ผู้เขียน หัวข้อ: จดหมายร้องทุกข์ถึงคณะกรรมาธิการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร‏  (อ่าน 2310 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9779
    • ดูรายละเอียด
16 ตุลาคม 2555

เรื่อง ความเดือดร้อนของข้าราชการและผู้ได้รับสวัสดิการข้าราชการ

เรียน คณะกรรมาธิการสาธารณสุขสภาผู้แทนราษฎร

อ้างถึง หนังสือด่วนที่สุดของกระทรวงการคลังที่กค.0422.2/ว116 เรื่องการห้ามเบิกค่ายากลูโคซามีนซัลเฟต

สิ่งที่ส่งมาด้วย 1. http://www.manager.co.th/Qol/ViewNews.aspx?NewsID=9550000123762

                      2.จดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี น,ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร 22 สิงหาคม 2555

                     3.   เอกสารราชวิทยาลัยออร์โธปีดิกส์แห่งประเทศไทยเรื่องประชุมกับกรมบัญชีกลาง

  ตามที่กระทรวงการคลังได้มีคำสั่งห้ามข้าราชการเบิกค่ายากลูโคซามีนซัลเฟต ในระบบสวัสดิการพยาบาลข้าราชการ โดยอ้างเอกสารงานวิจัยและข้อสรุปของคณะทำงานว่าการใช้ยากลูโคซามีนในการรักษาข้อเข่าเสื่อมนั้นไม่มีความคุ้มค่าเหมือนกับการออกกำลังกายและการใช้ยา NSAIDS นั้น

ดิฉันขอกราบเรียนว่า การออกกำลังกายนั้นอาจจะได้ผลช้าในกรณีที่มีอาการปวดอย่างเรื้อรัง และการใช้ยา NSAIDS นั้นก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการเลือดออกในกระเพาะอาหารได้สูงมากในกลุ่มผู้สูงอายุ และกรมบัญชีกลางก็ยังมีโครงการที่จะสั่งห้ามจ่ายยารักษาโรคกระเพาะอีกด้วย ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้ขาดยาที่สมควรจะได้รับเพื่อรักษาอาการป่วยเป็น 2 โรค คือข้อเข่าเสื่อม และโรคแผลในกระเพาะอาหารจนมีเลือดออก

ส่วนความเห็นที่ว่าการใช้ยากลูโคซามีนนั้นมีค่าใช้จ่ายสูงกว่า 3 เท่าของ GDP จึงยังไม่คุ้มค่าต่อการให้ใช้ยานั้น ดิฉันขอคัดค้านความเห็นนี้ เนื่องจากในปัจจุบัน มียาอีกหลายชนิดที่มีการค้นคว้าผลิตขึ้นใหม่ และมีราคาสูงกว่า 3 เท่าของ GDP แต่มีประสิทธิภาพสูงในการรักษาอาการเจ็บป่วย อันมีผลทำให้ผู้ป่วยหายจากโรค มีสุขภาพและคุณภาพชีวิตดี สามารถสร้างสรรค์ประโยชน์ให้สังคมได้อย่างต่อเนื่อง

การที่ประชาชนในกลุ่มสวัสดิการข้าราชการมีการเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังก็เนื่องจาก ประชาชนกลุ่มนี้ประกอบไปด้วยผู้สูงอายุเป็นจำนวนมากได้แก่ข้าราชการบำนาญและพ่อแม่ของข้าราชการ ซึ่งเมื่อก่อนนี้ไม่ได้รับการส่งเสริมให้ได้รับการตรวจคัดกรองโรค(ซึ่งเป็นการ “ป้องกันโรค”ที่ได้ผลดีที่สุด คือจะได้ตรวจพบโรคก่อนมีอาการและสามารถป้องกันไม่ให้เกิดอาการเจ็บป่วยได้) แต่ปัจจุบัน การแพทย์ได้ก้าวหน้ามากขึ้น ทำให้มีการตรวจคัดกรองโรคที่อาจจะเกิดต่อเนื่องกันเป็นกลุ่มโรคที่เรียกว่าโรคเรื้อรัง เช่นการมีไขมันในเลือดสูง ย่อมนำไปสู่การมีหลอดเลือดแข็งตัว ทำให้เกิดความดันโลหิตสูง นำไปสู่โรคหัวใจขาดเลือด โรคสมองขาดเลือด และหลอดเลือดสมองแตก เป็นอัมพฤกษ์/อัมพาตหรือถึงแก่ชีวิต

การที่หลอดเลือดแข็งตัว ยังก่อให้เกิดหลอดเลือดตีบตัน นำไปสู่อาการขาดเลือดของหัวใจและสมองดังกล่าวแล้ว และยังนำไปสู่การเสื่อมสลายของอวัยวะต่างๆของร่างกาย ทำให้เกิดเบาหวาน ไตวาย และอาการอื่นๆของผู้สูงอายุอีกมากมาย

  ซึ่งเมื่อก่อนนี้ อาการเจ็บป่วยเหลานี้ ก็จะทำให้ประชาชนพิการ หรือเสียชีวิต เนื่องจากไม่มียาที่มีประสิทธิผลดีในการรักษาเหมือนในปัจจุบัน ทำให้อายุขัยของประชาชนไทยสั้นกว่าในปัจจุบันนี้ ที่แพทย์มียาจากนวัตกรรมใหม่ๆมาใช้รักษาอาการเจ็บป่วยต่างๆอย่างได้ผล ทำให้อายุขัยของประชาชนยืนยาวขึ้น จนทำให้สถิติอายุขัยเฉลี่ยเมื่อแรกเกิดของประชาชนไทยยืนยาวถึง73.6 ปีแล้ว(ผู้ชาย 71.21 ปี ผู้หญิง 76.08 ปี)

  แต่ขณะนี้กระทรวงการคลังกลับจะมา “จำกัด”รายการยาอีก 9 รายการ ไม่ให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสั่งยาเหล่านี้เพื่อรักษาผู้ป่วยในระบบสวัสดิการข้าราชการ เพราะฟังความจากคณะกรรมการยาที่ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญในการรักษาโรคแล้ว (เพราะไม่ได้ลงมือรักษาผู้ป่วยมาหลายสิบปีแล้ว) แต่มากำหนดให้แพทย์ใช้ยาเก่าๆจนไม่ได้ผลแล้วจึงจะเขียนเหตุผลไป “ขออนุมัติ”จากกรมบัญชีกลาง เพื่อขอใช้ยาที่มีประสิทธิผลดีกว่า

การรักษาผู้ป่วยเช่นที่กรมบัญชีกลางกำหนดไว้นั้น จะมีผลทำให้อาการเจ็บป่วยไม่ได้รับการรักษาตั้งแต่เป็นน้อยๆ ปล่อยให้เป็นมากๆ และดื้อยาก่อน จึงจะสามารถมารับยาที่มีประสิทธิผลดีกว่าได้ (คือยาที่ผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกเห็นตรงกันว่ามีประสิทธิผลในการรักษาดีกว่า ที่วงการแพทย์เรียกว่า “First line drugs” หรือ Drugs of choice)

  ถ้าข้าราชการกระทรวงการคลังป่วยเอง ยังยินดีที่จะได้รับการรักษาแบบเดิมๆ หรืออยากจะได้รับยา “First line drugs “ เพื่อมารักษาตัว ตามที่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเลือกให้ใช้?

และยาเหล่านี้ล้วนได้รับการตรวจสอบจากองค์การอาหารและยาแล้ว ว่ามีคุณภาพ ประสิทธิภาพ และประสิทธิผลในการรักษาจริงๆ จึงได้ขึ้นทะเบียนไว้ เหมือนกับที่ประเทศที่เจริญแล้วเกือบทุกประเทศทั่วโลก การที่คณะกรรมการพัฒนาระบบยามีความเห็นว่า ยาเหล่านี้ไม่มีประสิทธิผล จนไม่ยอมนับรวมเข้าไว้ในบัญชียาหลักแห่งชาติ เพื่อเป็นข้ออ้างไม่ให้ประชาชนในระบบสวัสดิการข้าราชการได้รับยาที่ดีมารักษาตัวเวลาเจ็บป่วยนั้น จึงก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนในระบบสวัสดิการข้าราชการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าราชการชั้นผู้น้อย ที่มีเงินเดือนน้อย ยอมทำงานรับใช้ชาติบ้านเมืองภายใต้ข้องบังคับ กฎ ระเบียบ และวินัยข้าราชการอย่างเคร่งครัด แต่เมื่อแก่ชรารับบำนาญที่มีจำนวนเงินน้อยลงไปอีก กลับจะไม่ได้รับสวัสดิการในการรักษาตัวเมื่อเจ็บป่วย ตามพันธะสัญญาก่อนเข้ารับราชการ

 เรียกว่าเข้าราชการบำนาญได้เดินทางผิดมาทั้งชีวิตในการเลือกเป็นข้าราชการเพราะเชื่อว่าจะได้รับสวัสดิการตามสัญญา แต่มาถูกกระทรวงการคลังยกเลิกสัญญานั้นเสีย โดยอ้างว่า “ไม่คุ้มค่าต่อการรักษา” ในขณะที่พวกเราข้าราชการชั้นผู้น้อยต่างก็มีรายได้จากเงินบำนาญ “ไม่คุ้มค่ากับการครองชีพในปัจจุบัน” และเราก็ได้รับเงินเดือนราชการ “ไม่คุมค่ากับผลงานที่เสียสละทำงานเพื่อประเทศชาติและประชาชน” มาตลอดชีวิต

   จึงกราบเรียนขอความกรุณาจากคณะกรรมาธิการสาธารณสุขสภาผู้แทนราษฎร ได้โปรดพิจารณารับเรื่องราวร้องทุกข์จากพวกเรา กลุ่มข้าราชการบำนาญ เพื่อให้กระทรวงการคลังพิจารณายกเลิกคำสั่งที่กค.0422.2/ว116  ของกระทรวงการคลัง และทบทวนบทบาทการทำหน้าที่ของกระทรวงการคลัง ในการดูแลระบบสวัสดิการข้าราชการให้เหมาะสม และรักษาพันธะสัญญาที่มีต่อข้าราชการรุ่นเก่า ให้เหมือนเดิม(ส่วนการจะ “จำกัดสิทธิสวัสดิการข้าราชการ” ก็ควรที่จะไปตกลงกับข้าราชการใหม่ที่ยังไม่ได้เริ่มงานเท่านั้น)

หวังว่าคณะกรรมาธิการสาธารณสุขสภาผู้แทนราษฎร จะได้พิจารณาช่วยเหลือข้าราชการบำนาญผู้เดือดร้อน อย่างเร่งด่วน ขอขอบคุณมา ณ ที่นี้ด้วย

ขอแสดงความนับถือ

 

พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา
สมาชิกสมาคมข้าราชการพลเรือนอาวุโส

thailand

  • Newbie
  • *
  • กระทู้: 25
    • ดูรายละเอียด
กรมบัญชีกลางจะตัดสิทธิ์ จนพวกเราคนธรรมดาจะไม่มีสิทธิ์แล้ว ยังมาเข้มงวดในการใช้ยา ในการรักษาของแพทย์อีก

ถ้าเราไม่ช่วยเหลือกัน แล้วใครเล่าจะช่วยเหลือเรา

แพทย์ ข้าราชการ ประชาชน  เราต้องรวมตัวกันซะที เพื่อแสดงจุดยืนแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้ที่.....


หยุดทำร้าย ทำลายขวัญข้าราชการประชาชน และครอบครัว...


http://www.facebook.com/krkthai


###########################################
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 26 พฤศจิกายน 2012, 02:23:36 โดย thailand »