ผู้เขียน หัวข้อ: สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 14-20 ก.พ.2559  (อ่าน 706 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9779
    • ดูรายละเอียด
สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 14-20 ก.พ.2559
« เมื่อ: 19 มิถุนายน 2016, 21:17:43 »
1. ดีเอสไอ แถลงรถเบนซ์ “สมเด็จช่วง” ผิดทุกขั้นตอน ทั้งการนำเข้า-จดประกอบ-เสียภาษี-จดทะเบียน ชี้ทำเป็นขบวนการ เตรียมดำเนินคดีไม่ต่ำกว่า 10 ข้อหา!


        เมื่อวันที่ 18 ก.พ. กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) นำโดย พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีดีเอสไอ ได้เปิดแถลงความคืบหน้าคดีตรวจสอบรถยนต์หรูโบราณยี่ห้อเมอร์เซเดส เบนซ์ ทะเบียน ขม 99 ของสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ หรือสมเด็จช่วง เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เชื่อมโยงกับรถหรูที่ถูกไฟไหม้ที่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นคดีพิเศษเมื่อปี 2556 โดยรถคันนี้เป็น 1 ในรถหรูกว่า 6,700 คัน ที่อยู่ในบัญชีดำของดีเอสไอ ซึ่งเข้าข่ายสำแดงเท็จเป็นรถจดประกอบเพื่อหลีกหลี่ยงภาษี และเมื่อปี 2558 มีคนร้องเรียนว่า รถคันนี้นำเข้าโดยผิดกฎหมาย จึงไปตรวจสอบที่วัดปากน้ำ 2 ครั้ง
      
       พ.ต.อ.ไพสิฐ กล่าวอีกว่า หลังตรวจสอบวัตถุพยานและเอกสารทั้งหมดที่ได้รับจากวัดปากน้ำ พบว่า พระมหาศาสนมุนี หรือหลวงพี่แป๊ะ หรือพระธนกิจ สุภาโว(ศรีอุ่นเรือน) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ และเลขานุการสมเด็จช่วง เป็นคนซื้อรถคันนี้มาในราคา 4 ล้านบาท เพื่อถวายสมเด็จช่วง ซึ่งรถดังกล่าวผลิตจากประเทศเยอรมนี เมื่อปี ค.ศ.1953 ผลิตเพียง 100 คัน ราคา 10-20 ล้านบาท ทั้งนี้ พ.ต.อ.ไพสิฐ เผยว่า รถคันนี้มีการทำผิดกฎหมายทุกขั้นตอน ทั้งขั้นตอนการนำเข้า, การจดประกอบรถ, การเสียภาษีสรรพสามิต และการจดทะเบียน
      
       ด้าน พ.ต.ท.กรวัชร์ ปานประภากร ผู้บัญชาการสำนักปฏิบัติการคดีพิเศษ ดีเอสไอ แจกแจงผลตรวจสอบรถเบนซ์ของสมเด็จช่วงว่า การนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์ มี หจก.อ๊อด 89 เอ็นเตอร์ไพรส์ เป็นผู้นำเข้าเครื่องยนต์และตัวถังจากสหรัฐฯ เข้ามา โดยมีข้อพิรุธว่า โครงรถยนต์ถูกส่งมาโดยเรือแวนฮาโมนีเมื่อวันที่ 17 ก.ย.2553 ส่วนเครื่องยนต์ส่งมาทางเรือ เอ็น วาย เค อากัส เมื่อวันที่ 19 ก.ย.2553 ซึ่งห่างกันเพียง 2 วัน ส่วนอุปกรณ์ควบอื่นๆ เช่น ฝากระโปรง ไฟหน้า ไฟเลี้ยว เบาะ ประตู กันชน ไม่พบหลักฐานการนำเข้า แต่มีหลักฐานว่าซื้อจาก หจก.สายชลมอเตอร์ ซึ่งบ้านเลขที่ไม่ปรากฏในสารบบทะเบียนราษฎร ไม่มีสถานประกอบการจริง และไม่มีข้อมูลในสารบบของกรมธุรกิจการค้า บ่งชี้ว่ามีการทำเอกสารปลอม เพื่อให้เข้าใจว่าอุปกรณ์และส่วนควบมีการซื้อจากผู้ประกอบการในประเทศ จึงอาจเข้าข่ายความผิด พ.ร.บ.ศุลกากร มาตรา 27 ส่วนผู้ครอบครองอาจมีความผิดตาม พ.ร.บ. ศุลกากร มาตรา 27 ทวิ ซึ่งดีเอสไอจะแจ้งให้อธิบดีกรมศุลกากรดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
      
       2.การจดประกอบชิ้นส่วนขึ้นเป็นรถสมบูรณ์ พบหลักฐานว่า หจก.อ๊อด 89 ได้ร่วมกับอู่วิชาญ ที่มีนายวิชาญ รัษฐปานะ เป็นเจ้าของ เป็นผู้ประกอบรถยนต์จากเครื่องยนต์และตัวถัง พร้อมอุปกรณ์ส่วนควบ โดยเป็นไปตามการสั่งซื้อของหลวงพี่แป๊ะในราคา 4 ล้านบาท โดย หจก.อ๊อดรับเงินไป 2.5 ล้านบาท ส่วนอู่วิชาญได้รับเงินค่าประกอบ 1.5 ล้านบาท ซึ่งพบความผิดประกอบรถโดยไม่มีใบอนุญาต ไม่มีวิศวกรตรวจสอบ แต่มีการปลอมเอกสารโดยใช้ชื่ออู่ N.P.การาจ ไปใช้ยื่นชำระภาษีสรรพสามิต ในชั้นนี้ มีความผิดตาม พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต มาตรา 25 และมาตรา 162 (1) ฐานขายหรือมีไว้ซึ่งสินค้าโดยรู้ว่าเป็นสินค้าที่เสียภาษีไม่ครบถ้วน
      
       3.การชำระภาษีสรรพสามิต พบหลักฐานว่า นายชลัช นิติฐิติวงษ์ เป็นผู้ดำเนินการนำเอกสารชุดประกอบรถยนต์ไปชำระภาษีสรรพสามิตโดยปลอมลายมือชื่อของนางกาญนา มากเหมือน เจ้าของอู่ N.P.การาจ ซึ่งเป็นเพียงอู่ซ่อมสี ไม่มีความสามารถในการประกอบรถ แต่ถูกปลอมเอกสารเพื่อใช้จดประกอบรถ จึงมีความผิดอาญาฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จกับเจ้าพนักงาน ปลอมและใช้เอกสารปลอม และมีความผิดตาม พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต
      
       และ 4. ขั้นตอนการจดทะเบียนกับกรมขนส่งทางบก พบหลักฐานว่า นายชลัช ได้ว่าจ้างนายสมนึก บุญประไพ นำรถยนต์ไปยื่นจดทะเบียน โดยใช้เอกสารปลอมที่ใช้ยื่นกับกรมสรรพสามิต และยังกรอกข้อความอันเป็นเท็จในจดทะเบียนเพื่อแสดงให้เห็นว่า N.P.การาจ โดยนางกาญจนาเป็นผู้ขายรถยนต์ต่อให้พระผู้ใหญ่และปลอมใบเสร็จรับเงิน ใบกำกับภาษีของ หจก.เอส ที วาย ออโต้ พาร์ท เพื่อให้เจ้าหน้าที่หลงเชื่อว่า หจก.เอส ที วายฯ เป็นผู้รับจ้างประกอบรถยนต์
      
       พ.ต.ท.กรวัชร์ ย้ำด้วยว่า “พฤติการณ์ดังกล่าวชี้ว่า รถคันนี้มีปัญหาตั้งแต่กระบวนการนำเข้า จดประกอบ ใช้เอกสารปลอมเพื่อชำระภาษีสรรพสามิตและจดทะเบียนกับกรมขนส่งทางบก ซึ่งนายสมนึกยอมรับว่า มีการปลอมใบเสร็จ สำแดงราคาเพียง 1 ล้านบาท ขณะที่ราคาอะไหล่และค่าว่าจ้างให้ประกอบรถมีราคารวม 4 ล้านบาท ส่วนลายมือชื่อของสมเด็จช่วง ซึ่งใช้ในการแจ้งจดทะเบียนเป็นผู้ครอบครองรถ ถูกเซ็นโอนลอยไว้ก่อนแล้ว โดยดีเอสไอต้องเรียกสมเด็จช่วงและผู้เกี่ยวข้องมาสอบปากคำว่า เป็นเจ้าของลายเซ็นจริงหรือไม่”
      
       พ.ต.ท.กรวัชร์ เผยอีกว่า กรณีนี้เป็นการกระทำผิดทางอาญาที่ซับซ้อน กระทำผิดเป็นขบวนการ และมีบุคคลที่เกี่ยวข้องและอยู่ในข่ายต้องถูกดำเนินคดีอาญาหลายคน ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าและจดประกอบรถดังกล่าว ต้องถูกดำเนินคดีไม่น้อยกว่า 10 ข้อหา ประกอบด้วย ร่วมกันหลีกเลี่ยงภาษีศุลกากร, ร่วมกันซ่อนเร้น จำหน่าย ซื้อหรือรับไว้โดยประการใด ทั้งที่รู้ว่าเป็นของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากร, ร่วมกันขายหรือมีไว้เพื่อขายสินค้า ซึ่งรู้ว่ามิได้เสียภาษี, ครอบครองซึ่งสินค้าโดยรู้ว่าเป็นสินค้าที่ไม่ได้เสียภาษีหรือเสียภาษีไม่ครบถ้วน, แจ้งข้อความเท็จ, ตอบคำถามด้วยถ้อยคำอันเป็นเท็จ, นำพยานหลักฐานเท็จมาแสดง, ร่วมกันทำผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่มี พ.ร.ฎ.กำหนดให้ต้องเป็นไปตามมาตรฐานโดยไม่ได้รับอนุญาต, ร่วมกันแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน, ร่วมกันแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จ, ร่วมกันปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอม, ร่วมกันปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอม ซึ่งเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร, พ.ร.ก.พิกัดอัตราศุลกากร, พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต, พ.ร.บ.มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และกฎหมายอาญา มาตรา 137, 264, 265, 267 และ 268
      
       ด้าน พ.ต.อ.ไพสิฐ อธิบดีดีเอสไอ กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้สั่งให้รับคดีนี้ไว้เป็นคดีพิเศษ เพื่อหาตัวผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีต่อไป เนื่องจากคดีนี้เป็นการกระทำผิดทางอาญาที่มีความซับซ้อน ทำเป็นขบวนการ และมีบุคคลที่เกี่ยวข้องอยู่ในข่ายต้องถูกดำเนินคดีอาญาหลายคน คาดว่าจะใช้เวลา 2-3 เดือนในการตรวจสอบให้แล้วเสร็จ ผู้สื่อข่าวถามว่า ในส่วนของหลวงพี่แป๊ะได้สอบปากคำแล้วหรือไม่ พ.ต.อ.ไพสิฐ กล่าวว่า ได้เดินทางมาให้ปากคำแล้ว โดยรับว่าเป็นคนถวายจริง แต่จะต้องสอบต่อว่ามีเจตนาอย่างไรในการถวาย ผู้สื่อข่าวถามว่า ผู้ครอบครองจะมีความผิดเลยหรือไม่ พ.ต.อ.ไพสิฐ กล่าวว่า ขอให้สอบสวนก่อน วันนี้เป็นการยืนยันเกี่ยวกับตัวรถก่อน ส่วนผู้ครอบครองต้องให้ดีเอสไอสอบสวนก่อนว่าตรงตามข้อมูลที่ได้มาหรือไม่
      
       เป็นที่น่าสังเกตว่า เริ่มมีการปัดความผิดให้พ้นตัวสมเด็จช่วงและหลวงพี่แป๊ะ โดยนายศุภภัทร์พขน์ นิติศธร ฝ่ายกฎหมายวัดปากน้ำภาษีเจริญ รีบออกมาอ้างว่า ผู้บริจาคและสมเด็จช่วงไม่ทราบเรื่องการนำเข้าและจดประกอบรถเบนซ์คันดังกล่าว โดยผู้บริจาคซื้อรถจากนายวิชาญในรูปแบบการเหมา
      
       ขณะที่นายวิชาญ เจ้าของบริษัท แอนซีทรานสฟอร์เมอร์ จำกัด ซึ่งเป็นอู่รถที่รับจ้างประกอบรถเบนซ์ของสมเด็จช่วง ได้เดินทางเข้าพบ ร.ต.อ.สุรวุฒิ รังไสย์ รอง ผบ.คดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ เมื่อวันที่ 19 ก.พ. เพื่อให้ปากคำพนักงานสอบสวนเพิ่มเติม โดยยอมรับว่า อู่ตนได้ซ่อมรถเบนซ์คันดังกล่าวให้พระผู้ใหญ่จริง แต่ตนไม่เกี่ยวข้องกับการนำเข้า การจดประกอบ การเสียภาษี และการจดทะเบียนรถคันดังกล่าว “หากย้อนกลับไปได้ จะไม่รับเพราะอู่ผมก็มีงานเยอะอยู่แล้ว โดยสาเหตุที่รับ เพราะคิดว่าได้บุญและเป็นเกียรติ เนื่องจากผมเองก็เป็นคนไทย นับถือศาสนาพุทธ วันหนึ่งมีพระผู้ใหญ่นำรถมาให้ซ่อม รู้สึกดี ลงมือซ่อมเพียงอย่างเดียว และไม่ทราบเอกสารอะไรทั้งสิ้น”
      
       วันเดียวกัน(19 ก.พ.) นางกาญจนา มากเหมือน เจ้าของอู่ N.P.การาจ ก็ได้เดินทางเข้าพบ พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีดีเอสไอ หลังถูกปลอมลายมือชื่อและแอบอ้างชื่อในการจดประกอบรถเบนซ์ของสมเด็จช่วง โดยยืนยันว่า อู่ตนให้บริการเคาะพ่นสี ไม่เคยุ่งเกี่ยวกับรถจดประกอบแม้แต่คันเดียว และไม่เคยเห็นรถเบนซ์ของสมเด็จช่วงมาก่อน
      
       2. “พระเมธีฯ” นำพระชุมนุมจี้ รบ.อย่าจุ้นเรื่องของสงฆ์-เร่งตั้ง “สมเด็จช่วง” เป็นพระสังฆราช ด้าน “พล.อ.ไพบูลย์” ชี้ ทั้งพระ-ฆราวาส หากทำผิดต้องถูกดำเนินคดี!

        เมื่อวันที่ 15 ก.พ. ศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย นำโดยพระเมธีธรรมาจารย์ เลขาธิการศูนย์ฯ และแนวร่วม ได้แก่ สมาคมนักวิชาการเพื่อพระพุทธศาสนา และองค์กรภาคีเครือข่ายชาวพุทธ 8 องค์กร ได้นำพระสงฆ์และชาวพุทธนับพันคน มาชุมนุมที่พุทธมณฑล ทั้งนี้ พระเมธีธรรมาจารย์ กล่าวว่า การนัดหมายครั้งนี้ เพื่อสกัดกลุ่มบุคคลที่ออกมากล่าวจาบจ้วงคณะสงฆ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อนำไปสู่แผนล้มล้างโครงสร้างการปกครองคณะสงฆ์
      
        เป็นที่น่าสังเกตว่า ได้เกิดเหตุกระทบกระทั่งกันระหว่างพระที่มาร่วมชุมนุมในครั้งนี้ กับทหาร พล.ร.9 ที่นำกำลังประมาณ 50 นายมาควบคุมสถานการณ์เพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อย โดยมีการนำรั้วลวดหนามมาปิดกั้นเส้นทางผ่าน สร้างความไม่พอใจให้พระและประชาชนที่มาชุมนุม โดยพระหลายรูปได้รุมล้อมและโยกรถทหาร จนรถโคลงเคลงไปมา ขณะที่พระบางรูปได้เข้าล็อคคอทหาร ซึ่งหลังจากภาพถูกเผยแพร่ทางโซเชียลมีเดีย ได้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์พฤติกรรมของพระกลุ่มนี้อย่างหนัก
      
        ทั้งนี้ ช่วงเย็นวันเดียวกัน พระเมธีธรรมาจารย์ได้แถลงสังฆามติ อ้างว่า มีความพยายามจะนำการเมืองทางโลกมาแทรกแซงคณะสงฆ์ มีการแทรกแซงขัดขวางกระบวนการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช คณะสงฆ์ทั่วประเทศจึงมีสังฆามติร่วมกันขอให้นายกฯ ดำเนินการ 5 ข้อ คือ 1.ห้ามหน่วยงานของรัฐก้าวก่ายเรื่องทางสงฆ์ 2.ขอให้รัฐบาลยึดถือธรรมเนียมปฏิบัติ คือการดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับการปกครองคณะสงฆ์ รัฐบาลต้องปรึกษาและได้รับความเห็นชอบจากมหาเถรสมาคม(มส.) ก่อน 3.ขอให้นายกฯ ดำเนินการตามมติ มส.ที่มีการเสนอชื่อสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เพื่อสถาปนาเป็นพระสังฆราช 4.ขอให้สั่งเป็นนโยบายให้หน่วยราชการปฏิบัติต่อคณะสงฆ์ด้วยความเคารพ ไม่ข่มขู่คุกคามคณะสงฆ์ ด้วยการใช้กฎหมาย และ 5.ขอให้บรรจุพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติในรัฐธรรมนูญ
      
       ทั้งนี้ พระเมธีธรรมาจารย์ ได้ยื่นข้อเรียกร้องดังกล่าวต่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ทำเนียบรัฐบาลในช่วงเย็นวันเดียวกัน(15 ก.พ.) หลังยื่นหนังสือ พระเมธีธรรมาจารย์ กล่าวว่า ทางกลุ่มพร้อมยุติการชุมนุม แต่จะดูท่าทีของรัฐบาลก่อน ยืนยันว่า การชุมนุมครั้งนี้มาด้วยความสงบ เพื่อแสดงสังฆามติ พระเมธีธรรมาจารย์ ยังพูดเหมือนขู่ด้วยว่า คณะสงฆ์ยังมีความรู้สึกตรงกันว่า จะต้องกลับมาอีก หากข้อที่เรียกร้องไว้ไม่บรรลุเป้าหมาย
      
        เป็นที่น่าสังเกตว่า ก่อนหน้านั้น พระมหาโชว์ ทัสฺสนีโย ที่ปรึกษาสมาคมนักวิชาการเพื่อพระพุทธศาสนา ได้นำพระสงฆ์จำนวนหนึ่งสวดมาติกาบังสุกุลให้แก่นายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์พระพุทธศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) นพ.มโน เลาหวณิช อดีตพระวัดพระธรรมกาย นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือ ส.ศิวรักษ์ นักวิชาการอิสระ และพระสุวิทย์ ธีรธมฺโม หรือพระพุทธะอิสระ เจ้าอาวาสวัดอ้อน้อย จ.นครปฐม โดยใช้หุ่นฟางและติดรูปหน้าบุคคลดังกล่าว หลังจากนั้นได้เผาหุ่นฟางในโลงศพ
      
        วันเดียวกัน(15 ก.พ.) นายไพบูลย์ นิติตะวัน พร้อมด้วย นพ.มโน เลาหวณิช อดีตพระวัดพระธรรมกาย ได้เข้ายื่นหนังสือถึง พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีดีเอสไอ ขอให้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของสมเด็จช่วง หลังเป็นประธานประชุม มส.และเห็นว่า มส.ไม่สามารถดำเนินการตามพระลิขิตพระสังฆราช เนื่องจากคดีของพระธัมมชโยสิ้นสุดในคณะผู้พิจารณาชั้นต้นแล้ว จึงถือว่าพระธัมมชโยไม่ได้อาบัติปาราชิก ซึ่งตนเห็นว่า มติของ มส.เป็นการปฏิเสธไม่ดำเนินการตามที่ดีเอสไอแจ้งให้ดำเนินการให้พระธัมมชโยต้องอาบัติปาราชิกตามพระลิขิตพระสังฆราช
      
        นอกจากนี้ วันต่อมา(16 ก.พ.) นายไพบูลย์ ยังได้เข้ายื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้วินิจฉัยการปฏิบัติหน้าที่ของ มส.และสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) ว่าดำเนินการตามพระลิขิตพระสังฆราชจนสิ้นสุดขั้นตอนตามกฎหมายหรือไม่ เนื่องจากสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 มาตรา 8 ประกอบกับกฏมหาเถรสมาคมฉบับที่ 21 พ.ศ.2538 มีพระลิขิตทรงวินิจฉัยว่า พระธัมมชโยต้องอาบัติปาราชิกพ้นจากการเป็นสมณเพศไปแล้ว ซึ่งมีผลตามกฎหมายและ มส.ให้การรับรองไว้แล้วในการประชุมเมื่อวันที่ 10 พ.ค.2542 แม้ มส.จะไม่ได้มีมติระบุชัดเจนว่าพระธัมมชโยต้องอาบัติปาราชิกหรือให้พ้นจากสมณเพศ แต่การที่ มส.รับรองพระลิขิตดังกล่าว ก็เท่ากับเป็นการรับรองว่าพระธัมมชโยต้องอาบัติปาราชิกพ้นจากสมณเพศ ซึ่งมีผลทางกฎหมายทันที แต่จากการตรวจสอบพบว่า มส.ยังไม่ดำเนินการให้พระธัมมชโยสละสมณเพศตามกฎหมายมหาเถรสมาคมฉบับที่ 21 พ.ศ.2538 แต่อย่างใด
      
        นายไพบูลย์ ยังพูดถึงข้อเสนอ 5 ข้อของพระที่มาชุมนุมที่พุทธมณฑลด้วยว่า คงเป็นไปไม่ได้ เพราะรัฐบาลนี้ยึดตามกฎหมาย และส่วนตัวเชื่อว่า การออกมาชุมนุมของพระ เป็นการปกป้องพระเถระบางรูป และปกป้องผลประโยชน์ของพระที่เป็นแกนนำ นายไพบูลย์ ยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ข้อเสนอของพระดังกล่าวที่ให้รัฐบาลเร่งรัดแต่งตั้งพระสังฆราชองค์ใหม่ เป็นการเคลื่อนไหวที่ไม่ถูกต้อง และหมิ่นเหม่ต่อการก้าวล่วงพระราชอำนาจ เนื่องจากพระที่ถูกเสนอชื่อยังถูกตรวจสอบในเรื่องคดีความ เช่น คดีครอบครองรถหรู และการช่วยเหลือพระธัมมชโย หากตรวจสอบแล้วมีความผิด แม้กฎหมายไม่ได้บัญญัติไว้ชัดเจน แต่ตามประเพณีปฏิบัติก็คงไม่สามารถทำหน้าที่พระสังฆราชได้
      
        ด้าน พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงข้อเรียกร้องของพระที่มาชุมนุมที่พุทธมณฑลที่ไม่ให้รัฐบาลเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกิจการของสงฆ์ว่า “ผมไม่เข้าใจที่บอกว่าไม่ให้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับพระสงฆ์ หมายความว่าอะไร เพราะใครก็ตามที่อยู่ภายใต้กฎหมายและทำผิดกฎหมายก็จะต้องไปยุ่ง ไม่มีข้อต่อรองใดๆ ทุกคนต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นพระสงฆ์หรือฆราวาส...”
      
        ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พูดถึงการเสนอชื่อพระสังฆราชในทำนองเดียวกันว่า หากยังมีความขัดแย้งกันอยู่ คงไม่มีใครกล้านำความขึ้นกราบบังคมทูล
      
       3. ครม. ส่งความเห็น 16 ข้อให้ กรธ. ประกอบการร่าง รธน.แล้ว เสนอบังคับใช้ รธน. 2 ขยัก มีช่วงเฉพาะกิจ แก้วิกฤตประเทศ ด้าน “มีชัย” ยังงง!

        ความคืบหน้ากรณีที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน ขอให้แม่น้ำ 4 สาย(คสช.-ครม.-สนช.-สปท.) รวมถึงองค์กรอิสระ พรรคการเมือง หน่วยงานอื่นๆ สามารถส่งข้อเสนอแนะให้ กรธ.นำไปพิจารณาประกอบการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญร่างสุดท้ายภายในวันที่ 15 ก.พ.
      
        ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 15 ก.พ. นายมีชัย ได้ออกมาเผยว่า กรธ.ได้รับข้อเสนอจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) องค์กรอิสระ พรรคประชาธิปัตย์ รวมทั้งหน่วยงานอื่นๆ แล้ว ซึ่ง กรธ.ได้ทยอยมอบหมายให้เจ้าหน้าที่รวบรวมและประมวลว่าแต่ละมาตรามีผู้ใดหรือหน่วยงานใดเสนอให้ปรับแก้ไขอย่างไร ถ้ามีเหตุผลดี พร้อมเพิ่มเติม
      
        ด้าน ครม.ได้ส่งความเห็นและข้อเสนอแนะให้ กรธ. 16 ประเด็น ได้แก่ เสนอให้แยกหมวดปฏิรูปเป็นหมวดเฉพาะ, เสนอให้รวมศาลรัฐธรรมนูญไปอยู่ในหมวดศาลแทนการแยกออกมาเป็นหมวดเฉพาะ เพื่อไม่ให้ถูกมองว่าเป็นการเพิ่มอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ, เสนอให้คดีทุจริตของนักการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ควรจะเป็นระบบ 2 ศาล ไม่ใช่ศาลเดียว แม้ กรธ.จะให้อุทธรณ์ไปยังที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้ แต่ก็จำกัดเฉพาะข้อกฎหมายหรือกรณีที่มีพยานหลักฐานใหม่เท่านั้น
      
       นอกจากนี้ ครม.ยังเสนอให้ กรธ.พิจารณาแบ่งช่วงเวลาการบังคับใช้รัฐธรรมนูญออกเป็น 2 ช่วง เนื่องจากเกรงว่าในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ อาจเกิดวิกฤตดังเช่นช่วงก่อนเดือน พ.ค.2557 อีก จึงเห็นว่า น่าจะบัญญัติเนื้อหาและการบังคับใช้รัฐธรรมนูญเป็น 2 ช่วงเวลา คือ ช่วงเฉพาะกิจหรือช่วงเฉพาะกาลในระยะแรก ซึ่งอาจไม่ยาวนานนัก โดยใช้หลักเกณฑ์อย่างหนึ่ง เหมือนเป็นข้อยกเว้นตามความจำเป็นของสถานการณ์ เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง แต่อยู่บนพื้นฐานของการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในระดับหนึ่งอย่างมีดุลยภาพในช่วงเปลี่ยนผ่าน หลังจากนั้นจึงใช้บทบัญญัติรัฐธรรมนูญในช่วงต่อไป ให้สอดคล้องกับหลักการสากลมากขึ้น และเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตยโดยลดข้อจำกัดต่างๆ ลง
      
       ด้านนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. กล่าวถึงข้อเสนอของ ครม.ที่ให้แบ่งการบังคับใช้รัฐธรรมนูญออกเป็น 2 ช่วงว่า ยังไม่เข้าใจและแปลไม่ออก ต้องไปปรึกษานายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีก่อนว่าแปลว่าอะไร ขณะที่นายวิษณุ ชี้แจงว่า ไม่มีอะไรต้องสงสัย เป็นเพียงข้อเสนอ ไม่ใช่การแนะนำ โดยเสนอให้ กรธ.เขียนรัฐธรรมนูญเพื่อตอบโจทก์การแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 22 พ.ค.2557 ให้ กรธ.คิดวิธีแก้ปัญหา โดยเขียนรัฐธรรมนูญเป็น 2 ภาค ภาค 1 คือส่วนที่ต้องใช้อีกยาวนาน ภาค 2 คือส่วนที่จะใช้เป็นการเฉพาะกิจ ชั่วคราว ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ จึงต้องกำหนดกฏเกณฑ์ไว้ในบทเฉพาะกาลของร่างรัฐธรรมนูญ พร้อมยืนยันว่า ครม.ไม่ได้เสนอให้ตั้งคณะกรรมการหรือหน่วยงานใดเป็นพิเศษเพื่อเข้ามาดูเรื่องนี้
      
       ส่วนเรื่องที่หลายฝ่ายไม่เห็นด้วยกับการแยกศาลรัฐธรรมนูญออกมาจากหมวดศาล และการโยกมาตรา 7 ที่ระบุว่า กรณีที่ไม่มีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามประเพณีปฏิบัติ ซึ่งเดิมอยู่ในหมวดพระมหากษัตริย์ ไปอยู่กับศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้ชี้ขาดนั้น นายมีชัย กล่าวว่า เมื่อนักวิชาการไม่สบายใจ กรธ.ก็มีแนวคิดจะโยกมาตรา 7 กลับมาอยู่หมวดพระมหากษัตริย์เหมือนเดิม แต่จะเพิ่มเนื้อหาให้ครบถ้วนสมบูรณ์ โดยใช้แนวทางมาตรา 5 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 มาปรับปรุง ซึ่งมาตรา 5 กำหนดต้นทางการส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไว้ เช่น หากสภา ครม.ศาล หรือองค์กรอิสระ เห็นว่ามีการตีความที่ไม่สามารถหาข้อยุติได้ในแต่ละองค์กร ให้ยื่นเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญได้
      
       ทั้งนี้ มีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจจากทาง สปท.ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาด้วย โดย สปท.ได้จัดทำร่าง พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติ ขึ้นมา โดยให้เหตุผลว่า เพื่อให้การปฏิรูปประเทศมีแนวทางการปฏิรูปที่เป็นกรอบยุทธศาสตร์ชาติใน 20 ปี เพราะที่ผ่านมาเมื่อเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ การบริหารประเทศก็จะไม่ต่อเนื่อง และไม่เคยมีรัฐบาลอยู่ยาวต่อเนื่องถึง 20 ปี ทำให้ประเทศขาดความต่อเนื่องด้านการพัฒนาและความสามารถด้านการแข่งขัน จึงต้องมี พ.ร.บ.ดังกล่าว เพื่อให้การบริหารประเทศเป็นไปอย่างต่อเนื่อง และสัมฤทธิผล โดยที่ประชุม สปท.ได้เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้แล้วเมื่อวันที่ 17 ก.พ. หลังจากนี้จะมีการปรับปรุงร่างฯ ตามความคิดเห็นของสมาชิก สปท. ก่อนส่งให้ประธาน สปท.และ ครม.ดำเนินการต่อไป
      
      

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9779
    • ดูรายละเอียด
สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 14-20 ก.พ.2559(ต่อ)
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: 19 มิถุนายน 2016, 21:17:58 »
 4. ศาลแพ่ง พิพากษาให้ “พระพุทธะอิสระ - 4 แกนนำ กปปส.” ชดใช้กว่า 1.4 ล้าน กรณีนำม็อบบุกดีเอสไอ!

        เมื่อวันที่ 15 ก.พ. ศาลแพ่ง ได้อ่านคำพิพากษาคดีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) เป็นโจทก์ยื่นฟ้องพระพุทธะอิสระ, พล.ต.สมเกียรติ วัฒนวิกย์กิจ, นายชุมพล จุลใส, นายนิติธร ล้ำเหลือ และ น.ส.อัญชลี ไพรีรัก แกนนำคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข(กปปส.) เป็นจำเลยที่ 1-5 เรื่องละเมิด เรียกค่าเสียหาย 2,663,409 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี จากกรณีที่จำเลยทั้งห้าเป็นแกนนำพาผู้ชุมนุม กปปส. ร่วมกันบุกเข้าไปในอาคารดีเอสไอ ถ.แจ้งวัฒนะ แล้วทำให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ สายไฟ กล้องวงจรปิด ที่อยู่ในความครอบครองของโจทก์
       
        ทั้งนี้ โจทก์ยื่นฟ้องคดีต่อศาลเมื่อวันที่ 18 พ.ย.57 ขณะที่จำเลยให้การปฏิเสธต่อสู้คดีว่า การชุมนุมต่อต้านรัฐบาล ดำเนินการโดยปราศจากอาวุธ ซึ่งการแสดงออกถือเป็นสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ
       
        ด้านศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานแล้วเห็นว่า กลุ่ม กปปส. ได้จัดการชุมนุมตั้งแต่เดือน พ.ค.56 และสิ้นสุดวันที่ 22 พ.ค.57 หลังมีการยึดอำนาจ โดยระหว่างชุมนุม จำเลยทั้งห้าเป็นผู้นำชุมนุมที่บริเวณอาคารสำนักงานดีเอสไอของโจทก์ ทำให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ไม่สามารถปฏิบัติงานได้ และระหว่างการชุมนุมมีการตัดสายไฟฟ้าเมนหลัก ทำให้เครือข่ายระบบอินเทอร์เน็ตกับคอมพิวเตอร์ได้รับความเสียหายด้วย นอกจากนี้ยังทำให้โจทก์ต้องมีค่าใช้จ่ายในการจัดหาอาหารและเครื่องดื่มเพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ต้องมาดูแลความปลอดภัยบริเวณอาคารของโจทก์ จึงเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ให้ได้รับความเสียหาย จนโจทก์ต้องย้ายสถานที่ปฏิบัติงานและย้ายเครือข่ายคอมพิวเตอร์-ระบบอินเทอร์เน็ต ซึ่งโจทก์ได้เช่าพื้นที่ของทีโอทีในการติดตั้งเครือข่ายคอมพิวเตอร์ นอกจากนี้ระหว่างการชุมนุมยังมีการทำให้กล้องวงจรปิดในอาคารของโจทก์ได้รับความเสียหายด้วย
       
        ส่วนที่จำเลยต่อสู้ว่า ค่าใช้จ่ายเรื่องอาหารและเครื่องดื่ม เป็นค่าใช้จ่ายซ้ำซ้อน เนื่องจากกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถได้รับเบี้ยเลี้ยงจากหน่วยราชการอยู่แล้ว ศาลเห็นว่า ค่าใช้จ่ายนี้เป็นคนละส่วนกัน เพราะเบี้ยเลี้ยงที่เจ้าหน้าที่ได้รับเป็นไปตามกฎหมายจากการปฏิบัติงาน แต่ที่จำเลยบุกเข้าไปในอาคาร ทำให้โจทก์ต้องมีค่าใช้จ่ายโดยตรงในส่วนนี้ที่เกิดจากการกระทำละเมิดของพวกจำเลย และที่จำเลยต่อสู้ว่า การชุมนุมกระทำโดยสงบ ปราศจากอาวุธถือเป็นสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญนั้น ศาลเห็นว่า สิทธิดังกล่าวกระทำได้ แต่ต้องไม่กระทบสิทธิของบุคคลอื่นด้วย
       
        เมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์ของจำเลยแต่ละคนแล้ว ศาลให้จำเลยร่วมกันชดใช้ให้โจทก์ ในส่วนที่เป็นค่าใช้จ่ายเครื่องดื่ม-อาหารที่จัดให้กำลังพลดูแลอาคาร ค่าเสียหายต่ออุปกรณ์ในสำนักงาน โดยเห็นสมควรกำหนดตามพฤติการณ์จำเลยในการเข้าชุมนุม โดยให้พระพุทธะอิสระ และ พล.ต.สมเกียรติ จำเลยที่ 1-2 ที่ได้เข้าชุมนุมที่ดีเอสไอ ระหว่างวันที่ 13 ม.ค.- พ.ค.57 ร่วมกันชดใช้ให้โจทก์ 899,203 บาท ส่วนนายชุมพล จำเลยที่ 3 ให้ชดใช้ 365,000 บาท และนายนิติธร กับ น.ส.อัญชลี จำเลยที่ 4-5 ให้ชดใช้ 184,931.35 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,449,134.35 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันถัดฟ้อง คือวันที่ 19 พ.ย.57 จนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยร่วมกันจ่ายค่าธรรมเนียมศาล และค่าทนายความแก่โจทก์อีก 10,000 บาท
       
        ทั้งนี้ จำเลยทั้งห้า ไม่ได้เดินทางมาศาลเพื่อฟังคำพิพากษา แต่มอบอำนาจให้ทนายความมาฟังคำตัดสินแทน โดยนายคฑาวุธ ทับทิมนิติภู ทนายความของพระพุทธะอิสระ และ พล.ต.สมเกียรติ จำเลยที่ 1-2 กล่าวเพียงสั้น ๆ ว่า จะนำคำพิพากษาไปหารือกับจำเลยทั้งหมดก่อนว่า จะยื่นอุทธรณ์หรือไม่
       
       5. ศาลอุทธรณ์ มีคำสั่งยืนยกฟ้อง “อภิสิทธิ์-สุเทพ” คดีสลายการชุมนุมกลุ่ม นปช. ชี้ไม่อยู่ในอำนาจศาลอาญา!

        เมื่อวันที่ 17 ก.พ. ศาลอาญา ได้นัดฟังคำสั่งการวินิจฉัยประเด็นข้อกฎหมายของศาลอุทธรณ์ คดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน(ศอฉ.) เป็นจำเลยที่ 1-2 ในความผิดฐานร่วมกันก่อหรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำ หรือฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา และพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80, 83, 84 สืบเนื่องจากการออกคำสั่ง ศอฉ.ให้เจ้าหน้าที่เข้าขอคืนพื้นที่การชุมนุมบริเวณถนนราชดำเนิน และแยกราชประสงค์ จากกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) ที่ชุมนุมตั้งแต่เดือน เม.ย. - 19 พ.ค. 2553 กระทั่งมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ
       
        คดีนี้ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกฟ้อง เนื่องจากเห็นว่า แม้โจทก์จะกล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองได้ออกคำสั่ง ศอฉ.ให้ใช้กำลังเจ้าหน้าที่อาวุธและกระสุนจริง รวมทั้งพลแม่นปืนในการผลักดันผู้ชุมนุม หรือกระชับพื้นที่ หรือสลายการชุมนุมกลุ่ม นปช.ในปี 2553 ต่อเนื่องจนถึงวันที่ 19 พ.ค. 2553 โดยมีเจตนาประสงค์ต่อผลที่ทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตก็ตาม แต่การกระทำดังกล่าวนั้นเกี่ยวพันกับการที่จำเลยทั้งสองใช้อำนาจตำแหน่งหน้าที่ราชการในฐานะนายกรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรี รวมทั้งผู้อำนวยการ ศอฉ.ตาม พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ด้วย ไม่ใช่การกระทำทางอาญาที่กระทำโดยส่วนตัวหรือนอกเหนือหน้าที่ราชการ ซึ่งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ( ป.ป.ช.) มีอำนาจไต่สวน และหาก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด ก็ต้องยื่นฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 66 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542 มาตรา 9 (1) และประกาศ คสช. ฉบับที่ 11/2557 และ 24/2557 ซึ่งคดีไม่อยู่ในอำนาจของศาลอาญา ซึ่งต่อมาโจทก์ยื่นอุทธรณ์
       
        ทั้งนี้ ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วเห็นว่า การดำเนินการของจำเลยทั้งสองระหว่างวันที่ 7 เม.ย. - 19 พ.ค. 2553 ทั้งสองดำเนินการในฐานะนายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรี เป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย เป็นเจ้าหน้าที่มีอำนาจในการปฏิบัติตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 การออกคำสั่งต่างๆ มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันชีวิตทรัพย์สินของประชาชน และเพื่อป้องกันตนเองของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติตามคำสั่งตามกฎหมาย ผลจากการปฏิบัติตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่เป็นเหตุให้ต่อมาปรากฏว่า ประชาชนผู้ร่วมชุมนุมถึงแก่ความตายและได้รับบาดเจ็บ อันเป็นเหตุให้โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองในคดีนี้ จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองกระทำไปในฐานะส่วนตัว แต่เป็นการทำในฐานะผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง การสอบสวนเพื่อเอาโทษแก่จำเลยทั้งสองจึงเป็นอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช. ไม่ใช่ศาลอาญา อุทธรณ์โจทก์ฟังไม่ขึ้น ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องชอบแล้ว ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย
       
        ด้านนายโชคชัย อ่างแก้ว ทนายความของญาติผู้เสียชีวิต กล่าวหลังฟังคำพิพากษาว่า จะไปศึกษาคำพิพากษาของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ยกฟ้อง ก่อนจะปรึกษาหารือกันในข้อกฎหมาย และนำประเด็นนี้เข้าหารือกับพนักงานอัยการในการยื่นฎีกาต่อไป เนื่องจากคดีนี้ตนเห็นว่าเป็นคดีที่อยู่นอกเหนืออำนาจหน้าที่ เป็นความผิดทางอาญา
       
        ขณะที่นายอดุลย์ เฉตวงษ์ อัยการพิเศษสำนักงานคดีพิเศษ 1 กล่าวว่า เบื้องต้นต้องรอคัดคำพิพากษาฉบับเต็ม เพื่อให้คณะทำงานอัยการร่วมกันพิจารณาก่อนจะมีความเห็นทางคดี และว่า กรณีที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มีความเห็นให้ยกฟ้อง การจะยื่นฎีกาได้ ต้องส่งให้อัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกาต่อไป
       
        ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ขอบคุณศาลที่ให้ความเป็นธรรม และว่า เรื่องนี้ตนยืนยันตั้งแต่ต้นว่าเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้นเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย และถ้าหากมีประเด็นจะโต้แย้งก็ต้องเป็นเรื่องของการกล่าวหาเกี่ยวกับการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ ซึ่งต้องดำเนินการที่ ป.ป.ช. แล้วไปสู่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

 MGR Online       20 กุมภาพันธ์ 2559