉิน เพื่อให้รัฐสภาระงับการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ชั่วคราว จนกว่าศาลฯ จะพิจารณาคดีเสร็จ
       
       ด้านศาลรัฐธรรมนูญได้ประชุมกรณีดังกล่าวในวันต่อมา(3 เม.ย.) ก่อนมีมติเสียงข้างมาก 3 ต่อ 2 รับคำร้องของนายสมชาย แต่ไม่ได้สั่งคุ้มครองชั่วคราวเพื่อให้รัฐสภาระงับการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ชั่วคราวแต่อย่างใด เนื่องจากเห็นว่า ยังไม่มีเหตุฉุกเฉินเพียงพอ สำหรับตุลาการเสียงข้างมาก ประกอบด้วย นายจรัญ ภักดีธนากุล ,นายจรูญ อินทจาร และนายสุพจน์ ไข่มุกด์ ส่วนเสียงข้างน้อย คือ นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ และนายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี ขณะที่ตุลาการฯ อีก 4 คนไม่ได้ร่วมประชุม เพราะติดภารกิจในต่างประเทศ ทั้งนี้ หลังศาลมีมติรับคำร้องไว้วินิจฉัยแล้ว ได้สั่งให้นายสมชายทำสำเนาคำร้องส่งศาลรัฐธรรมนูญ 312 ชุด เพื่อส่งให้นายสมศักดิ์และพวก ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อศาลฯ ภายใน 15 วัน หากไม่ยื่นภายในกำหนดจะถือว่าไม่ติดใจ
       
       ด้าน ส.ส.พรรคเพื่อไทย ไม่พอใจที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องของนายสมชาย จึงได้ออกมาโวยวาย พร้อมขู่จะดำเนินคดีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนที่ประชุมร่วมรัฐสภา เมื่อเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้สั่งคุ้มครองชั่วคราวให้ระงับการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ก่อน จึงได้เดินหน้าอภิปรายต่อจนครบ 3 วัน กระทั่งลงมติเพื่อรับหลักการวาระ 1 โดยที่ประชุมเสียงข้างมากมีมติรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 3 ฉบับ โดยฉบับแรกเรื่องที่มา ส.ว. มีมติรับหลักการ 367 เสียง ไม่รับหลักการ 204 เสียง งดออกเสียง 34 เสียง ขณะที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 มาตรา 190 มีมติรับหลักการ 374 เสียง ไม่รับหลักการ 209 เสียง งดออกเสียง 22 เสียง ส่วนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ 3 มาตรา 68 และ 237 มีมติรับหลักการ 374 ไม่รับหลักการ 206 เสียง งดออกเสียง 25 เสียง จากนั้นได้มีการตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมา 3 คณะ คณะละ 45 คน เพื่อพิจารณาแปรญัตติใน 15 วัน
       
       อย่างไรก็ตาม ยังมีปัญหาในแง่เวลาที่แปรญัตติ เพราะพรรคประชาธิปัตย์ต้องการให้แปรญัตติ 60 วัน แต่ฝ่ายรัฐบาลต้องการ 15 วัน ซึ่งตามระเบียบข้อบังคับการประชุม หากมีข้อเสนอแปรญัตติ ต้องให้ที่ประชุมลงมติว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ แต่เมื่อตรวจสอบองค์ประชุมแล้ว พบว่าองค์ประชุมไม่ครบ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานที่ประชุม จึงวินิจฉัยว่าต้องแปรญัตติภายใน 15 วัน ส่งผลให้พรรคประชาธิปัตย์ไม่พอใจ และเรียกร้องให้นายสมศักดิ์เรียกประชุมรัฐสภาอีกครั้งเพื่อลงมติ แต่นายสมศักดิ์ยืนยันว่าไม่จำเป็น
       
       ทั้งนี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ตั้งข้อสังเกตว่า มีความพยายามรวบรัดไม่ทำตามกฎระเบียบข้อบังคับต่างๆ ด้วยการกำหนดวันแปรญัตติ 15 วัน ทั้งที่องค์ประชุมไม่ครบ ถือเป็นกระบวนการที่ไม่ชอบและขัดรัฐธรรมนูญ อาจจะต้องมีการยื่นตีความเรื่องนี้ ขณะที่แกนนำพรรคประชาธิปัตย์หลายคน เปิดแถลงชี้ว่า การกำหนดวันแปรญัตติทั้งที่องค์ประชุมไม่ครบ อาจทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ชอบด้วยกฎหมาย และทำให้กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นโมฆะได้
       
       2. พันธมิตรฯ ออกแถลงการณ์ค้านแก้ รธน. 4 มาตรา-พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้าน ชี้ ขัด รธน.-เอื้อประโยชน์รัฐบาล พร้อมให้ทนายพันธมิตรฯ หาช่องเอาผิด!

       เมื่อวันที่ 4 เม.ย. แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้ประชุม ก่อนออกแถลงการณ์เรื่อง “คัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ของนักการเมืองด้วยกันเอง และคัดค้านกฎหมายกู้เงินมหาศาลสร้างหนี้สินให้กับชาติ” สรุปความว่า พันธมิตรฯ มองว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 เป็นรายมาตรา ประกอบด้วย มาตรา 68 ,111 ,190 , 237 และการเสนอร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ วงเงิน 2 ล้านล้านบาทนั้น จะสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงให้ประเทศ โดยการแก้ไขมาตรา 68 สะท้อนเจตนารัฐบาลชัดเจนว่าจะลิดรอนสิทธิประชาชนในการยื่นคำร้องตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญ นั่นหมายความว่า หากรัฐบาลแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เพื่อนำไปสู่การล้มล้างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ประชาชนจะไม่สามารถยื่นคำร้องถึงศาลรัฐธรรมนูญได้ ส่วนการให้ยื่นผ่านอัยการสูงสุด อัยการสูงสุดก็ได้รับประโยชน์และตำแหน่งการเป็นคณะกรรมการในรัฐวิสาหกิจจากรัฐบาล จึงกลายเป็นผู้ขัดขวางไม่ให้ประชาชนใช้สิทธิยื่นคำร้องต่อตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ การแก้มาตรา 68 จึงเป็นการลดอำนาจและขัดขวางประชาชนในการตรวจสอบรัฐบาล
       
       ส่วนการแก้ไขมาตรา 190 ถือเป็นการล้มเลิกการตรวจสอบและการมีส่วนร่วมของประชาชนกรณีที่รัฐบาลทำสัญญากับต่างประเทศ เพราะหากแก้ไขมาตราดังกล่าว จะส่งผลให้การทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศที่มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตของประเทศ หรือมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ-สังคม-การค้าการลงทุน หรืองบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ จะไม่ต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อน ซึ่งเป็นการทำลายการถ่วงดุลตรวจสอบของฝ่ายนิติบัญญัติ
       
       ขณะที่การแก้ไขมาตรา 111 เพื่อเพิ่มจำนวน ส.ว.เป็น 200 คน และให้มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ไม่ต้องมี ส.ว.สรรหาอีกต่อไปนั้น จะส่งผลให้ ส.ว.ไม่สามารถตรวจสอบถ่วงดุลกับฝ่ายรัฐบาลได้จริง เพราะ ส.ว.เลือกตั้งส่วนใหญ่ต้องอาศัยฐานเสียงเดียวกับ ส.ส. ซึ่ง ส.ว.เลือกตั้งส่วนใหญ่ทำตัวเป็นทาสของฝ่ายรัฐบาล การแก้ไขมาตรา 111 จึงเป็นการแก้เพื่อผลประโยชน์ส่วนตนของ ส.ว.และ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล นอกจากนี้ยังจะส่งผลให้การแต่งตั้งองค์กรอิสระ ที่แต่งตั้งโดย ส.ว. อยู่ภายใต้อำนาจของรัฐบาล ทำให้องค์กรอิสระไม่สามารถตรวจสอบอำนาจรัฐบาลได้จริง ซึ่งเคยเกิดขึ้นมาแล้วในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ 2540
       
       ส่วนการแก้ไขมาตรา 237 โดยยกเลิกการยุบพรรคและการตัดสิทธิหัวหน้าพรรค-กรรมการบริหารพรรคนั้น นอกจากสะท้อนความไม่จริงใจของนักการเมืองที่ควรจะเพิ่มบทลงโทษผู้กระทำผิดทุจริตเลือกตั้งให้รุนแรงขึ้นแล้ว ยังชัดเจนว่าเป็นการแก้ไขเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง ซึ่งถือเป็นการกระทำที่ขัดกันแห่งผลประโยชน์และขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 122
       
       แกนนำพันธมิตรฯ จึงขอคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 4 มาตราดังกล่าว และขอให้กำลังใจ ส.ส.-ส.ว.ที่ได้ยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวเข้าข่ายล้มล้างการปกครองตามมาตรา 68 และเป็นการกระทำที่ขัดกันแห่งผลประโยชน์ของสมาชิกรัฐสภาหรือไม่ พร้อมกันนี้แกนนำพันธมิตรฯ ได้มอบหมายให้ทนายพันธมิตรฯ ไปปรึกษาหารือกับนักวิชาการและนักกฎหมายเพิ่มเติม เพื่อดำเนินการทางกฎหมายต่อผู้กระทำผิดจนถึงที่สุด
       
       นอกจากนี้ แกนนำพันธมิตรฯ ยังคัดค้านการเสนอร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านของรัฐบาล เพราะนอกจากจะเป็นการสร้างหนี้สินให้ประเทศโดยหลีกเลี่ยงวิธีพิจารณางบประมาณโดยปกติแล้ว ยังไม่มีความชัดเจน ไม่มีรายละเอียดเนื้อหาของแต่ละโครงการ และยังขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 169 ที่ไม่นำเงินส่งคลัง แถมให้อำนาจกระทรวงการคลังนำเงินจากการกู้ไปให้หน่วยงานรัฐกู้ต่อเพื่อนำไปใช้จ่ายได้อีกด้วย พันธมิตรฯ จึงขอให้กำลังใจอดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.) 2550 ที่ได้ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) เพื่อให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองลงโทษนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีต่อไป พร้อมสนับสนุน ส.ส.-ส.ว.ที่จะยื่นคำร้องให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการกระทำของรัฐบาลที่เสนอร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้าน เป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 169 หรือไม่ พร้อมกันนี้แกนนำพันธมิตรฯ ได้มอบหมายให้ทนายพันธมิตรฯ ไปปรึกษาหารือนักวิชาการและนักกฎหมายเพิ่มเติม เพื่อดำเนินการทางกฎหมายต่อผู้กระทำผิดจนถึงที่สุดเช่นกัน
       
       3. ป.ป.ช. รับทราบผลสอบ “ยิ่งลักษณ์” ไม่ได้แจ้งบัญชีเท็จปล่อยกู้ 30 ล้าน ด้านเจ้าตัว สบายใจ เดินหน้าทำงานต่อ!

       เมื่อวันที่ 5 เม.ย. คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ได้ประชุมพิจารณาว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีการแจ้งบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จก่อนเข้ารับตำแหน่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เมื่อวันที่ 2 ส.ค.2554 และก่อนเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 ส.ค.2554 หรือไม่ กรณีปล่อยกู้ 30 ล้านบาทให้แก่บริษัท แอ็ด อินเด็กซ์ จำกัด ของนายอนุสรณ์ อมรฉัตร สามีนอกสมรส หลังมีข่าวว่าการปล่อยกู้ดังกล่าวอาจเป็นนิติกรรมอำพราง เนื่องจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ แจ้งว่า ได้ปล่อยกู้ให้บริษัทดังกล่าว 3 ครั้ง คือวันที่ 6 ต.ค.2549 จำนวน 20 ล้านบาท ครั้งที่ 2 วันที่ 9 มี.ค.2550 จำนวน 5 ล้านบาท และครั้งที่ 3 วันที่ 13 มี.ค.2550 อีก 5 ล้านบาท แต่กลับไม่ปรากฏรายการกู้ยืมดังกล่าวในงบดุลปี 2549 ของบริษัท แอ็ด อินเด็กซ์ โดยไปปรากฏในปี 2550 แทน นอกจากนี้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ระบุกับที่บริษัท แอ็ด อินเด็กซ์ ระบุ ก็ไม่ตรงกันนั้น
       
       ปรากฏว่า หลังประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. นายกล้านรงค์ จันทิก กรรมการ ป.ป.ช.แถลงว่า ที่ประชุมมีมติเอกฉันท์รับทราบตามที่พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบการกู้ยืมดังกล่าว ซึ่งพบว่าถูกต้องและมีอยู่จริงตามที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้ยื่นแสดงบัญชีไว้ โดยมีหลักฐานเป็นตั๋วสัญญาใช้เงินที่บริษัท แอ็ด อินเด็กซ์ นำเงินที่กู้ยืมจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ไปใช้หนี้ธนาคารทหารไทย และเช็คสั่งจ่ายกรณีที่บริษัท แอ็ด อินเด็กซ์ จ่ายดอกเบี้ยให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ 5 ครั้ง ส่วนสาเหตุที่ระบุอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมไม่ตรงกันนั้น เนื่องจากมีการตกลงกันหลายครั้งและมีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยหลายอัตรา โดยอยู่ระหว่าง 2.50-3.75 ต่อปี ส่วนกรณีที่ไม่มีรายการกู้ยืมเงิน 30 ล้านดังกล่าวในบัญชีงบดุลปี 2549 แต่ไประบุในปี 2550 ของบริษัท แอ็ด อินเด็กซ์นั้น เนื่องจากงบดุลของบริษัทฯ มีรอบระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. และสิ้นสุดวันที่ 30 เม.ย.ของปีถัดไป ดังนั้นเมื่อกู้ยืมตั้งแต่วันที่ 6 ต.ค.2549-13 มี.ค.2550 จึงไปปรากฏในงบดุลปี 2550 ที่สิ้นสุด ณ วันที่ 30 เม.ค.2550
       
       นายกล้านรงค์ บอกด้วยว่า เจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบรายการเงินฝากในบัญชี น.ส.ยิ่งลักษณ์ สามี และบุตร แล้ว พบว่าทุกรายการไม่มีพฤติการณ์ที่จะฟังได้ว่าจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินด้วยข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ ดังนั้นจะไม่มีการตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนการปล่อยกู้ 30 ล้านแต่อย่างใด
       
       ด้าน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยอมรับว่า สบายใจขึ้นหลังทราบมติ ป.ป.ช. พร้อมยืนยัน จะเดินหน้าทำหน้าที่ต่อไป ผู้สื่อข่าวถามว่า ป.ป.ช.พร้อมจะนำเรื่องนี้ขึ้นมาตรวจสอบอีกครั้งหากมีผู้ร้องเรียนเข้ามา น.ส.ยิ่งลักษณ์ บอกว่า ต้องว่าไปตามข้อเท็จจริง แต่เรื่องนี้ได้มีคำตอบที่ชัดเจนแล้ว
       
       ทั้งนี้ ก่อนที่ ป.ป.ช.จะมีมติกรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ปล่อยกู้ 30 ล้าน นายธนาวุฒิ วิชัยดิษฐ์ โฆษกกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) ได้ออกมาขู่ว่า หาก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด น.ส.ยิ่งลักษณ์กรณีดังกล่าว จะออกมาชุมนุมใหญ่
       
       4. ใต้เดือด! อุ้มฆ่าทหาร-วางระเบิดรถรองผู้ว่าฯ ยะลาดับ ขณะที่เลขาฯ สมช.อ้าง ผู้ก่อเหตุไม่ได้ยกระดับความรุนแรง!

       แม้รัฐบาลจะเดินหน้าให้ฝ่ายความมั่นคงของไทยเปิดเจรจาสันติภาพกับแกนนำบีอาร์เอ็น โดยการเจรจารอบสามจะมีขึ้นในวันที่ 29 เม.ย.นี้ แต่สถานการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้กลับทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น โดยเมื่อคืนวันที่ 2 เม.ย. คนร้าย 8 คนแต่งกายเลียนแบบทหาร พร้อมอาวุธครบมือ ได้บุกจี้ พลทหารมะอีลา โตะลู อายุ 24 ปี สังกัดกองทันทหารราบที่ 7 กรมทหารราบที่ 3 กองพลนาวิกโยธินภาคใต้ ค่ายจุฬาภรณ์ จ.นราธิวาส ที่บ้านพักใน อ.รือเสาะ ก่อนนำตัวขึ้นรถกระบะขับหายไปต่อหน้าพ่อและน้องชายพลทหารมะอีลา กระทั่งช่วงดึกคืนเดียวกัน มีผู้พบศพพลทหารมะอีลาถูกฆ่าโหดบนถนนในหมู่บ้านกอตอ ต.ปะลุกาสาเมาะ อ.บาเจาะ ในสภาพถูกยิงด้วยปืนพกสั้นขนาด 9 มม.ที่บริเวณศีรษะและขมับรวม 2 นัด
       
        ทั้งนี้ น.ส.ดารีซะ ซอพี ภรรยาพลทหารมะอีลา เผยว่า “ปกติสามีไม่เคยมีเรื่องขัดแย้งหรือบาดหมางกับใคร เมื่อลาพักจากราชการ จะกลับมาอยู่บ้านโดยไม่ออกไปไหน เพราะเกรงจะตกเป็นเป้าถูกคนร้ายดักสังหาร สามีพูดบ่อยครั้งว่า ทหารทุกนายที่ปฏิบัติหน้าที่กองร้อยปืนเล็กที่ 2 บ้านยือลอ ต้องระมัดระวังเรื่องความปลอดภัย เนื่องจากมีกระแสข่าวหลังเจ้าหน้าที่วิสามัญฆาตกรรมคนร้าย 16 คน(ที่โจมตีฐานเมื่อวันที่ 13 ก.พ.) กลุ่มคนร้ายจะทำทุกวิถีทางเพื่อเอาคืนชีวิตเจ้าหน้าที่เป็น 2 เท่า คือ ตาย 16 คน จะเอาคืนชีวิตเจ้าหน้าที่ 32 คน เพื่อแก้แค้นให้สมาชิกที่เสียชีวิต”
       
        ด้าน พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ออกมาแสดงความเสียใจต่อครอบครัวพลทหารมะอีลา พร้อมประกาศ ต้องเอาคนร้ายมาลงโทษให้ได้ ถ้าแรงมาก็ต้องแรงไป ล่าสุด เมื่อวันที่ 4 เม.ย. พ.ต.อ.อโณทัย จินดามณี ผู้กำกับการ สภ.รือเสาะ จ.นราธิวาส เผยว่า ได้เบาะแสคนร้ายที่อุ้มฆ่าพลทหารมะอีลาแล้ว เป็นแนวร่วมในสังกัดของนายสาลาอุดิน แดแก และสมุนในสังกัดของนายเด๊ะมะ โละยะ แกนนำอาร์เคเคเคลื่อนไหวในพื้นที่ 3 อำเภอ คือ อ.ยี่งอ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส และ อ.กะพ้อ จ.ปัตตานี โดยผู้ต้องหาทั้ง 2 ราย มีหมายจับหลายคดี
       
        เป็นที่น่าสังเกตว่า นอกจากเหตุอุ้มฆ่าเจ้าหน้าที่แล้ว โจรใต้ยังได้วางระเบิดสังหารเจ้าหน้าที่อีกหลายครั้ง โดยเมื่อคืนวันที่ 3 เม.ย. คนร้ายได้จุดชนวนระเบิดแสวงเครื่องที่บรรจุในถังแก๊ส น้ำหนักประมาณ 15 กก.ที่ซุกซ่อนไว้ข้างถนนสาย 410(ยะลา-เบตง) บริเวณหมู่ 8 ต.กรงปินัง ขณะที่รถบัสของเจ้าหน้าที่สังกัดกองพลทหารราบที่ 125 ค่ายสมเด็จพระสุริโยทัย จ.ยะลา กำลังแล่นผ่าน แรงระเบิดส่งผลให้รถบัสเสียหลักตกลงข้างทาง จากนั้นคนร้ายไม่ต่ำกว่า 10 คน ได้ใช้อาวุธปืนเอ็ม 16 และอาก้ามากราดยิงใส่เจ้าหน้าที่ จึงเกิดการยิงตอบโต้กัน ก่อนที่คนร้ายจะหลบหนีไป ส่งผลให้ทหารเสียชีวิต 1 นาย และได้รับบาดเจ็บ 19 นาย ผู้เสียชีวิตคือ จ.ส.อ.บุญเลี้ยง ไชยชนะ อายุ 53 ปี
       
        ไม่เท่านั้น เมื่อวันที่ 5 เม.ย. เวลา 12.20น. คนร้ายยังได้จุดชนวนระเบิดแสวงเครื่องน้ำหนักประมาณ 20 กก. ที่ซุกซ่อนไว้ในท่อน้ำใต้ถนนสาย 410(ยะลา-เบตง) บริเวณหมู่ 5 บ้านกาโสด ต.บันนังสตา จ.ยะลา ขณะที่รถประจำตำแหน่งของนายอิศรา ทองธวัช รองผู้ว่าฯ ยะลา กำลังแล่นผ่าน โดยมีรถของเจ้าหน้าที่อาสาสมัครและทหารหน่วยเฉพาะกิจยะลา 15 ติดตามรักษาความปลอดภัย แรงระเบิดส่งผลให้นายสะตอปา เจ๊ะเลาะ คนขับรถได้รับบาดเจ็บสาหัส นายเชาวลิตร ไชยฤกษ์ ป้องกันจังหวัดยะลา ที่นั่งมาด้วยเสียชีวิต ส่วนนายอิศรา ได้รับบาดเจ็บสาหัส และเสียชีวิตที่โรงพยาบาล
       
        ด้านนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ออกมาแสดงความเสียใจกับครอบครัวผู้เสียชีวิต พร้อมเผยว่า ตนเป็นผู้คัดเลือกให้นายอิศรามาดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าฯ ยะลาเมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา จึงรู้สึกเสียใจมาก และจะให้การช่วยเหลืออย่างเต็มที่
       
        ขณะที่ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) ยืนยันว่า เหตุระเบิดรถรองผู้ว่าฯ ยะลา ไม่ใช่การยกระดับความรุนแรงของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ เพราะเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ว่าจะเป็นระดับใด ถือเป็นเป้าหมายของการก่อเหตุอยู่แล้ว

ASTVผู้จัดการออนไลน์    7 เมษายน 2556